fbpx
'แวรุงไปไหน' เมื่อวัยรุ่นเปลี่ยนภาพจำชายแดนใต้

‘แวรุงไปไหน’ เมื่อวัยรุ่นเปลี่ยนภาพจำชายแดนใต้

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

'แวรุงไปไหน' เมื่อวัยรุ่นเปลี่ยนภาพจำชายแดนใต้
ที่มา : facebook page แวรุง ไปไหน

‘แวรุงไปไหน’ (กรุณาใส่สำเนียงใต้เวลาอ่าน) หรือ ‘วัยรุ่นไปไหน’ คือเพจท่องเที่ยวชายแดนใต้ ที่สร้างสรรค์โดยวัยรุ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งพยายามกระจายเรื่องราวและด้านใหม่ๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป ผ่านลีลาการเล่าเรื่องสนุกๆ รวมถึงภาพและวิดีโอที่ทั้งสวยทั้งมัน

หลายสถานที่ที่แวรุงไป ไม่เคยมีใครให้ความสนใจมาก่อน หลายชีวิตที่แวรุงนำเสนอเคยถูกเข้าใจผิดจากคำตีตราเดิมๆ เนื้อหาที่เผยมุมใหม่ๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบ Unseen เช่นนี้ทำให้ ‘แวรุงไปไหน’ โดนใจแวรุงทั่วประเทศ

‘ยี’ บูคอรี อีซอ หนุ่มมุสลิมผู้ก่อตั้งเพจ และ ‘กิ๊ฟ’ กรวรรณ ภูริวัฒน์ ทีมงานสาวหนึ่งเดียวของเพจ เดินทางมาพบกับเราที่ปัตตานี หนึ่งในดินแดนที่ทั้งสองพยายามสร้างภาพจำใหม่ให้สังคมและนักท่องเที่ยว เพื่อพูดคุยถึงแรงบันดาลใจ ที่มาที่ไปของเพจ เรื่องราวที่ทั้งสองพบเจอในฐานะ ‘วัยรุ่น’ และการเป็น ‘สื่อ’ รุ่นใหม่บนเงื่อนไขของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

'ยี' บูคอรี อีซอ หนุ่มมุสลิมผู้ก่อตั้งเพจ และ ‘กิ๊ฟ’ กรวรรณ ภูริวัฒน์ ทีมงานสาวหนึ่งเดียวของเพจ

 

เพจ ‘แวรุงไปไหน’ มีที่มาที่ไปยังไง

ยี : เริ่มมาจากการเป็นธีสิสเกี่ยวกับนวัตกรรมการออกแบบของผม ตอนที่เรียนอยู่ ม.ปัตตานี ผมตั้งใจจะทำเพจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชายแดนใต้ เพราะเวลาเสิร์ชคำว่าปัตตานี นราธิวาส ส่วนใหญ่ภาพที่ขึ้นมาก็จะเป็นภาพที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรง เลยอยากเปลี่ยนมุมมองจากที่คนเคยมองไม่ดี ให้มันดีขึ้น เคยคิดจะทำเป็นหนังสือท่องเที่ยว แต่อาจารย์บอกว่าโลกปัจจุบันหนังสือมันเข้าถึงได้ยากแล้ว ต้องตีพิมพ์ ต้องพิสูจน์อักษร ก็เลยนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียแทน

หลังจากที่ทำช่วงแรกๆ มันเป็นช่วงที่ใกล้วันฮารีรายอพอดี (วันสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ช่วงเวลาที่มีการอดอาหารตั้งแต่รุ่งสางจนถึงพลบค่ำเป็นเวลา 30 วัน โดยในวันฮารีรายอ ชาวมุสลิมมักจะเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และเฉลิมฉลอง ; ผู้เขียน) ผมเลยทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวปัตตานี ให้ข้อมูลว่าไปทะเลที่ไหนดี มีงานอะไรบ้าง เนื้อหาในช่วงนั้นมันเลยไปคลิกกับกลุ่มคนในช่วงกระแสฮารีรายอ ที่คนหาที่เที่ยว หลายสถานที่ที่ผมแนะนำให้คนมาเที่ยว เป็นที่ที่หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ในปัตตานี หลังจากนั้นก็ทำต่อมาเรื่อยๆ จากทำคนเดียว ก็ชวนน้องชายมาช่วย จากตอนแรกเรามีแค่ภาพ ก็เริ่มมีวิดิโอ หลังจากนั้นก็ชวนกิ้ฟเข้ามาทำด้วย เพราะอยากให้เห็นเนื้อหาที่เป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้น เราเป็นมุสลิมไง ก็อยากให้กิ้ฟที่เป็นพุทธจีนเข้ามาทำให้มันหลากหลาย

ในฐานะที่ตอนนี้เราเป็นเหมือนภาพจำใหม่ของวัยรุ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้ช่วยเล่านิดนึงว่าวัยรุ่นที่สามจังหวัด เขาเป็นยังไงกันบ้าง ได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์ความไม่สงบไหม

ยี : คือวัยรุ่นในสามจังหวัดเนี่ย บอกเลยว่ามันมีหลายกลุ่มมาก บางกลุ่มที่มีปัญหา อาจจะเกิดจากสถานการณ์ด้วย แต่บางกลุ่มก็กลายเป็นเด็กมีปัญหาเพราะว่าเขาตามเพื่อน เหมือนไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไรให้เขาได้ลอง ได้เล่นบ้าง เช่น ผมเคยไปเจอกับเด็กแว๊นกลุ่มหนึ่งที่ชวนผมไปทำสื่อให้เขา ได้อยู่กับเขา ไปเที่ยวกับเขา ผมรู้เลยว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กไม่ดี และมีอะไรที่น่าสนใจมาก แค่ยังไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก

กิ๊ฟ : เขาไม่ใช่กลุ่มเด็กแว๊นนะคะ เขาแค่บอกว่าเขาเป็น ‘คนรักรถ’ หลายคนเวลาเห็นใครขับรถมอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่ม ก็มักจะเรียกว่าเด็กแว๊น ซึ่งเจ้าตัวเขาบอกว่า ไม่ใช่ เขาเป็นคนที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม เก็บขยะ บริจาค เขาไปรวมกลุ่มกับแก๊งในจังหวัดหรือภาคอื่น เพื่อเชิญชวนให้วัยรุ่นต่างที่มาเที่ยวบ้านเขา โดยที่ไม่มีรัฐบาลสนับสนุน หรือใครสนับสนุนเลย เขามาด้วยใจของเขาเอง เขายอมนั่ง ยอมขับรถมอเตอร์ไซค์ไกลๆ ไปเที่ยวเชียงใหม่ ไปเที่ยวเบตง เขามีประโยชน์ต่อสังคมมาก แต่สังคมมองว่าเขาเป็นคนที่ไร้ประโยชน์

หมายความว่า มีความเข้าใจผิดต่อวัยรุ่นในสามจังหวัดอยู่พอสมควร

ทั้งสอง : ใช่ (พูดเป็นเสียงเดียวกัน)

ยี : การที่เราเอาคำว่า ‘แวรุงไปไหน’ มาใช้เป็นชื่อ เพราะอยากเปลี่ยนคำว่า ‘แวรุง’ หรือ ‘วัยรุ่น’ ในภาษาถิ่น เรามองว่าคำๆ นี้ หลายคนนึกถึงเด็กแว๊น เด็กที่ไม่ได้เรียน เด็กที่ไร้ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วมันยังมีแวรุงที่มีความคิดสร้างสรรค์เยอะมากในพื้นที่ เช่น กลุ่มทาชิโร่ ที่ช่วยเก็บขยะ แก๊งยังยิ้มที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า หรือกลุ่มที่ทำค่ายอาสา

อย่างตัวผมเอง ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการเมือง หรือความสามารถที่จะไปแก้ปัญหาด้านวิชาการ แต่เราพอรู้เรื่องการทำสื่อ มีเดียคือสิ่งที่เราพอที่จะทำได้ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาต่างๆ โดยตรง แต่ว่าเรานำมุมมองที่ดีไปต่อสู้กับคนที่นำเสนอภาพแย่ๆ หรือเรื่องราวที่มันเลวร้าย เพื่อที่จะบอกว่า เออ…ยังมีมุมอื่นอยู่นะ

สิ่งที่เราทำ ถือว่าใหม่ต่อความเข้าใจของคนที่นี่ไหม เคยโดนหาว่า ‘ทำอะไรวะ’ ไหม

กิ๊ฟ : ตอนแรกใหม่นะ ใหม่มาก คนไม่เข้าใจเลยว่าถ่ายทำไม ถ่ายแล้วเอาไปไหน ช่วงแรกๆ ชาวบ้านจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อาจเพราะเราใช้กล้องใหญ่ด้วย เขาก็จะเขิน ขี้อาย เวลาเรายื่นกล้องไปใกล้เขาก็จะหยุดทำกิจกรรมที่ทำอยู่ ขณะที่บางคนบอกกับเราว่า ทำแล้วได้ตังค์ไหมวะ ได้ตังค์จากไหน ทำไปทำไม แล้วคิดว่าจะสู้ไหวเหรอ กับข่าวที่มันออกไปเป็นสิบๆ ปี

ยี : ทำนองว่าทำไปก็เท่านั้น สื่อใหญ่กับสื่อเล็กก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว

แล้วเราทำยังไง

ยี : ตอนนั้นเราโนเนมมาก เขาไม่รู้จักเราเลย (หัวเราะ) เราก็จะคอยอธิบายว่า เราทำสิ่งที่ดีนะ เอาผลงานให้เขาดู อธิบายจุดประสงค์เหมือนที่เล่าไป ใช้เวลาสักพักในการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับผู้คนหรือชาวบ้าน ทำไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเขาก็ยอมร่วมมือ แล้วก็เฟรนด์ลี่กับเรามากขึ้น

เคยตั้งเป้าหมายไว้ไหม ว่าเพจนี้ต้องช่วยพยุงเรื่องการเงินด้วย

ยี : ตอนแรกไม่นะ เพราะเราทำเพื่อให้ครูตรวจ คือทำให้จบๆ แล้วก็ทิ้ง แต่ด้วยความที่เวลาไปถ่ายทำ เราต้องลงพื้นที่จริงๆ ไปเจอกับชาวบ้าน เจอกับคนในพื้นที่ ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเนี่ย มันมีประโยชน์กับเขาจริงๆ พอเราทำวิดีโอไปลงในเพจ แล้วมีคนดูเยอะ คนก็ตามไป เศรษฐกิจบ้านเขาก็ดีขึ้น บางที่อยู่ในหุบเขา ในหลืบ แต่ดันมีคนไป เกิดตลาดขึ้นมา

แปลว่าเราได้กลับไปติดตามความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วย

ยี : ใช่ บางทีคนในพื้นที่ก็โทรมาบอกว่าขอบคุณนะ อย่างที่ไร่แอลอง จังหวัดนราธิวาส จากที่คนไม่รู้จัก คนบอกว่าเป็นพื้นที่สีแดง แต่จริงๆ เขาเปิดมานานกว่าสิบปีแล้ว มีร้านกาแฟ ที่พัก พอเราไปรีวิวห้องเต็มแทบทุกคืน คนก็ไปเที่ยวจริงๆ จนเขาโทรมาบอก รู้แบบนี้เราก็มีกำลังใจ แม้แต่คอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก เวลามีคำขอบคุณ มีคนบอกว่าขนาดอยู่ใกล้บ้านเรา เรายังไม่เคยไปเลย อะไรแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกภูมิใจ

ยี : ตอนแรกเราตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่พอมันเป็นไวรัล มีคนแชร์ ก็ทำให้คนนอกพื้นที่ได้เห็นมากขึ้น

กิ๊ฟ : เวลาเราไปกรุงเทพ ตอนนั้นเราก็โนเนมอยู่เนอะ เราไม่ได้ดังอะไรขนาดนั้น แต่มีคนทักว่า อ้าว แวรุง เราก็ตกใจเลย เฮ้ย อยู่กรุงเทพมีคนทักด้วย (หัวเราะ) ดีใจ แปลว่ากลุ่มเป้าหมายเราไปไกลถึงกรุงเทพ จนตอนนี้หลังจากทำมาสักพัก คนในมาเลเซียที่เป็นคนไทยเขาก็ยังทักเรา บางทีก็มีคนจีน คนสิงคโปร์ โทรมาสอบถามที่เที่ยว

 

เคยได้รับคอมเมนท์ด้านลบบ้างไหม

กิ๊ฟ : ในบางที่ ตอนแรกที่เราไปมันยังไม่ค่อยมีคนไปเที่ยวเนอะ มันก็ไม่มีขยะ ไม่มีใครไปทำลายธรรมชาติ ต้นไม้ยังอุดมสมบูรณ์ แต่พอนักท่องเที่ยวไปปุ๊บ มันมีขยะ บางทีเขาก็ไปทำต้นไม้พัง ไม่ดูแลรักษา แล้วคนอื่นที่ไปเที่ยวต่อ เขาก็มาว่าเรา ว่าทำไมสกปรกจัง ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

ยี : ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือคนในพื้นที่เอง พอเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เขายังไม่รู้ว่าการเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้องทำตัวยังไง ต้องต้อนรับยังไง เขายังไม่มีระบบการจองที่พัก มีคนมาคอมเมนต์กับเราว่าไปมาแล้ว ที่พักเต็ม ไม่มีที่นอน คือกระบวนการการจัดการของพื้นที่มันยังไม่ดีพอ เราก็พยายามไปบอกต่อกับชาวบ้านว่าเขาต้องปรับปรุงเรื่องอะไร ควรทำอะไร แนะนำและช่วยเท่าที่ทำได้

ที่มา : facebook page แวรุง ไปไหน

การที่เราอาศัยและทำงานกับพื้นที่ตรงนี้ กระทบความฝันเราไหม เช่น มีข้อจำกัดบางอย่าง หรือสิ่งที่เราทำไม่ได้

ยี : ก็มีนะ แต่ก็เป็นอะไรที่ท้าทายกับเราว่า เมื่อมีข้อจำกัด ตรงที่ว่าพื้นที่นี้มันมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็เป็นโจทย์สำหรับเราว่า แล้วเราจะสามารถสร้างสรรค์อะไรได้บ้าง อย่างคนที่เป็นศิลปิน เขาก็บอกว่าศิลปะของเขามาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่วนเพจของผมก็เริ่มมาจากภาพจำเหตุการณ์ความไม่สงบ ผมก็เลยอยากส่งเสริมการท่องเที่ยว คือบางอย่างที่เยาวชนทำอยู่ ก็มาจากสิ่งที่ไม่ดีที่กลายมาเป็นแรงผลักดันให้เราทำสิ่งที่ดี

ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่า การที่เด็กบางคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่สนใจหรือไม่อยากเรียน มันเป็นเพราะอะไร

ยี : มีหลายเหตุผลที่เป็นไปได้ เขาอาจมองว่าการศึกษามันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น หรือด้วยฐานะ ไม่รู้ว่าจะหาทุนยังไง

กิ๊ฟ : ‘จะมีอะไรทำ จะทำอะไร จบมาปริญญาตรีก็ไม่มีงานทำ’ แนวคิดแบบนี้ทำให้คนคิดว่า งั้นไม่ต้องเรียนดีกว่า มาช่วยแม่กรีดยาง หาเงินตั้งแต่วัยรุ่นดีกว่า มันเสี่ยงเกินไปที่จะไปเรียนแล้วก็ไม่มีงานทำ ชาวบ้านเขาอาจคิดอย่างนั้น

ยี : ส่วนหนึ่งอาจเพราะด้วยคนในชุมชนเอง มีน้อยมากที่คนจะเรียนสูงๆ ก็เลยยังไม่มีตัวอย่างว่าเรียนจบไปแล้วจะมีงานทำจริงๆ เพราะส่วนใหญ่ที่จบปริญญาตรีไม่มีงานทำไง พอเป็นตัวอย่างที่เห็นว่าเขาไม่มีงานทำ ก็เลยคิดกันว่าแล้วจะเรียนไปทำไม

แล้วทำไมเราไม่คิดอย่างนั้น

ยี : เราค้นหาตัวเองเจอ แล้วก็คิดว่ามันน่าจะไปได้ ถึงรู้ว่ามันเสี่ยง แต่คือเราเกิดมาแล้วอ่ะ ก็อยากใช้ชีวิตที่เต็มที่ ตอนแรกเคยคิดว่าถ้าอยากเป็นบล็อกเกอร์ ก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ไม่คิดว่าจะมาอยู่ในพื้นที่ได้ แต่สุดท้ายแล้วพอเรามาอยู่ตรงนี้ มันก็มีสปอนเซอร์ที่ต้องการทำเนื้อหาของสามจังหวัด เขาก็มาจ้าง มีคนอยากมาเที่ยว มันมีทางไปอยู่

คิดว่าคนจะมองสามจังหวัดเป็นที่ท่องเที่ยวได้จริงหรือ

กิ๊ฟ : เราว่าปกติเขาอาจจะอยากมา แต่เขากลัว แต่พอมีรีวิวเยอะ คนมาเที่ยวเยอะ บล็อกเกอร์มาเที่ยวเยอะ เขาเลยกล้ามากขึ้น

บางทีไกด์ที่พาคนมาเที่ยว เขาอาจแนะนำว่าอย่าออกไปตอนกลางคืนดีกว่า ทั้งๆ ที่ปัตตานียิ่งดึกคนยิ่งเยอะ ทั้งๆ ที่ยะลา ตอนเที่ยงคืน คนเต็มถนน เราเข้าใจเขานะ เราเข้าใจคนที่มองพื้นที่เราว่ามันอันตราย เพราะบางส่วนมันก็เป็นอย่างนั้นจริง แต่บางส่วนก็ไม่จริง คือเรายังไม่มีอะไรการันตีกับเขาว่ามันปลอดภัย

ยี : คือทุกวันนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือโจร เราไม่ค่อยอยากโฟกัสเท่าไหร่กับสิ่งที่ไม่ดี และไม่อยากทำลายบ้านตัวเองด้วย ถ้าเขาคือคนในบ้านจริงๆ เขาจะไม่ทำลายบ้านตัวเองนะ ผมว่า

มีภาพของชายแดนใต้ที่ถูกนำเสนอแล้วทำให้เรารู้สึกแย่บ้างไหม

กิ๊ฟ : เวลาออกข่าว สื่อมักจะพาดหัวข่าวว่า จังหวัดปัตตานีระเบิด ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่ง แต่เขาจะชอบใช้หัวข้อว่า สามจังหวัด หรือพื้นที่สีแดง ทั้งๆ ที่เกิดในพื้นที่นิดเดียวเอง บางครั้งเกิดในหมู่บ้านที่ไกลออกไปจากเมืองมากๆ หรือไม่มีใครอยู่ แต่พอพาดหัวข่าวแบบนี้แล้วข่าวมันขายได้ เขาก็ทำ

ยี : มันกระทบต่อพื้นที่อื่นในวงกว้างเกินไป

มีน้องๆ มาปรึกษาว่าอยากเป็นแบบแวรุงบ้างไหม

ยี : เยอะ มีจะมาฝึกงานด้วย เราบอกไม่ได้ (หัวเราะ) เราไม่ได้เป็นองค์กร เรามีแค่สามคน บางคนก็มาถามว่าใช้กล้องอะไร ทำยังไง พอมีสื่อ คนก็เริ่มรู้ว่ามันมีอาชีพใหม่ๆ

พ่อแม่ส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นครูนะลูก ต้องไปเรียนเป็นข้าราชการเท่านั้นถึงจะอยู่รอด แต่เดี๋ยวนี้มีมีอาชีพใหม่ที่อยู่รอดได้ ช่างภาพถ่ายพรีเวดดิ้งหนึ่งวันได้เงินเป็นหมื่นอะไรแบบนั้น คนก็เริ่มรู้มากขึ้นแล้ว เขาก็เลยมาถามเราว่าใช้กล้องอะไร ต้องทำแบบไหน ต้องเข้าหาผู้ใหญ่ยังไง ทำยังไงถึงจะมีรายได้

ที่บอกว่าเรามีทีมเพื่อให้ความต่างมันครบรส เราคิดว่าเราต่างกันยังไงบ้าง

กิ๊ฟ : ต่างศาสนา หนูเป็นคนจีน บ้านเป็นคนจีน ภาษาที่หนูใช้ก็เป็นภาษาไทย และมีแม่เป็นคนอีสาน

ยี : ผมเป็นมุสลิม ก็ชินกับการสลามทักทาย เวลาเจอไทยพุทธ ก็คิดว่าเฮ้ย…จะทักทาย จะไหว้ยังไงดี ทำไม่เป็น เพราะคนละศาสนา เช่น เรื่องเล็กๆ อย่างมารยาทในการกินอาหารกับผู้ใหญ่ที่เป็นพุธ ต้องทำแบบไหน

กิ๊ฟ : ยีเขาจะได้รับอิทธิพลมาจากทางมาเลเซียที่ต้องกินอาหารกับมือ ความเชื่อทางศาสนามันก็มีข้อที่บอกว่าต้องทานอาหารกับมือจะสะอาดกว่าช้อน แต่เขาจะกินอาหารกับมือมากกว่า เราก็เรียนรู้ซึ่งกันและกันว่า เธอ ถ้าไปมาเล ถ้ากินข้าวกับชาวมุสลิม เธอไม่ต้องไปหาช้อนนะ

ยี : อย่างเวลาเข้าวัด เข้ามัสยิด เข้าโบสถ์ต้องทำตัวยังไง ของมุสลิมผมก็จะแนะนำกิ๊ฟว่าควรปฏิบัติแบบนี้นะ เรียนรู้ด้วยกันว่าอะไรที่ควรไม่ควรในศาสนานี้ห้าม เราไม่ได้เปลี่ยนให้เขามาเป็นแบบเรานะ แต่เราเรียนรู้กัน

กิ๊ฟ : สมัยเรียนโรงเรียนสามัญ ก็จะมีเด็กไทยพุทธ มุสลิม อยู่ด้วยกัน ช่วงถือศีลอด ไทยพุทธก็จะทานข้าวในห้องเรียน เพื่อนมุสลิมก็นั่งมอง เราก็เกรงใจ เราก็เรียนรู้กันว่าอย่าไปถามว่า เอ้อ กินไหมๆ อะไรแบบนั้น อย่างตอนเด็กเราจะแกล้งเพื่อนแบบนั้น แต่เพื่อนก็จะมาบอกว่า ไม่ได้นะแก เราหิว

ยี : อย่างการล้อว่ากินหมูไหม ก็ขำๆ นะ ถ้าพูดกันในแก๊งก็ขำๆ ไม่ได้ซีเรียส

ที่มา : facebook page แวรุง ไปไหน

แล้วมันเกี่ยวกับที่เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ด้วยไหม ถ้าเป็นผู้ใหญ่เขาอาจจะเคืองกันหรือเปล่า

ยี : ผู้ใหญ่ก็อาจจะ แต่สำหรับเรามันเป็นเรื่องไร้สาระ ตลก ขำๆ มากกว่า

 

มีอะไรไหมที่ถ้าเราไม่ได้มาทำเพจนี้ เราจะไม่ได้เรียนรู้เลย

กิ๊ฟ : เราเป็นคนที่ชอบไปเที่ยวอยู่แล้ว ไปต่างประเทศ ไปกรุงเทพ ไปเที่ยวด้วยตัวเองบ่อย แต่แปลกไหมคะ ที่เราไม่เคยเที่ยวบ้านตัวเองเลย สามจังหวัดนี่ไม่ไปเลยนะ ถ้าไม่ได้มาเรียนที่ปัตตานี ยะลานี่ไม่เคยไปเหยียบเลย เพราะพ่อแม่ก็จะบอกว่าอย่าไปเลยลูก มันน่ากลัว หรือคนข้างบ้านไปแล้วมาบอกว่าไม่โอเค เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ดี ไม่ควรที่จะไป ไปแล้วเดี๋ยวโดนยิง

แต่พอได้มาทำเพจ เราเลยเปิดมากขึ้น เที่ยงคืนก็ยังขับรถไปยะลา ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลย รู้สึกว่าเราเปิดมากขึ้น อีกอย่างคือเราได้เรียนรู้มากขึ้นว่าบ้านเราก็สวยนะ มีพื้นที่ใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยไปเยอะมาก

ในมุมมองของเราที่เป็นคนทำสื่อ เรื่องราวประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวความขัดแย้งมันจำเป็นจะต้องเลี่ยงไหม

กิ๊ฟ : ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เราแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้น

ยี : เหมือนเรารู้ว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นยังไง เรารู้เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเป็นยังไง แต่เราไม่สามารถกลับไปแก้ได้ เราได้แต่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ที่นี่มันมีเรื่องราวเยอะ มีประวัติศาสตร์อยู่ที่นี่ มีทุกอย่างอยู่ที่นี่ อยากให้ทุกคนมาเที่ยวในแบบที่มันเป็น

ตั้งความหวังอะไรให้เพจในอนาคตบ้าง

กิ๊ฟ : อยากให้อินเตอร์ มีซับแปล อยากให้คนอื่นที่อยู่ต่างประเทศเข้าใจภาษาบ้านเรา เข้าใจว่าบ้านเราไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่ข่าวออกไป อย่างเวลาหนูไปแลกเปลี่ยน มีคนถามว่ามาจากไหน พอเราบอกปัตตานี จะโดนถามว่า ‘ที่มี violence เยอะๆ เหรอ’ เราก็อื้ม ใช่ (หัวเราะ) คือเราปฏิเสธไม่ได้ไง ก็ได้แค่บอกว่า yes ใช่ แต่เราก็มีอย่างอื่นนะ มันก็สวยนะ ฝรั่งที่เห็นข่าวเขาก็เถียงว่า ไม่จริงอ่ะ ระเบิดเยอะขนาดนั้นจะไปมีอะไรได้ยังไง บ้านยูน่ากลัวมากเลย บ้านยูมีอะไรบ้างนอกจากระเบิด เราก็เลยอยากให้มีซับไตเติ้ล ที่ทำให้เขารู้ว่าบ้านเราก็สวยนะเว้ย มีธรรมชาติที่แฮปปี้ มีผู้คนที่น่ารัก อยากให้เป็นแบบนั้น

ยี : อยากให้มันมีรุ่นน้องในพื้นที่มาทำด้วย ไม่อยากให้มีแค่เรา อยากให้มันหลากหลายมากขึ้น ขนาดที่อื่นมันยังมีหลายสื่อเลย ที่นี่มีนักข่าวเยอะ แต่บล็อกเกอร์อิสระ ที่ทำเกี่ยวกับท่องเที่ยวยังมีน้อย ถ้าคนในพื้นที่ช่วยๆ กันก็อาจเป็นผลดีในการกระจายข่าว ไม่อยากให้มีข้อมูลแค่แหล่งเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save