fbpx

‘เอาโรนัลโดมายิงลูกโทษแทนสิ’ เอมิลิโอ มาร์ติเนซ เรื่องของการ Trash Talk ในโลกวิทยาที่เป็นเรื่องของจิตวิทยามากกว่าการถากถาง

แม้นัดเตะระหว่างแอสตัน วิลล่ากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดนัดที่ 6 จะล่วงผ่านไปแล้วหลายวัน แต่การแข่งขันที่ว่ายังถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เนืองๆ จนกลายเป็นบรรยากาศควันหลงที่ชวนจับตา หลังจากที่แมนยูฯ ไล่ตามแอสตันฯ อยู่ 1-0 ในที่สุดก็มีโอกาสพลิกเกม เมื่อได้จุดโทษในช่วงทดเวลาเจ็บ หากแต่ บรูโน เฟอร์นันเดซ กองหลังของแมนยูฯ กลับชวดจังหวะนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเขาเตะลูกบอลลอยข้ามคานห่างไปเป็นวา ส่งผลให้แมนยูฯ พ่ายคาบ้านไปที่คะแนน 1-0

สิ่งที่ทำให้การเตะนัดนี้เป็นที่พูดถึงคือช่วงเวลา ‘ก่อนหน้า’ ที่เฟอร์นันเดซจะเตะลูกจุดโทษ เมื่อ เอมิลิโอ มาร์ติเนซ ผู้รักษาประตูสัญชาติอาร์เจนตินาของแอสตันฯ ทำท่ากวักมือให้ คริสเตียโน โรนัลโด ดาวยิงของแมนยูฯ ผู้มีสถิติการยิงลูกโทษที่ 139/167 ประตูเข้ามารับหน้าที่ยิงจุดโทษต่อหน้าต่อตาเฟอร์นันเดซ ซึ่งมีสถิติที่ 42/45 ประตู ยังผลให้เฟอร์นันเดซส่งลูกข้ามคานไปแบบไม่มีลุ้น จนหลังจากนั้น โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ผู้จัดการทีมผีแดงออกมาแสดงความไม่พอใจกับพฤติกรรมของผู้รักษาประตูแอสตันฯ ว่า “ผมไม่ชอบใจเลยจริงๆ นะกับวิธีที่พวกนั้นมาล้อมหน้าล้อมหลังกรรมการกับจุดยิงลูกโทษ แล้วพยายามจะปั่นประสาทต่างๆ ซึ่งก็ชัดเจนว่ามันได้ผล แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าดูอะไรสักนิด”

การกระทำของเอมิลิโอ มาร์ติเนซอาจถูกโซลชาร์รวมทั้งแฟนบอลคนอื่นๆ กังขาไปจนถึงหงุดหงิดใจอยู่บ้าง แต่ก็ถือได้ว่ายังห่างกับการทำผิดกฎกติกาการเล่นกีฬา แถมนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มาร์ติเนซ ‘ปั่นเป็นกล้วย’ ขนาดนี้ เพราะในนัดเตะระหว่างอาร์เจนตินากับโคลอมเบีย ณ ศึกโคปา อเมริกา 2021 ที่ผ่านมา เมื่อถึงช่วงเวลาดวลลูกโทษเพื่อตัดสินผลแพ้ชนะ ฝั่งโคลอมเบียเลือกส่ง เยอร์รี มินา ลงทำคะแนน ขณะที่มาร์ติเนซพูดให้ได้ยินกันทั้งสนาม (รวมถึงการถ่ายทอดสดด้วย) ว่า

“นายหัวเราะก็จริง แต่นายกำลังกลัวใช่ไหม กลัวล่ะสิ ฉันรู้จักนายดีทีเดียว คอยดูนะ ฉันรู้กระทั่งว่านายจะยิงเมื่อไหร่ แล้วจะปัดมันทิ้งได้ นายเจอฉันเล่นแน่ ไอ้น้อง เจอฉันแน่” ก่อนที่มินาจะหวดด้วยเท้าขวาพร้อมกันกับที่มาร์ติเนซพุ่งตัวไปปัดทิ้งไว้ได้ (และเขาถูกกรรมการเตือนเมื่อพยายามใช้คำหยาบกับ มิกูเอล บอร์ฆา ซึ่งเตะลูกเข้าประตูในที่สุด)

พฤติกรรมแบบมาร์ติเนซเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงกีฬาว่า ‘แทรชทอล์ค (Trash Talk)’ หรือการพูดจาข่มขวัญ ปั่นประสาท ยียวนผู้เล่นฝั่งตรงข้ามเพื่อให้อีกฝ่ายหัวร้อนรำคาญใจ จนทำให้สมาธิหลุดและพลาดโอกาสสำคัญในการทำคะแนน โดยพฤติกรรมในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใด ยิ่งกับกีฬาบางประเภทด้วยแล้ว ก็ถือเป็นความบันเทิงก่อนแข่งจริงด้วยซ้ำ

ชนิดที่บางคราว ผู้เขียนจะใจจดใจจ่อรอดูงานแถลงข่าวก่อนขึ้นชกของ UFC มากกว่าการแข่งจริง (ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้ดู) เพราะอยากเห็นฝีปากของนักชกซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นอาวุธที่คมกว่ากำปั้นด้วยซ้ำ อย่าง คอนเนอร์ แม็กเกรเกอร์ นักศิลปะการต่อสู้จากไอริชที่ ‘ปากแจ๋ว’ จนกลายเป็นจุดขาย ขนาดที่ว่าช่องกีฬา ESPN เคยจัดทำคลิปรวบรวมวาทะเด็ดของเขา (กระซิบว่ารายการต้องเซ็นเซอร์ด้วยการดูดเสียงคำหยาบกันจนเมื่อย) ที่ถากถางคู่แข่งด้วยคำพูด ซึ่งขนาดฟังในมุมคนนอกยังพาลรู้สึกหัวอุ่นๆ ตามไปด้วย หรือการไปเจอหน้า ฟลอยด์ เมย์เวตเธอร์ นักมวยสากล ด้วยสูทสุดเนี้ยบที่สกรีนคำว่า ‘FUCK YOU’ ขณะที่บนสังเวียนการต่อสู้ ก็อาจพอเข้าใจได้ว่าแทรชทอล์คมีไว้เพื่อเรียกแขกให้มาดูวันจริง

แต่ในกีฬาอื่นๆ บทบาทและกลไกของแทรชทอล์คมีไว้เพื่ออะไร แล้วการถากถางกันเช่นนั้นได้ผลจริงไหม

สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ก็อาจจะเหมือนอย่างที่น้าโซลชาร์เคยบอกว่า “ก็ชัดเจนล่ะว่ามันได้ผล”

ซึ่งการได้ผลครั้งนี้ก็ไม่ได้มาจากความบังเอิญหรือนิสัยช่างปั่นของมาร์ติเนซเป็นสำคัญ หากแต่ก้นบึ้งของแทรชทอล์คผ่านการวิเคราะห์ทางจิตวิทยามาอย่างแยบยล ตัวมาร์ติเนซเองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน The Big Interview รายการพอดแคสต์ในสหราชอาณาจักรของ กราแฮม ฮันเตอร์ ว่าทุกสิ่งที่เขาทำบนสนามนั้นปราศจากความมุ่งหมายส่วนตัวใดๆ และเป็นส่วนหนึ่งของเกมด้วยซ้ำ

“มันไม่ได้มีเรื่องส่วนตัวใดๆ เลยเพราะผมรู้ดีว่าผมต้องการอะไร ผมเล่นจิตวิทยากับสมาธิของพวกเขา (มาร์ติเนซใช้คำว่า red and blue mind อันหมายถึงทฤษฎีที่เราอยู่ในสภาวะเยือกเย็น มีสมาธิซึ่งหมายถึงสีน้ำเงิน กับภาวะวิตกกังวลหรือตึงเครียดซึ่งหมายถึงสีแดง) ผมนัดเจอนักจิตวิทยาในสโมสรถึง 3 ครั้งตั้งแต่วันก่อนลงแข่งไปจนถึงวันแข่งจริง เราหาทางทำให้แน่ใจได้ว่าผมจะทำให้สมาธิของคู่ต่อสู้กระเจิงโดยที่ตัวเองก็ยังคงความเยือกเย็นไว้ได้อยู่” เขาว่า

ยิ่งในช่วงหลังๆ ที่กีฬาหลายชนิดนิยมติดไมค์ที่ผู้เล่นบางคนหรือที่เรียกว่า mic’d up เพื่อให้ผู้ชมได้ยินสิ่งที่ผู้เล่นพูดระหว่างการเล่นเกม ซึ่งถือเป็นสีสันแบบหนึ่งของกีฬาหลายๆ ชนิดโดยเฉพาะฝั่งอเมริกา ส่งผลให้การแทรชทอล์คที่เดิมทีเคยจำกัดวงอยู่แค่ตัวผู้พูดกับคู่กรณีหรือคนในสนาม กลายเป็นกระจายให้ได้ยินกันทั่วประเทศ (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เพราะตัวผู้เล่นลืมว่าถูกติดไมค์ไว้หรือไม่ก็กูไม่แยแสจ้า) อย่างการแข่งขันบาสเก็ตบอลชายโอลิมปิกเมื่อปี 2008 ระหว่างสหรัฐฯ กับอาร์เจนตินา ก็เป็นที่ได้ยินกันทั่วว่า โคบี ไบรอันต์ จากอเมริกาถากถาง หลุยส์ สโกลา ฟอร์เวิร์ด ผู้เล่นจากอาร์เจนตินา เป็นภาษาสเปน จนสโกลาตอบกลับว่า “กลับไปพูดอังกฤษเถอะ มึงพูดอังกฤษได้ดีกว่ามากนะ” ก่อนที่ไบรอันต์จะซัดตูมด้วยประโยคทองชวนปั่นประสาทว่า “กูพูดสเปนได้ จะได้แน่ใจด้วยว่ามึงเข้าใจที่กูพูดทุกคำจริงๆ” (อย่างไรก็ตาม เจ้าการ mic’d up นี้ก็เคยทำให้คนดูได้ยินอะไรที่ชวนเหวอแบบเต็มสองรูหูมาแล้ว เช่นครั้งหนึ่งเมื่อแฟนทีม เทรล เบลเซอร์ส ตะโกนถาม เลบรอน เจมส์ ว่าเพื่อนร่วมทีมที่เจมส์ทั้งรักทั้งชังอย่าง ไครี เออร์วิง นั้นหายไปไหน ทำไมไม่มาลงแข่ง เจมส์เลยสวนกลับไปอย่างดุเดือดว่า “อยู่บ้านแม่มึงอะ”) 

นอกจากนี้ มีหลายครั้งที่การแทรชทอล์คหรือการข่มขวัญคู่ต่อสู้ไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบคำพูดเสมอไป เพราะเป้าประสงค์ของมันคือการทำลายสมาธิคู่ต่อสู้ ผู้เล่นหลายคนจึงพยายามทำทุกทางให้อีกฝ่ายเสียสมาธิให้มากที่สุด จนส่งผลต่อรูปแบบการเล่นไปเอง เช่น แม็ตต์ บรานส์ ผู้เล่นจากทีมออร์แลนโด เมจิก ที่ถูก โคบี ไบรอันต์ ของทีมเลเกอร์สตามประกบจนหวุดหวิดจะทะเลาะกันกลางเกมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบรานส์ตอบโต้ด้วยการทำท่า ‘หลอก’ อย่างการโยนลูกบอลเข้าหน้าไบรอันต์เพื่อจะพบว่าอีกฝ่ายไม่สะดุ้งสะเทือนแม้สักนิด (ภายหลังคลิปวิดีโอที่บรานส์พยายามทำให้ไบรอันต์ตกใจแต่ล้มเหลวกลายเป็นไวรัลไปทั่ว จนมีคนแซวกันว่าตลกแท้ๆ ที่บรานส์พยายามปั่นให้ไบรอันต์หัวร้อน แต่สุดท้ายกลับมาเป็นฝ่ายหัวร้อนเสียเอง) 

รวมทั้งการแทรชทอล์คก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบคาย เพราะมีแนวโน้มจะถูกกรรมการตักเตือนอย่างรุนแรง ด้านหนึ่งการพูดจาถากถางจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเลือกใช้คำพูดที่ทำให้คู่ต่อสู้หัวร้อนโดยที่ไม่ผิดกฎกติกา และคนที่เป็นเจ้าแห่งศาสตร์ศิลป์ในการพูดจาเช่นนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเทพเจ้ามวยสากลอย่าง มูฮัมหมัด อาลี ที่ประโยคเด็ดของเขาอย่าง “โบยบินราวกับผีเสื้อ ต่อยราวกับผึ้ง” อันที่จริงมีต้นธารมาจากการถากถางจอร์จ ฟอร์แมน นักชกเมื่อปี 1974 โดยประโยคเต็มของมันคือ “โบยบินราวกับผีเสื้อ ต่อยราวกับผึ้ง จอร์จไล่ชกสิ่งที่เขามองไม่เห็นไม่ได้หรอก ตอนนี้คุณมองเห็นผม อีกเดี๋ยวคุณก็ไม่เห็น และแม้คุณจะคิดว่าคุณเห็น แต่ผมรู้ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นกัน พวกนั้นบอกว่าจอร์จเก่งมาก แต่ผมเก่งกว่าเขาสองเท่า” และที่แสบสันต์ไปกว่านั้นคือภายหลังจากที่อาลีน็อคฟอร์แมนลงได้แล้ว เขาก็ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างเผ็ดร้อน ด้วยการมองตรงและชี้นิ้วไปที่กล้องราวกับจะสื่อสารเป็นการส่วนตัวต่อคนทั้งโลกว่า “ทุกคนหยุดพูดแล้วฟังทางนี้! ถึงนักวิจารณ์ทั้งหลาย ผมจะบอกให้ว่าผมคือคนที่เก่งที่สุดตลอดกาล อย่าได้กล้าปรามาสผมอีกเชียวว่าผมจะพ่ายแพ้!” 

อ่านผ่านๆ แล้วก็ชวนคิดอยู่เหมือนกันว่าการแทรชทอล์ค ด้านหนึ่งก็เป็นการท้าทายเรียกเลือดเรียกลมระหว่างการแข่งขัน หรือไม่ก็เป็นการระบายห้วงอารมณ์อันพลุ่งพล่านของนักกีฬา แต่อีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจและสมาธิของคู่ต่อสู้ จนเกือบจะเป็น ‘เกม’ ที่อยู่ในการแข่งขันอีกที ซึ่งส่งผลให้แฟนกีฬาหลายๆ คนรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่สกปรกและใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาชนะนอกเหนือไปจากความสามารถด้านร่างกายและทักษะเฉพาะตัว

ทั้งนี้ ก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนการแทรชทอล์คว่าช่วยเพิ่มโอกาสชนะในการแข่งขันได้จริงเช่น งานวิจัย ‘กลยุทธ์การจัดการอารมณ์: ผลกระทบของการใช้คำพูดเพื่อถากถางซึ่งส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน’ ของ แคเรน แม็กเดอร์ม็อตต์ นักวิจัยด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยคอนเน็ตติกัต ที่ใช้เกมแข่งรถ Mario Kart เพื่อศึกษาว่าคำพูดยั่วยุส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันจริงหรือไม่ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 18-35 ปีจำนวน 200 คน ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มสวมบทบาทเป็นช่างซ่อมท่อประปาแข่งรถจิ๋วในเกม ต่างกันตรงที่กลุ่มหนึ่งได้ยินเสียงเย้ยหยันปั่นประสาท ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้ยิน

ผลการทดลองน่าสนใจทีเดียว เพราะแม็กเดอร์ม็อตต์พบว่ากลุ่มแรกที่ต้องนั่งเล่นเกมแข่งรถท่ามกลางเสียงยั่วยุนั้นทำสถิติได้ไม่ดีนัก “ตอนแรกฉันคิดว่าพวกเขาคงจะรู้สึกโกรธหรืออับอายอย่างใดอย่างหนึ่งตอนที่ได้ยินเสียงถากถางพวกนี้ แต่กลายเป็นว่าเอาเข้าจริงคนส่วนมากมักรู้สึกทั้งโกรธและอายไปพร้อมๆ กัน มันไม่ได้แยกจากกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกที่ว่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งที่พวกเขาทำด้วย”

“เรามักจะคิดกันว่ากีฬาเป็นเรื่องของศักยภาพทางร่างกายล้วนๆ เท่านั้น แต่อันที่จริงมันคือเรื่องของสภาพจิตโดยแท้เชียวล่ะ” แม็กเดอร์ม็อตต์กล่าวทิ้งท้าย

แม้หลายคนจะมองว่าการแทรชทอล์คเป็นเรื่องนอกเกมและไม่มืออาชีพ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือมันไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ อีกเหมือนกัน เพราะการแทรชทอล์คคือการฉวยจังหวะเพื่อเป็นฝ่ายคุมทั้งเกมและห้วงอารมณ์ของผู้เล่นอีกฝ่าย โดยที่ตัวเองไม่เสียสมาธิหรือจุดยืนไปเสียก่อน อันที่จริงมีหลายครั้งทีเดียวที่ผู้เล่นพยายามจะพูดจาถากถางแต่ลงเอยด้วยการใช้กำลังหรือบาดหมางกันก็มี

แต่ถึงที่สุดหากว่ากันด้วยเรื่องการเอาชนะกันในโลกของกีฬา เสี้ยวโอกาสเล็กน้อยในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเพลี่ยงพล้ำ ก็ไม่เสียหายที่จะฉวยหยิบไว้ การพูดจาถากถางอีกฝ่ายจึงเป็นกึ่งศิลปะการหว่านล้อมและใช้คำพูดในช่วงเวลาอันจำกัดและบีบเค้น และต้องระวังไม่ให้ล้ำเส้นที่อาจสร้างรอยแผลขึ้นบนความสัมพันธ์ที่อยู่นอกเกม และถึงอย่างไรในเวลานี้ก็ยังไม่มีลีกกีฬาไหนที่ระงับไม่ให้มีการพูดจาถากถางระหว่างผู้เล่น มิหนำซ้ำ ยังถูกยกชูให้เป็นสีสันของการแข่งขันผ่านการแถลงข่าวก่อนลงแข่งหรือการติดไมค์ที่ตัวผู้เล่น แทรชทอล์คจึงเป็นสิ่งที่ยังอาจต้องอยู่คู่กับโลกกีฬาต่อไปจนกว่าจะมีใครตั้งกติกาใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อระงับการสนทนาชวนปั่นประสาทนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save