fbpx
เรื่องใสๆ ของข้อมูล สู่สังคมใสๆ ไร้คอร์รัปชัน

เรื่องใสๆ ของข้อมูล สู่สังคมใสๆ ไร้คอร์รัปชัน

ตั้งแต่ใบเกิดยันมรณะบัตร ยังไม่รวมระหว่างทางที่มีชีวิต ข้อมูลแบบออฟฟิเชียลทั้งหลายแหล่ของตัวเราถูกเก็บไว้โดยผู้ถือข้อมูลเจ้าใหญ่ นั่นคือ ‘รัฐบาล’

 

ต่อให้หลายคนออกมาบอกว่า เฟซบุ๊กเป็น ‘รัฐ’ แบบใหม่ แต่เอาเข้าจริงข้อมูลที่เฟซบุ๊กมีนั้น ก็ยังสู้ข้อมูลที่รัฐบาลของแต่ละประเทศมีไม่ได้ เพราะรัฐมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถิติประชากรแบบละเอียดยิบ ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศ ข้อมูลด้านความมั่นคง รวมไปถึงข้อมูลตัวเลขยิบย่อยด้านงบประมาณทั้งหลายแหล่ มากไปกว่าข้อมูลสมัยใหม่ประมาณว่า-ตอนนี้ใครเป็นแฟนใครกันนะ หรือคนนี้ไปกดไลก์แบรนด์อะไร

แต่ข้อมูลของรัฐเหล่านี้มักจะถูก ‘ปิดลับ’ ไม่เหมือนข้อมูลของเอกชนที่เอาไปสร้างรายได้มหาศาลให้บริษัท (ซึ่งเอาเข้าจริงทั้งสองแบบก็สร้างปัญหาคนละด้าน) แต่ที่น่าตั้งคำถามก็คือ แล้วรัฐควรเปิดเผยข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้สู่สาธารณะเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกันไหม อย่างน้อยก็จะได้ช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถช่วยกัน ‘ตรวจสอบ’ การคอร์รัปชันได้

ในโลกสากล ดัชนีชี้วัดความเปิดเผยข้อมูลของประเทศต่างๆ ในโลกมีอยู่หลายตัว หนึ่งในนั้นคือ Open Data Barometer ที่จัดทำโดยมูลนิธิ World Wide Web และเครือข่าย Open Data for Development ที่ให้คะแนนความเปิดของข้อมูล โดยวัดจากความง่ายในการเข้าถูก การนำไปใช้ และผลกระทบ (ในทางที่ดี) ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลไปใช้

จากจำนวน 92 ประเทศ ผลการตัดสินจากสำนักนี้ให้คะแนนประเทศของเราอยู่ในอันดับที่…เอิ่ม…เอ่อ…62

(ใช่แล้ว หก-สิบ-สอง!)

 

หากย้อนกลับมาดูความหมายว่าแต่ละประเทศต้องจัดการอย่างไรกับข้อมูลของตัวเองถึงจะได้คะแนนดีๆ ก็จะร้องอ๋อว่าทำไมไทยแลนด์แดนสวรรค์ถึงได้ตำแหน่งท้ายๆ ในลิสต์ – เพราะความเปิดที่ว่า ไม่ใช่แค่เอาข้อมูลใส่ไฟล์เอ็กเซลแล้วแปะให้โหลดบนเว็บทื่อๆ แค่นั้น แต่ยังต้องเป็นลิขสิทธิ์แบบเปิดที่ใครก็เอาไปใช้ได้, ต้องอยู่ในฟอร์แมทที่พร้อมให้ใส่เครื่องมือประมวลผลได้, มีให้โหลดรวมเป็นไฟล์ใหญ่ที่เดียวจะได้ใช้ได้ง่าย ไม่ต้องป้อนใส่ทีละไฟล์ สุดท้าย ข้อมูลพวกนี้ต้องฟรี จะได้ไม่จำกัดว่าใครงบไม่ถึงก็อดใช้

ในประเทศไทย มีความพยายามในการทำศูนย์รวมข้อมูลขนาดใหญ่จากกระทรวงต่างๆ ของรัฐให้รวมอยู่ในเว็บเดียวโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ที่เว็บไซต์ data.go.th แต่ก็ยังมีปัญหาว่าบางข้อมูลต้องเสียค่าใช้จ่าย (ข้อมูลทางสถิติต่างๆ, ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ) เข้าถึงได้ยาก (ข้อมูลการถือครองที่ดิน) นำไปให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลต่อได้ยาก (ข้อมูลทรัพย์สินของนักการเมือง) แถมยังเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้น้อย เพราะข้อมูลที่เปิดก็ไม่ได้ละเอียดมากมายนัก

คำถามคือ แล้วข้อมูลเปิดที่ว่าจะมาช่วยให้การคอร์รัปชันลดลงได้อย่างไร

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ข้อมูลเปิด (ที่ใช้ได้จริง) สามารถนำมาช่วยให้เรานำมาวิจัยและประเมินผลการใช้งบประมาณต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อดูว่าวิธีการกำกับดูแลต่างๆ ที่ใช้อยู่ตอนนี้ดีที่สุดหรือยัง หรือถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีไปซักนิด มันทำให้ตัวเลขแสดงผลออกมาเปลี่ยนไปอย่างไร

ทั้งหมดนี้เพื่อให้รัฐสามารถนำไปปรับปรุงนโยบายกำกับดูแลเพื่อลดคอร์รัปชันได้แบบเห็นผลจริง

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI โดย ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ ธิปไตร แสละวงศ์ ที่ทดลองนำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างจากกรมต่างๆ ของรัฐบาลไทย เช่นระยะเวลาการยื่นซองประมูล ข้อมูลราคาการประมูล ราคากลาง ฯลฯ มาประมวลผล พบว่าระหว่างปี 2558 และ 2559 รัฐประหยัดงบประมาณจากราคาที่ภาคเอกชนประมูลงานได้ ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่ประกาศเป็นจำนวนเงินกว่า 56,000 ล้านบาท!

และเมื่อค้นจากข้อมูลที่ประมวลผลได้ พลังของมันบอกได้ละเอียดถึงขั้นว่าพื้นที่จังหวัดไหนในประเทศที่มีทีท่าว่าจะมีการผูกขาดจากเอกชนไม่กี่ราย (ที่จะทำให้ราคาประมูลต่ำลงไม่มากจากการแข่งขันที่น้อย) และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบไหนที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ให้การแข่งขันที่ดีที่สุด ซึ่งผลจากข้อมูลบอกว่าการประมูลแบบ E-Bidding (ส่งราคาประมูลผ่านอินเทอร์เน็ต) ทำให้รัฐได้ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางตั้งแต่ 7% ถึง 25% มากกว่าวิธีแบบอื่นๆ ที่เคยใช้มา

เมื่อเห็นปัญหาและทางแก้ การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขและส่งเสริมก็สามรถทำได้อย่างตรงจุด

และนี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของการนำข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐที่ ‘เปิด’ ให้ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อนำไปทำวิจัยในมิติต่างๆ ที่จะนำไปสู่การลดปัญหาคอร์รัปชันได้ในระยะยาว

ในต่างประเทศ เราได้เห็นตัวอย่างของการพัฒนาระบบตรวจสอบคอร์รัปชันจาก Big Data ที่ Open จริงๆ เช่นที่สหรัฐฯ มีการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ายาในระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุ จากแต่ก่อนที่มีปัญหาการเบิกยาทั้งที่ไม่มีการรักษาจริง เมื่อมีการทำระบบตรวจสอบทั่วประเทศจากข้อมูลที่เปิดเผยแบบเรียลไทม์ จากแต่ก่อนที่ต้องขอข้อมูลจากหน่วยงานแบบช้าเป็นเต่า ก็ช่วยลดการทุจริตไปได้ถึง 4.3 พันล้านเหรียญ! (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)

จริงอยู่, หากเทียบการเปิดเผยข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีข้อมูลใน data.gov ถึงเกือบ 200,000 รายการ กับการจัดทำข้อมูลแบบเปิด (ซึ่งนำไปใช้ได้จริง) ของเรา ที่ตอนนี้มีอยู่เพียง 200 กว่ารายการ คงเรียกได้เต็มปากว่าเรายังอยู่ในระยะตั้งไข่

แต่ถ้ารัฐบาลไทยตั้งใจจริงกับการจัดการ Big Data ให้ Open อย่างที่ควรจะเป็น เหมือนกับการตั้งใจล่อซื้อและไล่จับอูเบอร์เสียหน่อย…

 

ฝันที่อยากให้สังคมไทย ‘โปร่งใสไร้คอร์รัปชัน’ คงอยู่ใกล้เข้ามาอีกนิด

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ ตรวจทุจริต ต้านคอร์รัปชันด้วย Big Data ของ ณัชพล ประดิษฐเพชรา และธิปไตร แสละวงศ์ จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วันที่ 3 ธันวาคม 2016

-บทความ คิดยกกำลังสอง: ข้อมูลแบบเปิด…เกิดประโยชน์ต่อใคร ของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วันที่ 29 สิงหาคม 2016

-เว็บไซต์ให้คะแนนความเปิดเผยข้อมูลของประเทศต่างๆ

-บทความ Tackling corruption by making data shareable ของ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save