fbpx

ไปให้ไกลกว่า ‘นิรโทษกรรม’ พาสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม

ท่ามกลางนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้ หนึ่งในโจทย์สำคัญที่สังคมตั้งคำถามถึงพรรคการเมืองต่างๆ คือ เราจะหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่สั่งสมความขัดแย้งมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษอย่างไร

เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้วที่การเมืองไทยติดอยู่ในวังวนของความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมือง ตั้งแต่ความขัดแย้งเสื้อเหลือง-แดง การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม กปปส. การต่อต้านระบอบ คสช. จนถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พังเพดานด้วยการตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์

ความขัดแย้งเหล่านี้มักจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งการล้อมปราบ สังหารหมู่ประชาชน ตามด้วยการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ภายใต้คำกล่าวอ้างว่าเป็นไปเพื่อสร้างความสามัคคี ความปรองดอง และความสงบให้กับสังคม ก่อนจะลงท้ายด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดให้กับทุกฝ่าย พร้อมบอกให้สังคมก้าวไปข้างหน้าแล้วลืมความขัดแย้งทั้งหลายไว้ข้างหลัง

แต่ชัดเจนแล้วว่า ‘การก้าวข้ามความขัดแย้ง’ แบบไทยๆ ที่ทำกันมาตลอดนั้นไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมได้ ในเมื่อทุกวันนี้คนเห็นต่างทางความคิดยังถูกดำเนินคดีปิดปากและกักขังในคุก เจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนยังลอยนวลพ้นจากความผิด ส่วนผู้ก่อรัฐประหารก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไร

การพร่ำบอกให้สังคมหันมาปรองดองโดยปราศจากการสร้างความยุติธรรม จึงไม่ต่างอะไรกับการสั่งสมความขัดแย้งให้บานปลายและห่างไกลจากทางออกมากกว่าเดิม

การนิรโทษกรรมและก้าวข้ามความขัดแย้งไม่เพียงพอที่จะพาสังคมออกจากวิกฤตความขัดแย้งอันยืดเยื้อนี้ได้ แต่ต้องมีการผลักดันกลไก ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ อย่างรอบด้าน ทั้งสะสางความรุนแรงในอดีตผ่านการค้นหาความจริง ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างเหมาะสม ดำเนินคดีกับรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างกองทัพ ตำรวจ และศาล เพื่อพาสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมอย่างแท้จริง

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจแนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่อาจเป็นทางออกให้กับสังคมที่ผ่านความขัดแย้งและความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ทบทวนวิธีจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของไทย มองความสำเร็จในการสร้างความยุติธรรมจากกรณีต่างประเทศ พร้อมนำเสนอ 4 ข้อเสนอเพื่อสร้างความยุติธรรมอย่างยั่งยืน

สังคมไทยใน 2 ทศวรรษแห่งการกดปราบคนเห็นต่างด้วยความรุนแรง: บาดเจ็บ 3,716 คน เสียชีวิต 134 คน ถูกดำเนินคดี 4,937 คน

การมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การรวมตัวอย่างสงบของประชาชนเพื่อแสดงความเห็น เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หรือต่อต้านอำนาจรัฐก็ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองให้เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลในสังคมประชาธิปไตยมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปอย่างปลอดภัย

แต่สำหรับสังคมไทย หลักการพื้นฐานเหล่านี้ยังไม่ได้รับการรับประกันจากรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามักตามมาด้วยการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง ทั้งการใช้กำลังและอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ ตลอดจนการใช้ความรุนแรงผ่านกระบวนการยุติธรรมปิดปากและกักขังคนเห็นต่าง

ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2565 เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามหลักการสากล (เช่น หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่รับรองโดยสหประชาชาติ) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 70 ครั้ง ในจำนวนนี้ 60 ครั้งเกิดขึ้นในการชุมนุมปี 2564 และกว่า 42 ครั้ง เจ้าหน้าที่อ้างเหตุผลว่าผู้ชุมนุมได้รุกล้ำเข้าพื้นที่หวงห้าม อาทิ สนามหลวง ทำเนียบรัฐบาล และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1)[1]

การสลายการชุมนุมหลายครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2551 การสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 737 คน เสียชีวิต 8 คน[2] ต่อมาในปี 2552-2553 เกิดกรณีสลายการชุมนุม ล้อมปราบ และสังหารหมู่ประชาชนกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 1,635 คน และเสียชีวิตถึง 96 คน[3] ส่วนในปี 2556-2557 ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม กปปส. ก็เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 562 คน และเสียชีวิต 29 คน[4]

สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหลังการรัฐประหารในปี 2557 เรื่อยมาถึงการชุมนุมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น แม้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกรณีในอดีต แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐยุติการใช้การความรุนแรงกับประชาชน ในทางกลับกัน ความรุนแรงได้แปรสภาพจากกำลังอาวุธเป็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งเอาผิดคนเห็นต่างจากรัฐ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ช่วงปี 2557-2562 ภายใต้ระบอบ คสช. มีประชาชนกว่า 2,400 คนที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พวกเขาถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและอัตราโทษในบางคดียังสูงกว่าศาลยุติธรรมกว่าเท่าตัว (เช่น คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาตรา 112) ในช่วงเวลาดังกล่าว คสช. ยังอาศัยกฎอัยการศึกและคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อคุกคามและปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชน อย่างน้อย 1,500 คน ถูกเรียกรายงานตัว คุมตัวในค่ายทหารและถูกติดตามที่บ้าน มีการปิดกั้นสื่อและควบคุมการนำเสนอข้อมูลอย่างน้อย 55 ครั้ง และการใช้กฎหมายข่มขู่ปิดปากประชาชนเหล่านี้ยังส่งผลให้มีผู้ที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองไม่น้อยกว่า 100 คน

ในยุค ‘ม็อบราษฎร’ นับตั้งแต่การชุมนุมในปี 2563 ปรากฏการณ์การใช้กฎหมายจัดการคนเห็นต่างยิ่งรุนแรงขึ้น และ ‘ศาล’ ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน ในช่วงนี้มีคนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 2,397 คน (ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 284 คน) โดยคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นคดีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ 1,469 คน ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการนำกฎหมายที่อ้างว่าใช้ควบคุมสถานการณ์โรคระบาดมาปิดปากผู้ชุมนุมทางการเมือง

การชุมนุมระลอกล่าสุดนี้ยังเป็นยุคที่มีการนำความผิดตามมาตรา 112 มาใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 239 คน ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี หลายครั้งก็นำมาซึ่งคำถามถึงความเหมาะสมของการตั้งข้อหาที่รุนแรงอย่างการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เช่น การทำปฏิทินเป็ดเหลืองในการชุมนุมครั้งหนึ่ง กลับถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้อเลียนกษัตริย์และมีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี[5] หรือกระทั่งการทำโพลแสดงความเห็นเรื่อง ‘ขบวนเสด็จ’ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะชี้นำหรือข่มขู่ผู้ร่วมกิจกรรมให้แสดงความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง ก็ยังถูกตั้งข้อหาที่รุนแรงอย่างการหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์[6]

การทำโพลสอบถามความเห็นเรื่องขบวนเสด็จโดยกลุ่มทะลุวัง (ที่มาภาพ: ประชาไท)

ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจได้สร้างบาดแผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เพื่อกดปราบและทำลายผู้เห็นต่างจากรัฐ ความรุนแรงเหล่านี้ไม่เคยช่วยคลี่คลายปัญหาในสังคม ซ้ำยังยิ่งผลักให้สังคมไทยอยู่ในวงจรของความขัดแย้งต่อไป

โจทย์ของสังคมไทยจึงอาจไม่ใช่การมุ่งสลายความขัดแย้งทางความคิดให้เป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกับความขัดแย้งได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงทำลายคนเห็นต่าง ดังนั้น หากจะรักษาบาดแผลและทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมนั้นจะต้องหันมาเผชิญหน้าความจริง สะสางเหตุการณ์ในอดีต และแสวงหาความยุติธรรมร่วมกัน

ถึงเวลาเผชิญหน้าความขัดแย้ง สมานบาดแผลด้วยการสร้าง ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’

แนวคิดหนึ่งที่ถูกนำเสนอให้เป็นหนทางในการพาสังคมออกจากหล่มของความขัดแย้งและความรุนแรง คือ ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice)’ ซึ่ง Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติได้อธิบายแนวคิดนี้ไว้ในรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคง ค.ศ. 2004 ว่าหมายถึง

กระบวนการและกลไกที่มุ่งคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมที่เพิ่งพ้นจากระบอบเผด็จการและผ่านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความยุติธรรมและความปรองดองอย่างมีเหตุผล

แนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านถูกหยิบมาถกเถียงและใช้อย่างกว้างขวางในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ในขณะนั้นหลายประเทศเพิ่งผ่านพ้นจากระบอบเผด็จการที่ใช้ความรุนแรงต่อพลเมือง ตั้งแต่ระดับที่โหดร้ายที่สุดอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่อสงครามกลางเมือง การสังหารหมู่ การซ้อมทรมานและอุ้มหาย จนถึงการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ เรื่องดังกล่าวเป็นโจทย์ใหญ่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratization) ว่าจะจัดการกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลก่อนหน้าก่อไว้และคลี่คลายความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกในสังคมอย่างไร

ผู้ผลักดันแนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเชื่อว่าการจัดการกับโจทย์เหล่านี้ไม่ใช่การหมกมุ่นกับอดีต ในทางกลับกัน นี่คือการคลายปมปัญหาปัจจุบันและผลักดันให้สังคมเดินหน้าสู่อนาคตได้ ทั้งคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อความรุนแรง ปลดปล่อยสังคมจากวงจรการใช้ความรุนแรง และสมานรอยร้าวเพื่อให้สังคมนั้นเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนว่า หากจะสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้นจริง ควรมีการออกแบบ ‘กลไกเฉพาะ’ ที่นอกเหนือไปจากกระบวนการทางอาญาปกติ เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองและนโยบายรัฐ หลายครั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้นเองก็เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองได้ ดังนั้น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายใต้โครงสร้างเดิมของสังคมจึงไม่สามารถจัดการกับอาชญากรรมทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อเหตุได้

รูปแบบของกระบวนการและกลไกที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไม่ได้มีลักษณะตายตัว หากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและบริบททางการเมือง-สังคมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี งานศึกษาเกี่ยวกับความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจำนวนไม่น้อยพยายามสรุปหลักการสำคัญที่ไม่ควรขาดหายไปในกลไกความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ ความรับผิด (accountability) ความจริง (truth) และความปรองดอง (reconciliation) แต่ละสังคมอาจให้น้ำหนักหลักการทั้งสามต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่หน้าตาของกระบวนการและกลไกที่แตกต่างกันออกไป[7]

สำหรับหลักการแรก ความรับผิด หมายถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมสนับสนุนหรือกระทำความรุนแรงต่อประชาชน บ่อยครั้ง ผู้มีอำนาจเหล่านี้สามารถลอยนวลพ้นจากการรับผิดไปอย่างง่ายดาย เพราะกระบวนการยุติธรรมในสภาวะปกติไม่อาจเอื้อมถึง

กลไกความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านอย่าง ‘การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด’ ภายใต้การไต่สวนที่เป็นธรรม และ ‘การชดเชยเยียวยาเหยื่อ’ จึงเป็นตัวอย่างของกลไกที่ช่วยยืนยันหลักการความรับผิด โดยแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนไม่สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเยียวยาเหยื่อจากความรุนแรง ทำให้พวกเขายังไม่สิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ตลอดจนสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมใหม่ในสังคมที่จะไม่ยอมรับให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอีก

แม้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจะเป็นกลไกที่หลายสังคมล้วนปรารถนา แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องยอมรับว่าการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย และมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เช่น ควรดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐครอบคลุมทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติการหรือไม่ อาชญากรรมทางการเมืองในอดีตที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมจนคดีหมดอายุความไปก่อนควรถูกพิจารณาใหม่หรือไม่ หลักฐานแบบใดที่มีน้ำหนักเพียงพอ ทำอย่างไรให้กระบวนการไต่สวนน่าเชื่อถือ ไม่กลายเป็นการเล่นงานศัตรูทางการเมือง รวมถึงจะทำอย่างไรกับกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดที่ผู้นำเผด็จการในอดีตออกไว้ [8]

อีกหลักการสำคัญคือ ความจริง การกระทำความรุนแรงโดยรัฐส่วนมากมักจบลงด้วยความคลุมเครือและเงียบงัน ไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างเป็นระบบ ไม่มีการชี้ตัวคนผิด และแน่นอนว่าไม่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้ การปิดบังความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงยังมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก นั่นคือ สังคมนั้นไม่ได้เรียนรู้จากอดีตและเสี่ยงติดอยู่ในวงจรการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในวันข้างหน้า ‘การค้นหาและเปิดเผยความจริง’ ให้ผู้เสียหายและสังคมโดยรวมได้รับรู้จึงเป็นกลไกสำคัญเพื่อคืนความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่สุดให้ผู้เสียหาย ในขณะเดียวกันการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการตัดสินเชิงคุณค่าในการกระทำของแต่ละฝ่ายให้สังคมรับทราบก็เป็นการยืนยันหลักความรับผิดไปด้วย

ส่วนใหญ่การค้นหาความจริงจะเกิดขึ้นผ่านกลไกคณะกรรมการ (truth commission) ซึ่งมีโมเดลหลากหลายขึ้นอยู่กับโจทย์และเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ องค์ประกอบ ที่มา และกระบวนการสรรหา รวมถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ในขั้นพื้นฐานที่สุด ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการควรเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย มีความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน และกระบวนการสรรหาก็ควรยึดโยงกับประชาชน นอกจากนี้ คณะกรรมการค้นหาความจริงส่วนใหญ่จะไม่มีอำนาจตุลาการเหมือนศาล แต่ทำหน้าที่ไต่สวน หาหลักฐาน วิเคราะห์สาเหตุ และให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อเปิดทางสู่การดำเนินคดีในศาลต่อไป

หลักการสุดท้ายคือ ความปรองดอง ซึ่งเป็นการตอบจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ สมานรอยร้าวและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในสังคมที่อยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย กลไกหนึ่งที่อาจมองได้ว่าประนีประนอมที่สุด แต่ก็สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเช่นกันคือ ‘การนิรโทษกรรม’ หรือการยกเว้นความผิด ซึ่งมีหลักคิดว่าในเหตุการณ์ความรุนแรงมีผู้ที่อาจถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ทั้งผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่มีส่วนร่วมกระทำความรุนแรง และประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้อาจรวมกันเป็นคดีจำนวนมหาศาลที่ไม่มีวันจบสิ้น จึงอาจต้องนิรโทษกรรมให้กับคนจำนวนหนึ่ง เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งในสังคมที่ผู้ก่อความรุนแรงไม่ได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบหรือยังมีอำนาจทางการเมืองหลงเหลืออยู่ การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมจึงอาจเป็นกลไกที่ช่วยสร้างความปรองดองและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายได้[9]

ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรัดกุมที่สุดของกลไกนิรโทษกรรมคือ ความครอบคลุมของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม กรณีเลวร้ายที่สุดคือการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งและไม่มีเงื่อนไข (blanket Amnesty) ซึ่งเป็นการยกเว้นความผิดให้กับทุกคนทุกฝ่ายโดยไม่พิจารณาความผิด วิธีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งฝังลึกและผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคม (Impunity)[10] การสร้างความปรองดองที่แท้จริงจึงควรเกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างความยุติธรรมผ่านกลไกอื่นๆ เช่น ‘การปฏิรูปเชิงสถาบัน’ ในองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรม

สิ่งสำคัญในการออกแบบกลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ การสร้างสมดุลระหว่างหลักการทั้งสาม ผ่านการผสมผสานกลไกต่างๆ และการจัดวางลำดับการใช้กลไกที่เหมาะสมกับสังคม โดยควรตั้งเป้าหมายให้ทะเยอทะยานที่สุดคือ มุ่งผลักดันทุกกลไก และควรหลีกเลี่ยงการใช้กลไกนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้การสร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเสี่ยงล้มเหลวมากที่สุด[11]

ไทยเน้น ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’
คนผิดยังลอยนวล เหยื่อไม่ได้รับความยุติธรรม

‘การก้าวข้ามความขัดแย้ง’ อย่างที่พลเอกประวิตรและพรรคพลังประชารัฐชูธงเป็นสโลแกนหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 หากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวิธีการที่สังคมไทยใช้จัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงโดยรัฐมาตลอดคือ “ลืมความบาดหมางที่แล้วมาไปเถอะ แล้วมาปรองดองกัน”

ตั้งแต่การสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2535 จนถึงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 แทบทั้งหมดจบลงด้วยความเงียบ ไม่มีใครถูกดำเนินคดีทางอาญา ผู้กระทำความรุนแรงไม่เคยออกมาขอโทษผู้เสียหายและสังคมอย่างเป็นทางการ แม้จะมีการให้เงินชดเชยผู้เสียหายและญาติอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการชดเชยที่ใช้เกณฑ์ตาม พ.ร.บ. สงเคราะห์ผู้ประสบภัยฯ[12] ไม่ได้คิดบนฐานของการคืนความยุติธรรมผู้เสียหายจากความรุนแรงทางการเมืองที่มีความซับซ้อนและต้องการการเยียวยาในรูปแบบอื่นๆ เช่น การฟื้นคืนศักดิ์ศรี การเยียวยาร่างกายและจิตใจ และการมีพื้นที่ได้บอกเล่าความทุกข์ต่อสังคม จึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่ารัฐได้ดำเนินการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมแล้ว

สำหรับการสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2535 มีการผ่าน พ.ร.ก. นิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมโดยตรง แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเอกฉันท์ให้ พ.ร.ก. นิรโทษกรรมที่ไม่ชอบธรรมนี้ตกไป แต่ท้ายที่สุดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยรับรองความชอบธรรม[13] ส่งผลให้ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ การปิดล้อมและสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 193 คนที่มัสยิดกรือเซะ สถานีตำรวจภูธรตากใบ และหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547[14] ก็เป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรงและไม่ถูกลงโทษหรือดำเนินคดีแม้แต่คนเดียว แม้ว่ารายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในขณะนั้นจะระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ก็ไม่ระบุว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งหรือกองทัพ [15] ยังไม่รวมถึงการซ้อมทรมานและอุ้มหายประชาชนที่ถูกรัฐตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจำนวนไม่น้อย กรณีเหล่านี้แทบไม่เคยมีการสอบสวนและหาผู้กระทำผิดอย่างจริงจังแม้จะมีหลักฐานและพยานที่ค่อนข้างชัดเจน

ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่คนเสื้อแดงครั้งล่าสุดในปี 2553 มีการริเริ่มผลักดันกลไกความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เช่น การตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และอาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง เพราะถูกแต่งตั้งโดยตรงจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีส่วนร่วมตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยตรง การนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในรายงานก็ไม่มีการอ้างอิงพยานหลักฐานอย่างรอบด้าน ที่สำคัญคือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไม่ถูกนำไปผลักดันในกลไกอื่นๆ ต่อ แม้ว่าจะมีข้อเสนอหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น เสนอให้พิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายซึ่งลบล้างความผิดโดยมิชอบ แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนและขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย[16]

นอกจากนี้การดำเนินคดีกับผู้สั่งการสลายการชุมนุมยังถูกปัดให้เป็น ‘การกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ’ ทำให้คดีอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งภายหลัง ป.ป.ช. ก็มีมติให้คำร้องตกไป ทำให้ยังไม่มีใครต้องรับผิดกระทั่งปัจจุบัน [17]

สร้างความยุติธรรมที่ยั่งยืนต้องไม่หยุดแค่นิรโทษกรรม

หากเป้าหมายในอุดมคติของแนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือการพยายามผลักดันกลไกที่กล่าวมาให้ครบทั้งหมด ประเทศไทยคงถือว่ายังค่อนข้างห่างไกลจากอุดมคตินี้ จนถึงวันนี้ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้สำเร็จ

สาเหตุหนึ่งคือ การผลักดันที่ผ่านมามักหยุดอยู่ที่การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่ได้มีความพยายามดำเนินงานด้านอื่นอย่างจริงจัง หลายครั้งผู้นำรัฐบาลในระบอบใหม่และสังคมเองก็ไม่ได้มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) มากพอที่จะร่วมกันสร้างความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นจากความรุนแรงและอยู่ระหว่างแสวงหาความยุติธรรมต่างเผชิญความยากลำบากกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างในหลายประเทศเช่นกันที่แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนก็เอาจริงเอาจังและร่วมกันสถาปนาความยุติธรรมได้สำเร็จ เช่น ประเทศแอฟริกาใต้และประเทศอาร์เจนตินา

ประเทศแอฟริกาใต้มักถูกยกให้เป็นตัวอย่างของการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ‘อย่างประนีประนอม’ คือไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด แต่ก็ไม่ถึงกับยกเว้นความผิดและเพิกเฉยต่อความรุนแรงในอดีต

บริบทความขัดแย้งในขณะนั้นเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) โดยรัฐบาลคนผิวขาว เมื่อคนผิวดำลุกขึ้นต่อต้านก็เกิดการปราบปราม กักขังและซ้อมทรมาน จนนำไปสู่การจับอาวุธปะทะกันทั้งสองฝ่าย หลังจากที่แอฟริกาใต้ถูกนานาชาติคว่ำบาตรและกดดันให้ยุติการดำเนินนโยบายแบ่งแยกสีผิว จึงได้มีการจัดการเลือกตั้งและเจรจาออก ‘กฎหมายส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ (ค.ศ. 1995)’ เพื่อสะสางกับเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น โดยกำหนดกลไก 3 ข้อคือ แสวงหาความจริง นิรโทษกรรม และเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหาย พร้อมตั้งคณะกรรมการเพื่อความจริงและการปรองดอง

การนิรโทษกรรมในโมเดลแอฟริกาใต้นับว่าเป็นการเปลี่ยนความหมายและวิธีการของนิรโทษกรรมในยุคสมัยนั้น คือไม่ใช่การลบล้างความผิดเพียงอย่างเดียว แต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดที่ต้องการได้รับนิรโทษกรรมจะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการและเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของตน ส่วนคณะกรรมการก็มีหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าการกระทำผิดนั้นมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ผู้กระทำผิดจะได้รับการปลดเปลื้องจากความรับผิดก็ต่อเมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยว่ากระทำผิดจริงและมีการประกาศต่อสาธารณะแล้วเท่านั้น

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้แอฟริกาใต้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสร้างความยุติธรรมคือ คณะกรรมการที่เอาจริงเอาจัง เป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย และยึดโยงกับประชาชนโดยตรง จนได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของคณะกรรมการค้นหาความจริง แอฟริกาใต้ใช้วิธีการเปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ จัดเวทีให้ผู้สมัครตอบคำถามต่อสาธารณะ จากนั้นจึงให้ประธานาธิบดีเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อสุดท้าย และในรายชื่อเหล่านี้ยังต้องได้รับการลงนามรับรองโดยบุคคลสำคัญในขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิว อาทิ เนลสัน แมนดาลา ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น รวมถึงบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคมอีกจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม[18]

คณะกรรมการเพื่อความจริงและการปรองดองของแอฟริกาใต้ดำเนินการเบิกความทั้งผู้เสียหายจากความรุนแรงและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการได้รับการนิรโทษกรรม (ที่มาภาพ: Oryx Media)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นตัวอย่างของประเทศที่พยายามผลักดันกลไกทุกข้อ แม้จะต้องใช้เวลายาวนาน และเผชิญกับอุปสรรคที่ทำให้ความยุติธรรมก้าวถอยหลังไประหว่างทางบ้าง แต่ในท้ายที่สุดก็สามารถเปิดเผยความจริงสู่สังคมและนำตัวกลุ่มทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดีและได้รับการลงโทษสำเร็จ

ภายในระยะเวลา 7 ปีที่ระบอบเผด็จการทหารที่ครองอำนาจในอาร์เจนตินา มีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เหยื่ออุ้มหาย’ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกักตัวไว้ในค่าย ถูกซ้อมทรมาน ก่อนจะถูกฆ่าและนำศพไปทิ้งในที่ต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 30,000 คน[19] การกวาดล้างประชาชนอย่างเป็นระบบนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐบาลได้รับแรงกดดันจากนานาชาติและประสบปัญหาเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชนและออกกฤษฎีกานิรโทษกรรมให้พวกตนเองก่อนจะลงจากอำนาจ

ภายใต้แรงกดดันขององค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาชนอาร์เจนตินา รัฐบาลใหม่เริ่มต้นสะสางอดีตอันโหดร้ายด้วยการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองของกองทัพ พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อไต่สวนกรณีที่บุคคลถูกทำให้สาบสูญ แต่เพื่อลดแรงปะทะกับกองทัพที่ยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ คณะกรรมการชุดนี้จึงถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีทั้งหมด และมีอำนาจค่อนข้างจำกัด เช่น ไม่สามารถเรียกพยานมาให้ปากคำได้ อย่างไรก็ดี ผลงานของคณะกรรมการชุดนี้กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมเป็นอย่างมาก มีการเปิดเผยรายละเอียดของคดีทรมาน ฆาตกรรม และอุ้มหายโดยกองทัพอย่างละเอียด จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องในสังคมให้ดำเนินคดีต่อกองทัพและฝ่ายความมั่นคง

แต่กว่าที่อาร์เจนตินาจะสามารถนำตัวนายทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาขึ้นศาลได้จริง ก็ต้องใช้เวลาผลักดันกันถึง 27 ปี โดยมีฝ่ายกองทัพคอยกดดันและคัดค้านไม่ให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าอยู่ตลอด กุญแจความสำเร็จของอาร์เจนตินาคือ ความต่อเนื่องในการผลักดันทั้งโดยรัฐบาลและภาคประชาสังคม รวมถึงความพยายามพลิกแพลงหาช่องทางดำเนินคดี เช่น เรียกร้องให้มีการไต่สวนความจริงในศาล (truth trials) เพื่อเรียกตัวพยานหรือจำเลยมาสอบสวนให้ปากคำ แม้จะไม่มีอำนาจตั้งข้อกล่าวหาหรือลงโทษ แต่กลไกนี้ก็ทำให้เกิดการรวบรวมหลักฐานเก็บไว้ใช้เมื่อเงื่อนไขสังคมเปลี่ยนไป[20]

นายพลฮอร์เก วิเดลา ผู้ทำรัฐประหารและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาช่วง ค.ศ. 1976-1981 ใน ค.ศ. 2010 ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ฐานก่ออาชญากรรมจากการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง (ที่มาภาพ: Deseret News)

ประสบการณ์ในอาร์เจนตินาและแอฟริกาใต้ต่างเป็นเครื่องยืนยันว่า การแสวงหาความยุติธรรมหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องในอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ หากสังคมร่วมกันผลักดันกลไกต่างๆ โดยไม่หยุดอยู่แค่การนิรโทษกรรม ความหวังที่จะเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความยุติธรรมย่อมมาถึงเสมอ

4 ข้อเสนอพาสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม

การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังใกล้เข้ามาเป็นจังหวะสำคัญที่สังคมควรกลับมาพูดคุยถึงหนทางการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนที่สุดคือการจัดการกับคดีการเมืองที่มีจำนวนมหาศาล รื้อฟื้นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงโดยรัฐมาทบทวนและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ตลอดจนการปฏิรูปเชิงสถาบันในระยะยาว เพื่อสร้างความยุติธรรมที่ยั่งยืนในสังคมไทยและเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ข้อเสนอที่ 1: ค้นหา-เปิดเผยความจริงผ่านกลไกคณะกรรมการ

ขั้นตอนแรกที่รัฐบาลใหม่ควรเริ่มทำคือ ตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ อาจครอบคลุมตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องกำหนดให้ชัด ดังนี้

1.1 ภารกิจหลักของคณะกรรมการคือค้นหาความจริงและเสนอทางออก นอกจากหน้าที่ทั่วไปอย่างการรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ โดยละเอียดและรอบด้านแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ควรมีภารกิจในการศึกษาวิเคราะห์สาเหตุของความขัดแย้ง มีการตัดสินเชิงคุณค่า (value judgment) ในการกระทำของแต่ละฝ่าย เปิดเผยข้อเท็จจริงให้สาธารณะรับรู้ และควรจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อถอดบทเรียนและหาแนวทางป้องกันความรุนแรงในอนาคตให้แก่รัฐบาลและสังคม

1.2 สรรหากรรมการให้เป็นที่ยอมรับ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการไม่ควรเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงที่ผ่านมา และต้องสามารถสร้างการยอมรับจากคนทุกฝ่ายในสังคมได้ โดยอาจพิจารณาเลือกใช้วิธีสรรหากรรมการที่ยึดโยงกับประชาชน เช่น การใช้รัฐสภาร่วมสรรหา (กรณีอาร์เจนตินา) เปิดรับสมัครประชาชนเป็นกรรมการ (กรณีแอฟริกาใต้) กำหนดให้มีตัวแทนคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายร่วมเป็นกรรมการหรือให้การรับรองรายชื่อกรรมการในขั้นสุดท้าย (กรณีชิลี) จนถึงการให้ชาวต่างชาติร่วมเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ (กรณีกัวเตมาลา)[21]

1.3 คณะกรรมการควรมีอำนาจที่ชัดเจนและมากพอที่จะค้นหาข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยที่สุดควรมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐาน และเชิญเจ้าหน้าที่รัฐให้ปากคำ เพื่อให้สามารถตรวจสอบความจริงได้อย่างรอบด้าน

1.4 ส่งต่อข้อเท็จจริงสู่กลไกตุลาการที่ดำเนินคดีได้จริง ที่สำคัญคือ เมื่อกระบวนการค้นหาความจริงสิ้นสุดและมีการเผยแพร่รายงานโดยคณะกรรมการแล้ว ควรมีกระบวนการส่งต่อข้อเท็จจริงไปสู่กลไกตุลาการเพื่อให้เกิดการพิจารณาคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปสู่โจทย์สำคัญที่สังคมต้องขบคิดกันต่อว่า การดำเนินคดีเหล่านี้ควรเกิดขึ้นในองค์กรหรือกระบวนการยุติธรรมลักษณะใด

หากใช้ศาลภายในของประเทศไทยที่มีอยู่เดิมโดยที่ยังไม่มีการปฏิรูป ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งของประชาชนที่ต่อต้านรัฐ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมอย่างที่เป็นตลอดมา ส่วนทางเลือกอื่นๆ ที่เคยถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น การตั้งผู้พิพากษาใหม่ และการตั้งศาลเฉพาะกิจเพื่อดำเนินคดีเหล่านี้โดยเฉพาะ ก็เป็นแนวทางที่ต้องออกแบบอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายว่ากลไกเฉพาะเหล่านี้จะพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ไม่เป็นไปเพื่อล้างแค้นหรือเล่นงานศัตรูทางการเมือง

ข้อเสนอที่ 2: นิรโทษกรรมประชาชน ไต่สวนผู้กระทำผิด

2.1 ชะลอการพิจารณาคดีการเมือง ปล่อยผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงความเห็นทางการเมืองและการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด ระหว่างที่คณะกรรมการกำลังตรวจสอบและค้นหาความจริง ควรมีการชะลอการพิจารณาคดีเหล่านี้ และปล่อยผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีหรือไม่ได้รับการประกันตัว[22]

2.2 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชน ในคดีที่มีการสืบค้นความจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อลบล้างความผิดให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาจทยอยนิรโทษกรรมคดีที่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นความผิด โดยไม่ต้องรอให้คณะกรรมการพิจารณาคดีทั้งหมดจนเสร็จ เพื่อให้การคืนความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีมากที่สุด

2.3 ไต่สวนผู้มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ได้จากการทำงานของคณะกรรมการควรถูกส่งต่อให้ถึงกลไกตุลาการ เพื่อให้ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นศาล ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคง ฯลฯ ที่มีบทบาทในการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองได้ถูกพิจารณาคดีและมีการรับผิดชอบอย่างเหมาะสม

ข้อเสนอที่ 3: ชดเชยเยียวยา คืนศักดิ์ศรีให้ผู้เสียหาย

นอกจากการจ่ายเงินชดเชยอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว การเยียวยาที่สำคัญและอาจจำเป็นมากกว่าตัวเงินคือ การฟื้นฟูและคืนศักดิ์ศรีให้ผู้เสียหาย ผ่านการขอโทษและยอมรับผิดอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลที่ก่อความรุนแรง

การชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมยังควรคำนึงถึงโอกาสที่ผู้เสียหายหรือญาติสูญเสียไประหว่างที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งเวลาและทรัพยากรในการดำเนินเรื่องระหว่างพิจารณาคดี และการสูญเสียรายได้ระหว่างที่ถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม โดยรัฐบาลอาจชดเชยให้ผู้เสียหายในรูปแบบของสิทธิหรือสวัสดิการบางอย่าง เช่น สวัสดิการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล เป็นต้น รวมถึงควรมีระบบฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้ผู้เสียหาย เช่น การจัดบริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา

ข้อเสนอที่ 4: ปฏิรูปเชิงสถาบัน

ท้ายที่สุด การสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืนหนีไม่พ้นการปรับโครงสร้างบางอย่างในสังคมที่มีส่วนสร้างความอยุติธรรมและเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้กับบางกลุ่มอำนาจ

4.1 ลดบทบาทและอำนาจของกองทัพ โดยจำกัดความรับผิดชอบของกองทัพไว้เฉพาะการป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอก ลดบทบาทของกองทัพในทางการเมือง และทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน

4.2 ปฏิรูปอำนาจตุลาการให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาอำนาจตุลาการหลุดลอยไปจากสังคม ไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่เคยรับผิดต่อการใช้อำนาจ ดังนั้น ควรมีการปฏิรูปอำนาจตุลาการทั้งในเชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม เช่น ทำให้ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งศาลต่างๆ เชื่อมโยงกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมผ่านสถาบันทางการเมือง สร้างระบบตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยืนยันเสรีภาพในการวิจารณ์อำนาจตุลาการ โดยต้องไม่ถูกปิดปากด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาลหรือหมิ่นประมาทศาล[23]

4.3 แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เช่น กฎหมายที่ปิดกั้นการชุมนุมและการรวมตัวโดยสงบ กฎหมายที่ควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรและสถาบันในสังคม และกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยในกระบวนการพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมออกแบบและให้ความเห็นด้วย

4.4 สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในองค์กรต่างๆ ควรมีการอบรมสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสิทธิเสรีภาพแก่บุคลากรในหน่วยงานความมั่นคง ศาล ตำรวจ และทหาร อย่างจริงจัง และในระยะยาวควรมีกลไกเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพหลักการเหล่านี้ร่วมด้วย

References
1 iLaw, “สถิติการชุมนุม ในปี 2564,” 27 มกราคม 2565.
2 ข้อมูลจากการแถลงของศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ อ้างใน ผู้จัดการออนไลน์, “ศูนย์เอราวัณสรุปเหตุชุมนุมพันธมิตรฯ – นปช.ตาย 8 เจ็บ 737,” 4 ธันวาคม 2551.
3 สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ระลึกสงกรานต์เลือด 2552,” ประชาไท, 23 เมษายน 2556. และ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53, “บทที่ 4 เชิงอรรถความตายจากการสลาย การชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 อำพราง อัปลักษณ์ และอำมหิต,” ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53, 2555.
4 บ.จ. ชาติเสรี, “ความตายที่เงียบงัน: 29 ศพ ก่อนรัฐประหาร 57 – เปิดผลไต่สวนการตาย 4 กปปส.,” ประชาไท, 27 พฤษภาคม 2563.
5 ดูเพิ่ม iLaw Freedom, “RECAP112: ชวนรู้จักคดี “ปฏิทินเป็ด” ที่ศาลสั่งจำคุกเพราะเชื่อว่าตั้งใจล้อเลียนกษัตริย์,” 22 มีนาคม 2566.
6 ดูเพิ่ม iLaw Freedom, “เปิดคำฟ้องคดี 112 ทำโพลขบวนเสด็จ #ตะวันแบม ถูกตั้งข้อหาแม้ตัวโพลไม่ได้ชี้นำผู้ร่วมทำโพล,” 14 กุมภาพันธ์ 2566.
7 Olsen, Tricia D., Leigh A. Payne, and Andrew G. Reiter, “The Justice Balance: When Transitional Justice Improves Human Rights and Democracy,” Human Rights Quarterly 32, no. 4 (2010): 980–1007, Scalabrini Institute for Human Mobility in Africa (SIHMA), “Post-Conflict Reconciliation and Displacement – Examples from the African Context.”
8 ประจักษ์ ก้องกีรติ, “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม,” ประชาไท, 17 ตุลาคม 2553.
9 Olsen, et al., “The Justice Balance: When Transitional Justice Improves Human Rights and Democracy.”
10 Neil J. Kritz, “The Dilemmas of Transitional Justice,” in Transitional Justice, Neil J. Kritz, ed. (Washington, D.C.: United States Institute of Peace Press, 1995.
11 ประจักษ์, “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม.”
12 กรุงเทพธุรกิจ, “เปิดชื่อ-พฤติการณ์! ป.ป.ช.ตีตกคดี “ยิ่งลักษณ์-36 ครม.” จ่ายเงินเยียวยาม็อบ,” 25 พฤศจิกายน 2565.
13 ภาสกร ญี่นาง, “สภาวะลอยนวลพ้นผิดในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535: การปกป้องผู้ก่อความรุนแรงโดยกฎหมาย,” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 17 พฤษภาคม 2564.
14 Amnesty International Report 2005: The State of the World’s Human Rights.
15 Human Rights Watch, “กลุ่มเป้าหมายทั้งสองฝ่าย: ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู และโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย,” 30 กันยายน 2553.
16 ดูเพิ่ม รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
17 “10 ปีเสื้อแดง : ศาลสั่งจำคุกคนฟ้องเอาผิด ‘สุเทพ-อภิสิทธิ์’ แต่คดีสลายชุมนุมถูกดองหลังรัฐประหาร 57,” ประชาไท, 12 มีนาคม 2563.
18 Paul van Zyl, “Dilemmas of Transitional Justice: The Case of South Africa’s Truth and Reconciliation Commission,” Journal of International Affairs 52, no. 2 (1999): 647–667.
19 Carlos H. Acuña, “Transitional Justice in Argentina and Chile : A Never-Ending Story?,” in JonElster (ed.), Retribution and Reparation in the Transition to Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2006).
20 ภัควดี วีระภาสพงษ์, “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน : กรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา,” ฟ้าเดียวกัน 8/2 : ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน, ฉบับที่ 2 ตุลาคม-ธันวาคม 2553.
21 ปราชญ์ ปัญจคุณาธร, “บทศึกษาเปรียบเทียบ คอป. กับคณะกรรมการสืบหาความจริงในต่างประเทศ,” 10 ตุลาคม 2558.
22 ในประเด็นนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายยุติการดำเนินคดีการเมืองหรือคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พร้อมกับตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีเป็นผู้มีอำนาจตัดสินในกรณีมีข้อโต้แย้ง ดูเพิ่มที่ ข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขและยุติการดำเนินคดีทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557-ปัจจุบัน
23 แนวทางข้อเสนอจาก สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “คืนอำนาจตุลาการแก่ปวงชนชาวไทย,” The101.world, 8 กุมภาพันธ์ 2566.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save