fbpx
ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

ปรับ ‘ใจ’ ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

“ในหนึ่งวันเราดูแลใจตัวเองบ้างรึเปล่า” คือคำถามเริ่มต้นที่เรียบง่ายในกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’ ที่แดนหญิง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สายตาผู้ต้องขังกว่า 30 ชีวิตจับจ้องไปที่ผู้นำทำกิจกรรม พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมสำรวจใจตัวเองมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว อีกไม่กี่เดือนพวกเขาก็จะได้ออกไปชีวิตนอกรั้วเรือนจำ แต่ก่อนจะได้สัมผัสอิสรภาพ พวกเขาต้องได้รับการเตรียมความพร้อมก่อน โดยเฉพาะเรื่องทางใจซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด กิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาช่วย ‘เตรียมใจ’ ผู้ต้องขัง ให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และเข้าใจสังคมมากกว่าที่เคยเป็น

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

‘ของขวัญจากใจ’ เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Transformation Learning for Social Change) ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) โดยมีหลักการที่เรียบง่ายคือ ทำความเข้าใจตนเองและสังคมผ่านการทบทวนชีวิต มีเป้าหมายคือช่วยคลี่คลายทัศนคติ และอคติที่กดทับตัวเองและคนอื่นๆ ของผู้ต้องขัง

เนื่องจากผู้ต้องขังหลายคน เข้ามาในเรือนจำเพราะความผิดพลาด เมื่อถูกจำกัดอิสรภาพ ถูกตัดสินจากสังคม รวมกับเรื่องราวในชีวิตที่ประสบพบเจอมา จึงอาจทำให้พวกเขามีมุมมองต่อชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก การเข้าใจสภาวะภายในของตัวเอง เช่น รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เพื่อรับมือกับเรื่องจากภายนอกที่เข้ามากระทบ จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราไม่อาจมองข้าม

ผู้ต้องขังหญิงจำนวน 32 คน ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือหนึ่งในกลุ่มที่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมของขวัญจากใจ พวกเขาต่างคนต่างมา แต่มีจุดร่วมคืออีกไม่นานพวกเขาจะพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตข้างนอก การเตรียมหัวใจในช่วงใกล้ออก จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยู่ข้างนอกห้องนี้เราไม่สนิทกัน แต่พอได้ทำกิจกรรมด้วยกัน ก็รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น”

เห็นจากการหยอกล้อ และเสียงหัวเราะที่ดังลั่นตลอดกิจกรรมในห้องเล็กๆ ก็เชื่อได้ไม่ยากว่าพวกเขาผ่านการเปิดใจและเข้าใจกันมามากพอสมควรแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือ แล้วกิจกรรมแบบไหน ที่จะทำให้คนเข้าใจตัวเองได้จริงๆ ประโยคเรียบง่ายที่ว่า “ในหนึ่งวันเราดูแลใจตัวเองบ้างหรือเปล่า” อาจนำไปสู่คำตอบได้

ภูเขาหัวใจ

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

“ทุกคนหลับตา แล้วให้คิดถึงภูเขาในใจเรา มีสิ่งไหนมากระทบบ้าง ความรู้สึกแบบไหนเกิดขึ้นบ้าง รับรู้มันแล้วทำให้ใจเราเป็นภูเขาเหมือนเดิม” เสียงเนิบช้านุ่มหูของ อวยพร สุธนธัญญากร เจ้าของเพจ ‘เสียงจากผู้หญิงหลังกำแพง’ และกระบวนกรของกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’ ดังพอได้ยินในห้องขนาดเล็กนี้

หลังกังวานระฆัง ทุกคนในห้องหลับตา ห้องเข้าสู่ความเงียบ แต่ยังแอบเห็นบางรอยยิ้มปรากฏ

อวยพรพูดต่อไปว่า ถ้าความโกรธเข้ามา ความกังวลเข้ามา ความเบื่อหน่ายเข้ามากระทบใจ ให้จับอารมณ์นั้นไว้ แล้วปรับใจให้ตระหง่านมั่นคงเหมือนดั่งภูเขา แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย หลังผ่านไป 5 นาที ทุกคนก็ลืมตา

“ทำไม่ได้เลย ใจกังวลตลอด”

“อยากเป็นภูเขาค่ะ แต่ความรู้สึกไหลมารัวเลย”

“มีทั้งช่วงนิ่งและไม่นิ่งสลับกันไป”

ประโยคข้างต้นคือความรู้สึกที่หลากหลายจากหลายคน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยสาวหรือวัยชรา พวกเขาต่างมีความคิดและความกังวลเป็นของตัวเอง

อวยพรกล่าวสรุปว่า การดูแลใจตัวเอง เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยระงับอารมณ์เหล่านี้ได้ หลายครั้งที่เราโกรธ เพราะอยากให้มีคนมาดูแลใจเรา แต่เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็ยิ่งเกิดอารมณ์ขุ่นมัว ดังนั้นการบอกตัวเองว่า “ฉันจะดูแลใจตัวเอง” จึงเป็นเหมือนทั้งการทบทวนและท้าทายตัวเอง ทั้งนี้ การฝึกภูเขาหัวใจทุกวันจะยิ่งฝึกให้เราบังคับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นด้วย

ภาวนาเมล็ดถั่ว

 

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

หลังจากออกกำลังหัวใจไปในตอนต้น ก็เข้าสู่กิจกรรมที่ละเอียดขึ้นในชื่อ ‘ภาวนาเมล็ดถั่ว’ จากที่เมื่อสักครู่ได้ฝึกใจให้เป็นภูเขา มาคราวนี้ กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเผชิญหน้ากับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

ทีมกระบวนกร แจกเมล็ดถั่วจำนวน 1 กำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคน แล้วให้นั่งหลับตาภาวนา 5 นาที โดยมีกติกาว่า ‘ทุกครั้งที่มีความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์เข้ามาให้ทิ้งถั่วลง 1 เม็ด’ เพื่อมาดูกันว่าสุดท้ายแล้วใครจะมีถั่วน้อยถั่วเยอะต่างกันอย่างไร

ตลอดเวลา 5 นาที บางคนรัวถั่วลงมาจนเกือบ 10 เม็ด บางคนผ่านครึ่งทางค่อยมีหล่นลงมาแค่เม็ดเดียว

การภาวนาเมล็ดถั่ว คือการฝึกให้เรารู้เท่าทันความคิดตัวเองที่หมุนเวียนผ่านเข้าออกในจิตใจ เรื่องบางเรื่องเราแทบไม่รู้ว่าเรานึกถึง แต่เมื่อได้ลองจับความคิดตัวเองแล้ว จึงพบว่าในช่วงเวลาชั่วระยะหนึ่ง เรานึกถึงเรื่องราวที่ทับซ้อนกันมหาศาล อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ว่าเรามีเรื่องให้คิดกังวลมากขนาดนี้ และเรารู้เท่าทันมันแค่ไหน

หลังการภาวนาจบลง เมื่อถามถึงสิ่งที่คิดในหัวของผู้ร่วมกิจกรรม ส่วนมากมักตอบว่า คิดเรื่องลูกกับเรื่องที่บ้าน ใจของพวกเขามักกังวลกับเรื่องภายนอกเสมอ ยิ่งถ้าไม่ได้มองเห็นด้วยตาตัวเอง ยิ่งรู้สึกเป็นห่วงเท่าทวีคูณ การได้ฝึกจับอารมณ์แบบนี้จึงช่วยให้พวกเขารับมือกับความกังวลที่ถาโถมเข้ามาได้ดีขึ้น

เมื่อสำรวจใจตัวเองละเอียดแล้ว ขั้นตอนถัดจากนั้นจึงเป็นการเขียนบันทึกความรู้สึกว่าได้อะไรบ้างจากการภาวนาเมล็ดถั่ว บางคนเขียนว่า “ทำให้รู้ว่าใจตัวเองฟุ้งซ่านแค่ไหน”

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

น้ำในแก้ว ยิ่งนาน ยิ่งหนัก

 

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

พอมวลอารมณ์ในห้องกำลังได้ที่ กิจกรรมถัดมาก็เริ่มขึ้น กระบวนกรแจกแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วคนละใบ เมื่อแก้วน้ำอยู่หน้าทุกคนจนครบ จึงค่อยให้ทุกคนหยิบแก้วน้ำขึ้นมา ยืดมือไปสุดแขน แล้วปล่อยนิ่งค้างไว้อย่างนั้น

ในช่วงแรก ทุกคนยิ้มแย้มสนุกสนาน หยอกล้อแซวกัน จนเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 30 วินาที หน้าตาของแต่ละคนเริ่มเหยเก จากแก้วน้ำที่เบาหวิว กลายเป็นความหนักอึ้งไหลกดเข้าไปที่หัวไหล่ แล้วค่อยๆ ลามไปตรงท่อนแขน ในช่วงแรกนี้มีคนถอยทัพไปแล้ว 4-5 คน

เวลาผ่านไป แก้วค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ บางคนตะโกนบอกว่า “ยังกับถือก้อนหินหนักสิบกิโลฯ” ถึงจุดหนึ่งแทบทุกคนวางแก้วลงบนพื้นเรียบร้อย ยังเหลือผู้ท้าชิงอยู่สองคน ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองคนนั้นอายุ 50 กว่าทั้งคู่ ถือว่าเป็นรุ่นเก๋ากว่าใครทั้งหมด คนวัยสาวได้แต่นั่งมองตาปริบๆ จนท้ายที่สุดเมื่อแขนรับแรงหน่วงไม่ไหว พวกเขาก็วางแก้วลงในเวลาไล่เลี่ยกัน

อวยพร ถามคำถามแรกหลังจากวางแก้วลงว่า รู้สึกอย่างไร

บางเสียงพูดชัดถ้อยชัดคำว่า “รู้สึกว่าตัวเองอดทนน้อยไปหน่อย” แต่กับบางคนก็คิดว่า “ไม่รู้จะทนไปทำไม ไม่อยากเมื่อย” เมื่อชวนคุยไปเรื่อยๆ พวกเขาพยายามเชื่อมโยงความทรมานของการถือแก้วน้ำเข้ากับชีวิตของตัวเอง คุณป้าที่ถือแก้วได้นานที่สุดบอกว่า “ในชีวิตจริงมีเรื่องให้อดทนมากกว่านี้ แค่นี้สบาย”

เมื่อผ่านการถกเถียงไปชั่วระยะหนึ่ง ก็ทำให้เรารู้ว่าไม่มีคำตอบสุดท้ายของกิจกรรมนี้ อยู่ที่ว่าใจใครจะสัมผัสกับความรู้สึกแบบไหน และเลือกเชื่อแบบไหน แต่เท่าที่เห็นคือพวกเขารู้จักที่จะมองใจตัวเองอย่างละเอียดมากขึ้น

เยียวยาและรักษาดวงใจ

 

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

กิจกรรมที่เล่ามาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมอื่นๆ ของ ‘ของขวัญจากใจ’ อวยพรเล่าว่าก่อนหน้านี้มีกิจกรรมที่ให้เปิดใจเล่าเรื่องที่ค้างในใจ และทำงานศิลปะแบบต่างๆ จากสิ่งที่คิดที่รู้สึก จึงยิ่งทำให้ทุกคนสนิทใจกันมากขึ้น กว่าจะมาถึงกิจกรรมในวันนี้ หัวใจของทุกคนก็เปิดกว้างพอสมควรแล้ว

อวยพร เป็นหนึ่งในคนที่ทำงานกับผู้ต้องขังมานาน เธอเชื่อว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเป็นคนไม่ดี แต่สภาพแวดล้อมและสังคมต่างหากที่ส่งผลต่อชีวิตและหัวใจคน ดังนั้น กิจกรรมที่เลือกมาทำจึงต้องการให้ผู้ต้องขังเข้าใจว่าบริบทของสังคมมีผลอย่างไรต่อชีวิตเขาบ้าง โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น เรื่องเพศของเขา เรื่องตัวตนที่คนอื่นอยากให้เป็น แล้วจึงค่อยขยายไปเรื่องอื่นๆ

“เราชวนให้เขาได้ฉุกคิด กลับมาทำความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นที่ส่งผลกับใจเขา ทำให้เขาเห็น ให้เขาได้ระบายออกมา ได้วิพากษ์บ้าง เขาไม่ค่อยวิพากษ์ ถูกทำให้เป็นเด็กดี ให้เชื่อฟัง ให้อยู่ในกฎระเบียบ บางอย่างเขาก็เลือกที่จะไม่พูด ไม่รู้จะพูดไปทำไม ไม่รู้จะคิดไปทำไม ก็เลยหนืด เด็กบางคนไม่คิดอะไรเลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะอยู่ในนี้เลยไม่รู้จะคิดอะไร แต่ก่อนหน้านั้นชีวิตเขาก็เจอเรื่องสาหัสมา จนอาจรู้สึกว่าอย่าไปคิดเยอะเลย ไม่ไหวหรอก หนักเกินไป

“เราก็ควรจะขยับขยายมากกว่าที่จะบอกว่า เธอทำไม่ดี เธอก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง เธอมันจิตใจอ่อนแอ ถ้าพูดแบบนี้หมายความว่าเราทิ้งทุกอย่างให้เขา เราไม่ต้องทำอะไรเพราะไม่ใช่หน้าที่ ทีนี้ระบบก็ต้องมาช่วยกัน ตอนที่เริ่มแก้แรกๆ จะยากมาก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน ใหญ่ไปหมด ระบบเรือนจำก็เป็นแบบนี้มาแสนนาน คือมีการจัดระเบียบเรือนจำกันพอสมควร แต่ทัศนคติไม่ได้เคลื่อนไปด้วยกัน เราจึงต้องทำให้เคลื่อนไปด้วยกันได้”

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

วิธีการหนึ่งในการทำกิจกรรมนี้ คือการไม่เฉลยคำตอบ และไม่บอกว่ามีคำตอบไหนเป็นเรื่องจริงแท้ อวยพรอธิบายว่าเป็นความตั้งใจให้เกิดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์

“นี่เป็นการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาเขาตกผลึก เขาก็จะเทียบเคียงกับชีวิตตัวเอง เหมือนที่มีคนตกผลึกว่า เพราะเราอดทนน้อยไปหน่อย เพราะที่ผ่านมาเขาไม่ค่อยทน สิ่งที่เขาได้คือ เขาเห็นบางคนถือได้ทน เขาก็จะฝึกความอดทน ถ้าเขาทำเป็นกลุ่ม แล้วสมาธิดี การที่ได้ฟังคนอื่นตกผลึกด้วย ก็เป็นการตกผลึกตัวเองอีกชั้นนึง

“เรามักจะบอกว่าคนเราไม่ต้องเหมือนกัน แต่เรามักจะหาข้อสรุปที่เหมือนกัน ซึ่งพอเราทำแบบนี้ไปซ้ำๆ จะเกิดความรู้สึกว่าคนเราไม่เหมือนกันเข้าไปในใจ การเรียนรู้ก็เคลื่อนกันไปตามวาระ แต่ว่าขอเวลาให้เกิดการทำซ้ำๆ คิดซ้ำๆ ทวนซ้ำๆ ทุกคนเรียนรู้ได้หมด”

จากการใช้เวลาอยู่กับผู้ต้องขังเป็นเวลานาน อวยพรบอกว่าสิ่งที่อยากให้ผู้ต้องขังได้ติดตัวออกไปหลังการทำกิจกรรมนี้คือให้เขาเรียนรู้เพื่อที่จะทำความเข้าใจตัวเองได้

“ตอนแรกเราให้เขาตอบแบบสอบถามว่ารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน เขาก็จะบอกว่ารู้จักตัวเองดี แต่พอทำกิจกรรมไปสักพัก เขาจะเริ่มรู้ว่าเขายังไม่ได้รู้จักตัวเองดีพอ คือคนเราถ้าบอกว่ารู้จักตัวเองดีแล้ว การเรียนรู้มันจบไปแล้วนะ แต่ถ้าเขาเริ่มฉุกคิดว่าจริงๆ เรายังรู้จักตัวเองไม่ดีพอ การเรียนรู้จะยังคงเดินหน้าอยู่ แล้วก็รู้ว่าอิทธิพลของสังคมมีบทบาทมีผลกับชีวิตเขา แล้วเขาถูกทำให้เป็นแบบนั้นด้วย นี่คือสิ่งที่เขาจะได้

“เราอยากให้เขารู้ว่า คนเราเกิดมาก็มีพลาดได้ แล้วก็มีดีได้ด้วย เราใช้การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ได้หมายความว่าเราเปลี่ยนปัจเจกเพื่อให้ปัจเจกมีความสุข แต่เราเรียนรู้จากสังคมเพื่อจะเข้าใจว่าเรามีผลเป็นส่วนหนึ่งในนั้น จนเกิดแรงบันดาลใจว่าฉันอยากเปลี่ยน ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เปลี่ยนเพื่ออยากเห็นสภาพแวดล้อม สังคม ครอบครัวเราจะดีขึ้น”

อวยพรยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า “การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ จะ empower คน ผ่านการทำความเข้าใจโดยตัวมันเอง ไม่ใช่กระบวนการบำบัดเยียวยา แต่คือการเรียนรู้เพื่อจะ empower คนว่าคุณโอเค”

ปรับ 'ใจ' ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

ไม่ใช่แค่ฝั่งกระบวนกรเท่านั้น แต่ฝั่งผู้ต้องขังที่เข้าร่วมกิจกรรมก็บอกชัดเจนว่า ‘ของขวัญจากใจ’ ทำให้เขารู้จักวางแผนจิตใจตัวเองให้ดีขึ้น เช่น ป้าปุ้ย (นามสมมติ) อายุ 58 ปี เข้ามาด้วยคดียาเสพติด บอกเราว่า แม้อายุจะปูนนี้แล้ว แต่ก็อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“เราได้รู้จักการวางแผน ทำจิตใจให้ดี มีแนวทางความคิดเพื่อจะก้าวเดินออกไปอย่างมั่นคงและมีสติมากกว่านี้” ป้าปุ้ยเล่าด้วยแววตาเรียบนิ่ง

“ทุกกิจกรรมที่เขาให้เราทำ โดยมากจะเน้นเรื่องสติของตัวเอง บางทีเราอยากจะวี้ดว้ายทะเลาะกับใคร พอเรามีสติ เราก็ไม่ทะเลาะ ตั้งแต่อยู่มา ยังไม่เคยทะเลาะกับใคร

“นิสัยเราเปลี่ยนไปเยอะ อยู่ข้างนอกเป็นคนโผงผาง เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ค่อยอยากฟังใคร เราเป็นใหญ่ในบ้าน แต่เราอยู่ในนี้ เราก็ได้มีสติ ได้คิด ตรึกตรอง ก็อาจอยากจะฟังลูกๆ บ้าง บางครั้งเราใหญ่เกินไป ไม่ฟังคำทัดทานของคนที่อยู่ในบ้าน ออกไปก็จะปรับเปลี่ยนนิสัยให้ได้มากๆ จะยอมรับฟัง มีสติมากขึ้น จะทบทวนความคิดมากขึ้น ตัดสินใจครั้งเดียวบางทีมันผิดพลาดได้ ถ้าเราคิดย้อนหลายๆ เที่ยว บางทีโอกาสผิดก็จะน้อยลง สิ่งนี้ได้มาจากการอบรมนี่แหละ” ป้าปุ้ยกล่าวทิ้งท้าย

ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่ผู้ต้องขังหลายคนก็บอกว่า กิจกรรมนี้ทำให้เขาใจเย็นลง เปลี่ยนตัวเองไปมาก มองอะไรชัดขึ้น ช้าขึ้น และเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดจากการเปิดใจคุยกันคือพวกเขายังเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและหัวใจ — เจ็บได้ร้องไห้เป็น และมีความหวังเป็นสัญญาณชีพเหมือนมนุษย์ทุกคน

 

[box]

กิจกรรมของขวัญจากใจจัดขึ้นจำนวน 7 ครั้ง ครั้งละ 4-5 วัน ในห้วงเวลาประมาณ 3 เดือน โดยเป็นกิจกรรมที่รวมถึงการพบสมาชิกครอบครัวหรือคนสำคัญในชีวิตเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันอีกด้วย

[/box]

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save