fbpx
1 ปีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ร้าวลึกลงรากหญ้าไทย

1 ปีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ร้าวลึกลงรากหญ้าไทย

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

กรกฎาคม 2019 คือห้วงเวลาครบรอบ 1 ปีของการประกาศสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอย่างเป็นทางการ แม้สหรัฐจะประกาศเรื่องการใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้การขาดดุลการค้ากับนานาประเทศทั่วโลกมาตั้งแต่มีนาคม 2018 แต่การลงดาบครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 เมื่อสหรัฐประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากสินค้านำเข้ามูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยการประกาศรายละเอียดของรายการสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอีกระลอก โดยปรับอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2018

ฝ่ายจีนเองก็ประกาศตอบโต้โดยการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นเท่ากับว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมาแล้วตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บทความนี้ผมขอชวนคุณผู้อ่านมาร่วมกันวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริโภค ที่กระทบต่อเราๆ ท่านๆ คนไทยในประเทศไทย

 

 

จากแผนภาพข้างต้น ขอให้คุณผู้อ่านเริ่มต้นจาก มุมขวาบนของแผนภาพครับ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในภาคการผลิตที่เกิดขึ้นในระดับโลกและส่งผลกระทบกระเทือนไปถ้วนทั่วในทุกระบบเศรษฐกิจคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : Cyber-Physical System ที่พูดถึงเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงโลกไซเบอร์ที่จับต้องไม่ได้ เข้ากับโลกกายภาพที่จับต้องได้ โดยมีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เป็นหัวใจสำคัญ

ปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญในการพัฒนา AI ได้แก่ การมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การมีคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูงในการประมวลผล และการสร้างชุดคำสั่งเพื่อสอนคอมพิวเตอร์ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นสามารถเรียนรู้และคิดวิเคราะห์เองได้ตามหลักเหตุและผล ซึ่งประเทศที่พร้อมที่สุดที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ และจะพัฒนาตนเองจนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกได้ คือ ประเทศจีน

นั่นทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกที่เคยมีอยู่แต่เพียงผู้เดียวตลอดทศวรรษ 1990-2000 ทำให้เราเห็นการแสดงออกของผู้นำสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรูปแบบที่คลั่งชาติ (Nationalism, เห็นว่าชาติของตนดีเด่นเหนือประเทศอื่นๆ), การเกลียดกลัวและใช้ความรุนแรงกับต่างชาติ (Xenophobia, Radicalism) และนำไปสู่นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) ซึ่งนำไปสู่ภาวะสงครามการค้าในที่สุด (สำหรับรายละเอียดอ่านเพิ่มเติมในบทความ จาก Industry 4.0 ถึงสงครามการค้าสหรัฐ)

นั่นนำเราไปสู่กล่องทางซ้ายบน คือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น (อ่านเพิ่มเติมใน 20 ข้อควรรู้ : โอกาสท่ามกลางวิกฤตของไทยและอาเซียน ในสงครามการค้าของสหรัฐฯ) และก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่สงครามเทคโนโลยี คุณผู้อ่านคงจำได้ว่า 2-3 เดือนที่แล้ว เราต่างกังวลว่าโทรศัพท์มือถือ Huawei ในมือจะสามารถเข้าถึงบริการของ Google ได้หรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมใน จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี และการช่วงชิงความเป็นผู้จัดระเบียบโลก)

ล่าสุด ไม่เพียงแต่สหรัฐและจีนที่ออกมาสร้างความตึงเครียดในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ในเอเชียตะวันออกเรายังเห็นข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นจากกรณีเรียกร้องขอคำขอโทษและเงินชดเชยจากรัฐบาลญี่ปุ่นต่อกรณีหญิงบำเรอ (Comfort Women) หรือที่เรียกว่า ‘Jugun Ianfu’ ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงหญิงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากการทำงานใน ‘Lansho’ หรือ สถานีบำเรอ (comfort stations) ภายใต้การบริหารจัดการของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับญี่ปุ่นที่เคยลงนามในข้อตกลง ชดใช้เงินและขอโทษอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1990 คงไม่ยอมรับในประเด็นที่เกาหลีใต้ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง โดยสิ่งที่ประเทศญีปุ่นใช้ในการตอบโต้ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นการจุดกระแสการค้าแบบปกป้องคุ้มกันในระดับรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นเลือกที่จะตอบโต้ประเด็นดังกล่าวโดยการระงับการอนุญาตส่งออกแบบอัตโนมัติ (Automatic Licensing) การส่งออกสินค้าตั้งต้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงถึง 3 รายการสินค้า ได้แก่ Photoresists ซึ่งเป็นสารสำคัญในการถ่ายแผนภาพร่างของวงจรต่างๆ ลงบนชิปคอมพิวเตอร์, Hydrogen fluoride ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และ Fluorinated Polyimides ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

ผลที่ตามมาคือ ถ้าเกาหลีจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าตลาดที่ผลิตสินค้าเหล่านี้มากกว่า 90% ของสินค้าที่ขายในตลาดโลก ต้องขออนุญาตจากทางการญี่ปุ่นทุกครั้ง และใช้เวลาในการพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกได้ยาวนานถึง 90 วัน ซึ่งการไม่ขายวัตถุดิบตั้งต้นนี้ จะทำให้ผู้ผลิตเกาหลีและผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั่วโลก ต้องเดือนร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นและวัตถุดิบขั้นกลาง

ในขณะที่ฝากฝั่งยุโรปเอง ฝรั่งเศสก็เริ่มต้นกระบวนการทางกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากบริการดิจิทัล (Digital Services) เพื่อเก็บภาษีกับบริการของ Google, Facebook และ Amazon พร้อมกับการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

การกระทำในลักษณะการค้าแบบปกป้องคุ้มกันดังกล่าว ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดการชะลอตัวของการค้าและการลงทุนในระดับโลก

เมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็เผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตาม เห็นได้จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2018 ที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 แต่เมื่อเกิดสงครามการค้า ไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2018 การส่งออกติดลบ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้เพียงร้อยละ 4 ในปี 2018 และส่งผลต่อเนื่องถึงการส่งออกที่ติดลบในไตรมาส 1 ปี 2019 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2019 คงขายตัวได้เพียงร้อยละ 3 กว่าๆ เท่านั้น

เมื่อส่งออกไม่ได้ ผู้ผลิตไทยก็จะลดการผลิตลง โดยในระยะแรก มาตรการที่เจ้าของกิจการนิยมทำมากที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องแจ้งกระทรวงแรงงาน ไม่จำเป็นต้องแจ้งประกันสังคม คือการงดการจ้างงานล่วงเวลาหรือ OT ซึ่งแน่นอนว่ากระทบอย่างยิ่งต่อแรงงานไทย ต้องอย่าลืมว่าคนงานใช้เงินเดือนจากการทำงานเต็มเวลาเป็นค่ากินอยู่ประจำวัน แต่สำหรับเงินที่พวกเขาส่งกลับบ้านเพื่อส่งให้ลูก ส่งให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด เกือบทั้งหมดมาจาก OT ดังนั้นเมื่อไม่มี OT เงินที่เคยไหลจากเมืองสู่ภาคชนบทก็เหือดแห้ง รากหญ้าได้รับผลกระทบแล้ว

หากงด OT แล้วต้นทุนยังไม่ลดลง และยังไม่สามารถสร้างรายรับเหนือต้นทุนได้ สิ่งที่เจ้าของโรงงานจะทำต่อไปคือ การขยายวันหยุด เช่น จากหยุดชดเชย 1 วัน ก็จะปิดโรงงานต่อเป็นหยุด 3 วันแทน ซึ่งแน่นอนว่าลูกจ้างรายวันจะขาดรายได้ทันที นั่นคือเด้งที่ 2 ที่รากหญ้าได้รับผลกระทบ

ท้ายที่สุด หากงด OT ก็แล้ว ขยายวันหยุดก็แล้ว แต่โรงงานยังมีปัญหา ขั้นตอนสุดท้ายคือการปลดคนงาน นี่คือผลกระทบทางตรงที่ส่งผลต่อการบริโภค เพราะถึงแรงงานจะได้เงินชดเชย แต่โอกาสในการหางานใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและในตลาดโลกชะลอตัวคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ยังไม่นับอีกปัจจัยเข้ามากระทบ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากสังคมสูงวัย (Ageing Society) สู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society)

 

 

สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ โดยในปี 2020 ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ซึ่งหมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ

และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) โดยในปี 2040 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่า เราจะมีประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างมาก เราจะขาดแคลนแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ ปัญหาคือผู้ผลิตของเรายังไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตจนลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือได้

ขณะเดียวกัน การที่คนไทยอยู่ดีกินดีและเรียนสูงขึ้น ยังส่งผลให้งานร้อน งานเหนื่อย งานหนัก งานสกปรก และงานเงินเดือนน้อย ไม่ใช่ทางเลือกของคนไทยอีกต่อไป ผู้ผลิตไทยจึงนิยมใช้บริการแรงงานต่างด้าว

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เผยแพร่ข้อมูล ณ เมษายน 2562 ว่าประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศ 2,950,684 คน คนงานเหล่านี้ทำงานและส่งเงินกลับบ้านทุกเดือน ลองคำนวณเล่นๆ ว่าถ้าแต่ละคนส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1,000 บาท นั่นเท่ากับเงินไหลออกนอกประเทศเดือนละ 2.95 พันล้านบาท

แต่ในความเป็นจริง จำนวนคนงานต่างด้าวมีมากกว่านี้ และพวกเขาส่งเงินกลับบ้านมากกว่าเดือนละ 1,000 บาท สมมติมีแรงงานต่างด้าว 10 ล้านคน ส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1,500 บาท/คน นั่นหมายความว่าจะมีเงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยเดือนละ 1.5 หมื่นล้านบาท ถึงตรงนี้คงเริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมอยู่ดีๆ เงินถึงหายออกไปจากระบบ

แต่นั่นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวของเราครับ เพราะเมื่อย้อนกลับไปที่โลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แม้เราจะใช้บริการของแรงงานต่างด้าวสำหรับแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือ แต่สำหรับแรงงานฝีมือ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ก็กำลังจะเข้ามาแทนที่พวกเขาเช่นกัน

การลดคนงานเท่ากับการลดต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนที่มาจากการจัดระบบสวัสดิการต่างๆ และยังลดเรื่องปวดหัวอีกมากมายของผู้ประกอบการ อาทิ เรื่องชู้สาว เรื่องชกต่อย เรื่องขโมยของ เมื่อประกอบกับการให้ความช่วยเหลือทั้งแหล่งเงินทุน และเครดิตภาษีจากการลงทุน หากมีการปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น หอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านเทคนิค ทั้งหมดเอื้อให้การจ้างงานลดลง รากหญ้าได้รับผลกระทบอีกแล้ว

ลองนึกภาพถึงนิคมอุตสาหกรรมที่เมื่อก่อน ทุกๆ วันในช่วงเย็น เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนกะ คนงานจำนวนมากจะเดินออกจากโรงงานและแวะตลาดนัดเพื่อซื้อกับข้าว ซื้อของใช้ส่วนตัว ซื้อเสื้อผ้า ซื้อของเล่นให้ลูก หรืออย่างน้อยก็เติมเงินค่าโทรศัทพ์มือถือ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโรงงานจ้างคนลดลง และใช้หุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น อย่าลืมนะครับว่าหุ่นยนต์ไม่เคยพักและไม่เคยเดินออกมาซื้อของที่ตลาดนัด ที่หลายๆ คนบ่นว่า ตลาดนัดมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ แม่ค้าพ่อค้านั่งตบยุง นั่งแมลงวันตอมขา มันคือความจริงครับ

มาดูตลาดกลางค่อนไปทางบนบ้าง แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ชะลดตัวล้วนทำให้รายได้ของคนกลุ่มนี้ลดลงไม่มากก็น้อย แต่ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทำให้เขามีทางเลือกใหม่ ทุกวันนี้ใครๆ ก็ซื้อของ Online ที่ได้ส่วนลดพิเศษ สินค้าส่งถึงบ้านภายในไม่กี่ชั่วโมง อย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน 3 วัน แต่อย่าลืมนะครับว่า Lazada, Shopee, AliExpress, Amazon, Ebay ทั้งหมดนี้เมื่อชำระเงินแล้ว เงินไหลออกนอกประเทศทันทีนะครับ และหลายๆ ครั้งที่เขาได้รายได้จากคนไทย เขาก็ไม่ได้เสียภาษีให้รัฐบาลไทยด้วย เงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทางแล้วครับ

ถ้าคิดกันให้ยาวๆ กว่านี้ ลองนึกภาพที่สงครามการค้าเรื้อรังทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวยาวๆ โอกาสหางานใหม่ก็คงยาก แรงงานต่างชาติและหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ในขณะที่ในสังคมสูงวัย พวกเรากลับมีอายุขัยยาวนานมากยิ่งขึ้น แต่พวกเรากลับไม่มีความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ดังนั้นเราจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินในวัยชรา ทุนนิยมสามานย์และการคอร์รัปชันก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบสวัสดิการสังคมของไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้

แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับที่ระบบภาษีของเราไม่ได้ถูกออกแบบให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ เท่าๆ กับที่คนไทยจำนวนมากก็ไม่ยอมที่จะจ่ายภาษี

เมื่อประชาชนมีความต้องการ แต่ภาครัฐไม่สามารถจัดสรรระบบสวัสดิการสังคมเหล่านั้นได้ สูญญากาศทางสังคม-เศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน การที่สังคมไทยยังมีระบอบทุนนิยมสามานย์ควบคู่กับการคอร์รัปชัน ปรากฏการณ์ ‘มาเฟีย’ ก็จะเกิดขึ้น กล่าวคือมาเฟียจะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในบริการเหล่านี้ เพื่อสร้างคนที่พึ่งพามาเฟียให้เป็นเสมือนโล่มนุษย์ที่ทำให้ระบบทางการไม่สามารถเข้ามากวาดล้างมาเฟียเหล่านี้ได้ มาเฟียเหล่านั้นก็คงแสวงหาประโยชน์ทางทุนนิยมสามานย์ต่อไป โดยัที่องค์การอาชญากรรม กลุ่มความคิดสุดโต่ง และอาชญากรรมในโลกไซเบอร์เพื่อการฟอกเงินและนำเงินนั้นมาบริหารจัดการบริการของพวกมาเฟีย ก็จะดำเนินต่อไปในลักษณะของวงจรอุบาทว์

จะเห็นได้ว่า ถ้าทุกภาคส่วนไม่ออกมาทำอะไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า สังคมสูงวัย ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ปัญหาคอรับชั่น และทุนนิยมสามานย์ เมื่อจิ๊กซอว์เหล่านี้ถูกต่อเข้าด้วยกัน ผลกระทบต่อคนไทย โดยเฉพาะรากหญ้า คงจะร้าวลึกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save