fbpx
ข้าวโพด อ้อย สาเหตุหลักของหมอกควันพิษ

ข้าวโพด อ้อย สาเหตุหลักของหมอกควันพิษ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับหนึ่งของโลก ในฐานะเมืองที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกติดต่อกันหลายวัน

ดัชนีคุณภาพอากาศ air quality index (AQI) หรือตัวเลขที่ใช้เพื่อสื่อสารว่าอากาศมีมลภาวะแค่ไหน กระโดดขึ้นไปทะลุ 500 จากมาตรฐานปกติ 50

ค่า pm 2.5 จากมาตรฐานปกติ 25 ขึ้นไปสูงถึง 200 กว่า

สภาพตอนนี้ของเชียงใหม่ไม่ต่างจากเมืองในหมอก มัวๆ ซัวๆ

เป็นหมอกควันพิษ

ปีนี้ปัญหาหมอกควันพิษภาคเหนือรุนแรงผิดปกติ เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุหลักมาจากการจุดไฟเผาพืชไร่ หลังการเก็บเกี่ยวในหน้าแล้ง

และพืชที่นิยมปลูกกันมากช่วงหน้าแล้งคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เหมาะกับการปลูกในพื้นราบ และบนดอย

สาเหตุสำคัญที่ชาวไร่นิยมปลูกกันมาก เพราะความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศสูงมาก

หลายปีที่ผ่านมา การขยายตัวของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ในการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค มีปริมาณสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งบริโภคภายในและส่งออกเนื้อสัตว์ จนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์อันดับต้นๆ ของโลก

ข้าวโพด วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์จึงมีไม่พอ

แต่ละปีมีความต้องการข้าวโพดมากถึง 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตันเท่านั้น

ทำให้ต้องนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ เพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ทุกๆ ปีจึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โตขึ้นทุกปี

อีกด้านหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ก็เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเมล็ดพันธุ์ ที่มีรายได้มหาศาลจากการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้กับเกษตรกร ยิ่งปลูกข้าวโพดมาก เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดก็ขายได้มากขึ้น

หากไปดูสถิติย้อนหลัง จะพบว่าปริมาณฝุ่นละอองทางภาคเหนือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดอย่างกว้างขวาง

ทำให้เกิดการบุกรุกป่า เผา ถาง เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา

นโยบายของรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้สนับสนุนพืชเศรษฐกิจสำคัญ 4 ชนิด คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ตามคำแนะนำของสภาหอการค้าไทย

เมื่อเปิดดูทำเนียบกรรมการสภาหอการค้าไทย มีรายชื่อตัวแทนของบริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่และโรงงานน้ำตาล นั่งเป็นกรรมการอย่างยาวนาน

ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่รัฐบาลในอดีตยังส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้ไปปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ในปี พ.ศ.2549 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คณะรัฐมนตรีไทยมีมติให้ดำเนินงาน Contract Farming บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษี กำหนดพื้นที่นำร่อง 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา

ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ข้าวโพด

ผลก็คือ บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่จากเมืองไทย พากันไปเปิดพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลายล้านไร่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในรัฐฉาน ประเทศพม่า พื้นที่นับล้านไร่กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดสำคัญ ส่งไปเป็นอาหารสัตว์ในประเทศจีน โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยเป็นเจ้าของ

ในช่วงหน้าแล้งจึงมีควันไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน จากการเผาซากไร่ข้าวโพดลอยเข้ามาทางภาคเหนือ เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

อีกด้านหนึ่งการปลูกข้าวโพดในหน้าแล้ง เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดพื้นที่ทำนา

ในปี พ.ศ.2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งสี่ชนิด ทดแทนการปลูกข้าวนาปรังในหน้าแล้ง เพื่อลดการใช้น้ำ และลดปริมาณข้าวล้นตลาด ทำราคาตกต่ำ หันมาปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยกว่า ได้ผลผลิตดีกว่า

ล่าสุดปี 2561 ครม.ได้อนุมัติโครงการต่อเนื่อง เรียกว่าโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา สำหรับช่วงเดือน ก.ย.2561 – ก.ย.2562  เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพด

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงว่า มีเกษตรกรแสดงความจำนงร่วมโครงการ 114,775 ราย พื้นที่ 1,000,111 ไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทำสัญญาจ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรที่จุดรับสมัคร

มีสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เข้าให้ความรู้เกษตรกรอย่างใกล้ชิด พร้อมตั้งจุดรับซื้อทุกอำเภอ เพื่อซื้อผลผลิตข้าวโพดทุกเมล็ด

ถนนทุกสาย นโยบายทุกอย่างของรัฐ มุ่งสู่การสนับสนุนให้ชาวไร่ปลูกข้าวโพด เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตร ที่ต้องการข้าวโพดมาทำอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมหลักของบริษัทเหล่านี้ ทดแทนการนำเข้าที่มีต้นทุนสูงกว่า

ทำให้ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเกือบ 7 ล้านไร่ และอยู่ทางภาคเหนือ 4 ล้านกว่าไร่

ทุกปีในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตหน้าแล้ง จะมีเศษวัสดุเหลือทิ้ง ได้แก่เปลือกและซังข้าวโพด

ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปล่อยไว้ และรอเผาทิ้งในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดควันจากการเผาไหม้

จากการประเมินพบว่า จะมีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้งจำนวน 1.2 ล้านตันต่อปี เปลือกข้าวโพดจำนวน 3.1 แสนตันต่อปี ส่วนใหญ่เผากลายเป็นควันพิษในอากาศ และอีกส่วนฝังกลบเพื่อทำเป็นปุ๋ยต่อไป

แต่การฝังกลบเพื่อทำเป็นปุ๋ย ต้องจ้างรถไถเข้าไปไถกลบต้นข้าวโพด อันเหมาะกับการปลูกข้าวโพดบนที่ราบ มากกว่าข้าวโพดบนเชิงเขาหรือบนดอย

ข้าวโพดที่ปลูกบนดอยหรือเชิงเขาติดป่า เมื่อจุดไฟเผาแล้วจึงลุกลามเข้าไปในป่า กลายเป็นไฟป่า ก่อให้เกิดหมอกควันพิษเพิ่มมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่ตามมาคือ คนเชียงใหม่ มีอัตราการป่วยของมะเร็งปอดสูงกว่ากรุงเทพมหานคร และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย

ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องหมอกควัน มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า โรคหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ มีผู้เข้ารับการรักษาวันละร่วมหมื่นคน

ขณะเดียวกัน นอกจากข้าวโพดแล้ว การเผาอ้อยในช่วงหน้าแล้ง ก็เพิ่มปริมาณหมอกควันมากขึ้นเกือบทุกภาค

นโยบายของรัฐที่ผ่านมาของประเทศไทย สนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกนับล้านไร่ เพื่อผลิตน้ำตาลส่งออกและทำพลังงานทดแทน

ไทยผลิตน้ำตาลทรายได้เป็นอันดับ5 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล

ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี การเผาอ้อยก่อนเข้าโรงหีบอ้อย จึงทำเพิ่มมลพิษทางอากาศเข้าไปด้วย

อย่าได้แปลกใจว่าเหตุใดคุณภาพอากาศในภาคเหนือจึงเลวร้ายลงเรื่อยๆ

แต่ดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจอะไรมากนัก ปล่อยให้ผู้คนผจญปัญหาตามยถากรรม

ล่าสุด ที่น่าเศร้าใจ คือกระทรวงสาธารณสุข เสนอประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลแท้จริง และจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน

แต่ทางจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยผู้มีอำนาจ ประกาศว่าไม่ยอม อ้างว่าจะทำให้เสียภาพพจน์การท่องเที่ยว

การแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ จึงไม่ใช่แค่การดับไฟป่าอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาระดับชาติ

ระหว่างนโยบายการเพิ่มพื้นที่พืชเศรษฐกิจ กับสุขภาพของคนไทย เราจะรักษาความสมดุลนี้ได้อย่างไร?

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save