fbpx
“ตราบใดที่สังคมยังมีปัญหา ผมเชื่อว่าม็อบยังไปต่อได้” นพ.ทศพร เสรีรักษ์

“ตราบใดที่สังคมยังมีปัญหา ผมเชื่อว่าม็อบยังไปต่อได้” นพ.ทศพร เสรีรักษ์

ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่เข้าปี 2564 การชุมนุมของประชาชนมีมวลพลังที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมอย่างหนาแน่น มาวันนี้เริ่มบางตาลง ในขณะเดียวกันเหล่าแกนนำก็โดนหมายเรียก-หมายจับกันรายวัน จนมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หรือม็อบจะแผ่วแล้ว บ้างก็พูดไปถึงว่าดูท่าการเคลื่อนไหวของประชาชนในรอบนี้อาจจะมาถึงทางตัน

แต่กลับกันเมื่อมองไปยังฟากรัฐบาล กลับไม่พบสัญญาณของการประนีประนอม และยิ่งนับวันความรุนแรงในการปราบปราบผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่มีแต่จะเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ จากการฉีดน้ำ ยกระดับเป็นแก๊สน้ำตา และล่าสุดกับการใช้กระสุนยางที่ยิงไม่เลือกหน้า แม้แต่สื่อมวลชนเองยังต้องหลบลูกกระสุนยางกันจ้าละหวั่น

การเคลื่อนไหวในช่วงเวลานี้อาจเปรียบเหมือนกับช่วงเวลาหลังจากที่พายุลูกใหญ่เพิ่งพัดผ่านไป สารพันปัญหาลอยฟุ้งขึ้นอยู่เต็มฟากฟ้าผสมรวมกันกับควันจากแก๊สน้ำตาที่ทำเอาเราตาพร่ามัว สับสน และไม่รู้จะไปต่ออย่างไรดี ช่วงเวลาที่การเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยฝุ่นตลบเช่นนี้ การถอยหลังออกมาเพื่อมองย้อนเข้าไปในความชุลมุนอาจทำให้เรามองเห็นเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ 101 จึงชวน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย หรือในปัจจุบันหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะคุณหมอประจำม็อบประชาชน ชายผู้เฝ้าติดตามและอยู่ใกล้ชิดกับผู้ประท้วงมาโดยตลอด ทบทวนการเคลื่อนไหวในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเด็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกำลังถูกตั้งข้อสังเกตจากสังคมถึงการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ ในขณะเดียวกันเริ่มมีบางเสียงจากฝั่งผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ม็อบยกระดับไปจนถึงการใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่ จนเกิดคำถามว่าจะเป็นก้าวย่างที่ถูกต้องจริงหรือ พร้อมทั้งส่งเสียงไปถึงเหล่านักการเมืองว่าในช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังต่อสู้ พวกคุณกำลังทำอะไรอยู่ 

ในระยะที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจนเกินไป จากมุมผู้สังเกตการณ์อย่างหมอทศพร เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ อย่างไร

หลายคนพูดว่าม็อบแผ่วแล้ว คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จำนวนคนที่ออกมาอาจจะน้อยลงจริง แต่ในความรู้สึกของประชาชน ดูจากในโซเชียลมีเดีย ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก ไม่ได้แผ่วลงเลย มีแต่แรงขึ้นๆ ฉะนั้นถ้าความรู้สึกที่ถ่ายเทสู่กันยังระอุคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ม็อบไม่มีทางที่จะสลายหายไปไหน เพราะปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่มันอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบกายภาพที่คนต้องออกมาเยอะๆ อาจกลายมาเป็นการต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร และถึงเวลาจำเป็นเมื่อไหร่ก็ออกมาชุมนุมอย่างที่พยายามทำกันมา เพราะอย่างน้อยการออกมาชุมนุมจนเต็มสี่แยกราชประสงค์ก็ช่วยกดดันรัฐบาลได้ 

คุณยังเชื่อว่าม็อบไปต่อได้?

ผมเชื่อว่าไปต่อได้ ตราบใดที่สังคมยังมีปัญหาอยู่ ยกเว้นคุณประยุทธ์จะบริหารได้ดี จนกระทั่งเศรษฐกิจดี ทุกคนกินอิ่มนอนหลับ ประกาศยกเลิก ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดี ถ้าอย่างนั้นม็อบอาจจะสงบ เพราะปัญหาต่างๆ ได้รับการคลี่คลาย 

หนึ่งเหตุการณ์ที่น่าถอดบทเรียนคือ #ม็อบ28กุมภา การชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อยากชวนคุณมองย้อนเหตุการณ์ในวันนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย

เกิดจากการที่ม็อบออกมาแบบไม่มีแกนนำ ปกติเวลามีการจัดม็อบ แกนนำก็อาจจะจัดการ์ดมาดูแลรักษาความปลอดภัย มาคอยสอดส่องคนเข้าออก หรือว่าตรงไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับตำรวจ การ์ดก็จะเข้าไปกันประชาชนให้ถอยออกมาก่อนเพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน แต่วันนั้นพอไม่มีแกนนำ ทุกอย่างเลยวุ่นวายไปหมด และทางฝั่งตำรวจเอง วันนั้นเหมือนเขาตั้งใจจะมาใช้กำลังกับประชาชน เพราะมีการตั้งแถวอยู่บนถนนด้วยกันเลย คอยขวาง คอยอะไร เลยมีการปะทะกันไปหลายรอบมาก

ซึ่งบางจุดที่ปะทะกัน อย่างตรงหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ผมก็พยายามเข้าไปขวางและขอเจรจา ตำรวจก็เชิญให้ขึ้นไปคุยบนรถสองชั้นของเขา ได้ข้อสรุปว่าเดี๋ยวประชาชนจะเดินกลับไปทางหน้าบ้านคุณประยุทธ์ ส่วนตำรวจก็จะถอยกลับเข้าซอย ทั้งสองฝั่งแยกกัน แต่พอประชาชนเดินแยกออกมาก็ไปเจอตำรวจขวางอยู่อีกชุดหนึ่ง ก็เลยเกิดการปะทะกัน วุ่นวายไปอีกรอบ โดยไม่มีใครจัดการอะไรได้ 

วินาทีที่ตัดสินใจไปเจรจา ตอนนั้นในหัวคิดอะไรอยู่ 

ผมตั้งใจไปเจรจาเพราะสถานการณ์วุ่นวายมากแล้ว ตอนนั้นคิดแค่ว่าอย่างน้อยๆ เสียงของเราอาจช่วยชะลอเหตุการณ์ได้ แทนที่จะปะทะกันทันที ถ้าได้คิดอีกสัก 10 วินาที อาจเปลี่ยนใจไม่ตู้มก็ได้

สำหรับคุณมองว่าม็อบควรต้องมีแกนนำไหม 

คิดว่าควร เพราะควรมีคนเข้ามารับผิดชอบในการดูแลจัดระบบต่างๆ ประชาชนที่ไปก็จะได้เป็นระเบียบและไปในทิศทางเดียวกัน เช่น จะเดินไปตรงนี้ จะหยุดปราศรัยตรงนี้ สามทุ่มเลิก สลายกลับบ้านนะ มันก็จบ 

แต่มีบางเสียงบอกว่าไม่อยากให้ยึดติดกับคำว่าแกนนำ เพราะตอนนี้ทุกคนคือแกนนำไปแล้ว

ตรงนี้เห็นด้วยในแง่ของความคิด ต้องเรียนว่าทุกคนที่ออกไปชุมนุม ไม่ได้ออกมาชุมนุมเพราะเชื่อไมค์ เชื่อรุ้ง เพียงแต่ความคิดเห็นตรงกัน เทียบง่ายๆ เหมือนเราขึ้นรถเมล์คันเดียวกัน ถ้าให้ทุกคนช่วยกันเข็น รถก็คงไปไม่ถึงไหนสักที แต่ถ้ามีคนช่วยขับรถ ช่วยจัดระเบียบว่าใครนั่งตรงไหน หรือพอไปถึงที่ก็คอยบอกให้ทุกคนค่อยๆ ทยอยลง มันก็ไปถึงได้เร็วกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าเขาขับรถพาเราลงเหว เราก็จะไป ไม่ใช่แบบนั้น ทุกคนกำหนดร่วมกันแล้วว่าเราจะไปที่นี่ด้วยกัน 

แกนนำของผมหมายถึงในแง่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ยึดกุมความคิดที่จะสั่งให้ทุกคนเชื่อ ให้ทุกคนเดินตาม เพราะคนเดี๋ยวนี้เขาคิดและตัดสินใจเองได้ เขาไม่ได้เชื่อแค่แกนนำ เพียงแต่ความคิดเห็นอาจจะไปตรงกัน บางคนตรงหนึ่งข้อ บางคนตรงสามข้อ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน 

คุณคิดยังไงกับคำพูดที่ว่า ม็อบต้องยกระดับ ถึงเวลาใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่” 

ผมกลัว เราเคยเห็นมาแล้วจากเหตุการณ์ในอดีตอย่าง 14 ตุลาคม ปี 2516 หรือ 6 ตุลาคม ปี 2519 แม้แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 มีคนเจ็บ มีคนตาย มันก็ไม่ดีทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่รู้สึก เพราะมันไม่ใช่พี่เรา ไม่ใช่น้องเรา ลองคิดดูสิว่าถ้าคนเสียชีวิตในวันนั้นเป็นพี่เรา เป็นน้องเรา เราจะรู้สึกยังไง 

เพราะฉะนั้นความรุนแรงไม่ควรจะเกิดขึ้น ก็เจรจากันด้วยสันติวิธี นั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าทุกฝ่ายก็ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ประชาชนบอกว่าสันติวิธี แต่ผู้มีอำนาจตั้งใจที่จะใช้ความรุนแรงมาทำให้ประชาชนกลัวเพื่อที่จะได้ไม่ออกมา แบบนี้ก็ไม่ใช่ 

แล้วแค่ไหนถึงเรียกว่าสันติวิธี ด่าทอได้ไหม เขวี้ยงปาสิ่งของได้หรือเปล่า 

โดยการพูดคุยเท่านั้น ไม่ควรมีการเขวี้ยงปาสิ่งของ แต่บางครั้งคำพูดอาจจะหยาบคายไปบ้าง ก็ต้องยอมบ้าง เพราะแค่คำพูดไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บหรอก บางทีอารมณ์ก็พาไป แต่ถ้ายับยั้งได้ ก็เป็นอะไรที่ดีที่สุด ผมเชื่อว่าคนเราพูดกันดีๆ ได้ 

แต่ถ้ารัฐดูไม่ค่อยอยากพูดจาดีๆ อย่างนี้ล่ะ

นี่ไง! เป็นสิ่งที่น่ากลัว ทุกวันนี้เหมือนรัฐยั่วโมโห พูดเท่าไหร่ ก็ไม่ฟัง คนเราบางทีก็มีอารมณ์เกิดขึ้นได้ และมันเป็นจิตวิทยาฝูงชนด้วย พอมีอะไรตู้มขึ้นมา ก็จะตู้มๆ ต่อกันไปเรื่อยๆ ถ้าลามไปอย่างฮ่องกง ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้ารัฐยังวางเฉยและทำตัวอย่างนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็อาจจะไปถึงจุดนั้นก็ได้

คุณมองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงม็อบปี 2564 ที่ผ่านมาอย่างไร 

ผมมองว่าเหมือนมีการเขียนบทไว้ บางวันจะเอาเรื่อง จะปราบ จะจัดการนะ แต่บางวันก็ดูเงียบสงบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย 

ผมเชื่อว่าผู้มีอำนาจเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด เพราะตำรวจชั้นผู้น้อยทั้งหลายที่มาดูแล้วไม่มีใครอยากมา ผมไปเดินพูดคุยกับตำรวจหลายคน เขาก็เข้าใจในสิ่งที่น้องๆ เรียกร้องและเขาก็รู้ว่านักศึกษาที่ออกมาชุมนุมก็ลูกเขา หลานเขา พี่น้องเขาทั้งนั้น เขามาแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน แถมยังต้องเป็นหนังหน้าไฟ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ ถูกประชาชนด่าหรืออาจจะถึงตาย ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือใครสร้างสถานการณ์ก็ตาม

คนที่ได้ก็มีแค่ผู้บังคับบัญชาได้ความดีความชอบไปและที่ได้มากที่สุดก็พวกทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ครองอำนาจและครอบครองผลประโยชน์ทั้งหลายอยู่

อะไรคือหลักการที่ตำรวจต้องยึดถือในการรับมือกับฝูงชน

ผมมองว่าการมาคุมกำลังดีอยู่แล้ว แต่ต้องตั้งหลักให้มั่นว่ามาดูแลความเรียบร้อย ไม่ใช่มาปราบ อย่างในม็อบมีตำรวจนอกเครื่องแบบก็เยอะ ผมเคยเห็นรายงาน เขารู้หมด รู้แม้กระทั่งใครเดินเข้ามาเวลาไหน เอ้า! ถ้ารู้อย่างนี้ ทำไมไม่คอยดูว่าใครถือระเบิดปิงปองเข้ามา คุณก็เข้าไปจับคนนั้นสิ  

ตำรวจต้องเปลี่ยนวิธีการคิดเสียใหม่ เขาควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเขาไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชน ประชาชนขัดแย้งกับรัฐบาล ขัดแย้งกับคุณประยุทธ์ ขัดแย้งกับคนที่มีอำนาจ ไม่ได้ขัดแย้งกับคุณ

ตำรวจมีหน้าที่มาดูแลให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ดูแลให้ทุกฝ่ายปลอดภัย เห็นใครเอาอาวุธเข้ามาหรือใช้ความรุนแรงก็เข้าไปจับกุม ไม่ใช่มีคนแค่ 4-5 คนใช้ความรุนแรง แล้วคุณก็ใช้เป็นเหตุผลในการกวาดล้างประชาชนทั้งหมด เห็น 4-5 คนใช้ความรุนแรง คุณก็เข้าไปล็อก เข้าไปจัดการ มันก็จบ แก้ปัญหาได้ หลักการมีอยู่แค่นี้เอง 

จากที่เคยใช้แค่ ม.116 มาวันนี้รัฐกลับมาใช้ม.112 ในการจัดการกับแกนนำและผู้ชุมนุม คุณมองเรื่องนี้ยังไง

ผมไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะใช้ แต่อย่างไรเสียก็ต้องถือว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน และให้เขาไปสู้คดีในศาล อย่างน้อยเราก็ยังมีศาลที่คอยอำนวยความยุติธรรมให้ ผมคงไม่ไปก้าวล่วงถึงว่าผิดจริง ไม่ผิดจริง หรืออะไรก็ตาม ก็ดำเนินการไป แต่ต้องให้คนที่ถูกกล่าวหามีสิทธิในการสู้คดี

เมื่อไม่กี่วันก่อน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยในประเด็นการไม่ได้ประกันตัวของผู้หาคดี ม.112 และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณคิดเห็นอย่างไร  

เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบแทนพรรคได้ ก็คงต้องไปถามพรรคเพื่อไทย เพราะผมเองพยายามไม่ยุ่งกับพรรคเลยเพื่อแยกหน้าที่ให้ชัดเจน การออกมาทำงานกับม็อบ ผมก็ออกมาด้วยตัวเอง ไม่ได้ออกมาเพราะพรรคส่งมา และตอนนี้ทางพรรคก็เน้นคนที่เป็น ส.ส. ปัจจุบันเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นบทบาทจึงไปอยู่กับงานในสภาเป็นหลัก อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา 

แต่ถามว่าการออกมาช่วยเด็กๆ ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นตัวผมก็จริง แต่อีกส่วนก็ยังต้องถือว่าเป็นพรรคเพื่อไทยด้วยเหมือนกัน เพราะผมก็ใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยอยู่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ผมทำ นอกจากในบทบาทของตัวเอง ส่วนหนึ่งก็เป็นบทบาทของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน 

คุณมองว่าระยะห่างระหว่างพรรคการเมืองกับม็อบ ณ วันนี้ เป็นระยะห่างที่เหมาะสมแล้วหรือยัง 

มันก็พูดยาก ในระบอบการเมืองปัจจุบันเป็นการง่ายมากที่พรรคจะถูกยุบ เพราะฉะนั้นการออกมาเคลื่อนไหวหรือออกมาทำอะไร พรรคจึงจำเป็นต้องระวังมาก เวลาโดนยื่นยุบพรรคนี่ไม่สนุกเลย คณะกฎหมาย คณะทำงาน ต้องทำกันแล้วทำกันอีก ยิ่งตอนนี้มีแนวโน้มว่าผู้มีอำนาจอยากจะให้พรรคถูกยุบ โอกาสที่จะโดนยุบพรรคก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ 

อย่างน้อยการเป็นพรรคการเมืองหรือการที่ยังสามารถทำงานในสภาได้อยู่ ถึงแม้จะแก้ปัญหาได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังทำได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าโดนยุบพรรคไป จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก เพราะฉะนั้นพรรคต้องระวังมาก

แต่ถ้าพูดในมุมส่วนตัว ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะพรรค แต่ ส.ส. ทุกคนน่าจะมีความรับผิดชอบกับประชาชนมากกว่านี้ ไม่ใช่ตัวเองกินเงินเดือนสองแสนกว่าบาท มีชีวิตอยู่สุขสบายในสภา แล้วอ้างว่าต้องทำงานในพื้นที่ ทำให้ไม่ได้มาดูแลประชาชนในเรื่องการต่อสู้ ผมไม่เห็นด้วย 

ในเมื่อจุดมุ่งหมายของนักการเมืองคือการเข้ามาเพื่อทำให้ประชาชนและสังคมดีขึ้น คุณเห็นปัญหาอยู่แล้วว่าอยู่ที่คุณประยุทธ์ อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และคุณก็รู้ว่าในทางสภา มือคุณไม่พอที่จะเปลี่ยนแปลง เรื่องรัฐธรรมนูญก็มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านอีก เพราะฉะนั้นมีอยู่ทางเดียว คือคุณต้องออกมาร่วมต่อสู้กับประชาชนเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ถ้าไม่อย่างนั้นก็แสดงว่าการที่คุณเข้ามาตรงนี้ ไม่ได้เข้ามาเพื่อประชาชน แต่เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจและแสวงหาความสุขให้กับตัวเองแค่นั้น

วาทกรรมนักการเมืองอยู่เบื้องหลังม็อบ คุณไม่กลัวว่าจะโดนครหาเช่นนี้เหรอ 

ผมอยู่ข้างหน้า (หัวเราะ) เขาบอกว่านักการเมืองไปแอบอยู่ข้างหลัง ผมบอกเลยว่าไม่ได้แอบ ก็ออกมาช่วยอยู่ข้างหน้า เพียงแต่ผมไม่ได้ช่วยในแง่การเมือง น้องๆ เขาทำการเมืองเก่งอยู่แล้ว ผมก็มาช่วยในแง่การแพทย์ มาดูแลความปลอดภัยให้ มาช่วยเจรจา ก็ช่วยกันคนละด้านตามความถนัดของตนเอง

เพราะผมรู้สึกว่าพวกเขาทำเพื่อประเทศ ทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งเป็นอะไรที่ตรงกับเรา เพราะฉะนั้นเราก็คงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ถามว่าเราอยากได้ไหมบ้านเมืองดีๆ ถ้าเราอยากได้ก็ต้องออกมาทำกับเขา 

เกษียร เตชะพีระ เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องความขัดแย้งของการเมืองไทยไว้ว่า ส่วนต่างๆ ของการเมืองไทยมีบรรยากาศและจังหวะก้าวที่แตกต่างกัน โดยการเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว ในฐานะที่คุณเองก็สวมหมวกนักการเมืองและในขณะเดียวกันก็ได้คลุกคลีกับม็อบมาตลอดหลายเดือน คุณคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้  

ผมเห็นด้วยกับ อ.เกษียร เราต้องพยายามกระตุ้นทุกส่วนให้เดินหน้าไปด้วยกัน โดยเฉพาะการเมืองในระบบที่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังล้าหลังมากๆ ส.ส. บ้านเรายังมีหน้าที่ไปอยู่ในพื้นที่ หรือไปแจกน้ำตามงานศพอยู่เลย ผมเคยคุยกับ ส.ส. อีสานหลายคน ค่าใช้จ่ายพวกนี้ตกเดือนละหกแสนถึงเจ็ดแสนบาท ผมถามต่อว่าแล้วเงินเดือนคุณได้สองแสนกว่าบาท คุณขาดทุนเดือนละสี่แสน แล้วเป็นไปทำไม สิ่งนี้เป็นบ่อเกิดที่ทำให้ ส.ส. ต้องไปหาเงินในทางที่ไม่ชอบ มันถึงเกิดการฉ้อฉลในงบประมาณทั้งหลายขึ้นมา

ที่เราเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรนู่นนี่ทั้งหลาย ที่ต้องปฏิรูปจริงๆ และยังไม่เคยถูกพูดถึงเลยก็คือเรื่องระบบรัฐสภา เรื่อง ส.ส. นี่แหละ เช่น ทำยังไงเราถึงจะออกกฎหมายได้ว่าคนเป็น ส.ส. คุณมาทำเรื่องใหญ่ เรื่องในพื้นที่ไม่ต้องไปยุ่ง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ อบจ. หรือเทศบาลจัดการไป คุณมาทำนโยบายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

เพราะฉะนั้นการเมืองในสภาเป็นอีกเรื่องที่ต้องพัฒนา รวมทั้งรัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ไข ถ้าตราบใดที่ยังไม่แก้ไขก็ยังสามารถแสวงหาอำนาจกันได้อยู่ ส่วนภาคประชาชนผมว่ากำลังไปได้ดีแล้ว ระบบข้อมูลข่าวสารก็ทำให้ประชาชนพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ 

แม้ว่าตอนนี้คุณไม่ได้มีตำแหน่งในการเมือง แต่ถ้ามีโอกาสคิดจะลงเล่นการเมืองอีกครั้งไหม

ลงครับ ก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือการเมือง แต่เป็นการเมืองที่ไม่มีเงินเดือน ถ้าเป็นการเมืองที่มีเงินเดือนผมก็เหนื่อยน้อยลงหน่อย (ยิ้ม) 

ถ้าคิดจะเล่นการเมืองต่อ การออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ ไม่กังวลหรือว่าคนจะติดภาพว่าเราอยู่กับม็อบ 

ไม่กังวลเลย เพราะผมไปเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้ไปเป่านกหวีดไล่รัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อทำให้ตัวเองมีอำนาจ ถ้าเป็นอย่างนั้นถึงจะเป็นสิ่งที่น่าอาย เป็นภาพติดตัวที่ใช้ไม่ได้ แต่อันนี้ผมไปเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ผมกลับมองว่านี่เป็นภาพติดตัวที่ดีนะ 

มีบางคนกล่าวว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้สนใจเรื่องข้อเรียกร้องของนักศึกษาหรือสนใจประชาธิปไตยหรอก สิ่งที่ชาวบ้านสนใจอย่างแรกคือเรื่องปากท้อง ในฐานะที่คุณทำงานกับชาวบ้านมาโดยตลอด คุณคิดเห็นอย่างไร

ไปด้วยกัน สมัยนี้ชาวบ้านก้าวหน้ามาก ถ้าเป็น 20-30 ปีก่อน อาจจะใช่ที่เขาสนใจแค่เรื่องปากท้อง แต่สมัยนี้เขารู้แล้วว่าระบบที่มีปัญหาคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เขามีชีวิตที่แย่ลง เขารู้ว่าตั้งแต่สมัยมีพรรคไทยรักไทย มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มันทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น หรือสมัยที่ผมเป็นเลขาฯ รัฐมนตรีพาณิชย์ ช่วงรัฐบาลคุณทักษิณ ตอนนั้นเรามีนโยบายจำนำข้าว-จำนำมัน จำนำแล้วราคาขึ้น ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่พอมาในรัฐบาลนี้ สิ่งที่เขาได้ก็ได้มีแค่มาตรการคนละครึ่ง หรือมาตรการเที่ยวด้วยกัน ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเขาเข้าใจดี 

ทราบมาว่าคุณเคยผ่านทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 และ 6 ตุลาคม ปี 2519 มองว่าอะไรคือความเหมือน ความต่าง ของม็อบนักศึกษาในวันนั้นกับม็อบนักศึกษาในวันนี้

ความเหมือนคือพลัง พลังของคนหนุ่มสาวเป็นพลังที่ไม่กลัวตาย อาจเพราะเราไม่เคยเจอ เราก็เลยไม่กลัว เหมือนถ้าเราไม่เคยโดนยิง เราก็ไม่กลัวที่จะถูกยิง แต่ถ้าลองโดนยิงเข้าไปสักที เราจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว ต่อไปเราไม่ควรเอาตัวไปเสี่ยงกับกระสุน ความไม่กลัวของคนหนุ่มสาวจึงเป็นสิ่งที่มีพลัง 

ความต่างคงเป็นเรื่องของเทคโนโลยี สมัยก่อนเวลาจะติดต่อกันทีต้องใช้โทรศัพท์บ้าน ซึ่งโทรศัพท์บ้านก็ไม่ได้มีทุกบ้าน ต้องบ้านคนรวยเท่านั้นถึงจะมี เวลาจะเจอกันเลยต้องนัดล่วงหน้า พรุ่งนี้จะไปเจอกันที่ไหน ตอนกี่โมง พอถึงวันจริงก็ไปยืนรอ ฉะนั้นเวลาจะนัดชุมนุมกันทีต้องมีการแจกใบปลิวหรือประกาศลงหนังสือพิมพ์ เช่น วันจันทร์หน้านัดกันที่ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ ห้าโมงเย็น เรื่องเวลาอะไรเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะประกาศออกไปหมดแล้ว ต้องไปอย่างเดียว จะแกงอย่างเด็กๆ ไม่ได้ แต่สมัยนี้มันแจ้งได้ทันที สิบนาทีหลังจากที่ศาลพิจารณาไม่ให้ประกันตัว มีบอกออกมาแล้ว อีกหนึ่งชั่วโมงพบกันที่สกายวอล์ก คนออกไปกันพรึ่บ 

การประท้วงกินระยะเวลามากว่าหนึ่งปีแล้ว ตอนนี้มีหลายคนเกิดอาการเหนื่อยล้าและท้อใจ สู้เท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที ในฐานะที่คุณเองก็ผ่านมาแล้วหลายการเคลื่อนไหว เคยรู้สึกเหนื่อยบ้างไหม 

เคย บางวันก็กลับมานั่งนิ่ง ทั้งวันทำอะไรไม่ได้เลยก็มี แต่ก็พยายามอ่านหนังสือ หยิบกีต้าร์มาเล่น เพื่อคลายเครียด

แล้วอะไรคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คุณยังสู้ต่อ

ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ เหมือนกับถามว่าทำไมเราต้องทำงาน ก็เพื่อจะได้มีเงินซื้อข้าวกิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ประชาธิปไตยก็ไม่ต่างกัน ในเมื่อเราอยากได้ประชาธิปไตยแต่มันยังไม่ได้ เราก็ต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ ตลอดชีวิตของเราอาจจะไม่ได้เห็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ หรือพอสมบูรณ์แล้วก็ยังมีเรื่องให้ต้องต่อสู้ต่อไป ดูอย่างอเมริกา เราคิดว่าเขาเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคงแล้วนะ วันดีคืนดีทรัมป์ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ระดมคนให้มาล้อมสภา เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตลอดชีวิต เพียงแต่ตอนไหนเราเหนื่อย เราก็อาจจะต้องพักหรือชะลอ ไม่ก็อาจจะต้องหาอย่างอื่นทำเพื่อให้มีพลังมาต่อสู้ใหม่ อยากฝากทุกคนว่าอย่าท้อ ท้อเมื่อไหร่ให้มาคุยกับหมอทศ (หัวเราะ) 

เกือบหนึ่งปีเต็มที่คุณได้เฝ้ามองการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของนักศึกษา มีเรื่องอะไรที่คุณได้เรียนรู้จากการไปสังเกตการณ์ในม็อบไหม 

ผมได้เรียนรู้ทุกอย่าง เรียนรู้ว่ารัฐมีวิธีคิดและวิธีการจัดการกับประชาชนอย่างไร ขณะเดียวกันก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวของประชาชนอีกครั้ง และสิ่งสำคัญที่สุดคือได้เห็นความเร่าร้อน เห็นพลัง และเห็นความสามัคคีในหมู่ประชาชน เรื่องนี้เป็นอะไรที่ประทับใจที่สุด 

ผมเชื่อว่าถ้าคนไทยใช้พลังมาช่วยกันเหมือนที่ช่วยกันในม็อบจะนำพาประเทศไทยไปสู่ทิศทางที่ดีได้  

แสดงว่าคุณยังมีความหวังว่าประเทศไทยสามารถไปต่อในทิศทางที่ดีได้

ยังหวังครับ 

สุดท้ายนี้ มีอะไรอยากฝากถึงเหล่าผู้คนที่คุณสังเกตการณ์มาโดยตลอดไหม

ผมอยากฝากสามอย่าง อย่างแรกอยากบอกคุณประยุทธ์ว่าที่ผ่านมาเขาได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนมาโดยตลอด แต่เขายังมีโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อคำพูดของเขาได้ โดยการพูดคำว่า “ผมขอลาออกครับ” 

อย่างที่สอง ผมอยากฝากไปยังประชาชนทุกท่าน ถ้าเราอยากได้อะไร อย่าอยากได้อยู่เฉยๆ ต้องออกมาช่วยกันสู้ ช่วยกันผลักดัน แต่ก็ต้องใช้ความสงบ ความสันติในการต่อสู้ และไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด 

ส่วนอย่างสุดท้าย อยากฝากไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลายว่าอย่าดูถูกพลังประชาชน ถ้าประชาชนลุกขึ้นมาทั้งประเทศเมื่อไหร่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ อยากให้ผู้มีอำนาจหยุดทุกอย่างเพื่อเจรจากับประชาชน  หยุดจับ หยุดดำเนินคดี พักเรื่องต่างๆ ไว้ก่อน และเอาทุกเรื่องมากาง มาพูดคุยกันบนโต๊ะ ผมเชื่อว่าถ้าทำอย่างนี้ ท้ายที่สุดประเทศไทยจะก้าวไปได้ด้วยดี

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save