fbpx
ทรมานที่ถูก “แปรรูป” ในพื้นที่ชายแดนใต้

ทรมานที่ถูก “แปรรูป” ในพื้นที่ชายแดนใต้

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงต้นปี 2562 เริ่มต้นเหมือนวันทั่วๆ ไปของอารีฟา (นามสมมติ) หญิงชาวปัตตานีในวัย 30 เธอตื่นแต่เช้าเพื่อออกไปกรีดยางที่สวนและกลับมาบ้านเพื่อทำขนมหวานไปขายตามร้านค้าในตัวเมืองปัตตานี

พอตกดึกราวทุ่มเศษ ระหว่างที่เธอกับแม่เตรียมตัวละหมาดก่อนเข้านอน เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงกว่า 8 คันรถได้เข้าปิดล้อมบริเวณบ้านของเธอและเคาะประตูบ้าน พร้อมเรียกให้เธอออกมาเปิดประตู เมื่อเธอเปิดประตูออก เจ้าหน้าที่ในชุดพร้อมปฏิบัติการ สวมเสื้อเกราะ ถือปืนยาวติดตัว พุ่งเข้าไปค้นบ้านอย่างรวดเร็ว

พวกเขาต้องการตามหาสามีของเธอซึ่งต้องสงสัยว่าพัวพันกับเหตุความรุนแรง แต่เมื่อไม่พบเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ตัดสินใจควบคุมตัวเธอและพาไปกักตัวไว้ในค่ายทหารเพื่อซักถามข้อมูลเป็นเวลาร่วมเดือน

ในฐานะนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามสถานการณ์ด้านการทรมานในประเทศไทย ผู้เขียนได้คุยกับอารีฟาและทราบว่าเธอถูกเจ้าหน้าที่ตั้งคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับสามีของเธอ แต่เธอไม่สามารถตอบได้เนื่องจากสามีออกไปรับจ้างทำงานทั่วไปตามหมู่บ้านต่างๆ และไม่ได้กลับบ้านเป็นประจำ

เธอบอกว่า เมื่อเธอไม่สามารถตอบได้ เจ้าหน้าที่มักตะคอกใส่และกดดันให้เธอบอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสามีเพิ่ม สิ่งที่เธอจดจำจนขึ้นใจคือเจ้าหน้าที่สั่งเธอให้ถอดนิกอบ (ผ้าคลุมทั้งใบหน้า เปิดเฉพาะบริเวณดวงตา) ระหว่างการซักถาม ด้วยเหตุผลว่า “ดูประหลาด ใส่แล้วพูดไม่รู้เรื่อง” และยังบอกอีกว่า “พวกยูแว (กลุ่มผู้ก่อเหตุ) ก็ชอบคลุมผ้าแบบนี้ รู้ไหมจุดจบพวกยูแว ถ้าไม่ตายก็ติดคุก”

อารีฟาบอกว่าเธอรู้สึกไร้เกียรติ เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยถูกบังคับให้ถอดผ้าคลุม และสงสัยว่าทำไมคนมุสลิมถึงถูกมองว่าเป็นขบวนการไปทั้งหมด

หลังจากอารีฟาได้รับการปล่อยตัว เธอเริ่มมีอาการหวาดผวาเมื่อได้ยินเสียงดัง ไม่สามารถนอนคนเดียวได้ เมื่อได้ยินเสียงรถวิ่งผ่านถนนหน้าบ้านก็มักตื่นขึ้นกลางดึกและร้องไห้ไม่หยุด อาการทางจิตใจดังกล่าวทำให้เธอไม่สามารถออกไปกรีดยางที่สวนได้อีก

มากกว่านั้น เจ้าหน้าที่กลุ่มเดิมก็ยังคงแวะเวียนมาเยี่ยมเธอที่บ้านและโทรศัพท์มาหาอยู่บ่อยครั้ง จึงยิ่งกระตุ้นให้เธอรู้สึกหวาดกลัวเพราะความทรงจำระหว่างที่ถูกควบคุมตัวกลับมาหลอกหลอนตลอดเวลา

แม้อารีฟาไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายดังเช่นกรณีอื่นๆ แต่เธอสารภาพว่าบาดแผลที่เธอได้รับไม่ได้ปรากฏบนร่างกาย แต่เกิดขึ้นอยู่ในใจ

 

วิวัฒนาการของการทรมาน

 

ปัญหาการทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมานับจากเหตุความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 รัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามความไม่สงบโดยใช้ “กฎหมายพิเศษ” ด้านความมั่นคงในพื้นที่ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กฎหมายพิเศษสองฉบับแรกให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลารวมกันไม่เกิน 37 วัน โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ มีเป้าหมายเพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามและรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับเหตุรุนแรง

แม้กฎระเบียบไม่ได้ห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม แต่ในความเป็นจริงมีหลายกรณีที่ครอบครัวหรือทนายของผู้ถูกควบคุมตัวถูกปฏิเสธการเข้าเยี่ยม หรือได้โอกาสเยี่ยมเพียง 2-5 นาทีเท่านั้น

มีข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากพบว่า ระยะเวลาการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษนี้ มักเป็นช่วงที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายเพื่อล้วงข้อมูลหรือบังคับให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่

กรณีนายอัสฮารี สะมะแอ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 โดยมีอาการสมองบวมและร่างกายฟกช้ำหลายจุด หรือกรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 โดยพบว่ากระดูกซี่โครงหักและลมรั่วในช่องอกด้านขวา เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนภาพการทรมานได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการทรมานในประเทศไทยไม่ได้จำเพาะไว้กับการทำร้ายร่างกายแบบเดิมๆ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงมีการปรับเปลี่ยนแปรรูปการทรมานไปเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดวินัยและต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตรูปแบบการทรมานจากการศึกษาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในชายแดนใต้ในช่วงที่ผ่านมาว่า มีการออกแบบเทคนิค วิธีการ อุปกรณ์ สถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถทำการทรมานได้อย่างแยบยลยิ่งขึ้น เช่น การบังคับให้ยืนเป็นเวลานาน หรือการบังคับให้อดนอน เป็นต้น

วิธีการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการทรมานที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแต่ไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้บนร่างกาย (no marks torture) ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการทรมานที่แพร่หลายและถูกทำให้กลายเป็นวิถีปกติคือการทรมานทางจิตใจ (psychological torture) เปลี่ยนการมุ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย เป็นการโจมตีทางจิตใจแทน ดังที่อารีฟาต้องเผชิญ

 

รายงานว่าด้วย “การทรมาน”

 

การ “แปรรูป” ของการทรมานไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ในประเทศไทย วิธีการทรมานรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการทรมานทางจิตวิทยา ถือกำเนิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่สมัยสงครามเย็น และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture) ได้บัญญัติห้ามการทรมานอย่างเด็ดขาด และนิยามให้การทรมานหมายรวมถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐจงใจทำให้บุคคลใดเกิดความเจ็บปวดทางกายหรือจิตใจอย่างสาหัสร้ายแรง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้แก่ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เพื่อให้ยอมรับสารภาพว่ากระทำความผิด เพื่อข่มขู่ให้กลัว เพื่อลงโทษ หรือทำบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ

แม้นิยามดังกล่าวจะครอบคลุมถึง “ความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างสาหัสร้ายแรง” แต่ยังไม่มีตัวบทกฎหมายระหว่างประเทศใดระบุอย่างชัดเจนว่า “การทรมานทางจิตใจ” คืออะไร มีขอบเขตแค่ไหนกันแน่

นอกจากนี้ การทรมานทางจิตใจมักถูกทำให้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่สลักสำคัญเท่ากับการทรมานทางกายภาพ (physical torture)

งานวิจัยของ David Luban นักวิชาการด้านกฎหมายประจำ Georgetown University และ Henry Shue นักวิจัยอาวุโสประจำ Merton College ของ Oxford University ศึกษาพบแนวคิดที่ดูแคลนการทรมานทางจิตใจในบริบทของกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและเรียกมันว่า “อคติเชิงวัตถุ” (materialist bias) ซึ่งมองว่าการทรมานทางกายภาพ “จริง” และ “ร้ายแรง” มากกว่าการทรมานทางจิตใจ ดังนั้นการทรมานทางจิตใจจึงเป็นปัญหาที่มักถูกละเลยและทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานทางจิตใจแทบไม่ต้องได้รับการตรวจสอบหรือรับผิดใดๆ

ผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติด้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ได้จัดทำรายงานว่าด้วย “การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ” เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งที่ 43 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

รายงานฉบับนี้นับได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญที่บัญญัตินิยามของ “การทรมานทางจิตใจ” ในมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศและสำรวจแนวคิดต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องในหลายบริบททั่วโลก

ผู้รายงานพิเศษฯ เสนอว่าการทรมานทางจิตใจ ควรหมายรวมถึง “วิธีการ เทคนิค และสถานการณ์ทั้งสิ้นที่มุ่งเป้าหรือถูกสร้างขึ้นโดยมีเจตนาเพื่อสร้างความเจ็บปวดหรือทรมานทางจิตใจอย่างรุนแรง โดยมิได้ใช้ความเจ็บปวดหรือทรมานทางกายอย่างรุนแรงเพื่อเป้าหมายการทรมานนั้น” และอธิบายเพิ่มเติมว่าการทรมานทางจิตใจเป็นการกระทำที่ทำร้ายผู้ถูกกระทำโดยมุ่งจู่โจมความต้องทางการขั้นพื้นฐานทางจิตวิทยาของมนุษย์

เช่น มนุษย์เราโดยทั่วไปมักต้องการความรู้สึกปลอดภัย ต้องการความสามารถบังคับร่างกายตนเองได้ ต้องการศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของตนเอง ต้องการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง และต้องการไมตรีจิตจากผู้อื่นและสังคมของเขา ดังนั้นการทรมานทางจิตใจจะมุ่งทำลายสิ่งเหล่านี้จนทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเจ็บปวด ทรมานใจอย่างสาหัส

ในรายงานยังระบุว่าวิธีการทรมานทางจิตใจที่แพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่

1. การกระตุ้นความรู้สึกไม่ปลอดภัยโดยการทำให้เกิดความกลัวและความหวาดวิตก เช่น การขู่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ถูกควบคุมตัวหรือครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัว การจำลองการประหารชีวิตเพื่อขู่ และการกระตุ้นความหวาดกลัวทางวัฒนธรรมหรือความกลัวส่วนตัวด้วยสัตว์อย่างสุนัข หนู งู แมลง เป็นต้น

2. การครอบงำจิตใจให้ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เช่น การตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผลว่าให้ทำหรือห้ามทำสิ่งใดระหว่างถูกควบคุมตัว การงดเว้นไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงข้อมูล เสื้อผ้า อาหาร น้ำ ที่นอน อากาศบริสุทธิ์ และการบังคับให้ทรมานตัวเอง เป็นต้น

3. การย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำลายตัวตนหรืออัตลักษณ์ เช่น การใช้คำพูดเหยียดหยามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ เพศของผู้ถูกคุมตัว การบังคับใช้แก้ผ้าหรือสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เพศตรงข้าม และการสอดส่องจับตามองตลอดเวลา แม้กระทั่งในเวลานอนหรือขับถ่าย เป็นต้น

4. การปั่นป่วนโสตประสาท เช่น การห้ามใช้โสตประสาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปิดตา ใส่ที่อุดหู คลุมหน้า ห้ามพูดคุย หรือการยัดเยียดให้โสตประสาททำงานมากเกินไป เช่น การบังคับให้อยู่ในที่แสงจ้าหรือมีอุณหภูมิสุดโต่ง ปล่อยกลิ่นเหม็น หรือเปิดเพลงเสียงดังตลอดระยะเวลาการควบคุมตัว เป็นต้น

5. การพรากความต้องการขั้นพื้นฐานทางสังคมและทางจิตใจ เช่น การขังเดี่ยว การควบคุมตัวโดยไม่อนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก เป็นต้น

6. การทำลายความเชื่อมั่นในรัฐโดยกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว ในบางประเทศ กระบวนการยุติธรรมและกลไกรัฐที่ล้มเหลว โดยเฉพาะระบบที่อาศัยวิธีการจับกุมโดยพลการและบังคับให้บุคคลสูญหาย มักทำให้เกิดความรู้สึกกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้ จิตใจไม่มั่นคง และเกิดความบอบช้ำทางใจได้ในระยะยาว การกระทำลักษณะนี้จึงสามารถถือว่าเป็นการทรมานทางจิตใจได้

จากรายงานดังกล่าวยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เหยื่อส่วนใหญ่มักรู้สึกถึงความทรมานจากปัจจัยต่างๆ รอบตัว ไม่ใช่จากการกระทำใดการกระทำหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้นเราจำเป็นต้องคำนึงถึง torturous environment หรือบริบทโดยรอบเพื่อประเมินว่าการกระทำใดเข้าข่ายการทรมานทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพสังคม การเมือง วัฒนธรรมในสถานที่ที่มีการทรมาน และความเปราะบางของปัจเจกบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ การกระทำบางประเภท หากเกิดขึ้นโดดๆ ก็อาจไม่ถือว่าเป็นการทรมาน แต่เมื่ออยู่ในบริบท “พิเศษ” และเมื่อเกิดขึ้นกับคนกลุ่มเปราะบางก็อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างแสนสาหัสจนนับว่าเป็นการทรมานได้

 

Torturous environment แห่งสยาม

 

การทรมานทางจิตใจไม่ใช่เรื่องห่างไกลตัวนัก เรื่องราวของอารีฟาเป็นเพียงหนึ่งในเสียงของเหยื่อที่ร้องเรียนว่าถูกทรมานทางจิตใจ จากการเก็บข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2558 พบว่าวิธีการทรมานทางจิตใจที่พบมาก ได้แก่

  • การใช้เรื่องเพศทำให้รู้สึกอับอาย: ผู้ถูกควบคุมตัวเพศชายในหลายกรณีร้องเรียนว่าตนถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าต่อหน้าเจ้าหน้าที่หญิง บางคนรายงานว่าตนเองถูกลูบคลำ บีบ ดีดบริเวณอวัยวะเพศเพื่อให้รู้สึกอับอาย
  • การข่มขู่เกี่ยวกับครอบครัวหรือคนรัก: ผู้ถูกควบคุมตัวบางรายร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ขู่ว่าจะจับพ่อแม่หรือญาติพี่น้องมาควบคุมตัวด้วย หากตนไม่รับสารภาพหรือให้ข้อมูลตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ
  • การล้อเลียน ย่ำยีศาสนาอิสลาม: ผู้ถูกควบคุมตัวบางรายเล่าว่า เจ้าหน้าที่พูดจาในลักษณะดูถูกเหยียดหยามศาสนา หรือมีแนวคิดเหมารวมว่าผู้ที่เคร่งครัดศาสนาอิสลามต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ชีวิตพวกเขาไม่มีอะไรแน่นอนนัก พื้นที่ของพวกเขาถูกตราไว้ในเอกสารราชการว่าเป็นพื้นที่ “พิเศษ”

นอกจากต้องเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากกลุ่มติดอาวุธแล้ว ยังต้องตกเป็นเป้าของรัฐเฝ้าติดตามผ่านการใช้อำนาจ “พิเศษ” ตามกฎหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกคุมตัวไปสอบเมื่อใดก็ได้

ความ “พิเศษ” ของสถานการณ์ด้านความมั่นคงทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกงดเว้น เช่นที่ตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสักกรณีที่กระบวนการยุติธรรมสามารถลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวได้เลย

ซ้ำร้าย หลายกรณีที่คนออกมาร้องเรียนกลับถูกใช้กฎหมายหมิ่นประมาทหรือกฎหมายอื่นๆ ฟ้องกลับเพื่อปิดปากอีกต่างหาก

บริบทเช่นนี้นี่จะยิ่งทำให้เกิดการสั่งสมความรุนแรง ความหวั่นวิตก ความกลัวในจิตใจของประชาชน และยิ่งสร้างวัฒนธรรมลอบนวลพ้นผิดต่อไปไม่รู้จบ

 

ยุติการทรมาน

 

ที่ผ่านมา วิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐมักถูกนำด้วยอคติเชิงวัตถุ (ให้ความสนใจแค่กรณีการทรมานที่มีการทำร้ายร่างกาย) และทำเป็นรายกรณีไป เช่น การใช้วิธีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบกรณีการซ้อมทรมาน หรือการร่างกฎหมายเพื่อทำให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา เป็นต้น

คณะกรรมการดังกล่าวถูกตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเพียงเฉพาะกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ไม่มีการตรวจสอบกรณีการทรมานทางจิตใจแต่อย่างใด

ส่วนตัวร่างกฎหมายก็ไม่ได้ระบุถึงนิยามการทรมานทางจิตใจที่ชัดเจน ที่สำคัญ ทั้งสองกลไกยิ่งไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นเพียงการจัดการปัญหาในระดับปัจเจกเท่านั้น โดยทำหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงแต่ละกรณี หรือเอาผิดผู้กระทำการทรมานเป็นรายบุคคลเป็นหลัก

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่สำคัญไม่แพ้การออกกฎหมายหรือกลไกร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ คือ ทำอย่างไรให้โครงสร้างทางสังคมมีความยุติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทรมานขึ้นในทุกรูปแบบ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save