fbpx
เรื่องของ 'เว็บล่ม' และภาวะงงๆ ชินๆ ของสังคมไทย

เรื่องของ ‘เว็บล่ม’ และภาวะงงๆ ชินๆ ของสังคมไทย

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ข่าวเกี่ยวกับเลือกตั้ง 2562 นี่ถือว่าแซ่บมากเลยนะครับ มีเรื่องให้อัพเดตรายวันชนิดตามแทบไม่ทัน ตั้งแต่ปรากฏการณ์สะเทือนเลือนลั่นวันที่ 8 ก.พ. ไปจนถึงเรื่องเซอร์ๆ แบบโปสเตอร์ของบางพรรคที่ทำออกมาในแนวหนังยอดมนุษย์ หรือข่าวพริตตี้สาวหุ่นสะบึมที่มาร่วมลงสมัคร ส.ส. ด้วย

อย่างไรก็ดี มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว นั่นคือเว็บไซต์ของ กกต. สำหรับการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น ‘ล่ม’

แถมการล่มนี้เกิดขึ้นแบบซ้ำซ้อนด้วย เว็บล่มครั้งแรกช่วง 28 ม.ค. ที่เปิดให้ลงทะเบียนวันแรก และล่มอีกครั้งในช่วงค่ำของวันที่ 19 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียน ทาง กกต. ยืนยันว่าไม่สามารถขยายเวลาลงทะเบียนได้ เพื่อจะได้ทราบจำนวนผู้ลงทะเทียนที่แน่นอน เพื่อกำหนดเขตเลือกตั้งล่วงหน้าต่อไป

ถ้าเราสามารถไปเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ได้ ข่าวนี้คงเป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่อย่างตัวผมเองก็มีรุ่นน้องคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คือเธอมัวแต่ทำงานหัวฟูจนมานึกได้ว่าช่วงที่เลือกตั้งปกติเนี่ย เธอดันจองตั๋วบินไปหาแฟนที่ต่างประเทศ วันที่เธอตระหนักได้ก็ดันเป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่อนิจจาเว็บล่ม คุณน้องเลยหงุดหงิดจนใช้วิธีเลื่อนไฟล์ทแทน! (เลือกประชาธิปไตยมากกว่าความรัก หัวใจเธอมันน่ากราบ)

ทั้งนี้จากรายงานของข่าวสด กกต. ให้สัมภาษณ์ว่า “ยอมรับว่าผู้มีสิทธิแห่ลงทะเบียนเกินเป้าที่ตั้งไว้” ซึ่งไอ้ตอนล่มวันแรกยังพอยอมรับได้ แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าระหว่างทางไม่คิดจะแก้ไขหรือไง จนวันสุดท้ายก็ยังล่ม ในข่าวระบุว่ามีคนลงทะเบียนราว 1.8 ล้านคน แต่ไม่มีข้อมูลว่าคนลงทะเบียนไม่ได้เป็นจำนวนเท่าไร แต่แค่ลองค้นกูเกิ้ลว่า ‘ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้’ ก็เจอกระทู้พันทิปเพียบแล้ว

เอาเข้าจริง นี่ไม่ใช่ภาวะ ‘เว็บล่ม’ ครั้งแรกที่เราได้ประสบหรอกนะครับ ลองคิดย้อนดีๆ แล้ว ชีวิตเราอยู่กับเรื่องเว็บล่มมาตลอด ถ้าเอาตั้งแต่สมัยเรียน ตอนสมัครสอบเอ็นทรานซ์เว็บก็ล่ม เดี๋ยวนี้เป็นระบบ TCAS ก็ยังล่มอยู่ดี แถมมีสมัครสอบกันหลายรอบ ก็ยิ่งล่มหลายรอบ

หรืออุตส่าห์ฝ่าฟันเข้ามหาวิทยาลัยไปได้แล้ว ก็ต้องปวดหัวกับการลงทะเบียนเรียนที่เว็บจะล่มตลอดสี่ปีชีวิตมหา’ลัย บางครั้งลงไม่ได้ ต้องจำใจไปเรียนวิชาที่ไม่อยากเรียน หรือกลับไปใช้วิธีโบราณยืนต่อแถวกันหน้าสำนักทะเบียน กระทั่งตอนประกาศเกรด เว็บก็ยังอุตส่าห์ล่มได้อีก เคยอ่านเจอแถลงการณ์ของมหา’ลัยแห่งหนึ่งที่ตลกมาก โดยบอกว่าเว็บไม่ได้ล่มแต่เข้าได้ครั้งละ 3,000 คน อ้าว! ถ้าคนเข้าไม่ได้ก็ถือว่าล่มมั้ยคร้าบบบ

ประสบการณ์เว็บล่มอีกแบบที่หลายคนเคยเจอคือการซื้อบัตรมหรสพหรือกีฬา ไม่ว่าจะคอนเสิร์ต ทอล์คโชว์ของนักพูดชื่อดัง หรือแมตช์ฟุตบอลทีมระดับโลก สิ่งที่เกิดขึ้นประจำคือเว็บไซต์ค้างนิ่งไม่ไหวติง ต้องกดปุ่ม F5 ไปเรื่อยๆ อย่างสิ้นหวัง บ้างก็กดซื้อได้แต่ตัดบัตรเครดิตไม่ผ่านจนต้องโทรหาธนาคารกันวุ่นวาย หรือเลวร้ายที่สุดคือเว็บล่มจนซื้อบัตรไม่ได้ เลยต้องยอมซื้อบัตรมือสองที่ราคาอัพจากหน้าบัตรไปหลายเท่า

แต่ก็ใช่ว่าเคสเว็บล่มแบบนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยนะครับ ผมเคยซื้อบัตรมหรสพของต่างประเทศ ไม่ว่าจะสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็เคยเจอเว็บเดี้ยงสนิทมาแล้วทั้งนั้น หรือช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 พอทรัมป์ดูจะชนะแน่ๆ คนก็แห่กันทำเรื่องลี้ภัยไปแคนาดาจนเว็บล่ม สรุปว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระดับสากลโลก และเรื่องที่ตามมาคือผู้คนเข้าไปด่าในเพจเฟซบุ๊กของเว็บไซต์เป็นร้อยเป็นพันคอมเมนต์

แล้วทำไมเจ้าของเว็บถึงปล่อยให้เว็บล่ม? ทำไมถึงยอมโดนด่า? ไม่รู้จริงๆ หรือว่าเว็บจะล่ม? ผมเคยแอบถามเพื่อนที่ทำงานบริษัทขายตั๋วมหรสพแห่งหนึ่ง ได้ความว่าฝั่งคนทำเว็บคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าเว็บจะล่ม แต่การอัพเกรดเว็บให้รองรับจำนวนคนหลักหมื่นนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม เพราะใน 365 วันของปี อาจจะมีวันที่คนเข้าเว็บเยอะจนล่มไม่ถึง 20 วันก็ได้

ดังนั้นเว็บไซต์ขายบัตรจึงทำมึนปล่อยให้เว็บล่มไป แถมพอคนเข้ามาซื้อบัตรเยอะจนเว็บล่มหรือบัตรหมดภายใน 5 นาที 10 นาที ก็ยังจะได้พื้นที่ข่าวอีก สิ่งที่เว็บไซต์พวกนี้ทำในภายหลังก็เป็นเพียงการขอโทษที่ขึ้นต้นด้วยประโยคทำนอง “เนื่องจากมีผู้เข้าใช้งานจำนวนมาก…” และลงท้ายว่า “ทางเราขออภัย บลาบลา และจะปรับปรุงต่อไป บลาบลา” เป็นแถลงขอโทษที่ copy & paste มานานเกินสิบปีเห็นจะได้

สิ่งไปแย่ไปกว่านั้นคือพวกเว็บไซต์ขายตั๋วนั้นมีอยู่เพียง 4-5 รายใหญ่ๆ เกิดเป็นสภาวะกึ่งผูกขาดที่ลูกค้าต้อง ‘ง้อ’ เว็บไซต์ขายบัตร ไม่ว่าเว็บจะล่มแล้วล่มอีกขนาดไหน เราก็ต้องทนอยู่กับมันไป จนนำไปสู่สิ่งน่ากลัวที่สุดนั่นคือ ‘ความชินชา’ จากเดิมที่เคยหัวร้อนโวยวายตอนเว็บล่ม ก็กลายความเฉยๆ ว่า “อ้อ ล่มอีกแล้วสินะ” หรือ “อืม มันก็เป็นแบบนี้แหละ”

อย่างไรก็ดี ช่วงสองสามปีหลังมานี้เว็บไซต์ขายบัตรทั่วโลกก็เริ่มเยียวยาความเจ็บปวดจากเว็บล่มด้วยการหันมาใช้ ‘ระบบคิว’ นั่นคือก่อนจะซื้อบัตร เราต้องไปกดเข้าคิวก่อน จากนั้นเว็บจะปล่อยให้คนเข้าไปซื้อบัตรเป็นล็อตๆ เพื่อไม่ให้เว็บล่ม ถึงกระนั้นระบบคิวในบ้านเราก็มีความสับสนงุนงงมากมาย เช่นว่ากดด้วยคอมพ์ฯ สองเครื่องที่ใช้อินเทอร์เน็ตอันเดียวกัน เครื่องที่กดทีหลังกลับได้เลขคิวน้อยกว่า หรือบางเจ้าก็เขียนเลยว่าเลขคิวเป็นระบบสุ่ม (!?) ซึ่งดูขัดแย้งมากกับการที่คำว่า ‘คิว’ กับ ‘สุ่ม’ มาอยู่ด้วยกัน

วิธีการเหนือเมฆล่าสุดที่เจอคือเอาเลขคิวออกไปเลย ประมาณว่าดราม่ากันมากใช่มั้ยว่าใครได้ก่อนได้หลัง งั้นไม่ต้องโชว์แล้วว่าได้คิวที่เท่าไร (อ้าว!) คนซื้อก็ได้แต่นั่งรอเวลาหน้าคอมพ์ฯ ไปเรื่อยๆ ว่าเมื่อไรจะถึงคิวตัวเอง เป็นการทำให้ผู้ใช้บริการ ‘งง’ กับระบบที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและไม่มีความโปร่งใส แต่ก็เข้าอีหรอบเดิมว่า เจอแบบนี้บ่อยๆ สุดท้ายก็จะงงจนชินไปเอง

ผมคิดว่าสองคำนี้เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญนะครับ คำว่า ‘งง’ และ ‘ชิน’ เพราะมันเป็นแท็กติกที่ฝ่ายมีอำนาจมากกว่าใช้กดทับคนที่มีสถานะ/อำนาจต่อรอง/ข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า ดูอย่างการลงประชามติปี 2559 ก็ได้ครับ ยังจำคำถามพ่วงข้อสองอันแสนยาวเหยียดและชวนงงได้มั้ยเอ่ย ผมเชื่อว่าหลายคนมาเข้าใจว่าตัวเองกาอะไรไปก็ช่วงสองเดือนนี้ที่มีการถกเถียงกันเรื่อง ส.ว. 250 คนนี่แหละ (ผมคือหนึ่งในนั้น) หรือการเลือกตั้ง 2562 ที่กำลังจะมาถึงก็มีความซับซ้อนหลายประการ ผมเคยทำแบบสอบถามของเว็บไซต์แห่งหนึ่งว่าคุณเข้าใจการเลือกตั้งครั้งนี้มากแค่ไหน ผลคะแนนออกมาน่าอับอายจนแทบจะร้องไห้

ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้คงเป็นการทำให้ตัวเอง ‘งงน้อยที่สุด’ และ ‘พยายามอย่าชิน’ กับความงุนงงเหล่านั้น แม้ว่าจะทำได้ไม่ง่ายนักในประเทศแห่งนี้ที่มีทั้งสิ่งที่ ‘อธิบายได้ยาก’ และ ‘ยากที่จะ (กล้า) อธิบาย’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save