fbpx
ทันตกรรมอำพราง : ความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก

ทันตกรรมอำพราง : ความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก

ทุกวันนี้มีคลินิกที่เปิดให้บริการด้านทันตกรรมอยู่มากมาย ทั้งแบบที่ถูกกฎหมาย และแบบที่ลักลอบให้บริการอย่างลับๆ

สิ่งที่น่ากังวลซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ หรือรู้เมื่อสายไปแล้ว ก็คือการใช้บริการด้านทันตกรรมบางประเภท อาจนำมาซึ่งอันตรายในภายหลังได้ แม้ว่าคลินิกหรือทันตแพทย์คนนั้นๆ จะมีใบรับรอง กระทั่งเปิดบริการอย่างถูกกฎหมายก็ตาม

101 มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการเข้ารับบริการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ

ต่อไปนี้คือความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก แต่เราอยากบอกให้รู้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความเสียหายจากการรักษา

 

1. อันตรายจากการจัดฟันสวย-เคลือบฟันขาว

 

สิ่งที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือส่วนของทันตกรรมเพื่อความสวยงาม สมัยก่อนทันตกรรมเพื่อความสวยงามจะใช้เฉพาะกรณีของคนที่มีปัญหาจริงๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน นิดๆ หน่อยๆ ก็ทำกันแล้ว เพราะใครๆ ก็อยากมีฟันสวย

กรณีแรกคือการจัดฟัน การจัดฟันที่มีปัญหากันอยู่ในปัจจุบันคือการจัดฟันแบบแฟชั่น ใส่เหล็กดัดฟันเพราะเชื่อว่าจะทำให้โก้เก๋ ดูทันสมัย โดยไม่สนใจว่าจะเป็นเหล็กปลอมหรือเหล็กจริง ใช้ลวดคุณภาพดีหรือไม่ดี

อีกกรณีคือ การเคลือบฟัน เปลี่ยนสีฟันให้ขาวขึ้น เพราะเชื่อว่าฟันขาวคือฟันที่แข็งแรง แต่จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด

โดยธรรมชาติแล้ว สีของฟันกับสีของตาขาว จะต้องเป็นสีเดียวกัน หลักในการเคลือบฟันของทันตแพทย์ คือต้องดูสีของตาก่อน แล้วค่อยดูสีของฟัน สองอย่างนี้ต้องสีเดียวกัน

แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนด้วยว่าเขาให้คุณค่ากับอะไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ คนจำนวนไม่น้อยให้คุณค่ากับความสวยงามเป็นหลัก เพราะมันช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเขาได้

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือการรักษาอย่างผิดวิธี หรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น คลินิกบางแห่งใช้วิธีอุดปิดผิวหน้าฟันด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟัน เพื่อให้ฟันขาวในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งวิธีการแบบนี้ จะทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างฟัน ฟันจะติดกันเป็นแผง ไม่สามารถทำความสะอาดได้ ทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ สิ่งที่น่าตกใจคือ คลินิกประเภทที่ว่านี้ดำเนินการโดยทันตแพทย์มีใบรับรองอย่างถูกต้องด้วย

 

2. หมอเก่ง แต่ขาดจรรยาบรรณ

 

วิชาชีพนี้ก็เหมือนวิชาชีพอื่นๆ ที่มีทั้งคนดีและไม่ดี มีสามัญสำนึกและไม่มีสามัญสำนึก ถามว่าแล้วคนทั่วไปจะรู้ได้อย่างไร ว่าหมอคนไหนดี ไม่ดี

คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก เหตุผลคือ แม้แต่คนที่ได้บอร์ด ได้ใบรับรองต่างๆ หรือติดป้ายหน้าร้านว่าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะมีจรรยาบรรณ เช่น คลินิกจัดฟันบางแห่ง พอลูกค้ามาถึงก็ติดเครื่องมือจัดฟันให้ก่อนเลย โดยไม่เคลียร์ช่องปากให้ลูกค้า ไม่ทำความสะอาด ไม่เช็คฟันผุ ไม่ขูดหินปูน เพื่อมัดมือชกลูกค้า เพราะถ้าคุณติดเครื่องมือปุ๊บ แปลว่าคุณจะต้องเสียเงินให้ร้าน 10,000 บาทแล้วแน่ๆ ต่ำสุดคือ 5,000 สูงสุดคือ 10,000 ซึ่งพอเสียเงินแล้ว คุณจะทำต่อหรือไม่ทำต่อก็เรื่องของคุณ แต่ร้านได้เงินมาแล้วเต็มๆ

โดยทั่วไป ถ้าเป็นงานแบบพื้นฐาน เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ส่วนใหญ่ทุกที่จะไม่ต่างกัน เพราะทันตแพทย์ทุกคนจะมีความสามารถเหมือนๆ กัน

แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มมีสิ่งแปลกปลอมหรือเครื่องมืออื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น การจัดฟัน การทำฟันปลอม หรือการทำรากฟันเทียม จะต้องใช้ทักษะความสามารถอีกระดับ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจรักษา ควรหาข้อมูลหรือปรึกษาคนที่อยู่ในวิชาชีพก่อนเพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจในการรักษา

 

3. หมอไม่เก่ง แต่อยากรวย

 

ในวิชาชีพทันตแพทย์ มีอยู่ 2-3 สาขาที่ทำเงินเยอะ สาขาแรกคือการจัดฟัน สาขาต่อมาคือทันตกรรมเพื่อความสวยงาม และสาขาสุดท้ายคือการทำรากฟันเทียมกับฟันปลอม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือหมอฟันในปัจจุบัน ก็พยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสาขาที่ว่านี้มากขึ้นด้วย เพื่อจะได้มีรายได้เยอะขึ้น

กรณีหนึ่งที่พบบ่อย ก็คือมีนักศึกษาหลายรายที่เรียนไม่จบ ไม่ได้ใบประกอบโรคศิลป์ แล้วออกไปประพฤติผิดเลย เช่น ไปอยู่ใต้อำนาจของหมอบางคนที่ต้องการ ‘มือปืน’ ไปทำงานที่คลินิกตัวเอง เพื่อจะได้จ้างในราคาที่ถูกลง หรือบางคนอาจฝีมือไม่ดีเท่าไหร่ แต่อาศัยว่าหน้าตาดี คุยเก่ง เรียกลูกค้าได้ เป็นต้น

ปัญหาของคนไทยอย่างหนึ่งคือ ชอบทำฟันกับหมอที่พูดเก่ง อัธยาศัยดี ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะเป็นหมอที่เก่ง ความน่าเชื่อถือจากการพูดคุย เป็นคนละเรื่องกับความน่าเชื่อถือจากฝีมือหรือการกระทำ

มีหลายคนที่อาศัยช่องตรงนี้ในการทำเงิน แล้วก็พร้อมจะลืมจรรยาบรรณ กระทั่งลืมความถูกต้องทางกฎหมาย

4. หมอเถื่อน – ฟัน (เทียม) เถื่อน

 

ที่ว่ามานั้นคือปัญหาของหมอฟันที่มีใบประกอบวิชาชีพ แต่อีกประเภทหนึ่งซึ่งมีเยอะเหมือนกัน ก็คือหมอฟันที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หรือหมอเถื่อน

กรณีแรก คือพวกที่เป็นช่างทันตกรรม ซึ่งที่มีหน้าที่ทำฟันปลอมตามที่หมอสั่ง ช่างประเภทนี้พอเห็นว่าตัวเองทำฟันปลอมได้ แทนที่จะทำตามคำสั่งหมออย่างเดียว ก็รับจ้างทำให้คนไข้เองด้วย แต่ปัญหาคือทักษะของหมอกับช่างนั้นต่างกัน โอกาสที่จะผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานก็มีสูง

หมอเถื่อนประเภทนี้จะใช้วิธีขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์เข้าไปตามหมู่บ้าน กลุ่มเป้าหมายก็คือคนเฒ่าคนแก่ทั้งหลาย ซึ่งต้องการฟันปลอม แต่ไม่สะดวกเข้ามารักษากับหมอในเมือง การคนขี่รถเข้ามาทำให้ถึงบ้านจึงตอบโจทย์คนกลุ่มนี้พอดี ที่สำคัญคือหมอเถื่อนประเภทนี้ มักเรียกค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงพอๆ กับทันตแพทย์ทั่วไปด้วยซ้ำ

ถามว่ามีความพยายามในการจัดการกับหมอเถื่อนเหล่านี้ไหม ก็มีอยู่ แต่มันจัดการยาก เพราะเราไม่ได้มีสายสืบที่จะไปคอยจับตาว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคเอง ถ้าเขาไม่ได้เดือดร้อนหรือเกิดปัญหาจริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะไม่แจ้ง ไม่ร้องเรียน

ปัญหาจากบริการประเภทนี้ที่พบบ่อย ก็คือติดแน่นเกิน เอาไม่ออก เมื่อเอาไม่ออก ทำความสะอาดไม่ได้ ฟันจึงผุ ฟันผุหนักเข้า เนื้อเยื่อต่างๆ ก็เริ่มเน่า และถ้าปล่อยเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นมะเร็งในช่องปาก

นี่เป็นเคสที่พบบ่อยมากตามหมู่บ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานที่จำนวนหมอยังขาดแคลนและไม่ทั่วถึง

อีกประเภทที่พบบ่อยเช่นกัน คือประเภทเปิดร้านเสริมสวยบังหน้า แต่รับติดเครื่องมือจัดฟันอยู่ข้างหลัง ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดฟันเถื่อน ติดเพื่อแฟชั่นล้วนๆ โดยใช้อุปกรณ์คุณภาพต่ำ

ลวดที่ใช้คือโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จำพวกปรอท แคดเมียม ซึ่งนอกจากจะมีผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังทำให้สุขภาพช่องปากแย่ เพราะทำความสะอาดลำบาก แต่บริการประเภทนี้มักจูงใจลูกค้าด้วยราคาที่ย่อมเยา คนที่อยากจัดฟันแบบแฟชั่นจึงไม่ได้คิดอะไรมาก แต่หารู้ไม่ว่าอันตรายกว่าที่คิด

 

5. ตรวจสอบ – ลดเสี่ยง

 

ในส่วนของการหลีกเลี่ยงและแก้ปัญหา กรณีของหมอที่มีใบประกอบวิชาชีพ วิธีแนะนำก็คือ

หนึ่ง เข้าไปเช็คข้อมูลให้ในเว็บไซต์ของราชวิทยาลัยทันตแพทย์ ถ้าทันตแพทย์คนนั้นมีชื่อในอยู่ในเว็บนี้ ก็จะช่วยรับประกันได้ส่วนหนึ่งว่าเป็นคนที่มีความสามารถ มีใบประกอบวิชาชีพ และมีการเก็บเคสมาประมาณหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า ผ่านในแง่วิชาการ แต่ไม่ได้รับประกัน 100% ว่าถ้าทำกับหมอคนนี้แล้วจะดี เพราะหมอที่เก่งๆ แต่ไร้จรรยาบรรณก็มีอยู่

สอง ไปรักษากับคณะทันตแพทย์ หรือตามโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ เพราะสามารถไว้วางใจได้มากกว่า เนื่องด้วยการรักษาอย่างเป็นระบบ และมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน หมายความว่า ถ้ามีเคสที่ทำแย่หรือบกพร่อง มันจะอยู่ในสายตาของบุคลากรคนอื่นๆ ด้วย พูดง่ายๆ ว่ามีการควบคุมและคัดกรองที่รัดกุมพอสมควร

สาม กรณีที่ใช้บริการแล้วพบว่าเกิดปัญหา วิธีที่ทำสามารถทำได้ คือไปร้องเรียนกับทันตแพทยสภา และฟ้องร้องทางกฎหมาย ทว่าเงื่อนไขหนึ่งซึ่งทำให้การฟ้องร้องเกิดขึ้นยาก ก็คือการเซ็นสัญญาก่อนรักษา ซึ่งความหมายว่าคุณต้องยอมรับผลการรักษาไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เมื่อคนไข้หลายคนรู้ตัวว่ามีปัญหา แต่ดันไปเซ็นสัญญาไว้ ก็เลือกที่จะไปหาหมอคนใหม่เลย รื้อใหม่ ทำใหม่ ทำให้เสียทั้งเงินและเวลามากขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุดแล้ว วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการรักษาสุขภาพช่องปากของคุณเองให้ดีที่สุด ดังนี้

หนึ่ง แปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น

สอง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ วิธีที่ถูกต้องคือใช้ก่อนการแปรงฟัน เพื่อที่เวลาคุณแปรงฟัน ฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟันจะได้เข้าไปเคลือบตามซอกฟันได้

สาม หมั่นไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพราะในระยะเวลา 6 เดือน ช่องปากของคุณอาจมีความเปลี่ยนแปลงหรือมีปัญหาโดยที่คุณไม่รู้ตัว ตั้งแต่เรื่องฟันผุ คราบหินปูน หรือรากฟัน

สี่ หลีกเลี่ยงการใช้บริการทางทันตกรรมที่ดูไม่ชอบมาพากล และหมั่นหาข้อมูลก่อนเข้ารับการรักษาเพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง

MOST READ

Health

11 Jan 2018

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน) และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

กองบรรณาธิการ

11 Jan 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save