fbpx
[ความน่าจะอ่าน] ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังไม่ตาย ?

[ความน่าจะอ่าน] ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังไม่ตาย ?

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากคุณอยากอ่านหนังสือสักเล่มเพื่อเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์’ ขณะเดียวกันก็อยากทำความเข้าใจวิวัฒนาการของสังคมการเมืองไทย ตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้คือเล่มที่คุณควรจัดไว้อยู่ในลิสต์ที่ ‘ต้องอ่าน’

นี่คืองานชิ้นโบว์แดงของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลงทุนลงแรงศึกษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากว่าสองทศวรรษ

หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน ในชื่อ ‘The Rise and Decline of Thai Absolutism’ ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ตีพิมพ์งานชิ้นนี้ในเวอร์ชั่นภาษาไทย ในชื่อ ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ แปลโดย อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู นับเป็นหนังสือที่เป็นหมุดหมายสำคัญอีกเล่มของผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่คนในแวดวงวิชาการเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับหนังสือเล่มนี้ เพราะจากการสำรวจคนในแวดวงหนังสือจากโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ก็ติดเข้ามาอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ที่มีคนแนะนำเข้ามา

ในบทความนี้ เราได้รวบรวมความคิดความเห็นรวมถึงบทวิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้มาให้อ่านกัน เสมือนการ ‘เรียกน้ำย่อย’ เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าหนังสือเล่มนี้มีความ ‘น่าจะอ่าน’ อย่างไร รวมถึงมีประเด็นอะไรที่ชวนให้ผู้อ่านอย่างเราๆ นำไปขบคิดต่อได้บ้าง

 

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย – กลไกที่กลืนกินตัวเอง

 

“อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังการเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และเหตุใดมันจึงเสื่อมลงในเวลาเพียงชั่วศตวรรษ คือคำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้”

ในคำนำสำนักพิมพ์ ได้สรุปคำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างรวบรัดชัดเจน ขณะเดียวกันก็ชี้ประเด็นสำคัญว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสื่อมสลายลงนั้น ก็เพราะกลไลสำคัญอย่าง ‘ระบบราชการ’ นั่นเอง

“ผู้เขียนอาศัยทฤษฎีของโบรเดล (Fernand Braudel) และวอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) ซึ่งโยงบทบาทของระบบทุนนิยมโลกกับการสร้างรัฐสมัยใหม่ มาใช้วิเคราะห์การเปลี่ยนรูปแบบรัฐไทยจากรัฐศักดินามาเป็นรัฐบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างไปจากงานศึกษาอื่น

หนังสือเล่มนี้ยังพยายามแสดงให้เห็นว่าในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ได้มีการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายระบอบในตัวมันเองลง โดยเฉพาะการสร้างระบบราชการสมัยใหม่ อันเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการทำงานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่กลับกลายเป็นกลไกที่กลืนกินตัวเอง

สิ่งนี้สะท้อนจากความไม่พอใจภายในระบบราชการที่ก่อตัวและปะทุขึ้น จนนำมาสู่กบฏ ร.ศ. 130″

เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงงานชิ้นนี้ไว้ในคำนำว่า “เป็นงานที่ทะเยอทะยานทางทฤษฎีแบบไทยศึกษาสกุลฝรั่ง ด้วยการวิพากษ์ท้าทายทฤษฎี “สงครามสร้างรัฐ” ของ Charles Tilly นักสังคมวิทยาอเมริกัน และนำเสนอทฤษฎี “เศรษฐกิจโลกสร้างรัฐ” อันครอบคลุมกว่าของ อ.กุลลดาเองขึ้นแทน ไม่เฉพาะสำหรับประยุกต์ใช้ในขอบเขตประเทศสยาม หรือภูมิภาคเท่านั้น แต่ในระดับสากลเลยทีเดียว”

ด้าน ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงงานชิ้นนี้ในทำนองเดียวกัน โดยฉายภาพให้เห็นกรอบการศึกษาและรายละเอียดที่ปรากฏในงานชิ้นนี้ของอาจารย์กุลลดามากขึ้น

“งานชิ้นนี้จะแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือการศึกษาว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ด้วยเงื่อนไขแบบไหน อีกส่วนคือศึกษาความเสื่อมของตัวระบอบ โดยคำอธิบายสำคัญของอาจารย์ก็คือ ความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจากความขัดแย้งซึ่งอยู่ในตัวระบบเอง พูดง่ายๆ คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบที่ชนชั้นนำของไทยบางกลุ่ม ฉกฉวยโอกาสจากการขยายตัวของระบบทุนนิยม โดยสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อปกครองและรักษาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ซึ่งกลไกนั้นก็คือระบบราชการ

“ทว่าสุดท้าย ระบบราชการที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นมา ก็มีความตึงเครียด (tension) บางอย่าง โดยความตึงเครียดที่สำคัญ คือการที่เชื้อพระวงศ์หรือชนชั้นสูงเป็นผู้กุมอำนาจในระบบราชการ ประเด็นคือ แม้ข้างล่างจะเป็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ความรู้ ใช้ merit system หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อจุดสูงสุดที่กุมอำนาจอยู่คือชนชั้นสูง สิ่งที่เกิดขึ้นคือข้าราชการหรือกระฎุมพี มีความรู้สึกอึดอัดกับตัวระบอบที่เป็นอยู่ ด้วยเห็นว่ากลุ่มชนชั้นนำที่นั่งบนตำแหน่งสำคัญๆ ในระบบ ไม่ได้ตัดสินใจตามหลักการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่กระทำเพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาต่างๆ มากพอ

“ความตึงเครียดอีกข้อหนึ่งก็คือ การสงวนตำแหน่งสูงๆ ในระบบราชการเอาไว้สำหรับคนที่เป็นชนชั้นเจ้านายเท่านั้น ทำให้เหล่าข้าราชการหรือกระฎุมพีรู้สึกคับข้องใจ โดยความตึงเครียดที่ว่ามานี้ เป็นชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ กบฏ ร.ศ.130”

ทั้งนี้ ตามไทยังชี้ให้เห็นลักษณะเด่นในงานของอาจารย์กุลลดา ว่าเป็นงานสเกลใหญ่ที่มีความเป็นสากลสูง ต่างจากงานด้านประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่

“ปกติเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เรามักจะศึกษากรณีเฉพาะ ศึกษาลักษณะเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างไร แต่งานของอาจารย์กุลลดาค่อนข้างพิเศษ ด้วยความที่อาจารย์สนทนากับงานในกลุ่มที่เป็นสังคมวิทยา-ประวัติศาสตร์ในระดับโลกด้วย สิ่งที่อาจารย์พยายามทำ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ คือการพยายามสร้างกรอบอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นสากล

“กรอบการอธิบายใหญ่ของงานชิ้นนี้ คือการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง (structure) กับตัวกระทำ (agency) ในประวัติศาสตร์ โดย ‘โครงสร้าง’ ในที่นี้คือ ระบบทุนนิยมโลกภายใต้การกำกับของ ‘hegemon’ กล่าวคือระบบทุนนิยมในแต่ละยุคจะมี hegemon หรือประเทศที่มีบทบาทในการกำกับกติกาของระบบทั้งหมด ซึ่งในเป็นช่วงสมัยศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ก็คือระบบ Pax Britannica ที่มีอังกฤษเป็นศูนย์กลาง

“ในส่วนที่เป็นตัวกระทำ งานของอาจารย์กุลลดาจะพูดถึงชนชั้นนำบางกลุ่ม ที่สามารถปรับตัวหรือฉกฉวยโอกาสในการควบคุมทรัพยากร แล้วสร้างระบบการเมืองที่สอดคล้องหรือรองรับผลประโยชน์ของตัวเองได้ ถ้ามองในแง่นี้ สิ่งที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้นั่นเอง”

 

คุณูปการ 5 ประการ ในงานของกุลลดา

 

ด้าน ปวงชน อุนจะนำ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึง ‘คุณูปการ 5 ประการ’ ของหนังสือเล่มนี้ไว้ดังนี้

ประการแรก หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจกระบวนการการก่อรูปรัฐในแบบของไทย ถ้าเรียนเจาะลึกรัฐศาสตร์สาขาการเมืองเปรียบเทียบ จะมีหัวข้อสำคัญคือ ‘รัฐและการก่อตัวของรัฐ’ บางทีก็พาไปดูการก่อตัวของรัฐในอเมริกา ในเอเชีย ในแอฟริกา เรารอคอยมานานแล้วว่าเมื่อไหร่จะมีงานเกี่ยวกับการก่อสร้างรัฐไทยในเวอร์ชั่นไทย ผมคิดว่างานชิ้นนี้อธิบายสิ่งนี้

ประการที่สอง หนังสือเล่มนี้ท้าทายความเข้าใจทั่วไปเรื่องการก่อตัวของรัฐ ทฤษฎีหลักในการเข้าใจเรื่องรัฐ รัฐเกิดขึ้นจากสงคราม ยึดอาณาเขต ต่อสู้ ปลดแอกประเทศ อาจารย์กุลลดาให้มุมมองที่ต่างไป เธอบอกว่าเศรษฐกิจโลก ทุน และตลาดต่างหากที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดรัฐ นอกจากนั้น แทนที่จะเน้นเรื่องความสามารถส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์หรือตัวแสดงทางการเมือง อาจารย์กุลลดาเน้นไปที่โครงสร้าง เน้นทุนมากกว่าการกดขี่ขูดรีด

ประการที่สาม งานของอาจารย์กุลลดา ท้าทายความเข้าใจต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจารย์กุลลดามองว่าต้องเข้าใจพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแสดงทางการเมืองหรือนักการเมือง ซึ่งสนใจผลประโยชน์ของราชวงศ์เป็นหลัก แทนที่จะสนใจผลประโยชน์ของบ้านเมือง นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้มองการณ์ใกล้ขนาดนั้น บางทีนโยบายที่ใช้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วผลเสียมาเกิดทีหลัง เช่น การริเริ่มระบบราชการ โดยความเข้าใจทั่วไป เรามองกษัตริย์เป็นเทวราชา แต่งานอาจารย์กุลลดามองต่างออกไป เราจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์มีการปะทะ ต่อสู้กับตระกูลขุนนางต่างๆ และบางครั้งก็เสียหน้าที่ขุนนางไม่ยอมทำตาม

ประการที่สี่ วิธีการศึกษาของอาจารย์กุลลดาสร้างมาตรฐานให้กับการศึกษารัฐไทย อาจารย์ไม่อาศัยงานชั้นรองทางประวัติศาสตร์ แต่พาไปดูงานชั้นต้นเสมอในหอจดหมายเหตุ ตัวอย่างเอกสารชั้นต้นที่ใช้ประกอบเล่มนี้ เช่น จดหมายเหตุ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ อัตชีวประวัติส่วนบุคคล จดหมายที่โต้ตอบระหว่างพระมหากษัตริย์กับลูก วารสารของกระทรวง ทบวง กรม บันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ แบบเรียนในโรงเรียน บทพระราชนิพนธ์ของกษัตริย์ หรือกระทั่งคำให้การของกบฏในศาล

ในแวดวงวิชาการเข้าใจอาจารย์กุลลดาว่าเป็นนักรัฐศาสตร์สายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าคนให้เครดิตอาจารย์กุลลดาน้อยไปในแง่ประวัติศาสตร์ ไทยศึกษา และเชี่ยวชาญการเมืองการปกครองไทย

ประการสุดท้าย หนังสือเล่มนี้มีการโต้ตอบ สนทนา เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการตะวันตกชื่อดัง ปกติเวลาที่ทำงานวิชาการด้านไทย เรามักจะมักง่าย ทำเรื่อง 6 ตุลา ทำเรื่อง 2475 บทที่ 1 เข้าเรื่องเลย ไม่สนใจทฤษฎีตะวันตกที่มีมาก่อน เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องของไทยสำคัญอยู่แล้ว แต่งานของอาจารย์กุลลดาต่างออกไปตรงที่พยายามสนทนากับนักวิชาการระดับโลก โดยจะปรากฏในหนังสืออาจารย์กุลลดาตลอด เหมาะกับคนที่ต้องการเปิดโลกออกจากกะลาหรือความคับแคบทางปัญญา

 

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังไม่ตาย ?

 

ในส่วนของคำนำผู้เขียน กุลลดาได้วิพากษ์กรอบคิดของตัวเอง พร้อมเปิดประเด็นให้คิดต่ออย่างน่าสนใจว่า

“ในการเขียนและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในภาษาอังกฤษเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผู้เขียนมีความเข้าใจว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1932 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว จึงได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษซึ่งแปลเป็นไทยว่า การเกิดขึ้นและความเสื่อมของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย ที่ใช้คำว่าความเสื่อมเพราะผู้เขียนศึกษาถึงแค่ปี 1912 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันนำมาสู่สิ่งที่เข้าใจกันว่าคือการล่มสลายในปี 1932 รัฐที่เกิดขึ้นต่อมาคือรัฐชาติหรือรัฐทุนนิยมตามทฤษฎีของมาร์กซ์

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนประจักษ์ต่อมาในพัฒนาการของรัฐและสังคมไทยคือ นอกจากการทำงานของทุนนิยมแล้วเรายังเห็นอำนาจที่เพิ่มขึ้นของศักดินา ซึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับอะไรบางอย่าง เมื่อมองให้ลึกลงไป เราจะเห็นว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมากจากปี 1932 อาจกล่าวว่าในช่วงเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันนั้นได้มีการก่อตัวของพลังใหม่ในสังคม และการฟื้นตัวขององค์ประกอบรัฐศักดินาเป็นไปเพื่อรับมือกับพลังใหม่ที่เกิดขึ้นหลังปี 1932 มุมมองของผู้เขียนจึงเปลี่ยนจากการมองว่าระบบใหม่ได้มาแทนที่ระบบเก่าอย่างสิ้นเชิง มาเป็นการมองว่าได้มีการฟื้นตัวของระบบเก่าที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือนการพัฒนาของรัฐทุนนิยมเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไม่พึงประสงค์

“ในที่สุดผู้เขียนจึงเลือกที่จะมองว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของระบบศักดินา ดังที่เพอร์รี่ แอนเดอร์สัน เสนอไว้ สิ่งนี้เป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการเกิดขึ้นของตัวแสดงใหม่อันได้แก่กระฎุมพีราชการ ซึ่งเป็นพลังที่ผลักดันให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายไป ชวนให้เราตั้งคำถามว่าพัฒนาการของทุนนิยมหลังปี 1932 เป็นต้นมาก่อให้เกิดตัวแสดงใดบ้างในระบบการเมือง”

 


 

หมายเหตุ : ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ เป็น 1 ใน 5 เล่มที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากโปรเจ็กต์ ความน่าจะอ่าน 2018-2019

ลงทะเบียนร่วมงานเสวนา ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนนี้ ณ Open House ชั้น 6 Central Embassy ได้ ที่นี่ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save