fbpx
[ความน่าจะอ่าน] Sapiens กับพลังของจินตนาการ

[ความน่าจะอ่าน] Sapiens กับพลังของจินตนาการ

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ภาพิมูล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เคยสงสัยไหมครับว่าอะไรทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น?

ย้อนกลับไปหลายศตวรรษก่อน เราเคยเชื่อกันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาและเป็นผลงานรังสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นทำให้ข้อเสนอเรื่องวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินถูกคัดค้านและล้อเลียนโดยบรรดาผู้ที่เชื่อว่ามนุษย์กับลิงไม่ควรเกี่ยวดองกันมากไปกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง

ขณะเดียวกัน คนที่ยอมรับในทฤษฎีของดาร์วินหลายคนก็ยังเชื่อว่า ต่อให้เป็นสัตว์ มนุษย์ก็เป็นสัตว์ประเสริฐที่มีวัฒนธรรม มีภาษา คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังสามารถประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมที่สลับซับซ้อนมากมายจนสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นเทียบไม่ติด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในชั้นหลังค่อยๆ ทลายปราการเหล่านั้นลงทีละน้อย เมื่อเราพบหลักฐานมากขึ้นว่าพฤติกรรมที่แต่เดิมเคยเชื่อกันว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ กลับปรากฏในสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ด้วย

ครับ เราพบจระเข้ที่ใช้กิ่งไม้ล่อเหยื่อ อุรังอุตังตกปลา แม่วาฬเพชรฆาต ‘สอน’ ลูกวาฬหาอาหาร ชิมแพนซีมีพฤติกรรมประหลาดๆ ที่อาจเข้าข่ายพิธีกรรม หรือฝูงผึ้งที่เรียนรู้หลักการที่คลับคล้ายคลับคลากับสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ เหล่านี้ชวนให้เราคิดว่าความแตกต่างจริงๆ ระหว่างมนุษย์กับสัตว์อื่นอาจไม่ใช่ ‘ประเภท’ ของสิ่งที่ทำได้ แต่อาจอยู่ที่ ‘ขนาด’ และความซับซ้อนของการกระทำนั้นๆ มากกว่า

แต่อะไรทำให้การกระทำของมนุษย์มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่มากกว่าสัตว์อื่น จนนักวิทยาศาสตร์เริ่มนิยามโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในกลางศตวรรษที่ 18 ว่าเป็น ‘ยุคสมัยของมนุษย์’ (Anthropocene)?

อะไรที่ทำให้เรายังไม่เคยเห็นจระเข้เปิดท้ายขายกิ่งไม้คละเกรด อุรังอุตังออกเรือทำประมง แม่วาฬเปิดโรงเรียนอนุบาลวาฬน้อย ชิมแพนซีสร้างศาสนสถานให้กับผู้นำชิมแพนซีที่ล่วงลับ และกองทัพผึ้งจับอาวุธโค่นล้มอำนาจของนางพญา พร้อมประกาศว่าจะคืนความสุขให้รวงรังโดยเร็ว ในขณะที่สิ่งเหล่านี้พบได้ทั่วไปในมนุษย์?

อะไรทำให้สิ่งมีชีวิตที่เพิ่งถือกำเนิดบนโลกเพียงหลักแสนปีก้าวขึ้นมา ‘ครองโลก’ อย่างทุกวันนี้?

คำถามเหล่านี้คือโจทย์สำคัญของหนังสือชื่อดังเรื่อง Sapiens: A Brief History of Humankind โดยยูวาล โนอาห์ ฮารารี (Yuval Noah Harari) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ประเทศอิสราเอล

ในหนังสือเล่มหนาที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ฮารารีเสนอว่า เคล็ดลับความสำเร็จของมนุษย์สมัยใหม่หรือที่เขาเรียกว่า ‘เซเปียนส์’ (Sapiens) อยู่ที่ความสามารถในการคิดจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง (fiction) และสื่อสารมันออกมาได้ด้วยภาษาที่มีความยืดหยุ่นกว่าสัตว์อื่น

ฮารารีเปรียบเทียบอย่างติดตลกว่า แม้ลิงจะสามารถเตือนเพื่อนในฝูงให้ระวังสิงโตที่กำลังเดินผ่านมาตอนนี้ได้ แต่เซเปียนส์เท่านั้นที่สามารถเล่าให้เพื่อนฟังได้ว่าเมื่อวานนี้เห็นสิงโตกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน และในขณะที่ลิงไม่มีทางเชื่อเรื่องการเสวยสุขในสรวงสวรรค์ เซเปียนส์กลับสามารถบอกเล่าและเชื่อในเรื่องราวของชีวิตหลังความตายได้อย่างเป็นตุเป็นตะ

ฮารารีเห็นว่าความสามารถนี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์ไม่ได้จินตนาการสิ่งต่างๆ เพียงลำพัง แต่สามารถบอกเล่าและเชื่อในจินตนาการเหล่านี้ร่วมกับคนอื่นๆ ได้ด้วย นี่เองช่วยให้เซเปียนส์ “สามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และมีความยืดหยุ่นได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”แม้หลายครั้ง ความร่วมมือเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากความเต็มใจก็ตาม

แม้เรายังไม่มีคำอธิบายที่เชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเซเปียนส์ได้ความสามารถดังกล่าวมาได้อย่างไร แต่ฮารารีมองว่า พัฒนาการทางการรู้คิด (cognitive) ที่เกิดขึ้นในช่วง 70,000 ปีก่อนนี้เองที่ทำให้เซเปียนส์กลายเป็นสายพันธุ์ที่เอาชนะมนุษย์สายพันธุ์อื่นที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน จนสามารถตั้งถิ่นฐานและก่อร่างสร้างอารยธรรมที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้สัตว์อื่นจะมีร่องรอยของสิ่งที่อาจนับได้ว่าเป็นจินตนาการ แต่ดูเหมือนมีแต่เซเปียนส์เท่านั้นที่สามารถคิดจินตนาการอย่างซับซ้อนและต่อเนื่องยาวนาน สามารถถ่ายทอดจินตนาการของตนออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ ทั้งยังสามารถร่วมมือกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้ หากว่าเชื่อในจินตนาการแบบเดียวกัน

แน่นอนครับ ฮารารีไม่ใช่คนแรกที่ชี้ให้เราเห็นถึงพลังของจินตนาการของเหล่าเซเปียนส์ ถ้าใครพอคุ้นเคยกับงานทางสังคมศาสตร์อยู่บ้างน่าจะทราบดีกว่าเบเนดิก แอนเดอร์สัน นักประวัติศาสตร์ชาวไอริช เคยเสนอไว้ทำนองเดียวกันว่า “ชุมชนทุกประเภทที่ใหญ่กว่าหมู่บ้านยุคต้นที่ทุกคนรู้จักหน้าค่าตากันดี (หรือแม้แต่ชุมชนแบบนี้เอง) ล้วนแต่เป็นชุมชนจินตกรรม”เพราะจำเป็นต้องอาศัยการจินตนาการว่าเราเป็นคนกลุ่มเดียวกับคนที่ไม่เคยพบหรือรู้จักกันมาก่อน ชุมชนสำคัญที่เบน แอนเดอร์สันหมายถึง คือชุมชนที่เรียกว่า ‘ชาติ’

อย่างไรก็ตาม สำหรับฮารารี ดูเหมือนทุกอย่างที่ทำให้มนุษย์สามารถร่วมมือกันได้ไล่ตั้งแต่กฎหมาย เงินตรา ประเทศชาติ ระบบเศรษฐกิจ ศาสนา ไปจนถึงคุณค่า อาทิ ความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน ล้วนแต่มีรากฐานมาจากจินตนาการหรือความสามารถในการคิดและเชื่อในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนี้ทั้งสิ้น

ฮารารีเรียกความจริงแบบนี้ว่าเป็น ‘intersubjective’ คือเป็นความจริงที่อาจสัมผัสจับต้องไม่ได้ พิสูจน์การมีอยู่ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ แต่ “ดำรงอยู่ในเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อมโยงสำนึกรับรู้ของเซเปียนส์แต่ละคนเข้าไว้ด้วยกัน” พูดง่ายๆ ความจริงในจินตนาการเหล่านี้จึงดำรงอยู่ต่อไปได้ตราบที่มีคนเชื่อหรือศรัทธา และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อผู้คนเลิกเชื่อแบบนั้น

พลังของความจริงในจินตนาการ (imagined realities) นี่เองเป็นสาเหตุให้เซเปียนส์ร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การสร้างอาณาจักร สักการะบูชาเทพเจ้า ทำสงครามในนามของเผ่า ล่องเรือทำการค้า ผลิตงานศิลปะ ตั้งและทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเชื่อร่วมกันว่าเบี้ย โลหะ หรือกระดาษธรรมดาๆ เป็นสื่อกลางที่มีมูลค่า ไปจนถึงการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์บางอย่างแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าไม่สามารถสร้างสังคมที่สมบูรณ์แบบนั้นขึ้นมาได้ ขณะเดียวกัน ความจริงในจินตนาการยังทำให้เรื่องราวของ ‘ชาติ’ ไม่ว่าจะหมายถึงประเทศชาติหรือชาติหน้า ซึ่งอาจไม่มีความหมายแม้แต่น้อยกับลิง กลับมีความหมายอย่างมากมายมหาศาลกับ ‘เรา’

สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องราวในจินตนาการเหล่านี้เป็นคนละเรื่องกับเรื่องโกหก ตรงกันข้าม เรื่องแต่งหรือเรื่องจริงที่เราจินตนาการกันขึ้นมานี้ทรงพลังก็เพราะเราต่างเชื่อกันจริงๆ ว่ามันเป็นความจริง หรือไม่ก็ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นความจริง

“ผู้วิเศษบางคนอาจไม่ได้วิเศษจริง แต่พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้าและปีศาจมีอยู่จริง มหาเศรษฐีเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจในการมีอยู่ของเงินตราและบริษัทจำกัด นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสิทธิมนุษยชนมีอยู่จริง ไม่มีใครพูดโกหกตอนที่สหประชาชาติขอให้รัฐบาลลิเบียเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน ถึงแม้ว่าทั้งสหประชาชาติ รัฐบาลลิเบีย และสิทธิมนุษยชน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของเราเอง”

เมื่อเราเชื่อว่าจริง เรื่องแต่งเหล่านี้จึงมีผลต่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ “สังคมบริโภคนิยมบอกเราว่า เราจะมีความสุขได้เมื่อบริโภคสินค้าและบริการให้มากที่สุด เมื่อเรารู้สึกไม่ค่อยดีหรือรู้สึกว่าอะไรบางอย่างขาดหายไป เราจึงอาจจะซื้อสินค้าและบริการ” เพื่อเติมเต็มความต้องการของเรา หรือเมื่อเราเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมและชีวิตหลังความตาย เราอาจจะเข้าวัดทำบุญโดยหวังว่าชาติหน้าจะสุขสบาย หรือตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์

ดูเหมือนฮารารีจะบอกเราเป็นนัยว่า มรดกนับหมื่นปีของสังคมเซเปียนส์คือ เราต่างมีความสามารถในการแต่งเรื่องที่ไม่อยู่จริงและเชื่อในเรื่องแต่งเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ในแต่ละสังคม เรื่องแต่งไหนจะมีพลังมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่ามีคนเชื่อว่าจริงแท้มากน้อยแค่ไหน

การทำให้เรื่องแต่งบางเรื่องปรากฏเป็นจริงในเชิงประสบการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาต่อเรื่องแต่งนั้นไว้ให้นานที่สุด พอๆ กับการทำให้เรื่องแต่งอื่นๆ กลายเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน เกินจริง และเป็นไปไม่ได้ พูดอีกอย่างคือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเซเปียนส์จึงเป็นผลของการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มคนที่เชื่อในเรื่องแต่งที่ต่างกัน เพื่อหาว่าใครจะสามารถทำให้เรื่องแต่งของตนเป็นที่ยอมรับได้มากที่สุดนั่นเอง

ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง อุดมไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ผู้นำพูดอย่างทำอย่าง และการเล่นนอกกติกาทำได้โดยง่ายและราคาที่ต้องจ่ายต่ำ เรื่องแต่งว่าด้วย ‘ความไม่เท่าเทียมกัน’ ของมนุษย์จึงน่าจะทรงพลังเป็นพิเศษ ขณะที่ในสังคมที่เชื่อในเรื่องแต่งเกี่ยวกับ ‘ความสามารถส่วนบุคคล’ และ ‘การสู้ชีวิต’ การลดทอนความล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนให้กลายเป็นปัญหาส่วนบุคคล โดยเพิกเฉยต่อโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมยิ่งเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกนักที่เซเปียนส์ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ จะพยายามควบคุมจินตนาการของผู้คนให้เชื่อว่าระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ดีที่สุด ทั้งโดยป่าวประกาศผ่านสื่อมวลชน และโดยกดกำราบจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่าแบบอื่นๆ ให้กลายเป็นสิ่งเพ้อฝันด้วยระบบการศึกษา ตัวบทกฎหมาย และการใช้กำลัง

หากเชื่ออย่างฮารารีว่าวิวัฒนาการทางสังคมของเซเปียนส์ขับเคลื่อนได้ด้วยเรื่องแต่งเหล่านี้มาโดยตลอด คุณสมบัติพิเศษของเซเปียนส์ก็ไม่น่าใช่เพียงการคิด สื่อสาร และเชื่อในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ยังเป็นการพยายามทำให้จินตนาการปรากฏเป็นจริงให้มากที่สุดด้วย

ปัญหาก็คือ ในโลกที่เซเปียนส์บางตัวเท่าเทียมกันมากกว่ากับเซเปียนส์ตัวอื่นๆ เราอาจทำได้แค่เชื่อ แถมถูกห้ามไม่ให้คิด สื่อสาร หรือลงมือทำ.

 


หมายเหตุ : ‘เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ’ เป็น 1 ใน 5 เล่มที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากโปรเจ็กต์ ความน่าจะอ่าน 2018-2019

ลงทะเบียนร่วมงานเสวนา ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนนี้ ณ Open House ชั้น 6 Central Embassy ได้ ที่นี่

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022