fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2563

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2563

 

 

 

Exclusive อานนท์ นำภา – “ผมภาวนาให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว”

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

“ถ้าในหลวงอยากคุยกับนักศึกษาก็เป็นไปได้ นักศึกษาคิดแบบนี้ ท่านคิดอย่างไร คุยกันด้วยความเคารพเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ งดงามด้วย”

“ถ้าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันฯ ที่อยู่ในกรอบจริงๆ ทุกฝ่ายจะชนะร่วมกัน ทุกคนแฮปปี้ แต่สังคมไทยไม่เป็นอย่างนั้น”

“การชนะความกลัวได้คือความกล้าหาญ เราต้องเอาความกล้าหาญขึ้นไปพูดบนเวที พูดไปเหงื่อก็ออกเต็มมือ แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มีความกลัวเลยนะ และเขาไม่มีความกล้าด้วย เพราะเขาพูดด้วยความรู้สึกปกติ”

101 สัมภาษณ์ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่กำลังเขย่าสังคมไทยด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผู้ปลุกบทสนทนาแห่งความกลัวในอดีตให้กลายเป็นหัวข้อสาธารณะในปัจจุบัน

 

สังคมไทยในมือม็อบรุ่นเล็ก : การต่อสู้ของเด็กมัธยมที่มีอนาคตเป็นเดิมพัน

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“โรงเรียนเป็นเหมือนโรงงานผลิตพลเมือง ผลผลิตจะอยู่ในรูปทรงเดียวกัน โตขึ้นมาโดยถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังระบบอำนาจนิยม ความอาวุโสในโรงเรียนเกิดขึ้นเพื่อเวลาเราออกมาในสังคมใหญ่ เราจะได้ไม่ตั้งคำถาม…ถ้าโรงเรียนคือโรงงานผลิตพลเมืองที่เชื่อฟัง กลุ่มเราก็เหมือนเอาสินค้าตก QC มารวมกันค่ะ” – นักเรียนจากกลุ่ม #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ

“หลายครั้งผู้ใหญ่จะชอบคิดว่าทำไมเราถึงเชื่อคนอื่น ทำไมไม่เชื่อคนในบ้าน ทำไมไม่เชื่อครูที่หวังดี หนูอยากจะบอกว่าจริงๆ หนูไม่ได้เชื่อใคร 100% หนูจะพิจารณาหลายอย่างก่อนจะตัดสินว่าอะไรที่ถูกต้องสำหรับหนู ผู้ใหญ่ก็ต้องดูเหมือนกัน เขาไม่ควรเชื่ออะไรด้านเดียว ฟังหนูด้วย ฟังข่าวข้างนอกด้วย แล้วค่อยเลือกว่าจะเชื่ออย่างไร” – นักเรียนจากกลุ่ม #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย

“เราคิดว่าอยากแสดงความเห็นของเราตามสิทธิพลเมือง เราเลยขอพี่ๆ เขาขึ้นไปพูด ขึ้นไปบนเวทีในฐานะคนธรรมดา และอยากลงจากเวทีในฐานะคนธรรมดา เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยในสังคมประชาธิปไตย” – นักเรียนที่ปราศรัยในการชุมนุม #อีสานสิบ่ทน

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ‘ม็อบมัธยม’ ทั้งเบื้องหลังการเคลื่อนไหว การเมืองทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน ผลกระทบที่ได้รับในฐานะ ‘เยาวชน’ ไปจนถึงความฝันและความหวังของพวกเขาที่มีต่อสังคมไทย ผ่านบทสนทนากับสามกลุ่มนักเรียนที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง

 

เมื่อผู้พิพากษาร่วมชุมนุมทางการเมือง

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล 

ภาพการเคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของว่าที่ประธานศาลฎีกา นำไปสู่คำถามที่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสามารถเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองได้หรือไม่?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตั้งคำถามถึงประมวลจริยธรรมตุลาการ ในกรณีการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อฝ่ายตุลาการเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ชี้ขาดข้อขัดแย้งต่างๆ รวมถึงปมประเด็นทางการเมือง

“เรามีคำพูดคำหนึ่งในวงการตุลาการว่า ผู้พิพากษาไม่เพียงต้องซื่อสัตย์สุจริตแต่จะต้องทำตัวให้ไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต คือไม่ให้มีเงาให้คนเขาสงสัยในความสุจริตด้วย” – โสภณ รัตนากร บรรพตุลาการ

 

จากอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยถึงการถดถอยทางปัญญาของอนุรักษนิยมไทย สนทนากับสายชล สัตยานุรักษ์

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี สนทนากับ สายชล สัตยานุรักษ์ ว่าด้วยพลวัตการเมืองไทย อารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ และความถดถอยของปัญญาชนอนุรักษนิยม

:: การปรับตัวของอนุรักษนิยมไทย ::

“การช่วงชิงความหมายของ ‘ความเป็นไทย’ เกิดขึ้นในพื้นที่ไพศาลมาก ตั้งแต่ ชาติ ศาสนา ครอบครัว บทบาทหญิง-ชาย ความรัก ความกลัว ความหวัง ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ขณะเดียวกัน เราไม่ได้เป็นเพียง ‘คนไทย’ เราทุกคนยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ใหญ่โตกว้างขวาง ซับซ้อน และมีพลวัตสูง ปัญญาชนอนุรักษนิยมต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งกว้างขวางจึงจะสามารถให้คำอธิบายหรือความหมายตลอดจนให้ทางเลือกต่างๆ เพื่อจะเชื่อมต่อ ‘ปัจจุบันและอนาคต’ เข้ากับ ‘อดีต’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก่อนที่ ‘อดีต’ จะหมดความหมายอย่างสิ้นเชิง”

:: ปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่ 2 คนสุดท้าย ::

“ถ้าจะให้ตอบว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่ 2 คนนั้นคือใคร? ก็จะขออ้างทัศนะของปัญญาชนหัวก้าวหน้า 2 ท่าน คือ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แม้ว่าทั้งสองท่านจะมีทัศนะที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ทั้งสองท่านเห็นตรงกัน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็น ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ ที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของเรา”

:: ความเป็นไทยที่เลื่อนไหล ::

“คนรุ่นใหม่เห็นแล้วว่า มโนทัศน์ต่างๆ ล้วนมีความหมายที่เลื่อนไหล พวกเขาโตขึ้นมาในโลกที่ความคิด/ความหมาย/ระบบคุณค่าที่ค้ำจุนโครงสร้างสังคมแบบเดิมเลื่อนไหลได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘คนดี’ ‘ความเป็นหญิง’ ‘ความเป็นชาย’ หรือกระทั่ง ‘ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์‘ ในขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันความหมายเดิมทั้งหลายไม่มีความสำคัญอีกต่อไป และถ้าบางสถาบันยังมีอำนาจอยู่พวกเขาก็จะออกจาก ‘comfort zone’ เพื่อต่อต้าน เช่น การต่อต้านกระทรวงศึกษาธิการ และเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา”

 

‘เปลือยฝัน – ปลดแอก’ กับ ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี

 

โดย ธิติ มีแต้ม 

“… ผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องมิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
…รัฐบาลเผด็จการต่างหากที่เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” — ฟอร์ด- ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี - Tattep Ruangprapaikitseree ทวีตข้อความในวันที่มิตรสหายหลายคนเริ่มถูกจับเข้าคุก

พูดแบบภาษาการเมือง สถานการณ์ปัจจุบันกำลังแหลมคมอย่างยิ่ง พูดแบบภาษาวัยรุ่น นี่เป็นยุคสมัยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างยิ่ง

101 ชวนคุยตั้งแต่อะไรคือแอกในวัยเด็กของเขา ไปจนถึงความฝันที่กำลังสั่นคลอนสังคมไทยจะเป็นฝันที่ยาวนานแค่ไหน

 

“อ่านพลังคนรุ่นใหม่ ก้าวต่อไปการเมืองไทย” กับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

โดย 101 One-on-One

19 กันยายน 2563 มีความหมายทางการเมืองมากกว่าที่เคยเป็น เมื่อ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าว

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่ นี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดย ‘คนรุ่นใหม่’ ที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจและรับฟังอย่างตั้งใจ

คุยกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในห้วงเวลาที่ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่นำโดยนิสิต นักศึกษา และนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวอย่างทรงพลัง

 

“สิทธิมนุษยชนต้องเป็นกระแสหลัก” ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กับบทบาท ‘แอมเนสตี้’

 

โดย ชลิตา จั่นประดับ และ วจนา วรรลยางกูร

101 สนทนากับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถึงบทบาทของแอมเนสตี้ในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย การต่อสู้ทางความคิดบนโซเชียลมีเดีย และบทบาทคนรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน

“พลังของข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่แตกต่าง ทำให้เขาได้สัมผัสกับมาตรฐานสากลมากกว่าคนรุ่นก่อน การที่เขาเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากได้ง่ายทั้งจากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาเห็นอะไรที่แตกต่างออกไปจากบ้านเรา เกิดเป็นจินตนาการถึงโลกที่แตกต่าง”

“คำถามคือการเคลื่อนไหวนี้จะทำให้เกิดบทสนทนาที่เข้าใจกันได้กับคนรุ่นอื่นๆ หรือไม่ การถกเถียงนั้นดี แต่ถ้าหากหยุดอยู่แค่เป็นเสียงก้องกังวานสะท้อนกันเองในกลุ่มคนมีความเห็นแบบเดียวกัน ต่างคนต่างอยู่ในกลุ่มของตัวเอง แบบนี้จะเพิ่มแต่ความเกลียดชังที่น่ากลัวและไม่ได้พัฒนาไปไหน”

“เป็นธรรมดาที่คนอายุน้อยจะเชื่อในการเปลี่ยนแปลง แต่พอสู้ไปเรื่อยๆ ความเชื่อนี้อาจเบาบางลงตามเวลาที่ผ่านไป พอเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะหลงลืมจินตนาการต่อสังคมอีกแบบไประหว่างทาง เลยไม่แปลกใจที่ปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ต่อคนรุ่นใหม่จึงมีทั้งบวกและลบ แต่ละคนก็อาจระลึกถึงความเชื่อมั่นต่อโลกในวัยเยาว์ของตัวเองได้ไม่เท่ากัน”

 

จากสตาร์วอร์สถึงเกมออฟโธรนส์ เรื่องไม่ยอมจบที่รุ่นเรา

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ 

“เวลาที่ไม่จบ ทรราชย์ที่ไม่ตาย คือเรื่องที่ทุกชาติ ทุกภาษาประสบอยู่ ถ้าเช่นนั้นเราจะสู้ตายไปเพื่ออะไร? ช่างเป็นคำถามที่น่าหดหู่เสียจริงๆ”

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึง Star Wars และ Game of Thrones ภาพยนตร์-ซีรีส์ต่างยุคที่สะท้อนถึงการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

แม้อำนาจไม่ชอบธรรมจะยังคงอยู่วันยังค่ำ แต่เป้าหมายสำคัญคือการสู้จนกว่าเราจะพูดกันรู้เรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นทักษะที่นักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนๆ

 

สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรม

 

โดย วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์

ครบรอบ 30 ปี การเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รำลึกความทรงจำถึงข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และไม่ยอมก้มหัวให้กับความไม่ถูกต้อง แม้ต้องขัดคำสั่งผู้มีอำนาจ

เบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ เพื่อนสนิทชาวอังกฤษ เล่าว่า “ก่อนตายเขารู้สึกอับอายที่เป็นข้าราชการ แต่ทำงานไม่สำเร็จ เขาเคยบอกดิฉันก่อนหน้าหนึ่งเดือนที่จะยิงตัวตายว่า เขาอับอายในการเป็นคนไทย เพราะปัญหาคอร์รัปชันมากเหลือเกิน

“ผู้ใหญ่ส่งให้สืบไปออกรบแนวหน้า แต่ไม่ช่วยเหลืออะไรเลย เขารู้สึกโดดเดี่ยวมาก”

 

ระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลง ไทยต้องเผชิญหน้ากับอะไร?

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ได้ถาโถมเข้ากระทบประเทศไทยอีกระลอก การเปลี่ยนแปลงในมิติภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นและปัจจัยเร่งในมิติต่างๆ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัว ปฏิรูป เปลี่ยนแปลง เพื่อจะอยู่รอดและยกระดับให้ไทยสามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน”

ปิติ ศรีแสงนาม เปิดผลงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์และฉากทัศน์ของการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ เพื่อดูว่าระเบียบโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และไทยจะอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง

 

The Bottom Blue_s

 

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

“ถ้าเรายืนยันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ก็ต้องดีเฟนด์ให้การสาดสีใส่ตำรวจในเครื่องแบบที่มากั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปที่ สน.”

ธนาวิ โชติประดิษฐ เขียนถึงการ #สาดสี ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจของ #แอมมี่ The Bottom Blues ว่าตกลงเป็นการแสดงออกที่รุนแรงเกินไปไหม และถือเป็นงานศิลปะหรือไม่

“การกระทำของแอมมี่ชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ action ในการประท้วงต่อสถาบันทางสังคมที่เป็นคู่กรณีในเหตุการณ์นี้โดยตรง คือ สถาบันตำรวจ”

“นี่ไม่ใช่การต่อรองระหว่างอำนาจที่เท่าเทียมกัน มีอะไรที่ผู้กดขี่จะใช้เป็นเครื่องมือได้บ้าง? ทำอย่างไรอีกฝ่ายถึงจะเห็นหัวเราในภาวะแบบนี้? ทำไมมีแต่ฝ่ายประชาชนที่ต้องอดกลั้น?”

“การเรียกร้องควรต้องเป็นในทางกลับกัน คือ ไม่ใช่ไปบอกผู้ประท้วงให้พินอบพิเทา รัฐต่างหากที่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ระหว่างการสาดสีของแอมมี่กับการตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริงไม่หยุดหย่อน+กั้นรั้วใส่ผู้ประท้วงของฝ่ายรัฐ อันไหนที่เรา-ฝ่ายโปรประชาธิปไตย-ควรรับไม่ได้?”

“การทำงานศิลปะให้พื้นที่กับการด้นสด (improvisation) ไปกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างมาก ไม่ได้มีแต่สิ่งที่ถูกคิดคำนวณมาล่วงหน้าอย่างดีแล้วเท่านั้นถึงเป็นศิลปะ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นฉับพลัน สิ่งที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนก็มีที่ทางในงานศิลปะ”

“ศิลปะไม่ใช่โลกของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ถึงแม้จะมีงานศิลปะประเภทสะอาด สว่าง สงบ ปริ่มล้นด้วยพุทธปัญญา แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของงานศิลปะ เป็นเพียงหมวดหมู่หนึ่งในล้านแปดหมวดหมู่ของงานศิลปะ”

 

“ผู้เกินกว่าราชา” และ “สวะสังคม”

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

ในห้วงบรรยากาศแห่งความร้อนแรงทางการเมืองของการ ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ กับการ ‘ชังชาติ’ กษิดิศ อนันทนาธร ยกข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ที่เคยใช้ถ้อยคำอย่าง “ผู้เกินกว่าราชา” และ “สวะสังคม” เตือนสติฝ่ายตรงข้ามมาเล่าสู่กันฟัง

“นายปรีดีแปลคำว่า ULTRA-ROYALIST เป็น “ผู้เกินกว่าราชา” กล่าวคือ ปากว่าเทอดทูลพระราชาธิบดี แต่ทำแสดงว่า นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี”

“เขายังยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสว่า ระหว่าง ค.ศ. 1789-1875 ได้มี “ผู้เกินกว่าราชา” ทำการสงวนอำนาจศักดินาไว้มากกว่าที่องค์พระราชาธิบดีปรารถนา จนเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บองต้องล้มไปใน ค.ศ. 1791″

“ส่วนคำว่า “สวะสังคม” นายปรีดีให้ความหมายไว้ว่า เป็นบางคนที่อ้างตนเองเป็นตัวแทนของชนรุ่นใหม่ชี้ขาดเอาว่าเอาคนนั้นไม่เอาคนนี้ โดยสายตาคับแคบตามลักษณะอวดดี และเห็นแก่ตัว ซึ่งในตอนนั้นมุ่งหมายถึงบุคคลผู้หนึ่ง คือ ‘ส.ศิวรักษ์’ “

“เมื่อบุคคลทั้งสองปรับทัศนคติต่อกันได้ “สวะสังคม” ตามความหมายที่นายปรีดีเคยใช้เรียกนายสุลักษณ์จึงน่าจะยุติลงไปแล้ว แต่น่าสงสัยว่า “ผู้เกินกว่าราชา” นั้น มีลักษณะเป็นเช่นใดในปัจจุบันนี้”

 

Fed กับกรอบนโยบายการเงินแนวใหม่ : รู้ว่าเสี่ยงก็ยังต้องขอลอง

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

Flexible ‘Average’ Inflation Targeting – กรอบนโยบายการเงินแนวใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐคืออะไร และมีนัยสำคัญอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ มันคือทางออกสำหรับจัดการปัญหาภาวะเงินเฟ้อต่ำในปัจจุบัน หรือเป็นระเบิดเวลาสร้างความเสี่ยงลูกใหม่ในอนาคต

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ชวนถกเรื่องนวัตกรรมล่าสุดของนโยบายการเงิน

 

หนึ่งฝันอันหลากหลาย: เปิดเบื้องหลังวิธีคิด วิธีทำงาน ของขบวนการนักศึกษา 4.0

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

“ม็อบมีท่อน้ำเลี้ยง” “เผด็จการม็อบ” “ม็อบมีเบื้องหลัง” “ต่างชาติแทรกแซงม็อบ” “ม็อบชังชาติ” “ม็อบล้มเจ้า”

สารพันคำด่าและข้อวิจารณ์จำนวนมากที่มีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษา และนักเรียน ดูราวกับหลุดมาจากยุคสงครามเย็น ทั้งที่โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มา 20 ปีแล้ว

กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของ ‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ เป็นสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หากแต่ต้องทำเป็นฐานของข้อเท็จจริงและธรรมชาติของยุคสมัย

กองบรรณาธิการ 101 ชวนสำรวจวิธีคิดและเบื้องหลังขบวนการนักศึกษาไทยในยุค 4.0 ผ่าน ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ และ ‘นักเรียนเลว’ เพื่อทำความเข้าใจภาพใหญ่การเมืองไทย

 

ประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นด้วยคำถามและไม่ต้องรีบเชื่อ ในห้องเรียนของ ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ถ้าคุณงงว่าประวัติศาสตร์เกิดอะไรขึ้น ตกลงใครทำอะไร เพราะอะไร ไม่เข้าใจเหตุผลเลย ผมรู้สึกว่านั่นแหละมาถูกทางแล้ว เพราะถ้าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องง่ายเมื่อไหร่ แปลว่าคุณกำลังฟังคนเพียงไม่กี่คน ทันทีที่คุณรู้ว่าอดีตมันยาก คุณก็จะตัดสินคนอื่นน้อยลง”

“วิธีคิดที่ง่ายสุดคือ ครูต้องกล้าที่จะถูกตั้งคำถาม สอนโดยบอกว่าไม่ต้องเชื่อผมนะ เอาหลักฐานมาให้ดู ชวนให้เขาคิด ต่อให้เขาคิดไม่เหมือนเรา เราก็ไม่ด่าเขา ไม่บอกว่าเขาผิด ทำให้เห็นว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนเริ่มต้นด้วยคำถาม ไปต่อด้วยคำถาม และจบด้วยคำถาม”

“ถ้าครูไม่อยากสอนและรู้สึกว่าเรื่องราวแบบนั้นไม่ควรให้นักเรียนรู้ คุณโชคร้าย เพราะนักเรียนมีชีวิตของเขา คุณไม่สามารถจับเขาใส่กรงขัง สุดท้ายเขาก็จะไปรู้อะไรบางอย่างซึ่งต่อให้คุณพยายามแค่ไหนก็ปิดเขาไม่ได้ จริงไม่จริงเป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าคุณไม่อยากสอนหรือไปด่าเขา เขาก็จะเชื่อสิ่งนั้นมากขึ้นและรู้สึกว่าคุณเป็นศัตรู”

“ถ้าประเทศชาติมีความหวังว่าอยากให้ทุกคนรักชาติ การที่คุณตีเขา ด่าเขาว่าโง่ บอกว่าเขาโดนหลอก คุณกำลังทำให้ประเทศชาติผิดหวังครับ หรือจริงๆ แล้วคุณไม่ได้เป็นครูหรอก คุณเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเด็ก ถ้าเป็นแบบนั้นก็ลดความเป็นครูลงมา บอกเขาว่าคุณคุยกับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับครูภาคิน นิมมานนรวงศ์ ว่าด้วยการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ความสำคัญของการตั้งคำถาม ประวัติศาสตร์ที่นักเรียนอยากรู้แต่ครูไม่อยากสอน หลักสูตรในฝันที่ไม่กักขังทั้งครูและนักเรียน ไปจนถึงบทบาทของครูเมื่อเด็กเขียนประวัติศาสตร์ของเขาเอง

 

การเมืองสหรัฐฯ หลัง RBG : ฝันร้ายของลิเบอรัล?

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ 

แล้วเรื่องสยองที่ลิเบอรัลทั่วสหรัฐอเมริกา (และทั่วโลก) หวาดเกรงที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้

รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) ‘ขุ่นแม่’ ผู้พิพากษาศาลสูงสุด วัย 87 ปี นางสิงห์ลิเบอรัลแห่งระบบยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เสียชีวิตลงก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเพียงเดือนครึ่งเท่านั้นเอง

เปิดทางให้โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนที่สาม ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยมในศาลสูงสุดก็จะเปลี่ยนจาก 5:4 เสียง เป็น 6:3 เสียงทันที

ศาลสูงสุดสหรัฐจะกลายเป็น “ศาลขวา” โดยสิ้นเชิง และ legacy ของทรัมป์อาจดำรงอยู่ในสังคมการเมืองอเมริกาต่อไปอีกยาวนานหลายทศวรรษ

ปกป้อง จันวิทย์ สำรวจสถานการณ์การเมืองเรื่องศาลสูงสุดที่กำลังร้อนสุดขีด — ดุลอำนาจในศาลสูงสุดและเกมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 

ป่วยการพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาถ้าไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาคิด

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ 

“ป่วยการพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาถ้าไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาคิดและพูด”

ประโยคนี้เกิดจากการที่ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เห็นข่าวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาใช้พื้นที่ในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ทั้งที่การศึกษาคือกระบวนการพัฒนาวิธีคิด

“เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอันมากว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่อะไร…หากไม่สามารถเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดที่นักเรียนนักศึกษาคิดและพูด แล้วจะให้พวกเขาไปคิดและพูดที่ไหน มิใช่หน้าที่ของครูและอาจารย์หรอกหรือที่จะคุ้มครองและป้องกันสิทธิในการพูดและคิดของนักเรียนนักศึกษา”

“การปฏิรูปการศึกษาควรหยุดเป็นแค่ลมปากในที่ประชุมต่างๆ นานาเสียที แล้วออกมาทำงานบนโลกแห่งความเป็นจริง”

 

คน-ความรู้-อำนาจ : โจทย์ท้าทาย สกสว. ในโลกใหม่

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ 

“อำนาจอยู่ตรงไหนในสมการระหว่างคนกับความรู้”

“เราคุยกันเรื่องคนกับความรู้โดยไม่สนใจมิติเชิงอำนาจไม่ได้ เพราะอำนาจเป็นโครงสร้างส่วนบน เป็นปัจจัยเชิงสถาบันที่กำกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคนกับความรู้ไว้ ว่าความรู้จะถูกนำไปรับใช้ใคร อะไรที่ใครควรรู้หรือห้ามรู้ ความรู้แบบไหนควรถูกรู้ก่อนเพื่อประโยชน์ของใคร ใครจะมีสิทธิเข้าถึงความรู้ ใครจะมีสิทธิตั้งโจทย์วิจัย ใครจะมีสิทธิได้ทุนวิจัย ซึ่งอำนาจที่กล่าวถึงหมายรวมทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย

“ถ้าจะวิเคราะห์และประเมินผลงานของ สกสว. เราไม่สามารถดูได้แค่ KPI หรือ OKR ตามแผนอย่างเดียว แต่เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยความรู้มีความสำคัญมากว่า สกสว.รับใช้ใคร (รัฐบาลหรือประชาชน) represent อะไรหรือใคร ทำงานกับใคร รับผิดรับชอบต่อใคร ใช้อะไรเป็นเครื่องวัดผลสำเร็จของการทำงาน เป็นอิสระหรือไม่อย่างไรในความหมายไหน”

—————————

ชวนอ่านบทอภิปรายของปกป้อง จันวิทย์ ในงานเสวนา “คนกับความรู้ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

—————————

“เราจะสร้างสังคมที่รักการเรียนรู้และเชื่อในความรู้ได้อย่างไร เราจะสร้างวัฒนธรรมวิจัยอย่างไร และทำอย่างไรให้คนธรรมดาทั่วไปมีจิตวิญญาณของนักนวัตกรรม ซึ่งมันโยงไปกับระบบการเรียนรู้ของทั้งสังคม

“เราไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่สถาบันการศึกษาทางการอย่างมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยปรับตัวช้า เต็มไปด้วยโครงสร้างและกฎกติกาที่ไร้ความหมาย แข็งตัว และล้าหลัง ไม่เชื่อมโยงกับอะไรทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตหรือชุมชน ถึงวันนี้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่แหล่งผูกขาดปัญญาความรู้ของสังคมอีกต่อไป สังคมทั้งสังคม (ที่ทำงาน ครอบครัว ชุมชน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วงการหนังสือ สื่อสารมวลชน) ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ใหม่ตลอดชีวิตด้วย สำหรับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ใหญ่และคนแก่

“สกสว.ไม่ควรตีกรอบการทำงานเฉพาะกับสถาบันความรู้แบบทางการในระบบเป็นหลักเท่านั้น ไม่ควรมุ่งทำงานเฉพาะกับนักวิจัยอาชีพและนักนวัตกรรมอาชีพ แต่น่าจะตีโจทย์ให้กว้างขึ้น ถึงแก่นขึ้น โดยทำงานร่วมกับสถาบัน นักวิจัย และนักนวัตกรรมนอกระบบทางการในหลากหลายแวดวงให้มากขึ้น”

—————————

“ระบอบเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมสร้างความรู้ไม่ได้ สร้างวัฒนธรรมวิจัยไม่ได้ และไม่ใช่เนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการสร้างนวัตกรรม มันเป็นระบอบแห่งความกลัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักเหตุผล แต่อยู่กับอำนาจดิบ เป็นระบอบปิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับอะไร … ในประวัติศาสตร์โลก สถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยมักเป็นสถาบันแห่งแสงสว่างเพื่อดับความมืด ดับอวิชชา ท้าทายอำนาจ ท้าทาย status quo แต่สถาบันวิจัยไทยและมหาวิทยาลัยไทยมักรับใช้อำนาจ ธำรงรักษาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมไทยไม่ไปไหน”

 

ทางออกกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการที่ผิดพลาด

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

คดีบอส อยู่วิทยา ก่อให้เกิดคำถามท้าทายดังกระหึ่มทั่วกระบวนการยุติธรรมไทย — องค์กร ‘อัยการ’ ก็ไม่เว้น

ในกรณีที่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีไปแล้ว หากตรวจสอบพบว่าเป็นคำสั่งที่ผิดพลาด นอกเหนือจากการหาตัวผู้รับผิดชอบ เรายังสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้างเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมา

ควรมีการแก้ไขคำสั่งนั้นให้เป็นคำสั่งฟ้องคดีหรือไม่ และทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจทางออกกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผิดพลาดผ่านหลักการและแนวปฏิบัติในระบบกฎหมายฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ

 

สนามหลวง-สนามราษฎร : พื้นที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์และความทรงจำร่วมของประชาชน

 

โดย วจนา วรรลยางกูร และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล 

ที่ผ่านมา สนามหลวงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อคนทุกระดับ แต่ในวันนี้ที่สนามหลวงถูกล้อมรั้ว ไม่เพียงเป็นการปิดกั้นพื้นที่เชิงกายภาพ แต่ยังเป็นการลดทอนพื้นที่อำนาจประชาชนให้หดแคบลง ในวันที่สังคมกำลังถกเถียงเรื่องการต่อสู้เชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้น

101 ชวนอ่านทัศนะจาก ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงประวัติศาสตร์สนามหลวงในเชิงการเมืองที่สัมพันธ์กับสามัญชน และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ ถึงชีวิตชีวาของสนามหลวงในฐานะพื้นที่ศูนย์กลางความหลากหลายของประชาชน

“14 ตุลาฯ เริ่มต้นที่สนามหลวง 6 ตุลาฯ ก็มาจบที่สนามหลวง ก่อนเข้าป่าพวกเขาเคยพูดว่า “เฮ้ย แล้วไปพบกันที่สนามหลวงนะ” หมายความว่าเมื่อสงครามประชาชนชนะแล้วจะกลับมาเจอกันที่สนามหลวง

“คุณไม่ต้องไปสร้างพิพิธภัณฑ์หรอก สร้างสนามหลวงให้มีชีวิต สามารถกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เป็นเหมือนไฮด์ปาร์กของอังกฤษ ถ้ามีความคับข้องใจทางการเมืองก็มาชุมนุมที่นี่ พื้นที่มันมหาศาลพอที่จะรับผู้คน ถ้ามีความคิดคนละแบบก็แบ่งฝั่งสนามกันไป ไม่ต้องไปรุกล้ำพื้นที่บนถนน”

– สุชาติ สวัสดิ์ศรี

“การสร้างรั้วเหล็กล้อมพื้นที่สาธารณะอย่างสนามหลวงเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย

“หากผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงได้ นั่นเท่ากับการยืนยันว่าสนามหลวงคือสนามราษฎรอีกครั้งหนึ่ง การเข้าไปชุมนุมในสนามหลวงครั้งนี้จะไม่ได้เป็นเพียงแค่การชุมนุมเท่านั้น แต่มันจะเป็นการบั่นทอนอุดมการณ์ของรัฐอย่างรุนแรง”

– ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Highlight เด่น การชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฏร

 

จากรัฐประหาร 49 ถึง ทวงคืนอำนาจราษฎร 63 : ความหลังสู่ความหวัง 19 กันยา

 

โดย ชลิดา หนูหล้า, ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล  และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

19 กันยา 2549 นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของทุกคน เพราะการรัฐประหาร 2549 ได้พลิกชีวิตของผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รวมทั้งยังพาประเทศไทยเข้าสู่ปมความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ที่ยังไม่ได้รับการสะสางจนถึงทุกวันนี้

14 ปีผ่านไป 19 กันยา 2563 ได้พาผู้คนที่ต่างมีเส้นทางทางประวัติศาสตร์เป็นของตนเองมาบรรจบพบเจอกัน ณ สนามหลวง ในการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร’

101 พูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุมถึงชีวิต ความคิดความอ่านบนเส้นทาง 14 ปีการเมืองไทยจาก 19 กันยา 2549 สู่ 19 กันยา 2563 ว่าผันแปรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

บางคน 14 ปีก็เป็นเวลาที่นานพอจะพลิกความคิดความอ่านได้

บางคนก็ยังยืดหยัดอย่างหนักแน่น ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อและหวังมาอย่างยาวนาน – และอาจนานกว่า 14 ปีเสียด้วยซ้ำ

บางคน ณ ปี 2549 ก็ยังมิรู้เดียงสาดี แต่การเติบโตท่ามกลางวงจรความขัดแย้งทางการเมืองไม่สิ้นสุด ที่จบลงด้วยการรัฐประหารปี 2557 จนนำมาสู่การครองอำนาจของเผด็จการทหารกว่า 5 ปี ได้หล่อหลอมให้เขามีความคิดความหวังในแบบที่ผู้ใหญ่ไม่อาจจินตนาการออก

และนี่ก็คือ 14 ปีของประวัติศาสตร์การเมืองที่มีชีวิตของ 19 กันยา

 

วาดภาพหวัง สถาบันกษัตริย์ในฝันของปวงชน

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

นับจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ทำให้ภาพความฝันถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงถูกพูดถึงต่อสาธารณชน

การชุมนุมอีกครั้งของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เป็นการยืนยันถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงทำเนียบองคมนตรี ซึ่งมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้รับมอบ

“ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีข้อใดมีเนื้อหาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หากแต่เป็นไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์” เป็นข้อความที่ยืนยันในจดหมายเปิดผนึก

ภาพผู้คนจำนวนมากมาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นความฝันร่วมกันของผู้คนจำนวนมาก เป็นความหวังถึงบ้านเมืองที่พวกเขาอยากเห็น

101 พูดคุยกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนว่า อะไรคือภาพฝันของสถาบันกษัตริย์ที่พวกเขาอยากเห็นและเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลง

 

วัฒนธรรมป็อปในม็อบ 19 กันยา : ส่องคอสตูมปังๆ และพลังของการชุมนุม

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ในบรรยากาศการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 นอกจากเสียงปราศรัยของแกนนำและพลังของมวลชนมากมายที่มาร่วม มองไปรอบๆ เราอาจเห็นคนแต่งกายจัดเต็ม ทั้งชุดแฟนซีแปลกตา ชุดเลียนแบบการ์ตูนและซีรีส์ชื่อดัง

ท่ามกลางสีสันที่หลากหลายยังมีขบวนพาเหรดหลากสี มีคนเล่นว่าวกลางสนามราษฎร มีธงที่ดูไม่คุ้นเคยคอยโบกสะบัด ใต้ร่มที่ผู้ชุมนุมกางเพื่อกันฝน เราอาจพบครอบครัวที่คนต่างวัยจูงมือกันมาชุมนุม

ความตื่นตาตื่นใจมากมายเกิดขึ้นพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และบางครั้งวัฒนธรรมเหล่านี้นี่แหละที่บอกเล่าเรื่องราวอันแตกต่างของผู้คนได้เป็นอย่างดี

101 เก็บตกเรื่องเล่าและแฟชั่นจัดจ้านในการชุมนุม สำรวจเบื้องหลังสิ่งที่เราเห็นผ่านตาว่ามีที่มาและความหมายอย่างไร แล้วคุณจะรู้ว่า มีสีสันมากมายรอให้คุณค้นพบระหว่างการชุมนุม

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนกันยายน 2563

 

หลังจากนั้นมาของ “นวมทอง ไพรวัลย์”

 

โดย ธิติ มีแต้ม 

เช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เราทำอะไรอยู่ เราคิดอะไร

12 ปีที่แล้ว สังคมไทยอยู่ในการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่เดือนเศษก่อนนั้นพวกเขาขับรถถังเข้ามายึดอำนาจ ในค่ำวันที่ 19 กันยายน

12 ปีผ่านไป ถ้าชายขับแท็กซี่กลับมาเกิดอีกรอบ แน่นอน, เขาก็ยังอยู่ในสังคมไทยที่การปฏิวัติไม่หายไปไหน

แต่อะไรคือประกายแสงจากความตายของชายขับแท็กซี่ที่ชื่อ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’

ธิติ มีแต้ม เขียนเล่าถึงผู้คนที่ได้รับอิทธิพลของคนขับแท็กซี่อย่างน้อย 2 คน คนแรก ‘สุวรรณา ตาลเหล็ก’ นักสหภาพแรงงาน ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ผู้ดูแลรูปปั้นนวมทองที่ถูกปั้นขึ้นจากเลือดคนเสื้อแดงในปี 2553

“ไม่ว่าใครจะพูดถึงลุงนวมทองแบบไหน ทั้งบอกว่าแกเป็นคนสติไม่ดี หรือบูชาแกในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่ในจดหมายที่แกเขียนทิ้งไว้ก่อนตายนั้น แจ่มชัดในหลักการประชาธิปไตย แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับการตายของแก แต่ในจดหมายเราเห็นด้วยทุกบรรทัด”

คนที่สอง ‘ดานุชัช บุญอรัญ’ กวีหนุ่มจากลุ่มน้ำชี ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศบทกวีประชาชน ‘Free Write Award’ ครั้งที่ 3 ในงาน 42 ปี 6 ตุลา 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา

“ในอนาคตวันที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอาจจะมีการสร้างหอเกียรติยศให้ลุงนวมทอง ผมคิดว่าแกไม่ควรไปอยู่แค่ในหอนั้น ผมคิดว่าลุงควรอยู่แม้แต่ในนิทาน คำพังเพย และในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าสังคมแบบไหนที่ไม่ควรมีใครต้องตายแบบลุงนวมทองอีก”

 

ปรีดี ทักษิณ อภิสิทธิ์ ใครเป็นใครในตระกูล ณ ป้อมเพชร์

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึง ความเป็นมาของตระกูล ณ ป้อมเพชร์ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี 3 นายของไทย คือ ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456”

“เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

“พจมาน ดามาพงศ์ แต่งงานกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้ พินทองทา และแพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว เธอเลือกกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา”

 

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

 

โดย ธนสักก์ เจนมานะ

ธนสักก์ เจนมานะ สำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำไทย โดยใช้ข้อมูลที่สร้างขึ้นตามระเบียบวิธีของ โธมัส พิเก็ตตี (Thomas Piketty) ผู้เขียนหนังสือ Capital in the 21st Century อันทรงอิทธิพล เพื่อร่วมตอบคำถามว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย เป็นอย่างไรกันแน่

หลังรายงานความเหลื่อมล้ำ Global Wealth Report 2018 ของ Credit Suisse ได้ออกมาเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของโลกด้านความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน โดยคนไทยที่รวยที่สุด 1% ถือครอง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทยจึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

ดราม่าที่เกิดขึ้นได้สร้างความสับสนพอสมควร ฝ่ายที่ไม่พอใจรายงานฉบับดังกล่าวต่างดาหน้าออกมาวิจารณ์ว่า Credit Suisse ใช้ข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ในการวิเคราะห์ พร้อมกันนั้นรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ออกมาอธิบายกับสังคมโดยใช้สถิติความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคนละประเภทกับความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน) ยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่รายงานบอกไว้ แถมยังดีขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

คำถามที่ตามมาโดยปริยายคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกจริงหรือไม่ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามที่สภาพัฒน์อธิบายไว้จริงหรือ ทั้งนี้กุญแจสำคัญที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้คือ การได้มาซึ่งตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century อันโด่งดัง โธมัส พิเก็ตตี้ และทีมวิจัยได้สร้างระเบียบวิจัยที่สามารถผลิตสถิติความเหลื่อมล้ำที่มีความแม่นยำ และได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงวิชาการขึ้นมา โดยสถิติเหล่านี้ มีพื้นฐานอยู่บนบัญชีประชาชาติ ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งรายได้และทรัพย์สิน

ถ้ามองความเหลื่อมล้ำไทยด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบใหม่ เรามองเห็นอะไร ปัญหาสาหัสแค่ไหน

 

จำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริงกี่ปี?

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงกรณีฆาตกรต่อเนื่อง 6 ศพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในกระบวนการปล่อยนักโทษก่อนกำหนด ทั้งโทษจำคุกตลอดชีวิต และโทษประหารชีวิต ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่านักโทษประเภทนี้ต้อง ‘แก่ตายในคุก’

ปกป้องอธิบายว่า ในความเป็นจริง ผู้กระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตายที่ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตในประเทศไทย ไม่ได้แก่ตายในคุกมาเป็นเวลานานแล้ว ด้วยสาเหตุสองประการคือ

1) แนวคิดในการลงโทษผู้กระทำความผิดสมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้การแก้แค้น หรือ ตัดออกจากสังคม แนวคิดใหม่ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน คือการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อให้เขากลับเข้าสู่สังคมอย่างปกติ

2) สภาพความแออัดของเรือนจำไทย ทำให้กรมราชทัณฑ์ต้องเร่งระบายนักโทษออกก่อนกำหนด

ทั้งนี้ ปกป้องได้เสนอแนวทางในการอุดช่องโหว่ดังกล่าว 3 ข้อ ซึ่งสอดคล้องกับระบบที่หลายประเทศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1) เพิ่มระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมในกรณีโทษจำคุกตลอดชีวิต จาก 10 ปี เป็น 20 ปี เพื่อให้สังคมแน่ใจว่าตลอด 20 ปี ผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยสังคมจะต้องอยู่ในเรือนจำ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 52

2) ให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งให้มีการพักการลงโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยระยะแรกอาจจะเริ่มให้ศาลเป็นผู้พิจารณาปล่อยนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิต โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือที่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปก่อน ส่วนความผิดอื่นให้เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ดำเนินการแบบเดิม

3) นักโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือนักโทษที่เป็นภัยสังคมอื่นๆ เช่น ฆาตกร ข่มขืน หรือพวกใช้ความรุนแรง ควรจะมีกระบวนการประเมินความพร้อมก่อนปล่อยตัวอย่างจริงจังและดำเนินการเฉพาะราย

 

ชีวิตใหม่ของคนนอกขนบ ‘อั้ม เนโกะ’ และเส้นทางต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“คนไทยไม่ว่าจะฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายไหนก็มีทัศนคติเหยียดเพศ แล้วคนพวกนี้ไม่ตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ มองว่าเหยียดกะเทยเป็นเรื่องเท่ เก๋ เอากะเทยมาเป็นตัวตลก มันก็คือการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง”

“เราเหมือนจุดรวมของสิ่งที่โครงสร้างสังคมพยายามกีดกันออกจากระบบ ไม่เป็นไปตามขนบ ทำให้โครงสร้างของระบบพยายามจะผลักเราออก กำจัดได้ยิ่งดี เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสังคมถึงจ้องเอาเราเป็นเหยื่อหลักของความเกลียดชัง เพราะเราไปแตะจุดที่อยู่ภายในโครงสร้างที่กดขี่ไว้อยู่”

“ในเอกสารอั้มเป็นผู้หญิง อยู่เมืองไทยทั้งชีวิตก็ไม่มีทางได้ ต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ไม่มีทาง เป็นประเทศที่ไม่เคยจะมองสิทธิของเรา อยู่นี่เราไปไหนก็มีแต่คนชื่นชอบ คนรัก ไม่เหมือนเมืองไทยที่พอเห็นเราเป็นกะเทยปุ๊บผู้ชายก็เมินหน้าหนี ทำงานก็ลำบากจำกัดอยู่แค่ในบางบริษัทเท่านั้น”

“สังคมไทยป่วยหนักมาก พอเราทำอะไรที่ดูปกติในดีกรีฝรั่งเศส ซึ่งคนฝรั่งเศสมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในไทยถูกมองว่าเป็นดีกรีที่แรงมาก มันก็ลำบากที่จะอยู่รอด ไม่ได้หมายความว่าเราผิดแต่เราอาจจะตายก่อน อาจจะโดนจับ โดนกระทืบ”

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ อั้ม เนโกะ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT ในฝรั่งเศส ถึงชีวิตใหม่หลังเดินทางออกจากประเทศไทย และการทำงานเพื่อผู้อพยพที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกันยายน 2563

 

101 Gaze Ep.2 “(วิชา) ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน”

 

โดย ทีมงาน 101 Gaze

ทำไมประวัติศาสตร์ในห้องเรียนถึงไม่สนุก ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ทำไมนักเรียนได้แต่ฟัง ฟัง ฟัง แต่ตั้งคำถามไม่ได้ ทำไมมีประวัติศาสตร์บางเรื่องที่คุณครูไม่ยอมสอน ทำไมประวัติศาสตร์ที่รู้จากอินเทอร์เน็ตถึงเปิดโลกมากกว่า

ทำไมวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทยจึงสร้างคำถามเช่นนี้

101 gaze พาสำรวจการเรียนประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นรุ่นใหม่ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว พร้อมตอบคำถามสำคัญ จะทำอย่างไรให้วิชาประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับนักเรียน ห้องเรียนประวัติศาสตร์ในฝันควรเป็นอย่างไร ผ่านความเห็นของ ธงชัย อัชฌายกชาติ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนักเรียนที่ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์บนเวที TEDxYouth @Bangkok 2019 และ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “รัฐธรรมนูญห้ามแก้”

 

โดย ธิติ มีแต้ม และเมธิชัย เตียวนะ

ท่ามกลางเสียงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายเชียร์รัฐบาลทหาร เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ iLaw, เครือข่ายรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ (CALL), กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, เครือข่าย People Go Network, คณะประชาชนปลดแอก ได้รณรงค์กิจกรรมเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ 50,000 รายชื่อ เป็นระยะเวลา 43 วัน ตั้งแต่ 7 ส.ค. – 19 ก.ย. จนสามารถระดมรายชื่อได้เกินเป้าถึง 100,732 ชื่อ 

เป้าหมายของการรณรงค์ครั้งนี้เพื่อรื้อระบอบอำนาจ คสช. ด้วยการเสนอให้รัฐสภาเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนนี้มีสาระสำคัญ

เช่น 1. ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดอนาคตล่วงหน้า 3. ยกเลิกแผนปฎิรูปประเทศที่มีวาระซ่อนเร้นและผลประโยชน์ทับซ้อน 4. ยกเลิกการการกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าได้มาโดย ‘วิธีอื่น’ นอกจากการเลือกตั้ง 5. ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. ตามมาตรา 279

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนยังเสนอวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้อองกับประชาธิปไตยไว้ด้วย เช่น 1. ต้องกำหนดให้ชัดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. 2. ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 3. “เซ็ตซีโร่” ระบบสรรหาองค์กรอิสระ 4. ปลดล็อกวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา ไม่จำเป็นต้องมีเสียงพิเศษของ ส.ว. หรือพรรคฝ่ายค้าน และไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทำประชามติ 5. ตั้ง สสร. จากการเลือกตั้งทั้งหมด 

 

101 One-On-One Ep.174 “ปลดล็อกรัฐธรรมนูญ สู่ทางออกวิกฤตการเมืองไทย” กับ จาตุรนต์ ฉายแสง

 

โดย 101 One-on-One

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่แหลมคมมากขึ้นทุกขณะ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นความหวังรูปธรรมของสังคมในการก้าวข้ามผ่านวิกฤตอย่างสันติ กระนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ง่ายและอาจกลายเป็นอีกหนึ่งปมของความขัดแย้ง

คุยกับจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และนักเรียน รวมไปถึงโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของไทย และของตัวเขาเอง

 

101 One-On-One Ep.177 “อ่านกลยุทธ์เกมแก้รัฐธรรมนูญ” กับ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

โดย 101 One-on-One

สังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ โดยมีการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในเดิมพันใหญ่ของทุกฝ่าย ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญแต่ละชุด จึงสะท้อนวิธีคิดและกลยุทธ์ทางการเมืองของผู้เสนอไว้อย่างแยบยลและแหลมคม

อ่านกลยุทธ์เกมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเข้าใจการเมืองไทยภาพใหญ่ กับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

101 One-On-One Ep.178 “Justice Next Challenges: ความท้าทายใหม่ของระบบยุติธรรมไทย” กับ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

 

โดย 101 One-on-One

คดี “บอส อยู่วิทยา” เปิดเปลือยปัญหาหลากมิติของระบบยุติธรรมไทย — อะไรคือบทเรียนสำคัญสำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย เราจะยกระดับธรรมาภิบาลในระบบยุติธรรมและฟื้นฟูหลักนิติธรรมในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างไร

สนทนากับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง

 

101 One-On-One Ep.180 “อ่านพลังคนรุ่นใหม่ ก้าวต่อไปการเมืองไทย” กับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

โดย 101 One-on-One

19 กันยายน 2563 มีความหมายทางการเมืองมากกว่าที่เคยเป็น เมื่อ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าว

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่ นี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดย ‘คนรุ่นใหม่’ ที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจและรับฟังอย่างตั้งใจ

คุยกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในห้วงเวลาที่ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่นำโดยนิสิต นักศึกษา และนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวอย่างทรงพลัง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save