fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2562

 

 

 

สารคดี ในม่านหมอก เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

มีพี่ชายคนหนึ่งเคยเขียนไว้อย่างเฉียบขาดว่า “ป่าเมืองไทยที่ว่าแน่ก็เป็นได้แค่สวนหย่อมของเมียนมาร์เท่านั้นเอง”

ประโยคนี้ไม่ได้เกินเลยความจริงแต่อย่างใด คนพม่าหลายคนมักบอกว่า ธรรมชาติของพวกเขาเหลือน้อย ต้นไม้หายไปเยอะมาก ตอนนี้พวกเขาจึงควรรักษาเอาไว้

“นี่ขนาดหายไปเยอะแล้วนะ” ฉันพูดประโยคนี้หลายต่อหลายครั้ง

ทุกครั้งที่เลาะผ่านภูเขา ฉันรู้สึกเหมือนเห็นบันไดสู่ดวงอาทิตย์ ต้นหมากแทงยอดขึ้นมาจากหุบเขาด้านล่างจนสูงเทียมถนน สีเขียวเข้มทาบทาภูเขาแนบสนิทไร้รอยต่อ แม่น้ำกว้างใหญ่ต้องแสงระยิบระยับ เป็นธรรมชาติที่ดูเหมือนไม่เคยมีใครเอื้อมมือไปแตะต้อง

ทวาย เป็นเมืองท่าที่มีทั้งทะเล แม่น้ำ และภูเขา หนึ่งในอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์พม่า

ใบหน้าเปื้อนยิ้มของเด็กสาว รอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าของหญิงชรา ผิวแห้งกร้านของชายหนุ่ม ท่ามกลางกลิ่นยาสูบใบจาก และพื้นที่เต็มไปด้วยรอยหมาก คือภาพชีวิตของชาวทวาย ที่วิถีของพวกเขากำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อมีการสร้างถนนตัดผ่านบ้านเรือนเพื่อมุ่งตรงเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ถนนตัดผ่านบ้านเรือนและที่นาของผู้คน โดยอ้างความชอบธรรมที่ว่า ถนนจะนำพาความเจริญมาให้ และเป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คำถามคือ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ ?

รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ทำข้อตกลงพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในเดือนพฤษภาคม 2551 พายุดอลลาร์โถมเข้าสู่ทวาย เมืองหลวงของเขตตะนาวศรีอย่างไม่ทันตั้งตัว พื้นที่กว้างกว่า 200 ตารางกิโลเมตร ถูกคาดหวังว่าจะกลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานให้ดูแลโครงการนี้เป็นระยะเวลา 60 ปี

หากสร้างสำเร็จ ทวายจะกลายเป็นเส้นทางการขนส่งเรือที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะเรือขนส่งสินค้าจากอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป จะล่องผ่านมาทางนี้เพื่อเชื่อมต่อกับอินโดจีน

ผ่านไป 11 ปี เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังไม่เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนว่าพายุยังตั้งเค้ารอจะถล่มลงไปได้ทุกเมื่อ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ลงพื้นที่ทวาย หยิบเอาเรื่องเล่าว่าด้วย Road Link เชื่อมจากไทยไปทวายที่กวาดเอาสวนหมากออกไปอย่างราบคาบ, เรื่องราวของชาวบ้านที่ต้องย้ายถิ่นฐานเดิมของตัวเองไปอยู่ในบ้านจัดสรรของอิตาเลียนไทย เพื่อหลีกทางให้เขตอุตสาหกรรม, กลุ่มชาวบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องจนหมู่บ้านไม่ต้องตกอยู่ใต้เขื่อน, ตลาดปลาที่เป็นชีวิตและหัวใจของชาวเลทวาย ฯลฯ

สวนหมากและหาดทรายของชาวทวายยังมีความหมายอยู่ไหมในสายตาของการพัฒนา

 

ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง ?

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ตอนที่ผมตายไปแล้ว ประชาธิปไตยในฮ่องกงอาจจะเพิ่งเดินมาถึงครึ่งทางก็ได้” คือหนึ่งเสียงจากช่างภาพชาวฮ่องกงผู้ชุมนุมหลายคนบอกกับฉันว่า ที่ออกมาประท้วงเพราะไม่พอใจที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

“ดูเหมือนตำรวจจะกลายเป็นศัตรูกับประชาชนไปแล้ว” คู่แม่ลูกพูดกับฉันระหว่างการเดินประท้วง

“คิดว่าข้อเรียกร้องของคุณจะเป็นไปได้มั้ย การประท้วงครั้งนี้จะสำเร็จหรือ” ฉันถาม

“ไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก ได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”

ท่ามกลางฝนชุมฉ่ำ และเสียงตะโกน “Free Hong Kong” ดังลั่นตลอดทาง ประโยคถัดจากนี้ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ฉันถามต่อไปว่า

“You want freedom for Hong Kong, right?”

หญิงสาวตอบสั้นกระชับว่า “Not me, but we.”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ลงพื้นที่ไปดู ‘ม็อบฮ่องกง’ สนทนากับผู้คนว่าด้วยความฝัน ความหวัง ความต้องการของพวกเขา ในห้วงยามที่บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง

 

 

เมื่อแนวคิด ‘ทำทุกที่ให้ Instagrammable’ กำลังพังวงการออกแบบ

 

โดย Eyedropper Fill

คำว่า ‘Instagrammable’ มาจากชื่อแอปฯ ‘Instagram’ ชนกับคำกริยา ‘able’ แปลตรงๆ ก็คือ ‘สามารถถ่ายลงอินสตาแกรมได้’ หลายครั้งคำนี้ (หรือบางทีอาจเป็นคำว่า Instagram-worthy) หมายความถึง ‘สถานที่หรือสิ่งดึงดูดใจที่ควรค่าแก่การถ่ายอวดลงโซเชียลมีเดีย’

โดยปกติการออกแบบตึกหรือ urban design ของเมืองหรือย่านหนึ่ง สถาปนิกและนักออกแบบจะต้องใช้เวลาเนิ่นนานเพื่อศึกษาความต้องการของผู้อยู่อาศัยหรือคนที่เข้ามาใช้งาน พัฒนาแบบเพื่อแก้ไขปัญหาว่า ทำอย่างไรพื้นที่นี้จึงจะตอบโจทย์การใช้งาน มอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับผู้คน และมากกว่านั้นอาจสามารถแสดงอัตลักษณ์ของเมืองหรือย่านนั้นออกไปสู่คนภายนอกได้ด้วย

ทว่าภายใต้วิถี Instagrammable สถาปนิกและนักออกแบบแทบต้องล้างกระดานกระบวนการคิดที่ว่ามา กลายเป็นต้องขบคิดว่า ทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมสวยเตะตา มีมุมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวยกมือถือขึ้นถ่าย หรือเหลี่ยมไหนของอาคารน่าจะเรียกยอดไลก์ เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาได้มากที่สุด เพื่อให้เมืองหรือย่านนั้น ‘ขายดี’ ในเชิงธุรกิจ

Eyedropper Fill เขียนถึงเทรนด์ Instagrammable ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ในหลายวงการทั้งการออกแบบเมือง ร้านอาหาร และอีเว้นต์ คำถามคือมันมีข้อเสียอย่างไรบ้าง

 

 

ถ้าเศรษฐกิจถดถอย คนรุ่นที่จะซวยที่สุดอาจคือมิลเลนเนียลส์

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

ถ้าดูแนวโน้มของโลกที่ควรจะเจริญขึ้น เราจะพบภาพที่น่าตกใจว่า ชาวมิลเลนเนียลส์ในตอนนี้ โดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้น้อยกว่าชาวเบบี้บูมเมอร์ (ในตอนที่บูมเมอร์มีอายุเท่าๆ กัน) ทั้งที่ในตอนนี้ ระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่โตกว่ามาก และประเทศ (อย่างสหรัฐอเมริกา) ก็ร่ำรวยยิ่งใหญ่กว่าในยุคหลายสิบปีก่อนมากเช่นกัน

แล้วที่เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงกันมานานนมเป็นสิบๆ ปี ตัวเลขที่สะท้อนออกมาในเรื่องรายได้ก็น่าตกใจด้วย เพราะผู้หญิงมิลเลนเนียลส์ มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิงรุ่นเอ็กซ์ โดยไม่ต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคบูมเมอร์ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ คนมิลเลนเนียลส์ยังมี ‘ทุน’ น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ คือจำนวนหนึ่งไม่ได้เริ่มที่บวกหรือศูนย์ แต่กลับไปเริ่มต้นติดลบด้วยซ้ำ และตัวเลขติดลบมากที่สุด ก็คือ ‘หนี้การศึกษา’

ย้อนกลับไปยังคนรุ่นเอ็กซ์ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พบว่าคนรุ่นนี้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาราว 1 ใน 4 ของทั้งรุ่น คือมีการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา 25% แต่ในชาวมิลเลนเนียลส์ พบว่าการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาพุ่งขึ้นมาเป็นราว 50% (นี่คือตัวเองในสหรัฐอเมริกานะครับ) แล้วถ้าไปดูจำนวนเงินกู้ยืม จะพบว่าจำนวนก็สูงกว่าคนรุ่นเอ็กซ์ถึง 2 เท่าด้วย นั่นจึงแปลว่า คนมิลเลนเนียลส์เริ่มต้นชีวิตด้วยการ ‘ติดลบ’ มากกว่าคนรุ่นก่อน

คอลัมน์ Trend Rider ตอนนี้ ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจถดถอยกับคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ ที่อาจเป็น ‘คราวซวย’ ของเหล่าคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในศตวรรษแห่งความยากลำบากนี้

 

เสียงที่เราไม่ได้ยิน : เมื่อรอยต่อวัยอนุบาล

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ความหมายของโรงเรียนอนุบาลชั้นดีในศตวรรษที่ 21 คุณภาพไม่อยู่บนฐานของการอ่านออกเขียนได้อีกต่อไปแล้ว แต่อยู่บนฐานการเรียนรู้ประเด็นสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นพลเมือง ทักษะชีวิต ไอที ตัวชี้วัดของโรงเรียนที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปแล้ว” – นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน

วัยเด็กอนุบาลมีรายละเอียดมากมายให้บรรดาพ่อๆ แม่ๆ กังวลไม่จบสิ้น หนึ่งในความกังวลนั้นคือการพาลูกไป ‘สอบเข้า ป.1’ ซึ่งถ้าสอบผ่าน รอยยิ้มของครอบครัวก็สว่างไสว แต่หากสอบไม่ผ่าน นอกจากไม่เกิดรอยยิ้มแล้ว ความคาดหวังที่กลายเป็นความผิดหวัง อาจเป็นบาดแผลที่ประทับอยู่ในใจเด็กไปตลอดกาล

คำถามคือถ้าสังคมไทยกำลังมองหาอนาคตให้เด็กร่วมกัน การสอบเข้า ป.1 ไปจนถึงการกดดันเด็กในสารพัดสนามแข่งขัน เพียงเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่ จะยังสามารถมีอนาคตอยู่หรือไม่

101 รวบรวมทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ว่าอะไรคือโลกของ ‘ปฐมวัย’ ที่ใหญ่กว่าการสอบเข้า ป.1 และอะไรคือทางออกจากความเชื่อเก่า เมื่อ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 กำลังบังคับใช้

“เราจนปัญญาจริงๆ แล้วหรือที่จะบอกว่ามีวิธีเดียวบนโลกใบนี้ที่จะคัดเด็กเข้าไปนั่งเรียนในที่ๆ มีเก้าอี้น้อย น่าสงสารไหมที่เราจะกระทำกับเขาแบบนั้น ถ้าเราเชื่อมั่นว่าโรงเรียนดี ครูดี ก็ย่อมจะรับเด็กไปเรียนรู้ได้เช่นกัน เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน เด็กอาจจะทำข้อสอบแบบฝึกหัดได้จริง แต่เขาปรับตัวกับเพื่อนได้หรือเปล่า มีความรับผิดชอบไหม มีความมุ่งมั่นไหม สิ่งเหล่านี้เป็น soft skill สำหรับโลกอนาคต” – ‘ครูหวาน’ ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย และกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย

“แทนที่ร่างกายเขาจะได้ไปออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่เขาจะได้พร้อมใช้งานเมื่อเข้าสู่ ป.1 แต่พอจะไปสอบเข้า ทุกบ้านก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูก เราขโมยเวลาที่แสนสำคัญในวัยเยาว์เขาไปหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ไปให้ความสำคัญกับสติปัญญาก่อนที่ร่างกายเขาจะพัฒนา ร่างกายเขายังวิ่งไม่เต็มที่ เดินตุปัดตุเป๋เซไปเซมา กล้ามเนื้อมือยังจับดินสอไม่ถนัดเลย” – ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป

 

 

การศึกษาเรือแตก สู่ทางเลือกที่เลือกไม่ได้’ เมื่อโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ใช่ของทุกคน

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“เกือบทุกโรงเรียนอยู่ในระบบที่ถูกออกแบบมาแล้วว่าจะให้เด็กเชื่ออะไร เพื่อนผมส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ไม่มีการปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ แต่ค่าเทอมแสนกว่าบาท ปีนึงมีสามเทอม เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่เป็นไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถ้าคุณไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเลือกโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง ถ้ามีเงินคุณก็เลือกโรงเรียนดีกว่าได้” – แชมป์ ส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกระบบมอนเตสซอรี่

“ตอนประถมเราเรียนโรงเรียนคอนแวนต์ มัธยมเรียนโรงเรียนรัฐ พอกลับมาเจอกันตอนนี้จะเห็นความแตกต่าง เพื่อนมัธยมจะมีฐานะแตกต่างกันไป ยิ่งบางคนจบมหาวิทยาลัยไม่ดังก็จะมีหน้าที่การงานแบบหนึ่ง แต่เพื่อนคอนแวนต์สมัยประถมแต่ละคนจะฐานะดี หน้าที่การงานดี จบมหาวิทยาลัยดัง พอมีครอบครัวก็ได้สามีดี อยู่ในสังคมที่ดี คอนเนคชั่นดี พอเดือดร้อนก็มีเพื่อนช่วยเหลือ” – เอม ส่งลูกเรียนอนุบาลหลักสูตรอีพีโรงเรียนเอกชน

“การเรียนในโรงเรียนชื่อดังไม่ใช่การรับประกันว่าเด็กจะมีอนาคตที่ดีเสมอไป แต่ทุกอย่างก็คือการลงทุน ยอมจ่ายได้หากสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่า หากลูกเข้าโรงเรียนที่ไม่ดีก็ต้องยอมรับว่าอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี” – บิว ส่งลูกเรียนอนุบาลหลักสูตรอีพีและวางแผนส่งไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อลูกโต

“โรงเรียนทางเลือกบางประเภทที่ตึงเกินไปจะวางตัวเองในลักษณะคล้าย ‘ลัทธิ’ เนื่องจากเป็นการหยิบยื่นทางเลือกให้พ่อแม่ที่พยายามหนีจากระบบการศึกษาไทย แต่การจะเชื่อในทางเลือกนั้นได้จำเป็นต้องทำให้คนยึดถือคุณค่าบางอย่างและเรียกร้องจากพ่อแม่สูง

“ผมอยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้วสนุก เรียนรู้ผ่านการเล่น ร.ร.อินเตอร์ตอบโจทย์พวกนี้ แต่คนที่เข้าถึงได้มีไม่มาก การจะหลบจากระบบการศึกษาไทยต้องเป็นคนที่อยู่ใน 0.1% บนสุดของประเทศ หรือทำงานเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อเอารายได้ 70-80% มาลงกับค่าเทอมลูก” – นนท์ ส่งลูกเรียนอนุบาลโรงเรียนอินเตอร์ค่าเทอม 4 แสนบาท

วจนา วรรลยางกูร พาไปสำรวจ ‘ทางเลือก’ ของพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนอนุบาลโรงเรียนเอกชนเพื่อหลบหลีกปัญหาในระบบการศึกษาไทย แต่ในทางเลือกก็ยังมีปัญหาอื่นๆ การช่วงชิงใบสมัครเข้าเรียน โรงเรียนอนุบาลที่ติวเด็กสอบเข้าถึงค่ำมืด ความเอาใจใส่เด็กที่เพิ่มมากขึ้นตามเงินที่จ่าย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับเด็กอายุเพียง 2-4 ขวบ

 

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง : ความป่วยไข้ของการศึกษาปฐมวัย และกับดักใน ‘สนามเด็กเล็ก’

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“การสอบเข้า ป.1 ไม่ใช่เชื้อโรค มันคืออาการป่วย เชื้อโรคมันอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพ ถ้าผมเป็นผู้ปกครอง ผมควรจะรู้สึกว่า ถ้ามีอยู่ 100 โรงเรียน มันควรมีสัก 80 โรงเรียนที่ลูกผมเข้าได้แล้วผมโอเค มีแค่ 20 โรงเรียนที่ผมต้องหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันตรงกันข้าม”

ข้างต้นคือทรรศนะของ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เขาคือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย และมุ่งศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ ‘RIECE Thailand การศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ’​ ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีต้นทุนชีวิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทยจะก้าวไปทางไหน 101 ชวน ดร.วีระชาติมาสนทนายาวๆ ว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ประเด็นของ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย การยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ไปจนถึงมิติที่เชื่อมโยงกันระหว่างการพัฒนาเด็กปฐมวัยกับการลดความเหลื่อมล้ำ

“ปัญหาหลักคือช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถม นี่คือช็อกที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับวัย จากที่เด็กได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ได้เล่น ได้สนุกมาตลอดในช่วงอนุบาล พอเข้า ป.1 ปุ๊บ ส่วนใหญ่ต้องนั่งโต๊ะเรียนนิ่งๆ โจทย์สำคัญที่หลายภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิด คือจะทำยังไงให้ช่วงรอยต่อตรงนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมสำหรับเด็กจริงๆ

ตราบใดที่นิยามใน พ.ร.บ.ยังขยายไปไม่ถึง 8 ขวบ เราจะแก้ปัญหาช่วงรอยต่อนี้ไม่ได้เลย ถ้าเป็นไปได้มันควรครอบคลุมไปถึง 8-9 ขวบให้ได้ เทียบง่ายๆ คือไปให้ถึง ป.3 หลังจากนั้นเราจะสบายใจมากขึ้น เพราะเด็กเริ่มโตขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ถึงจุดนั้นถ้าเขาจะต้องถูกบังคับให้นั่งนิ่งๆ หรือทำอะไรที่เหมือนผู้ใหญ่ ก็เป็นวัยที่น่าจะเหมาะสมมากขึ้น”

“ผมเองก็เป็นผู้ปกครองคนหนึ่งในกรุงเทพฯ พบว่าการจะเอาลูกเข้า ป.1 นี่มันยากมาก กลายเป็นว่าทุกวันนี้ โรงเรียนของรัฐในบริเวณกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นทางเลือกมากเท่าที่ควร

มันน่าเศร้าตรงที่โรงเรียนของรัฐที่คนสนใจจะไปเรียน กลับมีอยู่ไม่กี่ที่ เช่น โรงเรียนสาธิตต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริง โรงเรียนเหล่านี้แหละที่คนไปสอบแข่งกันเยอะๆ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักการการศึกษาของประเทศนี้ ถ้าบอกว่าการสอบเข้า ป.1 ผิด โรงเรียนกลุ่มนี้แหละคือคนที่กำลังทำผิดที่สุด

คำถามง่ายๆ คือ ถ้าเรายอมรับในหลักวิชาการว่าการสอบแข่งขันเข้า ป.1 เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ทำไมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับนี้ จึงไม่เป็นที่แรกที่ยืนหยัดขึ้นมา แล้วก็บอกว่าเราจะไม่ทำ”

“สิ่งที่ผมอยากจะนำมาสู่วงการการศึกษามากขึ้น คืองานวิจัยและความรู้ในด้านการศึกษาที่เป็นเชิงปริมาณ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่แค่หลักการล่องลอย

ผมรู้สึกว่าคนในแวดวงการศึกษาเขามีหลักการอยู่มากมาย แต่บางอย่างมันควรยึดข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่านี้ ใช้ตัวเลขมากกว่านี้ อะไรที่วัดได้ เอามาวัดกันหน่อยไหม ผมอยากจะเห็น evidence-based education policy หรือการถกเถียงในเชิงการศึกษาที่ไม่ใช่แค่อุดมคติ ไม่ใช่แค่ว่าฉันชอบแบบนี้ คุณชอบแบบนั้น”

 

 

“เราทุกคนเป็นนักออกแบบชีวิตของตนเอง” – บิล เบอร์เนตต์ ผู้เขียนหนังสือ Designing Your Life

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“ในยุคของผม มีความเชื่อว่า เราจะต้องได้ทุกอย่างมาภายในอายุ 25 – เราอาจมีคนรัก บางทีอาจจะแต่งงานแล้ว มีงานดีๆ ทำ มีครอบครัว ทุกอย่างจะต้องสำเร็จภายในอายุ 25 มิฉะนั้น มันจะสายเกินไป ซึ่งนี่มันงี่เง่าสิ้นดี…”

ช่วงสองสามปีให้หลังมานี้ หนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือการนำ ‘กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)’ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบชีวิต

แนวคิดดังกล่าวถูกริเริ่มจาก บิล เบอร์เนตต์ (Bill Burnett) และ เดฟ อีวานส์ (Dave Evans) สองนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำ และผู้เขียนหนังสือขายดี ‘คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking’

ในวาระที่ บิล เบอร์เนตต์ มาเยือนเมืองไทยเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเปิดคลาสพิเศษในหัวข้อ ‘Designing Your Life’ จัดโดย Kbank Digital Academy
.
101 จึงถือโอกาสจดเลคเซอร์ประเด็นสำคัญๆ มาให้อ่านกันแบบเน้นๆ ไล่ตั้งแต่คำถามที่ว่า ผิดหรือไม่ถ้าเราไม่มีความหลงใหล (passion) อะไรในชีวิต ทำอย่างไรจึงจะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ กระทั่งว่า เราจะเริ่มวางแผนชีวิตของตนเองได้อย่างไร

“แผนแรก ให้พูดถึงสิ่งที่คุณทำอยู่ อาชีพของคุณ และชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้

แผนที่สอง คือสิ่งที่คุณจะทำ หากข้อแรกหายไป เช่น สมมติว่าคุณทำงานอยู่ตอนนี้ แล้วจู่ๆ AI ก็เข้ามาแย่งงานของคุณ คุณจะทำอะไรแทน

แผนที่สาม สิ่งที่คุณอยากทำ หากคุณไม่จำเป็นต้องสนใจภาพลักษณ์ เงินทอง หรือชื่อเสียงอีกต่อไป

เมื่อเขียนแผนการทั้งสามแบบได้แล้ว ตั้งชื่อสั้นๆ ให้กับแต่ละแผนการ และอย่าลืมตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับแผนการนั้นสัก 2-3 ข้อด้วย”

“การเปรียบเทียบแค่การทำงานกับชีวิตส่วนตัว ไม่ใช่การเปรียบที่ถูกต้องนัก มันเหมือนกับ zero-sum game (รูปแบบการแบ่งผลประโยชน์ที่มีผู้แพ้และผู้ชนะ) และคุณก็ไม่อาจชนะเกมนี้ได้

ถ้าทำงานมากเกินไป ก็จะไม่มีชีวิตส่วนตัว และถ้ามีชีวิตส่วนตัวมากเกินไป ก็ไม่มีงาน แน่นอนว่าไม่มีเงินด้วย แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ทำงานแบบกลางๆ ไม่ต้องดีมากงั้นเหรอ นี่เป็นการสร้างสมดุลแบบโดนบังคับ ไม่ใช่ชีวิตแบบที่ควรใช้

ลองสร้างมาตรวัดชีวิตของคุณดู ซึ่งคุณสามารถมีทั้งงาน มีความรัก หรือมีสิ่งอื่นๆ ได้แบบ 100% เพราะนี่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”

“สมัยก่อนเราเน้นใช้พลังกายในการดำรงชีวิต เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เราเริ่มหันมาใช้พลังความคิดอย่างหนักหน่วงในการทำงาน ทำให้สมองเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักและต้องการพลังงานอย่างมหาศาล

กล่าวคือ สมองหนักเพียง 2% ของน้ำหนักตัว แต่ใช้พลังงานถึง 25% ของพลังงานที่เราบริโภคในแต่ละวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ความสามารถในการตั้งใจทำงาน จะขึ้นอยู่กับระดับพลังงานเป็นสำคัญ

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คุณจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ให้ความสนใจและจดจ่อกับสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือพลังงาน ไม่ใช่เวลา”

 

 

ความพิเศษของสงครามเย็น

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง ‘สงครามเย็น 2.0’ และเหตุผลที่จีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ได้ร้ายกว่าสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

“จีนมาจากอารยธรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างจากตะวันตก ตรงนี้ต่างจากสหภาพโซเวียตที่ยังถือว่ามีพื้นฐานจากอารยธรรมตะวันตก ดังนั้น ความตึงเครียดของสองมหาอำนาจ จีนและสหรัฐฯ ในครั้งนี้จึงอาจเข้าขั้นการปะทะกันของอารยธรรม (Crash of Civilization) ครั้งใหญ่”

“ในช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่สหรัฐฯ ยอมรับให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกนั้น แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านภายในสหรัฐฯ อยู่บ้าง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า เมื่อจีนพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็จะเกิดชนชั้นกลางซึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมือนกับเรา ส่วนถ้าถึงวันนั้นจีนไม่ปฏิรูปการเมือง สุดท้ายเศรษฐกิจจีนก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี”

“แต่อนิจจา สหรัฐฯ คาดการณ์ผิด เพราะจีนรวยขึ้น แต่กลับไม่เปลี่ยนรูปแบบการเมืองการปกครองมาเหมือนตะวันตก ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนเองก็ไม่พังเสียด้วย”

“สงครามเย็น 2.0 เกิดขึ้นจากการที่จีนกลายมาเป็นชาติที่มีอิทธิพลในแพลตฟอร์มเดิมของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสำคัญต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งยังหันมาทำแพลตฟอร์มของตนเองแข่งด้วย แต่ที่สหรัฐฯ ตกใจที่สุดก็คือ จีนเป็นชาติเดียวที่ขึ้นมาแข่งขันในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเต็มตัว”

 

เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส : จาก ‘มือปราบตงฉิน’ สู่ ‘แนวหน้าฝ่ายค้าน’

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“คนดีคนเก่งของเพื่อไทย ไม่ได้เข้าสภาเลยนะ เพราะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์สักคน แล้วจะบอกว่าฝ่ายค้านมีประสิทธิภาพได้ยังไง ถ้ากลุ่มที่เก่งๆ ของเพื่อไทยได้เข้ามา ผมว่าอาจมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

แต่เท่าที่มีอยู่ ผมก็เห็นศักยภาพนะ อย่างเพื่อไทยก็มี ส.ส. เก่งๆ อยู่หลายคนที่ได้เข้ามาในสภา แต่ยังขาดความกล้าหาญไปหน่อย หรืออย่างอนาคตใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ เขาก็ขยันนะ ตั้งหน้าตั้งตาขวนขวายหาความรู้ ก็ถือว่าโอเค ใช้ได้ แต่ยังขาดความแข็งแกร่ง

ฉะนั้นผมเลยต้องใช้ตัวตนของผม ทำหน้าที่ทะลุทะลวงไปก่อน (หัวเราะ) แล้วค่อยให้น้องๆ ตามมา…”

นับตั้งแต่วันเปิดสภาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งในไฮไลท์ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละสัปดาห์ คือการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านในประเด็นต่างๆ
.
ตัวละครหนึ่งที่นับเป็นตัวชูโรงหรือ ‘แนวหน้า’ ในการเปิดประเด็นอภิปราย คือพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งปล่อยหมัดหนักตั้งแต่การอภิปรายคุณสมบัติคนที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านวลีเด็ดที่ส่งตรงถึงพลเอกประยุทธ์ว่า “แม้แต่ให้เป็นยามหน้าบ้าน ผมยังไม่ให้เป็นเลย”

ยังไม่นับการอภิปรายปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน รวมถึงการออกตัวว่าเป็นผู้ประสานกับสื่อออสเตรเลีย ในการเปิดโปงหลักฐานอื้อฉาวของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

101 จับเข่าคุยกับเสรีพิศุทธ์แบบยาวๆ ไล่เรียงตั้งแต่ชีวิตหลังเข้าสภา มุมมองการเมืองภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บทบาทในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไปจนถึงเรื่องเล่าและประสบการณ์ในฐานะ ‘พี่ใหญ่’ ทั้งในแวดวงทหารและตำรวจ

“ผมว่าไม่มีทางเลยที่คุณประยุทธ์จะบริหารประเทศสำเร็จ เอาง่ายๆ ว่าคุณเป็นมา 5 ปีแล้วมันได้เรื่องมั้ย ในเมื่อไม่ได้เรื่อง แล้วคุณจะเป็นต่อทำไม เลือกตั้งเข้ามาทำไม แล้วไอ้ที่ได้เข้ามากันเนี่ย ก็โกงเขามาทั้งนั้น ผมถึงอภิปรายตอนแถลงนโยบายว่า คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งแรก ก็ปล้นเขามา ยึดอำนาจมา ครั้งที่สองก็โกงเขามา ถามว่าผมพูดผิดยังไง

ถามว่าคุณชวนเป็นกลางมั้ย เอาง่ายๆ ว่าคุณชวนได้เป็นประธานรัฐสภาได้ยังไง ก็เพราะพลังประชารัฐเขาช่วยสนับสนุน ยกมือให้ ลำพังประชาธิปัตย์มีแค่ 52 เสียง คุณจะเป็นได้ยังไง เป็นไม่ได้ ถ้าตามข่าวตอนแรก พลังประชารัฐเขาเตรียมเสนอคุณสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภา ที่นี้พอไปเอาประชาธิปัตย์มาร่วม เอาภูมิใจไทยมาร่วม เขาก็ต้องมีข้อต่อรอง ถ้าคุณอยากเป็นนายก ผมขอตำแหน่งประธานสภานะ

พูดตรงๆ นะ ตอนจะจัดตั้งรัฐบาล พลังประชารัฐเขาก็พยายามจะจัดให้ได้ ก็ยังมีคนมาเสนอให้ผม 300 ล้านเลย หัวละ 30 ล้าน 10 หัว 300 ล้าน บวกให้ผมได้เป็นรองนายกด้วย ผมยังไม่ไปเลย ถ้าเป็นคนอื่นเขาคงไป แต่ผมไม่ เราต้องรักษาหลักการของเรา คือไม่เอาเผด็จการ แต่ผมไม่รู้ว่าพรรคอื่นที่ไปร่วมเขาจะมีข้อเสนออย่างผมรึเปล่านะ คือได้ทั้งเงินทั้งกล่อง”

“5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคุณประยุทธ์ทำให้ตำรวจเละมากเลย เขาไม่เห็นความสำคัญของพนักงานสอบสวน ไปยุบพนักงานสอบสวนหมดเลย ตำรวจก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยการแต่งตั้งคนที่วุฒิถึงเข้ามา แต่ถึงวุฒิจะได้ เขาก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ ไม่ได้ชำนาญ มันก็ไม่อยากเป็น ไม่อยากทำงาน

บางคนไม่ชอบงานนี้เลย ฆ่าตัวตายก็เยอะ คุณลองไปหาสถิติมาดู พนักงานสอบสวนที่เขาติดขัดเรื่องการสอบสวน แล้วถูกตั้งกรรมการสอบสวนซะเอง ฆ่าตัวตายไปหลายคน ที่เป็นแบบนี้เพราะคุณไปทำลายระบบของเขา เขาเอาวิธีการแบบทหารมาใช้กับตำรวจ นี่คือปัญหาใหญ่

ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ถามว่าได้ทำบ้างมั้ย มัวแต่มายุ่งเรื่องตรวจค้น จับกุม คุมบ่อน อย่างที่เขาพูดกันว่าเดี๋ยวนี้ทหารแทบจะไปคุมบ่อนแทนตำรวจแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าตำรวจดีกว่าทหาร เพราะสมัยก่อนตำรวจบางพวกมันก็หากินอย่างนี้แหละ แต่เดี๋ยวนี้พอทหารเข้ามา มันก็ทำแบบเดียวกัน”

 

ฝ่ามรสุมตีตราเด็ก กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“สภาพอนุบาลบ้านเรา ทารุณกรรมกันมาก เป็น national child abuse อย่างถูกกฎหมาย

“เราติดกับดักวาทกรรมอยู่ 2-3 ประโยคมาครึ่งศตวรรษแล้วกระมัง ข้อแรกคือ ‘เราทำไม่ได้หรอก’ ลองถ้าผู้บริหารระดับสูงพูดเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือ ไม่ต้องทำงานทำการกันพอดี

อย่ามาพูดว่าทำไม่ได้ เรื่องจริงคือเราไม่ยอมทำ ด้วยสาเหตุทั้งที่พูดได้และพูดไม่ได้ ที่พูดได้คือมีหลายระบบได้ประโยชน์จากระบบสอบเข้า ป.1 และจากสภาพที่โรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน

วาทกรรมที่สองคือ ‘เราไม่มีเงิน’ ซึ่งไม่จริง เรามีเงิน และมีมากพอที่เราจะทำงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้ดีได้ คำถามคือเงินอยู่ไหนเสียมากกว่า หรือเราปล่อยให้ผู้บริหารระดับสูงใช้เงินภาษาอะไร ถึงพูดว่าไม่มีเงินได้ทุกปีๆ มาครึ่งศตวรรษ…”

ธิติ มีแต้ม สนทนากับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ถึงบางวาทกรรมเกี่ยวกับ ‘เด็กเล็ก’ ที่สังคมพยายามหยิบยื่นให้ ซึ่งไม่แน่ว่า สิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่เรื่องความแพง ไม่ใช่เรื่องของลูกของใคร กระทั่งไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อีกต่อไปแล้ว

“เรามีค่านิยมว่า 10 โรงเรียนท็อปนี้ เป็นโรงเรียนที่ดี เป็นบันไดของอีลิท คือลูกหลานชนชั้นกลางระดับสูงไต่บันไดการศึกษาไปสู่คณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยระดับท็อป คุณค่าและค่านิยมเหล่านี้ เราพร้อมใจกันยกเลิกได้ แล้วเมื่อยกเลิก 10 โรงเรียนและ 5 มหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่มีความหมาย

เราควรเปลี่ยนทิศไปให้ความสำคัญแก่อำนาจการจัดการและเงิน แก่ส่วนท้องถิ่นและชุมชนรอบโรงเรียนหรือรอบมหาวิทยาลัย ให้สามารถจัดการศึกษาเองด้วยคุณค่าใหม่ ค่านิยมใหม่ ตัวชี้วัดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้แบบใหม่

สิ่งที่เราควรให้คุณค่าคือโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้านแบบเตรียมความพร้อม โรงเรียนประถมและมัธยมใกล้บ้านที่มีความสามารถทำให้เด็กคิดเป็น ทำงานเป็น และรักท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ ที่ช่วยให้นิสิตนักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง กล้าลงมือ กล้าประเมิน แล้วไปให้ไกลกว่าระบบการศึกษา พูดง่ายๆ ว่าออกไปจากกะลา”

“ส่วนเรื่องอายุ ว่าแค่ไหนคือปฐมวัย ผมเห็นด้วยว่าควรจะถึง 8 ขวบ ผมเป็นพวกไม่รีบ และเชื่อว่าเด็กโตเองได้จริงๆ การเร่งเรียนมีแต่เสียกับเสีย

เราช่วยกันทำลายสมองเด็กไทยอย่างเป็นระบบ แม้แต่ผู้ชนะก็เสีย มีกราฟแสดงให้ดูจากหลายประเทศในยุโรปว่าเรียนเร็ว อ่อนกำลังเร็ว ตัวชี้วัดด้านสุขภาวะตอนเป็นผู้ใหญ่ต่ำกว่ากลุ่มเริ่มเรียนช้าทุกตัวชี้วัด ตั้งแต่ความสุขไปจนถึงยาเสพติดและอัตราการก่อคดี

ผมเห็นด้วยว่าไม่ให้สอบแข่งขันเข้า ป.1 เพราะนั่นคือคอขวด เด็กๆ จำนวนมากถูกทำลายที่คอขวดนี้ และถ้าเราเชื่อสิ่งที่เราพูดทุกวันเด็ก ว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แล้วเราทำลายเขาตั้งแต่ต้น ก็จะฟังดูศรีธนญชัยมาก เด็กโตได้บนลู่วิ่งของตนเอง”

“การตีตราเด็กเป็นเรื่องใหญ่ อย่ามาพูดว่าการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ มันไม่ปกติ และอย่าไปฟังว่าการไปพบจิตแพทย์ มีแต่เรื่องดี มันไม่ดี ที่ไม่ดีมากๆ คือประวัติถูกบันทึกและอยู่บนฐานข้อมูลออนไลน์ ประวัติที่ถูกบันทึกร่วมกับประวัติการศึกษานี้จะส่งผลอะไรในอนาคต หากระบบรักษาความลับผู้ป่วยจิตเวชอ่อนแอ

จิตแพทย์เด็กที่ทำงานตามมาตรฐาน มักจะไม่ได้ให้ยาในทันที แต่ให้ดูอาการและมีข้อแนะนำ ข้อแนะนำเหล่านี้ใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะส่งผล แต่ครูหรือโรงเรียนรอไม่ได้ ก็ให้เด็กออกจากโรงเรียนก็มี ให้ซ้ำชั้นก็มี พ่อแม่ทนความกดดันจนกระทั่งอยู่ไม่ได้ก็มี

สีหน้าท่าทางของทุกคนอยู่ในสายตาเด็กๆ จนเขาอาจรู้สึกว่า ‘หนูคือต้นเหตุ’ แผลในใจที่ไม่ควรจะมีเลยตั้งแต่แรก ถ้าเขาเอาแต่เล่นอยู่บ้าน ไม่ไปโรงเรียน ก็เกิดมีแผลขึ้นจนได้…”

 

“ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ดูดาย” – ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ และ สมคิด พุทธศรี

“ถ้ากระบวนการยุติธรรมของเราไม่มีปัญหา ทำไมคดีจึงล้นศาลกว่า 700,000 คดี เฉพาะคดีอาญานะครับ ด้านคดีแพ่งมีอีกล้านสอง ปีหนึ่งรวมกันประมาณสองล้านคดีที่เข้าสู่ศาลชั้นต้น ซึ่งมีผู้พิพากษาประมาณแค่ 4,000 กว่าคนทั่วประเทศ”

“ถ้าไม่มีปัญหา ทำไมคนถึงล้นเรือนจำเต็มไปหมด ตอนนี้น่าจะแตะประมาณ 350,000 คน ที่สำคัญคือเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่เขาเรียกว่าคดีระหว่าง ขังระหว่าง ฝากขังทั้งหลาย ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แต่ขังไว้ก่อนแล้ว ประมาณ 60,000 กว่าคน หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด”

“ผมเรียกมันว่า กระบวนการยุติธรรมที่ดูดาย”

ข้างต้นคือคำตอบบางส่วนของ ‘ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล’ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อถูกถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาหรือไม่

ตลอดกว่า 40 ปีในชีวิตนักวิชาการ สุรศักดิ์ติดตามประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาโดยตลอด ผลงานเขียนของเขาทั้งหนังสือ งานวิจัย และบทความวิชาการ ล้วนเป็นตำราสำคัญที่นักเรียนกฎหมายไทยต้องใช้อ้างอิงทั้งสิ้น

101 ชวนสุรศักดิ์สนทนากันลึกๆ ถึงโจทย์ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย คุกไทยมีไว้ขังคนจนหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมไทยเชื่อถือได้แค่ไหน อะไรคือความท้าทายของระบบยุติธรรมไทยท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ไปจนถึงคำถามที่ว่าเราจะปฏิรูป ‘กระบวนการยุติธรรมที่ดูดาย’ ได้อย่างไร

“ถ้าไปดูสถิติ คนที่กลับเข้าไปในเรือนจำใหม่ ภายในปีแรกกลับเข้าไปแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ ปีที่สอง 25 เปอร์เซ็นต์ ปีที่สามยิ่งหนัก 35 เปอร์เซ็นต์ เราเอาแต่เสรีภาพเขามา แต่สิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม

เราไม่เคยรู้สาเหตุการกระทำความผิด แล้วก็จับเขาไปขัง พอคนเยอะขึ้นเราก็ทำอะไรไม่ได้ ผมเคยเข้าไปดูคนในเรือนจำ พอตอนเช้าสวดมนต์เข้าแถวเสร็จ ก็นั่งเล่นกันเต็มเลย ใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ เพื่อให้ครบวันที่จองจำ

เราไม่มีกระบวนการอะไรเข้าไปเปลี่ยนแปลงเขา ไม่มีกระบวนการทำให้เขาออกมาประกอบอาชีพอะไรได้ พอเขาออกมา ก็บอกสังคมว่าช่วยรับคนพวกนี้กลับเข้าไปหน่อย

ในความเป็นจริง คนพวกนี้ต้องปิดประวัติเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บ้านเราหนักหนากว่านั้น คือทะเบียนประวัติถ้าไม่ถูกล้างมลทิน ก็จะติดอยู่ชั่วชีวิต เข้าสู่ระบบอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น”

“เมื่อมีการสั่งไม่ฟ้อง ก็มีวาทกรรมแบบที่ไม่ถูกต้องตามมาด้วย เช่น ‘สั่งไม่ฟ้องแนบซองมาด้วย’ เพราะฉะนั้น ถ้าใครสั่งไม่ฟ้อง จะมีคนถามทันทีว่ามีอะไรได้เสียไหม เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากเปลืองตัว

ถ้ามองให้ลึกลงไป เรื่องนี้สะท้อนว่าระบบยุติธรรมของเราไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากสังคม (Public Trust) คนในระบบก็เลยเลือกวิธีแบบ ‘อยู่เป็น’ คือฟ้องๆ ไปเถอะ เรื่องไม่ควรฟ้องก็ช่างมัน เราไม่เกี่ยว ไม่ได้อะไรก็ฟ้องไป

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก คือความไม่ไว้วางใจต่อกัน ไม่ใช่เฉพาะในระบบยุติธรรมเท่านั้น แต่มีอยู่ในทุกกระบวนการในสังคมไทย”

 

“นักเศรษฐศาสตร์ต้องตั้งคำถามใหญ่กว่าเดิม” ธนสักก์ เจนมานะ กับการศึกษาความเหลื่อมล้ำไทย

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ผมเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ต้องกล้าตั้งคำถามที่ใหญ่กว่าเดิม ปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์คือเรามักทำประเด็นเล็กๆ ไม่ได้ตั้งคำถามใหญ่ในเชิงสังคม”

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพยายามที่จะเอาความเป็นการเมืองออกจากความเหลื่อมล้ำ (depoliticize) แม้มีการหยิบยกเรื่องความเหลื่อมล้ำมาพูดถึง แต่เป็นนโยบายแบบแก้ปัญหาปลายเหตุ ถึงที่สุดแล้วปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองด้วย”

“หากจะแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำจริงๆ ก็คือการปฏิรูปสถาบันทางการเมือง แน่นอนว่างานวิจัยเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายนั้นสำคัญ แต่ด้วยลักษณะทางการเมืองปัจจุบันจะเสนออะไรไปก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงที่สถาบันทางการเมืองซึ่งก็ดูไม่มีวี่แววสักเท่าไหร่”

วจนา วรรลยางกูร คุยกับ มาร์ค-ธนสักก์ เจนมานะ นักศึกษาปริญญาเอก Paris School of Economics และนักวิจัย World Inequality Lab (WIL) ถึงงานวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำไทยของเขาและชีวิตนักวิจัยในปารีส ร่วมศูนย์วิจัยเดียวกันกับ โธมัส พิเก็ตตี้ ผู้เขียนหนังสือ Capital in the 21st Century

ประเทศเก๊ๆ ไม่ใช่ประเทศของเรา

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“หลายปีมานี้เราอยู่ในประเทศที่ดูแปลกประหลาด

เวลามีคนมาปล้นบ้าน ยึดคนในบ้านไม่ให้ขัดขืน เราเรียกว่าโจร แต่เวลามีคนปล้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และล้มล้างรัฐธรรมนูญ เราไม่เรียกว่าโจร แต่เรียกว่าหัวหน้าคณะ… เหตุผลในการปล้น เพราะอ้างว่ารัฐบาลชุดเก่ามีนักการเมืองเลว ทุจริต ต้องเข้ามาแก้ไข จากนี้ไปจะปราบคอร์รัปชัน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและเดินหน้าประเทศ

ห้าปีผ่านไป ปฏิรูปประเทศไม่เห็นมีอะไรชัดเจน

น่าจะเป็นปฏิรูปเก๊ๆ”

“เมื่อคนหน้าเดิมตั้งรัฐบาลสำเร็จก็เริ่มต้นด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนส่อว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งรัฐบาลอาจจะมีปัญหา แทนที่จะรีบขอโทษแก้ไขทันทีก็ไม่สนใจ ปล่อยให้ลุกลามกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และอาจจะเป็นบรรทัดฐานที่หมิ่นเหม่ต่อการถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งต่อไปในอนาคต

หรือว่าอาจจะเป็นรัฐบาลเก๊ๆ”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึง ‘ประเทศเก๊ๆ’ ที่ไม่ควรมีอยู่จริงในโลก ผู้นำตั้งคนของตัวเองไปอยู่ในองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองให้พ้นผิดจากการล้มล้างรัฐบาลเดิม มีหน่วยงานคอยสอดส่องคนวิจารณ์ท่านผู้นำ

 

 

อนาคตเด็กปฐมวัยใหญ่กว่าการสอบ : ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เด็กเล็กๆ เพิ่งจะเรียนรู้หัดว่ายน้ำ กล้ามเนื้อแขนขายังไม่แข็งแรง แต่ต้องถูกจับไปแข่งไตรกีฬา นี่ไม่น่าใช่การสร้างอนาคตของชาติที่เหมาะควรนัก

แต่เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องถูกจับโยนลงทะเลอีก อะไรคือความหวังใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เปิดตาเปิดใจให้กว้างๆ ถ้าเชื่อว่าโลกยังเหลือเวลาให้กับเด็กๆ

101 คุยกับครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ถึงวิกฤตใหญ่ในการปล่อยให้เด็กเล็กเผชิญการสอบแข่งขันซึ่งยังเป็นระบบแพ้คัดออก

“เราจนปัญญาจริงๆ แล้วหรือเปล่าที่จะบอกว่าการรับเด็กเข้า ป.1 มีวิธีเดียวบนโลก คือการสอบ เพื่อจะได้เข้าไปนั่งในที่ๆ มีเก้าอี้น้อย

“มันน่าสงสารไหมที่เราจะกระทำกับเขาแบบนั้น แล้วเรายังตอบกันไม่ได้เลยว่าเด็กที่สอบเข้าไปคือคนเก่งอะไร ทั้งที่เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน ต่อให้เด็กทำข้อสอบได้ก็จริง แต่ปรับตัวกับเพื่อนได้ไหม มีความรับผิดชอบแค่ไหน บางอย่างมันเป็น soft skill สำหรับโลกอนาคต แต่เราไปคัดเด็กที่แค่ทำข้อสอบได้ เราล่มสลายแน่นอน

“อย่าลืมว่าอนาคตของพวกเขาจะแย่หนักด้วย เพราะว่าเขาต้องเสียภาษีให้กับสังคมที่แย่ๆ แต่เด็กๆ จะลำบากกว่าเรา 2 เท่า เขาต้องแบกต้นทุนของพวกเรา เขาต้องมาแบกรับผู้สูงวัยที่มีจำนวนมาก ขณะที่ผู้อยู่ในวัยทำงานมีจำนวนลดลงตลอดเวลา หากว่าเขาเติบโตอย่างไม่มีศักยภาพ”

แล้วอะไรคือที่มาของระบบการสอบเข้า ป.1 ที่สมาทานแพ้คัดออก อะไรคือความเชื่อที่ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ทำไมสังคมไทยแทบไม่เหลือที่เหลือทางให้กับ ‘สนามเด็กเล็ก’

 

โรนัลดินโญ, ไทสัน และไอเวอร์สัน ข้อพิสูจน์ว่าพรสวรรค์นั้นไม่จีรัง

 

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึง 3 ดาวเด่นในแวดวงกีฬาที่พิสูจน์ว่า ‘พรสวรรค์’ นั้นมีอยู่จริง ไล่ตั้งแต่โรนัลดินโญ, ไมค์ ไทสัน และ อัลเลน ไอเวอร์สัน ทว่าเหตุใดพรสวรรค์ของคนเหล่านี้ จึงดับสลายลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น?

“เป็นที่รู้กันดีว่าโรนัลดินโญเป็นคนรักสนุก ในความหมายที่ว่าเขาชอบการสังสรรค์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในปารีสตีข่าวว่าเจอตัวเขาในผับดึกๆ ดื่นๆ ตั้งแต่สมัยที่เขาสังกัดทีมปารีส แซ็ง-แฌร์แม็ง และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเขาย้ายมาอยู่บาร์เซโลน่า ที่ซึ่งเขาประสบความสำเร็จสุดขีดจนมีเงินมากพอจะออกไปเฉลิมฉลองความสำเร็จได้อยู่บ่อยๆ จนขาดซ้อมอยู่บ่อยครั้ง

ยังไม่ต้องพูดถึงตอนเขาย้ายไปเล่นลีกอิตาลี ที่คนดูมักพบว่าเขานั่งอยู่ข้างสนามบ่อยกว่าการได้ลงเล่นเป็นตัวจริง สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวโรนัลดินโญเองเคยเปรยว่า สำหรับเขาแล้ว ฝีเท้าที่ปรากฏในสนามนั้นเป็นพรสวรรค์มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ของการฝึกซ้อม

ส่วนกรณีของไทสัน เขากลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับนักชก ไม่มีใครปฏิเสธลีลาและความแข็งแกร่งที่เขามี พระเจ้าไม่เพียงมอบร่างกายทรงพลังมาให้เขาเท่านั้น หากแต่ยังมอบไหวพริบและเชิงมวยที่ยากจะเลียนแบบมาให้ด้วย ซึ่งเขาได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าแล้วในช่วงวัยหนุ่ม ก่อนจะพบว่าของขวัญจากพระเจ้านั้นดูจะหมดอายุเร็วเหลือเกิน…”

 

ขั้นบันไดของเด็กเล็ก พัฒนาการตามวัยที่ไม่ควรกระโดดข้าม

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“เด็กคนหนึ่งกล้าที่จะก้าวขา ลุกขึ้นเดิน ตั้งไข่ เกิดจากการที่ว่าเขารู้ว่าจะมีคนที่คอยพยุงเขาด้านหลัง เด็กที่ไม่กล้าลุกขึ้นเดิน ไม่กล้าที่จะคลานไปตรงโน้นตรงนี้ เพราะเวลาที่เขาหันกลับมา เขาไม่เจอใคร”

101 สนทนากับ ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้กับพ่อแม่

ว่าด้วยความทุกข์ใจของพ่อแม่ ผ่านประสบการณ์การตอบคำถามในเพจของครูเม แนวคิดการเลี้ยงลูกที่ส่องไปเจอรายละเอียดสำคัญมากมาย พัฒนาการสมวัย ไปจนถึงการสอบเข้าโรงเรียน

“หากพ่อแม่ไม่มีอยู่จริง บันใดขั้นที่หนึ่งถูกตัดไป แม้พ่อแม่จะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ในขั้นต่อๆ ไป แต่สุดท้ายลูกก็ต้องการพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ก่อนที่จะไปเรียนรู้โลก”

“เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ผิด เราอย่าเพิ่งลงโทษด้วยการฟาด หรือวิธีรุนแรง ให้พาเขาออกมาในจุดที่ไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำให้เขาหรือพ่อแม่บาดเจ็บ พอสงบ ค่อยสอนเขาว่าไม่ควรตีแม่ และสิ่งที่เขาควรทำคืออะไร เช่น หนูต้องขอดีๆ หรือหนูต้องรอก่อน กี่นาที เด็กต้องการรูปธรรม บอกว่าอย่าตีแม่อย่างเดียว เขาจะไม่รู้ว่าไม่ตีแม่แล้วให้ทำยังไง”

“ในเด็กปฐมวัย เขายังมีสมาธิไม่เกินครึ่งชั่วโมงเลย แต่เราบังคับให้เขานั่งเขียนหนึ่งชั่วโมง มันเกินวัยเขาไปมาก แล้วเด็กเขามีพลังงานเหลือเฟือ แต่เรากลับให้เขาควบคุมพลังงานนั้นไว้ เพื่อมีสมาธิในการเขียน ดังนั้นการเร่งเกินวัยก็กลับกลายเป็นการลืมสิ่งที่สำคัญในวัยนั้น”

“ต้องถามตัวเองว่า การที่เราโพสต์รูปลงโซเชียลบ่อยๆ เราทำเพื่อตอบสนองตัวเราเอง หรือตอบสนองต่อลูก ถ้ามันไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรกับลูกเรา ก็ละมันบ้างก็ได้ เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นหลักฐานที่อยู่ในนั้นไปตลอด ถ้าเด็กโตขึ้นมาแล้วไม่โอเคกับรูปนี้ พ่อแม่จะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้”

“ภาครัฐหรือว่าระบบใหญ่ควรเข้ามาดูแลในการกระจายคุณภาพให้กับทุกๆ โรงเรียน ลดการสอบไม่ได้หมายความว่าจะเข้าโรงเรียนไหนก็ได้ พ่อแม่ก็จะเลือกอีก เพราะคุณภาพโรงเรียนไม่เท่ากัน สุดท้ายก็จะแห่ไปจับฉลาก มีปัญหาเรื่องใต้โต๊ะตามมาอีก ดังนั้น ภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ก็ต้องช่วยเข้ามาดูแลการกระจายคุณภาพให้มันใกล้เคียงกัน แต่มันก็ยังเป็นแค่ความฝันของเราประเทศไทยใช่ไหมคะ”

 

Mid-Carreer Crisis ปัญหาใหญ่ของวัยกลางคน

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

สำนักโพลอย่างแกลล็อพ (Gallup) เคยทำสำรวจคนในกลุ่มเจนเอ็กซ์ (คือ 40 กว่าๆ ขึ้นไปจนถึง 50) พบว่า ทั้งเจนเอ็กซ์และบูมเมอร์สที่เราอาจเห็นว่าชีวิตเริ่มลงตัวแล้วอะไรต่างๆ มีแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่รู้สึกว่าตัวเอง ‘ผูกพัน’ หรือเป็นส่วนหนึ่งของงาน

คำว่า ‘ผูกพัน’ ในที่นี้มาจากคำว่า engaged คือคนคนนั้นรู้สึกว่าตัวเอง engage กับงาน หรือมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของงาน (หรือที่ทำงาน) มากน้อยแค่ไหน

เขาบอกว่า คนจำนวนครึ่งหนึ่งที่อยู่ในเจนเอ็กซ์และบูมเมอร์ส นั้น แค่มาทำงาน (just show up) มารับเงินเดือน แล้วก็ทำงานให้มันเสร็จๆ ไป ตามความต้องการขั้นต่ำของบริษัท (minimum required) โดยมีถึงหนึ่งในห้าที่เข้าข่าย actively disengaged คือไม่ใช่แค่อยู่ไปวันๆ เท่านั้น แต่รู้สึกจริงจังเลยว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม)

ที่น่าสนใจก็คือ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ จะมีรายงานความเครียดและความเจ็บป่วยต่างๆ สูงกว่าคนในกลุ่มอื่น รวมถึงมีระดับฮอร์โมนคอร์ติโซลและความดันโลหิตสูงกว่าด้วย ทั้งยังมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนกลุ่มอื่นถึงสองเท่า

ที่จริงแล้ว ใครๆ ก็รู้สึกไม่พึงพอใจกับที่ทำงานหรือการทำงานของตัวเองได้ทั้งนั้น แต่คนที่อยู่ในวัยกลางคน (midlife) จะมีความรู้สึกไม่พึงพอใจมากกว่าคนกลุ่มอื่นเล็กน้อยด้วยหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่อยู่ในวัยนี้รู้สึกว่าตัวเอง ‘ถูกล็อก’ (locked into) อยู่ในหน้าที่การงานของตัวเอง

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เขียนถึงวิกฤตวัยกลางคน และวิกฤตกลางอาชีพ ความทุกข์ของคนเจนเอ็กซ์ ปัญหาใหญ่ที่คนอาจไม่ค่อยพูดถึงมากนัก

 

 

Climate Change กับการคิดใหม่เรื่องผังเมือง และการปรับรูปแบบชีวิตของคนในเมือง : ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์

 

โดย ปรัชญา กำลังแพทย์

“เรื่องน้ำก็มีส่วนที่ทำให้คนตัดสินใจย้ายเข้ามาในเมือง เช่น เพาะปลูกไม่ได้ ก็ต้องมาหางานในเมือง เพราะฉะนั้นการกระจายเรื่องคุณภาพชีวิตไปที่กึ่งเมือง (suburban) ก็สำคัญ ประเทศที่พัฒนาได้ไกลเขาจะพัฒนา suburban ให้มีศูนย์กลางเมืองเอง และต้องตอบโจทย์ชีวิตคนด้วย ไม่ใช่ suburban แบบของไทยที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยและมีห้างสรรพสินค้าใหญ่เท่านั้น

“แนวโน้มของคนรุ่นเจน Y เจน Z ในตอนนี้คือคนเลือกเมืองก่อนงานแล้ว อย่างคนรุ่นเจน X จะเลือกงานก่อนเมือง แต่คนรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่ได้ยึดติดกับอาชีพและประเภทงาน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสูงมาก คำถามคือ เมืองรองรับหรือเปล่า ได้คิดหรือไม่ว่าคนกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาทำให้เศรษฐกิจของเมืองโตเขามีฐานคิดแบบไหน

“คนรุ่นเจน Y เจน Z มองเรื่องต้นทุนเปลี่ยนไป เช่น การตัดสินใจมีลูกก็จะมองต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกเขาเกิดมาแล้วต้องจ่ายค่าน้ำแพงมาก ต้องซื้ออากาศหายใจหรือเปล่า หรือบางคนมองไปถึงว่าขนาดตัวเองยังเอาไม่รอด ของแพงขึ้น ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่าย แล้วทำไมเขาต้องมาลงทุนอะไรที่หนาหนัก เช่น สร้างครอบครัว การศึกษาสูงๆ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่เขาเลือกลงทุนกับประสบการณ์ เรื่องทักษะพื้นฐาน เพราะเขามองว่าการมีอสังหาริมทรัพย์ มีปริญญาสูงๆ ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าจะมีคุณภาพที่ดีได้ในอนาคต”

101 คุยกับ ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ว่าด้วยประเด็น climate change กับการเปลี่ยนแปลงของเมือง ทั้งในเชิงกายภาพและวิถีชีวิตของคน

 

กัญชาสนทนา กับ ‘เล็กฮิป’ พันธุ์หมาบ้า

 

โดย ภูริช วรรธโนรมณ์

“ไม่ว่าสมัยไหนมันก็มีความเสี่ยงเท่ากันหมดแหละ อยู่ที่ว่าเราจะเกมหรือเปล่า จะโดนค้นหรือเปล่า จะโดนตรวจฉี่หรือเปล่า แค่นั้นเอง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกฎหมายเท่าไหร่ มันขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าหน้าที่…”

ภูริช วรรธโนรมณ์ สนทนากับ ‘เปี๊ยก’ วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์ วัย 66 ปี มิตรสหายที่ ชาติ กอบจิตติ นำมาสร้างเป็นตัวละครในพันธ์ุหมาบ้า นาม ‘เล็กฮิป’ ผู้มีลักษณะลุ่มหลงและเคลิบเคลิ้มไปกับมนต์เสน่ห์แห่งกัญชามาทั้งชีวิต

เขาคิดอ่านอย่างไรเกี่ยวกับกัญชา ในวันเวลาที่ประชาชนกำลังงุนงงกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์ว่าตกลงจะเสรีหรือไม่เสรี ?

แล้วในฐานะผู้ศรัทธาใน ‘ศาสนาเพื่อน’ หากต้องเลือกระหว่างเพื่อนกับกัญชา เขาจะเลือกอะไร ?

 

“มันไม่มีทางเสรีได้ เพราะมันเป็นการผูกขาดการค้าไปแล้ว เหมือนกับบุหรี่ เหล้า ก็เป็นมานานแล้ว ดูสมัยก่อนสิ มีแค่เหล้าแม่โขง มีเบียร์อยู่เจ้าเดียว กว่ารายเล็กๆ เขาจะต่อสู้ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ต้องต่อสู้กับทุนผุกขาด”

ถามกลับว่าเขาจะอนุญาตให้ปลูกได้จริงหรือเปล่า เหมือนกับตอนนี้ที่ทางการห้ามคนไทยผลิตน้ำมันกัญชาเอง แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับมีแผนจะไปนำเข้ามาจากเมืองนอก เพื่อเอามาขาย ซึ่งจะยิ่งแพงไปใหญ่ ทั้งที่เราสามารถผลิตเองได้

ถ้ามันเป็นยาจริง คนเชื่อถือว่ามันเป็นยา ก็ควรจะผลิตในเมืองไทย ไม่งั้นคนที่ต้องการก็ไม่มีกำลังซื้อ”

“สมัยก่อนมันมีแต่แบบออแกนิค เพราะว่ายังไม่มีปุ๋ยเคมี อย่าลืมสิว่าบางทีกัญชามันไม่ต้องปลูกด้วย ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติก็มี แต่ระยะหลังมันเริ่มกลายเป็นเรื่องของธุรกิจและการค้า คนจึงหันมาปลูกเพื่อนำมาขาย ยิ่งคนมีความต้องการที่จะใช้เยอะ ก็ต้องเร่งการผลิต ผู้ปลูกก็ต้องหาปุ๋ยหายามาใส่ให้งอกงามตามอุปสงค์ของผู้ใช้

พูดกันตามตรง มันไม่น่าจะใส่แค่ปุ๋ยเคมี บางทีก็ฉีดยาฆ่าแมลงด้วย จริงๆ ไม่ต้องไปดูแลอะไรมาก เพราะมันแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีตัวอะไรมากิน”

“หลายๆ ตัวละคร (ในพันธุ์หมาบ้า) อาจมีการแต่งเติมเรื่องราวบ้าง แต่สำหรับเล็กฮิป แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เป็นผมเลยก็ว่าได้ มันใกล้เคียงกับชีวิตของเรา อย่างอ๊อตโต้นี่ก็เหมือนกัน

ถ้าพูดกันเปิดอก ผมว่ากัญชามันเลิกได้อยู่แล้ว แต่สำหรับเพื่อน ลองได้คบกันมันก็ไม่มีวันที่จะเลิกลา อย่างที่ชาติ กอบจิตติ เคยนิยามไว้ว่า ‘เพื่อนเป็นศาสนา’ แค่นั้น”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนกันยายน 2562

 

 

ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

โดย 101 One-On-One 

ไทยยังต้องอยู่ร่วมกับสารพิษในนาม ‘พาราควอต’ ต่อไป !!!

หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนพาราควอต

สวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้เป็นวัตถุอันตรายที่ 53 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว

รวมถึงประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา ฯลฯ ประกาศแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้

“กรรมการในสมาคมวัตถุอันตรายที่ปัจจุบันผลักดันพาราควอต ตอนรับราชการก็ผลักดันกฎหมายพันธุ์พืช GMO ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ อีกคนหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมี เมื่อคุณออกจากข้าราชการก็มาทำงานให้กับบรรษัทเอกชนข้ามชาติ แล้วบรรษัทก็มีกลไกที่คุมกลไกรัฐอีกที เพราะว่าคุณก็ยังมาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย”

101 ชวนอ่านวิบากกรรมคนไทยภายใต้อำนาจอันซับซ้อนผ่านทรรศนะของ “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) (อีกรอบ) ที่จะบอกเล่าทุกประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นประจักษ์พยานบนโต๊ะถกเถียงนโยบาย ผ่านการนำสนทนาโดย “กรรณิการ์ กิจติเวชกุล”

 

เกรตา ธันเบิร์ก โฉมหน้าของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่

 

โดย เพชร มโนปวิตร

“พวกคุณบอกว่าคุณรักลูกหลานของคุณเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา พวกคุณพูดกันแต่ว่าต้องก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความคิดแย่ๆ แบบเดิมที่ทำให้เราต้องผจญวิกฤติการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งๆ สิ่งที่น่าจะต้องทำที่สุดคือการดึงเบรกฉุกเฉิน

พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริง และทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เด็กๆ ทั้งหลาย”

ข้างต้นนี้คือบางส่วนในสุนทรพจน์ของเกรตา ธันเบิร์ก

ในที่ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 นอกจากสุนทรพจน์อันลือลั่น เกรตายังอยู่เบื้องหลังการลุกขึ้นมาประท้วงของเยาวชนในโรงเรียนของหลายประเทศ หรือที่เรียกว่า School Strike for the Climate Movement เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาสนใจการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังเสียที เกรตาเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงคือการขบถและแสดงอารยะขัดขืน (civil disobedience)

เกรตาเป็นเด็กออทิสติก แต่เธอเข้าใจจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเธอดี “หนูอาจจะเห็นโลกแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง หนูมีความสนใจพิเศษเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กออทิสติกที่มักจะมีความสนใจเฉพาะทาง” เธออธิบาย สำหรับเกรตา นั่นคือการทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

เพชร มโนปวิตร เล่าเรื่องเกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในวัย 15 ปี ชาวสวีเดน ที่กล่าวสุนทรพจน์เตือนสติบรรดาผู้นำประเทศและนักการเมืองระดับสูงในงานประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (COP 24) ที่โปแลนด์ได้อย่างตรงใจคนทั้งโลก

 

“ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

คดีของลัลลาเบล พริตตี้ที่ถูกมอมเหล้าจนเสียชีวิต เป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้ แม้คดีความจะยังไม่สิ้นสุด แต่ผู้คนก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงกล่าวโทษผู้กระทำผิด ในทางกลับกัน ก็ยังมีบางเสียงที่กล่าวโทษเหยื่อว่าเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องไม่ดีกับตัวเอง

ลัลลาเบลเป็นเพียงหนึ่งในผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ประสบชะตากรรมน่าเศร้า และการกล่าวโทษเหยื่อ หรือ Victim Blaming ก็ยังดำเนินต่อไป เป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้หญิงไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม — ถ้าโชคดียังมีชีวิตอยู่

101 ทำสกู๊ปว่าด้วยเรื่องการกล่าวโทษเหยื่อ ไล่เรียงตั้งแต่สัมภาษณ์ ‘เด็กเอนเตอร์เทน’ ผู้เคยถูกกระทำ หน่วยงานช่วยเหลือ ไปจนถึงอาจารย์ที่ทำงานด้านสิทธิสตรี เพื่อให้เห็นว่าปัญหาสำคัญของความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย เราอาจเป็นส่วนหนึ่งในการตอกย้ำโดยไม่รู้ตัว

“เวลามีความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น เรามักมุ่งที่จะหาคนผิดคนถูก ซึ่งคนที่ถูกกล่าวโทษ มักเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม และคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดมักจะถูกต่อว่าเนื่องมาจากเพศสภาพ สังคมไทยมักไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความเปราะบางที่มีผลต่อเรื่องเพศ โดยเฉพาะเพศหญิงที่มักจะถูกกล่าวโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นเหยื่อของระบบ

“ในเชิงโครงสร้าง มักจะมีคำกล่าวว่า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 1 จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 2 จากกระบวนการยุติธรรม นั่นหมายถึงตลอดต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจไปจนถึงการตัดสินในชั้นสูงสุดผู้หญิงมักจะถูกกล่าวโทษ (blaming) ตลอดทาง และเมื่อเรื่องนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน ผู้หญิงก็จะตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 3 จากสื่อมวลชนและผู้คน กลายเป็นการถูกกระทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

“มีมายาคติที่ฝังรากลึกในไทย สังคมมีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง มีภาพอุดมคติของผู้หญิงที่ดี เช่น เราจะได้ยินคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี เมียที่ดี พอผู้หญิงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความเป็นผู้หญิงดีได้ เช่น ไปถูกล่วงละเมิดทางเพศมา สังคมจะบอกว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมในเรื่องเพศที่น่าสมเพช คุณจึงไม่ควรจะถูกข่มขืน…”

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยากรในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีมาอย่างยาวนาน กล่าวถึงปัญหาการกล่าวโทษต่อผู้หญิงในคดีความรุนแรงทางเพศ

ในภาพฝัน คนมองว่าผู้หญิงทุกคนควรจะบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแก้วใส ขณะที่ในโลกจริง ปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกิดขึ้นบ่อยจนยากจะควบคุม ในเรื่องเหล่านี้เองที่ทำให้สังคม ‘รับไม่ได้’ และเลือกที่จะกล่าวโทษ เมื่อสิ่งที่เป็นจริงไม่เป็นไปตามภาพในอุดมคติ

 

พี่ๆ ข่มขืนหนูซ้ำทำไม?

 

โดย อดิศร เด่นสุธรรม และ สมคิด พุทธศรี

ทุกครั้งที่มีข่าวผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ คำที่เรามักได้ยินบ่อยคือ แต่งตัวโป๊เองรึเปล่า, ไปอยู่กับผู้ชายสองต่อสองก็สมควรแล้ว ฯลฯ กลายเป็นว่าเหยื่อที่โดนกระทำ กลับต้องโดนกระทำซ้ำอีกจากคำพูดของคนใกล้ชิดและโลกออนไลน์

คำถามที่มีทัศนคติเชิงลบต่อเหยื่อที่เป็นผู้หญิงลักษณะนี้ ทั้งจากบุคคลทั่วไป รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม (เช่น ตำรวจสอบสวน) เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ผู้หญิงไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จากสถิติของศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) ปี 2559 บอกว่า มีผู้หญิงกว่า 17,000 คน ถูกกระทำความรุนแรง แต่มีเพียง 749 รายเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เราเองก็อาจเคยพูดหรือพิมพ์คำเหล่านั้นออกไปไม่รู้ตัว ในทางกลับกัน คำถามที่ดี ก็สามารถช่วยผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงเห็นทางออกของปัญหา รวมไปถึงส่งเสริมให้พวกเธอกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

101 ร่วมกับ TIJ ทำอินโฟกราฟิกว่าด้วยการตั้งคำถามที่ดี โดยไม่ทำร้ายผู้ที่โดนกระทำ อย่างน้อยๆ เราก็จะไม่เป็นส่วนหนึ่งในการข่มขืนซ้ำ เช่น

1. ไม่ตั้งคำถามเชิงลบ หรือมีอคติ
2. ตั้งคำถามด้วยการใช้หลักการ 5 ให้ 5 ไม่

 

ผลงานคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกันยายน 2562

 

Work – ไร้ – Balance : ชีวิตเลือก(ไม่)ได้

โดย 101world
คุณเลือกอะไร ระหว่าง งานกับชีวิต?
คุณเลือกงานและชีวิตที่ Work – Life Balance ได้ หรือจริงๆ คุณเลือกได้แค่งานและชีวิตที่ Work – ไร้ – Balance
“Work – ไร้ – Balance : ชีวิตเลือก(ไม่)ได้”
อำนวยการผลิตโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผลิตโดย : The 101 Percent
คุณรู้หรือไม่ บางคนจำเป็นต้องเลือกงานแลกกับชีวิต เพราะไม่มีทางเลือก
และบางคนต้องเลือกงานแลกกับชีวิต เพราะเป็นสิ่งจำเป็น
เรามีสิทธิเลือกชีวิตกับงานที่เราต้องการไปพร้อมกันได้หรือเปล่า?
Work – Life Balance มีอยู่จริงหรือไม่?
คุณเลือกได้ที่จะช่วยแชร์เพื่อส่งเสริมชีวิตการทำงานให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
พร้อมเป็นพลังช่วยกันผลักดันให้สิทธิการทำงานของคนไทยเทียบเท่าประเทศอื่นๆ
อยากให้ดู
อยากให้แชร์
อยากให้ทุกคนมีชีวิตการทำงานที่สามารถเลือกได้
#workไร้balance #worklifebalance #สสส

Thai Fighter : สังเวียนเดือดประเทศไทย

 

โดย 101world

สิ้นสุดการอคอย กับไฟท์ประวัติศาสตร์ ระหว่าง 2 โคตรมวยแห่งยุค
“ประเทศไทยขวานทองคำ” ปะทะ “โลกใหม่ไวกว่าเดิม”

ศึกครั้งนี้ไม่มีคำว่าปรานี คนที่สู้และปรับตัวได้เท่านั้น ถึงจะอยู่รอด!!!

สังเวียนแห่งการแข่งขันอันดุเดือด ใครจะเป็นฝ่ายชนะ…
หมัดค่าแรงงานถูกของ “เจ้าขวานไทย” ยังจะใช้กับ “โลกใหม่” ได้อยู่หรือเปล่า?

“เจ้าขวานไทย” จะปรับตัวรับมือกับอัปเปอร์คัทนวัตกรรมใหม่ ของ “โลกใหม่” ได้หรือไม่?

และ “เจ้าขวานไทย” จะต้องงัดอาวุธไม้ไหน เพื่อเอาชนะน็อค “โลกใหม่”?

“Thai Fighter : สังเวียนเดือดประเทศไทย”

อำนวยการผลิตโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผลิตโดย The 101 Percent

ประกาศศักดา ร่วมกันส่งแรงเชียร์
ร่วมกันส่งแรงแชร์เฮือกสุดท้ายให้ “เจ้าขวานไทย” เอาชนะโลกใหม่ 4.0 ไปด้วยกัน!!!

#sponsor #สภาพัฒน์ #futurisingthailand #สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก

 

จากประตูแดง สู่พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

 

โดย เมธิชัย เตียวนะ,  ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

วันที่ 24 กันยายน 2519 เป็นวันครบรอบที่ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา ช่างไฟฟ้าสองคน เสียชีวิตและถูกแขวนคอที่ประตูบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม หลังจากออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการบวชกลับเข้าประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร

ภายหลัง ประตูเหล็กเก่าค่ำคร่าที่มีสนิมสีแดงกระจายอยู่รอบ ประตูที่อยุติธรรมประจานตัวเองด้วยการแขวนร่างประชาชน ถูกขนานนามว่า ‘ประตูแดง’

5 ตุลาคม 2519 นักศึกษาชมรมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงละครจำลองเหตุการณ์แขวนคอดังกล่าวที่ลานโพธิ์ ก่อนที่ภาพการแสดงจะถูกเผยแพร่และถูกใช้เป็นชนวน โหมความรุนแรงสู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เกือบ 43 ปี หลังจากเหตุการณ์แขวนคอ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ประตูแดงถูกขนย้าย เพื่อนำไปเก็บรักษา รอจัดแสดงเป็นหนึ่งในวัตถุทางประวัติศาสตร์ของ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” พิพิธภัณฑ์ที่จะจัดแสดง เผยแพร่องค์ความรู้ เหตุการณ์แวดล้อม และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งหมด เพื่อสร้างความทรงจำร่วม และชวนให้สังคมทบทวนความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่ต้องการให้เกิดซ้ำ

101 Documentary “จากประตูแดง สู่พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” สะท้อนภาพและความรู้สึกของการจัดการความทรงจำครั้งใหม่ในนาม ‘พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา’ ผ่านบรรยากาศวันถอดรื้อประตูแดง และบทสัมภาษณ์ อ้อ – ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

 

Hong Kong Sunday : บางเรื่องเล่าจากฮ่องกง

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย,กมลชนก คัชมาตย์

เกาะฮ่องกงที่เคยเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของโลก เคยเป็นหมุดหมายของเหล่านักท่องเที่ยว เคยเป็นภาพจำของหนังเจ้าพ่อ และเป็นอีกหลายอย่างในสายตาของหลายคน

ตอนนี้ ในวันที่ฮ่องกงมีการประท้วงใหญ่ ทั่วโลกจับตามองความเป็นไปอย่างใกล้ชิด มีทั้งเสียงวิพากษ์ ตำหนิ ชื่นชม ให้กำลังใจ ฯลฯ ตามแต่จะเลือกมองด้วยแว่นสายตาแบบไหน

เมื่อมองทางไกลอาจเห็นไม่ค่อยชัด แต่เมื่อเข้าใกล้ขึ้น ได้เปียกฝนบนฟ้าเดียวกัน ขึ้นรถไฟขบวนเดียวกัน ดมกลิ่นอาหารในบรรยากาศเดียวกัน

ความใกล้ชิดแบบนั้น ทำให้เห็นว่าฮ่องกงยังมีวิถีแบบ ‘Hong Kong Sunday’ ที่ชุ่มฉ่ำและเฉื่อยชา

101 เก็บบรรยากาศฮ่องกงอีกบางมุมที่ไม่ได้มีแค่แก๊สน้ำตา — เมื่อชีวิตยังดำเนินไป

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “นักปกป้องสิทธิในไทยหายไปไหน”

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

ใครจะการันตีว่า ‘บิลลี่’ จะเป็นคนสุดท้ายที่ถูกอุ้มฆ่า

กว่า 5 ปีที่ ‘บิลลี่’ หรือ พอละจี รักจงเจริญ หายตัวไปในป่าแก่งกระจาน การพบชิ้นส่วนกระดูก ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามว่า “ใครฆ่าบิลลี่” และ “ฆ่าทำไม”

วิธีคิดฆ่าตัดตอนแกนนำชุมชน ไม่ได้เกิดแค่กับชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น ดั่งเช่นกรณี ‘เด่น คำแหล้’ แกนนำชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ ก็ถูกอุ้มหายและมาพบศพในภายหลัง ส่วน ‘สุภาพ คำแหล้’ ภรรยาผู้ตาย กลับถูกสั่งจำคุกข้อหาบุกรุกป่า แม้ว่าทั้งคู่พยายามปกป้องสิทธิที่ทำกิน

แต่ไม่เพียงผู้เรียกร้องสิทธิในที่ทำกินเท่านั้น ผู้เห็นต่างทางการเมืองก็ตกเป็นเหยื่อด้วย ดั่งเช่นกรณี ‘สยาม ธีรวุฒิ’ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางเมืองหลังรัฐประหาร 2557

บางคนถูกทำให้หายสาบสูญ บางคนถูกพบเป็นศพ ด้วยวิธีการฆ่าอันป่าเถื่อน

ปัจจุบัน ไทยมีผู้สูญหายมากถึง 86 กรณี ส่วนใหญ่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเด็นจึงไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนบุคคล แต่เป็นอาชญากรรมโดยรัฐใช่หรือไม่

แม้ว่าไทยจะเคยลงนามในกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

แต่ไทยยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่ป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมานได้ จึงไม่มีใครการันตีว่าคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิฯ จะไม่ถูกกระทำเช่นเดียวกับกรณีที่ผ่านมา

101 ชวนฟังเสียงญาติของเหยื่อผู้สูญหาย ผ่านสารคดีข่าวสั้น ‘SIDE B’ อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “นักปกป้องสิทธิในไทยหายไปไหน” ซึ่งบางทีอาจเป็นเสียงที่สังคมไทยไม่อยากรับฟัง ?

 

Heart of Early Childhood : หัวใจของวัยอนุบาล

 

โดย 101world

เด็กเล็กวัยอนุบาลวิ่งเล่นหกล้มร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจ แต่ถ้าเด็กวัยนี้ต้องร้องไห้เพราะถูกบังคับให้ท่องจำ เรียนพิเศษ ทำการบ้าน นั่งหลังขดหลังแข็งเป็นชั่วโมงๆ เพื่อการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่น่าใช่ความปกติ!

ยังไม่นับว่าความเครียดและการเสียน้ำตาดังกล่าวจะส่งผลต่ออนาคตชีวิตเด็กๆ อย่างไร หากว่ากุลบุตร-กุลธิดา สอบไม่ผ่าน, แล้วใครคือผู้ร้ายที่ซ่อนอยู่ในน้ำตาเด็กน้อยเหล่านั้น, พ่อแม่ ? ครู ? โรงเรียน ? ตัวเด็ก ? ครอบครัว ? เวรกรรม ? ฯลฯ

เปล่าประโยชน์จะหาตัวผู้กระทำผิดแล้วจับมาประณามลงโทษ ทว่าหากเราๆ ท่านๆ เห็นพ้องตรงกันว่าเบ้าหลอมที่ดีและเหมาะสม จะสร้างเด็กเล็กให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าท่า ก็ควรกลับมาที่โจทย์ว่าเบ้าหลอมแห่งพัฒนาการของเด็กปฐมวัย อยู่ที่ไหน การสอบแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือยัง

101 ชวนเปิดใจคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในเรื่อง ‘Heart of Early Childhood : หัวใจของวัยอนุบาล’ หนึ่งในซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก : ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่’ ประจำเดือนกันยายน

 

รายการ 101 One-on-One เดือนกันยายน 2562

 

101 One-On-One EP.86 “ตัวตน ความคิด และชีวิตม่วนๆ” ของ ไผ่ ดาวดิน

 

โดย 101 One-On-One 

::LIVE:: 101 One-On-One Ep.86  ตัวตน ความคิด และชีวิตม่วนๆ ของไผ่ ดาวดิน

ชวน ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว มาคุย ‘ม่วนๆ’ ในสไตล์ลูกอีสาน

ตัวตนของเขาเป็นอย่างไร เพลงที่ฟัง-หนังที่ดูเป็นแบบไหน หลังออกจากเรือนจำเขาทำอะไรอยู่ มีความฝัน-ความหวังอย่างไรกับชีวิต บ้านนี้เมืองนี้ในสายตาของเขาเป็นแบบไหน และจะก้าวเดินไปทางไหนต่อ

คุยสบายๆ พากย์ไทยบ้าง พากย์อีสานบ้าง ตามแต่จังหวะจะพาไป

ชวนคุยโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

101 One-on-One EP.87 “อินเดียในกระแสโลก” กับ สุรัตน์ โหราชัยกุล

 

โดย 101 One-On-One 

::LIVE:: 101 One-on-One Ep.87  “อินเดียในกระแสโลก”

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2019 นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ดำเนินนโยบาย ‘ช็อกโลก’ ด้วยการประกาศยกเลิกสถานะพิเศษให้กับรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ที่เคยได้รับนับตั้งแต่ปี 1950

การเคลื่อนไหวของอินเดียครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียใต้อย่างรุนแรง เพราะส่งให้ข้อพาทของอินเดีย ปากีสถาน และจีน ร้อนแรงขึ้นโดยทันที

บ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของอินเดีย แต่ก็มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่า อินเดียไม่อยากเป็นเพียงมหาอำนาจของเอเชียใต้

เราควรเข้าใจอินเดียอย่างไร และอะไรคือนัยอันแหลมคมของอินเดียต่อภูมิภาคและโลก

คุยกันเรื่องอินเดียแบบลึกๆ กับ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชวนคุยโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

101 One-on-One EP.88 “อ่านใจนักวิจารณ์วรรณกรรม” กับ สุธิดา วิมุตติโกศล

 

โดย 101 One-On-One 

‘อ่านใจนักวิจารณ์วรรณกรรม’

คุยกับ สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ‘อ่านออกเสียง

ในฐานะนักวิชาการ และนักวิจารณ์วรรณกรรม เธอประเมินสถานการณ์ด้านการอ่าน-การวิจารณ์ในสังคมไทยอย่างไร

วัฒนธรรมการอ่านแบบไทยๆ ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดแบบไหน พื้นที่การวิพากษ์วิจารณ์มีความสำคัญอย่างไร และการอ่าน-การวิจารณ์ จะช่วยยกระดับความคิดผู้คนและสังคมได้อย่างไร

เปิดความคิด เปลือยความในใจ จากประสบการณ์ตรงทั้งในและนอกห้องเรียน

ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

101 One-on-One EP.89 “70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน” กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

โดย 101 One-On-One 

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

1 ตุลาคม 2019 สาธารณรัฐประชาชนจีนจะฉลองวันชาติครั้งที่ 70 และถือนับเป็นวันเกิดครบรอบ 70 ปีของวันสถาปนา “สาธารณรัฐ” ด้วย

ทั่วโลกต่างจับตามองการเฉลิมฉลองใหญ่ครั้งนี้ เพราะเป็นการฉลองภายความท้าทายของการเมืองภายในจีน และความผันผวนของระเบียบโลกที่อาจกลายเป็นสงครามเย็น 2.0

อ่านจีน เข้าใจโลกผ่าน ผ่านประวัติศาสตร์และอนาคตของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save