fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2562

 

 

 

Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

 

โดย นรา

ประเด็นแง่คิดคติธรรมของหนัง ไม่ได้พูดถึงเรื่องธรรมะชนะอธรรม ดังเช่นที่เคยเป็นแก่นเรื่องหลักในหนัง Batman ทุกฉบับที่เคยสร้างกันมา

ด้านหนึ่ง Joker ก็สะท้อนถึงสังคมอันเลวร้ายที่สามารถผลักไสให้คนตัวเล็กๆ ไร้ปากเสียงก้าวล่วงถลำกลายเป็นอาชญากรได้อย่างไร ขณะเดียวกันในแง่มุมตรงข้าม อาชญากรรมหรือการกระทำที่เป็นเหตุร้ายขั้นสามัญธรรมดา ก็สามารถกลายเป็นไม้ขีดไฟ จุดชนวนให้สังคมที่มีปัญหาและความเลวร้ายต่างๆ สั่งสมก่อตัวจนเข้าขั้นสุกงอม ลุกลามเป็นไฟไปสู่วิกฤตโกลาหลได้ง่ายดายเพียงไร

หากตัดรายละเอียดปลีกย่อยที่เชื่อมโยงเข้าสู่ความเป็นหนังชุด Batman ออกไป Joker ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเอง และแน่นอนที่สุดคือ ไม่หลงเหลือคราบไคลความเป็นหนังประเภทซูเปอร์ฮีโรให้เห็นกันอีกเลย กระทั่งว่าไม่ใช่หนังแอ็คชันเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่หนังเรื่อง Joker เป็นและทำออกมาได้ดียิ่งคือ หนังดรามาหนักๆ ที่พูดถึงตัวละครในเชิงจิตวิเคราะห์ เท่าๆ กับที่เป็นหนังสะท้อนภาพปัญหาสังคมปัจจุบันร่วมสมัย (ซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงแค่ว่า จะต้องเป็นสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่แทบจะเป็นปัญหาสังคมในระดับสากลที่เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง)

จริงอยู่ว่า Joker เป็นงานโชว์การปล่อยของแสดงฝีมือของท็อดด์ ฟิลิปส์ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้ดียิ่ง สมควรแก่การชื่นชมทุกประการ แต่ยังมีอีกคนที่โดดเด่นและบดบังรัศมีของผู้กำกับไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือ การแสดงของฮัวคิน ฟินิกซ์ ซึ่งใช้ศัพท์สแลงของแวดวงฟุตบอลบ้านเรา ก็พูดได้ว่า เป็น ‘เดอะ แบก’ ตัวจริงของหนังเรื่องนี้

คอลัมน์ Deep Focus เดือนนี้ ‘นรา’ เขียนถึง Joker หนังที่สร้างแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่อเมริกามาถึงไทย ว่าด้วยความหม่นเศร้าของตัวละครโจ๊กเกอร์ที่ตีความใหม่โดย ฮัวคิน ฟินิกซ์

 

 

12 ชั่วโมง ก่อนเรือเล็กออกจากฝั่ง (ประชาธิปัตย์)

 

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

:: พริษฐ์ วัชรสินธุ ประเดิม ‘butterfly effect’ คอลัมน์บอกเล่าเบื้องหลังจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตทางการเมืองของเขาและสังคมการเมืองไทยในอนาคต ::
.
เริ่มตอนแรกด้วยการย้อนเล่าเหตุการณ์ 12 ชั่วโมงอันยาวนาน ก่อนตัดสินใจลาออกจากประชาธิปัตย์ หลังพรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

————————————

“ถ้าการเมืองของผมเป็นเรื่องของ ‘มิตรภาพ’ วันนั้นผมคงเลือกอยู่ต่อ เพื่อได้สานต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่หลายคนในพรรค

ถ้าการเมืองของผมเป็นเรื่องของ ‘ความก้าวหน้าทางอาชีพ’ วันนั้นผมคงเลือกอยู่ต่อ เพื่อได้สานต่อหลายโครงการที่ได้ริเริ่มไว้ พร้อมกับหาโอกาสเรียนรู้งานในสภากับบุคลากรหลายคนที่พร้อมไปด้วยประสบการณ์และความสามารถ

แต่ในเมื่อผมตัดสินใจตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานการเมืองแล้วว่า การเมืองของผมต้องเป็นเรื่องของ “อุดมการณ์” …

วันนั้นผมมีแค่ทางเลือกเดียว”

– พริษฐ์ วัชรสินธุ –

————————————

บ่อยครั้ง การเปลี่ยนแปลงใหญ่เป็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจเล็กๆ ณ ทางแยกแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตของสังคม

ดังคำกล่าวที่ว่า “พายุใหญ่บังเกิด เพียงเพราะผีเสื้อขยับปีก”

101 ชวนอ่านความคิดและประสบการณ์ของ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า อดีตแกนนำกลุ่ม New Dem อดีตสมาชิกและอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นประจำทุกเดือน ใน “butterfly effect” คอลัมน์บอกเล่าเบื้องหลังโมเมนต์สำคัญแต่ละครั้งที่ผีเสื้อตัวนี้ขยับปีก

 

 

สุชาดา​ จักรพิสุทธิ์ : จากบาดแผล​ 6​ ตุลา ถึงคำประกาศ “กูจะเป็นสื่อ”

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ในวาระรำลึก 43 ปี 6 ตุลา 101 สนทนากับ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหารศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) อดีตนักศึกษาชมรมนาฏศิลป์และการละคร ชมรมที่เล่นละครจำลองเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้า ก่อนเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา

ว่าด้วยความจริงในวันแสดงละคร บาดแผลจากการปลุกปั่นของสื่อ สู่คำประกาศว่า “กูจะเป็นสื่อ” ที่จะไม่ทำอย่างสื่อยุค 6 ตุลา

“ในวันนั้นเป็นวันสอบของธรรมศาสตรพอดี ทางชมรมคุยกันว่า เราต้องกระจายข่าวให้นักศึกษาทั่วไปรับรู้ว่ามีการฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คน (ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา) ที่นครปฐม เพราะเขาไปแจกใบปลิวต่อต้านการกลับมาของถนอมในคราบนักบวช”

“พอละครเล่นเสร็จก็กลับบ้าน เพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ๆ ธรรมศาสตร์ กลับไปก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องออกมาอีก กำลังกล่อมหลานอยู่ แล้วก็ได้ยินวิทยุยานเกราะออกอากาศ เราก็รู้สึกว่า ไม่ใช่อะ ไม่จริง เราอยู่ในเหตุการณ์ ยืนยันได้ว่าไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น แล้วด้วย sense ก็รู้สึกว่า มันกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น”

“เหตุการณ์นี้มันก็เป็นข่าวด้วยตัวของมันเอง สื่อก็นำเสนอข่าวไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่ข้อน่าสังเกตก็คือ ถ้ามันเป็นข่าวด้วยตัวของมันเอง ทำไมหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไม่นำเสนอภาพนั้นเหมือนกัน บางฉบับที่ออกพร้อมๆ กันแล้วใช้ภาพที่ดูไม่เหมือนก็มี แต่จะมีสองฉบับนี้ ที่เลือกเอาภาพของอภินันท์ที่มีรูปหน้ายาวมาลง”

“เราเชื่อว่าเขาทำโดยรู้ แล้วก็ทำโดยที่มีเจตนาจะยืนข้างรัฐ ยืนข้างแค่ไหนยังไง ได้อะไรบ้าง อันนี้ไม่รู้ ไม่ขอพูดถึง แต่เจตนาจะยืนข้างรัฐ อาจเพราะอคติที่เขามีอยู่ อย่างที่บอกว่า แนวคิดเกลียดชังผู้ไม่หวังดีต่อชาติและต้องทำลายทิ้งเพื่อรักษาระเบียบสังคม มันอยู่ในสังคมไทยมานาน สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่สูบเอาอากาศเหล่านี้เข้าไปมาตลอด”

“มันเป็นอาชญากรรมของรัฐ (State Crime) ซึ่งให้คิดยังไง คิดจนหัวทะลุก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่า ทำไม ทำไมมีรัฐที่ฆ่าประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะทำผิดแค่ไหน เช่นไม่เสียภาษี หนีรัฐ ไม่ยอมถูกเกณฑ์ส่วยแรงงาน หรืออะไรก็ตามตั้งแต่อดีต ก็ไม่มีรัฐที่จะฆ่าประชาชนได้”

“ตอนอยู่ในป่า นานๆ ครั้งจะได้เห็นหนังสือพิมพ์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มันก็รุนแรงอย่างที่เห็น แล้วเราก็จะอ่านกันทั้งกองทัพ เหมือนอ่านหน้าเสาธง บางทีมีวิทยุคลื่นสั้นก็เอามาเล่าข่าว เราก็รู้สึกโกรธแค้นที่สื่อตกเป็นเครื่องมือฝ่ายรัฐซะขนาดนั้น ไม่มีวิจารณญาณซะขนาดนั้น เหมือนเหยียบย่ำซ้ำเติมชะตากรรมของสังคม”

“เรามาทำงานใต้ดิน เป็นเมลหรือตัวกลางระหว่างคนที่ยังอยู่ในป่ากับครอบครัวเขา ทำให้ตัวเองติดตามข่าวสารข้อมูลมากขึ้น ความคิดของเราก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาว่า “สื่อแม่งไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยเปลี่ยนเลย” และ “กูจะทำงานสื่อ กูจะเป็นสื่อที่ไม่ทำแบบที่พวกมึงทำ”

 



‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองไทย : คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล ว่าด้วยยุคสมัยที่ใครๆ ก็ ‘ฟันธง’ ได้

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“คุณจะไม่สามารถเข้าใจการเมืองไทยได้เลย ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ มันคือ Elephant in the room คุณมองไม่เห็นมันไม่ได้ สมมติถามเล่นๆ ว่า ใครคิดว่าสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยไม่สำคัญบ้าง ผมว่าไม่มีใครกล้ายกมืออยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่ามันสำคัญ”

ในวาระที่งานสัปดาห์หนังสือกำลังขยับที่ทางใหม่ และภูมิทัศน์การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

101 ถือโอกาสสนทนายาวๆ กับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ว่าด้วยความเป็น ‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองไทย และการเมืองไทยในสายตา ‘ธนาพล’

“ใครที่บอกว่าหนังสือวิชาการไม่มีคนอ่าน เราไม่เชื่อ ถ้าเป็นแบบนั้นแปลว่ามันยังไม่มีหนังสือที่ดีพอรึเปล่า

เครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราใช้คือข้อสงสัย เพราะเราเชื่อว่าคำตอบมันอยู่ที่คำถาม คำถามก็มาจากข้อสงสัย ข้อสงสัยก็เริ่มมาจากการไม่เชื่อ หรือคุณอาจจะเชื่อก็ได้ แต่ไม่ควรเชื่อแบบ 100%

เราตั้งคำถามกับการเมืองภาคประชาชน ตั้งคำถามกับรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามกับสันติวิธี ตั้งคำถามกับทักษิณ ผ่านรูปแบบของการไปหาบทความมาบ้าง ไปสัมภาษณ์บ้าง สปิริตในการทำงานของเราคือเริ่มจากการไม่เชื่อ”

“ถ้าให้มองเกมการเมืองในสภา ผมไม่คิดว่าฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลได้ นอกจากว่ารัฐบาลจะล้มกันเอง แล้วถ้าพูดในฐานะแฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์ ผมฟันธงเลยว่า ประชาธิปัตย์จะไม่อยู่จนวันสุดท้ายของประยุทธ์แน่ๆ เพราะถ้าขืนอยู่จนวันสุดท้าย เลือกตั้งครั้งหน้ามีแต่เจ๊ง ต้องอย่าลืมว่าที่ผ่านมากี่สมัย ประชาธิปัตย์นี่เป็นนกรู้มาตลอด เขาหาทางชิ่งได้เสมอเพื่อรักษาตัวเขาไว้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าจะเป็นปัจจัย คือจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมว่าคนมีความคับแค้นเรื่องส.ว.กันเยอะ จากปฏิกิริยาในวันโหวตเลือกนายกฯ กระทั่งปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมาในพานไหว้ครู พูดง่ายๆ คือคนเขารู้กันหมดแล้วว่าประยุทธ์เลือกส.ว.เข้ามาในสภา เพื่อให้มาโหวตตัวเอง

ดังนั้น ครั้งหน้าผมว่าไม่ง่ายแล้วที่จะใช้วิธีเดิมอีกครั้ง ผมฟันธงเลยว่า ส.ว. จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ เอาง่ายๆ ว่าสมมติประยุทธ์ลาออก แล้วให้เลือกนายกฯ ใหม่ ยังไม่ต้องถึงกับยุบสภานะ แล้วถ้าคนเห็นว่า ส.ว. 250 คน ยังไงก็ต้องโหวตประยุทธ์ให้กลับมา หมากแบบนี้จะเรียกให้คนออกจากบ้านแน่นอน”

“วิธีรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุด คือต้องไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นี่คือเรื่องพื้นฐานที่สุด หมายความว่าถ้าคุณมายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง ยังไงก็ต้องมีคนด่า เพราะการเมืองไม่มี win-win หรอก ต้องมีคนได้คนเสีย

ประเด็นคือ คุณกลับปล่อยให้คนอย่างสนธิ (ลิ้มทองกุล) ออกมาบอกว่า จะเลือกกษัตริย์หรือเลือกทักษิณได้อย่างไร คุณปล่อยให้พระมหากษัตริย์กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับนักการเมืองได้อย่างไร ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนว่าไม่มีรอยัลลิสต์ในประเทศนี้

เอาง่ายๆ ว่าต่อให้คนอังกฤษเกลียดบอริส จอห์นสัน แค่ไหน แต่จะบอกให้คนเลือกระหว่างควีน อลิซาเบธ กับบอริส จอห์นสัน ทำได้มั้ย รอยัลลิสต์ที่ไหนมันจะยอมให้ทำแบบนี้ แต่ในประเทศนี้ที่มีคนยอมให้สนธิทำแบบนี้ แปลว่าไม่มีรอยัลลิสต์”

“ช่วงเวลานี้ ใครที่รู้สึกว่าเบื่อการเมืองนี่ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว นี่คือยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุดยุคหนึ่งแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะออกมาหน้าไหน

ตอนนี้ทุกคนสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยได้หมด เพราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญแบบเดิมมันก็ทายผิดกันทั้งนั้น เอาแค่ผลเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ผิดกันถล่มทลาย เพราะมันยังไม่มีโมเดลอะไรที่ขึ้นรูปมาได้ และใช้ในการฟันธงได้เป๊ะๆ ดังนั้นคุณเดาไปเถอะ ฟันธงไปเถอะเดี๋ยวก็ถูก”

 

คนจีนรุ่น 00 เลือกเรียนอะไร?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงการเปลี่ยนแปลงของการเลือกสาขาวิชาเรียน ของเด็กรุ่น 00 ในประเทศจีน หรือเด็กรุ่นที่เกิดหลังปี 2000 ซึ่งสะท้อนสภาพการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมจีน

“สายเศรษฐศาสตร์และการเงิน ซึ่งเคยเป็นคณะยอดนิยมอันดับ 1 ของเด็กจีน มีคะแนนปรับลดลง กล่าวคือ ไม่ได้รับความนิยมแย่งกันเข้าเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว”

“ส่วนเมื่อดูแนวทางการเลือกสาขาวิชา พบว่าเด็กจีนรุ่น 00 จะเลือกเรียนตามความชอบและความสนใจ มากกว่าเลือกเรียนตามโอกาสในเรื่องรายได้และความมั่นคงทางอาชีพดังเช่นสมัยก่อน”

“…ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่รวดเร็วในประเทศจีน ส่งผลให้ธนาคารในจีนปรับลดพนักงานลงจำนวนมาก และเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่หลายอย่างมาแทนที่แรงงาน กลับกลายเป็นว่า ในการจ้างพนักงานใหม่ของธนาคาร ส่วนใหญ่เป็นการจ้างพนักงานที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อมาดูแลและพัฒนาระบบการบริการลูกค้าของธนาคาร”

“สาขาประวัติศาสตร์และสาขาโบราณคดีมีคะแนนสูงขึ้นมาก ในขณะที่สาขาวิชาชีพดั้งเดิม เช่น บัญชี ประกันภัย กฎหมาย ที่เคยมีคะแนนสูง เพราะมีความมั่นคงทางรายได้ ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มคะแนนปรับลดลง ในสายวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน สาขาที่คนรุ่นใหม่ในจีนนิยมมากที่สุดคือ จิตวิทยา”

“มีนักวิเคราะห์มองว่าสาเหตุหนึ่งที่สาขาวิชาเหล่านี้ได้รับความนิยม ยังเป็นเพราะช่วงหลังมามีรายการสารคดีและรายการโทรทัศน์ในจีนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี รวมทั้งจิตวิทยาเป็นจำนวนมาก ทำให้เรื่องเหล่านี้อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่”

 

จาก ‘2475’ ถึง ‘ปัจจุบัน’ : “ถ้าไม่เห็นอดีต เราจะมองไม่เห็นอนาคต” – ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เดือนตุลาฯ ในทางการเมืองไทย นับว่าเป็นเดือนที่ถูกจดจำทั้งในแง่ชัยชนะและความพ่ายแพ้ ของทั้งผู้นิยมประชาธิปไตยและไม่นิยมประชาธิปไตย

อย่างน้อยก็สองเหตุการณ์สำคัญคือ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519

ทว่าก่อนหน้านั้น 41 ปี ในย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 อาจนับได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น เป็นหมุดหมายสำคัญที่เกี่ยวพันเหตุการณ์ทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย แน่นอนว่ารวมถึงปัจจุบันด้วย

แต่ทำไม ‘2475’ ถึงเป็นทั้งความปรีดาและเป็นทั้งของแสลงของคนไทย อะไรทำให้เราๆ ท่านๆ ไม่สามารถจะเลี่ยงสบตากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไปแล้วเกือบ 90 ปีได้

101 ชวนอ่านทัศนะจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ‘ธรรมศาสตร์’ ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ถึงเหรียญสองด้านของ ‘2475’ หมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย หัวเชื้อที่ทำให้ทั้งคนที่นิยมประชาธิปไตยและไม่นิยมประชาธิปไตย ได้แอ่นอกปะทะกันทั้งทางความคิดและร่างกายมาต่อเนื่องยาวนาน

“ตอนผมเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ ช่วงปี 2500 ผมก็ค่อนข้างจะเชื่อวาทกรรมที่ว่า ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ นะ มันเป็นวาทกรรมจริงๆ มีมานานแล้ว ที่ว่ารัชกาลที่ 7 ท่านกำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ทำไมไม่รอ”

“ผมตีประเด็นแบบประวัติศาสตร์ว่าเหรียญมันมีสองด้าน ถ้าเราบอกว่าใจร้อน มันอยู่ที่ว่าใจร้อนในทัศนะของใคร แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความคิดเรื่องประชาธิปไตยมันมีมานานมาก ไม่ใช่เพิ่งมามีตอนพระยาพหลพลพยุหเสนาไปเรียนที่เยอรมันแล้วกลับมา”

“คณะราษฎรไม่ได้ล้มเจ้า เพราะตอนยึดอำนาจได้แล้ว รัชกาลที่ 7 ก็ยังอยู่ ตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมก็เป็นไปด้วยดี ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ แล้วเมื่อไปถึงการสละราชสมบัติแล้ว คณะราษฎรก็กราบบังคมทูลในหลวงรัชกาล 8 ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะไปบอกว่าเขาล้มเจ้าได้อย่างไร”

“มีนักวิชาการบางคนบอกว่าสามแสนเสียงมีคุณภาพมากกว่าล้านเสียง เป็นความคิดที่ไม่เชื่อในความเสมอภาค ประชาธิปไตยมันต้องมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่ถ้าคิดว่าคนไม่เท่ากัน มันก็รับไม่ได้ว่าหนึ่งคนเท่ากับหนึ่งเสียง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก”

“ผมคิดถึงที่เนลสัน แมนเดลา พูดไว้ว่า เวลาที่มันยังไม่เปลี่ยนเราก็คิดว่ามันเนิ่นนาน แต่พอมันจะเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน กรณีของไทย ที่ผ่านมาผู้นำไทยค่อนข้างเข้าใจดีเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลก แล้วปรับตัวให้อยู่รอดต่อไปได้ แต่มาถึงตอนนี้ ผมตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าชนชั้นนำไทยตระหนักหรือไม่ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทางไหน”

 

 

ทักษะมนุษย์โลก 4.0 : “อ่อน” หรือ ”แข็ง”สยบอนาคต?

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึง ทักษะแบบ “Hard Skills” และ “Soft Skills” หาคำตอบว่าทักษะแบบไหนกันแน่ที่จะมีความสำคัญกว่าสำหรับโลกอนาคต แล้วทักษะใดบ้างที่ขาดไม่ได้

“Hard Skills แปลตรงตัวทื่อๆ คือทักษะ “แข็ง” แต่มีชื่อแบบทางการว่า “ทักษะด้านความรู้” เช่น ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ (เรียกสั้นๆ ว่า STEM) โปรแกรมมิ่ง (Programming, Coding) ความรู้ทางภาษาต่างประเทศที่หลายคนมักคิดว่าเป็น Soft Skills ก็นับเป็น Hard Skills เช่นกัน”

“ส่วน Soft Skills แปลตรงตัวว่าทักษะ “อ่อน” มีชื่อเรียกแบบทางการว่า ”ทักษะทางสังคม” หรือ “ทักษะทางอารมณ์” เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสารและการทำงานกับผู้อื่น เป็นต้น”

“ทักษะการสื่อสารถูกนับเป็น Soft Skills เพราะเป็นสิ่งที่สอนกันในโรงเรียนยากกว่ามาก ต้องใช้เวลาบ่มเพาะนาน จากแบบสำรวจพบว่า ไม่ถึงครึ่งของเยาวชนตอบว่าทักษะการสื่อสารที่ตนมีได้มาจากการเรียนในโรงเรียนหรือคอร์สออนไลน์ ส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์และการทำงาน”

“สิ่งที่ AI ยังทำได้ไม่ดีเท่าไรกลับเป็นเรื่องง่ายๆ ที่บางทีเด็กยังทำได้เช่น เลือกว่าควรพูดภาษาไหนกับคนไหน อ่านท่าทางความรู้สึกคนจากสีหน้า น้ำเสียง จังหวะการพูด รู้ว่าบางครั้งที่คนไทยยิ้มแล้วพยักหน้าอาจไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย แต่เราแค่มีมารยาท!

“ดังนั้น หากเรายังยึดแต่สิ่งที่วัดได้สอนได้และไม่บ่มไม่เกลา Soft Skills นับวันอาจยิ่งเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และเทคโนโลยี”

 

 

150 ปี มหาตมะ คานธี: อุดมการณ์ ข้อครหา และลูกหลานในปัจจุบัน

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

2 ตุลาคม คือวันเกิดของ มหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้นำพาอิสรภาพมาสู่อินเดีย ซึ่งหากเขายังมีชีวิตอยู่ ปีนี้จะมีอายุครบ 150 ปี

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เขียนถึงชีวิตของคานธีและจุดบกพร่องทางความคิดที่เขามีไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่เขาเป็นคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกด้วยสองมือและสติปัญญา

มีหลักฐานว่า มหาตมะ คานธี อาจจัดอยู่ในกลุ่มคนที่เหยียดสีผิว (Racist) เมื่อมีข้อเขียนหลายชิ้นสะท้อนว่าเขามองคนอินเดียเหนือกว่าคนแอฟริกา และช่วงที่คานธีเรียกร้องสิทธิให้กับชาวอินเดียในแอฟริกาใต้นั้น คานธีไม่เอ่ยปากหรือพูดถึงเรื่องสิทธิของชาวแอฟริกาพื้นเมืองเลย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากแนวคิดเรื่องความยิ่งใหญ่ของชาติอารยันที่คานธีได้รับการศึกษาผ่านคัมภีร์ทางศาสนา

คานธียังถูกวิพากษ์ว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาระบบวรรณะ เมื่อเขาอดอาหารประท้วงการให้ที่นั่งพิเศษในสภาแก่กลุ่มคนดาลิต หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘จัณฑาล’

“คานธีก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่คนไม่สมบูรณ์แบบคานธี ก็ก้าวล้ำคนร่วมยุคในการเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดีย”

 

 

สนทนากับ ‘ชลิตา บัณฑุวงศ์’ เมื่อฝ่ายความมั่นคงต้องการให้ประชาชนเงียบ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“หมู่บ้านที่เราเข้าไปอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเรียกว่าหมู่บ้านโจร เพราะมันมีการตรวจค้นและค้นหาผู้ต้องสงสัยเป็นประจำ โรงเรียนปอเนาะถูกเจ้าหน้าที่ค้นถี่มาก พอเป็นแบบนี้มันทำให้คนหวาดกลัวและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ บางคนไม่กล้าอยู่บ้าน ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น บางคนมีค่าหัวติดอยู่ตามด่านตรวจ”

101 สนทนากับ ‘ชลิตา บัณฑุวงศ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งใน 12 คนรวมแกนนำฝ่ายค้านที่ถูก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าข้อหายุยง ปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

“ประวัติศาสตร์ที่ ผบ.ทบ. พูด มันเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมจัดมาก และเป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยพยายามปลูกฝังให้เป็นสายหลักของประเทศไทย

มีงานประวัติศาสตร์จำนวนมากที่พยายามชี้ให้เห็นว่าความเป็นรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อก่อนสังคมไทยเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอาณาจักรอื่นๆ มันไม่ได้เป็นชาติแบบชัดเจนตายตัวอย่างปัจจุบันนี้ ไม่รู้ว่าทำไมทีมงานของ ผบ.ทบ. ไม่อ่านเรื่องพวกนี้เลย”

“ภาวะแบบนี้มันสะท้อนความน่ากลัวบางอย่าง แต่เป็นความน่ากลัวที่เราต้องป้องกันไม่ให้เกิด เราต้องสู้สุดชีวิตไม่ให้มันเกิดซ้ำอีกเหมือนสมัย 6 ตุลาฯ ที่มีนักศึกษาไปเล่นละครแขวนคอ ตอนนั้นพวกเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะถูกเอาไปบิดเบือน ปั่นกระแสจนกลายเป็นอีกเรื่อง

พอมันมีข่าวเราเยอะๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านบางคนเขาก็ตกใจนะ บางคนเป็นหอบ ไมเกรนขึ้น ร้องไห้ เขามีอาการเหมือนตอนที่ลูกๆ เขาถูกทหารเอาตัวไป คือทำอะไรไม่ได้ ทำได้แต่ละหมาดฮายัตให้ มันสะท้อนให้เห็นว่าพอเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนใกล้ชิดเขา เขาจะอ่อนแอมาก”

“ผู้มีอำนาจพยายามทำให้พวกเราเงียบและไม่กล้าพูด ถ้าเคสนี้เขาจัดการได้สำเร็จ เขาก็คงคิดว่านักวิชาการคนอื่นๆ จะเงียบเหมือนกัน”

 

 

Work – Life – Balance : ทางออกของชีวิต งาน และการมีบุตร

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“Work-Life Balance เป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรสองสิ่งหลักในชีวิต สิ่งแรกคือเงิน สิ่งที่สองคือเวลา ซึ่งหมายถึงเวลาสำหรับตัวเอง เวลาสำหรับครอบครัว หรือเวลาสำหรับพักผ่อน แต่เงินกับเวลา บังเอิญว่ามันไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าเราอยากมีเงิน เราก็จำเป็นต้องทำงาน นั่นหมายความว่าเวลาที่จะดูแลตัวเองหรือดูแลครอบครัวของเราจะลดลง”

“‘เหนื่อย’ เป็นคำที่ working mom พูดกันบ่อย ซึ่งคำว่าเหนื่อยก็เชื่อมโยงกับคำว่า ‘ลูก’ และ ‘เลี้ยงลูก’ อีกเช่นกัน เขาบอกว่าทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย คือ ‘เหนื่อยแสนสาหัส’”

เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้หญิงแสดงให้เห็นภาระของคนเป็นแม่ที่ต้องจัดสรรเวลาให้แก่งานและครอบครัว และปัญหาสวัสดิการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ที่ยังคงต้องปรับปรุงแก้ไขของไทย

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เขียนถึงมุมมองเรื่องแนวทางการสร้าง ‘Work-Life Balance’ ระหว่างการทำงานและดูแลครอบครัวของผู้หญิง ตัวอย่างนโยบายสำหรับสถานประกอบการ และความท้าทายที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันแก้ไขในอนาคต จากงานเสวนา ‘Work-ไร้-Balance : งาน-ครอบครัว เลือกได้ไม่ต้องแลก’ โดย 101 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“จากงานที่ทำและประสบการณ์ของตัวเอง เวลาพูดถึงเรื่องลูก เรามักจะให้ความสำคัญกับเด็ก แต่คนที่เป็นคนดูแลอย่างพ่อแม่ก็สำคัญมากเช่นกัน ในวันที่เรารู้สึกเศร้าลงเรื่อยๆ มันส่งผลกระทบกับลูก สามี และคนรอบข้างเราอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งแรกที่อยากแนะนำคืออยากให้คุณแม่กลับมารู้จักตัวเอง”

“เราอาจจะต้องเติมหัวใจ เติมคำว่าครอบครัวใส่เข้าไประบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ เราไม่ได้คิดว่าประเทศต้องยกเลิกระบบทุนนิยมเพื่อไปใช้ระบบอื่น แต่เราต้องสร้างสมดุลการทำงานใหม่”

 

 

กระบวนการประกอบสร้าง ‘ความมั่นคง’ (securitization): แนวคิดและตัวอย่าง

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ 

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนถึงกระบวนการสร้าง ‘ความมั่นคง’ ของรัฐ ผ่านการศึกษาความมั่นคงระหว่างประเทศ 3 สำนัก ที่ต้องดูคำนิยามว่าเป็นความมั่นคงของใคร และอะไรคือภัยคุกคามที่ต้องรับมือ

“ผลของกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงคือการลดทอนความเป็นการเมืองของเรื่องที่อ้างเป็นความมั่นคง เพราะเมื่อมีภัยคุกคามอยู่ตรงหน้า เราต้องรีบโต้กลับรับมือ มิเช่นนั้นสังคมย่อมสุ่มเสี่ยงต่อภาวะไร้เสถียรภาพและชีวิตเราจะตกอยู่ในภยันตรายร้ายแรง”

“หากเราลองวิเคราะห์คำบรรยายพิเศษเรื่อง ‘แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง’ ของท่านผู้บัญชาการกองทัพบก จะเห็นวิธีคิดเรื่องความมั่นคงที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์การปกป้องแผ่นดินไทยของกองทัพในภาวะที่ราชอาณาจักรถูกคุกคามจากภัยทั้งภายนอกและในประเทศ”

“การนิยามภัยจากนอกประเทศยึดกับการล่าอาณานิคมของฝรั่ง ยิ่งทวีความร้ายแรงเมื่อ ‘คนใน’ ชักศึกเข้าบ้าน คือร่วมมือกับฝรั่งมังค่าก่อหวอดในประเทศ เพื่อหวังให้ต่างประเทศแทรกแซงในท้ายที่สุด”

“เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ยังถูกโยงกับองค์ความรู้ความมั่นคงร่วมสมัย คอนเซ็ปต์อย่าง ‘สงครามลูกผสม’ (hybrid warfare) จึงถูกหยิบยกมาสัมพันธ์กับผู้ทรยศข้างในซึ่งให้ความร่วมมือกับคนนอก พลวัตเช่นนี้จึงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย เรื่องเล่าดังกล่าวยังฟังน่าเชื่อถือเมื่อผู้พูดเป็นถึงผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้นำของสถาบันที่ผูกขาดความรู้ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และมีหน้าที่ปกปักษ์ราชอาณาจักรไทย”

 

 

‘ชะตาธิปไตย’ นักการเมืองไม่ใช่ปีศาจ และไม่มีใครเป็นเทวดา

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

วจนา วรรลยางกูร เขียนถึงภาพยนตร์สารคดี ‘ชะตาธิปไตย’ โดย เดชา ปิยะวัฒน์กูล ที่ตามถ่ายเพื่อนร่วมรุ่นนักศึกษาแพทย์ 3 คน ที่ลงเลือกตั้งปี 2554 ในนามคนละพรรคการเมือง คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย, นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน(ปัจจุบันอยู่พรรคพลังประชารัฐ) และนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ พรรคประชาธิปัตย์

“สิ่งหนึ่งที่จะเห็นชัดเจนจากนักการเมืองในชะตาธิปไตยคือการเป็น ‘นักไปงานศพ’ อันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและชาวบ้านในต่างจังหวัดที่คนกรุงค่อนขอดมองว่าไม่ใช่ธุระของนักการเมือง”

“การเห็นนักการเมืองเดินเข้าใต้ถุนบ้านโน้นบ้านนี้ รับแก้วเหล้าขาวกระดกอย่างถึงใจครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จบ หรือนักการเมืองที่เดินพุ่งเข้าไปทักทายวงไฮโลในงานศพอย่างคล่องแคล่ว เป็นบทบาทที่คนเมืองอาจมองว่าไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสม แต่สารคดีเรื่องนี้ได้ให้คำตอบถึงเหตุที่ส.ส.ต้องไปงานศพคืนละ 8 งาน ใส่ซองทีละ 200-300 บาท”

“การผูกสัมพันธ์คนในพื้นที่ไม่ใช่แค่การกินเหล้าหรือออกงานเพื่อให้คนจำหน้าได้ แต่นักการเมืองต้อง ‘ใช้งานได้จริง’ หากมีปัญหาเขาต้องเป็นคนที่ชาวบ้านจะนึกถึงว่าสามารถเป็นสะพานเชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยจัดการปัญหาได้ทันท่วงที”

 

 

รัฐบาลพ่อมหาจำเริญ ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ฟัง บีบคั้นผู้คนลงเดินถนน

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง อ่านสถานการณ์การเมืองไทยในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม ท่ามกลางสารพัดแรงบีบคั้น

“… พูดก็พูดเถอะ ตั้งแต่พ่อมหาจำเริญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนี่ นอกจากจะตรวจสอบอะไรไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรไม่ฟังแล้ว ทั่นผู้นำยังปากคอเราะราย จริตจะก้านไม่แพ้นางร้ายชายโฉดในละครน้ำเน่าเลยทีเดียว

โทษได้ทุกฝ่ายยกเว้นตัวเอง เดี๋ยวบ่นว่าหนัก โอดครวญว่าเหนื่อย เดี๋ยวตำหนิประชาชน ต่อว่าชาวบ้านราษฎรอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวเหน็บแนมพาดพิงไปถึงคนอื่นบ้างว่า “ต่อให้ไปเรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมาก็ทำไม่ได้”

แถมยังพลั้งเผลอข่มขู่ “จะเอาผมแบบนี้หรือจะเอาผมแบบก่อน” แม้จะมาแก้ต่างในภายหลังก็ตาม

ทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงจิตใต้สำนึก ธาตุแท้ภายในตัวตนได้เป็นอย่างดี

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กี่ครั้งกี่หนแล้วกับรัฐบาลซึ่งตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ฟัง ผู้ปกครองออกมาสำรอกท้าทายประชาชน ซึ่งรังแต่จะบีบคั้นให้ผู้คนลงถนนโดยปราศจากทางเลือกอื่นใด

ภรรยาก็เป็นครูบาอาจารย์ แทนที่จะถามว่าจะเอานายกรัฐมนตรีแบบไหน น่าจะหาคำตอบไว้ล่วงหน้าเสียมากกว่า ว่าจะลงจากอำนาจอย่างไร โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนออกมาเฉดหัวขับไล่”

 

 

หญิงบำเรอ : ประวัติศาสตร์ บาดแผล และการต่อรองบนเวทีระหว่างประเทศของเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น

 

โดย สุชาดา เลี้ยงชูศักดิ์ 

“รัฐบาลญี่ปุ่นสัญญาจะมอบเงินชดเชยให้แก่เกาหลีใต้ ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อหญิงบำเรอเป็นเงิน 1,000 ล้านเยน และทางญี่ปุ่นจะขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากใจจริง แต่สุดท้าย ดูเหมือนว่าการชดใช้ดังกล่าว จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคประชาสังคมและหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้…”

สุชาดา เลี้ยงชูศักดิ์ เขียนถึงประวัติศาสตร์และข้อพิพาทเรื่อง ‘หญิงบำเรอ’ (comfort women) หนึ่งในปมขัดแย้งสำคัญระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งยืดเยื้อมายาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้ในเร็ววัน

“การเรียกร้องกรณี ‘หญิงบำเรอ’ มีแนวโน้มว่าจะทวีความเข้มข้นเป็นเท่าตัว เมื่อนับวันหญิงบำเรอที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เริ่มมีอายุมากและค่อยๆ เสียชีวิตกันไปทีละคน

จิน ซุน-มี รัฐมนตรีด้านความเสมอภาคทางเพศสถานะและครอบครัว ได้กล่าวในพิธีเปิดรูปปั้นหญิงบำเรอที่นัมซัน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2019 ว่า ในปี 2018 มีหญิงบำเรอเสียชีวิตไปถึง 8 คน เหลืออยู่เพียงแค่ 20 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

คำพูดดังกล่าวทำให้พอจะคาดคะเนได้ว่า ยิ่งจำนวนหญิงบำเรอลดลงมากเท่าไร เกาหลีใต้ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ทางการญี่ปุ่นชดใช้สิ่งที่ได้กระทำกับผู้หญิงเกาหลีในช่วงสงคราม ก่อนที่หญิงบำเรอซึ่งอีกแง่หนึ่งก็คือหลักฐานเชิงบุคคลที่ยืนยันการกระทำของญี่ปุ่นในอดีต จะเสียชีวิตจนหมดไป”

“อัน จอม-ซุน อดีตหญิงบำเรอวัย 89 ปี กล่าวว่า เธอไม่ได้ต้องการเงินของญี่ปุ่น เพียงแต่ต้องการให้ทางญี่ปุ่นกล่าวคำขอโทษจากความสำนึกผิดจริงๆ จากคำกล่าวนี้ เห็นได้ชัดว่าหญิงบำเรอไม่เชื่อว่าคำขอโทษจากญี่ปุ่นจะกลั่นออกมาจากใจจริง

สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์วัดว่า ความจริงใจในการขอโทษและการชดใช้ของญี่ปุ่นที่มอบให้แก่เกาหลีใต้ ต้องมีมากแค่ไหน จึงจะถือว่าเพียงพอต่อความเจ็บปวดที่หญิงบำเรอเคยถูกกระทำ

เมื่อความเจ็บปวดเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และไม่อาจประเมินค่าได้ เฉกเช่นเดียวกับความจริงใจในการขอโทษของญี่ปุ่นที่ไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้เช่นกัน”

 

 

#ควายแดง กับการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย

 

โดย อิสระ ชูศรี

อิสระ ชูศรี เขียนถึงปรากฏการณ์ #ควายแดง ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมวิเคราะห์การประกอบสร้างความหมายใหม่ จากที่เคยถูกใช้ในความหมายเดิมมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ

“ความหมายเดิมของ ‘ควายแดง’ ควายถูกใช้เป็นความเปรียบชนิดอุปลักษณ์ แทนกลุ่มคนที่ไร้สติปัญญาและเป็นผู้ติดตามสนับสนุนขบวนการทางการเมืองฝ่ายเสื้อแดง ในลักษณะที่กลุ่มคนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่า เหมือนอย่างกับ ‘ขี้ข้า’ หรือคล้ายกับความในฐานะที่เป็นสัตว์ใช้งานในไร่นา

ส่วนความหมายใหม่ของ ‘ควายแดง’ เป็นการเล่นคำพ้องเสียงของคำว่า ‘แดง’ ที่เป็นสามานยนาม และ ‘แดง’ ที่เป็นชื่อบุคคล โดยคำว่า ‘ควาย’ มีความหมายเน้นหนักไปทางความไร้สติปัญญามากกว่า เนื่องจากมีความหมายสอดคล้องกันกับการประเมินค่าเนื้อหาของการเดี่ยวไมโครโฟนของผบ.ทบ. ตามทัศนะของผู้ติดตามการเมืองจำนวนมาก

ควายแดงความหมายใหม่ไม่ได้อาศัยแค่คำพ้องเสียงมาใช้เพื่อเล่นคำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการเล่นกับทัศนะเชิงลบเกี่ยวกับเนื้อหาของทอล์คโชว์ ที่ผู้ใช้แฮชแท็กนี้มองว่ามีความไม่ได้มาตรฐานในการใช้ข้อมูลและความรู้

นอกจากนี้ การเล่นคำพ้องเสียงระหว่าง ‘สีแดง’ และ ‘คนชื่อแดง’ ยังเป็นการใส่ความตลกร้ายเพิ่มเข้าไป เป็นความหมายสอดอารมณ์ให้แก่ควายแดงความหมายใหม่นี้ด้วย”

 

เมื่อบริษัทรักแต่กิ๊ก: ชะตากรรมคนทำงานยุค Gig Economy

 

โดย จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล

จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เขียนถึงการเติบโตของ ‘Gig Economy’ รูปแบบการทำงานที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนยุคใหม่ พร้อมชี้ให้เห็นช่องโหว่และปัญหาของการจ้างงานประเภทนี้ ทั้งในมุมเจ้าของธุรกิจและลูกจ้าง

“ในประเทศไทย เมื่อพิจารณาธุรกิจส่งอาหารและเอกสาร จากการค้นข้อมูลคร่าวๆ พบว่ามี Foodpanda (ส่งอาหาร) และ Skootar ที่มีทางเลือกในการเข้าทำงานแบบเป็นพนักงานประจำ มีสวัสดิการและประกันกลุ่ม ส่วน GET นั้นมีประกันสุขภาพให้พนักงาน

ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น เช่น Grab หรือ Lalamove นั้น จากการสืบค้นเบื้องต้นไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการ หรือโอกาสในการสมัครเข้าเป็นลูกจ้างประจำในเว็บไซต์

และเนื่องจากรายได้ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจับคู่ผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ การที่มีผู้ให้บริการจำนวนมากย่อมทำให้การจับคู่ทำได้สะดวก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่มีผู้ให้บริการจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดสภาวะการแข่งขัน ถ้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่มากพอ ผู้ให้บริการจำนวนมากก็จะอยู่ในสภาวะว่างงาน (แม้ว่าต้องการจะทำงานก็ตาม)

ในหลายๆ ธุรกิจบริการ สภาวะว่างงานนั้นนอกจากจะมีค่าเสียโอกาสแล้ว (เช่น ผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่ได้ขับไปไหน แต่รออยู่หน้าร้านดังเพื่อรับงานส่งอาหาร) ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ขับรถรับจ้างก็ต้องขับรถเปล่าวนไปมา ไม่แตกต่างจากการทำงานประจำแต่อย่างใด”

“จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแรงงาน พบว่า 58% ของคนที่ทำงานแบบรับเหมาอิสระเต็มเวลา จะมีความลำบากในการหาเงินก้อนในยามฉุกเฉิน เมื่อเทียบกับ 38% ในกรณีของคนที่ทำงานในรูปแบบธรรมดา

สภาวะการทำงานอิสระยังทำให้คนทำงานไม่ได้รับการคุ้มครองต่างๆ จากภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (ผ่านทางกฎหมายแรงงาน) เช่น การขาดค่าแรงขั้นต่ำ การควบคุมเวลาการทำงาน หรือค่าชดเชยจากการทำงานล่วงเวลา

ในยุคของการจ้างงานแบบกิ๊ก การทำให้งานมีคุณค่าและการดูแลคนทำงานอย่างดี จึงกลับกลายเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของ Zeynep Ton จาก MIT ที่ได้ติดตามบริษัทที่ประสบความสำเร็จและมีแนวคิดที่ทำให้งานมีคุณค่า เช่น Southwest Airlines, Toyota และ Costco โดยพบว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นหากำไรเพียงอย่างเดียว โดยปฏิบัติกับคนทำงานอย่างไม่ค่อยใส่ใจ หรือใช้คนงานแบบทิ้งขว้าง”

 

 

โมงยามสำแดง

 

โดย อุทิศ เหมะมูล

คอลัมน์ #songstruck ตอนใหม่ อุทิศ เหมะมูล เขียนถึงโมงยามรัญจวนของความรัก บนสัมผัสที่วาบหวาม และกลิ่นอายของสัมพันธ์ที่ทั้งอ่อนหวานและอ่อนไหว ผ่านบทเพลง Apocalypse ของ Cigarettes After Sex

Sharing all your secrets with each other since you were kids
Sleeping soundly with the locket that she gave you clutched in your fist…

“ฉันก็รักมือคุณ” เธอกระซิบ ทั้งแข็งและอ่อนหวาน ซุกซนและรู้ความต้องการ “เหมือนมือคุณมีปาก ทั้งชำนาญและหิวกระหาย” เธอพูดกับนิ้วของผม เผยอปากแล้วไล้ลากที่ปลายนิ้วชี้ผม ใช้ลิ้นแตะแล้วดูดจนมิดนิ้วข้อแรก

Your lips,

My lips,

Apocalypse

อย่าเพิ่ง! เดี๋ยวก่อน ให้มันเป็นครั้งแรกเช่นนี้เสมอไป รักษาครั้งแรกและจุดเริ่มต้นไว้ สว่างไสวและเต็มกำลังเหมือนคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรสักอย่าง เปลี่ยนความเป็นจริงให้เป็นฉาก ดึงทุกอย่างที่ผ่านมา – ไปไว้ที่จุดเริ่มต้น ตอนที่เราอยากจะลึกซึ้ง มุ่งหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ตอนที่เราอยากจูบอยากสัมผัสกัน แต่ยังไม่ได้จูบ

 

 

มองว่าที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จาก ‘เหรียญจอห์น เบตส์ คลาร์ก’

 

โดย อิสร์กุล อุณหเกตุ

อิสร์กุล อุณหเกตุ มองตัวเก็งผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จาก ‘เหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก’ ซึ่งเป็นรางวัลที่ปูทางไปสู่รางวัลโนเบลให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก

“การพิจารณามอบเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก หลายต่อหลายครั้งเป็นการบอกใบ้ ‘เทรนด์’ ของวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ หนึ่งปีก่อนที่แดเนียล คาห์นีมาน จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานบุกเบิกด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในปี 2002 นั้น แมทธิว ราบิน นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอีกคนหนึ่งก็เพิ่งคว้าเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก ไปครองหมาดๆ

“แต่แนวโน้มที่อาจเห็นได้ชัดกว่าคือ การเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ งานศึกษาชิ้นหนึ่งเสนอว่า นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก เกือบทั้งหมดในระยะหลังสร้างชื่อจากผลงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ ‘เชิงประยุกต์’ หรือ ‘เชิงประจักษ์’ มากกว่าจากงานวิจัยเชิงทฤษฎี ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากผู้ได้รับเหรียญรางวัลในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ที่มักเป็นเจ้าพ่อทฤษฎี

“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กำลังเดินห่างออกจากทฤษฎีเข้าหาข้อมูล หากแต่เป็นการเปลี่ยนจากการนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้เพื่อทดสอบและพิสูจน์ทฤษฎีทั่วไป ไปเป็นการใช้ข้อมูลจากโลกความเป็นจริงเพื่อสร้างทฤษฎีสำหรับตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น”

 

 

คืนความเป็นอิสระให้ผู้พิพากษา คืนอำนาจตุลาการให้สังคม

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ประโยคจากแถลงการณ์ของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ นำให้คนในสังคมได้มาทบทวนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวงการยุติธรรมร่วมกัน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงหลักการ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ’ ที่จำเป็นต้องมี ‘การถูกตรวจสอบและความรับผิด’ เป็นหลักการสำคัญที่อยู่เคียงคู่กันในสังคมแบบเสรีประชาธิปไตย

“แม้ว่าอำนาจตุลาการอาจไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนในลักษณะเช่นเดียวกันกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมักสะท้อนออกผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็มิได้หมายความว่าอำนาจตุลาการจะหลุดลอยจากประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง

“เมื่อฝ่ายตุลาการยังคงรับเงินเดือนและสวัสดิการที่มาจากภาษีของประชาชน ความเป็นอิสระจึงย่อมไม่อาจหมายความว่าจะล้วงเงินจากกระเป๋าเราได้โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ใดๆ กับประชาชนเลย”

“การตรวจสอบและความรับผิดต่อสังคมจะสามารถบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งการไม่เห็นด้วยทั้งต่อการทำหน้าที่และคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการได้อย่างเสรี”

“ยิ่งใช้อำนาจในการปิดกั้นเพิ่มขึ้นก็จะเกิดปรากฏการณ์ ‘ความเงียบที่เซ็งแซ่’ กว้างขวางขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในบางเหตุการณ์”

 

 

จับตา ASEAN Summit: RCEP ท่ามกลางสงครามการค้า

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม 

ปิติ ศรีแสงนาม ชวนมองประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย.นี้ โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่จะนำไปสู่เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายอยู่มาก

“หากเจรจาสำเร็จ เขตการค้าเสรี RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรกว่า 47.4% ของประชากรโลก มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงกว่า 32.2% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ครอบคลุมมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศถึง 29.1% และ 32.5% ตามลำดับ”

 

“RCEP จะเป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในระดับนานาชาติว่า ทั้ง 16 ประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่การค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (protectionism) เกิดขึ้นมากที่สุด และรุนแรงที่สุดทั้งแต่ปี 1995 ผ่านการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา”

“ความท้าทายหลักคือความแตกต่างในระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสภาพสังคม-วัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างยิ่งระหว่าง 16 ประเทศสมาชิก ทำให้ความต้องการพื้นฐานต่อการเจรจาแตกต่างกัน ประเด็นที่จะต้องนำมาเจรจากันมีความยุ่งยากซับซ้อน และแต่ละประเทศให้ความสนใจหรือทุ่มเททรัพยากรไปในการเจรจาเฉพาะที่ตนเห็นว่าสำคัญ”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนตุลาคม 2562.

 

Poor Economics

 

โดย สฤณี อาชวานันทกุล

อ่านความคิดนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 2019

อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) กับ เอสเธอร์ ดูฟโล (Esther Duflo) สองนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 2019 [ร่วมกับไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer)]

หนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ (Poor Economics) เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มสำคัญที่สะท้อนแก่นความคิดของแบนเนอร์จีและดูโฟลได้เป็นอย่างดี โดยเป็นหนังสือที่ทั้งคู่เขียนเพื่อลบล้างมายาคติเกี่ยวกับความจน คนจน และวิธีปราบจน

สฤณี อาชวานันทกุล เขียนบทความรีวิวและสรุปหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างสั้นกระชับ นับเป็นห้วงเวลาที่เหมาะเจาะอย่างยิ่งที่จะกลับมาอ่านงานชิ้นนี้อีกครั้ง

 

 

บาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

 

โดย เพชร มโนปวิตร

ในวันที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีซื้อปกซ้อนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับพร้อมกัน เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการในวันนับหนึ่งเดินหน้าขายไฟฟ้าให้ กฟผ.อย่างเป็นทางการ
.
101 ชวนย้อนอ่านบทความ “บาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนไซยะบุรี” ของ เพชร มโนปวิตร เพื่อให้เห็นความจริง-ความเห็นอีกด้านเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีที่ไม่ได้มีแต่ด้านสว่าง แต่เต็มไปด้วยคำถามที่รอคำตอบมากมาย

……….

หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกถึงกังวลถึงผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาวโครงการนี้กันนักหนา ทั้งยังมีการยกให้กรณีเขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวอย่างของการแย่งชิงทรัพยากรข้ามชาติอย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ไร้พรมแดน และผลกระทบต่อผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรประมงจากแม่น้ำสายนี้

หากพิจารณาตามบาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนก็จะพบว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวแทนโครงการเขื่อนที่ทำบาปครบทุกข้อและไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะผิดพลาดตั้งแต่ข้อที่ 1 เรื่องตำแหน่งที่ตั้งไปถึงข้อที่ 7 คือการหลงเชื่อผลประโยชน์จากเขื่อนอย่างหน้ามืดตามัว

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเกือบ 5 พันกิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและมีผลผลิตทางประมงมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบผลผลิตกับขนาดของแม่น้ำ โดยพบปลาน้ำจืดมากกว่า 800 ชนิด เป็นรองก็เพียงแม่น้ำอเมซอน

จุดที่มีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีนับเป็นจุดที่มีความเปราะบางที่สุดจุดหนึ่งของแม่น้ำโขง เพราะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำอู ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกรวดตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำโขง

พูดง่ายๆ ว่าเป็นจุดที่ไม่ควรให้มีการสร้างสิ่งกีดขวางใดๆ ทั้งสิ้น

เพชร มโนปวิตร เขียนถึงผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่แม่น้ำโขง

 

 

จากบันทึกของ ‘พิน บางพูด’ ถึง ‘บันทึก 6 ตุลาฯ’ : เมื่อความจริงเริ่มปรากฏ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ด้านหน้าหอประชุมราว 8 น. มีคนวิ่งออกไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรทัศน์ถ่ายเหตุการณ์ตอนนั้นเผยแพร่ทั่วกรุงเทพฯ ใครๆ ก็เห็นภาพคนกลุ่มหนึ่งกรูเข้ารุมกระชากสายน้ำเกลือ แล้วเทคนเจ็บลงจากเปลหาม เงื้อไม้ฟาด เตะ ถีบ และกระทืบจนเลือดกระเซ็น…”.

ร่วมย้อนเสาะหาร่องรอยหลักฐานของประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ 6 ตุลา ผ่านนิยาย ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในรอยยี่สิบปี ไล่เลี่ยกับการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6

“เนื้อหาหลายส่วนที่ปรากฏอยู่ในนิยายของวัฒน์ คล้ายเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยปะติดปะต่อข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ให้กระจ่างขึ้น ตั้งแต่แผนก่อการของฝ่ายขวาที่เริ่มสร้างสถานการณ์มาตั้งแต่ปี 2517 กระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ทฤษฎีโดมิโน ไปจนถึงข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นรัชทายาทและธรรมศาสตร์สะสมอาวุธสงคราม อันเป็นชนวนสุดท้ายที่นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมืองอย่างโหดเหี้ยม…”

“ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ คือการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์อันพร่ามัว จากตัวผู้เขียนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งถ้ามองในแง่ของคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ย่อมต่างจากนวนิยายหลายต่อหลายเล่มที่แปะป้ายว่า ‘อิงประวัติศาสตร์’ แต่กลับอิงจากข้อมูลปลอมๆ กระทั่งจงใจเขียนอย่างบิดเบือน”

“ความอยุติธรรมมันอยู่ได้ เพราะมีคนที่ดันไปเห็นด้วยกับความอยุติธรรมนั้น ฮิตเลอร์มันอยู่ได้เพราะมีคนเชียร์ให้ฆ่ายิว เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นเพราะมีคนที่สนุกสนานกับการเห็นนักศึกษาถูกแขวนคอ นี่คือความโง่บัดซบของสังคมไทย ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานด้านสติปัญญาอย่างเรา ต้องสู้รบกับความโง่เขลาเหล่านี้ โดยใช้ปากกาเป็นอาวุธ ผ่านบทกวี ผ่านตัวหนังสือ…”

 

 

6 เรื่อง 6 ตุลาฯ กับอาจารย์ป๋วย

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร ทบทวน 6 เรื่องของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เกี่ยวกับ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

“ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เผด็จการทหาร ‘ถนอม-ประภาส-ณรงค์’ ถูกโค่นล้มไปโดยพลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ป๋วยจึงได้รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในต้นปี 2518 เพราะที่ผ่านมาทหารไม่ไว้ใจให้ป๋วยมาบริหารสถานศึกษาแห่งนี้ เนื่องจากแนวคิดทางประชาธิปไตยของเขา และความใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นปีศาจทางการเมืองของไทยในเวลานั้น”

“ห้วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ระบอบประชาธิปไตยเบ่งบาน นิสิตนักศึกษาใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในการกล่าวถึงปัญหาของบ้านเมือง มีการชุมนุมประท้วงกันอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายอำนาจเก่าและผู้เสียประโยชน์จากการที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยย่อมไม่อาจทนได้ มีการจัดตั้งขบวนการฝ่ายขวาขึ้นมาเป็นศัตรูกับขบวนการนักศึกษา อธิการบดีป๋วยถึงกับต้องออกประกาศเตือนนักศึกษา ‘พยายามอย่าประมาท พยายามตั้งมั่นอยู่ในศีลและธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นซึ่งรวมทั้งอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาเอง เมื่อเราปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็คงจะขจัดปัดเป่าความก้าวร้าวของผู้อื่นไปได้ โดยยึดมั่นอยู่เสมอในหลักการสันติประชาธรรม’

การเป็นอธิการบดีในห้วงเวลาที่ยากลำบาก ชะตากรรมของป๋วยในวันที่ 6 ตุลาฯ การยึดมั่นในประชาธิปไตยและยืนหยัดต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ฯลฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษาอยู่ในนั้นอีกมาก

 

 

ผลงานคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนตุลาคม 2562

ความรู้สึกผิดและคำสัญญา – มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

 

 

โดย ศุภชัย เกศการุณกุล

‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อ่าน เป็นบันทึกประสบการณ์การถูกจองจำในเรือนจำ 2 ปี 10 วัน ของภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอฟ) จากการแสดงละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2557

ผมเคยฟังกอฟเล่าประสบการณ์ของเธอเมื่อเราพบกันครั้งแรกเมื่อกลางปี 2562 และรู้สึกว่ามันเหมือนโรงเรียนประจำมากกว่าเรือนจำ เรื่องเล่าของเธอละเอียดลออเหมือนฉากของภาพยนตร์ นั่นอาจเป็นเพราะเธอสังเกตและจดจำฉากและช่วงชีวิตนั้นไว้อย่างตั้งใจ

ผมถามเธอว่า “คุกทำให้เธอสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปบ้างไหม”

“ลุงก็ทิ้งความเป็นมนุษย์ไว้หน้าคุกสิ จะได้ไม่ต้องสูญเสียเวลาอยู่ในคุก” เธอตอบด้วยน้ำเสียงแจ่มชัด

แต่เมื่ออ่านหนังสือจบ ผมพบว่ากอฟไม่ได้วางความเป็นมนุษย์ไว้ข้างนอก แต่ซุกซ่อนมันเข้าไปกับเธอตลอดเวลา และนำไปมอบให้กับนักโทษคนอื่นๆ ด้วยในเวลาเดียวกัน

หลังอ่านหนังสือ 800 หน้าจบ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่า ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน จัดทำหนังสือเล่มนี้อย่างไร พบเจอกับนักเขียนได้อย่างไร และขั้นตอนการทำหนังสือเล่มนี้ยากง่ายอย่างไร ผมจึงติดต่อสัมภาษณ์ไอดา และเล่าออกมาเป็นฟิล์มเอสเสเรื่องนี้

————–

‘นิว’ – ศุภชัย เกศการุณกุล เป็นช่างภาพที่ทำงานเขียนไปด้วยพร้อมๆ กันมาร่วม 20 ปี

เนื้องานของศุภชัยมีลายเซ็นชัดเจน ด้วยการถ่ายภาพแนว portrait ขาว-ดำ ที่ล้างและอัดเองในห้องมืด พร้อมบันทึกชีวิตผู้คนที่เขาถ่ายด้วยความเรียง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักคิด นักเขียน ดารา นักร้อง นักแสดง นักกิจกรรม ฯลฯ

เมื่อประตูโลกอนาล็อกของวงการสิ่งพิมพ์กำลังถูกปิดลง ศุภชัยกำลังปรับวิธีการทำงาน โดยหันมาทดลองสร้างงานที่เจ้าตัวเรียกว่า ‘FILM ESSAY’ เพื่อให้ประเด็นที่เขาสนใจได้ขยายออกไปสู่วงกว้าง และนี่คือผลงานชิ้นแรกจากความพยายามดังกล่าว

สมัชชาคนจน 2562

 

โดย ศุภชัย เกศการุณกุล

บางวรรคบางตอนในแถลงการณ์ของสมัชชาคนจน วันที่ 14 ต.ค. 2562 ระบุว่า ’สมัชชาคนจน’ (สคจ.) เป็นองค์กรชาวบ้านที่มีสมาชิกทั้งคนจนในชนบท และคนจนในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ และได้รับความเดือดร้อนจนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามวิถีปกติ

“พวกเราจึงต้องรวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 20 ปี ผ่านมาแล้ว 10 รัฐบาล การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด”

“ปัจจุบันสมัชชาคนจนมีเรื่องร้องเรียนต่อรัฐบาล 35 กรณี เช่น ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหาการสร้างเขื่อนทำให้สูญเสียที่ดิน สูญเสียอาชีพ ปัญหาการประกาศเขตป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และถูกขับไล่ออกจากที่ดินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ปัญหาการประกาศเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน เป็นต้น”

“สาเหตุของปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากนโยบายการพัฒนาและการใช้อำนาจของรัฐในการออกกฎหมายที่ไม่เห็นหัวคนจน เพื่อแย่งชิงทรัพยากรและขูดรีดแรงงานของพวกเราเพื่อไปพัฒนาเมือง”

—–

และบางถ้อยคำจากใจของ ‘ศุภชัย เกศการุณกุล’ ก็เช่นกัน – “ผมมาสังเกตการณ์ที่สมัชชาคนจนและระลึกได้ว่าผมเคยถ่ายภาพสมัชชาคนจนมาแล้วสมัยเมื่อราวๆ ปี 2540”

“ใต้แสงไฟถนนริมคลองผดุงกรุงเกษม ผมฟังแกนนำและชาวบ้านคุยกัน แล้วก็พบว่าปัญหาเมื่อ 20 กว่าปีก่อนยังคงค้างคา เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านยังคงคัดค้านเขื่อนปากมูน เขื่อนแก่งเสือเต้น พื้นที่ป่าทับที่ชาวบ้าน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ยังคงวนเวียนซ้ำเดิม เหมือนโลกไม่ได้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า”

“ในวันที่แดดแผดเผา ผมนั่งฟังชาวบ้านเล่าปัญหา และบันทึกภาพเก็บไว้ในฐานะช่างภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการชุมนุมของพวกเขาว่าเขามาที่นี่ไม่ใช่เพราะอยากมา แต่มาด้วยความจำเป็น มาด้วยความจนบังคับให้มา”

“สมัชชาคนจนไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นคนที่ไม่ได้รับโอกาส ยิ่งกว่านั้นเขาถูกแย่งชิงโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีไปต่อหน้าต่อตา”

—–

101 ชวนชม ‘สมัชชาคนจน 2562’ ที่พวกเขากำลังเปล่งเสียงเรียกร้องถึง “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “เครียดส่วนตัว”

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

กรณี ‘คณากร เพียรชนะ’ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ยิงตัวเอง กำลังสั่นสะเทือนวงการตุลาการไทย

ในแถลงการณ์ 25 หน้าของเขาชี้ให้เห็นว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่โฆษกศาลยุติธรรม กลับชี้แจงว่าการยิงตัวเอง “เกิดจากความเครียดส่วนตัว”

ท้ายแถลงการณ์ระบุว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ทำไมถ้อยแถลงดังกล่าวจึงกลายเป็นความเครียดส่วนตัว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เหตุสะเทือนขวัญถูกระบุเป็นเรื่องส่วนตัว

กรณี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ชาวปัตตานี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง จู่ๆ หมดสติในค่ายทหาร สมองบวมและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเขาลื่นล้มในห้องน้ำโดยไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

หรือกรณี ‘นิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวการเมือง ถูกดักตีหัวจนสาหัส ก็กลับถูกชี้ว่าแก๊งทวงหนี้เป็นผู้ลงมือ จนถึงวันนี้ก็ยังจับใครไม่ได้

แม้แต่ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ผู้ขับแท็กซี่ชนรถถังเพื่อประท้วงรัฐประหาร 2549 ยังถูกทหารบอกว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” เขาจึงเขียนจดหมายและผูกคอประท้วงเพื่อลบคำปรามาส

นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนที่สะท้อนความยุติธรรมที่ผิดปกติและความเปราะบางของอำนาจรัฐ เป็นไปได้หรือไม่ว่าไม่ใช่ความเครียดส่วนตัว แต่คือความเครียดของประเทศไทย

101 ชวนตั้งคำถามผ่านรายการ SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “เครียดส่วนตัว”

รายการ 101 One-on-One เดือนตุลาคม 2562

 

 

101 One-On-One Ep.93 นโยบายแก้จน: บทเรียนจากนักเศรษฐศาสตร์โนเบล 2019 ถึงสังคมเศรษฐกิจไทย

 

โดย 101 One-On-One 

ปี 2019 รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ถูกมอบให้กับ อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) เอสเธอร์ ดูฟโล (Esther Duflo) และไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer) สามนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาผู้มีส่วนสำคัญในฐานะบุกเบิกความรู้ใหม่ในด้านการแก้ไขความยากจน

ปี 2019 แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาหลายปีแล้ว แต่การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนคือความจริงที่ฟ้องว่า สังคมไทยยังมีปัญหาใหญ่เรื่องการพัฒนา ข้อมูลล่าสุด (ปี 2018) พบว่า ประเทศไทยยังมีจำนวนคนจนกว่า 6,600,000 คน หรือคิดเป็นกว่า 9.5% ของประชากรทั้งประเทศ ไม่ต้องพูดถึงว่า ยังมีอีกคนอีกหลายล้านคนที่อยู่มีชีวิตอย่างเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น ‘คนจน’ ได้ตลอด

นโยบายแก้จนของไทยเป็นอย่างไร เดินมาถูกทางหรือไม่ และเราเรียนรู้อะไรจากโลกได้บ้าง

คุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ดำเนินรายการโดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

101 One-On-One Ep.92 คุยนอกสนามกับ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ – วิศรุต สินพงศพร

 

 

โดย 101 One-On-One 

คุยกับ วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจฟุตบอลที่คนไม่ดูบอลก็อ่านได้

ว่าด้วยที่มาที่ไปของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง คุยชีวิต การเขียนหนังสือ และเรื่องลูกกลมๆทั้งในและนอกสนาม

ท่ามกลางเพจกีฬามากมาย วิศรุตทำอย่างไรให้วิคราะห์บอลจริงจังของเขาขึ้นมาเป็นเพจอันดับต้นๆ

เนื้อหามหาศาลที่ข้นคลั่ก  เขาย่อยอย่างไรให้อ่านสนุกย่อหน้าต่อย่อหน้า และเรื่องที่ว่าด้วยกีฬา ทำอย่างไรให้คนไม่ดูกีฬาอ่านแล้วอินได้

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 One-on-One Ep.91 “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” กับ ปกป้อง ศรีสนิท

 

โดย 101 One-On-One 

สนทนาเรื่อง ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย’ กับ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่ามกลางคำถามว่าด้วยความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพ และความเป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงของกระบวนการยุติธรรมไทย

มาร่วมค้นหาคำตอบเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย จากทฤษฎีสู่โลกจริง กับนักวิชาการชั้นนำด้านกฎหมายอาญา – ปกป้อง ศรีสนิท

[ อ่านบทความของปกป้องใน 101 ได้ที่ https://www.the101.world/author/pokpong-srisanit ]

คุยกันสดๆ วันอังคารที่ 15 ตุลาคม สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

101 One-On-One EP.90 “ประชาธิปัตย์กลางมรสุมเศรษฐกิจการเมืองไทย” กับ กรณ์ จาติกวณิช

โดย 101 One-On-One 

ในห้วงยามที่เสียงวิจารณ์นโยบาย ฝีมือการบริหาร และธรรมาภิบาลของรัฐบาลพลังประชารัฐดังขึ้นเรื่อยๆ ‘ประชาธิปัตย์’ ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำถามได้ เพราะไม่เพียงแต่คุมกระทรวงสำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ต้น

ก้าวต่อไปประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร และมรสุมเศรษฐกิจการเมืองไทยจะคลี่คลายไปแบบไหน

วิเคราะห์ เศรษฐกิจการเมืองไทย จากสายตา กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save