fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2563

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2563

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2563

 

ปัญญาฝ่าวิกฤต COVID-19 ฉบับ “บรรยง พงษ์พานิช”

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์, ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

101 ชวนเรียนรู้ข้อคิดและประสบการณ์สู้วิกฤต ฉบับ “บรรยง พงษ์พานิช” พร้อมมองไปในอนาคตหลัง COVID-19 ว่าเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจะดำเนินไปในทิศทางใด

“ทีมวิจัยของภัทรเพิ่งคาดการณ์ล่าสุดว่า GDP จะติดลบ 9% นี่เป็นการเปลี่ยนการคาดการณ์ครั้งที่สามแล้ว จากลบ 2.4% เป็น 6.8% และมาเป็น 9% ถ้าในอนาคตมีเปลี่ยนอีก ก็คงยิ่งติดลบมากขึ้นอีก เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเยียวยาจุดที่เดือดร้อนมากที่สุด ทำอย่างไรที่จะหยุดยั้งไม่ให้วิกฤตลุกลามไปมากกว่านี้ ไม่ให้ระบบการเงินพังทลาย ระบบเศรษฐกิจทรุดไปมากกว่านี้”

“ผมเรียกร้องให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทันที ผมช้ำใจมากที่เมื่อต้นเดือน คณะรัฐมนตรีมีมติขึ้นค่าตอบแทนให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งหมด ทั้งๆ ที่มาถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่า แผนต่างๆ ที่ทำไม่มีประโยชน์เลย คาดการณ์ทุกอย่างผิดหมด ต้องฉีกทิ้งหมด ยิ่งวิกฤตครั้งนี้ยิ่งพิสูจน์เลยว่าเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมาวางแผนอนาคตอีก 20 ปี”

“ผมกลัวว่าจากวิกฤตนี้ ถ้ารัฐไทยปล่อยให้ทรัพยากรอยู่ในมือของระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นเวลานาน ไม่ยอมถอยออกมา แต่กลับสร้างหน่วยงานใหม่ สร้างงบประมาณถาวร ในระยะยาวมันจะกลายเป็นหายนะ””ในชีวิตของเราจะเจอทางแพร่ง (dilemma) ท่ามกลางวิกฤตอยู่หลายครั้ง คุณต้องมีสติ วิเคราะห์ และในที่สุดต้องตัดสินใจ เมื่อเลือกแล้ว คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าถ้าเลือกอีกทางหนึ่งจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้น เมื่อย้อนกลับไปมองชีวิตของเรา ต้องไม่นึกเสียใจกับมัน แต่ต้องหาบทเรียน หาข้อมูลเพิ่ม เพื่อเผชิญหน้ากับ dilemma ครั้งต่อไป ประสบการณ์ในอดีตไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จ ต่างก็เป็นวัตถุดิบให้คุณตัดสินใจครั้งต่อไปได้ดีขึ้น”

 

แบบเดิมๆ และแบบเดิมๆ

โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

ทักษะเจรจาต่อรองเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ในวัยเด็ก แต่เราให้เด็กเรียนหนังสือเร็วเกินไป บังคับให้เป็นเด็กดี และต้องเอาชนะเพื่อนๆ เพราะการมีคอนเน็กชันที่ดีสำคัญกว่าทักษะเจรจาต่อรองมากนัก

ไม่มีความจำเป็นเลยที่เราต้องเจรจาต่อรองเพราะคอนเน็กชันสำคัญกว่ากฎหมาย

โครงสร้างที่พิกลนี้ทำให้เราปฏิรูปการศึกษามิได้เสมอมา

เราจงทำงานแบบเดิมๆ ทั้งที่รู้ว่าจะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ

 

“ผมเห็น ‘ปรีดี พนมยงค์’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่” – ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์, กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

เนื่องในวาระ 120 ปีชาตกาล ‘ปรีดี พนมยงค์’ 101 ชวนหาคำตอบเรื่องมรดกทางความคิดของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในสังคมไทยสมัยใหม่ กับ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมาย ปรัชญากฎหมาย และความคิดทางการเมืองและสังคมของปรีดี พนมยงค์

“ถ้ามองในประวัติศาสตร์ยาวๆ ผมกลับเห็น ‘ปรีดี’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงศัพท์แบบปรีดี แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังแสดงออกมา ผมว่าหลายอย่างคือการพัฒนาต่อยอดมาจากปรีดี”

“ถ้าพูดถึงมรดกทางความคิดของปรีดี สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ ที่มีทั้งทฤษฎีทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของปรีดีอยู่อย่างครบถ้วน เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ปรากฏออกมาเป็นแผนงานทางเศรษฐกิจที่มุ่งหาทางบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

“เค้าโครงการเศรษฐกิจคือหัวใจของการอภิวัฒน์ ถ้าทำสิ่งนี้ไม่สำเร็จ สิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้วอาจจะล้มเหลว เพราะยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ท่านมองว่าเป็นหัวใจของการอภิวัฒน์ และถ้าเราเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนแก่นของการอภิวัฒน์ไม่ได้ สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่แบบกระท่อนกระแท่นก็อาจจะถูกโต้กลับในที่สุด”

“ผมมองว่า ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของปรีดี นอกจากจะหมายรวมถึงทุกเรื่องที่ท่านทำสำเร็จแล้ว ยังต้องรวมเอาความล้มเหลวเข้าไปด้วย เพราะมันยังมีมุมที่ทำให้เราเห็นว่า อย่างน้อย ก็มีสามัญชนคนไทยคนหนึ่งกล้าลุกขึ้นมาบอกกับเราว่า พวกเราสามารถรับผิดชอบอนาคตของตัวเองได้”

 

บนถนนสายตาสว่าง: กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์

 

โดย ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี

“การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ไม่เพียงแต่มุ่งสลายความเป็นเสื้อแดง แต่กดปราบกระแสตาสว่างที่แพร่หลายในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย”

“การ ‘กระซิบ’ ของคนเสื้อแดงก่อนหน้านี้มีลักษณะการเปรียบเปรยสูง มีการใช้คำเช่น ฟ้า ฝุ่น ดิน มักแฝงด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย… บ้างก็แฝงอารมณ์ขันแบบบ้านๆ มีการใช้คำเรียกแทนชนชั้นนำบางอย่าง ที่คนชั้นกลางอาจจะมองว่าหยาบคาย ไม่ถูกจริตสำหรับคนมีการศึกษา แต่สำหรับเราคิดว่านั่นคืออาวุธทางสัญลักษณ์ที่ท้าทายระบอบที่เป็นอยู่”

“เราอาจจะเห็นพลัง เห็นภาษาถูกจุดขึ้นมาช่วงการชุมนุมของนักศึกษา เรารู้สึกตื่นเต้น กระชุ่มกระชวยมากแต่อาจจะลืมไปว่าเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้เราเคยพูดได้มากกว่านี้ เคยเกรี้ยวกราดได้มากกว่านี้”

101 สนทนากับ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงภาวะตาสว่างทางการเมืองของคนเสื้อแดงในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ท่ามกลางความสูญเสีย มวลชนเรียนรู้และปรับตัวอย่างไร

วันหมดอายุของนักคิด

 

โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ยิ่งเวลาเดินหน้า กลับคล้ายว่าทำให้นักเขียนที่เคยถูกนับถือว่าเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้าลำดับต้นๆ ของประเทศก้าวถอยหลัง

นักเขียนชื่อดังอย่าง Thomas Friedman ผู้เขียนหนังสือ The World Is Flat ซึ่งโด่งดังเป็นพลุแตกเคยเปิดโลกคนอ่านนับไม่ถ้วน

แต่ปัจจุบัน ฟรีด์แมนกลับกลายเป็นตัวตลกให้คนได้หัวร่อ ผลงานของเขากลายเป็นผลผลิตจากความคิดที่เกิดขึ้นหลายทศวรรษที่แล้ว และไม่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีก

อะไรล่ะคือเหตุผลที่ทำให้นักเขียนและนักคิดสาธารณะถึงวันหมดอายุ?

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ชวนค้นหาคำตอบว่าทำไมคนยิ่งแก่ตัวลง ความคิดสร้างสรรค์จึงยิ่งหดหายไปตามกาลเวลา

 

‘โรคใหม่’ สร้าง ‘โลกแห่งการเรียนรู้ใหม่’ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

การมาเยือนของวิกฤตโรคระบาดทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาหลากหลายด้าน เป็นต้นว่า เราจะออกแบบการเรียนรู้ในยุคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร? ทักษะและหลักสูตรโลกการศึกษารูปแบบใหม่หลังจากนี้ควรมีหน้าตาแบบไหน? และจริงหรือไม่ ที่เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสใหญ่ได้?

101 ชวนมองอนาคตการศึกษาไทยในวันที่โรคระบาดเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนทุกคน ใน 101 Public forum “โรคใหม่ – โลกใหม่ – การเรียนรู้ใหม่ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19”

“ถ้าสำรวจปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น จะพบว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาด้วย เช่น ภาวะชาตินิยมสุดโต่ง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ หรือการขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) เราต้องมองเห็นปัญหาตรงจุดนี้เพื่อที่ว่าจะออกแบบการศึกษาในโลกหลังโควิด-19 ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” – วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“บางคนบอกว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือ การเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในรูปดิจิทัล (digitalization) หรือเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นแบบออนไลน์มากขึ้น ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัล เช่น ประเทศไทย จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มถูกถ่างให้กว้างมากขึ้นทันที” – สฤณี อาชวานันทกุล

“เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำซ้อนกับปัญหาสังคมที่อยู่รอบตัวเด็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาทางสังคม หรือปัญหาจิตวิทยาต่างๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากๆ ที่สถานการณ์ของเด็กที่ออกนอกระบบจะมีมากขึ้น” – ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

“เมื่อการศึกษาจะต้องพลิกโฉมไป สิ่งสำคัญที่จะต้องมีในตัวเด็กคือ สมรรถนะในการแก้ปัญหา ปรับตัว และเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือท้าทาย เพราะฉะนั้น รูปแบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากระบบ Standardize ไปสู่ระบบการเรียนที่สนับสนุนศักยภาพบุคคล (Personalize learning)” – อธิษฐาน์ คงทรัพย์

“เด็ก Generation ใหม่ตอนนี้ เขามีการเรียนรู้แบบใหม่ไปแล้ว แต่ผู้จัดการศึกษาทั้งครูและโรงเรียนยังมี mindset และวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสตอนนี้มาถึงแล้วในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยสร้างความสมดุลระหว่างเด็กกับผู้จัดการเรียนรู้ใหม่” – วิเชียร ไชยบัง

“หากเปรียบการศึกษาเป็นทีมฟุตบอล โรงเรียนและคุณครูเปรียบเหมือนกองหน้า เทคโนโลยีเหมือนกองหลัง ปัจจุบันเรากำลังเอากองหลังมาเล่นแทนกองหน้าชั่วคราว จึงอาจตะกุกตะกักบ้าง แต่เมื่อกองหลังกลับไปเล่นตำแหน่งเดิมแล้วเราจะได้เข้าใจว่าอะไรคือจุดเด่นจุดด้อยของเขา แล้วเราจะได้ออกแบบการเล่นให้ดีที่สุดสำหรับทีม” – พริษฐ์ วัชรสินธุ

 

เงินดอลลาร์จะล่มสลายแล้วจริงหรือ?

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

วิกฤต COVID-19 จะส่งผลสะเทือนถึงขนาดทำให้ระบบเงินดอลลาร์ล่มสลายเลยหรือไม่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มีคำตอบ

 

ไม่รื้อถอนตอนนี้ จะได้ถอนเมื่อไร

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

ช่วงใกล้เปิดเมืองสิ่งที่คนพูดกันน้อยคือขนาดโรงเรียนที่จะให้นั่งห้องละ 40 คนแบบเดิมไม่ได้

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เห็นว่าการปรับตัวสู่ new normal เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษา ด้วยการลดขนาดห้องเรียน กระจายอำนาจการจัดการการศึกษาให้ส่วนท้องถิ่นดูแล

ถึงเวลา ‘รื้อถอน แล้วสร้างใหม่’

 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: หนึ่งทศวรรษความตายแปลกหน้าในประวัติศาสตร์ไร้เสียง

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“เสียงความตายของพวกเขาดูแผ่วเบากว่าความตายของนิสิตนักศึกษาหรือคนชั้นกลางในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น มันเป็นชีวิตชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนาซึ่งมาหุงข้าวหุงปลากันอยู่ที่ราชประสงค์ คนเหล่านี้อาจจะมีตัวตนต่อความรู้สึกของสังคมน้อยกว่า อาจจะมีคุณค่าความเป็นมนุษย์น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในความรู้สึกของคนบางส่วน”

“พวกเขาเป็นคนแปลกหน้าในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทยและเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยมีความหมายมาก่อนด้วยซ้ำไป”

“นี่เป็นความหนักหนาสาหัสที่สุดที่พวกผมเจอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นี่คือการยิงทิ้ง ยิงแล้วไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องมาดูดำดูดีอะไรทั้งสิ้น ใครจะทวงถาม จะตามหาคน จะฟ้องร้องอะไรก็ปล่อยไป เพราะว่ามันเข้าถึงคดีความไม่ได้”

“เราจะปล่อยให้มันคงสถานะไปแบบนี้ตลอดกาลได้จริงเหรอ เราจะเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีคนนอนตายเป็นร้อยที่เข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ เราทำอย่างนั้นได้จริงหรือ”

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ผ่านมา 10 ปี เปลี่ยนรัฐบาลไปหลายชุด แต่ผู้เสียชีวิตยังเข้าไม่ถึงความยุติธรรม และความจริงในเหตุการณ์นี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม

 

จากตุลาการสู่องคมนตรี

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

”ตุลาการและองคมนตรี มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านของภารกิจ อำนาจหน้าที่ กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง แต่หากพิจารณาจากความเป็นจริงในสังคมไทยแล้ว ตุลาการและองคมนตรีกลับมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ย้อนดูความสัมพันธ์ของทั้งสององค์กรนับแต่อดีต หลังจากมีองคมนตรีคนแรกที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญ

 

สองนักวิชาการ ‘อันตราย’ ที่จีนไม่อยากให้จำ

 

โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และศุภณัฐ อเนกนำวงศ์

ครบรอบ 101 ปี ขบวนการ 4 พฤษภาคม หนึ่งในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญของจีน ที่มีการเดินขบวนของนักศึกษาปัญญาชนจากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยชิงหวา ที่ล่าสุดเพิ่งมีอาจารย์กฎหมายถูกระงับการสอนและถูกกักตัวที่บ้านเพราะวิจารณ์รัฐบาลจีนเรื่องการจัดการโควิด-19

มีเพียงการเรียกร้องเสรีภาพบางเหตุการณ์เท่านั้นที่ทางการจีนต้องการให้จดจำ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ เขียนถึง ‘จารึกหวัง กั๋วเหวย’ ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ศิลารำลึกนักวิชาการที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการทางความคิด จนต้องถูกปิดในวันสำคัญเพื่อป้องกันคนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับนักวิชาการสองคน หนึ่งคือ ‘หวัง กั๋วเหวย’ ที่ฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงการสูญเสียเสรีภาพทางความคิด อีกหนึ่งคือ ‘เฉิน ยินเชี่ย’ ผู้เขียนข้อความรำลึกบนจารึก และเขายังเคยเขียนจดหมายปฏิเสธ เหมา เจ๋อตง ที่เชิญให้เข้าร่วมสถาบันวิชาการคอมมิวนิสต์ เพื่อยืนยันเสรีภาพทางวิชาการ

 

ตัดแว่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มองสังคมไทยในยุค COVID-19 กับ ธานี ชัยวัฒน์

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์, ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

101 ชวนมองวิกฤต COVID-19 ผ่านแว่นตา “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”

สนทนากับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของผลงานวิจัยล่าสุด “Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19” เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและข้อจำกัดของคนไทยในการตอบรับมาตรการสาธารณสุขหยุดไวรัส COVID-19 และการใช้ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาเป็นกรอบในการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อพาสังคมไทยออกจากวิกฤตไวรัสครั้งได้อย่างราบรื่น

“หากมอง COVID-19 ในมุมเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เราจะมองสามเรื่องหลักคือ ความเสี่ยง เวลา และสังคม … ความเสี่ยงก็คือเรื่องความเสี่ยงต่อการติดไวรัส เวลาคือการอดทนอยู่บ้านรอมีงานทำ หรือรอใช้ชีวิตตามปกติ และสุดท้าย สังคมคือเรื่องว่าคนอื่นปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสแค่ไหน แล้วเราจะปฏิบัติแค่ไหน เพราะฉะนั้นโจทย์คือการหาสมดุลระหว่างความเสี่ยง เวลา และการคำนึงถึงสังคม”

“รัฐอาจจะต้องมองหน่วยการป้องกันโรคที่ระดับครอบครัวและชุมชน เพราะครอบครัวเป็นจุดสมดุลระหว่างการที่รัฐใช้อำนาจกำกับในพื้นที่สาธารณะได้เต็มที่แล้วคนพร้อมที่จะปฏิบัติตาม กับในขณะที่เมื่อเข้าไปอยู่ในครอบครัว แต่ละครอบครัวก็มีข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป แต่ละครอบครัวเขาจะหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันโรคได้เอง ในขณะที่ชุมชน อาจจะใช้การสื่อสารภายในชุมชนกระตุ้นให้คนปฏิบัติตามมาตรการต่อเนื่อง และสร้างความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด”

“ไวรัสเกิดโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของไวรัสไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะรวยหรือจน หากติดไวรัสก็ป่วยได้เหมือนกันหมด แต่การจัดการไวรัสขึ้นอยู่กับสถาบัน เมื่อสถาบันสร้างความเหลื่อมล้ำ คนแต่ละกลุ่มจะเผชิญและจัดการปัญหาจากไวรัสได้ไม่เท่ากัน ยิ่งไปกว่านั้น กลไกรัฐเองกลับไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะสามารถจัดการปัญหาไวรัสแบบเท่าเทียมได้ ยิ่งยืนยันความเหลื่อมล้ำในกลไกรัฐที่สั่งสมมาจากอดีตมากเข้าไปอีก natural experiment นี้ทำให้เราเห็นรากของปัญหาในสังคมเป็นจำนวนมาก ทั้งความยากจน ความไม่ไว้ใจกัน ความล่าช้า จนทำให้เราเห็นโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่ได้มาจากการกระทำของตัวพวกเขาเอง”

 

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ: ทุกข์ของแรงงานในความคลุมเครือของ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’

 

โดย วจนา วรรลยางกูร , สมคิด พุทธศรี

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือข้อพิพาทจำนวนมาก เพราะภาครัฐไม่มีการกำกับดูแลและกฎหมายที่มีอยู่ก็ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง

101 คุยกับ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำวิจัยเรื่องแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และเห็นว่ารัฐต้องเริ่มศึกษาปัญหาและมีบทบาทในการกำกับดูแล

“ผมไม่ปฏิเสธประโยชน์ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม แต่ถ้ามันทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับคนที่อยู่ในอาชีพนั้นมาก่อนก็เป็นเรื่องที่รัฐหรือผู้มีหน้าที่กำกับดูแลต้องมาให้ความเป็นธรรม รวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มด้วย”

“เมื่อคนที่ทำงานให้แพลตฟอร์มส่งอาหารประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต บริษัทก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยใดๆ…ที่ผ่านมามีกรณีเสียชีวิต บริษัทก็แค่ส่งพวงหรีดให้ บางคนกำลังไปส่งอาหารแล้วประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในหน้าที่ อาหารไปไม่ถึง คนสั่งไม่ทราบก็รีพอร์ตว่าไม่ได้มาส่งอาหาร บริษัทก็ไปบล็อกโดยที่ไม่รู้ว่าเขาตายไปแล้วระหว่างทำหน้าที่”

“ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะคลุมเครือ ไม่มีการกำกับดูแลใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อผู้บริโภคแฮปปี้กับบริการที่ได้ ก็ไม่สนใจว่าเป็นการเอาเปรียบคนทำงานไหม กลไกตลาดถูกบิดเบือนไหม ราคาอาหาร ค่าส่ง แพงเกินจริงไหม”

 

ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

สำรวจชีวิตผู้คนบนถนนราชดำเนิน ถนนข้าวสาร รามบุตรี หลังวิกฤตโควิดพัดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมาด้วย คนไร้บ้าน แม่ค้าร้านตลาด ไปจนถึงเจ้าของกิจการ อยู่กันอย่างไรในภาวะเช่นนี้

ตอนที่นั่งคุยกัน อากาศยังร้อนระอุ เราเหงื่อไหลเหนียวเหนอะแม้เวลาเย็นแล้ว บนโลกใบนี้ บางคนโชคดีที่มีห้องแอร์ให้กลับไปนอนซุกผ้าห่ม แต่บางคนก็ไม่

สมหมาย (นามสมมติ) ไม่มีห้องแอร์ให้กลับไปหา อันที่จริงเขาไม่มีห้องให้กลับไปแล้ว เขาเดินถือกล่องกะเพราหมูสับผ่านมา รู้จักกับนิดเพราะมารอแจกข้าวเหมือนกัน เลยหยุดแวะเข้าร่วมวงสนทนา

“งานฉันน่ะอยู่ที่บางบอน ฉันทำงานก่อสร้าง พอโควิดมาเขาก็ไม่จ้าง ฉันไม่มีค่าห้อง เลยมานอนแถวนี้ ปัญหาหลักคือไม่มีข้าวกิน เลยต้องมากินข้าวที่นี่ ฉันได้เงินเป็นรายวัน พอเขาปิด เราก็ไม่ได้อะไรเลย ประกันสังคมก็ไม่มี” สมหมายเล่าพลางดันแว่นพลาสติกขอบสีฟ้าเสยผม ข้างตัวเขามีกระเป๋าผ้าใบเขื่องที่กลายเป็นเพื่อนแท้ในยามต้องโยกย้าย เขาไม่มีรายได้มากว่า 2 เดือนแล้ว

 

8 นักคิด 8 จักรวาลความคิด มองโลกยุค COVID-19 (1)

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

เมื่อวิกฤต COVID-19 สั่นสะเทือนโลกให้ปั่นป่วน ระส่ำระสาย มองไปข้างหน้า หนทางก็ดูเหมือนจะเลือนราง

แต่ในสภาวะที่สิ่งเก่ากำลังสลายไป สิ่งใหม่กำลังก่อร่าง นี่คือโอกาสที่โลกจะหยิบฉวยแนวคิดต่างๆ หลากหลายที่หมุนเวียนอยู่ในสังคมขึ้นมากำหนดทิศทางที่โลกจะหมุนต่อไป

101 ชวนคุณสำรวจส่วนหนึ่งของแนวคิดและข้อถกเถียงจากนักคิดชั้นนำระดับโลก ว่าวิกฤต COVID-19 เผยให้เห็นอะไร และโลกหลัง COVID-19 เรามีทางเลือกอะไรรออยู่บ้าง

อ่านตอนที่ 2  8 นักคิด 8 จักรวาลความคิด มองโลกยุค COVID-19 (2) 

 

ระเบียบใหม่เรื่องทรงผมนักเรียนได้เรื่องจริงหรือ?

 

โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย

ระเบียบใหม่เรื่องทรงผมนักเรียนคล้ายจะเป็นพัฒนาการแง่บวกต่อสิทธิเสรีภาพของนักเรียนไทย แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็น ‘การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ตามที่ประกาศออกมาจริงหรือ?

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย ชวนย้อนดูการต่อสู้เรื่องทรงผมของนักเรียนไทย และตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาในระเบียบใหม่ที่ยังไม่ได้เคารพ ‘สิทธิและเสรีภาพในร่างกาย’ อย่างแท้จริง

 

ฆ่าตัวตาย, COVID-19

คนเห็นศพ แต่ไม่เห็นคนฆ่าตัวตาย

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

“ด้วยเหตุผลใดการเสียชีวิตของคนที่ฆ่าตัวตายมีความหมายน้อยกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง?”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตั้งคำถามถึงท่าทีต่อความตายจากโรคระบาดที่ไม่ได้มีแค่ผู้ติดเชื้อโดยตรง แต่ยังมีคนที่ได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐ และใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางออกจากสถานการณ์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจและความมั่งคงทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ

“การประกาศว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” หรือ “เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน” จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการตระหนักถึงในฐานะของการเป็นมนุษย์ที่เสมอภาค

“การเสียชีวิตของผู้คนต้องได้รับความใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นเหตุมาจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐในห้วงสถานการณ์นี้”

 

ทรมานที่ถูก “แปรรูป” ในพื้นที่ชายแดนใต้

 

โดย ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

เจ้าหน้าที่สั่งเธอให้ถอดนิกอบ (ผ้าคลุมทั้งใบหน้า เปิดเฉพาะบริเวณดวงตา) ระหว่างการซักถาม ด้วยเหตุผลว่า “ดูประหลาด ใส่แล้วพูดไม่รู้เรื่อง” และยังบอกอีกว่า “พวกยูแว (กลุ่มผู้ก่อเหตุ) ก็ชอบคลุมผ้าแบบนี้ รู้ไหมจุดจบพวกยูแว ถ้าไม่ตายก็ติดคุก”

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ เขียนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อการทรมานด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคง ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่แปรรูปมากระทำที่จิตใจ ผลกระทบที่ค้างภายในจึงกลายเป็นบาดแผลทางใจเรื้อรัง

 

40 ปี การสังหารหมู่ที่ควังจู: ช็อนดูฮวัน ภาพความทรงจำ และความยุติธรรมที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่าน

 

โดย จักรกริช สังขมณี

วันที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันครอบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยที่เมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้

จักรกริช สังขมณี ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองนี้ผ่านภาพยนตร์ 12 เรื่อง ที่สะท้อนความทรงจำและประสบการณ์จากหลากมุมมอง

“การแสวงหาความจริงในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย การพยายามปกปิดบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมนั้น มีแต่จะสร้างบาดแผลและความบาดหมางให้กับคนในชาติ หนึ่งในหนทางของการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดี ต้องเริ่มจากค่านิยมของการทำความจริงให้ปรากฎ หาใช่กระบวนการสร้างความปรองดองที่ปราศจากเสรีภาพ ความจริงใจ และข้อเท็จจริง”

 

รัฐซอมบี้

 

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

‘ซอมบี้’ คือ ภาวะกึ่งเป็นกึ่งตาย

‘รัฐซอมบี้’ คือ รัฐที่สูญเสียความสามารถที่จะรับรู้และสนใจ ไม่สามารถคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของระบบเพื่อรับมือกับวิกฤตรูปแบบใหม่ๆ ได้ และไม่สามารถสนใจเสียงสะท้อนจากประชาชนในรัฐได้

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เขียนถึงอาการซอมบี้ของรัฐไทย ที่เห็นชัดเจนขึ้นมาจากการเผชิญโควิดซึ่งเป็นปัญหาใหม่ แต่ระบบราชการไทยก็ยังตอบสนองแบบที่คุ้นชินกันมา

 

Spotlight ประจำเดือนพฤษภาคม 2563

 

Defrost the Memories

เมื่อความทรงจำถูกละลายจากเหตุสลายการชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53

 

เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนอกจาก “สบายดีไหม” หรือ “ไปไหนมา” เรามักทักทายกันสั้นๆ ว่า “กินไรยัง” มากไปกว่านั้น หากจะสำรวจนิสัยใจคอกันและกันอาหารการกินก็ให้ภาพสะท้อนได้ดี

ว่ากันว่า หากอยากรู้จักกันให้ลึกกว่านั้น “ตู้เย็น” ของเจ้าตัวอาจให้ภาพที่ดีได้ แล้วถ้าอยากรู้จักสังคมไทยล่ะ เปิดตู้ดูเราจะรู้จักกันดีขึ้นไหม อะไรบ้างที่น่ากิน อะไรบ้างที่ถูกแช่แข็งไว้ และอะไรบ้างที่ถูกแช่ไว้จนหลงลืม

ครบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค. ปี 2553 จะว่าไป ความยุติธรรมก็คงถูกฟรีซไว้ เพราะยังไม่มีผู้สูญเสียคนไหนได้ลิ้มรส

ถ้าหากสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมคือเมนูสำคัญ ความจริงก็คงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ คำถามคือมันถูกซุกซ่อนอยู่ส่วนไหน เราเก็บความทรงจำไว้ตรงไหนในตู้เย็น พร่าเลือนหรือแจ่มชัด บูดเสียหรือฉ่ำสด

101 ชวนรำลึกประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งใหญ่ ร่วมกันละลายความทรงจำเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการปรุงรสอนาคตสังคมไทย

 

COVID-19 ‘โรค’ เปลี่ยน ‘โลก’ อ่านปัญญา 60 ความคิด อนาคตเศรษฐกิจการเมืองโลกและไทยในมหาวิกฤต

 

COVID-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของพวกเราทุกคน เป็นวิกฤตประเภทที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มองไม่เห็นจุดจบปลายทาง สัมพันธ์เชื่อมโยงทุกมิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และที่สำคัญ เป็นวิกฤตที่เกี่ยวพันกับความเป็น-ความตายของชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตทางธุรกิจ

101 ชวนผู้อ่านทุกท่านมาแสวงหาปัญญาฝ่าวิกฤต อ่านความคิดรวมหมู่จากผู้คนหลากหลายแวดวง จากโลกถึงไทย จากเมืองถึงชนบท จากสาธารณสุขถึงการศึกษา จากการเมืองถึงเศรษฐกิจ จากธุรกิจถึงกฎหมาย จากครอบครัวถึงสังคม และจากสุขภาพถึงเสรีภาพ

ระดมสมองเพื่อมองไปข้างหน้า ในวันที่โรคระบาดเขย่าโลกและไทยจนปั่นป่วนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน — เศรษฐกิจจะสั่นสะเทือนรุนแรงแค่ไหน สังคมการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร หน้าตาของโลกจะพลิกโฉมเช่นไรหลังสมรภูมิ COVID-19 และอะไรคือโอกาสและความท้าทายแห่งอนาคตของประเทศไทย

เจาะลึกวิกฤต COVID-19 ด้วยการคุยรอบด้าน ถามตรง ตอบลึก เรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวาระโลก กับนักคิด นักวิชาการ นักวิจัย นักธุรกิจ นักการเมือง สื่อมวลชน เอ็นจีโอ และผู้กำหนดนโยบาย มากกว่า 60 คน

นี่คือตลาดวิชาฝ่าวิกฤตขนาดใหญ่ ที่เปิดให้คุณได้เรียนรู้ฟรีๆ ถึงบ้าน

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนพฤษภาคม 2563

 

In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ถ้อยคำที่ผลิตออกมาอย่างเป็นระบบ เป็นต้นว่า “ชายชุดดำ” “ก่อการร้าย” “ล้มเจ้า” นำมาสู่ใบอนุญาตการปราบปรามในเดือน เมษาฯ-พฤษภาฯ 53 จนมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 99 คน

กมนเกด อัคฮาด คือ 1 ใน 99 คนนี้ ทั้งที่เธอเป็นพยาบาลอาสา ช่วยเหลือคนเจ็บในเต็นท์พยาบาล ในเขตอภัยทาน วัดปทุมวนาราม

ศาลอาญาระบุว่า เธอเสียชีวิตจากกระสุนฝั่ง จนท. ทหารที่ยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้า ไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่ตัวผู้ตาย

 

พระไพศาล

พระไพศาล วิสาโล ที่ข้าพเจ้ารู้จัก

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ในความรู้สึกของผมที่รู้จักหลวงพี่เตี้ยมาสี่สิบกว่าปี ท่านยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จากเด็กกิจกรรมสมัยเป็นนักเรียน จนมาบวชเป็นพระ ก็ยังเป็นพระนักกิจกรรมเหมือนเดิม ชีวิตของท่านเป็นนักทำกิจกรรมไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะครองผ้าสีอะไร หากนิยามว่า ‘คนทำกิจกรรม’ คือ คนที่ทำงานเพื่อคนอื่น ท่านไม่เคยคิดถึงตัวเอง แต่คิดถึงคนอื่นเป็นหลัก”

“ผมเคยถามท่านว่า “ไม่คิดจะสึกบ้างหรือ” ท่านบอกว่า “คิดสิ ทำไมจะไม่คิด คิดจะสึกตั้งแต่บวชได้สามเดือนแล้ว แต่อยู่แล้วสบายใจ จึงอยู่ไปเรื่อยๆ” จนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าหากวันใดครองผ้าเหลืองแล้วไม่สบายใจ ท่านคงสึกแน่นอน เพราะท่านไม่ได้ยึดติดกับอะไร”

“มีคนถามผมว่า ทำไมท่านอายุจะหกสิบแล้ว แต่ใบหน้ายังอ่อนเยาว์ยิ่ง ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่านมีชีวิตเพื่อผู้อื่นโดยแท้ และที่สำคัญคือท่านปล่อยวางได้”

“นานมาแล้ว ผมเคยพบพระป่าอาวุโสรูปหนึ่ง หน้าตาแจ่มใสอิ่มบุญยิ่งนัก ท่านสอนผมประโยคหนึ่ง ในการใช้ชีวิตให้เป็นอิสระ และผมจำไปตลอดชีวิตว่า “รู้ แต่อย่า รู้สึก” ฟังแล้วเข้าใจ แต่รู้ว่าปฏิบัติได้ยากมาก”

“ผมคิดว่า พระไพศาล วิสาโล คือคนประเภทที่เข้าถึงคำพูดนี้”

“รู้ แต่อย่า รู้สึก”

 

“ชีวิตของพ่อ : ท่านชิ้น ผู้อาภัพ” – ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร สนทนากับ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ธิดาของ “ท่านชิ้น” – ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ถึงเรื่องความสำเร็จและความล้มเหลวของ “ท่านชิ้น” ผู้มีบทบาทโลดแล่นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากยุครัชกาลที่ 7 ถึงยุครัชกาลที่ 9 ตอนต้น โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะ “เสรีไทย”

“แม้ว่าครั้งหนึ่งทั้งสองจะมีจุดยืนตรงข้ามกัน เพราะอาจารย์ปรีดีเป็นต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสละราชสมบัติและสวรรคตในต่างแดน แต่เมื่อคราวบ้านเมืองคับขัน ทั้งคู่ก็ลืมความขัดแย้งมาจับมือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไว้วางใจกัน อาจารย์ปรีดีก็เห็นใจพ่อที่ถูกกล่าวหาโดยไม่ยุติธรรม ทำงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของชาติ เพื่อประชาธิปไตย ต่อมาพ่อก็ให้ loyal support ต่ออาจารย์ปรีดีเต็มที่เช่นเดียวกัน เมื่ออาจารย์ปรีดีถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8”

“พ่อยึดถือความถูกต้องชอบธรรมเป็นสรณะ มีความจริงใจ และไม่ทอดทิ้งเพื่อน เช่น อาจารย์ปรีดีที่ถูกกล่าวหา ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม ไม่คิดเอาตัวรอด มี passion ไม่ว่ากับคนหรืองาน ถ้าเป็นงานก็ทำอย่างสุดความสามารถ กับคนก็รักบูชาสุดขีด เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”

 

ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม

 

โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

ตัวละครสำคัญของการอภิวัฒน์ 2475 คือ “ปรีดี พนมยงค์” หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ซึ่งต่อมาเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หัวหน้าขบวนการเสรีไทย อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส

101 ชวนย้อนอ่านประวัติชีวิตและความคิดของ “ปรีดี พนมยงค์” ผู้ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจที่เป็นธรรม และเสรีภาพทางการศึกษา ผ่านงานเขียนของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตทางวิชาการเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของปรีดีและคณะราษฎร เมื่อครั้ง 117 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

 

บทบาทมหาวิทยาลัยในโลกที่อาจไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึง คุณสมบัติ 5 ข้อที่มหาวิทยาลัยควรมี ในโลกอนาคตที่การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกที่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

ข้อหนึ่ง การเรียนรู้จากความแตกต่าง (Accepting Diversity)

“การทลายกำแพงระหว่างคณะ สาขาวิชา อายุ เชื้อชาติ นอกจากจะช่วยให้เราอยู่กับความแตกต่างเป็นแล้ว ยังช่วยสร้างสังคมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย”

ข้อสอง เรียนรู้จากความล้มเหลว (Failure)

“ล้มได้ ลุกได้ โดยไม่เจ็บตัวเกินไป สามารถสร้างทัศนคติแบบ growth mindset ที่รู้ตัวว่าความล้มเหลวในวันนี้สามารถเป็น ‘ครู’ ที่ทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมในวันหน้า”

ข้อสาม เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

“ครูที่มี empathy จะไม่เป็นแค่ผู้เลกเชอร์ แต่สามารถเป็นได้ทั้งโค้ชที่รู้จักจุดแข็ง-อ่อนของนักเรียนคนนั้นๆ เป็นพี่เลี้ยง-ที่ปรึกษา (mentor) ที่เข้าใจนักเรียน และสามารถแนะแนวทางชีวิตให้ได้”

ข้อสี่ เรียนรู้ที่จะค้นพบตัวเอง (Soul)

“น้อยบริษัทนักจะสามารถเปิดพื้นที่และให้เวลาคนในการค้นหาตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา คอยแนะแนวช่วยเหลือคนที่สับสนหลงทาง จึงทำให้เกิดสภาวะ ‘หมดไฟ’ หรือ burn out ได้บ่อยๆ”

ข้อ 5 พื้นที่ปลอดภัย

“พื้นที่ปลอดภัยไม่ได้แปลว่า “พื้นที่อยู่สบาย” หรือ comfort zone ในทางตรงข้ามเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเราจะกล้าที่จะออกนอก comfort zone ของตนเอง กล้าเปิดรับความอ่อนไหว (vulnerability) เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่”

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนพฤษภาคม 2563

 

101 One-On-One Ep.130 : “จากวิกฤตเศรษฐกิจสู่วิกฤตการศึกษา” กับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

 

โดย 101 One-on-One

วิกฤต COVID-19 คือวิกฤตใหญ่ด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน นักเรียนกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก หรือกว่า 90% ของนักเรียนทั้งหมด ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดโรงเรียน ซึ่งปั่นป่วนกระบวนการเรียนรู้ให้ต้องสะดุดลง

แม้จะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเรียนการสอนทางไกล แต่ก็มีเครื่องหมายคำถามมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ยังไม่นับผลพวงที่จะตามมาจากมหาวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ตัวละครทั้งหมดในระบบการศึกษาเผชิญปัญหาที่หนักหนาสาหัสขึ้นเป็นเท่าทวี

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญคู่โลกจะยิ่งสำคัญขึ้น ยิ่งหนักหน่วงขึ้น และยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้นไปอีกในยุค COVID-19 — อะไรคือโจทย์ใหม่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยและเราจะตอบโจทย์เหล่านั้นอย่างไร

101 สนทนากับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ โลกการศึกษาที่เปลี่ยนไป และโฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-On-One Ep.134 : “10 ปี สลายชุมนุมคนเสื้อแดง สิทธิมนุษยชนที่หายไป”

 

โดย 101 One-on-One

101 ชวนรำลึก 1 ทศวรรษ เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 อะไรเป็นเงื่อนไขทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคน ใช้งบประมาณในการปราบปรามไปกว่า 3,700 ล้านบาท กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอันเรื้อรัง และสังคมไทยเรียนรู้อะไรบ้าง

สนทนากับ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ดำเนินรายการโดย ธิติ มีแต้ม บรรณาธิการ The101.world

 

101 One-On-One Ep.141 : ‘1 ทศวรรษ ล้อมปราบเสื้อแดง ความตายปลุกความจริง’ กับ พวงทอง ภวัครพันธุ์

 

โดย 101 One-on-One

เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาลในเดือน เม.ย. – พ.ค. 2553 กลายเป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่สังคมไทยกล้ำกลืน ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

ทำไมการใช้กำลังล้อมปราบกลางเมืองที่รุนแรงที่สุดจึงเกิดขึ้นกลางเมือง สังคมไทยจำคนเสื้อแดงอย่างไร ที่ทางของขบวนการอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ทหารเปลี่ยนไปแค่ไหนในการเมืองมวลชน และอะไรคือบทเรียนใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน สำรวจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และวิเคราะห์พลวัตของหนึ่งในขบวนการการเมืองมวลชนที่ใหญ่ที่สุดของไทย

101 สนทนากับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53

ดำเนินรายการโดย อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

 

101 One-On-One Ep.144 : คิดใหม่ ‘เมือง’ หลังโควิด-19 กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

โดย 101 One-on-One

หลังมาตรการล็อคดาวน์อันเข้มข้น เมืองกำลังเปิดใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยโจทย์ใหญ่ที่ยากกว่าเดิม

เมืองต้องการวิชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์สุขภาพและเศรษฐกิจพร้อมกัน

คุยกับ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักการเมืองอิสระ ผู้ประกาศเจตจำนงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยวิชั่นใหญ่ต่อเมืองหลวง

โควิด-19 เปลี่ยนเมืองอย่างไร กรุงเทพฯ ควรต้องเป็นอย่างไรเพื่อตอบโจทย์คนอยู่ ควรมีที่ทางแบบไหนต่อประชาคมโลก และ ‘เศรษฐกิจแห่งความไว้วางใจ’ (Trust Economy) จะเป็นยุทธศาสตร์หลักของเมืองและของประเทศได้อย่างไร

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

สารคดี Father And Son

 

โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ

“ถ้ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ถูกนำมาใช้ ต่อไปเวลาประชาชนออกมาชุมนุม เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไม่เคยถูกลงโทษ หรือถูกชี้ความผิด มันก็จะต้องมีการยิงกันอีกเหมือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่า ขอให้เฌอเป็นศพสุดท้าย ก็ไม่จริง“ – พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พูดถึงกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ทำให้ลูกชายเสียชีวิต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save