fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2562

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2562

 

เอาด้วยใจ หรือ ซื้อเพียงกาย เมื่อผู้หญิงเป็นฝ่ายใช้บริการ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ฉันอยู่กับคุณด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของกันและกัน แล้ววันนึงคุณทำให้ฉันกลายเป็นแบบนี้ ฉันไม่รู้อีกแล้วว่าการมีอะไรกันทำแบบไหน” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการซื้อบริการ

“มึงเที่ยวแล้วมีความสุขกับเซ็กซ์ใช่ไหม ได้…งั้นกูเอาบ้าง” พี่หวานลั่นวาจา

คอลัมน์ Sex Appear ตอนใหม่ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘หวาน’ ผู้หญิงที่ซื้อบริการจากผู้ชาย สะท้อนผลกระทบเมื่อเซ็กซ์ถูกผูกกับความรัก และบทบาทของเพศวิถีเมื่อผู้ชายเป็นผู้รุก ผู้หญิงเป็นผู้รับ

“นอกจากรถเบนซ์เขาก็พกลำโพงราคาหมื่นกว่าบาทเพื่อเปิดเพลงผ่อนคลาย น้ำมันนวดแบบที่ชั้นไม่กล้าซื้อ เข้าม่านรูดก็ยังไม่ต้องควักตังค์อะไรทั้งสิ้น เขาออกไปก่อน ให้เราเข้าห้องไปเลยเพื่อเซฟเรา ให้เขาเป็นคนที่เจอกับพนักงานเท่านั้น โดยที่ไม่มีใครเห็นหน้าเรา 

“อยากทานอะไรเขาจัดการให้ เข้าห้องปุ๊บ เดี๋ยวผมไปเปิดน้ำก่อนนะ จะได้มีน้ำที่อุ่นพอดีตอนทำเสร็จแล้ว ผ้าเช็ดตัวเป็นยังไง ผมมีของผมมาด้วยนะถ้าคุณไม่อยากใช้ของที่นี่ พกเครื่องปรับอากาศอโรม่าที่พ่นๆ มาด้วยนะ เขาทำทุกอย่างให้เราสบายที่สุด เพราะนี่คืองานของเขา

“ในราคาค่าตัวพันสอง”

“ภาพทั่วไปไม่ว่าจะในชีวิตจริง หรือผ่านสื่อ เวลาผู้ชายไปเที่ยวอ่างแล้วถูกเมียด่า ก็จะกลายเป็นเรื่องขำๆ ตลก ‘ไม่ทำแล้วค่ะเมียขา’ จบ เพราะสังคมมอบบทบาทผู้นำ ผู้กระทำ ผู้มอบความสุขให้เพศหญิง ผู้ชายเจนจัดจึงถูกยกย่อง และสังคมก็ปล่อยผ่านการกระทำดังกล่าว”

“เพราะนี่คือ ‘ธรรมชาติ’ ที่สังคมเราสร้างให้เพศชาย แต่พอเป็นผู้หญิงเรื่องราวก็ต่างไปเหมือนหนังคนละม้วน”

 

เราร้องไห้กันคนละเรื่อง

 

โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ 

‘Interview 101’ โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ คอลัมน์แบ่งปันวิธีคิดในการทำงานสัมภาษณ์ บอกเล่าประสบการณ์ในสนามสื่อมวลชน ผ่านตัวตน น้ำเสียง จังหวะ ที่นักอ่านหลายคนคุ้นเคย—และคิดถึง

เดือนนี้ว่ากันด้วย เนื้อหาของสื่อ-เหตุของน้ำตาที่บางคนให้ค่าและบางคนทิ้งขว้าง

“เทปอัดติด ได้ยินชัด แต่ตัดทิ้ง ไม่เลือก ไม่เขียน ไม่บอกเล่า เพราะเห็นว่ามันคือขยะ

มองภาพสื่อสารมวลชนโดยรวม เราจะเห็นว่าเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องจำเป็นที่ควรขุดค้น นำเสนอ มีให้เสพไม่มาก ตรงกันข้ามกับข่าวอื้อฉาวที่มีสาระเบาบาง กลับเบ่งบานตลอดทั้งปี

บานโดยไม่ต้องรอแสงแดด

เราร้องไห้กันคนละเรื่องแน่ๆ และจำเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ควรหมิ่นหยามกัน เรื่องเรา เรื่องท่าน เรื่องของใครสลักสำคัญกว่า เพราะคุณค่าและความสำคัญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ใครก็ชอบข่าวดารา ข่าวซุบซิบบันเทิง มันเป็นของหวานเลิศรสที่กินดื่มเมื่อไรก็เพลิดเพลินชุ่มฉ่ำลิ้น เพียงแต่ว่าเมื่อสัดส่วนน้ำตาลในเลือดมีมากเกินไป ร่างกายก็อ่อนแอ ปัญญาทึบ ความคิดสร้างสรรค์เป็นศูนย์

จำเป็นที่เราต้องแสวงหาความสมดุล ยอมเสพรสขมบ้าง

หากว่ามันช่วยให้หัวใจไม่เสียศูนย์”

 

กัญชาตาสว่าง ท่ามกลางความพร่ามัว

 

โดย ธิติ มีแต้ม

บ่ายวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ www.cbd-oss.org ที่สร้างขึ้นจากความร่วมมือของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย จะเปิดใช้เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้กัญชารักษาได้ลงทะเบียนออนไลน์ แสดงเจตจำนงถึงสิทธิในการเข้าถึงกัญชาได้ด้วยตัวเอง

ธิติ มีแต้ม ตั้งคำถามต่อทัศนคติการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสังคมไทยจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วงการแพทย์ไปจนถึงพรรคการเมือง ว่าอะไรเป็นแก่นแกนของ ‘กัญชาธิปไตย’ ที่ต้องการปักลงไปในดิน พร้อมรีวิวมุมมองของแพทย์บางส่วนที่ดูไม่เป็นเอกภาพกับแพทย์ทั่วไป

“เวลานี้กัญชาได้เปิดบริบทใหม่ของการตีความเรื่องการแพทย์ แพทย์แผนปัจจุบันแบบดั้งเดิมอาจไม่ใช่คำตอบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังมีความรู้ที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย เป็นเรื่องที่แพทย์ต้องปรับบทบาทและเรียนรู้ใหม่” – ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

“พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพิ่มมูลค่าในการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยกัญชาเข้าข่ายเป็น “สมุนไพร” ตามความหมายของ พ.ร.บ นี้ แต่กัญชาอาจไม่เข้าข่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็ได้ เพราะยังคงเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และยังเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและกฎหมายยาเสพติดให้โทษ” – ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

 

 

เรื่องของ ‘การเขียน’ ในยุคโซเชียลมีเดีย (ที่มากกว่าดราม่า ‘คะ/ค่ะ’)

 

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ล่าสุดผมเพิ่งเจอนักศึกษาหลังไมค์เฟซบุ๊กมาว่า “ขออณุญาตินะครับอาจาน คะแนนผมไม่ถึงเกรน ช่วยผมด้วย” เจอ ‘อณุญาติ’ กับ ‘อาจาน’ เข้าไปก็ปวดใจแล้ว แต่ ‘เกรน’ นี่ทำเอามึนตึ้บ ใช้เวลาวิเคราะห์อยู่ 5 วินาทีถึงจะเข้าใจว่าคือคำว่า ‘เกณฑ์’ โอ๊ย ตาย อ่านแล้วไมเกรนกำเริบ…

คอลัมน์ ‘ต่อว่า’​ ตอนใหม่ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เล่าอาการเขียน ‘ค่ะ/คะ’ ผิด ของคนในสังคมไทย การสื่อสารที่ออกจะบกพร่อง เมื่อบทสนทนาเกิดขึ้นผ่านแชทในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการพิสูจน์อักษรในยุคสื่อออนไลน์

“โลกยุคที่ทุกคนเลิกควบกล้ำ ร.เรือ แบบในนิยายเรื่อง ‘ชิทแตก’ ของปราบดา หยุ่น มีสิทธิเกิดขึ้นในภายในเร็ววันนี้ เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ของยุคสมัยที่คนจะไม่ใส่ใจความต่างของ ‘คะ/ค่ะ’ อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้จะถูกกำหนดด้วยเจเนอเรชั่นต่อไป หาใช่คนแก่อย่างพวกเรา”

“เพื่อนบางคนบอกว่าผมจู้จี้หัวโบราณ ข้อความแชทมันไม่มีน้ำเสียงนะ อย่าไปคิดมากสิ แต่ผมกลับคิดว่าการแชทนี่ควรจะ ‘เพิ่มน้ำเสียง’ ให้น่ารักกว่าปกติ จะมองว่า ‘เฟค’ ก็ได้ แต่เพื่อให้บรรยากาศของการสนทนาเป็นไปด้วยดี”

“พอเป็นยุคออนไลน์ที่แก้ย้อนหลังได้ สปิริตความจริงจังเหล่านั้นก็เลยหย่อนยาน ทั้งที่ความจริงแล้วบางที ‘ความผิดพลาด’ ในยุคออนไลน์ก็ร้ายแรงกว่ามาก เช่น ถ้าเผลอเขียนผิดจนกลายเป็นเรื่องตลกหรือมีคำหยาบหลุด ชาวเน็ตก็จะแคปส่งต่อกันจนเป็นไวรัลดังทั่วประเทศ แถมผ่านไปอีกห้าปีสิบปีก็ยังกูเกิ้ลเจอเคสนี้ได้”

 

 

“มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” เสียงกระซิบจาก ‘เด็กปีศาจ’

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ในการสื่อสารทางการเมือง เราเชื่อว่าละครช่วยได้ มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง และอำนาจรัฐคงไม่สนใจละครเวทีหรอก ตอนนั้นเชื่อแบบนั้น…”

2 ปี 16 วัน กรงขังในบางความหมาย อาจเปลี่ยนบางคนให้เชื่องและเซื่องซึมได้

แต่กับ ‘กร๊อฟ’ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตผู้ต้องขังคดี 112 จากการเล่นละครเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ กลับได้มาซึ่งหนังสือความหนาแปดร้อยกว่าหน้า ชื่อ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’

“เราเห็นตัวเองจากการเขียน เราไม่ใช่เหยื่อ แม้ต้องเผชิญกับความคิดของคนบางส่วนที่มองเราเป็นเหยื่อแน่ๆ แต่เราไม่รู้สึกว่าการเป็นนักโทษการเมืองมันพิเศษกว่าคนอื่นตรงไหน ไม่เห็นรู้สึกว่าการเป็นนักโทษการเมืองต้องถูกเชิดชูมากกว่าคนอื่นตรงไหน”

ถ้า ‘สาย สีมา’ เดินออกมาจากนวนิยายคลาสสิกเรื่อง ‘ปีศาจ’ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แล้วพบกับเธอ ทั้งคู่จะคุยอะไรกัน?

ไม่รู้, เป็นไปได้ว่าอาจยักไหล่ให้โลกใบเก่า…

“จริงๆ มันก็เหมือนจะเห็นผลที่ปลายทางอยู่บ้าง ช่วงเรียนปี 1 ไปปีนรัฐสภาเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ประมาณ 8 ฉบับ หนึ่งในนั้นมี พ.ร.บ.ความมั่นคง เราถูกบอกมาตลอดว่าถ้ามึงไป มึงมีโอกาสติดคุกนะ มึงจะไปก็ตัดสินใจเอง

“เรารู้ว่าการที่ก้าวขามาตรงนี้ มีปลายทางอยู่ไม่กี่ทางหรอก ก.ตาย ข.ลี้ภัย ค.ติดคุก แค่นี้แหละ สรุปได้ข้อ ค. ก็แค่นั้นเอง…”

 

 

รานา มิตเตอร์ : จีนสมัยใหม่ บนบันไดสู่มหาอำนาจในศตวรรษ 21

 

โดย สมคิด พุทธศรี และ กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

ใครๆ ก็รู้ว่า จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง การทำความเข้าใจจีนอย่างลุ่มลึก รอบด้าน จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

ปัญหามีอยู่ว่า เราจะเข้าใจจีนได้อย่างไร?

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา 101 มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ‘รานา มิตเตอร์’ (Rana Mitter) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์การเมืองจีนสมัยใหม่ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เจ้าของหนังสือ ‘จีนสมัยใหม่: ความรู้ฉบับพกพา’ (Modern China: A Very Short Introduction) และ ‘ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่’ (A Bitter Revolution) ว่าด้วยอนาคตของจีนสมัยใหม่ในสารพัดประเด็น แต่ละคำตอบล้วนแหลมคม ชวนคิด มองเห็นตัวแปรสารพัดอย่างเป็นระบบ เป็นต้นว่า

“มรดกตกทอดจากขบวนการ 4 พฤษภาคม ยังคงมีความสำคัญอยู่ในศตวรรษที่ 21 ถ้าจะถอดแก่นความคิดออกมา ผมคิดว่าสโลแกนหลักซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงในตอนนั้นใช้ คือ Mr Science (ศาสตร์) และ Mr Democracy (ประชาธิปไตย) คือแก่นหลัก นี่คือสองความคิดรากฐานที่ยังคงมีการตีความกันอยู่ในจีนสมัยใหม่”

“เศรษฐกิจการเมืองจีนมีพลวัตสูงมาก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว จีนเป็นประเทศที่จนมาก ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ในอีก 20 ปี จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลก กลายเป็นมหาอำนาจด้านปัญญาประดิษฐ์ แล้วคุณจะคาดการณ์ได้อย่างไรว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีต่อจากนี้ แม้แต่จีนยังไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย การเมืองจีนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก”

“ถ้าประเทศต่างๆ กังวลเกี่ยวกับการลงทุนของจีน ก็ขึ้นอยู่กับประเทศเหล่านั้นว่าจะหยุดจีนหรือไม่ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของจีนในการป้องกันตนเองจากการทำสิ่งที่จีนต้องการ เพราะนี่เป็นเรื่องปกติของประเทศที่กำลังจะขึ้นเป็นมหาอำนาจ ถ้าประเทศอื่นๆ รู้สึกไม่สบายใจกับจีน พวกเขาก็ต้องหยุดจีน”

“ในระยะยาว สภาพแวดล้อมในโลกตะวันตกยังถือว่ามีเสถียรภาพมากกว่ามาก จริงอยู่ว่าในตะวันตก บริษัทต่างๆ ก็ล้มละลายได้ แต่สิ่งที่คุณสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนคือ ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า สหรัฐฯ จะยังคงมีการเลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตยอยู่ หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ต่อให้ออกจากสหภาพยุโรปแล้ว ก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของตนเอง เช่นเดียวกับฝรั่งเศส เยอรมนี หรือประเทศอื่นๆ”

 

 

3 ทฤษฎีบทแห่ง Game of Thrones *คำเตือน มีสปอยล์ตั้งแต่ชื่อต้นเรื่อง

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เขียนถึง Game of Thrones ซีรีส์ที่ร้อนแรงและได้รับการพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้

หลังจากจบ ตอนที่ 4 ซีซัน 8 ไปเรียบร้อย เกิดทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับตอนจบของเรื่องที่กำลังจะมาถึง และนี่คือการวิเคราะห์ทฤษฎีที่น่าจะเกิดกับตัวละครสำคัญในเรื่อง

*คำเตือน มีสปอยล์ตั้งแต่ชื่อต้นเรื่อง

 

Free Solo : เมื่อความตายไม่ทำให้มนุษย์พ่ายแพ้เท่าการร่วงหล่น

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“ถ้ามองจากมุมนักปีนเขา เราจำเป็นต้องมีโฟกัส และอาศัยความมุ่งมั่นที่เข้มข้นจากภายใน ซึ่งการมีใครอีกคนเข้ามาในชีวิต อาจลดทอนความเข้มข้นนั้นไป…”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เขียนถึงหนังสารคดี ‘Free Solo’ ที่ตามบันทึกภารกิจอันเหลือเชื่อของอเล็กซ์ ฮอนโนลด์ มนุษย์คนแรกที่พิชิตหน้าผาสูง 3,000 ฟุตได้ด้วยมือเปล่า ไร้เครื่องมือใดๆ ที่รองรับการร่วงหล่น

“หากหน้าผาที่เขากำลังปีนคือเรือนร่างของคู่รัก เขาย่อมรู้จักเป็นอย่างดี พนันได้ว่าไม่มีจุดไหนที่ไม่เคยสัมผัส

แต่นอกจากปัจจัยทางร่างกาย การพิชิตความเสี่ยงและเสียวในระดับนั้นได้ อย่างน้อยจิตใจต้องแข็งแกร่งพอๆ กับภูผาหินตรงหน้า

ชีวิตที่ผ่านมา แม้จะไม่เคยปีนผา แต่ก็มีหลายครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับความหนักหนาในชีวิต ซึ่งผมพบว่าสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด คือการฝืนใจตัวเองไม่ให้หันหลังกลับ ไม่แสร้งทำเป็นหลับตา

ทว่าในสถานการณ์ที่เห็นว่ามีคนหนุนหลัง ให้กำลังใจ หรือรู้ว่ามีใครสักคนที่รออยู่บนนั้น ผมจะมั่นใจและกล้า

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คนเราอาจไม่ได้กลัวความสูง กระทั่งไม่ได้กลัวความตาย เราเพียงแต่กลัวการร่วงหล่นอย่างเดียวดายซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

 

 

กกต. มีไว้ทำไม? : คุยกับ ‘ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์’ จากคูหาลังกระดาษ ถึงบัตรเขย่ง

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ท่ามกลางข้อกังขาว่า กกต. มีไว้ทำไม? ธิติ มีแต้ม สนทนากับ ‘ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์’ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ ‘พีเน็ต’ องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการเลือกตั้งมาตั้งแต่หน่วยงาน กกต. ยังไม่คลอด

อะไรคือสิ่งที่เธอ-ในฐานะผู้เคยสมัครเป็น 7 เสือ กกต. มองเข้าไปในสปิริตของคนที่ต้องจัดการเลือกตั้ง, อะไรคือสิ่งที่พีเน็ตเห็นท่ามกลางความคลางแคลงของการเลือกตั้ง 62 นี้ และอะไรคือความกังวล เมื่อประชาชนเริ่มไม่ไว้วางใจกรรมการ ผู้ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง สุจริต และเที่ยงธรรม

“สมัยก่อนตอนตั้ง กกต. ใหม่ๆ เขาทำงานกัน 24 ชั่วโมง ช่วงปีใหม่ก็ไม่ได้หยุด รอรับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ พอได้รับแจ้ง ก็ส่งให้ตำรวจวิ่งไปดูที่เกิดเหตุ ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำมืด วันนับคะแนนก็นับถึงเช้าวันใหม่ นับกันจนกว่าจะเสร็จ คนนับก็ต้องนับ คนสังเกตก็ต้องคอยดู”

“แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ ก็ยังเคยขึ้นเพื่อไปขนหีบมาส่ง ถามว่าทำไมต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ก็เพื่อให้ทันเวลา ไม่เกิดเป็นบัตรเสีย นี่เป็นช่วง กกต. ชุดแรกเลย ทำกันขนาดนั้น ถามว่าทำไปทำไม ก็เพื่อจะให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม”

“ถ้าถามเรื่องการคำนวณ ช่วงหลังๆ แม้แต่นักคณิตศาสตร์ก็มาช่วยคำนวณให้ดูแล้ว พอคุณบอกว่านักคณิตศาสตร์ไม่รู้กฎหมาย นักกฎหมายก็ออกมาช่วยแล้ว ทำไม กกต. ยังไม่มั่นใจ คุณก็ประกาศมาเลย ถ้ามีปัญหาก็ค่อยไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยก็จบ ไม่เห็นด้วยก็จบ คุณได้ทำตามหน้าที่แล้ว คุณมีคำอธิบายแล้ว แต่เบื้องต้นคุณต้องทำหน้าที่ของตัวเองก่อน”

“ถ้าคนทำงานแบบอิสระ มีความตั้งใจอย่างเสรี เป็นกลาง ว่าไปตามเนื้อผ้า มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เขาต้องศึกษาทั้งหมด แล้วก็ดูว่าจะเอายังไง ไปฟังความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ แล้วก็มาชั่งน้ำหนัก ถ้าคุณทำ คนก็จะเห็นว่าคุณพยายามทำแล้ว ถ้ามันพลาด ก็ช่วยกันประคับประคองแก้ไขไป แต่นี่ไม่เลย มึนๆ เงียบๆ แถมยังไปดูงานที่ต่างประเทศอีก งงมากเลย ดูงานยังไงถึงเกิดปัญหาเต็มไปหมด”

“อย่าคิดว่าเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา แล้วจะรู้ทุกเรื่อง เพราะคนเหล่านี้เขาไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการเลือกตั้ง เขาอาจรู้เรื่องกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคุณจะเข้ามาแล้วทำงานได้เลย ยิ่งถ้าในองค์ประกอบของคนเหล่านี้ ไม่มีใครมีประสบการณ์เลย ถือว่าอันตรายมาก”

 

 

บิ๊กโจ๊ก นายกฯ คนนอก และชุดขาวคอตั้ง : อำนาจนิยมยอกย้อนซับซ้อนกว่าที่คาดคิด

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

“เคยมีอำนาจล้นฟ้า จะจับกุมคุมขังใครก็ได้ จะเป็นมิจฉาชีพหรือสุจริตชน ล้วนไม่พ้นเงื้อมมือ ‘บิ๊กโจ๊ก’

แต่แล้วจู่ๆ กลับล่องหนหายตัวเป็นปริศนา พร้อมกับเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

ซักถามใครก็ได้แต่อ้ำอึ้งอมพะนำ ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ อรรถาธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล”

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงบิ๊กโจ๊ก นายกคนนอก และชุดขาวคอตั้ง ซึ่งสะท้อนความซับซ้อนยอกย้อนของอำนาจนิยมในการเมืองไทย โดยเฉพาะช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่ากติกาไม่เป็นธรรม เลือกตั้งอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะระบอบ คสช. ได้ก็ตามที ทว่าผู้คนจำนวนมากก็ยังคงให้ความสนใจ พาเหรดลงสนามเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก ชูคนนั้นคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีกันเอิกเกริกครึกโครม

สำหรับนักเลือกตั้งซึ่งมีเป้าประสงค์ต้องการเข้าไปหาบหามผู้นำระบอบ คสช. เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้

แปลกกลับเป็นนักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต่างโดดกระโจนลงไปร่วมเล่นในเกมที่ระบอบ คสช. เป็นผู้กำหนด ปราศรัยหาเสียงด่าทอเผด็จการกันอย่างเมามัน ชักชวนประชาชนรณรงค์เข้าคูหาฆ่าเผด็จการ หรือจับปากกาฆ่าเผด็จการ

ทำราวกับเผด็จการทรราชกำลังจะสิ้นฤทธิ์หมดสภาพนอนพะงาบๆ ใกล้ตายในวันนี้วันพรุ่ง

สุดท้ายผลเป็นเช่นไรก็เห็นกันอยู่…”

 

 

สถาบันรัฐ ความเสื่อมถอย และความขัดแย้งเรื้อรัง

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ในช่วงที่ประชาชนต้องหันกลับมาสำรวจศรัทธาในสถาบันแห่งรัฐทั้งหลาย เริ่มมีการพูดถึงการเมืองบนท้องถนนควบคู่กับความหวาดหวั่นถึงการใช้กำลังปราบปรามจากรัฐ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ชวนทำความเข้าใจความขัดแย้งผ่านความสัมพันธ์ของระบอบการเมืองและประสิทธิภาพของสถาบันรัฐ เมื่อมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ‘การเมืองแบบครึ่งผีครึ่งคน’ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบหรือเผด็จการสุดทาง เสี่ยงจะทำให้ความขัดแย้งแบบไม่รุนแรงกลายเป็นความขัดแย้งด้วยกำลัง หรือกระทั่งปะทุเป็นสงครามกลางเมือง

“แม้ระบอบการเมืองเช่นนี้เปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นต่างหรือคัดค้านนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนให้ตนได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงหน้าฉาก เพราะผู้มีอำนาจยังคงคุมบังเหียน โดยแทรกแซงสถาบันการเมือง ใช้กฎหมายโดยมิชอบเพื่อรักษาอำนาจและทำลายศัตรู หรือบิดเบือนกลไกเลือกตั้ง”

“การฉวยใช้สถาบันแห่งรัฐส่งผลให้สถาบันซึ่งควรเป็นช่องทางสาธารณะกลายเป็น ‘ทรัพย์สินส่วนบุคคล’ ของคนเพียงหยิบมือเดียว เมื่อกลุ่มประชาชนซึ่งขัดแย้งกับรัฐไม่อาจเข้าถึงช่องทางเชิงสถาบันเหล่านี้ได้ ก็อาศัยช่องทางนอกสถาบัน เช่นการประท้วงบนท้องถนน ทว่าการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี ยิ่งผลักให้คนเหล่านี้หาช่องทางนอกสถาบันอื่นซึ่งมิใช่สันติวิธี”

“สถาบันรัฐที่เสื่อมถอย ไม่ว่าเป็นการปกครองในรูปแบบใด ย่อมรับมือความขัดแย้งได้ยาก เหตุเพราะถูกครอบครองโดยกลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ ซึ่งฉวยใช้กลไกรัฐรักษาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของตน และไม่ยอมแบ่งสรรอำนาจดังกล่าวให้แก่กลุ่มผลประโยชน์อื่น รวมถึงสาธารณชน”

 

 

จับปลาปีนต้นไม้ วิถีทำลายคนยุค 4.0

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึงระบบการศึกษาในโลกยุค 4.0 โดยตั้งข้อสังเกตว่าทักษะที่จำเป็นในโลก 4.0 นั้น มนุษย์เราอาจมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทว่าค่อยๆ หายไปจากกรอบสังคมและระบบการศึกษาอันล้าหลัง

“ทุกวันนี้เราตั้งคำถามว่าจะ ‘สร้าง’ คนเตรียมคนสู่ยุคที่อนาคตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไร แต่เป็นไปได้ไหมว่า แท้จริงแล้วคนเรามี ‘คุณสมบัติ’ หลายอย่างที่จะทำให้อยู่รอดในยุค 4.0 นี้อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เพียงแต่มันถูกทำลายหรือกัดกร่อนจากความเชื่อ ทัศนคติ และระบบที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน”

“ผู้แพ้จากการถูกวัดด้วยไม้บรรทัดยุคปัจจุบัน กลายเป็น ‘ปลา’ ที่โดนจับปีนต้นไม้ และถูกตราหน้าว่าไม่มีความสามารถตั้งแต่เด็ก หมดความมั่นใจ จนหลายคนเติบโตไปโดยไม่ได้ค้นพบว่าตนเองเป็นปลาที่ว่ายน้ำเก่ง”

“แน่นอนว่าระบบการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการปลุกปั้นทัศนคติเหล่านี้ แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันก็นับเป็น ‘ปลาที่ถูกจับปีนต้นไม้’ เช่นกัน ไม่ใช่ว่าผิดพลาดทั้งหมด เพียงแต่ไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างคนที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาลจากยุคก่อน”

“จากการเรียนเพื่อให้จบ กลายเป็นเรียนเพื่อรู้วิธีเรียนรู้ต่อ (learning how to learn) จากเรียนเพื่อให้ได้คำตอบ กลายเป็นเรียนเพื่อให้ตั้งคำถามเป็น จากเรียนเพื่อลดความผิดพลาด กลายเป็นเรียนเพื่อให้ลุกขึ้นเป็นหลังจากล้มลง”

“บางครั้งการ ‘สร้าง’ คนสำหรับยุค 4.0 อาจต้องเริ่มจากการเลิก ‘ทำลาย’ สิ่งที่เรามีอยู่แล้วแต่เดิม มาเลิกจับปลาปีนต้นไม้กันเถอะ”

 

สื่อไทยในโลกดิสโทเปีย : บนถนนสู่ความฝัน ของ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

 

โดย  พันธวัฒน์ เศรษฐวิไลธิติ มีแต้ม และ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“สิ่งที่สื่อไทยไม่ค่อยมีคือความอาจหาญ ถ้าคุณรักเผด็จการ คุณจงอาจหาญที่จะพูดว่าฉันรักเผด็จการ หรือถ้าคุณจะเป็น propaganda คุณต้องเป็นมืออาชีพพอที่จะยอมรับว่าฉันกำลังทำ propaganda อย่าทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ”

101 สนทนากับ ‘นิธินันท์ ยอแสงรัตน์’ สื่อมวลชนอาวุโส ผู้คลุกคลีอยู่บนถนนสื่อมวลชนมาร่วม 40 ปี ว่าด้วยสื่อไทยในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความโกลาหล

ในนามของคนทำสื่อผู้อยู่ในสนามมาอย่างเจนจัด ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ๆ มาตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ เธอประเมินสถานะและการทำงานของสื่อไทยทุกวันนี้อย่างไร สิ่งใดที่น่ากังวล สิ่งใดที่เป็นความหวัง และปัจจัยอะไรที่ทำให้เธอยังคงยึดมั่นและศรัทธาในวิชาชีพนี้

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของคนทำสื่อยุคนี้คือ เราต้องหัดเคารพเพื่อนร่วมโลก แล้วเลิกหลงตัวว่าเราดีกว่าคนอื่น เพราะที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อไทยนิสัยเสีย คนทำสื่อจะมีความรู้สึกว่า ฉันพราวด์ ฉันยิ่งใหญ่มากเลย ฉันคือผู้รักษาความเที่ยงธรรม ฉันเป็นฐานันดรที่สี่ … นี่ขนาดตัวเราเองไม่ได้เรียนด้านสื่อมา แต่ช่วงที่เริ่มทำงานสื่อใหม่ๆ ยังมีความรู้สึกพราวด์เลย หน้านี่เชิดเลย (หัวเราะ)”

“propaganda เกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม หัวใจของมันคือการทำอะไรก็ได้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้ายป้ายสีให้เกิดความพินาศย่อยยับ แต่ถึงที่สุดแล้ว ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์ไม่ต้องการความเท็จหรอก มนุษย์ต้องการความจริง แล้วถ้ามันมีความเท็จออกมามากๆ มนุษย์ก็จะเรียกร้องหาความจริง เพราะเขาอยากรู้”

“การทำข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่ควรเริ่มจากการตั้งธงว่าเธอเลว เธอทุจริต แล้วค่อยตามไปเจาะ พูดง่ายๆ ว่าสมมติฐานที่เราตั้ง ไม่จำเป็นจะต้องเอาความเลวความดีมาตั้ง การตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องนี้มีการทุจริตหรือไม่ กับการตั้งธงไว้ว่าเธอต้องทุจริตแน่ๆ มันจะได้ผลที่ต่างกัน การแสวงหาความจริงของเรื่องราวกับการปักธงว่าเธอเป็นแม่มด มันต่างกัน”

“สื่อยังต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป แม้โลกทุกวันนี้จะดูเหมือนวนกลับไปทางขวาก็ตาม เป็นเรื่องปกติของสังคม เหนืออื่นใดคือเราต้องตระหนักว่า ไม่มีการต่อสู้ใดที่จะจบสิ้นและพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในวันเดียวได้ ไม่เคยมี”

“เราอยากยุให้คนหนุ่มคนสาวมีความเชื่อว่า เมื่อคุณทำสิ่งใดไป คุณจะได้ผลจากสิ่งนั้นแน่ๆ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้มาถึงเร็วเสมอไป แต่สักวันมันต้องมา อะไรที่เราทำไปมันส่งผลกลับมาแน่ๆ อยากให้กำลังใจ มองโลกในแง่ดีบ้าง มองโลกสวยๆ บ้าง โลกสวยไม่เสียหายนะคะ (หัวเราะ)”

 

 

การอภิวัฒน์ล่มปากอ่าวที่ ‘เวสไทยรอส’

 

โดย อิสระ ชูศรี

**โพสต์นี้มีสปอยล์**

อิสระ ชูศรี เขียนถึงบทสรุปของ Game of Thrones ซีซั่น 8 พร้อมวิเคราะห์ความล้มเหลวของการอภิวัฒน์ที่ ‘เวสไทยรอส’

“การอภิวัฒน์ของแดเนอริส ทาร์แกเรียน ล้มลงอย่างไม่เป็นท่า เพราะเธอไม่สามารถโน้มน้าวใจชาวเวสเทอรอสคนใดเลยให้เชื่อมั่นในจุดมุ่งหมายของเธอ และถ้าชาวเวสเทอรอสเพียงคนเดียวที่ชื่อจอน สโนว์ จะเชื่อเธอ และร่วมมือกับเธอในการทำลาย ‘กงล้อศักดินา’ ของเวสเทอรอส เธอก็จะสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย แต่จอน สโนว์ กลับเลือกแผ่นดินเกิดและครอบครัว เหนืออุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลง

แดเนอริสเชื่อว่าจอนมีความคิดเหมือนเธอ ว่าระบอบที่เป็นอยู่ในเวสเทอรอสควรที่จะถูกเปลี่ยนแปลง และเธอเชื่อว่าเขารู้ว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ดังนั้นจอนควรร่วมมือกับเธอพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเวสเทอรอส ส่วนพวกที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มีสิทธิ์เลือก จอนบอกว่าเขาไม่รู้ว่ามันจะดีจริงไหม แล้วก็แทงแดเนอริสตาย

ภาพสุดท้ายที่เราเห็นผ่านสายตาจอน สโนว์ คือภาพของพวกคนเถื่อน ‘ไวลด์ลิง’ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนชราและเด็ก กำลังเดินหันหลังให้กับกำแพงน้ำแข็ง มุ่งหน้าสู่ราวป่าในดินแดนรกร้างทางเหนือ พวกเขาได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างอิสระโดยไม่ต้องอยู่ใต้ปกครองของใคร ท่ามกลางความแร้นแค้นของสภาพแวดล้อมที่มีหิมะตกตลอดปี

นั่นแหละสังคมในอุดมคติของจอน สโนว์ ไม่มีการเมืองการปกครอง ไม่มีสวัสดิการรัฐ ไม่มีสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่มีสถานพยาบาล ไม่มีตลาด ไม่มีถนน มีแต่คนและวิถีชีวิตที่พอเพียงตามธรรมชาติ

การอภิวัฒน์ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมก็จะสำเร็จ กลับล่มลงเพราะความเป็นผู้มีคุณธรรม ความรักบ้านเกิด และความรักครอบครัวของจอน สโนว์ … ผมเป็นคนไทย ดังนั้นผมจึงเข้าใจจอน สโนว์”

 

 

เวสเทเออร์ สตรีเหล็กผู้ทลายทุนผูกขาด

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“เคยไหมครับที่คุณเพิ่งคุยเรื่องซื้อรถกับเพื่อนหลังไมค์ แล้วจู่ๆ โฆษณาของรถคู่แข่งก็โผล่ขึ้นมาหาคุณดังพรหมลิขิต

หรือเพียงเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า แล้วเจ้าโซเชียลมีเดียตัวดีก็แนะนำร้านที่คุณควรเข้า (หรือเพื่อนของคุณเพิ่งแวะมา) อย่างรวดเร็ว

อัลกอริทึมแบบนี้ไม่ได้เพียงแทรกแซงชีวิตของคุณ แต่กำลังลดทอนการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการไปพร้อมกัน…”

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เล่าเส้นทางชีวิตและวีรกรรมของ มาเกรเด เวสเทเออร์ สตรีที่ซิลิคอนแวลลีย์หวาดกลัวที่สุด พร้อมตั้งข้อสังเกตในประเด็น ‘การแข่งขันที่เป็นธรรม’ อันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในยุโรป ต่างจากไทยที่ไม่เคยจริงจังกับเรื่องนี้เลย

“มีสตรีผู้หนึ่งถูกขนานนามให้เป็น ‘The rich world’s most powerful trustbuster’ หรือ ‘ผู้ทลายทุนผูกขาด’ ที่ทรงพลังสูงสุดแห่งประเทศโลกที่หนึ่ง

เธอคือ มาเกรเด เวสเทเออร์ (Margrethe Vestager) กรรมาธิการด้านการแข่งขันแห่งสหภาพยุโรป ผู้ทำให้เทคเฟิร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Apple Facebook และ Google ต้องยอมจำนน จ่ายค่าปรับรวมกันหลายหมื่นล้านยูโรด้วยข้อหา ‘ขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรม’

ล่าสุดในเดือนมกราคมปี 2019 คณะกรรมาธิการฯ สั่งปรับบริษัทบัตรเครดิต Mastercard เป็นเงิน 570 ล้านยูโร ในข้อหากีดกันไม่ให้ผู้ค้าปลีกแสวงหาบริการชำระเงินอื่นที่ให้ข้อเสนอดีกว่าตนเอง

และสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารข้ามชาติยักษ์ใหญ่ห้ารายคือ Barclays, Royal Bank of Scotland, Citigroup, JPMorgan และ MUFG Bank ถูกปรับรวมกัน 1,070 ล้านยูโร ในข้อหาร่วมกัน ‘ฮั้ว’ ราคาในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ผ่านการแบ่งปันข้อมูลการค้าที่ควรเป็นความลับระหว่างกัน

นอกจากกรณีที่มีข้อสรุปแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนกรณีสำคัญๆ อีกไม่น้อย เช่น การที่ Google นำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้เอื้อประโยชน์ให้กับแอพลิเคชันและบริการของตนเองบนโทรศัพท์มือถือ ในระดับที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายอื่น

มีคู่กรณีจำนวนมากขนาดนี้ ไม่ต้องแปลกใจว่าเวสเทเออร์จะเป็นที่หวาดเกรงและชิงชังของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดไหน

‘Compete on a level playing field’ เป็นมนตราทั้งของคณะกรรมาธิการฯ และตัวเวสเทเออร์เอง

ไม่มีคำแปลภาษาไทยที่ตรงตัวหรอกครับ เพราะแนวคิดเรื่องการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรมไม่เคยอยู่ในวาระแห่งชาติจริงจัง…”

 

 

เมื่อเฟซบุ๊กมีคนตายมากกว่าคนเป็น

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

มีสมมติฐานว่า หลังปี 2018 ไปแล้ว อัตราการเติบโตของผู้ใช้เฟซบุ๊กจะหยุดลง นั่นคือยังมีคนหน้าใหม่สมัครเฟซบุ๊กเข้ามาอยู่นั่นแหละครับ แต่ไม่ใช่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากคำนวณด้วยฐานคิดแบบนี้ ในราวๆ ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 22 ก็เป็นไปได้ที่ในเฟซบุ๊กจะมีคนเป็นอยู่น้อยกว่าคนตาย

ในอนาคต เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กล้มตายหายสูญไปหมดแล้ว พวกเขาอาจจากไป แต่สิ่งที่ ‘ถูกทิ้ง’ เอาไว้ ก็คือข้อมูลมหาศาลที่บันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีชีวิตอยู่ และเป็นบันทึกที่ไม่ใช่คนอื่นบันทึกให้ แต่เป็นตัวเองบันทึกเอง รวมทั้งยังลงลึกละเอียดไปถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย เช่น ความโกรธเกรี้ยวที่ต้องเจอกับรัฐประหารครั้งใหม่ ความเบื่อหน่ายที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง บทสนทนาว่าด้วยร้านนวดเท้า ร้านกาแฟ นาฬิกาที่ยืมเพื่อนมา การโกงการเลือกตั้ง และอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์

สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกบันทึกเอาไว้ด้วยตัวของผู้บันทึกเอง และไม่ใช่ข้อมูลน้อยๆ ด้วย แต่ชั่วชีวิตคนคนหนึ่งนั้น ต้องบอกว่ามหาศาล แล้วถ้านับรวมคนมากมายเข้าด้วยกัน ก็ยิ่งต้องเรียกว่าเป็นอภิมหาบิ๊กดาต้า ที่ใช้ศึกษาสังคมมนุษย์ในยุคสมัยหนึ่งๆ (คือยุคสมัยแห่งเฟซบุ๊ก) ได้แบบแทบไม่รู้จบ

และดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงทรงคุณค่ามหาศาล มันไม่ใช่แค่บันทึกของคน แต่บันทึก ‘คลื่นอารมณ์ความรู้สึก’ ของสังคมในแต่ละช่วงเวลาเอาไว้ด้วย

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา หยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับ ‘เฟซบุ๊ก’ ที่อาจกลายเป็นสุสานคนตายในอนาคตอันใกล้ แล้วเราจะทำอย่างไรกับข้อมูลและประวัติศาสตร์ที่เป็นอภิมหาบิ๊กดาต้านี้

 

100 ปี ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ และหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่

 

โดย วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

เราไม่มีวันเข้าใจ ‘จีนสมัยใหม่’ ได้ หากไม่ศึกษาเรื่องราวของ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919’ ขบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่

ในวาระครบรอบ 100 ปี ขบวนการ 4 พฤษภาคม ‘วาสนา วงศ์สุรวัฒน์’ สำรวจคุณค่าความหมายของ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ในฐานะจุดพลิกในประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนการเมือง-วัฒนธรรมจีนเข้าสู่สมัยใหม่ ด้วยภูมิปัญญาใหม่

“‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ไม่ใช่แค่การเดินขบวนประท้วงของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ต่อผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งจีนถูกประเทศมหาอำนาจเอาเปรียบเท่านั้น แต่มันคือการหาญกล้ายืนตั้งคำถามต่อฐานรากอารยธรรมจีนที่ทำให้จีน ‘ข้ามไม่พ้น’ สู่ความเป็นสมัยใหม่ได้สักที นั่นคือ คติความเชื่อแบบขงจื่อและการบูชาบรรพชน – คำถามที่นักปฏิรูปในอดีต กระทั่งการปฏิวัติซินไห่ ไม่กล้าท้าทาย

ทุกความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของสังคมจีน ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติวัฒนธรรมแห่งชนชั้นกรรมาชีพ จนถึงการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ณ จัตุรัสเทียนอานเหมิน และการปฏิวัติร่มในฮ่องกง จึงล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ทั้งสิ้น

‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมมนุษย์นั้นไม่ได้เกิดจากสงคราม ความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามยึดอำนาจหรือก่อรัฐประหาร

ในสังคมแห่งมนุษย์ผู้มีอารยะนั้น ศาสตร์ที่จะเปลี่ยนโลกคือมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คนที่จะเปลี่ยนโลกไม่ใช่ทหาร แต่คือปัญญาชน นักปรัชญา นักวรรณคดี นักประวัติศาสตร์ ศิลปิน นักเขียน นักภาษาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ผลักโลกแห่งอารยะนี้ให้หมุนไปได้ทุกวันโดยที่ไม่ต้องฆ่าแกงใคร ไม่ต้องใช้กระสุนแม้แต่นัดเดียว และไม่ต้องใช้งบประมาณแสนล้านไปหาซื้อยุทโธปกรณ์ที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากเอาไว้ฆ่าคน สังคมอารยะควรเป็นเช่นนี้”

 

 

ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของฝ่ายขวาในอินเดีย

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก วิเคราะห์เบื้องหลังชัยชนะของนเรนทรา โมดี และพรรคบีเจพี ในการเลือกตั้งใหญ่อินเดียที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ พร้อมประเมินก้าวต่อไปของอินเดีย ทั้งมิติภายในประเทศและระหว่างประเทศ

“คำถามสำคัญคือ เหตุปัจจัยเบื้องหลังใดบ้างที่ส่งผลให้การเลือกตั้งรอบนี้ พรรคบีเจพี และพันธมิตร กลับชนะเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น จนมีการขนานนามกันว่า ‘Tsunamo’ (หมายถึงกระแสคลื่นความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ถาโถมเข้าสู่อินเดีย) เพราะหากนับเฉพาะที่นั่งของพรรคบีเจพีเพียงพรรคเดียว ก็สูงถึงกว่าครึ่งรัฐสภาไปแล้ว อีกคำถามที่น่าสนใจคือ อินเดียจะเดินไปทางไหนภายใต้รัฐบาลชุดเดิมที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือภาพลักษณ์ของโมดีในเวทีระหว่างประเทศ ดูจะสวนทางกับความเป็นจริงภายในประเทศที่นับวันการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายคนถึงกับกล่าวว่าหากโมดีกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ชาวมุสลิมอาจต้องย้ายออกนอกอินเดีย และที่สำคัญอินเดียอาจไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญเลยก็ได้

แต่นั่นก็เป็นแค่คำวิจารณ์ เพราะดูเหมือนว่านอกจากพรรคบีเจพีจะครองใจชาวฮินดูได้แล้ว ในหลายพื้นที่ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ พรรคบีเจพีก็เอาชนะพรรคคองเกรสและพันธมิตรไปได้อย่างหน้าตาเฉย

ต้องยอมรับว่าพรรคบีเจพี เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวา และชูความเป็นชาตินิยมฮินดูแบบชัดเจน การได้รับความไว้วางใจอีกสมัยเช่นนี้ ซึ่งยังไม่เคยมีพรรคไหนเคยทำได้มาก่อนนอกจากพรรคคองเกรส สะท้อนว่าคนอินเดียจำนวนมากยินดีที่จะเห็นประเทศมุ่งไปสู่รัฐแบบฮินดูนิยม

นั่นหมายความว่ารัฐบาลอินเดียอาจหันไปอุ้มชูกลุ่มทางสังคมและศาสนาที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อวิถีปฏิบัติแบบฮินดูมากขึ้น ขณะเดียวกันยังอาจหมายรวมถึงการละเลยต่อปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอันมีต้นสายปลายเหตุจากเรื่องทางศาสนาอีกด้วย”

 

เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม กับเกมการตีความประวัติศาสตร์จีน

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“โลกเราไม่ได้มีทางเลือกอยู่แค่ จะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ จะล้มล้างของเดิมหรือจะคงอยู่ในโลกเก่า แท้จริงแล้วเราสามารถเลือกการปฏิรูปไปข้างหน้า หรือเลือกที่จะมองหาคุณค่าใหม่ในสิ่งเก่าก็ได้”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เล่าถึงการถอดบทเรียนเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ของปัญญาชนจีนจากทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนและฝ่ายผู้ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกันแต่กลับถูกตีความและสร้างวัฒนธรรมทางความคิดที่ต่างกันตามอุดมการณ์ทางการเมือง

“4 พฤษภาคม 1919 นักศึกษาจีนราว 3,000 คน รวมตัวกันประท้วงที่รัฐบาลยอมให้ญี่ปุ่นมีสิทธิเหนือมณฑลซานตง รับช่วงต่อจากเยอรมันที่แพ้สงครามโลก แทนที่จะให้มณฑลซานตงกลับคืนสู่จีน การประท้วงดังกล่าวนำไปสู่การเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ เพราะวัฒนธรรมเก่าหรือวัฒนธรรมแบบขงจื๊อเป็นต้นเหตุของความล้าหลัง”

“ปัญญาชนฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลือกตีความว่า หัวใจหลักของเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 คือจิตวิญญาณชาตินิยม ที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม (มหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น) และศักดินานิยม (ระบบจารีตเก่าที่ทำให้จีนอ่อนแอ)”

“ขณะที่อีกฝ่าย ปัญญาชนที่ต่อต้านแนวทางปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตีความหัวใจหลักของเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ไว้ว่า เป็นจิตวิญญาณเสรีที่จะต่อต้าน และตั้งคำถามกับอำนาจหรือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

 

พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร 

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงหลักการของการตั้ง ‘พระปรมาภิไธย’ ตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

โดยหลักการ พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์ มี 3 อย่าง คือ (1) อย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบด้วยถ้อยคำแสดงพระคุณลักษณะต่างๆ มากมายหลายวรรค จารึกลงพระสุพรรณบัฏเมื่อรับพระบรมราชาภิเษก

(2) อย่างมัธยม ที่ตัดทอนคำตกแต่งออกเสียบ้างให้สะดวกแก่การนำไปใช้ในการต่างๆ

และ (3) อย่างสังเขป ซึ่งมีแต่พระบรมนามาภิไธยกับพระนามแผ่นดิน หรือให้มีแต่พระนามแผ่นดินเพียงประการเดียว

“รัชกาลที่ 4 เป็นผู้วางแบบแผนการถวายพระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์ตั้งแต่แผ่นดินของพระองค์เป็นต้นไปว่า ให้ขึ้นต้นพระปรมาภิไธยด้วยพระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ แล้วลงท้ายด้วยพระนามแผ่นดิน อันเป็นนามสำหรับให้ราษฎรกล่าวถึง แนวคิดนี้มาจากคติเทวราชา ที่ว่าพระนามของพระมหากษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะเอ่ยพร่ำเพรื่อได้”

“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ไม่มีการถวายพระนามแผ่นดินอีก เพราะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศหรือแผ่นดินนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศหรือแผ่นดินจึงเป็นของราษฎร”

“อย่างไรก็ดี เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันแล้ว มีการถวายพระนามแผ่นดิน “พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” คำอธิบายดังกล่าวก็เห็นจะเป็นอันใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันเรายังคงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย มิได้มีการย้อนหลังกลับไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ประการใด…”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ สูงสุด เดือนพฤษภาคม 2562

 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

 

โดย ธนาพล  อิ๋วสกุล

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา

 

โดย ธนาพล  อิ๋วสกุล

ธนาพล อิ๋วสกุล สำรวจเบื้องหลังบัลลังก์อำนาจ 8 ปี 5 เดือน ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

“การเมืองสามเสา” ที่ค้ำยันเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.เปรม คืออะไร

 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (3) : เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย  

 

โดย ธนาพล  อิ๋วสกุล

การก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเดือนกรกฎาคม 2531 ภายหลังอยู่ในตำแหน่งตลอด 8 ปี 5 เดือนนั้น หมายถึงการสิ้นสุด “ระบอบเปรมาธิปไตย” ที่มี 3 เสาหลักอันได้แก่ สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และพรรคการเมือง ค้ำยัน โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่ออกแบบไว้สำหรับ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นรากฐาน

อย่างที่ทราบกันว่า พล.อ.เปรม ได้รับตำแหน่งสำคัญจากราชสำนักคือ ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและรัฐบุรุษ นอกจากนั้น ในแวดวงธุรกิจเอกชน พล.อ.เปรม ยังได้เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพและเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนตำแหน่งไม่เป็นทางการ คือเป็น “ปูชนียบุคคล” ในกองทัพ ดังเห็นได้จากประเพณีเปิดบ้านต้อนรับในวันสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันเกิด

บทความตอนสุดท้ายในซีรีส์ “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย” ต้องการชี้ให้เห็นว่าหลังก้าวลงจากอำนาจ พล.อ.เปรม มีบทบาทอย่างไรในสังคมการเมืองไทยบ้าง

 

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“จีนเข้าถึงทรัพยากรที่ควรจะเป็นของคนไทย เด็กไทยจบใหม่ เงินเดือน 15,000 เข้าไม่ถึงทรัพยากร หรือรัฐสวัสดิการ แต่คนจีนไม่ต้องมีสวัสดิการอะไร เขามีเงิน มีพาวเวอร์”ทุกวันนี้ หากเราเดินไปในย่านห้วยขวาง โดยเฉพาะเส้นประชาราษฎร์บำเพ็ญ เราจะพบเห็นชาวจีนจำนวนมาก ตั้งตัวอยู่กันเป็นชุมชน เปิดร้านขายของเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งร้านอาหาร ร้านขายยา และข้าวของเครื่องใช้

คนเหล่านี้ไม่เหมือนกับชาวจีนเยาวราชดั้งเดิม จีนใหม่เหล่านี้เข้ามาสร้างไชน่าทาวน์ใหม่ ทำธุรกิจในรูปแบบของตัวเอง น้อยคนที่จะพูดภาษาไทย แต่กลายเป็นว่าสื่อสารกันด้วยภาษาจีนกลางและอังกฤษ

จากคนจีนรุ่น ‘ซิงตึ๊ง’ หอบเสื่อผืนหมอนใบหนีสงครามมาเริ่มชีวิตใหม่ที่ไทย มาถึงจีนรุ่นใหม่ ‘ซินอี๋หมิน’ เถ้าแก่น้อยที่มาพร้อมไอโฟนและเทคโนโลยี เข้ามาทำธุรกิจในช่วงจีนเปิดประเทศ เกิดเป็น ‘ไชน่าทาวน์ใหม่’ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีตัวเลขบอกว่า มีจีนใหม่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 70,000 คน และทั่วประเทศน่าจะมีคนจีนเข้ามาอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง ‘การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่’

“พวกนี้ไม่ได้ย้ายถิ่นถาวร เป็นการย้ายถิ่นแบบชั่วคราว เขาไม่ได้ย้ายแบบพวกจีนโพ้นทะเลสมัยก่อน ที่ย้ายไปแล้วออกลูกออกหลานที่นั่นเลย แต่นี่เขายังกลับบ้าน แล้วเขาเอาเม็ดเงินส่งเป็นทุนกลับบ้าน เหมือนที่ทัวร์จีนทำท่องเที่ยว เงิน โรงแรม ร้านอาหาร ก็เป็นของคนจีนอยู่ คนไทยเป็นแค่ลูกจ้างเขา”

 

ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล สำรวจองค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับไร้ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไร้ซึ่งประชาชนด้วย

 

เปิดห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร มองอนาคตการเมืองไทย กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม

“ในบ้านเราศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ” – วรเจตน์ ภาคีรัตน์

เมื่อต้นปี 2562 101 ชวน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เปิดห้องเรียน ‘นิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ มองโจทย์อนาคตของการเมืองไทย ใน ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ จากระบบรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ ถึงสถาบันตุลาการ

ในวันที่ ‘ตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ เราชวนคุณกลับมาอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อีกครั้ง

(1)
.
“เราพูดถึงเรื่องรัฐพันลึก หรือ deep state แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันไม่ deep แล้ว ทุกอย่างมันปรากฏตัวขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เพราะสิ่งแปลกปลอมในระบอบมีความแข็งแรงขึ้น ตัวระบอบจึงต้องออกแรงมากขึ้น การจัดการแบบลึกๆ ไม่สามารถจัดการได้ คุณต้องโผล่ขึ้นมาปริ่มผิวน้ำ กระทั่งเหนือผิวน้ำ

แน่นอนว่าในการโผล่ขึ้นมาจัดการ คุณก็ต้องพยายามพรางตัวอยู่บ้าง โดยใช้สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโลกตะวันตกตามหลักนิติรัฐประชาธิปไตยมาเป็นป้ายปัก แต่การโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำทำให้ไม่สามารถพรางตัวได้อีกต่อไป”

(2)

“ความน่าพิศวงคือศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับดำรงอยู่ต่อไปได้แม้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาแห่งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเอง จะถูกฉีกไปแล้ว (หลังรัฐประหาร 2557) เราจะอธิบายมันได้อย่างไร จะอธิบายว่าเพราะคณะรัฐประหารเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่ขัดขวางความต้องการของคณะรัฐประหารแน่ๆ จึงไม่จำเป็นต้องยุบ หรือจะอธิบายว่าจริงๆ แล้ว ในบ้านเราศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

เป็นอันว่าระบอบนี้ก็เผยตัวออกมาว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้มีคุณค่าความหมายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐประหารสองครั้งล่าสุดทำให้ผมมองเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยหลักคิดในทางกฎหมาย ว่าในที่สุดแล้วในบ้านเรามันเป็นไปได้ทั้งสิ้น บรรดาสถาบันทางการเมืองที่เรารับมาจากตะวันตก พอมาอยู่ในเนื้อดินของสังคมไทย มันก่อตัวขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อแนวคิดบางอย่างในบริบทการเมืองไทยแท้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ตั้งอยู่บนคุณค่าที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับนับถือได้

ในบ้านเราศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ”

(3)

“ผมเคยพูดกับกลุ่มคนรักประชาธิปไตยถึงการเปลี่ยนแปลง ผมบอกเขาว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จะเกิดในชีวิตของเราหรือไม่ เราไม่รู้ เพราะชีวิตคนมันสั้น แต่หน้าของประวัติศาสตร์นั้นยาว เรามีชีวิตอยู่แค่ช่วงหนึ่งในบริบทการเมืองหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดวันนี้ คนฮือฮามากที่สุด วันหน้าก็เป็นได้เพียงแค่เชิงอรรถในประวัติศาสตร์ ไม่แม้แต่จะขึ้นไปปรากฏอยู่ในเนื้อหา หรืออาจจะไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์เลยก็ได้ เราลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม แต่อาจจะไม่ทันเห็นการเปลี่ยนแปลงของมันเลยก็ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ยอมอย่างแน่นอนคือ เราจะไม่ตายอย่างโง่ๆ เราจะไม่ตายแบบไม่รู้อะไร สำหรับผมนี่คือคุ้ม เราจะตายไปโดยรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงเราอาจจะพูดได้ไม่หมด อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้ว่ามันคืออะไร ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้”

(4)

“การที่คุณยึดอำนาจได้แล้ว เขียนอะไรขึ้นมาก็กลายเป็นกฎหมายได้ มันทำให้กฎหมายถูกดูถูกดูแคลนอย่างยิ่งจากผู้คนจำนวนมาก จนไม่มีคุณค่าอีกต่อไป คนรู้สึกว่ากฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักการอะไรเลย แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจในทางข้อเท็จจริง ใครมีอำนาจจะเขียนอะไรอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ผู้มีอำนาจเลย พอคนรู้สึกแบบนี้ก็จะเลิกเชื่อกฎหมายที่มีหลักการบางอย่างอยู่ข้างหลัง

ทั้งหมดนี้ส่งผลเสียหายมากต่อพัฒนาการความก้าวหน้าของสังคม นี่คือราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายจากปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งแพงกว่าที่คิดเยอะ”

(5)

“ตุลาการภิวัตน์คือการผลักศาลเข้ามาเป็นกลไกทางการเมืองโดยตรง แสดงออกผ่านคำพิพากษาของศาลในคดีสำคัญๆ ที่มีผลเปลี่ยนทิศทางหรือขั้วอำนาจทางการเมือง ทั้งๆ ที่ในหลายกรณี ผมเห็นว่าศาลไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ แต่แนวคิดตุลาการภิวัตน์สร้างความชอบธรรมให้ศาลขยายบทบาทเข้าไปในการเมืองมากขึ้น ผ่านข้ออ้างว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และไม่มีใครแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเอาศาลเข้ามา

นี่เป็นความชาญฉลาดของคนที่เสนอวิธีนี้ขึ้นมา แต่ความคิดนี้เป็นความคิดที่สั้น เพราะมุ่งขจัดคนหรือขั้วการเมืองที่ตนไม่ชอบให้พ้นไปจากการเมืองเท่านั้น การใช้วิธีการเช่นนี้ในระยะยาวจะเป็นการทำลายการปกครองโดยกฎหมายลงไป เพราะเมื่อศาลกลายเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมือง ก็จะมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน สิ่งที่ต้องสูญเสียไปจากตุลาการภิวัตน์คืออะไร เท่าไหร่ และหลักการที่สูญหายไป จะเอาคืนกลับมาอย่างไร นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่คนเสนออะไรพวกนี้ขึ้นมาไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะไม่นานพวกเขาก็จะลาโลกไป แต่คนรุ่นหลังต้องรับมรดกปัญหาแบบนี้มาแก้ ซึ่งไม่ควรเลย”

(6)

“ผลที่ตามมาของตุลาการภิวัตน์ คือการขยายอำนาจของศาลในมิติอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เราต้องไม่ลืมว่าศาลไทยเป็นองค์กรที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การบริหารงานบุคคลเลยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายในเรื่องเหล่านี้เลย มีเหมือนกัน แต่ในภาพรวมมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และไม่ได้มีหลักคิดในแง่ของความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นฐาน เหตุผลมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือคาถาเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ คณะราษฎรเองก็ไม่ได้แตะอำนาจตุลาการเท่าไหร่นัก อาจจะเพราะคิดว่าไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ซึ่งมันไม่ถูก อันที่จริงควรจะต้องปรับเปลี่ยนและปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยลงไปในวงการกฎหมาย รวมทั้งต้องปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการศึกษากฎหมายและการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการ ตลอดจนระบบบริหารบุคคลของผู้พิพากษาตุลาการด้วย

ศาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิด ซึ่งส่งผลต่อการตีความตัวบท ตัวบทเป็นหนังสือ คุณจะตีความตัวบทอย่างไรขึ้นอยู่กับระบอบที่คุณสังกัดและความเชื่อของคุณ สิ่งเหล่านี้ไม่แสดงให้เห็นผ่านตัวบทหรอก แต่จะแสดงให้เห็นผ่านหลักการตีความ หลัง 2475 มันต้องเป็นกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่กฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ผมคิดว่าวิธีคิดของผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย ในข่วงแรกมันอาจจะไม่แสดงอะไรออกมามากนัก เพราะศาลจำกัดตัวเองอยู่ที่ข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาเป็นหลัก แต่ในช่วงหลังเราจะเห็นได้ชัด”

 

กลับไปอ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”: มีอดีต แต่ไม่มีอนาคต

 

โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

คำสำคัญที่เคียงคู่อยู่กับยุค “เปรมาธิปไตย” ในช่วงทศวรรษ 2520 คือ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

การเมืองไทยยุคปัจจุบันหวนคืนกลับสู่ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เหมือนยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ครองอำนาจ หรือถอยหลังกลับไปไกลกว่านั้นอีก

101 ชวนย้อนอ่านบทความของประจักษ์ ก้องกีรติ ว่าทำไมประจักษ์ถึงสรุปว่ากลับไปอ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แล้วพบว่า “มีอดีต (แต่)ไม่มีอนาคต”

 

รายการ 101 one on one

 

101 one-on-one Ep.71 “ประชาธิปัตย์ยุคเปลี่ยนผ่าน” กับปริญญ์ พานิชภักดิ์

 

โดย 101 One-On-One 

สนทนาเรื่อง ‘ประชาธิปัตย์ยุคเปลี่ยนผ่าน’ กับปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ถอดด้าม

หลังจากความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่จากศึกเลือกตั้ง 62 พรรคประชาธิปัตย์กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารพรรคชุดใหม่ต้องเจอ และพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจะกลับมาเป็นทางเลือกหลักในภูมิทัศน์การเมืองไทยได้อย่างไร

ติดตามชมสดๆ วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคมนี้ สองทุ่มตรงเป็นต้นไป ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

101 one-on-one Ep.70 “กะซวกไส้แฟนผี-อ่านพรีเมียร์ลีก” กับ ‘บอ.บู๋’ บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร

 

โดย 101 One-On-One 

คุยกับแฟนแมนยูฯ ตัวพ่อ ‘บอ.บู๋’ บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร ว่าด้วยความเข้มข้น-ดราม่า บนสังเวียนพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา พร้อมเจาะตัวตนในฐานะคอลัมนิสต์กีฬาสำนวนสะเด่า

ติดตามชมสดๆ วันพุธที่ 22 พฤษภาคมนี้ สองทุ่มตรงเป็นต้นไป ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

101 One-on-One Ep.69 “คุย(หา)เรื่องการเมืองไทย” กับ จอห์น วิญญู

 

โดย 101 One-On-One 

“คุย(หา)เรื่องการเมืองไทย” กับ จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ แห่ง SpokeDark TVพิธีกรรายการ เจาะข่าวตื้น และ หาเรื่อง

หาเรื่องคุยรับวันประกาศผลเลือกตั้ง (เสียที) โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ห้ามพลาด วันพฤหัสที่ 9 พฤษภาคม เวลาสองทุ่มตรง ทางเพจ The101.world

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…

 

Side B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “คนเสื้อแดงสมควรตาย!”

 

โดย ธิติ มีแต้ม และ เมธิชัย เตียวนะ 

ครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษาฯ – พฤษภาฯ 2553 จากคำสั่งขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่ และประกาศเขตใช้กระสุนจริงของ ศอฉ. ในรัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน

ในความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด รายงานความจริงเพื่อความยุติธรรม : ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า มีเด็กอายุ 12 ที่อายุน้อยที่สุดเป็นผู้เสียชีวิต, สื่อมวลชนเสียชีวิต 2 ราย เป็นชาวญี่ปุ่นและอิตาลี, ประชาชน 1,763 ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี, 3.7 พันล้านบาท คืองบประมาณที่รัฐบาลใช้ไปในการปราบปราม

รัฐบาลใช้กำลังพลทหารถึง 67,000 นาย และตำรวจ 25,000 นาย, ใช้กระสุนไปทั้งสิ้น 117,923 นัด, มีการเบิกกระสุนซุ่มยิงไป 3,000 นัด ก่อนส่งคืนเพียง 880 นัด, มีผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ 32 ศพ, มี 6 ศพที่ถูกยิงในเขตอภัยทาน วัดปทุมวนาราม

กรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ มีการไต่สวนสาเหตุการตายจาก ‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ แล้ว ระบุว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 6 แล้ว เชื่อว่าถึงแก่ความตายจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานทหาร สังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอส และถนนพระรามที่ 1 ตามคำสั่งของ ศอฉ.

นอกจากนี้ ศาลฯ ยังระบุผลการตรวจคราบเขม่าดินปืนบนมือผู้ตายซึ่งไม่ปรากฏ จึงเชื่อได้ว่า ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน ไม่เชื่อว่ามีการยึดอาวุธได้ภายในวัด อีกทั้งไม่มีชายฉกรรจ์ชุดดำ เนื่องจากไม่ปรากฏภาพถ่าย หรือพยานที่ชัดเจน

แต่ล่าสุดปรากฎว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณี 6 ศพ โดยอ้างว่า ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และพยานบุคคลเสียดื้อๆ

ญาติผู้เสียชีวิตยังคงเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับผู้บัญชาการในขณะนั้นได้ตำแหน่งใหญ่โตในการบริหารราชการแผ่นดินหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน

101 ชวนดู Side B สารคดีข่าวสั้นเพื่อทบทวนความทรงจำเดือนเมษาฯ – พฤษภาฯ เลือด ท่ามกลางเสียงจากคนไม่น้อยที่เคยประกาศว่า “คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง” “คนเสื้อแดงล้มเจ้า” กระทั่งว่า “คนเสื้อแดงสมควรตาย!”

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…”เวรกรรมไทยไปทั่วโลก”

 

โดย ธิติ มีแต้ม และ เมธิชัย เตียวนะ 

โกรธเกลียดกันมาแต่ชาติปางไหน ?

ทำไมเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม กรุงปารีส ฝรั่งเศส อายุกว่า 850 ปี ถึงกลายเป็นเรื่องเวรกรรมสำหรับชาวพุทธไทยไปได้

101 ชวนฟังคำอธิบายจาก ‘พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ’ พระหนุ่มนักคิดจากวัดสร้อยทอง ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมคำถามว่าชาวพุทธที่เชื่อในเรื่องเวรกรรม จะอยู่ในสังคมสากลที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างไร

ติดตามใน SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ใดๆ ในโลกล้วนเป็นเวรกรรม”

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save