fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2563

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2563

 

 

 

โลก 12 แบบหลังไวรัส COVID-19 : คำทำนายจากนักคิดชั้นนำระดับโลก

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

ถึงตอนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การแพร่ระบาดของ ไวรัส COVID-19 ได้สั่นสะเทือนโลกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ หรือการเมืองระหว่างประเทศ – คำถามสำคัญคือ โลกหลัง COVID-19 น่าจะเป็นอย่างไร?

101 ชวนอ่านคำทำนายจากนักคิดระดับโลก 12 คน ว่าด้วยโลก 12 แบบที่อาจเป็นไปได้หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่โลกที่แคบลง ยากจนขึ้น และเปิดกว้างน้อยลง, โลกาภิวัตน์ที่มี ‘จีน’ เป็นศูนย์กลาง หรือโลกที่อาจจะได้รับประโยชน์บางอย่างจากโรคระบาดในครั้งนี้

 

เศรษฐกิจไทยในมหาวิกฤต: สมชัย จิตสุชน

 

โดย สมคิด พุทธศรี

ในวิกฤตเศรษฐกิจ ตัวเลขและถ้อยคำทางเศรษฐศาสตร์อาจไม่ได้มีความหมายเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับความทุกข์ร้อนของผู้คนและความโกลาหลที่เห็นอยู่ตำตา

กระนั้น ในสถานการณ์เยี่ยงนี้การครุ่นคิดถึงปัจจุบันและมองไปยังอนาคตผ่านสายตานักเศรษฐศาสตร์ผู้ช่ำชองก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด

101 ชวน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายเช่นนี้

เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน วิกฤตรอบนี้เป็นอย่างไร มาตรการรัฐเพียงพอหรือไม่ และอะไรคือโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ในอนาคต

 

“บาซูก้า” การคลัง – สิงคโปร์ยิงแล้ว ไทยเอายังไง?

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สิงคโปร์ยิงบาซูก้าการคลังออกมาสู้วิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 11% ของ GDP (3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

สันติธาร เสถียรไทย ตั้งคำถามว่า ถึงเวลาประเทศไทยต้องยิงกระสุนให้ถูกขนาด-ถูกที่-ถูกเวลาแล้วหรือยัง?

 

COVID-19 : โรคพลิกโลก เมื่อสหรัฐฯ เกิดวิกฤต

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เมื่อตอนที่จีนวิกฤต โลกก็เหมือนจะวิกฤตไปด้วยแล้ว แต่สถานการณ์วิกฤตในสหรัฐฯ จะยิ่งพาโลกเข้าสู่วิกฤตหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เพราะสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกอาจหนักกว่าครั้งวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2007 เสียอีก ”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่พาโลกเข้าสู่วิกฤตหนักหนาสาหัส และอาจจะเป็นการพลิกโฉมระบบและระเบียบโลกในระยะยาว

 

หลังโรคระบาดจากไป จะเห็นอะไร

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ผู้ที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก” — Charles Darwin

สำรวจ 10 ข้อสังเกตจาก วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่จะเห็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดแบบใหม่ของมนุษย์ในอนาคต เมื่อโคโรนาไวรัสผ่านไป

 

วัดไข้กับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เมื่อชาติไทยติดไวรัส

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี

“สิ่งที่เราทำในเวลานี้คือเที่ยวไปบอกคนอื่นว่า “เดี๋ยวมึงตายนะ ถ้าไม่อยู่บ้าน” แค่นั้นใช่ไหม”

“เวลานี้เราไม่เหลืออะไรในการทำให้เรารู้สึกแคร์กับคนอื่น เรารู้สึกว่าเราเอาตัวเอง ลูกเมีย พ่อแม่ของเราให้อยู่รอดไปก็พอ ไม่จำเป็นต้องแคร์คนอื่น”

“คำขวัญว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ผมถามจริงๆ คำว่า “เพื่อชาติ” จะทำให้คนรู้สึกหยุดอยู่กับบ้านจริงเหรอ ชาติมีอิทธิพลกำกับความคิดให้เราทำตามได้ขนาดนั้นจริงเหรอ”

101 สนทนากับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อโควิด-19 เผยโฉมหน้า ‘ชาติไทย’ ที่ไม่อาจโอบอุ้มทั้งรัฐบาลและพลเมืองให้พร้อมรับมือวิกฤต

 

“สถาปัตยกรรมศาสตร์ ต้องไม่แยกขาดจากสังคม” ต้นข้าว ปาณินท์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“สถาปนิกคือนักคิดและนักทำในเวลาเดียวกัน และเราไม่ใช่ศาสตร์ที่รู้เฉพาะทางทางใดทางหนึ่ง แต่เรารู้เหมือนเป็ด

“…ตำราทฤษฎีสถาปัตยกรรมแรกของโลกเขียนมาเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว วิทรูเวียส สถาปนิกโรมัน เขียนไว้ดีมากเลย เขาอธิบายว่าสถาปนิกควรจะเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ควรเรียนรู้หมดทุกอย่างเลย เรียนรู้แม้กระทั่งเรื่องการแพทย์ เพราะเราควรจะรู้ว่าสุขอนามัยที่ดีของคนเป็นยังไง ควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับดวงดาวต่างๆ ควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับกลางวันกลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง ควรจะรู้ตั้งแต่ปรัชญาจนถึงเรื่องทางเทคนิค แต่ว่ารู้นิดๆ รู้ลึกคงไม่ได้เพราะคงใช้เวลานาน

“การที่เราออกแบบที่อยู่อาศัยให้คน เราต้องเข้าใจคน เราต้องเข้าใจว่าคนเกิดขึ้นมาในโลก มีศาสตร์อะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเขา สถาปนิกจำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมดนี้…”

“การเรียนสถาปัตย์ฯ ต้องใช้ความอดทน และมีความต่างจากการเรียนศิลปะและการเรียนสายวิทยาศาสตร์ บางทีเด็กๆ คิดว่าชอบวาดรูป จึงมาเรียนสถาปัตย์ฯ แต่ในความเป็นจริงมีอะไรต้องเรียนมากมาย อันนี้คือความคาดหวังซึ่งเด็กไม่ได้คิดว่าจะมาเจอแบบนี้ คิดว่าจะสนุก เฮฮา แต่สถาปัตยกรรมก็เหมือนศาสตร์อื่นๆ คือมีทั้งความเฮฮา และความจริงจัง”

“หรือบางทีคนคิดว่าสถาปนิกต้องแต่งตัวเนี้ยบๆ นั่งโต๊ะเรียบๆ ถ้าในหนัง โต๊ะพระเอกที่เป็นสถาปนิกก็จะเนี้ยบ แต่จริงๆ คือยังไม่เคยเห็นโต๊ะสถาปนิกที่ไหนสะอาดเนี้ยบตลอดเวลาเลย แล้วการทำงานก็ต้องทำงานกับเดดไลน์ตลอดเวลา ความรับผิดชอบสูง คือตึกจะสร้างขึ้นมา ทุกอย่างต้องมาที่สถาปนิก เด็กน่าจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้เอาไว้บ้าง”

Spotlight ต้องรอด! เดือนนี้ 101 คุยกับ รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยประเด็น ‘สถาปัตย์ฯ ต้องรอด!’

อะไรคือคำถามสำคัญที่สถาปัตยกรรมศาสตร์ต้องตอบในโลกยุคนี้ อะไรคือความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กระเทือนถึงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และสถาปนิกต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

 

โคโรนาไวรัสและจุดจบของโลกาภิวัตน์?

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ 

“เป็นไปได้หรือไม่ที่พิษโคโรนาไวรัสจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ซึ่งปิดฉากกระบวนการโลกาภิวัตน์แบบที่เรารู้จักกัน?”

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ชวนคิดถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์เมื่อโคโรนาไวรัส ส่งผลต่อวิธีคิดแบบ ‘ชุมชนนิยม’ และเรียกร้องให้รัฐชาติกลับมามีบทบาทสำคัญยามคับขัน

“โคโรนาไวรัสอาจนำมาสู่จุดจบของนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ อันสัมพันธ์แนบแน่นกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ หากเสรีนิยมใหม่มุ่งลดบทบาทของรัฐในการดูแลสังคม โดยปล่อยให้ปัจเจกบุคคลพึ่งพาศักยภาพของตนในการเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจเอง ชนิดที่ใครมีแรงมากกว่าก็ชนะคนอ่อนแอ”

 

จักรวาล การเมือง และความเถื่อน ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ผมเข้าใจความหงุดหงิดในตัวผู้นำ คือผมก็หงุดหงิดกับเขาหลายครั้งมาก ที่มาก็ไม่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมาถึงตอนที่มีอำนาจแล้วก็ควรจะแสดงศักยภาพ เอาแค่ในปี 2020 ผ่านมา 2 เดือน มีโอกาสในการแสดงภาวะผู้นำหลายครั้งมาก เพราะบ้านเมืองเราเจอปัญหาเยอะมาก ก็ไม่เห็นทำได้ดีสักครั้ง”

“แต่ว่าในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้โทษเขาหมด ในแง่ที่ว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้ทุกคนระบายใส่เขาหมด ซึ่งการสืบทอดอำนาจของโครงสร้างทหารเป็นปัญหา การมี ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง แล้วเลือกไปในทางเดียวกันหมด 250 เสียงเป็นปัญหา อันนี้ยอมรับ แต่ผมไม่คิดว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้เชื่อมโยงกลับไปถึงจุดนั้น”

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องใครจะเข้าไปอยู่ในสภาได้ แต่คือแนวคิดที่สังคมนั้นๆ เชิดชู ซึ่งถ้าเราไปดูในรัฐธรรมนูญไทย เขียนไว้เลยว่าหน้าที่ของเราคือปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เป็นการชูว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งสำคัญของประเทศ แน่นอนว่าย่อมมีส่วนหนึ่งของสังคมเห็นด้วยกับสิ่งนี้ แต่ไม่เหลือที่ว่างให้อีกส่วนที่มองสังคมในอีกแบบหนึ่ง ถ้าเขาไม่มองอย่างนี้ เขาไม่ใช่คนไทยเหรอ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในความขัดแย้งปัจจุบันนี้”

“พอเรากำหนดชัดเจนว่าคนไทยคืออะไร มีหน้าที่อะไร แล้วเกิดคนไทยพันธุ์ใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก คนหลายล้านที่ไม่ได้มีมุมมองเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน ก็เลยนำมาซึ่งความขัดแย้งเพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้เป็น จะให้ทำอย่างไร”

ในห้วงเวลาที่การเมืองไทยกลับมาร้อนระอุ และหลายคนก็เห็นว่ากติกาที่เรามีอยู่อาจพาสังคมสู่ทางตัน เราชวนวรรณสิงห์มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องสังคมโลกและการเมืองไทย รัฐธรรมนูญที่เราควรมีเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขากำลังสนใจจริงจัง

โลกที่วรรณสิงห์เคยเห็นเป็นอย่างไร ประเทศไทยในสายตาเขาเป็นอย่างไร และอะไรคือเรื่องที่เขาคิดว่าสำคัญกับชีวิตและโลกทรงกลมใบนี้

 

ไวรัส COVID-19 กับระเบียบโลกใหม่?

 

โดย จิตติภัทร พูนขำ

จิตติภัทร พูนขำ เขียนถึงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่ รวมถึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะพลิกโฉมการเมืองโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรง

“เราเห็นวิกฤตการณ์ความชอบธรรมและความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก โดนัลด์ ทรัมป์ รับมือกับไวรัส COVID-19 ล่าช้ามาก ทั้งยังล้มเหลวในการสื่อสารสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนชาวอเมริกัน”

“เชื้อไวรัส COVID-19 ยิ่งทำให้การเมืองอัตลักษณ์ของการแบ่งขั้วระหว่างความเป็น ‘เรา’ กับ ‘ความเป็นอื่น’ ทวีความรุนแรงมากขึ้น กระแสการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ขยายไปทั่วโลก ทั้งที่ในความเป็นจริง การระบาดของเชื้อโรคเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือเพศสภาพใดก็ตาม”

 

“อย่าทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก” คุยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญกับ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วทำให้คนรู้ว่ารัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง จำเป็นอย่างยิ่ง เหมือนสมัยโรมัน เขาจารึกกฎหมายลงบนแผ่นทองแดง 12 แผ่น ไปติดตามชุมชน ตามสามแยกในตลาด เพื่อให้ประชาชนรู้กฎหมาย แต่กฎหมายของประเทศไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไปเอามาจากกำแพงจักรวาล คนธรรมดาสามัญไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมาย ถ้าผิดก็โดนลากเข้าคุกเอง ไม่มีหลักเกณฑ์”

“รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่ยาวจนเกินไป 10 กว่าหน้าคงจะพอแล้วมั้ง เขียนอะไรกันตั้งเยอะแยะตั้งร้อยกว่าหน้า เพื่อตั้งใจจะไม่ให้อ่าน ก็เป็นความตั้งใจเพื่อไม่ให้คนเข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง”

“รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องของการพยายามยึดอำนาจของฝ่ายทหารโดยตรง ซึ่งก็สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2490 มีอดีตมาทั้งนั้นแหละ จึงถอยหลังเข้าคลองอยู่ตลอด รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 เราเรียกว่า รัฐธรรมนูญทหารฉบับใต้ตุ่ม คือเขียนเสร็จแล้วเอาไว้ใต้ตุ่ม ทหารก็เข้ามามีบทบาทเป็นคณะรัฐประหาร แล้วก็เป็นตัวอย่างของการกระทำรัฐประหารต่อมาทุกครั้ง”

“ผมหวังมาก ก็อย่างว่านะ ถ้าคนเราหมดหวังก็ตาย และผมก็ยิ่งมีความหวังมากๆ เมื่อเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีเหตุมีผล แล้วก็มีความรู้ดีกว่ารุ่นผมมากๆ ผมมองโลกในแง่ดีนะ พวกทุ่งลาเวนเดอร์น่ะ ผมก็คิดว่าเราคงไปได้ดี ต้องเปลี่ยนแปลงนะ ตอนนี้เราถอยหลังมาเยอะเหลือเกิน”

คุยกับ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ว่าด้วยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญควรเป็นแบบไหน ชวนวิพากษ์สังคมการเมือง และทัศนะต่อคนรุ่นใหม่ของเขา

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ดีเป็นความหวังรูปธรรมที่สุดของสังคมไทย

 

โดย สมคิด พุทธศรีธิติ มีแต้ม

“การไม่แก้รัฐธรรมนูญสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างวิกฤตรอบใหม่ … หากวันนี้มีอะไรที่จะมาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมได้ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ดีดูจะเป็นความหวังที่เป็นรูปธรรมที่สุด”

“เราต้องช่วยสะท้อนความเป็นจริงว่า วันนี้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่เป็นอนาคตของประเทศ มองว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่รองรับกับอนาคตที่ดีของเขา … สังคมไทยต้องปลดความเกลียดและความกลัว จึงจะมองเห็นปัญหาร่วมกันได้ ผู้มีอำนาจต้องไม่ย่ามใจว่ามีกติกาและเครื่องมือที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบแล้วไม่ต้องใส่ใจเสียงสะท้อนต่างๆ”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจตรงๆ ชัดๆ ถึงก้าวต่อไปของสังคมไทยผ่านแนวทางและเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ตีโจทย์มาตรการแจกเงินรับมือ COVID-19: บทเรียนจากงานวิจัยเศรษฐศาสตร์

 

โดย อธิภัทร มุทิตาเจริญ

อธิภัทร มุทิตาเจริญ วิเคราะห์นโยบายแจกเงินแก้วิกฤต COVID-19 โดยหยิบบทเรียนจากงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ว่ามีปัจจัยอะไรที่ส่งผลสำคัญต่อประสิทธิผลในการกระตุ้นการบริโภค

กุญแจสำคัญคือการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยจริงๆ และต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน โดยต้องไม่ลืมคำนึงถึงภาระการคลังในระยะยาวและวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

ไมเคิล เฮิร์ซเฟล : โลกคงไม่สนุก ถ้ามนุษย์ไม่หลากหลาย

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“ประเทศไทยยังติดอยู่ใน ‘กับดักอาณานิคมอำพราง’ เพราะว่าไทยยังขึ้นกับประเทศอื่นๆ และยังมีความเป็นลำดับชั้นในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมาก”

“เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่มีคนบ่อนทำลายประชาธิปไตยลงไปเรื่อยๆ…ถ้าลัทธิชาตินิยมกลับมา นักมานุษยวิทยาอาจจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่จะหายไป เพราะพวกเราพูดถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมชาติของชาตินิยม”

101 คุยกับ ศาสตราจารย์ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมไทยหลายชิ้น ชิ้นสำคัญคือการศึกษาชุมชนป้อมมหากาฬ

เขามีโจทย์ใหม่แบบไหนในเมืองไทย และอะไรคือความสนุกในฐานะนักมานุษยวิทยา

 

เมื่อไวรัสเปลี่ยนโลก(ดิจิทัล)-หาโอกาสในวิกฤต

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

ในช่วงเวลาที่ไวรัสแพร่ระบาด บางผู้คนกลับคุ้ยโอกาสจากกองวิกฤต ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก ช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตและได้รับการบริการที่ดีขึ้น กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงทางบวก ที่อาจส่งผลดีแม้ในเวลาที่ภัยพัดผ่านไป

สันติธาร เสถียรไทย พาสำรวจโอกาสทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจากภัยพิบัติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จาก 2 อุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ด้านสาธารณสุข และ เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “เศรษฐกิจคนติดบ้าน”

 

Covid-19 กับแบบทดสอบของมนุษยธรรม

 

โดย โสภณ ศุภมั่งมี

ท่ามกลางการแย่งชิงทรัพยากร และความโกลาหลบนโลกที่ไวรัส Covid-19 กำลังบุกครั้งใหญ่ เหล่ามวลมนุษยชาติก็ยังมีมนุษยธรรมที่จะช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ อ่านบทความของโสภณ ศุภมั่งมี ว่าด้วยเรื่องราวการช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ การให้กำลังใจ และวิธีคิดที่จะรับมือกับโรคนี้ให้สำเร็จ ในวันที่คนทั้งโลกไม่มีใครหนีพ้น

 

#หนังสือก็ต้องอ่าน รัฐบาลก็ต้องด่า : นักศึกษาพูดอะไรบ้างบนเวทีปราศรัย

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“นักศึกษาถูกปลุกปั่น”
“เด็กไม่เข้าใจการเมือง”
“ตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง”
ฯลฯ

เหล่านี้คือคำวิจารณ์จากคนที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบนักศึกษา บ้างก็ว่าพวกเขาเกิดไม่ทันเห็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง จึงไม่มีสิทธิออกมาพูดเรื่องการเมือง แต่นักศึกษายังยืนยันจะออกมาส่งเสียง แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในช่วงสอบกลางภาคก็ตาม

#หนังสือก็ต้องอ่านรัฐบาลก็ต้องด่า #มาด้วยใจไม่มีใบสั่งจย้า คือคำที่นักศึกษาเลือกใช้ตอบโต้คนที่ไม่เห็นด้วยในท่าทีทีเล่นทีจริง แต่น่าสนใจว่าเบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ พวกเขา ‘ไม่เข้าใจการเมือง’ อย่างที่โดนวิจารณ์รึเปล่า

101 ชวนอ่านคำปราศรัยของนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อเห็นเนื้อเห็นหนังในวิธีคิดของพวกเขา

 

เติมเต็มความเป็นมนุษย์ ด้วยมานุษยวิทยา ผ่านสายตา นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“มานุษยวิทยาเป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับการรื้อถอนอคติที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ตัดสินและด้อยค่าคนอื่นว่าไม่เป็นอย่างเราและมีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีน้อยกว่าเรา”

วจนา วรรลยางกูร สนทนากับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถึงการมองโลกผ่านมานุษยวิทยา และความเป็นไปได้อันหลากหลายที่สาขาวิชานี้จะเข้าไปพัฒนาส่วนต่างๆ ของสังคมด้วยความเข้าใจในความเป็นมนุษย์

“มานุษยวิทยายังมีบทบาทในการวิพากษ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น การวิพากษ์การแพทย์หรือระบบสาธารณสุขที่สร้างหรือผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ นโยบายสาธารณะที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการชี้ให้เห็นว่าความทุกข์ทางสังคมที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่นั้นเป็นผลจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง”

“การข้ามศาสตร์หรือการที่เส้นแบ่งระหว่างศาสตร์มันจางลงไปทุกที เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับการปรับตัวของมานุษยวิทยา การรื้อเส้นแบ่งที่เคยเป็นมาอาจเป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพราะเส้นแบ่งบางอย่างที่เราใช้กันอยู่โดยไม่ได้คิดนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ดำรงอยู่

“เส้นแบ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตของมนุษย์ แต่เรากลับเป็นเบี้ยล่างของชุดความคิดตายตัวที่เคยเป็นผลผลิตของยุคสมัยหนึ่งมากจนเกินไป”

 

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ บนเส้นทางแห่งความหวังและความล้มเหลว

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนย้อนพิจารณาบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อปี 2541 ที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา หากยังยึดถือความรู้แบบสำเร็จรูปที่ตายตัว ด้วยเป้าหมายเพื่อการรับใช้ชาติ อันสัมพันธ์กับโลกทัศน์ทางการเมืองที่ครอบงำสังคมไทย

“ตราบเท่าที่โลกทัศน์ทางการเมืองของไทยยังไม่ผนวกเอาชาติและประชาชนให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน ก็จะมีคนใช้ชาติเป็นเครื่องมือเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มคนในนามของชาติ และการปฏิรูปการศึกษาก็เกิดขึ้นไม่ได้”

 

รัฐธรรมนูญสนทนากับ วิษณุ วรัญญู : “เมื่ออำนาจเป็นของประชาชน ก็ควรเกรงใจประชาชน”

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี

“คำว่า “ยึดโยงกับประชาชน” ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เกรงใจประชาชนบ้าง ตามหลักว่าอำนาจที่คุณใช้อยู่เป็นของประชาชน สถานะต่างๆ ที่คุณมีอยู่ มาจากประชาชน นี่คือความยึดโยงกับประชาชน”

101 spotlight ซีรีส์ #แก้รัฐธรรมนูญ สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ วรัญญู อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในมือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่าเขาตีโจทย์เรื่องอนาคตรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้อย่างไร

รัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร | รัฐธรรมนูญตอบโจทย์เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ | ถ้าจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรตั้งโจทย์อย่างไร | ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญ “ยึดโยงกับประชาชน” มากขึ้น —- อาจารย์วิษณุมีคำตอบ

“ที่ผ่านมาสำหรับสังคมไทย รัฐธรรมนูญแก้ไขความขัดแย้งไม่ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อปกป้องเรียกร้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของเขาอย่างแท้จริง”

“สังเกตไหมว่าเวลาเอารัฐธรรมนูญไทยมาประกวดกันว่าฉบับไหนดีกว่ากัน คนมักจะบอกว่าฉบับนั้นฉบับนี้มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นตัววัดไม่ได้เลย สิทธิเสรีภาพจะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลไกของรัฐต่างหาก นี่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทย เรายังไม่เข้าใจว่าสถาบันการเมืองที่ถูกโจมตีว่าเป็นเรื่องการเมือง จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของคนทุกคน”

“ก่อนจะมาบอกว่าสิ่งนี้คือกฎหมายสูงสุดที่ใช้บังคับกับทุกคน ก็ต้องผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเสียก่อน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสัญญาประชาคมที่แท้จริง”

 

Spotlight ประจำเดือนมีนาคม 2563

 

#แก้รัฐธรรมนูญ

 

101 Spotlight #แก้รัฐธรรมนูญ

88 ปี 13 รัฐประหาร 20 รัฐธรรมนูญ

15 ปี 2 รัฐประหาร 3 รัฐธรรมนูญ

6 ปี ภายใต้ระบอบ คสช. (จากรัฐประหารและการเลือกตั้ง) อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่ ที่สังคมไทยเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเสมอหน้า แล้วหรือยัง

101 ชวนถกอนาคตการเมืองไทย เปิดข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรรมนูญ จากหลากฝ่าย หลายมิติ ใน 101 Spotlight ซีรีส์ใหม่

#แก้รัฐธรรมนูญ

พบกับ

– อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

– โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด

– คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา

– ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

– นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

– โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

– บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

– สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว

– วิเชียร ชวลิต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

– ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

– นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

– วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนและผู้ดำเนินรายการ

– ธนิสรา เรืองเดช ซีอีโอ Punch Up – Data-Storytelling Studio

– ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co

– แดนไท สุขกำเนิด นักเรียนนอกระบบ และนักออกแบบบอร์ดเกม

ฯลฯ

 

COVID-19: โรคเปลี่ยนโลก

 

เมื่อ ‘โรค’ เข้ามาเปลี่ยน ‘โลก’ เช่นนี้ เศรษฐกิจจะโดนเขย่ารุนแรงแค่ไหน สังคมการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร วิเคราะห์สถานการณ์ Covid-19 ไปพร้อมกับผลงานของ The101.world

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนมีนาคม 2563

 

‘ผีน้อยไทยในเกาหลี’ ทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

เรื่อง ‘ผีน้อย’ กลับมาเป็นที่สนใจในสังคมอีกครั้ง พร้อมข้อถกเถียงถึงที่มาที่ไปและเหตุปัจจัยที่ทำให้คนสนใจไปเสี่ยงโชคทั้งที่รู้ว่าต้องทำงานหนักและเสี่ยงอันตราย

วจนา วรรลยางกูร ชวนสำรวจชีวิตแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ผ่านงานวิจัย ‘แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี’ ของ ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ที่มองไปถึงสภาพแวดล้อมในชีวิตและปัจจัยเชิงโครงสร้างสังคมที่ทำให้คนมาเป็นแรงงานผี

เมื่อพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกับคนชนชั้นอื่นได้ จึงต้องหาทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก

 

7 ความเป็นไปได้ที่ทำให้รถติด

 

โดย วชิรวิทย์ คงคาลัย

ใครๆ ก็เบื่อรถติด น่ารำคาญ หงุดหงิด

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘รถติด’ เป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้มนุษย์เมืองเกิด ‘ความทุกข์’

แต่คุณรู้ไหม-ว่าจริงๆ แล้ว ‘รถติด’ เกิดมาจากอะไรบ้าง

บริษัท Xerox ได้วิจัยและออกหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Make Your City Flow (2015) เพื่อค้นหาว่าที่รถติดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้นเกิดจากอะไรบ้าง และหากจะแก้ไขปัญหารถติด เราจะมีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง

วชิรวิทย์ คงคาลัย พาไปสำรวจ 7 สาเหตุหลักที่ทำให้ในเมืองรถติด

 

20 ปี รัฐธรรมนูญ 2540 : การปฏิรูปการเมืองไทยในอุ้งมือนักกฎหมายมหาชน

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

กว่า 20 ปีผ่านไป ประเทศไทย(ถอย)ไปไกลถึงไหนกัน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ทบทวนเส้นทางการเมืองไทยในอุ้งมือนักกฎหมายมหาชน จาก พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2560

… จากการปฏิรูปการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย สู่การปฏิรูปการเมืองแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

 

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“มาประชุมใช่หรือเปล่า เขาเตรียมงานกันอยู่ด้านบนแน่ะ”

พนักงานประจำโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบอกกับฉันเมื่อเห็นท่าทีเก้ๆ กังๆ เหมือนกำลังรอใคร

ได้ยินดังนั้นฉันจึงขึ้นลิฟท์ที่เก่าคร่ำคร่าไปยังห้อง ‘ประชุม’ พร้อมกับหัวใจที่เต้นรัว

ฉันไม่แน่ใจว่ากำลังคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรต่อจากนี้ โซ่ แส้ กุญแจมือ ถูกแขวนห้อยระโยงระยาง หรือคนสองคนตามตำแหน่ง ‘นาย’ และ ‘ทาส’ กำลังแสดงสัมพันธ์ที่มีอีกฝ่ายเหนือกว่าและข่มเหงกันอย่างชัดเจนเช่นนั้นหรือ

อาจใช่ หรืออาจไม่ใช่…

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ พาไปสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ ‘BDSM’ อย่างถึงแก่น และถึงเนื้อถึงหนัง ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดงมัดเชือก ‘ชิบาริ’ ขนานแท้ จากศิลปินสาวชาวญี่ปุ่น

“ฝ่ามือกร้านของอาจารย์โยชิดะ จับเอามือของนางแบบยกขึ้นปิดตา ก่อนจะเริ่มใช้เชือกมัดบริเวณหน้าอก อ้อมมารัดแขนและมือ จนนางแบบอยู่ในท่าที่ฉันคิดว่าอีกไม่นานเธอคงทรมานด้วยความเมื่อยแน่ๆ สายเชือกเกี่ยวพันรอบตัวกระทั่งในจังหวะหนึ่ง อาจารย์ค่อยๆ ดึงเชือกผ่านหว่างขาของนางแบบ เชือกที่เกี่ยวสัมพันธ์ทุกส่วนบนร่างกายทำให้ลำตัวของเธอแอ่นขึ้น

วินาทีที่อาจารย์ไล้ให้เชือกลอดผ่านหว่างขาใกล้ชิดกับส่วนอ่อนไหว นางแบบเปล่งเสียงออกมาเบาๆ กายกระตุกเกร็งอยู่หลายครั้ง และกระตุกแรงขึ้นเมื่ออาจารย์โยชิดะใช้เท้ายันบริเวณหัวเข่าของเธอให้แยกออกจากกัน

ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเพราะความกระสัน อึดอัดทรมาน หรืออารมณ์ทั้งสองนี้ถูกรวมไว้ด้วยกัน โดยที่ฉันและทุกคนในห้องไม่ทันสังเกต…”

“หลายคนมองรสนิยมประเภทนี้ด้วยความไม่เข้าใจ บ้างมองว่าทั้งหมดนี้คือความวิตถาร บ้างเห็นภาพการใช้ความรุนแรง และตั้งคำถามกับความเจ็บปวดเหล่านั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรจะคำนึงและขีดเส้นให้ชัด ก่อนจะสำรวจรสนิยมแบบ BDSM คือทุกความเจ็บที่รุนแรงและทิ้งร่องรอยไว้ เริ่มต้นจากก้าวที่ยินยอมพร้อมใจ ยิ่งไปกว่านั้น ความสุขมีนิยามที่หลากหลายเสมอ–ไม่ใช่หรือ”

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมีนาคม 2563

 

COVID-19

101 One-on-One ep.106 “เมื่อเศรษฐกิจติดไวรัส” กับ ปิติ ศรีแสงนาม

 

โดย 101 One-On-One 

ไวรัส COVID 19 ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และสร้างผลกระทบใหญ่ต่อชีวิตคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเปราะบางและตกอยู่ในความเสี่ยงอันแหลมคม

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นคืออะไร โครงสร้างเศรษฐกิจโลกถูกเขย่าแค่ไหน โลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนรูปอีกครั้งหรือไม่ และมาตรการรับมือที่ดีควรเป็นอย่างไร

ตรวจอาการเศรษฐกิจโลก – เศรษฐกิจไทยในภาวะโรคระบาดกับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

101 One-on-One ep.107 : ‘Youthquake’ พลังการเมืองของหนุ่มสาวจากโลกถึงไทย

 

โดย 101 One-On-One 

ไม่กี่ปีก่อน Youthquake เป็นคำศัพท์แห่งปีของ Oxford Dictionaries เมื่อเกิดปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวในตะวันตกออกมาเคลื่อนไหวเขย่าการเมือง สังคม และวัฒนธรรม

ต้นปี 2020, Youthquake ส่งพลังสั่นสะเทือนถึงการเมืองไทย เมื่อนักเรียน-นักศึกษา ออกมาแสดงพลังทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

เข้าใจพลังคนหนุ่มสาวจากบริบทโลกถึงไทย อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่พวกเขาสนใจ วิธีเคลื่อนไหวแบบไหนที่พวกเขาช่ำชอง โลกแบบไหนที่พวกเขาฝันหา และถึงที่สุดแล้วพลังจะเปลี่ยนโลกได้แค่ไหนและคลี่คลายไปทางใด

สนทนากับ รศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

101 One-on-One ep.108 : “ภูมิรัฐศาสตร์โลกหลัง COVID-19” 

 

โดย 101 One-On-One 

101 One-on-One กลับมาแล้วในรูปแบบ podcast พบกันสองทุ่มตรง ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์!

ประเดิมโฉมใหม่ด้วย 101 One-On-One Ep.108 “ภูมิรัฐศาสตร์โลกหลัง COVID-19” (จ. 30 มี.ค. 2563)

สนทนาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก (World Geopolitics) ที่เปลี่ยนไปในยุค COVID-19 ที่โลกไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป กับ ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งคำถามเช็คสุขภาพระเบียบการเมืองโลก ตลอดจนตัวละครสำคัญในเวทีระหว่างประเทศอย่างจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอังกฤษ โดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-On-One Ep.109 : “นโยบายรับมือ COVID-19: พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร”

 

โดย 101 One-On-One 

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาชวนคิดเรื่องนโยบายรับมือ COVID-19 ในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ตั้งแต่การเชื่อมประสานนโยบายเศรษฐกิจเข้ากับนโยบายควบคุมโรค จนถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในฐานะทางออก

นอกจากนั้น วิกฤต COVID-19 สะท้อนให้เราเห็นปัญหาอะไรบ้างของระบบสาธารณสุขไทย และเราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขไทยได้อย่างไร

ชวนสนทนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-on-One ep.110 : “รับมือ COVID-19 ด้วย systems thinking”

 

โดย 101 One-On-One 

101 ชวน ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอการใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) มาสู้วิกฤต COVID-19

“จุดคานงัด” (high-leverage point) ที่จะสู้ COVID-19 อยู่ตรงไหน เราจะก้าวข้ามปัญหาทรัพยากรเรื่อง ICU และเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเรื่องการตรวจหาและจัดการผู้ติดเชื้ออย่างไร

และถ้ามองในเชิงระบบ กลไกและสถาบันต่างๆ ในสังคมจะทำอย่างไรให้ social distancing เกิดขึ้นได้จริง และมีประสิทธิภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่การผลักภาระให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น

ชวนสนทนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-On-One Ep.111 : “designing your life ในวิกฤต COVID-19 ที่ออกแบบไม่ได้”

 

โดย 101 One-On-One 

สนทนากับ เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Lukkid– Designing Collaborative Innovation ผู้แปลหนังสือ “designing your life” (คู่มือออกแบบชีวิตด้วย design thinking)

ในโลกแห่งวิกฤตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงไม่รู้เป็นไม่รู้ตายเมื่อไหร่ ผู้คนจะยังออกแบบชีวิตกันได้ไหม ถ้าได้-จะออกแบบชีวิตกันอย่างไร

แนวคิด design thinking ช่วยตอบโจทย์การรับมือ COVID-19 ในชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตการงานอย่างไร

ชวนคุยโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world.

 

101 One-On-One Ep.112 : “สู้ COVID-19 ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจและกฎหมาย”

 

โดย 101 One-On-One 

จากความเป็นความตายด้านสุขภาพ สู่ความเป็นความตายด้านเศรษฐกิจ 101 สนทนากับ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด, ประธานคณะกรรมการภาษีและกฎระเบียบ สภาหอการค้าไทย และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยมาตรการเศรษฐกิจภาครัฐและการปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ที่กำลังจะมาถึง (หรือมาแล้ว!)
ชวนคุยโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

นักการเมืองบางคนเคยพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” แต่จนถึงปัจจุบัน เสียงไม่ยอมรับเริ่มดังขึ้นๆ

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ระดมรายชื่อผ่าน www.change.org พร้อมบุกไปรัฐสภาเพื่อยื่นข้อเสนอแก้รัฐธรรนูญให้ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด

มีสาระสำคัญ เช่น สิทธิประชาชนต้องเป็นใหญ่กว่ารัฐ, นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส., วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง, ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง, ไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร ฯลฯ

ท่ามกลางเสียงกู่ตะโกน “รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ ๆ ๆ ถ้าไม่แก้ ออกไป ๆ ๆ” 101 ชวนชม Side B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save