fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2563

 

Spotlight ประจำเดือนมิถุนายน 2563

 

อภิวัฒน์สยาม 2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

 

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ….” — ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ปฏิบัติการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังมาตรา 1 ของปฐมรัฐธรรมนูญสยาม หรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

จาก 2475 ถึงปัจจุบัน ชะตากรรมของประชาธิปไตยไทยสะท้อนความเป็นอนิจจังของสังคม รัฐประหาร 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เหตุการณ์นองเลือดระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง อีกนับครั้งไม่ถ้วน เป็นบทสะท้อนว่า ‘ประชาธิปไตย’ ยังมิได้ลงหลักปักฐานถึงแก่นความคิด โครงสร้างการปกครอง รวมถึงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณทางการเมืองของประเทศนี้

แต่อีกด้านหนึ่ง พลังสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในสังคมไทยก็ไม่เคยมอดดับลง ยิ่งมืดมิด กลับยิ่งสว่างแสงเสียด้วยซ้ำ

101 ขอนำเสนอชุดผลงานว่าด้วย “อภิวัฒน์สยาม 2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เพื่ออ่านอดีต เข้าใจปัจจุบัน และมองอนาคตของประชาธิปไตยไทยในมิติการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรม

นี่คือผลงานทั้งหมดที่ร่วมสร้างสรรค์ให้ “ประวัติศาสตร์ 2475” กลับมามีชีวิตชีวาในสังคมไทยร่วมสมัยอีกครั้ง

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2563

 

 

เด็กช้า ตอนที่ 1

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึง ‘เด็กช้า’ หลายรูปแบบที่จำเป็นต้องได้เจอผู้ใหญ่ที่ทราบเรื่องพัฒนาการเด็ก ครูที่มีความสามารถ รวมถึงแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในระดับขาดแคลน

“เด็กช้าหลายคนเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา คือ คุณพ่อคุณแม่ ญาติๆ และคุณครูที่ไม่ทราบเรื่องพัฒนาการเด็ก”

“สอนเด็กเก่งนั้นไม่ยาก สอนเด็กไม่เก่งยากกว่ามาก ครูเป็นวิชาชีพ เราเป็นครูเพื่อทำงานยากๆ มิใช่เป็นครูเพื่อทำงานง่ายๆ มิใช่หรือ?”

 

มองความเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’ ผ่านอาหารและร้านอาหาร

 

โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

ใครบ้างที่วางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 –พวกเขาคุยกันที่ร้านไหน–กินดื่มอะไร–ปรุงอาหารเมนูอะไร ยามได้ชัยชนะและลี้ภัยหลังจากนั้น

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ พาย้อนรำลึกถึงการอภิวัฒน์สยาม 2475 ผ่านกิจกรรมกินดื่มของ ‘คณะราษฎร’ ที่ถูกเล่าผ่านคนสำคัญในประวัติศาสตร์

 

สมการของความดี : ทำไมลิเบอรัลจึงคุยกับคอนเซอร์เวทีฟไม่รู้เรื่อง

 

โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

“เราจะมีโอกาสเข้าใจกันได้ไหม”

“ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องผิดบาปในตัวมันเอง มันอาจพาเราไปสู่สิ่งใหม่ ภูมิทัศน์ใหม่ที่ยกระดับขึ้นจากเดิมก็ได้ แต่เรามีวิธีอะไรไหมที่จะทำให้เราเข้าใจจุดยืนของกันและกันมากขึ้น”

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เขียนถึงโมเดลการมองคุณธรรม และสาเหตุที่ทำให้เรามองสิ่งดีงามและความถูกต้องแตกต่างกัน จนอาจถึงขั้นคุยกันไม่รู้เรื่อง

“เหตุผลที่เรามักคิดว่าตนเองถูก ในขณะที่อีกฝ่ายผิด อาจเป็นเพราะเราใช้ไม้บรรทัดคนละแกนมาวัดกันและกันก็ได้”

 

ข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม! : 3 ดราม่าซ้ำๆ ที่รอให้สังคมเรียนรู้

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กะเทาะเบื้องหลัง 3 ดราม่าข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม ที่เวียนวนมาหลอกหลอนประชาชนปีแล้วปีเล่า ซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ

พาดหัว 1 : “รายงานฐานะการเงินไทย หนี้สินประเทศกว่า 6 ล้านล้าน!”

พาดหัว 2 : “แบงก์ชาติขาดทุนบักโกรก!”

พาดหัว 3 : “รัฐบาลเตรียมขึ้น VAT!”

‘ความจริง’ เบื้องหลังของ 3 ข่าวนี้เป็นอย่างไร ทำไมดราม่าเศรษฐกิจเหล่านี้ควรหยุด ‘เกิดใหม่’ ในหน้าข่าวเสียที ติดตามได้ในบทความที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะนักข่าวเศรษฐกิจทุกคนควรอ่าน!

 

กรุงเทพฯ เมืองที่ต้นไม้ไม่เคยสวย

 

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง 

“ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 กรุงเทพมหานครของเรามีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์มาตราฐาน ตามเกณฑ์มาตรฐานของเมืองใหญ่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เมืองใหญ่ควรมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 9 ตารางเมตร/คน แต่กรุงเทพฯ มีเพียง 6.6 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น”

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง พาสำรวจเมืองสีเขียวรอบโลก พร้อมชวนย้อนกลับมามองกรุงเทพว่า ‘เมืองสีเขียว’ ของเรานั้นเป็นอย่างไรกันแน่

“ผมคิดว่าเรื่องการปลูกและรักษาต้นไม้อย่างจริงจังจะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐยังทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนและชุมชนไม่ได้ร่วมมีสิทธิในการกำหนดต้นไม้ของพวกเขาแต่แรก”

“การจัดการกับต้นไม้ของรัฐจึงเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่รัฐทำกับประชาชน คือยังเป็นการคิดแบบรวมศูนย์ ไม่ได้มองเห็นชุมชนอยู่ในนั้น ซึ่งถือว่าเป็นแก่นของปัญหาเชิงโครงสร้างเกือบทุกมิติในสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องต้นไม้”

 

อคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล : เหตุผลที่ ‘ตัวกู’ ถูกต้องอยู่เสมอ

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

เพราะอะไรความคิดเห็นของเราจึงมักถูกเสมอ — อย่างน้อยก็ในความคิดของเรา

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เล่าเรื่องภาวะ Egocentrism หรือหรือการวาง ‘อีโก้’ ของตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล

“ในทางสังคม อคติที่เกิดจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลจึงมีอิทธิพลต่อการ ‘เลือกฝูง’ ที่ตัวเองจะไปสังกัด เพราะส่วนใหญ่ คนเราจะเลือกสังกัดอยู่กับฝูงที่ช่วย ‘ทำนุบำรุง’ ความคิดความเชื่อดั้งเดิม (หรือ preconceptions) ของเราเอาไว้นั่นเอง”

 

‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ ชีวิตแรงงานพม่าในกรุงเทพฯ หลังโควิด เมื่อคนทวายไม่อาจกลับบ้าน

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

มองชีวิตแรงงานชาวทวาย ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนหลังวัดไผ่ตัน ใกล้ตลาด อตก. พวกเขาอยู่อย่างไรในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน และไม่ได้อยู่บ้าน พวกเขาแก้ปัญหาชีวิตอย่างไร

“ชีวิตช่วงที่ไม่มีงานลำบากมาก กลับบ้านก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง เครียดมากเลย แม่ก็บอกว่ากลับมาเถอะ เราก็บอกว่าตรงชายแดนปิดแล้ว ออกไปไม่ได้ เราก็ไม่อยากกลับด้วย เพราะกลับไปแล้วก็ต้องกักตัวอยู่ดี แล้วครอบครัวเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เหมือนไปทำให้ครอบครัวลำบาก” โอ๋เล่า

ภาวะ ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับโอ๋ แต่คนกว่าครึ่งหนึ่งจาก 200 ครัวเรือนในชุมชนทวายแห่งนี้ กลายเป็นคนตกงานที่ลอยคว้างกลางมหาสมุทร ไร้ที่ยึดเหนี่ยว ยังไม่นับว่ามีแรงงานต่างชาติอีกจำนวนมากในพื้นทื่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน และดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการเหลียวแลในเชิงนโยบาย

สารคดีโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และเมธิชัย เตียวนะ

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์: ผู้ปลุกพลัง ‘2475’ จากหนังสืองานศพ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ช่วงเวลาที่คณะราษฎรไปควบคุมตัวเจ้านายเพื่อเปลี่ยนระบอบนั้นมันเข้มข้นมาก แต่เรื่องพวกนี้เพียงบอกผ่านๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคปกติได้อย่างไร”

“การย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวต่างๆ หรือหนังสือยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองมันเหมือนเป็นถ้ำ เวลาผมเบื่อๆ สังคมการเมืองปัจจุบัน ผมจะกลับเข้าไปในถ้ำนี้สำรวจดูว่าคณะราษฎรเขามีเหตุผลอย่างไรที่ต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เป็นมณฑลแห่งพลัง มันชาร์จพลังชีวิตให้เรา”

ธิติ มีแต้ม สัมภาษณ์ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนาที่ผันตัวมาขุดค้นและลงลึกกับชีวิตของคณะราษฎร และ ‘2475’ จากกองหนังสือเก่าและเอกสารฝุ่นจับหลายหมื่นชิ้น ที่เรียกกันว่าหนังสืออนุสรณ์งานศพ

 

ขนมปัง กับ คนงานไร้ชื่อ: โรงครัวของคนงานสร้างพีระมิดแห่งเมืองกิซา

 

โดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา

“ในขณะที่ “โบราณคดีอลังการ” กำลังตะลึงพรึงเพริดอยู่กับความใหญ่โตของพีระมิดเบื้องหน้านั้น “โบราณคดีเชิงมานุษยวิทยา” มองเห็นถึงหยาดเหงื่อ เลือด และน้ำตาของเหล่าคนงานสร้างพีระมิด”

คอลัมน์ #โบราณการครัว ตอนใหม่ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เขียนถึง สูตรขนมปังและวิถีชีวิตของคนงานสร้างพีระมิดแห่งกิซา (Giza) ที่จะทำให้เราได้เห็นเรื่องราวของมนุษย์ผู้อยู่เบื้องหลัง เรื่องราวที่ต่างไปจาก “โบราณคดีอลังการ” หรือการสร้างเรื่องอดีตในเชิงโรแมนติก ประโลมโลกย์

“แรงงานใหม่ที่ไม่มีฝีมือ เมื่อเข้ามาทำงานก่อสร้างที่นี่ ก็จะได้รับการฝึกทักษะการก่อสร้าง หรืองานช่างต่างๆ ตามที่ถนัด ซึ่งทำให้การก่อสร้างพีระมิดนี้ไม่เพียงแค่เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงเรียนสอนงานช่างแก่คนงานชาวอียิปต์จำนวนมาก”

“แม้งานสร้างพีระมิดจะเป็นงานหนัก แต่รัฐบาลก็มีสวัสดิการให้คนงานสร้างพีระมิดทุกคน เป็นอาหารปันส่วนที่ประกอบด้วย ขนมปัง, เบียร์, ปลา, และเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ”

 

การค้าสามผสม: จีนกับโลกหลังโควิด

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง ‘ยุทธศาสตร์การค้าสามผสม’ สะท้อนภาพยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนที่อาจเกิดขึ้นในโลกหลังโควิด-19

“จีนมักสร้างภาพในเชิงยุทธศาสตร์ว่า สหรัฐฯ กำลังทำผิดพลาดมหันต์ เพราะการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากจีน แท้จริงแล้วคือ การแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากเศรษฐกิจโลกต่างหาก เพราะห่วงโซ่การผลิตของจีนได้เชื่อมเข้ากับประเทศอื่นๆ ในโลกเรียบร้อยแล้ว หรือนับวันจะยิ่งทวีความเชื่อมโยงมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และการรุกตลาดภายนอกในประเทศใหม่ๆ ของจีน”

“จีนอาจกลับหลังหันจากที่เคยเปิดประเทศ เปลี่ยนมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในของตนเป็นหลัก แต่จากการวิเคราะห์ ‘ยุทธศาสตร์การค้าสามผสม’ ของจีน จะพบว่า จีนยังคงเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจอยู่ แต่เป็นการเปิดที่มีเป้าหมายและเงื่อนไขในเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น”

 

โรงเรียนพึ่งตนเอง

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เหตุใดคำว่า ‘กระจายอำนาจ’ จึงเป็นคำแสลงในการปฏิรูปการศึกษา จนต้องเลี่ยงใช้คำอื่น?

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงความจำเป็นของการกระจายอำนาจ หากต้องการให้การศึกษาไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงระดับมหภาค

“หากภาษาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนสมองและสติปัญญาของคนเราจริง การใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องน่าจะนำไปสู่ปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องเรื่อยไป”

 

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ : ทำความรู้จักภาวะ ‘ไม่รู้จักใบหน้า’ ทำไมบางคนจึงไม่ทักใครก่อน

 

โดย ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

คอลัมน์ Brainbug เดือนนี้ ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ พาไปรู้จัก ‘ภาวะไม่รู้จักใบหน้า’ เรามีระบบจดจำใบหน้าอย่างไร ทำไมคนบางส่วนบนโลกจึงไม่อาจจดจำใบหน้าได้ และทำไมเราจึงมองอะไรก็เห็นเป็น ‘หน้า’ ไปหมด แม้แต่เครื่องซักผ้า

 

ชวนอ่านแนววิเคราะห์รัฐและทุนนิยมไทยในงานของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ตลอดชีวิตไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เคยดำรงตำแหน่งหลายบทบาททั้งทีมที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และยังมีบทบาทในภาคประชาสังคมอีกหลายด้าน

แต่หนึ่งในบทบาทที่ ‘อาจารย์โต้ง’ โดดเด่นในช่วงทศวรรษ 2520 คือ นักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการอภิปรายประเด็นร่วมสมัยในสังคมไทยอย่างเข้มข้น

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนอ่านแนววิเคราะห์ รัฐและทุนนิยมไทยในงานของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อีกครั้ง ทั้งในฐานะ ‘ปฏิบัติการทางปัญญา’ แห่งยุคสมัย และในฐานะบทวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งพลิกผันปั่นป่วนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลายทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบัน

 

มาร์เซล บารัง: นักแปลผู้ปิดทองหลังพระ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“…ถึงแม้มันจะเป็นงานที่หนักและต้องทำคนเดียว แต่ด้วยความชอบที่มีต่องานแปล ก็คงทำต่อไป จนตาย”

ในวาระการจากไปของ มาร์เซล บารัง นักแปลวรรณกรรมผู้พาผลงานนักเขียนไทยไปสู่สายตานักอ่านต่างประเทศ อาทิ ‘คําพิพากษา’ และ ‘พันธุ์หมาบ้า’ ของ ชาติ กอบจิตติ ‘เงาสีขาว’ และ ‘อสรพิษ’ ของ แดนอรัญ แสงทอง ฯลฯ

101 ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ ว่าด้วยชีวิตและทัศนะของมาร์เซลที่มีต่อการแปลและวรรณกรรมไทย สัมภาษณ์โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“วิธีการทำงานของผมนั้นง่ายนิดเดียว คือจะใช้วิธีการแปลแบบคำต่อคำ อันนี้เป็นขั้นตอนและวิธีที่ใช้กับการแปลหนังสือทุกเล่ม ขั้นต่อมาก็จะทำงานบรรทัดต่อบรรทัด ประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า โดยในขั้นนี้จะพยายามทำให้งานที่แปลออกมาตรงกับต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมสามารถรวบรวม 20 สุดยอดวรรณกรรมไทยมาแปลได้ โดยที่การค้นหาวรรณกรรมดีๆ มาแปลนั้นไม่ได้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเหมือนในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้การจะหาเรื่องสั้นหรือนวนิยายดีๆ มาแปลมันยากมาก และยิ่งยากขึ้นทุกๆ ปีด้วย”

“วรรณกรรมหรือนวนิยายนั้นเหมือนกับภูเขาที่มีตั้งมากมายหลายยอด การจะบอกว่ายอดไหนมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดคงเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละที่ก็สวยงามกันคนละแบบ เช่นเดียวกันกับวรรณกรรมที่มีอยู่มากมายหลายประเภท แต่ละประเภทต่างก็มีอะไรที่พิเศษและน่าสนใจในแบบฉบับของมันเอง”

“หน่วยงานรัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศให้มากกว่านี้ ไม่เฉพาะในเรื่องการแปลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเขียนด้วยซ้ำไป เมื่อก่อนผมแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีนวนิยายดีๆ จำนวนมากให้เลือกแปลได้ตั้ง 20-30 เรื่อง ในเมื่อทุกอย่างแทบจะเป็นอุปสรรคต่อการเขียน การอ่าน หรือแม้กระทั่งการแปล”

 

ความเป็น ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’

 

โดย กำพล นิรวรรณ

“ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ว่ายุคไหนจะมีใครสักกี่คนที่มีพ่อเป็นแกนนำในศูนย์กลางอำนาจ ทว่าตัวเองพร้อมกระโดดออกมายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเสมอเมื่อเห็นว่ารัฐบาลเดินหลงทิศผิดทาง ยิ่งเมื่อพ่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งไม่มีลูกคนไหนเลยที่จะกล้าออกมาเป็นแกนนำฝ่ายต่อต้าน

ยกเว้นลูกกบฏแห่งซอยราชครู”

กำพล นิรวรรณ นักเขียนและนักแปล อดีตทีมงานบีบีซีภาคภาษาไทย เปิดบันทึกความทรงจำ รำลึกตัวตนคนชื่อ ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’

 

 

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ วจนา วรรลยางกูร

การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทยในกัมพูชา ทำให้การ ‘อุ้มหาย’ กลับมาเป็นประเด็นสนทนาในสังคมไทยอีกครั้ง

101 พูดคุยกับ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่องอุ้มหายในกฎหมายระหว่างประเทศ และเคยร่วมยกร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้

“อนุสัญญาเรื่องอุ้มหายมีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับที่พัฒนาไปไกลและเป็นการคุ้มครองประชาชนที่ดีมาก แต่มีข้อถกเถียงว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่ปฏิบัติงานอาจกังวลในหลายเรื่อง เช่น ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา หรือเรื่องการลงโทษต่างๆ”

“ปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดอุ้มหายตามอนุสัญญา ถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐอุ้มหายประชาชน เราดำเนินการได้แค่ฐานความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 – 310 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และเป็นความผิดที่ยอมความได้”

 

หนี้สาธารณะระดับไหนถึงเหมาะสม

 

โดย พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช

รัฐบาลทั่วโลกต่างหันมาใช้ ‘บาซูก้าทางการคลัง’ เป็นอาวุธหลักในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับโควิด-19 ในหลายประเทศการใช้มาตรการทางการคลังหนนี้ นับเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

แต่ถึงที่สุดแล้ว กระสุนการคลังย่อมใช้ได้อย่างจำกัด โดย ‘หนี้สาธารณะ’ คือตัวชี้วัดสำคัญว่า แต่ละประเทศยังพอมีกระสุนเท่าไร

พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช สำรวจวิวาทะว่าด้วย ‘ระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสม’ ในวงวิชาการระดับโลก เพื่อตั้งคำถามถึงสถานะทางการคลังของประเทศไทยในยุควิกฤตโควิด-19

“งานของ Reinhart และ Rogoff วิเคราะห์ข้อมูลของ 44 ประเทศรวมถึงประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่า 2 ศตวรรษ…พบว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มีความสัมพันธ์กับระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ตราบเท่าที่ระดับหนี้สาธารณะยังไม่สูงเกินร้อยละ 90 ของ GDP แต่เมื่อระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 90 ของ GDP แล้วจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging economies)”

“เมื่อจอกศักดิ์สิทธิ์ของ Reinhart และ Rogoff ถูกทุบทำลายลง ก็ยังมีความพยายามอีกหลากหลายครั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกในการหา ‘ระดับที่เหมาะสมของหนี้สาธารณะ’ …. ปริศนาของระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมอาจจะไม่ได้มีคำตอบแค่เพียงหนึ่งเดียว”

 

ด้วยความ ‘ยินยอม’ เป็นอย่างยิ่ง

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“แสงราตรีดำสนิททำให้เขาไม่เห็นสีหน้าเหยเกของเธอ และแม้เนื้อตัวที่แข็งทื่อ ไร้เรี่ยวแรง จะเป็นสัญญาณเตือน แต่ความเพลิดเพลินกลางลำตัวของเขาคงกลบสัญญาณนั้นไปเสียหมด”

“…ขณะที่คนนึงสุขสม อีกคนกลับอยู่ในอารมณ์ตรงกันข้าม ‘เธอ’ ไม่ได้พอใจกับเซ็กซ์ครั้งนี้ อาจไม่มีความสุข ไม่พร้อม หรือไม่ ‘ยินยอม’ เสียด้วยซ้ำ แต่ชีวิตจริงไม่มีตัวหนังสืออีโรติกบรรยายกำกับไว้ หลายคนอาจอ่านภาษากายได้ไม่ทะลุปรุโปร่ง และแม้จะรู้ว่าภาษากายอ่านยาก บางครั้งก็ยังละเลย ไม่เอ่ยถามความยินยอมด้วยวาจา”

“…เขา และ เธอที่ไม่ยินยอม อาจเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่คู่นอน คู่รัก ไปจนถึงคู่สามีภรรยา เพราะในทุกครั้งที่เซ็กซ์เกิดขึ้น ความยินยอม-ไม่ยินยอมจะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ”

คอลัมน์ Sex Appear ตอนใหม่ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เขียนถึง ความยินยอมพร้อมใจทางเพศ (sexual consent) ส่วนผสมหลักของเซ็กซ์ที่ขาดไปไม่ได้

 

ประกาศคณะราษฎรกับ ‘หน้า’ ของพระปกเกล้า

 

โดย อิสระ ชูศรี

หลังจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้น ฝ่ายอภิวัฒน์และฝ่ายเจ้านายเจรจาอะไรกันบ้าง

อิสระ ชูศรี ฉายภาพ “ความร่วมมือ-ต่อรอง” ระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้า ผ่านถ้อยคำและภาษาที่ปรากฏอยู่ในเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์

“ด้านหนึ่งพระปกเกล้าทรงแสดงความเห็นพ้องและร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านประเทศสยามไปสู่การปกครองแบบที่มีกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

“แต่อีกด้านหนึ่งพระปกเกล้าทรงคัดค้านข้อความหลายส่วนในประกาศคณะราษฎรอย่างรุนแรง เมื่อทรงเห็นว่าข้อความเหล่านั้นคุกคามภาพลักษณ์ที่ประจักษ์ต่อสาธารณะของพระองค์ในฐานะผู้กำกับดูแลมรดกทางการเมืองของพระราชวงศ์จักรี”

 

IR ต้องรอด! – “ไม่มี Theory Of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

Spotlight #ต้องรอด ประจำเดือนนี้ 101 สนทนากับ ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องขอบฟ้าองค์ความรู้ของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน IR ในยุคที่โลกผันผวน ระเบียบโลกปั่นป่วน และระบบโลกถูกตั้งคำถาม

“ทุกวันนี้ในแวดวง IR ยังคงถกเถียงเกี่ยวกับ ‘คำถามคลาสสิก’ หรือ ‘คำถามอมตะ’ (enduring questions) แม้ว่าโจทย์จะถูกตั้งมานานแล้ว แต่ก็ยังไขให้กระจ่างไม่ได้หรือยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น โจทย์การเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก (power transition) แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีโจทย์ใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าผุดขึ้นมาอีกด้วย”

“แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนเร็วจนทฤษฎีเปลี่ยนตามไม่ทัน แต่ทฤษฎี IR ก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะทฤษฎียังเป็นเลนส์ที่มีพลังในการมองและวิเคราะห์ภาพใหญ่ของเหตุการณ์โลกได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเรานิยามแบบแคบๆ ว่าทฤษฎี IR ประกอบด้วยเพียงทฤษฎีกระแสหลักอย่างสภาพจริงนิยม เสรีนิยม และสรรสร้างนิยมเท่านั้น มันก็อาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน เช่น วิกฤตโควิด-19”

“ผมไม่คิดว่าโควิด-19 เข้ามาสั่นสะเทือน IR โดยตรงอย่างสาขาอื่น แต่มันเปิดโอกาส เร่งเครื่องให้การศึกษาวิจัยบางด้านคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะโจทย์เรื่องความหวาดกลัว ระบบดุลอำนาจใหม่ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ ความลักลั่นของระบอบสุขภาพโลกที่ไปปะทะกับการเมืองเรื่องอำนาจ หรือแม้กระทั่งเรื่องการประกอบสร้างให้ประเด็นเรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องของความมั่นคง”

“IR ไม่มี theory of everything คือไม่มีทฤษฎีเดียวที่อธิบายทุกสิ่งในโลกได้ เราอาจบอกว่า IR เหมือนเป็น fifty shades of theory มากกว่า เพราะมีทฤษฎีเยอะมากในการอธิบาย ถามว่า IR อยากจะมี theory of everything มั้ย ผมว่า IR ก็มีความพยายามจะทำแบบนั้น แต่ทำไม่ได้ การมีทฤษฎีที่หลากหลายจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ IR ที่ทำให้เราเห็นโลกจากมุมต่างๆ มีการสนทนาโต้แย้งกันระหว่างทฤษฎีต่างๆ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปแบบเดียว นี่เลยทำให้คนอื่นมอง IR ว่าเป็นภาพเบลอๆ”

“เสน่ห์ของ IR จึงอาจจะเป็นความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ IR ไม่ได้บอกว่า คุณต้องท่องจำเก่ง หรือรู้เยอะรู้มาก ไม่ใช่เลย โจทย์ของ IR คือ เราจะทำอย่างไรถึงจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนจากมุมมองบางอย่างได้น่าสนใจ หลายครั้ง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว เราอาจจะเห็นความต่อเนื่องหรือแบบแผนบางอย่างของการเมืองโลกก็ได้”

 

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนมิถุนายน 2563

 

การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

 

โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

อ่าน ‘2475’ ฉบับ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’

ในสังคมที่ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมกล่อมเกลาความคิดคนมากกว่าเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอดีตของสังคมตนเอง

ประจักษ์ ก้องกีรติ ตั้งคำถามและสำรวจตรวจสอบมายาคติ 4 ประการในสังคมไทยเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 :

1. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

2. 2475 เป็นการปฏิวัติของนักเรียนนอกจำนวนน้อย

3. 2475 เป็นการกระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง

4. 2475 เป็นเพียงการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริง

… จริงหรือ?

อะไรคือประวัติศาสตร์ 2475 ฉบับโรงเรียนไทยไม่ได้สอน สำหรับการต่อสู้ถกเถียงกับมายาคติทั้ง 4 ประการข้างต้น และหนังสือน่าอ่านเกี่ยวกับ 2475 มีเล่มใดบ้าง ติดตามได้ในบทความยอดนิยมที่สุดชิ้นหนึ่งของ The101.world — “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

โบราณคดีล่องหนของคนชั้นล่าง ห้องครัวในพิพิธภัณฑ์ กับ พายมันเทศ

 

โดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เขียนถึง อดีตที่เคยล่องหนของทาสผิวดำ และ “พายมันเทศ” เมนูที่แสดงตัวตนและจิตวิญญาณของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ผ่านสูตรอบพายที่มีอายุกว่าร้อยปี

“นักโบราณคดีอาจไม่มีทางรู้จริงๆ เลยว่า ทาสและผู้ยากไร้ที่สุดในสมัยโบราณนั้น นอกจากมีบทบาทเป็นคนรับใช้แล้ว พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มักจะล่องหนหายไปพร้อมกับชีวิตของพวกเขา จนเรื่องของคนชั้นล่างในประวัติศาสตร์แทบจะเรียกได้ว่ามีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหมาย ตายไปอย่างไร้ร่องรอย”

“ด้วยความที่มันเทศเป็นพืชหัวที่ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตเป็นแป้งที่กินแล้วอิ่มท้อง ทำให้มันเทศได้แทรกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารของทาสผิวดำ”

 

รังสิมันต์ โรม “เราคือคนไม่กลัวอนาคต”

 

โดย วรัญญา บูรณากาญจน์

“วันที่ผมต้องไปอยู่เรือนจำ ครอบครัวผมเสียใจมาก แม่ผมนอนร้องไห้ พอออกมาได้คุยกัน เขาถามว่าหยุดได้ไหม ผมบอกว่า ถึงที่สุดผมต้องอยู่กับประเทศนี้อีกนาน เราจะมีอนาคตแบบไหน ถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้”

#saveโรม ในทวิตเตอร์ขึ้นอันดับหนึ่ง หลังเกิดความกังวลเกี่ยวกับการคุกคาม ส.ส. และนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย

101 ชวนย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เดินหน้าตรวจสอบอำนาจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัยที่เขายังไม่ได้เข้าสู่รัฐสภา

 

อยุธยานอกตำราเรียน

 

โดย อันโตนิโอ โฉมชา

จากอดีตที่ผ่านมา เราได้รับการปลูกฝังจากตำราเรียนประวัติศาสตร์ ว่าสังคมอยุธยาเป็นสังคมชาวไร่ชาวนา ทำกสิกรรมเป็นอาชีพหลัก มีการแบ่งชนชั้น ใช้ระบบไพร่ขุนมูลนาย พอกรุงแตก พม่าก็เผาทำลายเมืองจนเหลือเพียงซากปรักหักพัง ขนวัสดุและของมีค่าต่างๆ กลับไปยังบ้านเมืองของตน

ทว่าจากหลักฐานชุดใหม่ที่นักวิชาการรุ่นหลังพยายามศึกษา เผยให้เห็นว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียนนั้น เป็นการเขียนประวัติศาสตร์แบบ ‘เข้าข้างตัวเอง’ เพื่อสร้างจิตสำนึกแบบชาตินิยม และเป็นชุดข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 เรื่อง “250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา – สถาปนากรุงธนบุรี” จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีการหยิบยกข้อมูลหลักฐานใหม่เกี่ยวกับอยุธยามานำเสนอในหลายประเด็น

101 ขอนำเสนอประเด็นสำคัญจากเวทีย่อย หัวข้อ “เศรษฐกิจและสังคมสยาม : จากอยุธยาถึงกรุงธนบุรี” มาเล่าสู่กันฟัง ว่าด้วยมุมมองใหม่เกี่ยวกับสภาพสังคมเศรษฐกิจในสมัยอยุธยา และความเข้าใจผิดบางประการ เกี่ยวกับเหตุการณ์ ‘กรุงแตก’

 

ทันตกรรมอำพราง : ความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

ทุกวันนี้มีคลินิกที่เปิดให้บริการด้านทันตกรรมอยู่มากมาย ทั้งแบบที่ถูกกฎหมาย และแบบที่ลักลอบให้บริการอย่างลับๆ

สิ่งที่น่ากังวลซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ หรือรู้เมื่อสายไปแล้ว ก็คือการใช้บริการด้านทันตกรรมบางประเภท อาจนำมาซึ่งอันตรายในภายหลังได้ แม้ว่าคลินิกหรือทันตแพทย์คนนั้นๆ จะมีใบรับรอง กระทั่งเปิดบริการอย่างถูกกฎหมายก็ตาม

101 มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการเข้ารับบริการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ

ต่อไปนี้คือความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก แต่เราอยากบอกให้รู้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความเสียหายจากการรักษา

 

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมิถุนายน 2563

 

The Mo(Nu)Ment Of Democracy : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, เมธิชัย เตียวนะ และ ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ

หากนับตั้งแต่วันก่ออิฐ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันนี้ดำรงอยู่เป็นปีที่ 81 ยืนหยัดท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองในไทยครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นฉากหลังของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พฤษภาฯ 35 พันธมิตรฯ นปช. และ กปปส. ฯลฯ เป็นพื้นที่เรียกร้องความเป็นธรรมของประชาชนจากทั่วทุกหย่อมหญ้า และเป็นวงเวียนที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเคยสัญจรผ่าน

พานรัฐธรรมนูญบนแท่น ผ่านร้อนผ่านฝน ผ่านลมผ่านหนาว ตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และเปิดพื้นที่โดยไม่ขวางกั้นว่าคุณอยู่สีไหน มาวันนี้ นาทีนี้ ความเป็นประชาธิปไตยของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดำเนินมาอย่างไรในห้วงยามที่ประชาธิปไตยไหวเอน

ชวนรับฟังมุมมองผ่านสายตาของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ธิดา ถาวรเศรษฐ และสุริยะใส กตะศิลา พร้อมฉากและเหตุการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

101 Documentary ชวนชม The Mo(nu)ment of Democracy : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์ #24มิถุนา

 

101 One-On-One Ep.156 “2475: ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” กับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

 

โดย 101 One-on-One

สำรวจ ‘ชีวิต’ ของประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันและอนาคตการเมืองไทย

คุยกับ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะ การอภิวัฒน์สยาม

ตอบทุกคำถาม คลี่ทุกมายาคติเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

101 One-On-One Ep.149 : “COVID-19 กับโอกาสใหม่ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” กับ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

 

โดย 101 One-on-One

หนึ่งในคำถามสำคัญเวลานี้ คือวิกฤต COVID-19 เปลี่ยนโฉมหน้าของ “ความยุติธรรม” ในสังคมไทยอย่างไร กระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรม ไปจนถึงกรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค COVID-19 อย่างไร

101 สนทนากับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง

มาร่วมกันหาคำตอบว่า โจทย์ว่าด้วยความยุติธรรมในยุค COVID-19 เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร เราจะพลิกวิกฤตใหญ่ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนและเป็นโอกาสใหม่ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อคนทุกคนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกันได้อย่างไร

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์

 

101 One-On-One Ep.152 : “วิกฤตประชาธิปไตยอเมริกา: จาก Black Lives Matter สู่ศึกชิงทำเนียบขาว” กับ กัลยา เจริญยิ่ง

 

โดย 101 One-on-One

ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ สั่นสะเทือนการเมืองเรื่องสีผิวในสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง อะไรคือที่มาที่ไปของความขัดแย้งอันร้าวลึกไม่รู้จบ วิกฤตการเมืองครั้งนี้เปิดให้เห็นประเด็นและข้อถกเถียงใหม่ของปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกาอย่างไร และนับจากนี้ศึกชิงทำเนียบขาว 2020 ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน จะพลิกโฉมหน้าไปอย่างไร

สนทนากับ ดร.กัลยา เจริญยิ่ง ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “ครอบครัวไทย ครอบครัวอบอุ่น”

 

โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ และ กฤตพร โทจันทร์

โฉมหน้าความเหลื่อมล้ำ ชัดขึ้นในยุคโควิด-19 สังคมไทยถูกกัดกร่อน เข้าไปถึงระดับครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือความรุนแรงในครอบครัวกำลังหนักหน่วงเรื่อยๆ และโรคบาดแผลทางใจในเด็ก กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

เราจะวิ่งหนีปัญหาหรือเยียวยา-ฟื้นฟู ลองฟังทรรศนะจาก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

101 ชวนชมสารคดีข่าวสั้น SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ครอบครัวไทย ครอบครัวอบอุ่น”

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save