20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมกราคม 2563
เบื้องหลัง #ไทยบาทแข็งที่สุดในปฐพี
‘พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย’ วิเคราะห์เบื้องหลังปรากฏการณ์ #ไทยบาทแข็งที่สุดในปฐพี
ก่อนสิ้นปีหนึ่งวัน เงินบาทไทยแข็งค่าจนทะลุต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ อะไรคือสาเหตุของบาทแข็ง และบาทแข็งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
พอล คอลลาร์ด : ออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่ใช่อัจฉริยะ
โดย สมคิด พุทธศรี
โรงเรียนฆ่าความคิดสร้างสรรค์หรือไม่?
นี่คือคำถามเชิงวิพากษ์ที่เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักการศึกษาระดับโลกมีต่อระบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ ความแหลมคมของคำถามไม่เพียงแต่ทำให้คลิป TED Talk ของเขากลายเป็นคลิปที่คนดูมากที่สุดในโลก แต่ยังทำให้ประเด็นการปฏิรูปการเรียนรู้กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก รวมถึงในประเทศสหราชอาณาจักรบ้านเกิดของ ‘เซอร์ เคน’ ด้วย
เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มโครงการ Creative Partnerships ซึ่งเป็นโครงการปฏิรูปการเรียนรู้ ‘เรือธง’ ของรัฐบาล หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่มีส่วนรับผิดชอบโครงการคือ พอล คอนลาร์ด (Paul Collard) เพื่อนสนิทของ ‘เซอร์ เคน’ และนักการศึกษาที่มีประสบการณ์ในการปฏิรูปการเรียนรู้มาอย่างยาวนาน
หลังอำลาตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาล พอลเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น เมื่อเขาตั้งมูลนิธิ Creativity, Culture and Education (CCE) และมุ่งทำงานด้านการศึกษาในหลายมิติตั้งแต่ การทำวิจัย การเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรรัฐหลายประเทศ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยตรง โดยอาศัยแนวคิด ‘การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์’ (Creative Education) ซึ่งเขาและทีม CCE พัฒนาขึ้นเป็นจุดขายสำคัญ
พอลสนใจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นการเฉพาะ และเชื่อมั่นว่า ‘การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์’ จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กยากจนทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พอลและทีมลงสนามด้วยเช่นกัน โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นพาร์ทเนอร์สำคัญ
ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านศึกษามาอย่างยาวนานในหลากหลายประเทศ พอลมองปัญหาการศึกษาไทยอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ 101 ชวนเขาสนทนา
เมื่อเศรษฐกิจจีนถึงคราวบุญเก่าหมด และต้องแสวงบุญใหม่
อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงเศรษฐกิจจีน ที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า กินบุญเก่าหมดแล้ว รวมถึงแนวทางการแสวงหาบุญครั้งใหม่จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีน และการยกระดับสู่เทคโนโลยีในยุค 4.0 และ 5.0
“…จีนได้เข้าสู่ยุค ‘ความจริงใหม่ที่ต้องยอมรับ’ (New Normal) จากเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรกคือ เศรษฐกิจจีนหมดยุคที่จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 แต่ถ้าเติบโตได้เพียงร้อยละ 5-6 ก็ถือว่าดีมากแล้ว และข้อที่สองคือ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นความขัดแย้งระยะยาว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ความขัดแย้งทางการค้าจะลดความตึงเครียดลงในปี ค.ศ. 2020 เพราะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์คงไม่ต้องการยกระดับสงครามการค้า เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน “
“กุญแจที่นักวิเคราะห์มองว่า จะเป็นโอกาสรอดของจีนคือ การยกระดับสู่เทคโนโลยีในยุค 4.0 และ 5.0 ตอนนี้มีคำกล่าวกันแพร่หลายในจีนว่า จีนโชคดีที่ขึ้นรถด่วนขบวนสุดท้ายในยุคอุตสาหกรรม 2.0 และ 3.0 ทัน และโชคดีที่ขึ้นรถด่วนขบวนแรกในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 มาได้”
“เทคโนโลยี 4.0 และ 5.0 จะเป็นตัวสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่สำหรับจีน เพราะจะตอบโจทย์การยกระดับสินค้า ยกระดับอุตสาหกรรม ทดแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ยังตอบโจทย์การเป็นตลาดผู้บริโภคภายในประเทศขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตลาด E-Commerce ในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่ไม่ใช้เงินสด…”
“ทุกวันนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีจึงเป็นกระแสที่ร้อนแรงมากในจีน เพราะนอกจากเส้นทางนี้ก็ไม่มีเส้นทางอื่น จะหันหลังกลับไปหาอดีตก็ไม่ได้อีกแล้ว มีแต่ต้องหักร้างถางพงลุยต่อไปข้างหน้า ขึ้นรถด่วนขบวนแรกบุกไปสู่อนาคตพร้อมๆ กับฝรั่ง”
ล่วงเลย…แต่ไม่เคยผ่านพ้น : ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ Happy Old Year
โดย นรา
“หนังเรื่อง ‘ฮาวทูทิ้ง’ มีเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการ ‘เก็บ’, ’ทิ้ง’ และ ‘คืน’ สิ่งของระหว่างตัวละคร กระทั่งว่ากินความครอบคลุมไปถึง ‘การจดจำ’ และ ‘อยากลืม’ การเป็นฝ่ายกระทำและเป็นผู้ถูกกระทำ”
“แต่จุดใหญ่ใจความที่ผมสนใจและรู้สึกสนุกในการไตร่ตรองนึกถึงมากสุด คือ การถามเอง-ตอบเอง ว่าจีนเป็นคนอย่างไร? อะไรคือต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เธอมีภาพภายนอกเป็นเช่นนั้น?”
คอลัมน์ Deep Focus ประจำเดือนนี้ ‘นรา’ เขียนถึงฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ หนังรักแบบไทยๆ เจือกลิ่นอายความ ‘minimal’ ที่เล่าจุดเริ่มต้นของการทิ้งความทรงจำและบาดแผลในใจผ่านการจัดบ้านครั้งใหญ่
“จีนจัดการกับปัญหาชีวิตคล้ายๆ กับการนำสิ่งของทิ้งไปในถุงดำ เป็นวิธีหลบหนี หลีกเลี่ยง หันหลังให้ปัญหา หรือเอาตัวรอด ด้วยการ ‘รับรู้’ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
“ความน่าสะเทือนใจนั้นอยู่ที่ว่า การใช้ถุงดำเพื่อดำเนินชีวิตถี่บ่อยมากเข้า ก็สั่งสมสร้างเปลือกห่อหุ้มกลายเป็นความเย็นชา ไร้น้ำใจ และครุ่นคำนึงถึงแต่ตนเอง”

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2020 โดยคอลัมนิสต์ 101
โดย The101.world
ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา 101 ได้นำเสนอ ‘ความน่าจะอ่าน 2020’ คือหนังสือที่เหล่า contributors ของ 101 มาช่วยกันแนะนำ โดยแต่ละคนเลือกหนังสือ 1 เล่ม ที่คิดว่าเหมาะสำหรับวาระเปลี่ยนผ่านจากปี 2019 สู่ปี 2020 พร้อมเหตุผลสั้นๆ ว่าหนังสือเล่มนั้นน่าสนใจอย่างไร
และนี่คือหนังสือกว่า 40 เล่ม ที่พวกเราอยากแบ่งปัน ครอบคลุมเรื่องราวที่หลากหลายตั้งแต่ เอไอในมุมมองจีน, การสืบทอดอำนาจของเผด็จการชิลี, หนังสือรวมบทกวีที่มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ, การโฆษณาชวนเชื่อในโลกข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป, ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยว่าด้วยความกลัว, ไลท์โนเวลที่เอไอทำงานแทนนักเขียน, ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ, สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ, คู่มือสู่โลกของสุรา, ที่มาของเพลง The Beatles, ระบบวรรณะของอินเดีย ฯลฯ
ชวนกันอ่านรับปี 2020 (หรือเก็บไว้ในลิสต์หนังสือน่าอ่านปีนี้) ไม่ว่าจะอ่านเพื่อรับมือความท้าทายใหม่ อ่านเพื่อทำความเข้าใจชีวิต อ่านเพื่อเรียนรู้เผด็จการ อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน อ่านเพื่อรู้ทันการเมือง หรืออ่านเพื่อหาข้อมูล

เบื่อ ‘ประยุทธ์’ โรคระบาดที่กำลังลุกลามในสังคมไทย
อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงกระแส “เบื่อประยุทธ์” ที่อบอวลทั่วสังคมการเมืองไทย
ดีล ‘Tesco Lotus’ กับการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก: บทเรียนเรื่องการควบรวมจากเยอรมนี
โดย กนกนัย ถาวรพานิช
อ่านบทเรียนการควบรวมกิจการสองยักษ์ธุรกิจค้าปลีกเยอรมัน เพื่อเตรียมรับมือดีล ‘เทสโก้ โลตัส’ ในไทย โดย กนกนัย ถาวรพานิช
ข่าวการขายธุรกิจ Tesco Lotus ซึ่งมีสาขาในไทยประมาณ 2,000 สาขาของกลุ่มทุน Tesco จากสหราชอาณาจักร สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการค้าปลีกในไทย เมื่อมีรายงานว่า 3 ทุนใหญ่ในกิจการค้าปลีกไทยต่างสนใจซื้อกิจการในประเทศไทย (และในมาเลเซีย)
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าดีลนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือลงเอยอย่างไร แต่ดีลนี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกไทย
การควบรวมในธุรกิจค้าปลีกเกิดขึ้นบ่อยครั้งในต่างประเทศช่วงระยะ 10 ปีมานี้ สอดคล้องกับรายงานการสำรวจตลาดหลายฉบับที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในต่างประเทศพบว่า ตลาดธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโดยทั่วไป (เช่นเดียวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตรในภาพรวม) มีลักษณะกระจุกตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกเป็นเหมือนคอขวดที่อยู่ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค
กนกนัย ถาวรพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแข่งขันทางการค้า ยกตัวอย่างกรณีการควบรวมระหว่าง Edeka และ Kaiser’s Tengelmann สองยักษ์ธุรกิจค้าปลีกในเยอรมนี ซึ่งสั่นสะเทือนวงการธุรกิจและการเมืองเยอรมันเมื่อไม่นานมานี้ และสะท้อนกลับมาย้อนมองการทำงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของไทย
มหาวิทยาลัย 2020 – เรียนรู้ไร้พรมแดน
สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึงการเรียนรู้ในยุคใหม่ โดยเฉพาะการปรับตัวของมหาวิทยาลัยและองค์กร ตั้งแต่การสลายเส้นแบ่งของสาขาวิชา เส้นแบ่งของนักเรียนและคนทำงาน ไปจนถึงการทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
“การเรียนรู้ข้ามพรมแดนคณะอาจทำให้เราได้พบคนหลากหลาย และเพื่อนที่มองโลกต่างเลนส์ มหาวิทยาลัยไม่ควรทำให้ใครกลายเป็น ‘แกะดำ’ แต่สร้างสังคม ‘แกะหลากสี’ เพราะความแตกต่างเป็นเชื้อเพลิงของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) และทำงานเป็นทีม”
“ต่อไปการศึกษาอาจยิ่งคล้ายกับการดู Netflix ที่มีซีรี่ย์จากหลายเจ้า และมีแพลตฟอร์มช่วยแนะนำสิ่งที่เหมาะกับเรา เพียงแต่อาจแนะนำสิ่งที่เราควรเรียน มากกว่าแนะนำตามความชอบ”
“พรมแดนของนักเรียนและคนทำงานจะจางหายไป โดยแบ่งเป็นสองส่วน ข้อหนึ่ง เด็กมหาวิทยาลัยต้องเริ่มรู้จักการทำงานในโลกความจริงตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย”
“ข้อสอง คนทำงานต้องมีความเป็นนักเรียนตลอดเวลา เพราะความรู้นั้นอายุสั้นลงในยุคที่คนอายุยืน แนวคิดที่ว่าชีวิตสามช่วง “เรียน-ทำงาน-เกษียณ” จะต้องหมดไป หลีกทางให้กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)”
“ทุกองค์กรจำเป็นต้องมี ‘พื้นที่การเรียนรู้’ เสมือนเป็น ‘มหาวิทยาลัย’ หรือสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าบริษัท องค์กรรัฐ หรือ NGO ต้องให้ปริญญา เพียงแต่ต้องคอยสร้างระบบนิเวศน์ที่กระตุ้นการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองตลอดเวลาให้คน ต้องมีการลงทุนและสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะใหม่ ผู้นำต้องไม่เป็นแค่บอสสั่งงาน แต่ต้องมีความเป็น ’ครูที่ดี’ ให้กับคนในทีม”
Editor’s Note 2020 : ทางรอดของสื่อยุคดิจิทัล “สื่อต้องเป็นสื่อ และกลับคืนสู่มือประชาชน”
โดย ปกป้อง จันวิทย์
“อนาคตของสื่อคือการทำงานสื่อให้มากขึ้น”
มาร์ค ธอมป์สัน ซีอีโอของนิวยอร์กไทมส์ ตอบโจทย์ทางรอดของสื่อในยุคดิจิทัล
“… จากนั้น ก็หาหนทางฉลาดๆ นำผลงานคุณภาพออกสู่เบื้องหน้าประชาชน แล้วขอให้พวกเขาช่วยจ่ายเงินสนับสนุนต่อไป”
แก่นวิชาสู้ศึกดิสรัปชั่นของนิวยอร์กไทมส์ตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สรุปง่ายๆ สั้นๆ แค่นั้นเอง
…………
ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world เขียนบทบรรณาธิการรับปี 2020 ด้วยการสำรวจบทเรียนของ “นิวยอร์กไทมส์” สถาบันสื่อคุณภาพที่อยู่คู่โลกมากว่า 170 ปี ในการปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป
กรณีของนิวยอร์กไทมส์สอนเราว่า ทางรอดของธุรกิจสื่อในยุคดิสรัปชั่นอย่างยั่งยืน ก็คือ
หนึ่ง ยิ่งเผชิญมรสุม ‘สื่อ’ ยิ่งต้องเป็น ‘สื่อ’ ให้มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง
ทำหน้าที่ ‘สื่อ’ ที่มีคุณภาพ โดดเด่นแตกต่าง และเป็นมืออาชีพ แล้วคนอ่านจะไว้วางใจและมอบพลังสนับสนุน
สอง สื่อต้องกลับไปหาคนอ่าน
ไม่ใช่เอาตัวรอดด้วยวิธีมักง่าย แข่งกันลงต่ำสู่หุบเหวแห่งความเสื่อม เปลี่ยนจากการทำงาน ‘สื่อ’ ไปทำงาน ‘โฆษณาประชาสัมพันธ์’ เปลี่ยนจากการรับใช้ ‘คนอ่าน’ หรือ ‘ประชาชน’ ไปรับใช้ ‘ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง’
50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม
“พื้นบ้านเขาทำจากไม้ฝาโลงศพ เพราะพื้นผุ คุณย่าทำงานคนเดียวไม่มีตังค์ ต้องเอาฝาโลงศพที่วัดบริจาคให้มาเป็นพื้นบ้าน” เสียงครูประพินเล่าคลอไปกับเสียงหมาเห่าที่ดังขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นใต้ถุนบ้านเต็มไปด้วยขยะกองอยู่บนแอ่งน้ำขัง ฉับพลันนั้นแมวสองตัวก็เดินเข้ามาคลอเคลียที่ขาของเต้ย
“ผมมีแมวห้าตัว สองตัวนี้ชื่อปูผัด กับ ลิงครับ” เต้ยบอกด้วยรอยยิ้ม แล้วค่อยพาเดินขึ้นบันไดบ้านเล็กแคบที่มีหม้อและของใช้วางอยู่ตรงขอบตลอดทาง ทอดขึ้นไปสู่ห้องเดี่ยวขนาดเดินห้าก้าวก็สุดกำแพง
“ผม แม่ กับป้า นอนด้วยกันในนี้หมดเลย นอนคนละมุม ก่อนนอนก็จะปูเสื่อก่อน” เต้ยชี้ไปที่มุมนอนของเขา มีตุ๊กตาตัวเล็กวางอยู่ให้รู้ว่าเป็นอาณาเขตใคร เต้ยเรียกย่าว่าแม่ เพราะแทบจะเป็นคนเดียวที่ดูแลเขาให้เติบโตมาจนถึงตอนนี้
ย่าต้องทำงานโรงงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน แม้อายุจะเข้าใกล้วัยเกษียณเต็มทีแต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป ด้วยภาระงานของย่าและการเงินที่ขัดสน ทำให้ในบางเช้าเต้ยไม่ได้ทานข้าว ต้องไปทานอาหารที่โรงเรียนมีให้หลังเคารพธงชาติ เพื่อจะมีแรงและมีสมาธิในการเรียนทั้งวัน
เต้ยไม่ใช่เด็กไทยคนเดียวที่ประสบภาวะเหล่านี้ แต่ยังมีเด็กในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นอีกกว่า 1.1 แสนคนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 100 บาท การได้เข้าสู่ระบบการศึกษานับเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะช่วยให้พวกเขาขยับชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ เมธิชัย เตียวนะ พาลงพื้นที่ไปเห็นชีวิตของนักเรียนที่ยากลำบาก สะท้อนภาพใหญ่ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย
จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2020 : จากเลือกตั้งสหรัฐฯ – พายุสงครามการค้า – ชาตินิยมตื่นตัว
โดย กองบรรณาธิการ The101.world
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านทำให้เศรษฐกิจการเมืองโลกร้อนแรงตั้งแต่เปิดปี 2020 ไม่นับสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดำเนินมาต่อเนื่อง
ปมการเมืองหลายปมจากปี 2019 ส่งผลให้การเมืองไทย 2020 ไม่ง่าย เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฝ่าฟันความวุ่นวายผันผวนนี้ได้อย่างไร
101 เปิดวง Round Table ชวนกันมาตอบคำถามถึงความท้าทายที่ต้องพร้อมรับมือในปี 2020
“ลักษณะการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเรายังทำตามรูทีน ไม่หวือหวา ขาดจุดยืนและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าประเทศไทยเราต้องการทำอะไร ต้องการใช้ประโยชน์อะไร ตอนนี้เราดูเหมือนพยายามเอาใจทุกฝ่าย” – อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 และ จีน-เมริกา
“ผมเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง แล้วจะกระทบกลับมาที่เศษฐกิจอีกรอบ” – พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
“สังคมไทยยังเป็นสองขั้ว มีความขัดแย้งขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้รับการแก้ไขในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา บางคนบอกว่าตอนนี้เป็นความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรากดมันไว้ เมื่อพื้นที่การเมืองเปิดมันจึงกลับมา” – ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เออเชนี เมรีโอ : ประเทศพันลึกภายใต้ ‘ประชาธิปไตยแบบถูกควบคุม’
โดย วจนา วรรลยางกูร
:: Thailand 2020: Perspectives from the World :: Eugénie Mérieau
ร่วมมองอนาคตไทยในปี 2020 ผ่านมุมมอง 5 นักคิดและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง
มองทิศทางการเมืองไทยผ่านวิธีคิดการเขียนรัฐธรรมนูญ กับ เออเชนี เมรีโอ นักวิชาการนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ ผู้เสนอแนวคิดเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ ในการมองสังคมไทย
“คนที่ทำเฉพาะไทยศึกษาจะคิดเรื่อง exceptionalism คิดว่าประเทศนี้เป็นแบบนี้ประเทศเดียวในโลก ไม่ว่าจะคิดในแง่ดีหรือไม่ การบอกว่าเป็นเผด็จการที่แย่ที่สุดในโลก ก็เป็นชาตินิยมในแง่ที่ว่าคุณรู้สึกว่าประเทศไทยพิเศษมากจนเปรียบเทียบไม่ได้และไม่เห็นถึงความเหมือนกับประเทศอื่น”
“ในโลกวันนี้ เผด็จการจะอยู่รอดนานๆ ได้ ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งบ้าง เผด็จการก็ต้องการความชอบธรรมเพื่ออยู่ต่อได้ ดังนั้น การที่ทหารจัดให้มีการเลือกตั้ง ปี 2019 ก็ต้องถือว่าเป็น smart move”
” ‘รัฐธรรมนูญพันลึก’ เป็นสิ่งที่ทำให้ทหารมีอำนาจพิเศษ โดยมีอุดมการณ์ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ กำกับ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ 2490 จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันกลายเป็นหลักการทางกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเอามาใช้อ้างได้”
“รัฐพันลึกในประเทศไทยดำเนินการแบบ ‘รัฐคู่ขนาน’ (dual state) คือ รัฐที่มีอำนาจเด็ดขาด กับรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อไรก็ตามที่รัฐที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มออกนอกกรอบ รัฐที่มีอำนาจเด็ดขาดก็เข้าจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น รัฐประหาร หรือใช้ศาลตัดสินคดีต่างๆ”
“อย่าซ่อนข้อเท็จจริงจากประชาชน” เจน ชาญณรงค์ กับม่านฝุ่น PM 2.5
โดย วจนา วรรลยางกูร
ฝุ่น PM 2.5, ไฟป่า และปัญหาปากท้องชาวบ้าน เกี่ยวพันกันอย่างไร?
คำตอบนี้อยู่ที่ ‘ดร.เจน ชาญณรงค์’ หนึ่งในผู้ที่พยายามช่วยแก้ปัญหาฝุ่น ในนามของชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งรวบรวมผู้มีความรู้สาขาต่างๆ มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นผ่านเพจ ฝ่าฝุ่น และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อหวังจะเป็นแนวทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
เขาเรียกตัวเองว่า ‘นักเดาฝุ่น’ จากการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นด้วยข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาที่ให้บริการผ่าน FIRMS ประกอบกับการดูทิศทางลมซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ทั่วไป
สิ่งหนึ่งที่เขาสนใจคือ ‘ไฟป่า’ เพราะเมื่อดูจุดความร้อนที่ปรากฏบนแผนที่จะพบว่าพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่เกิดในเขตป่า ซึ่งกินบริเวณกว้างและเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ทางชมรมฯ จึงลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงซึ่งเกิดไฟป่าจำนวนมาก และพบว่าการจะแก้ปัญหาได้นั้นต้องทำไปถึงเรื่อง ‘ปากท้อง’ ของชาวบ้าน จึงจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว
“ไฟป่าเป็นเรื่องลึกลับแต่เราควรทำให้มันโปร่งใส ไม่ได้จะโทษว่าเป็นความผิดใคร แต่อย่าซ่อนข้อเท็จจริงจากประชาชน”
คิดอีกมุม ก่อนเรียกร้องให้ ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาท
ปรากฏการณ์บาทแข็งทำให้เราได้ยินเสียงเรียกร้องจากบางกลุ่มให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากขึ้น เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป
วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงินระหว่างประเทศ ร่วมแจมวิวาทะเรื่องบาทแข็ง ด้วยข้อควรคิดเรื่องต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ ก่อนเรียกร้องให้ ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาท
………….
“การแทรกแซงค่าเงิน แม้ก่อประโยชน์ให้กับบางภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็สร้างต้นทุนที่สูงไม่น้อยให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ต้นทุนประการแรก คือ ความสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากเงินบาทต้องถูกพิมพ์ออกมามากขึ้นตามจำนวนดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ ธปท. เข้าไปซื้อเก็บไว้เป็นทุนสำรองฯ ทำให้ปริมาณเงินในระบบมากขึ้นจนล้นเกินได้
ปริมาณเงินหมุนเวียนที่ล้นเกินนั้น ย่อมดันราคาสินค้าให้ปรับสูงขึ้นจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป
หาก ธปท. ไม่ต้องการให้การแทรกแซงสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนานี้ ก็ต้องหาวิธีดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ
อย่างไรก็ดี การดำเนินการขจัดสภาพคล่องส่วนเกินนี้ อาจส่งผลให้เกิดต้นทุนประการที่สองได้ นั่นคือ ต้นทุนของการตัดตอนผลข้างเคียง หรือ Sterilization
โดยปกติธนาคารกลางจะขายตราสารหนี้ภาครัฐ (หรือพันธบัตรรัฐบาล) แก่สถาบันการเงิน เพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบการเงิน แต่เนื่องจาก ธปท. ไม่ได้มีตราสารหนี้ภาครัฐมากพอที่จะดำเนินการดูดซับเงินบาทส่วนเกินออกจากระบบ ธปท.จึงต้องออกพันธบัตรของตัวเองมาเพื่อการนี้
พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหนี้ที่สร้างภาระดอกเบี้ยจ่ายให้กับ ธปท. และตรงจุดนี้เองที่สร้างต้นทุนให้กับการทำ Sterilization กล่าวคือ ยิ่ง ธปท.เข้าไปแทรกแซงในตลาดปริวรรตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องออกพันธบัตรมาเพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบมากขึ้นเท่านั้น และต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายค่าเงินพร้อมๆ กับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้ ธปท. ต้องออกพันธบัตรของตนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่าย ที่ส่งผลให้ตัวเลขหนี้สินที่เกิดจากการออกพันธบัตรมีสัดส่วนในงบดุลของ ธปท. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ธปท. มีรายจ่ายดอกเบี้ยจากการออกตราสารหนี้เพื่อบริหารสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจสูงกว่ารายรับดอกเบี้ยที่ได้จากการบริหารทุนสำรองฯ ส่งผลให้ ธปท. มีผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลขาดทุนนี้ได้กัดกินส่วนของทุนของ ธปท. จนติดลบติดต่อกันมาหลายปี
ต้นทุนประการที่สาม คือ ความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศ “ปั่นค่าเงิน” (Currency manipulator) อันมีที่มาจากการสั่งสมทุนสำรองระหว่างประเทศมากผิดปกติ โดยสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเกณฑ์ของประเทศผู้ปั่นค่าเงินไว้ดังนี้
(1) เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ และมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
(2) มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างน้อย 2% ของมูลค่ารายได้ประชาชาติ
(3) มีการแทรกแซงค่าเงิน จนส่งผลให้ทุนสำรองฯ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของมูลค่ารายได้ประชาชาติ
แม้รายงานล่าสุดของกระทรวงการคลังจะไม่มีรายชื่อประเทศไทยในบัญชีผู้ปั่นค่าเงินก็ตาม แต่ประเทศไทยได้บรรลุสองในสามเงื่อนไขที่ระบุข้างต้นดังกล่าวไปแล้ว กล่าวคือ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 5.3% ของจีดีพีในปีที่แล้ว และมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทที่สูงและต่อเนื่อง
หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า แม้ว่า ธปท. จะออกแรงต้านการแข็งค่าของเงินบาทมากเพียงใดก็ตาม ส่วนของการ Manage ค่าเงินนั้น ในที่สุดก็ไม่อาจต้านทานแรงสวนจากส่วนของ Float ที่มาจากกลไกตลาดเสรี และเงินทุนจากภายนอกได้
เควิน เฮวิสัน : ประชาธิปไตยไทยบนเครื่องวิ่งอัตโนมัติ – วิ่งบ้าง เดินบ้าง แต่ยังอยู่ที่เดิม
โดย สมคิด พุทธศรี และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล
:: Thailand 2020: Perspectives from the World :: Kevin Hewison
ร่วมมองอนาคตไทยในปี 2020 ผ่านมุมมอง 5 นักคิดและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ประเดิมด้วยมุมมองของศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน บรรณาธิการวารสาร Journal of Contemporary Asia และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้ติดตามพัฒนาการสังคมการเมืองไทยมากว่า 40 ปี
“….การมีรัฐสภาทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปแบบไป กล่าวคือ ความขัดแย้งในสังคมย้ายมาเกิดขึ้นในสภาแทน ซึ่งทำให้สภามีความหมายสำคัญมากกว่าที่มันเคยเป็น และต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่และพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่รัฐบาลคิด ข้อน่ากังวลคือ มีการพยายามใช้กลไกและสถาบันทางการเมืองกำจัดพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่ ความขัดแย้งก็จะย้ายออกมานอกสภาอีก ซึ่งจะอันตรายมากเพราะเป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้”
“ตอนที่คุณทักษิณออกนโยบายนี้คือตอนปี พ.ศ. 2543 – 2544 ประเทศยังคงบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายเหล่านั้นจึงแก้ปัญหาของยุคนั้นได้ แต่การที่รัฐบาลทหารจะมาใช้นโยบายแบบเดียวกัน คำถามคือเราอยู่ในยุคไหนแล้ว มันผ่านมา 20 ปีแล้ว พูดตามตรง ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะบังคับใช้นโยบายแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกอยู่ดี เพราะมันสื่อให้เห็นถึงการออกนโยบายที่ขาดความแหลมคมและขาดความเข้าใจในความเป็นสังคมร่วมสมัยและโลกที่ก้าวหน้า รวมไปถึงความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเจอในโลกอันก้าวหน้านี้ด้วย”
“สิ่งที่ผมค้นพบคือ ชนชั้นนายทุนไทยแทบไม่เปลี่ยนเลย ทุนไทยกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเดิมๆ มาตลอด 40 ปี ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะพัฒนาและทุนนิยมไทยก็วิวัฒน์จากทุนนิยมอุตสาหกรรม ไปสู่ทุนนิยมธนาคาร ไปสู่ทุนโทรคมนาคม พูดอีกแบบคือ ชนชั้นนายทุนไทยกลุ่มเดิมๆ สามารถขยายฐานธุรกิจของตัวเองออกไปได้เรื่อยๆ แม้โครงสร้างของระบบทุนนิยมไทยจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม”
“ตอนนี้ระบบอำนาจนิยมกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกใน และมันสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองทั่วโลกมีปัญหา คุณพอมองเห็นตัวอย่างของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยจากทั่วโลก น่าจะมีบางเรื่องเอามาใช้เป็นบทเรียนได้”
หาคำตอบในหลุมดำการเลือกตั้ง 62 กับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
โดย วจนา วรรลยางกูร
การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ยังคงทิ้งคำถามไว้มากมายถึงความโปร่งใสในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องบัตรเขย่ง คะแนนที่ขึ้นลงอย่างน่าสงสัย ผลโหวตที่มากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิในบางเขต การรายงานผลเลือกตั้งล่าช้า การหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงปัญหาต่างๆ ของกกต.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จึงนำทีมร่วมกับ โครงการ ELECT หาคำตอบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งและช่วงการประกาศคะแนน จนออกมาเป็นรายงาน ‘คะแนนที่ถูกจัดการ’ นำไปสู่ข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการเลือกตั้ง
“ข้อมูลในรายงานนี้อยู่ในมือสื่อมวลชนทุกสำนักมาตั้ง 7-8 เดือน แต่ก็ไม่มีใครหยิบเอามาพูด…หน้าที่ของผมก็แค่เป็นคนแรกที่ไปหยิบไปคุ้ยข้อมูลชุดนี้ออกมา แล้วโยนมันออกไป”
“เรารู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งนี้ไม่ปกติ เพราะ คสช. คุมเกมไว้แต่แรก แต่ไม่รู้ว่ามันจะไม่ปกติยังไง คิดแค่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกทางกฎหมาย แต่ปรากฏว่ามีสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์มาก่อนเกิดขึ้นเยอะเกินไป ดูผลการเลือกตั้งก็รู้แล้วว่าไม่ปกติ คะแนนไม่ถูกรายงานตามปกติ สุดท้ายพลังประชารัฐก็ได้ถล่มทลายเยอะกว่าที่ทุกคนคาดการณ์”
“คะแนนที่เราดูกันตอน 2-3 ทุ่มมันเหมือนโดนหลอก ถ้ามองโลกในแง่ร้ายคือมันมีการจัดการ รายงานชิ้นนี้ชื่อว่า ‘คะแนนที่ถูกจัดการ’ เพราะมันถูกจัดการจริงๆ คุณไม่รายงานคะแนนมาเรื่อยๆ แต่รอไว้จนถึงช่วงเวลาหนึ่ง”
เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ : ประชาธิปไตยไทยในสายตาโหราศาสตร์
โดย ธิติ มีแต้ม และ สมคิด พุทธศรี
:: Thailand 2020: Perspectives from the World :: Edoardo Siani
.
ร่วมมองอนาคตไทยในปี 2020 ผ่านมุมมอง 5 นักคิดและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง
.
สำหรับคนสุดท้ายของซีรีส์ชุดนี้ 101 ชวนสำรวจอำนาจพิศวงของโลกโหราศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการเมืองไทยอย่างแนบแน่น ผ่านทัศนะ ‘เอโดอาร์โด้ ซีอานี่’ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ศึกษาสังคมไทยผ่านวัฒนธรรมการดูดวงและการทรงเจ้า
.
“โหราศาสตร์ในประเทศไทยเหมือนเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเสริมดวงเสริมบารมีให้เป็นผู้นำ เพราะหมอดูจะไม่ทำนายอย่างเดียว แต่หลังจากทำนายแล้ว หมอดูก็จะแนะนำลูกค้าถึงวิธีที่จะได้อำนาจว่าลูกค้าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อไหร่ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในบ้าน ในออฟฟิศ หรืออำนาจในทางการเมือง”
.
“ประวัติศาสตร์ของโหราศาสตร์มาคู่กับอำนาจตลอดเวลา มันเป็นศาสตร์เพื่อที่จะสร้างและรักษาอำนาจมาตลอด จุดเริ่มต้นของวิชาที่วันนี้เราเรียกว่าโหราศาสตร์ไทยมันเริ่มมาจากในวัง“
.
“พอคณะราษฎรทำการเปลี่ยนระบอบการปกครอง คณะราษฎรมองว่ากรมโหรไม่เหมาะกับประเทศสมัยใหม่ก็เลยสั่งปิด ตอนนั้นมีโหรหลวงออกจากวังแล้วก็ไปเปิดตำหนักโหรของตัวเอง ช่วงนั้นโหราศาสตร์ที่มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ได้แพร่ไปถึงสาธารณะอย่างชัดเจน”
.
“ปี 2548 ผมพบว่าตัวเลขของศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรระบุว่าคนไทยลงทุนใช้เงินกับการดูดวง 4,000 ล้านบาท โอ้โห นี่มันเงินเยอะมาก เอาแค่ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูดวงก็แปลกแล้ว พอดูเม็ดเงินยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่าประเด็นนี้มันมีความสำคัญกับสังคมไทยแน่นอน”
.
“เวลานี้หมอดู-ร่างทรงปรากฏขึ้นมาหลายที่ในโลก รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น ไม่ได้มีเฉพาะแค่ไทย หรือประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น ผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก เคยมีทฤษฎีของ Max Weber บอกว่าเมื่อความเป็นสมัยใหม่เข้ามาแล้ว โลกจะเปลี่ยนไป แต่ในความเป็นจริง นักมานุษยวิทยาหลายคนกลับพบว่าไม่ใช่เลย ยิ่งเศรษฐกิจการเมืองมีความไม่แน่นอน โลกจะพึ่งพิงศาสนา ความเชื่อ และสิ่งลี้ลับต่างๆ มากขึ้น”
หลักประกันสุขภาพที่รัก (49) : สู่สังคมสมองเสื่อม Still Alice
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
การร้องไห้ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์สำคัญอย่างไร?
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงการร้องไห้ของ ‘อลิซ’ ตัวละครในภาพยนตร์ ‘Still Alice’ อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์วัย 50 ที่พบว่าตัวเองเริ่มนึกคำศัพท์ไม่ออกและบางครั้งก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน
“อลิซร้องไห้ครั้งแรกเมื่อเธอปลุกสามีขึ้นมาตอนตีสองเพื่อแจ้งข่าวร้าย เธอไปพบแพทย์โดยไม่บอกสามี เมื่อแพทย์ยืนยันการวินิจฉัยแล้วเธอก็นอนไม่หลับ จอห์นฟัง ได้ยิน แต่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ’empathy’ คือร่วมรู้สึก เขาได้แต่พูดว่าไม่มีอะไรหรอก เป็นไปได้อย่างไร ไม่น่าเป็นไปได้ อะไรๆ จะผ่านไปด้วยดี สุดท้ายอลิซระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรงว่าทำไมไม่ฟังกันเลย แล้วร้องไห้อย่างสิ้นหวัง
“เวลาคนรักพูด ควรตั้งใจฟัง”
“อลิซร้องไห้อีกครั้งเมื่อเธอหาห้องน้ำในบ้านไม่พบ เธอเดินไปเดินมาเดินขึ้นเดินลงจนกระทั่งยืนฉี่ราดตรงนั้น ใบหน้าที่สมเพชตนเอง ความอับอายที่สูญเสียความเป็นมนุษย์ ใบหน้าของสามีที่เดินมาพบ ทั้งหมดนี้เกินคำบรรยาย ไม่มีอะไรที่ทำให้มนุษย์อับอายได้เท่าการปล่อยของเสียออกจากตัวต่อหน้าสาธารณะ
“เป็นประเด็นที่วิชาชีพควรระวังป้องกันมิให้เกิดในหอผู้ป่วยใดๆ เลย”
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : รัฐที่กลัวประชาชน คือรัฐที่พร้อมใช้อาวุธ
:: Thailand 2020: Perspectives from the World :: Tyrell Haberkorn
ร่วมมองอนาคตไทยในปี 2020 ผ่านมุมมอง 5 นักคิดและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง
สำรวจความเปลี่ยนแปลงของอำนาจที่รัฐใช้ต่อประชาชน การลอยนวลพ้นผิดของรัฐ และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในยุคใหม่ กับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชียที่ University of Wisconsin-Madison
“อีกสิ่งหนึ่งที่เขาทำเก่งมากคือการใช้กฎหมายแทนที่จะใช้ความรุนแรงนอกระบบ มีคนตั้งคำถามว่า มีกี่คนที่ถูกฆ่า ถูกบังคับอุ้มหาย เราก็ตอบว่า ไม่เยอะ แต่ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ในเมืองไทยกับอินโดนีเซียหรือเขมรในรอบ 50 ปี คำถามสำคัญคือ ทำไมรัฐเผด็จการไทยถึงได้กลับมาหลายครั้ง ทำไมนักเคลื่อนไหวหรือชาวบ้านยังรู้สึกกลัว”
“คสช. มีวิธีการวางตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น หยุดใช้กฎอัยการศึกช่วงที่เริ่มโดนวิจารณ์ ทั้งที่คำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. จะทำให้เขามีอำนาจเหมือนกันหมดทุกอย่าง หรือการหยุดดำเนินคดีใหม่ๆ ในศาลทหาร ใกล้ๆ กับช่วงที่ประเทศไทยจะถูกตรวจสอบผ่านกระบวนการ Universal Periodic Review ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”
“ถ้าประชาชนคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เขาต้องมีส่วนร่วม คิดว่าตัวเองจะช่วยสร้างสังคมที่เป็นธรรม ก็ต้องเริ่มจินตนาการว่าต้องการสังคมแบบไหน ต้องคิดว่าการดำเนินคดีกับทหารเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คิดว่าเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารได้ ตัดงบทหารได้ ต้องฝันว่าเป็นไปได้ก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะทำได้ยังไง แน่นอนว่างานใหญ่ชิ้นหนึ่งอยู่ในรัฐสภา”
“นักเขียนหรือนักวิชาการเองก็ถูกรังแกโดย คสช. แต่ คสช. ไม่กล้าดำเนินคดีต่อคนกลุ่มนั้น คือทำบ้าง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับที่ คสช. ไปดำเนินคดีกับชาวบ้าน ถือว่าน้อยกว่ามาก และถ้านักวิชาการ ทนาย หรือนักเขียน ถูกจับก็มีองค์กรระดับโลกคอยช่วยเผยแพร่ข้อมูล แต่ชาวบ้านไม่มี”
“รัฐกลัว แต่รัฐมีปืน มีคุก และเขาไม่กลัวที่จะใช้มัน โดยเฉพาะกับคนที่สร้างความเสี่ยงต่ออำนาจของเขา แน่นอนว่าประชาชนรู้สึกกลัว เพราะแค่ย้อนกลับไปนึกถึงปี 2553 ก็จะรู้ว่า รัฐพร้อมที่จะละเมิดกติกาที่ตั้งเองและฆ่าคนโดยตรง”
เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่
โดย สมคิด พุทธศรี
:: Thailand 2020: Perspectives from the World :: Claudio Sopranzetti
ร่วมมองอนาคตไทยในปี 2020 ผ่านมุมมอง 5 นักคิดและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง
สำรวจการเมืองไทย 2020 ผ่านสายตาของเคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ นักมานุษยวิทยาผู้ใช้สังคมไทยเป็น ‘สนามความรู้’
“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนักที่จะพูดว่า ชนชั้นกลางไทยที่กลายเป็นพลังเบื้องหลังอำนาจนิยมนั้น ‘แย่’ หรือ ‘งี่เง่า’ (ignorance) แต่เราต้องทำความเข้าใจเขามากกว่า…”
“การที่มีผู้นำทหารในปี 2562 ในประเทศไทย แถมยังเป็นคนแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเขาฉลาด แม้กระทั่งคนที่โหวตให้เขาก็ไม่คิดว่าเขาฉลาด แต่กลับสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้อย่างมหาศาล มันสะท้อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลึกมากๆ”
“ผมคิดว่า เราไม่สามารถพูดถึงเสื้อแดงได้อีกแล้ว เสื้อแดงไม่มีอยู่อีกแล้ว ตอนนี้พวกเขาแตกกระจายกันไปหมด แต่ละคนมีความรู้สึกที่ชัดเจนมากว่า พวกเขาทำอะไรไม่ได้และไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำอะไรเลย แนวโน้มนี้กระจ่างชัดขึ้นมากกับแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งก็นำมาสู่การสนับสนุนที่ลดลงในหลายๆ พื้นที่ของพรรคเพื่อไทย”
“ความท้าทายของอนาคตใหม่คือ พวกเขาจะสามารถรวบรวมผู้คนที่มีความคิดแตกต่างเข้าไว้ด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน ประสบการณ์จากหลายที่ทั่วโลกชี้ว่า พรรคเกิดใหม่ที่มีอุดมการณ์แน่ชัดมักจะทำได้ดีมากๆ ในช่วงการเลือกตั้ง และจะค่อนข้างเข้มแข็งเมื่อพวกเขาเป็นฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล เพราะการประนีประนอมในฝ่ายค้านจะน้อยกว่า … เมื่อไหร่ที่พวกเขาต้องมาเป็นรัฐบาลมันจะยากมากๆ”
“พูดให้ถึงที่สุด ‘ผู้นำที่ดี’ ของคนไทยถอดแบบมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เป็นผู้นำทางศีลธรรมสูงสุดในความคิดของชนชั้นกลางไทย ทรงเป็นทั้งผู้มีบารมีในฐานะพระมหากษัตริย์ เป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรมสูงสุด เป็นพลังในการสร้างความชอบธรรม และเป็นบ่อเกิดของศีลธรรม คำถามที่ใหญ่มากในห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ หลังรัชสมัยของพระองค์ สิ่งเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน และประชาธิปไตยจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวมันเองได้อย่างไรในยุคสมัยนี้”
Spotlight ประจำเดือนมกราคม 2563
การศึกษาไทย : เปลี่ยน ความเหลื่อมล้ำ เป็น ความเสมอภาค
หากจะมีสักคำหนึ่งที่จะอธิบายสังคมไทยได้อย่างชะงัด คำนั้นคือคำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ สังคมไทยเหลื่อมล้ำในแทบทุกมิติ ตั้งแต่นิยามพื้นฐานอย่างรายได้และทรัพย์สิน ไปจนถึงเรื่องซับซ้อนอย่างการเมืองและวัฒนธรรม
ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำหลากมิติ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ เป็นหนึ่งในปัญหาที่แหลมคมที่สุด เพราะในด้านหนึ่ง การศึกษาเป็นเหมือนประตูสู่โอกาสในการมีชีวิตที่ดีกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษามักหมายถึงความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ ที่แย่กว่าเดิม
101 ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำเสนอซีรีส์ความรู้ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
สำรวจสถานการณ์ ข้อถกเถียง ความรู้ใหม่ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาหลากหลายมุมมอง
ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนมกราคม 2563
ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’
โดย วจนา วรรลยางกูร
“จากการรัฐประหาร 2557 ทำให้พ่อของดิฉันกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และต้องออกจากบ้าน ทิ้งครอบครัวไปอยู่ประเทศอื่น ไปสู่แผ่นดินที่ไม่ปลอดภัย เผชิญสถานการณ์ที่อาจจะตายได้ทุกวัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ดิฉันเข้าใจผู้ลี้ภัยและครอบครัวของพวกเขาเป็นอย่างดี”
“ไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัยไทยที่ต้องไปต่างประเทศ แต่ยังรวมถึงผู้ลี้ภัยชาติต่างๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทย และผู้ลี้ภัยทั่วโลก ที่พวกเขาต้องหนีออกจากบ้านไปสู่แผ่นดินใหม่ที่มองว่าพวกเขาไม่มีตัวตน ทั้งรังเกียจ ต่อต้าน แต่ก็ยังดีกว่าการอยู่ในบ้านของตัวเองแล้วถูกเหยียบย่ำด้วยความไม่เป็นธรรม หรือกระทั่งถูกฆ่าตายได้ทุกเมื่อ
“ปัญหาผู้ลี้ภัยในไทยและทั่วโลกยังคงจะไม่จบลงได้ง่ายๆ ในวันพรุ่งนี้เราไม่มีทางรู้เลยว่าบ้านที่พวกเราอาศัยอยู่จะยังปลอดภัยสำหรับพวกเราอยู่รึเปล่า”
วจนา วรรลยางกูร กล่าวในงานประกาศรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2562 จัดโดย Amnesty International Thailand เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากผลงาน “ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’ ” ของเธอได้รับรางวัลดีเด่น ในหมวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์
การเมืองเรื่องฝุ่น กับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
โดย พิมพ์ใจ พิมพิลา และ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
“ดิฉันคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งปัญหามลพิษทางอากาศ จะอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขง่ายๆ ยิ่งรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สมดุลอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในวันข้างหน้า”
.
101 สนทนากับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในรายการ 101 One-on-One ว่าด้วยปัญหาฝุ่นในมิติทางสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงาน และบทบาทในการแก้ปัญหาของภาคส่วนต่างๆ
.
“รัฐบาลให้กระทรวงทรัพยากรฯ ประกาศยกเว้นการทำ EIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าขยะขนาด 10 เมกะวัตต์ ทั้งที่โรงไฟฟ้าขยะจำเป็นต้องทำ EIA เพราะเป็นกิจการที่ก่อมลพิษสูง และต่อมาในปี 2559 ยังมีคำสั่งจาก คสช. ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับโครงการที่จะสร้างโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิล ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ห้ามสร้างโรงงาน”
.
“เหตุผลของการเข้ายื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ. โรงงานฯ เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อส่งเสริมการลงทุน เพื่อทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสร้างได้ง่ายและเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาตตั้งโรงงาน การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ นอกจากนี้ก็มีการเปลี่ยนนิยามของโรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเภทโรงงาน”
.
“เราอยากเห็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ อย่างเท่ากัน ถ้าการส่งเสริมการลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมก็สำคัญไม่แพ้กัน”
บริหารแย่ หรือต้องแก้ที่ตัวเอง? : ปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่หลังม่านฝุ่น PM 2.5
โดย พิมพ์ใจ พิมพิลา และ ภาวิณี คงฤทธิ์
‘ฝุ่น’ ในมิติทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ – “ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ”
“…บริษัทใหญ่โตเขามีเงินหลายสิบล้านเป็นโครงการใหญ่ แต่ปล่อยให้มีฝุ่นควันฟุ้งไปตามถนน ตึกรามบ้านช่องต้องปิดทั้งแถบ กระทบคนยากจนหาเช้ากินค่ำไม่สามารถเดินขายของได้ คนไม่มีเงินอยู่แล้วพอเจ็บป่วยเสียค่ายาทำมาหากินไม่ได้ก็ยิ่งลำบากยิ่งจนเข้าไปอีก…” — สมบุญ สีคำดอกแค
“ฝุ่นจากโรงงานมีมานานแล้วและคนกรุงเทพฯ ไม่เคยพูดถึง โรงงานปูนที่สระบุรีมีคนตายเพราะฝุ่นในปอด แต่กลับไปตายที่บ้านเกิด ตัวเลขคนตายจึงไม่เกิดขึ้นที่สระบุรี เรามีความสุขกับการเพิ่มขึ้นของตึกในเมือง โดยไม่รู้สึกว่าควรพอแล้ว นี่คือความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ คนแถวโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะเป็นโรคปอดขณะที่เรามีความสุขกับการใช้ไฟฟ้า เราไม่เคยตั้งคำถามกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีโรงไฟฟ้าของตนเอง ไม่มีปูนเป็นของตนเอง ไม่มีบ่อขยะของตนเอง เพราะเอาไปทิ้งที่อื่น” — รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ
“แทนที่สื่อจะให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้แก่ประชาชน กลับเล่นข่าวในเชิงดราม่าเป็นส่วนใหญ่ เราเห็นภาพเมืองที่มีฝุ่นหนาปกคลุมจนทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตัวและพัฒนาเป็นเรื่องดราม่า แต่กลับไม่มีใครออกมาชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น การจัดการข้อมูลข่าวสารในการสื่อสารของรัฐบาลนี้เรียกได้ว่าล้มเหลวเป็นศูนย์…” — ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม
“ในเชิงโครงสร้างทางสถาบัน การบริหารจัดการในบ้านเราอาจจะมีปัญหา เช่นกรุงเทพมหานครบริหารจัดการ 50 เขตพื้นที่เหมือนกันหมด รัฐบาลก็บริหารจัดการแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง การบังคับใช้กฎหมาย ทุกพื้นที่ใช้เหมือนกันหมดซึ่งไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีจุดวิกฤตต่างกัน ถ้ายังมองแต่ส่วนกลาง ไม่เห็นปัญหาว่าเป็นปัญหา แบบนี้จะบริหารจัดการไม่ได้ ปัญหาไม่ได้มีแค่เรื่องฝุ่นแต่เกี่ยวข้องไปถึงระบบโครงสร้างสถาบันด้วย” — ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช
รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมกราคม 2563
101 Round Table “จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2020”
โดย 101 One-On-One
‘จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2020’
กับ ประจักษ์ / พิพัฒน์ / อาร์ม ใน 101 Round Table
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านทำให้เศรษฐกิจการเมืองโลกร้อนแรงตั้งแต่เปิดปี 2020 ไม่นับสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดำเนินมาต่อเนื่อง
ปมการเมืองหลายปมจากปี 2019 ส่งผลให้การเมืองไทย 2020 ไม่ง่าย
เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฝ่าฟันความวุ่นวายผันผวนนี้ได้อย่างไร
เช็คสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจการเมืองไทยและโลก | ตอบโจทย์ อะไรคือความท้าทายที่ต้องพร้อมรับมือในปี 2020
โดย
– ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
– อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 และ จีน-เมริกา
ชวนสนทนาโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
101 Policy Forum #1 : ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับตัวแทน 4 พรรคการเมือง
โดย 101world
The101.world เปิดแพลตฟอร์มใหม่ – เวทีนโยบายสาธารณะ ชวนพรรคการเมืองหลากพรรค ร่วมคุย-ร่วมคิด-ร่วมถกเถียงเกี่ยวกับสารพัดนโยบายที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม
เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา
เปิดเวทีสาธารณะ ชวนประชาชนรับฟัง-ตั้งคำถาม-แสดงความเห็น-วิพากษ์วิจารณ์ กันสดๆ ทุกเดือน ทางสื่อของ The101.world ทุกช่องทาง
ประเดิม Policy Forum ครั้งแรกด้วยการชวนคุยชวนคิดเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
พบกับ
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม พรรคประชาธิปัตย์
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคเพื่อไทย
ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง พรรคพลังประชารัฐ
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ พรรคอนาคตใหม่
ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
วันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 14.00-16.00 น. ทาง The101.world
แต่ละพรรคตีโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเป็นธรรมทางการศึกษาอย่างไร อะไรคือหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้
แต่ละพรรคมีคำตอบเรื่องนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเหล่านี้อย่างไร : การจัดสรรเงินอุดหนุนให้นักเรียนยากจน | การจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก | การแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา | การกระจายอำนาจในฐานะเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ | การพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อเด็กยากจนและด้อยโอกาส | ฯลฯ
ทำอย่างไรถึงจะทำให้นโยบายปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้จริงทางการเมือง

101 One-On-One Ep.102 “เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องฝุ่น PM 2.5”
โดย 101 One-On-One
คนไทยจมฝุ่นมาร่วมเดือน และมีทีท่าว่าจะเป็นอย่างนี้ทุกปี หากไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
สาเหตุที่แท้จริงของฝุ่นคืออะไร ต้นทุนของสังคมไทยที่เกิดจากฝุ่นมีมากแค่ไหน ทำไมรัฐไทยแก้ปัญหาฝุ่นไม่ได้ และทางออกของเรื่องนี้คืออะไร
ร่วมหาคำตอบบนฐานความรู้และงานวิจัย กับ วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล
SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “ลุงอยากอยู่ยาว”
โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ
“อยากรู้วิ่งทำไม คุณลองกลับไปดูว่าคุณใช้ชีวิตปกติหรือเปล่า อย่าหลอกตัวเองแล้วกันว่าคุณปกติดี” เสียงจากหนึ่งในผู้เข้าร่วม “วิ่งไล่ลุง”
เป็นครั้งแรกหลังเลือกตั้ง 62 ที่ประชาชนในหลายจังหวัด ออกมาทำกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เพราะไม่พอใจรัฐบาล
14 ล้านล้านบาทคืองบที่รัฐบาล คสช. ใช้ใน 5 ปีที่ผ่านมา 3.2 ล้านล้านบาทคืองบปี 2563 ที่รัฐบาลลุงตู่ได้ใช้ แต่เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม การเมือง-รัฐธรรมนูญ ยังคงวิกฤตเรื้อรัง
ไม่มีใครรู้ว่าลุงจะอยู่อีกนานแค่ไหน
ติดตามในสารคดีข่าวสั้น SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ลุงอยากอยู่ยาว”
Jazz For All ในทรรศนะของ ‘นพดล ถิรธราดล’
โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ
“ดนตรี Jazz มันค้นหาเสรีภาพเพื่อจะปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระ ถึงร่างกายเราจะไม่อิสระ แต่มันจะปลดปล่อยให้จิตวิญญาณเราอิสระ”
101 ชวนฟัง นพดล ถิรธราดล รองคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ Project Manager : Thailand International Jazz Conference (TIJC) พูดถึงเสน่ห์ของดนตรี Jazz และเหตุผลว่าทำไมควรไปชมดนตรีสดที่เทศกาล Jazz นานาชาติ วันที่ 31 ม.ค. – 2 ก.พ. นี้ที่ ม.มหิดล ศาลายา
“สมมุติว่าวันหนึ่ง AI มันคิดได้ เครื่องซักผ้านั่งดูเตารีดเล่นดนตรี มันซาบซึ้งกับสิ่งที่เตารีดทำมากๆ เตารีดก็ซาบซึ้งกับเครื่องซักผ้าว่า มึงมานั่งดูกูเล่นดนตรี วันนั้นมนุษย์จะสูญพันธ์ุแน่นอน เพราะว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของพิธีกรรม ไม่ได้เป็นเจ้าของความรู้สึกเหล่านั้นอีกต่อไป”