fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2562

 

 

 

โลกของ ‘เมียฝรั่ง’ เรื่องเล่าที่ไม่มีผู้ชายอีสาน ในสังคมที่ไม่มีอนาคต

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ที่เดนมาร์กผู้หญิงไม่ต้องง้อผัวเหมือนไทย สามีภรรยาต้องทำงานทั้งคู่ อยู่บ้านก็ทำกับข้าว เลี้ยงลูก ซักผ้า ไม่ต่างกัน ถ้าสังคมเรามีสวัสดิการช่วยเหลือบ้าง ผู้หญิงคงไม่ต้องง้อผู้ชายขนาดนั้น พอมีสวัสดิการผู้หญิงก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าเราจะอยู่กับใครก็ได้”

วจนา วรรลยางกูร ชวนชมภาพยนตร์ ‘Heartbound’ สารคดีเรื่องราวหลากชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวพันกับการแต่งงานข้ามชาติในสองชุมชน หนึ่งคือหมู่บ้านทางภาคเหนือของเดนมาร์ก และอีกหนึ่งคือหมู่บ้านในภาคอีสานของไทย โดยมีศูนย์กลางของเรื่องคือ ‘สมหมาย’ หญิงไทยที่ช่วยจับคู่สาวอีสานให้ได้แต่งงานกับชายเดนมาร์ก

สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเมียฝรั่ง แต่เป็นสารคดีที่พูดถึงชีวิตมนุษย์อย่างมีมิติ โดยเฉพาะชีวิตผู้หญิงอีสานที่ถูกคาดหวังถึงความรับผิดชอบมากมาย ขณะที่สังคมปิดกั้นการเข้าถึงโอกาสต่างๆ แล้วยังกดพวกเธอไว้ภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่

แม้ว่าเราไม่อาจเหมารวมได้ว่าผู้ชายอีสานทุกคนจะมีปัญหาทำร้ายร่างกายหรือไม่รับผิดชอบครอบครัว แต่ชีวิตผู้หญิงอีสานที่ปรากฏในสารคดีล้วนเป็นผลลัพธ์จากครอบครัวที่ล้มเหลว

เรื่องเล่าจากสารคดีทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมผู้หญิงอีสานต้องดิ้นรนหาทางแต่งงานไปอยู่เมืองนอกเพื่อไปทำงานใช้แรงงานที่คนเดนมาร์กเองก็ไม่อยากทำ

สิ่งที่พวกเราค้นพบยิ่งน่าเศร้า เพราะการทำงานหนักในประเทศไทยให้ไม่ได้แม้กระทั่งคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ยิ่งสำหรับคนที่ต้องดูแลหลายชีวิตในครอบครัวแล้ว งานประเภทนี้ไม่สามารถทำให้ใช้ชีวิตได้จริง

นี่อาจเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงประเทศไทยได้เป็นจริงและสะท้อนประเด็นละเอียดอ่อนออกมาได้น่าติดตามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเล่าผ่านชีวิตคนธรรมดาที่สังคมจงใจมองไม่เห็นพวกเขา

 

 

THE BELIEVERS ‘นุชนารถ แท่นทอง’ : “ไม่มีเรื่องของใครของมัน โดยเฉพาะคนจน”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“คนจนถูกดูถูกจนไม่เหลืออะไร แต่คนจนไม่ได้คนโง่นะ แค่เราไม่มีสิทธิไปพูดกับสังคมวงกว้างเท่านั้น วาทกรรม ‘จนแล้วไม่เจียม’ นี่มันดูถูกทรัพยากรมนุษย์นะ มีใครไม่รู้บ้างว่าคนเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเราโง่เยอะแยะ”

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘นุชนารถ แท่นทอง’ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ว่าด้วยการถูกไล่รื้อและต่อสู้เรียกร้องให้ตัวเองและครอบครัวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 ก่อนขยับเพดานมาต่อสู้เรียกร้องในนาม เครือข่ายสลัม๔ภาค Four Regions Slum Network

“เคยเจอไหม บ้านขนาด 10 ตารางเมตร อยู่กัน 20 คน นอนพร้อมกันไม่ได้ต้องสลับกันนอน บางบ้านขนาดคฤหาสน์ เจ้าของบ้านไม่อยู่แต่เอาไว้เลี้ยงหมาเท่านั้น

คนจนมันเต็มไปด้วยความรู้สึกถูกกดทับ เราไม่มีบ้านของตัวเองก็จะถูกมองว่าเป็นพวกสลัมยึดที่เขา ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรม มีแต่ขี้ยา ถ้าไม่มีสลัมจะไม่มียาเสพติด เราถูกมองแบบนี้ตลอด แต่เราต้องการต่อสู้ให้สังคมยอมรับว่าคนสลัมไม่ใช่คนเลว แต่เขาเป็นคนจนที่ขาดโอกาสที่จะมีที่ดิน ที่เขาต้องเป็นคนสลัมเพราะเขาอยู่ใกล้ที่เขาใช้แรงงาน”

“เคยรู้ไหมว่าทำไมคนจนต้องไปขายยา เพราะมันได้เงินเร็ว แล้วทำไมไปทำงานอย่างอื่นไม่ได้ เขาไปขายของปกติก็โดนไล่จับ ไหนๆ จะโดนจับอยู่แล้ว ไปขายยาแล้วกัน นี่คือคำพูดที่คนสลัมพูด เขาคิดว่าเสี่ยงแต่ลูกมีข้าวกิน ไอ้เราก็สะเทือนใจ เราดีแต่ไปห้ามเขา แต่เราไม่มีปัญญาไปเลี้ยงเขา

เขาบอกเขาทำดีที่สุดแล้ว พยายามทำอาชีพสุจริต แต่อาชีพสุจริตไม่เลี้ยงเขา ไม่มีใครสนับสนุน จะขายของก็เจอที่ห้ามขาย ที่ขายได้ก็ค่าที่แพง จะเอาเงินที่ไหนไปลงทุน แต่ขายยาลูกค้าเดินมาหาเอง มันเจ็บปวด คนถึงลุกมาด่าคนสลัมว่าเลว แต่ถามว่าคนรวยเลวๆ ไม่มีเหรอ”

“ปัญหาที่ดินมันไม่เคยถูกแก้ ที่ดินไม่มีแล้วเราจะสร้างบ้านยังไง ที่ของรัฐมีเยอะแยะ แต่ไม่เปิดให้เราเข้าถึง มันจึงเกิดการรวมกลุ่มของประชาชนผลักดันนโยบายการถือครองที่ดิน

รัฐมีแต่กฎหมายที่ให้นายทุนได้ครอบครองที่ดินอย่างอิสระเสรี แล้วให้อำนาจพวกเขาเบียดขับพวกเราออกไปข้างนอก ถามว่าถ้าไม่มีพวกเราเป็นแรงงาน เมืองมันจะเจริญไหม เป็นไปไม่ได้ คนใส่สูทจะมากวาดถนนไหม เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำเมืองให้โตขึ้น แต่เรากลับถูกไล่ที่เพื่อให้คนได้มีปอดกรุงเทพฯ

คนสลัมเดี๋ยวนี้พูดเรื่องรัฐธรรมนูญ พูดเรื่องรัฐประหารได้เป็นปกติ เพราะนี่คือปัญหาที่เราประสบ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมกับทุกคนทุกกลุ่ม ถ้าหยุดแค่ที่บ้านตัวเอง คนอื่นจะรู้ไหมว่ามันเกิดอะไรกับสังคมที่เขากำลังเผชิญ”

 

 

4 คำทำนาย จีน-อเมริกายุค 2020 จะขยับโลกอย่างไร

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย ชวนมองเรื่องจีน-อเมริกาผ่าน ‘คำทำนาย’ สี่ประการสำหรับอนาคตของสองยักษ์ใหญ่ และเทรนด์สำคัญที่อาจจะขยับโลกในยุค 2020

1. โลกเริ่มลอกลายมังกร

“เมื่อก่อนคนในวงการเทคโนโลยีมักพูดว่า “America innovates. China immitates. Europe regulates.” หรือ อเมริกาคิดค้น จีนเลียนแบบ ยุโรปกำกับ แต่สมัยนี้บางคนจะเถียงว่าโลกเปลี่ยนไป กลายเป็นบางครั้ง “China innovates. America immitates.” คือจีนกลายเป็นต้นแบบนวัตกรรมใหม่ๆ อเมริกากลายเป็นคนเลียนแบบ ส่วนยุโรปยังเน้นกำกับดูแลออกกฎหมายเช่นเดิม”

2. อาเซียนจะเนื้อหอม

“ในโลกที่สองขั้วอำนาจจีน-อเมริกากำลังแข่งขันแย่งบัลลังก์การเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยี การเสาะหาตลาดใหม่ยิ่งเข้มข้นขึ้น ในมุมนี้อาเซียนเปรียบเสมือน ‘ดินแดนเขียวขจีที่ยังไม่ค่อยมีคนจับจอง’ ภูมิภาคนี้มีประชากรกว่า 650 ล้านคน เกินครึ่งอายุน้อยกว่า 30 ปี การบริโภคแม้จะชะลอลงบ้างก็ยังถือเป็นแห่งหนึ่งที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก”

3. กำเนิด “พหุภพ” ในโลกดิจิทัล

“หนังสือ “จีน-เมริกา” พูดไว้อย่างน่าสนใจว่าต่อไปอาจเกิด “ทวิภพ” ในโลกอินเทอร์เน็ต ที่แบ่งกันเป็นสองขั้วระหว่างเทคโนโลยีและระบบนิเวศน์ดิจิทัลของจีนและอเมริกา คล้ายกับที่ในปัจจุบันจีนมีโซเชียลมีเดียของตนเองแตกต่างจากที่อื่นในโลก
“แต่ผมขอเสริมว่า ด้วยความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค hyper-localization ที่ว่านี้อาจผลักดันให้เกิดผู้เล่นและระบบนิเวศน์ระดับภูมิภาค (Ecosystem) มากขึ้น”

4. ‘เวทีสงคราม’ กลับไปที่การเงิน

“แม้ว่าในด้านการค้าจีนจะได้เปรียบในฐานะเป็นจ้าวแห่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ด้านการเงิน อเมริกา หรือพูดให้ถูกคือ “ดอลลาร์” ยังเป็นผู้ครองบัลลังก์อย่างชัดเจน ถึงแม้หยวนของจีนจะได้เข้ามาอยู่ในตะกร้าเงิน SDR ของ IMF เสมือนได้รับการยอมรับจากวงการการเงินระหว่างประเทศแล้วระดับหนึ่ง แต่การใช้หยวนนอกจีนยังถือว่าน้อยมาก..”

 

 

THE BELIEVERS ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ : “ด้วยความอดทนอดกลั้นและประนีประนอม”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“สมัยผมเด็กๆ อยู่บ้านแม่ที่ปัตตานี เป็นบ้านริมแม่น้ำ นอกจากจะเห็นชีวิตการค้าขายแล้ว ในสัปดาห์นึงอย่างน้อยสองถึงสามวันจะเห็นศพลอยน้ำมาเรื่อยๆ แล้วก็มาชะลออยู่ตรงหน้าบ้าน เพราะว่าหน้าบ้านผมเป็นคุ้งน้ำก่อนจะไปถึงปากน้ำ ผมก็ตั้งคำถามว่าศพมาจากไหน”

“ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษา คนที่สามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีไม่กี่คน อย่างผมนี่เล็ดลอดมาได้ จะพูดยังไงดีล่ะ คือชีวิตคนไม่ค่อยมีราคา ไม่ใช่ว่าใส่ร้ายนะ แต่ว่าชีวิตไม่ค่อยมีราคาจริงๆ”

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา‘ หัวหน้าพรรคประชาชาติ 1 ใน 7 ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และอดีตประธานรัฐสภา ผู้ถูกฟ้องร้องกล่าวหาว่ายุยง ปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ถามไถ่ตั้งแต่ความรู้สึกที่กดทับอยู่บนบ่าไปจนถึงภาระที่เขาอาจวางลงในอนาคต แต่ทั้งหมดทั้งปวงเมื่อภารกิจเฉพาะหน้าคือการแสวงหาฉันทามติใหม่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมาสอนอะไรบ้าง ก้าวย่างต่อไปจะเป็นอย่างไร

“อย่าไปคิดว่าประชาชนโง่แล้วจะเห็นด้วยกับการกระทำทุกอย่างของผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นคนที่มีอำนาจควรใช้อำนาจให้น้อยที่สุด ซอฟท์ที่สุด แล้วก็ใช้นโยบายทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ มีรัฐธรรมนูญที่ดี ความมั่นคงจะเกิดขึ้นมาเอง”

“พวกคนที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยลำบาก พวกนั้นร่างรัฐธรรมนูญแบบที่ตัวเองไม่เคยสัมผัส ผมว่ามันผิด บทบาทของ ส.ส. ควรจะกว้างมากกว่านี้ ไม่งั้นทำอะไรไม่ได้ แล้วอาจทำให้เกิดคาดหวังที่ผิดของชาวบ้านว่า เฮ้ย ส.ส.ไม่สนใจ”

 

 

Ordinary Man’s Journey : ชีวิตล้ม-ลุก-คลุก-คลาน ของปรเมศวร์ มินศิริ

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ‘ปรเมศวร์ มินศิริ’ ผู้ก่อตั้ง Sanook และ Kapook ดอทคอม บทสนทนาไล่เรียงตั้งแต่ก้าวแรกที่เขารู้จักคอมพิวเตอร์ พัฒนามาสู่นักเขียน นักธุรกิจ และการเป็น ‘นักเรียน’ อีกครั้งในวัยที่บางคนอาจยอมแพ้ไปแล้ว

เขารับมือกับความผิดพลาดอย่างไร ต่อสู้กับคำวิจารณ์อย่างไร และสู้กับโจทย์ใหม่ในชีวิตอย่างไร

“ตอนที่ฟองสบู่ดอทคอมกำลังขึ้น สื่อมวลชนอื่นพวกสิ่งพิมพ์ ทีวีทั่วโลก จะเกลียดดอทคอมมาก ที่เขาเกลียดเพราะคิดว่าดอทคอมมาแย่งชิงพื้นที่เขา พอดอทคอมแตก เขาลงข่าวกันแบบรุมกระทืบเลยก็ว่าได้ อาจฟังดูแรงแต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ คนก็ไม่กล้าเข้ามาเล่น สงครามกำลังมีซากปรักหักพังเกลื่อน คุณควรจะหนีออกมาจากสภาพนี้ แล้วทำไมถึงจะมาทำใหม่

ผมก็บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน นอกจากผมอยากทำในสิ่งที่ผมชอบ และยังเล็งเห็นผ่านซากปรักหักพังในตอนนั้นว่า อินเทอร์เน็ตน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในอนาคต จึงตัดสินใจทำต่อ”

“ตอนที่เราเห็น Kapook มีมาสคอตเป็นรูปหมู บางคนเห็นเป็นที่เก็บเงิน แต่ผมเห็นเป็นคำว่าเรื่องหมูๆ สังคมไทยจะมีคำพูดว่าเรื่องหมูๆ แปลว่ามันง่าย ผมก็เลยวางไว้ว่า จริงๆ แล้วคนไทยอาจต้องการความสะดวก ความง่าย เราเลยจะทำเว็บที่ใช้งานง่าย ต้องเป็นเว็บที่ใครเข้ามาจะต้องไม่สับสนกับอะไรสักอย่างในนี้ คอนเทนต์อ่านง่ายด้วย

เราไม่ได้มีอะไรหวือหวา ไปของมันอย่างนี้ แล้วก็ได้รับความนิยมแบบนี้ บนพื้นฐานที่ว่าเราจะมีเว็บที่ใช้งานง่ายหนึ่งอัน”

“ผมกำลังจะจบปริญญาโท (Master Degree) ในสาขาชื่อ Digital Media Design ซึ่งชีวิตที่ผ่านมา ผมมีอาชีพนี้โดยที่พูดได้เต็มปากว่าจบไม่ตรงสาย ก็จะได้รับการยอมรับในแบบผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้การยอมรับในสายวิชาการและสายมืออาชีพ หลังจากที่ผมได้ผ่านการเรียนที่นี่ (ฮาร์วาร์ด) ผมรู้สึกว่าได้รับการยอมรับในสาย academic มากขึ้น เพราะเรามีผลงานทางวิชาการจริงๆ หลายคนก็ยอมรับในส่วนนี้มากขึ้นด้วย”

“ช่วงแรกๆ อาจารย์ก็จะมองผมด้วยความรู้สึกว่าผมจะไหวมั้ย แต่เขาไม่แสดงออก เพราะมีกฎของมหา’ลัยว่าห้ามแบ่งแยก หรือห้ามพูดเรื่องเรื่องเชื้อชาติ วัย และเพศสภาพในทำนองดูถูก แต่เขาจะรู้ด้วยความที่เรายังไม่คล่อง เป็นลุงคนหนึ่งเข้าไปในคลาส ภาษาเราก็ยังไม่ดีเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่เป็น Native Speakers เพราะผมไม่ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษเยอะในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ผมอยู่บริษัทเมืองไทย เขียนน้อย พูดน้อย มาฟิตเอาทีหลัง พอเข้าไปปุ๊บ เพื่อนเก่งหมด ถ้าสังเกต พอแบ่งกลุ่มแล้วเขาไม่เลือกเรา เราจะได้อยู่ในกลุ่มก็ต่อเมื่อคนอื่นเลท หรือไม่มีทางเลือกแล้ว

คนเราต้องผ่านความรู้สึกนี้ให้ได้ก่อนนะ คือความรู้สึกท้อแท้ในช่วงแรกที่ต้องทำอะไรที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งผมเกรงว่าหลายคนอาจจะยอมรับไม่ได้แล้วเลิก ผมอยากให้กำลังใจว่า เมื่อมันผ่านไปแล้วจนมาถึงจุดที่เราทำได้ ผมว่าคุ้ม จุดที่ผมรู้สึกว่าคนในคลาสเลิกมองผมเป็นตาลุงเอเชีย วันที่พอเราเข้าไปปุ๊บ เราไม่ได้ห่างจากกลุ่มแล้ว เราจะเริ่มเห็นบางคนด้วยซ้ำที่ตามเรา พอส่งงานไป เริ่มรู้สึกว่าเราอยู่ประมาณหัวแถวนี่ ใช้ได้แล้วเว้ย หรือพอจับกลุ่มแล้วเพื่อนเรียกเราก่อน ก็รู้สึกดี แต่ว่านั่นคือช่วงท้ายๆ”

 

 

“เมื่อไหร่คุณขายความหวังก็มีคนซื้อ” : อ่านซูเปอร์ฮีโร่ฉบับ ‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’

 

โดย ธีทัต จันทราพิชิต, ธิติ มีแต้ม

“ผมพยายามมองหาความเป็นมนุษย์ในความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ไม่ได้มองหาความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในความเป็นมนุษย์อย่างเดียว…”

101 สนทนากับ ‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้หลงใหลในจักรวาลของซูเปอร์ฮีโร่ ว่าทำไมคนทั่วไปถึงออกอาการใฝ่หาซูเปอร์ฮีโร่ทุกครั้งเมื่อชีวิตเริ่มไม่มีทางไป, พวกเขาช่วยพวกเราได้จริงหรือไม่ และซูเปอร์ฮีโร่แบบไหนที่สังคมไทยต้องการในเวลานี้

“ซูเปอร์ฮีโร่ที่จำเป็นกับเมืองไทย ต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่จัดการกับรัฐในฐานะปัญหา เพราะแม้รัฐจะทำหน้าที่ของมัน แต่รัฐก็มีปัญหาหลายอย่าง

ผมอยากเริ่มจากประเด็นที่มีอยู่ในสังคมไทย สมมติว่าเป็นประเด็นเรื่อง fake news ถ้าผมชวนคนซื้อไอเดียนี้ ผมจะสร้างซูเปอร์ฮีโร่สักคนหนึ่ง หน้าที่ของเขาคือการเปิดเผยว่าสิ่งไหนเป็นข่าวลวง สิ่งไหนเป็นข่าวจริง

แทนที่จะมีธานอส (Thanos) เราอาจมี ‘ธานี’ (ชื่อสมมติ) เพื่อมารักษาดุลยภาพแห่งความจริงกับความเท็จเสียใหม่ จะเป็นคนทำงานที่สภา หรือเป็นนักข่าวก็ได้

อำนาจของเขาอาจเป็นอำนาจจิต ที่ไปเปลี่ยนคนที่กำลังจะพูดเท็จ พอเจอรังสีบางอย่างก็พูดจริงหมดเลย แล้วซูเปอร์ฮีโร่คนนี้อาจเปลี่ยน identity ไปเรื่อยๆ บางทีอาจเป็นคนทำงานเป็นคนเปิดประตูที่สภาก็ได้

สมมติ พล.อ.ประยุทธ์ เดินมา ก็อาจจะจับตัวนิดหน่อย พอพล.อ.ประยุทธ์ขึ้นพูดในสภา เวลาจะโต้เรื่องงบประมาณ เรื่องเรือดำนํ้า ก็จะพูดจริงๆ ว่าทำไมต้องทำแบบนั้น หรือถ้าไปจับมือธนาธร ก็จะทำให้ธนาธรต้องพูดเรื่องจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่”

“คำถามที่น่าคิดคือ อะไรคือขอบเขตหน้าที่ของซูเปอร์ฮีโร่ และอะไรคือขอบเขตหน้าที่ของเราที่เป็นพลเมือง ในแง่หนึ่ง Batman กำลังบอกเราว่า มันมีหน้าที่แก้ปัญหาแค่นั้น คือปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะว่ามันเป็นปัญหาของพวกมึง

ถึงที่สุดเขาพยายามจะบอกเราว่า แทบไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ที่สมบูรณ์ที่สุดหรือไม่มีจุดอ่อนเลย ใยแมงมุมของ Spider-Man ก็มีวันหมด Iron Man แบตเตอรี่หมดก็มี ในที่สุดมันก็เป็นคน และตายได้”

 

 

THE BELIEVERS ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’ : ประชาธิปไตยเลือดตกยางออก

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“วินาทีนั้นผมรู้สึกว่า ถ้าอยู่บนฟุตบาทต้องเป็นจุดตายแน่ๆ เลยวิ่งไปบนถนนแล้วพยายามใช้กระเป๋าป้องกันตัว แต่ผมสู้ไม่ไหวจริงๆ คนเดียวจะสู้ 4 คนเป็นไปไม่ได้ ผมพยายามเอากระเป๋าถือตีไปโดนมันบ้าง แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะพวกมันใส่หมวกกันน็อคป้องกันมาอย่างดี”

ธิติ มีแต้ม สัมภาษณ์ ‘นิว – สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’ ว่าด้วยชีวิตวัยเด็กและการเป็นนักกิจกรรม ก่อนถูกทำร้ายร่างกายในระบอบเผด็จการ ไปจนถึงทัศนะทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ

“มีช่วงหนึ่งผมหารายได้จากการเป็นเด็กเสิร์ฟร้านก๋วยเตี๋ยว แต่ทำได้ไม่นาน เพราะผมเป็นคนไม่ยอมคน เจ้าของร้านมันเป็นคนปากเสีย ด่าผมทั้งวัน แต่เราไม่ว่า เพราะเราเป็นลูกจ้าง จู่ๆ วันนึงมันเดินมาตบหัวผม ตบแรงมากจนผมเดือด ทนไม่ไหว ผมไม่ได้อยู่ในระบบทาส คุณจะมาตีไม่ได้ ผมเลยคว้าชามก๋วยเตี๋ยวที่ลูกค้ากินเสร็จแล้วควํ่าไปที่หัวมัน แล้วบอกว่า “มึงด่ากูได้ ด่าเช้าด่าเย็นกูไม่ว่า แต่มึงมาตีหัวกูไม่ได้”

มีอีกงานที่ผมเคยไปทำ เป็นร้านอาหาร fast food ในห้างสรรพสินค้า บางวันก็เข้าเช้าเลิกเย็น บางวันก็เข้าบ่ายเลิกดึก กระทั่งมีวันหนึ่ง เขาบอกทุกคนต้องทำกิจกรรมพิเศษร่วมกันหลังร้านปิด คือช่วยกันล้างร้าน แล้วการล้างร้านอาหารมันไม่ใช่การล้างเล็กๆ เราทำงานมา 8 ชั่วโมงก็เหนื่อยมากแล้ว ยังให้มาล้างร้านต่อ ค่าโอทีก็ไม่ให้ แถมตอนกลับบ้าน ผมต้องเดินเกือบ 7 กิโลฯ เพื่อมาต่อรถเมล์อีกทอดหนึ่งเพราะมันดึกมาก แล้วนั่งรอรถเมล์อีกเกือบชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน นี่คือการเอาเปรียบกัน”

“การกล่าวหาว่าพวกเราชอบใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องที่ผมรำคาญใจมาก ถ้าผมเป็นคนหัวรุนแรงจริง ป่านนี้ผมคงจับอาวุธไปยิงหัว คสช. แล้ว คงไม่มานั่งๆ ยืนๆ ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ให้มันมาไล่จับผมหรอก

ข้อกล่าวหานี้กลายเป็นว่า พวกเขาทำให้มาตรฐานของการเป็นหัวรุนแรงตํ่าลงมาก กลายเป็นว่าหัวรุนแรงเป็นกันง่ายมาก แค่ไม่ถูกใจพวกเขาก็เป็นได้แล้วหรือ”

“เราเคยมีสัญญาประชาคมที่ทำให้สังคมเรามีความใกล้เคียงกับประชาธิปไตยมาก ก็คือสัญญาประชาคมในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี 35 จนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญ 40 ผมว่าชนชั้นนำก็ไม่เสีย ประชาชนก็ได้ เรากลับไปจุดนั้นได้ไหม นี่คือมาตรฐานขั้นตํ่าที่ผมหวัง

แต่ถ้าพูดจากทุกวันนี้ มันก็ยากมาก เราไม่ได้เรียกร้องว่าต้องพลิกฟ้าควํ่าแผ่นดิน เราเรียกร้องแค่ว่าคุณกลับไปในจุดที่คุณเคยทำไว้แล้วได้หรือเปล่า ยอมรับตรงจุดนั้นได้หรือไม่ หรือว่าการจะกลับไปจุดนั้นมันคือการเสียอำนาจ คุณเลยต้องกดให้มันตํ่ากว่ามาตรฐานที่คนในสังคมเคยได้มา

มีคำพูดหนึ่งที่ว่า คนที่เป็นวีรบุรุษหรือคนที่น่ายกย่องจริงๆ มักจะเป็นคนอายุไม่ยืน ซึ่งหลายคนก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่อาจเพราะความอายุสั้นของพวกเขานั่นแหละ เลยทำให้เขาไม่แก่มาทำเรื่องเลวร้ายระยำตำบอน”

 

 

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์ 

“ถ้าการณ์เป็นไปอย่างที่เตรียมกันไว้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 จะเป็นจุดตั้งต้นของการวางประเพณีการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมกับผู้นำการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็จะมีโอกาสช่วยกันสานต่อความร่วมมือระหว่างกลุ่มการเมืองหลายฝ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ขบวนการเสรีไทย ในทางที่ทำให้ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองในระยะแรกภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 สามารถสมานเข้าหากัน จนพอจะทำให้ระบอบการเมืองดำเนินและพัฒนาต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ และน่าจะเกื้อหนุนการรักษาพลังสนับสนุนประชาธิปไตยในสังคมที่กว้างขวางและเข้มแข็งเพียงพอไว้ได้

“ถ้าหากเป็นไปได้ตามนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวก็จะเป็นระยะก่อรูปตั้งหลัก (formative years) ที่สำคัญทั้งในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ และของระบอบการปกครองที่ “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

“การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้พลิกจุดตั้งต้นใหม่ที่หลายฝ่ายคาดหวังนี้ให้เปลี่ยนไปอีก และเป็นการเปลี่ยนที่มีผลสะเทือนทั้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะใช้เป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองส่วนต่างๆ และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสถาบันทางการเมืองเหล่านั้น เปลี่ยนบรรยากาศความสัมพันธ์และการต่อสู้แข่งขันทางการเมือง เปลี่ยนตัวผู้นำและกลุ่มการเมือง และเปลี่ยนพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่มาเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานการณ์ภายหลังการสวรรคต และต้องมาเป็นผู้ทรงทำหน้าที่แทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในการจัดความสัมพันธ์ที่จะมีผลทางการเมืองอันสำคัญยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และต่อเนื้อหาสาระระบอบการเมืองการปกครองใหม่ของไทย

“เมื่อมีเหตุทำให้กลับกลายไปเช่นนี้ ปัญหาที่ต้องถามตามมาก็คือ การตั้งต้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ควรจะเกิดขึ้นในปี 2489 และโดยรัฐธรรมนูญ 2489 ได้เลื่อนไปอยู่ที่จุดไหนแทน?”

 

“สิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุด คือการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน” ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ถ้าดูสัดส่วนประชากรในประเทศไทย คนกลุ่มใหญ่ที่สุดคือผู้ใช้แรงงาน เรามีประชากรประมาณ 66.4 ล้านคน เป็นผู้ใช้แรงงานประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ ถ้าคนกลุ่มใหญ่ถูกละเลย ถูกมองข้าม ก็เหมือนเราไม่มีประวัติศาสตร์”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล สัมภาษณ์ ‘ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา’ นักวิชาการอิสระ ผู้ทำงานคลุกคลีกับเรื่องแรงงานมาค่อนชีวิต ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า ว่าด้วยบทบาทของผู้ใช้แรงงานกับการเมืองไทย และการปฏิรูปขบวนการแรงงานในโลกยุคใหม่

“ประเทศไทยมีช่วงที่อยู่ใต้ระบอบการปกครองเผด็จการมาเป็นระยะ ซึ่งสิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุดคือการรวมตัวกันของแรงงาน เพราะเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันง่าย เรามีกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เป็นกฎหมายที่พยายามจำกัดสิทธิของคนงาน โดยเฉพาะสิทธิในการรวมตัวกัน

ในระดับสากล จะมีอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง นี่คืออนุสัญญาหลักที่ประเทศต่างๆ ควรให้สัตยาบัน ประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 45 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่เราเลี่ยงไม่ให้สัตยาบันมาตลอด

ความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ยังฝังหัวผู้มีอำนาจและชนชั้นนำในประเทศไทยอยู่ ทำนองว่าถ้าปล่อยให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติรวมตัวกันแล้ว จะเป็นภัย ทั้งที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเขาก็ให้สัตยาบัน แล้วก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรอย่างที่เรากลัวกัน”

“ถ้าถามว่าในโลกนี้ มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม ก็จะพบว่ามันกระจุกอยู่ในประเทศที่มีคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเยอะ เพราะประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของคนส่วนใหญ่ ซึ่งในทุกประเทศ คนงานคือคนส่วนใหญ่

การรวมตัวกันของคนงานเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการสร้างประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยโดยที่ไม่ให้คนส่วนใหญ่มีปากมีเสียง หรือมีอำนาจต่อรอง

มีดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่บอกว่าความไม่เสมอภาค สัมพันธ์กับสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรอง ถ้าความเข้มข้นของการเป็นสมาชิกสหภาพน้อยลง ความไม่เสมอภาคจะเพิ่มขึ้น เป็นทิศทางที่สวนกัน ฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นความเสมอภาค เราต้องส่งเสริมให้คนส่วนใหญ่รวมตัวกันได้ ”

“สมัยก่อนเราเคยมีความคิดแบบสังคมนิยมเป็นตัวเชื่อมร้อย แต่พออุดมการณ์หายไป ก็ต้องหาสิ่งอื่นที่จะมาเชื่อมร้อยให้คนเกิดความรู้สึกว่าเรามีปัญหาร่วมกัน มีผลประโยชน์บางอย่างที่ต้องมารวมกลุ่มกัน นั่นคือเรื่องที่องค์กรแรงงานต้องปรับ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่า คือต้องทำให้คนตาสว่างก่อนว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันแย่ และเรามีโอกาสที่จะดีกว่านี้ ต้องทำให้เขาเห็น และกล้าวิพากษ์สิ่งที่เป็นอยู่ว่ามันเลวร้ายยังไง ไม่เป็นธรรมยังไง จากนั้นค่อยเสนอชุดความคิดที่เป็นทางออกร่วมกัน เพื่อดึงให้เขาเข้ามาสนับสนุน

ขบวนการแรงงานเป็นเรื่องยาก ถ้าเราไม่มีความมุ่งมั่นเพียงพอ ไม่ตั้งเป้าหมายระยะยาว หรือเอาแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า มันจะไปไม่ถึงไหน ชุลมุนกันอยู่ตรงนี้แหละ แล้วสุดท้ายถ้าองค์กรจัดตั้งเราเล็ก เราก็จะเป็นได้แค่ขอทาน”

 

 

‘ทหาร’ เงามืดของประชาธิปไตย: บทเรียนจากลาตินอเมริกา

 

โดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

“ทหารมีไว้ทำไม” เป็นบทความที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนไว้และถูกพูดถึงทั่วสังคมไทยโดยเฉพาะจากคนในเครื่องแบบ

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ จึงลองตอบคำถามนี้ผ่านบทเรียนและประสบการณ์จากลาตินอเมริกา ถึงบทบาทของทหารที่คงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อช่วยน้ำท่วม

บทบาทกองทัพกับการเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา เป็นเรื่องที่ถูกจับตาถึงขนาดมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากทหารชนชั้นนำในประเทศนั้นไม่สมาทานประชาธิปไตยแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่มีทางแข็งแรงเป็นปึกแผ่นเป็นแน่

“การเปลี่ยนผ่านจากระบอบทหารกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยของหลายประเทศในลาตินอเมริกามักมีลักษณะที่ฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารหันมานั่งโต๊ะเจรจาหาข้อตกลงกัน หรือไม่ก็ฝ่ายทหารเป็นผู้ยอมถอยเองให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน”

“โจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านคือการเฟ้นหาวิธีเพิ่มอำนาจในการปกครองให้กับฝ่ายตนและลดบทบาทฝ่ายทหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเลี่ยงไม่ ‘กระตุกหนวดเสือ’ ให้ทหารกลับมาล้มรัฐบาลอีก”

“สิ่งที่รัฐบาลพลเรือนทำเพื่อให้เกิดสมดุลทางอำนาจกับกองทัพในช่วงนี้คือการยกประเด็นปัญหาทางการเมืองที่เร่งด่วน ณ ขณะนั้นขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในการบริหารประเทศและเลือกพักประเด็นเรื่องการจัดการ ‘เช็คบิล’ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารในช่วงก่อนหน้าเอาไว้ก่อน”

 

 

‘สังคมผลักไส’ หรือ ‘อุปนิสัย’ อะไรกันแน่ที่ชี้ชะตาคน ?

 

โดย ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ เขียนโต้บทความที่กล่าวถึงการแต่งงานเพื่อย้ายถิ่นว่า ‘เกิดจากอุปนิสัยของผู้หญิงชาวอีสานที่รักสบาย’ แต่จากงานวิจัยที่ภัทราภรณ์ศึกษาพบว่า มีปัจจัยที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่านั้น

“เพื่อความเป็นธรรม การมองว่าผู้หญิงย้ายถิ่นเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ปัญหาคือการมองแบบนี้ทำให้มองข้ามปัจจัยอื่นๆ ที่แวดล้อมและมีพลังในการอธิบายมากกว่าไปทั้งหมด เช่น ช่วงชั้นทางสังคม (social hierarchy) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การพัฒนาเมือง-ชนบทที่ไม่เท่าเทียม ค่านิยมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น

“ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ องค์ความรู้เรื่องการแต่งงานข้ามชาติไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเงื่อนไขทางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทและสังคมอีสาน อันที่จริง งานวิจัยพบว่า คนท้องถิ่นเริ่มกลับสู่ท้องถิ่น เรียนในท้องถิ่นมากขึ้น ผู้หญิงอีสานหลายคนเรียนจนถึงระดับปริญญาตรีในจังหวัดท้องถิ่นของตนเอง แต่ปริญญาบัตรก็ไม่ได้เป็นใบเบิกทางให้พวกเธอได้เลื่อนชั้นทางสังคมเท่ากับผู้หญิงชนชั้นกลางในเมือง ที่เข้าถึงทุนทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่า

“ดังนั้น การตัดสินใจแต่งงานและย้ายถิ่นจึงมีความซับซ้อนมากกว่าเรื่อง ‘อุปนิสัย’ แต่เป็นสภาพสังคมที่ปิดกั้นและผลักไสให้ผู้หญิงหลายคนเลือกย้ายไปอยู่ในสังคมที่ ‘ดีกว่า’ พูดอีกแบบคือ สังคมไทยมีเพดานที่กดทับผู้หญิงกลุ่มนี้อยู่ แต่ก็เป็นเพดานแก้ว (glass ceiling) ที่ยากจะมองเห็น”

 

พชร คำชำนาญ : เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่ และบทเรียนจากการ “ดูกับตา ย่ำกับตีน”

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“ชาวปกาเกอะญอจะมีคำพูดว่า ‘ดูกับตา ย่ำกับตีน’ คนในเมืองต้องมาดูกับตา ย่ำกับตีน มาเหยียบผืนดินด้วยตัวเอง มึงมาเกี่ยวข้าวเลย มาเข้าป่ากับกู แล้วลองตั้งคำถามจากอีกมุมดูบ้าง”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล คุยกับ ‘กอล์ฟ’ พชร คำชำนาญ เอ็นจีโอรุ่นใหม่ไฟแรง ว่าด้วยจุดเปลี่ยนที่ทำให้เลือกทำงานเป็นเอ็นจีโอ การทิ้งชีวิตเมืองกรุงมุ่งสู่ดอยสูง และบทเรียนจากการทำงานคลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

“คำถามประเภทหนึ่งที่เจอบ่อยคือ กะเหรี่ยงพอเพียงจริงเหรอ ถ้าพอเพียงจริงทำไมต้องเลี้ยงควาย เพราะถ้าเลี้ยงควายมันต้องใช้พื้นที่ป่าเยอะ ทำแบบนี้ถือว่าไม่พอเพียงตามศาสตร์พระราชา อุทยานชอบใช้มุกทำนองนี้ เพื่อที่จะได้เอาป่าคืน

ถ้าคนอย่างเราๆ มีธนาคารเป็นสมุดบัญชี คนกะเหรี่ยงก็มีธนาคารเป็นควายที่ขายได้ตัวละสามหมื่น ซึ่งเขาไม่ได้ขายพร่ำเพรื่อ ต้องมีเหตุให้ใช้จริงๆ เช่น รถพัง ต้องใช้รถ ต้องขายควายซื้อรถ หรือเวลาเจ็บป่วย ต้องใช้เงิน ก็เอาควายไปขาย

ถ้ามีโอกาสหรือเวลา อยากให้ลองหาข้อมูลจากอีกฝั่งดูครับ อย่าเพิ่ง judge ทันที หรือถ้ามีเวลามากกว่านั้น ก็ลองมาดูกับตา มาสัมผัสด้วยตัวเอง”

“ผมมองประเด็นทุกอย่างด้วยกรอบของ Human Rights หมดเลย เวลาเราพูดถึงเรื่องสิทธิ มันคือเรื่องอำนาจด้วย เช่น เราพูดเรื่องสิทธิชุมชน หมายถึงว่าชุมชนมีอำนาจ โดยอำนาจนั้นต้องบวกกับความชอบธรรมด้วย ถึงจะเป็นสิทธิที่แท้จริง ไม่ใช่อำนาจทหาร ไม่ใช่อำนาจ คสช.

“เวลาลงชุมชน เรารู้ว่าชาวบ้านเขาเอ็นดูเด็ก เราก็กลายเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตกับเขา ทิ้งความเป็นเอ็นจีโอ ทิ้งความเป็นคนเมือง สลัดออกไปหมด เขากินอะไรเราก็ต้องกิน ชวนเขาคุยโน่นคุยนี่ ให้พาไปดูโน่นดูนี่ ซึ่งเขาจะเต็มใจมาก ถ้าเห็นว่าเราอยากดู อยากเรียนรู้กับเขาจริงๆ

ช่วงที่ความสัมพันธ์ดีที่สุดคือในวงเหล้านี่แหละครับ แต่เราไม่ได้ใช้มันในการปาร์ตี้สังสรรค์ ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงคนหนึ่งบอกเราว่า เวลามานั่งในวงเหล้า จะได้ฟังแต่เรื่องปัญหานะ โอเคไหม เราก็โอเค แกสอนว่าชาวบ้านจะพูดมากที่สุดตอนนั้น เขาจะรู้สึกดีถ้าเราฟังเขา ขณะเดียวกันเขาก็จะชอบให้เราเล่าเรื่องตัวเองด้วย”

 

 

มองให้ทะลุดราม่า The Cave นางนอน : “ความจริง” โครงเรื่อง และระบบราชการไทย

 

โดย ณัฐดนย์ โกศัยธนอนันท์

“บางทีดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ อาจกำลังสะท้อนว่า “ข้อเท็จจริง” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ 13 หมูป่า สามารถถูกนำไปร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะเล่าจาก “โครงเรื่อง” แบบไหน เพราะโครงเรื่องจะทำหน้าที่คอยเป็นตัวกำกับว่าข้อเท็จจริงชุดไหนของเหตุการณ์ ที่จะได้มีบทบาทมากหรือมีบทบาทน้อยภายในเรื่องราวหนึ่งๆ”

ณัฐดนย์ โกศัยธนอนันท์ เขียนถึงการปะทะกันของเรื่องเล่าสองชุดในภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่า ระหว่าง ‘โครงเรื่องแบบไทย’ ที่มีข้าราชการเป็นพระเอก กับโครงเรื่องในภาพยนตร์ ‘The Cave นางนอน’ ซึ่งโฟกัสไปยังกลุ่มคนที่เป็น ‘Unsung Hero’

“หากว่ากันตามความเป็นจริง เรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวงที่เราได้รับรู้กันมาโดยตลอดว่า ตัวแสดงกลุ่มใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญ มีอุปสรรคสำคัญอะไรบ้างที่ต้องเผชิญ ไปจนถึงว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถฝ่าฟันอุปสรรคดังกล่าวมาได้อย่างไร ฯลฯ ล้วนมาจากมุมมองและประสบการณ์ของระบบราชการไทยที่มีต่อภารกิจในครั้งนี้ ผ่านการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งถูก “จัดระเบียบ” มาแล้วทั้งสิ้น

โครงเรื่องหลักของเรื่องเล่าชุดดังกล่าวจึงยากที่จะหลีกพ้นจากการให้คุณค่ากับระบบราชการ ในฐานะ “ผู้นำ” ที่สามารถพาให้ปฏิบัติการครั้งยิ่งใหญ่ของโลกประสบความสำเร็จในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ แม้ทีมนักดำน้ำต่างชาติที่พา 13 หมูป่าออกจากถ้ำ จะเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในปฏิบัติการ แต่ก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักในเรื่องเล่าปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทย เพราะพวกเขาเองเป็นเพียง “จิ๊กซอว์” ชั้นหนึ่ง ท่ามกลางจิ๊กซอว์ชิ้นอื่นๆ อีกนับล้าน ที่มีระบบราชการไทยเป็นผู้นำมาประกอบสร้างให้เป็นภาพที่สมบูรณ์

ขณะที่เสียงแห่งความปิติยินดีของคนไทยที่ได้เห็น 13 หมูป่า ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนอย่างปลอดภัยดังขึ้น “ความเป็นจริงอีกด้าน” ที่ไม่สอดรับกับโครงเรื่องแบบราชการไทย กลับยังคงติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเช่นเดิม

กระทั่งการเข้าฉายของภาพยนตร์ The Cave นางนอน ความเป็นจริงอีกดังกล่าวจึงค่อยๆ ถูก “กู้” ออกมาจากถ้ำหลวง”

 

 

ประชาชนลุกฮือทั่วโลก?: สาเหตุ ยุทธวิธี และอนาคตของการประท้วง

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ 

นับแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาทั่วโลกเกิดการประท้วงถี่ขึ้น อันมีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำ การทุจริตและเพิกเฉยของชนชั้นนำทางการเมือง รวมถึงสิทธิพลเมือง และเรื่องสิ่งแวดล้อม

จันจิรา สมบัติพูนศิริ พาไปสำรวจคลื่นการประท้วงทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้น โดยมองถึงสาเหตุ ยุทธวิธี และอนาคตที่คลื่นนี้จะพาไปถึง

“ความแตกต่างระหว่างคลื่นการชุมนุมครั้งนี้กับการชุมนุมในช่วงคริสตทศวรรษที่ 80 ถึง 90 คือการใช้ทั้งสันติวิธีและการจลาจล

“ขบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่ใช้สันติวิธีมากขึ้นในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ทว่าฝ่ายปราบปรามก็เรียนรู้ที่จะจัดการกับขบวนการสันติวิธีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน อันส่งผลให้ความสำเร็จในการใช้สันติวิธีตั้งแต่ช่วงปี 2005 ลดลง”

“ยุทธวิธีจลาจลยังเป็นผลจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามอย่างรุนแรง ในฮ่องกง การใช้กำลังตำรวจเกินกว่าเหตุยิ่งผลักให้ผู้ชุมนุม ‘ป้องกันตน’ ด้วยยุทธวิธีจลาจล”

“ยิ่งตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมมากเท่าใด ผู้ชุมนุมยิ่งยืนหยัดสู้มากเท่านั้น ในชีลี แม้จะมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามแล้วราว 22 คน แต่ผู้ชุมนุมยิ่งไม่ยอมถอย และต้านรัฐบาลมากขึ้น”

 

 

หลักประกันสุขภาพที่รัก (48) : สู่สังคมผู้สูงอายุ Amour

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อคนนั้นคือคนในครอบครัวที่เรารัก

ทั้งการประคองลุก อุ้มขึ้นเตียง ให้ความช่วยเหลือระหว่างปลดทุกข์ และที่สำคัญคือการรับมือปัญหาทางอารมณ์

“น้ำหนักของคนคนหนึ่งนั้นหนักมาก แต่น้ำหนักในจิตใจนั้นหนักมากกว่า”

และนี่เป็นสถานการณ์ที่เราอาจพบได้ในวันหนึ่ง หากไม่เป็นคนดูแลผู้ป่วย ก็เป็นผู้ป่วยเสียเอง

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงการดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ผ่านการชมภาพยนตร์ฝรั่งเศส ‘Amour’ เมื่อสามีชราต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงของภรรยาคู่ทุกข์ที่อยู่ร่วมกันมา 50 ปี และรับมือกับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

“สองสามีภรรยาสูงวัยกินอาหารเช้าด้วยกันในห้องครัวและคุยกันเรื่องสัพเพเหระ จู่ๆ แอนน์ก็นิ่งไป เหม่อมองผ่านตัวจอร์จ ถามอะไรก็ไม่ตอบ ตอนแรกจอร์จคิดว่าเธอแกล้งเล่น ครั้นรู้ว่าเธอไม่เล่นก็ถอนหายใจ สีหน้าเหมือนรับรู้ว่าโลกแตกสลายแล้ว”

 

 

ครอบงำวิทยา : กรณีศึกษา ‘เงินกู้ธนาธร’

 

โดย ตะวัน มานะกุล

‘เงินกู้’ ของธนาธร นับเป็นการครอบงำพรรคการเมืองจริงหรือ?

มองเรื่องการครอบงำทางการเมืองกับ ตะวัน มานะกุล ผู้ทำปริญญาเอกในหัวข้อเรื่อง ‘การครอบงำ’ ว่ากรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ถือเป็นการครอบงำพรรคหรือเป็นการลดปัญหาการต่อรองกับนายทุนพรรค

“ในบริบทของสังคมไทยที่ไม่มีแหล่งเงินทุนทางการเมืองที่หลากหลายแข่งขันกัน การครอบงำเป็นพื้นฐานข้อเท็จจริง (social baseline) ของการบริจาคและรับเงินของพรรคการเมืองในสังคมไทย ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม ทุกพรรคล้วนโหยหาเงินทุน ซึ่งอำนาจในการชี้ชะตาทางเลือกว่าจะได้หรือไม่ได้เงินนั้นอยู่ในมือคนอื่น โดยพรรคไม่มีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียม ดังนั้นจึงไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งขึ้นมาโดยปราศจากการครอบงำโดยสิ้นเชิง”

“ในกรณีที่เราไม่สามารถหรือไม่อยู่ในบริบทที่จะทำให้อำนาจทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้การควบคุมหรือใต้อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมของผู้อยู่ใต้อำนาจได้ ทางออกที่ดีที่สุดรองลงมาคือการลดอำนาจตามอำเภอใจด้วยการกำหนดหลัก กฎเกณฑ์ กฏหมายต่างๆ มาเป็นข้อจำกัดควบคุมการใช้อำนาจเหล่านี้ให้มากที่สุด ต่อให้คนอยู่ใต้อำนาจไม่มีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียม อย่างน้อยผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจสั่งโน่นนี่ตามอำเภอใจได้น้อยลง เพราะมีกฎห้ามโน่นห้ามนี่ หรือมีขั้นมีตอนในการใช้อำนาจชัดเจนอยู่”

“เราไม่เคยรู้ว่าเงินของพรรคต่างๆ มาจากไหน (จึงไม่ถูกฟ้องร้อง เพราะไม่ประกาศและไม่มีเอกสารให้จับผิด) แต่เพราะไม่เคยทำให้โปร่งใส ทำให้นายทุนพรรคเหล่านั้นครอบงำพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะจะยึดเงินเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครเห็นหรือควบคุม (ยกเว้นพรรคประชารัฐที่ประกาศจัดโต๊ะจีน รับบริจาคจากทั้งภาคเอกชนและรัฐอย่างโจ่งแจ้ง แต่รอดกฎหมายไปแบบค้านสายตา)”

 

 

5 สุดยอดความสำเร็จของอาเซียนในปี 2019

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพผ่านไปแล้วด้วยดี แต่เนื้อหาการประชุมมีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ปิติ ศรีแสงนาม อธิบายถึง 5 สุดยอดความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะการหาข้อสรุปเรื่องข้อตกลง RCEP ได้

ความสำเร็จดังกล่าว คือ
1. ทำข้อตกลงอาเซียนให้เกิดขึ้นจริงโดยการจัดตั้งศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์
2. สิทธิเด็กและเยาวชน
3. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
4. การวางตำแหน่งอาเซียน ณ จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
5. ท่ามกลางสงครามการค้า อาเซียนสามารถหาข้อสรุปข้อตกลง RCEP ได้

RCEP เปรียบเสมือนโต๊ะอาหารขนาดใหญ่ที่ 16 ประเทศสมาชิกร่วมวงแบ่งกันรับประทานจากผลประโยชน์ของตลาดสินค้าและบริการ รวมทั้งแหล่งทรัพยากรขนาดมหึมา

ที่ผ่านมาสมาชิกได้แต่เขียนเมนูว่าอยากมีรายการอาหารอะไรบ้าง แต่การลงมือทำอาหารไม่ได้มีความก้าวหน้ามากนัก

ไทยคือคนลงมือกะเกณฑ์ให้การจ่ายตลาด การทำอาหาร เกิดขึ้นได้จริง จนวางอาหารเต็มโต๊ะพร้อมรับประทาน เพราะเราคือผู้เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมการเจรจา ตั้งแต่รับไม้เป็นประธานมาในช่วงต้นปี 2019

นาทีนี้ที่ยังไม่ลงนามครบทั้ง 16 ประเทศก็เสมือนโต๊ะอาหารนี้ยังขาดแจกันดอกไม้ เราจึงไม่รีบร้อน รอให้อินเดียไปจัดดอกไม้มาวางให้โต๊ะนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะเริ่มลงมือรับประทานอาหารร่วมกันในต้นปีหน้า 2020

 

 

ชังชาติชังแต่ชื่อ

 

โดย อิสระ ชูศรี

“ในนวนิยายหรือภาพยนตร์แนวสืบสวนการฆาตกรรม ตัวละครที่น่าสงสัยน้อยที่สุดหรือมีท่าทางดูเป็นคนดีที่สุด มักจะลงเอยด้วยการเป็นฆาตกรตัวจริง

ในสังคมไทย คนที่ชอบพูดเรื่องการรู้รักสามัคคีระหว่างคนในชาติมากที่สุด มักจะลงเอยด้วยการเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความเกลียดชังและความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ”

อิสระ ชูศรี วิเคราะห์วาทกรรม ‘ชังชาติ’ ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ไล่เรียงตั้งแต่ช่วงเวลาที่คำนี้ปรากฏในสังคม ไปจนถึงความเชื่อมโยงของกลุ่มก้อนทางการเมืองและสื่อมวลชน ที่มีส่วนร่วมในการสร้างและนำวาทกรรมดังกล่าวไปใช้

 

 

ถ้าเปลี่ยนคำตอบไม่ได้ ให้ลองเปลี่ยนคำถาม

 

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

ประชามติ 7 ส.ค. 2559 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัดสินใจลาออกจากบริษัทมาทำงานการเมือง โดยผลของประชามติทำให้ ส.ว. จากการแต่งตั้งโหวตเลือกนายกฯได้ และส่งผลถึงปัญหาการเมืองปัจจุบัน

“ถ้าไม่นับการทำรัฐประหาร การบังคับใช้บทเฉพาะกาลนี้อาจเป็นจุดตกต่ำที่สุดของประชาธิปไตยไทยตั้งแต่ผมเกิดมา”

คอลัมน์ Butterfly Effect ตอนที่ 2 พริษฐ์ วัชรสินธุ เขียนถึงข้อควรระวังในการตั้งคำถามเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญ’ เมื่อการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้จากเพียงแค่การตั้งคำถาม

คำถามต้องห้าม #1: คำถามชี้นำ

การถามชี้นำอาจยอมรับได้หากใช้โดยพนักงานขายของ แต่ในประชามติ คำถามต้องเป็นกลางเพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย เช่นที่กว่าสหราชอาณาจักรจะได้คำถามทำประชามติเรื่องเบร็กซิทต้องมีการปรับแก้หลายรอบเพื่อความเป็นกลาง

คำถามต้องห้าม #2: คำถามแฝงเร้น

คำถามแฝงเร้นเกิดจากธงของคนตั้งคำถามให้คนตอบติดกับดัก เช่นถามว่า “อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง รัฐธรรมนูญ กับ เศรษฐกิจปากท้อง” เป็นคำถามที่ตอบอย่างไรก็ผิด

คำถามต้องห้าม #3: คำถามแคบ

การตีกรอบคำถามทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้ของคำตอบอื่น เช่นแทนที่จะถามว่า “วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?” หากเปลี่ยนมาถามว่า “วุฒิสภาจำเป็นต้องมีไหม?” จะทำให้เห็นทางเลือกมากขึ้น

คำถามต้องห้าม #4: คำถามแบ่งแยก

คำถามที่ต้องการฉันทามติจากทุกฝ่าย ต้องสร้างสรรค์และเชิญชวนให้คนหาจุดร่วม มากกว่าการแบ่งแยกและผลักให้คนทะเลาะกันบนจุดต่าง

หากถามว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าเราควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เราอาจได้แต่คำตอบเดิมๆ คำถามที่อาจจะสร้างสรรค์กว่าคือ “อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับรัฐธรรมนูญที่เราอยากเห็น?”

 

 

The Brexit Election : เกมพนันพลิกแผ่นดินของเด็กอีตัน

 

โดย สมชัย สุวรรณบรรณ

สมชัย สุวรรณบรรณ ไล่เรียงที่มาที่ไปของการเลือกตั้งอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ โดยมีดีเบทเรื่อง brexit เป็นหัวใจสำคัญ พร้อมวิเคราะห์การเดินเกมของ ‘เด็กอีตัน’ (วิทยาลัยอีตัน) ที่มีเดิมพันเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

(1)

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมนี้ ประชาชนสหราชอาณาจักรทั่วประเทศจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคตครั้งสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อเอกภาพของสี่ชนชาติที่รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ได้แก่ อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ และเผลอไผลอาจจะลามไปถึงยิบรอลตา แผ่นดินอังกฤษที่ติดกับสเปนด้วย

มีเรื่องน่าเป็นห่วงว่า การยุบสภาแบบสุ่มเสี่ยงของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แล้วนำประเด็น Brexit มาเป็นหัวใจของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปโดยใช้สโลแกน Get Brexit Done ในทุกครั้งที่เอ่ยปาก อาจนำไปสู่เสียงเรียกร้องขอแยกตัวเป็นเอกราชของสองแคว้นใหญ่คือ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนเวลส์ซึ่งแนบแน่นกับอังกฤษมายาวนาน ก็เริ่มมีริ้วรอยของกลุ่มชาตินิยมเกิดขึ้น

เค้าลางของความยุ่งเหยิงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อบอริส จอห์นสัน เร่งรัดให้ยุบสภาและจัดเลือกตั้งก่อนวาระ โดยกำหนดวันเลือกตั้งใกล้เทศกาลศริสต์มาส นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบร้อยปีที่กำหนดจัดเลือกตั้งทั่วไปในฤดูหนาว ซึ่งถือว่าผิดประเพณีทางการเมือง เพราะตามธรรมเนียมแล้ว การเลือกตั้งมักจะจัดขึ้นในฤดูร้อน เว้นแต่ว่ามีวิกฤตร้ายแรงจริงๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ การยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ยังถูกเปรียบว่าเป็นการเล่นเกมการพนันที่เดิมพันสูงมาก เพราะ Brexit เป็นประเด็นที่สร้างความร้าวฉานในประเทศ ถึงขั้นแบ่งแยกแบ่งฝ่ายกล่าวหากันด้วยโวหารเผ็ดร้อนแบบ hate speech จนถึงขนาดมีข่าวมือมืดขู่เอาชีวิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเลยด้วยซ้ำ

(2)

การถกเถียงในสังคมการเมืองสหราชอาณาจักรยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีก เมื่อพบความผิดปกติมากขึ้นในช่วงเวลาการเจรจาทำข้อตกลงถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ Withdrawal Deal ซึ่งกำหนดระยะเวลาให้เจรจาเสร็จภายในสองปี

ปัญหาใหญ่คือ เมื่อมีข้อมูลการเจรจาต่อรองต่างๆ เปิดเผยกันออกมาเป็นระยะ สังคมกลับพบว่า การเจรจาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการถกแถลงถึงข้อดี-ข้อเสียต่อสาธารณะระหว่างการรณรงค์ประชามติเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และแคว้นไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นดินแดนในอธิปไตยของสหราชอาณาจักร

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย บูรณภาพทางดินแดน และอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนลึก โยงใยถึงประวัติศาสตร์และความเจ็บแค้นที่เกิดจากการเสียชีวิตเลือดเนื้อของชาวไอริชพื้นเมืองที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักร

ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ไอร์แลนด์และอังกฤษมีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด เนื่องจากไอร์แลนด์ถูกแบ่งแยกดินแดนส่วนเหนือหกจังหวัดให้เป็นดินแดนของเจ้าอาณานิคมตั้งแต่ปี 1922 และหลายสิบปีหลังจากนั้น มีการต่อสู้ในลักษณะก่อการร้ายจากกลุ่มรักชาติติดอาวุธไอริชที่เรียกว่า IRA ทำให้ทั้งอังกฤษและไอร์แลนด์ต่างต้องสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ จนกระทั่งมีการทำข้อตกลงสงบศึกที่เรียกว่า Good Friday Agreement มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม 1999 ทำให้สันติภาพคืนกลับมา

(3)

ในการลงประชามติขอแยกประเทศของชาวสก็อตเมื่อปี 2014 ในสมัยรัฐบาล เดวิด คาเมรอน ฝ่ายที่ไม่ต้องการแยกตัวได้คะแนนเสียงถึง 55% นับเป็นชัยชนะที่งดงามของคาเมรอนที่สามารถรักษาเอกภาพของสหราชอาณาจักรไว้ได้

เขาประกาศว่าประเด็นการเรียกร้องเอกราชของสก็อตแลนด์จบแล้ว หลังจากนั้นหนึ่งปี คาเมรอนก็ชนะเลือกตั้งทั่วไป ได้เก้าอี้ 330 ที่นั่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง นับว่าได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ไม่ต้องตั้งรัฐบาลผสมแบบเดิมอีกต่อไป

ด้วยความฮึกเหิมที่ชนะประชามติสก็อตแลนด์ และชนะเลือกตั้งทั่วไปไล่ๆ กัน คาเมรอน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าอีตันรุ่นน้องจอห์นสัน ก็เลยประกาศให้จัดลงประชามติ EU Referendum แล้วตัวเองประกาศเป็นหัวหอกรณรงค์ให้ฝ่าย Remain แต่ประสบความพ่ายแพ้จนต้องเดินออกจากทำเนียบบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ตอนนั้นมีสื่อมวลชนวิจารณ์ว่าคาเมรอนคำนวณผิดพลาดในเกมพนันสุ่มเสี่ยงทางการเมืองมากเกินไป

ส่วนหัวหอกกลุ่มรณรงค์ให้ฝ่าย Leave ได้ชัยชนะก็ไม่ใช่ใครที่ไหน บอริส จอห์นสัน ศิษย์เก่าอีตันรุ่นพี่ที่จ้องจะเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนั่นเอง แต่เกิดการหักหลังกันเองในกลุ่ม Conservative Leaders จอห์นสันขอถอนตัวในนาทีสุดท้าย ปล่อยให้เทเรซา เมย์ ชนะการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เทเรซ่า เมย์ เดินเข้าทำเนียบบ้านเลขที่ 10 เพียงปีเดียว ก็เล่นเกมพนันผิดพลาดอีก ด้วยการประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งทั่วไปในปี 2017 ผลการเลือกตั้งทำให้รัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟได้คะแนนเสียงลดลงเหลือ 317 ที่นั่งในสภา กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำให้ข้อตกลง May’s Deal ไม่ผ่านสภาเวสต์มินสเตอร์ถึงสามครั้งจนต้องลาออก โดยกลุ่มฝ่ายขวาในพรรครวมตัวกันหนุนให้บอริส จอห์นสัน ชนะการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมได้สำเร็จ

(4)

บอริส จอห์สัน ก็ประสบปัญหาเดียวกับเทเรซ่า เมย์ เพราะพรรคตัวเองเสียงแตก เขาเองก็รู้ตัวดีว่า ไม่ว่าจะเจรจาต่อรองอย่างไรกับสหภาพยุโรปมา ข้อตกลงของตนก็ย่อมมีข้อบกพร่องที่ ส.ส. ปีกต่างๆ ของพรรคตัวเองและพรรคฝ่ายค้านจะไม่ยอมรับ จะไม่ได้เสียงข้างมากให้ผ่าน

ข้อตกลง Boris’s Deal ก็ไม่มีอะไรต่างไปจาก May’s Deal เท่าไรนักในหลักการใหญ่ มีเพียงการตกแต่งภาษาให้ฟังดูดีขึ้นเท่านั้นจอห์นสันก็เลยพยายามวางกลยุทธ์ไถกลบให้ผ่านสภาให้ได้ด้วยลูกไม้ต่างๆ รวมทั้งไปขอให้สมเด็จพระราชีนีตราพระราชกฤษฎีกาหยุดพักการประชุมสภา (Proroguing Parliament) ถึงห้าสัปดาห์โดยไม่มีเหตุอันควร เพื่อไม่ให้ ส.ส.ในสภามีเวลาชำแหละข้อตกลงไล่รายมาตราแบบที่อดีตนายกรัฐมนตรีเมย์เคยโดนมาแล้ว

แต่ปรากฏว่าศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าผิดรัฐธรรมนูญ เกมการเมืองในสภาก็เลยหวนกลับมาเล่นโต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน ระเบิด hate speech ใส่กันในสภา ออกอากาศทางทีวีไปทั่วประเทศ
เมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็เลยต้องเล่นเกมยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่

หากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เสียงข้างมากสำเร็จตามความประสงค์ สหราชอาณาจักรก็สามารถถอนตัวออกจากอียูได้ทั้งแบบ Boris’s Deal หรือแม้กระทั่ง No Deal ตามเป้าหมายของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกแผ่นดิน เพราะกระแสขอแยกดินแดนของสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ จะเริ่มร้อนแรงมากขึ้นตามลำดับ

แต่ถ้าหากผลออกมาว่า ไม่มีพรรคใดได้เสียงเด็ดขาดในสภาที่เรียกกันว่าสภาถูกแขวน (hung parliament) แบบที่เทเรซา เมย์ เคยเจ็บปวดเมื่อปี 2017 เด็กอีตัน ก็จะเสียพนันหมดตัว…

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนธันวาคม 2562

 

“สมมติเด็กในท้องฉันเป็นลูกสาวอีก …จะทำยังไง” คิมจียอง เกิดปี 82 : เมื่อ ‘ผู้หญิง’ เป็นเรื่องเศร้า

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

เรื่องราวของ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อเนื้อหาจากในหนังสือได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน นำแสดงโดย ‘จองยูมิ’ และ ‘กงยู’ นักแสดงแถวหน้าของเกาหลีใต้

จากที่เคยสร้างปรากฏการณ์ ‘เขย่า’ สังคมเกาหลีเมื่อคราวเป็นหนังสือ เมื่อกลับมาคราวนี้ในฐานะภาพยนตร์ จึงได้รับความสนใจอย่างมากในเกาหลี และสะเทือนมาถึงไทยที่ภาพยนตร์จะเข้าฉายในปลายปี 2019 นี้

101 ชวนย้อนไปทำความรู้จักหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 ที่เป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลี

คิมจียอง เกิดปี 82 ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เกาหลีเมื่อปี 2016 เขียนโดย โชนัมจู เป็นเรื่องว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงเกาหลีที่ถูกกดขี่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม หนังสือค่อยๆ ไต่ระดับความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยิ่งขายดีขึ้นเมื่อ ‘ไอรีน’ ศิลปินสาวจากวง Red Velvet ออกมาเปิดเผยในงานมีตติ้งว่าเธออ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมาพร้อมกับกระแส #metoo ในเกาหลี แต่ในทางกลับกันก็เกิดกระแสแอนตี้จากเหล่าแฟนคลับชาย บางคนหงุดหงิดและรับไม่ได้ จนมีคำพูดที่ว่า “ไอรีนกลายเป็นเฟมินิสต์”

ความหงุดหงิดลุกลามใหญ่โต มีการเผารูปไอรีนและส่งข้อความคุกคามจากเหล่าแฟนคลับชาย ในขณะเดียวกันที่ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 104% กลับมาครองที่ 1 ในชาร์ตหนังสือขายดี แต่ยอดคนซื้อเพศชายลดลง 3%

เป็นข้อยืนยันได้ว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ของตัวเองได้ทรงพลังเพียงใด

คิมจียอง แม่บ้านลูกหนึ่ง จู่ๆ ก็เปลี่ยนบุคลิกไปเป็นคนอื่น บ้างก็เป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว บางทีก็กลายเป็นแม่ของตัวเอง และในบางคราวเธอก็นอนดูดนิ้วเหมือนเด็กทารก สามีของเธอสังเกตเห็นอาการเหล่านี้และพยายามพาเธอไปรักษา ก่อนที่ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราเลาะไปยังชีวิตของคิมจียองว่าเธอผ่านอะไรมาบ้างก่อนจะเกิดอาการที่ว่านี้

เรื่องเล่าผ่านบันทึกของจิตแพทย์จากคำบอกเล่าของคิมจียองและสามี เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัยของย่าคิมจียองที่การมีลูกชายคือความสุขที่สุดในชีวิต (โชคดีที่ย่ามีลูกชายถึง 4 คน) แม้ว่าเธอจะต้องดูแลงานบ้านและทำนาแทนสามี ‘หน้าขาว มือนิ่ม’ ที่ไม่เอาไหน ในยุคแห่งสงคราม โรคภัย และขาดแคลนอาหารก็ตาม

ถัดจากรุ่นพ่อแม่ มาถึงคิมจียอง เธอเกิดมาเป็นลูกสาวคนที่สอง มีน้องชายหนึ่งคน เธอค่อยๆ รู้สึกว่า การเกิดเป็นลูกสาวนั้นอาจไม่มีค่าพอเท่าการเกิดเป็นลูกชาย…

“ย่าดูจะใจกว้างและรักใคร่ห่วงใยลูกสะใภ้ผิดกับแม่ผัวรุ่นเดียวกันบ้านอื่น ที่ย่าพร่ำพูดเรื่องลูกชายราวกับเป็นคำติดปาก ก็เพราะนึกถึงใจลูกสะใภ้อย่างแท้จริงหรอก เอ็งต้องมีลูกชายนะ ต้องมีลูกชายให้ได้ ต้องมีลูกชายสักสองคน…”

 

 

การเมืองเรื่องผ้าอนามัย : เริ่มหวั่น แม้วันมามาก

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

“สำหรับประเทศไทยเอง ผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ทำให้เป็นสินค้าที่มีภาษี ทั้งที่จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นสินค้าที่ ถ้าไม่ให้ฟรี ไม่ควบคุมราคา ก็ควรจะปลอดภาษี เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็น เป็นกลไกทางร่างกายที่ทำให้ผู้หญิงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น”

101 ยกหูถามความเห็นของตัวแทนจากพรรคการเมืองที่มีต่อประเด็น ‘ผ้าอนามัย’

 

 

เด็กไทยกับการสอบ PISA : มายาคติกับความเป็นจริง

 

โดย ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค 

ถ้าตัดคะแนนจากโรงเรียนขนาดเล็กทิ้งไป คะแนน PISA ของเด็กไทยจะสูงขึ้นจริงหรือ

แล้วจริงหรือที่เด็กเก่งในโรงเรียนดีของไทยมีผลสอบไม่แพ้นักเรียนประเทศชั้นนำ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

“ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค” นักวิจัยด้านระบบการศึกษาไทย ลงมือวิเคราะห์ข้อมูลผลการสอบ PISA ครั้งล่าสุดของเด็กไทย แล้วสรุปชัดๆ ให้อ่านกันว่า อะไรคือมายาคติ และอะไรคือความเป็นจริงที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาควรรู้

 

 

มองทะลุม่านมายาคติ “หญิงไทยกับสามีฝรั่ง” : เมื่อสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

 

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี

วันดี สันติวุฒิเมธี สนทนากับ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักวิจัยอิสระ จากประเทศเยอรมนี สองนักวิจัยผู้สำรวจโลกของผู้หญิงไทยที่มีสามีฝรั่งมายาวนานกว่า 20 ปี เพื่อค้นหาความจริงหลังม่านมายาคติเกี่ยวกับ “หญิงไทยและสามีฝรั่ง”

“โอกาสที่ผู้หญิงในหมู่บ้านจะเลื่อนชั้นทางสังคมมีน้อยมาก การแต่งงานกับฝรั่งมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมเยอะกว่า ยกตัวอย่างคนที่เป็นแม่หม้าย การแต่งงานใหม่กับชายไทยไม่ใช่เรื่องง่าย หรือหญิงขายบริการทางเพศ ถามหน่อยว่า มีผู้ชายไทยคนไหนที่จะรับคนเหล่านี้เป็นภรรยาอย่างเต็มใจ แต่ฝรั่งเค้าไม่แคร์ว่าอดีตเป็นอย่างไร”

– พัทยา เรือนแก้ว –

“คำพูดที่ว่า “ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติเพื่อเงิน” เป็นชุดคำพูดเกิดจากสังคมของชายเป็นใหญ่ เพราะเหมือนคุณผลักบาปไปให้ผู้หญิง แต่สังคมไม่เคยมองความไม่รับผิดชอบของผู้ชาย ทำไมเค้าอยากได้เงิน ก็เพราะผู้ชายไทยไม่รับผิดชอบลูกที่อยู่กับเมียเก่าไง ถ้าคุณรับผิดชอบลูก เค้าก็คงไม่ต้องขวนขวายไปหาเงินที่อื่น”

– พัชรินทร์ ลาภานันท์ –

 

ผลงานคลิปวิดีโอ ยอดนิยม เดือนธันวาคม 2562

 

5G : Connecting The Future

 

โดย The101.world

:: อนาคต 5G อนาคตไทย : โอกาสอยู่ตรงไหน อะไรคือคำตอบ ::

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เคยให้สัมภาษณ์ The101.world ไว้ว่า 5G คือจังหวะพลิกเกมในโลกดิจิทัลของไทย ถ้าเราออกแบบระบบกำกับดูแลอย่างดี ตั้งแต่การประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ จนถึงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมและใช้ประโยชน์จาก 5G อย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและปกป้องประโยชน์สาธารณะอย่างรอบด้าน เทคโนโลยี 5G ก็จะช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทั่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

แต่ถ้ายังมัวคิดแบบเก่า กำกับดูแลแบบเก่า โลกใหม่อย่าง 5G ก็จะไม่นำพานวัตกรรมใหม่ เสียโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่สร้างอนาคตใหม่ มิหนำซ้ำ ในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มแบบ 5G ยิ่งมีความเสี่ยงที่การผูกขาดจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ท่ามกลางกระแสผลักดันการประมูล 5G จากรัฐบาลและองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่าง กสทช. The101.world ชวนตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้เทคโนโลยี 5G กลายเป็นจุดเชื่อมต่อในการสร้างอนาคตของสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง?

สำรวจเส้นทางความพร้อมของประเทศไทยต่อเทคโนโลยี 5G และชวนคิดหลายแง่มุมก่อนเดินหน้าประมูล 5G กับ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformations จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและให้บริการด้านดิจิทัล ในคลิป 101 insights “5G : Connecting the Future”

โอกาสใหญ่ใน 5G อยู่ตรงไหน และอะไรคือคำตอบ?

 

สารคดี : THE BELIEVERS ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

อะไรทำให้คนๆ หนึ่งที่เกิดมาบนแผ่นดินชาติพันธุ์มลายู เลือกเข้าสู่สภาเพราะอยากเห็นชีวิตคนบ้านเดียวกันหลุดพ้นจากความไร้ราคา แต่จนบั้นปลายชีวิตแล้ว ยังต้องกลับมาพูดเรื่องพื้นฐานที่สุดนั่นคือ “สิทธิและความเสมอภาค” – นี่เป็นความรู้สึกที่หลายคนยังสงสัยซึ่งสะท้อนยุคสมัยของสังคมไทยไว้อย่างน่าฉงน

101 Documentary ชวนชม THE BELIEVERS ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’

 

สารคดี : THE BELIEVERS ‘นุชนารถ แท่นทอง’

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

คนๆ หนึ่งเกิดในสลัมกลางกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง เรียนน้อยเพราะต้องทำงานดูแลครอบครัว การเรียนรู้บนถนนแห่งการต่อสู้เรียกร้องในสิ่งพื้นฐานที่สุดคือ “ที่อยู่อาศัย” ทำให้มองเห็นว่าคนจนจะลืมตาอ้าปากได้ ไม่ใช่แค่เรื่องความขยัน แต่เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มองคนเท่ากัน

101 Documentary ชวนชม THE BELIEVERS ‘นุชนารถ แท่นทอง’ เครือข่ายสลัมสี่ภาค

 

สารคดี : THE BELIEVERS ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

คนๆ หนึ่งปฏิเสธสังคมนิยมรัฐประหาร มีความฝันอยากเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นกับแผ่นดินแม่ แต่วันร้ายคืนร้ายต้องมาเลือดตกยางออกเพราะถูกดักตี แม้จะกำลังเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศเพราะได้ทุนการศึกษา แต่สภาพร่างกายที่บาดเจ็บสาหัส ทุนการศึกษาก็เป็นอันโมฆะไป

ทำไมต้นทุนชีวิตพลเมืองไทยภายใต้การอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดีถึงมีรายจ่ายที่แสนแพง นี่อาจเป็นคำถามที่หลายคนไม่ว่าจะนิยมในขั้วการเมืองไหนก็ยังน่าสงสัยที่สุด

101 Documentary ชวนชม THE BELIEVERS ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’

 

รายการ 101 One-on-One เดือนธันวาคม 2562

 

101 One-On-One Ep.99 “ภาพยนตร์และแง่งามของศิลปะเรื่องเล่า” กับ ‘นรา’ พรชัย วิริยะประภานนท์

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-On-One Ep.99

‘ภาพยนตร์และแง่งามของศิลปะเรื่องเล่า’ กับ ‘นรา’ พรชัย วิริยะประภานนท์

คุยกับ ‘นรา’ นักเขียน นักเล่าเรื่อง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีน้ำเสียงเฉพาะตัว และมีงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายสิบปี

ว่าด้วยเรื่องภาพยนตร์ ความงามของเรื่องเล่า วิธีเขียนงาน และการใช้ชีวิตของนักเขียนอิสระ

สนทนาสบายๆ ท่ามกลางบรรยากาศ (ที่หวังว่าจะ) หนาว

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ดำเนินรายการ

 

 

101 One-On-One Ep.100 “อนาคตใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่”

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-On-One Ep.100 “อนาคตใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่”

สนทนาสดกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตอบทุกคำถามเรื่อง ‘อนาคตใหม่’ ของรัฐธรรมนูญ การเมืองไทย และพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงก้าวต่อไปของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

 

101 One-On-One Ep.101 “จับกระแสโลก 2020”

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-On-One Ep.101 “จับกระแสโลก 2020” กับ วรากรณ์ สามโกเศศ

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ชวน วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เขียนหนังสือชุด Global Change สำรวจการเปลี่ยนแปลงรอบโลกในหลากมิติ และเทรนด์ใหม่ที่ทุกคนควรรู้เพื่อรับมือโลก 2020

เมื่อโลกเปลี่ยนไม่รู้จบอย่างรวดเร็วและรุนแรง เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save