fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2563

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2563

 

 

นักปฏิรูปการศึกษาควรดีใจกับม็อบนักศึกษามิใช่หรือ

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

“เป็นที่เข้าใจได้ว่าคำถามของนักศึกษาบางคำถามดูจะเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะยอมรับได้ แต่จะว่าไปเราทุกคนล้วนเคยตั้งคำถามยากๆ กับพ่อแม่ตัวเองมาแล้วทั้งนั้น แล้วพอถึงวันที่เราเป็นพ่อแม่ ไม่ช้าก็เร็วเราจะพบคำถามยากๆ จากลูก แล้วก็จะยากมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของพวกเขา

ประเด็นคือคำถามแม้ว่าจะยากแต่เรามิได้จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม เราเพียงแค่รับฟัง นี่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ และทำได้ด้วยเมตตา หากเราทำกับลูกของตนเองได้ เราควรทำกับนักศึกษาซึ่งก็คือลูกหลานของประเทศของเรามิใช่หรือครับ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย

เป็นที่รู้กันทั้งทางจิตวิทยา และทางสังคมวิทยา ว่าเพียงเราเริ่มต้นนั่งฟัง เด็กๆ จะเริ่มขยายความเรื่องที่เขาคิดและถาม กระบวนการทางปัญญาจึงจะเกิดขึ้น แล้วบ่อยครั้งที่เราจะพบว่าพวกเขามีทางออกให้แก่ตัวเอง หรือมีหนทางประนีประนอมได้ด้วยตนเอง ใครที่เคยนั่งฟังลูกพูด นักจิตวิทยาที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาที่รู้งาน ทุกท่านรู้ความจริงข้อนี้ดีว่า การรับมือคำถามยากๆ คือการนั่งฟัง นี่คือขั้นตอนแรก

มิใช่การสั่งเขาหุบปากหรือขู่เข็ญ ขึ้นชื่อว่าอายุ 12 ไปจนถึง 22 ไม่มีเสียล่ะที่จะยอมจำนนง่ายๆ เขาเป็นได้สู้ตายทุกครั้งไป

แต่ว่าเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องฟังอย่างตั้งใจด้วย มิใช่ฟังเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าฟังแล้วและมีธงในใจว่าฟังเสร็จจะตอบว่าไม่ได้หรือไม่ให้อย่างแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นการฟังย่อมเท่ากับการยื้อเวลาที่ไม่นำไปสู่อะไรเลย

การฟังอย่างตั้งใจมิใช่เรื่องที่ตอแหลได้ มีแต่ต้องลงมือทำด้วยความจริงใจ เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาวะหรือจิตวิญญาณน่าจะรู้เรื่องนี้ดีเห็นมีเวิร์กชอปกันอยู่เนืองๆ แต่ดูเหมือนว่าเครือข่ายเหล่านี้เลือกที่จะเงียบในครั้งนี้อีกเช่นเดียวกัน

จะเห็นว่าคนที่จำเป็นต้องปรับปรุงตัวกลับกลายเป็นพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ด้วย กล่าวคือ “เมื่อไรพวกผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่เสียที”

 

“ถ้าคุณรักสถาบันจริง อย่ามองว่าคนที่เห็นต่างจากคุณนั้นเลวร้าย” – สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

โดย วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี

“กัลยาณมิตรสำคัญที่สุดสำหรับทุกคน กัลยาณมิตรคือผู้ที่จะพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง”

101 สนทนากับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส เจ้าของฉายา ‘ปัญญาชนสยาม’ ผู้ประกาศตัวและได้รับการยอมรับว่าเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยม (royalist) คนสำคัญ ถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของม็อบนักศึกษา ท่าทีของผู้มีอำนาจ และการสร้างพื้นที่การพูดคุยด้วยเหตุผล

“ที่น่ากลัวคือพวกที่ทำตัวเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา ไปอ้างอะไรต่างๆ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย เขาอ้างว่าจงรักภักดี แต่เป็นการจงรักภักดีแบบเอาดีให้ตัวเอง เอาความชั่วให้คนอื่น พวกนี้อันตรายมาก”

“หวังว่าชนชั้นบนจะไม่โง่เขลาเบาปัญญาขนาดนั้น บทเรียนจาก 6 ตุลาฯ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าใช้ความรุนแรงแล้วไปกันใหญ่”

“เราต้องมองท่านในฐานะมนุษย์ พูดกับท่านในฐานะที่ท่านเป็นมนุษย์ ท่านก็มีข้ออ่อนข้อแข็ง ข้อดีข้อด้อย แต่พูดอย่างเป็นมิตร พูดด้วยความเคารพนับถือก็เป็นประโยชน์กับท่าน เป็นประโยชน์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองทั้งหมด”

 

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

“การที่ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งสืบสายมาจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ขึ้นมาสืบราชสันตติวงศ์ครองสิริราชสมบัติได้นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และราชสกุล “บริพัตร” ถูกข้ามไป”

“นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกไว้ในภายหลังอย่างชัดเจนว่า “โดยคํานึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทําคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บําเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร ขอความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งพระราชวงศ์จักรี”

 

‘ประวัติศาสตร์ตาบอด’ ของบิดาแห่งกฎหมายไทย

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

เนื่องในวันรพี สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง ประวัติศาสตร์บางแง่มุมของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ บิดาแห่งกฎหมายไทย ในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง

“พระองค์เจ้ารพีฯ มีบทบาทต่อการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไม่อาจปฏิเสธ […] อย่างไรก็ตาม ความทรงจำของนักกฎหมายที่มีต่อ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ได้กลายเป็นความเชื่อมั่นว่าบรรดาเรื่องเล่า ข้อความ หรือการยกย่องที่มีต่อพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นความจริงที่ไม่อาจโต้แย้ง”

“การนำถ้อยคำ “My life is service” มากล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกในแต่ละปีเมื่อวันรพีเวียนมาถึง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างความทรงจำที่มีต่อพระองค์ด้วยการเลือกใช้ ตัดต่อ ลดทอน ข้อเท็จจริงในบางแง่มุมทางประวัติศาสตร์ออกไป ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม”

 

โชค VS ความสามารถ : การศึกษาว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

 

โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

“หากทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งสำเร็จ เรามักบอกว่าเป็นเพราะความสามารถของเราหรือของเพื่อนร่วมทีม แต่ถ้างานเดียวกันล้มเหลว เราอาจได้ยินข้ออ้างสารพัด เช่น เป็นเพราะเรื่องโชคไม่ดี – ไม่เกี่ยวกับเรา”

“โดยสามัญสำนึก เรารู้ว่าความสำเร็จมีทั้งปัจจัยด้านโชคและความสามารถเป็นส่วนประกอบ คำถามคือ เราจะมองมันอย่างเที่ยงธรรมได้อย่างไร ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวเป็นเพราะโชค หรือความสามารถเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์”

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ชวนวิเคราะห์ต้นตอของความสำเร็จด้วยสมการที่มีส่วนผสมระหว่างความสามารถ โชค และตัวแปรที่แตกต่างกันในแต่ละวงการ

“ทั้งหมดนี้กำลังบอกกับเราว่าในสังคมแบบ Meritocracy หรือ “ตอบแทนตามความเก่ง” นั้น เราไม่อาจใช้ความสำเร็จหรือผลลัพธ์มาเป็น Proxy ของความเก่งหรือทักษะได้อย่างสมบูรณ์ หากขึ้นกับตัวแปรในวงการนั้นๆ ว่าผลลัพธ์ขึ้นกับทักษะมากน้อยเพียงไร”

 

เมื่อ ‘ไดโนเสาร์’ ต้องฟัง ‘เด็กเมื่อวานซืน’ : รู้จักศาสตร์การจัดการเรียนรู้ผู้ใหญ่ กับวีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

 

โดย ชลิดา หนูหล้า

101 คุยกับ วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยศาสตร์การจัดการเรียนผู้ใหญ่ (Andragogy) และวิธีสื่อสารในครอบครัวท่ามกลางภาวะขัดแย้ง

“ความเชื่อ สมมติฐานในการส่งต่อความรู้ให้ผู้ใหญ่ก็จะมีตั้งแต่การเชื่อว่าผู้ใหญ่หลุดจากการพึ่งพาผู้อื่นแล้ว และพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ได้ การเรียนรู้ของเขาเป็น Self-Directed Learning (การเรียนรู้ที่กำกับโดยผู้เรียนเอง) และเขาจะต้องการเรียนอะไรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ กับปัญหา กับความต้องการ นำไปใช้ในชีวิตได้”

“การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นคำสำคัญ มีมานาน ก่อนที่จะมีระบบการศึกษาด้วยซ้ำ หมายถึงการเรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเรียนรู้อะไร คนเราไม่แก่เกินเรียน การคิดอย่างนี้สำคัญ ถึงชราก็เรียนได้ ทุกพื้นที่คือที่เรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องเรียน ที่สำคัญคือต้องรู้จักตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิพากษ์ตนเอง คนที่จะรักการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ต้องวิเคราะห์ วิพากษ์ตนเองเป็น คือรู้จักตนเองน่ะ”

“หัวใจของการสื่อสารในครอบครัวคือการพูดเชิงบวก ไม่ใช่การพูดจ๊ะจ๋า แต่นอกจากไม่ตัดสินว่าเขาแย่ ต้องนำเสนอความจริงแท้ด้วย นำข้อมูลที่เห็นชัดเจนมาให้เขา เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนการคัดค้านของเรา ต่างฝ่ายต่างต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่แค่ให้เหตุผลกัน ต้องแบบ ‘เอ้า ไปศึกษาเรื่องนี้มา แล้วค่อยคุยกัน’ ดีกว่าเริ่มต้นด้วยการบอกว่าเขาผิด แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน และอาจต้องช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจริงแท้แค่ไหน”

 

ที่อยู่ที่ ‘อาศัย’ ไม่ได้

 

โดย รชพร ชูช่วย

คอลัมน์ Shaped by Architecture เดือนนี้ รชพร ชูช่วย ชวนมองปรากฏการณ์ ‘คอนโด’ ที่สะท้อนปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาการพัฒนาเมือง

“ช่วงกว่า 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น จึงมีเงินทุนไหลเข้ามาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากมาย สถาปัตยกรรมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่ให้พื้นที่ในการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ ของมนุษย์เท่านั้น แต่ถูกแปลงให้กลายเป็นทุนที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยผลตอบแทนที่น่าพึงใจ”

“เราจึงเห็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่เจ้าของโครงการได้รับผลกำไรมหาศาลจากการสร้างโครงการ ขายโครงการ และขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่อาคารที่อยู่ในโครงการกลับไม่มีผู้พักอาศัย เป็นโครงการร้างไร้ผู้คน”

 

ปฏิรูปสถาบันตุลาการ ล้มเสาหลักค้ำจุนเผด็จการ

 

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

แม้ข้อเรียกร้องการแก้ไขวิกฤตการเมืองจะมุ่งไปที่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง มองว่าหัวใจหลักของวิกฤตการเมืองไทย คือ สถาบันตุลาการ

การยกคำร้องที่ขอให้ปล่อยตัว ทิวากร วิถีตน จากโรงพยาบาลจิตเวช, การจับทนายอานนท์-ไมค์ ระยอง ฝากขังศาลอาญาที่เปิดทำการรอในช่วงค่ำจนถึงกลางดึก, การตีความมาตรา 112 ของศาลจังหวัดพัทยาล่าสุด อันขัดหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถตีความขยายออกไปให้เป็นโทษได้

“หลายคนเข้าใจว่า ปัญหาของระบบตุลาการไทยนั้นจำกัดแค่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นศาลการเมืองเท่านั้น จนลืมไปว่ายังมีคดีอีกมากที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมที่มีปัญหาความอยุติธรรมไม่แพ้กัน”

 

สภาวะรัฐรุงรังแต่ดันไร้น้ำยา

 

โดย ฉัตร คำแสง

ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะอิจฉาประชาชนในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เพราะเห็นว่ารัฐสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้แทบทุกเรื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในประเทศอื่นๆ

นโยบายของประเทศเหล่านั้นจึงขยันทำมาตรการแทรกแซงตลาด อุดหนุนอุตสาหกรรม หรือกีดกันต่างประเทศ แต่ลืมนึกไปว่ารัฐยังไม่สามารถทำ ‘หน้าที่ขั้นต่ำ’ ได้ดีเลย

ฉัตร คำแสงชวนสำรวจ ‘รัฐ’ จากมิติหน้าที่และความสามารถ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมรัฐในประเทศกำลังพัฒนาจึงล้มเหลวในการปฏิรูปและการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

“ความฝันของม็อบปลดแอกไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ” สมบัติ บุญงามอนงค์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“มนุษย์ฝันไกลนะ ถึงขนาดฝันไปดาวอังคารกันแล้ว ความฝันของมนุษย์พลังเหลือล้น เพราะฉะนั้นแค่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นความฝันที่ไม่เพ้อเจ้อ ไม่เกินเลย สอดคล้องกับยุคสมัย และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นี่คือดุลยภาพที่ดีมากกับทุกฝ่าย ทำไมถึงจะเป็นไปไม่ได้”

“กระแสจะสูงกว่านี้ได้อีกถ้ามีความชอบธรรม แต่ต้องรักษาความชอบธรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุด เพราะฝ่ายตรงข้ามจะทำลายความชอบธรรมของม็อบ จริงๆ การมีคนจำนวนหนึ่งจะปราบคนหนึ่ง คงไม่ยากนักหรอก สำหรับรัฐนะ แต่เขาประเมินว่าการทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ลุกลาม ดังนั้นเขาจึงต้องทำลายความชอบธรรมให้ได้ ต้องหาให้เจอว่าจะทำลายความชอบธรรมได้อย่างไร”

“ผมสนใจปรากฏการณ์ในโรงเรียน ผมนั่งมอนิเตอร์ความคิดเขา ดูปรากฏการณ์ว่าเขาขยับตัวกันอย่างไร นี่คือราคาสูงสุดเลย ต่อให้ไม่สำเร็จในข้อเรียกร้องนะ แต่คุณูปการที่ลามไปในโรงเรียนได้ ผมชื่นใจแล้ว

“แล้วผมรู้ว่าเด็กพวกนี้จะเติบโตก้าวหน้าต่อ ถ้าไม่สำเร็จยกนี้ เด็กมัธยมรุ่นนี้เมื่อเขาเริ่มเข้าสู่มหาวิทยาลัย เขาจะเป็นทัพหน้าใหม่ เราจะไม่สูญเสียการก่อเกิดคนรุ่นใหม่ที่จะนำการต่อสู้ ไม่มีทาง จะแข็งแรงมาก ผมมีความหวังมากนะ”101 ชวน สมบัติ บุญงามอนงค์ นักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม ผู้ผ่านการประท้วงท้าทายเผด็จการมาหลายยุคสมัย มาคุยว่าด้วยม็อบของประชาชนปลดแอกและการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาว มองตั้งแต่รูปแบบการชุมนุม การรับมือกับผู้เห็นต่าง เนื้อหาสาระของความหวัง ข้อเรียกร้องและจุดยืนของการประท้วง รวมถึงความฝันของพวกเขา

 

จาก ‘บาซูก้า’ สู่ ‘สมาร์ตบอมบ์’ – ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสำหรับศึกโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

 

โดย  สันติธาร เสถียรไทย

“ยุทธศาสตร์ ‘สมาร์ตบอมบ์’ คือระเบิดขนาดเล็กที่ใช้เฉพาะจุด เฉพาะเวลาอย่างแม่นยำ เพื่อประหยัดกระสุนและลดผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการ”

“ในช่วงล็อกดาวน์ นโยบายต้องเป็น ‘บาซูก้า’ เน้นปริมาณใหญ่พอ (Titanic) ทันเวลา (Timely) และครอบคลุมคนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด … วันนี้ ความสำคัญของ ‘การยิงให้เข้าเป้า ใช้ยาให้ตรงจุด’ (Targeting) สำคัญกว่าเฟสที่แล้วมาก”

หลังจากยุให้ไทยยิงบาซูก้าการคลังไปแล้ว สันติธาร เสถียรไทย เสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ ‘สมาร์ตบอร์ม’ แก้ปัญหาอย่างแม่นยำ โดยใช้นโยบายเลือกเปิด/ปิดเมืองและการท่องเที่ยงต่างประเทศเฉพาะพื้นที่ รวมถึงใช้นโยบายการเงิน-การคลังเฉพาะจุด

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบสมาร์ตบอมบ์นี้ต้องยืนอยู่บน 3 หลักการสำคัญ คือ 1. อยู่บนฐานข้อมูลที่แน่นทั้งด้านทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข (Data-driven) 2. มีการประสานกันทั้งสามเครื่องมือเศรษฐกิจทั้งเปิดเมือง-การคลัง-การเงิน (Well-coordinated) 3. มีการติดตามประเมินผลใกล้ชิด (Continuous assessment)

 

“ต้องสั่นคลอนอำนาจรัฐ ประชาชนถึงมีอำนาจ” – นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

 

โดย ธีรภัทร อรุณรัตน์

ในวันที่คนรุ่นใหม่เปล่งเสียงต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิชุมชน ออกมาขอโทษจากเหตุที่เจ้าตัวเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. เมื่อปี 56-57 พาประเทศถอยหลัง

101 สัมภาษณ์ นพ.สุภัทร ที่ออกตัวพร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่เต็มกำลัง ท่ามกลางอำนาจรัฐที่กำลังกดข่มชุมชนและคนรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กัน

“ต้องสั่นคลอนอำนาจรัฐ ประชาชนถึงมีอำนาจ ถ้าอำนาจรัฐแข็งแกร่ง เสียงของเราจะไม่มีวันต่อรองกับเขาได้ เราทำได้เพราะอำนาจรัฐช่วงนั้นอ่อนแอ เสียงประชาชนเลยแข็งแรง ทุกอย่างสัมพัทธ์กัน”

“การต่อสู้อย่าไปมุ่งเป้าที่ชัยชนะ เพราะเราจะไม่สนใจวิธีการ หัวใจคือเราทำหน้าที่ ถ้าเราใช้ทุกวิชาเพื่อชัยชนะ ขบวนเราจะสูญเสียการยอมรับจากสังคม เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการยอมรับจากสังคมว่าเราอยู่ในจุดยืนและวิธีการที่ถูกต้อง”

 

แฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ ฝันร้ายของระบอบเก่าที่เสื่อมทรุด

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง มองปรากฏการณ์แฟลชม็อบของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ฝันร้ายของระบอบปกครองกึ่งเผด็จการทหารกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

มุนินทร์ พงศาปาน: นักกฎหมายต้องลั่นระฆัง เมื่อความยุติธรรมถูกล้ำเส้น

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

การออกมาท้วงติงหลักการทางกฎหมายของคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เช่นในกรณียุบพรรคอนาคตใหม่, วันเฉลิมหายตัว, การสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ทำให้ผู้คนเห็นว่าสังคมนี้ไม่ได้มืดมิดเกินไปนัก

วจนา วรรลยางกูร สนทนากับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการสอนนิติศาสตร์ในสภาพสังคมปัจจุบัน การฝึกฝนทางวิชาชีพ ระบบสอบผู้พิพากษา-อัยการ จนถึงการสร้างนักกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้สังคม

“เวลาอาจารย์สอนนักศึกษา เราจะพูดถึงเรื่องหลักนิติรัฐ เรื่องความไม่เป็นธรรม…ถ้าเราวิจารณ์ได้แค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่กลับนิ่งเฉย ไม่พูดอะไรเลยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าละอาย”

“เป็นหน้าที่ของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายและนักวิชาการที่จะต้องตีระฆังบอกคนในสังคมว่าเรื่องไหนรัฐบาลกำลังล้ำเส้น…บางเรื่องในอดีตที่เราเคยคิดกันว่าเลวร้ายและน่ากังวลแล้ว ในยุคต่อๆ มามันอาจจะเลวร้ายและน่ากังวลกว่านั้นอีก”

“น่าวิตกกังวลมากถ้านักกฎหมายไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพ…สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษากฎหมายจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และตระหนักถึงอันตรายของการผลิตนักกฎหมายที่ไม่มีคุณภาพออกสู่สังคม”

 

ระเบียบโลกแบบหยินหยาง

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร มองระเบียบโลกหลังโควิด-19 ที่จะเป็นแบบ ‘หยินหยาง’ ซึ่งโลกไม่ได้แบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน แต่จะมีความซับซ้อนแบบไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร หรือที่เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคไร้ขั้วเสถียร

“การระบาดของโควิดเป็นเสมือนสงครามที่เปลี่ยนดุลอำนาจโลก นำไปสู่สมดุลใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน กลายมาเป็นคู่หยินกับหยางที่กลืนกันไม่ลง สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตสาธารณสุขเข้าขั้นหายนะ นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนพลังของสหรัฐฯ ค่อยๆ ตกต่ำลง ส่วนจีนที่ก่อนหน้านี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นบน ก็ถูกกดให้ทะยานขึ้นช้าลงเช่นกัน”

“จีน-สหรัฐฯ ยุค Next Normal จะเป็นความสัมพันธ์แบบหยินหยาง กล่าวคือ มีทั้งหยินคือด้านของความร่วมมือ และหยางคือด้านของการแข่งขัน หากมองจากมุมของสหรัฐฯ ถ้าใช้ศัพท์ในวงการทูตก็คือ มีทั้งการเชื่อมโยงมีปฏิสัมพันธ์กับจีน (Engagement) พร้อมๆ ไปกับการสกัดดาวรุ่งไม่ให้จีนทะยานไปมากกว่านี้ (Containment)”

 

ประท้วงด้วย Hashtag: การเมืองภาคประชาชนในโลกออนไลน์ กับ ชัยพงษ์ สำเนียง

 

โดย ปรางชณา ภัทรนรากุล

“โลกออนไลน์ทำให้การเมืองกลายเป็นชีวิต นักการเมืองต้องดูอารมณ์ของผู้คนตลอดเวลา ถ้าคุณพูดอะไรไม่ถูก อภิปรายในสภาไปคนก็จับตามองตลอดเวลา พูดอะไรเฉิ่มๆ ไม่อยู่ในหลักการก็โดนถล่มทันที ตอนนี้ทุกคนสามารถเป็นนักการเมือง สามารถสร้างวาระและประเด็นทางการเมืองได้ โลกออนไลน์ทำให้สิ่งเหล่านี้มันกว้างขวางและชัดเจนขึ้น”

การใช้แฮชแท็กและพื้นที่ออนไลน์ขับเคลื่อนนั้นมีพลังมากเพียงใด และจะส่งผลต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทยในอนาคตอย่างไร ?

ปรางชณา ภัทรนรากุล สนทนากับ ชัยพงษ์ สำเนียง จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการเมืองภาคประชาชนในโลกออนไลน์

“การสื่อสารที่รวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาได้ยากในโลกออนไลน์ทำให้รัฐควบคุมได้จำกัด ไม่ใช่ว่าควบคุมไม่ได้นะ เขาก็พยายามจะสร้างปฏิบัติการทางข่าวสารต่างๆ นานา แต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้คือมันมีจำนวนไหลเวียนมหาศาล เป็นล้านๆ”

“ปัญหาของรัฐต่างๆ คือการคิดว่าตัวเองผูกขาดอำนาจคำอธิบาย IO คอมมิวนิสต์จีนก็คิดว่าจะสื่อสารแบบนี้กับคนทั้งโลกได้ ต้องอธิบายซ้ำๆ ให้ฝังหัว แต่คนปัจจุบันไม่ได้คิดแบบนั้น และมีวิธีการตอบโต้ข้อมูลที่ไม่จริงในแบบของตัวเอง”

 

จันจิรา สมบัติพูนศิริ: ‘หัวเราะต่ออำนาจ’ ยุคสมัยแห่งการปะทะของแนวคิดเก่า-ใหม่

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ยุค คสช. มีวัตถุดิบในการสร้างอารมณ์ขันเยอะมาก…ทุกวันนี้ที่เราเห็นอารมณ์ขันในทวิตเตอร์หรือในการประท้วงมันมีที่มา ไม่ใช่อยู่ๆ เกิดขึ้นมา คนรุ่นใหม่ที่โตมาในยุค คสช. เห็นความ absurdity ของสังคมเยอะมาก”

“ถ้าไม่มีโควิดรัฐบาลคงจะวางใจกว่านี้ แต่ตอนนี้โควิดเป็นไพ่ที่เปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง การประท้วงเกิดขึ้นในภาวะที่เรียกว่า perfect storm คือเกิดควบคู่กับปรากฏการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ”

“สิ่งที่ปรากฏในโลกทวิตเตอร์หรือในการประท้วงตอนนี้ เป็นแนวคิดใหม่ที่กำลังปะทะกับแนวคิดเก่า ซึ่งแนวคิดเก่าไม่ตายง่ายๆ และยิ่งคุณไปกระตุกหนวดแนวคิดเก่านี้ก็จะยิ่งอยู่นานกว่าเดิม จะทำอย่างไรให้คนที่ยังอยากจะรักษาแนวคิดเก่าเหล่านี้เห็นว่าเขามีที่ทางในแนวคิดใหม่”

“การใช้กำลังใดๆ ก็ตาม ที่แม้ว่าจะทำในนามของความรักชาติ จะยิ่งทำให้สังคมแตกสลายเร็วยิ่งขึ้น ถ้าใช้กำลังปราบปรามแล้วคนที่ไม่เห็นด้วยจะวิ่งไปหาฝ่ายที่สุดโต่งมากขึ้น จะยิ่งผลักให้คนที่เห็นต่างกับคุณ กลายเป็นว่าไม่เอาคุณเลย”

วจนา วรรลยางกูร คุยกับ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ผู้ศึกษาเรื่องอารมณ์ขันกับการประท้วง ถึงการประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และการเสียดสี จนถึงเรื่องทิศทางการเคลื่อนไหวเชิงประเด็น

 

“#ให้มันจบที่รุ่นเรา” – จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

 

โดย กองบรรณาธิการ

วันที่ท้องถนนราชดำเนินกลายเป็นที่ชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาในการเดินหน้าขับไล่เผด็จการอย่างทรงพลังและเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสียงของพวกเขามีทั้งผู้โอบรับ สนับสนุน ไปจนถึงผู้ตั้งคำถามและไม่เห็นด้วย

ท่ามกลางแรงเสียดทานจากผู้มีอำนาจ สังคมไทยทำความเข้าใจไหมว่า พวกเขาเติบโตมาแบบไหน ทำไมถึงปฏิเสธสังคมปัจจุบัน แล้วสังคมในฝันมีหน้าตาอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นทัศนะของ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอก และกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่วัยนักศึกษา

101 จับประเด็นและเก็บความบางส่วนจากการสนทนากับจุฑาทิพย์มาให้พิจารณากัน

 

อ่านอินเดียในระเบียบโลกใหม่ กับ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“อินเดียเป็นเหมือนทางเลือกหนึ่งที่สำคัญและน่าศึกษาต่อไปในอนาคต ซึ่งเราไม่ควรที่จะมุ่งไปหาแต่จีนและละเลยอินเดียไป เวลาเรามองอินเดีย ให้มองเหมือนที่มองจีนเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว … เราจะเห็นโอกาสหลายอย่างเพิ่มขึ้นมา”

101 สนทนากับ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก คอลัมนิสต์ประจำ The101.world และผู้ที่สนใจศึกษาอินเดียในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม – ความฝันของอินเดียคืออะไร ตอนนี้อินเดียอยู่จุดไหนบนเวทีโลก พร้อมทั้งสำรวจที่มาความขัดแย้งจีน-อินเดีย รวมถึงปากีสถาน และความสัมพันธ์อินเดีย-อาเซียน

“ในกรณีของอินเดีย ต้องบอกตามตรงว่า อินเดียยังเป็นมหาอำนาจระดับกลางหรือระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ในความคิดของอินเดีย เขาพยายามจะขยายอิทธิพลหรือระดับความเป็นมหาอำนาจของตัวเองมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าอินเดียยังมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง เมื่อเทียบกับมหาอำนาจชาติอื่นที่อยู่บนเวทีโลก ”

“ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียใต้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ซึ่งอินเดียก็ยังเล่นบทบาทเดิมอยู่ แต่ไม่เป็นผล เพราะสถานะความสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มลดลง เนื่องจากประเทศจีนเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้”

“เหตุการณ์ [ความขัดแย้ง] ที่เกิดขึ้นทำให้อินเดียต้องกลับมาทบทวนความสัมพันธ์กับจีน ถึงขั้นที่นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบางคนใช้คำว่า ‘reset’ ระบบความสัมพันธ์กับจีนใหม่ เพราะความสัมพันธ์ของจีน-อินเดียลดลงในทุกมิติ แน่นอนว่า อินเดียมองว่าการกระทำของจีนเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว และมีโอกาสที่อินเดียจะหันไปหามหาอำนาจอื่นเพื่อคัดคานกับจีนเพิ่มขึ้น ”

“ในปัจจุบัน อินเดียมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจาก Look East เป็น Act East คือมองว่าต้องกระตือรือร้นกับภูมิภาคฝั่งตะวันออกของตัวเองมากกว่านี้ แน่นอนว่านโยบาย Act East รวมอาเซียนอยู่ด้วย การที่นโยบายของอินเดียเปลี่ยนไปเช่นนี้สะท้อนว่า เขาให้ความสำคัญกับอาเซียนที่อยู่ใกล้ชิดกันในทางภูมิศาสตร์ ”

 

#WhatsHappeninginThailand: เมื่อการเมืองออนไลน์ลงสู่ท้องถนน – สุรัชนี ศรีใย

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“หากมองจากกรอบคิดทางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว การนำเสนอประเด็นที่ก้าวหน้า ต้องคิดให้ละเอียด ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารต่อกลุ่ม โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่แสดงจุดยืน (‘silent majority’) เพราะมันส่งผลต่อตัวขบวนการ และความเป็นไปได้ในการที่จะก้าวสู่การเรียกร้องในขั้นต่อไป”

ในโมงยามแห่งการเมืองอันร้อนแรงเมื่อเพดานแห่งการเจรจาถูกผลักให้สูงขึ้น 101 ชวน อ.ดร. สุรัชนี ศรีใย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาการเมืองและการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ สนทนาว่าด้วยที่ทางของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการเมืองแห่งการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งชวนอ่านดุลอำนาจระหว่างม็อบและรัฐบาล

“…ต้องตั้งคำถามก่อนว่า การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์กับการเคลื่อนไหวบนถนนเป็นสิ่งเดียวกันหรือแยกจากกัน เรามองว่าการเคลื่อนไหวสองอย่างนี้ไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว เพียงแค่ว่าเป็นสองโลกที่เกี่ยวพันกัน”

“เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของโซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนว่า มันมักถูกใช้เพื่อการสร้างความตระหนักรู้ ให้ข้อมูล ระดมพล และนัดหมายการชุมนุมมากกว่าเพื่อสร้างแรงกดดันโดยตรงต่อรัฐ”

“การที่กระแสการเมืองในโลกออนไลน์จุดติด … นับว่าเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยที่ควรจะเคลื่อนไปข้างหน้าต่อ ไม่ว่ามันจะ #จบที่รุ่นเรา หรือไม่จบที่รุ่นเราก็ตาม ถ้าเกิดมันไม่ได้จบที่รุ่นเรา พลวัตที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้สูญเปล่าเสีย เพราะอย่างน้อยกระแสนี้ก็พอจะขีดเส้นทางในอนาคตที่ควรจะเป็น”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนสิงหาคม 2563

 

อีกด้านหนึ่งบนขั้วโลกของเพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์

 

โดย เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นเล็กมากมายหลายคนที่ออกมาตั้งคำถาม ชวนเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ไปจนถึงผู้ใหญ่อย่างเราให้คิดทบทวนความผิดแปลกและบิดเบี้ยวหลายต่อหลายอย่างในสังคมไทย ตั้งแต่เรื่องที่ดูไม่มีอะไรอย่างทรงผมบนหัว ไปจนถึงสิ่งที่กระทบพวกเขาโดยตรงอย่างนโยบายรัฐด้านการศึกษา

หลากชื่อของเด็กๆ ที่กล้าพูด กล้าคิดจนกลายเป็นกระแส หลายแคมเปญรณรงค์ที่ออกมาตบหัวพวกเราและผู้หลักผู้ใหญ่ หนึ่งในนั้นคือชื่อของ เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ เด็กหนุ่มผู้กำลังเปลี่ยนผ่านจากเด็กนักเรียนกางเกงขาสั้นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไปเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเต็มตัว

หากไม่คุ้นชื่อหรือหน้าตา เพนกวินเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ผลักดันข้อเรียกร้องด้านการศึกษาไทยให้กลายเป็นจริง หรือถ้าไม่คุ้นตำแหน่ง เหตุการณ์ที่เขาไปชูป้ายให้นายกรัฐมนตรีอ่านในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นเมื่อเกือบสองปีก่อนน่าจะเคยผ่านตาคุณอยู่บ้าง

ผ่านพ้นวันนั้น ชื่อของเพนกวินปรากฎอยู่ในหลายสื่อ บนโปสเตอร์งานเสวนาการเมืองและการศึกษา และอีกหลายแคมเปญหลังจากนั้นที่เขาตั้งคำถามกับเหล่าผู้ใหญ่ในรัฐสภา ชวนให้เราจินตนาการไปว่าเขาเป็นแค่เด็กมัธยมจริงๆ หรือช่วงเวลาวัยรุ่นของเขาหายไปกับความจริงจังในภาพที่เราเห็นหรือเปล่า

หลังพูดคุยกัน เราถึงได้รู้ว่าที่จริงแล้ว เพนกวินก็เป็นแค่เด็กผู้ชายวัยรุ่นหน้ามันผมสั้นเกรียน ไม่ต่างอะไรกับเด็กหนุ่มคนอื่นๆ

 

ทำไมคนชั้นกลางไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย

 

โดย สมคิด พุทธศรี

ธร ปีติดล กับ ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ คุยกับ สมคิด พุทธศรี ไขปริศนาทำไมคนชั้นกลางระดับบนของไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย

“เราเชื่อว่าคนชั้นกลางในเมืองมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพลังในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สูงกว่าคนชนบทซึ่งยังติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์ ในตอนนั้น คนชั้นกลางถูกมองว่าเป็นความหวังของประชาธิปไตย”

“วิกฤตการเมืองในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา มันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับความคาดหวังเหล่านี้”

“คนชั้นกลางสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามองประชาธิปไตยว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองแค่ไหน …”

 

“ผมเชื่อว่ายังมีทหารแบบคุณพ่อ” พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลูกชายผู้นำคณะราษฎร

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ในวัย 80 ปี เขามองการกระทำอันยิ่งใหญ่ของคณะราษฎรอย่างไร, ในยามสงครามจบสิ้น เขามองตัวเองในฐานะทหารผ่านศึกอย่างไร, ในวันที่ประชาธิปไตยส่องแสงริบหรี่ เวลาได้ยินคำว่าคณะราษฎร ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เขารู้สึกอย่างไร และในวันที่ทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เขาคิดว่าคนแบบพระยาพหลฯ ยังมีอยู่หรือไม่

“สุกหรือห่ามเนี่ยแปลว่ามันเป็นผลไม้แน่ๆ แต่มันจะมีผลไม้ได้มันต้องมีต้น อยู่ดีๆ ผลไม้มันจะออกมาโดยไม่มีต้นไม่ได้ ประเด็นคือต้นมันยังไม่มีเลย แล้วมันจะสุกจะห่ามได้ยังไง คณะราษฎรเขาไปเรียนต่างประเทศ ไปเห็นไอ้ต้นไม้ประชาธิปไตยว่ามันมีประโยชน์แน่ๆ กับแผ่นดินไทยกับราษฎรไทย เขาถึงกล้าเอาหัวพาดเขียงที่จะเอาต้นไม้ต้นนี้มาปลูกในแผ่นดินนี้”

 

‘ลาคลอด’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เดินหน้าสู่ครอบครัวเข้มแข็งด้วยสิทธิแรงงาน

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“เป็นผู้หญิงจะขออะไรมาก ถ้าไม่มาทำงานโรงงานอย่างมากก็เป็นผู้หญิงบริการ จะเอาอะไรมาก เดี๋ยวมีสามีแล้วก็ให้สามีเลี้ยง”

ก่อนจะมีกฎหมายลาคลอด 90 วัน เมื่อปี 2536 ผู้หญิงต้องถูกไล่ออกเพราะท้อง, ต้องรีบกลับมาทำงานทันทีหลังคลอด, แท้งลูกเพราะทำงานหนัก จึงเกิดการต่อสู้ของสาวโรงงานร่วมกับภาคประชาสังคมจนสำเร็จ

ผ่านมา 26 ปี แม้ปัจจุบันจะมีการพูดถึงสิทธิลาคลอด 180 วัน สิทธิลาเลี้ยงบุตรของผู้ชายในภาคเอกชน, การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด และศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ถึงเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน และสิทธิที่คนไทยควรจะได้ต่อไปเพื่อเอื้อต่อการมีลูกและการสร้างครอบครัว

“ช่วงนั้นนายจ้างเริ่มออกมาพูดว่าจะเลิกจ้าง จะย้ายฐานการผลิต เดี๋ยวก็ท้องกันเต็มไปหมด พวกเราก็ทำข้อมูลวิจัยสิบกว่าโรงงานเพื่อดูว่าถ้าให้ลาคลอดโดยจ่ายค่าจ้างเต็มจะใช้ต้นทุนเท่าไหร่และแรงงานก็บอกว่าเขาจะมีลูกอย่างมากก็ 2 คน ไม่ใช่ว่าแต่งงานแล้วจะมีลูกเลยต้องดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย พอมีงานวิจัยมาโต้เขาก็พูดไม่ออก”

“ตอนผมมีลูก ที่ทำงานให้หยุด 1 เดือน รู้เลยว่าถ้าให้ผู้หญิงทำคนเดียวไม่ไหวแน่ ทำให้ผู้ชายได้เรียนรู้ว่างานบ้านและการดูแลเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ต้องซักผ้าอ้อมตลอดเวลา ต้องต้มขวดนมให้สุก ทำไม่ดีเดี๋ยวลูกท้องเสีย ลูกตื่นตอนดึก ภรรยาไม่ไหวคุณก็ต้องช่วย เวลาลูกร้องจะมานั่งสบายอยู่ได้ยังไง”

“รัฐบาลก็บอกว่าอยากให้คนมีลูกมากขึ้น แต่นโยบายที่ออกมาไม่ได้มีอะไรจูงใจ ถ้าเรามีสวัสดิการที่ชัดเจนอาจทำให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้ ทั้งการขยายวันลาคลอดของผู้หญิง การให้ผู้ชายลาคลอด การมีศูนย์เลี้ยงเด็ก การให้เงินเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้นจาก 600 บาทเป็น 1,000 บาท สวัสดิการเหล่านี้สามารถจูงใจคนได้”

 

ชาติคือประชาชน

 

โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์

เรอนองชี้ให้เห็นว่า ‘ชาติ’ เป็นแนวคิดที่ใหม่มากแม้กระทั่งในโลกศตวรรษที่ 19 “โลกยุคโบราณไม่รู้จักชาติ อียิปต์ จีน หรือคาลเดียโบราณไม่ใช่ชาติ […] โลกยุคโบราณมีสาธารณรัฐ ราชอาณาจักร สาธารณรัฐที่มารวมกลุ่มกันเป็นสมาพันธ์ จักรวรรดิ แต่ไม่มีชาติในความหมายแบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้”

“ประชาชนไม่ได้ตกเป็นของชาติและชนชั้นปกครองที่อ้างว่าตัวเองทำเพื่อชาติโดยไม่เหลียวแลและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน กลับกัน ชาติต่างหากที่เป็นของประชาชนและประชาชนนั่นเองที่ ‘เป็น’ ชาติ เพราะหากไม่มีประชาชนที่ยินยอมพร้อมใจจะอยู่ด้วยกัน ชาติก็ย่อมมีชีวิตต่อไปไม่ได้

“ถ้าชาติจะดำรงอยู่ต่อไปได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในชาติไม่เพียง ‘ร่วมทุกข์ ร่วมสุข’ แต่ยังต้อง ‘ร่วมมีความหวังไปด้วยกัน’ ”

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนสิงหาคม 2563

 

101 One-On-One Ep.167 : Inconvenient Truths การเมืองไทย กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

โดย 101 One-on-One

นับตั้งแต่รับไม้ต่อจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลคือหนึ่งในพรรคการเมืองที่นำเสนอ ‘ความจริง’ ของปัญหาบ้านเมืองผ่านรัฐสภาได้อย่างแหลมคม

คุยกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าด้วยวิกฤตสุขภาพ สู่วิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวิกฤตการเมืองและรัฐธรรมนูญ

‘ทิม’ อ่านวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองรอบนี้อย่างไร และอะไรคือข้อเสนอของเขาและพรรคก้าวไกลต่อสังคม

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

101 One-On-One Ep.169 #ให้มันจบที่รุ่นเรา กับ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

 

โดย 101 One-on-One

ตั้งแต่จุดสตาร์ทชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันนี้ กลุ่มนิสิตนักศึกษาเดินหน้าต่อสู้อย่างมีพลังและส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ และทุกสายตาต่างให้ความสนใจกับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสียงของพวกเขามีทั้งผู้โอบรับ สนับสนุน ไปจนถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยและตั้งคำถาม

101 สนทนากับ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถึงการเมืองแห่งยุคสมัย มุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อสังคมการเมืองไทย อันนำมาซึ่งข้อเรียกร้องที่พวกเขายืนหยัดให้ได้มา

อะไรคือสังคมในฝัน เบื้องหลังกลยุทธ์การเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร พวกเขาคิดและทำอย่างไรกับปฏิกริยาตอบโต้ นิสิตนักศึกษาจะเดินหน้าในทิศทางไหน

ดำเนินรายการโดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

 

101 One-On-One Ep.172 ม็อบนักศึกษา – สภา – ประชาธิปไตย อ่านการเมืองไทย กับ ภราดร ปริศนานันทกุล

 

โดย 101 One-on-One

ในโมงยามแห่งการเมืองอันร้อนแรงที่ขับเคลื่อนโดยพลังนักเรียนและนักศึกษา ‘สภา’ คือหนึ่งในกลไกลที่หลายคนฝากความหวังว่าจะเป็นทางออก ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยก็ตั้งข้อกังขากับความช้าและบทบาทที่ปรับไม่ทันต่อสังคม

คุยกับ ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วย สถานการณ์การเมืองไทย ทางออกในระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “ม็อบเด็กหัวรุนแรง”

 

โดย ธิติ มีแต้ม และเมธิชัย เตียวนะ

หมดยุคคำพูดที่ว่า “เด็กสมัยนี้ไม่สนใจบ้านเมือง” เมื่อนักเรียนวัยมัธยมออกมาชุมนุมทางการเมือง แม้ภาพจำม็อบในสังคมไทยไปไม่พ้นจากความวุ่นวาย แต่ยุคนี้ภาพจำกำลังเปลี่ยนไป

“หนูรู้สึกว่าการออกมาชุมนุม ออกมาม็อบ เป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตย มันไม่ใช่การสร้างความวุ่นวาย คนไทยอาจจะติดภาพว่า ม็อบต้องวุ่นวาย ต้องฆ่ากัน นองเลือด แต่จริงๆ มันไม่ใช่” – น้องเปเปอร์ นักเรียนมัธยมในจังหวัดนครราชสีมา สมาชิกกลุ่ม Korat No เผด็จการ

กระทั่งคำถามที่ว่าม็อบเด็กหัวรุนแรงจริงไหม ครอบครัวแบบพ่อปกครองลูกเปเลี่ยนไปหรือยัง ค่านิยม 12 ประการยังใช้ได้ผลหรือไม่ ไปจนถึงมุมมองต่ออนาคตการต่อสู้ของพวกเธอเป็นอย่างไร

101 ชวนฟังเสียงเยาวชนที่กำลังเลือกอนาคตของตัวเอง ในสารคดีข่าวสั้น ‘Side B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… ม็อบเด็กหัวรุนแรง’

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save