fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2562

 

 

 

สำรวจมณฑลส่านซี แหล่งกำเนิดอารยธรรมของจีน ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ 4 แห่ง

 

โดย วิโรจน์ สุขพิศาล

มีคำกล่าวว่า หากอยากจะเข้าใจเมืองจีน ต้องเริ่มต้นที่มณฑลส่านซี

พื้นที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของอารยธรรมจีน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 5,000 ปี เคยเป็นเมืองหลวงของจีน 14 ราชวงศ์ และถือเป็นมณฑลหน้าด่าน ที่เชื่อมดินแดนตะวันออกและตะวันตกผ่านเส้นทางสายไหมตั้งแต่ 2100 ปีที่แล้ว

วิโรจน์ สุขพิศาล พาไปสำรวจมลฑลส่านซี ผ่านแหล่งเรียนรู้สำคัญทางประวัติศาสตร์ 4 แห่ง คือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มณฑลส่านซี, หอกลองและกำแพงเมืองซีอาน, เจดีย์ห่านป่าใหญ่, สุสานกองทัพทหารและม้าดินเผาจักรพรรดิฉินสื่อหวง

 

ปรีดี ทักษิณ อภิสิทธิ์ ใครเป็นใครในตระกูล ณ ป้อมเพชร์

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึง ความเป็นมาของตระกูล ณ ป้อมเพชร์ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี 3 นายของไทย คือ ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456”

“เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

“พจมาน ดามาพงศ์ แต่งงานกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้ พินทองทา และแพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว เธอเลือกกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา”

 

“มันเป็นความย้อนแย้งที่สุดในชีวิต” ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“วันที่ผมขานชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายยากมาก มันย้อนแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มันเป็น crisis of representation จริงๆ ระหว่างความเป็นตัวเองและการเป็นตัวแทนขององค์กรที่ต้องรักษาไว้

“มันเป็นความย้อนแย้งที่สุดในชีวิตที่ผมเคยเจอ บางคนก็มองว่าผมเป็นพวก hypocrite ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ ซึ่งก็อาจจะจริงอย่างที่เขาว่าก็ได้…”

101 สัมภาษณ์ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล วุฒิสมาชิก บุตรของอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ที่เข้าสู่ตำแหน่ง ส.ว. ในโควต้าของสำนักจุฬาราชมนตรี

ทว่าในฐานะที่เขาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งวางตัวตนไว้บนจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ไปจนถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐประหาร กลับกลายเป็นความกระอักกระอ่วนที่ยากจะคลี่คลาย

บทสนทนาต่อไปนี้ว่าด้วยตัวตนของเขา ตั้งแต่เรื่องครอบครัว สังคมมุสลิม จุดยืนทางการเมือง ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ และที่เลี่ยงไม่ได้คือวินาทีที่เขายกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ชีวิตใหม่ของคนนอกขนบ ‘อั้ม เนโกะ’ และเส้นทางต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“คนไทยไม่ว่าจะฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายไหนก็มีทัศนคติเหยียดเพศ แล้วคนพวกนี้ไม่ตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ มองว่าเหยียดกะเทยเป็นเรื่องเท่ เก๋ เอากะเทยมาเป็นตัวตลก มันก็คือการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง”

“เราเหมือนจุดรวมของสิ่งที่โครงสร้างสังคมพยายามกีดกันออกจากระบบ ไม่เป็นไปตามขนบ ทำให้โครงสร้างของระบบพยายามจะผลักเราออก กำจัดได้ยิ่งดี เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสังคมถึงจ้องเอาเราเป็นเหยื่อหลักของความเกลียดชัง เพราะเราไปแตะจุดที่อยู่ภายในโครงสร้างที่กดขี่ไว้อยู่”

“ในเอกสารอั้มเป็นผู้หญิง อยู่เมืองไทยทั้งชีวิตก็ไม่มีทางได้ ต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ไม่มีทาง เป็นประเทศที่ไม่เคยจะมองสิทธิของเรา อยู่นี่เราไปไหนก็มีแต่คนชื่นชอบ คนรัก ไม่เหมือนเมืองไทยที่พอเห็นเราเป็นกะเทยปุ๊บผู้ชายก็เมินหน้าหนี ทำงานก็ลำบากจำกัดอยู่แค่ในบางบริษัทเท่านั้น”

“สังคมไทยป่วยหนักมาก พอเราทำอะไรที่ดูปกติในดีกรีฝรั่งเศส ซึ่งคนฝรั่งเศสมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในไทยถูกมองว่าเป็นดีกรีที่แรงมาก มันก็ลำบากที่จะอยู่รอด ไม่ได้หมายความว่าเราผิดแต่เราอาจจะตายก่อน อาจจะโดนจับ โดนกระทืบ”

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ อั้ม เนโกะ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT ในฝรั่งเศส ถึงชีวิตใหม่หลังเดินทางออกจากประเทศไทย และการทำงานเพื่อผู้อพยพที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ขบวนการแก้จน : Parasite

 

โดย นรา

การต้องหวนกลับไปดูหนังเรื่อง Parasite รวม 3 รอบในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ ไม่ได้เป็นความทุกข์ทรมานแต่อย่างไร ตรงกันข้าม กลับยิ่งดูยิ่งสนุก และมองเห็นถึงความรัดกุมของบทหนัง

ทั้งการผูกเรื่องอย่างชาญฉลาด จังหวะจะโคนอันแม่นยำในการสะกดตรึงหรือกำกับคนดูให้รู้สึกคล้อยตามไปได้ต่างๆ นานา สุดแท้แต่ความต้องการของคนทำหนัง ความสอดประสานกลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียว ระหว่างเรื่องเล่าเพื่อความบันเทิงขั้นสุดกับการสื่อสารเนื้อหาสาระที่ดำเนินไปเคียงคู่กันอยู่ตลอดเวลา

รวมทั้งจุดเด่นสำคัญคือ การเล่นท่ายาก เต็มไปด้วยความบังเอิญประจวบเหมาะ (หรืออาจจะเรียกอีกอย่างได้ว่า ‘เต็มไปด้วยความจงใจ’) ชนิดที่ลำดับขั้นตอนต่างๆ เกิดขึ้นดำเนินไปในแบบ ‘คิวแม่นเป๊ะ’ แต่ขณะเดียวกันก็เก่งมากๆ ในการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลรองรับเอาไว้หนาแน่น และไม่มีตรงไหนที่ใด ส่อแสดงถึงความหลุดพลั้งเผลอ หรือการลักไก่โกงคนดูแบบดื้อๆ ซึ่งเป็นปัญหาและข้อด้อยที่มักจะพบเห็นอยู่เสมอในหนังที่เน้นการหักมุม

ข้อยุ่งยากลำบากใจประการเดียวในการเขียนถึงหนังเรื่องนี้ คือ ผมมีความจำเป็นต้อง ‘ล้ำเส้น’ พาดพิงเอ่ยถึงความลับต่างๆ ในหนัง ซึ่งสำหรับท่านที่ยังไม่ได้ดู ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรและไม่พึงรู้ มีผลกระทบต่ออรรถรสในการรับชมเป็นอย่างยิ่ง

คำแนะนำที่ผมนึกออกคือ หากท่านอ่านถึงตรงนี้แล้ว พักสายตาเถิดนะคนดี ไปดูหนังเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านต่อ

ถ้าหากยังลังเลไม่แน่ใจว่าควรดูหรือไม่ ผมขอเชิญชวนอย่างรวบรัดว่า นี่คือหนังเข้าฉายตามโรงที่ควรค่าแก่การดูมากๆ อีกเรื่องหนึ่งในรอบปี

คอลัมน์ Deep Focus เดือนนี้ ‘นรา’ เขียนถึง Parasite หนังที่ว่าด้วยเรื่องชนชั้นของเกาหลี ที่พาคนดูโลดโผนโจนทะยานไปพร้อมๆ กับประเด็นที่ลึกซึ้งกินใจ

 

นินทา ‘ปารีส’ กับ สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์: แฟชั่นและศิลปะในเมืองคนหยิ่ง

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

นอกจากเรื่องแฟชั่น ความหรูหรา มิวเซียม ศิลปะ ดนตรี ในวันนี้ภาพจำของปารีสอาจมาคู่กับปัญหาก่อการร้าย ค่าครองชีพสูง ความสกปรก คนไร้บ้าน มิจฉาชีพ การประท้วงที่ถูกผสมโรง

แต่ในสายตาคนที่คลุกคลีกับความเป็นฝรั่งเศสมาทั้งชีวิต อย่าง สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์ สิ่งที่ทำให้ปารีสยังคงมากเสน่ห์ คือ นิสัยใจคอของผู้คน พื้นที่สาธารณะ การใช้ชีวิตกลางแจ้ง และความความใส่ใจในศิลปวัฒนธรรม

สุภาพิมพ์ เป็นคอลัมนิสต์ด้านแฟชั่นและวัฒนธรรมซึ่งเคยทำงานฝ่ายข่าวสถานทูตฝรั่งเศส ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ปารีส โดยยังเขียนเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของฝรั่งเศสผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘สุภาพิมพ์’

“คนฝรั่งเศสหยิ่งนะ เขาภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง อาจจะรู้สึกว่าเหนือกว่าประเทศอื่นสักหน่อย เขามี วอลแตร์, ฌอง ฌาค รุสโซ, อังเดร มาลโรซ์ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมในยุคที่อเมริกายังไม่ตื่น เขาก็จะภาคภูมิใจในความเป็นฝรั่งเศส ถ้าจะมีอะไรคล้ายไทยคือเขาเป็นชนชาติที่เสรี”

“เขาเก็บภาษีเยอะแต่ก็ตอบแทนมาเยอะ มีสวนหย่อมเป็นระยะๆ แล้วมีถนนเส้นหนึ่งเขาห้ามรถวิ่งแล้วเปลี่ยนให้เป็นที่คนเดิน เป็นพื้นที่สีเขียว นายกเทศมนตรีก็โดนด่า เพราะคนขับรถอยากได้ถนน แต่เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตคน”

“ตอนที่มีกราดยิงร้านอาหารแล้วมีคนเสียชีวิต พอวันรุ่งขึ้นคนก็ไปนั่งกินกันเต็มเลย เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และแสดงออกถึงการใช้ชีวิตต่อไป เราต้องไม่ยอมจำนนต่อผู้ก่อการร้ายที่เขาตั้งใจจะทำให้เราหวาดกลัว เราจะแสดงให้เห็นว่าเราไม่กลัว เราจะใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็นอยู่ คนฝรั่งเศสเป็นแบบนี้”

 

Coffee Shaming กินกาแฟผิดตรงไหน? : ทำไมกูรู Personal Money ถึงชอบบอกให้คนเลิกซื้อกาแฟ

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

คุณคงเคยได้ยินคำสอนของผู้รู้ด้านการเงินมากมายหลายคนนะครับ ที่บอกทำนองว่า ถ้าเลิกกินกาแฟแก้วละเท่านั้นเท่านี้บาทได้ คุณจะเก็บเงินได้เท่านั้นเท่านี้ แล้วเงินที่ว่า ถ้าเอามาลงทุน ได้ดอกเบี้ยทบต้น สุดท้ายก็จะทำให้มีเงินเก็บเท่านั้นเท่านี้

บางคนก็ไปไกลถึงกับบอกว่า ถ้าเลิกกินกาแฟ (รวมถึงเลิกของฟุ่มเฟือยต่างๆ ในชีวิต) จะทำให้คุณมีเงินเก็บเป็นล้านๆ ได้เลย

ตัวอย่างเช่น กูรูการเงินอย่าง ซูส ออร์มาน (Suze Orman) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ก็บอกว่า ถ้าเลิกกินกาแฟแก้วละ 1-3 เหรียญทุกวัน แล้วเอาเงินนั่นมาเก็บออม จะได้ราวเดือนละ 100 เหรียญ ซึ่งถ้าเก็บผสมรวมกับระบบดอกเบี้ยทบต้น ใช้เวลาราวๆ 40 กว่าปี ก็จะเท่ากับหนึ่งล้านเหรียญ

เฮ้ย! หนึ่งล้านเหรียญเลยเหรอ — จะได้ขนาดนั้น ผลตอบแทนแต่ละปีต้องเยอะมหาศาลเลยทีเดียว ซึ่งโดยทั่วไปไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่กระนั้น เธอก็บอกด้วยว่า การกินกาแฟก็เท่ากับการ ‘ฉี่’ เอาเงินล้านทิ้งไปนั่นเอง

อะไรจะขนาดนั้น!

เทรนด์นี้มีผู้ขนานนามว่า Coffee Shaming หรือการประณามหยามหยันการดื่มกาแฟ ซึ่งไม่ได้แปลว่า กูรูการเงินทุกคนเป็นแบบนี้นะครับ มีแค่บางคนเท่านั้นที่หยิบยกเรื่องกาแฟ อันเป็น ‘ไลฟ์สไตล์’ แบบหนึ่งที่เกี่ยวพันไปถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างไม่เข้าใจมาเป็นตัวเปิดเปรียบเปรย บางคนอาจใช้ Coffee Shaming เพื่อกระตุ้นให้คนฉุกคิดถึงการดื่มกาแฟราคาแพงๆ ว่ามันอาจมีผลเสียอย่างไรได้บ้าง แต่กับอีกบางคนก็อาจเป็นไปเพียงเพราะ ‘หมั่นไส้’ ในไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่ว่านี้ก็ได้

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา พาไปรู้จักเทรนด์ Coffe Shaming ของเหล่ากูรูด้านการเงิน ที่มองว่าการดื่มกาแฟของคนยุคมิลเลนเนียลส์คือความฟุ่มเฟือย ท่ามกลางข้อโต้แย้งมากมาย

 

Before Sunset ตามหาแสงสุดท้ายที่ปารีส

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

แต่ละคนคงมีความทรงจำในแต่ละสถานที่ซึ่งได้ไปเยือนแตกต่างกัน เช่นการนึกถึงใครสักคน บทเพลง อาหาร กลิ่นหอม หรือภาพยนตร์สักเรื่อง

วจนา วรรลยางกูร ลัดเลาะในปารีสช่วงฤดูร้อน ผ่านสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ Before Sunset หนึ่งในภาพยนตร์ไตรภาคของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ที่หลายคนหลงรัก โดยมีบทสนทนาของเจสซี่และเซลีนบรรเลงคลอ

“ภาพที่ปรากฏตรงหน้าทำเอาฉันใจเต้น ทันทีที่เห็นโค้งหลังคาโดมของโบสถ์ ภาพที่เห็นไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ แต่ดูน่ารักและสงบเสงี่ยม ฉันค่อยๆ เดินขึ้นไปตามทางลาดของถนน พยายามกลบรอยยิ้มบนใบหน้าทั้งที่หัวใจพองโต”

“คุณเคยฝันว่าอยากใช้ชีวิตในภาพยนตร์สักเรื่องไหม?”

“ฉันกำลังเดินอยู่บนถนนเดียวกับที่เจสซี่และเซลีนเคยเดินมาด้วยกัน พูดคุยกันไม่หยุด แทบไม่เว้นหายใจหรือหยุดมองโบสถ์อันแสนน่ารักนี้เลย เมื่อได้พบคนที่คิดว่าชีวิตนี้จะไม่มีโอกาสเจออีกแล้ว”

“Before Sunset ถ่ายทำในปารีสเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยเน้นฉากลองเทคการพูดคุยของตัวละครที่เดินไปตามท้องถนน มีฉากร้านหนังสือ คาเฟ่ สวนสาธารณะ และอพาร์ทเมนต์ของเซลีน ซึ่งให้ภาพปารีสที่ไม่หรูหรายิ่งใหญ่แต่เป็นเมืองที่น่ารักมากเสน่ห์”

“อาจมีเพียงฉากเรือนำเที่ยวที่ฉายให้เห็นภาพกว้างเมืองปารีส โดยเฉพาะการบันทึกภาพมหาวิหารนอเทรอดามซึ่งถ่ายจากเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำแซน อันกลายเป็นฉากที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้นอเทรอดามไม่กี่เดือนที่ผ่านมา”

 

4 เรื่องน่ารู้ของทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในจีน: ทะเลสาบชิงไห่

 

โดย วิโรจน์ สุขพิศาล

ทะเลสาบชิงไห่ (Qinghai Lake) เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งอยู่มณฑลชิงไห่ บริเวณแถบภาคตะวันตกของจีน มีความยาว 105 กิโลเมตร กว้าง 63 กิโลเมตร ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ชาวบ้านที่อาศัยแถบนี้ไม่เคยเห็นทะเลมาก่อนจึงเข้าใจว่าทะเลสาบแห่งนี้คือทะเล จึงตั้งชื่อว่า ชีไห่ โดย ชี หมายถึงทิศตะวันตก ส่วน ไห่ หมายถึงทะเล เมื่อรวมกันจึงหมายถึงทะเลฝั่งตะวันตก

101 จะพาไปรู้จักกับทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในจีน – ทะเลสาบชิงไห่ ผ่าน 4 เรื่องน่ารู้ของทะเลสาบแห่งนี้

 

ความเห็นแก่ตัวของศิลปินในนามของศิลปะ

 

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เขียนถึง ‘ความเห็นแก่ตัว’ ของศิลปิน ในการนำเรื่องราวส่วนตัวของผู้อื่นมาผลิตผลงานศิลปะ ทั้งในรูปแบบที่อีกฝ่ายเต็มใจ และไม่เต็มใจ

“ใน นิทรรศการ SECOND HAND DIALOGUE ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้ชมจะเข้าไปในห้องบันทึกเสียงแล้วโทรหาใครก็ได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ บทสนทนาจะถูกบันทึกไว้ จากนั้นนำเอาไปออกอากาศต่อทางลำโพงที่ติดตั้งอยู่รอบแกลเลอรี่ ส่วนห้องตรงกลางจะมีศูนย์ทำงานที่มีคนนั่งถอดเทปบทสนทนาเหล่านั้น (กระบวนการจะถูกแสดงขึ้นบนจอ)”

“ผู้เขียนเกิดสงสัยในเรื่องการยินยอม (Consent) ขึ้นมา เช่น สมมติผมโทรหาแฟนเก่า แล้วเธอจะรู้สึกโอเคหรือเปล่าที่คำพูดของตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ หลังจากสอบถามไปยังศิลปินโดยตรงก็ได้ความว่าก่อน ‘บริจาคบทสทนา’ (ในนิทรรศการใช้วลีนี้) ผู้บริจาคจะต้องเซ็นใบยินยอมก่อน ข้อตกลงมีหลายข้อ ตั้งแต่ต้องแจ้งให้คู่สนทนาทราบ รวมถึงการรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง”

“ทว่างานศิลปะหลายชิ้นก็อาจมีที่มาจากการฉกฉวยที่ ‘ไม่เต็มใจ’”

“งานออสการ์เมื่อต้นปี 2019 เมื่อหนึ่งในหนังที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมคือ Detainment (2018, วินเซนต์ แลมบ์) สร้างจากคดีสะเทือนขวัญปี 1993 เมื่อเด็กชายวัยสิบขวบสองคนร่วมมือกันล่อลวง เจมส์ บัลเจอร์ เด็กอายุสองขวบไปฆ่า”

“เสียงตอบรับต่อ Detainment ล้วนเป็นเอกฉันท์ว่ามันคือหนังยอดเยี่ยม โดยเฉพาะความตึงเครียดที่แทบจะทนไม่ไหวและการแสดงอันสุดยอดของเหล่านักแสดงเด็ก แต่ปัญหาคือ ผู้กำกับแลมบ์ไม่เคยแจ้งเรื่องการสร้างหนังกับครอบครัวของ เจมส์ บัลเจอร์ เลย”

 

การผนวกรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

วิกฤตในจัมมูและแคชเมียร์อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่นสะเทือนสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียใต้มากที่สุด ในรอบหลายทศวรรษ

เกิดอะไรขึ้นกันแน่? ทำไมรัฐบาลอินเดียจึงประกาศเปลี่ยนสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ จนโหมไฟความขัดแย้งกับปากีสถาน และส่อแววสะเทือนถึงจีน

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ชวนทำความเข้าใจปัญหาพิพาทเหนือดินแดนแคชเมียร์ที่เพิ่งมีการประกาศยกเลิกสถานะพิเศษที่ให้สิทธิความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง อันมาจากระเบิดเวลาที่อังกฤษทิ้งไว้ตอนอินเดียได้รับเอกราช

เมื่อปี 1947 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจปลดปล่อยดินแดนอาณานิคมโดยแบ่งออกเป็นประเทศอินเดียและปากีสถาน และให้ดินแดนรัฐมหาราชา 562 รัฐที่ไม่เคยถูกปกครองโดยตรงจากอังกฤษตัดสินใจว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน ทำให้เกิดการแย่งชิงเจ้ามหาราชาและเกิดความบาดหมางระหว่างประชาชน

โดยเฉพาะรัฐที่ต้องการเป็นเอกราชคือรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ที่ต้องหันไปพึ่งอินเดียเมื่อปากีสถานส่งทหารเข้าไปเพื่อยึดครองดินแดน จนมหาราชาจำต้องอยู่ใต้อำนาจของอินเดีย โดยมีเงื่อนไขว่าจัมมูและแคชเมียร์ต้องมีสถานะพิเศษบางอย่าง

“ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้อินเดียมีลักษณะคล้าย 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งแน่นอนว่าพรรคบีเจพี พรรคขวาชาตินิยม ไม่ค่อยยินดีกับการมีอยู่ของมาตรานี้เท่าไหร่นัก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาพรรคนี้จึงชูนโยบายยกเลิกมาตราดังกล่าว และผนวกรัฐจัมมูและแคชเมียร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างแท้จริง”

“ใช่ว่าเรื่องนี้จะมีแต่คนต่อต้านเพราะดูเหมือนว่าหลังจากเรื่องดังกล่าวเป็นข่าวไปทั่วประเทศ คนอินเดียในหลายพื้นที่ออกมาเฉลิมฉลองต่อการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่จัมมูและลาดักห์ ที่มองว่านี่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพวกเขา คงมีเพียงคนแคชเมียร์เท่านั้น ที่ดูจะไม่ปลื้มกับเรื่องนี้เสียเลย”

 

หนึ่งปีในสมรภูมิโทรคมนาคมแบบไทยๆ : เปิดความในใจ อเล็กซานดรา ไรช์ CEO dtac

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“เราสัญญาว่าจะไม่หยุด”

นี่คือข้อความแรกที่ อเล็กซานดรา ไรช์ (Alexandra Reich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac เลือกสื่อสารกับคนไทย หลังจากเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2018

18 ปีในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระดับโลก สู่การเป็นหัวเรือใหญ่ในสมรภูมิโทรคมนาคมแบบไทยๆ เผชิญหน้ากับ กสทช. แบบไทยๆ เริ่มนับหนึ่งในวันที่สถานการณ์รอบตัวไม่เป็นใจกับ dtac ทั้งเรื่องคลื่นเก่าหมดสัญญา คลื่นใหม่ยังลูกผีลูกคน และผู้บริโภครุมต่อว่าเรื่องคุณภาพสัญญาณ

หนึ่งปีแรกผ่านไป เธอยังยืนยันคำสัญญาอยู่หรือไม่

สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการ 101 ชวน อเล็กซานดรา ไรช์ ซีอีโอ dtac มาเปิดความในใจ ตั้งแต่วิธีคิดในการจัดการวิกฤตคลื่นความถี่ ความสัมพันธ์กับ กสทช. การปรับตัวกับการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับ 5G รวมไปจนถึงทิศทางในอนาคตของ dtac

หนึ่งปีผ่านไป อะไรคือสุข-ทุกข์ของเธอ ดีแทค และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชากรโลกไม่เพิ่มอีกต่อไป?

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

จากการประมาณการณ์ของสหประชาชาติ ประชากรโลกน่าจะหยุดโตในราวปี 2100 ซึ่งถึงตอนนั้น คาดว่าจะมีคนอยู่บนโลกถึงราวหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านคน

ที่จริงแล้ว โลกเราเคยพบกับการที่ประชากรลดฮวบมาก่อน แล้วไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดใหญ่ในยุโรป อย่างกาฬโรค (ที่บังเอิญเกิดขึ้นหลังวาติกันสั่งจัดการกับแมว เพราะคิดว่าแมวดำนั้นเกี่ยวพันกับซาตาน หลายคนก็เลยเชื่อว่าไม่มีแมว หนูจึงแพร่ระบาดทำให้เชื้อโรคนี้แพร่กระจาย — ซึ่งไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด) ทำให้คนในยุโรปเสียชีวิตราว 200 ล้านคน กราฟประชากรจึงตกลงมา แต่ในที่สุดก็พุ่งดิ่งขึ้นไปใหม่

แต่สหประชาชาติคาดว่า การ ‘หยุดโต’ ครั้งนี้ ไม่เหมือนในอดีต เพราะในอดีต การที่ประชากรลดฮวบลง เป็นเพราะมีคน ‘ตาย’ ทว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2100 ไม่ได้เกิดเพราะมีคนตาย แต่เกิดขึ้นเพราะ ‘ไม่มีคนเกิด’ ต่างหาก

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา หยิบประเด็นอนาคตของมวลมนุษยชาติอีก 100 ปีข้างหน้าที่ว่า ประชากรโลกอาจไม่เพิ่มอีกต่อไป และโลกอาจเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล เราจะเตรียมรับมืออย่างไร

 

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : เมื่อคดีข่มขืนยอมความไม่ได้อีกต่อไป

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงการการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่การยอมความในคดีข่มขืน การคุ้มครองเด็ก และการเพิ่มโทษคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากโสเภณี

“28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เปลี่ยนเป็นความผิดอาญาแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยผลของประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่มาตรา 281 คงเหลือให้เป็นความผิดยอมความได้เฉพาะการข่มขืนระหว่างคู่สมรสในบางพฤติการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างการดำเนินคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยสร้างความรับรู้ให้กับคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ให้เคารพและให้เกียรติทางเพศกับผู้อื่น ไม่ใช่ซึมซับการใช้อำนาจเหนือเหมือนในฉากหนังเดิมๆ ว่าข่มขืนไปก่อนแล้วเขาก็จะมารักเราเอง…”

“หากวันนี้เราทราบว่ามีผู้ย้ายมาเป็นเพื่อนบ้านใหม่เคยทำผิดฐานฉ้อโกงมาหลายคดี แต่เพื่อนบ้านใหม่นั้นไม่เคยถูกลงโทษเลยเพราะคดีอาญายุติหมด เพราะผู้เสียหายไม่เอาเรื่องบ้าง มีการยอมความบ้าง เราคงยังรู้สึกปลอดภัยอยู่ เพราะเขาไม่ใช่ภัยสังคม เพียงแต่หากเขาขอยืมเงิน เราอย่าให้ยืมเขาก็พอ

ตรงกันข้าม หากวันนี้เราทราบว่ามีเพื่อนบ้านย้ายมาอยู่ใหม่ที่เคยทำผิดข่มขืนกระทำชำเราหลายคดี และไม่เคยถูกลงโทษเลยเพราะคดียุติลง เพราะยอมความบ้างหรือเหตุผลทางเทคนิคบ้าง เราคงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเราและครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ข่มขืนกระทำชำเราจึงควรเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้

สำหรับข้ออ้างที่ว่าผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ ก็อย่าไปบังคับเขา เพราะจะเป็นการกระทบจิตใจเขาซ้ำสอง ในเรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมได้แก้ไขมานานแล้ว กล่าวคือ การสอบสวนความผิดเกี่ยวกับเพศที่ผู้เสียหายเป็นผู้หญิง ต้องใช้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้ถามปากคำ นอกจากนี้ ศาลสามารถคุ้มครองผู้เสียหายไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิดในการพิจารณาคดีเหล่านี้ได้”

 

อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี

 

โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนเหตุการณ์ 20,323 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,997 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 13,143 ราย ฯลฯ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ. Deep South Watch เปิดสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

พร้อมชี้ให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงเป็นอย่างไร ลักษณะความรุนแรงอยู่ในประเภทไหน ใครคือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ใครคือผู้ก่อเหตุ สาเหตุของความรุนแรงคืออะไร และประชาชนคิดอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ

“สังเกตดูให้ดีเราจะเห็นว่า 15 ปีที่ผ่านมา วงจรคลื่นของความรุนแรงมีลักษณะแบบแผนที่ขึ้นลงแบบเป็นช่วงของฤดูกาล (Seasonality) ในทุกๆ ห้วง 4 หรือ 5 ปี ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี จากนั้นก็ต่ำลงและสูงขึ้นอีกเป็นช่วงๆ เหมือนกับวงจรอุบาทว์ ปรากฏการณ์ซ้ำๆ ดังกล่าวดูเหมือนเป็นอัลกอริทึม (Algorithm) อันเป็นแบบแผนอะไรบางอย่างซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด

“อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความแปรปรวนเช่นนี้มีความถี่ซ้ำมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากตัวแปรหลายอย่างในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาอย่างสันติที่ยังมีความไม่แน่นอน”

 

ประวัติศาสตร์สอนอะไร – ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

อ่านปาฐกถา “ประวัติศาสตร์สอนอะไร” ฉบับสมบูรณ์ ของ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในงานสัมมนาวิชาการเนื่องในวาระ “72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”

“จากประสบการณ์ทั้งจากการเรียน การสอน และการทำวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมในทางประวัติศาสตร์ของผมที่ผ่านมาราว 3 ทศวรรษ ผมมีข้อสรุปดังนี้

หนึ่ง การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การ “สอนบทเรียน” (lessons) ที่เป็นคู่มือสำเร็จรูปเต็มไปด้วยคำสอนหรือข้อคิดเตือนใจที่เป็นสัจธรรมพร้อมจะนำไปใช้ในการปฏิบัติในปัจจุบันและอนาคต ในความเป็นจริงไม่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันใดที่มีสภาพทางสังคมเหมือนกับในอดีต จึงยากจะรู้ว่าบทเรียนใดในประวัติศาสตร์เหมาะควรแก่การใช้ในขณะนี้ (Maza 2017)

ที่สำคัญกว่าคือ การซึมซับและตระหนักถึงความจริงในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ในสมัยก่อนชนชั้นนำและผู้ปกครองสรุปบทบาทและหน้าที่ของประวัติศาสตร์โบราณว่าคือการให้บทเรียนทางศีลธรรมแก่ผู้ปกครองรุ่นหลัง ไม่ได้ให้แก่ประชาชนผู้ถูกปกครอง ซึ่งไม่ต้องรู้ประวัติศาสตร์ ในสภาวการณ์โลกหลังสมัยใหม่ คำถามไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว หากแต่ควรต้องเตรียมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างเป็นระลอกคลื่น

สิ่งที่ต้องรู้และตระหนักคือ ประวัติศาสตร์บอกอะไรในโลกที่ความจริงไม่ได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงแห่งเดียว จะหาคำตอบนี้ได้เราต้องจับแก่นแกนของการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดมาก่อนแล้วให้ได้ ยุคกรีกโบราณก็มีเฮโรโดตัส ซึ่งตั้งหน้าตั้งตาไปเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหลายเพื่อมาเขียนประวัติศาสตร์ของนครรัฐสำหรับเป็นเครื่องเตือนใจผู้ปกครองรุ่นหลังต่อมา เขาให้กำเนิดคำว่า “ฮิสตอเรีย” ซึ่งหมายความถึงการเข้าไปสอบสวนค้นหาเรื่องราว ซึ่งนับได้ว่าเป็นนิยามของประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากกว่าที่อื่นๆ ร่วมสมัยเดียวกัน

สอง เราต้องไม่ทำให้ทรรศนะทางประวัติศาสตร์มีเพียงสำนักเดียว หยุดนิ่งและแช่แข็ง ด้วยการเปิดให้มีการวิพากษ์โต้เถียงในประเด็นและปัญหาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ยิ่งมีการตรวจสอบในประวัติศาสตร์มากเท่าไร ก็จะทำให้ประวัติศาสตร์เชื่อมต่อและปฏิสัมพันธ์กับวิชาและศาสตร์ต่างๆ อย่างกว้างและลึกมากขึ้น อันนี้เป็นบทบาทและลักษณะเฉพาะของวิชาประวัติศาสตร์ที่อุบัติขึ้นในพื้นที่สาธารณะ สามารถเชื่อมโยงระหว่างวิชาการเฉพาะกับสาธารณชนได้ เห็นได้จากการที่งานเขียนของนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นอาจมีผู้อ่านและติดตามมากกว่าของนักประวัติศาสตร์อาชีพเสียอีก

สาม เราต้องสอนให้รู้จักการตีความหรือถอดรหัสของปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เรามองเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ การตีความก็คือการทำความเข้าใจในสิ่งภววิสัยโดยอัตวิสัยของเราเอง ผมประทับใจคำอธิบายถึงกำเนิดของมหากาพย์มหาภารตะที่กล่าวว่า ฤาษีวยาสผู้ใกล้ชิดกับต้นตอของความเป็นมาของสงครามใหญ่นี้ บอกกับพระพิฆเนศผู้จดเรื่องราวนี้ว่า ก่อนจะเขียนเรื่องลงไป ต้องแน่ใจว่าเข้าใจเรื่องแล้ว ถึงจดลงไปได้ ถ้าไม่เข้าใจศัพท์ก็ให้ถามจนแน่ใจก่อน

นี่คือความสำคัญของตัวนักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนต้องรู้ก่อนว่าจะเขียนเรื่องอะไรลงไป

นี่เองคือความต้องการเสรีภาพทางความคิดของปัจเจกบุคคล ปราศจากเสรีภาพ มนุษย์ไม่อาจคิดและยกระดับศักยภาพในตัวเองได้อย่างอิสระ อันจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้

ปราศจากคุณสมบัติสุดท้ายนี้ ก็จะได้เพียงแค่ประวัติศาสตร์ที่สอนความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง”

 

ศิลปะบำบัด และ เสียงกระซิบจากเจตจำนง ในชีวิตของ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกร นักศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะที่กำลังได้รับความสนใจชื่อ ‘Art of Element & Therapy’
.
ว่าด้วย เส้นทางของศิลปะบำบัดที่ครูมอสตามไปค้นหาถึงเยอรมัน, ‘สี’ ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเผยถึงสมดุลหรือไม่สมดุลของชีวิต และ ความหมายของ ‘เจตจำนง’ สิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิด แต่อาจหล่นหายไปจากชีวิตใครหลายคน
.
“มนุษย์ทุกคนมีเจตจำนงของตนเองตั้งแต่กำเนิดจนถึง 7 ปีแรก เจตจำนงของเด็กเล็กคือการออกไปข้างนอก ออกไปค้นหา ออกไปเรียนรู้ ไม่มีเด็กคนไหนคลอดมาจากครรภ์มารดาแล้วขอนั่งเก้าอี้เขียน ก.ไก่ แต่เจตจำนงแรกของพวกเขาคือการเกาะ ยืน และเดินได้”
.
“ศิลปะในยุคแรกเกิดขึ้นโดยการที่มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆ เพื่อมีความสัมพันธ์กับโลกทางจิตวิญญาณ มีหัวใจสำคัญคือ การลงมือทำ ทำไปแบบไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีศาสตร์ ไม่มีโรงเรียน แต่ทำเพื่อเคารพสักการะ ภาพวาดแรกเกิดขึ้นในผนังถ้ำ ไม่รู้ว่าผู้สร้างเป็นใคร ไม่มีลายเซ็น ไม่มีชื่อ มีแต่สิ่งที่อยากจะสื่อสาร”
.
“มนุษย์เราเองผ่านเวลามาหลายยุคสมัย กว่าจะมาถึงจุดนี้ศิลปะก็เดินทางของมันเหมือนกัน แต่วันนึงที่ผู้คนเริ่มเจ็บป่วย ยุคสมัยเริ่มเจ็บป่วย ก็มีหลายคน หลายปราชญ์ที่พูดว่า ทำไมเราไม่เอาศิลปะกลับมาช่วยเหลือหรือบำบัดผู้คนล่ะ ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่คนหลงลืมไป”
.
“สำหรับนักบำบัดแล้ว เราอยู่ภายใต้จักรวาลของสีตลอดเช้าถึงเย็น ถ้าวันไหนมีใครมาเปลี่ยนท้องฟ้ากลางคืนให้เป็นสีแดง เราจะนอนไม่หลับแน่ๆ เพราะเราหลับได้เมื่ออยู่ในสีน้ำเงินม่วง ถ้าตอนกลางวันมันมืด เราก็คงอยากกลับบ้านแล้ว เพราะไม่ใช่เวลาที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์”
.
“ความงามคือ “อะไรที่ทำให้คุณยังอยู่กับโลกใบนี้” ถ้าเด็กอนุบาลเกิดมาแล้วคุณบอกว่า โอ้โห โลกนี้มีอาชญากร อย่าเดินไปบนถนนนะ เดี๋ยวจะเจอนี่นู่นนั่น มีแต่สิ่งเลวร้ายไปหมด แล้วเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งจะโตขึ้นมาให้ดอกไม้กับโลกด้วยความรู้สึกอย่างไรบ้าง นักศิลปะบำบัดถูกสอนให้มองในสิ่งที่อยากเห็น ผู้รับการบำบัดเป็นยังไงไม่รู้ แต่คุณเห็นอะไรที่ดีบ้าง แล้วคุณจะส่งต่อสิ่งนั้นยังไง”

 

เปิดโลกพัฒนาการเด็กปฐมวัย กับ เมริษา ยอดมณฑป

 

โดย 101 One-On-One 

การเลี้ยงลูกเล็กนั้นประกอบด้วยประเด็นหลายอย่างที่พ่อแม่ต้องทบทวนและตัดสินใจ ตั้งแต่แนวคิดในการเลี้ยงลูก การสร้างพัฒนาการที่เหมาะกับวัย การเลือกโรงเรียนให้ลูก ชีวิตและวิธีการดูแลตัวเองของพ่อแม่ ไปจนถึงประเด็นที่น่าตั้งคำถามอย่าง การสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน

101 เก็บทัศนะบางส่วนจาก เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้กับพ่อแม่ ในรายการ 101 One-on-One EP.83 “เปิดโลกพัฒนาการเด็กปฐมวัย”

 

เมื่อโลกเรียน(เลียน)จากจีน

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึงบทเรียนจากการพัฒนาของประเทศจีน ในฐานะยักษ์ใหญ่แห่งเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และ “ผู้นำทางความคิด” ผ่านรายงาน China Internet Report

“ในโลกของเศรษฐกิจและแพลตฟอร์มดิจิทัล Scale นั้นมีความสำคัญยิ่งนัก เพราะการจะสร้างเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ตลาดให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่แค่ว่าสร้างแอปพลิเคชันมาแล้วจบดั่งแนวคิดที่ว่า “สร้างเมืองแล้วเขาจะมาเอง” แต่ต้องใช้ทุนและความพยายามมหาศาลในการสร้างระบบนิเวศน์ที่ดี”

“เมื่อสร้าง Scale ได้ ในระบบนิเวศน์ของแอปพลิเคชันก็สามารถต่อยอดได้สารพัด ยกตัวอย่างเช่น วีแชทของบริษัทเทนเซนต์ในจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของ “ซูเปอร์แอป” (Super Apps) คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมและเชื่อมโยงหลายแอปพลิเคชัน”

“ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดก็คือระบบ “โซเชี่ยลเครดิต” ที่เสมือนติด “สมุดพก” ให้ประชาชนทุกคนมีคะแนนสะสมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมว่าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ แค่ไหน เช่น ไม่จ่ายภาษี ไม่ทำตามกฎจราจร หรือแม้กระทั่งพาสุนัขออกจากบ้านโดยไม่ใช้สายจูง หากคะแนน “ไม่ผ่าน” อาจถูกระงับไม่ให้เดินทาง ไม่ให้เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือถูกริดรอนสิทธิอื่นๆ ได้”

“แม้แต่เงินสกุล Libra ของเฟสบุ๊คที่เป็นประเด็นร้อนตอนนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าได้ไอเดียมาจากจีน เพราะในจีนทั้งเทนเซนต์และอาลีบาบาล้วนมีระบบชำระเงินอีเพย์เมนต์ของตนเองที่เชื่อมโยงกับบริการออนไลน์ต่างๆ มากมาย”

“ทุกวันนี้จีนเริ่มกลายเป็นผู้นำไม่ใช่แค่ทางเศรษฐกิจแต่เป็นผู้นำทางความคิดและนวัตกรรมในหลายด้านที่ทั่วโลกต้องจับตามองศึกษาและเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าพอเหล่ดูเขาแล้วเราต้องรีบเดินตาม เพราะไม่ใช่ว่าทุกเทรนด์ที่เห็นในจีนเป็นสิ่งที่ดีเสมอไปและที่สำคัญไม่ไช่ทุกอย่างจะเหมาะสมกับบริบทไทยหรือตลาดที่เราสนใจ”

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กับการศึกษารัฐศาสตร์เมืองไทย และเทวดาแห่งประวัติศาสตร์

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์ 

ในวาระ 72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนย้อนอ่านบทความ ‘วิเคราะห์การศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทย’ (2514) ของธเนศ(หนุ่ม) เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา

บทความแสดง ‘ความไม่พอใจ’ ต่อการศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทยของธเนศในวัยหนุ่มชิ้นนี้ กลับช่วยให้เรามองเห็นแนวทางสร้างความรู้ทางวิชาการตลอด 50 ปีของศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ (และการเมือง) ผู้นี้ได้อย่างน่าสนใจ

“เมื่อสภาวะของการศึกษาหาความรู้โดยรวมในมหาวิทยาลัยยังไม่เป็นที่น่าพอใจอย่างที่อาจารย์ตั้งประเด็น การศึกษารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของไทยก็ได้ผลออกมาไม่ต่างกัน

อาจารย์เห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหรือการสอนในมหาวิทยาลัยไม่ได้เปลี่ยนหรือสร้างความหมายของรัฐศาสตร์ในส่วนที่จะทำให้เข้าใจระบบการเมืองที่เป็นอยู่ของไทยเลย ความพยายามที่จะสร้างรัฐศาสตร์แบบตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นความเจริญสูงสุด กลับสร้างความเข้าใจผิดและความสับสนให้แก่นักศึกษาและในที่สุดผู้คนนอกมหาวิทยาลัย เราศึกษาอย่างมากมายถึงตัวทฤษฎี และรูปสถาบันทางการเมืองและสังคมจะถูกแปรเปลี่ยนและบิดให้เข้ากับทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งผลก็คือทฤษฎีก็ส่วนทฤษฎี การปฏิบัติก็ส่วนปฏิบัติ จะมารวมกันไม่ได้”

ในบทความ อาจารย์ธเนศใช้งาน Political Man: The Social Bases of Politics ของ Seymour Martin Lipset นักสังคมวิทยาการเมืองชาวอเมริกันซึ่งกำลังโด่งดังมากในเวลานั้น มาชี้ให้เห็นปัญหาของการศึกษารัฐศาสตร์ตามทฤษฎีของตะวันตกโดยไม่เข้าใจสภาพของสังคมไทย …

การเรียนทฤษฎีรัฐศาสตร์จากงานทฤษฎีอย่างของ Lipset สร้างปัญหาค้างใจอาจารย์ธเนศตรงไหน หรือพูดในแบบของผม ทำไมอาจารย์ธเนศในวันนั้นจึงอยากทักการศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทยตอนนั้นว่าอย่ามัวพากันท่องแต่ทฤษฎีของ Lipset กันแจ้วๆ อยู่เลย เพราะถึงจะรู้จำทฤษฎีของ Lipset ได้ขึ้นใจ อาจารย์ก็เห็นว่าการรู้ทฤษฎีของตะวันตกแต่เพียงเท่านั้นมันไม่ได้ช่วยให้ประชาธิปไตยของไทยมีคุณภาพดีขึ้นมาได้”

“(สำหรับอาจารย์ธเนศ) … รัฐศาสตร์ในเมืองไทยไม่ได้เป็นสาขาวิชาที่มีหน้าที่แต่เพียงสำหรับสนองระบบราชการอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป ภารกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งของการศึกษารัฐศาสตร์ยังอยู่ที่การให้องค์ความรู้สำหรับเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย …

ระหว่างการศึกษา 2 แนวทางที่อยู่ในจุดกำเนิดรัฐศาสตร์ไทย ชัดเจนว่าอาจารย์ธเนศไม่ได้สนใจแนวทางเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้แก่ระบบราชการ อาจารย์มั่นคงอยู่กับแนวทางศึกษารัฐศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ การพัฒนาและเสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่พร้อมกันนั้นอาจารย์ก็มองเห็นปัญหาสำคัญที่คนศึกษารัฐศาสตร์ตามแนวทางนี้ในประเทศไทยจะต้องครุ่นคิดเพื่อหาทางแก้”

“ชีวิตทางวิชาการของอาจารย์ธเนศในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาประวัติความคิดทางการเมืองของปัญญาชนสยาม/ประเทศไทย ก็อยู่ท่ามกลางพายุแห่งความเจริญก้าวหน้าที่พัดอาจารย์ปลิวละลิ่วเข้าหาอนาคต ด้วยความคิดจิตใจของอาจารย์ที่เห็นคุณค่าของความคิดเสรีนิยมและมาร์กซิสต์ … ถ้าหากอาจารย์จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในระหว่างการย้อนกลับหลังไปอยู่กับอดีต กับการมองไปข้างหน้าสู่อนาคต อาจารย์ธเนศจะไม่เลือกย้อนกลับหลัง แต่จะเลือกเหมือนกับศรีบูรพา

คืออาจารย์จะเลือกที่จะ ‘แลไปข้างหน้า’ แน่นอน”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนสิงหาคม 2562

 

ทางพ้นทุกข์จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภัยร้ายเบอร์ 1 ของคนไทย – นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

 

โดย ภัทชา ด้วงกลัด

ทุกวันนี้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มเอ็นซีดี หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง ตับแข็ง สมองเสื่อม และโรคไตเรื้อรัง กว่าปีละ 5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด เท่ากับว่าทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตจากเอ็นซีดี 4 คนเลยทีเดียว

เอ็นซีดีไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคโดยตรง แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ที่ทำให้โรคค่อยๆ สะสมก่อตัว และมักมีอาการเรื้อรังจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

กลายเป็น ‘ทุกข์ของโลก’ ที่แพร่กระจายไปได้ทุกเวลา ทุกที่สู่ทุกคน จนกลายเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่ง

คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นเข้าสักวัน จากพฤติกรรมที่คุ้นเคยอย่างไม่รู้ตัว

101 จับเข่าคุยอย่างเจาะลึก กับ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาทางพ้นทุกข์จากเอ็นซีดี

 

ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: การตีความ 4 แบบ

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

เคยสงสัยไหมครับว่า แวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองมองประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อะไรเป็นจุดแข็งที่พาเราก้าวจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง แล้วอะไรเป็นจุดตายที่ทำให้ไทยไม่ไปไกลกว่านี้

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เล่าถึงวิธีการตีความเส้นทางเศรษฐกิจการเมืองไทย 4 แนวทาง ได้แก่ แบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แบบสถาบัน แบบมาร์กซิสต์ และแบบปัจจัยคุกคาม

แต่ละแนวมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อน ให้คำอธิบายต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างกันไปอย่างไร ติดตามได้ในบทความชิ้นนี้

 

อ่านอีกครั้งในความเงียบ : พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยจริงหรือ ?

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ย้อนต้นกำเนิด ‘วันรพี’ พร้อมทบทวนที่มาที่ไปของการยกย่องให้ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็น ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’

“พระองค์เจ้ารพีฯ มีบทบาทต่อการปฏิรูปกฎหมายในสังคมไทยอย่างสำคัญและโดยไม่ต้องสงสัย แต่การให้ความหมายต่อพระองค์ในฐานะของ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ เป็นวาทกรรมที่ผันแปรไปในแต่ละช่วงเวลา นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463

“ท่ามกลางกระบวนการสร้างความหมายให้แก่พระองค์ มีการลดทอนความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์หลายอย่าง ขณะเดียวกันก็มีการเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับบทบาทของพระองค์ให้โดดเด่นขึ้นมา

“แม้ว่าบทบาทบางด้านอาจมีอยู่ไม่มากนัก แต่ก็ถูกอธิบายและให้ความสำคัญเสมือนว่าเป็นงานที่พระองค์มีบทบาทหลัก เช่น การร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย ที่มักมีงานเขียนอธิบายสืบทอดกันมาว่าเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ แต่ความจริงแล้วเป็นงานที่พระองค์มีบทบาทอยู่น้อยมาก”

“นอกจากนี้ อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม อันที่จริงเพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 หรือ 44 ปี หลังจากสิ้นพระชนม์ เหตุใดการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องบทบาทของพระองค์ถึงได้ทอดยาวออกมาเพียงนั้น ก่อนหน้านั้นมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่สามารถเทิดทูนพระองค์ในพื้นที่สาธารณะได้

“ภาวะเช่นนี้หมายความว่าการรับรู้ถึงพระองค์เจ้ารพีฯ ก่อนหน้าระยะเวลาดังกล่าว อาจแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่ อย่างไร — หรืออันที่จริงแล้วความเข้าใจต่อสถานะของพระองค์นั้น เป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้”

 

รายการ 101 One-on-One เดือนสิงหาคม 2562

 

101 One-on-One EP.84 จับตาและทำความเข้าใจ ‘ฮ่องกง’ กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

 

โดย 101 One-On-One 

จับตาและทำความเข้าใจ ‘ฮ่องกง’ กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รู้จักที่มาที่ไปของม็อบฮ่องกง เกาะที่เป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำไมคนฮ่องกงต้องออกมาประท้วง เป้าหมายของม็อบคืออะไร เหตุการณ์จะนำไปสู่ความรุนแรงหรือคลี่คลาย และจีนจะเดินเกมอย่างไรกับการประท้วงครั้งนี้ ท่ามกลางการจับตาจากคนทั่วโลก

สนทนาถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของสังคมการเมืองฮ่องกง อะไรคือสิ่งที่อยู่ในใจคนฮ่องกง ความสัมพันธ์จีน-ฮ่องกงมีเส้นทางแบบไหน และจะดำเนินไปแบบใดในอนาคต

ตอบทุกคำถามว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมือง

 

101 One-on-One EP.83 “เปิดโลกพัฒนาการเด็กปฐมวัย” กับ เมริษา ยอดมณฑป

 

โดย 101 One-On-One 

“เปิดโลกพัฒนาการเด็กปฐมวัย” กับ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้กับพ่อแม่

สนทนากันตั้งแต่ แนวคิดในการเลี้ยงลูกและการสร้างพัฒนาการที่เหมาะกับวัย การเลือกโรงเรียนให้ลูก การสอบคัดเลือกเด็กเข้า ป.1 ไปจนถึงชีวิตและวิธีการดูแลตัวเองของพ่อแม่ในช่วงเลี้ยงลูกเล็ก

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

101 One-On-One Ep.82 “จับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่” กับ ศิริกัญญา ตันสกุล

 

โดย 101 One-On-One 

จับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

แม้ ‘รัฐบาลประยุทธ 2’ จะเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติสังคมไทยอยู่กับรัฐบาลนี้เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ทีมเศรษฐกิจ’ ซึ่งแทบจะไม่มีการเปลี่ยนหน้าเลย

คำถามที่สังคมไทยไม่อาจทนเฉยคือ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารดีแค่ไหน และนโยบายใหม่ที่เพิ่งแถลงต่อสภาจะสามารถตอบโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ อย่างไร

ร่วมจับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลกับ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

101 One-On-One Ep.81 “ชีววิทยาดิจิทัล : มนุษย์และสัตว์ในโลกอนาคต” กับ แทนไท ประเสริฐกุล

 

โดย 101 One-On-One 

ชีววิทยาดิจิทัล : มนุษย์และสัตว์ในโลกอนาคต

คุยกับ แทนไท ประเสริฐกุล นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน และเจ้าของรายการคุยวิทย์ติดตลก WiTcast ว่าด้วยประเด็น มนุษย์ในโลกยุคดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาแค่ไหน ในภาพใหญ่ของวิวัฒนาการ มนุษย์ยังดำรงอยู่ด้วยเหตุผลเดียวกันกับเมื่อหมื่นปีที่แล้วหรือไม่ เผ่าพันธุ์โฮโมเซเปี้ยนส์กำลังมุ่งไปในทิศทางใด และสัตว์บนโลกที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมาก มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงชีววิทยาแบบไหน

คุยเรื่องวิทยาศาสตร์แบบเมามันและย่อยง่าย

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

ผลงานคลิปวิดีโอ ยอดนิยม เดือนสิงหาคม 2562

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “เขื่อนไม่ได้สร้างปัญหา”

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

“เขื่อนไม่ได้สร้างปัญหา แต่ช่วยบรรเทาภัยแล้ง”

ข้ออ้างคำใหญ่คำโตนี้กลายเป็นเสียงที่มักได้ยินเสมอเมื่อเกิดวิกฤตฤดูแล้ง กว่าสองเดือนที่ผ่านมา แม่น้ำโขงกำลังเข้าขั้นวิกฤต ประชาชนได้รับคำอธิบายเช่นเคยว่าสาเหตุเกิดจากภัยแล้งตามฤดูกาล ไม่มีเหตุให้กังวล รัฐบาลรับมือได้

แต่ข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่ เมื่อพิจารณาจากผู้ได้รับผลกระทบ ทราบว่าภายใน 1 วัน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงประมาณ 1 เมตร ประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องภัยแล้งหรือฤดูน้ำหลาก แต่นี่คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังเกิดเขื่อนจำนวนมากขวางกั้นลำน้ำ ชาวประมงไม่สามารถวางแผนออกหาปลาได้ตามภูมิปัญญาเดิม เพราะการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำทำให้ปลาหลายชนิดหายไป และชีวิตชาวประมงก็ขึ้นอยู่กับการปล่อยหรือกักน้ำจากเขื่อน

อีกประเด็นปลายจมูกที่สะท้อนถึงวิกฤตแม่น้ำโขง คือ ภาพต้นไคร้แห้งตายกลางแม่น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลาหลายชนิดที่วางไข่ที่ต้นไคร้ กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะต้นไคร้จมน้ำนานเกินไปและแห้งแล้งนานเกินไป 

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำอันดับ 1 ในอาเซียนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด หล่อเลี้ยงคนถึง 60 ล้านคนใน 6 ประเทศ แต่ดูเหมือนวิกฤตแม่น้ำโขงยังไม่อยู่ในสายตารัฐบาลใดๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่มีใครรู้ถึงชะตากรรมชีวิตคนสองฝากฝั่งแม่น้ำ

101 ชวนชมสถานการณ์แม่น้ำโขง พร้อมทรรศนะจาก ‘Robert J. Mather’ นักวิจัยศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน (ASEAN Centre for Biodiversity) และ ‘ชัยวัฒน์ พาระคุณ’ รองหัวหน้าทีมวิจัยบ้านม่วง จ.หนองคาย เครือข่ายอนุรักษ์น้ำโขง ผ่านสารคดีข่าวสั้น ‘SIDE B’ อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “เขื่อนไม่ได้สร้างปัญหา…”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save