fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2561

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ถ้าใครสักคนฆ่าพ่อคุณตาย คุณจะทำอย่างไร?

แน่นอน ถ้าถามวัยรุ่นเลือดร้อน ร้อยทั้งร้อยโดยไม่รีรอ ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต แต่นั่นเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไปหรือไม่?

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ และ ‘เล็ก’ ธนากร อาจรักษา สองหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เคยเป็นคู่แค้น จากการที่อีกฝ่ายฆ่าพ่อของตน ก่อนที่ความแค้นจะแปรเปลี่ยนเป็นการให้อภัย ภายใต้ร่มเงาของ ‘บ้านกาญจนา’

“สี่ทุ่ม ระหว่างที่พวกเขาเมากัน เขาเอาปืนอัดลมมายิงบานเกล็ดบ้านผมแตก ผมนอนอยู่ในบ้าน ทนไม่ไหว ก็ออกมาถามว่าพี่ทำอะไรของพี่ เขาตอบว่าแล้วมึงจะทำไม ตอนนั้นผมเห็นมีดของเขาวางอยู่ใต้โต๊ะวงเหล้า ผมก็เข้าไปหยิบมีดในบ้านออกมา สุดท้ายก็ตะลุมบอนกัน ผมแทงฝ่ายเขาตายสองคน คือคนที่ยิงบานเกล็ด และอีกหนึ่งคนคือพ่อของใหญ่”

“ตอนนั้นผมอยู่บ้านมุทิตา พอรู้ว่าเล็กอยู่บ้านกาญจนา ผมก็วางแผนขอย้ายตามไปเจอเขา ผมสนิทกับเจ้าหน้าที่พอสมควร เขาบอกว่าให้ทำตัวดีๆ จะได้ย้ายไปบ้านกาญจนา ผมนิ่งมาก ไม่ทำอะไรผิดเลย ทำทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่ไว้ใจเพราะอยากย้ายไปเจอเล็ก ผมไม่ได้ใส่ใจว่าต้องอยู่ที่ไหน แค่อยากไปเจอ ผมต้องการชีวิตเขา”

“วันนั้นป้ามลยืนอยู่บนสะพานกลางน้ำ ป้าเข้ามาคุยกับเด็กๆ ว่าบ้านนี้ไม่มีความรุนแรงนะ ผมคิดในใจว่าป้ามลสร้างภาพ ไม่จริงหรอกคนแบบนี้ รับราชการมาก็แค่กินเงินเดือน ผมถามป้ามลว่า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ฆ่าพ่อผมถึงได้อยู่บ้านชนะใจ (สำหรับเด็กประพฤติดีจะได้อยู่บ้านชนะใจ) พูดจบผมก็เดินหนีเลย…”

ทั้งสองผ่านอดีตระทมมาแบบไหน บ้านกาญจนาฯ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตาย ให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร และชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตเสมอไปหรือไม่

 

 

การบินไทยดีเลย์สองชั่วโมงครึ่งบอกอะไร

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงเหตุการณ์การบินไทยดีเลย์สองชั่วโมงครึ่ง จากปัญหาไม่ลงตัวของที่นั่งนักบินที่เป็นผู้โดยสาร ลึกลงไปในเหตุการณ์นี้ สะท้อนปัญหาอะไรบ้าง

“คนในวงการบินเคยเล่าให้ฟังว่า คนทำงานการบินทุกคนทราบดีว่า ผู้โดยสารต้องมาก่อนเสมอ การที่เครื่องบินเต็มลำเพราะผู้โดยสาร จนนักบินไม่มีที่นั่ง ไม่ใช่เรื่องแปลก เคยเกิดขึ้นเสมอ แต่จะมีวิธีแก้ปัญหาหลายอย่าง อาทิ ค้างคืนต่อที่โรงแรม เพราะยังได้เบี้ยเลี้ยง หรือทำรายงานขึ้นไปให้ทราบว่า เกิดความผิดพลาดอะไร หรือวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน หรือดีเลย์เป็นชั่วโมง”

“…สายการบินแห่งชาติของประเทศไทย ที่ขาดทุนหลายหมื่นล้านจนแทบจะล้มละลายแล้ว หากรัฐบาลอุ้มไว้ เรามีมืออาชีพเพียงพอไหม”

“เป็นที่ทราบกันดีว่า การบินไทย ประกอบด้วยคนทำงานจำนวนมากที่เป็นเด็กเส้น ลูกท่านหลานเธอ ฝากเข้าทำงาน หลายคนไม่มีงานทำ แต่ได้รับเงินเดือนสม่ำเสมอ และแม้จะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่บริหารงานแบบราชการ ใครทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่มีผลงาน ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ก็ยังเลี้ยงไว้ในองค์กร ไล่ออกก็ไม่ได้”

จากปัญหาดีเลย์สองชั่วโมงครึ่ง กลายเป็นภาพสะท้อนการทำงานขององค์กรอย่างน่าสนใจ

 

10 เหตุผลที่ต้องลบบัญชีโซเชียลมีเดีย

 

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ

วรากรณ์ สามโกเศศ หยิบหนังสือชำแหละเบื้องหลัง Facebook และ Google อย่าง ‘Ten Arguments for Deleting Your Social Media Accounts’ (2018) ของ Jaron Lanier มาเล่าสู่กันฟัง

Facebook และ Google ใช้รูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า ‘BUMMER’ (Behavior of Users Modified, and Made into an Empire for Rent) ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรซึ่งพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ตลอดจนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนที่เป็นสมาชิก และขายให้แก่นักโฆษณาเพื่อทำกำไร โดยอาศัยผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ เป็นหนูทดลอง และโกยรายได้มหาศาลจากการขายข้อมูลส่วนตัวของเรา

“BUMMER ต้องการให้คุณไม่มีความสุข มิเช่นนั้นก็จะใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตจริง และไม่มีเหตุผลที่จะมาใช้โซเชียลมีเดีย สมาชิกจำนวนมากทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเลขไลค์สูงขึ้น มีคนติดตามชื่นชมมากขึ้น ทั้งที่ส่วนใหญ่ของจำนวนเหล่านี้ไม่ใช่คนจริงๆ

“หลายบัญชีที่มียอดผู้ดูหรือผู้ติดตามจำนวนเป็นแสนเป็นล้านนั้น ส่วนใหญ่มาจากบัญชีหุ่นยนต์ (BOTS มาจาก Robots and Auto Processes) ที่สร้างขึ้นและควบคุมโดย fake-people factories (กลุ่มคนหรือบริษัทรับจ้าง) บริษัทเหล่านี้หาเงินทองได้มากมายจากการขาย fake accounts

“นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังทำลายความจริง แหล่งข้อมูลในโซเชียลบางแห่งเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น สนับสนุนความคิดทางการเมือง สร้างรสนิยมสินค้า สร้างอารมณ์สุดโต่งเพื่อให้มีการเข้าไปใช้โซเชียลมีเดียกันมากๆ สร้างความเชื่อทฤษฎีสมคบคิดบ้าๆ บอๆ (Conspiracy Theories) ตลอดจนเรื่องราวโกหกมดเท็จ (fake news)

“ในโลกความเป็นจริง ผู้เขียนคิดว่าการลบบัญชีเป็นวิจารณญาณของแต่ละคน เกือบทุกสิ่งที่เราบริโภคล้วนมีสารเคมีที่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายทั้งสิ้น เราไม่อาจเลิกการบริโภคได้ทั้งหมด ที่สามารถทำได้ก็คือการเลือกอย่างชาญฉลาดเท่านั้น”

 

Bubble Tea Trends : การกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าของชานมไข่มุก

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

คอลัมน์ Trend Rider ชิ้นนี้ ว่าด้วยเรื่องที่หนึบหนับแต่อร่อย คือ ชาไข่มุก ที่ช่วงนี้ได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังจากหายไปนานเมื่อหลายปีก่อน โตมร ศุขปรีชา เล่าเรื่อง ‘คลื่นชานมไข่มุก’ ที่มีมาเป็นระลอกและแตกต่างกันไปอย่างน่าสนใจ

“ชานมไข่มุกไม่ได้เพิ่งฮือฮาโด่งดังนะครับ แต่มี ‘คลื่น’ ของความนิยมในชานมไข่มุกหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

“แรกสุดก็คือเมื่อมันถือกำเนิดขึ้นในราวยุคแปดศูนย์ ตอนนั้นเป็นความฮิตที่เกิดขึ้นในยุคแรกเริ่ม เป็นความฮิตแบบ ‘ของใหม่’ และมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะบนเกาะไต้หวันเท่านั้น”

“คลื่นลูกที่สองเริ่มโด่งดังขึ้นมาในยุคเก้าศูนย์ โดยแพร่ไปในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ที่จริงแล้ว ตอนนั้นก็มีชานมไข่มุกแพร่หลายเข้ามาในไทยบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่

“คลื่นลูกนี้ค่อยๆ ซัด ตามแบบการเกิดเทรนด์ที่ต้องเริ่มจากวงเล็กก่อน แล้วจึงค่อยกระจายไปในวงกว้าง แต่คลื่นนี้มาเติบโตจริงๆ ก็หลังยุค 2000 โดยแพร่หลายไกลไปถึงโลกตะวันตก ความนิยมในชานมไข่มุกดังระเบิดระเบ้อในโลกตะวันตกเป็นอันมาก ในไทยก็เหมือนกันครับ ชานมไข่มุกเริ่มโด่งดังในไทยครั้งแรกราวปี 2008-2009 ซึ่งถ้าใครยังจำได้ ยุคนั้นการดื่มชานมไข่มุกถือเป็นแฟชั่นกันเลยทีเดียว”

ชาไข่มุกกลับมาเป็นทีนิยมอีกครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่ความแท้ (Originality) และงานแบบ handmade ที่ทำให้ชาไข่มุกพิเศษ จนนิตยสาร Nylon จากอเมริกา ถึงขั้นประกาศว่านี่คือ Bubble Tea’s New Revival หรือการฟื้นคืนชีพของชานมไข่มุกกันเลยทีเดียว

 

หลักประกันสุขภาพที่รัก (20) : สังคมที่พร้อมจะสร้างคนป่วย

 

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

คำพูดประเภท “ชาวบ้านไม่ดูแลตัวเองเพราะได้รักษาฟรี” ดูเหมือนจะกลับมาให้ได้ยินอีกแล้ว

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พาเราไปพ้นจากมายาคติโยนบาปให้ผู้ป่วยด้วยการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาอยู่ที่สังคมไทยต่างหาก ที่เปราะบางจนพร้อมสร้างผู้ป่วยจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และทั้งหมดนี้แก้ไม่ได้ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ

“การรวมศูนย์อำนาจเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในทุกเรื่อง หากไม่ยอมรับข้อนี้ บ้านเมืองจะพัฒนาต่อไปได้ลำบาก ที่แท้แล้วบ้านเรามีเงินมากพอที่จะให้ส่วนท้องถิ่นเติบโตและพัฒนา

นอกเหนือจากเรื่องความไม่ลงรอยระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีมาช้านานและเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้ว เรื่องการรวมศูนย์อำนาจและเล่นการเมืองของกระทรวงสาธารณสุข เป็นปัญหาที่ทับถมให้ทุกอย่างแก้ไขได้ยากมากขึ้นไปอีก ภาคประชาชนอ่อนกำลังลงทุกทีๆ และคงจะตายจากไปในไม่ช้าด้วยซูเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น

โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกแพทย์เป็นทางเลือกของผู้มีกำลังจ่ายหากอยากจะจ่าย แต่สำหรับประชากรทุกคนแล้วประเทศควรมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่ต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ วางไว้เป็นตาข่ายความปลอดภัยของชีวิต แม้ว่าระบบบริการในโรงพยาบาลของรัฐยังไม่ดีเท่าไรนัก แต่ชาวบ้านที่ไม่มีเงินจะอย่างไรก็ต้องไปรับการรักษา ก็ยังดีกว่าปล่อยพวกเขาไปตายที่อื่น การร่วมจ่าย ณ จุดบริการจึงไม่ควรเกิดขึ้น รอยรั่วของเงินในระบบใหญ่เกินกว่าการร่วมจ่ายจะแก้ปัญหาได้

ต่อให้ร่วมจ่ายได้แต่บริหารด้วยการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ จะอย่างไรก็เจ๊งเหมือนเดิม”

 

ก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการ

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

หากมองแบบผิวเผิน รัฐสวัสดิการคือประเทศที่มีสวัสดิการดี + ภาษีแพง + ค่าแรงสูง

แต่ถ้ามีองค์ประกอบเพียงแค่นั้น เหตุใดความพยายาม “ปลูกถ่าย” รัฐสวัสดิการในประเทศอื่นๆ นอกยุโรปมักล้มเหลวหรือนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร สลายมายาคติ พร้อมสำรวจกลไกเชิงสถาบันที่จำเป็นในการก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการ

3 คำถามสำคัญของการก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการ

(1)  รัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกเป็นแบบเดียวกันหมดหรือเปล่า (หรือมีหลายแบบ แล้วทำไมจึงต่างกัน)?

(2) ทำไมการบริการของรัฐจึงมีประสิทธิภาพและโปร่งใส (แทนที่ข้าราชการจะโกงกินหรือทำงานเช้าชามเย็นชาม)?

(3) เหตุใดเศรษฐกิจของรัฐสวัสดิการยังคงเติบโตได้ แม้จะมีภาระทางการคลังระดับสูง (แทนที่จะถดถอยและล่มสลายไป)?

 

การตรวจโรคจากพันธุกรรม : ทำนาย ป้องกัน รักษา แบบ ‘เฉพาะจุด-เฉพาะคน’ – ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เวลาพูดเรื่องพันธุกรรม หรือโรคทางกรรมพันธุ์ เมื่อก่อนคนจะมองว่าเกี่ยวข้องกับโรคที่หายากหรือพบน้อย คนแทบไม่เห็นความสำคัญเลย ตอนนี้ทุกคนเข้าใจหมดแล้วว่า ดีเอ็นเอหรือพันธุกรรมสำคัญมากในแทบทุกโรค…”

แต่เดิม การรักษาโรคที่เรารู้จัก มักมีรูปแบบเหมือนกันในทุกคน แต่เมื่อเราไขรหัสจนเห็นชัดเจนแล้วว่า มนุษย์ทุกคนต่างกัน และความผิดปกติเกิดขึ้นตรงจุดไหน การรักษาที่ลงไปแก้ไข ‘เฉพาะจุด-เฉพาะคน’ จึงเกิดขึ้น โดยใช้การถอดรหัสพันธุกรรมเป็นแผนที่นำทาง

ระบบการรักษาแบบนี้ เรียกว่า ‘การตรวจโรคจากพันธุกรรม’ ปัจจุบันเริ่มมีการใช้กันในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากกรรมพันธุ์ เป็นการลงลึกไปถึงเซลล์ และให้ยาแก้ไขได้ตรงจุด นับเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาพัฒนาโฉมหน้าการรักษาในไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่าด้วย ‘การตรวจโรคจากพันธุกรรม’ นวัตกรรมที่อาจเปลี่ยนโฉมการรักษาโรคจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“เทคโนโลยีทำให้หลายโรคที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีทางรักษา ปัจจุบันเรารักษาหรือควบคุมได้ คนกลัวคำว่ามะเร็งเพราะรุนแรงถึงตาย แต่เวลาบอกว่า คุณเป็นเบาหวานนะ ทุกคนก็เฉยๆ เพราะรู้ว่าไม่เป็นไร รักษาได้ กินยาได้ ผมเชื่อว่าต่อไปคนจะมองว่ามะเร็งก็รักษาได้ ไม่ต่างจากเบาหวาน

“บางคนอาจยังนึกภาพไม่ออก ขอให้ดูตัวอย่างเรื่องเอดส์หรือเชื้อเอชไอวี เมื่อ 20 ปีก่อน ใครติดเชื้อตายแน่นอน บางคนเป็นแล้วอยู่ในหมู่บ้านยังไม่ได้ ตายแล้วก็เผาไม่ได้ ชาวบ้านกลัวควันจะกระจายแล้วจะมาติด แต่ปัจจุบัน คนที่ติดเชื้อกินยาอย่างเดียว ค่ายาถูกกว่ายาเบาหวานอีก เบิกได้ทุกสิทธิ์ ตอนนี้กลายเป็นทุกคนที่ติดเชื้อสามารถอยู่อย่างแข็งแรงเพราะกินยาได้”

“ผมมองว่าในอนาคต การถอดรหัสพันธุกรรมจะกลายเป็นของปรกติ เหมือนตรวจเลือด เอ็กซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บางทีอาจมีการตรวจตั้งแต่เกิดเลยก็ได้ เด็กแรกเกิดทุกคนอาจมีข้อมูลนี้ติดมากับตัวทันที เขาจะรู้ตั้งแต่แรกว่า ตัวเขามีโอกาสแพ้ยาอะไรบ้างมั้ย มีความเสี่ยงอะไรรึเปล่า ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต เช่น เวลาต้องใช้ยาก็จะทราบตั้งแต่แรกว่า ยานี้ใช้ไม่ได้นะ ยานี้ใช้ได้ดีนะ ยานี้ต้องเพิ่มขนาดหน่อยนะ เพราะว่าร่างกายเขากำจัดยาตัวนี้เร็วมาก เป็นต้น”

 

‘มหาวิทยาลัยอนาคต’ ในมุมมอง พิภพ อุดร

 

โดย 101 One-On-One

“ทำไมเวลาสอนในห้องเรียน นักเรียนถึงไม่ค่อยกล้าตอบ ก็เพราะคุณเพิ่งไปสอนเขาในเรื่องใหม่ๆ ที่เขายังไม่เข้าใจ การสอนแบบอาจารย์เป็นผู้รู้ เด็กเป็นผู้ไม่รู้ ทำให้เด็กไม่กล้าตอบ ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่เด็กไม่รู้แล้วให้เขาพูดตามใจชอบ เขาก็จะพูดเต็มที่ เมื่อคุณสรุปตอนท้ายว่าเรื่องนั้นมีอะไรบ้าง เด็กก็จะเชื่อมโยงข้อสรุปนั้นกับประสบการณ์ของตัวเอง และเขาจะจำเรื่องนี้ได้ดี…”

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดาย ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การศึกษาแบบเดิมที่อาจารย์เป็นผู้ป้อนความรู้ให้นักศึกษา ยังใช้ได้ผลอยู่หรือไม่ และมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ ควรปรับตัวอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความต้องการใหม่ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลง

101 สนทนากับ รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบของคำถามดังกล่าว พร้อมตีโจทย์สำคัญที่ว่า ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยยังไม่ตาย แต่ยังมีคุณค่าความหมายในโลกแห่งอนาคต

“ผมไม่เคยเชื่อว่าเด็กเป็นผ้าขาวที่เราจะแต่งแต้ม และไม่มองว่าการศึกษาคือการใส่ความรู้ให้เด็ก แต่มองว่าเป็นการดึงศักยภาพของเด็กออกมานอก comfort zone ของเขา เด็กทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพในตัว เราต้องสร้างเงื่อนไขให้เด็กดึงศักยภาพในตัวออกมาให้เด่น

“ปัญหาใหญ่ของมหาวิทยาลัย คือการถูกกำกับดูแลด้วยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในเชิงนโยบาย ซึ่งลงมายุ่งกับมหาวิทยาลัยจนเกินไป ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องทำตามจนลืมไปว่าพันธกิจของตนเองคืออะไร มหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ ไม่ว่าจะชั้นนำหรือไม่ก็ตาม ควรจะมีเป้าประสงค์ของตนเอง รัฐควรมองว่าใครเด่นด้านไหนก็สนับสนุนด้านนั้นไป ไม่ใช่สนับสนุนทุกด้าน

“บ้านเรามีวิชาเอกกว่า 20 วิชา ในขณะที่ต่างประเทศมีเพียง 8-9 วิชา ส่วนวิชาพื้นฐานกลับมีน้อยเกินไป ปัจจุบันเด็กมีความรู้สึกว่าการเรียนวิชาพื้นฐานเป็นสิ่งที่เสียเวลามากที่สุด เพราะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียน แต่การเป็นนักนิติศาสตร์ นักบัญชี บริหาร หรืออะไรก็ตามที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกและสังคมเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเมื่อเขาพยายามแก้ปัญหาหนึ่ง เขากลับไปสร้างปัญหาอีกจุดแทน เพราะไม่มีความเข้าใจบริบท”

 

ความน่าจะอ่าน – เปิดลายแทง ‘หนังสือน่าอ่าน’ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2561

 

โดย The101.world

หนังสือในงานมหกรรมฯ นั้นหลากหลายและมีจำนวนมหาศาล บางคนมีลิสต์ไว้ในใจแล้ว หรือบางคนยังไม่มี หนังสือ 20 เล่มต่อไปนี้ อาจพอช่วยนำทางไปได้ ไล่เรียงไปตั้งแต่งานวิชาการเข้มๆ วรรณกรรมหลากรูปแบบ หรือหนังสือแนว Brainy Books ที่กำลังเป็นที่นิยม

 

ความเท่าเทียมในความไม่เท่าเทียม : ชีวิตแม่บ้านไทยในสหราชอาณาจักร

 

โดย ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ เขียนถึงชีวิตหญิงไทยที่ไปสร้างครอบครัวอยู่ในสหราชอาณาจักร แม้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากสภาพสังคมที่มีความเท่าเทียมสูงกว่า ทว่าอีกด้านหนึ่ง พวกเธอกลับต้องพบเจอกับภาวะ ‘การเหยียดตัวเอง’ จากมายาคติเดิมๆ โดยเฉพาะภาพจำของคำว่า ‘เมียฝรั่ง’

“ข้อมูลที่ผู้เขียนได้จากการสัมภาษณ์และการทำแบบสอบถาม พบว่าเหตุการณ์การเหยียดเชื้อชาติที่เกิดกับผู้หญิงไทยโดยตรง เช่น การทำร้ายทางกายและวาจา การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มีไม่มากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”

“แต่สิ่งที่น่าแปลกใจกว่านั้น คือข้อค้นพบที่ว่าผู้ให้สัมภาษณ์หลายคน กลับมีภาวะที่เรียกว่า ‘การเหยียดตนเอง’ (internalised racism) กล่าวคือ พวกเธอไม่เคยโดนดูถูกเหยียดหยามหรือถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม แต่ ‘มีความรู้สึก’ ว่าชาวบริติชมองพวกเธออย่างเหยียดหยามและดูถูก”

“นักจิตวิทยามองว่าการเหยียดตนเองนั้นเป็น ‘ความบาดเจ็บทางจิตใจ’ ที่ร้ายแรงที่สุด (psychological injury)[5] อันเป็นผลจากการจากเหยียดเชื้อชาติ เพราะชนกลุ่มน้อยที่มีบาดแผลดังกล่าวนั้น เชื่อสนิทใจไปแล้วว่าตนเองไม่ดีพอและควรจะอยู่ในที่ทางของตนเองเท่านั้น”

“แต่ที่อันตรายมากกว่านั้น คือการที่ผู้หญิงไทยหลายคน ‘เชื่อ’ ว่าตนสมควรถูกมองในแง่ลบ และยอมรับว่าการเหยียดเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา…”

 

บูรณาสปิริต ฉบับลูกผู้ชายชื่อ ‘สุวินัย ภรณวลัย’

 

โดย ธิติ มีแต้ม  , สมคิด พุทธศรี , พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

ระหว่างที่อาจารย์ฝึกกรรมฐาน รำมวยจีน อาจารย์ทำความเข้าใจการเมืองไทยวันนี้อย่างไร / ตอนนี้อาจารย์อายุ 62 มองชีวิตตัวเองหลังเกษียณอย่างไร / บุคลิกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจารย์เห็นแล้วรู้สึกยังไง / อาจารย์เห็นคนที่เป็นฝ่ายซ้ายรุ่นเดียวกันอาจารย์คลี่คลายตัวตนไปอย่างไรบ้าง / มองคนรุ่นใหม่วันนี้อย่างไร

ถ้าเกริ่นกันแบบหวือหวาหน่อย สุวินัย ภรณวลัย น่าจะเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเพียงคนเดียวในประเทศนี้ ที่สามารถรำมวยจีน นั่งกรรมฐาน รำดาบ คาราเต้ เดินจงกรม หกสูง และอีกสารพัดแนวทางการภาวนาที่บรรดาสายฝึกตนนิยมทำกันอย่างเป็นกิจวัตร

แต่เพียงเท่านี้ ก็ไม่อาจทำความเข้าใจคนๆ หนึ่งได้ครบทุกมิติ แล้วอะไรคือโลกทัศน์-ชีวทัศน์ของผู้ชายวัย 62 ที่นอกเหนือจากงานวิชาการ เขียนหนังสือ ภาวนาจิตวิญญาณ คนรุ่น “baby boom” อย่างเขาที่ต้องขยับตัวเองเข้าไปท่องใน “โลกออนไลน์” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, สุวินัยซึ่งบอกตัวเองว่าเขาโตมาในยุคของคนที่มี “hungry spirit” วันนี้เขามองเห็นคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร

“ตอนอายุ 14 ผมเคยหัดคาราเต้ แล้วก็เป็นตำนานนะ สู้จนรุ่นเดียวกันสู้ไม่ได้ จนอาจารย์ลำเอียง เพราะผมหัดไปแล้วผมป่วยหนัก เป็นไข้หวัดใหญ่ ซมสองอาทิตย์ ต้องคลานไปเรียน อาจารย์ก็คิดว่าผมเป็นเด็กที่ไม่รักดี เลยให้ผมเป็นกระสอบให้ศิษย์คนโปรดของเขาสู้”

“ขออีก 20 ปี กว่าบ้านเมืองจะสงบจริง เพราะมันมากพอที่จะเรียนรู้ พวกแก่ๆ ก็จะตายไปหมด พวกเด็กๆ ที่เป็นเหตุผลนิยมจะเลื่อนขั้นไปเป็นพหุนิยม ของบางอย่างมันมีเวลาของมัน ผมอ่านสามก๊กมันใช้เวลาเป็น 100 ปี”

 

เมื่อ Tencent ยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Tencent ซึ่งเป็นเจ้าของ Wechat และธุรกิจในโลกออนไลน์มากมาย ได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปี โดยเน้นไปที่สองเรื่องหลักคือ เทคโนโลยี กับคอนเทนต์ การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพความกดดันทางธุรกิจ และเทรนด์ใหม่ของธุรกิจออนไลน์ในประเทศจีน”

“Cloud และ AI เป็นเมกาเทรนด์ที่กำลังมาแรง ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีนต้องเร่งพัฒนาระบบ Cloud และ AI ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน เพราะเมื่อโลกออนไลน์ยุคใหม่ของจีนมีการเก็บข้อมูลมหาศาล ก็ต้องจัดเตรียมพื้นที่ในโลกออนไลน์ไว้สำหรับเก็บข้อมูลเหล่านั้น”

“ในครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ Cloud ของ Tencent ได้รับการยกระดับขึ้นมาอย่างชัดเจนภายใต้โครงสร้างใหม่ของบริษัท ถึงแม้ว่าผู้บริหารของ Tencent จะออกมาย้ำเน้นความสำคัญของ Cloud มากว่า 2 ปี แต่ที่ผ่านมา Cloud เป็นเพียงหน่วยธุรกิจเล็กๆ หน่วยหนึ่งในองค์กรเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Alibaba แล้ว ธุรกิจ Cloud นับเป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญมากของ Alibaba และขณะนี้ Alibaba ได้ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด Cloud ของประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว โดยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง จน Tencent ดูเหมือนจะตกขบวนเมกาเทรนด์ที่สำคัญนี้”

อาร์ม ตั้งนิรันดร พาไปเห็นการยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ของ Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เทคโนโลยีกับธุรกิจจะเป็นอย่างไรในอนาคต

 

Good Life, Good Run : วิ่งให้ดีต่อชีวิต กับ รามิล วจะโนภาส

 

โดย 101 One-On-One

“การวิ่งช่วงแรกๆ อย่าเพิ่งฝืนร่างกายเลย ให้ทำตามความรู้สึกของร่างกาย ขี้เกียจได้ ขี้เกียจเยอะๆ แต่พยายามทำให้ร่างกายเคยชินกับการวิ่งเป็นประจำ ผมอยากแนะนำให้หาจุดที่เราสามารถวิ่งได้หลายๆ ครั้งในหนึ่งอาทิตย์ ทำเป็นระยะยาวไปได้เรื่อยๆ เพราะการวิ่งขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องและระยะเวลาในการฝึกซ้อม”

101 คุยกับ โค้ชฮอว์ก – รามิล วจะโนภาส เทรนเนอร์หนุ่มผู้เปิดยิมที่ออกแบบมาสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ แชร์ประสบการณ์เรื่องการวิ่งของตนเอง พร้อมเชิญชวนและแนะนำเทคนิคการวิ่งให้กับผู้ที่อยากลงทะเบียนวิชา ‘นักวิ่ง 101’

“เคล็ดลับสำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นก็คือการรู้จักร่างกายตัวเอง”

คุยลึกถึงวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง สำหรับมือใหม่และคนที่อยากจะลุยยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของการวิ่งให้ได้สักตั้ง ควรเตรียมร่างกายแบบไหน การวิ่งมีกี่แบบ ควรวิ่งเร็วเท่าไหร่ และควรทานอะไรก่อนวิ่ง

 

ทำอย่างไร เมื่อไม่มี LTF

 

โดย อธิภัทร มุทิตาเจริญ

สิ้นปี 2562 กองทุน LTF อาจจะใช้ลดภาษีไม่ได้อีกแล้ว

คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ขอให้รัฐบาลต่ออายุกองทุนที่กำลังจะหมดสิ้นปี 2562 และกำลังจะเสนอรูปแบบกองทุนใหม่ เพื่อช่วยส่งเสริมการออมของผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

ข่าวนี้อาจสร้างความกังวลให้กับหลายคน แต่ในความจริงแล้ว กองทุน LTF อาจไม่ได้ช่วยให้เราลงทุนได้มากอย่างที่คิด การหมดอายุของกองทุนอาจเป็นโอกาสที่ทำให้เราออกแบบเครื่องมือใหม่ที่ช่วยส่งเสริมการออมและการลงทุนสำหรับชนชั้นกลางทั่วไปได้จริง

อธิภัทร มุทิตาเจริญ วิเคราะห์ช่องโหว่ของกองทุน LTF ที่กำลังจะหมดอายุช่วงสิ้นปีหน้า พร้อมเสนอแนวทางการออกแบบกองทุนใหม่ ภายใต้โจทย์ใหญ่สองข้อคือ การส่งเสริมการออมและการลงทุน กับการสร้างแรงจูงใจให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

(1) กองทุน LTF ช่วยส่งเสริมการออมและการลงทุนจริงหรือ

กุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจประสิทธิผลของมาตรการ LTF ต่อการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาว คือการศึกษาว่า LTF นี้ได้กระตุ้นให้คนเพิ่มการออมและการลงทุน (New saving and investment) มากน้อยแค่ไหน โดยการออมและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่ได้มาจากการโยกเงินจากการลงทุนส่วนอื่น (Portfolio allocation) เช่น ย้ายเงินจากที่จะซื้อหุ้นหรือซื้อกองทุนรวมทั่วไปอยู่แล้ว มาซื้อหน่วยลงทุน LTF เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
.
(2) ใครได้ประโยชน์จากกองทุน LTF

คนที่ได้ประโยชน์จาก LTF มักเป็นคนรวยมากกว่าคนชั้นกลางหรือคนรายได้น้อย เพราะกลไกการให้สิทธิ LTF ในรูปของการลดหย่อนภาษี ทำให้ราคารวมภาษี (After-tax price) สำหรับคนรวยถูกกว่าคนจน เนื่องจากคนรวยจะอยู่บนขั้นบันไดภาษีที่สูงกว่าคนรายได้ปานกลางและคนรายได้น้อย ดังนั้นคนรวยจะได้ส่วนลดภาษีสูงกว่าจากการซื้อ LTF เท่าๆ กัน เมือเทียบกับคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

 

คุยการเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ กับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

 

โดย 101 One-On-One

“ผมว่ายังมีคนเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอยู่ อย่างน้อยเราต้องเชื่อว่าพวกเรายังเชื่ออยู่ ไม่อย่างนั้นจบเลย คือผมเชื่อ แต่ผมคิดว่าคงเกิดความน่าเบื่อหน่ายในระบอบการเมืองเหมือนไม่แคร์มากกว่า ตัวผมเองก็เป็น มันเบื่อมากเสียจนต้องขึ้นดอยไปทำกาแฟ”

“ผมเคยคุยการเมืองกับเพื่อนต่างชาติ เขาพยายามให้ผมช่วยอธิบายว่าการเมืองไทยคืออะไร เป็นยังไง เขาบอกเขาไม่เข้าใจ ผมบอกว่าถ้าคุณไม่เข้าใจแสดงว่าคุณเข้าใจแล้ว ผมเองก็ยังงงๆ สับสนกับตัวละครต่างๆ มันไม่มีใครที่ยืนหยัดในประชาธิปไตยจริงๆ”

“การเมืองในประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตยเกินไป มีหลายก๊กหลายฝ่าย เหมือนมีพรรคเล็กๆ อยู่ข้างใน คุณอยู่ข้างไหนก็ต้องเข้าข้างฝ่ายนั้น และขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนมีอำนาจ วันไหนช่วงไหนใครมีอำนาจมากที่สุดพรรคก็เทไปทางนั้น”

“ต้องยอมรับก่อนว่าพลเรือนต้องปกครองทหาร Civilian Control of Government สำคัญมาก เขาเป็นทหารของประชาชนเขาต้องยอมรับตรงนี้ให้ได้ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นทหารของทหาร หรืออยู่ในองค์กรที่เป็นรัฐซ้อนรัฐอีกที”

ทั้งหมดข้างต้นเป็นไอเดียของ ‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่กำลังถูกจับตามองถึงเลือดใหม่ทางการเมือง โดยเฉพาะเลือดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ passion อื่นของเขาคืออะไรในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกาแฟที่เขาขึ้นดอยไปคลุกดินเอง

 

“ลูกผู้ชาย” ชื่อยิ่งลักษณ์

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถอนฟ้องสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 3 คน จากคดีหมิ่นประมาท พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงแนวคิดสตรีนิยมในไทย ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมือง มากกว่าเรื่องสิทธิสตรี

“ควบคู่ไปกับการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล การโจมตีที่มีต่อนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างสำคัญอีกด้าน ปรากฏในประเด็นที่เกี่ยวพันกับความเป็นหญิง, ประเด็นทางเพศ, ครอบครัว กรณีข้อพิพาททางศาลซึ่งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางคนได้กล่าวในรายการ ‘สายล่อฟ้า’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เป็นประเด็นทางเพศมาเป็นเครื่องมือเช่นกัน

“สิ่งที่ควรช่วยกันพิจารณาก็คือว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความเดียงสาของแนวความคิดทางด้านสตรีนิยมในสังคมไทยโดยรวม ใช่หรือไม่?

“ข้อสันนิษฐานประการหนึ่งก็คือ แนวความคิดของนักสิทธิสตรีของไทย ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากกรอบความขัดแย้งทางการเมือง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเด็นทางการเมือง อยู่เหนือหรือสำคัญกว่าประเด็นทางด้านสิทธิสตรี

“ภาวะเช่นนี้จึงทำให้ไม่เกิดการตั้งคำถาม การตรวจสอบ ต่อการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น และแน่นอนว่า เมื่อปราศจากแรงกดดันที่มีต่อท่าทีแบบเหยียดผู้หญิง ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ให้ผู้ที่ประกอบกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ในคราวนั้น จะแสดงความรู้สึกใดๆ ต่อการกระทำที่ได้ทำลงไป”

“ความเห็นที่อาจเป็นไปได้มากที่สุด ต่อการถอนฟ้องคดีโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็คือการชื่นชมการกระทำของเธอว่าช่าง ‘แมน’ เหลือเกิน และแมนกว่าฝ่ายซึ่งเป็นผู้กระทำมากมายนัก…”

 

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘#สังคมชายเป็นใหญ่‘ ในอินเดีย ซึ่งได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายจากการที่ #นางอินทิราคานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

“สังคมอินเดียเป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก สถานะผู้หญิงในสังคมถูกกดทับ จนมีคำกล่าวที่ว่า ‘เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี’ เพราะอย่างน้อย วัวซึ่งสังคมอินเดียถือว่าเป็นเทพเจ้าพาหนะของพระศิวะ ก็ยังได้รับการนับถือและยกย่องจากคนทั่วไป มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีอิสระ ที่สำคัญคือมีคนพิทักษ์ดูแลตลอดเวลา”

“เรื่องราวและแนวปฏิบัติของนางสีดา กลายเป็นแบบอย่างสำคัญของการเป็นภรรยาที่ดีตามคติฮินดู ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ต่อสามี ตลอดจนการเชื่อฟังในสิ่งที่สามีกล่าวโดยไม่โต้แย้ง แม้ว่าสามีจะสั่งหรือร้องขอเรื่องใดก็ตาม ส่วนมหากาพย์มหาภารตะ เล่าเรื่องและวางสถานะสตรีให้เป็นดั่ง ‘สิ่งของ’ ของสามี เช่น การใช้ภรรยาอย่างพระนางเทราปตีร่วมกันในหมู่พี่น้องปาณฑพ เพียงเพราะคำพูดสั้นๆ ของผู้เป็นมารดาที่ว่า อยากให้บุตรทุกคนเมื่อได้ของสิ่งใดมา ให้แบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม”

“ข้อมูลจากการเก็บสถิติในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2560 พบว่าเฉพาะในเมืองหลวงอย่างนิวเดลี มีผู้หญิงถูกข่มขืนทุกๆ 2-3 ชั่วโมง โดย 2 ใน 10 เป็นการกระทำเป็นกลุ่มของผู้ชาย ในขณะที่ตำรวจท้องที่ จะตั้งข้อสงสัยต่อผู้หญิงที่มาแจ้งความเสมอ ว่าพวกเธอโกหกเรื่องขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ”

“คำถามมีอยู่ว่า ชีวิตที่แย่กว่า ‘การเกิดเป็นวัว’ เป็นเช่นไร สตรีในสังคมอินเดียต้องรับแรงกดทับมากน้อยแค่ไหนในการดำเนินชีวิตประจำวัน อะไรถือเป็นอุปสรรคและความท้าทายใหม่ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และสถานะของสตรีในสังคมอินเดีย ทั้งหมดนี้วนเวียนอยู่ภายใต้คำถามใหญ่ที่ว่า ทำไมสังคมที่เคลมตัวเองว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ จึงไม่ยอมรับสิทธิสตรี”

 

การใช้ ‘Blockchain’ เพื่อความโปร่งใส : ตัวอย่างในต่างประเทศ และความเป็นไปได้ในไทย

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

ว่ากันว่า ‘Blockchain’ คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอนาคต ด้วยระบบที่มีความปลอดภัยสูง และเอื้อให้เกิดความโปร่งใส โดยหลายประเทศเริ่มนำมาปรับใช้กันแล้ว ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

ทว่าในประเทศไทย นี่ถือเป็น ‘สิ่งใหม่’ ที่ยังต้องอาศัยองค์ความรู้และการระดมสมองจากภาคส่วนต่างๆ อีกพอสมควร เพื่อจะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Blockchain คืออะไร เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในแง่ไหน และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงยกระดับกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เก็บความจากวงเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ ‘เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ’ ซึ่งมี ‘หัวกะทิ’ จากภาคีเครือข่ายต่างๆ มาช่วยกันระดมสมอง เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามดังกล่าว

“Blockchain คือระบบฐานข้อมูลแบบไม่รวมศูนย์ เปรียบง่ายๆ ว่าเหมือน ‘บัญชีหนังหมา’ ของยมบาล ซึ่งเรามองไม่เห็น ประเด็นคือหากใครทำเรื่องผิดปกติวิสัย (ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล) ยมบาลจะรู้และบันทึกไว้ทันที ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้มันยังมีลักษณะพิเศษคือ เป็นทั้ง open data ที่เปิดให้คนอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นส่วนตัว (private) คือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ Blockchain ก็คือ ‘Internet of value’ จากเดิมที่เป็นแค่ ‘Internet of data’ หมายความว่า จากเดิมที่ฟังก์ชันของอินเทอร์เน็ต คือการรับส่งข้อมูลเป็นหลัก แต่ Blockchain จะยกระดับขึ้นไปกว่านั้น คือรับส่ง ‘คุณค่า’ หรือ ‘สิทธิ’ ในข้อมูลหรือสิ่งของนั้นๆ ไปด้วย เช่น สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสิทธิ์จากการทำธุรกรรมต่างๆ

“ขั้นแรกที่ภาครัฐควรทำ คือเปลี่ยนระบบฐานข้อมูลจากที่อยู่ในกระดาษ ให้เป็น Digital Database ทั้งหมด ทั้งในแง่รูปแบบของข้อมูล เช่น เป็นไฟล์ดิจิทัล และในแง่รายละเอียดของข้อมูลที่กำกับอยู่บนไฟล์นั้นๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

“อย่างไรก็ดี การออกแบบฐานข้อมูลในเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา มีปัญหาอยู่หลายประการด้วยกัน ตั้งแต่การใช้ข้อมูลแบบรวมศูนย์ ง่ายต่อการแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นระบบที่ไม่มีกลไกการตรวจสอบความแน่นอนของข้อมูล ซึ่งปัญหาที่ว่ามา ล้วนตรงข้ามกับหลักการของ Blockchain ทั้งสิ้น”

 

การเดินทางของ ‘คนเดือนตุลา’ กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“การจะทำความเข้าใจจุดยืนและอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาในปัจจุบันได้นั้น อาจต้องตั้งต้นจากการแยกแยะให้ชัดก่อนว่า คนยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา นั้นมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่ต่างกัน มิได้มีความเป็นเอกภาพหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมดอย่างที่หลายคนเข้าใจ…”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล สำรวจเส้นทางชีวิตของ ‘คนเดือนตุลา’ พร้อมหาคำตอบว่า เหตุใดประชาชน-นักศึกษาที่เคยร่วมต่อสู้และมีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกัน กลับขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว โดยเฉพาะในวิกฤตการเมืองไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

“กนกรัตน์ เลิศชูสกุล มองว่าอาจเป็นเพราะเราเข้าใจคนเดือนตุลาแบบผิดๆ มาตั้งแต่ต้น จากการสร้างความหมายใหม่ของคนเดือนตุลาเอง ที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองใหม่ โดยทำให้ 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขามีความแตกต่าง-แตกแยกทางความคิด มาตั้งแต่ 40 ปีก่อนแล้ว”

“จุดแตกต่างที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ คนยุค 14 ตุลา มีประวัติศาสตร์ชัยชนะเป็นหมุดหมายสำคัญ ขณะเดียวกันก็มีความใกล้ชิดผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มากกว่า ในทางกลับกัน คนยุค 6 ตุลา กลับมีประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำเท่าไหร่นัก คือการเป็นฝ่ายซ้ายที่พ่ายแพ้”

“หากพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของคนเดือนตุลาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน กับบทบาทและอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขาในปัจจุบัน ข้อสังเกตคือคนในยุค 14 ตุลา มีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร รวมไปถึง กปปส. มากกว่า ขณะที่คนยุค 6 ตุลาฯ กลับเลือกที่จะอยู่อีกฝั่ง”

“ทั้งนี้ หากเรายึดแนวคิดและอุดมการณ์ตั้งต้นของแต่ละกลุ่มเป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก”

 

ORLANDO : A BIOGRAPHY “ราวกับว่าไม่ได้อยู่ในเพศหนึ่งเพศใด”

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ในตัวมนุษย์ทุกคนมีการเอนเอียงจากเพศหนึ่งไปอีกเพศเกิดขึ้นเสมอ และบ่อยครั้งมีแต่เสื้อผ้าที่ทำให้ดูเหมือนเป็นบุรุษหรือสตรี ขณะที่เบื้องใต้นั้น เพศกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนโดยสิ้นเชิง…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เขียนถึงหนังสือ ‘Orlando : A Biography’ ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ที่ว่ากันว่าเป็นจดหมายรักต่อผู้หญิงคนรักของเธอ เรื่องราวของออร์แลนโด ผู้ชายที่กลายเป็นผู้หญิงและมีชีวิตอยู่ยาวนานกว่า 400 ปี

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ แม้จะเป็นนวนิยายที่เขียนไว้เมื่อเกือบร้อยปีก่อน แต่กลับสะท้อนแนวคิดเรื่องความลื่นไหลและความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างแหลมคม และอาจเรียกได้ว่า ‘ก้าวหน้า’ ด้วยซ้ำ ในสังคมปัจจุบันที่อคติทางเพศยังปรากฏให้เห็นในหลากรูปแบบ

 

รายการ 101 One-on-One

 

101 One-On-One Ep50 “คนเดือนตุลากับการเมืองไทย” กับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

โดย 101 One-On-One 

รายการ 101 One-on-One Ep50

:: LIVE :: “คนเดือนตุลากับการเมืองไทย” โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘คนเดือนตุลา’ คือใคร พวกเขามีส่วนในการก่อร่างสร้างการเมืองไทยแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างไร

จากทศวรรษ 2510 จนถึง 2560 ความคิด ความฝัน และบทบาททางการเมืองของ ‘คนเดือนตุลา’ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

หาคำตอบได้ใน 101 One-on-One วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม เวลาสองทุ่มตรง

ชวนสนทนาโดย ธร ปีติดล

 

101 One-On-One Ep49 “สร้างสรรค์ความสร้างสรรค์” กับ วชิรา รุธิรกนก

 

โดย 101 One-On-One 

รายการ 101 One-on-One ep49
:: LIVE :: สร้างสรรค์ความสร้างสรรค์ : เบื้องหลังวิธีคิดว่าด้วยการสร้างสรรค์
สนทนากับ โจ้ – วชิรา รุธิรกนก แห่ง Rabbithood Studio เจ้าของรางวัล G-Mark 2018 จากประเทศญี่ปุ่น และรางวัลการออกแบบอื่นๆ อีกมาก
วันพุธที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง the101.world
โตมร ศุขปรีชา ดำเนินรายการ

 

101 One-On-One Ep48 “อ่านเวียดนาม” กับ ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

โดย 101 One-On-One 

รายการ 101 one on one ep48

:: LIVE :: “อ่านเวียดนาม” กับ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านเวียดนามยุคใหม่ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก

สำรวจสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเวียดนามยุคหลังสงครามเย็น ผ่านสายตานักมานุษยวิทยาที่เกาะติดพื้นที่ต่อเนื่องหลายปี

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง the101.world

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ

 

101 One-On-One Ep47 “เศรษฐกิจโลก 10 ปีหลังวิกฤตซับไพรม์” กับ สมประวิณ มันประเสริฐ

 

โดย 101 One-On-One 

101 One-on-One ep47

:: LIVE :: เศรษฐกิจโลก 10 ปีหลังวิกฤตซับไพรม์

ย้อนทวนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดนับจาก The Great Depression 1930s เพื่อเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และสรุปบทเรียนสู่อนาคต

กับ “สมประวิณ มันประเสริฐ” Chief Economist และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

จากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐสู่วิกฤตการเงินโลก 10 ปีผ่านไป เศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ฟื้นจากวิกฤตแล้วหรือยัง อะไรคือมรดกที่วิกฤตทิ้งไว้ ความเสี่ยงใหม่และความท้าทายใหม่ของเศรษฐกิจโลก ณ วันนี้คืออะไร

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ชวนคุยหาคำตอบโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save