fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2561

เพทาย VKL

ความ ‘ยโส’ ของ เพทาย VKL แรปเปอร์ผู้นำความ ‘ลาว’ ไปสู่ ‘โลก’

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ผมไม่ได้เกิดที่ยโสฯ แต่เลือดผมคือคนยโสฯ ผมรู้อยู่แล้ว สิ่งนี้จะอยู่กับผมไปจนวันตาย แต่คนจะเห็นตัวตนที่แท้จริงก็ต่อเมื่อเห็นผลงาน รู้เลยว่าผมคือใคร”

‘VKL’ เป็นชื่อของแรปเปอร์หนุ่ม นามว่า มิกซ์ – เพทาย วงษ์คำเหลา และใช่ VKL คือคำย่อของนามสกุลเขาเอง

ในหมู่คนฟังเพลงฮิปฮอป ชื่อของ VKL คือแรปเปอร์ที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจน ไม่ซ้ำใครในไทย และแทบจะเรียกได้ว่าในโลก เพราะเขาหยิบเอาจังหวะแบบฮิปฮอป ผสมอาร์แอนด์บี มาแต้มสีด้วยเนื้อร้องภาษาอีสาน

ในบางท่อนเป็นภาษาอังกฤษ ถัดมาเป็นภาษาไทย และในวรรคเดียวกัน เขาแรปด้วยภาษาอีสานได้อย่างเนียนหู กระแทกใจ

“คนชอบเรียกคนอีสานว่า ลาวๆๆ ผมจะทำให้ดูว่า ลาวก็อินเตอร์ได้ นั่นคือเป้าหมายตอนแรก อีกเรื่องคืออยากพรีเซนต์มุมมองของ VKL ที่ไม่ได้เป็นแค่ลูกหม่ำ อยากให้คนมองว่าเขาคือศิลปิน”

ก่อนหน้านี้ เขาได้รับรางวัล Hometown Hero จาก Rap is Now Awards 2017 และได้รับการพูดถึงอย่างมากว่าเป็นศิลปินหนุ่มที่ทำเพลงผสมผสานวัฒนธรรมได้อย่างน่าจับตามอง ตอนนี้เขาทำค่ายเพลง Sweed Dreamz Records มีศิลปินทั้งแนวอาร์แอนด์บีและฮิปฮอป และยังผลิตเพลงใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพลงล่าสุดของ VKL คือ Vong Vision เพิ่งออกมาต้นเดือนพฤศจิกายน

101 นัดคุยกับเขาที่ร้านกาแฟย่านบางใหญ่ เขานั่งแต่งเพลงอยู่กับเพื่อนอีกคน และทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องเพลง แววตาของเขาเป็นประกาย ในวัย 23 ปี เขามีความคิด ความฝันอะไร การนำวัฒนธรรมอีสานมาผสานกับเพลงฮิปฮอปเกิดขึ้นได้อย่างไร ยากง่ายแค่ไหน

ถัดจากนี้ คือบทสนทนาว่าด้วยชีวิตและบทเพลงของ ‘เพทาย วงษ์คำเหลา’ ในวันที่กำลังก้าวพ้นจากร่มเงาของพ่อ

ชันสูตรประวัติศาสตร์ กับ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

ชันสูตรประวัติศาสตร์ กับ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ข้อดีอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย คือ จะมีมหาดเล็กนั่งเขียนเกี่ยวกับพระอาการประชวรเกือบทุกวัน เล่าว่าวันนี้เป็นแบบนี้ อย่างรัชกาลที่ 4 มีคำถามว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะไข้ป่าจริงมั้ย ก็มีมหาดเล็กจดละเอียด เช่น ทรงถ่ายพระบังคนหนักเป็นเลือด ผมอ่านไปอ่านมาแล้ววิเคราะห์จนได้คำตอบออกมา…”

ช่วงตุลาคม 2560 หนังสือ ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต ของรศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช ออกมาวางบนแผง เกิดเป็นกระแสในหมู่คนรักประวัติศาสตร์ในวงกว้าง เป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ใส่ ‘วิทยาศาสตร์’ เข้าไปอย่างเนียนกริบ ว่าด้วยเรื่องกรณีสวรรคตของพระมหากษัตริย์ไทย มีตั้งแต่องค์สำคัญในยุคกรุงศรีฯ มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์เกือบทุกพระองค์ และยังมีของสมเด็จพระราชินีและบรมวงศานุวงศ์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจซ่อนอยู่อีกมาก

คำถามที่ว่า รัชกาลที่ 4 สวรรคตเพราะไข้ป่าจริงไหม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอาจถูกลอบปลงพระชนม์ หรือพระเจ้าตากเสียพระสติจริงไหม สามารถตอบได้ด้วยการค้นเอกสารชั้นต้นมาผนวกรวมกับความรู้ทางการแพทย์ จนได้เป็นข้อสรุปที่ชวนให้เรามองประวัติศาสตร์ด้วยแว่นตาอันใหม่

“ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่ตายแล้ว มานั่งท่องจำ พ.ศ. ยังมีเหตุการณ์อีกหลายอย่างให้ศึกษา แต่ปัญหาในบริบทของไทยคือ เราต้องฟังอาจารย์ ถ้าตอบไม่ตรงกับครูก็คือผิด ครูว่าอะไรก็ว่าตาม อย่าไปคิดต่างจากที่ครูสอนเป็นอันขาด

หรืออย่างเวลาสอน ทำไมกรุงศรีฯ ถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 เราฟังแล้วก็ต้องตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์หาเหตุผล ไม่ใช่เชื่ออย่างที่เขาบอกๆ กันมา”

“อย่างที่เรารู้ว่า ผู้เขียนประวัติศาสตร์คือผู้ชนะ เขาก็ต้องเขียนไม่ให้เขาเสียหาย ถึงต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ไง”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ชวนคุณหมอนักประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง มานั่งคุยแบบ ‘ประวัติศาสตร์วิเคราะห์’ ที่ไม่ได้จำแค่ พ.ศ. เท่านั้น แต่ว่าด้วยความตาย และการชำระ-ชำแหละประวัติศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์

ระบอบประยุทธ์จงเจริญ สิทธิและความชอบธรรมในการสนับสนุนเผด็จการ

ระบอบประยุทธ์จงเจริญ สิทธิและความชอบธรรมในการสนับสนุนเผด็จการ

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงกรณีที่สมาชิกวง BNK48 เข้าทำเนียบไปพบพลเอกประยุทธ์ ต่อด้วยการไปร่วมรายการเดินหน้าประเทศไทย พร้อมวิพากษ์ท่าทีแบบ ‘เพลย์เซฟ’ ของพรรคการเมืองบางพรรค

“ในฐานะที่ BNK48-เฌอปราง เป็นบุคคลสาธารณะด้วยใจสมัคร มิได้มีใครไปข่มขืนใจ อีกทั้งยังยอมรับกับสถานภาพของไอดอลที่ผู้คนในสังคมมอบให้ เมื่อ BNK48-เฌอปราง ไปทำหน้าที่รับใช้ ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนระบอบปกครองเผด็จการ คสช. โดยไม่ปรากฏว่ามีใครเขาเอาปืนไปจี้หัวบังคับ

“โดยหลักการแล้ว จึงชอบที่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หรือใครก็ตาม จะแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาท ท่าที หรือจุดยืนทางการเมืองของ BNK48-เฌอปราง ตราบเท่าที่มิได้ไปล่วงล้ำก้ำเกินประเด็นอันเป็นส่วนตัว

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะก่อประโยชน์โพดผลมากมายให้กับสังคมไทย หากจะได้มีการถกแถลงแสดงความคิดเห็นกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อก่อให้เกิดกระแสผลักดัน นำไปสู่ฉันทามติของคนในชาติในวันข้างหน้าว่า จะเลือกยืนข้างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

“ทว่าเป็นที่น่าเสียใจ เมื่อกลุ่มคนซึ่งอ้างตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อาสาตัวนำพาประเทศชาติ ประชาชน ไปสู่อนาคตใหม่ แต่กลับเห็นคะแนนเสียง ความนิยมของเหล่าบรรดาโอตะ แฟนคลับ BNK48 ที่มีต่อพรรคการเมืองของตนเอง สำคัญมากกว่าหลักการประชาธิปไตย…”

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“เราเล่าให้เพื่อนสนิทฟังทุกอย่างว่าเรากำลังเป็นอะไร รู้สึกยังไง เพื่อนคนหนึ่งฟังแล้วถามว่า ทำไมไม่รักตัวเอง ทำไมไม่คิดถึงคนที่รักเราไว้ เรารู้นะว่าเขาพูดเพราะเป็นห่วงและรักเรา แต่เราไม่สามารถคิดอะไรดีๆ หรือคล้อยตามเขาได้เลย มันยิ่งกลายเป็นความรู้สึกกดดันว่า เรากำลังทำให้เขาเครียดและไม่พอใจ”

“วิธีปฏิบัติที่ฟังดูทำยากแต่ได้ผลอย่างเหลือเชื่อ คือในช่วงภาวะวิกฤต สิ่งที่ผู้ทุกข์ใจต้องการมากๆ คือผู้ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งรีบไปให้คำแนะนำโดยที่เขายังไม่ได้พูดอะไร การที่เขาได้พูดระบายออกมา เป็นการเปิดโอกาสให้ญาติได้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาหรือสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญคืออะไร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่ญาติเคยคิดมาก่อนก็ได้”

“เราจะไม่ค่อยพูดคำว่า ‘สู้ๆ นะ’ ไม่กล้าแม้แต่บอกให้เขาอดทนด้วยซ้ำ เพราะรู้ว่าโรคซึมเศร้าทำให้เขาต้องต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว เราจะไม่บอกเขาว่า เวลาหรืออนาคตจะทำให้ทุกอย่างโอเค เพราะถ้าเวลาผ่านไปจิตใจของเขายังไม่ดีขึ้น เราก็ไม่อยากเห็นเขาผิดหวัง”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ถ่ายทอดเรื่องราวจากสองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หนึ่งคนเคียงข้างผู้ป่วย และคำแนะนำจากบทความเรื่อง ‘โรคซึมเศร้าโดยละเอียด’ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสะท้อนให้เห็นจิตใจของผู้ป่วยที่ ‘อยากตาย’ และแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ดังกล่าว

“เผด็จการเกลียดวิชาปรัชญา” โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

โดย วจนา วรรลยางกูร

“เผด็จการเกลียดวิชานี้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะเผด็จการจะต้องการประชาชนที่ว่านอนสอนง่าย ไม่เถียง ไม่ตั้งคำถามยากๆ ที่ทำให้เขาอึดอัด ซึ่งปรัชญาทำอย่างนี้ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นปรัชญาจึงเหมือนกับเป็นศัตรูโดยธรรมชาติของเผด็จการ”

วจนา วรรลยางกูร คุยกับ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ว่าด้วยความเป็นไปได้ของสังคมไทยที่จะสอนวิชาปรัชญาในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ ไปจนถึงการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมวิเคราะห์ว่า เหตุใดเผด็จการจึงเกลียดวิชาปรัชญา

“พ่อแม่ควรตอบทุกคำถามของลูก ตอบได้หรือไม่ได้ ไม่เป็นไร ถูกผิดไม่เป็นไร ขอให้ตอบเท่าที่ตัวเองรู้ เพราะเด็กไม่ได้ถามเพื่อเอารายละเอียดมากมาย เขาต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ แล้วครูที่ทำหน้าที่แทนพ่อแม่ ก็มีหน้าที่ตอบคำถามนักเรียนด้วย ไม่ใช่ให้นักเรียนตอบคำถามครูอย่างเดียว”

“สิ่งที่ผู้วางนโยบายประเทศอยากได้ เช่น อยากให้คนไทยมีความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดแบบมีวิจารณญาณ ไม่ถูกหลอกง่าย ไม่เชื่อใครง่ายๆ รู้จักตรวจสอบว่าอะไรควรเชื่อ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติของคนเรียนปรัชญาทั้งนั้น มาจากการคิด การสงสัย และใช้เหตุผลอภิปรายกันเรื่องปัญหาเชิงคุณค่า”

“ทำไมรัฐจำเป็นจะต้องได้ภาษี ทำไมการเสียภาษีจึงเป็นหน้าที่ รัฐมีอำนาจอะไรมาบังคับเราให้เสียภาษี การที่รัฐ ‘ดูเหมือนจะมีความชอบธรรม’ ในการบังคับเราเสียภาษี แล้วความชอบธรรมนั้นมาจากไหน พวกนี้ปัญหาปรัชญาทั้งนั้นคุยกับนักเรียนได้เลย แทนที่จะให้นักเรียนท่องว่าหน้าที่พลเมือง ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 มีอะไรบ้าง”

“การเป็นนักแปล ไม่ใช่แค่รู้ภาษา” – เปิดชีวิตนอกตำรา ฉบับ ‘สดใส’

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

ช่วงงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา กระแส #นัมจุนอ่าน ส่งผลให้หนังสือ ‘เดเมียน’ วรรณกรรมคลาสสิคเยอรมัน ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากนักอ่านวัยใสที่เป็นแฟนคลับไอดอลเกาหลี

101 ถือโอกาสนี้ คุยกับ ‘สดใส’ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์ นักแปลรุ่นใหญ่ ฉายา ‘ลูกสาวเฮสเส’ เจ้าของสำนวนแปลที่นักอ่านชาวไทยคุ้นเคยมากว่า 40 ปี

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอกลายเป็นนักแปล เธอกลายเป็นลูกสาวเฮสเสตั้งแต่ตอนไหน การเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์กับนักแปลขัดแย้งกันหรือไม่ และเธอมองสภาวะการอ่านทุกวันนี้อย่างไร คือคำถามหลักที่เราชวนเธอสนทนา

“อย่างในโรงเรียน การให้เด็กอ่านวรรณคดี ไม่ควรให้อ่านเพื่อเอามาสอบ ตัวละครนั้นชื่ออะไร ต้นไม้อันนั้นชื่ออะไร บ้าหรือเปล่า วรรณคดีคือที่รวมของทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องชีวิต การเมืองการปกครอง ปรัชญา ศาสนา ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้น การมาถามตอบแบบนั้นมันเสียของ แล้วเด็กก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร มันควรอ่านแล้วมานั่งพูดคุยกัน เธอคิดยังไง ฉันคิดยังไง มาแชร์ประสบการณ์กัน แบบนั้นเป็นประโยชน์กว่า”

“งานแปลเนี่ย ไม่ใช่ว่าจบเอกอังกฤษมาแล้วจะทำได้เลย คือคุณเก่งภาษาก็จริง แต่ถ้าคุณไม่รู้บริบทวัฒนธรรม ไม่มีพื้นฐานความรู้บางอย่าง บางทีมันนึกไม่ออก จินตนาการไม่ได้ สุดท้ายก็จะส่งผลต่อการเลือกคำ เลือกประโยค คำคำหนึ่งมันแปลได้ไม่รู้ตั้งกี่ความหมาย ถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณจะหยิบคำไหนมาใช้ล่ะ แค่สรรพนามก็ต้องเลือกแล้วว่าจะเอายังไง ไม่ใช่เอะอะก็ ‘ข้าพเจ้า’ ตลอด

“ตอนนี้กระแสโลก สังเกตว่าคนเริ่มกลับมาโหยหา slow reading กันมากขึ้น เพื่อพัฒนาด้านอารมณ์ เพราะตอนนี้มนุษย์จะกลายเป็นเครื่องจักรหมดแล้ว เห็นอะไรก็เฉยเมยไปหมด ตอนนี้เป็นปัญหาระบบการศึกษาทั่วโลกเลยนะ เขาบอกว่า เฮ้ย ต้องกลับมาอ่านหนังสือ โดยเฉพาะวรรณกรรม เพราะมันจะทำให้เธอได้ลงลึกในความรู้สึก ต่างจากการอ่านในออนไลน์ที่เป็นการอ่านแบบผ่านๆ ไม่ทันได้รู้สึกอะไร”

“วันก่อนเห็นเด็กมาซื้อ ‘เดเมียน’ กันเยอะแยะ ไอ้เราก็แปลกใจ แกล้งถามเด็กว่ามันดียังไง ถามไปถามมา อ๋อ นัมจุนมันอ่าน (คิมนัมจุน สมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลีชื่อดัง BTS) เราก็รู้สึกดีนะ รู้สึกว่าไอดอลที่อ่านหนังสือนี่ใช้ได้ ตอนนี้เมืองไทยมีบ้างหรือยังล่ะ ไอดอลที่คนเห็นว่าเขาโตจากการอ่าน เพราะมันเห็นผลจริงนะ โดยเฉพาะกับพวกเด็กๆ”

สร้างชาติด้วยดีไซน์ กับ Design Ah! In Tokyo : นิทรรศการที่เปลี่ยนห้องเรียนวิชาออกแบบให้กลายเป็นสวนสนุก

โดย Eyedropper Fill 

Eyedropper Fil พาไปเดินชมนิทรรศการ Design Ah! ที่โตเกียว ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์จากรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กยอดฮิตในชื่อเดียวกัน ทุกเนื้อหาที่ถูกเล่าในจอแบนๆ จะถูกเอามาระเบิดออกกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเล่นได้ราวสวนสนุก นิทรรศการช่วยเปิดให้เราเห็นว่า เพราะอะไร ‘ความคิดสร้างสรรค์’ จึงฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนญี่ปุ่น

ตั้งแต่ให้เราทดลองเป็นข้าวกล่องเอง ขั้นตอนการเปลี่ยนรูปทรงของไข่ บรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ถูกเอาลวดลายผิวนอกออกจนเหลือเป็นสีขาว แล้วให้ทายว่านี่คืออะไร ฯลฯ

GDP ไตรมาสสาม บอกอะไรเรา?

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย วิเคราะห์ ‘ไส้ใน’ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดของไทยที่เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อหาคำตอบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงหรือไม่ อะไรอยู่เบื้องหลังของการเติบโต ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง และมีสิ่งน่าเป็นห่วงอะไรซ่อนอยู่หลังตัวเลข

(1) เราน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปโตแรงๆ แบบนั้นได้อีก ถ้าการส่งออกและการท่องเที่ยวโตช้าลง และไม่สามารถกลับไปโตแรงๆ แบบตอนต้นปีได้อีก

(2) ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกสินค้าและบริการสวมบทพระเอกหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ถ้าเราคิด contribution to growth คือตั้งคำถามว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.8% มีที่มาจากไหนบ้าง จะพบว่า ลำพังเพียงการท่องเที่ยวอย่างเดียว ซึ่งโตถึง 9% ในครึ่งแรก และมีความสำคัญถึง 13% ของ GDP ก็ส่งผลให้ GDP ในครึ่งปีแรกเติบโตถึง 1.2% แล้ว

นั่นหมายความว่า การท่องเที่ยวไม่ถึงกับต้องหดตัว เอาแค่ไม่โตอย่างเคย การเติบโตก็อาจหายไป 1.2% จากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว นี่ยังไม่นับการส่งออกที่ชะลอตัวหยุดโตไปด้วยเหมือนกัน การที่การท่องเที่ยวและการส่งออกหยุดโตไปเฉยๆ ในไตรมาสที่ 3 คำนวณดูแล้ว พบว่า องค์ประกอบของการส่งออกสุทธินี้ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 3 ติดลบถึง 7% เลยทีเดียว

(3) ถ้ายังจำกันได้ GDP คือ “มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง” ส่วนต่างของมูลค่า GDP ด้านการใช้จ่าย กับ มูลค่า GDP ด้านการผลิต ก็คือ “ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ” (change in inventories) และ “ค่าสถิติคลาดเคลื่อน” (statistical discrepancy) เราพบว่าสองส่วนนี้มีค่าสูงถึง 7% ของ GDP! นั่นแปลว่ามูลค่า GDP ด้านการผลิตโตเร็วกว่าการใช้จ่ายรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีสินค้าที่ผลิตออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีคนซื้อไป และสะสมเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าคงเหลือมูลค่ามหาศาล

เมื่อมองย้อนหลัง จะพบว่าไตรมาสที่ 3/2561 เป็นไตรมาสที่เก้าติดต่อกัน ที่มูลค่า GDP ด้านการผลิตโตขึ้นเร็วกว่ามูลค่า GDP ด้านการใช้จ่าย ทั้งที่โดยปกติแล้วในระยะยาวสองตัวนี้ควรโตไปพอๆ กัน เพราะเมื่อมีการผลิตมากกว่าการใช้จ่าย ก็จะสะสมเป็นสินค้าคงเหลือ เมื่อธุรกิจมีสินค้าคงเหลือมากๆ ก็อาจจะชะลอการผลิตลงในช่วงระยะเวลาถัดไป ทำให้ตัวเลข GDP ในอนาคตชะลอลงได้ แม้ฝั่งการใช้จ่ายและบริโภคจะยังคงเติบโตต่อเนื่องก็ตาม

ครูของนักเปลี่ยนแปลงการศึกษา : รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ไม่มีสอบ ไปลงชุมชนก่อนหนึ่งปี แล้วค่อยมาเรียนทฤษฎี เราไม่ได้สร้างศึกษาศาสตรบัณฑิต แต่เป็นศิลปศาสตรบัณฑิต ไม่มุ่งสร้างครู แต่สร้างนักขับเคลื่อน ตั้งคำถาม และเปลี่ยนแปลงการศึกษา”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ คุยกับ ‘รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี’ คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะที่ไม่ได้มุ่งผลิตครู แต่มุ่งผลิต ‘นักเปลี่ยนแปลงการศึกษา’ ตั้งแต่มุมมองที่เขามีต่อระบบการศึกษาไทย อัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงการวิพากษ์ระบบมหาวิทยาลัย ผ่านแว่นของคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนาน

“คณะศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศมีประมาณ 90 แห่ง มีหลักสูตรที่ผลิตครู ผลิตศึกษาศาสตรหรือครุศาสตรบัณฑิตออกมาแต่ละปีประมาณ 3-4 หมื่นคน แต่ระบบราชการรับคนเข้าไปเป็นครูแค่ปีละหมื่นกว่าคน คนที่เรียนครูมันล้นตลาด และอาจไม่ได้ทำงานตรงสายอาชีพ ฉะนั้นแทนที่จะผลิตครู หรือแทนที่จะเป็นคณะศึกษาศาสตร์แบบเดิม ผมจึงตั้งคณะเพื่อสร้างนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษา”

“การศึกษาที่ผ่านมามันไม่ตอบโจทย์ของผู้คน เรียนสี่ปีจบไปแล้ว ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่อยังไงเลย แปลว่าการศึกษามันไม่ส่งเสริมให้มนุษย์ทำความเข้าใจกับ passion ของตัวเอง ไม่รู้ว่าศักยภาพตัวเองคืออะไร ระบบการศึกษาที่เราให้กับเขามันล้าหลังจริงๆ”

“ผมพบว่าเด็กรุ่นใหม่อาจไม่ชอบการสั่งสอน การเลคเชอร์ เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์ไปยืนอยู่หน้าห้อง พูดสามวันแปดวัน มันอาจไม่ใช่วิธีการสื่อสารที่ดี เพราะฉะนั้นโจทย์ของผมคือ เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ว่าเขาเรียนรู้อย่างไร เพื่อให้เราสามารถจัดสร้างวิธีการ และแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับเขาได้”

“นักศึกษาเข้ามา 100 คน สร้างนักเปลี่ยนแปลงได้ 5 คนเราก็แฮปปี้แล้ว อีก 95 คนอาจจะล้มเหลวในมือผม แต่ผมก็มองว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ มันไม่เคยเกิดขึ้นจากคนจำนวนมากหรอก แต่มันเริ่มจากคนที่มีความมุ่งมั่น สายตาอันเฉียบคมจากคนจำนวนน้อยๆ ทั้งสิ้น”

ประเทศกูมีกวี : คุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผู้ร่วมบุกเบิกเทศกาล ‘Nan Poesie’

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ประเทศที่มันมี poetic ไม่มีทางเป็นประเทศที่ล่มจม ต่อให้อยู่ในวันเวลาที่แย่ ความคิดสร้างสรรค์จะเกิด ธุรกิจใหม่ๆ จะเกิด แต่ปัญหาของแผ่นดินนี้คือ นอกจากไม่มีสนามบอลแล้ว ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ยังไล่เอาโซ่มาล่ามขานักบอลไว้ด้วย”

แม้กระแส #ประเทศกูมี จะเริ่มซาลงไป แต่พลังของถ้อยคำ พลังของบทกวี เมื่อซึมซับเข้าสู่หัวใจของคนแล้ว ย่อมไม่จางหายไปง่ายๆ

101 ถือโอกาสนี้ คุยกับ ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ นักเขียน นักสัมภาษณ์ ผู้ร่วมปลุกปั้น ‘Nan Poesie’ เทศกาลบทกวีแห่งเมืองน่าน ที่จะจัดขึ้นช่วงกลางเดือนนี้ โดยรวบรวมกวีศิลปินจากทั่วประเทศ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มาไว้ในงานเดียว

เขาบอกว่าปัญหาของประเทศนี้ คือคนมักเข้าใจว่าบทกวีคือคำคล้องจอง เช่นเดียวกับการที่ผู้อำนาจมองไม่เห็นความสำคัญของศิลปะวรรณกรรม

“เท่าที่เห็นในเมืองไทย ความหมายของบทกวีสำหรับบุคคลทั่วไป โดยค่าเฉลี่ย บทกวีแปลว่าคำคล้องจอง ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ถามว่าบทกวีคล้องจองมีไหม มี แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยมาก บทกวีไม่ได้แปลว่าคำคล้องจองอย่างที่นักเรียนภาษาไทยทั่วประเทศเข้าใจ

“อย่างซีดาน (อดีตนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส) นี่เล่นบอลแบบกวี มันสวยงาม มันสุนทรี หรือข่าวบางชิ้น ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน อาจมีความ poetic มากกว่าบทกวีบางบทก็ได้ ฉะนั้นการที่คุณเขียนนวนิยาย เขียนเรื่องสั้น หรือเขียนกวี ไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็นผู้ถือครองศิลปะที่สูงกว่าศาสตร์อื่น ประเด็นมันอยู่ที่ชิ้นงานนั้นๆ”

“ถามว่าทำไมต้องมีเทศกาลบทกวี แน่นอน กวีทุกคน นักเขียนทุกคน ถึงเวลาทำงาน ก็นั่งเขียนคนเดียวอยู่ที่บ้าน การเขียนเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องความโดดเดี่ยว นั่นคือเวลาคุณใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ประเด็นคือมันต้องมีวันเวลาสำหรับปาร์ตี้ ต้องมีวันเวลาที่จะได้มานั่งเผชิญหน้ากัน มาจับมือกัน มาสัมผัสกัน มาหายใจอยู่ตรงหน้ากัน มาสร้างไดอะล็อกต่อกัน

“เราเชื่อในคำว่าไดอะล็อก นักดนตรีจะเก่ง ต้องมีไดอะล็อก คุณเล่นคนเดียวยังไงก็ไม่เก่ง กวีก็เช่นเดียวกัน”

สุเทพโดนเท? : ที่มาที่ไปของขบวนการ ‘ภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยม’ ในไทยและเทศ

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนถึงปฏิกิริยาต่อต้านที่ ‘ลุงกำนัน’ ต้องเผชิญจากการเดินคารวะแผ่นดิน พร้อมวิเคราะห์ที่มาที่ไป ตรรกะและวิธีคิด ของขบวนการภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยม อย่างกลุ่มพันธมิตร และ กปปส.

“ถ้ายังจำกันได้ ลุงกำนันและเพื่อนๆ เรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองเพื่อ ‘ล้าง’ และ ‘ทำความสะอาด’ ระบอบเลือกตั้งเดิม และสร้างการเมืองใหม่ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับการเลือกตั้ง) เพื่อให้สังคมไทยพ้นภัย ‘นักการเมืองชั่ว’ คำสัญญานี้สร้างความหวังมหาศาลแก่ผู้สนับสนุน กปปส. และกลายเป็นฐานความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร เมื่อปี 2557″

“ผ่านไปสี่ห้าปี ความหวังนี้ดูจะริบหรี่ เพราะสำหรับคนจำนวนมาก รัฐบาลรัฐประหารแทบไม่ต่างจากรัฐบาลเลือกตั้ง คือมีกระแสข่าวคอร์รัปชั่นอยู่เนืองๆ แต่ไม่มีการสืบสวน คนโกงยังคงลอยหน้าหรือกระทั่งครองอำนาจต่อไป ความหวังว่าจะเกิด ‘การปฏิรูป’ จึงกลายเป็นความผิดหวัง”

“ความผิดหวังดอกที่สอง ปรากฏขึ้นเมื่อลุงกำนันเดินออกหาเสียงให้พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน ไม่ว่าจะอ้างอย่างไร ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเห็นว่าผู้นำซึ่งเคยปวารณาตนว่าจะอยู่เหนือ / ไม่ยุ่งกับการเมืองสกปรก กลับตระบัดสัตย์เสียเอง”

“การจะเข้าใจภาวะทางอารมณ์ของคนเหล่านี้ได้ ต้องเข้าใจตรรกะและวาทกรรมหลักของ กปปส. ที่แยกขบวนการตนออกจากความเป็นการเมือง ซึ่งถือว่าสกปรก ฉะนั้นอดีตผู้นำ กปปส. ที่ลงมาคลุกฝุ่นการเมือง จึงมิเพียงกลับคำเท่านั้น แต่กลับไปหาสิ่งสกปรกซึ่งครั้งหนึ่งเคยพยายามชำระล้าง”

วัดจุดแข็งจุดอ่อนจีน-สหรัฐฯ ด้าน A.I.

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่เป็นเดิมพันสำคัญว่าใครจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกในอนาคต ก็คือ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ”

“ตอนนี้จีนออกโรงทุ่มสุดตัว มีการประกาศแผนการใหญ่ A.I. 2030 ตั้งเป้าเป็นผู้นำโลกด้าน A.I. ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สีจิ้นผิงเพิ่งจัดประชุมกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์นัดพิเศษเรื่องนโยบาย A.I. โดยเฉพาะ พร้อมประกาศว่า การพัฒนา A.I. นับเป็นวาระสำคัญของชาติ ซึ่งจะตอบโจทย์ความท้าทายของจีนทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

“จุดแข็งของจีนในเรื่อง A.I. อยู่ที่ปริมาณข้อมูลมหาศาล จีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 800 ล้านคน และมีการใช้จ่ายเงินผ่านมือถือมากกว่าในสหรัฐฯ 50 เท่าตัว ซึ่งทำให้สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคปริมาณมหาศาลได้อย่างง่ายดาย”

“ขณะที่สหรัฐฯ เองก็มีความแข็งแกร่งไม่เบาเช่นกัน โดยจุดแข็งหลักของสหรัฐฯ อยู่ที่พลังความคิดสร้างสรรค์และพลังฝีมือของนักเทคโนโลยี A.I. สหรัฐฯ ที่ยังเป็นที่ 1 ของโลก”

ศึก A.I. ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากใครกุมความได้เปรียบนี้ได้ ก็จะขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต อาร์ม ตั้งนิรันดร พาไปดูจุดแข็ง-จุดอ่อน ของทั้งสองยักษ์ใหญ่นี้ ว่ามีโอกาสเพลี่ยงพล้ำหรือเอาชนะกันได้ด้วยวิธีการใด

ส่องแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม หลัง ‘ประเทศกูมี’ เผชิญหน้าอำนาจรัฐ

โดย ธิติ มีแต้ม

เมื่อ ‘ประเทศกูมี’ ของคณะ Rap Against Dictatorship กำลังเป็นเป้ามากที่สุด กระทั่งว่านอกจากฝ่ายรัฐจะออกท่าทีขึงขังคุกคามใส่แล้ว ยังถึงขั้นแต่งแร็ป ‘Thailand 4.0’ มาเรียกคืนความเชื่อมั่นจากสาธารณชนผ่านมันสมองกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

ถ้าเพลงเพื่อชีวิตไม่ฟังค์ชั่นกับปัจจุบันแล้ว พ้นไปจาก #ประเทศกูมี ลองเหลียวหลังแลหน้า กวาดสายตาหาแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรมที่ต่อต้านอำนาจรัฐว่ามีใครเคียงข้างอีกบ้าง

“ผมเห็นประวัติศาสตร์ที่มีคนไทยการฆ่ากันเองเพียงแค่เพราะคิดต่างกัน และถูกฝ่ายชนชั้นนำบิดเบือนว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูของชาติ ผมเห็นใจคนที่ถูกกดเหยียบ ถูกทำให้ต่ำต่อย ทั้งที่เขามีค่ามีศักดิ์ศรีเท่ากันเหมือนทุกคน แต่กลายเป็นว่างานศิลปะในสังคมนี้ส่วนใหญ่กลับไปส่งเสริมการกดเหยียบศักดิ์ศรีคน” ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับเอ็มวีประเทศกูมี

“ในฟิลิปปินส์ ‘เครือข่ายละครประชาชนแห่งฟิลิปปินส์’ (Philippines’ People Theatre Network) ใช้ละครตั้งคำถามกับอำนาจอยุติธรรมของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส เผด็จการที่ครองอำนาจในช่วงปี 1985-1986 สมาชิกในเครือข่ายได้กระจายตัวกันไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อแสดงละครให้เห็นถึงปัญหาจากการกดขี่ของมาร์คอส เพราะสื่อถูกปิด ไม่อาจนำเสนอข่าวสารได้” ภาสกร อินทุมาร นักวิชาการด้านการละคร

“เวลาเราพูดถึงเพลงขบถ เรามักจะคิดถึงเพลงที่เป็นภาษาไทย แต่อย่าลืมว่าเพลงหมอลำก็ขบถมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว เห็นชัดๆ ได้ในวัฒนธรรมกลุ่มกบฏผีบุญแทบภาคอีสาน ที่ปฏิเสธอำนาจรัฐส่วนกลางชัดเจน” ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะ

แผนที่สร้างชาติ: จากสงครามเย็นสู่แผนที่ดิจิทัล – คุยกับเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี ชวน ‘เก่งกิจ กิติเรียงลาภ’ สนทนาว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของแผนที่ในฐานะ ‘เครื่องมือสร้างชาติ’ จากยุคสงครามเย็นสู่ยุคดิจิทัล

“ประมาณปี 2490 กว่า สหรัฐอเมริกาโดยยูเซด (USAID) ไปสำรวจภาคอีสาน แล้วพบว่าคนอีสานไม่ถึงครึ่งที่รู้จักในหลวง คำว่ารู้จักในหลวงหมายถึง รู้จักความเป็นไทย รู้จักว่าตัวเองอยู่ที่ไหน รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย คือเขาไม่รู้จักเลย คำถามคือ ทำไมเราถึงเชื่อว่าสถาบันหลักเหล่านี้เป็นสิ่งที่คู่กับความเป็นไทยมาอย่างยาวนาน เป็นร้อยๆ ปี อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นเท่านั้นเอง”

“บัตรประชาชนที่ทำตั้งแต่ปี 2480 ไม่มีระบบเคลือบบัตร ทำครั้งเดียวไม่มีเปลี่ยน พอผ่านไปหลายปี มันก็เริ่มเน่าหมด เทคโนโลยีสำคัญในการทำบัตรประชาชนในยุค 2506 โดยสหรัฐอเมริกา คือการต้องมีเครื่องเคลือบบัตร เราอาจจะคิดไม่ถึงว่าเครื่องเคลือบบัตรเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติการปกครองของรัฐได้เลย ปี 2506 มีการอิมพอร์ตเครื่องบัตรประขาขนเข้ามา ทั้งในภาคอีสาน และอีกหลายที่ เพื่อออกและเคลือบบัตร ทำให้รูปไม่หลุด ไม่มีใครเปลี่ยนรูปได้ ทุกอย่างจะเป็นข้อมูลที่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการปกครองมันถูกเสริมทัพด้วยเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ที่มาประกอบกัน”

“กระบวนการการสร้างรัฐชาติในแง่ของการระบุตัวตนว่า ‘ใครคือคนไทย’ ค่อนข้างจะลงตัวมาสัก 20-30 ปีแล้ว ปัจจุบันคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยความมั่นคงหลักของรัฐอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น การทำให้คนหยุดอยู่กับที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย การทำให้คนเคลื่อนที่ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ และการหาจุดเชื่อมต่อของการเคลื่อนที่ของคนต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ อันนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมในช่วงทศวรรษ 1970-80 ด้วย ที่ทำให้การเคลื่อนที่ของคนและการเชื่อมต่อกันของคนผ่านเครือข่ายต่างๆ คือมูลค่า”

มือปืนป๊อปคอร์นไม่ได้หล่นมาจากฟ้า

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงการตัดสินคดี ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ที่เพิ่งผ่านพ้น พร้อมชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกรณีของการฆ่าคนตาย ซึ่งผู้กระทำผิดอาจไม่ได้รับโทษเสมอไป

“ในคดีมือปืนป๊อปคอร์น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ตัดสินลงโทษจำเลย ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่พอมาในชั้นศาลฎีกา ก็ได้กลับคำพิพากษา ด้วยการตัดสินลงโทษจำเลยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น”

“หากเป็นไปตามหลักวิชา หรือตรรกะในทางกฎหมาย คำตัดสินของศาลแต่ละระดับชั้น ควรจะต้องมีผลลัพธ์ในลักษณะที่ใกล้เคียง หรือไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ เพราะคำตัดสินที่เหวี่ยงไปคนละทิศทางของแต่ละศาล ย่อมทำให้เกิดคำถามได้ว่า มีหลักการพื้นฐานในการตัดสินอยู่หรือไม่

“แม้บุคคลที่ใช้ความรุนแรงสังหารผู้คนที่ย่านหลักสี่ จะถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สิ่งที่ต้องพึงตระหนักไว้ ก็คือบุคคลที่ถูกกระบวนการยุติธรรมลงโทษในที่นี้ เป็นเสมือน ‘ไพร่ราบ’ หรือคนธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่อันสำคัญในโครงสร้างของอำนาจรัฐ

“แต่ในทางกลับกัน การเสียชีวิตของบุคคลที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จะพบว่าการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริง กลับดำเนินไปอย่างยากลำบาก เหตุการณ์จำนวนมากล้วนไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนบังเกิดขึ้น และนั่นเป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริม ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ของผู้มีอำนาจ ให้เบ่งบานในสังคมนี้…”

จาก ‘คืนความสุข’ ถึง ‘ประเทศกูมี’ : ชำแหละวาทกรรมการเมืองยุค คสช. กับ อิสระ ชูศรี

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ถ้าเป็นฝั่งที่สนับสนุน คสช. สังเกตได้เลยว่า เขาจะชอบใช้ใหญ่ๆ เช่นคำว่า แผ่นดิน ประเทศชาติ ความเป็นไทย ซึ่งเราจะพบว่ามันเป็นสิ่งไม่มีชีวิต การห่อหุ้มแบบนี้ แง่หนึ่งคือการคลุมไว้ไม่ให้เห็นความแตกต่างภายใน เป็นการใช้ในลักษณะเหมารวม เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ

“ในทางกลับกัน ถ้าคุณไปฟังฝั่งที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือความเท่าเทียมกันของคน เขาจะใช้คำอธิบายคนละแบบเลย ประเทศคือประชาชน ชาติคือประชาชน เพราะประชาชนอยู่ในประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด คือคนแต่ละคนที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศ”

นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ไม่บ่อยครั้งนัก ที่เราจะได้รับฟังมุมมองจาก ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา’

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้ภาษา-วาทกรรม คือรากฐานสำคัญในการสื่อสารประเด็นทางการเมือง ไปจนถึงการปลุกระดมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ๆ แทบทุกครั้ง

101 ชวน ดร.อิสระ ชูศรี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยวิเคราะห์การเมืองยุค คสช. ผ่านแว่นของนักภาษาศาสตร์

ตั้งแต่วาทกรรมและชุดคำต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายหยิบยกมาใช้ เนื้อหาที่ร้อยเรียงอยู่ในเพลงฮิต รวมถึงการตั้งชื่อพรรคการเมืองใหม่ ที่กำลังตั้งขบวนสู่สนามเลือกตั้ง

“ทุกวันนี้ สังเกตว่านายกมีปัญหามากนะ ว่าตกลงจะเรียกตัวเองว่าเป็นอะไร จะมีภาวะที่พูดแล้วไม่เคลียร์สักอย่าง เวลาไปพบประชาชน ก็บอกว่าไม่ได้มาหาเสียงนะ แต่มาเยี่ยมรับฟังปัญหาความทุกข์ มาคลี่คลายปัญหา แก้ปัญหา แม้กระทั่งคำว่าหาเสียงก็ยังไม่กล้าใช้เลย”

“สมมติมีคำทำนายว่า อีกห้าปีโลกจะแตก พอห้าปีผ่านไปมันไม่แตก คำพูดนั้นก็ไม่มีความหมายแล้ว พลังไม่เหลือแล้ว นี่คือปัญหาของคำพูดกับความจริง ถ้าพูดแล้วไม่ตรงความจริงบ่อยๆ สุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อ ความน่าสนใจของการใช้ภาษาคือ คำที่มีพลังในการปลุกเร้าอารมณ์มากๆ ยิ่งถูกใช้บ่อย พลังของมันยิ่งลดลง”

“ยิ่งเวลาผ่านไป คำว่าสงบ คำว่าคืนความสุข คำว่าขอเวลาอีกไม่นาน มันยิ่งตรงข้ามกับความจริง กลายเป็นว่าคำพวกนั้นไม่มีความหมายอีกแล้ว สุดท้ายเขาก็เลยเลิกพูด เราจะพบว่าทุกวันนี้ เขาไม่เปิดเพลงนี้แล้ว เพราะเปิดแล้วมันตลก…”

ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม

โดย วจนา วรรลยางกูร

จะเป็นอย่างไรเมื่อคนรักที่นอนอยู่ข้างกายคุณทุกคืนเสียชีวิตลง แต่เซ็นนำร่างออกจากโรงพยาบาลไม่ได้ เจ้าหน้าที่เรียกหาพ่อแม่พี่น้องที่แทบไม่ได้ติดต่อกันให้มาเซ็นรับแทน

คู่ของคุณฝันอยากมีลูก แต่คุณมีลูกไม่ได้ กฎหมายก็ไม่ยินยอมให้อุ้มบุญ จะรับลูกบุญธรรมร่วมกันก็ไม่ได้ สิทธิลดหย่อนภาษีหรือสวัสดิการจากคู่สมรสที่ควรจะได้ก็ถูกปิดกั้น

ทั้งหมดเพราะรัฐไม่ได้เปิดกว้างให้ความหลากหลายทางเพศ และให้การสร้างครอบครัวตามกฎหมายเป็นสิทธิเฉพาะของคู่รักชายหญิง

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่มีการผลักดันเพื่อการสร้างครอบครัวของกลุ่มเพศหลากหลายเพิ่งถูกเผยแพร่ออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก่อนจะนำเข้าครม.ช่วงปลายเดือนนี้ แต่กลับไม่มีเรื่องต่างๆ ที่เรียกร้องเรื่อยมา กลายเป็นกฎหมายที่มุ่งจัดการทรัพย์สินและมรดก ทำให้คำว่า ‘คู่ชีวิต’ ปรากฏในกฎหมายไทย แต่สิทธิต่างๆ ต้องไปเรียกร้องให้แก้กฎหมายทีละฉบับต่อไป

อันที่จริง กฎหมายฉบับนี้ถูกร่างแล้วปรับแก้มาหลายปี บางช่วงถูกแช่แข็งด้วยแนวคิดที่ว่า “สังคมไทยยังไม่พร้อม” แต่ล่าสุดกลับถูกเร่งให้นำเข้า ครม. ก่อนจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า โดยตัดสิทธิต่างๆ ออก เพื่อป้องกันการต่อต้านจากฝั่งอนุรักษนิยม และทำให้กฎหมายผ่านง่ายขึ้น จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือหนึ่งใน ‘ขนมหวาน’ ที่ คสช. หยิบยื่นเพื่อหาเสียงหรือไม่

วจนา วรรลยางกูร พาไปสำรวจเส้นทางของร่างกฎหมายนี้ พร้อมตีแผ่ให้เห็นช่องโหว่ที่ถูกอำพรางไว้ ประกอบกับความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

กรรมกรผู้กล้าฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเรียกร้องธรรมชาติกลับคืนมา

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงเรื่องราวของ ‘ลุงเฉลียว ยันสาด’ กรรมกรตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาทวงคืนพื้นที่ธรรมชาติจำนวนพันกว่าไร่ ให้กลับมาเป็นที่ดินสาธารณะ ก่อนจะสู้คดีจนสำเร็จ ทั้งๆ ที่ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย และไม่มีทนายคอยช่วยเหลือ

“ลุงเฉลียวศึกษาแผนที่ทหารบริเวณนั้นอย่างถ่องแท้ จนพบว่ามีบริเวณใดที่โดนบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมาย

เมื่อเสียงเรียกร้องมีแต่ความเงียบ เพื่อนๆ จึงเรี่ยไรเงินเป็นเงินทุนให้ลุงเดินทางมากรุงเทพฯ นั่งรถเมล์มาที่ทำการศาลปกครอง ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินข้อหาออกเอกสารสิทธิมิชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน

ไม่น่าเชื่อว่าลุงลงมือร่างเอกสารที่ยื่นฟ้องด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมาโดยตรง และด้วยความยากจน ตกดึกต้องอ่านเอกสารกลางแสงตะเกียง เพราะที่บ้านไม่มีไฟฟ้า”

“ฝ่ายกรมที่ดิน อ้างต่อศาลว่า ลุงเฉลียวไม่มีสิทธิ์ฟ้อง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับที่ดินสาธารณะพันกว่าไร่

แต่ลุงเฉลียวตอกหน้าหงายไปว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก เกิดมาก็อาศัยจับปลา อาบน้ำ ที่แห่งนี้ แต่ตอนนี้ถูกจับจองไปแล้ว ห้ามลงไปใช้

ยี่สิบกว่าปีผ่านไป การต่อสู้ในศาลสิ้นสุดลง โดยที่ลุงไม่มีใครเป็นทนายให้ แต่ว่าความด้วยตนเอง จนในปี พ.ศ.2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้กรมที่ดิน ดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของผู้บุกรุก ในเขตที่สาธารณะประโยชน์บึงวงฆ้อง”

“ความกล้าหาญของลุง ทำให้บึงน้ำที่เคยถูกบุกรุกพันกว่าไร่กลับคืนมา และบึงวงฆ้องได้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างดี หากมีน้ำท่วมใหญ่

ลุงทำสำเร็จอย่างเงียบๆ ไม่มีใครมาให้เกียรติยศหรือรางวัลใดๆ

ทุกวันนี้ลุงยังเป็นกรรมกร ทำงานรับจ้างเหมือนเดิม…”

จีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ : จากยุทธพิชัยสามก๊ก สู่ยุทธศาสตร์รับสงครามการค้า

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

ปิติ ศรีแสงนาม วิเคราะห์การปรับความสัมพันธ์ครั้งล่าสุดของจีนกับญี่ปุ่น โดยมีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เป็นตัวแปร ขณะที่ประเทศไทยอาจได้รับ ‘ส้มหล่น’ แบบไม่ทันตั้งตัว

“เมื่อสหรัฐฯ ผู้ริเริ่มสงครามการค้าภายใต้นโยบาย ‘America First’ ต้องการสร้างกำแพงภาษีเพื่อดึงเงินลงทุน และการย้ายฐานการผลิตกลับไปตั้งในสหรัฐฯ สถานการณ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจึงไม่แตกต่างกับยุทธการที่ผาแดง ใน ‘สามก๊ก’ ที่ทั้งเล่าปี่ แห่งจ๊กก๊ก และซุนกวน แห่งง่อก๊ก ซึ่งต้องแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน แต่คราวนี้ต่างก็มีศัตรูคนเดียวกัน นั่นคือ โจโฉ แห่งวุยก๊ก”

“ไม่ต่างจากสงครามการค้าในครั้งนี้ ที่ทำให้ทั้งจีนและญี่ปุ่น มีความสูญเสียรวมกันไม่ต่ำกว่า 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เล่าปี่จึงต้องส่งสุดยอดกุนซืออย่างขงเบ้ง ให้ไปช่วยซุนกวนจัดทัพรับศึกโจโฉที่ผาแดง จนสามารถต้านทานและได้รับชัยชนะต่อกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนได้”

“ความร่วมมือในเวทีใหม่ของจีนและญี่ปุ่น ทำให้ทั้งคู่ Win-Win ด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็มีคนที่อยู่เงียบๆ แต่กินเรียบหมด นั่นคือประเทศที่ 3 ที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นเลือกที่จะไปลงทุน โดยทั้งสองประเทศมีความเห็นตรงกันว่า โครงการแรกที่จะร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย”

“คำถามที่สำคัญที่สุดต่อจากนี้คือ เมื่อส้มกำลังจะมาหล่นที่ประเทศไทย แล้วประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการรับส้มหล่นลูกนี้ดีพอรึยัง อย่าให้ส้มต้องหล่นและกลิ้งไปจากไทยนะครับ เสียของแย่เลย”

มองประชาธิปไตยในวิถี Jazz : คุยกับ โสภณ สุวรรณกิจ แอดมินเพจ ‘แจ๊สแจ๋’

โดย ธิติ มีแต้ม

“เด็กไทยมักมองประวัติศาสตร์ว่าเป็นสิ่งคร่ำครึ น่าเบื่อ ผมเลยมีความรู้สึกว่า อยากลองทำข้อมูลภาษาไทย และเล่าด้วยภาษาที่สนุก เหมือนคนพูดคุยกัน เหมือนเรามานั่งจับกลุ่มนินทาเพื่อน แต่เปลี่ยนเป็นนินทาแจ๊สแทน”

ธิติ มีแต้ม คุยกับ โสภณ สุวรรณกิจ เจ้าของเพจ ‘แจ๊ส แจ๋‘ ที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านดนตรีแจ๊สอยู่ที่ University of Northern Colorado ที่ใช้เวลาว่างจากการเรียน เขียนเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สด้วยความสนุกสนาน

แต่นอกจากเกร็ดที่เจ้าตัวสนใจลงลึกอยู่แล้ว เรายังชวนคุยไปถึงคำถามสำคัญว่า แจ๊สกับการเมืองเกี่ยวข้องกันอย่างไร และทำไมเวลาพูดถึงเพลงแจ๊สในไทย เรามักรู้สึกว่ามันเป็น ‘ของสูง’ และอีกสารพัดคมความคิด ที่เชื่อมโยงไปถึงประชาธิปไตยได้อย่างแนบสนิท

“นักดนตรีแจ๊สหรือครูดนตรี ที่จะไปนำเสนอหลักสูตรดนตรีแจ๊สให้บรรดาผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลาย เขาจะถามว่าดนตรีแจ๊สจะสอนประชาธิปไตยอย่างไรให้นักเรียนของเขา นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ผมเจอ มันตอบคำถามใหญ่ว่า ทำไมเราต้องเรียนแจ๊ส แจ๊สสำคัญอย่างไร”

“พัฒนาการของแจ๊สในอเมริกา มาจากหลายปัจจัย และเป็นมากกว่าเรื่องชนชั้น เช่นเรื่องเศรษฐกิจ ช่วงที่บิ๊กแบนด์ค่อยๆ เล็กลง เพราะเกิดสงครามโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ชายทั้งหลายจะโดนเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีจำนวนมากที่เล่นอยู่ในบิ๊กแบนด์ พวกนี้โดนเกณฑ์ออกไปรบ นักดนตรีเริ่มหายากลง”

“ช่วงแรกๆ ที่ดนตรีแจ๊สเข้ามาในไทย อินเทอร์เน็ตยังไม่มี ผมคิดว่าเพลงแจ๊สแรกๆ ที่คนไทยได้ฟัง คือ เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงแรกที่ผมได้ยินคือเพลงชะตาชีวิต กลายเป็นเรื่องภาพจำ พอดนตรีแจ๊สมาปุ๊บ คนไทยก็จะนึกถึงคนที่เล่นดนตรีแจ๊สให้ได้ยินครั้งแรก”

“อีกอย่างคือ ยุคนั้นยังไม่มียูทูบหรือสปอติฟาย ทำให้ไม่สามารถไปหาเพลงแจ๊สฟังได้ง่ายๆ คนที่จะได้ฟังต้องฟังผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือผ่านสถานีวิทยุ ต่างจากยุคนี้ที่เราเลือกฟังเพลงแจ๊สได้ตามใจ แต่เมื่อก่อนเราเลือกไม่ได้”

รายการ 101 One-on-One

101 One-On-One Ep53 ” เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยความสุข” กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep53 ::

“เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยความสุข” กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรม, Warwick Business School

นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้าใจเรื่อง ‘ความสุข’ อย่างไร ทั้งในระดับบุคคลและสังคม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมช่วยในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ช่วยสร้าง ‘ความสุข’ ให้คนและสังคมอย่างไร

ธร ปีติดล ชวนสนทนาสดกับนักวิชาการตัวจริงเสียงจริงด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มาติดตามกันว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน พัฒนาประชาธิปไตย แก้ปัญหาความรุนแรง ได้อย่างไร

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

101 One-On-One Ep52 “โลกของหนังสารคดี” กับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ แห่ง Documentary Club

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep52 ::

“โลกของหนังสารคดี” กับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ แห่ง Documentary Club

วงการสารคดีโลกกำลังเดินไปทางไหน แวดวงสารคดีรอบโลกมีอะไรใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจบ้าง ทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่อง และก้าวต่อไปของ Documentary Club จะเป็นอย่างไร

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ชวน ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ตอบทุกคำถาม

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

101 One-On-One Ep51 “เขาวงกตแห่งเรื่องเล่า” ของ วีรพร นิติประภา

โดย 101 One-On-One 

รายการ 101 One-on-One Ep51

:: LIVE :: ‘เขาวงกตแห่งเรื่องเล่า’ ของ วีรพร นิติประภา

ว่าด้วยการประกอบสร้างเรื่องเล่าในนวนิยายของวีรพร และการประกอบสร้างเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์แบบไทยๆ จากไส้เดือนตาบอดฯ ถึงพุทธศักราชอัสดงฯ

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน เวลาสองทุ่มตรง ทางเพจ The101.world

ชวนสนทนาโดย โตมร ศุขปรีชา

101 Round Table “อนาคตการเมืองสหรัฐหลังการเลือกตั้งมิดเทอม”

โดย 101 One-On-One 

ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในไทยจะมาถึง 101 ชวนคุณติดตามการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองตาไม่กะพริบ

“การเลือกตั้งมิดเทอม 2018” – ศึกเลือกตั้งกลางสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ชิงตำแหน่ง 435 ส.ส. 35 ส.ว. และ 35 ผู้ว่าการรัฐ

นี่คือการเลือกตั้งพิพากษาผลงาน 2 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดี และชี้ชะตาอนาคตการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ | พรรคเดโมแครตจะยึดสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาคืนจากพรรครีพับลิกันได้หรือไม่ | ผลการเลือกตั้งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมการเมืองอเมริกัน | เราเริ่มมองเห็นความเคลื่อนไหวอะไรในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 บ้าง | อเมริกาและโลกจะเดินต่อไปอย่างไร

วิเคราะห์อนาคตการเมืองสหรัฐและการเมืองโลกกันสดๆ ในคืนวันเลือกตั้ง

ในรายการพิเศษ 101 Round table “อนาคตการเมืองสหรัฐหลังการเลือกตั้งมิดเทอม”

โดยสามผู้ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาแบบเกาะติด ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

คืนวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ตั้งแต่สองทุ่มตรงเป็นต้นไป ทาง The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save