fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2562

ทำไมซึมเศร้า – ซึมเศร้าทำไม: คลื่นแห่งโรคซึมเศร้ากำลังสาดซัดเข้าหามนุษยชาติ

“เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลกันมากขึ้น

ไม่ได้แค่มากเฉยๆ แต่มากในระดับเป็น ‘คลื่น’ ลูกใหญ่ที่กำลังสาดเข้าหามนุษย์ด้วยซ้ำ!

สำนักข่าว NBC เคยรายงานเรื่องของเด็กหญิงชื่อ อเล็กซ์ คร็อตตี้ ที่เริ่มป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่อายุ 11 ขวบ

ในวัย 11 ขวบ เธอไม่ได้แค่รู้สึกไม่มีความสุขเท่านั้น แต่ยังรู้สึกว่างเปล่าและสิ้นหวังด้วย เธอไม่สนุกกับสิ่งต่างๆ เด็กคนอื่นๆ สนุกกัน เธอไม่อยากเล่นกับใคร ไม่อยากเล่นของเล่นอะไร เธอเก็บความรู้สึกนี้เอาไว้เงียบๆ พร้อมกับรู้สึกละอายในตัวด้วยที่เป็นอย่างนี้ เธอบอกว่าไม่ได้รู้สึกว่าไม่มีใครรัก เธอแค่รู้สึกชากับโลกทั้งโลก ทุกอย่างรอบตัวเธอดีไปหมด ไม่มีอะไรเลวร้ายเลย แต่กลับไม่มีอะไรทำให้เธอมีความสุขได้ และเธอไม่รู้ด้วยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้

ผู้ป่วยแบบคร็อตตี้ไม่ได้มีเธอคนเดียว แต่มีรายงานจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของอเมริกา ระบุว่าปัจจุบันนี้ เด็กอเมริกัน 1 ใน 5 ที่มีอายุระหว่าง 3 ขวบ ถึง 17 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตใจ สภาวะอารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า (Depression) และวิตกกังวล (Anxiety) ซึ่งนับรวมๆ แล้ว มีจำนวนถึงราว 15 ล้านคน

สามขวบก็เป็นซึมเศร้าแล้วหรือ — คุณอาจสงสัย

ใช่ครับ แล้วที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในผู้ป่วยที่ว่ามานี้ มีที่ได้เข้ารับการรักษาเพียงราว 20% เท่านั้น แต่อีก 80% หรือราว 12 ล้านคน ไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลย อย่างหนึ่งก็เพราะเป็นเด็กเกินกว่าที่ใครจะคิดว่าพวกเขาเป็นโรคซึมเศร้านี่แหละ

คนไทยเองก็เริ่มมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังนี้เหมือนกัน มีรายงานของกรมสุขภาพจิต บอกว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในปี 2560 มีมากถึง 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 36% ภายใน 3 ปี”

 

คุย ‘ลิเกการเมือง’ กับ สรกล อดุลยานนท์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, ธิติ มีแต้ม

“…ทุกคนมีลูกพลิ้วทางการเมือง สังคมไทยกลายเป็นสังคมลิเก คือฟันดาบสวนกันไปมา แทงเข้าซอกรักแร้ แต่สมมติว่าแทงถูกต้องแล้ว

“สังเกตมั้ยว่า ทุกคนจะมีลีลาทางการเมืองตลอด พลเอกประยุทธ์บอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยบอกว่าทักษิณไม่เกี่ยวข้องด้วย ไทยรักษาชาติบอกว่าไม่ใช่พรรคที่แยกมาจากเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ก็มีศิลปะการใช้คำของเขา ภูมิใจไทยบอกว่าเนวินไม่เกี่ยวข้อง ก็คือลิเกการเมือง รู้ๆ กันอยู่”

“อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์เคยพูดเรื่องสองนคราประชาธิปไตย คือคนเมืองกับคนต่างจังหวัดที่มีความคิดแตกต่างกัน แต่วันนี้สองนคราใหม่ที่เกิดขึ้นคือสองนคราระหว่างวัย

“สมัยก่อน ลูกหันไปถามพ่อว่าจะเลือกใครแล้วก็กาตามพ่อ แต่วันนี้ลูกมีพรรคของตัวเอง แล้วก็เริ่มส่งต่อกันในหมู่เด็กทั้งหลายว่าใครโน้มน้าวพ่อให้มาเลือกอนาคตใหม่ตามลูกได้บ้าง นี่เป็นกระแสที่เกิดใหม่ค่อนข้างเยอะ ผมไม่รู้เลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไง แต่เสียวว่าจะมีเซอร์ไพรส์ มีปรากฏการณ์ที่นึกไม่ถึง”

“สื่อก็รู้อยู่แล้วว่าคนตายพูดไม่ได้ สิ่งสำคัญคืออย่าตาย เราเป็นเมล็ดพันธุ์ ฝังตัวในดินรอวันเติบโต ต้องเลี้ยงตัวอยู่ในภาวการณ์แบบนั้น เพียงแต่ว่าเลี้ยงตัวแบบไหน เรามีเรื่องเขียนตั้งเยอะแยะ ไม่เขียนเรื่องนี้ก็ได้วะ เขียนเรื่องอื่นก็ได้ หรือถ้าอยากแสดงความคิดเห็นก็บิดคำนิดนึงให้คิดต่อ ไม่แรง เขียนให้ชัด เตะไม่ถึง แต่พอบรรยากาศเสรีเมื่อไหร่ ก็ตรงได้

“มนุษย์ทุกคนชัดเจนว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ใช่ว่าพอไม่ชอบแล้วทุกอย่างต้องเลวร้าย ทุกคนมีแง่ดี อันนี้อาจจะเอาวิธีคิดแบบหนุ่มเมืองจันท์มาใช้หน่อย อย่างคุณอภิสิทธิ์ ผมก็มองมุมดีหลายอย่างของเขา ผมเชื่อว่าตัวตนของเขาเมื่อก่อนพฤษภาฯ 35 เขาเหมือนคุณธนาธร แต่เป็นธนาธรที่ไม่แข็งกร้าวเท่าธนาธรวันนี้”

ในห้วงเวลาที่กระแสการเมืองไทยร้อนฉ่า ตัวเลขคนออกมาเลือกตั้งสูงเป็นประวัติการณ์ ข่าวการเมืองและคลิปดีเบตของพรรคการเมืองได้รับความนิยมอย่างสูง เช่นเดียวกับที่มีข่าวลือ-ข่าวลวงออกมาทำลายฝ่ายตรงข้ามให้เห็นจนชินตา

ณ จุดประวัติศาสตร์การเมืองไทยใน #เลือกตั้ง62 นี้ มีการคาดเดาหน้าไพ่ที่หลากหลาย ข่าววันนี้กับพรุ่งนี้ แค่กะพริบตาเกมก็เปลี่ยนจนตามแทบไม่ทัน

101 ชวนสรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ นักเขียน นักข่าว อดีตบรรณาธิการบริหารมติชนรายวัน มาพูดคุย ปัจจุบันเขาลาออกจากมติชนมาแล้ว 5 ปีกว่า ยังตามข่าว ยังเขียน และออกสื่ออยู่สม่ำเสมอ

ในฐานะคนข่าว สรกลสัมภาษณ์นักการเมืองมากมายมาตลอดเวลากว่า 30 ปี ที่น่าสนใจคือเขาเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ระดับฉกาจฉกรรจ์ ไม่ว่าจะหยิบอะไรมาเล่าก็ดูน่าสนใจไปหมด แม้แต่เกร็ดชีวิตนักการเมืองที่อยู่นอกข่าว

สรกลบอกว่า “การเมืองไทยเหมือนลิเก ในสังคมมหรสพนี้ทั้งนักการเมืองและประชาชนต่างเป็นผู้แสดงและผู้ชม” แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็พูดถึงหลักการได้อย่างแม่นยำ

บทสนทนาว่าด้วยเรื่องการทำข่าว วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทย กะเทาะเปลือกนักการเมือง ข่าวลวง-ข่าวลือในสังคม และชวนมองหาประตูสู่ประชาธิปไตยว่ามีอยู่จริงไหม

 

จากใจกัลยาณมิตร พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : หมดเวลา ‘ประชาธิปไตย’ บุญเก่า

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ผลจากเหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’ ปรากฏภาวะฝุ่นตลบทางการเมืองตามมา โดยที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาฯ จะเป็นอย่างไร แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปแล้ว

ธิติ มีแต้ม สัมภาษณ์ ‘พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์’ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อทบทวนวิธีคิดของเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ความเปลี่ยนแปลงของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย การเกิดใหม่ของ New Voter ขุมกำลังฝ่ายอำนาจนิยม และการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนาฯ

มีสำนวนหนึ่งที่ชอบพูดกันในแวดวงปัญญาชนอาวุโสว่า “กัลยาณมิตรมักพูดในสิ่งที่ฟังยาก” แปลให้ง่ายกว่านั้นคือการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ค่อยเข้าหู

ประเด็นคือจริงใจหรือไม่ จริงเท็จหรือไม่ ทรรศนะต่อไปนี้ของเขาจึงไม่ควรพลาดการรับฟังด้วยประการทั้งปวง

“เหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’ คนทั่วไปก็รู้ว่าต้นคิดมาจากไหน มันทำให้คนจำนวนหนึ่งที่เคยอยู่ในค่ายทักษิณถอยออกมา และความศักดิ์สิทธิ์ในบารมีทักษิณก็น้อยลง หลังปี 2554 มา ผมเห็นว่าเขากินบุญเก่า แต่ไม่สร้างบุญใหม่ ไม่มีนโยบายใหม่ มีแค่ ‘30 บาท’ ก็ถือเป็นนโยบายเกือบ 20 ปีที่แล้ว”

“8 กุมภาฯ สะท้อนว่าเครือข่ายทักษิณทำพลาด ผมเชื่อว่าครั้งนี้ฝั่งทักษิณจ่ายในราคาที่แพงมาก แต่ถ้าจะสรุปบทเรียน ผมเชื่อว่าส่วนตัวทักษิณเองคงไม่ไปสรุปบทเรียน และเขาคงเล่นการเมืองแบบเดิมต่อไป

“ทักษิณคิดว่าการเล่นแบบนั้นคือได้ไพ่ใบใหญ่ที่สุดมา ซึ่งเป็นการคิดที่ผิด และผมไม่เชื่อว่าเขาจะเปลี่ยนวิธีคิด เพราะตัวตนเขาเป็นแบบนี้

“เราเห็นมาหลายครั้งตั้งแต่ตอนนิรโทษเหมาเข่ง มันเป็นวิธีคิดแบบเถ้าแก่ แบบคนที่สร้างบริษัทมาแล้ว ถ้าใครบอกว่าทักษิณมีความคิดก้าวหน้าที่สุด ผมบอกว่าใช่ แต่นั่นมัน 15 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เขาเป็นแค่เถ้าแก่คนหนึ่งที่เริ่มตกยุคแล้ว”

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ฝั่งทักษิณอ่อนตัวลง ขณะเดียวกันพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นก็เพิ่งก่อตัว ผมมองเป็นการเลือกตั้งแบบซ้อมรบ และเลือกตั้งครั้งที่สองจะตามมาอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลรอบนี้ไม่มีเสถียรภาพจนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในอีกหนึ่งถึงสองปี อันนั้นคือสนามรบของจริง 24 มีนาฯ นี้เป็นแค่มวยยกที่หนึ่ง”

“ผมเชื่อว่านายกฯ คนต่อไปน่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งจาก ส.ว.250 คน รวมกับ ส.ส.จากพรรคสนับสนุน แต่การตั้งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ มันต้องการ ส.ส. เกินครึ่งในสภาผู้แทน ปัจจัยชี้ขาดก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาเราก็เห็นประชาธิปัตย์เหยียบเรือสองแคม และผมก็คิดว่าเขารู้ทันเกมนี้ เขาจะต่อรองผลประโยชน์มากที่สุด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องอาศัยเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์

“แต่ ส.ส. ฝั่งตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเกิน 200 เสียง แค่นี้รัฐบาลก็เหนื่อยแล้ว คนที่เป็นนายกฯ น่าจะคุมไม่อยู่ โดยเฉพาะคนที่มีภูมิหลังมาจากทหาร ไม่เคยดีลกับนักการเมืองแบบเด็ดๆ ที่พลิกแพลงตลอดเวลา ผมว่าทหารเล่นเกมการเมืองในสภาไม่ทัน สุดท้ายเวลาจะยกมือโหวต ก็ต้องล็อบบี้กันหนักหน่วงมาก เพื่อให้ได้คะแนนเสียงผ่านกฎหมายแต่ละฉบับ ผมมองว่าอยู่ได้ไม่นานหรอก”

 

ความตึงเครียดระลอกใหม่ของอินเดีย-ปากีสถาน : ลำดับเหตุการณ์และสิ่งที่ต้องจับตามอง

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก วิเคราะห์ความขัดแย้งระลอกล่าสุดระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน ตั้งแต่ชนวนของปัญหา ท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศ รวมถึงท่าทีของประเทศยักษ์ใหญ่ ไปจนถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“การเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างอินเดียและปากีสถานนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ครั้งนี้นับเป็นการปะทะกันครั้งสำคัญ ที่ทั้งสองประเทศปฏิบัติการในเขตแดนของกันและกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 1971

“สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการการโจมตีใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น อินเดียจะพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้เครื่องบินรบของตนเองล้ำเข้าไปในเขตของปากีสถาน ไม่ใช่เขตควบคุมสมบูรณ์ของประเทศใดประเทศหนึ่งดังที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คำถามใหญ่ของใครหลายคนจึงอยู่ที่ว่า แล้วทำไมอินเดียต้องกระทำเช่นนั้น”

“เมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลายข้อ หนึ่งในสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คืออินเดียกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง และหลายสำนักโพลก็เริ่มแสดงให้เราเห็นแล้วว่า พรรครัฐบาลขวาจัดชาตินิยมอย่างพรรคบีเจพี มีคะแนนนิยมที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พ่ายแพ้ในหลายรัฐใหญ่ การปลุกกระแสชาตินิยมและสร้างผลงานด้วยการโจมตีปากีสถานจากปัญหาการก่อการร้ายในครั้งนี้ ถูกนำไปใช้หาเสียงอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้สมัครของพรรคบีเจพี”

“เราจะเห็นท่าทีที่แข็งขันของอินเดียในการไม่ยอมจำนนต่อปากีสถาน เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้กับพรรครัฐบาลต่อปฏิบัติการดังกล่าว ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นแนวทางอย่างการมุ่งเน้นเจรจาบนฐานผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายของปากีสถาน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสงคราม อันอาจสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ฉะนั้นปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะจบลงอย่างสันติภายใต้โต๊ะเจรจาของผู้นำระดับสูงของทั้งอินเดียและปากีสถาน”

“แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและปากีสถาน ดูเหมือนเป็นเรื่องระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ แต่ความขัดแย้งระลอกใหม่นี้เราได้เห็นท่าทีของประเทศมหาอำนาจหลายๆ ฝ่ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ต่อการรับรองสถานะกลุ่มก่อการร้าย JeM ที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นสงครามตัวแทนย่อมๆ”

“ความพยายามเหล่านี้ต่างต้องระมัดระวัง เพราะทั้งอินเดียและปากีสถาน อาจถูกใช้เป็นสมรภูมิใหม่ของความเป็นตัวแทนระหว่างมหาอำนาจบนโลก เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราต้องจับตามอง ถึงแม้ว่าความเป็นไปได้จะมีน้อยมากก็ตาม”

ฟ้าลั่น! “เขาหาว่าฟ้าโดนหลอก”

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, วจนา วรรลยางกูร 

หลายคนบอกว่า การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ เป็นตัวแปรที่ทำให้สมการการเมืองเดิมเสียหลัก จากพรรคนอกสายตา ตอนนี้พวกเขากวาดที่นั่ง ส.ส.ไปได้กว่า 80 ที่นั่ง จนถึงตอนนี้เรามิอาจมองข้ามการมีอยู่ของพรรคอนาคตใหม่
ในวันปราศรัยครั้งสุดท้ายของพรรคอนาคตใหม่ก่อนเลือกตั้ง 101 ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ร่วมเข้าฟังปราศรัยที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง วันนั้นผู้คนคลาคล่ำเต็มพื้นที่ เพราะมีการปราศรัยถึงสองพรรคการเมือง คือพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ผู้คนหลากหลายวัยเดินเข้าออกฮอลล์ หนุ่มสาวหลายคนมีแววตาแห่งความหวังเต็มเปี่ยม
และนี่คือความเห็นและความรู้สึกของเหล่า ‘ฟ้า’ ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะปรากฏ

จับเข่าคุย ‘New Voter’ ท่ามกลางมรสุมการเมืองของ “ลุง ป้า น้า อา”

101 Roundtable ‘เลือกตั้งที่รัก’ (ตอนที่ 1)

ธิติ มีแต้ม ชวน ‘New Voter’ 4 คน มาสังสรรค์เสวนาว่าพวกเขาคิดอ่านอะไรอยู่ เมื่อวันเลือกตั้งกำลังร่นเข้ามา บรรยากาศในการหาเสียง รวมไปถึงเสียงเมาท์มอยรอบตัวพวกเขาเป็นอย่างไร

วัยรุ่นทั้ง 4 คนประกอบด้วย ‘แบม’ ธัญชนก คชพัชรินทร์ นักเรียน ม.6 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ‘ซู’ ซูรัยยา วาหะนักศึกษาและนักกิจกรรมสันติภาพจากยะลา, ‘พอลลีน’ เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ บัณฑิตนิเทศศาสตร์หมาดใหม่ และ ‘อาร์ต’ จิรเมธ คิญชกวัฒน์ นักศึกษาปี 1 ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์และระบบประสาท ที่เกาหลีใต้

“ถ้าเผด็จการมัน offer ผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียว มันอยู่ไม่ได้ ผมว่าบางทีการที่จะหนีออกจากสภาพแบบนี้ก็เป็นการลงทุนที่น้อยกว่าการอยู่แบบนี้ต่อไป”

“เราเห็นภาพของพม่า ช่วงที่ทหารรัฐประหาร แล้วก็อองซาน ซูจีโดนจับไปกักบริเวณ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไทยจริงหรือเปล่า เรามองว่าประชาชนคงทนไม่ไหว เขาคงไม่ทนอยู่แบบนี้ตลอดไป”

“กรณี “เหตุการณ์ 8 กุมภาฯ” ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่มีวันนั้น คนรุ่นเราคงไม่ตื่นตัวกันขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาคนอาจจะยังงงๆ แต่พอมีวันนั้นวันเดียว มันเหมือนจุดประกายเลย รู้สึกว่าสนามออนไลน์สนุก…”

พวกเขาเป็น New Voter ท่ามกลางกติกาใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผู้ร่างส่วนใหญ่มีอายุรุ่นราวคราวลุงคราวป้า ยังไม่นับว่าเป็น New Voter ท่ามกลางฝุ่นตลบของการเมืองไทย ที่ไม่มีใครรู้ว่าหลังเลือกตั้งแล้วการเมืองไทยจะออกหัวหรือก้อย สุดจะคาดเดาว่าประเทศจะราบรื่นหรือราบคาบ

แต่เมื่อมีสิทธิเลือก อะไรคือภาพที่พวกเขาอยากเห็น เมื่อ กกต.เริ่มนับคะแนนในหีบเลือกตั้ง สังคมแบบไหนที่พวกเขาอยากให้เป็นและต้องใช้ชีวิตร่วมไปอีกนาน แม้ว่าผู้เขียนกติกาอาจอยู่ไม่ถึงวันนั้น…

 

วารสารศาสตร์ยังไม่ตาย? : สำรวจชีพจรนักสื่อสารมวลชน กับ รุจน์ โกมลบุตร

“พอเห็นความเป็นกระดาษล่มสลายไปต่อหน้า นักศึกษาก็กลัวไม่มีงานทำ บวกกับความเป็น journalism ความเป็นคนข่าว ซึ่งคนมักติดภาพว่าทำงานเหนื่อย เงินเดือนน้อย ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า แล้วกูจะเรียนไปทำไม…”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สะเทือนแวดวงสื่อมวลชน คงหนีไม่พ้นการประกาศปิดตัวของหนังสือพิมพ์สองหัวที่อยู่ในเครือเดียวกัน อย่าง ‘โพสต์ทูเดย์’ และ ‘M2F’ ส่งผลให้พนักงานราวๆ 200 ชีวิตถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่ผู้สื่อข่าว พนักงานฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดหน้า ฝ่ายพิสูจน์อักษร ฯลฯ

เหตุการณ์ดังกล่าว คือตัวอย่างที่สะท้อนสภาวะการเปลี่ยนผ่านจากสื่อเก่าไปสู่สื่อใหม่ได้เป็นอย่างดี ดังที่เห็นว่าในช่วงหลายปีมานี้ สื่อหลายหัวหลายค่าย เลือกยุติการผลิตสื่อที่เป็นกระดาษ และเบนเข็มไปสู่สนามออนไลน์

ทั้งนี้ ความระส่ำระสายที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับคนทำงานในสนามสื่อมวลชนเท่านั้น ทว่ายังลามไปถึงรั้วมหาวิทยาลัย ในคณะที่เปิดสอนด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสาขาที่เน้นงานข่าวและสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ได้รับความสนใจน้อยลงอย่างถนัดตา

ในโอกาสนี้ 101 ถือโอกาสตั้งวงสนทนากับ ‘รองศาสตราจารย์ รุจน์ โกมลบุตร’ แห่งคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโจทย์ใหม่ๆ ของการเป็นนักสื่อสารมวลชน ความท้าทายในการเรียนการสอนวิชาชีพสื่อในยุคเปลี่ยนผ่าน พร้อมประเมินชีพจรสื่อไทย ในยุคที่รัฐบาลเผด็จการครองอำนาจมาเกือบ 5 ปี

“คสช. ทำตามทฤษฎีเป๊ะ ขอพูดคนเดียว ปิดคนอื่นไม่ให้พูด แล้วตัวเองก็พูดบ่อยๆ พูดทุกเย็น พูดทุกคืนวันศุกร์ เพราะเขาเชื่อว่าพูดคนเดียว พูดฝ่ายเดียว พูดเยอะๆ แล้วจะดี ซึ่งไม่จริง”

“เว็บไซต์ทั้งหลายมันเร็วก็จริง แต่กูต้องตามมึงทุกสิบนาที สู้วันรุ่งขึ้นให้มันจัดพรวดเดียวมาในหนึ่งฉบับดีกว่า แล้วดูว่าวันนี้ภาพรวมทั้งประเทศชาติ ทั้งโลก มีอะไรบ้างในกระดาษสิบกว่าแผ่น เราอยากได้เสิร์ฟแบบเต็มจานไง หนังสือพิมพ์คือเต็มจาน แต่ออนไลน์คือค่อยๆ กิน ทีละคำๆ”

“ความหลากหลายของข้อมูลข่าวสารทำให้คนมองเห็นตัวเลือก มีคนบอกว่ามันจะโกลาหล ก็คงโกลาหลอยู่ แต่ถ้าให้แลกระหว่างการกุมข้อมูลข่าวสารไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง กับการปล่อยฟรี ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าปล่อยฟรีดีกว่าแน่ๆ”

“ผมคิดว่าอุดมคติของการศึกษา น่าจะมี 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่หนึ่งคือ ทำให้คนปลดปล่อยจากพันธนาการทั้งหลาย เขาควรจะรู้ว่าเสรีภาพในชีวิตคืออะไร อะไรเป็นสาระแก่นแท้ อะไรเป็นเรื่องจอมปลอม เรื่องที่สองคือการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมโลก ในฐานะที่เราอยู่ใน global community สองเรื่องนี้เป็นเรื่องสากลของการศึกษาที่ควรจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นให้ได้…”

 

ลึก กว้าง ไกล ลายเซ็นใหม่ที่บ่มจากโคตรเหงาของ ‘SUNTUR’

“ถามว่าเสียดายไหมที่ต้องทิ้งงานเก่าไป เราไม่เสียดาย เพราะเรารู้สึกว่างานสไตล์นั้นไม่ได้จำเป็นกับชีวิตเราอีกแล้ว…”

ภาวิณี คงฤทธิ์ คุยกับ S U N T U R นักวาดภาพประกอบพ่วงตำแหน่งศิลปินป้ายแดง ถึงการเปลี่ยนแปลงสไตล์การวาดรูปในยุคที่ใครๆ ต่างโอบกอดลายเซ็นของตัวเอง

“ไอ้ความที่คิดว่าตัวเองเก่ง พอไปถึงนิวยอร์กมันพังจนไม่เหลืออะไรเลย กูไม่ใช่คนเก่ง กูเป็นลูซเซอร์แบบสุดๆ แต่สุดท้ายเราก็คิดได้ว่า ไม่เป็นไร อุตส่าห์มาถึงที่นี่แล้ว กูจะลองใช้ชีวิตแบบลูซเซอร์ดู เท่าที่กูจะไหว”

“เมื่อก่อนเราจะวาดหัวโต ตา จมูก มีเส้นชัดๆ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เรารู้เลยว่าถ้าเรายังวาดแบบเดิมต่อไป เราทำเพราะอยากได้ตังค์ ไม่ได้ทำเพื่อความภูมิใจของเราเลย”

“อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมีมันก็ได้ — หลังๆ มานี้ เราจะคิดแบบนี้กับทุกอย่างในชีวิต ไม่จำเป็นต้องวาดเยอะๆ ก็ได้ จะโชว์สกิลเหรอ ไม่จำเป็น ไม่ได้ทำให้ภาพสวยขึ้นมา งานทุกชิ้นของเราตอนนี้ ดูเหมือนไม่มีอะไร เหมือนจะวาดน้อยมาก แต่มันมีความคิดหรือสิ่งที่เราใส่เข้าไปอยู่ในงานเสมอ สำหรับเราแค่นี้พอแล้ว มันเล่าเรื่องแล้ว”

“เราเป็นคนไม่ยึดติด ไม่จำเป็นที่เราจะต้องวาดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต เพราะเราคิดเสมอว่าอยากจะพัฒนาตัวเอง ถ้าวาดแนวเดิมไปสิบปีเราก็เบื่อ คนอื่นอาจทำได้ ยิ่งวาดยิ่งอยากเก็บสไตล์ไว้ แต่สำหรับเรา ถ้าเมื่อไหร่เบื่อก็ต้องหาทางไปต่อ…”

 

อยู่กับความทุกข์ทน วันพรุ่งนี้ที่เงียบงันของเหยื่อทางการเมือง

วจนา วรรลยางกูร สนทนากับ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ถึงผลงานใหม่ของเขา ‘อยู่กับบาดแผล’ บทสำรวจเรื่องเล่าของเหยื่อจากความรุนแรงทางการเมืองทั้งสองฝ่าย

เมื่อความเจ็บปวดทางกายสร้างความลำบากให้ผู้บาดเจ็บทั้งสองสีเสื้อไม่ต่างกัน แต่บาดแผลในจิตใจกลับแตกต่าง เมื่อฝ่ายหนึ่งยืนบนความภาคภูมิ อีกฝ่ายหนึ่งถือครองความรู้สึกผิดพลาดจากความพ่ายแพ้และถูกสังคมประณาม

“ผมพบว่าคนที่บาดเจ็บจาก กปปส. และคปท. จะมีความภาคภูมิใจมากกว่า ที่อย่างน้อยการบาดเจ็บของเขาสามารถล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้สำเร็จ แต่คนที่บาดเจ็บจากการชุมนุมเสื้อแดงจะรู้สึกว่าเจ็บตัวและได้รับความไม่เป็นธรรม แล้วสังคมยังว่าอีกว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง รัฐบาลก็บอกว่าคนพวกนี้ใช้ความรุนแรง สมควรถูกปราบปราม”

“ถ้าหลังเลือกตั้งเรามาคุยเรื่องนี้กันแบบที่ไม่เก็บกด สังคมจะกลับมามั่นคงได้ ไม่ใช่ด้วยการกลบเกลื่อนบาดแผลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วลืม ญาติเขาไม่ลืมหรอก คนที่เจ็บปวดเขาไม่ลืมหรอก การเยียวยาความรู้สึกคือเราต้องตระหนักและขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ในสังคมไทยที่ผ่านมา”

“การสัมภาษณ์คน 24 คน เทียบกับคนบาดเจ็บนับพันคนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ก็คงไม่มาก แต่ผมคิดว่าตัวเลขอาจไม่สามารถสัมผัสหัวใจและความรู้สึกของคน ตอนผมนำเสนองานวิจัยเรื่องนี้แล้วเห็นสีหน้าคนฟังแต่ละคน ผมก็คิดว่านี่คืออานุภาพของเรื่องเล่าที่จะสะกิดเตือนหัวใจและความรู้สึกของคน…หวังว่าเขาคงจะมีความรู้สึก”

 

หลักประกันสุขภาพที่รัก (29) : หนักแผ่นดิน

“การล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนั้น เป็นการกำจัดศัตรูของชาติ คือนักศึกษาที่หนักแผ่นดิน แต่ควรรู้ว่าพวกหนักแผ่นดินที่ว่านั้น เรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ชาวบ้านเสมอมา…”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงอุดมการณ์ของนักศึกษาแพทย์ยุค 14 ตุลาฯ ซึ่งมีส่วนช่วยพลิกวงการสาธารณสุขได้อย่างอัศจรรย์ กระนั้นก็ไม่วายถูกตราหน้าว่า ‘หนักแผ่นดิน’

“มีบันทึกว่าสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในยุคที่นายแพทย์สงวนดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ ถูกติดตามจับตามองโดยฝ่ายความมั่นคงตลอดมา

เริ่มมีการกล่าวหาว่านักศึกษาตกอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์เวียดนาม และมีญวนเข้าแทรกซึม รายงานข่าวจากกรมประมวลข่าวกลาง แจ้งว่า ‘ขณะนี้ชาวญวนได้เข้ามามีบทบาททางการแพทย์แล้ว’

หลังจากนั้น มีการตายไม่ทราบสาเหตุของนักศึกษา ที่เป็นข่าวมากคือกรณี อมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างการฝึกภาคสนามก่อนจบการศึกษาที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2519

แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก็เกิดขึ้นตามมาในปีเดียวกันดังที่ทราบกันแล้ว หรือว่าไม่ทราบ?

เห็นวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่วันนี้สนใจการเลือกตั้งมากกว่าที่คาด เป็นเรื่องที่เราสมควรยินดีมากกว่าปรามาส นานมากแล้วที่เราไม่ได้เห็นนักศึกษาสนอกสนใจบ้านเมืองมากมายเท่านี้

ได้แต่ภาวนาว่า ความน่ารักของเขาวันนี้ จะเอาชนะใจผู้หลักผู้ใหญ่ได้มากกว่านักศึกษาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

งานสาธารณสุขและการศึกษาของประเทศวันนี้ อยู่ในภาวะย่ำแย่มากถึงมากที่สุด และไม่มีทางเลยที่คนสูงอายุในกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงศึกษาธิการจะทำอะไรได้

โลกใหม่ต้องการสมองใหม่ๆ ความข้อนี้น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก”

 

ลุงเฮม่าตอบปัญหาการเมืองบนเสื้อผ้า : รอยยิ้มหวาน มารยาท และการเลือกตั้ง

ด้วยแรงบันดาลใจจากโฟโต้เซ็ต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในลุคอบอุ่นน่ารัก ช่วงท้ายก่อนการเลือกตั้ง วจนา วรรลยางกูร จึงชวน “ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์” อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Esquire และเจ้าของคอลัมน์ Agony Uncle ลุงเฮม่าตอบปัญหา พูดคุยถึงการสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมือง โดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกาย อันมีผลต่อการสร้างภาพจำที่ปรากฏผ่านสื่อ โยงไปถึงบุคลิกของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่

ที่ผ่านมา ภาณุ หรือ ‘ลุงเฮม่า’ ตอบคำถามผ่านคอลัมน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ดูง่าย แต่ไม่เคยง่าย อย่างเรื่องเสื้อผ้าและมารยาททางสังคม เราจึงลองชวนเขาสำรวจโลกของนักการเมืองผ่านเสื้อนอก เนคไท กระโปรง และแขนเสื้อ ที่ทำให้เห็นเรื่องราวมากกว่าสิ่งที่ตาเห็น

…………………….

ประยุทธ์ : “อย่าลืมว่าในสายตาของคนที่สนับสนุนประยุทธ์ เขามองว่าประยุทธ์น่ารัก ขณะที่คนไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้จะมองว่าเขาพูดจาหยาบคาย ขี้โมโห เขวี้ยงของ ปัดคำถาม แต่ภาพชุดนี้ผมว่าตรงกับสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนคิดอยู่ ผมเห็นปฏิกิริยาของเพื่อนในเฟซบุ๊กที่ชอบประยุทธ์ เขาชอบรูปเซ็ตนี้มาก “อุ๊ย ลุงตู่น่ารัก” อะไรอย่างนี้ ซึ่ง…ใช่เหรอวะ”

ธนาธร : “ผมก็คิดว่าทำไมธนาธรใส่เสื้อไหล่ตก มันดูดียังไง แต่ก็ให้ภาพว่าเขาเป็นคนคล่องแคล่ว ไม่ติดลุคที่เนี้ยบเป็นพระเอกหนังชนิดว่าไหล่พอดี แขนเสื้อพอดี เขาพับแขนเสื้อแถมเสียบปากกาที่กระเป๋าเสื้อทำเป็นเนิร์ดอีกต่างหาก (หัวเราะ) แล้วกางเกงนี่มีจีบด้วยนะ จีบกางเกงทำให้ใส่สบายขึ้น แต่จะทำให้ดูแก่ แบบว่าไม่ต้องมาพูดเรื่องแฟชั่นกับฉัน”

อภิสิทธิ์ : “ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเริ่มอ้วนแล้ว ก็ใช้สีฟ้าของพรรคตลอดเวลา ไม่มีอะไรเพิ่มเติม แต่ปีนี้ประชาธิปัตย์ใช้สีดีขึ้น เมื่อก่อนจะเป็นสีขาวกับสีฟ้า และสีฟ้าจะไม่ใช่เฉดที่สวยอย่างนี้ ปีนี้ดูมีเอกภาพ เป็นสีฟ้าเฉดที่สดใสดี”

ชัชชาติ : “ผมชอบรูปที่ชัชชาติใส่เสื้อแขนยาวสีขาว พับแขน เนคไทดำ อันนั้นดูดีสุด ดูเป็นนักการเมือง ดูเป็นคนทำงาน พับแขนแปลว่าทำงาน ถ้าไม่พับแขนแปลว่าไม่ทำงาน (หัวเราะ)”

สุดารัตน์ : “เป็นผู้หญิงก็จะแต่งตัวได้มากกว่าพวกผู้ชาย มีสีขาว สีแดง ไม่ใช่แค่สูทดำ สูทดำแปลว่าเธอเป็นลูกน้องฉัน ส่วนหัวหน้าจะแต่งตัวยังไงก็ได้ เหมือนพวกประธานบริษัทที่จะแต่งตัวแปร๊ดอยู่คนเดียวในบริษัท เต็มที่อยู่คนเดียว คนอื่นไม่กล้า”

สุวัจน์ : “สุวัจน์เป็นคนตัวเล็กและอยู่ในแวดวงธุรกิจ ต้องแต่งตัวอยู่เรื่อยๆ เสื้อนอกนี่ตัดมาแน่เลย เพราะดูพอดีตัว เห็นแล้วนึกถึงคุณชวน แต่คุณสุวัจน์วัยรุ่นกว่า เสื้อนอกชายสั้น มีสอบเข้าตรงเอวนิดหนึ่ง ไม่เหมือนเสื้อนอกลุงๆ ทั่วไป … ไม่ค่อยเห็นใส่เสื้อนอกสีดำหรือน้ำเงิน ถ้าไม่ใช่งานทางการ ดูรู้ว่าเขาเป็นคนสนุกกับการแต่งตัว”

 

‘แวรุงไปไหน’ เมื่อวัยรุ่นเปลี่ยนภาพจำชายแดนใต้

“บางคนบอกกับเราว่า ทำแล้วได้ตังค์ไหมวะ ได้ตังค์จากไหน ทำไปทำไม แล้วคิดว่าจะสู้ไหวเหรอ กับข่าวที่มันออกไปเป็นสิบๆ ปี”

แวรุง ไปไหน (กรุณาใส่สำเนียงใต้เวลาอ่าน) หรือ ‘วัยรุ่นไปไหน’ คือเพจท่องเที่ยวชายแดนใต้ ที่สร้างสรรค์โดยวัยรุ่นในพื้นที่ ซึ่งพยายามกระจายเรื่องราวด้านใหม่ๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป ผ่านลีลาการเล่าเรื่องสนุกๆ ภาพและวิดีโอที่ทั้งสวยทั้งมัน

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ลงพื้นที่ปัตตานี คุยกับสองทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังเพจนี้ ว่าด้วยแรงบันดาลใจ ที่มาที่ไป และเรื่องราวที่เขาและเธอพบเจอในฐานะ ‘วัยรุ่น’ และการเป็น ‘สื่อ’ รุ่นใหม่ บนเงื่อนไขของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เราเอาคำว่า ‘แวรุงไปไหน’ มาใช้เป็นชื่อ เพราะอยากเปลี่ยนคำว่า ‘แวรุง’ หรือ ‘วัยรุ่น’ ในภาษาถิ่น เรามองว่าคำๆ นี้ หลายคนนึกถึงเด็กแว๊น เด็กที่ไม่ได้เรียน เด็กที่ไร้ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วยังมีแวรุงที่มีความคิดสร้างสรรค์เยอะมากในพื้นที่”

“ตัวผมเอง ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการเมือง หรือความสามารถที่จะไปแก้ปัญหาด้านวิชาการ แต่เราพอรู้เรื่องการทำสื่อ มีเดียคือสิ่งที่เราพอที่จะทำได้ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาต่างๆ โดยตรง แต่ว่าเรานำมุมมองที่ดีไปต่อสู้กับคนที่นำเสนอภาพแย่ๆ หรือเรื่องราวที่มันเลวร้าย เพื่อที่จะบอกว่า เออ…ยังมีมุมอื่นอยู่นะ”

“เวลาออกข่าว สื่อมักจะพาดหัวข่าวว่า จังหวัดปัตตานีระเบิด ทั้งที่มันเป็นแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่ง แต่เขาจะชอบใช้หัวข้อว่า สามจังหวัด หรือพื้นที่สีแดง ทั้งๆ ที่เหตุเกิดในพื้นที่นิดเดียวเอง บางครั้งเกิดในหมู่บ้านที่ไกลออกไปจากเมืองมากๆ หรือไม่มีใครอยู่ แต่พอพาดหัวข่าวแบบนี้แล้วข่าวมันขายได้ เขาก็ทำ”

 

‘ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ’ ‘คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่’: ขั้วความขัดแย้งในการเมืองไทยหลังคสช.

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ตั้งข้อสังเกตถึงการสร้าง ‘ความปรองดองแบบคสช.’ ที่ไม่ได้ช่วยสลายความขัดแย้ง แต่ได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาขั้วความขัดแย้ง ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ ให้แบ่งฝ่ายความขัดแย้งใหม่เป็น ‘คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่’ อันมีใจความอยู่ที่โลกทัศน์มากกว่าเรื่องอายุ

“ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ไม่มีการประท้วงบนท้องถนน ความเป็นเสื้อเหลือง-แดงไม่ถูกเน้นย้ำ ทว่าความรู้สึกว่าเราเป็นพวกไหนและฝ่ายตรงข้ามเราคือใครยังคงอยู่ เพราะสังคมไทยหลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

“เป็นไปได้หรือไม่ว่ามวลชนที่ถูกบังคับให้ ‘ถอดเสื้อสีแดง’ ได้มาสวมเสื้อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แทน ฉะนั้นฝ่ายตรงข้ามกับคนเหล่านี้คือชนชั้นนำในรัฐบาลปัจจุบัน และมวลชนที่สนับสนุนชนชั้นนำเหล่านี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสวมเสื้อสีเหลืองในการประท้วงบนท้องถนน”

“เส้นแบ่งฝ่ายความขัดแย้งใหม่ที่เริ่มปรากฏคือ ความเป็นคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ แม้ว่านิยามของรุ่นสัมพันธ์กับอายุ ทว่าใจความหลักคือโลกทัศน์มากกว่า คนรุ่นใหม่สนใจอนาคตแบบเปิด เช่นเปิดรับวัฒนธรรมอื่น โดยไม่คิดว่ารากเหง้าแบบไทยๆ สำคัญที่สุด รวมถึงเปิดรับการเปลี่ยนแปลงในแง่หน้าที่การงาน เทคโนโลยีอันรุดหน้า ตลอดจนนโยบายใหม่ๆ ที่เปลี่ยนโครงสร้างสังคมและการเมืองแบบถอนรากถอนโคน ส่วนคนรุ่นเก่าคือด้านกลับ ฝักใฝ่กับระบบปิด เน้นรากเหง้า ธรรมเนียม และกลัวการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนไม่วางใจบทบาทของเทคโนโลยี”

 

ทำไมคนไม่พอใจทหาร

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ตั้งคำถาม ทำไมคนถึงไม่พอใจทหาร โดยเฉพาะบรรดา ‘ทหารการเมือง’ ที่พยายามสืบทอดอำนาจตัวเอง ยิ่งวันเลือกตั้งใกล้เข้ามา ปรากฏการณ์นี้ก็ยิ่งลุกลามเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้เขียนเชื่อว่า คนจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่ายทหารที่เข้ามายุ่งการเมืองมากเกินไป ไม่ได้แสดงฝีมือการบริหารบ้านเมืองให้ประจักษ์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และแทนที่จะรู้ตัวเองว่าไม่มีความสามารถพอ ก็ไม่ยอมถอยออกไป กลับพยายามสืบทอดอำนาจไปอีกนาน ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

“หากไปสังเกตปฎิกิริยาในโลกออนไลน์ แทนที่คนจะกลัว เมื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาข่มขู่ ผู้คนกลับตอบโต้ด้วยการขุดคุ้ยประวัติของบิดาท่าน อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติผู้ทิ้งมรดกไว้ 4,000 ล้านบาท ให้คนนินทาว่า อาชีพทหารทำไมรวยได้ขนาดนี้”

“ผู้คนจำนวนมากไม่ได้รังเกียจทหารอาชีพ ที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศ แต่เบื่อทหารการเมือง ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์ ทำตัวเองไม่ต่างจากนักการเมืองที่ตัวเองเคยด่า… อารมณ์ไม่พอใจของมวลชนนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ และจะลุกลามไปถึงไหน อีกไม่นานคงมีคำตอบ”

 

‘ความล้มเหลว’ วิชาภาคบังคับยุค 4.0

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึงความสำคัญของ ‘การเรียนรู้จากความล้มเหลว’ อันเป็นทักษะสำคัญแห่งยุค 4.0

“การปกปิดความล้มเหลว ไม่ได้เกิดแค่ในวงการใดวงการหนึ่ง แต่เกิดขึ้นได้ทุกที่ รวมทั้งในโลกของนโยบายภาครัฐที่วัดผลลัพธ์ได้ยาก ทำให้บ่อยครั้งเราอาจไม่รู้เลยว่า แต่ละนโยบายและโครงการมีประสิทธิผลแค่ไหน คุ้มค่าต่อต้นทุนไหม”

“แนวคิดของ ดร.ซามูเอล ที่พยายามลบตราบาปจากความล้มเหลว และลดการยึดติดกับ ‘ภาพความสำเร็จ’ นั้นน่าสนใจมากสำหรับยุค 4.0 ที่อนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และคาดเดาได้ยาก”

“การแก้ปัญหาในทุกระดับของยุคนี้ มักไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องผ่านการ ‘ทดลอง’ สิ่งใหม่ เก็บข้อมูล ประเมินผล เรียนรู้และพัฒนา เพื่อก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันโลก”

“หากแต่การทดลองย่อมมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีสิ่งที่ทำถูกและผิดพลาด การมีทัศนคติที่สามารถลดความกลัวต่อความล้มเหลวได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคน องค์กร และประเทศ”

 

การ์ตูนชั่วชีวิตแบบ ‘สะอาดๆ’

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, ภาวิณี คงฤทธิ์

“ตอนที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ออกมา เราก็คิดว่า คสช. จะอยู่ไปอีก 20 ปีเหรอ เพราะฉะนั้นเราจะไม่สื่อสารระยะสั้นแล้ว ในเมื่อยังไงเขาก็ต้องอยู่อยู่แล้ว ไม่ว่าด้วยวิธีการแบบไหน เราจะสื่อสารในงานที่จะอยู่อีก 20 ปี คิดอย่างนั้นอยู่ปีนึง คิดเหมือนคนจะปั่นฟรีคิก แล้วก็บอกกับโกลว่า เดี๋ยวมึงเจอกู

“หนึ่งปีต่อมา พบว่างานมึงอายุหนึ่งปีก็หรูแล้ว…”

“เราชอบโมเดลของโมสาร์ตที่ปวารณาตนกับเชื้อพระวงศ์ ผลิตแต่ดนตรีออกมา เราอยากไปเป็นทาสศิลปินกับเศรษฐีสักคนนึง แต่อย่างนั้นก็ค้านกับหลักการของเรา แต่เราชอบโมเดลนั้นที่ทำให้เราปลอดจากสภาพคล่องทางการเงิน คล้ายๆ รัฐสวัสดิการนั่นแหละ เราถึงต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการไง ถ้าพูดแบบเท่ๆ ก็คือ เราชอบโมเดลรัฐสวัสดิการ เพื่อที่จะทำให้เราผลิตผลงานได้เต็มที่ โดยที่เราไม่ต้องมาเครียดกังวลเรื่องเงิน”

“ตราบใดที่เราอยู่ในประเทศที่ยังไม่มีรัฐสวัสดิการ คนทำงานสายนี้ยิ่งต้องพยายามทำความเข้าใจเรื่องเงินเลยแหละ คือคนจะเข้าใจว่าเรื่องความฉลาดทางการเงินเป็นเรื่องของคนรวย แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่คนจนต้องมี เพราะเมื่อไหร่ที่งานของเราไม่ตอบโจทย์รายจ่าย ก็เท่ากับว่าเราต้องหาทางออกเรื่องตังค์ให้มากขึ้น”

“…มิยาโมโตะ มุซาชิ เป็นซามูไรที่โคตรจะเก่งเลย ทุกคนยกย่องว่าเป็นปราชญ์ มีนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นหลายคนเอามุซาชิมาเขียนเป็นตัวละคร บางคนเขียนมุซาชิให้กลายเป็นตาแก่ลามกคนนึง ตัวเตี้ยๆ หลังค่อมๆ แต่ฟันดาบเก่งมาก เขาสามารถเอามุซาชิมาล้อได้ขนาดนั้น ลองคิดว่าเราเอาพระยาพิชัยดาบหักมาอยู่ในโลกการ์ตูนนะ แล้วทำให้พระยาพิชัยฯ ฟันดาบเก่งมาก แต่เป็นคนลามก เราก็เตรียมพบจุดจบของวิชาชีพได้ทันที แค่คิดก็ผิดแล้ว

“เรามองว่าอาจจะเจ๋งก็ได้ แต่ถูกตัดทันที เซนเซอร์ชิปทำงานโดยอัตโนมัติ นี่คือความต่างระหว่างนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นกับนักเขียนการ์ตูนไทย…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ‘สะอาด’ นักเขียนการ์ตูนลายเส้นดิบห่าม แต่เนื้อหาเปราะบางกินใจ เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนการเมือง ‘อย่าเห็นฉันเป็นสนามอารมณ์’ และผลงานรวมเล่มล่าสุดเรื่อง ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ที่ว่าด้วยความหวังและความตาย

 

อุษาคเนย์ยาม ‘ว่างแผ่นดิน’

ยุกติ มุกดาวิจิตร เขียนถึงหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ช่วง ‘กรุงแตก’ ของสามราชอาณาจักร คืออยุธยา อังวะ และด่ายเหวียด ไว้อย่างเป็นระบบ

“อาจารย์นิธิสร้างคำอธิบายองค์รวมของการก่อตัวทางสังคม ซึ่งระดับการผลิต การเมืองการปกครอง สังคม และวัฒนธรรม ล้วนเปลี่ยนจากรัฐแว่นแคว้น กลายเป็นรัฐราชอาณาจักร หากแต่ท้ายที่สุด สามรัฐราชอาณาจักรนี้ก็ถึงแก่การล่มสลายไปในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วรัฐราชอาณาจักรทั้งสาม ก็จัดการกับการล่มสลายด้วยวิธีใกล้เคียงกัน คือการอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน หรือที่อาจาย์นิธิเรียกว่าช่วง ‘ช่วงว่างขนบ’ หรือ ‘ว่างแผ่นดิน’

“ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ การล่มสลายของราชอาณาจักรทั้งสาม ล้วนมีส่วนสำคัญมาจาก ‘คนนอก’ เช่น พม่าในกรณีของสยาม อาจารย์นิธิได้ชี้ให้เห็นถึงพลังของอำนาจชายขอบที่มีต่อการก่อตัวของรัฐราชอาณาจักร และมีส่วนสร้างรัฐราชอาณาจักรไม่น้อยกว่าอำนาจส่วนกลาง กล่าวคือ ถ้าเกิดการเสื่อมลงของอำนาจส่วนกลางเมื่อไหร่ อำนาจชายขอบก็พร้อมที่จะท้าทายอำนาจส่วนกลาง พร้อมที่จะสถาปนาระเบียบอำนาจใหม่ขึ้นมา จนอาจมีผลล้มล้างอำนาจส่วนกลางได้เช่นกัน”

“ผมเชื่อว่า หากนักประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ลุกขึ้นมาศึกษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างเปรียบเทียบเชื่อมโยงกันแบบหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ กันมากขึ้น จนเกิดสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า ‘เพื่อนบ้านศึกษา’ ขึ้นมาแทนที่ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา’ ก็จะทำให้งานวิชาการเกี่ยวกับดินแดนนี้มีมุมมองใหม่ๆ จากคนในพื้นที่นี้เองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ”

หลักนิติธรรมในโลกยุคใหม่ ในทัศนะของ David Kennedy

“ผมอยากชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า แนวคิดว่าด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยนักกฎหมายเท่านั้น นักกฎหมายไม่ใช่ผู้ที่เข้าใจการใช้กฎหมายแต่เพียงผู้เดียว…”

อาร์ม ตั้งนิรันดร สนทนากับ เดวิด เคนเนดี้ ผู้อำนวยการ Institute for Global Law and Policy (IGLP) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่าด้วย ‘หลักนิติธรรมในโลกยุคใหม่’ รวมถึงข้อถกเถียงใหญ่ๆ ที่คนในแวดวงกฎหมายระดับโลกกำลังให้ความสนใจอยู่

“เมื่อพูดถึงหลักนิติธรรม (rule of law) คนมักจะแยกเรื่องกฎหมายออกจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ รวมทั้งเรื่องนโยบายสาธารณะต่างๆ และมักมองว่าเราต้องการกฎหมาย เพียงเพราะเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยในสังคม ผมคิดว่านี่เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายและหลักนิติธรรม”

“ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เริ่มก่อร่างสร้างองค์กรและสถาบันทางกฎหมายออกมามากขึ้น เรามีสถาบันยุติธรรมต่างๆ เช่น ศาลต่างๆ มากมาย เราพูดถึงการกำกับดูแลเศรษฐกิจผ่านกลไกของกฎหมาย มีการใช้อำนาจกฎหมายในการตรวจสอบผู้มีอำนาจและจัดการกับปัญหาการทุจริต กฎหมายกลายมาเป็นหัวใจของสังคมสมัยใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้

“แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ ผู้มีอำนาจในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต่างก็ต้องการกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองหรือพวกพ้อง สถาบันทางกฎหมายต่างๆ ไม่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม หรือเพื่อประโยชน์แห่งการต่อต้านการทุจริตโดยแท้จริงอย่างที่เคยคาดหวังไว้ในแต่ละประเทศ เราต่างพบว่าระบบกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันของเหล่าชนชั้นนำ”

“ความน่ากลัวอยู่ที่ว่า เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย ประชาชนจะไม่เชื่อว่ากฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาประโยชน์ของแต่ละคนได้อย่างไร หรือไม่เชื่อว่ากฎหมายจะนำมาใช้บังคับได้อย่างที่เขียนไว้”

“คนที่มีส่วนในการสร้างความสำคัญของกฎหมายต่อเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่คือผู้คนต่างๆ ในสังคมที่ต้องการกฎเกณฑ์พื้นฐานเพื่อจะมีชีวิตที่สงบสุข คาดเดาได้ และวางแผนได้…”

 

การเมืองเรื่องผ้าอนามัย : เริ่มหวั่น แม้วันมามาก

ไม่นานมานี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ออกมาเล่าประสบการณ์อดข้าวเพื่อซื้อผ้าอนามัย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตรงใจผู้หญิงหลายคน จนกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ว่าด้วยราคาของผ้าอนามัย ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ ‘ราคาการดำรงชีวิต’ ของผู้หญิง

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลสก็อตแลนด์ได้ทุ่มเงินกว่า 4 ล้านยูโร เพื่อดำเนินนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีแก่ประชาชน หลังจากรัฐ Aberdeen เคยนำร่องโครงการแจกผ้าอนามัยในโรงเรียน เป็นเวลาเกือบปี เพราะเห็นว่าเป็นกลไกทางร่างกายที่ผู้หญิงเลือกไม่ได้ ขณะที่ประชาชนบางคนมีเงินน้อย ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยที่มีราคาแพงได้ จนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมตามมา

และช่วงวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Period. End of Sentence.’ สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มหญิงสาวในหมู่บ้านเล็กๆ ของอินเดีย ที่ผลิตผ้าอนามัยใช้และขายในราคาย่อมเยาว์ ก็คว้ารางวัลออสการ์ สาขาสารคดีขนาดสั้นไป ด้วยเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาและความลำบากของผู้หญิงในสังคมชนบทในการเข้าถึงผ้าอนามัยที่มีคุณภาพและราคาแพง

บรรยากาศจากหยิบหย่อมของมุมโลกนี้ ทำให้เราเห็นว่า ‘ผ้าอนามัย’ สุขภาวะหนึ่งของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามและต้องการการถกเถียงอยู่ไม่น้อย

 

72 ปี รังสรรค์ : อนิจลักษณะของ ‘รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’

อ่านบทอภิปรายของ ปกป้อง จันวิทย์ ในวาระ “72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” ว่าด้วยตัวตนและผลงานของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของวงวิชาการไทย ผู้บุกเบิกงานศึกษาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเมือง, เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ และทุนวัฒนธรรม เจ้าของคอลัมน์ “จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” อันโด่งดังเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน

ผลงานแนะนำ

101 Round table เลือกตั้งที่รัก

 

โดย  กองบรรณาธิการ The101.world 

ในช่วงก่อน #เลือกตั้งที่รัก จะมาถึง 101 จ่อไมค์ไปที่คนรุ่นใหม่ในหลายแวดวง จับมาล้อมวง แล้วถกกันอย่างเข้มข้น ว่าด้วยอนาคตสังคมไทยที่พวกเขาอยากเห็น และต้องการมีส่วนร่วม

4 วงสนทนาการเมืองเรื่องเลือกตั้งกับคนรุ่นใหม่หลากวงการ

– เด็กรุ่นใหม่ ผู้มีสิทธิ์​เลือกตั้ง​เป็นครั้งแรก

– นักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้ลงสนามการเมืองครั้งแรกในชีวิต

– นักธุรกิจรุ่นใหม่ในแวดวงสตาร์ทอัพและดิจิทัล

– ศิลปินรุ่นใหม่จากหลากสาขา

รวมกับอีกหนึ่งวงสนทนา แกนนำพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่เคยมีโอกาสได้ขึ้นเวทีดีเบตหน้าจอกับเขา

และการรับฟังเสียงจาก ‘คนไร้บ้าน’ ทั่วกรุงเทพมหานคร ที่มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกับเรา

 

นามสกุลสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องเป็นผู้ก่อการร้ายทุกคนหรือไม่ ?

101 พาเข้าไปรู้จักชีวิตคนหนุ่มสาวจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ขึ้นมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผ่านเหตุการณ์อันตื่นตระหนกและสะเทือนขวัญจาก “คดีน้ำบูดู” มาเมื่อ 3 ปีก่อน

ตุลาคม 2559 หน่วยคอมมานโด พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในหอพักนักศึกษามุสลิมชายย่านรามคำแหง พร้อมจับกุมนักศึกษาไปหลายสิบคน เพราะหน่วยความมั่นคงระบุว่าจะมีการเตรียมการก่อเหตุวางระเบิดใน กทม.

หลังจากนั้น หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ค้นพบและแจ้งว่าเป็นสารประกอบระเบิดคือ ‘น้ำบูดู’ ที่ใช้กินกับข้าวยำ!

ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่นั่นดำเนินต่อไปอย่างไร ห้วงรู้สึกภายในของพวกเขาส่งเสียงอะไร

เมธิชัย เตียวนะ ชวนหาคำตอบในสารคดีเรื่อง The Deep Sound ชิ้นนี้

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ สูงสุด เดือนมีนาคม 2562

ไทยกำลังเจอ Dutch Disease?

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย สงสัย เศรษฐกิจไทยกำลังติดโรค Dutch disease แบบอ่อนๆ หรือไม่

โรคเศรษฐกิจที่เคยเกิดกับเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1960s เมื่อครั้งค้นพบก๊าซธรรมชาติมหาศาลในทะเลเหนือทิ้งบทเรียนอะไรให้กับเรา

และสำหรับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อะไรคือ “พาหะนำโรค” อะไรคือ “ข่าวดี” ที่อาจกลายเป็น “ข่าวร้าย” จนต้องระมัดระวังให้จงดี

 

 

การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

 

โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ 

ในสังคมที่ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมกล่อมเกลาความคิดคนมากกว่าเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอดีตของสังคมตนเอง

ประจักษ์ ก้องกีรติ สำรวจตรวจสอบมายาคติ 4 ประการในสังคมไทยเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 :

1. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

2. 2475 เป็นการปฏิวัติของนักเรียนนอกจำนวนน้อย

3. 2475 เป็นการกระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง

4. 2475 เป็นเพียงการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริง

อะไรคือประวัติศาสตร์ 2475 ฉบับโรงเรียนไทยไม่ได้สอน สำหรับการต่อสู้ถกเถียงกับมายาคติทั้ง 4 ประการข้างต้น และหนังสือน่าอ่านเกี่ยวกับ 2475 มีเล่มใดบ้าง ติดตามได้ใน “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

……….

“24 มิถุนายน 2475 ก็เหมือนการปฏิวัติในสังคมอื่นๆ มีทั้งด้านที่สำเร็จและล้มเหลว มีจุดแข็งและจุดอ่อน มีความก้าวหน้าและมีข้อบกพร่อง เพราะมันเป็นการปฏิวัติของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อที่เป็นปุถุชน มิใช่อรหันต์ ความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจในภายหลังก็เป็นเรื่องปกติเฉกเช่นการปฏิวัติครั้งอื่นที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์โลก

“ปัญหาอยู่ที่ว่า จนถึงวันนี้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ “พลิกแผ่นดิน” ครั้งนี้อย่างรอบด้านแล้วหรือยัง การถกเถียงและการประเมินฐานะความสำคัญของเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเรื่องสำคัญและควรทำ แต่เงื่อนไขสำคัญคือสังคมต้องมีเสรีภาพให้ประชาชนได้เถียงและตั้งคำถามเรื่องประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องหวาดกลัวอำนาจลงทัณฑ์ทางกฎหมายหรือการปิดกั้นจากรัฐ

“ทั้งนี้การตั้งคำถามกับมายาคติที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจพัฒนาการของสังคมอย่างถ่องแท้ มิใช่เข้าใจอดีตเฉพาะในแบบที่ชนชั้นนำอยากควบคุมให้เราเข้าใจ”

 

ทันตกรรมอำพราง : ความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก

ทุกวันนี้มีคลินิกที่เปิดให้บริการด้านทันตกรรมอยู่มากมาย ทั้งแบบที่ถูกกฎหมาย และแบบที่ลักลอบให้บริการอย่างลับๆ
สิ่งที่น่ากังวลซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ หรือรู้เมื่อสายไปแล้ว ก็คือการใช้บริการด้านทันตกรรมบางประเภท อาจนำมาซึ่งอันตรายในภายหลังได้ แม้ว่าคลินิกหรือทันตแพทย์คนนั้นๆ จะมีใบรับรอง กระทั่งเปิดบริการอย่างถูกกฎหมายก็ตาม
101 มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการเข้ารับบริการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ
นี่คือความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก แต่เราอยากบอกให้รู้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความเสียหายจากการรักษา

อะไรทำให้ป๋วยเป็นอมตะ ?

อ่านใหม่ “ป๋วย” 103 ปี – ความกล้าหาญทางจริยธรรมของป๋วย

มีบุคคลจำนวนมากในประวัติศาสตร์ ซึ่งตายแล้วตายเลย แม้บางคนเมื่อมีชีวิตอยู่จะมีทรัพย์สมบัติมหาศาล มีอำนาจใหญ่โต มีตำแหน่งสูงส่ง แต่ไม่นานนักก็ถูกกลืนหายไปในประวัติศาสตร์

แต่ทำไม “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” จึงยังมีความหมายสำหรับคนในปัจจุบันและอนาคต กับทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนได้เสมอมาตราบจนทุกวันนี้

กษิดิศ อนันทนาธร อดีตผู้จัดการโครงการ 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ลองหาญกล้าท้าทายท่านผู้อ่านด้วยการตอบว่า เพราะป๋วยมีความกล้าหาญทางจริยธรรมนั่นเอง

 

รายการ 101 one on one

101 One-On-One Ep.63 “จากตุลาการภิวัตน์ถึงตุลาการธิปไตย” กับ สมชาย ปรีชาศิลปกุล

โดย 101 One-On-One 

 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep.63

“จากตุลาการภิวัตน์ถึงตุลาการธิปไตย” – สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คอลัมน์ของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใน The101.world ชวนตั้งคำถามต่อองค์กรตุลาการและผู้พิพากษาในสังคมการเมืองไทยอย่างแหลมคมเสมอ

บทความอย่าง “อำมาตย์ตุลาการอำพราง” “ศาลและระบอบเผด็จการ” “กลับไปอ่านตุลาการภิวัตน์ของธีรยุทธ บุญมี” “ผมจะเป็นประธานศาลฎีกา” “ศาลรัฐธรรมนูญที่ไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ” “ตุลาการธิปไตย” ฯลฯ เปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงทางความคิดในเรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยจะกล้าแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา

101 ชวน “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” มาสนทนาเรื่องบทบาทขององค์กรตุลาการและผู้พิพากษาในสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้ง

ชวนคุยโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

101 One-On-One Ep.64 “มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย : จับตานิทานเรื่องใหม่ของ กสทช.” กับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

โดย 101 One-On-One 

 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep.64

“มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย : จับตานิทานเรื่องใหม่ของ กสทช.” – ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ท่ามกลางเรื่องราวระดับ ‘มหากาพย์’ ในสังคมไทย นิทานโทรคมนาคมไทยเรื่อง ‘คลื่นความถี่’ ตั้งแต่ยุค 1G จนถึง 5G นับเป็นหนึ่งในแถวหน้าของ ‘มหากาพย์’ อันซับซ้อน ยอกย้อน และซ่อนเงื่อน เพราะสมบูรณ์ไปด้วยตัวละครมากสีสัน กลเกมชิงไหวชิงพริบ และเรื่องเล่าอันพลิกผันเหลือเชื่อ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เปิดประเด็นชวนจับตามหากาพย์บทใหม่ หลังจาก กสทช. พยายามเสนอให้ คสช. ใช้ ม.44 อุ้มทุนโทรคมนาคม ผ่านการขยายเวลาชำระค่าประมูลคลื่นให้ผู้ประกอบการ โดยอ้างว่าเอกชนไม่มีเงินมาประมูลคลื่น 5G ซึ่งเขาประเมินว่าจะทำให้รัฐเสียรายได้อย่างน้อย 1.6 หมื่นล้านบาท

ติดตามเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องโทรคมนาคมไทยบทใหม่ เช็คพลังทุนโทรคมนาคมไทย เช็คสถานการณ์คลื่นความถี่ไทย พร้อมตอบคำถาม สังคมควรจับตา กสทช. และการประมูล 5G ในเรื่องอะไรบ้าง อะไรคือโจทย์สำคัญในการกำกับดูแลยุค 5G และอะไรคือสิ่งที่ กสทช. ควรทำและไม่ควรทำ

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

101 One-On-One Ep.65 “เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง อนาคตใหม่” กับ ชัยธวัช ตุลาธน

 

โดย 101 One-On-One 

 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep.65

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้อำนวยการเลือกตั้ง ผู้ร่วมก่อตั้งและรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

หนึ่งในเซอร์ไพรส์ของการเลือกตั้ง 24 มีนา คือ ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะกวาดเก้าอี้ ส.ส.ร่วม 80 ที่นั่ง เกินความคาดคิดของกูรูการเมืองแทบทุกสำนัก

เราเห็น ‘เบื้องหน้า’ อนาคตใหม่อย่างธนาธร-ปิยบุตรกันมามากแล้ว จันทร์หน้า 101 ชวน ‘เบื้องหลัง’ คนสำคัญของพรรคมาเปิดหน้าคุยกันถึงยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้งของอนาคตใหม่

กว่าจะถึงวันนี้อนาคตใหม่ผ่านอะไรมาบ้าง รับมือกับปัญหา ความท้าทาย และเสียงโจมตีแต่ละช่วงอย่างไร กระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’ มาจากไหน จุดพลิกผันที่ดึงความนิยมให้พุ่งกระฉูดคืออะไร ถึงวันนี้ประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อนของพรรคอย่างไร มองสถานการณ์การเมือง ณ วันนี้อย่างไร และก้าวต่อไปของอนาคตใหม่จะมุ่งหน้าไปทางไหน

เปิดบันทึกประสบการณ์จริงในสนามเลือกตั้ง ตอบทุกคำถาม กับ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ จันทร์ที่ 1 เมษายน สองทุ่มตรง ทาง The101.world คอการเมืองห้ามพลาด!

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…มวลมหาประชาชน 2562”

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…มวลมหาประชาชน 2562”

มวลมหาประชาชน หรือ กปปส. ปรากฏตัวโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง หลัง คสช. ปกครองมาเกือบ 5 ปี

เลือกตั้ง 2562 การกระจายอำนาจถูกชูเป็นนโยบายอันดับต้นๆ ของหลายพรรค เพราะความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่ กทม.

คนต่างจังหวัดถูกมองว่าไร้คุณภาพ?

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save