fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนมีนาคม 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนมีนาคม 2561

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

5 ปีผ่านไป สีจิ้นผิงกลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจและมีอิทธิพลสูงสุดแบบโชว์เดี่ยว ปกครองด้วยการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองอย่างยิ่ง และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ฉีกทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำจีนต้องลงจากตำแหน่งหลังครบ 10 ปี

แต่ถึงอย่างนั้น เขากลับเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงมากจากประชาชนโดยเฉพาะคนรากหญ้า และเศรษฐกิจจีนก็ดูจะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่สะดุด จนเริ่มเทียบชั้นมหาอำนาจ

อาร์ม ตั้งนิรันดร พยายามตอบคำถามว่า สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

 

 

จดหมายฉบับนี้อาจเป็นบันทึกประวัติศาสตร์วงการวิชาการไทยในอนาคต…

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (อาจารย์ปรัชญาคนหนึ่ง) เขียนจดหมายท้วงทักคณบดีและอธิการบดี
ถึงการยุบภาควิชาปรัชญาที่ได้ชื่อว่ามีองค์ความรู้แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

คมกฤชกล่าวถึงเหตุผลที่ประเทศเราควรรักษาศิลปศาสตร์เอาไว้ แม้ความเติบโตงอกงามที่ก่อเกิดในนักศึกษาผู้รักศิลปศาสตร์นั้นไม่อาจวัดค่าได้ด้วยเงิน

จดหมายของเขาเปิดประเด็นท้าทายหลายด้าน

เช่นในยุคที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การคงอยู่ของศาสตร์ต่างๆ ควรเรียกร้องการ “เลี้ยงตัวเองได้” หรือ “หล่อเลี้ยงปัญญาของสังคมไว้” มากกว่ากัน จริงหรือที่การยุบภาควิชาหนึ่งในครั้งนี้คือการนับถอยหลังสู่วันเสื่อมโทรมของศิลปศาสตร์ไทยในอนาคต

ความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ผ่านภาษา วรรณคดี ศิลปะ ปรัชญา การละคร มีพลังพอคัดง้างความเปลี่ยนแปลงเชี่ยวกรากของยุคสมัยได้หรือไม่ ยังคงมีใครเห็นความสำคัญของสิ่งอ่อนโยนเหล่านี้?

ขอเชิญอ่านจดหมายจากอาจารย์ปรัชญาคนหนึ่ง

 

 

เปิดตัวตน ความคิด และวิถีการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พร้อมตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ “การเมืองแห่งอนาคต” และพรรคทางเลือกใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว หลายทัศนะของเขาอาจทำให้คุณแปลกใจ

“ถ้าจะมีบางอย่างที่ทำให้สังคมไม่แตกหัก ไม่พัง คือพรรคทางเลือกใหม่ อนาคตใหม่ ถ้าคุณเลือกแบบเดิม คุณก็ได้วังวนแบบเดิม”

“ผมอยากชักชวนทุกคนที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับ กปปส. ให้หันกลับมายึดมั่นในการเมืองแบบรัฐสภาอีกครั้ง ถ้าการเมืองระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าเราแก้ปัญหาทุจริต แก้ปัญหาการลุแก่อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้”

“ถ้าผมจะบอกอะไรกับคนเสื้อแดงได้หนึ่งอย่าง ก็คือ ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือผู้ชายที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ผมอาจจะช่วยอะไรในลักษณะเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มาร่วมกับผม”

“คุณสามารถประยุกต์ใช้ blockchain ในการประชามติเรื่องนโยบาย เอาโครงการของภาครัฐทั้งหมดมาวางแผนให้เห็นว่าแต่ละโครงการมีต้นทุนในการก่อสร้างเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนคนชรา ทำฝาย หรือทำโรงเรียนเพิ่ม แล้วให้ประชาชนโหวตโดยตรง ผมเชื่อว่าเป็นไปได้”

“ปัญหาคอร์รัปชันแก้ได้ด้วย Open Data ถ้าคุณเชื่อว่ารัฐคือตัวแทนของประชาชน ข้อมูลที่ถูกผลิตออกจากรัฐทั้งหมดคือข้อมูลของประชาชน ที่ประชาชนต้องเข้าถึงและตรวจสอบได้”

“ผมเชื่อว่าความคิดที่ว่าการเมืองต้องใช้เงินเยอะมันเก่าไปแล้ว”

 

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

จากเด็กโรงเรียนอนุบาลสาธิต ม.อ.ปัตตานี สู่ว่าที่นักศึกษาปริญญาโทและเอก MIT Media Lab ห้องแล็บและสนามเด็กเล่นในฝันของเหล่านักวิทยาศาสตร์ แหล่งผสมผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะเข้าด้วยกัน และสร้างสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกมาแล้วมากมาย

จากเด็กในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project – JSTP) สู่บทบาทนักประดิษฐ์อนาคตด้วยนวัตกรรม ทั้งเครื่องปรินต์อาหารสามมิติบนอวกาศ และ Emoti-Khon โปรเจกต์ผลิต AI เพื่ออ่านคนจากสีหน้า แล้วแสดงอารมณ์ออกมาด้วยใบหน้าโขน

ผลงานและฝีมือของเขาโดดเด่นจนขึ้นพูดบนเวที TED x ASU เรื่อง Prototyping the Impossible ที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว

101 ชวน “พัทน์ ภัทรนุธาพร” หรือ “พีพี” นักวิทยาศาสตร์หนุ่มวัย 20 ต้น ผู้บอกกับเราว่าอยากเป็นไดโนเสาร์ติดปีก สนทนาเรื่องระบบการศึกษาและแวดวงวิทยาศาสตร์ไทยและสหรัฐอเมริกา

นี่คืออีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ 101 อยากให้คุณอ่านความคิดและประสบการณ์ของเขา

……….

(1)

“เราถูกกับดักของปัจจุบันขังไว้ ทำให้ไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตได้ เมื่อจินตนาการไม่ได้ เราก็เดินไปหาอนาคตไม่ถูก”

(2)

“มนุษย์ค้นหาความรู้เพราะสนุกที่จะทำ ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลก็บอกว่า ทุกๆ อย่างล้วนน่าสนใจทั้งนั้น ถ้าเราศึกษาอย่างละเอียดและลึกซึ้งมากพอ ผมว่าคนที่สุดยอดจะไม่แคร์หรอกว่าเป็นศาสตร์ไหน เขาแคร์แค่ว่า สนุก มัน ทำแล้วเจ๋ง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์สาขาไหนก็เอามารวมกันได้หมด”

(3)

“ตอนผมเรียนฟิสิกส์ บทที่ 1 คือนิวตัน ทำไมอยู่ๆ โผล่มาที่นิวตันเลย มันไม่มีเหตุผลตั้งแต่ต้นแล้ว วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุผล ความเข้าใจธรรมชาติ เป็นเรื่องที่มาจากความสนใจ นิวตันไม่ได้ถูกบังคับให้ไปค้นพบแรงโน้มถ่วง เขาแค่ใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนใจ เต็มไปด้วยความอยากรู้ เลยค้นพบแรงโน้มถ่วง นักเรียนควรจะได้เรียนวิทยาศาสตร์แบบที่นิวตันค้นพบแรงโน้มถ่วง ไม่ใช่แบบ…ทุกคนท่องกฎของนิวตันข้อที่ 1 ตรงกันข้ามเลย ถ้านิวตันมาเรียนวิทยาศาสตร์แบบนี้ ก็คงสอบตก (หัวเราะ)”

(4)

“การสร้างวาทกรรมว่า เราจะทำวิจัยเฉพาะอันที่แก้ปัญหาได้ หรือเฉพาะที่กินได้ ขายได้ เป็นการลดความสำคัญของวิทยาศาสตร์ลงไป … งานวิทยาศาสตร์ไม่ควรจะถูกจำกัดเฉพาะสิ่งที่เรากินได้เท่านั้น เพราะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นอนาคต สิ่งที่เรากินได้ตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะกินได้ต่อไปในอนาคต”

 

โดย ทีมงาน The101.world

 

หลังจากที่เราให้กรรมการทั้ง 5 คน เลือกหนังสือที่ตัวเอง ‘อ่านแล้วชอบ’ จากในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาแนะนำในโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ ประจำปี 2017

ในที่สุด เราก็ได้รายชื่อหนังสือที่ผ่านเข้ารอบแรก (Long list) มาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 33 เล่ม

จะมีเล่มไหนที่ตรงกับใจของคุณหรือไม่ เข้าไปดูกันได้เลย!

 

โดย ทีมงาน The101.world

 

12 เล่มสุดท้าย ‘ความน่าจะอ่าน 2017’

หลังจากกรรมการทั้ง 5 คนได้ร่วมกันสุมหัวโต้แย้งกันอย่างเผ็ดมัน
ในที่สุด เราก็ได้บทสรุปของ ‘ความน่าจะอ่าน’ แห่งปี 2017 เป็นที่เรียบร้อย…

ต่อไปนี้คือหนังสือ 12 เล่ม ที่กรรมการทุกคน ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ‘น่าจะอ่าน’

จะมีเล่มไหนบ้าง ไปดูกันเลย!

 

โดย ธิติ มีแต้ม

 

101 ชวนอ่านบทสัมภาษณ์แบบเจาะลึกชิ้นสุดท้ายในฐานะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ถูกเซ็ตซีโร่ ด้วย ม.44 สดๆ ร้อนๆ

หนึ่งในตัวละครที่สร้างสีสัน (สีไหนเติมกันเอาเองในใจ!) ในช่วงวิกฤตการเมืองไทยคือ สมชัย ศรีสุทธิยากร ภายใต้บทบาทกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จาก กกต. ที่เคยถูกวิจารณ์ว่าไม่อยากจัดเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.พ. 2557 สู่ กกต. ที่ออกมาวิจารณ์ คสช. และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากถูกเซ็ตซีโร่

“จริงๆ แล้ว เขาอาจจะต้องการเอาผมออกคนเดียว แต่ไม่รู้จะเอาออกอย่างไร”

ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101 ชวน สมชัย ศรีสุทธิยากร มาตอบคำถามตรงๆ ในหลายเรื่องที่ค้างคาใจ

101 ถาม

“ย้อนไปช่วงเดือน ก.พ. 2557 ถ้าให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ให้สำเร็จ คุณคิดว่าจะแก้ไขอดีตอะไรได้ไหม เพื่อให้ภาพลักษณ์ กกต.วันนั้นไม่ต้องถูกมองว่าไม่อยากจัดเลือกตั้ง”

“คุณจำกรณีแยกหลักสี่วันที่ 1 ก.พ.ได้ไหม กปปส.ไปปิดล้อมสำนักงานเขตหลักสี่ก่อนเลือกตั้ง 1 วัน มีปะทะกัน มีมือปืนป๊อปคอร์น มีคนตายชื่ออะแกว แซ่ลิ้ว ที่ไม่เกี่ยวกับมวลชนทั้งสองฝ่าย คุณสรุปบทเรียนนี้อย่างไร”

“วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในฐานะ กกต. ที่อยู่ในวงประชุมร่วมกับทุกฝ่ายวันนั้น คุณมองออกไหมว่าอะไรจะเกิดขึ้น บรรยากาศวันนั้นที่สโมสรทหารบกเป็นอย่างไร”

“จากวันนั้นมาถึงวันนี้ คิดว่า กกต.เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไหม”

“ที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งเรื่องซื้อสิทธิขายเสียงว่าไม่ค่อยมีผลเหมือนเมื่อก่อน เพราะชาวบ้านดูนโยบายมากกว่าเงิน การทุจริตการเลือกตั้งเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับการเฝ้าระวังการเลือกตั้ง”

“ทำไมวันเลือกตั้งต้องห้ามขายแอลกอฮอล์ ถ้าเรามีสมมติฐานว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งเขามีวุฒิภาวะที่จะกำหนดอนาคตตัวเองได้”

“วันเลือกตั้งที่หลายคนตั้งตารอว่าจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 คุณมองว่าช้าไปหรือเร็วไป”

“วินาทีนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งอะไรท้าทาย กกต. มากที่สุด”

“รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่สะสมมาได้ไหม”

มาฟังคำตอบจากปากคำของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในแบบที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนที่นี่!

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

 

มีบุคคลจำนวนมากในประวัติศาสตร์ ซึ่งตายแล้วตายเลย แม้บางคนเมื่อมีชีวิตอยู่จะมีทรัพย์สมบัติมหาศาล มีอำนาจใหญ่โต มีตำแหน่งสูงส่ง แต่ไม่นานนักก็ถูกกลืนหายไปในประวัติศาสตร์ ปัญหามีว่าเพราะเหตุใด “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” จึงยังมีความหมายสำหรับคนในปัจจุบันและอนาคต กับทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนได้เสมอมาตราบจนทุกวันนี้

ในวาระ 102 ปี ชาตกาลของ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” กษิดิศ อนันทนาธร ลองหาญกล้าท้าทายท่านผู้อ่านด้วยการตอบว่า เพราะป๋วยมีความกล้าหาญทางจริยธรรมนั่นเอง

 

โดย ธีรภัทร เจริญสุข

 

ในวันเวลาที่ปัญหาความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน ปะทุขึ้นมาอีกคำรบ ธีรภัทร เจริญสุข พาไปเยือนสุสานของ ‘เติ้งลี่จวิน’ ศิลปินสองแผ่นดินที่ใช้เสียงเพลงขับกล่อมผู้คนทุกหมู่เหล่า พร้อมย้อนสำรวจชีวิต ผลงาน และสถานการณ์แวดล้อมทางการเมืองที่เธอต้องเผชิญในช่วงเวลานั้น

“มีคำกล่าวในยุคนั้น ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงเป็นใหญ่บนแผ่นดินจีนแดงว่า ‘เติ้งหนึ่งปกครองยามทิวา แต่อีกเติ้งหนึ่งทรงฤทธายามราตรี’ และ ‘คนฟังเติ้งใหญ่ตอนกลางวันเพราะถูกบังคับ แต่ฟังเติ้งน้อยยามกลางคืนเพราะอยากฟัง’ เนื่องจากทั้งสองคนคือ เติ้งเสี่ยวผิง และ เติ้งลี่จวิน ต่างมีแซ่เติ้งเหมือนกัน”

“เพลงของเติ้งลี่จวินมิได้ซาบซึ้งแต่เฉพาะชาวจีนไต้หวันเท่านั้น แต่ความไพเราะและเนื้อหาหวานซึ้งในน้ำเสียงหยดย้อยของเธอ ยังจับใจชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรมที่โหยหาความดีงามที่ถูกทำลายและสูญหายไปในยุคแห่งความบ้าคลั่งนั้นด้วย”

 

 

โดย ภัทชา ด้วงกลัด

ทุกวันนี้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มเอ็นซีดี หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง ตับแข็ง สมองเสื่อม และโรคไตเรื้อรัง กว่าปีละ 5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด เท่ากับว่าทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตจากเอ็นซีดี 4 คนเลยทีเดียว
เอ็นซีดีไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคโดยตรง แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ที่ทำให้โรคค่อยๆ สะสมก่อตัว และมักมีอาการเรื้อรังจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

กลายเป็น ‘ทุกข์ของโลก’ ที่แพร่กระจายไปได้ทุกเวลา ทุกที่สู่ทุกคน จนกลายเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่ง

คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นเข้าสักวัน จากพฤติกรรมที่คุ้นเคยอย่างไม่รู้ตัว

101 จับเข่าคุยอย่างเจาะลึก กับ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาทางพ้นทุกข์จากเอ็นซีดี

 

โดย สมคิด พุทธศรี

 

‘ดราม่า’ เรื่องสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์สะท้อนความถดถอยของอุดมการณ์เสรีนิยมในระดับโลกอย่างไร

สมคิด พุทธศรี เล่าให้คุณอ่านแบบไม่(ต้อง)เซ็นเซอร์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

คอลัมน์ #GenWhy เดือนนี้ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เขียนถึงเรื่องความรักที่เลื่อนไหลของเหล่าคนวัยนี้ ทำไมคนถึงแต่งงานน้อยลง รักเพศเดียวกันมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่เปราะบางขึ้นทุกวัน

“ความรักแบบวาบไหว เบาหวิว ปลิวไปตามสายลม สบตากันบนรถไฟฟ้าแล้วบอกลากันสถานีหน้า กลายเป็นความรักในแบบฉบับคนเมือง

เรื่องสั้น บทความที่พูดถึงความรักชั่วครั้งคราว หรือความเปราะบางเหลือทนของความสัมพันธ์ถูกแชร์แล้วแชร์อีก เพื่อสะท้อนว่าหัวใจเราอ่อนไหวอยากมีใครสักคน แต่ก็ไม่พร้อมจะวิ่งหารักที่มั่นคงหนักอึ้ง”

รักแบบไหนที่เรียกว่าจริง ความสัมพันธ์ที่จีรังยั่งยืนมีจริงไหม แล้วรักของเพศเดียวกันถูกมองว่าจริงแค่ไหน หรือที่แท้แล้วไม่มีอะไรจริงเลย

 

โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์

 

คอลัมน์ read-o-sapiens ตอนใหม่ ‘มนุษย์ขี้อ่าน’ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ชวนอ่าน Sapiens: A Brief History of Humankind หนังสือเล่มดังระดับโลกของ Yuval Noah Harari

พลังของ ‘ความจริงในจินตนาการ’ มีส่วนในการสร้าง ‘โลก’ ที่มนุษย์เป็นใหญ่เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นได้อย่างไร

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

 

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอให้ ‘ทุนนิยม’ เป็น ‘grand strategy’ ของประเทศไทย

ทำไมคำตอบอยู่ที่ ‘ทุนนิยม’ ?

 

รสมือแม่

 

โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เขียนถึงคุณแม่ที่จากไปและทิ้ง ‘ตำรับอาหาร’ ของครอบครัวไว้เป็นมรดก

ในฐานะลูกชายคนโต และลูกมือของแม่ เขาบอกว่า ‘รสมือแม่’ ยังคงฝังอยู่ในมือและลิ้นของเขาเสมอ

“ตรุษจีนที่ผ่านมาผมกลับไปบ้านที่ระนองด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก แน่นอนว่าผมกลับไปร่วมเทศกาลตรุษจีนตามแบบอย่างของบรรพชนคนไทยเชื้อสายจีน แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาตลอดชีวิต เพราะเป็นการกลับไปไหว้ ‘แม่’ ซึ่งจากไปแล้ว”

“คืนหนึ่งหลังจากที่แม่เสียไปไม่นาน ผมยังคงอยู่ที่ระนองกับครอบครัว น้องสาวผมตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วก้มหาอะไรบางอย่าง สักพักเหมือนจะไม่เจอแล้วร้องไห้ ผมลุกขึ้นถามน้องว่าหาอะไร น้องบอกว่าเป็นสูตรอาหารต่างๆ ในร้าน โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองที่แม่จดไว้ด้วยลายมือแม่เอง ผมบอกว่าดึกแล้วพรุ่งนี้ค่อยหา แต่น้องยังไม่ยอมและลงไปค้นหาในครัว เพราะกลัวว่าลูกจ้างจะเอาทิ้งไป สุดท้ายเราเจอสมุดเก่าๆ เล่มนั้นอยู่ในครัว เราสองคนโล่งใจและนอนหลับลงได้

“ผมสงสารน้องในขณะที่สะอึกสะอื้นเพราะกลัวว่าตำราของแม่จะหาย ในใจน้องคงกังวลว่า ร้านของเราจะเป็นยังไงถ้าอาหารที่แม่เคยทำสาบสูญไป รสมือเปลี่ยนไป ในเวลาแบบนั้นไม่มีอะไรในโลกจะมีค่าไปกว่าสมุดเล่มนั้นแล้ว นั่นคือสมบัติชิ้นสำคัญที่แม่ทิ้งไว้ให้ ถ้าแม่ทิ้งเงินทองไว้มันอาจหมดไปในไม่กี่ปี แต่ความรู้นี้มันอยู่ได้และช่วยให้ทำมาหากินอีกยาวนาน…”

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

 

การเมืองรัสเซียยุคปูติน 4.0 : สู่กับดักชราธิปไตย? 

 

โดย จิตติภัทร พูนขำ

 

รัสเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 18 มีนาคม 2018 ปูตินเตรียมนั่งเก้าอี้ตัวเดิมสมัยที่ 4 แบบไม่ต้องลุ้น กระนั้น การเลือกตั้งพิธีกรรมครั้งนี้สะท้อนเกมแห่งอำนาจในการเมืองรัสเซียอย่างไรบ้าง

จิตติภัทร พูนขำ วิเคราะห์สารพัดโจทย์ท้าทายการเมืองรัสเซียยุคปูติน 4.0 และชวนตั้งคำถามไปข้างหน้าถึงรัสเซียยุคหลังปูติน

 

หลักประกันสุขภาพที่รัก (5) : ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ

 

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

“ผู้เขียนเป็นแพทย์ ถ้าผู้ป่วยไม่ไว้ใจแพทย์ พูดตรงๆ เราก็ทำงานต่อลำบาก เราต้องการให้ผู้ป่วยและญาติไว้ใจเรา เราจึงจะทำงานได้ดี แต่ครั้นไว้ใจแล้ว กลายเป็นหน้าที่ที่เราต้องรักษาความไว้วางใจนั้นได้ด้วย”

“หลักประกันสุขภาพที่รัก” ตอนที่ 5 นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เล่าเรื่องเจ้าแม่นางแก้ว การบีบแตร และ ‘สงคราม’ ในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ติดตามคอลัมน์ “หลักประกันสุขภาพที่รัก” ได้ที่นี่ 

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

 

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนอ่าน ‘ทาง’ ของ ‘นักทฤษฎี’ และ ‘นักปฏิบัติ’ เพื่อสำรวจว่าทั้งสองนักมองโลกต่างกันอย่างไร อ่านและวิเคราะห์ปัญหาด้วยวิธีแบบไหน และทำไมพวกเขาจึงมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน

“ถ้าท่านอยากได้คนมาช่วยชี้ให้เห็นเรื่องที่ท่านมองข้ามละเลย สิ่งที่ท่านไม่ได้คาด ปัญหาที่คิดไม่ถึง ประเด็นที่แก้ไม่ตก อดีตที่ถูกลืม ความเชื่อที่พอใช้ได้แต่ก็พลาดอยู่ดี บริบทใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนพลิกความเข้าใจให้เป็นอีกแบบก่อนที่จะตลบกลับมา นักทฤษฎีคือคนที่ท่านควรจะคุยด้วย คุยแล้วท่าน(อาจ)จะสว่างไสวกระจ่างใจขึ้นมาก”

“ถ้าท่านต้องการแนวทางสำหรับการตัดสินใจ การบรรลุข้อตกลง การจะได้ดีล การต่อรองที่มุ่งหวังผลได้เสีย การแก้โจทย์เฉพาะหน้า การจัดการปัญหาการงานประจำให้สำเร็จลุล่วง ช่วงเวลาแบบนั้น จงหลีกจากเขาให้ไกลทีเดียว เชื่อผมเถิด”

 

อีสานป๊อป (1) – เมื่อเพลงอีสานทลายกำแพงวัฒนธรรม

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

เมื่อพูดถึงยอดวิวเพลงไทยในยูทูปที่ถล่มทลายในตอนนี้ หลายคนอาจนึกถึงเพลง วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ของ แมกซ์ เจนมานะ

แต่ถ้าลองดูตัวเลขจริงๆ จะพบว่าใน 5 อันดับเพลงไทยที่มียอดวิวสูงสุดนั้น มีเพลงอีสานติดอยู่ถึง 3 เพลง ยังไม่รวมยอดการฟังเพลงอีสานที่ที่ยอดวิวเกิน 100 ล้าน อยู่อีกหลายสิบเพลง

เพลง ‘อีสานอินดี้’ ที่หยิบเอาคำร้องอีสานมารวมกับดนตรีสมัยใหม่ โดยฝีมือค่ายเพลงขนาดเล็ก อย่าง คำแพง และผู้สาวขาเลาะ มาแรงต่อเนื่อง กลายเป็นความ ‘ป๊อป’ ที่ค่อยๆ รุกคืบเข้าสู่ความโด่งดังทั่วประเทศ

เพราะอะไรวัฒนธรรมอีสานที่เคยอยู่วงนอกความนิยม จึงข้ามกำแพงมาเจิดจ้าโดดเด่น

สิ่งนี้สะท้อนว่าเส้นแบ่งวัฒนธรรมกำลังเลือนรางลงหรือไม่

อีสานยุคใหม่ทำเพลงแบบไหนจึงมีทำนองติดหูผู้คนได้จำนวนมาก

การประยุกต์เอาวัฒนธรรมที่แตกต่างมารวมกันจนได้รับความนิยม จะทำให้เราเห็นอนาคตของความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือไม่

“คนลาวอีสานทุกวันนี้ถูกกลืนเข้าไปในหลุมกลางของความมั่นคง แล้วเราก็ค่อยๆ ปล่อยอัตลักษณ์ทางจิตใจและวิญญาณไปกับการเปลี่ยนแปลง ทีนี้ถ้ามีเพลงหรือประโยคที่สามารถกระตุ้นให้เรารู้สึกดี ปลอบประโลมในความเป็นลาวที่สูญหาย สิ่งนั้นก็จะมีความสำคัญขึ้นมาทันที”

บางความเห็นของชัชวาลย์ โคตรสงคราม นักเขียนลุ่มแม่น้ำโขง ผู้ศึกษาวัฒนธรรมลาวอีสานอย่างเอาจริงเอาจัง

“ภาษาอีสานเป็นภาษาที่สวยงาม เอาไปไว้ตรงไหน ในดนตรีไหนก็ได้ ตอนนี้ผมภูมิใจตั้งแต่เพลงพี่ก้อง ห้วยไร่ เขาทำเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไว้ดีมาก จุดกำเนิดที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักเพลงอีสานอินดี้ แล้วก็ภูมิใจแทนศิลปินทุกคนที่ทำเพลงสไตล์นี้ มีคนยอมรับว่าเพลงแนวนี้สามารถอยู่ในสังคมนี้ได้”

เสียงจาก แซ็ค ชุมแพ นักร้องจากอีสาน เจ้าของเพลง คำแพง ที่มียอดวิวในยูทูปกว่า 400 ล้านวิว

เต็มอิ่มและเพลิดเพลินไปกับเพลงอีสานได้ในสกู๊ป ‘อีสานป๊อป : เมื่อเพลงอีสานทลายกำแพงวัฒนธรรม’ โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย กองบรรณาธิการ 101

 

โดย ธร ปีติดล

 

ธร ปีติดล อ่านความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในนวนิยาย ‘ปีศาจ’ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ พร้อมวิเคราะห์ว่าเหตุใดกาลเวลาที่เปลี่ยนไป จึงไม่อาจเปลี่ยนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้เลย

 

รายการ 101 One-on-One

 

101 One-on-One ep23 “เราอ่านอะไรในการฟัง” กับ ธนพล เศตะพราหมณ์

 

โดย 101 One-on-One

 

: LIVE :: “เราอ่านอะไรในการฟัง” กับ ธนพล เศตะพราหมณ์ Music Director ของ Mahidol Wind Orchestra หัวหน้าภาควิชาการอำนวยเพลงที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุยกันว่าด้วยเรื่องการศึกษาดนตรีคลาสสิกในเมืองไทย กันสดๆ ใน 101 one-on-one EP23

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

โตมร ศุขปรีชา ดำเนินรายการ

 

101 One-on-One ep22 “อนาคตสังคมไทย : ความคิด ความฝัน ความจริง” กับ รังสิมันต์ โรม

 

โดย 101 One-on-One

 

:: LIVE :: “อนาคตสังคมไทย : ความคิด ความฝัน ความจริง” กับ รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

รู้จักตัวตน ความคิด ชีวิต ความฝัน ของรังสิมันต์ โรม กันสดๆ ใน 101 one-on-one EP22

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการ

 

101 One-on-One ep21 “การเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ” กับ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

 

โดย 101 One-on-One

 

:: LIVE :: “การเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ” กับ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาของสังคมไทย ฟูอาดี้เป็นบุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ศึกษาปริญญาตรีที่ School of Foreign Service, Georgetown University ปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจาก Harvard Kennedy School และกำลังศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Oxford University

ฟูอาดี้เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของ Teach For Thailand เป็นคอลัมนิสต์สำนักข่าวไทยพับลิก้า และเป็นนักพัฒนากาแฟ ผู้เคยบอกว่า “เข้าใจประเทศไทยมากขึ้นผ่านกาแฟ”

ร่วม “อ่านอนาคตสังคมการเมืองไทย” กันสดๆ กับ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ใน 101 one-on-one EP21

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ธร ปีติดล ดำเนินรายการ

 

101 One-on-One ep20 “คนรุ่นใหม่กับการเมืองแห่งอนาคต” กับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

 

โดย 101 One-on-One

 

:: LIVE :: สนทนาสด “คนรุ่นใหม่กับการเมืองแห่งอนาคต” กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ใน 101 one-on-one EP20

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทางThe101.world

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save