fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2561

 

เมื่อเควียร์ละหมาด พระเจ้าไม่ยอมรับ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เควียร์ เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ฯลฯ ในโลกสมัยใหม่อาจไม่ได้เป็นที่น่ากระอักกระอ่วนใจนัก แต่สำหรับบางพื้นที่และบางความเชื่อแล้วก็ไม่แน่

‘Otherwise Inside เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน’ นิทรรศการภาพถ่ายของสมัคร์ กอเซ็ม ศิลปินช่างภาพและนักมานุษยวิทยา ชวนทบทวนความเชื่อบางประการ โดยเฉพาะความเคร่งครัดในศาสนากับความเป็นจริง

“ความเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมซับซ้อนและบั่นทอนมาก บางครั้งผมรู้สึกว่าถ้าคุณเป็นคนพุทธ คุณอาจมีวิธีการดีลกับตัวเองหรือสังคมให้ถูกยอมรับได้ และคงไม่มีใครมาชี้ว่าคุณบาป แต่การเป็นเควียร์มุสลิม นอกจากคำพิพากษาแล้ว หลายคนเขายังต้องอยู่กับชีวิตจริง เช่น ถ้าเป็นผู้ชาย ครอบครัวของคุณจะเรียกร้องให้คุณแต่งงานและมีลูก”

“ผมแค่สะท้อนให้เห็นว่า ในวัฒนธรรมที่มักเคร่งศาสนานั้น ยังมีความย้อนแย้งซุกซ่อนอยู่อย่างไม่มิดชิด และในทางหนึ่งมุสลิมก็รู้อยู่แก่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วเราไม่มีหน้าที่ไปตัดสินพิพากษาใคร เพราะเราล้วนรู้อยู่แก่ใจว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับพระเจ้า”

 

ระดูสนทนา ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เลือดประจำเดือนยังถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก แต่สำหรับ ‘เกศินี จิรวณิชชากร’ เจ้าของผ้าอนามัยแบรนด์ SunnyCotton – menstrual pad ผ้าอนามัยซักง่าย ที่บรรจงเย็บจากผ้าฝ้ายขึ้นด้วยสองมือ มองข้ามไปถึงมิติทางสุขภาพ ฤดูกาลของผู้หญิง และสิ่งแวดล้อมโลก

“คนญี่ปุ่นคิดว่าความป่วยไข้ เกิดจากร่างกายที่เย็นเกินไป และเขายังมองว่าการใช้ผ้าอนามัยทั่วไปซึ่งทำจากพลาสติกนั้นทำให้ร่างกายเย็น และความเย็นก็ยิ่งทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ดี นำมาสู่การปวดประจำเดือน หรืออาจนำไปสู่โรคต่างๆ”

น่าคิดว่าถ้าคนเรามีประจำเดือนเฉลี่ยเดือนละ 5 วัน ถ้าใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งวันละ 5 ชิ้น หนึ่งเดือนก็จะใช้ 25 ชิ้น หนึ่งปีใช้ 300 ชิ้น แล้วช่วงชีวิตของคนๆหนึ่งจะใช้ทั้งหมดกี่ชิ้น เมื่อปลายทางคือขยะ แล้วมูลค่าทั้งหมดที่แท้จริงคือเท่าไหร่

ธิติ มีแต้ม ชวนคุยกับเธอ เพื่อทำความเข้าใจมุมมองต่อ ‘ประจำเดือน’ ใหม่ ที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นไว้ด้วยผ้าอนามัยเท่านั้น

 

นอนไม่หลับ : โรคแห่งยุคสมัยในมุมมองแพทย์และนักจิตวิทยา

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

ทำอย่างไรให้ชีวิตกลับมาเป็นมิตรกับการนอนอีกครั้ง ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ โดยแพทย์ด้านเวชศาสตร์การนอน จิตแพทย์ นักจิตวิทยาที่ปรึกษา และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการนอนไม่หลับกับโรคเรื้อรัง

“ในตัวอารมณ์ของโรคซึมเศร้าเอง มีอาการนอนไม่หลับเป็นองค์ประกอบ ในทางกลับกัน ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันนานๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงการเกิดซึมเศร้าได้เหมือนกันครับ เราสามารถเจอคนเป็นโรคซึมเศร้าได้ในทุกวัย”

นพ.โชติมันต์ ชินวรารักษ์ จิตแพทย์ประจำ ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

“เราพบว่าคนนอนน้อยหรือเข้านอนช้า จะมีระดับน้ำตาลสูงกว่าคนเข้านอนปกติ โดยเฉพาะคนที่เวลาเข้านอนกับเวลาตื่นไม่สัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพในสมอง (circadian misalignment) เช่น คนทำงานเป็นผลัด (shift work) หรือกลับเวลากลางวันเป็นกลางคืน กลางคืนเป็นกลางวัน จะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างชัดเจน”

พญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี

“ความเข้มแข็งในการเผชิญปัญหา (resilience) ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ความคิด ความเชื่อ ประสบการณ์การจัดการปัญหา มีองค์ประกอบเยอะมาก การนอนไม่หลับคือพฤติกรรมสุดท้ายที่เกิดขึ้น เราต้องช่วยเขาสำรวจตัวเองว่าความคิดเขาที่ฟังดูคล้ายๆ สมเหตุสมผล นั้นสมเหตุสมผลจริงๆ หรือมีอะไรที่มากกว่านั้น”

พิมสิริ เรืองจิรนันท์ นักจิตวิทยาที่ปรึกษาอิสระ

“ในผู้สูงอายุเรามักเจออาการหยุดหายใจระหว่างหลับซึ่งทำให้เขาต้องตื่นขึ้นกลางดึก อาการบ่งชี้คือนอนกรน เมื่อก่อนเราคิดว่าการกรนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าไม่ใช่ ถ้าเราไปให้ยานอนหลับ เขาจะหลับได้เพราะฤทธิ์ยา แต่ตื่นขึ้นมาเขาจะรู้สึกว่าไม่สดชื่น เพลีย เพราะตอนหลับเขายังขาดอ็อกซิเจนไปเลี้ยงสมองเหมือนเดิม”

รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

โลกของคนนอนไม่หลับ

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

มีโลกของใครหลายคนที่ใช้ชีวิตราวกับไม่เคยมีกลางคืน นาฬิกาฟ้องว่าดึกก็แล้ว ใกล้เช้าวันใหม่ก็แล้ว แต่ยังพลิกตัวไปมาบนที่นอน ข่มตาหลับไม่ได้

101 ได้รวบรวมประสบการณ์ 31 ข้อ จากคนนอนไม่หลับทั้งคนเรียนหนัก ครุ่นคิดเรื่องงานเป็นลมหายใจ ซึมเศร้า ใช้ชีวิตไม่เป็นเวลา ไล่ระดับของอาการหลากหลาย ตั้งแต่นอนไม่หลับเป็นครั้งคราวแล้วหายไป จนถึงนอนไม่หลับแบบฮาร์ดคอร์ มองเห็นภาพ 3 มิติ กินยา 200 เม็ด ในเดือนเดียว และนี่คือประสบการณ์ส่วนหนึ่งของพวกเขา

“ปิดม่านสองชั้นก็แล้ว เหลือแต่ปิดมือถือนี่แหละ เคยเอามือถือไปวางไกลๆ ผมหงุดหงิดจนหยิบมาดูจนได้”
(ข้อ 9 : เขวี้ยงทุกอย่างออกจากเตียง)

“เราคิดว่ามาหาหมอเพื่อให้ได้ยาบางตัวกลับไป เพื่อความสบายใจ หรือเพื่อจะได้ฟังหมอพูดออกจากปากหมอว่าเราไม่ได้เป็นอะไร เราปกติดี เหมือนอยากได้ผลทางใจมากกว่า”
(ข้อ 12 : ปกปิดความจริงกับแพทย์)

“พองานเสร็จ ปล่อยตัวตามสบายได้แล้ว เรากลับมีอาการตึงๆ ค้างๆ ซึ่งทำให้นอนหลับทันทีอย่างที่อยากหลับไม่ได้ เรา ‘คลาย’ ด้วยการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ แต่กลายเป็นว่าเราใช้เวลาเลยช่วงควรหลับ”
(ข้อ 20 : เมื่อร่างกายไม่คุ้นชินกับเวลาว่าง)

“ผมทำงานในสายกฎหมาย ตั้งแต่บอกกับคนอื่นๆ ว่าผมเป็นซึมเศร้า นอนไม่หลับ ใช้ชีวิตไม่ปกติ คนที่รู้จักในสาขากฎหมาย มาปรึกษาผมเรื่องที่ตัวเองเครียด นอนไม่หลับ อารมณ์ผิดปกติกันเยอะมาก”
(ข้อ 26 : เปิดหน้ารักษา)

ลองเช็กลิสต์ ว่าคุณเข้าข่ายเคยมีประสบการณ์ร่วมกับพวกเขาบ้างหรือไม่

 

เวลาว่างและการนอน : วัฒนธรรมการพักผ่อนในโลกทุนนิยม กับ ปรีดี หงษ์สต้น

 

โดย วรัญญา บูรณากาญจน์

“โลกที่ดีกว่าคือโลกที่ต้องมีเวลาว่างมากขึ้น” คือคำกล่าวของ อ.ดร.ปรีดี หงษ์สต้น จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการใช้เวลาว่างในสังคมสยาม

101 ชวนปรีดี แกะรอยวิธีคิดเรื่องการใช้เวลาตั้งแต่จุดตั้งต้นที่สยามเริ่มรู้จัก ‘นาฬิกากล’ จนกระทั่งถูกห้อมล้อมด้วยทุนนิยม และเวลาว่างกับเวลาทำงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันนับตั้งแต่นั้น

ร่วมหาคำตอบว่าเวลาว่าง เวลานอน และเวลาพักผ่อนเริ่มห่างหายจากยุคสมัยตั้งแต่จุดเวลาใดในประวัติศาสตร์

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในกระแสเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก

 

โดย สมคิด พุทธศรี และ ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“เศรษฐศาสตร์การเมืองยังจำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่ และถ้ายังจำเป็น หน้าตาควรจะเป็นอย่างไร”

นี่คือคำถามที่ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนคณาจารย์ตั้งขึ้น เมื่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบการ ‘ยกเครื่อง’ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้โจทย์ตั้งต้นจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การตอบคำถามนี้จำเป็นต้องมองเห็นแนวโน้มและ ‘ขอบฟ้าความรู้’ ของเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกด้วย

ดังนั้น ธานีและทีมจึงตะลุยสำรวจหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองจากทั่วโลกกว่า 30 หลักสูตร เพื่อหาที่ทางใหม่ให้กับ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย’

อันที่จริง การสนทนาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองกับ ‘ธานี’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็เป็นโจทย์ความรู้ที่สนุกอยู่แล้ว เพราะในช่วงหลายปีหลัง เขาเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์การเมืองรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่สร้างองค์ความรู้ใหม่อันแหลมคมให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ยิ่งได้สนทนากันในวันที่เขากำลังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย’ ปรับตัวย่อมน่าสนใจเป็นพิเศษ

ก่อนเทอมใหม่จะเริ่ม 101 ชวนธานีคุยเรื่อง การปรับตัวของเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย ในวันที่เศรษฐศาสตร์การเมืองโลกกำลังเปลี่ยนแปลง

 

อินเดียนอก / ก่อนอินเดีย

 

โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

อย่าคิดว่าคุณรู้จัก ‘อินเดีย’ ดีพอแล้ว ถ้าคุณยังไปไม่ถึง ‘สินธุ’

รู้หรือไม่ว่า ต้นกำเนิดของ ‘ความเป็นอินเดีย’ นั้น แท้จริงแล้วตั้งต้นมาจากอารยธรรมเก่าแก่เมื่อราวๆ 5,000 ปีก่อน ซึ่งตั้งอยู่นอกพื้นที่ประเทศอินเดียในปัจจุบัน

ยุกติ มุกดาวิจิตร พาไปเยือน โมเฮนโจ-ดาโร ประเทศปากีสถาน โบราณสถานสำคัญอันเป็นเสมือนศูนย์กลางของ ‘อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ’ ที่สาบสูญ พร้อมสำรวจแง่มุมทางประวัติศาสตร์ในดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งล้วนหยั่งรากมาจากอารยธรรมโบราณแห่งนี้

 

ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล สำรวจองค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับไร้ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไร้ซึ่งประชาชนด้วย

 

หมูป่าติดถ้ำ : อารมณ์ ชุมชนนานาชาติ และการเมืองโลก

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ วิเคราะห์เหตุการณ์ช่วยเหลือ ‘ทีมหมูป่า’ ว่าเหตุใดจึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจจากนานาชาติ พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใด ‘ผู้ประสบภัย’ อีกหลายกลุ่ม กลับไม่ได้รับการเหลียวแล

“ในโลกที่ดูเหมือนเต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง การแก่งแย่งอำนาจ และความเกลียดชัง ความสำเร็จในการช่วยเหลือน้องๆ ‘หมูป่า’ แย้งกับอารมณ์กระแสหลักในสื่อ ความหวังซึ่งกลายเป็นสินค้าหายาก เมื่อปรากฏขึ้น จึงต้องพยายามขยายผลเพื่อให้เห็นว่ามนุษย์ทำอะไรร่วมกันได้ในการช่วยเหลือเด็กจากพื้นที่ชายขอบของโลก”

“ความสำเร็จของมวลมนุษยชาติในกรณีนี้เป็นไปได้ด้วยเงื่อนไขเฉพาะของวิกฤตถ้ำหลวง กล่าวคือกรณีนี้เป็นทั้งภัยธรรมชาติและเป็นผลจากการตัดสินใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ใช่ภัยธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งควบคุมได้ยาก และความหวังจะช่วยเหลือมวลมนุษยชาติอาจริบหรี่”

“ที่สำคัญคือ ในขณะที่ความเป็นน้ำหนี่งใจเดียวและความหวังเดียว ช่วยส่องแสงแก่ชีวิตคนทั้ง 13 ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงของโลก แต่มันกลับบดบังความเห็นอกเห็นใจต่อคนกลุ่มอื่น ซึ่งเราอาจมิได้สนใจเรื่องราวของเขา เห็นว่าชีวิตเขาไม่สัมพันธ์อะไรกับเรา หรือปัญหาที่พวกเขาเผชิญยากเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข…”

 

ทอดน่องในฟองเบียร์

 

โดย ธิติ มีแต้ม

วงการคราฟท์เบียร์ที่กำลังตื่นตัว ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่น้อยพยายามเปลี่ยนวาทกรรมน้ำเมาเป็นอาชญากร ไปสู่มิติความรู้ทางประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางอาหารอย่างน่าสนใจ

ธิติ มีแต้ม สนทนากับ ‘พ่อหมอ’ แห่งสำนักเบียร์ ‘ผีบอก’ อีกหนึ่งผู้ผลิตรายย่อยที่มองเห็นความเป็นไปได้ในการเติบโตของคราฟท์เบียร์ไทย

“ลาเกอร์ที่คนไทยดื่มกันอยู่นั้น ต้นกำเนิดมาจากเบียร์ Pilsner ของเมือง Pilsen ประเทศเชค ลาเกอร์ทั่วโลกเริ่มต้นจากที่นี่ เนื่องจากเมือง Pilsen มีพันธุ์ข้าวที่มีสีอ่อน ยีสต์ที่ใช้มีคาแรคเตอร์ค่อนข้างคลีน ไม่เข้มข้น แอลกอฮอล์ไม่สูง ดื่มง่าย”

“ระบบอุตสาหกรรมอาหารแข็งแกร่งมาก จนทำให้คนรู้สึกว่าอาหารอะไรก็ตามที่ไม่ได้ผ่านระบบอุตสาหกรรมจะไม่ปลอดภัย เราถูกปลูกฝังมานานว่าของที่ผ่านการผลิตจากโรงงาน ย่อมสะอาดและดีกว่าของที่ผลิตจากครัวเรือน แต่ก็ต้องแลกกับการที่ความหลากหลายทางอาหารหายไป”

“ยีสต์ไม่เคยโกหก ถ้าเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่ดี มีอาหารสมบูรณ์ ยีสต์จะทำหน้าที่ได้ดี เบียร์ออกมาก็ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ใส่ใจและมักง่าย ยีสต์ก็จะทำเบียร์เลวๆ ออกมาให้เรา เพราะถึงที่สุดเราไม่สามารถสั่งยีสต์ได้ ยีสต์ซื่อตรงและจริงใจมาก ยีสต์บอกเราว่าอย่าหลอกตัวเอง”

วางเรื่องบาปบุญคุณโทษที่พูดกันมาเยอะแล้วลงก่อน แล้วทอดน่องไปในฟองเบียร์กัน

 

Ladies Parking : การเมืองเรื่อง ‘ที่จอดรถของผู้หญิง’

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เขียนถึงการเมืองเรื่อง ‘ที่จอดรถของผู้หญิง’ ซึ่งมีจุดกำเนิดจากการรวมชาติของเยอรมัน ตั้งต้นจากเรื่องความปลอดภัย ลามไปสู่นัยทางการค้า ก่อนจะวนมาสู่เรื่องความเท่าเทียมในปัจจุบัน

“ประเด็นเรื่องที่จอดรถสำหรับผู้หญิง เป็นรูปธรรมหนึ่งของการถกเถียงใหญ่ใน ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’ (Identity Politics) ว่าถึงแม้การมอบสิทธิพิเศษให้กลุ่มคนผู้ (เคย) ด้อยโอกาสในสังคม อย่างผู้หญิง คนรักร่วมเพศ หรือคนผิวสี จะเป็นเรื่องที่พึงกระทำ ทว่าในระยะหลังก็โดนวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นการเมืองเพื่อสร้าง ‘สิทธิพิเศษ’ ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม จนหลงลืมความเป็นธรรมและก้าวล้ำสิทธิของคนกลุ่มอื่น…”

“ในศูนย์การค้าบางประเทศ เช่น จีน พื้นที่สีชมพูเหล่านี้มีขนาดใหญ่ถึง 3 เมตรกว่าต่อหนึ่งคันรถ ด้วยความกว้างเท่านี้ ทำให้ผู้หญิงสามารถถอยรถเข้าซองได้ง่ายดายยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถเปิดประตูสองฝั่งได้เต็มที่โดยไม่ชนรถคันข้างๆ เหมาะแก่การขนย้ายสัมภาระและอุ้มบุตรหลานขึ้นลงได้อย่างไร้กังวล

“กระนั้นความพยายามนี้กลับถูกกระแสโต้กลับอย่างรุนแรง เมื่อสุภาพสตรีจำนวนไม่น้อยมองว่า ‘ความสะดวกสบาย’ ดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับการเหยียดเพศ ตอกย้ำสเตอริโอไทป์เรื่อง ‘ผู้หญิงเป็นเพศที่ขับรถได้ห่วยกว่าชาย’ อย่างชัดเจน – คำถามสำคัญคือ การสร้างพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้หญิงเช่นนี้ นับว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมหรือไม่?”

 

เด็กไทยกับการสอบ PISA : มายาคติกับความเป็นจริง

 

โดย ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการขู่ถอนตัวจากการเข้าร่วมสอบ PISA หากผู้จัดสอบไม่อนุญาตให้ตรวจสอบความถูกต้องของการแปลข้อสอบจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และเรียกร้องให้เลิกนำผลสอบของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมาคำนวณในการคิดคะแนนรวมของประเทศ

ถ้าตัดคะแนนจากโรงเรียนขนาดเล็กทิ้งไป คะแนน PISA ของเด็กไทยจะสูงขึ้นจริงหรือ

แล้วจริงหรือที่เด็กเก่งในโรงเรียนดีของไทยมีผลสอบไม่แพ้นักเรียนประเทศชั้นนำ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

“ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค” นักวิจัยด้านระบบการศึกษาไทย ลงมือวิเคราะห์ข้อมูลผลการสอบ PISA ครั้งล่าสุดของเด็กไทย แล้วสรุปชัดๆ ให้อ่านกันว่า อะไรคือมายาคติ และอะไรคือความเป็นจริงที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาควรรู้

 

เช็กเสียงประชาธิปไตยของคนใต้ ในสายตา ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

“คนใต้ถูกกาหัวว่าเป็นผู้ที่เรียกร้องให้ทหารออกมา ผมก็โดนเหมือนกัน เดิมคนใต้เชียร์รัฐบาลทหาร แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่เห็นซึ้งหมดแล้ว เพราะเขาเจอด้วยตัวเอง ขายของในตลาดสดไม่ได้ ราคายางตกต่ำ ร้านค้าหลายร้านปิด คนเห็นชัด คนชื่นชมอะไรในเชิงนามธรรมได้ไม่เท่าไหร่หรอกครับ เพราะรูปธรรมมันฟ้อง ผมคิดว่าโดยภาพรวมของภาคใต้เขาเห็นซึ้งว่ารัฐบาลทหารคืออะไร” ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

101 ชวน ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และแกนนำการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สนทนาถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ทบทวนถึงทัศนะทางการเมืองของเขาที่ผ่านมา และเช็กเสียงความต้องการประชาธิปไตยของคนใต้ ณ ปัจจุบัน

ท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองไทย ‘คนใต้’ เป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญ ในอดีตคนใต้ไม่น้อยเคยเห็น คสช. เป็นความหวัง วันนี้คนใต้มอง คสช. เป็นอย่างไร? และสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยเป็นคำตอบสำหรับการเลือกตั้งทุกครั้ง วันนี้คนใต้ยังยืนยันคำตอบเดิมหรือไม่ ?

 

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนขั้ว?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

การทำแท้งอาจกลับไปผิดกฎหมาย คนรักเพศเดียวกันอาจแต่งงานกันไม่ได้ และมหาวิทยาลัยอาจกลับกลายเป็นที่เฉพาะของคนรวย …

“อาร์ม ตั้งนิรันดร” วิเคราะห์นัยทางสังคมและการเมือง ถ้าหากศาลสูงสุดของสหรัฐกลายเป็นอนุรักษนิยมเต็มตัว

ข่าวใหญ่สะเทือนวงการกฎหมายสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็คือ การประกาศแสดงความจำนงขอเกษียณอายุของผู้พิพากษาแอนโทนี เคนเนดี แห่งศาลสูงสุด ในวัย 81 ปี

ความสำคัญอยู่ที่เคนเนดีได้ชื่อว่าเป็น “เสียงชี้ขาด” ในหลายคดีสำคัญของศาลสูงสุดสหรัฐฯ เนื่องจากศาลสูงสุดมีจำนวนผู้พิพากษา 9 คน โดยมีผู้พิพากษาที่ออกเสียงไปในแนวทางอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน 4 คน และมีผู้พิพากษาที่ออกเสียงไปในแนวทางเสรีนิยมอย่างชัดเจนอีก 4 คน เหลือเคนเนดีที่มักเป็นเสียงตัดสิน

ถ้าประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยม เสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาท่านใหม่ซึ่งมีความคิดอนุรักษนิยมสุดขั้ว ก็จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมมีเสียงเด็ดขาดในศาลสูงสุด

ประเด็นร้อนแรงที่สุด คือ อาจมีการกลับแนวคำพิพากษา Roe v. Wade ซึ่งศาลสูงสุดในปี ค.ศ. 1973 ได้วินิจฉัยว่า ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกที่จะทำแท้งในระหว่างช่วงแรกของระยะเวลาการตั้งครรภ์

อีกเรื่องที่หลายคนวิตกว่า ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะกลับลำหรือไม่ คือ เรื่องสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ เพราะในคดี Obergefell v. Hodges ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้รับรองสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ ก็เพราะเคนเนดีอีกเช่นกันที่ลงคะแนนชี้ขาดทำให้ฝ่ายเสรีนิยมชนะเสียง 5-4

ในปี ค.ศ. 2016 เคนเนดีเป็นเสียงชี้ขาดในคดี Fisher v. University of Texas ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยของรัฐในสหรัฐฯ ยังสามารถใช้เกณฑ์พิเศษในการรับคนผิวสีได้ แต่หากในอนาคต มีผู้พิพากษาที่อนุรักษนิยมมาแทนเคนเนดี ก็น่าจะมีการกลับแนวคำพิพากษาในเรื่องนี้

 

ทำไมร้านหนังสืออิสระถึงไม่ตาย (และจะไม่มีวันตาย)

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

แม้ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์หลายประเภทจะถูกแทนที่ด้วยเทรนด์ดิจิทัล
สำหรับหนังสือเล่ม ร้านเชนสโตร์ขาใหญ่ในวงการมากมายทยอยปิดตัว
แต่กลับเริ่มมีเสียงพูดกันมากขึ้นว่า ‘ร้านหนังสืออิสระ’ ที่มีลักษณะบางประการน่าจะได้ไปต่อ

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และร้านนั้นน่าจะมีลักษณะอย่างไร 
พลิก ไม่ใช่สิ… คลิกอ่านได้ใน คอลัมน์ #TrendRider สัปดาห์นี้ โดย โตมร ศุขปรีชา 

 

10 เหตุผลที่ทำให้ข่าวทีมหมูป่าดังไปทั่วโลก

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ชวนทบทวนว่าทำไมข่าวการติดถ้ำของเด็กๆ ทีมฟุตบอล “หมูป่า” จ.เชียงราย จึงถูกไฮไลท์จากสายตาชาวโลกเป็นพิเศษ

ตั้งแต่ภาพจักรยานของทีมฟุตบอลและรองเท้าที่ถูกทิ้งไว้หน้าถ้ำ การระดมทีมอาสาสมัครสุดยอดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความหวังในการลุ้นระทึก ความสูญเสีย ไปจนถึงความดราม่าระหว่างการค้นหา

ทั้งหมดทั้งปวงนับว่าได้ว่าเข้าองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ในความเป็น ‘ข่าว’

 

การเมืองเรื่อง ‘ยา’ กับ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงข้อถกเถียงร้อนแรงเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า บัตรทอง

ทว่าหนึ่งกลไกสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนระบบหลักประกันฯ ให้บรรลุผล แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่นัก คือกลไกการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง ป้อนเข้าสู่โรงพยาบาลและสถานบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง

101 สนทนายาวๆ กับ ‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ดสปสช. รองประธาน FTA Watch และแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ว่าด้วยการเมืองเรื่อง ‘ยา’ ตั้งแต่การเข้าถึงยาจำเป็น สิทธิบัตรยา การผูกขาดยาจากบริษัทยาข้ามชาติ ไปจนถึงการคงอยู่ของ ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’

“การสู้เรื่องการเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษา เป็นโซเชียลมูฟเมนต์ที่ตื่นตาตื่นใจและมีชีวิต เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน สมมติถ้าไม่มียาบางตัว บางคนอาจถึงกับชีวิตเลย

“นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมประชาชนในฐานะผู้รับบริการ จึงต้องสนใจเรื่องยา ต้องสนใจเรื่อง FTA การเจรจาการค้า ก็เพื่อให้ในที่สุด เราจะสามารถป้องกันไม่ให้การเจรจาการค้ามาทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นเหตุผลว่า ถ้าจู่ๆ มีใครสักคนพยายามชงให้หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งตามม.44 ซึ่งจะมีผลทำให้สิทธิบัตรที่ค้างอยู่ผ่านไปทั้งหมด รวมถึงสิทธิบัตรยาห่วยๆ บางตัว มันจะยิ่งทำให้ยาถูกผูกขาด”

“สปสช. ในฐานะหน่วยงานจัดหาบริการให้ประชาชน ทำหน้าที่พัฒนาระบบจัดหายาที่ทำมาตลอดสิบกว่าปี สามารถประหยัดรายจ่ายให้ประเทศได้มากกว่าห้าหมื่นล้านบาท จนได้รับการยกย่องและเป็นต้นแบบของโลกไปแล้ว แต่กลับต้องมาป่นปี้เพราะคำทักท้วงที่ไม่มีมูล ประกอบกับความพยายามในการดึงอำนาจการจัดซื้อกลับไปของกระทรวงฯ ระบบใหม่จึงขลุกขลัก เพราะขาดประสบการณ์ และยังต้องให้สปสช. เป็นพี่เลี้ยงอยู่”

 

“โรงเรียนอนาคต” เปิดเทอม

 

โดย ทีมงาน The101.world

101 ร่วมกับ มธ. และ FES เปิด “โรงเรียนอนาคต” ประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ เพื่อร่วมปลูกอนาคตสังคมไทย ผ่านการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ระดับมัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ 8-22 ก.ค. นี้

เปิดความคิด เปิดหลักสูตร “โรงเรียนอนาคต” กับ เกศินี วิฑูรชาติ สตีเน่อ คลัพเพอร์ พิภพ อุดร ประจักษ์ ก้องกีรติ และปกป้อง จันวิทย์ เครือข่ายผู้ร่วมสร้างสรรค์ “โรงเรียนอนาคต” ที่นี่

 

ปราบทรชนด้วยวิชามาร Sicario: Day of the Soldado

 

โดย นรา

คอลัมน์ #deepfocus เดือนนี้ ‘นรา’ เขียนถึงหนังภาคต่อของ Sicario ในชื่อ Sicario: Day of the Soldado

โดยตัวเรื่องแล้ว Sicario: Day of the Soldado ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับภาคแรก (คนที่ไม่เคยดูมาก่อน สามารถเริ่มที่ภาคนี้ได้เลยครับ) เป็นเพียงพฤติการณ์ตอนใหม่ของ 2 ตัวละครหลัก คือ แม็ตต์ เกรเวอร์กับอเลฮานโดร

หนังเริ่มต้นด้วยการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจเคลื่อนย้ายชาวเม็กซิกันข้ามชายแดนลอบเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

ในบรรดาคนต่างด้าวที่แอบเข้ามายังอเมริกาเหล่านี้ บ้างก็มาด้วยเจตนาหวังดิ้นรนแบบไปตายเอาดาบหน้า เพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยก็อาศัยช่องทางดังกล่าว ลักลอบขนยาเสพติด

สถานการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ปกติ เกิดขึ้นและมีมาช้านาน ผลัดกันเป็นฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบอยู่เรื่อยมา แต่แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างใหญ่หลวง

นั่นคือ การลักลอบนำพาผู้ก่อการร้ายเข้ามาในอเมริกา

ขณะที่ดู Sicario:Day of the Soldado เมื่อผ่านพ้นไปได้ประมาณ 10 นาที ผมก็ปลอดโปร่งโล่งอก พอจะมองเห็นทิศทางของหนังว่า ปลอดรอดพ้นจากการเป็นหนังภาคต่อจำพวก ‘เสียของ’ และเมื่อติดตามจนจบก็ชื่นชอบและพึงพอใจมาก

ภาคสองนี้ อาจจะไม่มีพลังความสดใหม่ดังเช่นที่เคยรู้สึกสัมผัสได้ในภาคแรก แต่หนังก็ฉลาดที่จะเลือกมุ่งไปอีกทางที่ให้อรรถรสแตกต่าง ขณะเดียวกันประเด็นเนื้อหา วิธีคิด และการกระทำของตัวละครหลัก (แม็ตต์ เกรเวอร์กับอเลฮานโดร) ก็ยังคงเกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกันกับของเดิม และเด่นในการขยายความให้รายละเอียด จนได้ภาพรวมคมชัดขึ้น

 

การเมืองไฮบริดแบบ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เป็นที่รู้กันว่าในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ พยายามชวนคนไทยให้มองกลับมาที่ดินแดนฝั่งบูรพา-แผ่นดินแม่

ถ้าตั้งต้นร่วมกันว่าการเมืองไทยกำลังอยู่ในห้วงวิกฤต เป็นยุคทหารทั้งตัวและหัวใจ เมื่อเขาขุดค้นลงไปในเนื้อนาดินสังคมไทย อะไรคือสิ่งที่เอนกค้นพบและเห็นเป็นรากแก้วของเมืองไทยที่อาจนำพาประชาชนหลุดพ้นจากวิกฤตนี้

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ในวันที่เขาก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง ในนามผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ต่อยอดมาจากฐานมวลชน กปปส.

ท่ามกลางคำถามว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างไร เมื่อการเมืองของความหวังกำลังเดินทางไปด้วยกันกับการเมืองของความจริง ท่ามกลางหลุมดำที่นักการเมืองถูกดูดเข้าไป บางคนสูญหาย บางคนกลับกลาย จุดยืนเอนกเป็นอย่างไร

เมื่อเขาบอกว่าประชาธิปไตยไทยไม่มีบลูปริ้นท์ แล้วอะไรคือสิ่งที่อดีตนักปฏิวัติเชื่อมั่นกับการพาเมืองไทยออกจากวิกฤตการเมือง อะไรคือสิ่งนักรัฐศาตร์อย่างเขาทบทวนทำความเข้าใจสังคมไทยที่ยังไม่เปลี่ยนผ่าน

“เรายังต้องการประชาธิปไตยนั่นแหละ แต่เราต้องกล้าคิดประดิษฐ์ กล้าผสมหาความลงตัวให้มากขึ้น จะไปอ้างว่าควรเป็นแบบประเทศนั้นประเทศนี้ไม่ได้ แต่ฉันทามติในการเลือกก็ต้องให้ประชาชนได้เลือกร่วมกัน ประชาธิปไตยสำหรับผมที่จะเหมาะสมกับสังคมไทยไม่มีบลูปริ้นท์ ต้องลองผิดลองถูกกันไป”

“ผมเห็นความเป็นไฮบริด เหมือนรถที่ใช้ได้ทั้งแก๊สและน้ำมัน ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนจากแก๊สเป็นน้ำมันหรือเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นแก๊ส รถก็ไม่ดับ”

รายการ 101 One-on-One

101 One-On-One Ep38 “มหาวิทยาลัยอนาคต” กับ พิภพ อุดร

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP38

:: LIVE :: “มหาวิทยาลัยอนาคต” – พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School)

สนทนาเรื่องนวัตกรรมการศึกษาใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยไทย เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมรับมือกับสารพัดความท้าทายในยุคดิจิทัล ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยยังไม่ตาย แต่ยังมีคุณค่าความหมายในโลกแห่งอนาคต

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล

 

101 One-On-One Ep37 “Digital Politics การเมืองใหม่ในโลกดิจิทัล” กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP37

:: LIVE :: Digital Politics – การเมืองใหม่ในโลกดิจิทัล

สนทนาเรื่องการเมืองโลกร่วมสมัย ความท้าทายต่อประชาธิปไตย และนวัตกรรมใหม่ด้านการเมืองภาคประชาชนในยุคดิจิทัล กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

101 One-On-One Ep36 “มนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย” กับ จักรชัย โฉมทองดี

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP36

:: LIVE :: ตีแผ่ชีวิต “มนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย” กับ จักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย

ร่วมสำรวจวงจรการผลิตและการบริโภคอาหารจากไร่นา โรงงาน และท้องทะเล สู่ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” แรงงานไทยเผชิญชีวิตแบบไหนในต้นน้ำของระบบอาหาร และผู้บริโภคไทยเผชิญชีวิตแบบไหนในซูเปอร์มาร์เก็ต

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ใครที่เคยซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้ามพลาด!

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save