fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world (กรกฎาคม 2560)

ก่อนจะนำเสนอ 20 ผลงานใหม่ยอดอ่านสูงสุดประจำเดือนกรกฎาคม 2560 ทีมงาน 101 ภูมิใจเสนอผลงานชุดใหญ่สองเรื่องสองรสที่อยากให้ทุกคนได้อ่านและได้ชมกัน นั่นคือ สารคดี “ณ” – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน ซึ่งออกอากาศครบทั้ง 13 ตอนแล้ว และงานเขียนในซีรีส์ ๒๔๗๕ จำนวน 19 ชิ้น เนื่องในวาระ 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม

 

ผลงานแนะนำของ The101.world

รวมผลงานครบชุด สารคดี “ณ” – บ้านของเขา เรื่องเราทุกคน

 

โดย ทีมงาน The101.world

ชวนชมสารคดีชุด “ณ : บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน” ทั้ง 13 ตอน ผลงานร่วมระหว่าง 101, พอช., สอช., คทช. และเหล่าศิลปินหลากวงการ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลายแนว เพื่อบอกเล่าปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง รวมถึงเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านในการจัดการชีวิตและชุมชนของพวกเขาในสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม

101 x Eyedropper Fill x B-floor theatre x ชาติฉกาจ ไวกวี x นิ้วกลม x จุ๋ย จุ๋ยส์ x เชฟบุ๊ค x ยานแม่ x พอช. x สอช. x คทช.

 

รวมผลงานชุด “การอภิวัฒน์สยาม 2475” โดย 101

 

โดย ทีมงาน The101.world

ในวาระ 85 ปี ประชาธิปไตยสยาม  101 นำเสนอชุดผลงานว่าด้วย “การอภิวัฒน์สยาม 2475” ในมิติทางการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และนี่คือผลงานทั้งหมดที่ร่วมสร้างสรรค์ให้ “ประวัติศาสตร์ 2475” กลับมามีชีวิตชีวาในสังคมไทยร่วมสมัยอีกครั้ง

มาเรียนรู้อดีตเพื่อรับมือกับอนาคตข้างหน้าไปด้วยกัน ผ่านการอ่านผลงานทั้ง 19 ชิ้น ในซีรีส์ ๒๔๗๕ โดย 101

 

20 ผลงานใหม่ยอดนิยมที่มีผู้อ่านสูงสุดของ The101.world ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560

ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่มีรถไฟความเร็วสูง

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

คุ้มหรือไม่คุ้ม-ไม่รู้ แต่ประเทศไทยกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง เช่นเดียวกับประเทศร่ำรวยเกือบทุกประเทศในโลก

แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมประเทศสุดรวยอย่างสหรัฐอเมริกากลับไม่มีรถไฟความเร็วสูงเลยแม้แต่สายเดียว?

อาร์ม ตั้งนิรันดร มีคำตอบ

 

Poor Economics

 

โดย สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล ชวนอ่านหนังสือ “เศรษฐศาสตร์ความจน” (Poor Economics) ของ อภิจิต แบนเนอร์จี กับ เอสเธอร์ ดูฟโล สองนักเศรษฐศาสตร์พัฒนา เพื่อลบล้างมายาคติเกี่ยวกับความจน คนจน และวิธีปราบจน

 

การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?

 

โดย ธนาพล อิ๋วสกุล

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการกลับมาเกิดใหม่ของอุดมการณ์คณะราษฎร หลังจากที่ความทรงจำเรื่องคณะราษฎรกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 ถูกทำให้ลบเลือนหายไปจากสังคมไทย ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร 2490

 

ปัญหาของหลอดพลาสติก : ถ้าไม่เอาหลอดพลาสติกแล้วจะเอาอะไรดูด!

 

โดย กรณิศ ตันอังสนากุล

คุณคิดว่าหลอดพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ในโลกหรือเปล่า ไม่ว่าจะคิดหรือไม่คิด บทความต่อไปนี้โดย กรณิศ ตันอังสนากุล จะชวนให้คุณคิด!

 

กายวิภาควิกฤตเศรษฐกิจ : ฟองสบู่ หนี้ ทุน และความเสี่ยง

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผ่ากายวิภาควิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมตั้งคำถาม อะไรคือความเสี่ยงของประเทศไทยในปัจจุบัน

 

เปิดมุมมองวงการไอที สื่อใหม่ และธุรกิจไทย กับ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

 

โดย ภัทชา ด้วงกลัด

“ผมเป็นคนยุคเปลี่ยนผ่าน”

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone เว็บข่าวและชุมชนคนไอทีรุ่นบุกเบิก ฐานที่มั่นสำคัญด้านข้อมูลความรู้ไอทีของคนไทย นิยามตัวเองในวันที่ Blognone มีอายุ 13 ปี

เขาคือคนไอที ผู้เป็นนักสังเกตการณ์ ที่หลงใหลในการถ่ายทอดความรู้ และเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไอทีและสื่ออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดนานนับสิบปี ตั้งแต่ยุคทองของบล็อก สู่ยุคสื่อใหม่ และมองไปไกลถึงยุคที่เทคโนโลยีสุดล้ำกำลังพาเราไปสู่โลกที่อาจจินตนาการไม่ถึง

ในวันนี้ นอกจาก Blognone แล้ว อิสริยะใช้มุมมองแบบ “คนยุคเปลี่ยนผ่าน” และ ความปรารถนาที่จะเติมเต็ม “ช่องว่าง” ทางความรู้ในเรื่องต่างๆ สร้างฐานที่มั่นทางความรู้อีกสองแห่ง คือ Brand Inside และ Siam Intelligence Unit (SIU) แหล่งข้อมูลความรู้ด้านธุรกิจในโลกยุคใหม่ รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผู้คนในวงกว้างขึ้น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วจากแรงผลักดันของเทคโนโลยี 101 จึงชวน อิสริยะ มามองโลกที่เปลี่ยนแปลง ผ่านตัวตนและมุมมองของคนไอทียุคเปลี่ยนผ่าน เพื่อจับกระแส เปิดมุมมอง และถอดบทเรียนในวงการไอที วงการสื่อ รวมทั้งวงการธุรกิจไทย ให้คุณได้เห็น “ช่องว่าง” แห่งโอกาสที่อาจซ่อนอยู่

 

โลกแบนและมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง วิพากษ์สังคมการเมืองไทยที่ย้อนยุคไปไกลราวกับอยู่ในยุคสมัยที่เชื่อว่า “โลกแบน” แถมมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล

…..

“ประเทศไทยทุกวันนี้แลดูไปก็เปรียบเหมือนยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่ผู้คนถูกบังคับให้เชื่อว่า “โลกแบน” เท่านั้นไม่พอ ยังมีโปรแกรมความเชื่อด้วยว่า บ้านนี้เมืองนี้นี่ล่ะ ที่ยิ่งใหญ่สุดยอดเหนือสิ่งใด อะไรที่ขึ้นชื่อว่าไทยแล้วต้องเลอเลิศประเสริฐกว่าใครเขา

“ทำราวกับว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลก พอๆ กับความเชื่อที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพหรือจักรวาล …

“… พื้นฐานความเชื่อที่ว่า “โลกแบน” และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ หยั่งรากฝังลงลึกจนกระทั่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางพัฒนาการทางความคิด อันถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์อารยธรรมตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ไม่จำเพาะแต่เพียงพัฒนาการทางประชาธิปไตยเท่านั้น …”

– อายุษ ประทีป ณ ถลาง –

 

สำรวจระเบียบเศรษฐกิจใหม่ในโลกที่ไม่คล้ายเดิม กับ Michael Heise

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี

ดร.ไมเคิล ไฮส์ (Dr. Michael Heise) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอลิอันซ์ เอสอี (Chief Economist, Allianz SE) หนึ่งในสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ในประเทศเยอรมนี คือ หนึ่งในผู้ที่เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างใกล้ชิดติดขอบสนาม ความคิดเห็นของเขาส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนข้ามชาติด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

นอกจากการดูแลงานวิจัยและบทวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจโลกของอลิอันซ์ เอสอี ไฮส์ยังวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองโลกผ่านคอลัมน์ประจำใน World Economic Forum รวมทั้งเป็นวิทยากรขาประจำในเวทีระดับโลกชื่อเดียวกันนี้แทบทุกปี เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือ Emerging from the Euro Debt Crisis : Making the Single Currency Work (2013) อีกด้วย

หนึ่งปีหลังปรากฏการณ์ ‘Brexit’ และหกเดือนหลัง ‘ประธานาธิบดีทรัมป์’ ขึ้นสู่อำนาจ ไฮส์มาเยือนภูมิภาคเอเชียเพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในนั้น

101 จึงสบโอกาสดี นัดคุยตัวต่อตัวกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกผู้นี้เพื่อสำรวจระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

“ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะรู้สึกว่าโลกไม่ใช่ใบเดิม” นี่คือสิ่งที่ไฮส์บอกกับเรา

แล้วโลกใบใหม่ที่ว่า หน้าตาเป็นอย่างไร และกำลังเคลื่อนไปทางไหน?

 

Under That Villain Mask : สอบปากคำ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในวันที่ยังถูกมองเป็น ‘ตัวร้าย’

 

โดย เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

“ผมไม่ได้มีความคิดว่า เออ…ต้องนำเทรนด์สังคม ไม่เคยคิดอย่างนั้นมาก่อน แต่กระแสต่างๆ มันออกไปในเชิงนั้น ซึ่งผมก็ไม่เสียหายอะไร แต่ยังไงหลักการก็ต้องมี ต้องไม่ไขว้เขว”

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อาจเป็นเด็กหนุ่มที่คุณคุ้นหน้ามาตลอดเวลากว่า 4 ปีที่เขาเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย และเรารู้ว่าหลายต่อหลายสื่อต่างสัมภาษณ์เขาจนพรุนหมดแล้ว

แต่ภายใต้บทบาท ‘ตัวร้าย’ ที่หลายคนเห็นเขาเป็นอย่างนั้น เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคำถามที่เนติวิทย์ยังไม่ได้ตอบ – คำถามที่ว่าภายใต้หน้ากากตัวร้ายที่หลายคนจับใส่ให้ เขา ‘ตั้งใจร้าย’ อย่างที่เราคิดจริงไหม

 

จักรชัย โฉมทองดี : เอ็นจีโอไม่ใช่ผู้ผูกขาดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกต่อไป

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ชวน “จักรชัย โฉมทองดี” ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ ขององค์กร OXFAM ประจำประเทศไทย วิพากษ์บทบาทของเอ็นจีโอไทยในช่วงวิกฤตการเมืองตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าถึงอนาคตการเมืองภาคประชาชน

……….

(1)

“ประชาธิปไตยกับการพัฒนาสิทธิเฉพาะหน้าของชาวบ้านนั้นแยกจากกันไม่ได้ … หนทางที่เอ็นจีโอเลือกเดินต้องไม่บ่อนทำลายหรือกัดกร่อนโอกาสที่สังคมจะเดินไปสู่ระบอบที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นคุณค่านำ และเป็นระบอบที่ต้องตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้จริง”

(2)

“มวลชนใหม่กลับกลายเป็นผู้ตีเส้นให้เราขับเคลื่อนอยู่ในกรอบที่เขาคาดหวังเท่านั้นหรือไม่ … หากเป็นดังข้อสังเกตนี้ ความสัมพันธ์กับมวลมิตรใหม่แม้จะน่าหลงใหล แต่จำต้องถูกทบทวนเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะเป็นได้แค่เพียงความสัมพันธ์จำพวกแม่ยกกับพระเอกลิเก”

(3)

“เมื่อเอ็นจีโอเข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจรัฐแล้ว ได้นำไปสู่อำนาจต่อรองของประชาชนที่มากขึ้นด้วยหรือไม่ การดำเนินการของรัฐสามารถถูกตรวจสอบได้หรือไม่ หรือคุณแค่เข้าเป็นลูกหาบที่คอยเป็นเครื่องประดับของรัฐเท่านั้น”

(4)

“การเคลื่อนไหวโดยรวมจะเปลี่ยนรูปเป็นการเคลื่อนไหวของพลเมืองมากขึ้น โดยมีเอ็นจีโอเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของการเคลื่อนไหวทั้งหมด เอ็นจีโอจะอยู่ในสภาพที่เข้าไปแข่งขัน ไม่ได้แข่งเพื่อเอาชนะ แต่แข่งเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งเชิงประเด็น”

……….

 

จากเสรีนิยมเก่าสู่เสรีนิยมใหม่ – รัฐไทยอยู่ตรงไหน

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ตั้งคำถามชวนคิด รัฐไทยมีความเป็นเสรีนิยมแค่ไหน ‘เก่า’ หรือ ‘ใหม่’ มากกว่ากัน?

 

10 ปี สื่อสาธารณะในสังคมไทย

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งคำถาม ในช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการสื่อสาธารณะมากที่สุด ไทยพีบีเอสหายไปไหน? 10 ปีของสื่อสาธารณะในสังคมไทย เรามองเห็นอะไร และควรเดินต่อไปอย่างไร เพื่อลดช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริง?

……….

(1)

“…ในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการ ‘สื่อสาธารณะ’ มากที่สุด เพื่อทำหน้าที่ของ ‘สื่อสาธารณะ’ ในการรายงานความจริงชุดที่แตกต่างจากความจริงของรัฐ ในการเป็นธงนำในการส่งเสียงปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพของสื่อและพลเมือง ในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลเผด็จการที่ตรวจสอบไม่ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แต่คนจำนวนมากในสังคมได้ยินแต่ ‘เสียงแห่งความเงียบ’ จากไทยพีบีเอส

ถ้าเงียบจริงก็เป็นปัญหาใหญ่ คำถามที่ตามมาคือ “ไทยพีบีเอสมีไว้ทำไม”

ถ้าส่งเสียงแล้ว แต่คนยังไม่ได้ยิน ก็เป็นปัญหาอีกแบบที่ต้องทบทวนตัวเองเหมือนกัน ว่า ‘พลัง’ ของไทยพีบีเอสหายไปไหน ทั้งที่มีพนักงานภายใน ผู้ผลิตภายนอก และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ตั้งใจดี มีคุณภาพ และมีสำนึกของสื่อสาธารณะอยู่เต็มไปหมด คำถามก็คือ ทำไมพลังของคนเหล่านี้ไม่สามารถส่งผ่านไปสร้างพลังที่หน้าจอของไทยพีบีเอสได้ …”

(2)

“…ผมพยายามค้นหารายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายในเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส (สืบค้นวันที่ 5 และ 7 กรกฎาคม 2560) พบว่า รายงานการประชุมครั้งสุดท้ายที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์คือ การประชุมครั้งที่ 20/2557 วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ! นอกจากนั้น ไม่ปรากฏการเผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ไม่ปรากฏการเผยแพร่รายงานการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ไม่ปรากฏการเผยแพร่งานวิจัยของสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ส่วนรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีเผยแพร่ถึงแค่ปี 2555 แถมตอนนี้ลิงก์รับเรื่องราวร้องเรียนในเว็บไซต์ยังเสียอีก!

ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า คณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการบริหารไทยพีบีเอสคิดและทำอะไรกันอยู่ เกิดอะไรขึ้นในองค์การสื่อสาธารณะของพวกเราบ้าง องค์การสื่อสาธารณะไม่ควรพาตัวเองเข้าสู่ ‘แดนสนธยา’ นอกจากจะไม่เป็นธรรมกับประชาชนในฐานะเจ้าของที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ยังเสียโอกาสจากการระดมปัญญารวมหมู่จากประชาชนมาร่วมคิดร่วมทำร่วมสร้างสรรค์สื่อสาธารณะในด้านต่างๆ …”

(3)

“…สิบปีผ่านไป คนควรจะรู้จักและรักไทยพีบีเอสมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ไทยพีบีเอสควรจะมีพลังในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

จะบอกว่า “สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะก็ได้ประมาณนี้แหล่ะ จะเอาอะไรมาก” – ยังดีไม่พอ

จะบอกว่า “แค่นี้ก็ดีกว่าช่องอื่นแล้ว” – ยังดีไม่พอ ต้องเทียบกับอุดมคติที่เราอยากไปถึงต่างหาก …”

……….

 

85 ปี จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก”

 

โดย ทีมงานเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ 

เปิดเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ อ่านจดหมายของ ‘ปรีดี’ ถึง ‘พูนศุข น้องรัก’ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 เพื่อขอโทษที่ต้อง ‘พูดปด’ ต่อครอบครัว ด้วยจำเป็นต้องปกปิดปฏิบัติการลับ 24 มิถุนายน 2475!

 

จาก Estonia สู่ e-Stonia : ถอดบทเรียน 25 ปี การรีบูทเอสโตเนีย กับ Viljar Lubi

 

โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลติก มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอสโตเนียถูกยึดครองและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (มีช่วงสั้นๆ ในปี 1941-1944 ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมัน) จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เอสโตเนียจึงกลับมาเป็นประเทศเอกราชอีกครั้ง

25 ปีผ่านไป ประเทศเกิดใหม่จากเถ้าถ่านได้เพียงเสี้ยวศตวรรษแห่งนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และได้รับการขนานนามว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป

น่าสนใจว่า ประเทศเกิดใหม่ขนาดเล็กอย่างเอสโตเนียสามารถรีบูทประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกได้อย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้รัฐบาลเอสโตเนียพัฒนา e-Government และ e-Services? ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากการก้าวสู่สังคมดิจิทัลมีอะไรบ้าง? แล้วประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศเช้าเย็นว่าจะเดินหน้าสู่ “Thailand 4.0” สามารถเรียนรู้อะไรจากเอสโตเนียได้บ้าง?

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นั่งสนทนากับ Viljar Lubi รัฐมนตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการสื่อสารแห่งเอสโตเนีย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อหาคำตอบและบทเรียนในการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

 

Sextortion : เมื่อร่างกายถูกใช้เป็นเหยื่อคอร์รัปชัน

 

โดย เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

ทำความรู้จักกับ #Sextortion อีกรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชันที่ผลประโยชน์ไม่ได้แลกมาด้วยเงินหรืออำนาจ แต่เป็น ‘ร่างกาย’ ต่างหากที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ!

 

ยุทธศาสตร์ชาติกับประชาชนที่หายไป

 

โดย อิสร์กุล อุณหเกตุ

อิสร์กุล อุณหเกตุ วิเคราะห์ร่างกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำลังจะประกาศใช้

ประเด็นสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและกลไกการรับผิดของรัฐบาลต่อประชาชนหายไปไหน

ประเด็นสำคัญกว่าคือ กลไกการเลือกตั้งอาจมิได้มีความหมายใดๆ อีกต่อไป

 

BLISSFULLY BLIND : สำรวจความมืดบอดของสังคมไทยไปกับการแสดงชิ้นใหม่ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

โดย เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

“เราเห็นความหลากหลาย ความมืดบอด การเลือกหลับตาของคน เราอาจจะคิดว่าเค้าไม่เห็นได้ยังไงวะ แต่เขาก็ไม่เห็นจริงๆ ดาวไม่อยากจะหงุดหงิดว่าเขาไม่เห็นได้ยังไง ดาวสงสัยว่าอะไรทำให้เขาไม่เห็นมากกว่า

“เราอยากจะทำความเข้าใจ วิถีทางที่จะทำให้เราเข้าใจว่าโลกใบนี้มีอะไรอื่นๆ อีกบ้างก็คือการไปคุยกับคนที่เห็นในสิ่งที่เรา blind เราไม่ต้องเห็นหมดทุกอย่างก็ได้ แต่เราน่าจะฟังคนที่เห็นอย่างอื่นด้วย เราถึงจะอยู่กันแบบมนุษย์ได้”

Blissfully Blind : an experiential performance คือการแสดงชิ้นใหม่ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม B-floor ผู้สนใจในการสำรวจความเป็นไปภายในจิตใจของผู้คนในสังคม

ท่ามกลางช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา ดุจดาวในฐานะ ‘นักสังเกตุการณ์’ นำเอาเรื่องราวของ ‘ความมืดบอด’ ในสังคมไทยถ่ายทอดออกมาใน Blissfully Blind – ก่อนที่จะจองตั๋วไปชม 101 จึงชวนเธอมาส่องไฟฉายเดินสำรวจความมืดกันให้ชัดมากขึ้นในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

 

คดีบอส กระทิงแดง บอกอะไรสังคม

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ตั้งคำถาม คดีบอส ทายาทกระทิงแดง บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทย

……

“5 ปีผ่านไป คดีของบอส ที่มีหลักฐานชัดเจน จับผู้ต้องหาได้ กลับค่อยๆ คืบหน้าไปทีละนิด จนบัดนี้ผู้ต้องหาหนีไปเมืองนอกแล้ว

“ปกติคดีขับรถชนคนตายโดยประมาท หากหลักฐานชัดเจน การทำสำนวนคดีส่งฟ้องศาลเสร็จไม่เกินหกเดือน แต่เหตุใดคดีนี้ผ่านไปห้าปียังคลานต้วมเตี้ยมนั้น บรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการกล่าวตรงกันว่า ทีมทนายฝ่ายผู้ต้องหาพลิกตำราหาช่องทางกฎหมายอย่างเต็มที่

“ไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าการลงทุนเพื่อต่อสู้และพลิกคดีนี้มหาศาลเพียงใด และให้กับใครบ้าง … ”

– วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ –

……

 

รัฐบาลลามก!

 

โดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์

ถ้าเราพิจารณารัฐบาลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง กว่าสามปีที่รู้จักกัน นับเป็นคนพันธุ์ไหน นิสัยใจคอเป็นเช่นไร คู่ควรแก่การคบหาสมาคมต่ออีกหรือไม่อย่างไร

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ตอบคำถามนี้ โดยอ้างอิงถึงถ้อยคำของโอชิมะ นางิสะ ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลก ที่ว่า

“ไม่มีสิ่งใดที่ได้รับการเปิดเผยออกมา (ต่อสาธารณะ) นับเป็นความอุจาดลามกหรอก ความลามกจริงๆ แล้วอยู่ตรงที่มันถูกปิดบังนั่นต่างหาก”

ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไร

 

บทเสวนาแห่งสามัญชน คนชื่อ “เสน่ห์ จามริก”

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยเล่าว่า เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแผนกรัฐศาสตร์ศึกษาที่ “เสน่ห์ จามริก” ก่อตั้งและดูแล เขาเล่นบาสเกตบอลแขนหัก ไม่อาจใช้มือขวาเขียนตอบข้อสอบได้ เสน่ห์ยอมให้เขาอัดเสียงแล้วให้เจ้าหน้าที่ถอดเป็นคำตอบให้

และต่อมา เมื่อลูกศิษย์คนนี้ออกจากป่ากลับคืนสู่เมือง เสน่ห์ได้ช่วยดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ ให้เขาอย่างครบถ้วนโดยที่ไม่ต้องมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลยสักครั้ง ทั้งยังช่วยเขียน Recommendation ให้ พร้อมกับให้โอวาทลูกศิษย์ว่า “ขอให้เรียนจริงๆ สักที”

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวยกย่องเสน่ห์เป็น “ครูที่ผมเคารพรักและยำเกรงอย่างยิ่ง”

ในวาระครบรอบ 90 ปี เสน่ห์ จามริก อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ผู้ก่อตั้งโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา และอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุคป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นอธิการบดี รวมถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนแรก กษิดิศ อนันทนาธร เขียนเล่าถึงบทเสวนาแห่งสามัญชน คนชื่อ “เสน่ห์ จามริก”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save