fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนกุมภาพันธ์ 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

จดหมายถึงผู้มีอำนาจ ได้เวลาทวงคืนอากาศบริสุทธิ์

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“เราไม่ได้ต้องการอากาศบริสุทธิ์สดชื่นอะไรมากมาย ขอเพียงอากาศดีพอจะไม่ทำให้เราป่วยตายระยะยาว และเราไม่อยากตายอย่างโง่ๆ เพราะสูดควันพิษ”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ ว่าด้วยการทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ พร้อมชี้แจงแนวทางที่รัฐบาลควรทำเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันพิษ ซึ่งเข้าสู่จุดวิกฤติมาระยะหนึ่งแล้ว

“การแก้ปัญหาหมอกควันพิษ ไม่สามารถสร้างภาพได้ เหมือนกับการแจกของน้ำท่วม หรือไปช่วยคนจากน้ำท่วม

รัฐบาลต้องยอมรับว่า ปัญหาหมอกควันพิษเป็นวิกฤติร้ายแรงที่เกิดขึ้นตลอดทุกปี และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่คิดว่าเป็นแค่ภาวะชั่วคราว เดี๋ยวก็ผ่านไป

เมื่อคิดว่าเป็นวิกฤติที่ต้องแก้ไขให้ได้ ก็ต้องทำอย่างเคร่งครัด และมีแผนระยะสั้น ระยะยาว

จะรอให้มีคนป่วยตายก่อนหรือ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นเหยื่อรายแรกๆ ของ PM 2.5

เพราะความโกรธแค้นของคนเดินถนน วันหนึ่งคงต้องมีที่ระบาย

หากรัฐบาลไม่มีความสามารถแก้ปัญหา หรือไม่คิดว่าเรื่องนี้ซีเรียส

ก็กรุณาลาออกไปเถิด…”

 

“ประเทศนี้ไม่มีความเมตตา” เสียงจากภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“เราถามว่าสบายดีไหม รักษาสุขภาพด้วย เพราะแกสุขภาพไม่ดี โรคหัวใจกำเริบบ่อย แล้วปกติจะไม่ค่อยคุยอะไรกันมาก เพราะแกไม่ค่อยชอบคุยนาน แกจะชอบวิเคราะห์การเมืองแล้วอัดลงคลิปส่งให้…”

วันที่ 9 ธันวาคม 2561 เป็นวันสุดท้ายที่ ‘ป้าน้อย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ได้คุยกับสุรชัย เป็นครั้งสุดท้าย

ปี 2562 นี้ ป้าน้อยจะมีอายุครบ 60 ปี ในเดือนตุลาคม เธอกำลังจะได้สิทธิผู้สูงวัย และเบี้ยคนชรา 600 บาท เพื่อใช้ชีวิตต่อไปในสังคมไทยที่ไม่มีคำตอบให้เธอว่าใครทำให้สามีเธอหายไป

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘ป้าน้อย’ ในโมงยามความทรงจำที่หลั่งไหลและถาโถมเข้ามายามชีวิตหน่วงหนัก เป็นความทรงจำร่วมระหว่างเธอกับสามีอันเป็นที่รักที่ไม่อาจลบเลือน

“แกเป็นคนต่อต้านรัฐประหารมาตลอด ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ พอปี 2549 แกทนไม่ไหว จิตใต้สำนึกแกบอกว่าต้องออกมาประท้วง ตอนนั้นยังอยู่ที่นครฯ แกขับรถไปยืนปราศรัยที่หน้าสถานีรถไฟคนเดียว”

“เราเจอกับคุณสุรชัย ปี 2530 ตอนนั้นเขายังอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้เจอกันเหมือนคนทั่วไป ตอนนั้นเราฟังข่าวตามสื่อ สื่อรายงานว่าคุณสุรชัยเป็นคนน่ากลัว เป็นคอมมิวนิสต์ที่ทำอะไรหลายอย่างที่น่ากลัว”

“แกขอแต่งงานกับเราปี 2539 ตอนนั้นแกยังไม่ได้ออกจากคุกเลย เราก็บอกว่าไม่ต้องแต่งก็ได้ ชอบกันเฉยๆ ก็พอ เพราะเราคิดว่าแกยังไม่มีโอกาสจะได้ออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกเลย ไม่ได้มีโอกาสไปศึกษาผู้หญิงคนอื่น เหมือนกับว่ารู้จักแต่เราคนเดียว มันเหมือนเห็นแก่ตัว”

“เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขนาดนี้ เพราะไม่มีอะไรจะแค้นเคืองกัน แค่ความเห็นต่าง ไม่ใช่ฆาตกร เป็นความคิดต่างที่ประเทศเจริญแล้วหรือพัฒนาแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ”

“ตอนนี้เราแค่วิงวอนขอให้ได้ศพคืนมา เพื่อจะได้มาทำบุญให้ตามศาสนา แล้วก็จะได้ทำนิติกรรมต่างๆ ได้ ตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใบมรณบัตร จัดการเรื่องทรัพย์สมบัติที่จะแบ่งให้ครอบครัว ให้ลูกๆ ที่เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ลูกของแกก็ใช่ว่าจะสบาย ทุกคนลำบากหมด” 

 

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“มาประชุมใช่หรือเปล่า เขาเตรียมงานกันอยู่ด้านบนแน่ะ”

พนักงานประจำโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบอกกับฉันเมื่อเห็นท่าทีเก้ๆ กังๆ เหมือนกำลังรอใคร

ได้ยินดังนั้นฉันจึงขึ้นลิฟท์ที่เก่าคร่ำคร่าไปยังห้อง ‘ประชุม’ พร้อมกับหัวใจที่เต้นรัว

ฉันไม่แน่ใจว่ากำลังคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรต่อจากนี้ โซ่ แส้ กุญแจมือ ถูกแขวนห้อยระโยงระยาง หรือคนสองคนตามตำแหน่ง ‘นาย’ และ ‘ทาส’ กำลังแสดงสัมพันธ์ที่มีอีกฝ่ายเหนือกว่าและข่มเหงกันอย่างชัดเจนเช่นนั้นหรือ

อาจใช่ หรืออาจไม่ใช่…

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ พาไปสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ ‘BDSM’ อย่างถึงแก่น และถึงเนื้อถึงหนัง ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดงมัดเชือก ‘ชิบาริ’ ขนานแท้ จากศิลปินสาวชาวญี่ปุ่น

“ฝ่ามือกร้านของอาจารย์โยชิดะ จับเอามือของนางแบบยกขึ้นปิดตา ก่อนจะเริ่มใช้เชือกมัดบริเวณหน้าอก อ้อมมารัดแขนและมือ จนนางแบบอยู่ในท่าที่ฉันคิดว่าอีกไม่นานเธอคงทรมานด้วยความเมื่อยแน่ๆ สายเชือกเกี่ยวพันรอบตัวกระทั่งในจังหวะหนึ่ง อาจารย์ค่อยๆ ดึงเชือกผ่านหว่างขาของนางแบบ เชือกที่เกี่ยวสัมพันธ์ทุกส่วนบนร่างกายทำให้ลำตัวของเธอแอ่นขึ้น

วินาทีที่อาจารย์ไล้ให้เชือกลอดผ่านหว่างขาใกล้ชิดกับส่วนอ่อนไหว นางแบบเปล่งเสียงออกมาเบาๆ กายกระตุกเกร็งอยู่หลายครั้ง และกระตุกแรงขึ้นเมื่ออาจารย์โยชิดะใช้เท้ายันบริเวณหัวเข่าของเธอให้แยกออกจากกัน

ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเพราะความกระสัน อึดอัดทรมาน หรืออารมณ์ทั้งสองนี้ถูกรวมไว้ด้วยกัน โดยที่ฉันและทุกคนในห้องไม่ทันสังเกต…”

“หลายคนมองรสนิยมประเภทนี้ด้วยความไม่เข้าใจ บ้างมองว่าทั้งหมดนี้คือความวิตถาร บ้างเห็นภาพการใช้ความรุนแรง และตั้งคำถามกับความเจ็บปวดเหล่านั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรจะคำนึงและขีดเส้นให้ชัด ก่อนจะสำรวจรสนิยมแบบ BDSM คือทุกความเจ็บที่รุนแรงและทิ้งร่องรอยไว้ เริ่มต้นจากก้าวที่ยินยอมพร้อมใจ ยิ่งไปกว่านั้น ความสุขมีนิยามที่หลากหลายเสมอ–ไม่ใช่หรือ”

 

ระบบราชการ : ศัตรูประชาธิปไตย

 

โดย สนิทสุดา เอกชัย

สนิทสุดา เอกชัย เขียนความในใจที่มีต่อเหตุบ้านการเมืองช่วงใกล้เลือกตั้ง โดยพุ่งเป้าไปยัง ‘ระบบราชการ’ ว่าเป็นศัตรูที่แท้จริงของประชาธิปไตย

“ถ้าฝ่ายเผด็จการชนะเลือกตั้ง พรรคข้าราชการก็จะตีปีกเถลิงอำนาจต่อไป แต่ถึงฝ่ายต้านเผด็จการชนะ ก็ยังเจอตอใหญ่คือระบบราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์นี้

ข้าราชการแบบไหนกันที่จะสร้างเขื่อนในป่าสมบูรณ์ ข้าราชการแบบไหนที่จะออกกฎหมายมาขโมยที่ดินของชาวบ้าน ข้าราชการแบบไหนที่ยอมให้ประชาชนกินอาหารที่ปนเปื้อนยาพิษ เพื่อที่จะเอาใจนายทุนสารเคมีเกษตร

ข้าราชการแบบไหนที่จะเขียนกฎหมายบังคับให้ชาวนาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ แม้มีเมล็ดพันธุ์เองก็ปลูกไม่ได้ บังคับให้ต้องไปจดรายงานกับหน่วยงานตัวเอง ถ้าไม่ทำก็เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง

เดือนกุมภาพันธ์นี้มีพีคการเมืองให้คนดูลุ้นจนตัวโก่ง แต่ก็นั่นแหละ ใครจะอยู่ใครจะไป แทบไม่มีผลกับระบบราชการเลย พรรคไหนมา ระบบราชการที่ทำร้ายประชาชนก็ยังอยู่เช่นเดิม

ถ้ายังให้ระบบราชการแบบนี้เป็นหินถ่วงประเทศต่อไป ต่อให้ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งกี่ครั้ง ประเทศชาติก็คงอ่อนแอไปเรื่อยๆ ไม่ต้องโทษนักการเมือง ไม่ต้องโทษการเลือกตั้ง ต้องโทษที่ยังไม่เห็นปัญหา ไม่เข้าใจว่าอะไรคือศัตรูประชาธิปไตย”

 

เมื่อน้ำจะท่วมฟ้า แต่ปลาจะหมดทะเล

 

โดย เพชร มโนปวิตร

“รายงานล่าสุดของ IPCC เน้นย้ำว่าเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และหากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ นั่นหมายความว่า ‘เรา’ ในความหมายของเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังมุ่งหน้าสู่โลกแห่งความหายนะ คนรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งจนตั้งตัวไม่ขึ้น และอาจนำไปสู่จุดจบของอารยธรรมในที่สุด

“คนนอกวงการสิ่งแวดล้อมอาจจะรู้สึกว่าได้ยินคำเตือนเช่นนี้มานานแล้ว มนุษย์ประเภทประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกายังเหน็บแนมทุกครั้งที่เกิดพายุหิมะยังถล่ม ‘ไหนว่าโลกร้อนขึ้นไง ให้มาร้อนตรงนี้หน่อย’ ความเห็นประเภทนี้สะท้อนถึงความเพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า และไม่พยายามเข้าใจเลยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่สภาพอากาศที่ผันแปรรายวัน ในความจริง สภาพอากาศสุดขั้ว หนาวจัด ร้อนจัด แล้งจัด พายุถล่ม ก็เป็นผลพวงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโลกยุคมนุษย์ครองโลก ปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่มากเกินขนาดในชั้นบรรยากาศกำลังทำให้สภาพอากาศผิดเพี้ยนกลายเป็นเรื่องสามัญเข้าไปทุกที

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอีกอย่างของสภาวะโลกร้อนคือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรสูงขึ้นตามไปด้วย”

“อุณหภูมิที่สูงขึ้นในทะเลยังได้สร้างความหายนะให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก เช่นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในระยะหลัง ปะการังราว 1 ใน 5 ของโลกตายลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในขณะที่แนวปะการังกว่า 2,000 กิโลเมตรของเกรทแบริเออร์รีฟในออสเตรเลียก็ตายลงราวครึ่งหนึ่ง”

อ่านสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก โดย เพชร มโนปวิตร รวบรวมรายงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และงานวิจัยที่บอกเราว่า โลกกำลังเดินทางเข้าสู่หายนะ

 

ทำไมชีวิตถึงดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว: คำอธิบายแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

“ฮาร์ฟอร์ดเขียนไว้ใน Finanticl Times ว่า คนโดะ (หรือวิธีการแบบ ‘คอนมารี’ – KonMari Method) นั้น พูดถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เอาไว้หลายอย่าง แต่เรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมาก ก็คือการ ‘พลิก’ ความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า status quo

“คำว่า status quo ถ้าแปลเร็วๆ ก็หมายถึงสถานภาพในปัจจุบันอย่างที่เป็นอยู่ แต่นัยแฝงของคำนี้ก็คือ คนที่มี status quo คือคนที่พึงพอใจกับโครงสร้างลักษณะและที่ทางที่ตัวเองอยู่ จึงไม่ค่อยอยากเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ เท่าไหร่ แล้วจึงโยงใยไปถึงการให้ความหมายและการตีความสถานะต่างๆ ของผู้คนในสังคม ส่วนใหญ่แล้ว ขบวนการทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นก็เพื่อต่อสู้ต่อรองกับ status quo ของคนบางกลุ่มนี่แหละครับ

“ฮาร์ฟอร์ดอธิบายว่า คนเรามีสิ่งที่เรียกว่า status quo bias หรืออคติในอันที่จะรักษาสถานภาพแบบเดิมๆ เอาไว้ ซึ่งการรักษาสถานภาพที่ว่า คือมีความรักชอบในสถานภาพปัจจุบันมากกว่า (เรียกว่า มี preference for the current state of affairs) แล้ววิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการแสดงความรักชอบนั้นผ่านข้าวของ ทำให้เราไม่ค่อยอยากทิ้งสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป เพราะมันไม่ใช่แค่ ‘ของ’ เท่านั้น แต่มันคือสิ่งที่แสดงสถานภาพของเราด้วย เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องใช้ของนั้นๆ เพื่อนำมาแสดงสถานภาพอีกเมื่อไหร่

“แต่วิธีการของคนโดะกลับข้างเรื่องของอคตินี้เสีย ด้วยการบอกว่า การแสดงสถานภาพที่เหนือกว่า ไม่ใช่การเก็บของพวกนั้นเอาไว้ แต่นี่คือการแสดงสถานภาพแบบใหม่ ด้วยการ ‘ไม่มี’ ของอยู่ในบ้าน หรือบ้านที่เรียบร้อย ไม่รก มีของน้อยๆ มีแต่ของที่จำเป็นและ Spark Joy เท่านั้น ที่จะแสดงสถานภาพแบบใหม่ให้เราได้”

โตมร ศุขปรีชา เขียนถึงแนวคิดการจัดบ้านของมาริเอะ คนโดะ ผ่านการอธิบายปรากฏการณ์ของทิม ฮาร์ฟอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ และคอลัมนิสต์ของ Financial Times

 

การ์ตูนไทย 5 บาทยังไม่ตาย งานที่จะทำจนวันสุดท้ายของ ‘ชาย ชาตรี’

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

ในวัย 71 สมศักดิ์ เจสกุล เจ้าของนามปากกา ‘ชาย ชาตรี’ ยังคงเดินหน้าทำหนังสือการ์ตูนเล่มละ 5 บาท และพยายามประคับประคองสำนักพิมพ์ของตัวเองให้เดินหน้าต่อไปท่ามกลางขาลงของวงการหนังสือ

วจนา วรรลยางกูร พาไปทำความรู้จักชีวิตของชายคนหนึ่ง ที่เขียนการ์ตูนมาตลอดชีวิตการทำงาน ตั้งแต่ยุค สิงห์ดำ ของ ราช เลอสรวง ผ่านความรุ่งเรืองยุคการ์ตูน ‘เล่มละบาท’ ก่อนจะหักเหไปเขียนภาพปกการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังในยุคที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น โดราเอมอน, ดราก้อนบอล, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ

ปัจจุบันเขาเปิด ‘สำนักพิมพ์พันธ์ดี’ มากว่าสิบปี พิมพ์การ์ตูนและนิยายรักราคาถูก เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมาก วางจำหน่ายผ่านเซเว่นฯ และเอเย่นต์ตามต่างจังหวัด

“เราต้องใส่ใจ จะมานั่งทำเล่นๆ ไม่ได้ ถึงมันจะตกต่ำอยู่ตอนนี้แต่ก็ทำเล่นๆ ไม่ได้

“เราไม่รับมั่ว เขียนเรื่องไร้สาระนี่ไม่เอา เป็นเพื่อนกันก็ไม่เอา ไม่ใช่ว่าเป็นเพื่อนแล้วส่งมาง่ายๆ ผมก็ดุ บางคนโกรธก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าทำงานตามใจเขา มันขายไม่ได้

“ถ้าไม่เป็นรูปเล่มก็เลิกไปเลย จบไปเลย เจ๊งไปเลย มีมาติดต่อผมหลายที่แล้วแต่ผมไม่เอา แล้วกว่าจะได้ตังค์ สมมติอ่านทีละ 8 บาท เขาให้เรา 2-3 บาท กี่เดือนกี่ชาติถึงจะได้สักร้อยนึง อีกอย่างคือในนั้นเขาไม่อ่านการ์ตูนไทยกัน ส่วนใหญ่เขาอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น…”

 

‘มนุษย์เงินเดือน’ กับเงินเรือนแสน : สำรวจที่ทางลูกจ้างยุคใหม่ และเงินแสนที่ (ไม่) ไกลเกินฝัน

 

โดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์

กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ ใช้ Data Analysis สำรวจที่ทางของ ‘มนุษย์เงินเดือน’ ที่มีรายได้หลักแสนขึ้นไป พร้อมชี้ปัจจัยที่ทำให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนสามารถเอาตัวรอดได้ ภายใต้ยุคสมัยที่ไม่มีอะไรแน่นอน

“จากการวิเคราห์ข้อมูล พบว่าคนที่ได้รับเงินเดือนหลักแสนขึ้นไป ล้วนแต่ทำงานประเภทใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ แทบทั้งสิ้น โดยคนที่ทำงานประเภทนี้ มีเงินเดือนเฉลี่ยที่สูงกว่างานประเภทอื่นค่อนข้างมากในทุกช่วงอายุ”

“สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ค่าแรงของกลุ่มงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ชัดเจนมากกว่างานประเภทอื่น ซึ่งนัยหนึ่งอาจตีความได้ว่า ประสบการณ์ที่มากขึ้น ช่วยทำให้ productivity และคุณภาพของงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน”

“CEO ของ LinkedIn เห็นว่าช่องว่างทางทักษะ กลับไม่ใช่เรื่อง coding แต่เป็น soft skills มากกว่า เช่น ความสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) เป็นต้น ซึ่ง WEF ก็มีความเห็นว่าทักษะเหล่านั้น รวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า”

“ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคนี้ งานที่เราทำและคิดว่าเป็นงาน ‘ไม่รูทีน’ ในวันนี้ อาจเป็นงานรูทีนในอนาคตอันใกล้ ฉะนั้นการเรียนรู้ทั้ง soft skills และ hard skills เพิ่มเติมอยู่เสมอ หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

“สมมติเด็กในท้องฉันเป็นลูกสาวอีก …จะทำยังไง” คิมจียอง เกิดปี 82 : เมื่อ ‘ผู้หญิง’ เป็นเรื่องเศร้า

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

คิมจียอง แม่บ้านลูกหนึ่ง จู่ๆ ก็เปลี่ยนบุคลิกไปเป็นคนอื่น บ้างก็เป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว บางทีก็กลายเป็นแม่ของตัวเอง และในบางคราวเธอก็นอนดูดนิ้วเหมือนเด็กทารก สามีของเธอสังเกตเห็นอาการเหล่านี้และพยายามพาเธอไปรักษา ก่อนที่ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราเลาะไปยังชีวิตของคิมจียองว่าเธอผ่านอะไรมาบ้างก่อนจะเกิดอาการที่ว่านี้

เรื่องเล่าผ่านบันทึกของจิตแพทย์จากคำบอกเล่าของคิมจียองและสามี เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัยของย่าคิมจียองที่การมีลูกชายคือความสุขที่สุดในชีวิต (โชคดีที่ย่ามีลูกชายถึง 4 คน) แม้ว่าเธอจะต้องดูแลงานบ้านและทำนาแทนสามี ‘หน้าขาว มือนิ่ม’ ที่ไม่เอาไหน ในยุคแห่งสงคราม โรคภัย และขาดแคลนอาหารก็ตาม

ถัดจากรุ่นพ่อแม่ มาถึงคิมจียอง เธอเกิดมาเป็นลูกสาวคนที่สอง มีน้องชายหนึ่งคน เธอค่อยๆ รู้สึกว่า การเกิดเป็นลูกสาวนั้นอาจไม่มีค่าพอเท่าการเกิดเป็นลูกชาย…

“ย่าดูจะใจกว้างและรักใคร่ห่วงใยลูกสะใภ้ผิดกับแม่ผัวรุ่นเดียวกันบ้านอื่น ที่ย่าพร่ำพูดเรื่องลูกชายราวกับเป็นคำติดปาก ก็เพราะนึกถึงใจลูกสะใภ้อย่างแท้จริงหรอก เอ็งต้องมีลูกชายนะ ต้องมีลูกชายให้ได้ ต้องมีลูกชายสักสองคน…”

คิมจียอง เกิดปี 82 ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เกาหลีเมื่อปี 2016 เขียนโดย โชนัมจู เป็นเรื่องว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงในเกาหลีที่ถูกกดขี่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม หนังสือค่อยๆ ไต่ระดับความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยิ่งขายดีขึ้นเมื่อ ‘ไอรีน’ ศิลปินสาวจากวง Red Velvet ออกมาเปิดเผยในงานมีตติ้งว่าเธออ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมาพร้อมกับกระแส #metoo ในเกาหลี แต่ในทางกลับกันก็เกิดกระแสแอนตี้จากเหล่าแฟนคลับชาย บางคนหงุดหงิดและรับไม่ได้ จนมีคำพูดที่ว่า “ไอรีนกลายเป็นเฟมินิสต์”

ความหงุดหงิดลุกลามใหญ่โต มีการเผารูปไอรีนและส่งข้อความคุกคามจากเหล่าแฟนคลับชาย ในขณะเดียวกันที่ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 104% กลับมาครองที่ 1 ในชาร์ตหนังสือขายดี แต่ยอดคนซื้อเพศชายลดลง 3%

หนังสือเล่มนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลี

.

THE PRINCE 2019 : มาคิอาเวลลีกับการเมืองไทย เมื่อกลอำนาจอยู่ในมือพ่อมด

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“มาคิอาเวลลีบอกว่า ความรักเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเขา ทำดีแทบตาย ถ้าเขาไม่รักคุณก็จบ คุณทำไปก็เท่านั้นแหละ แต่ความกลัวอยู่ที่คุณ ตราบใดที่คุณยังทำตัวให้น่ากลัว ตราบนั้นฝ่ายนึงก็ยังคงกลัวคุณอยู่ และยังอยู่ใต้บังคับบัญชาของคุณ เพราะมนุษย์ในสายตามาคิอาเวลลีเป็นพวกไม่ซื่อสัตย์ เป็นพวกกลับกลอก หาประโยชน์เฉพาะสิ่งที่ตัวเองได้

“ดังนั้นในแง่ของการรักษาอำนาจ ความกลัวย่อมจะดีกว่า เพราะอำนาจจะถูกผูกเอาไว้ตลอดกาล“

“การทำให้กลัวคือการใช้อำนาจอย่างรวดเร็ว กระชับ ฉับไว คุณใช้อำนาจอย่างรวดเร็วเท่าไหร่ ฝ่ายตรงข้ามก็คาดเดาไม่ได้เท่านั้น ทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในการคาดการณ์

“ความหวาดกลัวเกิดจากการที่คุณรู้ว่าไม่สามารถต่อรองกับอำนาจแบบนี้ได้…”

หนังสือ The Prince หรือ เจ้าผู้ปกครอง ที่ว่ากันว่าเป็น ‘ตำรา’ ที่ชนชั้นปกครองของทั่วโลกต้องอ่าน มาคิอาเวลลีเขียนขึ้นในปี 1513 แต่กว่าจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกก็เมื่อปี 1532 เพราะเนื้อหาใน The Prince ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง มาคิอาเวลลีถูกมองว่าเป็นคนโหดร้ายอำมหิต เมื่อเขาเสนอเรื่อง ‘ชุดคุณธรรม’ ที่ต่างกันระหว่างชนชั้นปกครอง กับชนชั้นถูกปกครอง เมื่อคำว่า ‘รัฐ’ มาก่อนสิ่งอื่นใด ผู้นำก็สามารถผิดสัจจะ หรือผิดคุณธรรมได้ทันทีหากนั่นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐชาติ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ชวน ดร.กานต์ บุณยะกาญจน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง ‘การสร้างความนิยมและการตีความ ‘เจ้าผู้ปกครอง’ ของมาคิอาเวลลีในบริบทการเมืองไทย’ มาคุยในประเด็นแนวคิดของมาคิอาเวลลี ว่า ‘เนื้อแท้’ เป็นอย่างไร และเมื่อหยิบมาคิอาเวลลีมามองการเมืองไทย จะมีความสอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

“การเข้ามาของมาคิอาเวลลีในไทย เราไม่เคยเจอวิกฤต การเผยแพร่แนวคิดเป็นไปอย่างราบรื่น มีหายไปช่วงหนึ่ง คือช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกซ่อนแป้บเดียว แต่ก็อยู่ของมันอย่างสงบเสงี่ยมเรียบร้อย หรือจริงๆ แล้วมาคิอาเวลลีไม่ได้แปลกใหม่อะไรเลยในไทย การทำความเข้าใจมาคิอาเวลลีของผมคือการเจอบางอย่างที่อยู่มานานแล้ว”

“มาคิอาเวลลีเสนอว่า มีความขัดแย้งอยู่เสมอ ระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูง แต่ถ้าเลือกต้องเลือกชนชั้นล่าง เพราะชนชั้นล่างจะไม่หักหลังคุณ ประชาชนจะไม่หักหลังคุณ แต่ชนชั้นนำเท่านั้นแหละจะแย่งกัน แล้วหักหลังกัน เพราะฉะนั้นผู้ปกครองที่ฉลาดจะเลือกสนับสนุนประชาชนแล้วจัดการเคลียร์พวกชนชั้นสูงทิ้งซะ แล้วผู้ปกครองก็จะสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้”

 

‘เหนือการเมือง’ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ไล่เรียงประวัติศาสตร์ของคำว่า ‘เหนือการเมือง’ ซี่งปรากฏขึ้นตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์ 2475 ก่อนจะถูกตีความและปรับเปลี่ยนความหมายเรื่อยมา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง

“ท่ามกลางความผันผวนของสังคมการเมืองไทยนับจาก 2475 สืบเนื่องมา สถานะและความหมายของ ‘เหนือการเมือง’ มิได้ดำรงอยู่อย่างตายตัว หากมีความผกผันเกิดขึ้น โดยเปลี่ยนจากการดำรงอยู่นอกการเมืองทั้งปวง ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ความสูงส่ง และดำรงอยู่เหนือสถาบันการเมืองทั้งปวง เฉพาะอย่างยิ่งเหนือกว่าสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมต่ำกว่าในห้วงเวลาปัจจุบัน…”

 

หนักแผ่นดิน : อุปลักษณ์ที่เราใช้ฆ่ากัน

 

โดย อิสระ ชูศรี

“การลบความเป็นมนุษย์ เป็นขั้นตอนแรกของการทำลายชีวิตมนุษย์ ถ้าไม่อยากเป็นฆาตกรก็อย่าทำเลย…”

อิสระ ชูศรี วิเคราะห์โครงสร้างเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ และนัยยะของการนำเพลงนี้มาปลุกปั่นยุยงประชาชนอีกครั้งในรอบสี่สิบกว่าปี

“การสร้างอุปลักษณ์ ‘คนหนักแผ่นดิน’ อาศัยภาพอุดมคติของความเป็นไทยที่มีเอกภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘ไม่มีอยู่จริง’ ในคนๆ เดียว แต่มีบางคนที่เชื่อว่ามีคนๆ นั้นอยู่จริง ณ ที่ใดที่หนึ่ง และคนหนักแผ่นดินก็เป็นคู่ตรงข้ามของคนในอุดมคติคนนั้น

“ถ้าเราพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่ามันเป็นขั้นตอนแรกๆ ของการลบบางส่วนของความเป็นมนุษย์ออกจากฝ่ายที่ทัศนะตรงกันข้ามกับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเชื่อว่าตัวเองยืนอยู่บนเนินที่สูงกว่าในทางศีลธรรม วัฒนธรรม คุณธรรม สติปัญญา ศรัทธา หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เราเชื่อว่าตัวเองอยู่ในฐานะที่สูงส่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

“การปฏิเสธที่จะโต้แย้งกันด้วยข้อมูลและเหตุผลแบบเปิดเผย แต่หันไปใช้อุปลักษณ์ที่มีความสุดโต่ง และมีดีอย่างเดียวคือใช้แยกขั้วประชาชนให้มีความเห็นตรงข้ามกันชัดยิ่งขึ้น เป็นความอำมหิตของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ยอมให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงอย่างเปิดกว้าง แต่หันไปสร้างภาพเหมารวมให้กับนักการเมืองและประชาชน ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางประชาธิปไตย

“ในประเทศของเรายังมีคนไทยที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแรก มีคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ มีคนไม่เชื่อว่าทหารทุกคนรักชาติมากเป็นพิเศษยิ่งกว่าประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอื่น มีคนที่คิดว่าควรลดขนาดกองทัพเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ มีคนที่คิดว่าพิธีกรรมไหว้ครูไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีอิสระทางความคิด ฯลฯ และมีคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด แต่ความคิดของพวกเขาไม่ได้ทำให้ความเป็นคนไทยของใครลดลงหรือเพิ่มขึ้น หรือหนัก/ไม่หนักแผ่นดินแต่อย่างใดเลย”

“วิธีการโต้ตอบที่เหมาะสมกับการใช้อุปลักษณ์ที่เร้าอารมณ์ติดลบ ก็คือการคิดแบบแยกแยะ และการปฏิเสธที่จะยอมรับการนิยาม ‘ความเป็นไทยแบบสัมบูรณ์’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง…”

 

ความฝันนอกแท่นพิมพ์ ของ ชัยพร อินทุวิศาลกุล

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“เราเป็นประเทศที่ไม่มีค่านิยมเรื่องความเป็น professional เท่าไหร่ ความ professional คือความซีเรียสจริงจังในสิ่งที่ตัวเองทำ คือความใส่ใจว่าคนที่มาใช้บริการควรจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด…”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล สนทนากับ ‘จ๊อก’ ชัยพร อินทุวิศาลกุล ทายาทรุ่นที่สองแห่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์สมมติ ว่าด้วยอนาคตธุรกิจหนังสือ วิธีคิดเบื้องหลังโปรเจ็กต์ ‘Lit Fest’ อันลือลั่น และความใฝ่ฝันเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่อย่างการทำ Printing Museum

“พูดถึงงาน Lit Fest ที่ผ่านมา อย่างน้อยพื้นที่นี้ทุกคนก็เท่ากัน มันคือพื้นที่เปิด มีคนหลากหลายเพศ หลากหลายวัย หลากหลายอาชีพ หลากหลายระดับรายได้ เข้ามาจอยกัน สิทธิ์ของทุกคนเท่าๆ กัน ไม่ต้องกันที่ไว้ให้ใคร ไม่มีประธานเปิดงาน (หัวเราะ)”

“จริงๆ มันคล้ายกับงานสัปดาห์หนังสือเหมือนกันนะ เพียงแต่ในงานสัปดาห์หนังสือ เราไม่เห็นเขาในมุมของมนุษย์ เราเห็นเขาในมุมนักช้อปปิ้งมากกว่า มาถึงก็ซื้อๆๆ แต่งานนี้ไม่ได้เน้นซื้อ เราเห็นเขาแสดงตัวตนในแบบของเขา ผ่านหลายๆ กิจกรรมที่เป็นมนุษย์มากกว่า ซึ่งมันทำให้เห็นว่า range ของคนสนใจหนังสือ จริงๆ แล้วกว้างมาก แต่เราไม่ค่อยรับรู้ถึงการมีอยู่ซึ่งกันและกัน”

“ถ้าคิดในเชิงการค้า การทำงานสำนักพิมพ์เล็กๆ เอาเข้าจริงก็ไม่ได้คุ้มค่าเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าคุณทำสิ่งที่มันเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเมื่อไหร่ หรือทำอะไรที่มีนัยยะกับสังคมมากกว่าสินค้าทั่วๆ ไป มันจะทำให้สังคมนั้นมีความหลากหลาย”

“เราบังเอิญไปเจอโรงพิมพ์ที่ยังเปิดทำการอยู่ทุกวันนี้ โดยใช้การจัดอาร์ตเวิร์กด้วยการเรียงตัวตะกั่วอยู่ การค้นพบว่ายังมีโรงพิมพ์แบบตัวตะกั่วที่อยู่รอดมาได้ถึงวันนี้ ก็เหมือนการค้นพบฟอสซิลที่ไม่มีใครเคยเจอมาก่อน เจ้าของคือป้าอายุ 70 สองคน กับลุงอีกคนนึง ป้าเป็นคนเรียงพิมพ์ ลุงเป็นคนจัดเลย์เอาท์ เราอยากทำสารคดีเกี่ยวกับโรงพิมพ์นี้ บันทึกไว้ว่าใน พ.ศ.นี้ ยังมีคนทำสิ่งนี้อยู่”

 

จตุพร พรหมพันธุ์ กับภารกิจ ‘เพื่อชาติ’ ภายใต้อิสรภาพและสังขารอันจำกัด

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ตราบใดที่เราไม่มีนักประชาธิปไตยเป็นผู้แทน ประชาชนได้แค่นักเลือกตั้งมาเป็นผู้แทน ประเทศก็หนีวงจรอุบาทว์นี้ไปไม่ได้…”

101 ชวน ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ คุยยาวๆ ในวันที่สังคมการเมืองไทยมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์ชนิดวันต่อวัน

ในนามหัวขบวนคนเสื้อแดงอย่าง นปช. เขาอ่านกระดานการเมืองไทยอย่างไร นักการเมืองในสายตาของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร และภายใต้กติการัฐธรรมนูญบิดเบี้ยว ทำไมเขาถึงเลือกเดินหน้าต่อกับ ‘พรรคเพื่อชาติ’

“เราต่างก็รู้ว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 นี้ จะมีการชุมนุมทางการเมืองแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นมันก็เหลือเวทีเดียวคือเวทีรัฐสภา”

“วันนี้มันพบสัจธรรมในชีวิตว่า เราต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าที่สู้มาทั้งหมด เราต้องการอะไรกันแน่ มันจะสู้ไปแบบสังขารและอิสรภาพเหลือไม่เท่าเดิมแล้วใช่ไหม”

“กว่า 10 ปีมานี้ บางคนอาจมีคำถามว่าทำไม นปช. ไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้ เราอยู่ในจุดที่พูดลำบาก แต่ผมก็บอกกับพรรคพวกเสมอว่า การเป็นแกนนำมันไม่ใช่สมบัติติดตัวไปจนตายนะ มันเป็นเพียงแค่สิ่งสมมติ”

“คนที่พูดดีที่สุดในเรื่องนี้คือเปาปุ้นจิ้น เปาบุ้นจิ้นบอกว่า ‘ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ปกครอง ประชาชนก็ยังเป็นประชาชนวันยังค่ำ’ ประชาชนไม่เคยเปลี่ยนสถานะตัวเอง ผู้ปกครองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

“อันที่จริงฝ่ายเผด็จการเขาปรับตัวตลอดเวลา ฝ่ายประชาธิปไตยต่างหากที่ล้าหลังไม่ยอมปรับตัว ผมเป็นคนที่ตรงไปตรงมา ผมก็ต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวก็จบเลย ชนะแล้วยังไง สักพักก็พัง…”

 

เปิด 6 เทรนด์ โครงสร้างประชากรจีน

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงโครงสร้างประชากรจีนในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะ ‘ประชากรหด’ และ ‘แก่ก่อนรวย’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับภาวะที่ไทยกำลังเผชิญอยู่

“ปรากฏการณ์ประชากรหด และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในจีน คล้ายคลึงกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น”

“ทั้งนี้ กรณีของจีนนั้น เรียกว่ากำลังเผชิญกับภาวะ ‘แก่ก่อนรวย’ เพราะแม้ปัจจุบันจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (และกำลังจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในอีกไม่นาน) แต่ในแง่ของ GDP ต่อหัวแล้ว จีนยังมีช่องว่างหากจากประเทศพัฒนาแล้วอยู่พอสมควร ดังนั้นปัญหาโครงสร้างประชากรของจีน จึงถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายระยะยาวของรัฐบาล”

“แต่อีกมุมหนึ่ง ก็ต้องเล่าด้วยว่าในโลกปัจจุบัน ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่กำลังจะเผชิญสภาพ ‘แก่ก่อนรวย’ เหมือนจีน นั่นคือประเทศไทยของเราที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน หมายความว่าโครงสร้างประชากรของไทย ก็จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่สร้างแรงกดดันมหาศาลในอนาคตเช่นกัน”

“ไม่แน่ใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคไหนพูดนโยบายภาพใหญ่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายเรื่องโครงสร้างประชากรในระยะยาวนี้บ้างหรือไม่ หรือยังแข่งกันมองแต่ภาพระยะสั้นๆ และปิดตาหนีระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า…”

 

ความระทมเหลือทนของคนสอนภาพยนตร์ศึกษา

 

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

“อาชีพอาจารย์โดยทั่วไปจะมี ‘ความทุกข์’ แบบที่คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินมา อาทิ นักเรียนคุยกัน ลอกงานมาส่ง งานเอกสารมากมายท่วมหัว ไปจนถึงสงครามการเมืองระหว่างอาจารย์ด้วยกัน แต่สิ่งที่ผมจะมาบอกเล่าวันนี้คือ ‘ความทุกข์เฉพาะตัว’ แบบที่อาจารย์ด้านภาพยนตร์ศึกษาต้องประสบ ซึ่งขอเลือกมาสัก 3 ข้อแล้วกันครับ (แน่นอนว่าที่จริงมีเยอะกว่านี้)

“นอกจากการเล็คเชอร์แล้ว หนึ่งในกิจกรรมหลักของกลุ่มวิชาภาพยนตร์ศึกษาคือการฉายหนังครับ แน่นอนว่าผู้สอนย่อมอยากได้ห้องเรียนที่เหมาะสมกับการฉาย เช่นว่า ห้องมืด แสงไม่เข้า ลำโพงมีคุณภาพ แต่โลกความเป็นจริงมันโหดร้าย ผมมักจะได้ห้องที่มีลักษณะตรงข้ามทั้งหมดที่ว่ามา ทั้งแสงเข้า ลำโพงแตก โปรเจ็คเตอร์สีเพี้ยน ชนิดที่ว่าถ้าผู้กำกับหนังมาเห็นคงอยากจะกัดลิ้นตายตรงนั้น

“ปัญหาคือหนังในวิชาภาพยนตร์ศึกษาส่วนใหญ่จะไม่สนุก เป็นหนังที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับจักรวาลมาร์เวล เช่น หนังขาวดำยุค 40 หนังทดลองที่ถ่ายท้องฟ้าสองชั่วโมง หรือหนังปาล์มทองของอภิชาติพงศ์ การดูหนังพวกนี้ต้องใช้ความอดทนพอควร บางคลาสก็ดีหน่อยที่เด็กยังตั้งใจดูหนัง แต่บางคลาสก็หลับไปครึ่งห้อง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก้มหน้าเล่นมือถือกันหมด”

ติดตามคอลัมน์ “ต่อว่า” โดยคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง คนขี้บ่น ซึ่งมีชื่อเล่นชื่อ ‘ต่อ’ เมื่อเขาเริ่มเอ่ยปากบ่น เพื่อนๆ จึงมักแซวว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง ‘ต่อว่า’ จ้าาา” …เขาจะมาบ่นเรื่องราวรอบตัวเป็นประจำทุกเดือน เริ่มตอนแรกด้วยเรื่องใกล้ตัวอย่างความทุกข์ในฐานะอาจารย์สอนภาพยนตร์ศึกษา ที่นอกจากจะต้องเถียงกับแท็กซี่แล้ว ยังมีปัญหาจุกจิกตามมาในห้องเรียน เช่น ห้องฉายหนังแสงเข้า นักศึกษาไม่สนใจ ฯลฯ

 

ชีวิตที่สองของสิ่งไร้ค่า : บริจาคแล้วไปไหน?

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“หนังสือ เสื้อผ้า รองเท้า ชุดชั้นใน หมวกลูกเสือ คอมพิวเตอร์ ตู้ไม้ ตู้เย็น พัดลม ตุ๊กตา รถเข็นผู้ป่วย กองเป็นภูเขาเลากา แม้แต่กระเบื้องไม่สมบูรณ์ มูลนิธิกระจกเงาก็ยังรับบริจาค

“สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยเป็นของที่คนไม่ต้องการ ตู้เย็นที่อาจเคยใส่ผลไม้หรือคัพเค้กเป็นตัวช่วยตอนหิวกลางดึก บัดนี้กลายเป็นเพียงเศษเหล็กฝุ่นจับ หรือคอมพิวเตอร์ที่เคยเป็นตู้แห่งความสุขของเด็กสักคน ตอนนี้กลายเป็นเพียงตู้กระจกที่ใกล้เคียงกับตู้ปลา แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อของเหล่านี้เข้ามาอยู่ในมูลนิธิกระจกเงา ของไร้ค่ากลับกลายเป็นดั่งขุมทรัพย์ เมื่อมีเด็กขาดโอกาสจำนวนมากที่โรงเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากที่อยากได้เสื้อผ้าไปขายแต่ไม่มีทุนรอนซื้อในราคาแพง ทางมูลนิธิฯ จะคัดแยก จัดการของให้เรียบร้อย แล้วส่งต่อไปยังคนเหล่านี้”

“มาถึงตอนนี้ มูลนิธิกระจกเงาก่อตั้งมาแล้วกว่า 28 ปี ถ้าเป็นคนก็คงอยู่ในวัยกำลังแข็งแรง โตเป็นผู้ใหญ่ และยังมีความฝัน แต่ถ้ามองในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสังคมโดยไม่แสวงผลกำไร ก็แทบนึกไม่ออกว่าอยู่มาได้อย่างไรอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่าจะยังไปต่อได้อีก ทั้งเข้ามามีส่วนกับปัญหาสังคมหลายเรื่อง เช่น คนหาย ผู้ป่วยไร้บ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ

“จากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังมีไฟฝัน ตอนนี้มูลนิธิกระจกเงากลายเป็นองค์กรที่แข็งแรงและแทงรากไว้อย่างคงมั่น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การทำงานเพื่อสังคมโดยที่สามารถเลี้ยงตัวเองไปด้วยได้ ย่อมมาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ

“ในประเทศที่การบริจาคของเป็นมากกว่าแค่การส่งต่อของใช้แล้ว เพราะบางคนยังหมายรวมไปถึงบุญ การได้ ‘ให้’ คือสิ่งที่ชุบชูจิตใจผู้คน แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือมีหลายชีวิตที่ได้ประโยชน์จากของเหล่านี้จริง และการดำรงอยู่ของวงจรนี้สะท้อนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างถนัดตา”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปดูโกดังมูลนิธิกระจกเงา พวกเขาจัดการของบริจาคจำนวนมากได้อย่างไร และสิ่งของเหล่านี้สร้างงานให้ผู้ด้อยโอกาสได้อย่างไร

 

ฝุ่นละออง PM 2.5 ข้ามชายแดนได้ แต่อย่าให้ความขัดแย้งข้ามชายแดนไปด้วย

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“อย่าเอาแต่โทษประเทศเพื่อนบ้านว่า เธอคือตัวการที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะปัญหาฝุ่นหมอกควันเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ไม่มีสัญชาติ ทุกประเทศไม่สามารถควบคุมความกดอากาศได้ ไม่สามารถควบคุมกระแสลมได้ และไม่สามารถตั้งกำแพงหรือครอบแก้วมาครอบประเทศของตนเองให้พ้นจากฝุ่นควันได้…”

ปิติ ศรีแสงนาม เขียนถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาพื้นที่ทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมยกกรณีศึกษาจากอดีต ที่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหานี้ ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับประเทศ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

“นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ฝุ่นละอองหมอกควันจากการเผาในประเทศหนึ่ง ฟุ้งกระจายข้ามชายแดนเข้าไปในเขตพื้นที่ของอีกประเทศหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นและเข้าสู่สถานการณ์ขั้นเลวร้ายมากที่สุดมาตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษ 1990 แล้ว

“ในคราวนั้น มีการเผาพื้นที่ป่าไม้บนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่มากกว่า 45,000 ตารางกิโลเมตร และหมอกควันซึ่งมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็ฟุ้งกระจายครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ ตั้งแต่เกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ (ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด) ฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของประเทศไทย ปกคลุมมาถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“ภายหลังจากที่ข้อตกลง AATHP มีการบังคับใช้ในระดับภูมิภาค ในทุกประเทศสมาชิก สถานการณ์ฝุ่นหมอกควันบริเวณอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร ก็บรรเทาเบาบางลง โดยผลสำเร็จนี้มาจากการป้องกันไม่ให้เกิดการเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ โดยอาเซียนเข้าไปอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการพื้นที่ทำการเกษตร และสร้างงานนอกภาคเกษตรให้กับประชาชนบนเกาะสุมาตรา

“ลองนึกภาพดูว่า ถ้าหมอกควันมาจากอินโดนีเซีย แล้วทำให้คนสิงคโปร์เดือดร้อน แล้วคนสิงคโปร์เอาแต่โมโหโทโส พร้อมกับคิดเพียงแค่การไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ การไม่ออกจากบ้าน หรือออกจากบ้านพร้อมกับใส่หน้ากากที่ทำให้หายใจไม่สะดวก ปัญหาหมอกควันจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

“แต่สิ่งที่สิงคโปร์และสมาชิกอาเซียนทำ คือการใช้ระบบดาวเทียม การสร้างระบบการเตือนภัย และการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันให้ได้อย่างยั่งยืน”

 

การรวบอำนาจในเวเนซุเอลา: กรณีศึกษาอูโก้ ชาเวซ

 

โดย เชาวฤทธิ์ เชาวแสงรัตน์

เชาวฤทธิ์ เชาวแสงรัตน์ เขียนถึงวีรกรรมของ อูโก้ ชาเวซ อดีตประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ซึ่งครองตำแหน่งผู้นำประเทศยาวนานถึง 14 ปี จากการทำทุกวิถีทางเพื่อรวบอำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกับการสืบทอดอำนาจตัวเอง อันเป็นชนวนความขัดแย้งที่ฝังรากลึกและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“หลังจากที่อูโก้ ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1998 แทนที่จะรีบเข้ามาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ชาเวซทำเป็นลำดับแรกคือการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แทนรัฐธรรมนูญเก่าที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 โดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประธานาธิบดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้อำนาจประธานาธิบดีมากที่สุดในลาตินอเมริกาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน”

“มีการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจากสมัยละ 5 ปี เป็น 6 ปี และให้เป็นได้สองสมัยติดต่อกัน ประธานาธิบดีมีอำนาจในการควบคุมแต่งตั้งกองทัพได้อย่างเต็มที่ ยกเลิกวุฒิสภาให้รัฐสภาเหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียว ประธานาธิบดีคงไว้ซึ่งอำนาจในการประกาศทำประชามติต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา งบสนับสนุนพรรคการเมืองถูกยกเลิก ฝ่ายนิติบัญญัติถูกทำให้อ่อนแอ จึงเป็นการง่ายที่ฝ่ายบริหารจะเข้าไปแทรกแซงในอำนาจตุลาการ รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ถูกคนของชาเวซเข้าไปควบคุมเสียหมด”

“หลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2008 ชาเวซรับรู้ว่าความนิยมในตัวของเขากำลังถดถอย ดังนั้นเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่สำคัญให้เร็วที่สุด นั่นคือการยกเลิกการจำกัดสมัยของประธานาธิบดี ชาเวซมองว่าถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดีต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาการแย่งชิงอำนาจในพรรคก็จะทุเลาลง ไม่มีใครกล้าที่จะท้าทายอำนาจเขา ทำให้พรรคเกิดความสามัคคี เพราะขณะนั้นเกิดการตั้งคำถามว่า ใครจะเป็นทายาทสืบต่ออำนาจของชาเวซ เมื่อเขาครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี ค.ศ.2012″

“นอกจากนี้ การที่ขยายเพดานไม่จำกัดสมัยในทุกตำแหน่ง ยังส่งผลให้สมาชิกพรรครัฐบาลสามารถอยู่ต่อในตำแหน่งได้ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ฝ่ายรัฐบาลจึงผนึกกำลังกัน เพื่อผลักดันให้ร่างประชามตินี้ผ่าน…”

 

ฝุ่นนี้มีที่มา : วิธีแก้ปัญหาฝุ่นที่รัฐบาล (และทุกคน) ควรอ่าน

 

โดย ธารา กุศลชาติธรรม

“หากเราคำนวณตามปริมาตรอากาศ สมมติว่าเอาพื้นที่กรุงเทพมหานคร (1500 ตร.กม.) คูณด้วยความสูงของตึก (300 ม.) จะได้ปริมาตรอากาศที่ประชากรกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ คิดเป็นปริมาตรราวๆ 450,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นข่าวที่ทหารอากาศจะบินเพื่อปล่อยน้ำปริมาตรแค่ 3 ลบ.ม. ต่อครั้ง จึงเป็นการเพิ่มมลพิษอากาศจากเชื้อเพลิงเครื่องบินให้มากขึ้นด้วยซ้ำ…”

ธารา กุศลชาติธรรม อดีตผู้จัดการแผนกเทคโนโลยีสะอาด บริษัท Durr (Thailand) Co., Ltd. วิศวกรผู้เคยทำงานในบริษัทเยอรมันข้ามชาติด้านบำบัดมลพิษอากาศ เขียนถึงที่มาที่ไปของปัญหาฝุ่น พร้อมแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยอิงจากความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นปัจจุบันที่สุด

“มีผลการศึกษาว่า แม้ฝนตกหนัก ก็ให้ผลได้ไม่มาก กล่าวคือมีผลไม่ถึง 10% ซึ่งเป็นความจริง เพราะแม้แต่เครื่องจักรบำบัดมลพิษอากาศด้วยการชะล้างด้วยน้ำ ซึ่งทำในที่ปิด (Wet Scrubber) ก็ยังจำเป็นต้องควบคุมแรงดันอากาศ พื้นที่ผิวสัมผัส เวลาที่มีโอกาสสัมผัสกันระหว่างน้ำกับอากาศมลพิษ การบำบัดในเครื่องจักรถึงได้ผล

“ส่วนการพ่นน้ำที่เป็นการบรรเทาในระดับพื้นดิน แม้จะน้อย ก็ยังพอช่วยได้ แต่จะได้ผลในพื้นที่จำกัดมากๆ กล่าวคือ บริเวณที่ห่างจากจุดที่พ่นน้ำมาไม่มาก จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย แต่วิธีนี้อาจช่วย ‘บรรเทา’ ได้ระดับหนึ่ง ในจุดที่มีการสัญจรของคนเดินถนนคับคั่งในเวลาเร่งด่วน

“มาตรการที่จะช่วยได้อย่างเห็นผล คือการใช้เครื่องกรองอากาศขนาดยักษ์ เช่นที่จีนเคยนำมาใช้ ซึ่งประสิทธิผลขึ้นกับความขนาดของเครื่อง ว่านำปริมาตรอากาศเข้าไปกรองได้มากน้อยแค่ไหน และเครื่องกรองอากาศที่ว่านี้ก็ต้องมีจำนวนเพียงพอ ที่จะกรองให้ทันกับปริมาณมลพิษและปริมาตรอากาศในพื้นที่เปิด ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่สูงและท้าทายมากในทางวิศวกรรม

“นอกจากนี้ วิธีที่ช่วยได้คือรอลมธรรมชาติที่พัดเร็วขึ้น เพื่อให้เจือจางมวลอากาศดังกล่าว หรือไม่ก็ต้องมีฝนตกหนักพอที่จะเอาฝุ่นแขวนลอยไปสู่พื้นดิน ผ่านระบบระบายน้ำ หรือแหล่งน้ำต่างๆ เท่านั้น แต่เหนืออื่นใด เมื่อถึงเวลาที่สภาวะอากาศปิด ซึ่งจะเกิดชึ้นทุกๆ ปี สถานการณ์เช่นนี้ก็จะกลับมาอีก”

“ประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา ถ้าย้อนไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ล้วนประสบปัญหาดังกล่าวในระดับที่หนักจนมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง และต้องใช้เวลาเป็นสิบปีในการแก้ไข ซึ่งสภาพอากาศในจีนขณะนี้ ก็คือระดับเดียวกับยุโรปและอเมริกาในตอนนั้น

“คำถามสำหรับประเทศไทย คือเราจะลืมเมื่อสถานการณ์นี้ผ่านไป หรือจะตระหนักรู้ถึงสัญญาณเตือน เพื่อเราจะได้ไม่ต้องเดินตามรอยในสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ประสบมาแล้ว สำคัญที่สุดคือการตระหนักรู้ที่ประชาชนต้องไม่ยอม และผู้มีอำนาจต้องรู้ว่าปัญหานี้มีผลกระทบต่อตนเองและลูกหลานตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี หรือผู้มีตำแหน่งใดๆ นี่คือปัญหาที่ต้องร่วมกันทำอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ตอนนี้”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ สูงสุด เดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

โดย 101 One-On-One 

ไทยยังต้องอยู่ร่วมกับสารพิษในนาม ‘พาราควอต’ ต่อไป !!!

หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนพาราควอต

สวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้เป็นวัตถุอันตรายที่ 53 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว

รวมถึงประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา ฯลฯ ประกาศแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้

“กรรมการในสมาคมวัตถุอันตรายที่ปัจจุบันผลักดันพาราควอต ตอนรับราชการก็ผลักดันกฎหมายพันธุ์พืช GMO ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ อีกคนหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมี เมื่อคุณออกจากข้าราชการก็มาทำงานให้กับบรรษัทเอกชนข้ามชาติ แล้วบรรษัทก็มีกลไกที่คุมกลไกรัฐอีกที เพราะว่าคุณก็ยังมาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย”

101 ชวนอ่านวิบากกรรมคนไทยภายใต้อำนาจอันซับซ้อนผ่านทรรศนะของ “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) (อีกรอบ) ที่จะบอกเล่าทุกประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นประจักษ์พยานบนโต๊ะถกเถียงนโยบาย ผ่านการนำสนทนาโดย “กรรณิการ์ กิจติเวชกุล”

 

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

 

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ถ้าใครสักคนฆ่าพ่อคุณตาย คุณจะทำอย่างไร?

แน่นอน ถ้าถามวัยรุ่นเลือดร้อน ร้อยทั้งร้อยโดยไม่รีรอ ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต แต่นั่นเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไปหรือไม่?

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ และ ‘เล็ก’ ธนากร อาจรักษา สองหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เคยเป็นคู่แค้น จากการที่อีกฝ่ายฆ่าพ่อของตน ก่อนที่ความแค้นจะแปรเปลี่ยนเป็นการให้อภัย ภายใต้ร่มเงาของ ‘บ้านกาญจนา’

“สี่ทุ่ม ระหว่างที่พวกเขาเมากัน เขาเอาปืนอัดลมมายิงบานเกล็ดบ้านผมแตก ผมนอนอยู่ในบ้าน ทนไม่ไหว ก็ออกมาถามว่าพี่ทำอะไรของพี่ เขาตอบว่าแล้วมึงจะทำไม ตอนนั้นผมเห็นมีดของเขาวางอยู่ใต้โต๊ะวงเหล้า ผมก็เข้าไปหยิบมีดในบ้านออกมา สุดท้ายก็ตะลุมบอนกัน ผมแทงฝ่ายเขาตายสองคน คือคนที่ยิงบานเกล็ด และอีกหนึ่งคนคือพ่อของใหญ่”

“ตอนนั้นผมอยู่บ้านมุทิตา พอรู้ว่าเล็กอยู่บ้านกาญจนา ผมก็วางแผนขอย้ายตามไปเจอเขา ผมสนิทกับเจ้าหน้าที่พอสมควร เขาบอกว่าให้ทำตัวดีๆ จะได้ย้ายไปบ้านกาญจนา ผมนิ่งมาก ไม่ทำอะไรผิดเลย ทำทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่ไว้ใจเพราะอยากย้ายไปเจอเล็ก ผมไม่ได้ใส่ใจว่าต้องอยู่ที่ไหน แค่อยากไปเจอ ผมต้องการชีวิตเขา”

“วันนั้นป้ามลยืนอยู่บนสะพานกลางน้ำ ป้าเข้ามาคุยกับเด็กๆ ว่าบ้านนี้ไม่มีความรุนแรงนะ ผมคิดในใจว่าป้ามลสร้างภาพ ไม่จริงหรอกคนแบบนี้ รับราชการมาก็แค่กินเงินเดือน ผมถามป้ามลว่า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ฆ่าพ่อผมถึงได้อยู่บ้านชนะใจ (สำหรับเด็กประพฤติดีจะได้อยู่บ้านชนะใจ) พูดจบผมก็เดินหนีเลย…”

ทั้งสองผ่านอดีตระทมมาแบบไหน บ้านกาญจนาฯ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตาย ให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร และชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตเสมอไปหรือไม่

 

เบื้องหลัง ‘พาราควอต’ ไม่โดนแบน

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิเคราะห์เบื้องหลังดราม่า ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชที่หลายประเทศสั่งแบน แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย กลับมีมติ ‘ไม่ยกเลิก’ การใช้สารเคมีชนิดนี้ — เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

รายการ 101 One-on-One

 

101 One-on-One Ep.61 “Futuration – คนรุ่นใหม่กับโอกาสใหม่และความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล” กับ สันติธาร เสถียรไทย

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep.61 สนทนาสดกับ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” Group Chief Economist ของ Sea Limited เจ้าของกิจการ AirPay, Shopee และ Garena | ผู้เขียนหนังสือขายดี Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต

เรื่อง Futuration – คนรุ่นใหม่กับโอกาสใหม่และความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล

Digital transformation ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เต็มไปด้วยโอกาสใหม่และความเสี่ยงใหม่ ซึ่งเรียกร้องกรอบคิดใหม่และวิถีปฏิบัติใหม่ในการรับมือ

แล้วเศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อะไรคือโอกาสและความท้าทายในยุค digital transformation คนรุ่นใหม่จะยืนอยู่ตรงไหนและอย่างไรในโลกผู้ประกอบการแห่งอนาคต

หาคำตอบได้ในรายการ 101 One-on-One Ep.61 วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาสองทุ่มตรง ทางเพจ The101.world

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

101 one-on-one Ep60 “นักสัมภาษณ์​ยืนหนึ่ง” กับ วรพจน์ พันธุ์​พงศ์

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 one-on-one Ep.60 “นักสัมภาษณ์​ยืนหนึ่ง” กับ วรพจน์ พันธุ์​พงศ์
.
ในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลาสองทุ่มตรง
.
คุยกับ หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์​พงศ์​ นักเขียน นักสัมภาษณ์ สื่อมวลชนอิสระ ว่าด้วยสาระสำคัญของการทำงานสัมภาษณ์​ เจาะตัวละครเด่นๆ ประเด็นแหลมๆ แถมด้วยมุมมองความหมายของคำว่า ‘อิสระ’
.
ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

101 One-on-One Ep59 “การเมืองเรื่องฝุ่น” กับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-OneEp59 “การเมืองเรื่องฝุ่น” กับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

สนทนาสดกับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ว่าด้วยปัญหาฝุ่นในมิติทางสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำ สิทธิอากาศสะอาด ความเป็นธรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อม กฏหมายโรงงาน และบทบาทในการแก้ปัญหาของภาคส่วนต่างๆ

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

 

101 One-On-One Ep58 “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2562” กับ ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep 58

“วิเคราะห์เลือกตั้ง 2562” กับ ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข ชวนอ่านสถานการณ์การเมืองไทยก่อน-หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

สนทนากันสดๆ วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลาสองทุ่มตรง ทางเพจ The101.world

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…”ทหารดี ดนตรีไพเราะ”

 

โดย ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ

เกือบ 5 ปีที่รัฐบาล คสช. บอกประเทศสงบ เศรษฐกิจดี จีดีพีโต

ความตั้งใจในการบริหารประเทศปรากฏอยู่ในเพลงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประพันธ์ไว้ถึง 7 เพลง

แต่แปลว่าประเทศสงบ ? ประชาชนมีความสุข ?

พฤษภาคม 2018 กลุ่ม Rap Against Dictatorship ปล่อยเพลง ‘ประเทศกูมี’ ออกสู่สาธารณะ

มกราคม 2019 ‘ประเทศกูมี’ เวอร์ชั่นร็อกก็ออกมาจากกลุ่ม Metal Against Dictatorship

พวกเขาประกาศจุดยืนเดียวกัน ต่อต้านเผด็จการผ่านบทเพลง แม้ว่ารัฐบาลต้องการสร้างความสงบ แต่ยังคงมีศิลปินอึดอัดคับข้อง และต้องแสดงออกอยู่เสมอ

101 ชวนชม SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ทหารดี ดนตรีไพเราะ”

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…ตีตราไว้ในโลกมืด”

 

โดย ธิติ มีแต้มวจนา วรรลยางกูร, เมธิชัย เตียวนะ

คนติดคุกไม่ควรได้รับโอกาสเสมอไปหรือไม่ ? สำหรับแดนหญิง ที่เรือนจำกลางจังหวัดอยุธยา อาจไม่จำเป็น เพราะที่นี่พยายามสร้างสิทธิและโอกาสให้กับผู้ต้องขังหญิง ตั้งแต่การฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติกับสังคม  หรือแม้กระทั่งโซนแม่และเด็กในแดนคุมขัง ก็กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงได้รับ
.
ชมสารคดีข่าวสั้น: SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…ตีตราไว้ในโลกมืด”
และติดตาม Photo Essay เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.the101.world/dawn-after-dusk/
.

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…SEX ที่รุนแรงคือความวิตถาร”

 

โดย ธิติ มีแต้มศุภาวรรณ คงสุวรรณ์, เมธิชัย เตียวนะ

‘วิตถาร ผิดปกติ ซาดิสม์’ หลายคนอาจนิยามรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ด้วยคำเหล่านี้ และคุ้นเคยกับรสนิยมนี้อย่างผิวเผินผ่านภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมชื่อดังอย่าง Fifty Shade of Grey

ท่ามกลางความเข้าใจที่ยังไม่ฉายชัดในสังคม “ปิ” -ปิยนันท์ แก่นสุวรรณ์ พนักงานเอกชน สาววัย 34 ปี เจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn เพจที่ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์และรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ได้จัดงาน Shibari Night BKK 7th ขึ้น เพื่อแสดง ‘ชิบาริ’ ศิลปะการมัดเชือกเพื่อพันธนาการ

ความสุขจากความเจ็บปวดเป็นอย่างไร ?
ทำไมต้องพันธนาการ ?

เชือก แส้ หยดความร้อนจากเทียน และความยินยอม (Consent) ของนายและทาส จะตอบคำถามที่ว่า และเติมนิยามที่อาจขาดพร่องไปจากความเข้าใจของคนในสังคม

101 ชวนชม SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…SEX ที่รุนแรงคือความวิตถาร”

อ่านบทความเกี่ยวกับ BDSM เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.the101.world/bdsm-in-thailand/

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save