fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2561

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“มาสิ มาคุยด้วยกัน คนนี้หลาน”

ป้าแก้วชี้ไปทางชายหนุ่ม เขายิ้มรับด้วยใบหน้าไม่ค่อยสู้ดี แต่ก็ยังยืนอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน

ฉันชวนคุย 2-3 ประโยค ถามความเป็นอยู่ พูดเรื่องฟ้าฝนเรื่อยเปื่อย ชายหนุ่มปิดปากเงียบ มีเพียงยิ้มบางเบา

“ไม่น่าใช่หลาน” พี่ช่างภาพกระซิบกับฉัน

เมื่อสังเกตท่าทางแล้วก็เป็นแบบนั้น สายตากรุ้มกริ่มและท่าทางการยืน ไม่น่าจะใช่ป้ากับหลานมาเยี่ยมเยียนกัน

ในคลองหลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชายหนุ่มวัยกำหนัดจะมาหาหญิงขายบริการชรา เช่นเดียวกับที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ฝั่งจะมาหาเด็กสาววัยแรกแย้ม

รสนิยมทางเพศของผู้คนนั้นหลากหลาย และไม่ได้เป็นไปตามขนบที่สังคมคุ้นชิน ยิ่งเมื่อการซื้อขายบริการถูกปิดบังหลบๆ ซ่อนๆ ความต้องการภายในใจคนยิ่งปะทุออกมาแบบไม่มีข้อจำกัด

“สังคมไทยไม่ยอมรับความจริง เราต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้” จ๋า-อัจฉรา สรวารี เลขานุการมูลนิธิอิสรชน เปรยให้ฉันฟัง

“สถานการณ์ประเทศไทยคือ เราปูพรมแดงซะสวย แต่เอาทุกอย่างไปกองไว้ใต้พรม จนขยะกองขึ้น แล้วสุดท้ายถึงวันหนึ่งที่คนมาเหยียบ เปิดพรมขึ้นก็เห็นขยะกองใหญ่ นี่คือภาพที่ต่างประเทศมองเข้ามา”

“ถามว่าหญิงขายบริการที่ยืนอิสระ หรือตามซ่อง มีส่วยมั้ย ก็มี ตอนนี้ที่กวาดจับกัน เงินเข้ารัฐครึ่งนึง ที่เหลือเข้าคนเก็บส่วย ถ้าทำให้ถูกกฎหมาย คนขายบริการได้ประโยชน์จริง แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนเก็บส่วยนั่นแหละ นี่คือตลาดมืดของไทย…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจตลาด ‘หม้อ’ ย่าน ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

 

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

 

โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

หลังจากที่ 101 ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หม้อ’ หรือโสเภณีย่านคลองหลอดแบบเจาะลึก ไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน

สัปดาห์นี้ เราขอพาไปสำรวจอีกแง่มุมหนึ่งของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและละแวกใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการชายที่ทำงานในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึง จากรายงานพิเศษ โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“บาร์อะโกโก้หรือบาร์เบียร์ ที่มีการขายบริการทางเพศสำหรับพนักงานบริการชายนั้น โดยมากจะไม่มีห้องหับสำหรับประกอบกิจเหมือนเช่นร้านนวด แต่มักเป็นไปในลักษณะการหิ้ว หรือ ‘ออฟ’ ออกไปสู่โรงแรมข้างเคียง ซึ่งนำไปสู่ภารกิจของเหล่า ‘มาม่าซัง’ ที่ต้องคอยติดตามดูแล หากพนักงานในสังกัดหายไปนานเกินควร เหล่ามาม่าซังจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานภายใต้การดูแลทันที ด้วยเครือข่ายรายรอบบริเวณ”

“สถานประกอบการที่มีการขายบริการทางเพศนั้น โดยมากจะจ่ายเงินในลักษณะของ ‘ส่วย’ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ถูกก่อกวน แต่ในบางช่วงเวลา แม้จะจ่ายส่วยให้แล้ว ก็มักประสบปัญหาการเรียกร้องราคาค่าส่วยที่สูงขึ้น หรือบางครั้งแม้จะจ่ายส่วยแล้ว แต่อยู่ในช่วงโยกย้ายปรับตำแหน่ง ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่เล่นงานเพื่อสร้างผลงานได้อีกเช่นกัน”

“ในส่วนพนักงานบริการที่ไม่สังกัดร้าน โดยมากเสียค่าปรับ 1,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่เป็นประจำ ในบางพื้นที่ต้องเสียทุก 2 วัน เดือนหนึ่งเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ค่าปรับเหล่านี้มักจะใช้ มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี พ.ศ. 2539”

“อดีตพนักงานบริการชายรายหนึ่งเล่าว่า เคยมีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่กลับไม่สนใจมูลเหตุในการทำร้ายร่างกาย ทว่าพยายามมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ บีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการทางเพศ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี…”

 

ลดคนล้นโรงพยาบาล ด้วยความคิดเชิงระบบ กับ บวรศม ลีระพันธ์

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

ใครเคยต้องมาหยิบบัตรคิวตั้งแต่ตี 5 เพื่อรอรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ อาจคิดว่าการลดคนล้นโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ในชาตินี้ แต่แท้ที่จริงแล้วเรามีทางออกมากมายรออยู่

เปิดวิสัยทัศน์ ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้กำลังผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการคิดเชิงระบบ (systems thinking) และเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานวิชาการพัฒนาระบบสุขภาพและกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในระยะ 20 ปี

จากการคิดเชิงระบบ เขาได้พบ ‘จุดคานงัด’ ที่เมื่อเปลี่ยนได้ อาจช่วยแก้ปัญหาการรอคอยคล้ายไม่มีวันสิ้นสุดของผู้ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ รวมทั้งสิ้นสุดคิวเหยียดยาวของพนักงานบริษัทเอกชนที่ใช้ประกันสังคมในโรงพยาบาลเอกชน เช่นการใช้งานโรงพยาบาลให้ถูกวัตถุประสงค์มากกว่าเดิม การกระจายการดูแลผู้ป่วยบางส่วนให้เอกชนดูแลโดยรัฐช่วยสนับสนุน การผลิตบุคลากรทางการแพทย์โดยคำนวณและคำนึงถึงอนาคต ฯลฯ

“ถ้าผมถามคุณ หลักประกันสุขภาพฯ มีมา 15 ปีแล้ว เราได้เพิ่มทรัพยากรอะไรให้ระบบบริการสุขภาพบ้าง? เราใช้เงินเพิ่มเท่าตัว แต่ระบบบริการสุขภาพภาครัฐของบ้านเราไม่ต่างจากก่อนมีหลักประกันสุขภาพมากนัก”

“ทุกคนต้องการหมอที่เป็นที่พึ่ง ที่ปรึกษาประจำตัว ประจำครอบครัว แต่เราไม่มีแพทย์ที่อยากทำหน้าที่เป็น Primary Care Provider (PCP) นักเรียนแพทย์อยากเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ แต่พอพ่อแม่ป่วยก็วิ่งหาอาจารย์หมอ ทั้งประสานงาน ให้ข้อมูล นัดหมาย ส่งปรึกษา หรือพูดอีกอย่างคือทำตัวเป็นหมอ Primary Care ให้พ่อแม่”

“บางครั้งเราใช้โรงพยาบาลผิดวัตถุประสงค์สุดๆ เช่น ใช้โรงพยาบาลดูแลรักษาระยะยาว เช่นโรคที่เกิดจากร่างกายผู้สูงอายุเสื่อมสภาพหรือผู้พิการซึ่งนอนโรงพยาบาลเป็นปี”

“ความต้องการประชาชนในตลาดบริการสุขภาพ ไม่มีตัวเชื่อมอื่นๆ มากนักนอกจากโรงพยาบาล แม้มีประชาชนจำนวนมากต้องการบริการอื่นที่โรงพยาบาลจัดให้ไม่ได้ หรือจัดได้ไม่เพียงพอ แต่ถ้านายจ้างในตลาดแรงงานมีเฉพาะโรงพยาบาล คนในระบบการศึกษาก็จะไม่อยากเลือกเรียนอะไรที่จบมาแล้วต้องทำงานนอกโรงพยาบาล”

 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

 

โดย ธนาพล อิ๋วสกุล

ทำไมรัฐบาลรัฐประหารยุคหลังถึงไม่สามารถผลิตซ้ำ “เปรมาธิปไตย” – การเมืองในอุดมคติของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย – ได้

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มักนำเสนอภาพตัวเองว่าไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นทหารอาชีพที่ได้รับเชิญจากนักการเมืองให้รับตำแหน่งนายกฯ เพื่อแก้วิกฤตบ้านเมือง แท้จริงแล้ว เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

หรือถ้าเราอยากเข้าใจบทบาทของพลเอกเปรม จำเป็นต้องมองเขาในฐานะ “นักการเมือง” ผู้มีบทบาททางการเมืองมากว่าสองทศวรรษก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในวาระ 30 ปีของการสิ้นสุดระบอบเปรมาธิปไตย ธนาพล อิ๋วสกุล ชวนย้อนสำรวจลักษณะของระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของอดีตนายกรัฐมนตรี เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

 

อ่านอีกครั้งในความเงียบ : พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยจริงหรือ ?

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ย้อนต้นกำเนิด ‘วันรพี’ พร้อมทบทวนที่มาที่ไปของการยกย่องให้ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็น ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’

“พระองค์เจ้ารพีฯ มีบทบาทต่อการปฏิรูปกฎหมายในสังคมไทยอย่างสำคัญและโดยไม่ต้องสงสัย แต่การให้ความหมายต่อพระองค์ในฐานะของ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ เป็นวาทกรรมที่ผันแปรไปในแต่ละช่วงเวลา นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463

“ท่ามกลางกระบวนการสร้างความหมายให้แก่พระองค์ มีการลดทอนความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์หลายอย่าง ขณะเดียวกันก็มีการเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับบทบาทของพระองค์ให้โดดเด่นขึ้นมา

“แม้ว่าบทบาทบางด้านอาจมีอยู่ไม่มากนัก แต่ก็ถูกอธิบายและให้ความสำคัญเสมือนว่าเป็นงานที่พระองค์มีบทบาทหลัก เช่น การร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย ที่มักมีงานเขียนอธิบายสืบทอดกันมาว่าเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ แต่ความจริงแล้วเป็นงานที่พระองค์มีบทบาทอยู่น้อยมาก”

“นอกจากนี้ อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม อันที่จริงเพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 หรือ 44 ปี หลังจากสิ้นพระชนม์ เหตุใดการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องบทบาทของพระองค์ถึงได้ทอดยาวออกมาเพียงนั้น ก่อนหน้านั้นมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่สามารถเทิดทูนพระองค์ในพื้นที่สาธารณะได้

“ภาวะเช่นนี้หมายความว่าการรับรู้ถึงพระองค์เจ้ารพีฯ ก่อนหน้าระยะเวลาดังกล่าว อาจแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่ อย่างไร — หรืออันที่จริงแล้วความเข้าใจต่อสถานะของพระองค์นั้น เป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้”

 

อนุสรณ์ อุณโณ : จากพี่ว้ากสู่คณบดีไล่เผด็จการ และคำถามในพานพุ่ม

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เราทำความเข้าใจถึงกระดูกและเลือดเนื้อของสังคมไทยจากมิติไหนได้บ้าง

ถ้ามองผ่านสายตา รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจเห็น 2 ประเด็นชัดๆ

ประเด็นแรก เขาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่มีคดีการเมืองติดตัวจากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ซ้ำยังเคยถูกปลอกกระสุนปืนตกใส่หัวระหว่างนอนหมอบอยู่กับพื้นในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ต้นทุนเช่นนี้ไม่ยากเกินไปที่เขาจะเลือกยืนฝั่งตรงข้ามกับเผด็จการ

“ผมไม่ได้โตมาจากห้องแอร์ เราทำงานกับประชาชน แล้วไปร่ำเรียนสะสมความรู้มา เราเห็นว่าทรัพยากร สถานะทางสังคมของนักวิชาการและของมหาวิทยาลัยมันเอามาหนุนเสริมกระบวนการขับเคลื่อนทางประชาธิปไตยได้ ตำแหน่งบริหารมันแค่ชั่วคราว”

ประเด็นต่อมา ล่าสุด รศ.ดร.อนุสรณ์ กำลังจะมีหนังสือชื่อ We love Mr. King (เรารักนายหลวง) โดยสำนักพิมพ์ชั้นนำในสิงคโปร์ ภายใต้ฉากปรากฏการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีคนตายไป 6,000 กว่าคน เขาใช้เวลาในพื้นที่กว่า 10 ปี เพื่อค้นพบว่า “ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศมีสาเหตุมาจากสิ่งเดียวกันคือการตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยควรจะเป็นของใคร”

ธิติ มีแต้ม ชวนคุยกับนักมานุษยวิทยาผู้มีบุคลิกใจถึงพึ่งได้ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนขาสั้น จนผ่านวันวัยแห่งการเผชิญหน้า กระทั่งเข้าสู่โลกวิชาการจนสามารถมองเห็นความบิดเบี้ยวของสังคมไทยผ่านพานพุ่มในงานวันเด็กแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา ได้

 

เมื่อปลาไทยมาจากเขมร และไฟฟ้ามาจากลาว : นณณ์ ผาณิตวงศ์

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

ในสถานการณ์ที่รีสอร์ตรอบเขื่อนแก่งกระจานจมอยู่ใต้น้ำ
เขื่อนวชิราลงกรณ์เปิดประตูระบายน้ำเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาวแตก เขื่อนดอนสะโฮงในลาวปล่อยน้ำท่วมมาถึงไทย

เราอาจคิดว่าไม่มีผลกระทบจากเขื่อนด้านไหนเลวร้ายกว่า ‘น้ำท่วม’ อีกแล้ว

แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เขื่อนได้เปลี่ยนระบบนิเวศ และลดจำนวนโปรตีนสำคัญสำหรับคนไทยอย่าง ‘ปลา’ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มมายาวนาน จนทุกวันนี้กล่าวได้ว่าไทยเป็นประเทศที่ นำเข้าแรงงานพม่า-กินปลาเขมร- ใช้ไฟฟ้าลาว

ชลธร วงศ์รัศมี ชวน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes มาเช็กสถานะ ‘ในน้ำมีปลา’ ว่า ณ จุดนี้ เราสำคัญตัวผิดไปหรือไม่ การปล่อยพันธุ์ปลาทีละ 50 ล้านตัว ทดแทนปลาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้จริงหรือ? เขื่อนแม่วงก์ เชี่ยวหลาน แก่งกระจาน ภูมิพล เขาแหลม วังหีบ ไซยะบุรี ฯลฯ เกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างไร?

“ถ้าไปดูตลาดปลาที่ด่านชายแดนเขมร อย่างแถวโรงเกลือ เราจะเห็นว่าปลาจากเขมรเข้าไทยมาเยอะมาก ทั้งปลาช่อน ปลาไหล พ่อค้าแม่ค้าคนเขมรบอกว่าเขาไปส่งปลาพวกนี้ถึงสิงห์บุรี ปลาช่อนแม่ลาที่ขายอยู่ริมถนนน่ะ ผมสนใจมานานแล้ว แม่ลาเล็กนิดเดียวเอาปลาช่อนมาจากไหน ปลาเขมรทั้งนั้น กลายเป็นว่าทุกวันนี้ คนไทยทำลายทรัพยากรของเราเสร็จแล้วดึงทรัพยากรจากประเทศรอบข้างที่พัฒนาช้ากว่าเราเข้ามา ดึงปลามาจากเขมร ดึงไฟฟ้าจากลาว”

“แม้แต่เมืองที่อยู่ริมน้ำเองอย่างกำแพงเพชร ผมจะเห็นวิวัฒนาการของปลาที่เข้ามาในตลาด จากเดิมเป็นปลาท้องถิ่นก็เริ่มเป็นปลานิล ปลาดุกบิ๊กอุย”

“เรามีคำเรียกว่า ‘ฤดูน้ำแดง’ คือที่น้ำฝนพัดเอาตะกอน แร่ธาตุ อาหาร จากต้นไม้ในป่า ชะลงมาแล้วไหลมาตามแม่น้ำจากดอยอินทนนท์ส่งลงมาจนถึงแม่น้ำปิง เข้าเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย ทุกวันนี้ตะกอนของแม่น้ำปิงตกอยู่ใต้เขื่อนภูมิพล”

“ผมเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมา สิ่งที่ครูสอนผมตลอดคือ ‘ระบบนิเวศใดๆ ก็ตาม ที่ธรรมชาติสามารถช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว อย่าไปทำให้พัง ให้ต้องพึ่งพามนุษย์’ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศบ้านเราแทบทุกอย่างขัดกับหลักการนี้เกือบทั้งหมด”

ใครเบื่อปลาซ้ำๆ บนเขียงปลาตามท้องตลาด และสงสัยว่าไฟฟ้าไทยจำเป็นต้องพึ่งลาวเสมอไปหรือไม่

 

จับเข่าเมาท์สวีเดน กับ ติช่า The Face และ จิตรา คชเดช

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

จะเป็นอย่างไรถ้าให้นางแบบสาวสุดสตรองและนักสหภาพแรงงานมามองดูประเทศเดียวกัน นั่นคือสวีเดน ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และขณะเดียวกันเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมความบันเทิงยากจะแทงทะลุความราบเรียบในนิสัยใจคอของคนสวีเดนได้

101 ชวน กันติชา ชุมมะ หรือติช่า จากรายการ The Face Thailand ผู้เติบโตและใช้ชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นที่สวีเดน และ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานจาก Try Arm ผู้ไปเรียนต่อและหาประสบการณ์ใหม่ที่สวีเดนในวัย 40 กว่าๆ มาเมาท์ถึงผู้คน สังคม การเมือง วัฒนธรรมสวีเดน ตั้งแต่เรื่องราวบนโต๊ะอาหาร วงการบันเทิง จนถึงแนวคิดรัฐสวัสดิการ แล้วพาไปรู้จักคำว่า ‘lagom’ หรือ ‘ลากอม’ ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบสวีเดน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีมานี้ กระแสของ ‘ลากอม’ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

“ลากอม เป็นคำที่แปลว่า พอดีๆ กลางๆ ไม่เยอะไป ไม่น้อยไป เป็นคำธรรมดามากในสวีเดน เป็นคำที่อธิบายคนสวีเดนได้เลย เพราะเขาเป็นคนที่ไม่เยอะเกิน ไม่น้อยเกิน แต่อยู่ในแถบกลาง คือไม่ทุกข์ไม่ร้อน แต่ใช้ชีวิตไปตามปกติ อะไรเกิดขึ้นทุกคนก็จะใจเย็นๆ แก้ปัญหาแบบปกติกัน ไม่มีความวุ่นวาย ช่าคิดว่าเขาเป็นมนุษย์ที่พิเศษมากเลยนะ เหมือนบรรลุอีกขีดขั้นของมนุษย์ ซึ่งช่าคิดว่าคนคนหนึ่งจะหาความพอดีได้ ถ้าหากเขารู้สึกว่าเขามีทุกอย่างครบแล้วนะ เพราะคนที่ไม่พอดี เขาจะรู้สึกว่ายังมีอะไรให้ดิ้นรน อย่างช่ายังมีความอยากปีนบันไดอยู่ ยังมีความอยากได้อยู่ ก็ยังไม่มีความพอดี แต่พอรู้สึกพอแล้ว มันก็จะพอดีเอง” กันติชา ชุมมะ (ติช่า)

“ลากอมคือพอดีๆ ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน แต่พี่เคยถามคนสวีเดน คนที่เป็นฝ่ายซ้ายมากๆ ก็ไม่ได้โอเคกับคำนี้ คำนี้มีการถกเถียงค่อนข้างเยอะมากในสวีเดนเอง จากเดิมที่สังคมสวีเดนเป็นสังคมที่ถกเถียงกันทุกเรื่องอยู่แล้ว มีแนวคิดว่า ลากอมเป็นคำที่พยายามตบให้คนอยู่เท่าๆ กัน

“หลายคนอาจคิดว่าคนสวีเดนเคารพสิทธิกันมากๆ แต่เราไม่รู้เลยว่าตกลงเคารพจริงๆ หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือคนสวีเดนเก็บอารมณ์ได้ดี แล้วทุกอย่างจะไปผ่านกระบวนการทางกฎหมาย คนสวีเดนจะไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง อย่างคนเปิดเพลงเสียงดังดูก็รู้ว่ามาจากซีเรีย เพราะฉะนั้นเขาก็คิดว่าการปฏิเสธผู้อพยพไม่ควรไปด่าเขาบนรถเมล์ เดี๋ยวฉันไปเลือกตั้งแล้วเอานโยบายที่ไม่เอาผู้อพยพก็ได้ นี่คือสิ่งที่คนสวีเดนคิด” จิตรา คชเดช

 

มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย – สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

“จุดชี้ขาดอนาคตเศรษฐกิจไทย คือ คลื่น 5G”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นักวิชาการผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวเรื่องนโยบายโทรคมนาคมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บอกกับ ปกป้อง จันวิทย์ เมื่อ 101 ชวนมองไปข้างหน้าสู่อนาคตแห่งโลกดิจิทัล

“…แต่ระบบกำกับดูแลของเรายังย่ำอยู่แค่ 2.5G เท่านั้น”

แววตาและน้ำเสียงของเขาเปลี่ยนไป เมื่อฉุกคิดถึงอดีตและปัจจุบันขณะของวงการโทรคมนาคมไทย ที่คล้ายจะขวางทางเดินสู่อนาคต

……….

ในหมู่เรื่องราวอันซับซ้อน ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน และยืดยาว ระดับ ‘มหากาพย์’ ในสังคมไทย นิยายโทรคมนาคมไทยเรื่อง ‘คลื่นความถี่’ ตั้งแต่ยุค 1G จนถึง 5G สามารถถูกจัดวางอยู่ในแถวหน้าของ ‘มหากาพย์’ หลากอรรถรส หลายชะตากรรม ได้อย่างสูสีไม่แพ้นิยายการเมืองเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’

เพราะสมบูรณ์ไปด้วยตัวละครมากสีสัน กลเกมชิงไหวชิงพริบ และเรื่องเล่าอันพลิกผัน หักมุม เหลือเชื่อ ตื่นตาตื่นใจ ขมขื่น ขำขื่น และสามานย์

จากเศรษฐศาสตร์การเมืองยุคสัมปทาน 2G สู่การประมูล 3G และ 4G ที่ถูกบันทึกไว้เป็นกรณีศึกษาระดับโลก ต่อด้วยสมรภูมิการประมูลคลื่นรอบล่าสุดที่กำลังคุกรุ่นร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน จนถึงภาพอนาคตยุค 5G ที่จะทำลายโลกเก่าเพื่อสร้างสรรค์โลกใบใหม่

‘มหากาพย์’ เรื่องคลื่นความถี่ไทย ยังคงดำเนินต่อไปด้วยเรื่องราวอันยากจะคาดเดา และจังหวะพลิกผันที่ชวนจับตา

ถ้าคุณยังไม่เคยลิ้มรส ‘มหากาพย์’ เรื่องนี้ ล้อมวงเข้ามา ‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ จะเล่าให้คุณฟัง

 

สุธิดา วิมุตติโกศล : ความในใจจาก ‘นักวิจารณ์วรรณกรรม’ ในประเทศที่วัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจรู้ว่าตัวเองมีอำนาจ และคนที่อยู่ใต้อำนาจก็รู้ว่าตัวเองถูกอำนาจอะไรบางอย่างสั่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้แม้กระทั่งแต่การอ่าน คนทั่วไปก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเลือก แต่อ่านเพราะถูกทำให้เชื่อว่ามันดี มันมีประโยชน์ อ่านเพราะเป็นหน้าที่มากกว่าความสมัครใจ…”

ประโยคข้างต้นคือทรรศนะจาก ‘สุธิดา วิมุตติโกศล’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ อ่านออกเสียง พื้นที่เล็กๆ ที่ส่งเสริมการอ่าน-การวิจารณ์อย่างเสรี

สุธิดาบอกว่าเธอเคยฝันว่าอยากเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม แต่เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานจริง กลับพบอุปสรรคมากมายซึ่งทำให้สิ่งที่เธอฝัน ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้

ตั้งแต่เรื่องของพื้นที่อันจำกัด วิธีคิดที่คนไทยถูกปลูกฝังจากระบบการศึกษา ไปจนถึง ‘ระบบอุปถัมภ์’ ที่แฝงฝังอยู่ในทุกระดับของสังคม

101 ชวนสุธิดามาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการอ่าน-การวิจารณ์ในสังคมไทย พร้อมถอดบทเรียนว่าเหตุใดการส่งเสริมการอ่านของไทยจึงไปไม่ถึงไหนสักที

 

‘ปฏิรูประบบภาษีไทย’ กับ อธิภัทร มุทิตาเจริญ

 

โดย ทีมงาน The101.world

เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวว่ามีสองสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
สิ่งแรก คือความตาย ส่วนสิ่งที่สอง คือภาษี

เพราะภาษีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพลเมือง ระบบภาษีจึงจำเป็นต้องออกแบบให้มี ‘ประสิทธิภาพ’ และสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศของรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน การจัดเก็บภาษีต้อง ‘เป็นธรรม’ ต่อผู้จ่ายภาษี แต่เมื่อย้อนดูระบบของประเทศไทยจะพบว่ายังมีช่องว่างอยู่มาก

นอกจากปัญหาเก่า ระบบภาษีไทยยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนรูปแบบไป ระบบภาษีแบบเดิมที่ใช้เขตแดนเป็นหลักคิดในการดำเนินการย่อมไม่สามารถรับมือกับความไร้พรมแดนของธุรกรรมในโลกดิจิทัลได้

101 One-on-One ชวน ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายภาษี ผู้มีประสบการณ์การทำงานในหน่วยงาน Congressional Budget Office ในสหรัฐอเมริกา มาคุยเรื่องระบบภาษีของไทยและแนวทางปฏิรูปต่อไปในอนาคต โดยมี ธร ปีติดล ดำเนินรายการ

 

ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง : ตำนานแห่งมงฟอร์ต

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงชีวิตและคำสอนของภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง แห่งโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ชายผู้รักโรงเรียนมงฟอร์ตเป็นชีวิตจิตใจ ผู้มีความ “อิ่มเอิบ อบอุ่น อารี มีคุณธรรม คุณภาพสากล” และเป็นต้นแบบของนักเรียนมงฟอร์ตมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

บราเดอร์ผู้อุทิศชีวิตให้กับพระเจ้าตามที่ท่านนับถือ และใช้ชีวิตเพื่อการศึกษาของเยาวชนไทยเป็นเวลานานถึง 70 ปี ก่อนที่จะกลับไปหาพระเจ้าของท่าน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2018

ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็งปฏิบัติงานที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยนานถึง 54 ปี ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของอายุโรงเรียน จนกลายเป็นตำนานของโรงเรียนที่ศิษย์เก่ารุ่นแล้วรุ่นเล่าจะนึกถึงอยู่เสมอ เวลานักเรียนไปเจอผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์เก่า คำถามหนึ่งที่พบเสมอคือ “บราเดอร์อังเดรยังอยู่ไหม เป็นอย่างไรบ้าง”

บราเดอร์อังเดรจากไปในวัย 96 ปี คงเหลือไว้แต่ความทรงจำและเรื่องราวของท่านที่จะถูกเล่าขานเป็นตำนานคู่กับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยสืบไป

 

โลกียชน Shoplifters

 

โดย นรา

“ผมดู Shoplifters จบลง ด้วยความรู้สึกเจ็บจุกในอกและร้าวรานใจสลายย่อยยับ อานุภาพในการสร้างความสะเทือนใจ คือความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้…”

คอลัมน์ Deep Focus ตอนใหม่ ‘นรา’ เขียนถึง Shoplifters ภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ

ในความคิดของ ‘นรา’ โคเรเอดะคือคนทำหนังที่ใกล้เคียงมากสุดในฐานะ ‘ทายาทผู้สืบทอด’ ของ ยาสึจิโร โอสุ ผู้กำกับชั้นครูมือทำหนังดรามาสะท้อนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

หนังเล่าถึงครอบครัวชิบาตะ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกหลากวัย อาศัยในบ้านซอมซ่อย่านแหล่งเสื่อมโทรมละแวกชานเมือง

ในค่ำคืนหนึ่ง ขณะที่ผู้เป็นพ่อกับเด็กชาย กำลังเดินกลับบ้าน ทั้งคู่พบเด็กหญิงตัวน้อย นั่งเหน็บหนาวอยู่ตามลำพังที่ระเบียงบ้าน จึงชักชวนให้เธอกินอาหารที่ทั้งสองซื้อมา แล้วจากนั้นก็พาเด็กหญิงมาที่บ้าน พบร่องรอยตามเนื้อตัวของหนูน้อย ว่าเธอถูกทำร้ายร่างกาย (อาจจะโดยพ่อแม่ของเธอ) ทุกคนในครอบครัวจึงชวนให้อยู่ด้วยกัน แล้วเรื่องราวก็ดำเนินต่อไป

“บทวิจารณ์ของต่างประเทศหลายๆ ชิ้น สรุปความตรงกันว่า Shoplifters เป็นหนังที่ ‘ขโมยหัวใจ’ ของผู้ชมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”

 

จาก ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ สู่ ‘ศาสดา’ ของเหล่าแฟน

 

โดย วรัญญา บูรณากาญจน์

“เวลาเรารักอะไร เราก็จะปกป้องสิ่งนั้น ยิ่งถ้าเขาทำตัวดี เขาก็จะยิ่งไม่มีจุดติได้ แต่พอเรารักเขาเหมือนรักพระเจ้า เราเลยเลือกที่จะมองแต่ด้านดีๆ ของเขา…”

วรัญญา บูรณากาญจน์ สำรวจและวิเคราะห์ที่มาที่ไปของ ‘วัฒนธรรมไอดอล’ ที่เฟื่องฟูขึ้นมาจากความนิยมในวง BNK48 พร้อมหาคำตอบว่าอะไรคือปัจจัยที่เปลี่ยน ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ ให้กลายเป็น ‘ศาสดา’ ได้ในช่วงเวลาอันสั้น

“หากมองว่าไอดอลคือสิ่งที่สะท้อนค่านิยมของสังคมในขณะนั้น อาจไม่แปลกนักที่เราจะเห็นภาพของสังคมชายเป็นใหญ่ สะท้อนออกมาจากไอดอลที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไทย ซึ่งหากไอดอลมีความ ‘เบี่ยงเบน’ ไปจากสิ่งที่เป็นค่านิยมของสังคมนั้นๆ ก็มักจะเกิดดราม่าอย่างที่เห็นในหลายกรณี”

“สำหรับเราที่เป็นอาร์มี่ (ชื่อกลุ่มแฟนคลับวง BTS) สมาชิกวงเป็นเหมือนเทพเจ้าเลยก็ว่าได้ เพราะพระเจ้าช่วยเราไม่ได้ แต่ไอดอลช่วยเราได้ ไอดอลมักจะออกมาให้กำลังใจ สอนให้เราเดินตามความฝัน อย่าง BTS นี่ชัดเจนเลย ออกมาพูดให้รักตัวเองและผู้อื่น ยิ่งกว่าคำสอนของคริสเตียนอีก พูดอย่างนี้อาจฟังดูเหมือนลบหลู่ แต่พระเยซูก็อาจเป็นไอดอลของคนเมื่อสองพันปีที่แล้ว เป็น Jesus อปป้า (หัวเราะ)”

“ไอดอลกลายเป็นรูปแบบที่ตอบรับความสุขในลักษณะที่เห็นผลมากกว่า การที่เราเอาเงินของตัวเองไปช่วยให้ไอดอลได้ตามความฝัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับความฝันนั้น อย่างการเลือกตั้งเซมบัตสึ ของ BNK48 ก็เป็นไอเดียของทุนนิยม เราต้องซื้อของให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ และการเลือกตั้งทำให้เราเห็นผลจากสิ่งที่ลงทุนไปอย่างชัดเจน…”

 

เปิดโนว์ฮาวดูแลคนป่วยติดเตียงด้วยชุมชน กับ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

 

โดย ธิติ มีแต้ม

สำหรับใครที่มีญาติพี่น้องนอนป่วยติดเตียงคงนึกถึงความทุกข์ยากในชีวิตได้เป็นอย่างดี

แล้วสำหรับผู้ป่วยที่ขาดคนดูแล ขาดกำลังทรัพย์ล่ะ

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล อดีต ผอ.โรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี คือคนที่คลุกคลีกับปัญหาดังกล่าวมาถึง 17 ปี จนถูกไฮไลท์ว่าสามารถสร้างระบบการดูแลผู้สูงวัย-คนป่วยติดเตียงได้ แม้ในพื้นที่ห่างไกล-กันดาร

อะไรคือวิธีคิดเบื้องหลังการปลุกปั้น “ลำสนธิโมเดล” การสร้างทีมสุขภาพที่ไม่ได้มีแค่หมอ แต่ยังหมายถึงคนในชุมชนและฝ่ายปกครองท้องถิ่นด้วยนั้นต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง และความท้าทายที่รออยู่ในอนาคต การยกระดับลำสนธิโมเดลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในประเทศนี้จะเป็นไปได้อย่างไร

“เรื่องคนแก่ยิ่งชัดเจนมาก มันคือ health กับ social sector ต้องมีนักบริบาลชุมชน health อย่างเดียวก็ไปไม่รอด แต่นักบริบาลไปโดยไม่มี health ก็ดูผิดดูถูก ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยต้องบูรณาการ ถ้าไม่ทำมันจะไปต่อลำบาก”

“คำว่าหมอไม่ได้หมายถึงแค่นายแพทย์ อาจจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัย หรือทีมสุขภาพที่ดูแลเขาได้ เปรียบประดุจกับเขาเป็นคนในครอบครัว รู้เรื่องราวรู้ชีวิตรู้ข้อจำกัด พูดคุยกันได้ เป็นหมอที่เชี่ยวชาญในตัวคุณมากที่สุด เพื่อจะนำปัญหาไปสู่การออกแบบในการแก้ปัญหาสุขภาพร่วมกัน”

 

กชกร วรอาคม : ภูมิสถาปนิกผู้ใช้ ‘พื้นที่’ บำบัดความป่วยไข้

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“กรุงเทพฯ อัดแน่นด้วยคน 10 ล้านคน จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีที่กรุงเทพฯ ถูกเติมเต็มด้วยคอนกรีต ด้วยตึก โดยไม่มีการคำนึงถึงพื้นที่ที่ต้องเว้นไว้ในเมืองเลย…”

“เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ แล้ง หยาบกระด้าง ต้นไม้น้อย มองไปรอบๆ เต็มไปด้วยคอนกรีตหรือสิ่งที่หยาบต่อผิวสัมผัส แล้วเราก็โตมากับโครงสร้างเมืองอันแข็งกระด้างนั้น เราเห็นน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่แย่ลงเรื่อยๆ ของเมือง มันเหมือนอยู่ในบ้านที่ค่อยๆ พังลง…”

“Central Park ในนิวยอร์ก เป็นโครงการในฝันที่เราอยากให้กรุงเทพฯ มีแบบนั้นบ้าง นี่คือสวนสาธารณะที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 150 ปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่พอเหมาะพอดีสำหรับเมืองนิวยอร์กในปัจจุบัน มันทำให้เมืองมีเรื่องเล่าอีกมุม เราเห็นเมืองที่พ่อแม่มาแฮงเอ้าท์ เด็กมีพื้นที่วิ่ง ครอบครัวไปปิกนิกกัน คนเราต้องต้องโตมาแบบนี้ คนถึงจะรักเมือง และเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกับเมืองอย่างไร”

“พื้นที่ที่ไม่ดีทำให้เราป่วย ป่วยจิตด้วย ไม่ใช่ป่วยกายอย่างเดียว”

101 คุยกับ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกผู้เชื่อว่า ‘พื้นที่’ ทางกายภาพสามารถบำบัดใจคน ส่วนพื้นที่ในจิตใจสามารถบำบัดร่างกายได้

เธอมีส่วนในการออกแบบพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่หลายแห่งในเมืองกรุง เช่น สวนบำบัดลอยฟ้าโรงพยาบาลรามาธิบดี, อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็เข้าไปบำบัดพื้นที่ในจิตใจคนผ่านงานศิลปะ ด้วยการก่อตั้งกลุ่ม Artfield ใช้ศิลป์บำบัดเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อนำไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยทั่วประเทศต่อไป

“การบำบัดผู้ป่วย ใช้กระบวนการแบบ expressive art เป็นการปลดปล่อยพลังงาน ความรู้สึกที่เก็บเอาไว้ ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานประเภทต่างๆ ศิลปะบำบัดมีความพิเศษกว่ากระบวนการบำบัดอื่นๆ เพราะเป็นการบำบัดที่สร้างชิ้นงาน โดยชิ้นงานที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนการเปิดประตูการสื่อสาร สร้างโอกาสในการถามแล้วรับฟังอย่างเปิดใจ เพราะบางทีการอธิบายด้วยคำพูดนั้นยาก…”

บทสนทนาต่อไปนี้ว่าด้วยเรื่องพื้นที่ และการเยียวยาผู้คนด้วยธรรมชาติ ในวันที่ปอดของกรุงเทพฯ อาจมีน้อยเกินไป

 

Interface Design ที่ทำให้ ‘ดนตรี’ กลายเป็นเรื่อง ‘เล่นๆ’

 

โดย Eyedropper Fill

คอลัมน์ #ThirdEyeView Eyedropper Fill เขียนถึง เครื่องดนตรียุคใหม่ที่ใครๆ ก็ ‘เล่น’ ได้ โดยการออกแบบ User Interface ประสานเข้ากับดนตรี ทำให้เครื่องดนตรีง่ายขึ้น

“หากนาย A อยากแสดงออกจินตนาการผ่านเสียงดนตรี ตามขั้นตอนแล้ว เขาแค่ต้องฝึกเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้น เมื่อมองเครื่องดนตรีที่เราใช้กันในปัจจุบัน เกินกว่าครึ่งเกิดขึ้นในยุคคลาสสิกเมื่อหลายศตวรรษก่อน และเกือบทั้งหมดออกแบบโดยนักดนตรีและช่างไม้ผู้ชำนาญ รูปลักษณ์และวิธีการเล่นของเครื่องดนตรีคลาสสิกจึงตอบจุดประสงค์สำคัญคือ ‘เสียงที่ดีที่สุด’ ส่วนเรื่องวิธีการใช้งานที่ง่ายและเป็นมิตรกับผู้เล่น กลับกลายเป็นเรื่องรอง”

“หรือแม้กระทั่งเครื่องดนตรีไฟฟ้าและอุปกรณ์ผลิตดนตรีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ การออกแบบที่นำโดยนักดนตรีและวิศวกร ทำให้หน้าตาของเครื่องดนตรีดูราวกับแผงควบคุมยานอวกาศ ที่ไม่แน่ใจว่ากดปุ่มผิดจะระเบิดมั้ย นั่นทำให้นาย A ต้องเสียเวลาศึกษาระบบที่ซับซ้อน กว่าจะสร้างสรรค์ดนตรีได้”

ดนตรีจึงไม่ใช่เรื่องของใครก็ได้อีกต่อไป ทันใดนั้นเอง เมื่อการออกแบบก้าวลงสนามแห่งดนตรี ทุกอย่างจึงเปลี่ยน

User Interface Design ทำให้ใครๆ ก็เข้าถึงดนตรีได้ เช่น TENORI-ON เพียง ‘วาดภาพ’ ลงไปบนพิกเซลก็อธิบายเสียงด้วยภาพได้, อุปกรณ์ทำเพลงรุ่น OP-1 ที่ทำให้ไม่ดูเป็นงานเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไป, Oddball ลูกบอลยางธรรมดา ที่ใช้เดาะกับพื้น เด้งกับผนังเพื่อเกิดเสียงตามความเบา-แรง ฯลฯ

 

Pinduoduo: เปิดโมเดลอีคอมเมิร์ซจีนสุดแนว

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เดิมทีหลายคนคิดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจีนที่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดอย่าง Alibaba และ JD.COM จะไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่

แต่ Pinduoduo ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็ก้าวสู่กิจการอีคอมเมิร์ซมูลค่าหลายพันล้านได้ กลายเป็นเว็บขวัญใจขาช็อปชาวจีนรายได้ต่ำที่เสาะหาสินค้าราคาถูก นับว่าเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซจีนที่มียอดขายเติบโตเร็วที่สุด พร้อมฐานลูกค้าเหยียบ 300 ล้านคนแล้ว”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง อีคอมเมิร์ซน้องใหม่ไฟแรงของจีนชื่อ Pinduoduo ที่ขึ้นแท่นครองยอดขายอันดับ 3 และเริ่มท้าทายยักษ์ใหญ่ Alibaba และ JD.COM ด้วยโมเดลธุรกิจสุดแนว ใช้แนวคิด ‘แชร์มากช็อปมาก ยิ่งถูกยิ่งมัน’

“Pinduoduo สวนกระแสคำแนะนำของกูรูธุรกิจทั้งหลายในจีน เพราะกูรูธุรกิจจีนต่างชอบพูดว่าจีนกำลังเข้าสู่ยุคของการ ‘ยกระดับการบริโภค’ ซึ่งเป็นแนวคิดว่าผู้บริโภคจีนยุคใหม่ไม่ต้องการสินค้าราคาถูก แต่ต้องการสินค้าคุณภาพและมีนวัตกรรมต่างหาก

Pinduoduo มาสวนกระแส โดยชี้ข้อเท็จจริงว่า ระดับการบริโภคในจีนยังมีความแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่และกลุ่มรายได้ ดังนั้น ยังมีคนจำนวนมหาศาลในจีนที่ต้องการ ‘ของถูก’ แต่ต้องเป็นของที่เชื่อถือได้ด้วย เช่น มีเพื่อนแนะนำ ซึ่ง Pinduoduo ตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน”

 

ฝึกอ่านความหมายมาใช้เปิดประเด็น

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ในวาระต้อนรับเปิดเทอมใหม่ ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนนักศึกษาฝึกอ่านความหมายของแนวคิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเขียนงานวิชาการ

“ความสามารถในการนำเสนอความคิดเห็นและข้อโต้แย้งคำอธิบายด้วยเหตุผลอย่างมีหลักวิชานี้ จริงๆ แล้วเป็นทักษะไม่เฉพาะแต่สำหรับการเขียนงานทางวิชาการ แต่ยังเป็นทักษะพลเมืองที่สำคัญมากสำหรับสังคมประชาธิปไตยทุกแห่งหน อย่างไรก็ดี วิชาทักษะพื้นฐานระดับนี้ไม่ได้ถึงกับตั้งวัตถุประสงค์ขนาดที่ว่าจะสำเร็จเป้าหมายอันใหญ่โตอย่างนั้นได้จากสิ่งที่สอนในวิชานี้เพียงเท่านั้นหรอกครับ คนสอนหวังกันเพียงว่าเมื่อถึงตอนปลายภาค นิสิตจะเขียนงานวิชาการเป็น สำเร็จได้แค่นี้ คนสอนก็ดีใจมากแล้ว”

ในบทความชิ้นนี้ ศุภมิตรยกเอาเรื่องการอ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์มาเป็นตัวอย่าง

“ว่าไปแล้ว อาจารย์คนสอนวิชาทางรัฐศาสตร์วิชาไหนๆ ก็ใช้แนวคิดอำนาจมาเปิดประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมด้วยกันทั้งนั้น จนนิสิตบางคนนึกคำตอบอะไรมาตอบข้อสอบไม่ทัน ก็เขียนขายผ้าเอาหน้ารอดเป็นคำตอบส่งไปก่อนว่าปัญหานั้นปัญหานี้ต้องพิจารณาที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ราวกับว่าเมื่อตอบด้วยคำตอบครอบจักรวาลแบบนี้แล้วจะเอาตัวรอดจากการสอบไปได้

แต่มักไม่รอดหรอกครับ ถ้าหากตอบมาเพียงแค่นั้น การจะเล่นกับอำนาจได้ถนัด หรือจะเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจออกมาให้เห็นกันชัดๆ ได้ ต้องรู้เป็นพื้นฐานก่อนว่าจะมองอำนาจอย่างไรได้บ้าง เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ว่านี้ ในทางรัฐศาสตร์/สังคมศาสตร์มีมากมายหลายรูปแบบ และมองแตกต่างกันไปได้มากตามแต่ความหมายของอำนาจที่เลือกมาใช้ ตรงนี้เองที่การเรียนนิยามความหมายของคำหรือแนวคิดในวิชาพื้นฐานให้ประโยชน์แก่เราได้ ยิ่งถ้าเรียนมาแน่นและแม่น จะใช้คิดอ่านอะไรแตกหน่อต่อยอดต่อไปได้อีกมาก”

 

101 Spotlights

สารคดี “ม้า มวย หวย หม้อ” โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ภาพถ่ายโดย ธิติ มีแต้ม

 

จากนางเลิ้งถึงสนามหลวง – แทงม้า ดูมวย เล่นหวย ตีหม้อ

 

ถ้าคุณกำเงิน 1,000 บาท แล้วต้องการจะเดินเที่ยวให้เห็นวิถีแบบ ‘ไทยๆ’ ที่มีทั้งภาพชีวิตให้เห็นตรงหน้า และลงลึกไปถึงฝุ่นที่อยู่ใต้พรมของประเทศ เส้นทางจากนางเลิ้งถึงสนามหลวง มีทั้งความบันเทิง การพนันเสี่ยงโชค และแหล่งโสเภณี ก็ครบถ้วนพอที่จะฉายภาพสังคมไทยในบางมุมได้

แม้ย่านนางเลิ้งจะดูเหงาในบางเวลา แต่กับสถานที่บางแห่งกลับยังคึกคัก เช่น สนามม้าและสนามมวย หรือถ้าเดินย้อนไปทางราชดำเนินหน่อย จะเห็นคนจำนวนมหาศาลที่กองสลากฯ โดยเฉพาะช่วงก่อนวันที่ 1 และ 16 ส่วนทางสนามหลวงและคลองหลอดก็คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและคนทำมาหากินตอนกลางคืน เป็นวิถีชีวิตคนบางกอกย่านพระนครที่มีมานานกว่าชั่วอายุคน

 

Creative Knowledge Video

I’m สมร 4.0

 

โดย ทีมงาน The101.world

การเล่นอินเทอร์เน็ตของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หลังจากที่คุณได้ดูคลิปนี้!!

——————————————-

คุณรู้หรือไม่ว่า คุณสามารถสูญเงินนับล้าน เพียงเพราะลืมตั้งค่าจำกัดความเป็นส่วนตัว!!
คุณรู้หรือเปล่า คุณอาจเสร็จมิจฉาชีพ เพราะการตั้งรหัสพาสเวิร์ดเหมือนกันในทุกเว็บสำคัญนั้นไม่ปลอดภัย!!
คุณรู้ไหม คุณอาจทำผิดกฎหมายการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้คุณจะให้เครดิตเจ้าของผลงาน!!!
แต่ในทางกลับกัน คุณก็สามารถอยู่รอด พร้อมสร้างโอกาสใหม่ได้อีกมากมาย
หากรู้ทันและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์

——————————————-

อย่ารอช้า เราขอแนะนำคุณให้รู้จักกับป้าสมร
ผู้ผ่านประสบการณ์การเอาตัวรอดในโลกดิจิทัลมาอย่างโชกโชน
โลกที่ป้าสมรเคยกล่าวไว้สั้นๆ ว่า
“อินเทอร์เน็ตพร้อมที่จะสร้างสรรค์และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณสร้างในพริบตา
ความรู้ด้านดิจิทัลจึงเป็นทักษะสำคัญในการปรับตัวให้อยู่รอด!!!”

อย่าเพิ่งบอกใครว่าคุณเล่นอินเทอร์เน็ตเป็น หากคุณยังไม่ได้ดูคลิปนี้

ช่วยป้าสมรแชร์
ถ้าคุณและคนรอบตัวอยากปรับตัวให้รอดในโลกยุคนี้

——————————————-

ศึกษาข้อมูลต่อเพิ่มเติมได้ที่ thaidigizen.com

 

รายการ 101 One-on-One

101 One-on-One Ep42 “เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ของคนทำสารคดี” – ณฐพล บุญประกอบ

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP42

:: LIVE :: “เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ของคนทำสารคดี” — ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับ “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” และหนึ่งในทีม ‘Young จะทำ’ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากใช้สารคดีเปลี่ยนแปลงสังคม

จากมือเขียนบทหนังค่าย GTH และหนึ่งในทีมงานหลักเบื้องหลัง “รู้สู้ฟลัด”

สู่นักเรียน Social Documentary Film ที่ School of Visual Arts, New York

ถึงวันนี้ ณฐพลเลือกเดินบนเส้นทางสารคดีเต็มตัว ผ่านผลงานที่หลากหลาย เช่น ‘Alex’ ที่เข้ารอบ shortlist ของ BAFTA Student Film Award, หนังสั้น ‘17’ บันทึกห้วงความคิดถึงชัยภูมิ ป่าแส และสารคดีจบการศึกษาว่าด้วยแวดวงศาสนาพุทธของไทย

ถามตอบกันสดๆ ถึงชีวิตการทำหนังและความคิดของคนทำสารคดีรุ่นใหม่ไฟลุก!, มุมมองต่อวงการสารคดีไทย-เทศ และก้าวต่อไปของเขา

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

101 One-on-One Ep41 “ความปรารถนาของนักเขียน” กับ อุทิศ เหมะมูล

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP41

:: LIVE :: “ความปรารถนาของนักเขียน” กับ อุทิศ เหมะมูล

ว่าด้วยหนังสือ ‘ร่างของปรารถนา’ ที่จะเป็นละคร, รางวัลศิลปาธร, ความเป็นนักเขียนในประเทศไทย และการทำหนังสือขายเอง

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

โตมร ศุขปรีชา ดำเนินรายการ

 

101 One-On-One Ep40 “พลวัตเศรษฐกิจการเมืองอาเซียน” กับ ปิติ ศรีแสงนาม

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP40

:: LIVE :: “พลวัตเศรษฐกิจการเมืองอาเซียน” กับ ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ

 

101 One-On-One Ep39 “Digital Culture and Law” กับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP39

:: LIVE :: “Digital Culture and Law” – โลกดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในมิติวัฒนธรรมและกฎหมายอย่างไรบ้าง

สนทนากับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำรวจประเด็นใหม่ในมิติวัฒนธรรมและกฎหมาย จากความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยไซเบอร์ ถึงการกำกับดูแลเนื้อหา และเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save