fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2563

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2563

 

 

‘เศรษฐกิจโรคระบาด’ : โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่หลังโควิด-19

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี เขียนถึงโมเดล ‘เศรษฐกิจโรคระบาด’ ของ Joshua Gans ที่นำเสนอการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบในโลกยุคหลังโควิด-19

จุดเด่นของงานชิ้นนี้คือ การผสมความคิดทางเศรษฐศาสตร์และระบาดวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อทำความเข้าใจทางเลือกเชิงนโยบายในภาวะวิกฤต

สำนักพิมพ์ MIT Press ในฐานะผู้จัดพิมพ์เขียนโปรยแนะนำหนังสือไว้ว่า “งานชิ้นนี้คือการถอยออกจากความโกลาหลระยะสั้น เพื่อมองให้เป็นระบบอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เพื่อตอบสนองต่อโควิด-19”

 

“ต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค” มองทางออกวิกฤต-โรดแมปเปิดเมือง กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์, วจนา วรรลยางกูร 

ถึงเวลาเปิดเมืองหรือยัง? เรา ‘เอาอยู่’ แล้วจริงไหม? COVID-19 จะมีระลอกสองหรือไม่?

101 ชวนหาคำตอบถึงกลยุทธ์ออกจากวิกฤตโรคระบาด กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้มีส่วนก่อร่างสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งเรื่องโรดแมปการเปิดเมือง มาตรการควบคุมโรคและ new normal ของสังคมหลังจากนี้

“กฎพื้นฐานของการเรียนแพทย์ คือ “First, do no harm” ไม่ใช่ว่าเราจะให้ยาแรงแค่ไหนก็ได้โดยไม่สนใจว่าผลลัพธ์ของยาจะเป็นอย่างไร หากเรารู้ว่ายาตัวนี้แรง ให้แล้วโรคหายจริง แต่สุดท้ายคนไข้อาจตายจากโรคแทรกซ้อนจากยาได้ ก็ต้องหยุด

“มาวันนี้การปิดเมืองคือยาแรง แก้โควิดได้ แต่ถึงจุดหนึ่งถ้ายาแรงตัวนี้ให้นานเกิดไปแล้วเกิดโรคแทรกซ้อนมา สุดท้ายคนไม่ได้ตายเพราะโควิด แต่ตายเพราะฆ่าตัวตาย หรือตายเพราะความยากจน”

“เราต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค เราต้องป้องกันคน ไม่ใช่ป้องกันโรค ปัญหาของผู้ป่วยอาจไม่ได้มาจากแค่โรคที่เรารักษาอยู่ วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจกำลังหนักขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ปัญหาโควิดเริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว ถ้ายังยืนยันว่าต้องปิดเมืองอีกหนึ่งเดือนจนกว่าจะไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยแต่เศรษฐกิจพังย่อยยับ ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด”

 

รัฐเหลวแหลกและความตายแปลกหน้า 

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

คนไทยมีการตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างเข้มข้น ทั้งการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ใส่หน้ากากอนามัย ระดมเงินช่วยเหลือ แจกจ่ายอาหารกันเอง

สาเหตุหนึ่งที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เห็นว่ามีส่วนสำคัญต่อปรากฏการณ์นี้ คือ ภาวะล้มเหลวของรัฐไทยต่อการเผชิญหน้าภัยพิบัติ

เมื่อรัฐไทยไม่ใช่เพียง ‘รัฐเปราะบาง’ แต่กำลังแปรสภาพเป็น ‘รัฐเหลวแหลก’ ทำให้ประชาชนตระหนักดีว่ารัฐบาลจะไม่มีความสามารถเพียงพอและยากที่จะรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ

 

เปิดคลาสฉุกเฉินกับ ทวิดา กมลเวชช : “วิกฤตจะแก้ได้ดีต่อเมื่อเวลาปกติคุณพัฒนา”

 

โดย ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี

“เราไม่เคยรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ข้อมูลไม่มี วิธีวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ไม่มี เพราะฉะนั้นนโยบายสาธารณะจึงตามหลังปัญหาตลอด พอเป็นแบบนี้เราจึงไม่ให้คุณค่ากับการลงทุนเพื่อทำในสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดในอนาคต”

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้หายสงสัยว่าในยามที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้น อะไรคือสิ่งที่รัฐควรทำหรือไม่ควรทำ

“ประเทศนี้ชอบการมีฮีโร่ ในการจัดการภัยพิบัติ เราไม่ถามหาฮีโร่ สิ่งนี้ไม่ค่อยมีใครรู้ ในการจัดการคุณตั้งใจเป็นฮีโร่ไม่ได้ สิ่งที่เรามองหาในการจัดการภัยพิบัติคือทีม ไม่ใช่ยอดมนุษย์”

 

“โควิดคงไม่มีแรงพอสำหรับปัญหารากเหง้าเดิมของระบบราชการ นี่เป็นความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยความที่โควิดเป็นวิกฤต รัฐอาจไม่ได้คิดว่าต้องไปแก้ระบบซึ่งเป็นรากฐานเดิมของวิกฤต”

 

อย่าอัดเงินเพื่ออดีต ต้องอัดฉีดอนาคต : สามจุดอันตรายและสามทางออกเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

ในระยะสั้น ให้ระวัง “บาซูก้าการคลัง” กลายพันธุ์ ไม่ให้กลายเป็น “บาซูก้าประชารัฐ” ไม่ให้เป็นกามิกาเซ่พลีชีพ พาคนไทยทั้งประเทศตายหมู่ และอาจเปลี่ยนบาซูก้าเป็น “บั้งไฟ” ที่เหมาะกับปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่

ในระยะกลาง ต้องอ่านกระแสเศรษฐกิจโลกให้ออก โดยเฉพาะบทบาทของเทคเฟิร์ม แนวโน้มปลาใหญ่กินปลาเล็ก และการพลิกผันของซัพพลายเชนโลก

และในระยะยาว นี่คือโอกาสดีในการแสวงหาฉันทมติใหม่เพื่อปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดนโยบาย นำปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคมสูงวัย และระเบียบโลก เข้ามาอยู่ในสมการเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

“เราต้องไม่ใช้งบประมาณมหาศาลที่เปรียบดัง ‘เงินก้นถุง’ ของประเทศเพียงเพื่อรักษาอดีต แต่ต้องใช้อัดฉีดเพื่อสร้างอนาคต”

You Must Stay At Home: มองสังคมอังกฤษผ่านมรสุม COVID-19

 

โดย ชลิดา หนูหล้า

ชลิดา หนูหล้า นักเรียนไทยในอังกฤษ เขียนเล่าบรรยากาศในอังกฤษช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ตั้งแต่ช่วงที่ผู้คนยังออกจากบ้าน รวมกันในที่สาธารณะเป็นปกติ จนถึงวันที่มาตรการปิดเมืองมาถึง

เมื่อรัฐสั่งให้ผู้คนอยู่บ้าน คำสั่งนี้สะท้อนภาพสังคมทั้งในฉากหน้าและวิธีคิดเบื้องหลังของผู้คนอย่างไรบ้าง

“ล่วงสู่ปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม การตรวจจับเชื้อและคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ท่าอากาศยานนานาชาติก็ยังไม่เข้มงวดนัก หลังความตระหนกและสับสนซึ่งนานกว่า 2 สัปดาห์ ในที่สุด ภาคเอกชนจึงตัดสินใจโดยพลการ ร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่งในเมืองปิดให้บริการชั่วคราว และร้านอาหารที่ผู้เขียนเป็นพนักงานซึ่งมียอดจำหน่ายต่ำลงมากก็ต้องประกาศลดจำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”

“เมื่อความเครียด ความสับสน และความไม่พอใจของผู้คนสุกงอม ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม มาตรการที่เด็ดขาดกว่าปกติจึงถูกบังคับใช้ โรงเรียนและร้านรวงถูกปิด พร้อมค่าจ้างชดเชย ก่อนประโยค You must stay at home ถูกกล่าวในวันที่ 23 มีนาคม ส่งผลให้สหราชอาณาจักรเข้าสู่ภาวะ ‘ปิดเมือง’ (lockdown) อย่างเกือบสมบูรณ์”

“การโดดเดี่ยวตนเอง ไม่ใช่ความรับผิดชอบต่ออะไรอื่น นอกจาก ‘ชีวิต’ ของผู้คน ‘stay at home’ จึงมีจุดประสงค์หลักเพื่อปกป้องชีวิตของผู้อื่น ของผู้ที่กำลังปกป้องชีวิตเหล่านั้น และของส่วน ‘รวม’ อันหมายถึงชีวิตอันหลากหลายในสังคมเดียวกัน”

“จากการขอความร่วมมือนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า ‘อะไร’ ถูกให้ความสำคัญในสังคมนั้นๆ”

 

แบงก์ชาติ-ตลาดการเงิน-เศรษฐกิจไทย-วิชาเศรษฐศาสตร์’ ท่ามกลางวิกฤตที่โลกไม่เคยเจอมาก่อน – พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

วิกฤตเศรษฐกิจที่มาพร้อม COVID-19 คือความท้าทายใหม่ที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจมหภาคของไทยในทุกมิติ รวมไปถึงภาคการเงิน และบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

ประเด็นที่ถูกจับตาและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ ‘มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน’ ผ่านกองทุน BSF ซึ่งมีวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท นับเป็นหนึ่งในการแทรกแซงครั้งสำคัญของแบงก์ชาติ ทั้งในมิติของมูลค่าและวิธีการ จนก่อให้เกิดวิวาทะใหญ่ในแวดวงการเงินและเศรษฐศาสตร์

มาตรการช่วยเหลือตลาดการเงินขัดกับหลักธนาคารกลางหรือไม่? เป็นนโยบายอุ้มคนรวยจริงหรือ? ทำไมธนาคารกลางต้องลงมือทำเอง? ต้นทุนของมาตรการนี้คืออะไร? ควรออกแบบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกอบมาตรการอย่างไรเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะให้ดีที่สุด? และถ้าสถานการณ์ไม่จบ ปัญหาเปลี่ยนจากสภาพคล่อง (liquidity) เป็นธุรกิจล้มละลาย (solvency) จะต้องทำอย่างไรต่อ?

101 ชวน ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด มหาชน และคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำ 101 มาเปิดชั้นเรียนเศรษฐศาสตร์การเงิน (และเศรษฐศาสตร์การเมือง) ของธนาคารกลาง พร้อมสนทนาเรื่องบทบาทใหม่ของธนาคารกลางกับการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19

 

เมื่อต้องเผชิญ COVID-19 หรือรัฐราชการจะพาเราไปสู่รัฐล้มเหลว?

 

โดย ชัชฎา กำลังแพทย์

COVID-19 ที่เกิดขึ้นได้เป็นบทพิสูจน์สมรรถนะของรัฐราชการไทย ที่มีลักษณะ ‘รวมศูนย์แบบแตกกระจาย’ วิกฤตครั้งนี้อาจนำไปสู่รัฐล้มเหลว เมื่อการทำงานในภาวะเช่นนี้ต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน

ชัชฎา กำลังแพทย์ เขียนถึงการขับเคลื่อนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพลังประชารัฐ ที่มีการรวมศูนย์อำนาจเข้ามายังรัฐราชการที่อ่อนแอและปรับตัวรับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ยาก

“รัฐราชการไทยที่รวมศูนย์แบบแตกกระจายและเป็นกรมาธิปไตยเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คาดฝัน ยากต่อการรับมือ เนื่องจากขาดการสื่อสารและการทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ ไม่สามารถปรับตัวสอดรับความท้าทายหรือปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่นการระบาดของไวรัสโคโรนาในขณะนี้ และอาจพารัฐไทยไปสู่รัฐล้มเหลว อาการกรมาธิปไตยในห้วงวิกฤตนี้มีตัวอย่างชัดเจนจากการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทย”

 

COVID-19 และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ถูกท้าทาย

 

โดย ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศของวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กลายเป็นภัยคุกคามแบบใหม่

เป็นไปได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะส่งผลให้ความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยถูกท้าทาย เมื่อการแข่งขันของสองมหาอำนาจโลกหลังสถานการณ์โรคระบาดจะถูกกำหนดโดยความสามารถในการรับมือและการฟื้นฟูตัวเอง และอาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของค่านิยม ‘เสรีประชาธิปไตยตะวันออก’

 

Itaewon Class: ห้องเรียนว่าด้วยความแปลกแยก อิสรภาพ และความพันทาง

 

โดย จักรกริช สังขมณี

ตามรอยพัคแซรอย จากซีรีส์ Itaewon Class ไปสำรวจ “อิแทวอน” ย่านที่เคยเป็นทั้งที่ตั้งฐานทัพของทหารสหรัฐฯ ย่านซื้อขายบริการทางเพศ สถานที่พบปะสังสรรค์ของ LGBT และย่านของชาวมุสลิม

จักรกริช สังขมณี ชวนย้อนทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อิแทวอน ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม ในคอลัมน์ #ชาติพันธุ์ฮันกุก

 

ความเหลื่อมล้ำหลายเสี่ยง เมื่อโควิดปิดเมือง: ผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย

 

โดย เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ศุภนิจ ปิยะพรมดี, พรพจ ปรปักษ์ขาม, นฎา วะสี

นโยบายปิดเมืองส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างไร ใครเสี่ยง ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างไร

4 นักเศรษฐศาสตร์จาก 4 สถาบันวิชาการ – เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ศุภนิจ ปิยะพรมดี, พรพจ ปรปักษ์ขาม และนฎา วะสี – เปิดผลงานวิจัยใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจไทยผ่านข้อมูลล่าสุด

 

‘Family We Choose’ : ครอบครัวในสายตา ‘เรา’ และสายตา ‘รัฐ’ กับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ไม่มีใครไม่มีครอบครัว ทุกคนมีครอบครัวหมด แต่เป็นครอบครัวที่มีหน้าตาในแบบของคุณ สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น สิ่งที่แคร์ อาจไม่ตรงกับภาพครอบครัวแบบที่คนอื่นว่า แต่ไม่ได้แปลว่าคุณไม่มี”

101 สนทนากับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องนิยามครอบครัวในสังคมไทย ทั้งต้นตอของนิยามที่จำกัดรูปแบบชีวิต การออกแบบนโยบายของรัฐที่สะท้อนการตีความครอบครัว ผลกระทบของนิยามครอบครัวที่มีต่อผู้คน ไปจนถึงมิติเรื่องเพศที่แฝงอยู่ในทุกแง่มุมครอบครัว

“พลเมืองของคุณต้องเป็นสามีของใครบางคน ต้องเป็นภรรยาของใครบางคน ต้องเป็นลูกของใครบางคน ต้องมีสถานะอยู่ในครอบครัวแบบที่ว่านี้ แล้วคุณก็ออกแบบนโยบายสาธารณะและการให้บริการทั้งหมดตามนี้ จึงทำให้มีคนตกหล่นไปเยอะมาก หรือไม่ก็เป็นการไปบังคับพลเมืองให้มีวิถีชีวิตบางอย่าง”

“การที่คนอยู่กันเป็นครอบครัว แล้วไม่ได้รู้สึกเอื้ออาทร ไม่ได้อยากช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กระทั่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างสามีภรรยา ถ้าคุณไปดูกฎหมายของรัฐให้ดี คุณจะพบว่ารัฐไม่ค่อยปล่อยให้คนที่กระทำความรุนแรงต่อกันหลุดออกไปจากหน่วยนั้นได้ง่ายๆ เพราะรัฐรู้สึกว่าหน่วยครอบครัวพ่อแม่ลูกคือหน่วยพื้นฐาน ที่จะทำให้สังคมเข้มแข็ง”

“เราคาดหวังว่าผู้หญิงต้องทำได้ทุกอย่าง เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง มันยิ่งสร้างปัญหา มนุษย์เพศสภาพหญิงที่เล่นบทบาทแม่ ทุกคนจะรู้สึกผิดตลอดเวลา เพราะทำอะไรก็ไม่สมบูรณ์ ต้องแบ่งเวลา และแบ่งแรงในแต่ละบทบาท จนมีความรู้สึกว่าฉันไม่ใช่แม่ที่ดี”

“ลองคิดให้ดีๆ ว่าใจคุณอยู่ที่ไหน อาจจะไม่ได้อยู่ในครอบครัวแบบที่รัฐบอกเลยก็ได้ คนที่คุณนับญาติด้วย คนที่คุณรู้ว่าเขาใส่ใจเอื้ออาทรคุณ อาจจะไม่ได้ผูกพันกับคุณทางสายโลหิตเลยก็ได้ แต่ต้องเป็น ‘family we choose’ ทั้งรัฐและคนอื่นๆ ในสังคมต้องเข้าใจเช่นนี้ให้ได้”

 

วิกฤตการณ์โคโรนา : ไวรัสทลายระบบโลก

 

โดย มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer)

วิกฤตการณ์โคโรนากำลังก่อให้เกิดคลื่นกระแทกทะลุทะลวงทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สภาวะดั้งเดิมไม่อาจดำเนินต่อไปได้อีกแล้ว

ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อะไรคือหน้าต่างสู่อนาคตอันเปิดกว้าง ทำไมสังคมประชาธิปไตยคือคำตอบ

ชวนตั้งคำถามและค้นหาคำตอบแห่งยุคสมัย ผ่านบทความ “วิกฤตการณ์โคโรนา : ไวรัสทลายระบบโลก” (How corona broke the system) ของ มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung : FES) อดีตผู้อำนวยการประจำประเทศไทย และผู้เขียนหนังสือ “สังคมไทยในวังวนแห่งวิกฤตเปลี่ยนผ่าน” (In the Vertigo of Change: How to Resolve Thailand’s Transformation Crisis)

 

วอนขอความร่วมมือ

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

จริยธรรมและความคิดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นเรื่องที่สร้างได้ตั้งแต่เด็กปฐมวัยจนถึงระดับรัฐ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนมองประเด็น ‘การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม’ ในห้วงเวลาที่เสียงเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนยากจนดังระงม เมื่อมีประกาศปิดกรุงเทพฯ โดยไม่มีแผนรองรับ ช่วง 14 วันที่ไม่มีงานทำ ไร้ค่าจ้าง และไม่มีเงินพอจะตุนอาหาร ทำให้คนจำนวนมากกลับบ้านต่างจังหวัด โดยขัดหลัก social distance

“จะเห็นว่าการคิดถึงส่วนรวมมิใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลแต่เกิดจากกติกาที่เป็นธรรมด้วย ลองคิดดูว่าคนหนึ่งโกงกินสารพัดแล้วทำ ‘ทาน’ กับอีกคนหนึ่งยากจนข้นแค้นเงินทองแทบไม่พอยาไส้ไม่มี ‘งาน’ ทำ เราควรจะเรียกร้องหาความเสียสละจากใครก่อน?”

 

ภาษามลายูกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1)

 

โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงที่มา พัฒนาการ และความสำคัญของภาษามลายูต่อการเมืองและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ได้อธิบายไว้ใน ‘ชุมชนจินตกรรม’ ว่า ภาษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สร้างสำนึกร่วมหรือจินตกรรมร่วมเกี่ยวกับชาติของผู้คนในสังคมขึ้นมา

“การที่เจ้าอาณานิคมให้คนพื้นเมืองใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางทำให้ภาษามลายูค่อยๆ พัฒนา และกลายเป็นภาษาที่มีมาตรฐานขึ้นจากภาษามลายูตลาดที่เคยใช้กันก่อนหน้าการมาถึงของอาณานิคม”

 

ลูกไก่ในสองกำมือ ชีวิตคนไทยเมื่อคราวห่าลง

 

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง มองการแก้ปัญหาโควิดของประเทศไทยด้วย ‘พรรคราชการ’ ที่เกิดจากการออกแบบสถาบันการเมืองจนกลไกการเมืองเป็นอัมพาต

ปัญหาของอำนาจฉุกเฉินภายใต้รัฐราชการไทยมีสองประการ 1.วิธีคิดของรัฐไทยต่อสิทธิเสรีภาพ 2.ลักษณะรัฐราชการไทยที่รวมศูนย์แต่ไม่เป็นเอกภาพ

“ในยามที่ผู้นำหลายชาติออกมาเรียกร้องให้เพื่อนร่วมชาติเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน แต่สถานการณ์ในไทยกลับตรงกันข้าม ผู้นำดุด่าประชาชนเหมือนตัวเองไม่เคยทำอะไรผิด

“การที่ประชาชนด่าทอรังเกียจเดียดฉันท์เพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกันเองก็ดี การตามไปสอดส่องว่าใครได้เงินช่วยเหลือแล้วเอาไปใช้สุรุ่ยสุร่ายแล้วเอาไปฟ้องรัฐก็ดี ไม่ได้เกิดเพราะขาดความรู้ในโรคภัยเท่านั้น แต่สะท้อนความรู้สึกลึกๆ ว่ารัฐไทยไม่สามารถดูแลทุกชีวิตได้ จึงเกิดภาวะตัวใครตัวมัน ทะเลาะแย่งชิงทรัพยากรกันเอง”

 

ธุรกิจจีนรับมือ COVID-19 อย่างไร?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

วิกฤต COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคธุรกิจที่ต้องทำการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เพื่อรับมือกับวิกฤตนี้

อาร์ม ตั้งนิรันดร ชวนถอดบทเรียนการรับมือ COVID-19 จากภาคธุรกิจจีน ที่ปรับตัวรวดเร็ว เป็นแบบเชิงรุก และแสวงหาลู่ทางการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

 

ปิดโรงเรียน เปลี่ยนอนาคต : โลกการศึกษาหลังเผชิญไวรัส COVID-19

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทวีความรุนแรงเกือบทุกหนแห่ง รัฐบาลกว่า 100 ประเทศทั่วโลกก็ได้ตัดสินใจประกาศปิดสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว”

“แต่ในเมื่อระบบการศึกษาส่วนมากยังคงขับเคลื่อนด้วยโรงเรียนและมหาวิทยาลัย หลังจากขาดพื้นที่ตรงนี้ไป โลกการศึกษาจึงดูเหมือนจะ ‘หยุดชะงัก’ ตามไปด้วย”

101 ชวนสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ไปจนถึงแวดวงการศึกษาในอนาคตว่าจะดำเนินไปและมีทิศทางอย่างไรหลังวิกฤต COVID-19

 

กงล้อกำลังหมุนไป : “ทรอม่า-ฆ่าตัวตาย-ครอบครัวสลาย” ในยุค COVID-19

 

โดย ธิติ มีแต้ม, ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ในวัยย่าง 60 ปี นางเย็นเปลือยอารมณ์ชีวิตคู่ในยุคสมัยที่ไวรัสโควิดลามไปเข้าไปในบ้านว่า “ไม่ต้องฝันอะไรมาก ลูกเต้าก็โตเอาตัวรอดไปหมดแล้ว คนเรามันจะทนได้แค่ไหนกันเชียว ขนาดเหล็กยังถูกสนิมกินได้ นับประสาอะไรกับคน”

“บ้านเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด” จริงหรือไม่ 101 ชวนสำรวจปัญหาอันเปราะบางในสังคมไทย เมื่อยุคสมัย COVID-19 กำลังเร่งอัตราความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว

ข้อมูลระบุว่าในปี 2563 มีประชาชนแจ้งว่าโดนกระทำความรุนแรงในครอบครัวถึง 154 รายในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นจาก 144 รายในเดือนกุมภาพันธ์ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน ก็คือช่วงรัฐบาลประกาศให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว บอกว่า “พ่อแม่ที่ขาดรายได้ในหลายอาชีพ ลูกก็จะซึมซับความเครียดของพ่อแม่ไปด้วย และหากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเกิดใช้ความรุนแรงต่อกันและต่อเด็กด้วย สิ่งที่ตามคือภาวะบาดเจ็บทางใจหรือทรอม่า (trauma) หากเกิดขึ้นแล้วมันจะติดตัวไปในระยะยาว”

 

เมืองหลังโรคระบาด

 

โดย อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

“การขาดพื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่เรื่องของชนชั้นกลางไม่มีสวนสาธารณะไว้วิ่งออกกำลังกาย แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ในการทำมาหากินของคนจน ความลำบากบนรถไฟฟ้าบีทีเอสเทียบไม่ได้กับรถเมล์แดง ความเสี่ยงที่มาจากพื้นที่แออัดจึงไม่ได้เป็นโจทย์ใหม่แต่อย่างใด”

คอลัมน์ #เมืองกลายพันธุ์ ตอนใหม่ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เขียนถึง เมืองหลังโรคระบาด อธิบาย ‘ความปกติใหม่’ ที่ต้องพิจารณาสภาพและโครงสร้างที่เป็นอยู่ก่อนเกิดโรคระบาด และต้องเป็นความปกติใหม่ที่ขยายภาพไปไกลกว่าวิถีชีวิตของชนชั้นกลาง

 

Spotlight ประจำเดือนเมษายน 2563

 

This is My Family ครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม

 

101 Spotlight : This is My Family ครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม

ถ้าเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปในคาบวิชาศิลปะช่วงประถม นอกจากภาพทุ่งนาที่มีดวงอาทิตย์ครึ่งดวงหลบอยู่หลังภูเขาสองลูกแล้ว ภาพครอบครัวก็เป็นหนึ่งในความ ‘คลาสสิก’ ที่เด็กทุกคนต้องเคยวาด

ภาพพ่อแม่ลูกจูงมือกัน มีลูกอยู่ตรงกลางเป็นกล่องดวงใจ ใบหน้าทุกคนมีรอยยิ้มและเชื่อมสัมพันธ์ด้วยมือที่ประสานกันแน่นแฟ้น กลายเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตาเมื่อโจทย์คือภาพวาดครอบครัว

แต่ในความจริง ไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีพ่อแม่คอยเดินจูงมือ ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีคู่ครองเป็นผู้ชาย และไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่มีผู้หญิงช่วยเลี้ยงลูก ฯลฯ ความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นหลากหลาย และความหมายของครอบครัวก็ยากที่จะนิยาม

ครอบครัวถูกนับให้เป็นสถาบันที่สำคัญของประเทศ ถูกยกเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมที่เป็นรากฐานของผู้คน ถูกคาดหวังให้เป็นพื้นที่ฟูมฟักให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม ดังนั้นการจะพัฒนาคนจึงต้องพัฒนาครอบครัวให้สมบูรณ์ก่อน แต่คำถามสำคัญก็คือ ครอบครัวที่สมบูรณ์คืออะไร

พ่อแม่ลูกที่อยู่กันในบ้านหลังใหญ่ มีพื้นที่สวนหน้าบ้านให้วิ่งเล่นกับหมาพันธุ์ดี อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาในทุกมื้ออาหาร และมีเวลาออกไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างในวันหยุด อย่างนั้นใช่ไหม?

แน่นอน ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่เป็นแบบนี้ และยิ่งเปลี่ยนรูปแบบไปมาก เมื่อวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจและลักษณะทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวเกิดขึ้นหลากหลาย ทั้งครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวผู้สูงอายุที่เพิ่งมาอยู่ด้วยกันยามชรา ครอบครัวแหว่งกลาง คู่รักเพศเดียวกัน คนที่เลือกจะอยู่คนเดียว ฯลฯ ทั้งหมดนี้หากมองในกรอบของคำว่าครอบครัวสมบูรณ์ อาจจะไม่ใกล้เคียงนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความสุข

การมองภาพครอบครัวด้วยสายตาแบบใหม่ และการออกแบบนโยบายให้ทันความเป็นจริงจึงสำคัญ

คำว่า ‘ครอบ’ มีความหมายว่า ‘เอาของที่มีลักษณะคลุ่มๆ คล้ายขันควํ่าปิดงำไว้’ ในช่วงเดือนแห่งครอบครัวนี้ 101 อยากชวนผู้อ่านยกเอาสิ่งที่ ‘ครอบครัว’ เอาไว้ แล้วขยายมุมมองไปสู่ ‘ครัวเรือน’ แบบใหม่ ที่หลากหลายจนไม่อาจนิยาม ผ่านสกู๊ป บทสัมภาษณ์ และบทความตลอดเดือนเมษายนนี้

ร่วมค้นหาว่าอะไรคือ ‘This is My Family’ และนโยบายแบบไหนที่จะทำให้ทุกคนมีความสุขได้ไปด้วยกัน

 

COVID-19: โรคเปลี่ยนโลก

 

เมื่อ ‘โรค’ กำลังเปลี่ยน ‘โลก’ เราจะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร

101 ชวนอ่านบทวิเคราะห์ว่าด้วย COVID-19 อันหลากหลายมิติของนักคิดไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่มิติด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อวางแผนชีวิตกันใหม่

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนเมษายน 2563

 

ปรีดี ทักษิณ อภิสิทธิ์ ใครเป็นใครในตระกูล ณ ป้อมเพชร์

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึง ความเป็นมาของตระกูล ณ ป้อมเพชร์ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี 3 นายของไทย คือ ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456”

“เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

“พจมาน ดามาพงศ์ แต่งงานกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้ พินทองทา และแพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว เธอเลือกกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา”

 

บทสนทนาหน้าเขียงกับ ‘รุจิรา จารุพันธ์’ ถึง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ ในนามสามี กวี พ่อค้า และพ่อ

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ตอนเขาขึ้นเวทีเราไม่ได้ต่อต้าน ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่มีช่วงหนึ่งที่เขาพูดเองว่าจะเลิกแล้ว ไม่ไปแล้ว เขาคงมีความกดดันบางอย่าง แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ จนครั้งสุดท้ายเขาบอกว่า เขาถอนตัวออกมาไม่ได้แล้ว มีคนที่เขาต้องช่วยเหลืออีกเยอะ”

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ รุจิรา จารุพันธ์ ภรรยา ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ กวีผู้ล่วงลับ ถึงความทรงจำของคนรักและครอบครัว 5 ปีหลังสามีจากไป เธอลาออกจากงานบริษัท กลับมาช่วยงานที่ร้านข้าวหน้าเป็ดของครอบครัวย่านราชวัตร ถือปังตอยืนหน้าเขียงแล้วมองจากมุมมองเดียวกับที่สามีเคยมอง ลองเลาะสับเป็ดเสิร์ฟลูกค้า ก่อนพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราทำงานอยู่ออฟฟิศ น้องชายไผ่โทรมาหาว่ารู้ข่าวรึยัง เราถามว่าข่าวอะไร เขาบอกว่าพี่ไผ่โดนยิง เราก็อึ้งไป สมองเบลอ งง น้องไผ่ยังไม่เห็นข่าวในทีวี แต่มีเพื่อนโทรมาบอก เขาเลยโทรมาหาเรา”

“คิดเหมือนกันนะว่าคดีจะหมดอายุความในกี่ปี ช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปีนี้ถามไปก็คงไม่ได้อะไรกลับมา”

“ไผ่เป็นคนต่อสู้ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ตอนอยู่ที่ร้านเขาเห็นอกเห็นใจลูกน้อง เพราะมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เขาปฏิบัติกับลูกน้องแบบชนชั้นเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกเจ้านายลูกน้อง”

“เขาไม่ได้เปรียบเทียบว่าเป็นนักเขียนแล้วจะสร้างครอบครัวไม่ได้ แต่พูดว่า “แบบนี้แหละ เป็นพ่อค้าด้วยเขียนหนังสือไปด้วย” ตอนเขาอยู่ที่ร้าน ต้องมีสมุดหรือกระดาษตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ตรงเขียงหรือห้องครัว มือก็ทำงานไปแต่หัวก็สร้างสรรค์ผลงานตลอด”

 

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

 

โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“เมื่อตะวันลับขอบฟ้า บริเวณถนนสีลมจะแน่นหนาไปด้วยผู้คนที่มีจุดหมายต่างกัน หนึ่งคือเหล่าพนักงานบริษัทซึ่งกำลังเดินทางกลับบ้าน เหล่านักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าสู่โรงแรม ร้านอาหาร ผับบาร์ พ่อค้าแม่ขายบนถนนพัฒน์พงษ์ และท้ายสุดคือเหล่า ‘ผู้ชายขายบริการ’ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่สถานทำงานที่กระจัดกระจายอยู่รายรอบถนนสีลม”

“อย่างไรก็ดี ยังมีพนักงานบริการชายจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชาย บางคนมีลูกมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องเดินเข้าสู้เส้นทางนี้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากพนักงานบริการที่เป็นชาวไทยแล้ว ยังมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวต่างชาติด้วย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำอาชีพนี้ ทั้งจากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม”

“แม้ส่วนใหญ่พนักงานบริการชายจะเข้าสู่อาชีพนี้ความสมัครใจ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธุรกิจการค้าบริการทางเพศเช่นนี้จะปราศจากการค้ามนุษย์อย่างสิ้นเชิง บนหน้าหนังสือพิมพ์ยังปรากฏให้เห็นการลอบค้ามนุษย์ของผู้มีอิทธิพลอยู่เป็นระยะ ยังไม่นับการโดนกดขี่เหยียดหยาม ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

 

ไขปริศนา วาระสุดท้าย ‘พระเจ้าตาก’ : ประหารจริง หรือจัดฉาก?

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“เมื่อพูดถึง ‘พระเจ้าตาก’ หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สิ่งที่คนรับรู้โดยทั่วไปคือภาพของวีรกษัตริย์ ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง”

“ครั้นเวลาล่วงมาหลายร้อยปี ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากบางแง่มุมที่คลุมเครือ โดยเฉพาะชุดเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันว่า พระเจ้าตากสติวิปลาสและถูกประหารชีวิตจริงหรือไม่?”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เก็บประเด็นจากวงเสวนาย่อยงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 เรื่อง “250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา – สถาปนากรุงธนบุรี” ในหัวข้อ ‘อวสานพระเจ้าตาก : จากพงศาวดารถึงวรรณกรรมปัจจุบัน’ (บรรยายโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ผู้เขียนหนังสือ ‘การเมือง เรื่องเล่า พระเจ้าตาก หลัง 2475’ ) นำเสนอที่มาที่ไปของ ‘เรื่องเล่าและการสร้างความหมาย’ เกี่ยวกับ ‘พระเจ้าตาก’ ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะฉากสำคัญในบั้นปลายชีวิต

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนเมษายน 2563

 

101 One-On-One Ep.113 : “เศรษฐกิจโลกและไทยหลัง COVID-19”

 

โดย 101 One-On-One

– เศรษฐกิจโลกและไทยในอนาคตหลัง COVID-19 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

– ทำอย่างไรให้นโยบายเศรษฐกิจสู้วิกฤตช่วยทลายกำแพงที่เศรษฐกิจไทยเคยข้ามไม่ได้

– โลกแห่งความเหลื่อมล้ำจะต่างจากเดิมอย่างไร และเราต้องคิดใหม่เรื่องการจัดการความเหลื่อมล้ำอย่างไร

– โลกดิจิทัลเปลี่ยนไปอย่างไรหลัง COVID-19

101 ชวน ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist ของ Sea Limited (AirPay, Shopee และ Garena) และเจ้าของหนังสือ “Futuration – เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต” ตอบโจทย์ท้าทายข้างต้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติด้านดิจิทัล

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-On-One Ep.117 : “ทุกข์สามเท่าชาวเชียงใหม่ : ไฟ ฝุ่น โควิด”

 

โดย 101 One-On-One

เชียงใหม่เจอวิกฤตทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ — ฝุ่น PM 2.5, ภัยแล้ง, COVID-19 ระบาด และไฟป่า วิกฤตต่างๆ ที่เชียงใหม่สะท้อนปัญหาอะไรในสังคมไทย และทางออกในเชิงโครงสร้างและคำตอบระยะยาวที่ยั่งยืนอยู่ตรงไหน

101 ชวน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณหมอนักอนุรักษ์ นักดูนก และนักสื่อสารเรื่องธรรมชาติ มาสนทนาเรื่องทุกข์ชาวเชียงใหม่ที่เป็นเรื่องใหญ่ของทั้งสังคมไทย

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-On-One Ep.119 : เจาะอีสาน ดูวิกฤต COVID-19 และภัยแล้ง กับ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

 

โดย 101 One-On-One

หลังมาตรการปิดเมือง และงดการรวมกันในที่สาธารณะ แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องกลับบ้านเพราะไม่มีงานในเมืองให้ทำอีกต่อไป ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือการขาดรายได้ ภาคอีสานคือหนึ่งในพื้นที่ที่มีแรงงานจำนวนมากกลับบ้าน รวมกับปัญหาภัยแล้งและตัวเลขเศรษฐกิจที่ตกต่ำในพื้นที่อีสาน ปัญหาที่ถาโถมเข้ามากระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง

101 ชวน ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีสานมาอย่างยาวนาน มาคุยเรื่องโควิด-19 ในภาคอีสาน และผลกระทบจากนโยบายรัฐ รวมถึงเจาะปัญหาภัยแล้ง ภาพจริงเป็นแบบไหน สาเหตุปัญหาคืออะไร และเราควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบไหน

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย กองบรรณาธิการ The101.world

 

101 One-On-One Ep.123 : “สหรัฐอเมริกาในสมรภูมิ COVID-19”

 

โดย 101 One-On-One

ถึงวันนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสมรภูมิ COVID-19 ทั่วโลก

อะไรคือสาเหตุของความล้มเหลวในการรับมือวิกฤตไวรัสเปลี่ยนโลก, COVID-19 เปลี่ยนการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างไร, การเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้จะเดินไปทางไหน และวิกฤตครั้งนี้เขย่าระบบทุนนิยมโลกจนต้องหาทางออกใหม่อย่างไร

101 ชวน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของสหรัฐอเมริกา และคอลัมนิสต์เรื่องการเมืองอเมริกันประจำ The101.world ตอบคำถามท้าทายข้างต้น

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 One-On-One Ep.126 : “สแกนดิเนเวียในสมรภูมิ COVID-19”

 

โดย 101 One-On-One

เรามักเข้าใจกันว่าสแกนดิเนเวียเป็นกลุ่มประเทศที่มีโมเดลดีๆ หลายเรื่อง ทั้งรัฐสวัสดิการ การศึกษา เทคโนโลยี พลังงานสะอาด แต่ความเจริญเหล่านี้กำลังถูกท้าท้ายจากโควิดอย่างไร

101 คุยกับ “ปรีดี หงษ์สต้น” นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และคอลัมนิสต์ประจำ The101.world ผู้ใช้ชีวิตที่สวีเดนมากกว่าเมืองไทย

ไล่ตั้งแต่ประเด็นเชิงประวัติศาสตร์ สแกนดิเนเวียเคยผ่านวิกฤตโรคระบาดมาอย่างไร ไปจนถึงประเด็นอย่าง Exit Strategy ที่กำลังเป็นวาระหลัก ทั้งสวีเดนและสแกนดิเนเวียคุยเรื่องนี้อย่างไร

ดำเนินรายการโดย ธิติ มีแต้ม บรรณาธิการ The101.world

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “COVID-19 ปะทะสันติภาพชายแดนใต้”

 

โดย ธิติ มีแต้ม และ เมธิชัย เตียวนะ

เมื่อ COVID-19 บุกปะทะสันติภาพชายแดนใต้ อะไรคือข้อกังวลที่ซ่อนอยู่ภายใต้การใช้กฎหมายความมั่นคงมานานกว่าทศวรรษ

101 ชวนฟังบทวิเคราะห์จาก รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ผ่านรายการ SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “COVID-19 ปะทะสันติภาพชายแดนใต้”

ตั้งแต่โจทย์เรื่องอัตลักษณ์ของชาวบ้านมลายู, การประกาศหยุดปฏิบัติการชั่วคราวของกลุ่มติดอาวุธอย่าง BRN, การใช้กฎหมายความมั่นคงเข้าจัดการประเด็นทางสาธารณสุข ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามที่ว่ารัฐไทยจะมีบทบาทอย่างไรในอนาคต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save