fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2562

 

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

 

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อผลคะแนนหลังปิดหีบระบุที่นั่ง ส.ส. ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกัน ทะยานขึ้นไปสู่อันดับที่ 3 ซึ่งพ่วงมาพร้อมสารพัดคำขู่และคดีความจากผู้มีอำนาจ

101 ชวน ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคฯ มาอ่านปรากฏการณ์แห่งชัยชนะก้าวแรกของพรรคการเมืองที่ประกาศทิ้งการเมืองแบบเก่า และการเริ่มต้นปฏิบัติการสร้าง “อนาคตใหม่” โดยมียิ่งชีพ อัชฌานนท์ แห่ง iLaw เป็นผู้ชวนสนทนาอย่างออกร

“ในฐานะพรรคใหม่ ทุกพื้นที่ทุกกลุ่มเป็นเป้าหมายทั้งหมด เหตุผลที่ทำให้เราได้รับชัยชนะ ผมคิดว่าที่สำคัญที่สุดเป็นเพราะเราสามารถแสดงออกให้ประชาชนเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และความชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง เราสามารถแสดงออกให้เขาเห็นว่าเราทำการเมืองแบบใหม่ที่ประชาชนหลายส่วนคาดหวังและรอคอย”

“เราไม่ได้ใช้การตลาดเป็นหลัก กลยุทธ์ทางการตลาดเป็นเพียงเครื่องมือ เราพยายามเป็นตัวของเองให้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดจากกลยุทธ์ทางการตลาด แต่กำหนดจากคำถามว่าเราเป็นใครและเราต้องการอะไร”

“ผมบอกทีมงานว่า นี่ถ้าเป็นนักการเมือง เราคงเรียกใครก็ได้เข้ามาคุยที่พรรค แต่เราทำการเมืองแบบใหม่ เราต้องเข้าไปหาผู้คนเขา เราไม่ได้เริ่มจากโซเชียลมีเดีย เราเริ่มจากสิ่งที่จับต้องได้เป็นคนจริงๆ จนทุกวันนี้เรียกได้ว่า อนาคตใหม่ทำงานด้วยอาสาสมัครเป็นหลัก ในแต่ละจังหวัดเราจ้างพนักงานแค่คนเดียว ที่เหลือบรรดากรรมการจังหวัดกรรมการสาขาพรรคเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น”

“เวลามีคนเรียกว่า ‘ท่านธนาธร’ เราก็จะย้ำตลอดเวลาว่าในพรรคอนาคตใหม่ เราไม่ใช้คำแบบนั้น เราไม่มีการเรียกกันว่า ‘ท่าน’ เรียกกันว่า ‘คุณ’ ก็พอ แค่เรื่องเล็กๆ อย่างภาษามันก็กำหนดความคิดได้ เราต้องแก้เรื่องนี้”

“พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาด้วยบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคม ต่อให้เรามีเก้าอี้สัก 300 เสียง เราก็ไม่สามารถผลักดันความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าได้ ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะความคิดทางสังคมได้”

 

เล่นพระเครื่อง เขียนนิยาย ขายดนตรี กว่า 20 ปีของ ต้า พาราด็อกซ์

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“หลายคนชอบชมว่าแต่งเพลงดี แต่ที่ผ่านมาผมรู้สึกตลอดว่าสิ่งที่ทำได้ดีกว่าแต่งเพลงคือการเป็นนักเขียนนิยาย ยังไม่เคยทำแต่ผมมีความเชื่อนั้นตลอด”

อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ ต้า พาราด็อกซ์ พูดด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมถึงนิยายเรื่อง ‘จดหมายจากดวงจันทร์’ ที่เขากำลังเขียน แม้จะเป็นนิยายเรื่องแรกแต่เขาเชื่อมั่นว่าอะไรที่ทำออกมาแล้วรู้สึกดีก็อยากส่งต่อให้คนอื่นได้รู้สึกร่วมกัน

101 ชวน ต้า คุยถึงความสนใจใหม่ของเขา ทั้งการเขียนนิยายและการเข้าไปดำดิ่งในวงการพระเครื่อง…ใช่ นักร้องวงร็อกคนนี้จริงจังกับการสะสมพระถึงขนาดเตรียมพิมพ์หนังสือพระเอง ความสนใจที่ดูไม่เข้ากันนี้แหละที่เขามองว่ามันคือ ‘พาราด็อกซ์’

“พระใหม่จะดูไร้ชีวิตชีวาช่วงออกมาใหม่ๆ พอเวลาผ่านไปยิ่งนานวันสิ่งสวยงามจะค่อยๆ ออกมา เช่น คราบเหงื่อ คราบปลวก เนื้อแตกลาย กลายเป็นความคลาสสิก ดนตรีก็คล้ายกัน ความเก่าทำให้เพลงมีเสน่ห์ของยุคนั้นอยู่”

“ช่วงแรกมันขมมาก คนฟังยืนดูอย่างเดียว ยุคนี้ยิ่งเป็นเลย ออกเพลงใหม่จะขมมากเพราะเป็นยุคขายตรงต้องจิ้มเพื่อดูโดยเฉพาะ ไม่สามารถกินก๋วยเตี๋ยวแล้วเห็นผ่านทางทีวีได้แล้ว ก็เลยต้องกัดฟันเล่นเหมือนตอนเพลงฤดูร้อนออกมา จังหวะมันแหวกแนว เล่นไปเรื่อยๆ คนเริ่มสนุกก็บอกต่อกัน ทุกวันนี้กลายเป็นเพลงดังที่สุดของวง ทั้งที่ไม่ใช่เพลงโปรโมท ตอบโจทย์ได้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา”

“หากเป็นการประกวด ‘เวลา’ จะเป็นกรรมการที่น่าเชื่อถือที่สุดในการตัดสินผลงาน เพราะ 10 ปีหลังจากนั้น งานชนะเลิศประกวดต่างๆ ก็อยู่ในกระบะ 10-50 บาท ถามว่าทำไมคนไม่เก็บ…ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วงานที่น่าเก็บจะพิสูจน์ด้วยตัวมันเอง”

 

บทสนทนาหน้าเขียงกับ ‘รุจิรา จารุพันธ์’ ถึง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ ในนามสามี กวี พ่อค้า และพ่อ

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ตอนเขาขึ้นเวทีเราไม่ได้ต่อต้าน ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่มีช่วงหนึ่งที่เขาพูดเองว่าจะเลิกแล้ว ไม่ไปแล้ว เขาคงมีความกดดันบางอย่าง แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ จนครั้งสุดท้ายเขาบอกว่า เขาถอนตัวออกมาไม่ได้แล้ว มีคนที่เขาต้องช่วยเหลืออีกเยอะ”

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ รุจิรา จารุพันธ์ ภรรยา ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ กวีผู้ล่วงลับ ถึงความทรงจำของคนรักและครอบครัว 5 ปีหลังสามีจากไป เธอลาออกจากงานบริษัท กลับมาช่วยงานที่ร้านข้าวหน้าเป็ดของครอบครัวย่านราชวัตร ถือปังตอยืนหน้าเขียงแล้วมองจากมุมมองเดียวกับที่สามีเคยมอง ลองเลาะสับเป็ดเสิร์ฟลูกค้า ก่อนพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราทำงานอยู่ออฟฟิศ น้องชายไผ่โทรมาหาว่ารู้ข่าวรึยัง เราถามว่าข่าวอะไร เขาบอกว่าพี่ไผ่โดนยิง เราก็อึ้งไป สมองเบลอ งง น้องไผ่ยังไม่เห็นข่าวในทีวี แต่มีเพื่อนโทรมาบอก เขาเลยโทรมาหาเรา”

“คิดเหมือนกันนะว่าคดีจะหมดอายุความในกี่ปี ช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปีนี้ถามไปก็คงไม่ได้อะไรกลับมา”

“ไผ่เป็นคนต่อสู้ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ตอนอยู่ที่ร้านเขาเห็นอกเห็นใจลูกน้อง เพราะมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เขาปฏิบัติกับลูกน้องแบบชนชั้นเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกเจ้านายลูกน้อง”

“เขาไม่ได้เปรียบเทียบว่าเป็นนักเขียนแล้วจะสร้างครอบครัวไม่ได้ แต่พูดว่า “แบบนี้แหละ เป็นพ่อค้าด้วยเขียนหนังสือไปด้วย” ตอนเขาอยู่ที่ร้าน ต้องมีสมุดหรือกระดาษตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ตรงเขียงหรือห้องครัว มือก็ทำงานไปแต่หัวก็สร้างสรรค์ผลงานตลอด”

 

ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา : เมื่อการเป็นผู้หญิง ไม่ได้ทำให้คนเสียเปรียบเท่าการเป็นแม่

 

โดย  พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง เราพบว่าถ้าผู้ชายกลายเป็นคนหาเงินคนเดียว เขาจะใช้จุดนี้เป็นข้อต่อรองทุกอย่าง ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า เพราะฉันหาเงินไม่ได้ ฉันก็เลยต้องยอม นำไปสู่ความรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง เคสนี้จะพบมากในกลุ่มผู้หญิงที่ลาออกจากการทำงาน มาเป็นแม่ฟูลไทม์”

“การให้ผู้ชายมีสิทธิลา ข้อแรกคือการส่ง message กับสังคมว่า การเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ผู้หญิงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ข้อต่อมา การให้ผู้ชายได้มามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น จะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่าการเลี้ยงลูกเป็นยังไง ได้แบ่งเบาภาระผู้หญิงมากขึ้น และนำไปสู่การที่ผู้หญิงจะต่อต้านการมีลูกน้อยลง”

101 สนทนากับ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยสมดุลระหว่างการทำงาน กับการสร้างครอบครัวในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิง ที่ดูจะเสียเปรียบกว่าผู้ชาย เมื่อต้องรับภาระในการเลี้ยงลูกและทำงานไปพร้อมๆ กัน

“ปัญหาหลักๆ ตอนนี้คือภาระตกอยู่กับผู้หญิงมากเกินไป ต้องไม่ลืมว่าผู้หญิงสมัยนี้ แทบจะทำงานไม่ต่างกับผู้ชายแล้ว แต่สังคมกลับยังมองว่าหน้าที่การเลี้ยงดูลูก ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ หมายความว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้วทำงานไปด้วย ต้องแบกรับภาระเต็มๆ ทั้งสองทาง”

“ผู้หญิงมีสิทธิลา 3 เดือนหลังคลอดก็จริง แต่ในความเป็นจริง ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรด้วย บางคนเจอหัวหน้าถามว่า เธอจะลาทั้ง 3 เดือนเลยหรือเปล่า ขอสักเดือนได้ไหม พอโดนกดดันแบบนี้ ในที่สุดเขาก็ลาออก ถามว่าออกมาแล้วทำอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเลือกขายของออนไลน์ นี่เป็นแพทเทิร์นที่เห็นเยอะในกลุ่มของแม่มือใหม่ที่ตัดสินใจออกจากงาน”

“เคยมีงานศึกษาว่า การเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้คนเสียเปรียบเท่ากับการเป็นแม่ ยิ่งถ้าต้องลาออกจากงาน ถือเป็นภาระอันใหญ่หลวง เพราะมันไม่ได้ส่งผลเฉพาะ 1-2 ปีหลังมีลูก แต่อาจส่งผลต่อเส้นทางของการงานไปทั้งชีวิต มีคนน้อยมากที่ตัดสินใจลาออกไปเลี้ยงลูกแบบฟูลไทม์ แล้วจะกลับมาทำงานในลักษณะเดิมได้ หรือแม้จะกลับมาได้ การเจริญเติบโตในการงานก็เปลี่ยนไป ระดับเงินเดือนก็น้อยลง”

“โจทย์หลักๆ ในตอนนี้คือ ทำยังไงให้สังคมไทยสามารถสร้างประชากรที่มีคุณภาพได้ โดยที่ภาระหรือความรับผิดชอบไม่ต้องไปตกอยู่กับรายบุคคลขนาดนี้ โดยเฉพาะผู้หญิง ทำอย่างไรถึงจะแบ่งเบาภาระที่คนเป็นแม่ต้องแบกรับได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”

 

คนมีการศึกษาหลายคนคิดอะไร

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่คนมีการศึกษาและมีสถานะทางสังคมเลือกพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเป็นพรรคที่ได้เปรียบจากกติกาของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯ และ คสช. เป็นคนเลือก ส.ว. มาอีกที

“ห้าปีของ คสช. ที่ผ่านมา พวกเขารู้สึกว่าชีวิตปลอดภัย บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ใครประท้วงก็โดนรวบทันที แม้จะรู้ว่าคนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกสงบดีเหมือนพวกเขา แม้จะรู้ว่ามีคนจำนวนมากไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่มีกฎหมายที่กดไม่ให้คนเหล่านี้สามารถออกมาประท้วง หรือแสดงออกอย่างสันติได้”

“พวกเขาเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่ฉลาดพอ ไม่รู้ทันความเลวร้ายและเล่ห์เหลี่ยมของพวกทักษิณ ยังงมงายไม่รู้ประสีประสา จึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการเลือกตั้ง เพื่อให้ฝ่ายของเขาได้อำนาจคือ ส.ว. 250 คน แม้จะรู้ว่าเอาเปรียบ แต่ก็ดีกว่าให้พวกทักษิณครองเมือง”

“ส่วนพรรคอนาคตใหม่น่ากลัวไปอีกแบบ พวกเขาเชื่อว่าแกนนำพรรคหากไม่ใช่พวกทักษิณก็เป็นพวกหัวรุนแรงจะเข้ามาขุดรากถอนโคนสังคม ตอนแรกก็ไม่ค่อยสนใจ เพราะคิดว่าจะได้ไม่กี่เสียง แต่เมื่อพรรคนี้ได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในความสงบก็ทำให้หลายคนที่มีการศึกษาสูงเชื่อโดยสนิทใจกับข้อกล่าวหาหลายกระทงของผู้นำพรรคโดยไม่สนใจไตร่ตรองอะไร ขอเพียงแต่ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการคนเหล่านี้ไม่ให้เป็นภัยต่อพวกเขา”

 

อ่านหนังสือรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล วิเคราะห์หนังสือ ‘รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน’ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ อุ๊ หฤทัย นำไปใช้เป็นหลักฐานการแจ้งความว่ามีเนื้อหากระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยหาคำตอบว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเป็นไปตามที่กล่าวหาหรือไม่

“ประเด็นปัญหาการให้ความหมายต่อรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 มิใช่เป็นข้อถกเถียงใหม่แต่อย่างใด หากติดตามความเคลื่อนไหวในทางวิชาการก็จะพบว่าก่อนหน้านี้มีการถกเถียงว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการพระราชทาน หรือการตกลงร่วมกันระหว่างประมุขกับประชาชน หรือการปฏิวัติโดยประชาชนกันแน่”

“หากใครได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ และพอมีความรู้ด้านนิติศาสตร์ 101 และรัฐศาสตร์ 101 ก็คงจะตระหนักได้ว่าเป็นการเสนอให้ทำความเข้าใจและจัดวางสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดแบบเสรี/ประชาธิปไตย”

“กล่าวให้ถึงที่สุด แนวความคิดในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบอบเสรีประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่หากจะมีผลกระทบก็จะพุ่งเป้าไปยังระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือระบอบการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจสูงสุดของประชาชนมากกว่า”

 

ถึงเวลาประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง – ‘ไอติม พริษฐ์’ กับวิกฤตศรัทธาในสายตาคนรุ่นใหม่

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“คู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ควรจะเป็นความไม่ถูกต้อง เผด็จการทุกรูปแบบ การทุจริตทุกรูปแบบ โดยไม่อิงว่าคนๆ นั้นคือใคร ถ้าเราเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐหรือพฤติกรรมของคสช.มีความไม่ถูกต้องเรื่องทุจริตหรือเรื่ององค์กรอิสระเหมือนอดีตที่ผ่านมา เราก็ต้องต่อสู้เท่ากับที่เคยต่อสู้กับคุณทักษิณ ไม่ควรมองว่าศัตรูไหนใหญ่กว่า ควรมองถึงหลักการ”

“เรื่องจุดยืนทางการเมือง ณ วันที่เข้าคูหาเลือกตั้งคือเราไม่สนับสนุนพรรคที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตและไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ หวังว่า 3.9 ล้านเสียงเลือกเราเพราะจุดยืนนี้ การประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระที่ไม่เข้าไปร่วมกับฝ่ายใดจึงเป็นการยึดตามสิ่งที่เราได้ประกาศไว้แล้ว”

“ถ้าเจออุปสรรคครั้งแรกแล้วถอย ผมไม่รู้ว่าจะกล้าพูดกับประชาชนได้ยังไงว่าในอนาคตถ้าผมเจออุปสรรคในระดับประเทศที่ใหญ่กว่าแล้วผมจะไม่ถอย เราต้องมีความเป็นนักต่อสู้ ผมเข้าพรรคนี้เพราะความเชื่อมั่นหลายอย่าง ก็ต้องอยู่ต่อสู้เพื่อปฏิรูปพรรคให้อยู่รอดต่อไปในอนาคต”

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไม่ทำทุกวิถีทางให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถเรียกศรัทธากลับคืนมาจากประชาชน ไม่ใช่แค่ให้ 3.9 ล้านเสียงเลือกเราต่อไป แต่เรียกศรัทธาจากประชาชนที่อาจจะเคยเลือกประชาธิปัตย์แล้วเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่นหรือคนที่ไม่เคยมองประชาธิปัตย์ให้กลับมามองเราอีกครั้งหนึ่ง”

วจนา วรรลยางกูร ชวน ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ทบทวนข้อผิดพลาดของพรรคประชาธิปัตย์จากการเลือกตั้งครั้งนี้ และมองมุ่งไปที่ข้อเสนอการเป็นฝ่ายค้านอิสระที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในพรรค เมื่อเป็นการท้วงติงถึงอุดมการณ์และการรักษาสัจจะของหัวหน้าพรรคที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเขียนซ้ำบนโลกออนไลน์ : แกะรอย (ยิ้ม) ในงานศิลปะของ ‘สิปปกร’

 

โดย พิมพ์ใจ พิมพิลา

“สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือทำงานศิลปะ จะทำศิลปะโดยที่ไม่ได้เคลื่อนไหวสังคม ไม่ได้ช่วยอะไรคนอื่น ไม่ได้ทำให้คนอื่นคิดอะไรได้ แล้วจะทำไปทำไม”

พิมพ์ใจ พิมพิลา พูดคุยกับ เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ เจ้าของเพจ Baphoboy และเจ้าของผลงานศิลปนิพนธ์ชุด ‘เหยื่อทางอารมณ์ในสื่อสังคมออนไลน์’ ภาพโทนสีดำหม่นจำลองภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จากหลากสถานที่หลายยุคสมัย เชื่อมโยงด้วยคำว่า ‘เหยื่อ’ และ ‘การลงทัณฑ์’ โดยมีสิ่งสะดุดตาในภาพคือการแทนที่ใบหน้าเหยื่อด้วย ‘อีโมจิยิ้ม’

“เราคิดว่าตัวตนคนทุกคนจริงๆ แล้วคือตัวตนที่อยู่ในโลกโซเชียล การที่เราเจอกันในสังคมมันเฟคเพื่อให้เราอยู่รวมกันได้ แต่เมื่ออยู่ในโซเชียล เราจะมีผีในตัว เราอยากด่า อยากวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเหมือนตัวตนที่เราปลดปล่อยเข้าไปในนั้น”

“ทุกงานของเราเอามาจากภาพจริงในประวัติศาสตร์ เป็นการอธิบายความรุนแรงในปัจจุบันโดยใช้ภาพอดีตมาเล่า เรากำลังเตือนสติคนว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกคุณทำอยู่ไม่ได้น่ากลัวน้อยไปกว่าประวัติศาสตร์ที่คุณเคยประณามไว้ โซเชียลตอนนี้น่ากลัวไม่ต่างจากตอนนั้นเลย”

“การประท้วงมีได้ เป็นเรื่องปกติ แต่เหตุที่เกิดความรุนแรงขึ้นเพราะมีคนไม่พอใจและต้องการเอาชนะ ทั้งที่การประท้วงเพื่อหาจุดร่วมตรงกลางหรือการประท้วงเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข มันเป็นหลักประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นพ้องกันหมด โดยมีคนกลุ่มเดียวเป็นคนคิดโดยขาดการวิพากษ์วิจารณ์”

 

กู้กงโมเดล: เมื่อพระราชวังต้องห้ามเข้าสู่ยุคสร้างสรรค์

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร ชวนทำความรู้จัก ‘กู้กงโมเดล’ แนวคิดการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่พลิกโฉมพระราชวังต้องห้าม พิพิธภัณฑ์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดในโลกให้เข้ากับยุคสร้างสรรค์และตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่

การพลิกโฉมพระราชวังต้องห้ามเป็นตัวอย่างการที่รัฐบาลเปิดให้นักบริหารได้ริเริ่มสร้างสรรค์และทดลองโมเดลใหม่ ทั้งระบบขายตั๋ว ระบบไฟที่เหมาะสมกับโบราณสถาน การจัดที่นั่งพักและทางเดินให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย การลดความหนาแน่นด้วยการเปิดพื้นที่ในพระราชวังให้เข้าชมเพิ่ม กระทั่งเรื่องห้องน้ำ ที่ศึกษาสัดส่วนห้องน้ำหญิงที่เหมาะสมจนไม่ต้องต่อคิวยาวเหยียดเหมือนเดิม

“เดิมนักท่องเที่ยวจะต้องต่อแถวซื้อตั๋วโดยใช้เวลาเฉลี่ยครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรผ่านระบบออนไลน์ได้ จากนั้นเพียงสแกนรหัสจากสมาร์ทโฟนก็เดินผ่านเข้าประตูพระราชวังได้เลย นอกจากนั้น บริเวณหน้าพระราชวังยังได้จัดช่องขายบัตรเข้าชมถึง 32 ช่อง ทำให้สามารถรับประกันได้ว่านักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 3 นาที”

“ทางผู้บริหารได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเป็นเวลาถึงสองเดือน ก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่าสัดส่วนปริมาณของห้องน้ำหญิงต่อห้องน้ำชายควรจะอยู่ที่ 2.6 ต่อ 1 จากนั้นจึงปรับขยายปริมาณห้องน้ำหญิงให้ได้ตามสัดส่วนดังกล่าว ผลคือ ตอนนี้ห้องน้ำหญิงมีเพียงพอ ไม่ต้องต่อคิวอีกต่อไป”

 

หลงทางเสียเวลา หลงสถานะเสียผู้เสียคน

 

โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ประเดิมคอลัมน์ใหม่ ‘Interview 101′ แบ่งปันวิธีคิดในการทำงานสัมภาษณ์ บอกเล่าประสบการณ์ในสนามสื่อมวลชน ผ่านตัวตน น้ำเสียง จังหวะ ที่นักอ่านหลายคนคุ้นเคย–และคิดถึงเปิดตอนแรกด้วยเรื่อง ‘สถานะ’ ของคนทำสื่อ คนทำสัมภาษณ์​ เมื่อการหลงสถานะ หลงบทบาท อาจทำให้เสียผู้เสียคน“มาทำงาน” นักสัมภาษณ์ต้องท่องคำนี้ไว้ให้แม่นมั่น

ในสนาม ไม่ว่าเจอดอกไม้หรือก้อนอิฐ มืออาชีพอย่าเอาอารมณ์มาปะปน พร้อมจะยักไหล่และผายมือในทุกสถานการณ์
ใครก็ชอบดอกไม้ ยิ่งดอกไม้ในสวนสื่อมวลชนมันหอมยั่วยวน
หอมหวานเท่าไร เมามายง่ายเท่านั้น
เวลาที่นั่งอยู่ในบ้านเขา คือโมงยามแห่งการงาน เวลาที่นั่งอยู่ในรถของเขา คือโมงยามแห่งการงาน ใช่, เมื่อเขาให้เวลา ให้โอกาส อนุญาตให้ใกล้ชิด นั่นคืองาน
งานเลิกก็แยกย้าย ความอาลัยอาวรณ์เป็นอาภรณ์ของเด็กไม่รู้จักโต
นักข่าวไฮโซไม่ใช่ไฮโซ นักข่าวฟุตบอลไม่ใช่นักฟุตบอล และนักสัมภาษณ์ (ที่เดือนก่อนถูกเชิญไปปารีส และเมื่อคืนนอนอยู่บ้านนายกรัฐมนตรี) ก็ไม่ใช่สิ่งใดเลย นอกจากการเป็นคนทำงานสัมภาษณ์
สิ่งหนึ่งที่ผมมักบอกสอนตัวเองเสมอคือ ท่าทีหรือความเป็นเพื่อนของแหล่งข่าว อาจไม่ได้มีความหมายว่าเพื่อนเสมอไป เขาหรือเธออาจเพียง nice
รอยยิ้ม คำเชื้อเชิญ กระทั่งการหยิบยื่นความสะดวกสบายบางอย่าง อาจเป็นเพียงมารยาท
จำเป็นต้องอ่านให้ขาด พลาดไม่ได้ นึกออกใช่ไหม แค่ผู้หญิงยิ้มให้ก็คิดว่าเค้ารัก มันน่าสมเพช…

 

รสชาติความฝันในถ้วยกาแฟของ ยลมน ทองเรือง แชมป์ชิมกาแฟประเทศไทย

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“…ใน 3 แก้ว จะมีกาแฟที่เหมือนกัน 2 แก้ว กับอีก 1 แก้วที่แตกต่างไป เราต้องแยกแก้วที่ไม่เหมือนกันนั้นออกมา”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับ ฌ – ยลมน ทองเรือง บาริสต้าผู้คว้าแชมป์ในการแข่งขันชิมกาแฟ Thailand National Cup Tasters Championship 2019 ว่าด้วยความจำเป็นและความสุนทรีของการลิ้มรสกาแฟ ไปจนถึงเส้นทางกว่าที่ความฝันในแก้วของเธอจะหอมอบอวล

“การชิมกาแฟ มันอยู่ในทุกกระบวนการของการผลิตกาแฟเลย อย่างเราถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในโรงคั่ว แต่การอยู่หน้าบาร์ก็ต้องชิมกาแฟทุกวัน ทุกเช้าเราต้อง calibrate ช็อตเอสเพรสโซ่ วัดอุณหภูมิ วัดปริมาณกรัม ดูเวลา เช็ก และชิม เพราะแค่ความชื้นเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน รสชาติของกาแฟก็อาจจะเปลี่ยน”

คนมักมองว่า speciality coffee เป็นพื้นที่ของคนเท่ ทั้งเข้าไม่ถึง ทั้งไม่กล้าลอง – เราโยนคำถาม
“เมื่อก่อนเราก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่พอเรามาอยู่ตรงนี้ เรามองกาแฟดริปเป็นมากกว่าแค่วิธีการชงกาแฟแบบหนึ่ง มันอาจจะเท่ เพราะใช้อุปกรณ์เยอะหน่อย ต้องใช้เวลา ต้องใจเย็น แต่สุดท้ายมันก็เป็นเหมือนการสื่อสารระหว่าง กาแฟ คนชง และ คนดื่ม และเราว่าถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าจะเริ่มกินยังไง บาริสต้าทุกคนพร้อมจะแนะนำอยู่แล้ว ถามมาได้เลย”

 

นมวัว นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง : อะไรดีกว่ากัน

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

การผลิตนมวัวสร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการผลิตนมอื่นๆ (เช่นนมอัลมอนด์หรือนมถั่วเหลือง) ถึง 3 เท่า ทั้งยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 4 ของที่มนุษย์ผลิตออกมาทั้งหมดด้วย (อันนี้รวมไปถึงการเลี้ยงวัวเพื่อเอาเนื้อด้วยนะครับ)

หลายคนกินนมอัลมอนด์เพราะคิดว่านมอัลมอนด์ดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่จริงๆ แล้ว นมอัลมอนด์ไม่ค่อยมีสารอาหารเท่าไหร่ คนจำนวนมากคาดหวังโปรตีน แต่นมอัลมอนด์ทำให้อัลมอนด์ดีๆ ที่เต็มไปด้วยสารอาหารนั้นต้อง ‘เสีย’ (waste) ไป เพราะว่าการคั้นออกมาเป็นนมอัลมอนด์นั้น สารส่วนใหญ่ที่อยู่ในนมอัลมอนด์ก็คือน้ำ…

ถ้าไปดูในฉลาก จะเห็นตามข้อบังคับเลยว่า ส่วนประกอบแรกก็คือ filtered water หรือ ‘น้ำกรอง’ แล้วจึงค่อยตามมาด้วยอัลมอนด์

ปกติแล้ว ในอัลมอนด์ราว 28 กรัม (คือหนึ่งออนซ์) ที่เป็นเมล็ดแห้งนั้น จะมีโปรตีนอยู่ราว 6 กรัม (เท่าๆ กับไข่หนึ่งฟอง) แล้วก็มีไฟเบอร์ 3 กรัม ที่มีมากที่สุด ก็คือไขมัน ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว 12 กรัม (ราวๆ ครึ่งหนึ่งของอโวคาโดในปริมาณที่เท่ากัน) ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ดีอยู่

แต่พอนำมาทำเป็นนมอัลมอนด์แล้ว ในนมอัลมอนด์ยี่ห้อหนึ่งของอเมริกา หนึ่งเสิร์ฟที่มีปริมาณราวๆ 8 ออนซ์ (คือราวๆ 8 เท่า) จะมีโปรตีนอยู่แค่ 1 กรัม ไฟเบอร์ 1 กรัม และไขมัน 5 กรัมเท่านั้นเอง นั่นคือในระหว่างกระบวนการผลิต นมอัลมอนด์ได้ทำสารอาหารหายไปเยอะมาก

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา หยิบเอานม 3 ชนิดมาเปรียบเทียบให้ดูชัดๆ ว่า อันไหนมีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ทำร้ายโลกมากกว่ากัน

 

เปลี่ยนสถาบันวิจัย TDRI อันขรึมขลังสู่ Community Space

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ที่ทำงานในฝันของคุณเป็นแบบไหน

มีพื้นที่กว้างๆ ให้เลือกนั่งได้ตามสบาย มีห้องสมุดที่อัดแน่นด้วยหนังสือที่คุณสนใจ มีโต๊ะปิงปองให้คุณไปเล่นได้ทุกครั้งที่เครียด มีระเบียงที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีโต๊ะทำงานที่สะอาดสะอ้าน มีมุมเงียบสงบส่วนตัวเวลาคุณไม่อยากยุ่งกับใคร หรือมีโต๊ะให้เล่นบอร์ดเกม แล้วยังเหลือพื้นที่ว่างให้สั่งไก่มากินระหว่างเล่นได้ด้วย ?

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงแล้วในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เพิ่งรีโนเวทภายในอาคาร ปรับโฉมจากออฟฟิศที่ขรึมขลังอย่างนักวิชาการ โต๊ะทำงานแยกส่วนอยู่ใครอยู่มันคนละแผนก ให้กลายเป็นออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าพื้นที่สร้างคนได้ Community Space ที่กว้างขวางจึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับใส่ใจพื้นที่ทำงานที่เรียกได้ว่า ‘คิดทุกเม็ด’ จริงๆ

“สมัยยังเป็นตึกเก่า คิดภาพองค์กรที่มีหน่วยวิจัยประมาณเกือบ 20 หน่วย แต่ละหน่วยอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง โอกาสได้เจอคนต่างกลุ่มกันก็น้อย โอกาสได้แลกเปลี่ยนก็น้อย คราวนี้เราทำไง วิธีง่ายสุดคือทลายกำแพงทิ้ง คือกำแพงแบบ physical เลยนะ กำแพงคือตัวกันแสง แต่โดยตัวมันเองก็ไม่ได้กันแค่แสงอย่างเดียว แต่กันความรู้สึกของผู้คนภายในตึกด้วย ว่าส่วนนี้เป็นของใคร กลุ่มไหน เราอยากสร้างความรู้สึกที่คนเชื่อมโยงกันภายในสถาบันทั้งหมด เราจึงต้องเปลี่ยน

“พอทลายกำแพงทิ้งเสร็จ ไม่พอแล้ว ต้องทำยังไงให้คนมาคุยกันด้วย ถ้าเราไม่ใส่กิจกรรมหรือวัฒนธรรมอะไรบางอย่าง คนจะมาเจอกันมั้ย ก็นั่งที่เดิม ใส่หูฟัง นั่งดูหน้าจอของตัวเอง 8 โมงมา 5 โมงกลับ ก็จบ”

นี่เป็นเหตุผลที่ทีดีอาร์ไอสร้างสรรค์ชั้น 5 ให้เปิดเป็นพื้นที่อิสระ ใครอยากจะมานั่งทำงาน พูดคุยกันก็มีโต๊ะจำนวนมากให้เลือกใช้ ขณะเดียวกันกำแพงก็พร้อมจะกลายเป็นบอร์ดให้คนมาขีดเขียน เอาโพสต์อิทมาแปะ นั่งถกประเด็น และเสนอโปรเจ็กต์ตัวเองได้อย่างอิสระ เครื่องดื่มวางอัดแน่นอยู่ในตู้แช่เย็นเฉียบ ไม่จำเป็นต้องมีคนคุมหน้าแคชเชียร์ เพราะป้าย QR code ทำหน้าที่รับเงินอยู่แล้วอย่างขยันขันแข็งไม่ส่งเสียง อยู่กันด้วยความไว้อกไว้ใจ

ชวนดูออฟฟิศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เพิ่งรีโนเวทใหม่หมาด จับแนวคิดพื้นที่สร้างคน คนสร้างความสุข มาใช้กับออฟฟิศที่เต็มไปด้วยนักวิชาการและงานวิจัย

 

เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง ‘เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’ ซึ่งมีส่วนในการเกื้อหนุนชนชั้นนำเก่าให้สืบทอดอำนาจต่อไป และทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางกลุ่มอำนาจใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

“เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่ปรากฏตัวในสังคมการเมืองของไทย เป็นองค์กรที่ดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นทางการ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเร้นลึก เห็นได้อย่างชัดเจน และการทำหน้าที่ก็กล่าวอ้างอยู่บนการใช้อำนาจที่มีกฎระเบียบรองรับ

แต่จากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้วงเวลานี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในความเข้มแข็งและความศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายชนชั้นนำ โดยเฉพาะในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย ที่ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจเปลี่ยนแปลงไป

ลำพังการต่อรองและการใช้มาตรการทางกฎหมายกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคที่แตกตัวออกมา ก็อาจพอจะทำให้สลายความเข้มแข็งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยลงได้อยู่บ้าง ดังที่ได้เคยเกิดมากว่าทศวรรษ

แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่ มีความแตกต่างออกไปอย่างสำคัญ ความพยายามในการปกป้องอำนาจทางการเมืองให้ดำรงอยู่ด้วยเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยแบบเดิมๆ ในเงื่อนไขที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อาจเป็นภารกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

การลงคะแนนให้อย่างเกินความคาดหมาย ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า โลกและชีวิตที่ถูกนำเสนอโดยระบอบอำนาจนิยม ไม่ได้เป็นโลกและความใฝ่ฝันที่คนจำนวนมากต้องการ

การยืนฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างสิ้นคิด จะไม่ทำให้สังคมไทยก้าวเดินไปได้แต่อย่างใดเลย ทั้งยังอาจเป็นการปูทางสู่ความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น

คำถามสำคัญก็คือ สังคมไทยยังมีต้นทุนเพียงพอสำหรับการจัดการกับหายนะในลักษณะเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่”

 

ผู้หญิง : ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้

 

โดย สนิทสุดา เอกชัย

สนิทสุดา เอกชัย ตั้งคำถามถึงเรื่องการบวชของผู้หญิงในพุทธศาสนาไทย เมื่อคณะสงฆ์ไม่ให้การยอมรับภิกษุณีและชาวพุทธเองก็นึกถึงแต่พระรัตนตรัยอันประกอบด้วยพระสงฆ์ที่เป็นนักบวชชาย

“เมื่อหลายปีก่อนคณะสงฆ์วัดป่าสายหนึ่งถึงกับขับไล่พระภิกษุชื่อดังรูปหนึ่งออกไปจากสายของตน เพราะสนับสนุนการบวชของสตรีอย่างเปิดเผย ระหว่างการจัดแถลงข่าวเพื่อประณามพระภิกษุรูปนั้น ได้มีโอกาสถามพระภิกษุอาวุโสรูปหนึ่งว่าทำไมถึงบวชภิกษุณีไม่ได้ ท่านตอบว่าขืนผู้หญิงบวชได้ก็มีพระผู้หญิงเต็มเมืองน่ะสิ

ซาโตริเลยคราวนั้น

เข้าใจทันทีว่าการต่อต้านภิกษุณีไม่ใช่แค่เรื่องยึดมั่นกฎเกณฑ์การบวชหรือการเลือกปฎิบัติทางเพศ แต่เกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุ แต่เป็นเรื่องอำนาจ เพราะเจ้าของอำนาจและศรัทธาไม่ต้องการให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วม”

“ความเข้าใจเรื่องพระสงฆ์ของชาวพุทธในประเทศไทยเองก็เป็นแรงสนับสนุนส่งให้คณะสงฆ์ยืนยันว่าพระภิกษุเท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เพราะเมื่อชาวพุทธกล่าวถึงพระสงฆ์ก็หมายถึงแต่พระภิกษุเท่านั้น”

“ถ้าผู้หญิงไม่ต้องบวชและไม่ต้องห่มจีวรพระก็เป็นพระสงฆ์ได้หากมุ่งศึกษาปฏิบัติธรรม เช่นนี้แล้วการบวชภิกษุณีจึงไม่จำเป็นใช่ไหม เพราะแค่ปฎิบัติให้เข้มข้นก็สามารถขัดเกลากิเลสและบรรลุธรรมได้

พระภิกษุหลายรูปชอบพูดเช่นนี้เพื่อปัดเรื่องการบวชให้สตรี ท่านว่ารูปแบบไม่จำเป็น ทุกอย่างอยู่ที่ใจ อยู่ที่การปฏิบัติของตนเอง แต่ถ้าการบรรพชาไม่สำคัญ การบวชเป็นภิกษุก็ไม่จำเป็น ไม่ต้องทิ้งบ้านเรือนมาอยู่วัดก็ได้ เพราะสามารถปฏิบัติธรรมเองที่บ้านได้เหมือนกัน ใช่หรือไม่”

 

เมื่อผีพม่าปรากฏตัว : คุยกับ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับ ‘From Bangkok to Mandalay’ และ ‘มาร-ดา’

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับ ‘มาร-ดา’ หนังสยองขวัญสัญชาติพม่า ที่กำลังจะเข้าฉายในไทย ช่วงต้นเดือนเมษายนนี้

“ผีในหนังที่เราพูดถึงคือ ‘ผีนัต’ เป็นผีกึ่งเทพ เช่น เทพทันใจก็คือหนึ่งในผีนัต ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้าที่ศาสนาพุทธ คริสต์จะมา เรานับถือผี ซึ่งเป็นผีแม่เป็นส่วนใหญ่ อย่างทางเหนือ อีสาน ถ้าแต่งงานจะมีการลาผีแม่มานับถือผีอีกฝั่ง”

“แรงบันดาลใจของหนัง มาจากเรื่องภาพที่มีทุกบ้านในพม่า คือภาพของนายพลอองซาน พ่อของซูจี ผมงงว่าทำไมรัฐบาลทหารถึงปล่อยให้มีภาพนี้อยู่ในบ้านได้ ทั้งๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ขั้วตรงข้ามทหาร ไปๆ มาๆ ผมรู้สึกว่าคำตอบอยู่ที่เรื่องนัต”

“ในอดีต นักรบบางคนที่เก่งกล้า กำลังพลเยอะ เริ่มมีอิทธิพลทางการเมือง กษัตริย์อาจจะฆ่า แต่ก็ปล่อยให้คนนับถืออยู่ เป็นการจัดการพื้นที่ทางพลังงาน ย้ายคุณไปอยู่ในโลกวิญญาณซะ ไม่ต้องมายุ่งกับโลกคนเป็น จะนับถือก็นับถือกันไป แต่โลกตรงนี้เป็นของฉัน คุณก็เหลือแค่ภาพถ่าย ทำอะไรฉันไม่ได้ ผมก็มองว่ารูปนายพลอองซาน ก็คล้ายๆ นัต”
.
“พม่ามีการบล็อกหนังต่างชาติ ด้วยการไม่ขึ้นซับไตเติ้ลให้ เป็นวิธีคอนโทรล เขายังอยากให้คนสนใจหนังในประเทศมากกว่า เขาดูหนังมาร์เวลกันแบบไม่มีซับฯ ไปกันเป็นกลุ่ม มีคนนึงฟังรู้เรื่องก็บอกเพื่อน
.
“ตอนเรื่อง From Bangkok to Mandalay ที่ผมทำ เข้าฉายที่พม่า รอบมันชนกับ Doctor Strange เขาก็ขยับหนีเรา 1 วีค เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังไทย การกีดกันทางการค้าบางทีก็เวิร์ก ซึ่งเราก็ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ”

 

‘แกะดำ’ กับความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึงความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย โดยเฉพาะการดึงศักยภาพจาก ‘แกะดำ’ ที่อยู่ภายในองค์กร

“การชุบให้แกะทุกตัวเป็นสีเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ อาจเป็นหนทางที่ใช้ได้ในอดีต ที่โลกแข่งขันกันบนฐานของประสิทธิภาพหรือต้นทุน แต่ในโลกที่แข่งกันด้วยนวัตกรรม การทำให้คนคิดแบบเดียวกัน ทำทุกอย่างเหมือนกัน อาจทำให้เดินถอยหลังลงคลอง”

“บางครั้งบริษัทใหญ่ๆ จะจ้างที่ปรึกษาจากข้างนอกเข้ามา เพื่อ ‘เขย่า’ ทีมให้ออกจากกรอบที่ตนเองคุ้นเคย แต่บางกรณี เราสามารถกระตุ้นการคิดนอกกรอบได้ โดยไม่ต้องไปเสียเงินจ้างคนนอกเสมอไป เพียงแต่ดึงศักยภาพของ ‘คนนอกที่อยู่ในบริษัท’ ออกมาให้เต็มที่”

“นอกจากนี้ การให้โอกาส ‘แกะดำ’ ยังมีความสำคัญในการดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาอยู่ในองค์กรอีกด้วย หลายคนอาจเป็นแกะดำเพียงเพราะมีไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือมีกระบวนการทำงานที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งหากผู้นำไม่เปิดรับฟัง คนเหล่านี้อาจหมดไฟและย้ายไปทำงานอื่น หรือออกไปเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เพื่อทดลองไอเดียของตนข้างนอก”

“โจทย์ที่ยากคือ ทำอย่างไรให้แกะดำไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นสีดำในหมู่แกะขาว และทำอย่างไรให้แกะทุกตัวรู้สึกว่าอยู่ในฝูงแกะหลากสีที่ทุกตัวต่างมีความสำคัญ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ภาวะผู้นำ และเทคนิคการบริหารในแบบที่เราอาจยังไม่คุ้นเคย”

 

7 เรื่อง 7 รอบ อรัญ ธรรมโน : คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร 

กษิดิศ อนันทนาธร เล่าประวัติชีวิตของ “คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร” อย่าง อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อดีตลูกศิษย์และลูกน้องของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

“เมื่อ ดร.อรัญ กลับมาเมืองไทยในเดือนมิถุนายน 2504 จึงได้กลับมาพบหญิงสาวของเขา เรวดี ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย และขอให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอาจารย์ของทั้งสอง มาเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานให้”

“ที่จริงในวันนั้น ป๋วยมีภารกิจต้องไปทำพิธีวางศิลาฤกษ์ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ แต่ป๋วยมอบหมายให้รองผู้ว่าการฯ ไปแทน โดยให้เหตุผลว่า การวางรากฐานชีวิตสำคัญกว่าการวางรากฐานตึก”

“อรัญให้ข้อคิดจากชีวิตที่ผ่านมาว่า “เมื่อโตขึ้นเป็นหนุ่มมีการศึกษา ชักเชื่อในความสามารถของตนเอง เชื่อในโอกาส และเชื่อมั่นในปัญญาของตัวเองว่าจะกำหนดอนาคตของตนได้ ไม่เชื่อว่าใครจะมากำหนดชะตาชีวิตของเราได้”
“แม้อายุครบ 7 รอบนักษัตรแล้ว แต่อรัญก็ยังเอาใจใส่ความเป็นไปของบ้านเมือง ทั้งยังลุ้นกับการเลือกตั้งด้วยเพราะ “คสช. ก็ได้บริหารประเทศมาจนครบวาระแล้ว แต่ยังไม่แสดงท่าทีเต็มอกเต็มใจที่จะให้มีการเลือกตั้งจริงๆ เงื่อนไขก่อนการเลือกตั้งยังมีมากมาย ในฐานะประชาชนก็อยากมีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งที่ตัวเองเห็นเหมาะสมบ้าง ไม่ใช่ให้คนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้วิเศษเพียงใดก็ตามเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับเราตลอดเวลา”

 

ฤกษ์งาม ยามไม่ดี : คุยกับแม่หมอ ‘พิมพ์ฟ้า’ ว่าด้วยเรื่องที่หมอดูไม่เคยบอก

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

การทำนายทายทัก ถือฤกษ์ถือยาม เป็นสิ่งอยู่คู่กับคนไทยและสังคมไทยมาช้านาน ซึ่งนอกจากชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็คือกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมไทย

“เท่าที่สังเกตได้คือ ทุกครั้งที่ขยับอะไร เขาจะขยับภายใต้ปรากฏการณ์ของดวงดาวในรูปแบบที่คล้ายกันเสมอ ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ ทุกอย่างมีการรอจังหวะ ว่าต้องเป็นจังหวะนี้เท่านั้น คำถามคือแล้วทำไมไม่ทำก่อนหน้านั้น หรือไม่ทำในจังหวะอื่น…”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล คุยกับ ‘พิมพ์ฟ้า จิรเลิศรัตนไกร’ นักเขียนและแม่หมอไพ่ยิบซี วัย 27 ปี เจ้าของหนังสือ ‘เสียดายหมอดูไม่ได้บอก’ ว่าด้วยศาสตร์แห่งดวงดาว ความลับของหมอดู และการถือฤกษ์ถือยามของคนไทย โดยเฉพาะในหมู่ ‘ชนชั้นนำ’

“สมัยก่อน จะมีบันทึกในจดหมายเหตุไว้เลยว่า เขามีความเชื่ออย่างนี้จริงๆ ตั้งแต่สมัย ร.1 ที่มีการตั้งเสาหลักเมือง ซึ่งดวงเมืองของเรา เป็นดวงที่จะมีเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน พูดง่ายๆ คือจะมีสองฝั่งที่ขัดแย้งกันเสมอ”

“นอกจากนี้ ก็มีการทำนายไว้ด้วยว่าจะอยู่ได้แค่ 150 ปี ซึ่งตรงกับปี 2475 พอดี ทีนี้ช่วงก่อน 2475 เขารู้แล้วว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เลยมีการวางเสาหลักเมืองใหม่ แล้วก็สร้างสะพานเชื่อมเมืองเก่ากับเมืองใหม่ เพื่อแก้ดวงเมือง”

“ชนชั้นนำไทยยืนหนึ่งเรื่อง ‘make it happen’ เอาแค่การสร้างเสาหลักเมืองใหม่ หรือสร้างสะพานเชื่อมเมืองสองฝั่ง นี่คือการ make it happen ซึ่งเป็นการเล่นใหญ่มาก หรืออย่างการรัฐประหาร การกำหนดวันเลือกตั้ง มันคือการ make it happen ทั้งหมด หมายความว่า ต้องทำในจังหวะที่ถูกต้องเท่านั้น”

“อย่างวันเลือกตั้ง ตอนแรกเขากำหนดไว้วันหนึ่ง แต่ต่อมาก็เลื่อนไปอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งเค้าอาจบอกว่า เค้าสะดวกในวันนั้นก็ได้ แต่ถ้ามองผ่านโหราศาสตร์ เราจะเห็นว่าวันที่เขาเลือก มันมีอะไรบางอย่างที่เหมือนกันหรือร่วมกันเสมอ”

“สมมติว่าเราเป็นพรรค หรือคนที่เชื่อว่าเรื่องพวกนี้เชื่อถือไม่ได้ อย่างน้อยๆ เราจะรับฟัง เพราะในเมื่อเราอยู่ในประเทศนี้ที่มีคนกลุ่มหนึ่งใช้มันอย่างจริงจัง เราก็ควรรู้ว่าเขาคิดอะไร หรือกำลังทำอะไร ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ฟังไว้ก็อาจจะดี”

 

ไขปริศนา 5 ข้อ โลกร้อนแล้วไง ?

 

โดย เพชร มโนปวิตร

แม้อากาศยามนี้จะร้อนระอุจนปรอทแทบแตก แต่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ดูจะยังเป็นเรื่องไกลตัวของคนส่วนใหญ่ และการอธิบายให้คนรอบๆ ตัวเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องไม่ง่าย เวลานั่งกินข้าวกับเพื่อน หรือไปงานรวมญาติแล้วต้องเจอกับคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนยิ่งทำให้อ่อนใจเข้าไปใหญ่ อย่าเพิ่งยอมแพ้ มาไขปริศนา 5 ข้อที่คนมักจะสงสัยไปด้วยกัน

เช่น วิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน , แน่ใจหรือว่าการคำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ผิด หรือ ถึงโลกจะร้อนขึ้นจริงๆ ประเทศเราไม่ใช่ต้นเหตุสักหน่อย ฯลฯ

วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกร้อนได้ข้อสรุปมานานแล้วจากการตรวจวัดระดับคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นทุกปี และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากมาย เมื่อก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิก็สูงตาม และส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมามากมาย โดยเฉพาะการเกิดปรากฏการณ์อากาศสุดขั้ว ร้อนจัด หนาวจัด แล้งจัด น้ำท่วมถล่ม

เป็นที่คาดหมายว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) บอกว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน ค.ศ. 2030 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ไม่เช่นนั้นมีความเป็นไปอย่างมากที่โลกจะเปลี่ยนไปอย่างกู่ไม่กลับ จนส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง

เพชร มโนปวิตร เขึยนถึงข้อถกเถียงที่ถูกหยิบมาใช้เมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อน หลายคนยังไม่เชื่อว่าโลกร้อนขึ้นจริง เพราะยังเห็นว่ามีพายุหิมะในบ้างพื้นที่ แต่ในความจริง

 

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ สูงสุด เดือนเมษายน 2562

 

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

 

โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

สำรวจอีกแง่มุมหนึ่งของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและละแวกใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการชายที่ทำงานในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึง จากรายงานพิเศษ โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“บาร์อะโกโก้หรือบาร์เบียร์ ที่มีการขายบริการทางเพศสำหรับพนักงานบริการชายนั้น โดยมากจะไม่มีห้องหับสำหรับประกอบกิจเหมือนเช่นร้านนวด แต่มักเป็นไปในลักษณะการหิ้ว หรือ ‘ออฟ’ ออกไปสู่โรงแรมข้างเคียง ซึ่งนำไปสู่ภารกิจของเหล่า ‘มาม่าซัง’ ที่ต้องคอยติดตามดูแล หากพนักงานในสังกัดหายไปนานเกินควร เหล่ามาม่าซังจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานภายใต้การดูแลทันที ด้วยเครือข่ายรายรอบบริเวณ”

“สถานประกอบการที่มีการขายบริการทางเพศนั้น โดยมากจะจ่ายเงินในลักษณะของ ‘ส่วย’ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ถูกก่อกวน แต่ในบางช่วงเวลา แม้จะจ่ายส่วยให้แล้ว ก็มักประสบปัญหาการเรียกร้องราคาค่าส่วยที่สูงขึ้น หรือบางครั้งแม้จะจ่ายส่วยแล้ว แต่อยู่ในช่วงโยกย้ายปรับตำแหน่ง ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่เล่นงานเพื่อสร้างผลงานได้อีกเช่นกัน”

“ในส่วนพนักงานบริการที่ไม่สังกัดร้าน โดยมากเสียค่าปรับ 1,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่เป็นประจำ ในบางพื้นที่ต้องเสียทุก 2 วัน เดือนหนึ่งเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ค่าปรับเหล่านี้มักจะใช้ มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี พ.ศ. 2539”

“อดีตพนักงานบริการชายรายหนึ่งเล่าว่า เคยมีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่กลับไม่สนใจมูลเหตุในการทำร้ายร่างกาย ทว่าพยายามมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ บีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการทางเพศ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี…”

 

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

 

โดย The101.world

รู้หรือไม่ว่า ในปีหนึ่งมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มไม่ต่ำกว่า 1,000 คน!!

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว

แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน)

และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

—————————————————–

:: ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน ::

ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

เมื่อป่วยหรือล้มเจ็บ เรามักคาดหวังว่าจะได้รับยาจากหมอ ที่ช่วยรักษาให้หายจากโรคแบบทันทีทันใด แต่จริงๆ แล้ว ‘ยา’ ที่สำคัญกว่าคือการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคเหล่านั้นและไม่ให้โรคพัฒนาจนถึงขั้นรักษาไม่หาย

หลายโรคในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเกิดโรค รวมถึง ‘การหกล้ม’ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ยาขนานนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้ม และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีอายุยืนยาว

 

 

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ประเด็นเรื่องหญิงขายบริการ หรือ sex worker เป็นเรื่องที่เราถกเถียงกันมานาน แต่หลายครั้งที่เรายังไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เข้าไปมองถึงชีวิตจริงๆ ของหญิงขายบริการ โดยเฉพาะพื้นที่คลองหลอด ที่ยังมีปัญหาเรื่องอาชญากรรม เรื่องโรคติดต่ออยู่เยอะมาก”

“ถ้างานเขียนชิ้นนี้จะทำอะไรได้สักอย่าง ก็คือการทำให้ผู้อ่านได้เห็นความเป็นมนุษย์ ได้เห็นชีวิตของหญิงขายบริการ เพื่อที่อย่างน้อยๆ จะได้นำไปสู่การถกเถียงและการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ต่อไป”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย กล่าวในงานประกาศผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 จัดโดย Amnesty International Thailand เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากสารคดี ‘เปิดตาตีหม้อ : สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด’ ของเธอ ได้รับรางวัลชมเชย ในหมวดข่าวและสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อออนไลน์

ในคลองหลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชายหนุ่มวัยกำหนัดจะมาหาหญิงขายบริการชรา เช่นเดียวกับที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ฝั่งจะมาหาเด็กสาววัยแรกแย้มรสนิยมทางเพศของผู้คนนั้นหลากหลาย และไม่ได้เป็นไปตามขนบที่สังคมคุ้นชิน ยิ่งเมื่อการซื้อขายบริการถูกปิดบังหลบๆ ซ่อนๆ ความต้องการภายในใจคนยิ่งปะทุออกมาแบบไม่มีข้อจำกัด

“สังคมไทยไม่ยอมรับความจริง เราต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้” จ๋า-อัจฉรา สรวารี เลขานุการมูลนิธิอิสรชน เปรยให้ฉันฟัง

“สถานการณ์ประเทศไทยคือ เราปูพรมแดงซะสวย แต่เอาทุกอย่างไปกองไว้ใต้พรม จนขยะกองขึ้น แล้วสุดท้ายถึงวันหนึ่งที่คนมาเหยียบ เปิดพรมขึ้นก็เห็นขยะกองใหญ่ นี่คือภาพที่ต่างประเทศมองเข้ามา”

“ถามว่าหญิงขายบริการที่ยืนอิสระ หรือตามซ่อง มีส่วยมั้ย ก็มี ตอนนี้ที่กวาดจับกัน เงินเข้ารัฐครึ่งนึง ที่เหลือเข้าคนเก็บส่วย ถ้าทำให้ถูกกฎหมาย คนขายบริการได้ประโยชน์จริง แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนเก็บส่วยนั่นแหละ นี่คือตลาดมืดของไทย…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจตลาด ‘หม้อ’ ย่าน ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

 

“กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“การติดกัญชาไม่ได้เกิดจากกัญชา แต่เกิดขึ้นเพราะคนๆ นั้นมีรหัสพันธุกรรมที่พร้อมจะติด และถ้าหากจะเลิก ทุกคนสามารถเลิกได้ภายใน 20 วัน หลังหยุดไม่มีอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น”

ท่ามกลางสถานการณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กัญชา’ ในไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ น่าจะเป็นศูนย์หน้าตัวเป้าคนหนึ่ง ของทีมที่สนับสนุนและผลักดันให้คนไทยได้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย

อะไรคือหลักคิดและข้อโต้แย้งของเขา ท่ามกลางเสียงของวงการแพทย์อีกไม่น้อยที่มองกัญชาต่างออกไป ในความหมายว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ฯลฯ

ไม่ว่าจะรัก ‘กัญ’ หรือเกลียด ‘กัญ’ ธิติ มีแต้ม ชวนอ่านทัศนะของหมอศูนย์หน้าตัวเป้าผู้นี้ที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง

“ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลและทุกชนิด มันมีผลให้คนไตวายตับวายได้ ถ้ากินมากไปก็เสี่ยงทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันได้เหมือนกัน เรื่องพวกนี้หมอสมัยใหม่ไม่พูด แต่มักพูดว่ากัญชาเป็นยาเสพติด”

“หมอไทยส่วนใหญ่ยึดติดกับตำรา แต่ไม่ได้มีความกระหายที่อยากจะรู้เรื่องกลไกของโรคกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ได้กระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรสามารถไปขัดขวางกลไกของโรคได้อีกบ้างนอกเหนือจากตำราว่าไว้”

“แน่นอน ยังไงก็ต้องมีคนตายไป แต่ถ้าเราได้ข้อมูลว่าตอนที่คนไข้ตาย เขามีความสามารถในการสั่งเสียครอบครัว หรือเขาสามารถยืดอายุออกไปได้สี่ห้าเดือนที่เขายังสามารถอยู่ได้โดยไม่ทรมาน จะไม่ดีกว่าหรือ”

 

นอนไม่หลับ : โรคแห่งยุคสมัยในมุมมองแพทย์และนักจิตวิทยา

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

“หน้าคุณ โคตรจะไม่นอนเลย”

คือประโยคที่หมอสาวสุดสวยในภาพยนตร์ ‘ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’​ เอ่ยกับฟรีแลนซ์หนุ่ม ผู้พกพาผื่นคันและอาการป่วยมากมายมาหาเธอ เพราะไม่ยอมพักผ่อนอย่างเพียงพอ และบ่อยครั้งการชินกับการทำงานไม่เป็นเวลา ก็ทำให้เขานอนไม่หลับไปด้วย

คนไม่ยอมนอน และคนนอนไม่หลับ เพิ่มขึ้นมากทั้งในโลกและในไทย เหตุใดการนอนจึงยากเย็นเหลือเกินสำหรับบางคน?

101 ชวนอ่านสกู๊ปว่าด้วย ‘โลกของคนนอนไม่หลับ’​ ที่หลายคนเคยพลัดหลงเข้าไป แต่สามารถกลับออกมาได้ด้วยความเข้าใจและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

“ถ้าเรานอนดึกมากหรือเกือบเช้า แล้วตื่นสายๆ หรือเที่ยง ระยะเวลาการนอนอาจถึง 7-8 ชั่วโมงก็จริง แต่จริงๆ แล้วยังแย่กว่าคนที่เข้านอนตอน 3-4 ทุ่ม แล้วตื่น ตี 5 เพราะร่างกายเรามีนาฬิกาชีวภาพ เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ถ้าเราใช้ชีวิตไม่ตรงกับนาฬิกาชีวภาพ จะมีผลทำให้ร่างกายแปรปรวน”

“การนอนแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ๆ คือระยะที่มีการกระตุกของลูกตา ซึ่งจะช่วยทำให้ความจำเราดีขึ้น กับอีกระยะคือระยะที่ไม่มีการกระตุกของลูกตา ซึ่งแบ่งออกเป็นระยะหลับตื้น และระยะหลับลึก”

“ระยะหลับลึก สัมพันธ์กับการทำให้ตอนเช้าเราตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น แจ่มใส ดังนัีนการนอนไม่หลับจึงส่งผลให้การใช้ชีวิตช่วงกลางวันมีปัญหา เช่น ไม่มีสมาธิ ไม่สดชื่น ความจำไม่ดี อารมณ์เสียหงุดหงิดง่าย ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างจะมีปัญหาขึ้นมา หรือนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้”

 

รายการ 101 one on one

 

101 One-On-One Ep.66 “อ่านเลือกตั้ง 62 ผ่านนักภาษาศาสตร์” กับ อิสระ ชูศรี

 

โดย 101 One-On-One 

101 one-on-one วันอังคารที่ 9 เม.ย. สองทุ่มตรง ‘อ่านเลือกตั้ง 62 ผ่านนักภาษาศาสตร์’ กับ อิสระ ชูศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

สำรวจสงครามวาทกรรมในสนามเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ตั้งแต่แคมเปญหาเสียง คำขวัญ โปสเตอร์ เพลง คลิปวิดีโอ ไปจนถึงการประกาศผลของ กกต.

ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

101 One-On-One Ep.67 “เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง” กับ กำพล อดิเรกสมบัติ

 

โดย 101 One-On-One 

101 one-on-one Ep.67 เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง กับ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล. กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผ่านพ้นไปร่วมเดือน แต่เราก็ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ หนึ่งในคำถามใหญ่คือ เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปทางไหน ภายใต้สมการทางการเมืองที่ไม่แน่นอน

101 ชวน อ่านเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งกับ กำพล อดิเรกสมบัติ เพื่อหาคำตอบว่า อะไรคือปัจจัยระยะสั้นที่น่ากังวล และเงื่อนไขระยะยาวที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ

ในวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2562 เวลาสองทุ่มตรง ทางเพจ The101.world

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

101 One-On-One Ep.68 “กกต. กับการเลือกตั้ง 2562” กับ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

 

โดย 101 One-On-One 

101 One-on-One Ep.68 “กกต. กับการเลือกตั้ง 2562 : บทวิพากษ์จากมุมกฎหมายมหาชน” พบกับ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเลือกตั้งผ่านพ้นไป 1 เดือนเต็มๆ พร้อมกับคำถามดังกระหึ่มไปทั่วทั้งสังคมว่า “กกต. มีไว้ทำไม” 101 เชิญนักกฎหมายมหาชนอย่าง เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้เพิ่งออกมาเปิดประเด็นเรื่อง ‘อาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน’ (hyper-legalism) ของสังคมไทย มาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและการทำงานของ กกต. ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กันสดๆ พร้อมตั้งคำถามเรื่องการออกแบบองค์กรอิสระที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อประชาชน

ห้ามพลาด วันจันทร์ที่ 29 เมษายน เวลาสองทุ่มตรง ทางเพจ The101.world

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save