fbpx
Tone Deaf โลกสวยตาใสในสังคมเจ็บจริง

Tone Deaf โลกสวยตาใสในสังคมเจ็บจริง

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ท่ามกลางเหตุการณ์ชุลมุนเมื่อชาวอเมริกันที่สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าทำเนียบขาวตั้งแต่ต้นปีจนเกิดเป็นการจลาจลขนาดย่อมเพื่อคัดค้านการประชุมรัฐสภาไม่ให้รับรองผลเลือกตั้ง (ว่าที่) ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน ก็มีหลายคนที่พร้อมใจกันพูดถึง — หรือจริงๆ คือแซว – ว่านี่มีนางแบบคนไหนเอากระป๋องน้ำอัดลมไปยื่นให้ชาวม็อบบ้างหรือยัง เผื่อเหตุการณ์จะสงบขึ้นมาบ้าง

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่พวกเขากำลังอ้างถึงโฆษณาชุด Live for Now ของเครื่องดื่มเป๊ปซี่ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2017 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนต้องระงับการเผยแพร่ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะกลายเป็นโฆษณาที่ถูกหยิบมาพูดถึงทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ประท้วงหรือการจลาจล ไม่ใช่เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจที่ดีหรืออะไร แต่ตรงกันข้าม โฆษณาชุดนี้กลายเป็นบาดแผลสำคัญของเป๊ปซี่และเป็นหนึ่งในตัวอย่างของภาวะ tone-deaf ของสื่อต่อสังคม

พจนานุกรมฉบับเคมบริดจ์ให้นิยามภาวะ tone-deaf (ที่ไม่ได้แปลว่าบกพร่องทางการได้ยิน) ไว้ว่า เป็นสภาวะที่ไม่เข้าใจว่าผู้คนอื่นๆ รู้สึกอย่างไร หรือไม่เข้าใจว่าในสถานการณ์เฉพาะบางอย่างนั้น สิ่งไหนที่จำเป็นบ้าง ขณะที่เว็บไซต์พจนานุกรมชื่อดังเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์บอกว่าเจ้าภาวะ tone-deaf คือการแสดงความซื่อบื้อ ไร้เดียงสาออกมาโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ก็ขาดความตระหนักรู้ในประเด็นบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความรู้สึกหรือความคิดเห็นมวลรวมของสาธารณะ

รวบรัดแบบสั้นๆ เราอาจนิยามมันว่าเป็นความตาใส ความอ่อนต่อโลก หรือกระทั่งความโลกสวยก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับโฆษณาเจ้าปัญหาของเป๊ปซี่ ที่แม้เวลาจะผ่านไปแล้วสามปีก็ยังถูกขุดขึ้นมาวิจารณ์ทุกครั้งเมื่อมีการประท้วงหรือการจลาจล โฆษณาตัวนี้เล่าผ่านสายตาของ เคนดัลล์ เจนเนอร์ นางแบบสาวที่ยืนถ่ายแบบอยู่กลางเมืองและพบว่าผู้คนลงถนนไปประท้วง มีป้ายที่เขียนว่า ‘Join the Conversation’ รวมถึงสัญลักษณ์สันติภาพท่ามกลางผู้คนหลากเชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ และศาสนา ซึ่งร่วมร้องเพลง เล่นดนตรี และเต้นรำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังแน่นหนา เจนเนอร์ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงนั้นด้วยการลบเครื่องสำอางทิ้ง กลับไปเป็น ‘ตัวตน’ ของเธอแล้วหยิบเครื่องดื่มจากถังน้ำแข็งส่งให้ตำรวจ โดยมีหญิงสาวสวมฮิญาบบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ได้ นายตำรวจรับน้ำใจนั้นมาแล้วยกน้ำขึ้นดื่มก่อนจะหันมายิ้มให้เพื่อนตำรวจอีกคน มุมกล้องแพนไปยังชาวม็อบที่เต็มไปด้วยความรื่นเริงและสุขสงบคล้ายว่าการประท้วงนั้นสำเร็จแล้ว

แม้ว่าโฆษณา Live for Now จะเต็มไปด้วยความพยายามในการสร้างความหลากหลายโดยการใส่ตัวละครที่เต็มไปด้วยความหลากหลายเข้าไปในกลุ่มผู้ประท้วง แต่สาเหตุที่ทำให้โฆษณาชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าข่ายลักษณะความเป็น tone-deaf หรือโลกสวย ก็ตรงที่มันไปทำให้การประท้วง การเคลื่อนไหวลงถนนของผู้คน — ที่โดยตัวมันเองก็มาจากความเดือดร้อน ความไม่พอใจของคนอยู่แล้ว — กลายเป็นเรื่องแสนรื่นเริง แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือการทำให้ปัญหาเรื้อรังในอเมริกาอย่างการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ (police brutality) กลายเป็นเรื่องที่สลายไปได้แค่การยื่นกระป๋องน้ำอัดลมให้! และนี่เองเป็นเรื่องที่หลายคนรับไม่ได้มากที่สุด

เพราะลำพังจากการสำรวจในปี 2020 พบว่ามีคนถูกตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุนับพันคนและปะทุรุนแรงอีกครั้งเมื่อสมัยการประท้วง #BlackLivesMatter ซึ่งตัวต้นธารมาจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้เข่ากดผู้ต้องสงสัยจนเสียชีวิต ตัวโฆษณาเจ้ากรรมของเป๊ปซี่ก็ถูกยกมาอ้างถึงอีกครั้ง ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้ปัญหาการใช้ความรุนแรงนี้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยยิบย่อยที่ทำให้หายไปได้ด้วยการดื่มน้ำอัดลม แม้หลังจากนั้นเป๊ปซี่ออกมาบอกว่าพวกเขาตั้งใจจะสื่อสารไปยังประเด็นของความหลากหลายกับสันติภาพ และยอมรับว่าสื่อสารพลาดเป้าไปไกลลิบ ขณะที่คนที่ซวยจนตกเป็นเหยื่อสังคมอย่างเคนดัลล์ เจนเนอร์ ถึงกับหลั่งน้ำตาเพราะโดนด่าในฐานะที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่คนรักทรัมป์บุกทำเนียบขาว ชื่อของเธอก็ถูกเอ่ยถึงอยู่เนืองๆ ว่า “แว่วมาว่าตอนนี้เคนดัลล์หอบน้ำอัดลมใส่คันรถบรรทุกไปแล้ว เดี๋ยวเหตุการณ์คงใกล้สงบเองแหละ” หรือไม่ก็ “หื้ม ลองนึกดูสิว่าถ้าเคนดัลล์นางไปยื่นน้ำอัดลมให้ผู้ก่อการร้าย พวกเธอคิดว่าเราจะได้สันติภาพแบบไหนมานอนกอดกันน้า” ซึ่งน่าเห็นใจอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม โฆษณาของเป๊ปซี่ไม่ได้เป็นตัวอย่างเดียวของการ tone-deaf ถอยหลังกลับไปในปี 2015 เบียร์ยี่ห้อ Bud Light มาพร้อมสโลแกนชวนกังขาว่า “นี่เป็นเบียร์ที่เหมาะสมอย่างที่สุดในการลบคำว่า ‘ไม่’ ให้หายออกไปจากคลังคำศัพท์ในหัวคุณภายในหนึ่งคืน” และถูกโจมตีทันทีว่า ก่อนออกสโลแกนแสลงใจนี้ควรเอะใจสักนิดก็ดีว่ามันนำไปสู่การคุกคามทางเพศได้ มากไปกว่านั้นยังทำให้การบอกว่า ‘ไม่’ กลายเป็นคำที่ไม่มีน้ำหนัก หรือกระทั่งว่าตัวสโลแกนนี้ไปสนับสนุนให้เกิดการคุกคามทางเพศในทางอ้อม

อันที่จริง ภาวะแบบ tone-deaf ไม่ได้อยู่แค่ในโลกโฆษณาเท่านั้น ท่ามกลางหายนะของปี 2020 เราได้เห็นภาวะเช่นนี้อีกครั้งสมัยที่เมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาและในหลายๆ ประเทศสั่งล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่ในบ้านเพื่อจำกัดไม่ให้ไวรัสโคโรนาระบาด ในช่วงเวลาแห่งความเคร่งเครียดนั้น โลกก็ได้เห็น กัล กาด็อต นักแสดงสาวชาวอิสราเอลเจ้าของบทวันเดอร์ วูแมนแห่ง Wonder Woman (2017) และภาคต่อ WW84 (2020) เสนอแคมเปญร้องเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน เพื่อให้กำลังใจทุกคนที่ประสบกับความตึงเครียดระหว่างการกักตัว ร่วมด้วยนักแสดงคนอื่นๆ ทั้ง นาตาลี พอร์ตแมน, มาร์ค รัฟฟาโล ทยอยออกมาครวญเพลงแห่งความหวัง

แน่นอนว่า นอกจากจะขมวดคิ้วไปกุมหัวไประหว่างดูแล้ว หลายคนยังถามว่า “มันช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นระหว่างกักตัวยังไงฮึ” หรือ “นี่ไม่ใช่สิ่งที่กูต้องการหลังจากโดนสั่งให้กักตัวอยู่บ้าน ไม่มีงาน เงินกำลังจะหมด และอาหารก็ร่อยหรอลงทุกทีๆ แน่นอนว่ะ” ซึ่งเราไม่ปฏิเสธว่าเหล่านักแสดงทั้งหลายนั้นหวังดี แต่ความไร้เดียงสาเช่นนี้ –ในโมงยามที่ความเดือดร้อนสุดขีดกำลังเผาไหม้ชีวิตคนอื่นๆ ที่มีรายได้น้อยกว่าพวกเขา มีชีวิตยากลำบากกว่าพวกเขา– ย่อมเลี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลยว่าช่างเป็นความปรารถนาดีที่กลวงเปล่าเสียนี่กระไร ขอบใจนะแต่ทีหลังไม่ต้อง (แบบเดียวกันกับที่ มาดอนนา, เจนนิเฟอร์ โลเปซ ลงภาพการกักตัวในคฤหาสน์หรูแล้วสื่อสารว่าเราลงเรือลำเดียวกันแล้วนะ ชาวเน็ตบอกว่าอย่ามาเรือลำเดียวกันจ้า กูนี่แทบจะว่ายน้ำตัวเปล่าๆ แล้วมีฉลามไล่งับอยู่ด้วย)

หรือถ้าในไทย เหตุการณ์กักตัวเมื่อกลางปี 2020 เราได้เห็นคนดังและคนรวยจำนวนมากที่ออกมาบอกว่าการได้อยู่บ้านนั้นถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งเพราะทำให้ได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น (!!) หรือเลยเถิดไปกว่านั้นก็ขอบคุณไวรัสเลยก็มี ว่าทำให้ธรรมชาติได้ชำระทำความสะอาดตัวเองเพราะมลพิษอย่างมนุษย์ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ก็ใช่ ว่ามันไม่ได้เป็นข้อความที่ว่าร้ายหรือสร้างความเกลียดชังให้ใคร แต่มันเข้าข่ายความ tone-deaf ก็ตรงที่มันขาดความเข้าอกเข้าใจบริบทของคนในสังคมที่ไม่ได้มีบ้านหลังใหญ่ๆ และไม่ได้มีพื้นที่มากพอให้สมาชิกในครอบครัวอัดอยู่พร้อมๆ กันนานหลายเดือน แถมยังตาใสเสียจนไม่รู้ไม่เห็นเลยว่า เพราะกักตัวนี่แหละที่ทำให้การใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัวจนสร้างขยะให้ธรรมชาติ

ว่ากันตามตรง ความโลกสวยหรือสายตาสั้นบางอย่างเช่นนี้อาจไม่ได้ทำร้ายใครโดยตรง และไม่รุนแรงถึงขั้นไปสร้างความเกลียดชังได้ แต่ความครึ่งๆ กลางๆ นี่เองที่ทำให้มันอยู่ในลักษณะที่ไปสนับสนุนพฤติการณ์บางอย่างทางอ้อมแทน อย่างโฆษณา Live for Now ที่ในอีกด้านหนึ่งไปทำให้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในตำรวจกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและจัดการได้ ทั้งที่ความเป็นจริงมันเรื้อรังมาก และเป็นปัญหาที่อเมริกาเองมะรุมมะตุ้มแก้นับทศวรรษแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การ tone-deaf เป็นเรื่องอันตราย เพราะมันไม่ได้สนับสนุนความเป็นพิษในประเด็นไหนโดยตรง แต่ฟองสบู่อันสวยงามของมันฉาบฉวยและทำให้คนพร้อมจะมองข้ามรากที่แท้จริงของปัญหาจนอาจจะถูกละเลยได้ในท้ายที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save