fbpx

ความตาย การมีชีวิต สภาวะจิตเภท และเมืองกับความตายใน ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’

ความตายและการมีชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงการดับสูญ สูญสิ้น จบสิ้นลงไปแล้ว เป็นอดีตและ/หรืออดีตจนถึงปัจจุบัน อีกด้านหนึ่งคือการดำรงอยู่ จุดเริ่มต้น เป็นอดีตถึงปัจจุบันและยังดำเนินต่อไปข้างหน้าในอนาคต แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะอยู่เป็นคู่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงแต่มันก็ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้เช่นกัน นักจิตวิเคราะห์อย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายเอาไว้ว่าทั้งความตายและการมีชีวิตนั้นเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน หรือหากจะเข้าใจแบบนักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างทั้งความตายและการมีชีวิตนั้นต่างเป็นสิ่งที่นิยามซึ่งกันและกัน ความตายนิยามความหมายของการมีชีวิตในขณะที่การมีชีวิตก็นิยามความหมายของความตายเช่นเดียวกัน

นวนิยายเรื่อง ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ ของ นิรันดร์ รักสำราญ เล่าถึงอาการหมกมุ่นถึงความตาย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจ (trauma) ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นความหมกมุ่นและความพยายามที่จะตายรวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่นให้เข้าถึงความตายอย่างมีเกียรติ เป็นความตายที่เกิดจากการ “เลือก” ของปัจเจกบุคคล สิ่งที่ผมสนใจในนวนิยายเล่มนี้ก็คือ ผมมองเห็นว่าสิ่งที่ควรจะอยู่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงนั้นกลายเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากกัน เป็นสิ่งที่ควรจะสวนทางกันแต่มันกลับกลายเป็นความขัดแย้งที่ปะทะสังสรรค์กันแต่ดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างน่าสนใจ

 อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะเขียนเป็นคล้ายๆ กับคำเตือนเอาไว้เช่นกันว่า ในแง่หนึ่งนวนิยายเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่เหนี่ยวนำทางอารมณ์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่สภาวะซึมเศร้าได้อยู่พอสมควร การอ่านนวนิยายเล่มนี้จึงอาจทำให้เกิดความอ่อนไหวทางอารมณ์แก่คนเหล่านี้อยู่ไม่น้อย

ผม ฉัน แก กับวิธีการเล่าเรื่อง

วิธีการเล่าเรื่องของนวนิยาย ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ นั้นผมคิดว่ามีความน่าสนใจในด้านที่ว่า แม้ในบางช่วงบางตอนจะมีการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 อยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 อย่างที่ผมเคยพบในผลงานของนักเขียนไทยสมัยใหม่ที่โดยมากจะมักจะเล่นกับ ‘ความรับรู้’ ของผู้อ่านเกี่ยวกับตัวละคร การกลับด้านกันระหว่างผู้เล่าเรื่องและผู้อ่านหรือในบางครั้งอาจมีเป้าหมายเพื่อให้คนอ่านรู้สึกมีส่วนร่วมกับตัวเรื่องและผู้เล่าเรื่องด้วย[1] สรรพนามบุรุษที่ 2 ใน ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ นั้นเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นสภาวะจิตเภทของผู้เล่าเรื่องในฐานะตัวละครหลัก และมันเชื่อมโยงกับความหมกมุ่นในความตายของผู้เล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

ตัวเรื่องของนวนิยาย ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ นั้นดำเนินผ่านผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครหลัก แต่รูปแบบของการเล่าเรื่องนั้นคล้ายกับเป็นการเล่าให้ผู้อ่านฟังด้วย และเป็นการพูดกับตัวเองผ่านบันทึกประจำวันของตัวเองดังจะเห็นได้จาก เมื่อผู้เล่าเรื่องกำลังเล่าเรื่องให้ผู้อ่านฟังจะใช้สรรพนามแทนตัวว่า ‘ผม’ และ ‘ฉัน’ เช่น

“ความตายโปร่งโล่ง ชีวิตบีบรัดและอับทึบ ความตายไม่เคยเรียกร้องอะไร แต่ชีวิตเห่าหอนคำรามใส่แกอยู่บ่อยๆ มันออกคำสั่งว่าเพื่อจะมีชีวิตอยู่ ผมต้องพยายาม ซึ่งการพยายามทำให้ผมเหนื่อย” (หน้า 55)

แต่หากเป็นการพูดกับตัวเองในบันทึกประจำวันจะใช้สรรพนามบบุรุษที่ 2 ว่า ‘แก’ ในการเล่าเรื่องนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการเล่าให้ผู้อ่านฟังกับการพูดรำพึงรำพันกับตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ เหมือนเรากำลังนั่งฟังใครสักคนเล่าเรื่องอยู่ แล้วเขาก็หันหน้าไปทางอื่นเพื่อพูดกับตัวเองก่อนที่จะมาเล่าเรื่องให้เราฟังอีกทีหนึ่ง เช่น

“แกอยากตาย ผมอยากตาย อยากตาย แต่แกไม่อยากฆ่าตัวตายแล้วทิ้งศพให้เป็นขี้ปากใคร ศพของแกจะไม่ได้รับคำสรรเสริญ การตายเพื่อตัวแกเองไม่ยิ่งใหญ่เลยเมื่อเปรียบเทียบกับการตายของสืบ นาคะเสถียร การตายของแกช่างไร้ค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการตายของพระภิกษุอย่างทิก กว๋าง ดึ๊ก หรือคนอื่นๆ อีก ไม่มีทางที่ความตายของแกจะไปเทียบชั้นคนเหล่านั้นได้” (หน้า 57)

สิ่งที่ผมสนใจก็คือ การไม่แยกระหว่างการเล่าเรื่องให้คนอ่านฟังกับการพูดกับตนเองให้ชัดเจนนั้นมันได้แสดงให้เห็นสภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติ คือมีความสับสนแยกไม่ออกระหว่างตัวตนที่แสดงอยู่ต่อหน้าคนอื่นและตัวตนที่ตนเองตระหนักรู้ ในทางหนึ่งมันอาจเป็นกลวิธีที่น่าสนใจที่สรรพนามบุรุษที่ 2 ถูกนำมาใช้ในการเล่าเรื่องและในอีกทางหนึ่งผมคิดว่ามันได้สอดประสานวิธีการเล่าเข้ากับเรื่องที่ถูกเล่าและเป้าหมายของการเล่าเรื่องให้ไปในทิศทางเดียวกันซึ่งผมอาจจะพบได้น้อยมากๆ ในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย[2]

เรื่องที่เกิดกับเรื่องที่ไม่ได้เกิด

ตลอดทั้งเรื่องของ ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครหลักซึ่งก็คือผู้เล่าเรื่อง เราทราบได้ว่าผู้เล่าเรื่องนั้นมีความประสงค์อย่างรุนแรงที่จะฆ่าตัวตาย เขาไปพบจิตแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งที่ค้นเจอในอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นคลินิกที่ช่วยให้คนอยากฆ่าตัวตายพบกับความต้องการของตัวเอง แต่แล้วจิตแพทย์ ณ คลินิกนี้กลับให้เขาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแทน ผู้เล่าเรื่องยืนยันว่าเขาอยากตาย และจิตแพทย์บอกกับเขาว่า “ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าตัดสินใจอย่างมีสติเต็มที่ ผมจะไม่รั้ง” (หน้า 28) ต่อประเด็นที่ว่ามีหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์เปิดคลินิกให้การรักษาผู้คนแบบนี้จริงหรือไม่เราจะยกไปพูดในทีหลัง

ขณะที่ผู้เล่าเรื่องมาที่คลินิกแห่งนี้อีกครั้งเขาได้พบกับ ‘เหมือนจันทร์’ หญิงสาวที่เขาหลงรัก แต่ตัวเหมือนจันทร์เองกลับไปรักเจ้านายเก่าของเขาที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือซึ่งเสียชีวิตไปหลังจากถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากเขาขับรถไปชนรถถังของทหาร และในขณะที่อยู่ในความควบคุมของตำรวจ เขากลับเสียชีวิตแต่ตำรวจรอดตายเพราะตำรวจอ้างว่ามีการลอบทำร้าย นายตำรวจจึงหักหลบรถลงข้างทางและหนีมาได้ ขณะที่เจ้านายเก่าของผู้เล่าเรื่องกลับถูกไฟครอกตายอยู่ในรถ เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจของเหมือนจันทร์มาก มันกลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจ (trauma) ของเหมือนจันทร์ทำให้เธอตกอยู่สภาวะซึมเศร้าและไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เนื่องจากความตายของที่เกิดขึ้นไม่สามารถพิสูจน์ทราบคนผิดได้และไม่เป็นข่าวใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกโยงให้กลายเป็นเรื่องของการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง “ทำให้รัฐบาลทหารมีข้ออ้างในการยืดระยะเวลาเข้าครอบงำประเทศ” (หน้า 49) [3]

ผู้เล่าเรื่องเล่าต่อไปว่าเขาได้กลับมาเจอเหมือนจันทร์และรักชายหนุ่มอีกคนที่ปรารถนาอยากจะตายและไปที่คลินิกลึกลับแห่งนี้ แต่ทั้งรัก เหมือนจันทร์และผู้เล่าเรื่องดูจะประสบปัญหาเดียวกันนั่นคือพวกเขาถูกปฏิเสธในการจบชีวิตของตัวเองจากคลิกนิกแห่งนี้ พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อหาซื้อยามาฉีดกันเอง แต่ค่ายานั้นมีราคาแพงเกินไป พวกเขาจึงตั้งใจว่าจะหาสมาชิกเพิ่มเพื่อมาหารค่ายาและหาคนมาฉีดให้กันและกันด้วย และการหาสมาชิกเพิ่มนี้เองได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของ ‘มูลนิธิพิราบขาว’ ที่ช่วยให้คนต้องการจะตายได้จบชีวิตตัวเองลงสมความปรารถนา

‘มูลนิธิพิราบขาว’ ของผู้เล่าเรื่องดำเนินการด้วยดีตลอดมา จนกระทั่งเขารับเอา ‘หนุ่ม’ รูมเมตของเขาเข้ามาทำงานในมูลนิธิด้วย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การทำงานมูลนิธิเพื่อช่วยคนที่อยากตายให้สมปรารถนาของตนนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่าเรื่องลืมคิดถึงเรื่องการตายของตัวเองไป เขาคิดเพียงว่าเขาสามารถช่วยให้คนอื่นสมปรารถนาได้ควรจะเป็นเรื่องดีและอาจทำให้เหมือนจันทร์ยอมรับในตัวเขามากขึ้น

ต่อมาหนุ่มมีความขัดแย้งกับผู้เล่าเรื่องเพราะเขาเห็นว่าผู้เล่าเรื่องไม่ได้อยากตายจริงๆ อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ตอนแรก เขาจึงทำให้มูลนิธิกลายเป็นเหมือนเข้าคอร์สอบรมการตายอย่างสงบ เช่นการให้สมาชิกผลัดกันกดน้ำ หรือเข้าไปนอนในโลงศพ ผู้เล่าเรื่องไม่พอใจมากแต่สิ่งที่หนุ่มได้เริ่มทำนั้นก็เกินมือของเขาที่เข้าไปควบคุมเสียแล้ว จากนั้นผู้เล่าเรื่องรู้จากหนุ่มว่า แท้จริงแล้วเหมือนจันทร์เสียชีวิตไปนานแล้ว ตั้งแต่วันที่พวกเขาไปถ่ายรูปด้วยกัน ดังนั้น เหมือนจันทร์ที่ปรากฏตัวในเรื่องนั้นเป็นเพียงภาพหลอนในจิตใจของเขาเท่านั้น

 เหมือนจันทร์เป็นความรู้สึกผิดที่ตกค้างอยู่ในจิตใจของผู้เล่าเรื่อง และเป็นบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจ (trauma) ที่แท้จริงของผู้เล่าเรื่อง สิ่งที่ผมคิดก็คือเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับเหมือนจันทร์ในตัวเรื่องนั้นอาจเป็นผลจากการต่อรองในจิตใจของผู้เล่าเรื่องหลังจากรู้สึกผิดมากๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เหมือนจันทร์ต้องกระโดดน้ำตาย ความรู้สึกผิดนี้ได้ครอบงำจิตใจของเขาจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ ผู้เล่าเรื่องจำต้องต่อรองกับตัวเองด้วยการทำให้เหมือนจันทร์ปรากฏตัวขึ้นกลางเรื่องและกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิต โดยปรารถนาให้เหมือนจันทร์ยอมรับในสิ่งที่เขาทำนั่นคือ ‘มูลนิธิพิราบขาว’ และต้องการให้เหมือนจันทร์เห็นถึงความแน่วแน่ของเขาที่ต้องการจะตาย แต่การปรากฏตัวของเหมือนจันทร์นั้นเป็นเพียงภาพหลอนในจิตใจและยังเป็นการตัดต่อความทรงจำของตนเอง ทั้งหมดจึงเป็นไปเพื่อต่อรองให้ผู้เล่าเรื่องสามารถดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในตอนท้ายของเรื่องเราจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วเรื่องที่ยาวเหยียดทั้งหมดที่ผู้เล่าเรื่องได้เล่าให้เราฟังนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง ทั้งหมดเป็นเพียงภาพหลอนในจิตใจ เป็นความปรารถนาส่วนลึกในจิตใจที่กำกับความรับรู้และตระหนักรู้ในตัวตนของผู้เล่าเรื่องเอง ไม่มีคอนโดร้างที่เป็นที่ทำการของมูลนิธิพิราบขาว ไม่มีชายที่ชื่อหนุ่มที่เอานกพิราบมาทำเป็นหมวกและเป็นรูมเมตของผู้เล่าเรื่อง ไม่มีศพจำนวนมากที่ชั้นใต้ดิน ไม่มีแม้กระทั่งคลินิกที่ช่วยให้คนฆ่าตัวตายที่ปรากฏในตอนต้นเรื่อง เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงแค่ผู้เล่าเรื่องกระโดดตึกด้วยหวังจะฆ่าตัวตายที่คอนโดร้างแห่งหนึ่ง แต่เขาไม่ตายและได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพียงการตัดแต่ง/ตัดต่อความทรงจำของผู้เล่าเรื่องเท่านั้นเอง

ประเด็นที่ผมสนใจก็คือตัวเรื่องพยายามชี้ให้เห็นว่า สภาพสังคมที่เป็นอยู่ในเรื่องนั้นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความหลอกลวง ความไม่จริง และการปิดกั้นข่าวสารข้อมูลบางอย่าง ดังจะเห็นในฉากที่ผู้เล่าเรื่องตื่นมาในโรงพยาบาลและพยายามเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้พยาบาลฟัง แต่พยาบาลกลับบอกว่า

“คนไข้คะ…เธอพยายามเรียบเรียงคำพูดเพื่อให้กระทบจิตใจผู้ป่วยน้อยที่สุด คนไข้ไม่คิดว่ามันแปลกๆ บ้างเหรอ คอนโดร้าง – ที่มีมูลนิธิช่วยคนที่อยากฆ่าตัวตาย คือไม่มีเรื่องอะไรแบบนั้นหรอกค่ะ เธอว่า พยายามปลอบใจ ใครจะอยากฆ่าตัวตาย ประเทศเราสงบดีค่ะ หัวเราะ แล้วก็ไม่ได้กำลังแย่ คนเจ็บส่ายหน้า รู้สึกอยากหัวเราะไปด้วย ตลก เหมือนเธอกับเขาอยู่คนละโลก – แป๊บนะคะ เธอเดินไปหยิบหนังสือพิมพ์มาให้ ชี้ ผลสำรวจบอกว่าประชากร 99.8% กำลังมีความสุขดี แค่ 0.2% เท่านั้นแหละค่ะที่ตรงข้าม เธอยิ้ม หวังว่าผู้ป่วยจะค่อยๆ ได้สติ น่าใจหาย ราวกับเขามาจากโลกใบอื่น นั่นแหละค่ะ คนพวกนั้นแค่ 0.2% รัฐบาลก็พยายามช่วยพามาปรับทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองให้รู้จักคิดบวก มองโลกในแง่ดี ถ้าทุกคนพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ต่อให้ ชีวิตลำบากแค่ไหน เจอปัญหาอะไร พวกเราก็จะมีกำลังใจต่อสู้ ไม่มีใครอยากฆ่าตัวตายหรอกค่ะ” (หน้า 238)

อันที่จริงแล้วผมอยากเสนอด้วยว่า เรื่องทั้งหมดมันอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่มันไม่เป็นข่าวและถูกปิดบังเหมือนกับที่เจ้านายเก่าของเขาตายโดยที่ไม่เป็นข่าวสำนักใดเลย แต่นั่นอาจเป็นข้อสันนิษฐานที่มีอคติของผมว่าสังคมที่เคลมว่าประชากรมีความสุขเกือบร้อยเปอร์เซนต์นั้นเป็นสังคมที่วิปริตแน่ๆ เพราะเมื่อผมเงยหน้าขึ้นมาจากวรรณกรรม สภาพความเป็นจริงก็วิ่งเข้าตำตาผมทันทีว่ามันไม่จริงหรอก มันเป็นเพียงการเสียดสีเท่านั้นแหละ

การเสียดสีสภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ในตัวเรื่องอาจเป็นสิ่งที่ให้คำตอบกับผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจ กลวิธีดังกล่าวก็คือการโยนคำถามกลับไปที่ผู้อ่านว่าผู้อ่านทั้งหลายจะเชื่อหรือไม่ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เราอ่านเราฟังผู้เล่าเรื่องเล่ามานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สภาพสังคมมันหดหู่ชวนให้โศกเศร้าทุกเช้าค่ำ ความหวังที่จะทำมาหากินและมีชีวิตเลือนหายไปในทุกๆ เช้า แต่ก็ยังมีคนพยายามบอกว่าเราว่าตอนนี้ประเทศเรามีความสุข

คำถามก็คือผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่าตอนนี้ประเทศของเรามีความสุข และผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่ผู้เล่าเรื่องเล่าให้เราฟังนั้นเกิดขึ้นจริง

ต่อให้เรื่องทั้งหมดไม่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นเรื่องหลอกลวง เป็นเรื่องโกหก เป็นภาพหลอนของคนสติไม่ดีคนหนึ่ง ไอ้การที่มีคนบอกว่าประเทศไทยแลนด์ของเรานี้มีความสุข ก็น่าจะไม่ต่างอะไรกัน …สติไม่ดีกันทั้งสิ้น

ความตายและการมีชีวิต สองด้านของเหรียญเดียวกัน

แม้ว่าตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้จะมีความหมกมุ่นอยู่กับความตายและต้องการจะตายอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางตรงกันข้ามผมคิดว่าในความหมกมุ่นเรื่องความตายนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการมีชีวิตและการมีชีวิตอยู่ด้วย เช่นตัวละคร ‘เหมือนจันทร์’ ที่ดูเหมือนว่าเธอมีความต้องการที่จะตายอย่างมากแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้เล่าเรื่องเสียที ในขณะเดียวกันการดำรงอยู่ของตัวละครเหมือนจันทร์นั่นแหละที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีชีวิตอยู่ หรือเป็นความหวังในการมีชีวิต แต่เป็นชีวิตของผู้เล่าเรื่องเอง

ผู้เล่าเรื่องและเหมือนจันทร์นั้นมีทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตที่คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะความพยายามในการตาย เหมือนจันทร์นั้นมุ่งมั่นที่จะตายมากเพราะเธอไม่รู้สึกถึงความสำคัญในการมีชีวิตอยู่ ความตายของเจ้าของร้านหนังสือในตอนต้นเรื่องส่งผลสะเทือนทางจิตใจต่อเหมือนจันทร์มากๆ เธอมองว่าความตายคือการประกาศเจตนารมณ์ การส่งสารบางอย่างต่อสังคม และมันจะกลายเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลัง ในขณะที่ผู้เล่าเรื่องนั้นความอยากตายของเขาดูจะไม่ชัดเจนเท่ากับเหมือนจันทร์ แม้เราจะเห็นได้ว่าบาดแผลฉกรรจ์ทางจิตใจ (trauma) ของเขาคือคำพูดของเหมือนจันทร์ที่ด่าทอเขาเรื่องความตายและความตายของเหมือนจันทร์ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาอยากจะมีชีวิตเพื่อพิสูจน์ความรักที่มีต่อเหมือนจันทร์มากกว่าความตาย

ถ้าหากเจ้าของร้านหนังสือที่เหมือนจันทร์หลงรักเป็นสิ่งที่ทำให้เหมือนจันทร์อยากมีชีวิตอยู่หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแรงปรารถนาในการชีวิต เมื่อเจ้าของร้านหนังสือเสียชีวิตลงไปเหมือนจันทร์ แรงจูงใจที่จะมีชีวิตนั้นหมดสิ้นไปเสียแล้วสำหรับเหมือนจันทร์ ในขณะเดียวกัน เหมือนจันทร์กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีชีวิตของผู้เล่าเรื่อง เราจะเห็นว่าผู้เล่าเรื่องนั้นมีแรงปรารถนาที่จะตายอยู่ตลอดในช่วงต้นเรื่อง และแม้ว่าเขาจะได้เจอกับเหมือนจันทร์แล้วความมุ่งมาดที่จะตายของเขาก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อพบเหมือนจันทร์และเขาได้ทำมูลนิธิพิราบขาวความอยากตายของเขาค่อยๆ หายไปอาจเป็นด้วยเหตุผลของการได้ช่วยเหลือคนอื่น (ให้ตาย) และต้องการพิสูจน์ตัวเองกับเหมือนจันทร์ในเรื่องสำนึกต่อสังคมและสำนึกต่อผู้อื่น

ความย้อนแย้งที่น่าสนใจของผู้เล่าเรื่องก็คือ เขาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นให้จบชีวิตตัวเองลงอย่างมีเกียรติและสง่าผ่าเผย ความรู้สึกของการได้ทำเพื่อผู้อื่นนั้นเข้ามาทดแทนความรู้สึกที่อยากจะตายของตัวผู้เล่าเรื่องเอง ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ความตายและความปรารถนาที่จะตายคือจุดตั้งต้นของผู้เล่าเรื่อง ต่อมาเขาได้ช่วยเหลือให้คนที่ปรารถนาจะตายได้พบกับความตายจริงๆ …ด้วยความสมัครใจของคนเหล่านั้นเอง การได้เห็นและช่วยเหลือให้คนอื่นตายจึงกลับกลายเป็นพลังในการมีชีวิตที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นของผู้เล่าเรื่อง ความย้อนแย้งดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นว่าทั้งความตายและการมีชีวิตล้วนเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันและไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ พลังของความตายและการมีชีวิตอยู่นั้นต่างส่งเสริมซึ่งกันและกันทั้งๆ ที่ทั้งสองสิ่งนี้ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว

เมืองและความตาย

ประตูไฮโดรลิกกระแทกเปิดหลังสำรอกเศษมนุษย์กลุ่มเล็กๆ ให้กระเด็นออกมา ผมคือหนึ่งในก้อนอาเจียนของเมืองนี้ เหม็นเน่า น่าขยะแขยง” (หน้า 43)

“ผมคือก้อนอาจมของเมืองนี้ ถูกสูบดึงสารอาหารอันเป็นประโยชน์ออกจากตัว ความหวัง ความฝัน ความสุข และกลายเป็นเพียงเศษกากเดนไร้คุณค่าที่ถูกเบ่งทิ้งออกมาในฐานะของเสีย” (หน้า 68)

เมืองไม่ใช่เพียงแค่ฉากของวรรณกรรมเท่านั้นแต่ยังมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเป็นเบ้าหลอมอุปนิสัยใจคอของคนที่อยู่ในเมือง สามารถควบคุมและกระตุ้นจิตใจของผู้คนได้และเมืองยังสัมพันธ์กับสภาพจิตใจของตัวละครอีกด้วย[4] เมืองไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งและตายตัว เมืองเป็นสถานที่ที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนเราเรียกได้ว่า เมืองเป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวา ดังนั้นเมืองจึงอาจหมายถึงสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้ามเมืองที่ไม่มีชีวิตไม่มีความเคลื่อนไหวก็ไม่อาจดำรงความเป็นเมืองอยู่ได้ เรามักจะเข้าใจเมืองในลักษณะนี้ว่าเป็นเมืองร้างและในทางกลับกันเมืองร้างก็อาจเป็นสัญลักษณ์ของความตายได้เช่นกัน

เมืองใน ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ นั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะตัวเมืองนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดอุปนิสัยใจคอของตัวละคร เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครมีความรู้สึกไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่เมืองนี้เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา อนึ่งความรู้สึกแปลกแยกของตัวละครโดยเฉพาะผู้เล่าเรื่องที่มีต่อเมืองนั้นเราจะเห็นได้ว่าเมืองไม่ใช่สิ่งที่ให้พลังในการมีชีวิตมิหนำซ้ำยังเป็นสิ่งที่ดูดพลังในการมีชีวิตออกไปจนทำให้ผู้เล่าเรื่องรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘ก้อนอาจม’ เท่านั้น ต่อประเด็นนี้ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชีวิตของเมืองที่ดูเหมือนจะโลดแล่นไปมา เปล่งปลั่งและดูเป็นเป็นเมืองที่ประชากร ‘มีความสุขถึง 99.8%’ และมีเพียง 0.2% ที่ตรงกันข้ามนั้นแท้จริงแล้วชีวิตของเมืองนี้ได้มาจากการสูบพลังชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก

ผมอยากจะกลับหัวกลับหางตัวเลขที่ถูกระบุเอาไว้ถึงความสุขที่ประชากรในเมืองนี้มีและให้คำอธิบายเสียใหม่ว่า แท้จริงแล้ว ชีวิตของเมืองที่มันดำรงอยู่ได้เพราะตัวมันได้สูบและดูดกลืนกินเอาความสุขของคน 99.8% ไปบำรุงบำเรอคน 0.2% เท่านั้น ดังนั้นเมืองใน ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ จึงกลายเป็นเมืองสำหรับคนอยากตายที่มีจำนวนมหาศาลนั่นเอง

ส่งท้าย

อย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ในตอนต้นว่า นวนิยาย ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ นั้นอาจมีประเด็นความอ่อนไหวทางด้านอารมณ์และจิตใจต่อผู้ที่อยู่ในสภาวะซึมเศร้าอยู่ไม่น้อย ผมคิดว่าในประเด็นนี้สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือความสามารถทางการประพันธ์ของผู้เขียนที่รีดเค้นสภาวะอันดำดิ่งของตัวละครออกมาและเร้าอารมณ์ผู้อ่านได้อย่างสนใจ เทคนิคและกลวิธีทางวรรณกรรมนั้นแม้จะไม่แพรวพราวแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านติดตามและสนใจตัวเรื่องไปจนจบได้ ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นทางสังคมที่ผู้เขียนสอดแทรกและเสนออยู่ระหว่างบรรทัดนั้นก็ถือได้ว่าทำได้อย่างดี ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพที่แสนสุขอย่างจอมปลอมของสังคมไทยได้อย่างน่าสะพรึงกลัว


[1] ผมควรแจ้งให้ทราบว่านี่ไม่ใช่เป็นการตำหนิ ติเตียน หรือเย้นหยัน หรือเสียดเย้ย เสียดสี ดูแคลน ด้อยค่า แซะ นักเขียนที่มักใช้วิธีการเช่นนี้การเล่าเรื่อง เดี๋ยวจะมาหาว่าผมใจแคบ อคติ หรือไม่เปิดรับวิธีการใหม่ ผมเพียงอธิบายเท่านั้น… อธิบาย ไม่ได้ว่าอะไร

[2] การที่ผมพูดว่าพบน้อยไม่ได้แปลว่าไม่มี ปัญหาอาจหมายถึงผมอาจจะอ่านน้อยรู้น้อยและอาจเป็นปัญหาของผมเพียงคนเดียวก็ได้

[3] ผมคิดว่าในฉากนี้เป็นการล้อกับเหตุการณ์ที่ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังทหารในปี 2549 เพื่อเป็นการประท้วงคณะรัฐประหารและต่อมาลุงนวมทองได้ผูกคอตายบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาออก เยื้องกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยมีจดหมายลาตายที่มีใจความว่าต้องการลบคำสบประมาทที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

[4] โปรดดูต่อใน สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2559). อ่านเมือง เรื่องคนกรุง: วรรณกรรม วิถีความสัมพันธ์ และภาพแทนของพื้นที่. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save