fbpx
ฉันเกิดและโตท่ามกลางวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’

ฉันเกิดและโตท่ามกลางวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

20 ปีก่อน ผมอายุ 6 ขวบ กำลังจะเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งใจกลางกรุง และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เมืองไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งผมยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร เช่นเดียวกับคำว่าค่าเงินบาทลอยตัว ไฟแนนซ์ ไอเอ็มเอฟ และศัพท์แปลกๆ อีกหลายคำที่พวกผู้ใหญ่ชอบพูดกันในตอนนั้น

ที่ผมรู้และจำได้ดี คือมันเป็นช่วงที่พ่อแม่ชอบทะเลาะกันบ่อยๆ และความสุขของผมในฐานะเด็กคนหนึ่ง ก็ค่อยๆ หายไปทีละอย่าง

ครั้นเมื่อโตขึ้นมา ผมพบว่าเรื่องบางเรื่องที่ตัวเองไม่เคยสนใจ กลับกลายมาเป็นเรื่องสำคัญอย่างน่าประหลาด และเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ คือหนึ่งในนั้น

 

 

มันเริ่มจากเมื่อเดือนก่อน ตอนที่ผมเข้าไปเดินเล่นในมิวเซียมสยามตามกิจวัตร และบังเอิญเจอกับนิทรรศการครบรอบ 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ชื่อเต็มๆ คือ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน’

ตอนแรกผมเข้าใจว่ามันคงเป็นนิทรรศการแบบเดิมๆ ที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น นอกจากลูกเล่นซ้ำๆ และมุมสวยๆ อีกสองสามจุดที่ให้คนมาถ่ายรูปเล่น ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกไกลตัว แต่คิดว่าหัวข้อนี้ก็น่าสนใจดีอยู่เหมือนกัน

แปลกดีที่มันไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คาดไว้ มิหนำซ้ำยังทำให้คิดอะไรได้อีกหลายอย่าง องค์ประกอบต่างๆ ถูกจัดวางและนำเสนอในรูปแบบของสวนสนุก เพียงแต่มันเป็นสวนสนุกที่ประกอบขึ้นจากเศษเสี้ยวความทุกข์ของผู้คนในยุคฟองสบู่แตก

ผมในฐานะคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วม และรู้จักวิกฤตต้มยำกุ้งแบบผิวเผิน ค่อยๆ เดินสำรวจนิทรรศการไปทีละจุด ก่อนที่ความทรงจำหลายอย่างจะผุดขึ้นมาโดยไม่ทันสังเกต

เริ่มจากกำแพงข่าวที่เป็นเสมือนเขาวงกต เรียงรายด้วยภาพการ์ตูนล้อที่เขียนโดย ‘บัญชา-คามิน’ จากค่ายผู้จัดการ บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญก่อนและหลังเกิดวิกฤตเป็นฉากๆ ตั้งแต่การลาออกจากตำแหน่งของนายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น การรวมหัวกันสรรหารัฐมนตรีคลังคนใหม่ซึ่งไปลงเอยที่นายทนง พิทยะ การตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ การกุข่าวลวงโลกของคนขับแท็กซี่ที่ชื่อสมพงศ์ เลือดทหาร ไปจนถึงการกระโดดตึกตายที่กลายเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน

 

 

แม้จะเป็นการ์ตูนล้อ แต่ผมคิดว่ามันทำให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ตอนนั้นได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการสะท้อนวิธีแก้ปัญหาของผู้มีอำนาจที่ทำแบบ ‘เฉพาะหน้า’ และ ‘ผลักภาระกันไปมา’ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นแล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงด้วยซ้ำ ประชาชนตาดำๆ จึงต้องเผชิญเคราะห์กรรมกันแบบไม่ทันตั้งตัว

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านการ์ตูนเสียดสี ผมว่ามันเป็นสื่อที่เข้าใจง่าย คมคาย และบางครั้งก็ ‘เซฟ’ กว่าการวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงๆ เสียอีก

เดินพ้นจากเขาวงกตเข้ามาด้านใน มีดัมเบลขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่กลางห้อง บนฉากหลังปรากฏตัวเลข 1,400,000,000,000 (บาท) พร้อมคำอธิบายว่าเป็นจำนวนหนี้ที่รัฐไทยต้องจ่ายเพื่อพยุงสถาบันการเงินไม่ให้ล้ม และจนถึงวันนี้ เรายังคงเหลือหนี้ที่ต้องจ่ายอีกราวๆ 9 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอีก 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

 

ผมเพิ่งรู้วันนี้แหละว่าประเทศเรายังต้องใช้หนี้ที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งอีกมหาศาล จากเดิมที่เข้าใจว่าได้ปลดหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้ายไปแล้วในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ถัดเข้ามาในโถงกลาง วัตถุเก่าเก็บหลายอย่างถูกจัดวางอยู่บนท้ายรถเบนซ์คันเก่า ตั้งแต่เหล้าราคาแพง น้ำหอม นาฬิกา เทปเพลงเก่าๆ เกมบอยที่เคยเล่นตอนเด็กๆ รวมไปถึงทอล์คกิ้ง-ดิค ที่ผมแทบจะลืมไปแล้วว่าเคยใช้ ก็ปรากฏให้เห็นบนท้ายรถเบนซ์คันนี้เช่นกัน

นี่คือการจำลองภาพของ ‘การเปิดท้ายขายของ’ ในเวลานั้น ซึ่งเป็นวิธีการหารายได้ยอดนิยมเพื่อเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่พังทลาย ควบคู่กับการเกิดขึ้นของ ‘ตลาดนัดคนเคยรวย’

เท่าที่จำได้ ที่บ้านผมไม่เคยใช้วิธีนี้ มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่พ่อตัดสินใจขายรถฮอนด้า ซีวิค ที่ใช้มาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด พ่อบอกผมสั้นๆ ว่าต้องหาเงินมาใช้หนี้ หลังจากนั้นมาบ้านของเราก็ไม่เคยมีรถคันใหม่อีกเลย

 

 

“ถ้าเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนั้น ไม่เห็นพ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันแบบนั้น ผมก็ไม่น่าจะเติบโตมาเป็นเด็กที่ก้าวร้าวขนาดนี้ได้ วิกฤตครั้งนั้นมันทำให้ผมรู้จักเรื่องบางเรื่องเร็วกว่าคนวัยเดียวกัน เช่น เรื่องเงิน เรื่องภาษี เรื่องการทำมาค้าขาย…” เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในคนที่เอาของมาจัดแสดง ให้คำอธิบายไว้เช่นนั้น

ว่าไปแล้ว ผมกับเขาน่าจะมีส่วนคล้ายกันไม่น้อย คือเติบโตมาในครอบครัวที่มีพร้อมทุกอย่าง และค่อยๆ สูญเสียไปทีละอย่างในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดูจากหน้าตาและสิ่งที่เขาบอกเล่า ผมคิดว่าเราน่าจะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันด้วยซ้ำ ข้อความสั้นๆ ของเขาทำให้ผมคิดต่อไปว่า แล้วเหตุการณ์ที่พ่อแม่ของผมประสบในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้ผมเป็นอย่างทุกวันนี้แค่ไหนกันนะ

แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมที่เราประสบในวัยเด็ก ย่อมส่งผลให้เราเติบโตขึ้นมาเป็นคนบางแบบ แต่การยกปัญหาครอบครัวมาเป็นข้ออ้างของพฤติกรรมบางอย่าง ผมว่ามันอาจไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่

 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก คนจำนวนมากแก้ปัญหาด้วยการคิดสั้น จำได้ว่าช่วงนั้นในทีวีมีข่าวคนกระโดดตึกตายถี่มาก แต่ผมก็ยังไม่โตพอที่จะเข้าใจได้ว่าคนเราต้องเจอกับความทุกข์สาหัสแค่ไหน ถึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองได้ลงคอ

“วันนั้น ขณะที่แม่กำลังทำงานอยู่ ก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้านาย เพื่อสอบถามถึงงานที่ค้างคาและแผนการดำเนินงานต่อไป ซึ่งเป็นสายปกติที่แม่จะได้รับอยู่เสมอ แต่ที่ไม่ปกติคือ เจ้านายทิ้งท้ายว่า ‘ฝากดูแลงานหน่อยนะ’ จนเวลาผ่านไป มีโทรศัพท์ดังอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่สายของเจ้านาย แต่เป็นสายของเลขาที่โทรมาบอกว่า เจ้านายผูกคอตายในห้องทำงาน” นี่คือข้อความบางส่วนจากคนที่เคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ ถูกจัดวางคู่กับโทรศัพท์มือหมุนที่ใช้เอ่ยคำสั่งเสีย

สำหรับครอบครัวผม ถือว่าโชคดีที่ไม่มีใครคิดสั้น แต่ก็อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ตกอยู่สถานการณ์บีบคั้นเท่าไหร่นัก เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจหรือมีกิจการเป็นของตัวเอง พ่อผมเป็นพนักงานบริษัทธรรมดา ส่วนแม่ก็เป็นแม่บ้านเต็มเวลา แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย

 

 

จำได้ว่าช่วงก่อนปี 40 ความสุขของเด็กคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นลูกคนเดียวในเวลานั้น) คือการได้นั่งรถไปเที่ยวห้างทุกสุดสัปดาห์ เพลงที่พ่อชอบเปิดบนรถและยังติดหูมาจนถึงทุกวันนี้คือเพลง บ้าหอบฟาง ของอัสนี-วสันต์ สลับกันกับเพลงของพี่เบิร์ดชุดถ่านไฟเก่า แล้วถ้าวันไหนพ่อเกิดครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมาก็จะพาเราไปเที่ยวแดนเนรมิต

ต่อมาเมื่อผมโตพอที่จะเข้าโรงเรียน พ่อก็ใช้เงินหลักแสนเพื่อส่งผมเข้าโรงเรียนเอกชนอันดับต้นๆ ของประเทศ  ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์ก็ค่อยๆ เลวร้ายลง

บริษัทที่พ่อทำงานมาเกือบสิบปี ตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานยกชุด แม้แต่พ่อของผมก็ไม่พ้น ต้องดิ้นรนวิ่งเต้นหางานใหม่อยู่พักใหญ่ ส่วนแม่ก็ต้องไปหยิบยืมเงินจากญาติมาจ่ายค่าเทอมหลักหมื่นให้ผม ผมซึ่งไม่รู้ประสีประสาอะไรในตอนนั้น ได้แต่นอนร้องไห้เงียบๆ เมื่อได้ยินพ่อแม่ทะเลาะกันในยามวิกาล

 

 

หลังจากเดินดูงานไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีอยู่บ้างที่เกิดและโตขึ้นมาในช่วงเวลานั้น เพราะยังไม่ต้องรับรู้หรือเผชิญหน้ากับวิกฤตนี้โดยตรงอย่างที่คนรุ่นก่อนหน้าผมต้องเจอ

นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าผมกำลังจะเรียนจบหรือหางานทำอยู่ แล้วจู่ๆ ต้องมาเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ผมจะเอาตัวรอดได้อย่างไร หรือจะสติแตกหรือไม่ถ้ากำลังเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วพบว่าค่าครองชีพจะแพงขึ้นเป็นสองเท่า

ในนิทรรศการมีอยู่โซนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘เล่าสู่กันฟัง’ รวบรวมคำบอกเล่าจากคนที่สามารถตั้งตัวได้หลังจากผ่านวิกฤต

หนึ่งในนั้นคือคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา คนทำสื่อที่ผมชื่นชมทั้งผลงานและความคิด นิตยสารโอเพ่นคือหนึ่งในผลผลิตหลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และเป็นต้นแบบของนิตยสารทางเลือกที่เบ่งบานในช่วงทศวรรษ 2540 หลังจากนั้นคุณภิญโญก็ยืนหยัดอยู่ในแวดวงสื่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในยุคที่ทุกคนสื่อสารกันผ่านหน้าจอ

“มันต้องกลับมาที่ตัวเองว่า มีสินทรัพย์ มีปัญญาอะไรบ้าง ที่เป็นของเก่าของตัวเอง แล้วต้องรู้จักตลาดของตัวเอง รู้จักการเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วแมทช์ปัญญาและสินทรัพย์เดิมเข้าไปในฟอร์แมตใหม่ สร้างโมเดลธุรกิจขึ้นมาใหม่”

ในส่วนของแวดวงภาพยนตร์ก็คล้ายๆ กัน เพราะยุคหลังฟองสบู่แตกถือเป็นยุครุ่งเรืองของหนังไทยในรอบหลายสิบปี นนทรีย์ นิมิบุตร วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การบูมขึ้นมาของหนังแนวย้อนยุคหรือหนังผีอย่าง นางนาก หรือ บางระจัน อาจเป็นเพราะคนไทยต้องการหลีกหนีความจริงจากวิกฤตฟองสบู่ ไปสู่การหาความสุขแบบใหม่ๆ ซึ่งความแฟนตาซีและโปรดักชั่นอลังการในหนังประเภทนี้ สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้เรายังเห็นหนังที่ถ่ายทอดภาวะอันสับสนของคนยุคฟองสบู่แตกออกมาเป็นระยะ เช่น เรื่องตลก 69 โดย เป็นเอก รัตนเรือง (2542) 102 ปิดกรุงเทพฯ ปล้น โดย ธนิตย์ จิตนุกูล หรือ Concrete Cloud โดย ลี ชาตะเมธีกุล (2557) นั่นสะท้อนให้เห็นว่าพิษเศรษฐกิจในครั้งนั้นเป็นเสมือนฝันร้ายที่หลายคนไม่อาจลืม หรืออยากลืมแต่ก็ลืมไม่ลง

 

 

วัตถุอีกชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงว่าในส่วนนี้ ก็คือกล่องแซนวิชสีเหลืองที่ผมไม่เห็นมานานแล้ว

ตอนเรียนอยู่ประถม ทุกเย็นเมื่อโรงเรียนเลิก ผมจะเห็นคุณลุงคนหนึ่งยืนสะพายกล่องขายแซนวิชสีเหลืองสดอยู่ข้างรั้วโรงเรียน และยังเห็นคนขายแซนวิชในลักษณะเดียวกันนี้ตามที่อื่นๆ อีกด้วย แม่เล่าให้ผมฟังทีหลังว่า คนที่เป็นเจ้าของแซนวิชยี่ห้อนี้ เมื่อก่อนเคยเป็นเศรษฐี แต่ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจพังทลาย เลยต้องหันมาทำแซนวิชขาย

ผมเพิ่งได้รู้ว่าเจ้าของธุรกิจแซนวิชสีเหลืองนี้ คืออดีตเซียนหุ้นที่เคยทำกำไรได้วันละ 10 ล้านบาท ก่อนจะถูกฟ้องล้มละลายในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ธุรกิจการขายแซนวิชที่ผมเห็นตอนเด็กๆ คือการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ก่อนจะขยับขยายมาเป็นธุรกิจอาหารเช้าและเครื่องดื่มสมุนไพรที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากค่าเงินบาทที่ร่วงเอาๆ ในเวลานั้น ราคาหุ้นก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน หุ้นบางตัวที่ดูดีมีอนาคต มีมูลค่าเป็น ‘สูญ’ ทันทีที่เงินบาทลอยตัว ตลกร้ายอย่างหนึ่งที่คนชอบพูดในเวลานั้นก็คือราคามันถูกกว่าปาท่องโก๋เสียอีก

 

 

เท่าที่สังเกต ผมรู้สึกว่าในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตอะไรสักอย่าง เมื่อฝุ่นที่ตลบอยู่เริ่มจาง จะมีเส้นทางใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาเสมอ แต่การจะเจอทางใหม่ได้ ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญและสายตาที่แหลมคมด้วยเช่นกัน

เดินออกมาจากห้องนิทรรศการ พนักงานยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งมาให้ ในนั้นระบุว่าผมใช้เวลาเดินดูนิทรรศการไป 36 นาที 8 วินาที ซึ่งดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 2,762,032 บาท ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา เราจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างอยู่ไปทั้งสิ้น 40,200 ล้านบาท และยังต้องจ่ายไปเรื่อยๆ ทุกปี ฉะนั้นในทุกๆ วินาทีที่ผ่านไป เราจึงมีหนี้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว

ได้ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า ภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่เราเสียไปนั้น เคยถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ บ้างหรือไม่

ในฐานะของคนที่เกิดและโตขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมคิดว่าสิ่งที่เราพอจะเรียนรู้จากมันได้ ก็คือการไม่ชะล่าใจกับภาวะอันสุขสบาย และพร้อมรับมือภาวะอันเลวร้ายอยู่เสมอ เหนืออื่นใดคือการหันกลับไปทบทวนความผิดพลาดอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย

อย่างไรก็ดี ตึกสาทรยูนิคที่แปรสภาพเป็นหอคอยร้างกลางเมืองมา 20 ปี น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าคนไทยเราคุ้นเคยกับเรียนรู้หรือการหลงลืมมากกว่ากัน  

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022