fbpx

บุหรี่ในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย: จาก ‘การบังคับเพาะปลูก’ สู่การบริโภคมากที่สุดในอาเซียน

ท่านที่เคยไปเยือนอินโดนีเซียคงจะคุ้นตากับภาพคนสูบบุหรี่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามท้องถนน ในรถโดยสารสาธารณะ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่ราชการ ไม่เว้นแม้แต่ที่ที่มีป้ายห้ามสูบบุรี่ติดไว้

อัตราการสูบบุหรี่ของชาวอินโดนีเซียอยู่ที่ 39.90% สูงเป็นลำดับ 7 ของโลก ตามหลังประเทศคิริบาส, นาอูรู, กรีซ, เซอร์เบีย, รัสเซีย และจอร์แดน อินโดนีเซียครองแชมป์สูบบุหรี่สูงสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถิติผู้สูบบุหรี่ในอินโดนีเซียปี 2021 เพศชายสูบบุหรี่ร้อยละ 76.20 และเพศหญิงร้อยละ 3.60[1] จำนวนผู้สูบบุหรี่ในอินโดนีเซียมีราวๆ ร้อยกว่าล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศเสียอีก จนกล่าวได้ว่าบุหรี่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่ผู้เขียนนึกถึงหากกล่าวถึงประเทศอินโดนีเซีย

บุหรี่ของอินโดนีเซียมีหลากหลายยี่ห้อ อุตสาหกรรมบุหรี่ของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่และมีการแข่งขันสูงมาก จากการจัดลำดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของอินโดนีเซียโดยนิตยสารฟอร์บส์ปี 2021 อันดับหนึ่งคือ Robert Budi Hartono อายุ 80 ปี ถือครองทรัพย์สิน 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารกลางเอเชีย (Bank Central Asia) และอุตสาหกรรมบุหรี่ยี่ห้อ Djarum[2]

ต้นยาสูบกับนโยบายบังคับเพาะปลูก (Cultuurstelsel) ในยุคอาณานิคม

เมื่อพูดถึงบุหรี่จะไม่พูดถึงใบยาสูบคงจะไม่ได้ แม้ว่าบุหรี่ของอินโดนีเซียจะมีส่วนผสมของกานพลูที่ทำให้รสชาติออกหวาน ละมุนละไม แต่ใบยาสูบก็เป็นส่วนประกอบหลักของบุหรี่อยู่ดี ในบันทึกของ Stamford Raffels กล่าวว่าประมาณปี 1600 บุหรี่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนพื้นเมือง โดยเฉพาะที่เกาะชวา ต้นยาสูบไม่ใช่พันธุ์ไม้พื้นเมืองดั้งเดิมของชวา แม้จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าต้นยาสูบเข้ามาสู่อินโดนีเซียตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีหลักฐานภาพสลักนูนต่ำของบุโรพุทโธที่มีต้นยาสูบปรากฏอยู่ ทำให้คาดว่าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 แล้วที่ชาวอินโดนีเซียรู้จักต้นยาสูบ

ส่วนการนำใบยาสูบมาเผาเพื่อสูบคาดว่าเกิดในราวปลายทศวรรษ 1500 เนื่องจากพบบันทึกในหลักฐานของชวาที่ได้อธิบายว่า Penembahan Senapati ผู้ก่อตั้งราชวงศ์มะตะรัมหรือในอีกพระนามว่า Sultan Agung ทรงสูบบุหรี่[3] คำว่า rokok[4] ที่แปลว่าบุหรี่นั้น มีที่มาจากภาษาดัตช์คำว่า ‘roken’ ที่แปลว่า ‘to smoke’ ในขณะที่ tembakau หรือยาสูบ ใกล้เคียงกับภาษาโปรตุเกส ‘tabaco’ มากกว่า ดังนั้นนักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียจึงเห็นพ้องกันว่าโปรตุเกสน่าจะเป็นผู้นำต้นยาสูบมาสู่อินโดนีเซีย ในขณะที่ฮอลันดาเป็นผู้ที่ริเริ่มทำให้การปลูกต้นยาสูบแพร่หลายในชวาและสุมาตรา

VOC หรือ Dutch East India Company ได้ริเริ่มปลูกต้นยาสูบในพื้นที่ของราชอาณาจักรสุราการ์ตา (หรือเมืองโซโลในปัจจุบัน) และยอกยาการ์ตาตั้งแต่ปี 1820 แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งฮอลันดาได้ยกเลิกระบบการผูกขาดโดยเจ้าชวาแบบดั้งเดิม ธุรกิจการเกษตรจึงสามารถเติบโตได้ การปลูกต้นยาสูบในรูปแบบเกษตรกรรมขนาดใหญ่จริงๆ มาริเริ่มในปี 1840 ในยุคข้าหลวงใหญ่ Van den Bosch ภายใต้นโยบาย ‘บังคับเพาะปลูก’ ในพื้นที่รอบๆ เมืองเซอมารัง เขตชวากลาง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมาในปี 1856 ฮอลันดาได้ลองปลูกต้นยาสูบอีกครั้งในพื้นที่เบอซูกี (Besuki), ชวาตะวันออก ซึ่งคราวนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะฮอลันดาได้ตั้งสถาบันวิจัยต้นยาสูบขึ้นมาเพื่อจัดการดูแลโดยเฉพาะ ทำให้สามารถพัฒนาพันธุ์ยาสูบที่ดีและเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ

ในช่วงนโยบายบังคับเพาะปลูกนี้เอง มีชาวมาดูรานับพันคนถูกเกณฑ์มาทำการเพาะปลูกต้นยาสูบที่เบอซูกี, ซีตูบอนดอ (Situbondo), บอนดอซอวอ (Bondowoso), เจิมเบอร์ (Jember) และเมืองอื่นๆ ในเกาะชวาที่มีการปลูกต้นยาสูบแบบเกษตรกรรมขนาดใหญ่ สัญญาจ้างงานนี้เป็นสัญญาชั่วชีวิต ซึ่งหมายความว่าคนที่ต้องไปเป็นแรงงานในการเกตรกรรมในพื้นที่อื่นนั้นต้องไปลงหลักปักฐาน มีลูกมีหลานในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ถิ่นฐานบ้านเดิมของตัวเอง

นโยบายการอพยพแรงงานของฮอลันดาทำให้มีการผสมกลมกลืนระหว่างกลุ่มมาดูรากับชวาซึ่งพบได้ทั่วไปในเกาะชวา นอกจากที่ชวาแล้วพื้นที่ที่มีการปลูกต้นยาสูบแบบเป็นล่ำเป็นสันก็คือที่เมืองเดลี (Deli) สุมาตราเหนือ จนเป็นที่นิยมเรียกกันว่า ‘ใบยาสูบชวา’ ถ้าส่งไปจากเมืองเบอซูกีหรือเมืองกลาเต็น ในขณะที่ ‘ใบยาสูบสุมาตรา’ ก็คือใบยาสูบผลผลิตของเมืองเดลี ผลผลิตใบยาสูบจากอินโดนีเซียมีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมในยุโรป ส่งผลให้อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบอันดับหนึ่งในยุโรป

คนงานในโรงงานใบยาสูบที่เมืองเดลี
ที่มาภาพ: https://steemit.com/story/@isnorman/kisah-perkebunan-tembakau-deli-maatschappij-dan-upaya-belanda-masuk-ke-aceh

ประวัติศาสตร์กำเนิดบุหรี่อินโดนีเซียอย่างย่อๆ

ผู้ที่ผลิตบุหรี่เป็นคนแรกของอินโดนีเซีย คือ Haji Djamhari เมื่อราวปลายศตวรรษที่ 19 ชื่อของเขาถูกบันทึกในพิพิธภัณฑ์บุหรี่ที่เมืองกูดุส (Kudus) ว่าเป็นคนแรกที่ผลิตบุหรี่ขึ้นในอินโดนีเซีย Haji Djamhari เป็นชาวเมืองกูดุส เขตชวากลาง ต้นกำเนิดบุหรี่ก็เริ่มขึ้นที่เมืองกูดุสเช่นกัน โดยในตอนแรกบุหรี่ยังไม่มีซองและยี่ห้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นคนอินโดนีเซียไม่รู้จักการสูบ เพราะคนพื้นเมืองใช้เปลือกข้าวโพดมาม้วนเพื่อสูบอยู่ก่อนแล้ว

บุหรี่กานพลูมีจุดเริ่มต้นจากการที่ Haji Djamhari มีอาการเจ็บหน้าอก เขาจึงใช้น้ำมันกานพลูถูนวดที่บริเวณที่ปวด ปรากฏว่าหายเจ็บ เมื่อเห็นผลเช่นนี้เขาจึงลองเอากานพลูมาเคี้ยว ปรากฏว่าได้ผลดีกว่าเดิมเสียอีก ในที่สุดกานพลูก็เลยกลายเป็นยารักษาโรคไปโดยปริยาย โดยวิธีการก็แสนง่ายดายคือเอากานพลูมาสับให้ละเอียดแล้วผสมกับยาสูบ จากนั้นเอาเปลือกข้าวโพดแห้งๆ มาห่อและผูกด้วยด้าย แล้วจึงเอามาสูบ ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด อาการแน่นหน้าอกหายเป็นปลิดทิ้ง เขาเริ่มบอกเพื่อนสนิทมิตรสหาย และข่าวนี้ก็แพร่ไปไกล ทำให้มีคนเริ่มมาขอบุหรี่ที่ Haji Djamhari ผลิต เขาจึงเริ่มขายทีละเล็กทีละน้อย สิบมวนผูกด้วยเชือกโดยไม่มีหีบห่อหรือยี่ห้ออะไร แต่น่าเสียดายที่ Haji Djamhari เสียชีวิตในปี 1890 ก่อนหน้าที่อุตสาหกรรมบุหรี่จะกลายเป็นสินค้าฮิตติดลมบน เรื่องราวชีวิตของ Haji Djamhari มีบันทึกไม่มากนัก ไม่มีหลักฐานว่าเขาเป็นใคร และไม่มีการบันทึกว่าเขาเสียชีวิตด้วยเหตุใด

ต่อมาในปี 1894 Nitisemito ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่า ‘ราชาแห่งบุหรี่อินโดนีเซีย’ ได้สร้างโรงงานผลิตบุหรี่ขึ้นที่เมืองกูดุส บ้านเกิดของเขา บุหรี่ที่ผลิตโดย Nitisemito เริ่มมีการแพ็คใส่ซองและมียี่ห้อด้วย โดยเขาตั้งชื่อว่า ‘Kodok Nguntal Ulo’ ซึ่งแปลว่า ‘กบกินงู’ ก่อนหน้าที่ Nitisemito จะเปิดโรงงานผลิตบุหรี่ เขาเป็นพ่อค้าฐานะยากจนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการค้า จนกระทั่งผันตัวไปเป็นคนขับรถม้า และชอบแวะไปที่ร้านยาสูบที่มี Mbok Nasilah เป็นเจ้าของบ่อยๆ บางข้อมูลอ้างว่า Mbok Nasilah เป็นคนค้นพบบุหรี่ยาสูบเป็นคนแรกก่อน Haji Djamhari เสียอีก ภายหลัง Nitisemito ได้แต่งงานกับ Mbok Nasilah ธุรกิจบุหรี่ยาสูบจึงเริ่มต้นขึ้น

นอกเหนือจาก Nitisemito ราชันย์บุหรี่อินโดนีเซีย และนักธุรกิจท้องถิ่นอีกไม่กี่คน ธุรกิจบุหรี่ในอินโดนีเซียอยู่ในมือของคนจีนเกือบหมด หลังจากที่ Nitisemito เริ่มธุรกิจบุหรี่ตรา ‘กบกินงู’ ราวต้นทศวรรษ 1910 แล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เขาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ Tjap Bulatan Tiga (ตราสามวง) ธุรกิจของ Nitisemito เติบโตอย่างรวดเร็ว โรงงานขยายจนกระทั่งมีคนงานเป็นหมื่นคน สามารถผลิตบุหรี่ได้ถึงสิบล้านมวนต่อวัน ส่งออกไปขายทั้งภายในเกาะชวา นอกเกาะชวา จนถึงนอกประเทศ

ความสำเร็จของ Nitisemito ทำให้เมืองกูดุสกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมบุหรี่เต็มตัว มีคนเปิดโรงงานบุหรี่ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ มีโรงงานทุกขนาด แต่ธุรกิจบุหรี่มาสะดุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซีย ทรัพย์สินบางส่วนของโรงงานบุหรี่ Nitisemito ก็โดนยึดด้วย ประกอบกับเจอคู่แข่งทางการค้าทำให้ธุรกิจของ Nitisemito ถึงกาลล่มสลายในปี 1953 และโรงงานที่เหลือของ Nitisemito ก็แบ่งสรรปันส่วนกันในหมู่ทายาท[5]

ไม่ใช่เพียงแค่เมืองกูดุสแห่งเดียวที่มีโรงงานบุหรี่เกิดขึ้นมากมาย แต่อุตสาหกรรมบุหรี่ขยายตัวไปยังชวาตะวันออก เช่นเมืองเกอดีรี (Kediri) ก็มีโรงงานบุหรี่ยี่ห้อ Gudang Garam เมืองมาลัง (Malang) มีโรงงานบุหรี่ Bentoel ที่สุราบายามีบุหรี่ Sampoerna เป็นต้น 

บุหรี่ยี่ห้อ “Tjap Bulatan Tiga”
ที่มาภาพ: https://komunitaskretek.or.id/ragam/2020/06/tjap-bal-tiga-pelopor-kejayaan-kretek-nusantara/

Gudang Garam โกดังเกลือ: ชื่อนี้มีที่มา

บุหรี่ยี่ห้อ ‘กูดังการัม’ (Gudang Garam) ที่คนไทยเรียกกันว่า ‘กาแรม’ แปลตามตัวอักษรว่า ‘โกดังเกลือ’ น่าจะเป็นบุหรี่อินโดนีเซียที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง ผู้ที่ก่อตั้งกูดังการัมมีชื่อว่า Tjoa Ing Hwie มีชื่ออินโดนีเซียว่า Surya Wonowidjojo ตอนแรกเขาได้ไปทำงานในโรงงานบุหรี่ที่ชวาตะวันออก พอออกจากโรงงานบุหรี่ เขาได้ตั้งโรงงานของตัวเองในปี 1958 ตอนแรกก็ใช้ชื่อว่า ‘Ing Hwie’ แต่แล้วในคืนหนึ่งเขาได้เกิดนิมิต ฝันเห็นโกดังตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงงานบุหรี่ที่เขาทำงานอยู่ คนสนิทของเขาจึงแนะนำว่าให้เขาเอารูปมาแปะบนซองบุหรี่โดยเปิดประตูไว้สองโกดัง อีกสองโกดังเปิดประตูครึ่งหนึ่ง, และอีกโกดังหนึ่งปิดประตู โดย Tjoa Ing Hwie ก็ทำตามคำแนะนำนั้น และนี่คือที่มาของรูปโกดังเกลือบนซองกูดังการัมที่หลายท่านคุ้นชิน

บุหรี่ยี่ห้อกูดังการัม

วัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของคนอินโดนีเซีย

บุหรี่อาจจะถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมและชื่นชอบของคนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อย สำหรับบางคนบุหรี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่บุหรี่ หากเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมอินโดนีเซียบุหรี่เป็นเครื่องหมายของการให้เกียรติ บุหรี่ถูกจัดเตรียมไว้ให้แขกในงานพิธีต่างๆ ถูกนำไปมอบเป็นของฝากของขวัญให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ จนกระทั่งเป็นของฝากของบรรดาผู้ที่เข้าประชุมที่ทำเนียบประธานาธิบดีสมัยซูฮาร์โต ด้วยแบบแผนปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เกิดคำศัพท์ที่ว่า ‘เงินบุหรี่’ เป็นคำสแลงหมายถึงเงินสินบนในวัฒนธรรมอินโดนีเซีย

มีผู้ศึกษาว่าการสูบบุหรี่ด้วยกันทำให้คนรู้สึกอบอุ่นและสนิทกันง่ายขึ้น การสนทนาจะผ่อนคลายขึ้นหากมีการสูบบุหรี่ไปด้วย และการแบ่งปันมวนบุหรี่กันก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ในวัฒนธรรมของชาวชวาและคนกลุ่มอื่นๆ ในงานพิธีกรรมต่างๆ ที่มีการรวมตัวกัน จะมีการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ซึ่งมักจะมีบุหรี่อยู่ในเครื่องเซ่นไหว้นั้นด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่าการสูบบุหรี่คือวิวัฒนาการของวัฒนธรรมการกินหมากพลูซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติดั้งเดิมของคนอินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้น การสูบบุหรี่ยังมีความหมายของการปฏิวัติแฝงอยู่ด้วย เมื่อสูบบุหรี่ที่ผสมใบยาสูบและกานพลูซึ่งเป็นหนึ่งในพืชผลที่ชักนำเจ้าอาณานิคมให้เข้ามารุกรานและยึดครองอินโดนีเซีย ก็ให้ความรู้สึกถึงความเป็นอธิปไตยของชาติ ซึ่งในตอนนี้ใบยาสูบและกานพลูเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอินโดนีเซียอย่างแท้จริง[6]

หากเปรียบเทียบกับค่าครองชีพและราคาบุหรี่ในประเทศอื่นๆ แล้ว บุหรี่อินโดนีเซียราคาค่อนข้างถูก ประกอบกับความสำเร็จและการแข่งขันของการโฆษณาบุหรี่ทั้งในรูปแบบโปสเตอร์ โฆษณาในโทรทัศน์ และตามสื่อโซเชียลต่างๆ ที่ผลิตออกมาได้น่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภค ยิ่งทำให้การบริโภคบุหรี่ของชาวอินโดนีเซียมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นแม้ว่าจะมีการรณรงค์ในเรื่องสุขภาพและภัยจากการสูบบุหรี่จากองค์กรต่างๆ ก็ตาม


เชิงอรรถ


[1]Smoking Rates by Country 2021,”

[2]10 Orang Terkaya di Indonesia, Siapa Saja?: Daftar Orang Kaya Indonesia Versi Forbes Real Time Billionaires (3 Agustus 2021),

[3]Sejarah Rokok di Dunia dan Asal Usul Masuknya ke Indonesia,

[4] ในภาษาอินโดนีเซีย คำว่าบุหรี่โดยทั่วๆ ไปคือ rokok (โระ-โกะกฺ) ส่วน kretek (เกร-เต็ก) หมายถึง บุหรี่กานพลู และถ้ากานพลูคือ cengkeh (เจิง-เกะฮฺ) หรือ cengkih

[5] Nur Romdlon, “Ini Merek Rokok Pertama di Indonesia, Mereknya Pakai Nama Hewan!,

[6] Agus Setyawan, “Kretek Sebagai Budaya Asli Indonesia: Telaah Paradigmatik Terhadap Pandangan Mark Hanusz Mengenai Kretek di Indonesia,” Muharrik-Jurnal Dakwah dan Sosial, Vol. 1 No. 1, 2018, p. 82-3.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save