fbpx
To write is to territorialize

To write is to territorialize

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

The violent that occurred is no longer present, and all that is left is the picture once described โดย สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

“ฉากที่ 10 บุรุษที่ไม่มีเงาในตาขวา

บางคนก็คิดว่าเขาตายไปนานแล้ว แต่พวกมันสมคบคิด เอาศพของเขามาขยับ ให้ทุกคนเชื่อว่ายังมีเขาอยู่ จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่มีวันตาย ร่างกายของเขาได้ถูกแบ่งออกไปหลายพันหลายหมื่นร่าง เขาอยู่ในทุกที่ เหนือทุ่งนา อยู่บนท้องฟ้า(ฝ้า) อยู่ในโรงหนัง ยายเราตื่นขึ้นกลางดึกคืนนึง แล้วบอกว่าเขามาทำงานที่ไซต์ก่อสร้างที่อยู่ข้างๆ บ้าน หน้าตาของเขายังหนุ่มเหมือนในทีวีที่เล่นซ้ำๆ เวลาของเขาไม่เคยเดินไปข้างหน้า มันหยุดอยู่ในตอนที่เขายังรุ่งโรจน์ ความสูงส่งของเขาผูกโยงอยู่กับอดีตและความทรงจำ การทำให้เขาร่วงหล่นมาสู่ปัจจุบันจึงถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างหนึ่งของเขา ในตอนที่ยายจำเราไม่ได้แล้ว ยายก็ยังจำเขาได้ ภาพที่มีทุกบ้านคือรูปแบบหนึ่งของค่ายกล ของความทรงจำปิดตายที่ไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้สิ่งอื่นได้ถูกจดจำ คนสุดท้ายที่ยายจำได้ก่อนที่จะพูดไม่ได้ ไม่ใช่เราหรือแม่หรือป้าของเรา แต่เป็นเขา

ที่สุดแล้วการมีชีวิตอยู่ของคนคนนึงคือการแย่งชิงพื้นที่ของความทรงจำมาจากอีกคน ในร่างกายของเราที่เบียดเสียดและแรงเสียดทานของผิวหนัง เราต่างสร้างอาณาเขตของตัวเองขึ้นด้วยการจดจำ การปรากฏของร่างกายเราในพื้นที่หนึ่งจึงเป็นการทวงคืนความเป็นเจ้าของพื้นที่ในการจดจำบางอย่าง การมีอยู่ของเราคือรูปแบบหนึ่งของการต่อต้าน การจ้องมองคืออาวุธในการแข็งขืนและการเล่าใหม่คือเครื่องมือของการชำระแค้น เพื่อนที่ตายไปแล้วของเราบอกไว้ว่า ถ้าเราเปลี่ยนแปลงปัจจุบันไม่ได้ อีกทางหนึ่งก็คือการย้อนเวลากลับไปในอดีตเพื่อแก้ไขมัน

เรามาสร้างความทรงจำร่วมกันที่นี่ ในที่ที่เขาบอกว่าไม่ใช่ของเรา”

สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์

The violent that occurred is no longer present,

and all that is left is the picture once described

สนามหลวง, 11 พฤศจิกายน 2563

 

อุดมการณ์กษัตริย์นิยมนั้นหล่อเลี้ยงด้วยความขรึมขลัง มลังเมลือง วัตรปฏิบัติและข้อห้ามที่ฝังรากลึกลงไปในฐานของศาสนาและไสยเวทย์อันละเอียดลออ ตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายแบบโลกสมัยใหม่ เหล่านี้กอปรขึ้นเป็นภาพของสถาบันกษัตริย์อันตระการตาและน่าพรั่นพรึงไปพร้อมกัน ในโลกของภาพแทน (representation) และการจ้องมอง หลายภาพในหลากสื่อแพร่กระจาย ไหลเวียนซ้ำไปซ้ำมาเพื่อคอยกำกับสำนึกให้ทุกผู้ในสังคมตระหนักถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญ ตายตัว

สำหรับบางคน ภาพจรดจารลงสู่จิตใต้สำนึก แม้ความทรงจำอื่นใดจะไม่หลงเหลืออยู่ก็ตาม ในห้วงเวลาสุดท้ายของ “ยาย” ก่อนความตายมาถึง “เขา” (ผู้ซึ่งกายเนื้อสูญสิ้นไปก่อนหน้า) ก็ยังอยู่ (ในรูปของภาพในใจ-mental image) แข็งแกร่งยิ่งกว่าสายเลือดในครอบครัว

บทพูดข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง The violent that occurred is no longer present, and all that is left is the picture once described โดย สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ ที่สนามหลวงเมื่อค่ำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 การเลือกพื้นที่ของสิกานต์ทำให้ “เขา” ผู้เป็นนิรนามในบทพูดเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก “เขา” คนนั้นคนเดียว คนที่คุณก็รู้ว่าใคร สนามหลวงหรือ “ทุ่งพระเมรุ” นั้นเป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับคติความเชื่อเรื่องมณฑลจักรวาล เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง และด้วยเหตุดังกล่าว สนามหลวงจึงเป็นพื้นที่สำหรับประดิษฐานพระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์มาแต่โบราณ

ศิลปินเล่าเรื่องของตน (?) บนท้องสนามหลวง “ยายจำเราไม่ได้ แต่ยายจำ “เขา” ได้”

 

เขตพระราชฐาน

         

“ฉากที่ 0 หลุม

มันมีหลุมกว้างใหญ่ ที่อยู่ๆ ก็โผล่พรวดขึ้นมา หลุมขนาดเกือบร้อยไร่ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ มันลึกเท่าไหร่ หรือมีอะไรอยู่ในนั้น พวกเขาบอกว่าเขาไม่ได้ขุดมันขึ้นมา แผ่นดินยวบยาบปวกเปียกทรุดตัวลงเองในคืนนึงตอนที่พวกเราหลับใหล”

 

สนามหลวงเป็นพื้นที่ใจกลางแห่งหนึ่งในการช่วงชิงอำนาจระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองเสมอมา ปัจจุบันสนามหลวงถูกล้อมด้วยรั้วเหล็กและแผงกั้น รั้วสีเขียวนั้นมียอดเหล็กแหลมทาสีทอง ล้อรับกับปลายแหลมของบรรดาสิ่งก่อสร้างในพระบรมมหาราชวังที่อยู่ห่างออกไป สร้างจังหวะความต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ และทำให้แผ่นดินทั้งสองผืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน สำทับด้วยป้าย “เขตพระราชฐาน” ที่ผลุบโผล่มาเป็นครั้งคราว

ในฐานะพื้นที่แห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ความทรงจำที่เกี่ยวเนื่องกับความตายซึ่งทับถมอยู่บนท้องสนามหลวงมีมากกว่าการเป็นพื้นที่สำหรับงานถวายพระเพลิง เคยมีงานศพของสามัญชนในนั้น เคยมีคนถูกฆ่าในนั้น เคยมีศพที่ถูกฟาดตีในนั้น

การลงทัณฑ์เกิดขึ้นเมื่อความสามานย์ย่างกรายเข้ามาบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

สนามหลวงในบทพูดของสิกานต์เป็น “หลุม” ที่บอกไม่ได้ลึกเท่าไหร่หรือมีอะไรอยู่ข้างใน หลุมดำ?

 

The violent that occurred is no longer present, and all that is left is the picture once described โดย สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

สนามราษฎร

 

วันที่ 19 กันยายน 2563 รั้วเหล็กที่ล้อมรอบสนามหลวงเสื่อมมนต์ขลังลงเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้ายึดพื้นที่ข้ามคืน ตามด้วยการทำพิธีปักหมุดคณะราษฎรหมุดที่สองในเวลาย่ำรุ่งของวันต่อมา จากนั้น พวกเขาเรียก “สนามหลวง” ด้วยนามใหม่ว่า “สนามราษฎร”

การแสดงของสิกานต์เกิดขึ้นสองเดือนหลังจากนั้น ผลงานจึงสืบเนื่องความพยายามของราษฎรในการช่วงชิงพื้นที่ดังกล่าวไปโดยปริยาย ศิลปินเลือกพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณหนึ่ง มองเห็นกลุ่มคนเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ลิบๆ เป็นฉากหลัง ไกลออกไปที่ปลายสุดสายตาคือพระบรมมหาราชวังที่มองเห็นเป็นแสงเรืองรอง

การแสดงของสิกานต์เรียบง่าย ประกอบด้วยชอล์กหนึ่งแท่ง ไฟฉายหนึ่งกระบอก บทพูดและการเคลื่อนไหวร่างกาย บทพูดของสิกานต์เป็นการผสมปนเปกันระหว่างความทรงจำส่วนตัว อดีตที่รับรู้ผ่านคำบอกเล่า (เราเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ความทรงจำ’ ได้หรือไม่? หรือนั่นคือ ‘ความทรงจำมือสอง’?) ผู้คนและสรรพสิ่งที่สูญหาย จินตนาการ คำถามที่ทั้งมีและไม่มีคำตอบ เหนืออื่นใดคือความครุ่นคำนึงและความปรารถนาที่ว่า “เรามาสร้างความทรงจำร่วมกันที่นี่ ในที่ที่เขาบอกว่าไม่ใช่ของเรา”

สิกานต์เขียนไว้ในจดหมายที่เขียนถึงศิลปินที่ทำงานคู่ขนานกันคือเรเชล เยซบิก (Rachel Yezbick) ว่า “การเขียนคือการกำหนดขอบเขตดินแดน” (to write is to territorialize) การเขียนแสดงตัวผ่านทั้งข้อเขียนที่เป็นบทพูด และการเขียนลากเส้นด้วยชอล์กบนพื้นระหว่างที่อ่านข้อเขียนไปด้วย

เส้นชอล์กวาดล้อมรอบตัวศิลปินเท่าที่วงการเคลื่อนไหวเอื้อมไปถึง กิจแห่งการเขียน (act of writing) ของสิกานต์จึง “กำหนดขอบเขตดินแดน” ทั้งบนหน้ากระดาษ (อันชวนให้นึกถึงถึงความเป็นตำรับตำรา ภาวะการกลายเป็นประวัติศาสตร์) และบนพื้นผิวของท้องสนามหลวง พื้นที่ที่ศิลปินเรียกว่า “พื้นที่เสียดทาน” (contested site) โดยมี ‘ร่าง’ ของตนเป็นตัวนำไป ในที่นี้ การเขียนจึงเป็นทั้งการกระทำจริงและอุปมาของการมาสร้างความทรงจำบนพื้นที่ที่ “เขาบอกว่าไม่ใช่ของเรา”

เขาคือใคร? และเราคือใคร? ในบทพูดที่แท้จริงแล้วเป็น ‘บทอ่าน’ “เขา” คือร่างทรงของอำนาจ “เรา” คือ “พวกเรา” ไม่ใช่เพียงแค่สิกานต์ เพราะ “เรา” เป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ “เรา” จึงรวมถึงสามัญชนโดยรวม สามัญชนที่ย่ำเท้าเข้าสนามหลวงเมื่อสองเดือนก่อน ที่ประกาศว่าสนามหลวงเป็น “สนามราษฎร”

The violent that occurred is no longer present, and all that is left is the picture once described ทิ้งร่องรอยไว้บนพื้น ก่อเกิดคราบสามานย์บนผืนดินศักดิ์สิทธิ์ เหมือนรอยสามานย์อันเกิดจากการขุดหลุมฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่สอง ในขณะที่หมุดฝังรากเมื่อยามฟ้าสาง รอยสีชอล์กลากเส้นเกิดขึ้นเมื่อยามฟ้ามืด (ว่าแต่สนามหลวงยังมีความขลังอยู่จริงหรือเมื่อพื้นดินเปลี่ยนเป็นลานปูน และลานปูนกลายเป็นที่จอดรถทัวร์จีนไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว? หรือความศักดิ์สิทธิ์หวงห้ามเป็นเรื่องบังคับใช้เฉพาะกิจ เฉพาะกาล เฉพาะกับคนบางกลุ่ม?)

 

The violent that occurred is no longer present, and all that is left is the picture once described โดย สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

เมื่อการเขียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเขียนตัวอักษร การเขียนก็ดำรงอยู่ในรูปแบบอันหลากหลาย การทำให้ภาพปรากฏบนพื้นผิวอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องของการเขียนด้วย คงเคยได้ยินคำว่า ‘เขียนภาพ’ หรือ ‘ช่างเขียน’ อันหมายถึงจิตรกร การเขียนจึงบอกถึงเส้นลายลายเส้นที่ทั้งก่อตัวเป็น ‘คำ’ และ ‘ภาพ’

นอกจากภาพลายเส้นจากชอล์กที่วาดลงบนพื้นแล้ว การแสดงของสิกานต์ยังสร้างภาพอีกประเภทหนึ่งขึ้นมาด้วยคือภาพจากแสง การ “เขียนด้วยแสง” นั้นสืบย้อนไปได้ถึงกลวิธีการสร้างภาพในสมัยโบราณที่เป็นรากฐานของภาพถ่าย เพราะภาพถ่ายหรือ photography มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ phōtos (light) + graphé (writing, drawing) = drawing with light

ภาพที่ปรากฏบนพื้นในการแสดงของสิกานต์ก็เขียนขึ้นจากแสงเช่นกัน แต่เป็นภาพที่เกิดขึ้นชั่วคราวคือ ‘เงา’ ที่เกิดจากแสงไฟฉาย ลักษณะดังกล่าวไม่เพียงทำให้นึกถึงการเล่นกับเงาด้วยมืออย่างที่เด็กเล็กมักเล่นกัน แต่ยังพาไปสู่การเทียบเคียงตัวการแสดงเข้ากับกระบวนการสร้างภาพด้วยแสงแบบโบราณที่เก่าแก่กว่าดาแกร์โรไทป์ (daguerreotype) และภาพถ่ายอัดบนประดาษอันเป็นประดิษฐกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 19  นั่นคือ ภาพเงาทึบ (silhouette) การทำภาพเหมือนจากด้านข้างที่เป็นที่นิยมมากในคริสต์ศตวรรษที่ 18 วิธีการสร้างภาพเงาทึบคือให้แสงส่องไปที่ผู้เป็นแบบจนเกิดเงาตกกระทบ แล้วจึงวาดภาพจากเงาที่ตกกระทบนั้น จากนั้นก็ตัดกระดาษตามขอบของเงานั้นอีกทีหนึ่ง ก่อนจะนำไปแปะลงบนกระดาษขาวหรือกระดาษสีอ่อน แล้วเข้ากรอบให้สวยงาม ภาพเงาทึบเป็นทางเลือกในการทำภาพเหมือนบุคคลที่ราคาย่อมเยากว่าการว่าจ้างจิตรกร กระบวนการนี้ทำให้ภาพจากเงาได้รับการบันทึกไว้อย่างถาวรบนแผ่นกระดาษ

ทว่า การแสดงของสิกานต์แตกต่างออกไป เมื่อหมดแสง เงาก็สูญสลาย

 

“ฉากที่ 18 แถลงการณ์พิพิธภัณฑ์ที่ว่างเปล่า: การแสดงของผู้วายชนม์

เราสงสัยว่าเวลาเจ้าของร่างตายไปแล้ว เงาจะไปอยู่ที่ไหน วัตถุที่ตายแล้วไม่เคยมีเงาให้เห็น ในแง่นี้ ความตายจึงเป็นกระบวนการมอบอิสระให้แก่เงา เมื่อชีพจรพร่าเลือน เงาจะเริ่มแยกตัวออกจากร่าง จนกระทั่งคงอยู่ด้วยตัวมันเอง เร่รอนไร้ทิศทาง ในฐานะภาพร่างไร้รูปรอยของผู้ที่สาปสูญจากโลกนี้ไปแล้ว”

 

ภาพพิมพ์โลหะ (etching) แสดงการทำภาพเงาทึบ (silhouette) ด้วยแสงจากเทียนไข โดย R. Schellenberg ภาพจาก Wellcome Collection https://wellcomecollection.org/works/u476nnvs

 

Bernhard Albrecht Moll, 1783, Mrs. van Rhyn aus Amsterdam in Charleston (South Carolina)    https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bernhard_Albrecht_Moll_Mrs._van_Rhyn_from_            Amsterdam_in_Charleston.jpg

 

การเขียนคือการกำหนดขอบเขตดินแดน

 

ฉากที่ 101 แถลงการณ์พิพิธภัณฑ์ที่ว่างเปล่า: ว่าว

พื้นที่ร่วมกันของเราคือสถานที่ของการลืมเลือนในฐานะคนที่ไม่เคยอยู่ที่นั่นที่พยายามจะจำให้ได้ว่าเคยมีอะไรอยู่ทั้งที่ไม่เคยเห็น เธอบอกเราว่าเหตุผลที่เราพยายามจดจำนั้นสำคัญยิ่งกว่าความทรงจำ  เราเคยบอกหรือเปล่าว่าเรากลับมาที่นี่เพื่อเขียนทับความทรงจำของเรา เรามาเพื่อทวงคืน เขตแดนของอดีตกลับมาจากภาพจำ เรามาที่นี่เพื่อรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองให้เป็นไปในแบบที่เราอยากจดจำ

 

ชอล์กไม่ได้ถูกใช้เพื่อลากเส้นตามเงา ภาพวาดจากชอล์กมีอีกชีวิตหนึ่งของตัวเอง เงาที่เกิดจากแสงจากไฟฉายก็ไม่ได้เลียนแบบภาพที่เกิดจากชอล์ก ทั้งสองเป็นเอกเทศจากกัน การเขียนในการแสดงของสิกานต์ปรากฏในหลายลักษณะ เกี่ยวไขว้ กระหวัดไปมาแต่ไม่ก่อให้เกิดความกลมเกลียว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทพูดที่พิมพ์ลงบนกระดาษที่ศิลปินอ่าน (จึงเป็นบทอ่านมากกว่าบทพูด) การเขียนภาพด้วยชอล์กที่จะลบเลือนหายไปในชั่วข้ามคืนที่ฝนตก และการเขียนด้วยแสงที่เงาไม่ได้รับการบันทึกไว้

ท้ายที่สุด การเขียนในโลกกายภาพหาได้มีความสลักสำคัญอันใด ร่องรอยการเคลื่อนไหวของร่างกายกับอุปกรณ์ที่เรียบง่ายจะสูญสลายไปดุจดั่งเงาของคนตาย คราบสามานย์บนพื้นศักดิ์สิทธิ์จะถูกชะล้าง ไม่ว่าจากธรรมชาติหรือน้ำมือคน ถึงแม้ศิลปินจะกล่าวว่า “การเขียนคือการกำหนดขอบเขตดินแดน” อาณาบริเวณดังกล่าวก็กลับย้อนเข้าสู่ปริมณฑลอันอยู่ลึกไปกว่าพื้นปูนบนท้องสนามหลวง กว้างกว่าหลุมยักษ์ขนาดเกือบร้อยไร่ นั่นคือในความทรงจำและประวัติศาสตร์ “การเล่าใหม่คือเครื่องมือของการชำระแค้น” เขียนเพื่อเล่า เพื่อส่งต่อ เพื่อจรดลงในใจ ในหลุมกว้างใหญ่ที่ใครหลายคนเคยร่วงหล่น หายสาบสูญ หรือถูกลืม “วิธีเดียวในการจดจำสิ่งร่วงหล่นเหล่านี้ก็คือการสร้างพวกเขาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด” คือการสร้างให้มีตัวตนอยู่โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงนั้น เหมือนหมุดคณะราษฎร หมุดที่สองที่ฝังแล้วถูกถอนและสูญหาย อยู่ที่ไหนไม่รู้ในโลก แต่ยังคงตัวตนในความนึกคิดและส่วนที่ลึกล้ำไปกว่านั้น กลายสภาพเป็นภาพในใจ ในจิตใต้สำนึก  เช่นเดียวกับภาพของ “เขา” ในใจของ “ยาย”

 

หมายเหตุ

*จดหมายที่สิกานต์เขียนถึงเยซบิกที่อ้างถึงในบทความไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทพูดในการแสดง ส่วนบทความนี้เป็นบทรำพึงข้างเดียวของนักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้กำลังสนใจภาวะ anti-memorial แต่ไม่ใช่ anti-memory

The violent that occurred is no longer present, and all that is left is the picture once described โดยสิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เป็นผลงานที่คู่ขนานกับการทำงานของเรเชล เยซบิก ที่ลอสแองเจลิส โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ MAHA Pavilion ในเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial คิวเรทโดย พริมา ชาลีจันทร์-ศกุนตาภัย

 

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save