fbpx

สวัสดีค่ะคุณวัฒน์: จดหมายจากไอดาถึงวัฒน์ วรรลยางกูร

สวัสดีค่ะคุณวัฒน์

เกือบไปค่ะคุณวัฒน์ เกือบไป ดิฉันเกือบจะตั้งชื่อบทพูดชิ้นนี้ว่า ‘เป้ชื่อวัฒน์ : อัตวรรณวินิบาตกรรมบนบ่าของความเป็นบรรณาธิการและนักเขียน’ ที่พอเขียนไปได้หน่อยก็เริ่มจะเป็นบ้า เริ่มจะโกรธเกลียดตัวเองภายใต้สรรพนิยามนานาของความเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ ถ้าจะให้สารภาพกันตามจริงก็คือ ชื่อหัวข้อนั้นมันผุดขึ้นมาหลังจากที่ดิฉันอ่านข้อเขียนของคุณวรพจน์ พันธ์ุพงศ์ ที่ชื่อ ‘ข้อความนอกหนังสือต้องเนรเทศ‘ ซึ่งแม้จะรับรู้ได้ว่าเขาเขียนด้วยไมตรีจิตต่อกัน แต่ดิฉันอ่านแล้วกลับรู้สึกอยากจะบ้าตายด้วยความละอาย และยิ่งจะบ้าตายเข้าไปอีกเมื่อนึกพ่วงเลยเถิดไปถึง เป้ วาด รวี

แต่คุณลักษณะข้อหนึ่งของดิฉันที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ จริงๆ แล้วดิฉันเป็นคนบ้า และเป็นคนบ้าที่มีพรสวรรค์ของการรู้กาลเทศะของความบ้า ฉะนั้นพอดิฉันบังเอิญไถลไปฟังรายการทางพอดแคสต์ของผู้จัดงานวันนี้ และได้รับฟังความคาดหวังของพวกเขาต่อการจัดโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน‘ ในรอบนี้ ที่สะท้อนผ่านสโลแกนว่า ‘โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก!’ ดิฉันก็รีบจิกหัวตัวเองขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ มึงต้องไม่บ้า มึงต้องคั้นต้องปั้นก้อนสัมปชัญญะขึ้นมาแล้วตอกตราของความหวังลงไปบนนั้นให้ได้ ต้องทำให้โลกการอ่านมีความหวังเข้าไว้ ต้องไม่พาคนอ่านลงนรกกับมึงไป เพราะบาปที่พวกเขาไม่ได้ก่อ

ก็เลยต้องกลายมาเป็นการเขียนจดหมายคุยกับคุณนี่ละค่ะคุณวัฒน์ หลอกตัวเองให้มีความหวังว่าคุณจะยังได้ยิน จะยังรับรู้ได้ ให้มันเป็นเหมือนการต่อบทสนทนาครั้งสุดท้ายของเราในคืนนั้น คืนก่อนหน้าวันที่คุณจะจากไป คืนที่เรายังคุยกันไปหัวเราะกันไปได้ เหมือนความตายเป็นแค่จินตนาการในนิทานก่อนนอน

แต่ก่อนอื่นต้องขออัพเดตก่อนว่า มะเขือขื่นที่คืนนั้นดิฉันโม้กับคุณไว้ว่าดิฉันก็มีเหมือนกันแม้จะมีปัญญาแค่เอาไปหั่นใส่น้ำพริกกะปิ ไม่ถึงขั้นเอาไปทำแกงเนื้อเหมือนที่คุณเขียนอวดไว้ในหนังสือ แล้วคุณก็อุตส่าห์ให้กำลังใจว่าน้ำพริกกะปิก็หรูแล้วนั่นน่ะ ปรากฏว่ามันยืนต้นตายสนิทมาได้หลายเดือนแล้วค่ะ ก็ได้ซึ้งแก่ใจถึงความเป็นไม้ล้มลุกอย่างที่เคยเรียนในวิชางานเกษตรสมัยประถมนี่ละค่ะ ว่าตอนมีชีวิตก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตจนท่วมท้นจนอุ่นใจ แล้วจู่ๆ ก็ตาย–ก็ตาย ส่วนที่ยังอยู่คือรางจืด ที่พอบอกคุณไปว่าดิฉันก็มีเหมือนกะชาวท่าเสาบทที่ 2 เขาบ้างแล้วเหมือนกัน แล้วคุณก็ตะโกนซะลั่นว่า “โอ๊ย คิดถึงรางจืดๆ” น่ะ มันยังอยู่ดีค่ะ และถ้ามันตาย ดิฉันก็จะซื้อมาปลูกใหม่ได้ ไม่เหมือนมะเขือขื่นที่เป็นไม้ของนกกา จะมา
จะไป ดิฉันกำหนดอะไรไม่ได้เลย

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องการเรื่องงานที่ค้างคา ที่ยังไม่ทันได้สะสางกัน คือเรื่องนิยามประเภทของ ต้องเนรเทศ ของคุณนี่ล่ะค่ะ ดิฉันแน่ใจว่าคุณจำได้ เพราะคุณออกจะตั้งใจพิมพ์มันไว้หราบนหน้าแรกของต้นฉบับที่ส่งมา คุณเรียกมันว่า ‘สารนิยาย’ แล้วดิฉันก็ทำไขสือปรับแก้ต้นฉบับกับคุณได้สารพัดมากมาย ยกเว้นเรื่องเดียวที่ยังไม่ยอมอภิปราย ก็คือเรื่องประเภทของงานเขียนชิ้นนี้ ดิฉันเดาว่าคุณคงเกรงใจที่จะถาม เพราะจนถึงขั้นเมื่อส่งต้นฉบับที่ปรับแก้เสร็จแล้วให้คุณตรวจทานครั้งสุดท้าย คุณก็ยังไม่หือไม่อืออย่างว่าง่าย ไม่ยักเอ่ยทวงถามว่า คำว่าสารนิยายของผมมันหายไปไหน อันที่จริงดิฉันว่าจะคุยเรื่องนี้กับคุณอยู่ค่ะ แต่พอถึงจังหวะ คุณก็ดันป่วยซะจนดิฉันได้แต่นั่งร้องไห้ แล้วเวลาอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เวลาสำหรับการมามัวอภิปรายเรื่องนิยามนิยาย มันก็เลยกลายเป็นเรื่องเดียวที่ดิฉันยังติดค้างคำอธิบายแก่คุณไว้ เพราะคุณไม่ฟื้นกลับมาใหม่แล้วในรอบนี้

ถ้าเอาตรงๆ ก็คือ ดิฉันรู้สึกไร้สาระกับการนิยามประเภทนี้น่ะค่ะคุณวัฒน์ สารนิยายคืออะไร คือถ้าในสมัยก่อนมันพอเข้าใจได้ สมัยที่คนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่านวนิยาย แล้วก็ต้องมาพยายามแยกให้เห็นว่านิยายคือเรื่องที่แต่งสมมติขึ้นมาเองเฉยๆ นะ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ต้องหลงเชื่อไป แล้วพอมันดันมีงานเขียนประเภทก้ำๆ กึ่งๆ ขึ้นมา ก็ต้องมาคิดหานิยามของความนิยามไม่ได้นั้นกันใหม่ แล้วก็เลยเกิดประเภทลูกครึ่งทำนอง ‘สารนิยาย’

แต่ว่าสมัยนี้ เส้นแบ่งของความศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่างมันเลือนไปหมดแล้วน่ะค่ะ จะต้องไปออกตัวทำไมว่านี่มันกึ่งนิยายกึ่งเรื่องจริง มันทั้งเป็นและไม่เป็นนั่นละค่ะ เราอยู่ในยุคที่ควรยอมรับได้แล้วว่าประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องแต่งพอๆ กับเรื่องจริง และนวนิยายก็คือเรื่องจริงได้พอๆ กับเรื่องแต่ง เพราะทั้งหมดทั้งปวงนั้นมันคือการแต่งขึ้นจากความจริง หรือไม่ก็คือความจริงที่เราแต่งขึ้น ฉะนั้นถ้า ‘นักเขียน’ จะเขียนงาน ‘จริง’ ขึ้นมา มันก็ไม่ได้ด้อยศักดิ์ด้อยศรีไปกว่าการเขียนงาน ‘แต่ง’ ที่เรียกกันว่านิยายหรอกค่ะ ช่างหัวมันเถอะค่ะคุณวัฒน์ ไม่ต้องมาออกตัวแก้เกี้ยวให้วุ่นวายไป ปล่อยให้เป็นธุระและภาระของบรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติเถอะค่ะ ที่เขาต้องลำบากมาคอยใส่นิยามไว้ให้ในข้อมูลทางบรรณานุกรมว่ามันคืออะไรทั้งที่เขาก็ยังไม่เคยอ่านซักหน้า ซึ่งกรณีเล่มนี้เขาก็เดาอย่างเป็นทางการมาให้ว่ามันคือนวนิยาย และคาดหวังให้ดิฉันแปะข้อมูลของเขาไว้ตรงหน้าเครดิตตามระเบียบการพิมพ์ไปเท่านั้นล่ะค่ะ ให้หน่วยงานประเภทแห่งชาติเขาสบายใจ และมันก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของบรรณารักษ์

เรื่องความสมจริงของความจริงในวรรณกรรมที่เขียนในนามของเรื่องจริงนี้ ดิฉันสนุกกับมันนักละค่ะ ตอนที่หนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ของเจ้ากอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ได้คะแนนสูงสุดของโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่านปี 2018-2019’ แล้วมีการจัดงานขึ้นมา ดิฉันกับเจ้ากอฟก็ตกลงกันว่า เราไม่ต้องมาเสนอหน้ากันหรอกทั้งนักเขียนและบรรณาธิการ เราให้ ‘ตัวละคร’ หรือตัวตนคนจริงๆ ที่ถูกเอามาเขียนถึงในหนังสือเล่มนั้นนั่นล่ะ เป็นคนไปร่วมงาน ตอกย้ำการดำรงอยู่ทางอภิปรัชญาที่จับต้องได้ ของความจริงที่มีชีวิต ที่กลายมาเป็นความจริงในทางประเภทวรรณกรรม

พอถึงงานเล่มนี้ของคุณ ทางผู้จัดเขาระบุมาไว้เสร็จสรรพแล้วว่าอยากให้ดิฉันมาพูดในฐานะบรรณาธิการ จะอิดออดก็ไม่ได้ เพราะคุณในฐานะผู้เขียนก็ทิ้งดิฉันซึ่งควรเป็นตัวเลือกที่สองไว้ ให้กลายเป็นตัวเลือกที่เหลืออยู่ตัวเดียว แต่นั่นละ ดิฉันก็ยังอดไม่ได้ที่จะขอพูดผ่านตัวละคร โดยอาจจะเป็นคล้ายๆ การล้อกันไปกับ ‘ข้อความนอกหนังสือต้องเนรเทศ‘ ของคุณวรพจน์ ที่เอาเข้าจริงก็ต้องถือว่าข้อเขียนชิ้นนั้นเป็นความนอกของความใน ตานี้ดิฉันก็เลยจะมาเล่าถึง ‘ตัวละครนอกหนังสือต้องเนรเทศ‘ ที่เป็นความในของความนอก

ตัวละครนี้ปรากฏขึ้นมาต่อหน้าดิฉันในวันหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราสัมพันธ์กันในฐานะผู้ใช้และผู้ให้บริการสวัสดิการสิทธิตามกฎหมายของเงินประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ ในรอบนี้เธอติดต่อมาขอความช่วยเหลือค่าเดินทางในการพาลูกชายของเธอไปส่งไว้กับยายในต่างถิ่นเสียให้เรียบร้อยในช่วงสุกดิบก่อนหน้าวันฟังคำพิพากษาในคดีที่เธอตกเป็นจำเลย ซึ่งก็บังเอิญเป็นคดีเดียวกันกับที่คุณวัฒน์ก็เป็นจำเลยอยู่ด้วยในจำนวนอีกหลายคดีนั่นละค่ะ คือคดีที่โดนกล่าวหาว่าก่อความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเป็นอั้งยี่ หรือที่เรียกกันว่าคดีสหพันธรัฐไท จำเลยอย่างน้อยห้าคนในคดีนี้ ย้ายไปมีชีวิตอยู่ในหนังสือ ต้องเนรเทศ ของคุณหมดแล้ว เหลือสามคนที่ยังอยู่ที่นี่ ที่ต้องรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่รอมร่อนี้ รวมทั้งเธอผู้นี้ ที่กลายมาเป็นตัวละครนอกหนังสือ ต้องเนรเทศ และด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงไม่ได้ไปพบกับเธอในฐานะบรรณาธิการ แต่เป็นฐานะตัวแทนกองทุนประกันเสียฉิบ

ความช่วยเหลือที่ตัวละครนี้ต้องการมีแค่ค่าตั๋วรถไฟ ที่จะพาลูกชายคนเล็กไปฝากไว้กับยายในระหว่างที่เธอจะหายไปติดคุกหลายปี เพราะเธอเป็นห่วงว่าเขาจะอยู่อย่างไรในภาวะที่ทั้งยากไร้ทั้งไม่มีแม่ และเหลือแต่พี่ชายคนโตในวัยสิบแปดที่ก็ยังหาเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยได้ แล้วคนโตไม่ไปส่งน้องด้วยกันเหรอ ดิฉันถาม เธอว่าเขาไม่มีเงินซื้อตั๋ว พอถามราคาค่าตั๋วแล้วดิฉันก็ตัดสินใจให้เงินไปสำหรับพอที่จะซื้อได้สามใบ อย่างน้อยพวกเขาจะได้ส่งกันและกันพร้อมหน้าพร้อมตาครั้งสุดท้าย มันช่างเป็นความกรุณาอย่างผู้รู้กาลเทศะของกฎหมาย คือจ่ายเงินค่าเดินทางให้แม่กับลูกได้พลัดพรากกันอย่างสบายใจก่อนที่แม่จะกลับมาติดคุกตามคำพิพากษา

แต่แน่นอนว่า ในฐานะผู้ดูแลเงินประกัน ที่ในคดีนี้สูงถึงขั้นสามแสนบาทต่อคน มันอดไม่ได้หรอกที่จะนึกกังวลอย่างกระอักกระอ่วนอยู่ในใจ เขาจะใช้เงินไปซื้อตั๋วเดินทางนั้นเพื่อหนีออกจากราชอาณาจักรบ้าๆ นี่ไปเหมือนคุณวัฒน์ไหม และถ้าเขาไม่กลับมาฟังคำพิพากษา เราก็จะถูกริบเงินสามแสนนั่น ส่วนเขาก็จะถูกออกหมายจับไล่ล่า แล้วสามแม่ลูกจะรอดไหวเหรอ จะมีปัญญาหนีหรือจะลี้ภัยไปไหนได้

แต่ชั่วข้ามคืนเมื่อไปถึงปลายทาง เธอก็ถ่ายรูปส่งหลักฐานมาพร้อมคำขอขมาว่าเธอเปลี่ยนใจใช้เงินนั้นซื้อตั๋วชั้นสามแทนที่จะเป็นชั้นสอง เพื่อจะได้อาศัยเงินส่วนต่างนั้นไปซื้อรองเท้าเสื้อผ้าและเสบียงให้ลูกชายคนเล็กได้มีติดตัวรอนแรมต่อไป ถามว่าดิฉันโล่งใจไหม โล่งใจสิคะคุณวัฒน์ เพียงแต่เป็นความโล่งอย่างโคตรตีบตัน ว่านี่มันประเทศบ้าอะไรกันและกรูก็พลอยเป็นบ้าตามมันไปแล้วอย่างช่วยไม่ได้ ก็เพราะแน่นอนสิว่าในทางบัญชี ดิฉันก็ยังต้องอุตริย้ำให้ตัวละครผู้นี้เก็บตั๋วรถไฟกลับมาส่งให้ดิฉันในวันที่เราจะไปนั่งฟังคำพิพากษานรกนั่นด้วยกัน

นี่ละค่ะ โฉมหน้าของบรรณาธิการที่พิมพ์หนังสือเสร็จไม่ทันก่อนนักเขียนตาย เพราะมัวไปทำหน้าที่นายประกัน ที่เอาเข้าจริงก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า ประชาชนจะได้รับสิทธิประกันตัวตามกฎหมายก่อนจะไปลงเอยในเบื้องปลายด้วยการติดคุกตามคำพิพากษาอยู่ดี

คืนก่อนวันฟังคำพิพากษา ดิฉันนอนไม่หลับ อาการหลอนมันกลับมาเหมือนเมื่อครั้งที่คอยตื่นมาเช็คตอนตีสามว่ามี missed call จากคุณวัฒน์อีกไหม เวลาของการนับถอยหลังมันทรมาน แต่ดิฉันก็ต้องจิกตัวเองว่ามึงไม่ต้องสะเออะทรมานไปกว่าจำเลยก็ได้ แล้วศาลจะตัดสินว่ายังไง ปั๊ดโธ่! ศาลจะตัดสินว่ายังไงได้ นี่มันปาเข้าไปชั้นฎีกาหลังจากที่สองชั้นก่อนหน้าก็สั่งขังคุกตะบันมาตลอดแล้ว ความผิดของตัวละครเหล่านี้ถูกเป่าพองให้เป็นเรื่องอุกฉกรรจ์ กะอีแค่พฤติการณ์ขายเสื้อยืดและสติกเกอร์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น นี่มันประชาธิปไตยบ้าอะไรกัน พรากแม่ลูกพรากครอบครัวได้ด้วยเหตุเท่านี้นี่ล่ะ คือกาลเทศะของระบบกฎหมายไทย ที่กูก็ยังอุตส่าห์เข้าไปรองรับเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้มันอยู่ได้ทั้งที่ไม่ใช่ธุระและไม่ใช่กระทั่งอาชีพเลี้ยงตัว

ลูกชายคนโตของเธอร่างเล็กผอมบาง นั่งก้มหน้างุดใส่หูฟังไม่พูดไม่จาไม่สบตาใครอยู่หน้าห้องพิจารณา มือสองข้างกอดเสื้อคลุมและกระเป๋าของแม่ไว้ ดิฉันเข้าไปทักและบอกว่าเข้ามานั่งในห้องกับแม่ได้นะ ไม่ต้องกลัว ศาลห้ามไม่ได้ พูดไปดิฉันก็เหลือบดูรองเท้าของเขาเสียก่อน มันเป็นรองเท้าผ้าใบ โล่งไป เพราะถ้ามันเป็นรองเท้าแตะ และถูกห้ามเข้าห้องขึ้นมาอีก ดิฉันนึกภาพตัวเองวิ่งไปที่ห้องผู้อำนวยการศาลหรือไม่ก็อธิบดีศาลแล้วแต่ว่าระเบียบเวรตะไลนี่มันจัดประเภทอยู่ในความรับผิดชอบของคนไหน เพื่อจะได้ถามให้รู้แล้วรู้รอดกันไปซักที ด้วยวรรณศิลป์ของภาษาบทสนทนาในนวนิยายแนวเรียลลิซึมซักเรื่องว่า ศาลคะ มึงเป็นส้นตีนอะไรนักหนากับรองเท้าแตะของประชาชนคะ แต่แล้วฉากในหัวฉากนั้นก็ถูกตัดฉับทิ้งไปเมื่อดิฉันเผลอไปโอบไหล่ตัวละครเด็กชายวัยรุ่นคนนั้นแล้วเขาก็พลันปล่อยโฮออกมาก่อนจะรีบยกแขนเสื้อขึ้นปาดน้ำตาที่ขนตายาวคู่นั้นซับไว้ไม่ไหว อาการแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับหญิงสาวอีกคนที่เป็นคนรักของจำเลยอีกคนในคดีนี้ ที่มาปรากฏตัวในวันฟังคำพิพากษาวันนั้นเช่นกัน ปากของเธอที่พร่ำว่าทำใจมาแล้วๆ นั้นเฝ้าขัดขืนหักล้างกันกับน้ำตาที่พรั่งพรู

แต่จำเลยคนที่สาม ไม่ได้มา ดิฉันไม่อาจรู้ได้ว่าเขาตัดสินใจหลบหนีไปแล้วหรือไม่ ดิฉันได้แต่ลุกขึ้นยืน ค่ะ ค่ะ ค่ะ กับผู้พิพากษา เมื่อเขาแจ้งว่าจะริบเงินประกันสามแสนซะนอกเสียจากว่าดิฉันจะตามตัวจำเลยมาได้ทันก่อนวันอ่านคำพิพากษา ที่บัดนี้ต้องถูกเลื่อนออกไปเพราะวันนี้จำเลยมาไม่ครบ ความเจื่อนบนสีหน้าของจำเลยสองคนที่เกรงใจว่าจำเลยคนที่สามอาจทำให้เงินประกันของดิฉันต้องถูกริบไปขนาดนั้น เปลี่ยนเป็นความโล่งใจที่คงอธิบายได้ลำบาก เมื่อวันเวลาของการนับถอยหลังถูกเลื่อนออกไปจากที่ได้อุตส่าห์เตรียมตัวเตรียมใจมาแล้ว แล้วคำสัญญาของความช่วยเหลือต่างๆ ล่ะ ที่ดิฉันบอกเขาว่าไม่ต้องห่วง เมื่อผู้เป็นแม่ติดคุกไปแล้วดิฉันจะพยายามช่วยดูแลลูกชาย จะพยายามช่วยหาเงินมาจ่ายค่าห้องเช่าให้ แต่นี่การติดคุกถูกเลื่อนไปอีกราวหนึ่งเดือนครึ่ง แล้วค่าห้องสิ้นเดือนนี้จะยังอยู่ในข่ายรับความช่วยเหลือได้ไหม

ไงล่ะ ความจนมันแก้ไม่ได้ด้วยเงินประกัน ไม่ได้แก้ด้วยเงินช่วยเหลือให้มีปัญญาเข้าถึง ‘สิทธิในกระบวนการยุติธรรม’ ไง ผู้คนถึงต้องการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตแร้นแค้นให้มันโงหัวขึ้นมาได้ สู้อย่างตัวละครในนวนิยายสมจริงทั้งหลาย ตัวละครในนวนิยายที่ไม่มีบรรณาธิการ

แต่นั่นล่ะ โลกนี้ต้องยังไม่สิ้นความหวังหรอก ใช่ไหมคะ ดิฉันเตือนตัวเองไว้ ว่าอย่างน้อย… อย่างน้อย…

อย่างน้อยก็คืออะไร

จำได้ไหมคะคุณวัฒน์ คืนสุดท้ายที่คุยกันนั้นดิฉันบอกข่าวดีว่าดิฉันยื่นเรื่องจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิมาดูแลงานประกันเรียบร้อยแล้ว ดิฉันจะได้มีเวลากลับมาทำหนังสือกับคุณวัฒน์แล้ว เพราะมันจะไม่ต้องผูกติดกับตัวดิฉันแล้ว แล้วคุณก็พูดเหมือนละเมอย้ำตามดิฉันว่า ใช่ ใช่ จะได้เอาออกจากตัวแล้ว ผลปรากฏว่าดิฉันก็ตั้งมันขึ้นมาสำเร็จแล้ว เป็นมูลนิธิชื่อสิทธิอิสรา ชื่อที่สะท้อนความหวังของคนที่พยายามจะไม่เป็นบ้า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ ต้องเนรเทศ พิมพ์เสร็จออกมานั่นเอง

และพูดอย่างไม่อาย ดิฉันก็ได้อาศัยการขายหนังสือ ต้องเนรเทศ ของคุณนี่ละค่ะ มาเป็นเงินทำงาน มาเป็นค่าใช้จ่าย มาเป็นค่าเดินทางให้ตัวละครที่จำต้องเข้าสู่โลกของ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ต่อไป เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ในโลกของ ต้องเนรเทศ คุณจะรู้สึกภูมิใจ หรือจะรู้สึกทะแม่งอย่างไร ไว้คุยกันรอบใหม่แล้วคุณค่อยหัวเราะหรือร้องไห้กับดิฉันก็ได้

แต่สำหรับในตอนนี้ ดิฉันว่านี่แหละค่ะ มันคือเรียลลิสติกสุดๆ แล้วของความเป็นนิยายที่ไม่ใช่นิยาย จริงไหมคะคุณวัฒน์ ?


*หมายเหตุ – งานชิ้นนี้เป็นบทพูดปิดงานเสวนาความน่าจะอ่าน 2022 โดยไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ หนังสือที่ถูกเลือกมากที่สุดในกิจกรรมความน่าจะอ่าน 2022

รับชมงานเสวนาได้ที่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save