fbpx

“นกที่ร้องเสียงเดียวกัน อย่างไรก็ต้องบินมาหากันจนเจอ” ธิวัชร์ ดําแก้ว ก้าวไกลในภาคใต้

สำหรับข่าวคราวการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่น่ามีประเด็นไหนร้อนแรงและถูกพูดถึงมากไปกว่าผลการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ที่เพิ่งผ่านไป กับการทวงคืนเก้าอี้ ส.ส. เขตจตุจักร-หลักสี่ของสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนน 29,416 คะแนน และสำหรับหลายๆ คนนี่เป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐเก่า การคว้าชัยครั้งนี้ของเพื่อไทยจึงนับว่าน่าจับตา จนผลการเลือกตั้งถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์หลายต่อหลายครั้งในรอบสัปดาห์

อันที่จริง เขตหลักสี่ไม่ได้เป็นพื้นที่แรกที่มีการเลือกตั้งซ่อม ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็มีการเลือกตั้งซ่อมอีกพื้นที่หนึ่งที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันคือการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 สงขลา เมื่อผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์คว้าชัยเหนือพลังประชารัฐ และตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นพรรคการเมืองเจ้าประจำของ ‘คนใต้’

และภายใต้การขับเคี่ยวกันระหว่างประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐที่คะแนนต่างกันราว 5 พันคะแนน ธิวัชร์ ดำแก้ว จากพรรคก้าวไกลก็ตามมาด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างหลายหมื่นที่ 5,427 คะแนน ยิ่งชวนตั้งคำถามว่าหรือจริงๆ แล้วภาคใต้จะเป็นดินแดนของประชาธิปัตย์โดยสมบูรณ์จริงๆ

คะแนนห่างกันร่วม 4 หมื่นกว่าคะแนน ธิวัชร์ยังเห็นความหวัง ยังเห็นพื้นที่ของตัวเองในพื้นที่ซึ่งกล่าวกันว่า ‘ยาก’ ต่อการทำคะแนนนั้นเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ การที่เกิดและโตในอำเภอสะเดาถึงช่วงแรกรุ่น ก่อนออกไปเรียนและทำงานในพื้นที่อื่นอันห่างไกลทำให้ธิวัชร์เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ปลาสองน้ำ’ ซึ่งเขาเชื่อว่า ทำให้เขาทำความเข้าใจบ้านเกิดตัวเองได้หลากหลายแง่มุม 

ทั้งในฐานะคนใน คนนอก และการมองข้ามมายาคติมากมายที่ผู้คนมอบให้ชาวใต้

มองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างไร

อย่างแรก พอผลเลือกตั้งออกมาเราไม่อยากให้ใครมากล่าวหาคนใต้หรือภาคใต้ว่าเป็นดินแดนแห่งการใช้อิทธิพลอะไรแบบนั้น คือเราเองก็ไม่พอใจเพราะก็เป็นคนใต้เหมือนกัน การจะมากล่าวหาว่าคุณยังรักพรรคนั้น รักพรรคนี้ โดยไม่สนใจอย่างอื่นเลยไม่ได้ เราต้องเชื่อในการตัดสินใจของประชาชน

นอกจากนี้ การไปกล่าวหากันแบบเหมารวมคนทั้งภาคไม่เป็นผลดีแน่ๆ โดยเฉพาะกับเราในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะอย่างน้อย การทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรหรือการทำงานทางการเมือง เราต้องเปิดใจพูดคุยกัน ถ้าสมมติว่าเขามีอคติกับเราแล้วเพราะผู้สนับสนุนเราไปด่า ไปว่าเขา จะกลายเป็นว่าเราก็จะทำงานในพื้นที่ไม่ได้เลย แค่โอกาสที่จะแนะนำตัวหรือพูดคุย บอกเล่าเรื่องราว อุดมการณ์ เขาก็จะไม่รับฟังแล้ว 

จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของพื้นที่นี้อย่างเดียวด้วยนะ แต่ทุกพื้นที่เลย เราไม่ควรไปด่าแบบเหมารวมใคร

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้ามองกันในเชิงทฤษฎี ก็พอเข้าใจได้ถึงปรากฏการณ์ในพื้นที่และโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจในพื้นที่

เวลาพูดว่า ‘ปรากฏการณ์ในภาคใต้’ เห็นอะไร หมายถึงอะไรบ้าง

(คิด) ผมว่าผมเหมือนปลาสองน้ำ คือผมโตในพื้นที่แต่ไปเรียนและทำงานข้างนอก คือเรียนที่สงขลาตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นประถม 6 ที่อำเภอสะเดา อยู่ในพื้นที่เลือกตั้งนี่แหละ แล้วมัธยมต้นก็ไปเรียนโรงเรียนประจำที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราชแค่ 3 ปี แล้วมัธยมปลายก็มาเรียนที่โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ หาดใหญ่ แล้วช่วงมหาวิทยาลัยก็ไปเรียนคณะสังคมวิทยา มนุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ แล้วต่อปริญญาโทคณะการเมืองเศรษฐศาสตร์ที่จุฬาฯ พอทำงาน ก็เคยไปทำงานเอ็นจีโอที่เชียงใหม่แล้วมาทำ Land Watch Thai (กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน) ดูปัญหาที่ดินทั้งประเทศแล้วค่อยมาทำงานในสภากับคุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) เลยเห็นภาพกว้างบางอย่าง

ดังนั้น เวลาผมพูดคำว่า ‘ปรากฏการณ์’ หมายความถึงว่า ถ้าเราถอยออกมาจากสิ่งที่เราเป็น ที่ที่เราอยู่ จะทำให้เรามองได้กว้างขึ้น เช่น ความคิดบางอย่างที่คนเชื่อว่าพื้นที่นี้เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เบ็ดเสร็จแล้ว ประชาธิปัตย์มาครองอำนาจนำในพื้นที่ได้ก็เมื่อการเลือกตั้งปี 2535 ไม่ได้หมายความว่าพอมีประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2475 แล้วภาคใต้เป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์เลยเสียเมื่อไหร่ เรามองย้อนกลับไปว่า ถ้าเขามาปักธงได้ เราก็มาปักธงได้เหมือนกัน

เราคิดถึงกระบวนการเรื่องเล่าของนายชวน หลีกภัย (อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์) ที่หาเสียงครั้งแรกต้องเอาผ้าขาวม้าผูกเอวบนมอเตอร์ไซค์กับคนขับเพราะไปหาเสียงดึกๆ ดื่นๆ เราก็อยากทำแบบนั้นนะ 

ในฐานะที่โตในสะเดา ตัวคุณมีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์บ้างไหม

มีสิ! (ยิ้ม) พรรคการเมืองพรรคแรกที่เรารู้จักก็ต้องฟังมาจากคนรอบๆ ตัวใช่ไหม ความทรงจำเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผมจำได้ คือการเลือกตั้งปี 2538 สมัยผมสัก 5 ขวบได้ ที่นายกฯ บรรหาร (บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 21) ชนะเลือกตั้ง ตอนนั้นเราเด็กมาก จำได้ว่าเช้าวันเลือกตั้ง รายการข่าวทางโทรทัศน์ก็ถ่ายทอดทั้งวัน เป็นเรื่องเป็นราวมากเลยนะ

วันนั้นผมให้พ่อพาไปซื้อขนมก๊อบแก๊บแล้วกลับมานั่งกินที่บ้าน พ่อก็บอกว่า นี่ วันนี้มีเลือกตั้งนะ นั่นแหละที่เราเริ่มรู้จักว่าระบบพรรคการเมืองเป็นแบบนี้นะ และได้เห็นว่าอย่างน้อยในพื้นที่นี้ก็เต็มไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ และเราก็รู้จักแหละว่านั่นคือประชาธิปปัตย์ หรือตอนเด็กๆ สมัยไปเที่ยวที่ตรังกับคณะทัวร์ เขาก็พาไปถ่ายรูปกับแม่ถ้วน (ถ้วน หลีกภัย แม่ของชวน หลีกภัย) ที่บ้านนายชวน ผมยังมีรูปนั้นอยู่เลย

ดังนั้น หากเราพูดกันในเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ก็อาจพูดได้ว่ามันเป็นการผลิตซ้ำว่า นี่แหละ คนใต้บ้านเราก็ต้องเลือกพรรคนี้สิ แต่พอเราโตขึ้น ไปเรียนที่อื่น มองย้อนกลับมาก็จะพบว่าความเป็นปลาสองน้ำของเราทำให้มองพื้นที่นี้จากข้างในออกมา และมองจากข้างนอกเข้าไปด้วย

หากการมองจากข้างในออกมาคือการได้เห็นตัวเองโตมากับประชาธิปัตย์ แล้วการมองจากข้างนอกกลับเข้ามาคุณเห็นอะไร

เห็นว่าปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ได้แยกขาดออกจากกัน ยิ่งตอกย้ำการเดินเลือกตั้งหาเสียง 23 วัน นับจากวันสมัครถึงวันเลือกตั้ง ก็ยิ่งได้ชุดข้อมูลข้อหนึ่งที่มาตอบสมมติฐานเราตั้งแต่แรก นั่นคือเกิดสมดุลของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในพื้นที่ เมื่อเกิดความสมดุลแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบอื่นหรือสังคมแบบอื่นก็เกิดได้ยาก

ผมชอบยกตัวอย่างแบบนี้ สมมติธุรกิจไม้ยางพารา พอปลูกจนอายุ 20-30 ปีหรือได้ระดับหนึ่งเขาก็ต้องโค่น และพื้นที่ภาคใต้มียางพารา 10 ล้านไร่ โดยเฉพาะในเขต 6 จังหวัดสงขลาที่เราเลือกตั้งก็คือถิ่นยางพาราเลย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเกี่ยวข้องกับยางพารา ตามธุรกิจแล้วก็ต้องมีการทำยาง มีการขนไม้ยางไปโรงงานต่างๆ ตามระบบ ซึ่งเราลองไปคุยกับเขาจริงๆ คนทำงานเขาก็บอกว่า ต้องมีการจ่าย ‘ค่ารายการ’ หรือ ‘จ่ายรายการ’ หรือก็คือส่วยให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เราแยกเป็นสองเรื่อง หนึ่งคือเรื่องขนส่ง อาจจะโดนตำรวจจับเพราะอาจบรรทุกเกิน ไม่ได้จดทะเบียน หรือรถอาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เป็นต้น แต่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็คือตำรวจ และด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องบริหารจัดการ ผิดแน่ๆ ละ ก็ต้องมีนายหัว ต้องมีคนที่คอยเคลียร์กับเจ้าหน้าที่รัฐให้พวกเขาได้ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าเขาคืออำนาจทางการเมืองที่สามารถจัดการเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะขอให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยหน่อย เป็นต้น ฉะนั้น เราจึงคิดว่าระบบอุปถัมภ์จากที่สมดุลกันอยู่แล้วเหล่านี้มีส่วนสำคัญด้วยเหมือนกัน เพราะทำให้ระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่ทำงานได้อย่างเข้มแข็งและยากที่จะเปลี่ยนกรอบคิดทางการเมืองออกไป

แล้วถ้าเราไปมองเรื่อง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนเลื่อยไม้ คือไม้ยางพาราโตขึ้นบนที่ดินที่เป็นเขตป่าสงวน ฉะนั้น ถ้าเราไปตัดไม้ยางในเขตป่าสงวนก็เท่ากับตัดป่าไม้ ซึ่งผิดอยู่แล้ว แต่ก็เหมือนเดิมคือเจ้าหน้าที่ก็หลับตาข้างหนึ่ง คนทำงานก็อาจจะจ่ายค่ารายการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง หรือถ้าโดนคดีหนักจริงๆ ก็ให้คนที่ทำงานทางการเมืองมาช่วย เป็นต้น เราเลยเห็นว่าสมดุลทางเศรษฐกิจกับสังคมได้ฝังรากลงไปในพื้นที่อย่างยาวนานพอสมควรแล้ว 

มองภาพรวม จึงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่เลยหรือเปล่า

ไม่เฉพาะแค่นั้น อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ความที่ต้นน้ำของยางพารามาจากการเกษตรและไปสู่อุตสาหกรรมคือการเอายางไปทำเป็นยางแห้ง หรือคือการเอาน้ำยางไปทำให้เป็นแท่งหรือเป็นก้อน แล้วค่อยส่งไปให้โรงงานทำล้อรถยนต์ 

ตั้งแต่เราเด็กๆ แล้ว เราตื่นมาแล้วได้กลิ่นจากโรงงานซึ่งก็เหม็นแหละ ตอนนั้นเด็ก ไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่พอโตมาเป็นเอ็นจีโอ และทำงานเรื่องที่ดินมาตั้งแต่เรียนจบ เราเลยมีความรู้เรื่องที่ดินและสิ่งแวดล้อมบ้าง เลยไปตรวจสอบที่สำนักทรัพยากรธรรมชาติที่สงขลา ก็พบว่าจริงๆ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ปัญหาทางอากาศหรือกลิ่น แต่น้ำเสียจากอุตสาหกรรมก็ลงแม่น้ำลำคลองอย่างคลองอู่ตะเภา อำเภอสะเดาบ้านเรากับอําเภอคลองหอยโข่งเป็นต้นน้ำ จากนั้นก็ไหลลงมาหาดใหญ่ ออกทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำย่อยที่ใหญ่ที่สุดใน 5 ลุ่มน้ำของจังหวัดสงขลาเลย และพอไปเช็กข้อมูลก็พบว่าค่ามาตรฐานเสื่อมโทรมมาตลอด แล้วพอมาดูตารางย่อยก็พบว่าสารที่ปนเปื้อนคือสารแอมโมเนียที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางเป็นส่วนใหญ่ 

ดังนั้น การที่เราจะมาเปลี่ยนแนวคิดก็ทำให้เราไม่มีอะไรไปสู้เขาเลย นอกจากเราไปบอกเขาว่า ส.ส. มีหน้าที่แก้กฎหมาย ไม่ได้มีหน้าที่มาช่วยให้คุณหลุดจากคดีนะ เพราะอย่างนั้นถ้ามีเรื่องแบบนี้ ทางออกควรจะเป็นการแก้ที่กฎหมายไหม

เราเชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างส่วนล่างที่กำหนดโครงสร้างส่วนบน ดังนั้นจึงเกิดสมดุลต่างๆ ตามที่เราเล่าไปและเราพึ่งพิงระบบการค้าขายจากยางพาราสูง เอื้อให้เกิดสังคมในระบบอุปถัมภ์ แต่สำหรับวัฒนธรรมที่เขาว่ากันว่าคนใต้รักพวกพ้อง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกกำหนดมาจากวิถีการผลิตแบบนี้ ฉะนั้นวัฒนธรรมและความคิดทางการเมืองก็จะขึ้นอยู่กับกลุ่ม ว่าคุณสังกัดกับใคร เพราะจะมีตัวแทนของคุณไปต่อสู้ให้คุณตลอด ฉะนั้นก็กลับไปที่ระบบอุปถัมภ์อีกว่ามันทำงานเต็มที่

ถ้าเป็นโครงสร้างก็เท่ากับว่าต้องหยั่กรากลึกและแข็งแรงมาก จะเขย่าโครงสร้างนี้อย่างไร

(คิดนาน) เราคงต้องเอางานในระบบนิติบัญญัติเข้ามาทำในพื้นที่ให้เห็นเป็นตัวอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น อำนาจของกรรมาธิการต่างๆ กรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ต้องบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเหนือกฎหมายเลย เรามาคุย ตรวจสอบ หาข้อเท็จจริง ว่าเรื่องน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทางโรงงานมีระบบบำบัดอะไรก่อนหรือเปล่า ทำไมเวลาฝนตกหนักชาวบ้านยังต้องร้องเรียนเสมอ หรือทำไมเวลาสิ่งแวดล้อมจังหวัดมาตรวจสอบจึงไม่เกิดการบังคับให้ปรับปรุงตามกฎหมาย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องที่ดินเอง อย่างน้อยรัฐบาลนี้ก็มีนโยบายคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่จะจัดให้ 25 ไร่ในพื้นที่ที่ดินของรัฐ จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องมาตัดไม้ยางแล้วผิดกฎหมาย คือก็จัดการให้ถูกต้องเสีย ซึ่งรัฐบาลเขาก็มีนโยบายส่วนนี้อยู่แล้ว เราแค่เอากรรมาธิการที่ดินมาลงพื้นที่ ถามราชการได้ว่า คทช. ของจังหวัดสงขลานั้นจัดไปแล้วกี่พื้นที่ ที่ตรงไหนบ้าง ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกต้องในระบบนิติบัญญัติในการจะตรวจสอบ 

101 สนทนากับ

ตั้งใจจะดีลกับอำนาจเก่าอย่างไร

ตอนที่ตัดสินใจลงเลือกตั้งเราก็พร้อม รู้อยู่แล้วว่าบ้านเราเป็นพื้นที่อนุรักษนิยม และรู้ด้วยว่าก้าวไกลโดนกล่าวหาด้วยประเด็นอะไรมากที่สุด รวมทั้งที่โดนมาตั้งแต่ยังเป็นอนาคตใหม่ด้วย 

แล้วมันตลกมาก เพราะวันที่เราลงหาเสียง ไปแจกป้ายหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ กะว่าเราจะเดินไปให้สุดเขตเลือกตั้งของเราเลย ไปจนถึงในป่าแล้วค่อยถอยกลับเข้ามาในเมือง ปรากฏว่าบ้านแรกที่เราเจอ เรายืนฟังเขาด่าเรากับพรรคอยู่สิบนาที (ยิ้ม) ว่าอย่าไปเลือกนะ วันๆ มันแก้แต่รัฐธรรมนูญหรือด่าแต่สถาบันฯ เราก็ยืนให้เขาด่าเป็นสิบนาที ถือว่าเบิกฤกษ์ แต่สุดท้ายเขาก็บอกเรานะ ว่าไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้ว เอาใบหาเสียงมาให้อ่านหน่อย เราก็ให้เขาไป (ยิ้ม)

ถ้าอย่างนั้นได้เจออะไรที่เกินคาดบ้าง

ที่เซอร์ไพรซ์ที่สุดคือเจอแฟนคลับ เป็นคนที่เราไม่คิดว่าจะไปเคาะบ้านแล้วเจอคนที่พูดเรื่องม็อบราษฎร มีครูตอนประถมของผมคนหนึ่ง แล้วบังเอิญเป็นลูกศิษย์ของพ่อเราด้วย เพราะพ่อแม่เราเป็นครูโรงเรียนประจำดำเภอที่สะเดา เขาบอกผมว่า “นกที่ร้องเสียงเดียวกัน ยังไงก็ต้องบินมาหากันจนเจอ” พอเจอคนที่พูดแบบนี้ตั้งแต่วันแรกที่เราหาเสียง ก็ชื่นใจนะ คือไม่ใช่ว่าจะไม่มีคนแบบนี้ในพื้นที่เสียเมื่อไหร่ ถ้าเราไม่กล้ามารับสมัครเลือกตั้งหรือหาเสียงคงไม่เจออะไรแบบนี้

กลับมาที่การเป็นปลาสองน้ำ มันทำให้คนรู้สึกว่าคุณไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาไหม

ผมไม่ได้มองว่าการเป็นปลาสองน้ำเป็นข้อเสียเปรียบนะ ทุกคนแข่งกันว่าตัวเองเป็นคนท้องที่ แต่เราสงสัยว่าแล้วทำไมเราจะไม่ใช่คนท้องที่ล่ะ เราก็โตที่นี่มา 18 ปี ออกไปทำงานข้างนอก กลับบ้านมาเราก็มานอนที่สะเดาบ้านเราเหมือนเดิม เราไม่ได้ห่างขนาดนั้น และมั่นใจด้วยว่าข้อมูลในพื้นที่เราลึกเท่ากันกับทุกคน

แต่แน่นอนว่ามันอาจสร้างความรู้สึกว่าเราไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้าน แต่ก็คือการตัดสินใจของเราไง เรามาลงเลือกตั้งแล้วและไม่ได้คิดว่าจบแค่ครั้งนี้ ผมไม่ได้รู้สึกว่าความพ่ายแพ้นี้เหนือคาดนะ ไม่ได้อกหักอะไร เพราะเราตั้งใจจะทำการเมืองระยะยาว เราอยากทำงานการเมือง ไม่ได้อยากเป็น ส.ส.

พ่อกับแม่ผมโดนคนบอกบ่อยๆ ว่าลูกคุณลงผิดพรรค ซึ่งเราก็ไม่ได้กระสันอยากได้ตำแหน่งทางการเมืองอะไร เรามาทำงานเพื่อจะบอกว่า ประชาธิปัตย์กว่าจะใช้เวลาปักธงในภาคใต้ก็ต้องอย่างน้อยสัก 35 ปี ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งนายชวนขี่มอเตอร์ไซค์แล้วพรุ่งนี้ประชาธิปัตย์พรึบมาทั้งภาคใต้ มันก็ผ่านการสั่งสมมา 35 ปีจึงจะปักธงได้ เราเป็นพรรคใหม่และต้องใช้เวลา 

วันนี้ผมอายุ 32 ปี ผมมีเวลาอีก 30 ปีที่ทำงานยาวๆ ได้ แล้วมาดูกันว่าอีก 30 ปีจะมีอะไรเปลี่ยนไปไหม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

9 Jun 2021

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน: ว่าด้วยคำในป้ายหน้าค่ายทหาร

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง ชวนตั้งคำถามกับชุดคำ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ที่สลักอยู่บนป้ายหินอ่อนที่ปรากฏอยู่ทุกหน้าค่ายทหารว่า กองทัพกำลังปกป้องอะไรอยู่กันแน่?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

9 Jun 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save