fbpx

“สื่อไม่ควรลดบาร์ตัวเอง” ในวันที่กฎหมายถูกใช้ปิดปากประชาชน และสื่อมวลชนถูกจับตาทุกย่างก้าว กับทิตศาสตร์ สุดแสน

ที่ผ่านมาเรามักเจอวาทกรรมที่ว่า “หมิ่นประมาทกับวิจารณ์โดยสุจริตมีเส้นบางๆ กั้นอยู่” เพราะในบางครั้งบางที แม้แต่ความเห็นที่คุณมั่นใจว่าไม่ใช่คำพูดที่ลิดรอนสิทธิใคร ก็อาจทำให้คุณถูก ‘ปิดปาก’ ด้วยกฎหมายและกลายมาเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาได้โดยไม่ทันได้ตั้งตัว

การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘คดีปิดปาก’ หรือ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) คือการฟ้องคดีเพื่อปิดปากบุคคลที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมามีคดีความลักษณะนี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องชาวบ้านตาสีตาสา นักกิจกรรมขับเคลื่อนสังคม หรือแม้แต่ฟ้องร้องสื่อมวลชนก็ตาม

หนึ่งในคดีปิดปากที่เป็นที่จับตามองจากสังคมอย่างมากคือคดีที่บริษัทฟาร์มไก่แห่งหนึ่งยื่นฟ้องร้องแรงงานข้ามชาติ นักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงสื่อมวลชนที่ย่างกรายเข้ามาแตะต้องคดีที่เกี่ยวพันกับบริษัท โดยในคดีล่าสุดมีจำเลยได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการคณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติ, พุทธณี กางกั้น อดีตผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนและผู้อำนวยการขององค์กร The Fort และ ธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารขององค์กร Fortfy Right

หลังจากใช้เวลาไต่สวนมูลฟ้องมากว่าสามปี ศาลจึงนัดกำหนดวันพิจารณาคดีและรับฟังการสอบปากคำของฝ่ายจำเลยเมื่อเดือนมีนาคมและพฤษภาคมที่ผ่านมา ในฐานะสื่อมวลชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณคดีดังกล่าวนี้ เรารับรู้ได้ถึงความกดดัน ความตึงเครียด หรือแม้แต่ความหวาดกลัวที่อบอวลอยู่ภายในห้องพิจารณาคดี

หลังจากการพิจารณาคดีนัดแรกผ่านพ้น เราชวน ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความเจ้าของคดีจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน พักจากการสู้รบด้วยมาตรากฎหมายชั่วครู่ ถอดครุยทนายออกชั่วคราว มาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของคดีดังกล่าว ทั้งความยากลำบากของการสู้คดี SLAPP ปัญหาการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และพันธกิจของสื่อมวลชนในฐานะผู้ตีแผ่ความไม่เป็นธรรมที่สังคมคาดหวัง

จากคดีนักสิทธิมนุษยชนถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในขณะนี้ อยากให้เล่าที่มาที่ไปของคดีให้ฟังหน่อย

คดีนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560-2561 มาจนถึงตอนนี้ ส่วนที่ผมดูแลอยู่เป็นคดีของคุณอังคณา นีละไพจิตร คุณพุทธณี กางกั้น และคุณธนภรณ์ สาลีผล ที่ถูกฟ้องเพราะแชร์ข้อความทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กซึ่งมีเนื้อหาสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทโดยบริษัทเดียวกันไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทางบริษัทคู่กรณีเห็นว่าในตัวข้อความที่จำเลยแชร์มีลิงก์นำไปยังภาพยนตร์ความยาว 107 วินาทีขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งมีเนื้อหาให้บริษัทยุติการฟ้องร้องคนงานพม่า 14 คน ในภาพยนตร์มีเนื้อหาที่แรงงานให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่บริษัทละเมิดสิทธิแรงงาน โดยภาพยนตร์ดังกล่าวเผยแพร่ออกมาในเดือนตุลาคม 2560 และ ณ วันนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล

แต่ก่อนหน้าที่จะเป็นคดีของสามคนนี้ ยังมีคดีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลถูกบริษัทเดียวกันฟ้องเมื่อปี 2562 กรณีนี้ถูกฟ้องเพราะอาจารย์ใช้เพจเฟซบุ๊กของสถาบันที่สังกัดอยู่แชร์โพสต์ให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องในคดีอื่น ทางบริษัทจึงมาฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทเพื่อการโฆษณา แต่กรณีของอาจารย์ท่านนี้ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าคนโพสต์คืออาจารย์ท่านนี้จริงหรือเปล่า 

มากไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้ยังมีการฟ้องหลายคดีที่มีโจทก์เป็นบริษัทเดียวกัน แต่เป็นคดีที่มูลนิธิของเราไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ มีการฟ้องทั้งตัวแรงงานที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ คนที่พาแรงงานไปร้องเรียน นักข่าว หรือแม้แต่ฟ้องคนที่ออกมาโพสต์ให้กำลังใจจำเลย แต่ทุกคดีส่วนใหญ่ศาลยกฟ้องหมด ที่ผ่านมาน่าจะมากกว่า 20 คดีได้ ซึ่งคดีของคุณอังคณา คุณพุทธณี และคุณธนภรณ์น่าจะเป็นคดีท้ายๆ ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ 

คดีที่ผ่านมาที่ศาลยกฟ้อง ผมเชื่อว่าถ้าบุคคลธรรมดาเห็นคำฟ้อง หลักฐานและการพิจารณาก็คงจะคิดเหมือนกันว่าจำเลยห่างไกลกับการกระทำผิดที่ถูกฟ้องมามาก บางคดีจำเลยโดนฟ้องแค่เพราะโพสต์ให้กำลังใจ หรือแค่แชร์โพสต์ แค่รีทวีตซึ่งต้องมีการกดเข้าถึงไปอีกหลายขั้นตอนกว่าจะถึงวิดีโอที่บริษัทเห็นว่ามีข้อความหมิ่นประมาท อยากชวนคิดว่าต่อไปนี้ถ้าจะเรียกการกระทำแบบนี้ว่าเป็นความผิด อย่างนั้นต่อไปเราจะแชร์ข่าวทั่วไปกันไม่ได้แล้วใช่ไหม เพราะแค่แชร์ข้อความก็อาจโดนฟ้องได้

แล้วนอกจากคดีฟาร์มไก่ล่าสุดนี้ คุณเคยทำคดี SLAPP อื่นๆ มาก่อนไหม

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนมีลักษณะการทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และคดีจำนวนไม่น้อยเกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่นี้มีนิยามค่อนข้างกว้าง อาจรวมถึงชาวบ้านทั่วไปและคนทำงานเกี่ยวกับสังคมและสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาผมเคยทำคดีเกี่ยวกับการฟ้องปิดปากแบบนี้มาเยอะ เพียงแต่คำว่า SLAPP หรือการฟ้องปิดปากพึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีมานี้ 

ในส่วนของคดีปิดปาก ถ้าเป็นกลุ่มชาวบ้านทั่วไปจะมีความเปราะบางในการถูกฟ้องพอสมควร และส่วนใหญ่จะมีคู่กรณีเป็นบริษัทหรือภาคธุรกิจ เช่น คดีเหมืองทองคำ จังหวัดเลย บริษัทฟ้องชาวบ้านข้อหาหมิ่นประมาทหลายคดี แต่ปัญหาของคดีนี้คือชาวบ้านออกมาต่อต้านเหมืองทองคำที่จังหวัดเลย แต่ฝ่ายโจทก์กลับไปฟ้องชาวบ้านที่จังหวัดตากหนึ่งคดี และไปฟ้องที่ภูเก็ตอีกหนึ่งคดี เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาฟ้องปิดปากและตั้งใจให้เกิดความลำบากก่อนจะมีการถอนฟ้องในภายหลัง ที่ผ่านมาเราเจอคดีฟ้องชาวบ้านในลักษณะนี้มาตลอด

ถ้าเป็นคดี SLAPP ส่วนใหญ่โจทก์จะฟ้องจำเลยด้วยข้อหาหมิ่นประมาทหมดเลยหรือเปล่า

เหตุผลที่คดีปิดปากส่วนใหญ่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท เพราะตามกฎหมายกำหนดมูลฐานความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาไว้ว่า หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดนี้ที่ไหนก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีที่นั่นได้เลย เช่น แม้ว่าผู้ถูกฟ้องจะทำการลักษณะนี้ที่ภาคใต้ แต่ถ้าคุณอ้างว่าเจอการกระทำผิดลักษณะนี้ที่ภาคเหนือ คุณก็ฟ้องเขาที่ภาคเหนือได้เลย ซึ่งเราพบคดีในลักษณะนี้บ่อยมาก คือตั้งใจฟ้องเพื่อทำให้ชาวบ้านลำบากไว้ก่อน

แต่ในความเป็นจริงการฟ้องคดี SLAPP ไม่ได้จำกัดว่าต้องฟ้องข้อหาอะไร แต่จะอยู่ที่ว่าเป็นการฟ้องที่มีเจตนาปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือไม่ ตั้งใจฟ้องเพื่อให้ประชาชนได้รับความลำบากหรือเปล่า เขาอาจจะฟ้องข้อหาบุกรุก ข้อหาหมิ่นประมาท หรือฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ได้ เพียงแต่ว่าการฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้นฟ้องง่าย คือจะฟ้องที่ไหนก็ได้ และพอฟ้องไปแล้วก็จะทำให้เกิดคดีติดพันไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าฟ้องข้อหาบุกรุกหรือทำร้ายร่างกาย คดีลักษณะนี้จะเห็นทางกายภาพได้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการทำร้ายร่างกายหรือบุกรุกจริงไหม แต่ถ้าฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตีความตัวข้อความของแต่ละบุคคล

ที่ผ่านมาคดี SLAPP ส่วนใหญ่มีการยกฟ้องทั้งหมด ถ้ารู้ว่าฟ้องไปก็ไม่ชนะคดี คิดว่าทำไมถึงยังมีการฟ้องคดี SLAPP อยู่เรื่อยๆ

เพราะการฟ้องคดีปิดปากฝั่งโจทก์ไม่ได้หวังผลจากทางคดีโดยตรง แต่เขาหวังให้เกิดความยุ่งยากในฝั่งจำเลย มีประเด็นหนึ่งในการฟ้องปิดปากด้วยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาที่ผมตั้งข้อสังเกต คือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลไม่ได้พิจารณาหลักฐานส่วนอื่นเลย ศาลท่านดูแค่ว่ามีการโพสต์จริงอย่างที่โจทก์อ้างหรือเปล่า ถ้ามีการโพสต์จริงก็รับฟ้องทั้งหมด ส่วนจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ก็ให้ไปพิสูจน์กันอีกทีในชั้นพิจารณา ประเด็นคือกว่าจะผ่านขั้นตอนตรงนี้ไปได้และกว่าจะผ่านการพิจารณาคดีต้องใช้เวลาหลายปี เห็นได้ชัดเจนอย่างคดีบริษัทฟาร์มไก่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยตอนปี 2562 จนถึงปี 2566 นี้ถึงเพิ่งได้รับการพิจารณา คดีค้างมา 4 ปีเต็ม

และอีกกรณีในการดำเนินคดีคือบางทีโจทก์ไม่ฟ้องเองแต่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ คือสมมติโจทก์ฟ้องมาคดีหนึ่ง คดีนั้นอาจจะอยู่ในชั้นสืบสวนของตำรวจหนึ่งปี ระหว่างนี้กว่าตำรวจจะส่งไปที่อัยการ และกว่าอัยการทำความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ คุณต้องเดินทางมารับทราบคำสั่งของอัยการในทุก 1-2 เดือน และถ้าคดีค้างอยู่ในขั้นตอนนี้หนึ่งปี แปลว่าคุณต้องเดินทางมาหาอัยการตลอดหนึ่งปีนั้น ซึ่งเป็นภาระใหญ่มาก ผมเคยเจอคดีที่จำเลยอยู่ห่างไกลจากอัยการจังหวัดมาก เขาต้องใช้เวลาเดินทางมาหาอัยการมากกว่าสองชั่วโมงในแต่ละครั้ง จนชาวบ้านที่ถูกฟ้องต้องขอพูดคุยกับอัยการว่าเขาเดินทางไปทุกเดือนไม่ไหว ขอเปลี่ยนเป็นไปทุก 2-3 เดือนแทนได้ไหม และคิดดูว่ากว่าคดีจะจบเขาต้องเสียเงินและเสียเวลาไปมากขนาดไหน

การฟ้องปิดปากแบบนี้ บางทีฝั่งโจทก์อาจรู้อยู่แล้วว่าฟ้องไปก็ไม่ชนะ แต่ที่ฟ้องเพราะส่วนหนึ่งคือให้เกิดความลำบาก อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกกลัวที่พูดเรื่องนี้ต่อ หรือเอาความลำบากและยุ่งยากมาเป็นข้อต่อรองในการให้เขาหยุดพูดเรื่องนี้ต่อไป

ในฐานะทนายที่ได้พูดคุยกับจำเลยในคดี นอกจากเรื่องเสียเงินและเวลาในระหว่างการพิจารณาคดีแล้ว คดี SLAPP ส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของจำเลยมากน้อยแค่ไหน

ถ้าคนที่ถูกฟ้องเป็นสื่อมวลชนหรือคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอาจจะมีบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะคงมีความเข้าใจเรื่องนี้กันในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นกรณีชาวบ้านที่ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมากนักจะเห็นได้ชัดถึงความเหนื่อยล้าและความเครียดว่าทำไมเขาต้องมาถูกดำเนินคดีลักษณะนี้

เวลาชาวบ้านถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท นอกจากจะต้องเดินทางไปหาตำรวจหรืออัยการตลอดแล้ว ในกรณีที่ศาลรับฟ้อง ถ้าเป็นข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คุณต้องมีเงินอย่างน้อยสองหมื่นเป็นค่าประกันตัว และยังมีค่าใช้จ่ายระหว่างนี้ที่เกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นมันมาพร้อมกับผลกระทบทางจิตใจแน่นอน รวมไปถึงเรื่องทุนทรัพย์ต่างๆ ด้วย ยิ่งเป็นชาวบ้านที่ปกติก็มีรายได้ไม่มากอยู่แล้ว ต้องขาดงานไปศาลก็ลำบากมากขึ้นไปอีก เรื่องนี้ยิ่งเป็นข้อต่อรองใหญ่มากที่อีกฝั่งจะใช้ในการบีบบังคับให้เขาไม่มายุ่งด้วยอีก

ถ้าเป็นคดี SLAPP ที่ฟ้องประชาชนบุคคลทั่วไป ทางมูลนิธิให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ

หลักสำคัญในการทำงานคดีสิทธิมนุษยชนชาวบ้านคือมูลนิธิต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าว่าความ เราจะพยายามส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้ได้มากที่สุดและเรียนรู้ไปด้วยกัน เวลาทำคดีชาวบ้านทั่วไปบางทีทนายต้องไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านเป็นเดือนๆ เลย เพราะต้องทำให้เขาเข้าใจประเด็นและคดีของตัวเอง การเตรียมคดีต่างๆ ก็ต้องทำไปร่วมกัน เช่น มีคดีหนึ่งที่ชาวบ้านสี่คนถูกฟ้อง แต่การลงไปพูดคุยและเตรียมทำคดี บางทีมีชาวบ้าน 100-200 คนมาร่วมฟังรายละเอียดคดีด้วยกัน เพราะการที่ชาวบ้านสี่คนนั้นถูกฟ้องไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เกิดจากการที่คนในชุมชนออกมาร่วมกันต่อต้านฝั่งตรงข้ามจนเป็นเหตุให้ถูกฟ้อง เพราะฉะนั้นคดีแบบนี้จึงเป็นคดีของชุมชนที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันไปด้วย 

ประเด็นคือคดีลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสนใจแค่ว่าชาวบ้านไปทำอะไรผิดมา แต่สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือแท้จริงแล้วเขาทำไปเพราะเขาได้รับผลกระทบ แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยดูแล เขาเลยต้องออกมาเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปรับปรุง

คุณมองว่าการเกิดขึ้นของคดี SLAPP มีที่มาจากช่องโหว่ทางกฎหมายด้วยส่วนหนึ่งหรือเปล่า

จริงๆ กฎหมายถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดีได้เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ส่วนคดี SLAPP แม้แต่สำนักงานศาลยุติธรรมเองก็เคยเสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปากตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 ระบุว่า ‘ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่า (1) โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือ (2) โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์ฟ้องในเรื่องเดียวกันอีก’

แต่ปัญหาคือคำร้องตาม 161/1 ยังมีช่องโหว่ ผมพยายามยื่นคำร้องในทุกคดีที่เห็นว่าเป็นการฟ้องคดีปิดปาก ที่ผ่านมาน่าจะยื่นมาไม่ต่ำกว่า 15-20 คดี แต่ศาลยกคำร้องหมดทุกคดี โดยให้เหตุผลว่าจะไปกล่าวหาว่าฝ่ายโจทก์ฟ้องโดยไม่สุจริตได้อย่างไร ในเมื่อเขาก็ฟ้องมาตามช่องทางกฎหมายที่ทุกคนก็มีสิทธิฟ้องได้

ประเด็นคือการที่เราจะทำให้เห็นว่าอีกฝั่งฟ้องมาโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนามิชอบไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ดูคำร้องแล้วพิจารณาว่ามีเจตนาไม่สุจริตโดยใช้ศาลเป็นเกาะกำบังแกล้งฟ้องประชาชนมันพิสูจน์ยาก อาจจะมีบางคดีที่เห็นพ้องกันทั้งศาลทั้งทนายว่าเป็นคดี SLAPP เช่น การฟ้องที่จำเลยอยู่กรุงเทพฯ แต่ไปฟ้องคดีที่นราธิวาส แต่ในลักษณะอื่นพิสูจน์ให้เห็นยากมาก

ในฐานะทนายความ ความยากในการทำคดี SLAPP คืออะไร 

ผมมองว่าเป็นเรื่องบรรทัดฐาน เวลาทำคดีผมไม่ได้คาดหวังแค่ผลแพ้หรือชนะอย่างเดียว แต่ผมอยากสร้างบรรทัดฐานทางคดีให้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตเพื่อที่คดีต่อไปที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เข้าข่ายเป็นคดี SLAPP เหมือนกัน จำเลยในคดีต่อๆ ไปก็ควรได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน

ผมพยายามยื่นคำร้องให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักประกันในกรณีที่เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในคำร้องผมเขียนไว้เลยว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเข้าข่ายการฟ้องคดีปิดปากอย่างไร เช่น คดีบริษัทฟาร์มไก่ทั้งห้าคดีที่ผมรับผิดชอบไม่ต้องวางทุนทรัพย์ในการประกันตัวเลย เพราะผมมองว่าแค่จำเลยต้องมาศาลบ่อยๆ ก็เป็นภาระของเขาแล้ว จึงขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักประกัน ซึ่งอยากให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันแบบนี้ในทุกคดีที่เป็นการฟ้องปิดปาก

หรือในแง่ของมาตรฐานเกี่ยวกับการพิจารณา เราจะเห็นว่าบางคดีศาลไม่รับฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าข้อความที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ข้อความหมิ่นประมาท แต่กลับกันในบางคดีศาลแค่ดูว่าข้อความมีการโพสต์จริงหรือเปล่า แต่ไม่ได้วินิจฉัยตัวข้อความ เห็นว่ามีการโพสต์จริงศาลจึงรับฟ้อง ผมอยากให้มีมาตรฐานในการพิจารณาแบบเดียวกัน คือถ้าเห็นว่าข้อความไม่ได้เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็อาจจะไม่รับฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องไปเลย เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระทั้งทางจิตใจและทุนทรัพย์ของจำเลยที่ถูกฟ้อง

คิดว่าพอมีทางไหนที่จะทำให้สามารถป้องกันการฟ้องปิดปากได้มากกว่านี้

ในแง่ของกฎหมาย ถ้ากฎหมายที่ออกมายังใช้ได้ไม่ครอบคลุมทุกกรณี หรือยังไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เราอาจจะต้องมีการมาพูดคุยถกกันเพิ่มเติมในการแก้กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก และอีกทางหนึ่งคือเรื่องบรรทัดฐานในการทำคดี ถ้าเราสร้างมาตรฐานในคดีฟ้องปิดปากที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้ ก็อาจจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในคดีอื่นๆ เพียงแต่เราต้องมีแนวทางและขอบข่ายที่ชัดเจนว่ากรณีลักษณะไหนบ้างถือเป็นการฟ้องปิดปาก

สังเกตว่าช่วงที่ผ่านมาสื่ออาจจะให้ความสนใจประเด็นคดี SLAPP น้อยลง หรือบางทีอาจจะไม่กล้าพูดถึงฝั่งโจทก์ที่ฟ้องคดี SLAPP โดยตรง คุณคิดว่าเป็นเพราะสื่อมวลชนเองก็กลัวโดนฟ้องด้วยหรือเปล่า

เป็นไปได้ครับ เพราะที่ผ่านมาก็มีกรณีสื่อมวลชนโดนฟ้องปิดปากเหมือนกัน บางทีฝ่ายโจทก์ไปตามหาเองเลยว่าใครเป็นคนลงข่าว และพอรู้ว่าใครลงข่าวก็ยื่นฟ้องคนนั้นเลย คือเขาไม่ได้ฟ้องตัวองค์กรหรือสำนักข่าว แต่ฟ้องตัวบุคคลที่ทำข่าวนั้น บางคนทำหน้าที่ทางกฎหมายในฐานะสื่อมวลชนหรือเป็นนักสิทธิมนุษยชนก็ยังโดนฟ้อง

หรือถ้าถามว่าตัวคุณเองมาเสนอข่าวประเด็นนี้จะมีสิทธิโดนฟ้องไหม ผมก็บอกตามตรงว่ามีความเป็นไปได้ เพราะคดี SLAPP เขาจะฟ้องใครก็ได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าทางสำนักข่าวหรือสื่อมวลชนจะกังวลมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง แต่ผมก็ไม่อยากให้สื่อลดเพดานในการเสนอข่าว SLAPP เพราะเรายืนยันจุดยืนนี้มาโดยตลอดว่าเราต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป

สุดท้ายแล้วคุณมองว่าท่าทีหรือการทำงานของสื่อมวลชนมีผลมากน้อยแค่ไหนในการต่อสู้ของเหยื่อที่ถูกฟ้องปิดปาก

การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของสื่อมวลชนสำคัญมากในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผมยังยืนยันว่าสื่อต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีพันธะกับสังคมในการเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่หลักสำคัญคือสื่อต้องตรวจสอบและกลั่นกรองข่าวให้มากขึ้น หลังๆ มาจะเห็นว่าบางทีการเสนอข่าวจะเป็นในลักษณะที่สำนักข่าวไม่ได้เป็นคนทำข่าวเอง แต่เป็นการเอาเนื้อข่าวของสำนักข่าวอื่นไปลงอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง การตรวจสอบเนื้อหาให้ถูกต้องและชัดเจนในส่วนนี้ต้องละเอียดมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นคือปัจจุบันชาวบ้านกลุ่มที่เคยสู้คดีฟ้องปิดปากกันมาต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่เป็นแค่กลุ่มชุมชน ตอนนี้ต้องเปลี่ยนมาเป็นคนทำสื่อเอง มีเพจบนสื่อออนไลน์ของตัวเอง ต้องทำข่าวกันเองในชุมชน ผมมองว่าสื่อของชาวบ้านแบบนี้มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องมากกว่าองค์กรสำนักข่าวใหญ่ๆ ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นผมจึงยืนยันว่าสื่อทุกสำนักไม่ควรลดบาร์ของตัวเอง

นอกจากคดี SLAPP คุณทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอะไรอีกบ้าง

คดีหลักของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนก็คือเรื่องสิทธิมนุษยชนของประชาชน ในหนึ่งปีเราทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนประมาณ 80-90 คดีได้ ส่วนใหญ่เป็นคดีที่ภาคประชาชนโดนภาคธุรกิจฟ้อง เป็นคดีที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ มาตลอดหลายปีแล้วแค่อาจจะไม่ได้เป็นข่าวตามสื่อ ถึงการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไรสถานการณ์เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ แต่จะแย่ลงหรือดีขึ้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศในช่วงนั้น

รู้สึกไหมว่าคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในไทยนับวันยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คิดเหมือนกันว่าเยอะมาก ผมเพิ่งคุยกับเพื่อนทนายไปด้วยซ้ำว่า เฮ้ย แต่ก่อนช่วงที่เราทำงานกันแรกๆ หนึ่งเดือนเราต้องว่าความกันแค่ 1-2 คดีเองนะ แต่มาดูสภาพพวกเราตอนนี้สิ ทำงานกันวันต่อวัน ทำคดีหนึ่งเสร็จก็ต้องไปทำอีกคดีต่อ แทบไม่ได้พักเลย

สถานการณ์แบบนี้สะท้อนว่าสิทธิมนุษยชนในบ้านเราแย่ลงเรื่อยๆ หรือเปล่า

ตั้งแต่ทำงานเป็นทนายมาผมก็พึ่งได้เจอสถานการณ์แบบนี้นะ คือคดีเยอะแยะเละเละเทะไปหมดเลย ทั้งการเมืองภาพใหญ่ ทั้งคดีประชาชนทั่วไป ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าแค่ชาวบ้านจะนะขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้หยุดนิคมอุตสาหกรรมก็โดนฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นักเคลื่อนไหวที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลก็โดนคดี หรือแม้แต่เครือข่ายแรงงานที่มาต่อรองขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ยังโดนข้อจำกัดเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชัดเจนว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนทำได้ยาก แต่ก่อนเรื่องเปราะบางของชาวบ้านอาจมีแค่เรื่องการใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเอกชน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามีเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐพ่วงเข้ามาด้วย

ผมจำได้ว่าเคยมีฝ่ายความมั่นคงของรัฐโทรหาผม บอกว่านายกฯ กำลังจะลงไปราชการที่จังหวัดเลย เขาโทรมาเพื่อถามผมว่าจะมีชาวบ้านไปประท้วงนายกฯ หรือเปล่า ผมก็ตอบไปว่าผมไม่ใช่คนที่จะไปสั่งหรือควบคุมชาวบ้านได้ ชาวบ้านจะทำอะไรก็เป็นสิทธิของเขา ที่จะชี้ให้เห็นคือที่ผ่านมาคดีชาวบ้านจะถูกจับจ้องจากภาครัฐน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้รัฐจับจ้องพวกเขามากขึ้น ทั้งที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ตอนนี้พวกเขากลับกลายเป็นกลุ่มที่เป็นรัฐมองว่าเป็นปรปักษ์ไปโดยปริยายด้วย

คิดว่าถ้าเราได้เปลี่ยนรัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตย สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศจะดีขึ้นไหม

ผมก็หวังว่าจะดีขึ้นนะ การแสดงออกเรื่องสิทธิของประชาชนจะถูกลิดรอนมากขนาดไหนก็อยู่ที่รัฐบาล ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ได้สู้เฉพาะเรื่องของตัวเอง ยังมีการรวมกลุ่มเป็นการสู้ในระดับเครือข่าย นอกจากพวกเขาจะพยายามให้สังคมหรือภาครัฐเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เขายังขึ้นมาเสนอเรื่องนโยบายและกฎหมายด้วย นี่คือพัฒนาการของสังคม จะบอกว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่องกฎหมายไม่ได้แล้วนะทุกวันนี้ 

คุณเอาแรงใจแรงกายจากไหนมาสู้คดีเพื่อประชาชนที่ถกกลั่นแกล้ง

พูดตามตรง จริงๆ ก็ยากเหมือนกันนะ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนคือเรามีแรงใจอยู่เสมอ เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ เรากำลังทำเพื่ออะไรและเพื่อใคร ไม่ใช่ว่าเรารับเงินมาเพื่อว่าความให้จบๆ ไป แต่เรากำลังพยายามสร้างบรรทัดฐานให้คดีสิทธิมนุษยชน ผมดีใจนะที่เห็นว่าที่ผ่านมาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมวงกว้างมากกว่าแต่ก่อน ได้เห็นว่าชาวบ้านเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น 

ผมไม่ได้คิดว่ามีแค่ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่จะทำประเด็นเหล่านี้ได้ เราอยากให้ทนายทั่วไปสนใจคดีสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้นด้วย เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน เราอยากให้ทุกคนเข้าถึงได้ ให้เป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งก็เข้าใจว่ามีทนายหลายคนที่สนใจทำคดีลักษณะนี้แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไร จะเข้าถึงตัวคดีได้ทางไหน ที่ทำมาทั้งหมดผมก็ทำเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง บางทีทนายเองก็ต้องให้กำลังใจกัน มีอะไรเราก็ช่วยเหลือกันตลอด ทำงานกันเป็นเครือข่าย ยิ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญที่อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งเรามองกลับมาก็คงตอบตัวเองได้ว่าตอนนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่และทำไปเพื่อใคร

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save