fbpx
“เราไม่ได้ใช้เหตุผลในการเข้าใจศิลปะ แต่เราเข้าใจเพราะเราเป็นมนุษย์” - ถิง ชู

“เราไม่ได้ใช้เหตุผลในการเข้าใจศิลปะ แต่เราเข้าใจเพราะเราเป็นมนุษย์” – ถิง ชู

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ และ Ting Chu Studio ภาพ

 

 

ถ้าย้อนกลับไปในวัยเด็ก หนึ่งในวิชาที่ทุกคนต้องศึกษาเล่าเรียนคงหนีไม่พ้นวิชา ‘ศิลปะ’ ซึ่งสำหรับใครหลายคน คาบศิลปะอาจเป็นชั่วโมงผ่อนคลายและเยียวยาจิตใจ แต่สำหรับบางคนอาจจะถูกกรอบความถูก-ผิดครอบเอาไว้ จนทำให้ศิลปะเป็นเหมือนยาขมและวิชาหนึ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ในชั้นเรียนเท่านั้น

แต่หากเรามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ศิลปะไม่ใช่แค่วิชาเรียน ไม่มีถูกหรือผิด แต่ศิลปะคือสุนทรียะ คือความเป็นมนุษย์ที่สอดแทรกอยู่ในทุกช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน คือเครื่องมือที่ช่วยในการสำรวจและรู้จักตัวตน และเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงในวันที่จิตใจอ่อนล้าและเหน็ดเหนื่อย

101 สนทนากับ ถิง ชู นักวาดภาพประกอบที่มีผลงานหลากหลาย และเจ้าของ Ting Chu Studio ทั้งในบทบาทของความเป็นถิง ชู และการเดินทางครั้งใหม่ของเธอในการเปิดสตูดิโอปั้นเซรามิกใจกลางชุมชนย่านบางขุนนนท์ รวมไปถึงบทบาทของความเป็นศิลปินที่วิเคราะห์และวิพากษ์โลกของศิลปะ การเรียนการสอนศิลปะในเมืองไทย และการนำศิลปะมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมในยุคที่ผู้คนเริ่มออกมาส่งเสียงของตนเอง

หมายเหตุ: เก็บความจากรายการ 101 One-On-One Ep.185 : โลกของศิลปะ สุนทรียะ และความเป็นมนุษย์ กับ ถิง ชู บันทึกเทปวันที่ 8 ตุลาคม 2563

 

ถิง ชู
ภาพโดย ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปะเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตคุณตอนไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่รู้ว่าตัวเองชอบศิลปะ

เราโดนถามคำถามนี้บ่อยนะ แต่พอมาย้อนนึกดู ถ้าไม่นับประสบการณ์แบบเด็กทั่วไปที่ติดการ์ตูน ดูการ์ตูน อ่านหนังสือการ์ตูน จำได้ว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพล คือตอนนั้นเราเรียนที่โรงเรียนซึ่งไม่ใช่โรงเรียนไทย ก็จะมีคาบศิลปะตามปกติ แต่โรงเรียนจะเน้นเรื่องศิลปะหลายรูปแบบ ตอนนั้นเป็นช่วงปี 1990 ที่เกิดเหตุการณ์โจรกรรมภาพเขียน The Strom on the Sea of Galilee ของแรมบรันต์ (Rembrandt) และทุกวันนี้ก็ยังจับตัวผู้ร้ายไม่ได้

ตอนนั้นเราเรียนอยู่ชั้นประถม แต่จำได้ว่า ครูสอนศิลปะให้รุ่นพี่ม.ต้นร่วมกันผลิตรูปนี้ซ้ำที่โรงเรียน นั่นเป็นครั้งแรกที่เราเห็นงานชิ้นใหญ่มาก ซึ่งภาพนั้นเป็นทะเล มีพายุ สีจะมืดๆ และมีพระเยซูกำลังปลอบประโลมคลื่นให้สงบลง ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าภาพนี้ดาร์กมาก แต่ก็ดึงดูดมากเหมือนกัน เข้าไปในห้องศิลปะทีไรก็จะเจอภาพนี้ค่อยๆ ถูกพัฒนาไป เพราะรุ่นพี่จะมาทำงานชิ้นนี้ร่วมกันในคลาสของเขา พอเห็นภาพถูกพัฒนาไปทีละนิดๆ ก็รู้สึกว่า สักวันต้องได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง

แต่ถ้าไม่นับเหตุการณ์นี้ เราก็เหมือนเด็กทั่วไปแหละ พ่อแม่ห้ามไม่ให้เราทำ แต่เราเป็นพวกยิ่งห้ามยิ่งทำไง ทุกวันนี้ก็ขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องทุกคนที่ห้ามเรา (หัวเราะ) ถ้าไม่มีคุณ เราคงไม่ดื้อด้านวาดต่อไป คงเบื่อไปก่อน ขอบคุณทุกคนที่สร้างบรรยากาศให้เราเป็นกบฏ

 

Rembrandt Christ in the Storm on the Lake of Galilee
ที่มา: wikipedia

 

ตัวคุณเกิดที่ไต้หวัน แต่ย้ายและมาเติบโตที่ไทย และคุณยังเคยเล่าว่า ตัวเองเดินทางหรือย้ายถิ่นฐานบ่อย สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมตัวตนหรือมีอิทธิพลต่องานศิลปะที่ทำในทุกวันนี้ยังไงบ้าง

สิ่งที่ชัดที่สุดคือ ความรู้สึกว่าเราไม่ belong ที่ไหนสักที่ ช่วงวัยเด็กเราเดินทางเยอะ ซึ่งเป็นช่วงที่รู้สึกว่าเรากำลังสร้างตัวตน อัตลักษณ์ หรือพยายามเรียนรู้ว่าเราจะยืนอยู่ตรงไหนดีในสังคม คือเราเดินทางจนเข้าม.ต้นถึงจะหยุดเดินทาง สภาวะแบบนี้ทำให้เราไม่รู้ว่า สรุปเราเป็นคนอะไรกันแน่ คนไทยก็ไม่ใช่ คนจีนหรือคนไต้หวันก็ไม่เชิง และไม่ใช่ฝรั่งแน่นอน

ความรู้สึกว่าไม่ belong สักที่นี่แหละ ทำให้เวลาคนอื่นจะมาเข้าใจหรือตีความอะไรเกี่ยวกับตัวเรา เราจะคิดไว้ก่อนเลยว่า เขาไม่เข้าใจ มองมุมหนึ่งก็เหมือนเป็นข้ออ้างให้เขาด้วย ถ้าเขาพูดอะไรที่ไม่ค่อยโอเคหรือมาเหมารวม (stereotype) เราจะรู้สึกว่าเราเข้าใจเขาได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเรามีส่วนผสมของวัฒนธรรมอะไรบ้าง บวกกับความซับซ้อนของพ่อแม่เราด้วย คือเขาโตที่เชียงตุงตอนเด็กๆ และไปเติบโตต่อที่ไต้หวัน เพราะฉะนั้น ความโฮะ (รวม) ของวัฒนธรรมที่เขามีและสืบต่อมาเลยยิ่งอิรุงตุงนัง ยิ่งเพื่อนรอบตัวเราไม่ได้มีความซับซ้อนทางวัฒนธรรมเท่านี้ เราเลยเข้าใจว่า เขาคงไม่เข้าใจเราเท่ากับที่เราเข้าใจตัวเอง ซึ่งเราก็ไม่ได้เข้าใจตัวเองมากนะ คิดว่าก็นิยามตัวเองไม่ได้

พอมาถึงเรื่องการวาดภาพหรือการทำงาน ก็อีกนั่นแหละ เรารู้สึกว่าเราไม่ belong สักที่ แม้แต่ตอนจะสอบเข้าวิจิตรศิลป์ก็สอบไม่ผ่าน จะไปเรียนพิเศษหรือไปติววาดรูปก็ไม่เคยไป ตอนเราเข้ามหา’ลัยแล้วก็มีพยายามไปผูกเพื่อนกับฝั่งวิจิตรศิลป์ แต่ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนสายที่เรียนอยู่ก็รู้สึกว่า จริงๆ ไม่ได้อยากเรียนอันนี้ อยากเรียนอย่างอื่นมากกว่า จะเห็นว่าความรู้สึกนั้นยังอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น เวลาเราทำงานวาด จะคาดหวังเลยว่าไม่มีใครเกทเรา แต่เราโอเค เราไม่ได้ทำงานเพื่อเอาใจใคร แต่ทำเพื่อเอาใจตัวเอง ทำเพื่อคลายความอัดอั้นที่มีมาแต่เด็ก เป็นทั้งทางรอดและทางหนีที่จะหลบไปได้ เป็นช่องทางให้ระบายความสนใจและความรู้สึก

นี่คือความรู้สึกของเราที่มีต่อการทำงานศิลปะ คือไม่ใช่ว่าทำเพื่อส่งการบ้านหรือทำให้คนอื่นชอบเรา การเดินทางบ่อยๆ สร้าง twilight zone ให้เราแบบนี้

 

หนึ่งในปัญหาที่คนอยากเรียนหรือทำงานด้านศิลปะต้องเจอคือ ที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียน เพราะมองว่ามีความไม่มั่นคง หรืออาจจะหางานยากในอนาคต ตัวคุณก็ดูจะประสบปัญหาดังกล่าวเหมือนกัน แล้วผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ยังไง ประนีประนอมสิ่งที่คนอื่นต้องการและสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างไร

ต้องยอมรับว่ามันมีค่านิยมเกี่ยวกับการทำมาหากิน ซึ่งเราก็อยู่ในยุคที่พ่อแม่ยังตกค้างจากภาวะสงคราม ยังมี mindset ว่า ทำยังไงให้เอาตัวเองรอด มีความเป็น survivor อยู่ ซึ่งความคิดแบบนี้จะทำให้เราไม่ค่อยมีความสุนทรียะกับชีวิต เพราะจะไม่มีเวลามานั่งวาดรูป ไม่รู้สึกว่าสุนทรียะจะสำคัญกับชีวิตด้านไหนบ้าง แต่จะเน้นไปที่การหาเงินเลี้ยงตัวเองและเอาตัวให้รอดมากกว่า ซึ่ง mindset แบบนี้ก็เป็นธรรมชาติของยุคคนที่เพิ่งผ่านสงครามมา

แต่สำหรับรุ่นของเรา เราพ้นจากสงครามมานานแล้ว ไม่ทันช่วงสงครามด้วยซ้ำ เราเลยจะมีช่องว่าง (gap) ที่สื่อสารกับพ่อแม่ตัวเองไม่ได้ งงว่าทำไมเขาถึงห้ามเราจัง เพราะดูสภาพแวดล้อมก็ปลอดภัยดีทุกอย่าง แต่คิดว่าเขาก็คงมีวิธีเอาตัวเองให้รอดอยู่ เป็นมรดกของยุคสมัยที่แม้อาจจะไม่ได้รุนแรงเท่าเดิมแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่

ถ้าถามว่าเราผ่านมาได้ยังไง โอเค เราจะไม่พูดแทนทุกคน แต่ในมิติของเรา เราผ่านมาได้เพราะเราหน้าด้านมาก (หัวเราะ) คือดื้อมาก และความดื้อเป็นทั้งพรและคำสาปเลย ดื้อจนสงสารคนที่เลี้ยงเรามา ถ้าเขาอยากให้เราเรียนดี เราก็จงใจไม่ส่งการบ้าน สอบตก ทำทุกอย่างเพื่อค้านเขา ขอแค่ได้ค้าน และนี่แหละที่ทำให้เราใช้การวาดรูปเพื่อส่งตัวเองไปต่อ แต่กับคนทั่วไป เราก็ตัดสินไม่ได้หรอกว่าที่เขาต้องล้มเลิกความฝันเพราะไม่เด็ดขาดหรือไม่เข้มแข็งพอ เพราะเราทุกคนถูกสร้างไม่เหมือนกันเลย แค่รับรู้ว่า ณ ขณะนี้เรามีเงื่อนไขแบบนี้และจะหาทางออกอื่นยังไงก็พอ

 

แล้วถ้าเป็นคนที่รักศิลปะมากจริงๆ?

ถ้าเป็นแบบนั้น แบบรักจริงๆ รักมากๆ เราแนะนำเลยว่าหน้าด้านเข้าไว้ ถ้าคุณรักจริง รักแบบที่ไม่มีมันแล้วจะตายแน่นอน ความหน้าด้านจะทำให้อยู่รอดได้ อย่างเราเริ่มรับวาดรูปฟรีแลนซ์ตั้งแต่สมัยเรียน แต่รู้ว่าฝีมือตัวเองไม่ได้ฉกาจฉกรรจ์ มีคนเก่งกว่าเราเยอะแยะ และยังไม่ได้เรียนด้านนี้มาอีก ไม่มีสังคมหรือคอนเนกชันกับเขา แล้วจะทำยังไงให้เราอยู่รอดล่ะ เราก็ต้องทนบอกสังคมไปเรื่อยๆ เพราะแต่ก่อนไม่มี social media ด้วย การจะประกาศว่าตัวเองทำอะไรมันยากนะ เราก็แค่ต้องอยู่ในจุดที่เราอยู่จนเริ่มมีคนมารู้จัก

เวลาทำธุรกิจอะไรต้องมีสายป่าน ถ้ายาวไม่พอก็อดตาย แต่สายป่านที่เรามีมาเสมอคือความหน้าด้าน ถึงจะอดมื้อกินมื้อ ไม่มีเงินจ่ายค่าหอ คนอื่นมองว่า ถ้าไปทำอย่างอื่นก็ได้ดีไปแล้ว เราก็หน้าด้านเข้าไว้ เพราะเรามองว่า เราไม่มีอะไรจะเสีย เราไม่มีอะไรอยู่แล้ว ทั้งบ้านหรือรถ เพื่อนแต่ละคนอาจจะสบายหมดแล้ว ส่วนเรายังใช้ชีวิตเหมือนเป็นนักศึกษา แต่เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ และรอจังหวะของตัวเองอยู่

แต่อย่างที่บอก นี่ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงหรือคำตอบสำหรับทุกคน เราก็ต้องชั่งน้ำหนักและสำรวจตัวเองว่า จะเลือกทนอะไร ระหว่างไปทำงานอื่น กับทนแบบที่อาจจะปากกัดตีนถีบ ไม่ค่อยมีเงินใช้ แต่มีอิสระในการทดลองทำสิ่งต่างๆ ตรงนี้มันแล้วแต่คนจริงๆ เป็นเรื่องอ่อนไหว แต่เราอยากให้กำลังใจทุกคนว่า ถ้ารักจริงต้องหน้าด้านเข้าไว้ ไม่มีใครบนโลกนี้จะมาพิพากษาคุณได้ว่าทำถูกหรือผิด หรือถึงใครจะพูดก็ปล่อยเขาพูดไป เราเท่านั้นที่สำคัญที่สุด เพราะนื่คือชีวิตของเรา

 

การที่คุณไม่ได้เรียนมาโดยตรงส่งผลกับการทำงานศิลปะบ้างไหม

เยอะนะ ถ้าพูดถึงข้อเสียก็คือ เราไม่มีคอนเนกชัน ไม่รู้แวดวง ไม่มีครูบาอาจารย์ เพื่อน หรือรุ่นพี่ ซึ่งระบบพวกนี้เหมือนเป็นของแถมจากการที่เข้าสู่ระบบการเรียนรู้และมีการแนะนำกัน เราไม่มี เพราะงั้นเราตัวคนเดียวแบบพันเปอร์เซ็นต์ และสมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดียด้วย

อีกอย่างคือ เราไม่มีทักษะที่เฉพาะเจาะจง เหมือนเราว่ายน้ำได้เพราะถูกถีบตกน้ำ ว่ายน้ำท่าไม่ชัด ไม่สวย แต่ถ้าให้แข่งว่ายอึด ว่ายทน หรือว่ายเอาตัวรอด เราว่าตัวเองทำได้ แต่ท่าต่างๆ คงทุเรศหน่อย (หัวเราะ) นี่แหละข้อเสีย เพราะเราไม่ค่อยแม่น และพอเป็นแบบนี้ ต่อให้หน้าด้านแค่ไหน แต่ลึกๆ ระดับหนึ่งก็รู้ว่า เรามีข้อจำกัดทางเทคนิคและความรู้ เพราะงั้นเวลาจะไปถ่ายทอดต่อให้คนอื่น เราก็ต้องออกตัวก่อนเลยว่า เราไม่ได้เรียนมานะ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสียก็กึ่งๆ เป็นข้อดีเหมือนกัน

ข้อดีก็คือ การที่เราไม่มีวิชาการอะไรเลยนี่แหละ เพื่อนคนหนึ่งที่เรียนรหัสเดียวกัน แต่เรียนวิจิตรฯ และเคยเห็นงานเราบอกว่า ดีแล้วที่สอบไม่ติด เพราะถ้าสอบติดก็จะเทคนิคเกินไป เหมือนกับว่าเราอุตส่าห์ไปเรียนว่ายน้ำท่าต่างๆ มา พอถึงเวลาต้องเอาตัวรอดเราก็ใช้ท่าที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเอง เหมือนกับถ้าเราเรียนด้านนี้มาโดยตรง ก็อาจจะติดเทคนิคมากจนกระทั่งไม่สามารถแสดงออก (express) ตามที่ต้องการ เพราะมัวแต่ติดว่า เรามีเทคนิคพวกนี้ ทำไมไม่ใช้ แต่เพราะเราไม่มีเทคนิคอะไร เราเลยใช้เท่าที่ตัวเองมี อีกอย่างคือ พื้นที่การทดลองของเรากว้างมากเพราะไม่ได้เรียนมา เราเลยทดลองอะไรได้อย่างที่ทำในทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ข้อดีข้อเสียก็ถือเป็นเหรียญสองด้าน ถ้ามองว่าเสียเปรียบก็จะเสียเปรียบตลอด แต่ถ้ามองว่า นี่ก็เหมาะกับเรานะ นิสัยกบฏแบบนี้คงไม่เหมาะเรียนในระบบหรอก อะไรแบบนี้ ถ้าตอนนั้นพ่อกับแม่ให้เราเรียนวิจิตรศิลป์ก็คงลาออกไป ทุกวันนี้คงไปทำอย่างอื่นแล้วแหละ

 

Ting Chu Studio
ภาพจาก Ting Chu Studio

 

มีบางคนมองว่า งานศิลปะในเมืองไทยโตยาก ยังไม่บูมเท่าที่ควร บ้างก็มองว่าคนไทยไม่ค่อยให้ค่างานศิลปะ ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ใครที่คิดแบบนี้คือล้าหลังสุดๆ เพราะยุคสมัยตอนนี้เปลี่ยนโคตรเร็ว จำได้ไหมว่าสมัยก่อน ฟลอปปีดิสก์ (floppy disk) ยังเป็นพระเจ้าอยู่เลย แต่ตอนนี้แทบไม่มีร่องรอยของมันแล้ว ไปถามเด็กที่ไหนเขาก็อาจจะงงว่าฟลอปปีดิสก์คืออะไร เพราะฉะนั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เรามี การสื่อสารที่เรามี การปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เปลี่ยนชั่วข้ามคืน เราบอกไม่ได้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า

ดังนั้น ในยุคสมัยนี้ที่การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ การเปิดโลกของตัวเอง สุนทรียะ หรือทักษะการสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยิ่งเด็กเดี๋ยวนี้ได้รับข้อมูลจากหลายทาง ทั้ง Pinterest Kinfolk หรือจะเป็นมังงะต่างๆ พวกเขามีวัฒนธรรมย่อย (subculture) เยอะแยะ ได้รับมาอย่างอิสระ เต็มที่ และลงลึกได้

กลุ่มเด็กๆ มีความสามารถสูงมากนะ แต่สำหรับเด็กไทย อาจจะเป็นเพราะจริตของประเทศด้วย ทำให้พวกเขาปรับตัวเก่งและพร้อมจะเรียนรู้เสมอ เหมือนเป็นการลองสวมใส่จนหาตัวเองเจอ ดังนั้น ถ้าเราบอกว่าไทยไม่ค่อยรับศิลปะก็คือการมองจากมุมมองของคนกลุ่มเดียวที่ยังไม่ค่อย expose กับวัฒนธรรมย่อยพวกนี้ ซึ่งตอนนี้กำลังเบ่งบานมาก แต่คนที่อยู่ในวัฒนธรรมย่อยพวกนี้ยังเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือวัยทำงานใหม่ๆ เสียงของพวกเขาเลยยังเบาอยู่ แต่ประชากรเขาเยอะมาก ไม่อย่างนั้นคงไม่มีงานรวมคนวาดภาพประกอบหรอก งานแบบนี้ที่ต่างประเทศบูมและชัดก็เพราะผู้ใหญ่ช่วยส่งเสริม แต่บ้านเราไม่มีตรงนี้ เราเติบโตกันเองอย่างแข็งแรง และมีพลังมากๆ แต่เสียงยังไม่ค่อยชัด คลื่นยังจูนกันไม่ติด

เพราะฉะนั้น เราคิดว่าถ้าใครฉลาดพอในสังคมตอนนี้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่รุ่นเรา ถ้าไม่อยากตกเทรนด์หรือตกตลาดส่วนนี้ ผู้ใหญ่ควรเริ่มเข้าไปโอบอุ้มเด็กกลุ่มนี้ได้แล้ว เพราะพวกเขาไม่ธรรมดาเลย

 

เท่ากับคุณมองว่า วงการศิลปะไทยยังไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าภาครัฐหรือผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยโอบอุ้ม

ใช่ค่ะ โดยเฉพาะภาคการศึกษา เราต้องเลิกเอาความคิดเดิมๆ ไปวัดได้แล้วว่าอะไรทำให้เด็กเติบโต เช่น เลิกเอาความคิดเชิงอุตสาหกรรมมาเป็นคุณค่าในการเรียนรู้ได้แล้ว เราบอกว่าอยากให้เด็กตรงต่อเวลา รับผิดชอบในงาน ซึ่งมันดีนะ เป็นเรื่องดีมากเลย แต่การมาคิดว่า เด็กต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะป้อนตลาด อันนี้เลิกคิดได้แล้ว เพราะตลาดเปลี่ยนตลอดเวลา เด็กก็คิดเองได้ ธรรมชาติของคนอยากเอาตัวรอดอยู่แล้ว ไม่ต้องสอนหรอกว่าทำอะไรยังไง ถ้าเขาอยากทำเขาต้องทำได้

ตัวเราเคยรับเด็กฝึกงานจากหลายมหาวิทยาลัย รู้สึกเลยว่า เด็กหลายคนยังเหมือนถูกครอบอยู่แค่เรื่องของการผลิตว่าผลิตซ้ำได้เยอะแค่ไหน คือมันน่าเศร้านะ เพราะพวกเขามีความสามารถเยอะกว่านั้นมาก แต่ไม่ได้ถูกส่งเสริมให้เป็นศิลปิน กลับถูกส่งเสริมให้เป็นแค่ผู้ผลิตที่มีทักษะเฉพาะทาง ดังนั้น ถ้าจะส่งเสริมกันจริงๆ เอาความคิดว่าจะส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นออกไปเลย ให้มองว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสุนทรียะของการใช้ชีวิตที่ทั้งสังคมจะได้รับประโยชน์พร้อมกัน

อีกอย่างที่อยากให้ส่งเสริมจริงๆ คือ ให้ดนตรีและศิลปะเป็นวิชาบังคับ ไม่ใช่วิชาเลือก เด็กที่สนใจจะศึกษาด้านนี้จะได้ศึกษาอย่างที่ตนเองชอบ ส่วนเด็กที่อาจจะเก่งด้านการคิดหรือคำนวณก็ได้มาสำรวจด้านสุนทรียะในตัวเองด้วย เราอยู่ในโหมด survivor มานาน เมื่อไหร่เราจะเข้าสู่โหมดที่อยากจะเสพความสุขในชีวิตและความงามรอบด้านบ้าง ถ้าเราไม่มีศิลปะเป็นวิชาเรียนขั้นพื้นฐานตั้งแต่อนุบาลหรือประถม ก็ไม่รู้นะว่าเราจะไปเสริมสร้างกันเมื่อไหร่ จะรออุดมศึกษาก็ช้าไปแล้ว

 

จริงๆ เรามีวิชาศิลปะในชั้นเรียนอยู่แล้ว แต่หลายครั้งที่การเป็น ‘วิชา’ มาพร้อมกับการกำหนด ‘ถูก-ผิด’ อีกทั้งหลายคนอาจจะนำเรื่องศิลปะไปพ่วงกับอุปกรณ์วาดรูปมากมาย เราต้องยอมรับว่านี่เป็นชุดความคิดแบบหนึ่ง แต่ฟังจากที่คุณพูด เหมือนว่าศิลปะอยู่ในทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต

สำหรับเรา ถ้าไม่พูดคำว่าศิลปะ แต่ใช้คำว่าสุนทรียะหรือความคิดสร้างสรรค์แทน เอาแค่ 2 คำนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงวิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือศิลปะบริสุทธิ์ (Pure Art) นะ เวลาเราพูดถึงศิลปะหรือสุนทรียะในชีวิตประจำวัน เช่น มองต้นไม้แล้วบอกว่าต้นไม้สวยจัง หรือคิดว่าวันนี้จะดื่มชาหรือกาแฟ จะดื่ม cold brew หรือจะดริปกาแฟดี นี่ก็คือสุนทรียะแล้ว แต่บางคนกลับคิดว่าตัวเองไม่สมควรจะมีอะไรแบบนี้ ซึ่งมันน่าเศร้ามาก ยิ่งคนที่คิดแบบนี้เขาก็จะรู้สึกว่า ได้แค่ขั้นพื้นฐานก็พอแล้ว ซึ่งพอเขาคาดหวังกับตัวเองแบบนี้ ความคาดหวังของเขาก็จะมีผลต่อคนอื่นเหมือนกัน

เวลาพูดถึงความสร้างสรรค์ นิยามส่วนตัวของเราคือ การที่เราพยายามจะหาทางอยู่กับข้อจำกัดของชีวิตที่เราเจอ โดยที่ยังไม่สูญเสียจุดมุ่งหมายเดิมของเรา เช่น มีเสาไฟฟ้าอยู่หน้าบ้านซึ่งรบกวนบังตาเรามาก เราก็หาทางปลูกต้นไม้หรือทำนู่นทำนี่ให้มันโอเค แค่นี้แหละคือการสร้างสรรค์ที่ทุกคนมี หรืออาจจะไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่สมมติว่าตอนนี้เงินเดือนเหลือเท่านี้นะ จะจัดสรรยังไง หลายคนอาจจะเรียกว่าบัญชี แต่สำหรับเรา นั่นคือการสร้างสรรค์

ถ้ามนุษย์ไม่มีความสร้างสรรค์หรือจินตนาการพวกนี้คงสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว หรือถ้าไม่มีความดัดแปลงหรือความไหลลื่น จินตนาการถึงความเป็นไปได้อื่นหรือวันที่ดีกว่า เราคงตายไปแล้ว มนุษยชาติก็คงไม่มี เพราะฉะนั้น ถามว่าสิ่งนี้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งไหม ไม่นะ มันมีนานมากแล้ว และนั่นทำให้ใครคนหนึ่งเป็นอย่างที่เขาเป็นทุกวันนี้ได้ ถ้าวันหนึ่งมีคนมาจำกัดว่า คุณอย่าสร้างสรรค์นะ เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นของคนเฉพาะกลุ่ม มันก็เหมือนบอกว่า อย่าหายใจนะ เพราะมีบางคนเท่านั้นที่หายใจได้ มันตลกมากสำหรับเรา

 

ปัจจุบัน เราเห็นหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ โดยใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือ ถ้ามองในภาพรวม คุณมองยังไงกับการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

ใครที่คิดว่าศิลปะไม่ใช่เครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมคงเป็นคนที่อยู่ในถ้ำมานานแล้ว เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือ เป็นกันชน หรือเป็นสนามเด็กเล่นที่เปิดกว้างมาก ใครก็เข้าไปได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าถ้าอายุมากแล้ว อายุน้อยไป ปกติหรือผิดปกติเกินไปจะเข้าไปไม่ได้ ศิลปะเป็นที่ๆ ทุกคนเข้าถึงได้และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ตราบเท่าที่การสร้างสรรค์นั้นไม่ถูกใช้เพื่อบ่อนทำลายคนอื่น

สำหรับเรา การขับเคลื่อนทางสังคมต้องการศิลปะสูงมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ เพราะเราไม่ได้ใช้เหตุผลในการเข้าใจศิลปะ แต่เราเข้าใจเพราะเราเป็นมนุษย์ เราเสพหรือสร้างศิลปะเพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักรหรือสิ่งที่ไร้ชีวิต ดังนั้น ศิลปะจะสื่อสารกับเราโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาหรือเหตุผลที่พิสูจน์ได้ แต่ศิลปะสื่อสารมาในระดับที่ลึกมาก และทุกคนสามารถยอมรับได้ เราจึงรู้สึกว่าศิลปะสำคัญมาก

ในทางกลับกัน ถ้ามองแวดวงศิลปะในเชิงการค้าขาย เช่น สิงคโปร์ เราเริ่มเห็น Singapore Art Museum (SAM) เริ่มส่งกลุ่มภัณฑารักษ์ (curator) ไปที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเก็บงานจากประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเข้าพิพิธภัณฑ์ของเขา รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มเงินเยอะมาก เพราะเขารู้ว่าอีกหน่อย ชุมชนจะขับเคลื่อนด้วยศิลปะ และศิลปะจะถูกขับเคลื่อนด้วยชุมชน เป็นแบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

เมื่อเป็นแบบนี้ ศิลปินที่ยังทำงานแบบพูดเฉพาะเรื่องส่วนตัว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง กำลังจะตาย ส่วนศิลปินที่เอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับชุมชนนี่กำลังฮิตเลย ยิ่งสิ่งแวดล้อมยิ่งมาแรง เพราะเขารู้ว่าพลังของศิลปะจะไปได้ไกลเมื่อมีการถ่ายทอดและสื่อสารต่อ ฉะนั้น แม้ว่าแวดวงการเมืองหรือสังคมทั่วไปจะรู้สึกว่าพวกเขายังไม่ได้ใช้ศิลปะ แต่ศิลปะเริ่มใช้พวกคุณแล้วนะ

เราเห็นเด็กหลายคนที่เรียนประวัติศาสตร์หรือสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผันตัวไปเป็นศิลปินและได้ดิบได้ดีเยอะมาก ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เรียนศิลปะหรือเป็นศิลปินมา แต่วาทกรรม วิธีการอธิบายสังคม หรือมุมมองการกลับไปขับเคลื่อนชุมชนของเขาคือศิลปะเพียวๆ ซึ่งโลกศิลปะเริ่มเห็นและให้คุณค่ากับสิ่งแบบนี้แล้ว ตรงนี้จะเห็นว่าเทรนด์มันเปลี่ยนไป อยู่ที่ว่าเราจะรู้ตัวเร็วหรือช้ามากกว่า

 

Ting Chu Studio
ภาพจาก Ting Chu Studio

 

คุณพูดถึงเรื่องศิลปะกับชุมชน ประกอบกับคุณได้ย้ายจากเชียงใหม่มาเปิดสตูดิโอที่ใจกลางชุมชนย่านบางขุนนนท์ (Ting Chu Studio) รู้สึกยังไงกับการเดินทางครั้งใหม่นี้ การทำงานกับชุมชนทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้นไหม

ตอนอยู่เชียงใหม่ ก่อนที่จะมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง เราก็คิดแบบเด็กๆ นะว่า ถ้ามีสตูดิโอเยอะก็จะมาแข่งกันเอง หรือเวลาเราขายงานก็ไม่อยากให้ใครมาเห็นเพราะกลัวโดนลอกงาน ความคิดแบบนี้เป็น survivor mode เลย คือรู้สึกว่าตัวเองต้องเอาตัวรอด แต่ตอนเราทำสตูดิโออยู่ที่เชียงใหม่ทำให้เห็นเลยว่า ถ้าเราไปได้ดี ร้านรวงข้างๆ สตูดิโอก็จะเติบโตไปด้วย มันส่งผลพ่วงกันหมด หรืออย่างที่เราเคยคิดว่า การที่มีสตูดิโออื่นมาเปิดไม่ดีเพราะจะแย่งลูกค้ากัน แต่เอาเข้าจริง ถ้าเขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ มันเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งด้วยว่า วัฒนธรรมการปั้นงานหรือการสร้างผลงานศิลปะเป็นที่นิยมชมชอบ ถ้าเขาเกิดมาได้แปลว่าเรากำลังไปได้ดี เราก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด ถ้าเป็นแบบนั้นคนก็คงเข้ามาหาเราเรื่อยๆ เพราะเราคงไม่คาดหวังให้คนทั้งหมดเข้ามาหาเราหรอกนะ แบบนั้นกึคงปวดหัวตายเลย (หัวเราะ) มันเป็นไปไม่ได้และไม่ practical ด้วย

ดังนั้น เราต้องคิดใหม่ว่า ถ้าอยากให้ตัวเองอยู่รอด ชุมชนต้องอยู่รอด และถ้าชุมชนจะอยู่รอด เราต้องมองว่า เราจะเข้าไปช่วยเสริมให้ชุมชนที่เราเข้าไปเข้มแข็งขึ้นยังไง อย่าคิดว่าเราจะเป็นฮีโร่มากู้ภัย เราเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของสังคมทั้งหมด แต่ถ้าเราทำส่วนของตัวเองให้ดี เราก็เป็นฮีโร่ในแบบของตัวเองได้

 

ในการทำงานศิลปะ คุณนิยามตัวตนของคุณยังไง

เราคิดว่าเรามีหน้าที่สำคัญมากในสายศิลปะ จงรับรู้ไว้ซะว่า เราไม่ได้เกิดมาแค่เพื่อแสดงตัวตนของเราเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นชีวิตคงไร้ค่ามาก ปุ๊บปั๊บก็ไม่อยากทำอะไรแล้ว อย่างที่ศิลปินหลายคนบ่นว่าไม่มีแรงขับเคลื่อน ไม่รู้ว่าอยู่ไปทำไม เราคิดว่า อาจจะเป็นเพราะเขาทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้สึกว่า วันนี้ตื่นขึ้นมา เราจะทำอะไรไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่กำลังทำอะไรที่กว้างกว่าตัวเอง เราก็จะเข้าไปสู่อะไรที่ใหญ่กว่า รู้สึกปลอดภัย มีเป้าหมาย รู้สึกว่าชีวิตงดงามและมีคุณค่าเกินกว่าที่เราจะนิยามได้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่นิยามจากตัวเราเอง แต่เรานิยามมันบนพื้นฐานที่เป็นตัวของเราอย่างแท้จริง

 

คุณสอนปั้นเซรามิกที่สตูดิโอ สำหรับคุณ ทำไมต้องเป็นการปั้น เสน่ห์ของการปั้นอยู่ตรงไหน และถ้าเทียบกับการที่เคยทำงานด้านการวาดภาพประกอบมาก่อน คิดว่าการปั้นกับการวาดแตกต่างกันยังไง

ต้องบอกก่อนว่า การเริ่มปั้นมาจากความบังเอิญ คือไปช่วยเพื่อนทำงานปั้นแล้วรู้สึกว่า สนุกดี แต่ไม่เคยคิดว่าจะหันมาปั้นอะไรจริงจัง จนย้ายมากรุงเทพฯ ถึงคิดว่าต้องจริงจังเพราะเราซื้อเตาและเป็นหนี้แล้ว (หัวเราะ) แต่ถ้านับตอนหันมาปั้นใหม่ๆ ปั้นเล่นๆ ไม่จริงจัง รู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มากนะ เพราะเมื่อก่อนเราทำงาน 2 มิติ พอมาเป็นงาน 3 มิติมันก็ตื่นเต้น เหมือนเป็นอีกโลกที่เราไม่เคยเห็น พอลองหันชิ้นงานไปมาก็เป็นอะไรที่ทำให้เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผลจากการทำงานด้านนี้มันทำให้เกิดผลกับอีกด้านหนึ่งด้วย

อีกอย่างหนึ่งคือ เราสอนปั้นแต่ไม่ค่อยสอนวาด เพราะเท่าที่คุยกับคนที่มาเรียน การวาดเหมือนจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นศิลปะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้คนที่ไม่เคยทำอะไรแนวนี้มาก่อนจับดินสอขึ้นมาวาด เขาจะเกร็งเพราะมีความทรงจำไม่ดีจากสมัยเรียน จะพูดถึง trauma ตอนนั้นว่า เขาเคยโดนตัดสิน ต่อว่า หรือโดนเขวี้ยงกระดาษมายังไง เราฟังแล้วก็อยากร้องไห้ แต่ถ้าเป็นการปั้น โรงเรียนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้เอาดินมาปั้น เพราะงั้นคนปั้นจะรู้สึกเริ่มจากศูนย์จริงๆ ไม่มีการตัดสินหรือจะเกิด trauma อะไรที่จะเข้ามาทริกเกอร์เขา และการปั้นยังฟังดูเป็นงานคราฟต์หรือแฮนด์เมดด้วย ทำให้คนรู้สึกเป็นมิตรมากกว่า และยังเป็นงานที่ง่าย เป็นสากล เราเลยเน้นการปั้นมากกว่า

ถ้ามองในมุมการทำงานกับร่างกาย จริงๆ การวาดก็ใช้ร่างกายเยอะ แต่ปั้นเห็นชัดนะ ถ้าเราอยู่กับการปั้นสักพักเราจะอ่านดินออก อยู่กับตัวเองเป็น เพราะมันจำเป็นต้องเป็นแบบนั้น และผลงานมันเกิดขึ้นในทันที วาดอาจจะใช้เวลาหลายวัน แต่การปั้นเราเห็นผลทันที เลยเป็นงานที่ให้กำลังใจคนทำง่ายด้วย

 

ผู้ที่มาเรียนปั้นมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คุณเห็นความแตกต่างอะไรระหว่างสองกลุ่มนี้ไหม

ส่วนใหญ่เด็กจะใสกว่า แต่เราก็เคยเจอเด็กที่น่าจะถูกวางเงื่อนไขมาเยอะ คือเครียดทุกๆ การกระทำ ก็รู้สึกช็อกนะว่า อายุแค่นี้ต้องเครียดขนาดนี้เลยหรอ ยิ่งถ้าเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไขเยอะๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ก็จะเห็นเลยว่า การทำงานของเด็กกลุ่มหลังจะมีความเสรี ใส และเป็นไปตามธรรมชาติ (spontaneous) เยอะกว่าผู้ใหญ่

แต่เราก็เจอผู้ใหญ่ที่ใสเหมือนเด็กนะ บางคนก็ทำให้เราอดประหลาดใจไม่ได้ เช่น คุณหมอคนหนึ่งที่มาเรียน เราก็แอบคิดว่าเขาต้องเครียดแน่ๆ แต่ปรากฏว่าเขาโคตรสบายเลย ทุกอย่างเหมือนเด็ก จะบอกว่าจริงๆ มันก็วัดไม่ได้แหละ แต่ถ้าเป็นเด็กที่โชคร้ายเจอการวางเงื่อนไขมาตั้งแต่เด็กก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่หรอก

 

ภาพจาก Ting Chu Studio

 

นอกจากเรื่องศิลปะแล้ว ได้ยินว่าคุณยังสนใจทฤษฎีของคาร์ล ยุง (Carl Jung) ด้วย ทฤษฎีที่คุณสนใจเป็นยังไงบ้าง 

ถ้าพูดเฉพาะส่วนที่เราสนใจ ทฤษฎีของคาร์ล ยุง คือการเปิดพื้นที่ให้กับการตีความสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองที่อยู่ระดับลึก เช่น เวลาเราเกิดภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกแบบหนึ่ง ถ้าเราไม่เข้าใจอาจจะตีความว่ามันเป็นทางลบ แต่คาร์ล ยุง เปิดพื้นที่ให้ตัวเราเองได้สังเกตสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นกลาง ไม่รีบไปตีตราว่ามันคืออะไร

ข้อดีอีกอย่างคือ เขาจะเน้นย้ำว่า โลกที่อยู่ภายใต้ตัวเราเชื่อมกันทั้งหมดเลย คือมันจะมีทั้งโลกระดับส่วนตัวและระดับองค์รวม แต่การที่มันเชื่อมกันหมดคือ จะมีภาษาของสังคมที่สื่อสารกับเราอยู่เสมอ และตัวเราก็สื่อสารกับตัวเองอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจหรืออ่านสาส์นเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ เราอาจจะค้นพบมุมใหม่ๆ ที่มีให้ตัวเองกับสังคม และจะสามารถเปิดศักยภาพของตัวเองให้มากขึ้นได้ โอเค เราจะไม่ได้เก่งข้ามวันแหละ แต่ก็จะรู้ตัวว่า เราจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ความหมายเดิมๆ ที่รู้และคิดว่าตัวเองเป็น เช่น เราวางเงื่อนไขไว้ว่า เราไม่ได้เรียนศิลปะมา ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจแบบนั้น ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย แต่มันยังมีอีกเยอะแยะมากมายในระดับตัวเราและระดับสังคมที่จะค้นหาและสำรวจได้ว่า เราทำอะไรได้อีกบ้าง เพียงแค่ต้องไม่รีบด่วนสรุปไปก่อน

 

เรานำทฤษฎีดังกล่าวมาเชื่อมกับการทำงานศิลปะได้อย่างไร

ในเชิงศิลปะ อย่างที่เราบอกว่าศิลปะคือสนามเด็กเล่น ถ้าเราเข้าไปด้วยชุดความคิดที่ค่อนข้างแคบ สิ่งที่จะทำในพื้นที่นั้นก็แคบไปด้วย เช่น เราคิดว่าวันนี้จะเล่นแต่ชิงช้า มันก็จบแล้ว แต่ถ้ามองว่าจะเล่นชิงช้า เล่นบ่อทราย หรือถ้าไม่ได้เล่นก็ไม่เป็นไร วันนั้นก็จะชิวๆ ไม่ว่าจะได้เรียนรู้หรือไม่ได้เรียนรู้ก็ไม่เครียด เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์

โลกศิลปะก็คล้ายกัน จริงๆ ต้องบอกว่าศิลปะเป็นภาษาที่ใช้พูดเรื่องคาร์ล ยุง ได้ง่ายมาก เพราะทุกคนได้สำรวจและค้นหาหมด โดยเฉพาะตอนเราสอน เราจะไม่บอกนะว่า งานของคนนี้สวยกว่าคนนั้น ไม่มีทางเลย เพราะมันไม่มีคำว่าสวยกว่า มีแต่คำว่าสวย เพราะความสวยหรือความงามเป็นพลวัต ไม่มีความหมายตายตัว

นี่แหละคือความคล้ายกันมากของโลกศิลปะกับโลกของคาร์ล ยุง คือมีสะพาน (bridge) เชื่อมสิ่งที่เรารู้ไปหาสิ่งที่เราไม่รู้ และเราสามารถเปิดใจกับสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ได้

 

งานศิลปะของคุณมักให้ความรู้สึกถึงความอ่อนเยาว์ สดใส หรือทำให้หวนระลึกถึงวัยเด็ก ตรงนี้เกี่ยวพันกับทฤษฎีที่คุณสนใจด้วยไหม

เกี่ยวค่ะ เมื่อก่อนเราไม่รู้นะว่าทำไมเรามักทำงานแนวใสๆ ออกมาเรื่อยๆ แค่รู้สึกว่าเรามีความสุขดี คือเราไม่เคยจะพยายามทำงานแนวใสๆ เลย บางทีอยากดาร์ก แต่ดาร์กทีไรก็ยังออกมาใสอยู่ดี พอเรามาศึกษาคาร์ล ยุง มากขึ้น ถึงเข้าใจว่ามันเป็นแม่แบบ (archetype) ที่เราอยากจะทำงานด้วย เป็นพลังงานเกี่ยวกับเด็กแบบที่เราโหยหา และชีวิตตอนเด็กของเรามีแต่ขึ้นๆ ลงๆ เลยอยากหาอะไรที่สันติบ้าง

ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่า ตัวละครของเราจะนั่งนิ่งๆ ดูผ่อนคลาย ไม่ก็หัวเราะ จะไม่มีการเดินทางผจญภัยหรือปล่อยพลังอะไรแบบนี้ เพราะสมัยเด็กเราขาดสิ่งเหล่านั้น ในภาพวาดเลยพยายามจะสื่อสารหรือไปสำรวจด้านทีเราขาดหรือด้านที่ยังไม่รู้

เวลาเราทำงานหลายชิ้นจะเป็นตอนที่อยู่ในช่วงที่แย่มากๆ ทั้งเศร้า อกหัก วาดรูปไปร้องไห้ไป กินข้าวแล้วน้ำตาไหล แต่ก็ยังต้องทำงานอยู่ ปรากฏว่ามีคนมาบอกว่าเขาชอบผลงานชิ้นนั้นมาก ซึ่งเราจำได้ว่าเราทำทั้งน้ำตาเลย ก็งงนะว่า เราดาร์กขนาดนั้น ทำไมคนถึงยังรับรู้เฉพาะพลังงานที่มันใสๆ แสดงว่า พลังงานที่รู้สึกดาร์กและเป็นลบขนาดนั้นเพราะเราให้ค่าว่ามันเป็นทางลบ ใช่ มันแย่และทรมานจริงๆ แต่นั่นคือช่วงเวลาที่ตัวเรารู้สึกบอบบางที่สุด เราจะไม่โกหกและไม่เสแสร้งที่จะเป็นอะไรเลย นอกจากคนปกติที่บังเอิญกำลังเจ็บปวด

พอมาดูในความหมายของคาร์ล ยุง ช่วงที่เราบอบบางหรือกำลังดิ้นรนที่สุด คือ ช่วงที่เราจะเปิดใจกับจิตใต้สำนึกของตัวเองมากที่สุดด้วย สิ่งที่พยายามสื่อสารออกมาจึงมีแต่ความจริงใจเป็นส่วนใหญ่ เพราะเราแค่ต้องการพูดหรือสื่อสารไง ลองนึกภาพว่าถ้าเจ็บมากๆ คงไม่มีเวลามานั่งเก๊กหน้าแล้วล่ะ งานที่ออกมาจึงเป็นภาวะที่โหยหาหรืออยากจะไปเรียนรู้ หรือภาวะที่ไม่มีโอกาสไปทำความเข้าใจกับมันอย่างชัดเจน และคนคงรับรู้พลังงานแบบนั้นผ่านทางงานของเรา โดยที่เราเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น

นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่รู้สึกว่า การที่เรามาศึกษาสายคาร์ล ยุง ทำให้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับตัวเองและศิลปะที่คนอื่นพยายามสื่อสาร เราก็กล้าที่จะตีความ เปิดใจว่าคนนี้พยายามอะไร เราพยายามทำอะไร และในทางเดียวกัน ตอนที่ทุกอย่างดีมากๆ เรากลับทำงานออกมาไม่ค่อยได้นะ กลายเป็นเหมือนเสแสร้งไปเลย เพราะมีเรื่องดีๆ เยอะเหลือเกินที่จะให้สูญเสียถ้าเราไม่ทำงานดีๆ ออกมา พูดง่ายๆ คือตอนอกหักทำงานได้ดีกว่า (หัวเราะ)

 

ตั้งแต่เด็กจนมาเป็นศิลปิน ถิง ชู อย่างทุกวันนี้ ถ้าจะให้นิยามตัวตนและการเดินทางที่ผ่านมาเป็นงานศิลปะสักชิ้น งานชิ้นนั้นจะเป็นอะไร

โห ไม่เคยคิดเลยนะ (หัวเราะ)

งานของเราน่าจะเป็นสายเยียวยา เพราะเวลาเราทำงานศิลปะ เราทำเพื่อเยียวยาตัวเอง เวลาเศร้าหรือรู้สึกแย่มากๆ เราจะปั้นงานเพื่อเยียวยาตัวเอง และการที่คนอื่นได้เห็นงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเราในมิตินั้นก็เป็นผลพวงจากการกระทำที่เรากระทำต่อตัวเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้นิยามทั้งหมดทั้งมวล เราไม่ได้เป็นศิลปินที่มีเจตจำนงชัดเจนว่าจะทำอะไร เราแค่รู้ว่าตัวเองอยากพูดสิ่งนี้เพราะมันคือความจริง ความจำเป็นที่ต้องทำกับตัวเอง กับคนอื่นเราไม่ค่อยคิดว่าจะไปทำอะไรกับเขาได้ เพราะเราคุมคนอื่นยาก ไม่รู้จะไปบอกให้คนอื่นมามีส่วนร่วมกับเรายังไง นี่ไม่ใช่จุดแข็งของเราเลย ศิลปินคนอื่นอาจจะมีจุดแข็งตรงนี้ แต่พอเราไม่มีเลยรู้สึกว่า ขอแค่เราประคองตัวเองได้ และการประคองตัวเองของเราไปประคองคนอื่นได้ด้วย นั่นก็เป็นเกียรติแล้ว

 

Ting Chu Studio
ภาพจาก Ting Chu Studio

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save