fbpx
เมื่อความเหลื่อมล้ำ คือ ความอยุติธรรมที่ประจักษ์ชัดที่สุด

เมื่อความเหลื่อมล้ำ คือ ความอยุติธรรมที่ประจักษ์ชัดที่สุด

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

เมื่อพูดถึง ‘หลักนิติธรรม (Rule of Law)’ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องเฉพาะกับผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว หลักนิติธรรมเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เพราะหลักนิติธรรมเป็นเหมือนหลักการพื้นฐานที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียม การไม่เลือกปฏิบัติ และความเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนในสังคม แต่ถ้าสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ก็มีแนวโน้มที่สังคมนั้นจะมีความอยุติธรรมและไร้หลักนิติธรรม

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้เปิด เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 8 ในหัวข้อ ‘สานพลังมนุษยธรรม…สร้างสรรค์ความยุติธรรม’ ซึ่งเป็นเวทีที่เหล่าผู้เข้าร่วมในหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (RoLD) รุ่นที่ 3 ได้มาแลกเปลี่ยนและอภิปรายประเด็นด้านหลักนิติธรรมที่น่าสนใจในสังคม

ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังขยับไปหาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับคนนอกกระบวนการ และเป็นเรื่องที่ใครหลายคนอาจลืมนึกถึงไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับโลกยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีอาจเป็นทั้งประตูแห่งโอกาส และกำแพงกั้นคนส่วนหนึ่งไว้ข้างหลัง หรือจะเป็นแนวทางในการปลูกฝังวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายให้กับเยาวชน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป

ลดความเหลื่อมล้ำด้วยศักยภาพทางดิจิทัล

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเสมือนประตูแห่งโอกาสสู่ชีวิตที่ดีกว่า สะดวกสบายกว่า และทันสมัยกว่า ทว่าประตูบานนี้กลับไม่ได้เปิดต้อนรับทุกคน แต่เปิดให้เฉพาะกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่านั้น เทคโนโลยีจึงเป็นทั้งตัวช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กัน

จากการเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และเห็นแนวทางที่จะสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ กลุ่มผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD จึงได้มุ่งเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกับดิจิทัล โดยนำเครื่องมือทางดิจิทัลเข้ามาสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงโอกาส และนำไปสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

ผู้เข้าร่วมการเสวนาในวงนี้ประกอบด้วย คุณอรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (Total Access Communication) จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (DTAC)  ดร.ภูมิ ภูมิรัตน กรรมการผู้จัดการ KQ Consultion Co.,Ltd  คุณจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist and VP of Data Innovation Lab Sertis Corp และ คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย คุณธนะชัย สุนทรเวช ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ

คุณธนะชัย สุนทรเวช ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ

คุณธนะชัย สุนทรเวช ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ

“เวลาเราได้ยินคำว่า Digital Transformation มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับองค์การธุรกิจ แต่เกิดขึ้นกับทั้งสังคม และกับบุคคลแต่ละคน คือทุกคนกำลังได้รับผลกระทบแบบเท่าๆ กันหมด”

อรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากดีแทค (DTAC) กล่าวนำ พร้อมกับเสริมว่า แม้ประเทศไทยจะมีสาธารณูปโภคที่สนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี แต่กลุ่มคนชนบทก็ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อย และมีความเหลื่อมล้ำมากเมื่อเทียบกับคนเมือง และยังมีปัจจัยเรื่องระบบการศึกษาและรายได้ ซึ่งมีผลอย่างมากในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อ (Connectivity) ต่างๆ ทั้งยังเกี่ยวพันกับการเข้าถึงความรู้ และโอกาสทางด้านการงานด้วย

“ประเทศไทยมีราคาค่าอินเทอร์เน็ตค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน แต่คนบางกลุ่มยังมองว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แตกต่างจากทางตะวันตกที่มองว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องกระตุ้นคนให้เห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย”

“กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นแค่เมืองหลวงของประเทศไทยนะคะ แต่ยังเป็นเมืองหลวงของ Youtube หรือ Facebook ด้วย ใช้กันแบบเห็นสถิติแล้วต้องตกใจ คือเราใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการบันเทิงมากกว่าเพื่อเอาไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่าโอกาสทางธุรกิจ นี่ก็เป็นแก่นสำคัญอย่างหนึ่ง”

อรอุมายังได้ยกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมา โดยจากการที่ได้พูดคุยกับกลุ่มชาวนา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชอบสมัคร SMS ดูดวงหรือตรวจผลลอตเตอรี่ และถามพวกเขาว่า หากมีแอพพลิเคชันที่ช่วยพยากรณ์อากาศล่วงหน้า และมีราคาเท่ากับ SMS เหล่านี้ พวกเขาจะเสียเงินเพื่อซื้อไหม ปรากฏว่าชาวนากว่า 80% บอกว่าจะไม่ซื้อ อรอุมาชี้ให้เห็นประเด็นตรงนี้ว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่กลับลืมนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาการเกษตร รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาและสุขภาพด้วย อีกทั้งไทยยังขาดแอพพลิเคชันที่เป็นภาษาไทย ทำให้ไม่สามารถส่งเนื้อหาหรือความรู้ไปสู่คนวงกว้างได้

อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจและได้รับการพูดถึงอย่างมากคือ การที่ AI เข้ามาในตลาดแรงงาน จะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานมนุษย์หรือไม่ ซึ่งอรอุมาเห็นว่า แม้จะมี AI แต่เรายังต้องการแรงงานคนทำงานควบคู่กันไปด้วย และมนุษย์ก็เป็นครูที่จะฝึก AI ให้เก่งขึ้นได้ในอนาคต

อรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (Total Access Communication) จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (DTAC)

อรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (Total Access Communication) จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (DTAC)

“อย่างที่เราเห็นว่า มีคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัล ทำให้เกิดเป็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำอยู่ ซึ่งเกิดจากการที่คนกลุ่มนี้ไม่เห็นความสำคัญในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เราจึงพยายามหาวิธีจูงใจให้เขาเข้ามาใช้ โดยการนำอุปสงค์ (Demand) กับอุปทาน (Supply) มารวมกัน”

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน กรรมการผู้จัดการ KQ Consulting Co.,Ltd เกริ่นนำในเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สร้างอาชีพและลดความเหลื่อมล้ำ โดยวิธีที่เขาเสนอคือ การนำคนที่มีทักษะอ่านออกเขียนได้อยู่ในระดับพอใช้ แต่ไม่รู้จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปทำไม กับคนที่มีเทคโนโลยีดิจิทัล และอยากหาแรงงานมาช่วยทำงาน มาเจอกัน

“วันหนึ่งมีการโพสต์ในโซเชียลมีเดียเป็นแสนๆ ครั้ง เราจึงเห็นช่องทางที่จะช่วยกลุ่มคนที่ต้องการงานและเงิน ให้พวกเขาช่วยอ่านข้อความเหล่านั้น แล้วติดแท็กให้ว่า ข้อความไหนพูดในแง่ดี พูดในแง่ร้าย เพราะ AI ไม่สามารถจับได้ถึงขนาดนั้น ซึ่งนี่ก็คือการหาคนมาฝึก AI นั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ดร.ภูมิได้กล่าวถึงปัญหาว่า งานดังกล่าวเป็นงานซับซ้อน และอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องมีต้นทุนด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้างานมีขนาดไม่ใหญ่พอ บริษัทก็อาจจะไม่ลงทุนทำสิ่งนี้ แต่ใช้วิธีจ้างคนมาทำงานแบบเต็มเวลา (full-time) แทน ซึ่งจะสามารถควบคุมคุณภาพได้ แต่ไม่ทำให้งานกระจายตัวออกไป

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดร.ภูมิ จึงเสนอเรื่องการสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) ตัวกลาง เพื่อให้คนที่ต้องการหาเงินกับคนที่ต้องการหางานมาเจอกัน คือเมื่อเจ้าของธุรกิจมีงานอะไรที่ต้องการคนทำงาน ก็จะนำมาโพสต์ไว้ในแพลตฟอร์ม ตัวแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่นำคนหางานที่ลงทะเบียนไว้มาจับคู่เข้ากับงานที่มี ซึ่งดร.ภูมิอธิบายเพิ่มว่า คนต้องการหางานคือแรงงานที่อยากทำงาน แต่อาจไม่สามารถสมัครงานได้ด้วยเหตุผลต่างๆ ก็จะชวนคนเหล่านี้มาลงทะเบียน วัดระดับทักษะในการอ่านและการเขียน เพื่อรอจับคู่กับงานต่อไป

“หลังจากที่จับคู่กันได้แล้ว ก็จะมีการแจกจ่ายงานให้คนเหล่านั้นทำ และจะมีระบบคอยตรวจสอบว่าใครทำงานเท่าไหร่ ผิดพลาดเท่าไหร่ คำถามคือเวลางานเสร็จแล้ว เราจะตรวจอย่างไร ต้องบอกก่อนว่าเราใช้คอมพิวเตอร์ตรวจได้ โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Outsourcing คือการแจกงานชิ้นเดียวกันให้คน 4-5 คนทำ แล้วนำผลโหวตมาใช้ ซึ่งจะมีความแม่นยำในระดับหนึ่ง”

ถ้าใช้วิธีนี้ แต่ละองค์กรจะมีหน้าที่แค่หางาน และเมื่อได้รับงานก็จ่ายเงินไป ทำให้ต้นทุนขององค์กรต่ำ และแพลตฟอร์มยังจะทำงานที่ซับซ้อนทุกอย่างให้ เมื่อเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะมีองค์กรอยากนำงานเข้ามาสู่แพลตฟอร์มมากขึ้น แรงงานก็จะมีผลงานมาเรื่อยๆ มีรายได้ที่มั่นคง และพวกเขาสามารถทำงานนี้จากที่ไหนก็ได้

“พอพวกเขาเริ่มทำก็จะพบว่า ตนเองมีรายได้ พอมีรายได้ก็จะอยากทำมากขึ้น และผมเชื่อว่ามันจะมี side-effect อย่างหนึ่งคือ เมื่อพวกเขาทำงานบนอุปกรณ์ดิจิทัล เขาก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดความมั่นใจและไม่รู้สึกแปลกเวลาใช้ ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าโน้มน้าวให้คนเข้าไปอยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัลบ่อยๆ มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาไปได้ เป็นเหมือนทางเลือกที่สองในชีวิต”

ดร.ภูมิ ให้ความเห็นปิดท้ายด้วยว่า เมื่อมีคนจำนวนมากเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ ก็มีโอกาสที่ผู้ดูแลแพลตฟอร์มจะตรวจสอบได้ว่าใครมีทักษะในด้านใด และมีโอกาสพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งจะช่วยต่อยอดศักยภาพของผู้ที่เข้ามาทำงานได้ ทั้งการฝึกทักษะเพิ่มเติมและการจ้างงาน โดยอาจร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆ รวมถึงอาจตอบโจทย์นโยบายด้านการศึกษาสำหรับชุมชน หรือคนที่เคยมีประวัติอาชญากรรมด้วย

เพื่อเป็นการทดสอบแนวคิดดังกล่าว กลุ่มผู้บริหารที่ทำโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยศักยภาพทางดิจิทัล ยังได้ลงพื้นที่จริง โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ชุมชนโรงหมู ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา และพื้นที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างได้ทดลองทำงานจริง

ผลที่ได้ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มว่าจะรับทำงานด้านดิจิทัลค่อนข้างสูง จึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะนำโครงการนี้ไปใช้ต่อได้ในอนาคต ซึ่ง จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist and VP of Data Innovation Lab Sertis Corp หนึ่งในสมาชิกที่ลงพื้นที่ครบทุกครั้งได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า กลุ่มตัวอย่างทุกคนล้วนสนใจเมื่อเห็นโอกาสในการสร้างรายได้เสริมของตนเอง และมีความคิดอยากพัฒนาตัวเองด้วย แต่อาจต้องเผชิญกับความท้าทายบางประการ เช่น กฎที่จำกัดในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือเรื่องความรู้ในด้านดิจิทัล (Digital literacy) รวมถึงความท้าทายด้วยตัวเนื้อหางานเองด้วย ซึ่งทางกลุ่มพยายามเก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจผู้ใช้อยู่

จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist and VP of Data Innovation Lab Sertis Corp

จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist and VP of Data Innovation Lab Sertis Corp

“แม้เราจะมองตรงนี้ว่าเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ก็ต้องมองด้วยว่า หลังจากที่เขามีรายได้ เขาจะต้องอยู่กับมันได้ มีทักษะชีวิต มี mindset ที่ดีในการพัฒนาต่อไป อีกเรื่องหนึ่งที่เราเจอคือวินัยทางการเงิน เพราะบางคนมีรายได้ แต่ไม่สามารถควบคุมหรือรู้จักใช้อย่างพอเพียงได้ เราก็ได้เห็นตรงนี้ด้วย”

จรัลยังอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องการสร้างแพลตฟอร์ม โดยกล่าวว่าเราจะต้องมาดูเรื่องการสร้างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งกลุ่มคนด้อยโอกาสหรือคนที่อยู่ในเรือนจำ สถานพินิจ หรือชุมชนที่อยากจะนำงานไปพัฒนาทักษะ ถือเป็นกลุ่มอุปทาน และต้องเตรียมคนกลุ่มนี้ให้พร้อมด้วยว่า จะพัฒนาทักษะของพวกเขาให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อจะสามารถทำงานที่ท้าทายขึ้นในอนาคต

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เรื่องวินัยทางการเงินเป็นอีกเรื่องที่ควรพิจารณา ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ได้พูดถึงการออมในยุคดิจิทัลว่า บางครั้งการพยายามให้ความรู้คนเรื่องการออมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยน mindset ด้วย

ธิษณาย้อนกลับไปถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ยังเป็นปัญหาหลักของสังคมไทยอยู่ โดยเธอกล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจเริ่มได้จาก 2 เรื่องพื้นฐาน เรื่องแรกคือ การสร้างโอกาส เช่น การทำ credit scoring เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงโอกาสการจ้างงานได้ดีขึ้นผ่านทางดิจิทัล และเรื่องที่สองที่ควรจะเกิดควบคู่ตามมาคือ การดูแลเรื่องทักษะ ซึ่งนอกจากจะเป็นความรู้ในห้องเรียนแล้ว ยังควรเสริมเรื่องทักษะในชีวิตประจำวันด้วย

ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด

ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด

ก่อร่างศึกษาภิบาล หนุนสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับเยาวชน

นอกจากการมุ่งลดความเหลื่อมล้ำแล้ว หนึ่งในรากฐานสำคัญของการเกิดหลักนิติธรรมในสังคมไทยคือ การสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย (Culture of Lawfulness) ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญคือเยาวชน ที่จะต้องโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญต่อไป

สำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วมวงเสวนากลุ่มสุดท้าย ได้ริเริ่มความคิดในการนำหลักนิติธรรมและวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายมาปลูกฝังให้เด็กในโรงเรียน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และคุณอิสดอร์ เรโอด์ ผู้ช่วยประธานและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชนบท มูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ดำเนินการเสวนาโดย ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

เมื่อมองในภาพใหญ่ วัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย (Culture of Lawfulness) ถือเป็นการดึงเอาสมาชิกทุกคนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อใจของสาธารณชน และสร้างความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมทางอาญา อันจะนำไปสู่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และเป็นวัฒนธรรมที่จะสนับสนุนให้เกิดหลักนิติธรรมด้วย โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดประเด็นในเรื่องนี้ด้วยคำถามที่เรียบง่ายแต่อาจตอบยากว่า ‘ทำไมคนเราถึงเคารพกฎหมาย?’

“การที่คนเคารพกฎหมายแทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของกระบวนการเลย แต่ขึ้นอยู่กับความยุติธรรมของระบบที่พวกเขาได้รับ คือคนคิดว่ากฎหมายเป็นธรรมและได้รับการปฏิบัติจากกฎหมายอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย เรากำลังพูดถึงกลไกการปฏิบัติหรือกลไกการมีส่วนร่วมด้วย”

ธานีกล่าวว่า การที่คนจะเชื่อมั่นในกฎหมาย ต้องเกิดจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคม ทั้งในทางกฎหมาย หลักนิติธรรม สถาบัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้อื่น และเชื่อในความสามารถของตัวเอง ดังนั้น ทั้งหมดจึงล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคนทั้งสิ้น

“ถ้าเราสร้างเป้าหมายและกระบวนการเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายให้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ สังคมจะเกิดการจัดการปกครอง (Governance) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะนี่คือการทำให้คนในสังคมมีเป้าหมายที่เหมือนกัน และมีวิถีทางที่เคารพคนอื่น เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันของสังคม”

แน่นอนว่า วัฒนธรรมการเคารพกฎหมายยังต้องเจอกับความท้าทายอยู่ โดยประการแรก ธานีชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมการเคารพกฎหมายไม่สามารถเกิดจากรัฐ (State) เพราะแต่ละสังคม ชุมชน ล้วนมีวัฒนธรรมและวิธีคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นคนจากกลุ่มย่อยเหล่านี้จึงต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาด้วย แม้อาจเป็นเพียงบางส่วนของภาพใหญ่ทั้งหมดก็ตาม และประการที่สอง วัฒนธรรมการเคารพกฎหมายต้องเคารพอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพราะในความเป็นคน ความสัมพันธ์มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสถาบันหรือบทบาทของรัฐ

“การสนับสนุนวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายจะเกิดจาก 3 ส่วน ส่วนแรก เป็นเรื่องการปลูกฝังผ่านทางการศึกษา เสริมพลังให้เด็กรู้ว่าเขามีสิทธิ มีความสามารถ และแสดงออกได้ ส่วนที่สอง คือศูนย์กลางทางศาสนา และส่วนสุดท้าย คือการสนับสนุนผ่านทางสื่อและวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม ซึ่งเคสที่สำเร็จและได้รับการพูดถึงมากที่สุดจะใช้วิธีแบบส่วนแรก”

ธานีปิดท้ายว่า หากเราต้องการจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในสังคม จะต้องอาศัยสององค์ประกอบคือ ความโปร่งใส (Transparency) และการมีส่วนร่วม (Participation) ในการร่วมกำหนดกฎหมายและกติกาที่จะมาบังคับใช้กับตน

ต่อจากภาพใหญ่ของวัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย ธานีส่งไม้ต่อให้กับ รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมที่จะเข้ามาช่วยกำกับการสร้างวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายในโรงเรียน

รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“ถ้าเปรียบเรื่องหลักนิติธรรมกับวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายเป็นการไปดาวอังคาร ก็ต้องบอกว่าดาวอังคารไม่ไกล และเราจะไปดาวอังคารกัน” สุรินทร์เกริ่นนำ “แต่ผมคงไม่ลงทุนกับคนรุ่นเราแล้ว มันอาจจะสายเกินไป แต่เราควรจะลงทุนกับเด็กนะครับ แม้เราจะไปไม่ได้ แต่พวกเขาสามารถไปได้ แต่เราจะชี้ให้เขาเห็นความล้มเหลวของเราได้อย่างไร เราจะกันเขาอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวเหมือนเราอีก”

สุรินทร์กล่าวถึงที่มาของการที่กลุ่มเลือกลงทุนกับเด็กในโรงเรียนว่า ปัจจุบัน โรงเรียนเป็นที่บ่มเพาะให้เห็นถึงวัฒนธรรมการคอร์รัปชัน เช่น โครงการอาหารกลางวัน โครงการนมโรงเรียน จึงควรมีการจัดการปกครอง (Governance) ที่ดี โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ในโรงเรียน และถ้าเราสามารถสร้างความเป็นผู้นำ (Leadership) ความรับผิดชอบ และส่งเสริมการสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชนเข้าด้วยกัน ก็จะเกิดแพลตฟอร์มของการจัดการปกครองได้

“ถ้าถามว่า จะทำให้เกิดการจัดการปกครองได้อย่างไร ผมเสนอว่า ให้เราลองดูเรื่องสื่อสังคม (Social media) ซึ่งทุกวันนี้มีบทบาทมาก แล้วทำไมเราไม่ลองเอาสื่อสังคมเข้ามาทำลายการคอร์รัปชัน โดยใช้เรื่องการมีส่วนร่วมเป็นคีย์หลักดู”

สุรินทร์ยกตัวอย่างโครงการ ‘Check my school’ ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้การเปิดเผยข้อมูลอย่างมีระบบ มาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อติดตามและตรวจสอบผลการทำงานของสถานศึกษา เขาเสนอว่า โครงการนี้สามารถเป็นต้นแบบที่นำมาทดลองทำและนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพื่อลดการคอร์รัปชันและเพิ่มความโปร่งใสในสถานศึกษา

พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

อีกหนึ่งภาคส่วนที่สำคัญ และเป็นเหมือนผู้นำในการขับเคลื่อนคือภาครัฐ โดย พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวการทำงานของหน่วยงานภาครัฐว่า ทางกระทรวงยุติธรรมมีโครงการ ‘เยาวชนพลยุติธรรม’ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2548 โดยการสร้างความเข้มแข็งให้เด็กในโรงเรียน ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยไปจนถึงมัธยมปลาย เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม และทำให้มีการตรวจสอบคนในโรงเรียนนั้นๆ หรือแม้กระทั่งจำลองปัญหาความขัดแย้งในโรงเรียนขึ้นมา ซึ่งเป็นเหมือนภาพจำลองงานด้านความยุติธรรม

อีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กคือ เรื่องการส่งเสริมความสมานฉันท์ในชุมชน โดยให้เด็กๆ เข้ามาทำสื่อต่างๆ เพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความยุติธรรม และยังสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า แรงดึงจากโรงเรียน ครอบครัว หรือชุมชน จะช่วยดึงเด็กไม่ให้หลุดออกไปจากระบบด้วย

คุณอิสดอร์ เรโอด์ ผู้ช่วยประธานและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชนบท มูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

คุณอิสดอร์ เรโอด์ ผู้ช่วยประธานและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชนบท มูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

นอกจากการนำสื่อดิจิทัลหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพกติกาในโรงเรียนแล้ว การให้นักเรียนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียน เช่น การเลือกตั้งประธานนักเรียน การมีคณะกรรมการนักเรียน ก็เป็นอีกวัฒนธรรมที่หลายโรงเรียนจัดให้มีขึ้น ดังเช่นที่ คุณอิสดอร์ เรโอด์ ผู้ช่วยประธานและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชนบท มูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ยกตัวอย่างโรงเรียนมีชัยพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องคะแนนสอบ แต่เน้นที่การสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้นักเรียน

“โรงเรียนนี้ตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักเรียนให้เป็นคนดี ไม่ใช่คนเก่ง คนดีคือเป็นนักพัฒนา เป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม และมีความสุข” อิสดอร์อธิบาย

เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย โรงเรียนมีชัยพัฒนาจึงมีห้องคณะรัฐมนตรี ที่รวมนักเรียนจากหลายชั้น เพื่อประชุมหารือเรื่องต่างๆ ถ้าจำเป็นจึงจะเชิญคุณครูเข้ามา โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับโรงเรียน และยังมีคณะอื่นๆ ที่ทำหน้าที่อื่นในโรงเรียน เช่น คณะซ่อมบำรุง คณะจัดซื้อ ทั้งยังมีแนวคิดที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยให้ความสำคัญกับการปลูกฝังมนุษยธรรมแก่นักเรียน อาทิ การให้จ่ายค่าเทอม ด้วยการทำความดี 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้ 400 ต้นต่อปี ซึ่งช่วยให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เป็นต้น

โรงเรียนมีชัยพัฒนายังให้ความสำคัญกับชุมชนด้วย โดยนักเรียนจะทำความเข้าใจชุมชนผ่านการลงพื้นที่ ไปดูความเป็นอยู่จริง และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยที่โรงเรียนจะมีหลักสูตรชื่อว่า ‘หลักสูตรผู้ใหญ่บ้าน’ มีการเชิญผู้ใหญ่บ้านที่เกษียณอายุแล้วมาเป็นวิทยากร ให้นักเรียนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้ใหญ่บ้าน และยังมีโครงการบริหารหมู่บ้านเยาวชน โดยทุกหมู่บ้านรอบโรงเรียนจะถูกตั้งเป็นกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมส่งเสริมประชาธิปไตย ดูเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาชีพ และโอกาสทางเศรษฐกิจในหมู่บ้าน

“ถ้าอยากจะสอนเด็กให้เกิดประโยชน์จริงๆ อย่าสอนให้เขาเป็นผู้รับ แต่ต้องสอนให้เขาเป็นผู้ให้ เป็นผู้ที่จะสร้างกฎหมายให้พัฒนาขึ้น อีกไม่กี่ปีพวกเราอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่เด็กๆ คือคนที่จะต้องรับช่วงต่อ เราจึงต้องสอนให้พวกเขาทำงานของตัวเองได้” อิสดอร์ปิดท้าย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save