fbpx
เมื่อครอบครัว (อาจไม่) เป็นที่พักพิงอันปลอดภัย...เราร่วมแก้ไขอะไรได้บ้าง

เมื่อครอบครัว (อาจไม่) เป็นที่พักพิงอันปลอดภัย…เราร่วมแก้ไขอะไรได้บ้าง

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

“ทุกวันนี้ เราได้ยินเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ความเหลื่อมล้ำในสังคมเกือบทุกด้าน หรือเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้นึกสงสัยว่า ประเทศไทยยังมีหลักนิติธรรมเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน”

เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ตั้งคำถามที่น่าสนใจขึ้นก่อนเริ่มต้นการเสวนาในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 8 ‘สานพลังมนุษยธรรม…สร้างสรรค์ความยุติธรรม’ จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเวทีสาธารณะดังกล่าวเป็นเหมือนพื้นที่เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมรับฟังการเสวนา และอภิปรายเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายการโทรทัศน์ไว้รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านมากที่สุดในโลก คือถ้าคุณมีเรื่องตกทุกข์ได้ยากแล้วไปร้องเรียน ก็ยังไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครแก้ปัญหา แต่ลองคุณมาออกรายการโทรทัศน์คืนนี้สิ พรุ่งนี้จะมีคำสั่งไปเลยว่าให้แก้ปัญหานั้นให้”

เทพชัยอธิบายเพิ่มว่า การที่สังคมเริ่มเข้าหากลไกแบบไม่เป็นทางการเช่นนี้ แสดงว่ากลไกที่มีอยู่ทำงานไม่ตอบสนองกับความทุกข์ของคน และคนก็เริ่มเชื่อมั่นและศรัทธาในกลไกที่มีอยู่น้อยลงทุกที ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งที่หลักนิติธรรมควรจะเป็นกลไกหลักของสังคม แต่กลับไม่มีใครใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แถมยังดูเป็นเรื่องห่างไกล เพราะแม้สังคมไทยจะให้รางวัลคนดี แต่กลับไม่มีระบบในการจัดการคนทำผิดกฎหมาย หรือคนที่ละเมิดหลักนิติธรรม

“เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมไปทำข่าวที่จังหวัดหนึ่ง และเจอตำรวจจราจรคนหนึ่งซึ่งเปิดเผยเลยว่าตนเองรับเงินใต้โต๊ะ แต่เขาก็บอกว่า เขาเอาเงินนั้นไปทำบุญ สร้างศาลาวัด ทอดกฐิน ซึ่งผมไม่แปลกใจเลย ถ้าสักวันเขาจะได้รางวัลตำรวจดีเด่น เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะ นี่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยทุกระดับแยกไม่ออกระหว่างสิ่งที่ควรทำ หลักนิติธรรม และภาพที่พยายามจะฉายออกไป”

เทพชัยปิดท้ายว่า หลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (RoLD) ซึ่งได้ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 3 และเขาเป็นหนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมของรุ่นนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีคุณค่าและน่าสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะเมื่อคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมการอบรม พูดคุยกัน ก็ย่อมเกิดความตระหนักว่า เรื่องของหลักนิติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของพรรคการเมือง นักกฎหมาย หรือนักวิชาการ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความพยายามในการหาทางแก้ปัญหาร่วมกันด้วย

ครอบครัวเป็นที่พักพิงอันปลอดภัย (?)

ใครหลายคนอาจคิดว่า ครอบครัวเป็นที่พักพิงอันปลอดภัยมากที่สุด แต่นั่นไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องสักเท่าไหร่นัก เพราะมีหลายคนในสังคมที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงภายใต้ชายคาบ้านของตนเอง

จากข้อมูลของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับ 7 จาก 71 ประเทศ ที่มีความรุนแรงต่อสตรีและครอบครัว และในปี พ.ศ. 2553 มีเด็กและสตรีที่โดนกระทำความรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 27,544 ครั้ง เท่ากับว่าทุกๆ 20 นาที จะมีสมาชิกในครอบครัว 1 คน ที่โดนทำร้ายจากคนในครอบครัว

สาเหตุที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงยากแก่การป้องกันคือ ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมักเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ทำให้มองข้ามการระมัดระวังหรือการป้องกันตนเองไป จนเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระทำความรุนแรงภายใต้หลังคาบ้าน ที่ควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุด

อีกสาเหตุหนึ่งคือ โครงสร้างวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้ผู้ชายมองว่าตนเป็นใหญ่ในครอบครัว และมองการลงโทษหรือความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ในกรณีของเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง มักเกิดจากพิษของสุราหรือสารเสพติด หรือเกิดจากการที่ผู้ปกครองมองว่า ตนเองกำลังสั่งสอนเด็กอยู่

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ผู้บริหารที่ผ่านหลักสูตร RoLD (รุ่นที่ 3) จึงได้นำประเด็นความรุนแรงในครอบครัวมาร่วมอภิปราย ถกเถียง และหาทางแก้ไข อันจะนำไปสู่การร่วมหาทางให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น เพื่อจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง

วิทยากรที่ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘ครอบครัวที่พักพิงอันปลอดภัย’ ประกอบด้วย วรภัทร แสงแก้ว พยาบาลหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี  อนงค์รัตน์ คงลาภ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และ รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ดำเนินการเสวนาโดย มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women)

มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ UN Women

มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ UN Women

“สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย ต้องบอกเลยว่าอยู่ในภาวะวิกฤตรุนแรง และความรุนแรงนี้ถือว่าเป็นมหันตภัยต่อเด็กและสตรี”

วรภัทร แสงแก้ว พยาบาลหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี เริ่มการเสวนา โดยเธอชี้ให้เห็นปัญหาว่า การรายงานสถิติเรื่องความรุนแรงในครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเรื่องยาก เพราะมักจะรายงานโดยอิงจากอาการบาดเจ็บที่ทำให้ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาล ซึ่งต้องพิจารณาให้ลึกลงไปอีกว่า อาการบาดเจ็บนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ใช่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่

“ปัจจุบัน เรื่องที่เราหนักใจและยังมองไม่เห็นทางแก้คือ ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในครอบครัว บิดา มารดา หรือมารดาตั้งครรภ์ที่ใช้สารเสพติด ซึ่งต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่แรกคลอด แล้วถ้าแม่เด็กออกจากโรงพยาบาลแล้วเสพอีก จะทำอย่างไร อาจจะต้องประสานไปที่ตำรวจด้วย และยังมีปัญหาเรื่องการติดตามและการดำเนินการป้องกันแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และยังต้องจัดการเรื่องผู้กระทำอีกด้วย เพราะต่อให้เรารักษาผู้ถูกกระทำดีเพียงใด แต่ถ้าจัดการผู้กระทำไม่ได้ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด”

ในฐานะผู้ที่ทำงานกับเรื่องนี้มายาวนาน วรภัทรระบุว่า โรงพยาบาลทุกแห่งต้องรับคนที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวทุกวัน ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ถูกกระทำอายหมอหรือเจ้าหน้าที่ จึงปกปิดความจริงเอาไว้ ทำให้ระบบบันทึกข้อมูลที่ต่างจากความเป็นจริง บางกรณีบอกว่าตนเองลื่นล้ม แต่บาดแผลกลับไม่เข้ากับลักษณะของการลื่นล้ม และยังน้ำตาไหลตลอดเวลาที่รับการตรวจ ทำให้ต้องแยกออกมาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ขณะที่ผู้ถูกกระทำบางคนเป็นเด็กที่ถูกคนในครอบครัวข่มขืนจนตั้งครรภ์ และต้องมาคลอดที่โรงพยาบาล

อีกเรื่องหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือ ผลกระทบหลังจากถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแล้ว กล่าวคือ ถ้าถูกกระทำด้วยความรุนแรงบ่อยๆ และยังอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจากผู้ถูกกระทำเป็นผู้กระทำ โดยลุกขึ้นมาทำร้ายผู้กระทำซึ่งเป็นคนใกล้ชิดในครอบครัวได้ ซึ่งวรภัทรกล่าวว่า อาการอาจคล้ายกับภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder – PTSD) คือ มีเรื่องอารมณ์ การแยกตัวออกมา และอาการซึมเศร้า

วรภัทร แสงแก้ว พยาบาลหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี

วรภัทร แสงแก้ว พยาบาลหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี

“ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานตรงนี้เป็นเรื่องทัศนคติและความเข้าใจของสังคมต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่จะต้องปรับทั้งระบบและปรับทุกหน่วยงาน อย่าคิดว่าปัญหาความรุนแรงเป็นหน้าที่ของกระทรวงใดหรือหน่วยงานใดโดยเฉพาะ”

“การที่คนๆ หนึ่งจะเติบโตขึ้นมาในประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครอบครัวที่เข้มแข็งเพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพ แต่ปัญหาคือ บางทีสังคมไทยเรายึดติดกับสถาบันครอบครัว คำว่า พ่อ แม่ ลูก แต่ปัจจุบันความเป็นครอบครัวเปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือ มีความหลากหลายและความซับซ้อนมากขึ้น และการตอบสนองต่อความรุนแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการป้องกันเรื่องความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ดิฉันคิดว่ายังมีน้อยมาก โรงพยาบาลเป็นแค่ปลายทางรักษา ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งตัวผู้ถูกกระทำกลับไปอยู่ในครอบครัวที่ทำร้ายเขาเหมือนเดิม”

ในความเห็นของวรภัทร การที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเป็นเรื่องยาก จนบางครั้งต้องหาทางแก้ปัญหาเองจนนำไปสู่ทางออกแบบผิดๆ เช่น ทำร้ายตัวเอง เธอเห็นว่าประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาหรือการออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายต่างๆ ยังมีน้อยมาก

จากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย วรภัทรส่งไม้ต่อให้กับ อนงค์รัตน์ คงลาภ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งเคยมีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกระบี่ ในการฉายภาพกฎหมายที่เกี่ยวกับกลไกการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว

“กฎหมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวฉบับปฐมฤกษ์คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีกลไกที่ดีในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กล่าวคือ มีมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเป็นคดีอาญาเสียก่อน โดยในการดำเนินคดีอาญานั้น นอกจากผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกาย หรือฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส แล้วแต่กรณี ยังถือว่าเป็นความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกบทหนึ่งด้วย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่า หากต้องการให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดขึ้น จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา และต้องแจ้งข้อหาฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวพ่วงไปด้วย

แต่สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสังคมที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเกี่ยวพันกับคนในครอบครัวซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิด ดังนั้น การที่ผู้ถูกกระทำคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาแจ้งความร้องทุกข์เป็นคดีอาญา ส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมมานานจนทนไม่ไหวแล้วจึงตัดสินใจมาแจ้งความร้องทุกข์ แต่พนักงานสอบสวนอาจจะมองว่า เป็นเรื่อง ‘ผัวๆ เมียๆ’ ซึ่งทัศนคติแบบนี้เองที่เป็นจุดอ่อนในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายฉบับนี้

“สิ่งที่เราเจอจากการทำการสนทนากลุ่ม (Focus group) กับผู้เสียหายคือ ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่จะเป็นสตรีและเด็ก เมื่อไปแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจจึงมักจะไกล่เกลี่ยหรือให้ผู้เสียหายไปนั่งสงบสติอารมณ์ก่อน เพราะถึงอย่างไรผู้กระทำก็คือสามี หรือพ่อของลูก เดี๋ยวก็ดีกัน ซึ่งตำรวจเองก็น่าเห็นใจ เพราะมีงานล้นมืออยู่แล้ว อีกอย่างคือเขาอาจมองว่าคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องของผัวเมีย หากรับแจ้งความไปแล้ว สุดท้ายก็มักจะมาถอนคำร้องทุกข์ หรือเมื่อคดีไปสู่ศาล ก็อาจจะมีการยอมความหรือถอนฟ้อง จึงพยายามจะไกล่เกลี่ย แต่ประเด็นคือ ถ้าไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ ก็จะไม่มีการนำกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงไปปรับใช้”

“นอกจากนี้ แม้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ และแจ้งข้อหาฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวไปด้วยอีกบทหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเรื่องถึงศาล ศาลอาจตัดสินให้รอการลงโทษจำคุกแล้วกลับไปอยู่ร่วมกันอีก โดยมิได้กำหนดให้มีการนำกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ การกำหนดวิธีการฟื้นฟู หรือการบำบัดรักษา ซึ่งจำนวนไม่น้อยมีสาเหตุมาจากการติดสุราและเสพสารเสพติด มาปรับใช้อยู่ดี ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่บำบัดรักษาผู้กระทำความรุนแรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ในขณะที่บ้านพักเด็กและครอบครัว สังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สามารถรองรับได้เฉพาะผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงที่มักเป็นสตรีและเด็กเท่านั้น”

อนงค์รัตน์ คงลาภ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

อนงค์รัตน์ คงลาภ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

อนงค์รัตน์อธิบายกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมว่า เป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อหาสาเหตุของการกระทำความรุนแรงที่แท้จริง และอาจมีการกำหนดเงื่อนไขโดยจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นว่า ให้ผู้กระทำความรุนแรงไปรับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน ถ้าทำได้ครบถ้วน ศาลจึงยอมให้มีการยอมความ ถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องได้ เมื่อกลับไปอยู่ด้วยกันก็ยากที่จะเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2553 จึงเกิดหลักการใหม่ใน หมวด 15 ว่าด้วยการพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  ขึ้น เพื่อปิดช่องว่างของกฎหมายฉบับแรก โดยกำหนดให้มีการดำเนิน ‘คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ’ แยกต่างหากจาก ‘คดีอาญา’ เพื่อให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้าถึงกระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพได้โดยสะดวก รวดเร็ว และประหยัด ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมใดๆ อันจะเป็นการยับยั้งและป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงซ้ำอย่างทันต่อสถานการณ์ โดยมีมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงควบคู่ไปกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำด้วย

“กฎหมายฉบับนี้ดีมากตรงที่ หากผู้ถูกกระทำไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ อาทิ ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเป็นเด็กเล็ก กฎหมายเปิดโอกาสให้ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ องค์การหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำสามารถกระทำการแทนได้ โดยยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้ถูกกระทำมีถิ่นที่อยู่ (ตามปกติ) หรือมีภูมิลำเนา (ตามทะเบียนบ้าน) หรือที่มูลคดีเกิด

สำหรับกรณีที่มี ‘เหตุฉุกเฉิน’ จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินไปพร้อมคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือแถลงด้วยวาจาต่อศาลก็ได้ โดยผู้ถูกกระทำหรือผู้มีสิทธิกระทำการแทน สามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หรือนิติกรประจำศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีประจำอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ทันที แต่ต้องภายในวันและเวลาราชการ  

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ. 2554 ซึ่งจะปรากฏแบบพิมพ์คำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพทั้งในเหตุปกติ ด้วยวาจา และในเหตุฉุกเฉิน อยู่ท้ายข้อบังคับดังกล่าวด้วย”

“ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า มีพฤติการณ์ที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของผู้ถูกกระทำหรือบุคคลในครอบครัว ศาลก็จะออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพทันที อาทิ ห้ามผู้กระทำเสพสุราหรือสิ่งมึนเมา ซึ่งรวมถึงยาเสพติด หรือห้ามเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ถูกกระทำหรือบุคคลในครอบครัว หรือห้ามกระทำการใดอันจะนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว แล้วแต่กรณี ซึ่งรวมถึงการให้ผู้กระทำเข้ารับคำปรึกษาหรือเข้ารับการบำบัดรักษาจากนักจิตวิทยา หรือแพทย์ หรือบุคคลอื่นใด หรือสถานที่ใด โดยอาจให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นใด ติดตามกำกับตามที่ศาลเห็นสมควรได้

“มาตรการดังกล่าวนับว่าเป็นมาตรการป้องกันที่ดีมาก หากถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัวเสียก่อน ซึ่งศาลจะแจ้งคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพไปยังตำรวจที่ผู้กระทำมีถิ่นที่อยู่ หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจทราบ หากผู้กระทำฝ่าฝืน ศาลมีอำนาจออกหมายจับผู้กระทำมาขังไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ไม่เกินหนึ่งเดือน”

นอกจากนี้ อนงค์รัตน์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายอีกว่า ผู้ถูกกระทำหรือทายาทยังมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเบื้องต้นจากรัฐเป็น ‘ค่าตอบแทน’ ความเสียหายที่ได้รับจากการบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต แล้วแต่กรณี หากผู้กระทำไม่มีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงนั้น โดยจะต้องยื่นคำขอต่อ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำความรุนแรงหรือความผิดนั้น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559

แม้ผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมจะมีบทบาทอย่างมากในการร่วมยุติความรุนแรงในครอบครัว แต่สิ่งที่อนงค์รัตน์ย้ำในช่วงท้ายคือ การแจ้งเหตุความรุนแรงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม และเมื่อมีการแจ้งเหตุความรุนแรงหรือมีการร้องทุกข์แล้ว ห้ามมิให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีใดๆ ซึ่งภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลในครอบครัวนั้นๆ ซึ่งตรงนี้มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ชัดเจนด้วย

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช

เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมาก หนึ่งในวิธีที่จะทำความเข้าใจได้ดีที่สุดคือ การพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ในสถานการณ์นั้นจริงๆ รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช จึงปิดท้ายการเสวนาหัวข้อนี้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ในการทำการสนทนากลุ่ม (Focus group) โดยมีการพูดคุยกันทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน เครือข่ายจิตอาสา รวมถึงผู้ถูกกระทำ

“สิ่งที่เราค้นพบคือ ข้อแรก สังคมไทยยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ คือ มองว่า ‘ผัวเมียตีกันเดี๋ยวก็ดีกัน’ หรือ ‘ครอบครัวต้องอยู่ให้รอด’ ข้อที่สอง ผู้ถูกกระทำไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหน เจออะไร และไม่พร้อมทั้งกายและใจ บางคนไม่ได้อยากให้ผู้กระทำความรุนแรงต้องรับโทษเพราะเป็นคนในครอบครัว และยังรักกันอยู่ แค่อยากจะหาที่ปลอดภัย หรือหาใครสักคนมาช่วยเปลี่ยนนิสัยของเขา”

ข้อที่สาม เครือข่ายของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการบำบัดรักษายังไม่ครบถ้วน เคยมีคนให้ความเห็นว่า เรื่องนี้แล้วแต่ว่าผู้ถูกกระทำจะเจอผู้พิพากษาที่เข้าใจหรือไม่ มีทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเรื่องนี้ หรือมีการติดตามผลที่ดีหรือไม่ จะเห็นว่าทุกเรื่องล้วนเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากร  ข้อที่สี่ เป็นเรื่องการจัดการเครือข่าย กล่าวคือ ผู้ถูกกระทำถ้าไม่ไปหาตำรวจก็ไปหาหมอ ถ้าเจ็บไม่เยอะก็ไปบอกเพื่อน บอกญาติ แต่ไม่ได้ไปหาศูนย์ที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้เสียหายเลย ไม่รู้ด้วยว่าต้องไปหาที่ไหน จึงยังขาดการบูรณาการและเครือข่ายการทำงานในระยะฉุกเฉิน (First Aid) อยู่ ซึ่งเราควรจะต้องจัดการการสร้างเครือข่ายตรงนี้”

ข้อที่ห้า เรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่บางครั้งอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำมากเท่าที่ควร ซึ่งน่าจะมีมาตรฐานในการจัดการการนำเสนอข่าว และข้อค้นพบสุดท้าย จากการสัมมนากลุ่มย่อยทุกครั้งจะพบข้อขัดข้องทั้งหลาย ทั้งเรื่องทรัพยากร องค์ความรู้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

รศ.นพ.วิศิษฎ์ ปิดท้ายว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเน้นที่ศูนย์กลางของการแก้ปัญหา เน้นที่ผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ และยังต้องเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เป็นวงรอบนอกที่จะช่วยเน้นกรอบที่เกี่ยวข้อง มีการจัดสัมมนา หรือจัดกิจกรรมระดมสมอง เพื่อที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงท้าย มีผู้เข้าร่วมการเสวนาคนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความซับซ้อนลึกลงไปกว่าความเป็นครอบครัวเสียอีก เพราะความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนที่บุคคลสองคนจะมาเป็นครอบครัวเดียวกัน และอาจจะยังไม่มีใครนึกถึงความรุนแรงในรูปแบบนี้สักเท่าไหร่

ในประเด็นนี้ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เรื่องนี้เกิดจากมิติวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมอย่างยาวนาน ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงควรจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณาและเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พูดคุยถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง เพราะทัศนคติเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปจนกระทั่งพวกเขาเติบโตและมีครอบครัว

ขณะที่ มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ UN Women และผู้ดำเนินการเสวนา ได้ปิดท้ายการเสวนาในวงนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเราอยากจะสร้างความยั่งยืนในสังคม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งคำนึงถึงประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเปราะบาง เพราะเราไม่สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเสมือนอุตสาหกรรม (Industrialized) ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กระบวนการยุติธรรมต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกคน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save