fbpx
เปิดประตูสู่โลก (ไม่) มืดมิด : ทำความเข้าใจชีวิตใน 'เรือนจำ'

เปิดประตูสู่โลก (ไม่) มืดมิด : ทำความเข้าใจชีวิตใน ‘เรือนจำ’

ในรอบปีที่ผ่านมา The101.world ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้นำเสนอเรื่องราวและองค์ความรู้เกี่ยวกับชีวิตใน ‘เรือนจำ’ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดประตูสู่โลกอีกใบที่ใครหลายคนไม่เคย (และไม่อยาก) เข้าไปสัมผัส มิใช่เพื่อประณามหยามเหยียด หรือแบ่งแยกกีดกัน แต่เพื่อทำความเข้าใจ

ไล่ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานสภาพความเป็นอยู่ กระบวนการฟื้นฟูและเตรียมพร้อมผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ไปจนถึงโมเดลเรือนจำรูปแบบใหม่ๆ และทางออกที่ไม่ใช่คุก โดยลงไปเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริง พูดคุยกับนักวิชาการและผู้ที่คลุกคลีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ควบคู่ไปกับการนำข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาย่อยให้เข้าใจง่าย

ต่อไปนี้คือผลงานชุด ‘ชีวิตในเรือนจำ’ ทั้งหมดที่เราประมวลมาให้อ่านกันแบบสังเขป ซึ่งอาจช่วยลบภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับเรือนจำ รวมถึงผู้ต้องขัง ที่ไม่ได้มีแต่ความมืดมิดหรือเลวร้ายเสมอไป กระทั่งอาจเป็นแสงสว่างให้กับเราๆ ท่านๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกสามัญได้ในบางแง่มุม

เปิดประตูสู่โลก (ไม่) มืดมิด : ทำความเข้าใจชีวิตใน 'เรือนจำ'

ชลธิช ชื่นอุระ

ผู้หญิง แม่ และเด็ก: ‘เหยื่อ’ ที่ระบบยุติธรรมไทยมองไม่เห็น – ชลธิช ชื่นอุระ

โดย สมคิด พุทธศรีกานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“เมื่อเราคิดถึงคุก เรามักคิดถึงผู้ชาย เพราะคุกถูกออกแบบโดยผู้ชาย สร้างโดยผู้ชาย และเพื่อผู้ต้องขังชาย”

นี่คือประโยคสรุปรวบยอดที่ ‘ชลธิช ชื่นอุระ’ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) กล่าวถึงปัญหาของเรือนจำไทยในมิติที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศสภาวะ

101 สนทนากับเธอแบบเจาะลึก ว่าด้วยโลกของเรือนจำหญิง และเหยื่อที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผ่านงานวิจัยหลายชิ้นที่เผยให้เห็นสภาวะปัจจุบันของ ‘ระบบยุติธรรมไทย’ ซึ่งมีทั้งช่องโหว่และโอกาส

“ในเชิงหลักการ คุกมีสองนัยยะ นัยยะแรกคือเป็นที่ทำให้สังคมปลอดภัย เพราะกันคนที่สังคมมองว่าเป็นอาชญากรออกมา วิธีคิดแบบนี้ต้องการระเบียบและการปกครองที่เข้มงวด แต่อีกนัยยะหนึ่ง คุกเป็นที่แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามองจากมิติของการฟื้นฟู ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทุกอย่างเป็น Top-Down อาจใช้ไม่ได้ดีเสมอไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง”

“กรณีของไทย ผู้หญิงที่ทำความผิดในคดียาเสพติด มักมาจากการมีไว้ในครอบครอง บางทีมีไว้ใช้เอง ใช้กับแฟน กับเพื่อน พวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่เลวร้าย หรือต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ฉะนั้นนอกจากการใช้กฎระเบียบแล้ว เรือนจำยังควรพยายามใช้ความเห็นอกเห็นใจ และพยายามทำความเข้าใจว่าคนเหล่านี้มีที่มาอย่างไร เพื่อจะได้ดูแลแก้ไขผู้ต้องขังหญิงได้อย่างถูกจุดมากขึ้น”

“ทัณฑสถานขนาดใหญ่ จะให้ความสำคัญในเรื่องแม่และเด็กมาก จะมีห้องที่มีนม มีแพมเพิร์ส มีสีสันมากกว่าห้องอื่นในเรือนจำ แม่กับลูกจะอยู่ด้วยกันในห้องนี้ ได้ให้นมลูก พอตกกลางคืน ทุกคนต้องขึ้นเรือนนอนและนอนในห้องขังหมด แต่หากมีพื้นที่มากพอก็จะแยกแม่กับเด็กออกไป แต่แม่จะได้นอนกับลูกของตนเสมอ”

“เราเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก จะทำให้ผู้หญิงไม่ทำผิดซ้ำเมื่อออกจากเรือนจำไปแล้ว ซึ่งจะทำให้กระบวนการกลับคืนสู่สังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้ต้องขังหญิงล้วนบอกว่า สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตคือการมีลูก และการได้ทำหน้าที่แม่ เมื่อออกไปแล้วก็อยากจะสานต่อและทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดี ฉะนั้นเรือนจำจึงจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้”

แสงเรื่อเรืองในเรือนจำ

แสงเรื่อเรืองในเรือนจำ

โดย ธิติ มีแต้ม

ใครบางคนเปรียบเปรยว่าถ้าอยากรู้จักส่วนที่มืดมนที่สุดในสังคม ให้ลองเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ราวกับว่าทั้งหมดที่เป็นอยู่ในนั้นคือท่อน้ำทิ้ง ที่รวมของไม่ดีไหลมารวมกัน

ข้อเท็จจริงก็ส่วนหนึ่ง แต่ใช่หรือไม่ว่าถ้ามองแบบนั้นจริง และคิดว่าโลกนี้สามารถกวาดต้อนผู้คนที่ทำผิดกฎหมายให้ไปรวมอยู่ในเรือนจำได้เสีย สังคมจะศิวิไลซ์ขึ้น

มนุษย์นั้นขาวจัดหรือดำจัดง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ

พิจารณาให้ถี่ถ้วนก็ย่อมรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ และไม่ง่ายดายขนาดนั้น

กรมราชทัณฑ์ระบุว่าไทยติดอันดับ 6 ผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ไทยมีผู้ต้องขังมากถึง 340,000 คน แต่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังจริงๆ ได้ประมาณ 120,000 คน ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก

พื้นที่จำกัด แต่ผู้ต้องขังกลับเพิ่มขึ้น ก็เหมือนลูกโป่งที่ถูกอัดลมเข้าไปเกินพอดี ย่อมมีวันแตก

แต่ก่อนจะรอให้ทุกอย่างสายเกินไป ดั่งเช่นที่เรามักเห็นผู้ต้องขังก่อจลาจลในเรือนจำมาแล้วหลายครั้งหลายครา ผู้คุมถูกจับเป็นตัวประกัน บ้างถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ไปจนกระทั่งเรือนจำถูกเผาทำลาย

ใช่หรือไม่ว่า เหตุผลหนึ่งมาจากความเครียดของผู้ต้องขัง ทั้งพื้นที่แออัด และการถูกปฏิบัติจากผู้คุม ราวกับผู้ต้องขังเป็นปีศาจ

แล้วอะไรคือเงื่อนไขที่จะไปปลดล็อกความเครียดที่สุมไฟรอวันระเบิดนั้น

‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders) ซึ่งริเริ่มโดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 65 ได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553

หลักใหญ่ใจความคือความพยายามสร้างมาตรการทางสากล เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรือนจำ ตั้งแต่กระบวนการแรกรับ การปรับปรุงสภาพจิตใจและทัศนคติ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง

‘โครงการเรือนจำต้นแบบ’ ที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ถือกำเนิดขึ้นจากหลักการสากลนี้ หลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อิสรภาพที่สูญเสียไปจากการรับโทษทางคดีความ ไม่ได้แปลว่าความเป็นคนต้องสูญสิ้นไป

อิสรภาพที่ถูกจำกัดนั้นไม่ได้แปลว่าโอกาสต้องถูกจำกัดไปด้วย

เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในโครงการเรือนจำต้นแบบที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 เน้นที่แดนผู้ต้องขังหญิง เพื่อพิสูจน์ว่าการสร้างพื้นที่ที่ดีและกิจกรรมที่ดีทำให้ผู้ต้องขังมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้เหมือนคนทั่วไป

ไม่ต้องถูกตีตรา !

ตั้งแต่การฝึกอาชีพนวดแผนไทย, ทาเล็บ, ทำผม, เสริมสวย, ทำเบเกอรี่, กาแฟ, กีฬา, โยคะ, ดนตรี มากกว่านั้นยังมีห้องผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และเด็กอ่อน

ทั้งหมดทั้งปวงคือสิทธิในชีวิตที่ดีกว่าแม้ว่าถูกจำกัดพื้นที่ สิทธิของอนาคตที่มีความหวัง

เป็นแสงเรื่อเรืองในเรือนจำ เพื่อไล่ความมืดออกไปได้บ้าง

แลนด์มาร์คใหม่ หญิงไทยแห่เช็คอิน (เข้าคุก) จนล้น

แลนด์มาร์คใหม่ หญิงไทยแห่เช็คอิน (เข้าคุก) จนล้น

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

คุณรู้หรือไม่ หญิงไทยคว้าแชมป์ อัตราการจำคุกในผู้หญิงสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีอัตราการจำคุกผู้หญิงสูงที่สุด

การติดคุกของผู้หญิงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ผู้ต้องขังหญิงส่วนมากจะกระทำความผิดในคดีที่เบากว่าผู้ชาย บางคนมียาเสพติดไว้เสพกับคู่ครอง หรือบางคนโดนร่างแหเพราะคู่ของตนมียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ผู้หญิงบางคนโดนหลอกในเรื่องยาเสพติด โดยที่พวกเธอไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย!!!


จากงานวิจัยเรื่อง ‘มองผ่านเลนส์เพศภาวะและความหลากหลาย: ข้อเสนอในการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อสุขภาวะผู้หญิง’ (กฤตยา อาชวนิจกุล, 2560) ได้ให้ข้อมูลว่า ไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อแสนประชากรในประเทศมากที่สุดในโลก ที่จำนวนร้อยละ 73.4 หรือประมาณ 4.7 หมี่นคน จากประชากร 6.4 ล้านคน

แสงสว่างที่ส่องผ่านเรือนจำ: การปฏิรูประบบยุติธรรมไทย เพื่อชีวิตใหม่ของผู้ต้องขัง

แสงสว่างที่ส่องผ่านเรือนจำ: การปฏิรูประบบยุติธรรมไทย เพื่อชีวิตใหม่ของผู้ต้องขัง

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“คนเรามีโอกาสที่จะก้าวพลาดกันทุกคน แต่เมื่อพลาดไปแล้ว การลงโทษควรทำอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้แก้วที่มีแค่รอยร้าว กลายเป็นแก้วแตกที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และอาจไปสร้างบาดแผลให้คนอื่น…” – ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เก็บความจากเสวนา ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน: ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ ว่าด้วยโมเดลและทางเลือกใหม่ๆ ในการดูแลผู้ต้องขังแบบครบวงจร ทั้งในและนอกเรือนจำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่ถูกทอดทิ้งมายาวนาน

“ผู้ต้องขังหญิงบางคน เข้าไปอยู่เพราะสถานการณ์ที่สามี แฟน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวเองเลยพลอยเข้าไปร่วมอยู่ด้วย บางคนเจอความรุนแรงในครอบครัว หรือมาจากครอบครัวที่มีปัญหา”

“สิ่งที่เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและสำคัญมาก แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเท่าไหร่นัก คือเรื่องของ ‘Besides Prison’ ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกในการลงโทษที่ไม่ใช้โทษจำคุกมากเกินเหตุ จนเรือนจำต้องเต็มไปด้วยคนที่ไม่ควรจะอยู่ในนั้น”

“ถ้าหากเรือนจำเป็นมาตรการสุดท้ายสำหรับผู้ต้องขัง แล้วเราสามารถนำมาตรการทางเลือกอื่นมาใช้แทนการจำคุกได้หรือไม่ เช่น การทำงานบริการสังคม การควบคุมที่บ้าน การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics monitoring) เช่นกำไลข้อเท้า มาใช้แทนการควบคุมตัว หรือการให้ชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแล ซึ่งวิธีเหล่านี้ผู้ต้องขังจะถูกจำกัดเสรีภาพบ้าง แต่ก็ไม่ต้องจากครอบครัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ…”

ทางออกที่ไม่ใช่คุก : อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

ทางออกที่ไม่ใช่คุก : อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย , กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

เมื่อพูดถึงปัญหา ‘คนล้นเรือนจำ’ หรือการคืนผู้พ้นโทษสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เรามักจะยังยึดโยงอยู่กับการพัฒนาคุก หรือพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้พ้นโทษ

แต่หากเราตั้งคำถามใหม่ว่า “มีทางอื่นไหมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่ต้องจับขังในเรือนจำ?” ปัญหานี้ก็อาจปลดล็อคได้เช่นกัน โดยปัจจุบันมีการนำแนวคิดที่เรียกว่า ‘Besides Prison’ หรือการใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังมาปรับใช้กันมากขึ้น ทั้งในไทยและในระดับโลก

ในงานเสวนาหัวข้อ ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน : ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ ที่จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้มีการอภิปรายถึงประเด็นนี้อย่างรอบด้าน จากผู้ที่คลุกคลีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทยและต่างประเทศ

“ถ้าจะแก้ไขปัญหาคนล้นคุกได้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือเปลี่ยนวิธีคิดของคนในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมใหม่ แทนที่จะใช้กระบวนการหลัก ให้หันมาใช้กระบวนการยุติธรรมแบบสมานฉันท์ หรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้มากขึ้น”

“เราต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายคือตัวกลางสำคัญที่ทำให้คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของคดียาเสพติดบางประเภท”

“การแก้ปัญหาคนล้นคุกเป็นปลายเหตุ การแก้ที่ต้นเหตุคือเรื่องการทำอย่างไรให้คนไทยทำตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา”

เรือนจำไม่ใช่โลกมืดมิด : แก้ปัญหาคนล้นเรือนจำ และเพิ่มโอกาสกลับสู่สังคม

เรือนจำไม่ใช่โลกมืดมิด : แก้ปัญหาคนล้นเรือนจำ และเพิ่มโอกาสกลับสู่สังคม

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เมื่อลงพื้นที่ไปดูจริงๆ เจ้าหน้าที่พบว่า คนที่พ้นจากระบบยุติธรรมออกมาแล้ว การจะยืนอยู่ในชุมชนได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนไปกระทำความผิดมากกว่านั้น ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึง คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

“จากการสัมภาษณ์ผู้พ้นโทษ พบว่า 3 สิ่งแรกที่ทำหลังจากออกเรือนจำคือ ซื้อโทรศัพท์เพื่อเปิดเฟซบุ๊ก ดื่มฉลอง และมีเซ็กซ์”

“นอกจากอบายมุขจากโลกภายนอก จะมีส่วนทำให้อดีตผู้ต้องขังเข้าสู่วงจรเดิมแล้ว ในความเป็นจริง การจะกลับเข้ามาทำงานก็เป็นเรื่องยาก ทั้งปัญหาความยากจนที่ไม่อาจขยับฐานะทางชนชั้นขึ้นมาได้ง่าย ปัจจัยรอบข้าง เช่นเพื่อนฝูง คนรัก ความสนุกตื่นเต้นของวัยรุ่น หรือบรรยากาศในการเสพยา เหล่านี้ล้วนเป็นแม่เหล็กที่รุนแรงกว่าการกลัวการกระทำผิด หรือคิดถึงครอบครัว การขายยาที่ได้กำไรมหาศาลจึงเป็นทางออกที่สะดวกที่สุด”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เก็บความจากเสวนา ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน : ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ว่าด้วยประเด็น ‘Beyond Prison – การสร้างโอกาสและส่งเสริมการกลับสู่สังคม’

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…ตีตราไว้ในโลกมืด”

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…ตีตราไว้ในโลกมืด”

โดย ธิติ มีแต้มวจนา วรรลยางกูร

คนติดคุกไม่ควรได้รับโอกาสเสมอไปหรือไม่ ?

สำหรับแดนหญิง ที่เรือนจำกลางจังหวัดอยุธยา อาจไม่จำเป็น เพราะที่นี่พยายามสร้างสิทธิและโอกาสให้กับผู้ต้องขังหญิง

ตั้งแต่การฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติกับสังคม

หรือแม้กระทั่งโซนแม่และเด็กในแดนคุมขัง ก็กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงได้รับ

ชมสารคดีข่าวสั้น: SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “…ตีตราไว้ในโลกมืด”

เรือนจำ ไม่จำยอม : เปิดชีวิต ‘เรือนจัน’ เมื่อกำแพงไม่อาจกั้นความหวัง

เรือนจำ ไม่จำยอม : เปิดชีวิต ‘เรือนจัน’ เมื่อกำแพงไม่อาจกั้นความหวัง

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“อยู่ในนี้ มีสามอย่างที่ต้องรักษาให้ดีที่สุด หนึ่ง ช้อน สอง ชั้น สาม ชีวิต”

ผู้ต้องขังหญิงคดีลักทรัพย์ อายุเกือบ 50 ปี พูดจบแล้วหยิบช้อนสแตนเลสที่เหน็บตรงเอวออกมาให้ดู

“เราจะได้ช้อนครั้งเดียวตอนเข้ามาครั้งแรก ถ้าหายแล้วหายเลย ต้องไปซื้อใหม่เป็นช้อนพลาสติก กินข้าวไม่อร่อย”

เพราะเหตุนี้ ช้อนจึงขึ้นเป็นสมบัติระดับ ‘Untouchable’ ในเรือนจำ เพราะสิทธิของความอร่อยเป็นเรื่องสำคัญ

“ชั้น คือชั้นของผู้ต้องขัง ถ้าความประพฤติดี ก็จะได้ขึ้นชั้นไปเรื่อยๆ เราก็มีสิทธิได้ออกไปทำงานนอกเรือนจำ” เธออธิบายต่อ เมื่อเหลือบมองไปที่ป้ายติดหน้าอกของเธอ มีตัวหนังสือระบุไว้ว่า ‘ชั้นดีมาก’

โดยทั่วไป ชั้นของผู้ต้องขังแบ่งเป็น 6 ชั้น คือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมาก มีการเลื่อนชั้นกรณีปกติ ปีละ 2 ครั้ง หรือถ้าจะให้เร็วกว่านั้น ก็มีการเลื่อนชั้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นขณะอยู่ในภาวะอันตราย สิ่งเดียวที่พึงระวังคือ อย่าไปสบตาและมีเรื่องวิวาทกับใคร เพราะระดับที่ขึ้นไปสูงแล้วอาจกราวรูดลงมาได้ทันที

“ส่วน ‘ชีวิต’ คงไม่ต้องอธิบายนะ ก็ต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด อะไรก็เกิดขึ้นได้”

3 ช. ที่ว่าคือสมบัติล้ำค่าในเรือนจำ แต่สำหรับชีวิตมนุษย์ เธอบอกว่าไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน ความหวังยังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาสำรวจชีวิตในเรือนจำจันทบุรี เรือนจำที่ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีอาชีพ และส่งต่อความหวังให้ผู้คน

จันทบุรีโมเดล : ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และเรือนจำ

จันทบุรีโมเดล : ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และเรือนจำ

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ใน 1 ปีประเทศเราใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้ต้องขังประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นค่าอาหารไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท และยังต้องมีบุคลากรที่ดูแลผู้ต้องขังอีกหลายส่วน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นองคาพยพที่ใหญ่มาก ตอนนี้เรามีผู้ต้องขังเกือบ 4 แสนคน เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วตรงข้ามกับเรา เขาต้องปิดเรือนจำทำเป็นที่ท่องเที่ยว เพราะไม่มีผู้ต้องขังแล้ว

“ดังนั้นความฝันของผมคือ ในอีกสัก 50 ปี 100 ปี จะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะปิดเรือนจำ เพราะไม่มีผู้ต้องขังแล้ว แต่ในปัจจุบัน แต่ละเรือนจำมีผู้ต้องขังมากจนศักยภาพไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเลยพยายามสร้างแบรนด์ ‘เรือนจันแลนด์’ ขึ้นมา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของเรือนจำและผู้ต้องขังให้ดีขึ้น”

ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงแนวคิดการคืนคนดีสู่สังคมไว้ว่าเป็นความคิดที่ท้าทาย และเป็นงานยากของผู้บริหารเรือนจำ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายและสำคัญคือ การเปลี่ยนมุมในการมอง ‘ผู้ต้องขัง’ ให้เป็น ‘ผู้ผิดพลาด’ ที่ควรจะได้รับโอกาสหลังจากรับโทษแล้ว

อ่านเบื้องหลังแนวคิด ‘จันทบุรีโมเดล’ เรือนจำที่กลายเป็นพื้นที่สร้างงาน ฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกภายนอกของผู้ต้องขัง รวมถึงความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในจังหวัดจันทบุรี

เมื่อเรือนจำ ‘เจ็บป่วย’ : มองปัญหาสุขภาพหลังม่านลูกกรง

เมื่อเรือนจำ ‘เจ็บป่วย’ : มองปัญหาสุขภาพหลังม่านลูกกรง

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“ในกัมพูชา อดีตผู้ต้องขังคนหนึ่งออกมาเปิดเผยชีวิตของตนเองในเรือนจำว่า เขาต้องอยู่ในห้องที่แออัดกับลูกที่เพิ่งเกิด ซึ่งห้องนั้นร้อนเหมือนห้องอบความร้อน จนเขาต้องใช้ใบปาล์ม ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอหาได้มาพัดให้ลูกชายของเขา”

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย พาไปสำรวจปัญหาสุขภาพที่ถูกละเลยในรั้วเรือนจำของไทยและต่างประเทศ ผ่านรายงาน Global Prison Trend 2019 จัดพิมพ์โดย Penal Reform International (PRI) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

“หนึ่งในประเด็นที่รายงาน Global Prison Trend 2019 พูดถึงไว้ได้อย่างน่าสนใจคือ อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมในเรือนจำสามารถนำไปสู่สภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของทั้งเจ้าหน้าที่และตัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีสุขภาพแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ในปี 2011 ผู้ต้องขัง 10 คนในสหรัฐฯ เสียชีวิตเนื่องจากความร้อนจัด หรือในปี 2018 ช่วงฤดูหนาว ผู้ต้องขังนับร้อยในสหรัฐฯ ถูกขังไว้ในเรือนจำโดยไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นสัปดาห์ แน่นอนว่าผู้ต้องขังเหล่านี้ต้องเจอกับความมืด และไม่มีเครื่องทำความร้อนหรือน้ำร้อนในวันที่อากาศเย็น”

“อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ คุกเป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ในนั้นคือผู้ชาย คุกจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่อ่อนไหวต่อเพศภาวะ และละเลยความต้องการเฉพาะของผู้หญิง

เจ้าหน้าที่ในเรือนจำบางคน นำเรื่องผ้าอนามัยมาอ้างเพื่อล้อเลียน หรือเพื่อที่ตนเองจะมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ต้องขังหญิง และสามารถแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองได้

จากการสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (United States Department of Justice: DOJ) พบว่า ผู้ต้องขังหญิงในคุกที่รัฐอลาบามา (Alabama) ถูกบังคับให้ ‘จ่าย’ หรือแลกผ้าอนามัยด้วยการกระทำในเชิงทางเพศกับผู้คุมเรือนจำ ขณะที่ในนิวยอร์ก ผู้ต้องขังต้องเก็บผ้าอนามัยที่ใช้แล้วของตนเองไว้เพื่อแลกกับผ้าอนามัยผืนใหม่”

เรือนจำต้นแบบอุทัยธานี-นครสวรรค์ : เมื่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำเป็นสิ่งสำคัญ

เรือนจำต้นแบบอุทัยธานี-นครสวรรค์ : เมื่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำเป็นสิ่งสำคัญ

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

แม้เรื่องผู้ต้องขังล้นคุกจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รอคอยการแก้ไข แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ซ่อนอยู่ในเรื่องผู้ต้องขังล้นคุกและมีแนวโน้มจะเป็นปัญหารุนแรงขึ้นคือ เรื่องความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังรวมกันทั้งสิ้น 363,825 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังชาย 316,449 คน และผู้ต้องขังหญิงจำนวน 47,376 คน จากตัวเลขนี้ จะเห็นว่าสัดส่วนของผู้ต้องขังหญิงนั้นน้อยกว่าเกือบ 7 เท่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พื้นที่ในเรือนจำส่วนใหญ่ถูกออกแบบไว้เพื่อผู้ต้องขังชาย สภาพพื้นที่ในเรือนจำจึงกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงจำนวนมาก

ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอย่างประเทศกัมพูชา มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 32,029 คน มีผู้ต้องขังหญิง 2,388 คน แต่หากพิจารณาเทียบกับเรือนจำทั้งประเทศ 28 แห่ง กัมพูชามีทัณฑสถานหญิงเพียง 2 แห่ง ในขณะที่ 26 แห่งที่เหลือเป็นแดนหญิงที่อยู่ในเรือนจำชาย

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จึงมีการสนับสนุนให้เรือนจำนำข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) ไปปฏิบัติในเรือนจำทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ช่วยให้เรือนจำมีแนวทางในการดำเนินงาน ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และมีความละเอียดอ่อนทางเพศมากขึ้น

ทางกรมราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชายังได้เดินทางมาดูงานที่ประเทศไทย โดยมีเรือนจำอุทัยธานีและเรือนจำกลางนครสวรรค์เป็นเป้าหมาย ด้วยสองเรือนจำที่กล่าวถึง เป็นเรือนจำต้นแบบที่นำเอาข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงได้อย่างน่าสนใจ

ตามไปดูการฝึกอาชีพ หนังสือที่ผู้ต้องขังอ่าน การเรียนหนังสือในเรือนจำ สีขาวสะอาดของผนัง และห้องเลี้ยงเด็กเล็ก ฯลฯ

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจกิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ ในโครงการ ‘เรือนจำต้นแบบเชิงลึก’ ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านบรรยากาศการเรียนวิชา ‘SME เปลี่ยนชีวิต’ หรือการวางแผนธุรกิจ และสร้างวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านการเงิน และการหาเลี้ยงครอบครัว ปัญหาสำคัญที่ผลักให้ผู้ต้องขังเลือกกระทำความผิด

“วิทยากรเริ่มสอนผู้ต้องขังเรื่องการเข้าใจปัญหาและเข้าใจลูกค้า ด้วยวิธีสนุกๆ เริ่มจากการเปิดฉากดังของภาพยนตร์ Wolf of Wall Street ฉากที่ตัวเอกของเรื่องท้าทายให้ผู้คน ‘ขายปากกา’ หนึ่งแท่งให้เขายอมซื้อ

“คำขายมากมายได้รับการคิดอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนาน แต่คำตอบที่ถูกต้องกลับเป็นคำง่ายๆ จากผู้ต้องขังวัยสี่สิบคนหนึ่งที่เลือกถามวิทยากรว่า “ลูกค้าอยากได้ปากกาแบบไหนคะ”

“…ขั้นแรกเราจะสอนเรื่อง Design Thinking คือการออกแบบความคิด ปรับมายด์เซ็ตเขาก่อนว่า จะขายของเนี่ย ต้องเข้าใจลูกค้าก่อนจะพัฒนาสินค้า อย่างสิ่งที่เราใช้ยกตัวอย่างคือ การขายหมูปิ้ง ซึ่งหลายคนในนี้คุ้นเคย เราอยากทำให้เขาเห็นว่าต่อให้เป็นหมูปิ้ง แต่ถ้าเราเข้าใจลูกค้า เราก็ยังออกแบบหมูปิ้งที่ต่างไปจากเดิมได้นะ มันเป็นนวัตกรรมได้เลย”.

“ไม่ใช่ว่าเรียนคลาสนี้จบไปต้องเป็นนักธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่เลย ยกตัวอย่างการเรียนวันนี้ เรื่อง Design Thinking ถ้าเราไปอยู่ในภาคการค้าขาย ไปอยู่ฝ่ายขาย ไปเป็นลูกจ้าง เราก็ยังใช้วางแผนในการทำงานได้”

“แม่ๆ บางคนมองว่า หลักสูตรอะไร ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ดูจะเข้าใจยาก ไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่ได้ทำธุรกิจอยู่แล้ว หรือบางคนอายุเยอะก็อาจจะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่หลายครั้งคนในห้องเรียนเองนั่นแหละที่พยายามพูดคุยกันว่า เฮ้ย ก็เรียนเป็นความรู้ไง เอาติดตัวไป ไม่เสียหาย บางคนก็บอกว่า บางทีคุณแม่ไม่ได้ใช้ แต่เอาไปสอนลูกหลานได้นะ ซึ่งจริงๆ เราหวังอย่างนั้นเหมือนกัน”

“ส่วนมากคนที่มาหลายคนก็ใกล้จะกลับบ้านแล้ว ตอนแรกก็ไม่อยากขึ้นมาเรียน กลัวเสียรายได้ที่เคยได้จากปันผลกองงาน ถ้าขึ้นมาเรียนจะได้ปันผลลดลง จาก 3,000 เหลือ 2,000 กว่า แต่พอขึ้นมาก็เริ่มไม่อยากทำงาน เพราะเรียนมันสนุก แล้วก็ได้ความรู้”

ปรับ ‘ใจ’ ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

ปรับ ‘ใจ’ ผู้ต้องขังด้วยกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ในหนึ่งวันเราดูแลใจตัวเองบ้างรึเปล่า” คือคำถามเริ่มต้นที่เรียบง่ายในกิจกรรม ‘ของขวัญจากใจ’ ที่แดนหญิง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เนื่องจากผู้ต้องขังหลายคน เข้ามาในเรือนจำเพราะความผิดพลาด เมื่อถูกจำกัดอิสรภาพ ถูกตัดสินจากสังคม รวมกับเรื่องราวในชีวิตที่ประสบพบเจอมา จึงอาจทำให้พวกเขามีมุมมองต่อชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก การเข้าใจสภาวะภายในของตัวเอง เช่น รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เพื่อรับมือกับเรื่องจากภายนอกที่เข้ามากระทบ จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราไม่อาจมองข้าม

กระบวนกรแจกแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วคนละใบ เมื่อแก้วน้ำอยู่หน้าทุกคนจนครบ จึงค่อยให้ทุกคนหยิบแก้วน้ำขึ้นมา ยืดมือไปสุดแขน แล้วปล่อยนิ่งค้างไว้อย่างนั้น

ในช่วงแรก ทุกคนยิ้มแย้มสนุกสนาน หยอกล้อแซวกัน จนเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 30 วินาที หน้าตาของแต่ละคนเริ่มเหยเก จากแก้วน้ำที่เบาหวิว กลายเป็นความหนักอึ้งไหลกดเข้าไปที่หัวไหล่ แล้วค่อยๆ ลามไปตรงท่อนแขน ในช่วงแรกนี้มีคนถอยทัพไปแล้ว 4-5 คน

เวลาผ่านไป แก้วค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ บางคนตะโกนบอกว่า “ยังกับถือก้อนหินหนักสิบกิโลฯ” ถึงจุดหนึ่งแทบทุกคนวางแก้วลงบนพื้นเรียบร้อย ยังเหลือผู้ท้าชิงอยู่สองคน ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองคนนั้นอายุ 50 กว่าทั้งคู่ ถือว่าเป็นรุ่นเก๋ากว่าใครทั้งหมด คนวัยสาวได้แต่นั่งมองตาปริบๆ จนท้ายที่สุดเมื่อแขนรับแรงหน่วงไม่ไหว พวกเขาก็วางแก้วลงในเวลาไล่เลี่ยกัน

รู้จักโครงการ ‘ของขวัญจากใจ’ เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Transformation Learning for Social Change) ช่วยคลี่คลายทัศนคติ และอคติที่กดทับตัวเองและคนอื่นๆ ของผู้ต้องขัง

อัพเดท 10 เทรนด์ฮิต ติดเรือนจำทั่วโลก จากรายงาน Global Prison Trends 2019

อัพเดท 10 เทรนด์ฮิต ติดเรือนจำทั่วโลก จากรายงาน Global Prison Trends 2019

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

รู้หรือไม่ว่า…

– ปัจจุบันนี้ มีผู้ต้องขังอยู่ในคุกทั่วโลกจำนวน 11 ล้านคน และครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ อยู่ใน 4 ประเทศ คือสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และบราซิล

– มี 121 ประเทศที่ต้องเผชิญปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยประเทศที่มีปัญหามากที่สุดคือฟิลิปปินส์ ที่มีนักโทษชาย 518 คน แออัดอยู่ในพื้นที่ที่รองรับได้แค่ 170 คน เท่านั้น

– มี 103 จาก 193 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกคดีอาชญากรรม และมี 139 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ

– มีอย่างน้อย 35 ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตไว้ในคดีการกระทำผิดที่เกี่ยวกับสารเสพติด และมี 4 ประเทศที่เพิ่งทำการประหารชีวิตในปี 2018 ด้วยคดีดังกล่าว ได้แก่ อิหร่าน จีน ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์

ข้างต้นคือข้อมูลส่วนหนึ่งที่สะท้อนสถานการณ์ในเรือนจำทั่วโลก โดยหนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศกำลังเผชิญเหมือนกัน คือปัญหา ‘นักโทษล้นเรือนจำ’

101 พาไปอัพเดท ‘10 เทรนด์ฮิต ติดเรือนจำทั่วโลก’ จากรายงาน Global Prison Trend 2019 จัดพิมพ์โดย Penal Reform International (PRI) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พร้อมสำรวจทางเลือกใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้แทนการจำคุก


ผลงานทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save