fbpx
การพัฒนาบนหลักนิติธรรม: กฎหมายไม่ฉุดรั้ง เทคโนโลยีไม่ล้ำเส้น

การพัฒนาบนหลักนิติธรรม: กฎหมายไม่ฉุดรั้ง เทคโนโลยีไม่ล้ำเส้น

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

โลกปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันของทุกคน ส่งผลสะเทือนถึงทุกมุมของสังคม เมื่อความเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งประโยชน์และปัญหา หากไม่มีการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์

ในด้านหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความหวังของสังคมว่าเทคโนโลยีจะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะใช้แก้ปัญหาต่างๆ เช่น การใช้ AI ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมคนให้เข้าถึงเงินกู้ในระบบได้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การใช้บล็อกเชนจัดเก็บข้อมูลสาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบภาครัฐให้เกิดความโปร่งใสได้ การใช้ Chatbot ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ทำให้มีช่องทางเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้น

ในทางกลับกัน เมื่อมีเครื่องมือที่สะดวกสบายขึ้นก็เป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ และเกิดคำถามมากมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาละเมิดสิทธิพลเมือง เช่น สิทธิในความเป็นส่วนตัว สังคมจึงต้องตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกยุคใหม่ โดยการรักษาระเบียบสังคมต้องยึดหลักนิติธรรมเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและเทคโนโลยีไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อกัน และให้ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพเพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงได้จัดหลักสูตรนานาชาติด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย ‘TIJ-IGLP Workshop for Scholars and Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy’ ประจำปี 2562 ในหัวข้อ ‘บทบาทของเทคโนโลยีกับหลักนิติธรรมและการกำหนดนโยบาย’ โดยนำนักกฎหมาย นักนโยบาย นักเทคโนโลยี และนักวิชาการ 140 คน จากกว่า 40 ประเทศ มาร่วมกันเรียนรู้และระดมสมองในช่วงเวลา 5 วัน

จากนั้นได้จัดเวทีสาธารณะระดับนานาชาติ ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายในแต่ละภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพูดคุยกันถึงการพัฒนาและเทคโนโลยีบนหลักนิติธรรม

เวทีการแลกเปลี่ยนนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างข้อตกลงของสังคม ที่นำไปสู่บทบาทเชิงนโยบายสำหรับการปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบันและการอยู่ร่วมกันในโลกอนาคต

 

‘หลักนิติธรรม’ หัวใจการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

 

การส่งเสริมหลักนิติธรรมในสังคมนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากผู้คนในแวดวงกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่คนทั้งสังคมจากทุกแวดวงต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างข้อตกลงถึงคุณค่าพื้นฐานที่จะรักษาไว้ท่ามกลางบริบทความเปลี่ยนแปลงในสังคม

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความหมายโดยสรุปของ ‘หลักนิติธรรม’ คงเปรียบได้กับธรรมะของกฎหมาย คือกฎที่จะสร้างความมั่นใจกับประชาชนได้ว่ากฎหมายและการบังคับใช้จะเป็นไปเพื่อสังคมโดยรวม กฎหมายที่จะเป็นประโยชน์และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้นต้องเป็นกฎหมายที่ดี มีความเป็นธรรม มีที่มาจากกระบวนการที่ประชาชนยอมรับ มีการบังคับใช้อย่างเสมอภาค ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอกันทั้งคนออกกฎหมายและคนมีอำนาจ การบังคับใช้ต้องมีประสิทธิภาพ ไม่กระทบสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องเกินสมควร เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้เสมอภาค ผู้มีส่วนใช้ดุลพินิจในกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอิสระ เที่ยงธรรม และตรวจสอบได้ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้หลักนิติธรรมสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้

หลักนิติธรรมยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) ที่จะต้องบรรลุในปี 2030 ตรงกับแนวคิดของ TIJ ว่าหลักนิติธรรมที่ดี จะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้นโยบายที่ดีที่เป็นประโยชน์กับบุคคลถ้วนหน้า นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและสร้างผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“SDGs มีเกณฑ์ข้อ 16 ที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน ทำให้เรามั่นใจว่าหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับความเชื่อถือ สังคมคงไม่มีความสุข ความขัดแย้งจะขยายตัว นำไปสู่ความวุ่นวายซึ่งไม่สามารถสร้างการพัฒนาได้”

กิตติพงษ์ขยายความว่า การมีกฎเกณฑ์ที่ทันสมัยและสามารถบังคับใช้ได้รวดเร็วจะช่วยส่งเสริมหลักเศรษฐกิจที่ดี กฎหมายที่ปราบปรามคอร์รัปชันได้เด็ดขาด จะทำให้งบประมาณในการพัฒนาตกไปสู่บุคคลที่ควรจะได้รับอย่างแท้จริง กฎหมายและการบังคับใช้ที่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำจะช่วยยกระดับประเทศชาติให้ดีขึ้น ลดช่องว่างที่นำมาสู่การทอดทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง

“ถ้าทำให้คนซึ่งไม่ใช่นักกฎหมายได้เห็นความสำคัญนี้ จะช่วยให้เกิดการคงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ขณะเดียวกันเมื่อนักกฎหมายเข้าใจถึงบริบทเรื่องนโยบายและปัญหาของสังคมและโลก จะเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนในการบังคับใช้และบทบาทของตัวเองในการเป็นผู้อำนวยให้เกิดความยุติธรรม”

บริบทโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ระบบยุติธรรมต้องพัฒนาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมนุษย์อย่างมาก นอกจากสร้างความสะดวกสบายแล้วยังตามมาด้วยข้อท้าทายอีกหลากแง่มุม เช่น ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อ AI เริ่มเข้ามาแทนที่แรงงานบางส่วน ปัญหาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ชุมชน และปัจเจกบุคคล เมื่ออาชญากรรมไซเบอร์เกิดได้ง่ายขึ้นและซับซ้อนขึ้น รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติที่สร้างความเสียหายได้มากขึ้น เมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นโลกไร้พรมแดน ยังไม่รวมถึงเรื่องการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่กลายเป็นปัญหามากขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ผลักดันให้สังคมต้องหันมาพูดคุย ทำความเข้าใจ และเรียนรู้จากมุมมองอื่นเพื่อยกระดับความยุติธรรมและหลักนิติธรรมให้เท่าทัน

“การสร้างพื้นที่ให้นักกฎหมาย นักนโยบาย นักนวัตกรรม และนักเทคโนโลยีมาเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี มีความสำคัญมากต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หัวใจของหลักนิติธรรมกลายเป็นหลักยึดที่สำคัญที่สุดในการขีดเส้นสมดุลในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ประเทศพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีผู้ใดต้องถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

เทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความยุติธรรมไทย

 

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พบว่า ปี 2560 คนไทยส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 6 ชั่วโมง 30 นาที จากที่ปี 2556 อยู่ที่วันละ 4 ชั่วโมง 30 นาที และส่วนใหญ่เข้าร่วมสื่อสังคมออนไลน์ รับส่งเมล หาข้อมูล ตลอดจนซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตประจำวันจนเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมหลากหลายด้าน รวมถึงรูปแบบทางเศรษฐกิจและการติดต่อสื่อสาร

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงต่างๆ คือ ‘บล็อกเชน’ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัย โปร่งใส ปลอมแปลงได้ยาก และตรวจสอบได้ จนถูกต่อยอดเป็นนวัตกรรมต่างๆ อย่างการสร้างสกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) การทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) และถูกนำไปใช้แก้ปัญหาเรื่องสิทธิทางสังคมและผลประโยชน์สาธารณะ เช่น UNHCR ใช้บล็อกเชนบันทึกข้อมูลตัวตนผู้ลี้ภัยและออกเงินดิจิทัลสำหรับแบ่งปันอาหารและของใช้ที่จำเป็น เอสโตเนียใช้บล็อกเชนจัดการข้อมูลบัตรประชาชนและการเข้าถึงสิทธิพลเมืองทั้งระบบ เกาหลีใต้กำลังลงทุนนำเทคโนโลยีไปใช้จัดการเลือกตั้ง สิงคโปร์ใช้บล็อกเชนในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สหราชอาณาจักรพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้บล็อกเชนจัดเก็บพยานหลักฐานในคดีอาญาแบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดความเสี่ยงที่หลักฐานจะถูกปลอมแปลง ลดการใช้ทรัพยากรตลอดจนเพิ่มความถูกต้องแม่นยำและความรวดเร็วในการพิจารณาคดีของศาลอีกด้วย

เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก และส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเช่นกัน สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติประเมินว่า อาชญากรรมไซเบอร์ก่อให้เกิดความเสียหายที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19 ล้านล้านบาท เฉพาะในภูมิภาคอาเซียนมีความเสียหายถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.9 พันล้านบาท และอาจยังมีอาชญากรรมไซเบอร์อีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการรายงานหรือตรวจสอบไม่พบในปัจจุบัน

 

ชีพ จุลมนต์

 

ในการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีกับความยุติธรรม ที่เวทีสาธารณะระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 7  นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ชี้ให้เห็นภัยที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันว่า เทคโนโลยีถูกอาชญากรนำไปใช้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์และอาชญากรรมอื่นที่อาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสนับสนุน เช่นการปลอมแปลงและการขโมยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล การโจมตีหรือโจรกรรมระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนซึ่งตามมาด้วยการเรียกค่าไถ่ การซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย การโอนย้ายผลประโยชน์จากการซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย การฟอกเงิน การสนับสนุนการก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น

ในเรื่องนี้ นายชีพ มีมุมมองว่า “การปรับปรุงกฎหมายและเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพียงลำพัง ยังไม่เพียงพอที่จะก้าวทันการเติบโตทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และไม่อาจไล่ตามทันการเติบโตของเครือข่ายอาชญากรรม นักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องมีมุมมองกว้างขวางมากขึ้น เชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นมากขึ้น และเรียนรู้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ปล่อยให้อาชญากรใช้ประเทศเราเป็นฐานที่มั่นแฝงตัวมาแสวงประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายที่หละหลวมหรือล้าสมัย”

“เพราะอาชญากรทำงานเป็นเครือข่าย เราจึงต้องใช้เครือข่ายจัดการกับเครือข่าย และเพราะอาชญากรทำงานโดยใช้เทคโนโลยี เราจึงต้องใช้เทคโนโลยีจัดการกับเทคโนโลยี”

นายชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบและติดตามอาชญากรรมในกิจการที่มีความเสี่ยง เช่น กิจการเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติหรือกิจการสินค้าประมง โดยศาลยุติธรรมของไทยได้นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบงานต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับข้อแนะนำของกรอบแผนงานระดับสากลเพื่อความเป็นเลิศทางการศาล 4 เรื่องหลัก ได้แก่

 

  1. ระบบการยื่นคำฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำฟ้องคดีแพ่งทุกประเภทผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเฉพาะ โดยไม่ต้องเดินทางไปศาล และมีระบบการชำระเงินอีเพย์เมนต์เข้ามาสนับสนุน 19 ศาลทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนศาลที่รองรับระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นในอนาคต
  2. การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบและจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยชั่วคราวระหว่างศาลพิจารณา หลายกรณีไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน แต่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM เป็นเครื่องควบคุม เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและมีส่วนช่วยลดความแออัดในเรือนจำ
  3. การจัดตั้งศูนย์อำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นศูนย์ให้บริการสืบพยาน การแปลภาษาต่างประเทศ 28 ภาษา รวมภาษาถิ่นและภาษามือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศาลที่ร้องขอ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของพยานบุคคล ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เมื่อไม่ต้องเดินทางไปศาลในภูมิลำเนาอื่น
  4. การส่งเอกสารและการประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์กลางสำหรับนัดไต่สวนคำร้องขอต่างๆ แทนประกาศหนังสือพิมพ์หรือการลงโฆษณาประกาศคำฟ้องและเอกสารทางคดีอื่นในกรณีที่ไม่สามารถส่งเจ้าพนักงานศาลหรือวิธีอื่นได้ ทำให้คู่ความและประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์และลดขั้นตอนกระบวนพิจารณาคดีของศาล สามารถสืบค้นข้อมูลได้ มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและประทับรับรองเวลาในเอกสารที่ประกาศทุกครั้ง

 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายอย่าง ทั้งส่วนการให้บริการประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและส่วนระบบการบริหารจัดการคดี ตลอดจนการเก็บและประมวลผลข้อมูล เพื่อการวางแผนพัฒนาศาลยุติธรรมในอนาคต

ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาย้ำว่าสิ่งสำคัญคือความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยต้องสร้างเครือข่ายระบบยุติธรรมที่บูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หน่วยงานวิชาการ หน่วยงานปฏิบัติการ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรภาคเอกชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงานด้วยเช่นกัน

 

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา: ใช้กฎหมายสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

ชีล่า จาซานอฟ

 

“ไม่ใช่ว่ากฎหมายต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี แต่เราควรคิดถึงความเป็นได้ในการใช้ประโยชน์จากกฎหมายในเชิงสร้างสรรค์ ให้มากพอๆ กับการคิดเรื่องการพัฒนาในสาขาเทคโนโลยี”

ศ.ดร.ชีล่า จาซานอฟ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่าคนมักมองว่าเทคโนโลยีกับกฎหมายไม่สัมพันธ์กัน เพราะเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน มีความสร้างสรรค์ มีส่วนสร้างโลกใหม่ ขณะที่กฎหมายมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ ใช้รักษาระเบียบ และมีส่วนกำหนดว่าโลกจะเป็นอย่างไร จึงมีความเข้าใจว่าเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความปั่นป่วนต่อกฎหมาย

ดังที่ Buckminster Fuller นักพูดเรื่องเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาพูดไว้ว่า “เราไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยต่อต้านความเป็นจริง การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องสร้างโมเดลใหม่ที่จะทำให้โมเดลเดิมที่มีอยู่ล้าหลัง”

ปัญหาที่ว่ากฎหมายตามไม่ทันเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งที่พบได้ตามหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา และเชื่อว่าเกิดขึ้นในไทยเช่นกัน แต่ชีล่าไม่ได้มองว่ากฎหมายล้าหลังกว่าเทคโนโลยีแต่กลับมีส่วนสร้างระเบียบสังคมเทคโนโลยี (sociotechnical order)

“เทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นบนกระดานเปล่า แต่มีภูมิหลังที่มาพร้อมคุณค่าและค่านิยมในสังคมที่เราต้องการรักษา เทคโนโลยีทำให้เรามาคิดใหม่ในสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป และกฎหมายมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองคุณค่าที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เราอยากเห็นโลกเปลี่ยนกลับหัวกลับหางโดยไม่มีเรื่องมิตรภาพหรือครอบครัวเหลืออยู่”

ชีล่ายกประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีการพูดถึงวิทยาศาสตร์เพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นการพูดเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยให้รัฐสภามีอำนาจในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และศิลปะประยุกต์ด้วยการกําหนดระยะเวลาให้สิทธิเด็ดขาดในผลงานของนักเขียนและนักประดิษฐ์

ข้อกำหนดของสิ่งที่จะจดสิทธิบัตรได้ คือสิ่งนั้นต้องใหม่และมีประโยชน์ ไม่อนุญาตให้เอาไอเดียเก่ามาขอสิทธิบัตร และการพัฒนาจากสิ่งเดิมต้องมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

มีคดีหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและบริษัทเอกชนร่วมกันผลิตหนูตัดต่อทางพันธุกรรมให้เป็นโรคมะเร็ง เพื่อใช้ทดสอบยารักษามะเร็งแล้วนำไปจดสิทธิบัตรในอเมริกา แต่ที่แคนาดามีการนำคดีขึ้นศาลฎีกาแล้วลงคะแนน 5 ต่อ 4 ตัดสินตรงกันข้ามกับอเมริกา โดยมีการพูดถึงว่าอะไรถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต แม้ดูจะเป็นการพูดเชิงปรัชญา แต่ศาลแคนาดาบอกว่าการที่มนุษย์เข้าแทรกแซงลักษณะทางพันธุกรรมไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร พันธุกรรมนั้นไม่ได้เกิดจากมนุษย์แต่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ

อีกคดีหนึ่ง ในปี 2013 มีบริษัทต้องการจดสิทธิบัตรยีนมนุษย์ 2 ตัวที่กลายพันธุ์ และเชื่อมโยงกับเปอร์เซ็นต์ของการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง โดยยื่นจดพร้อมกระบวนการผลิตและการทดสอบ แต่องค์กร American Civil Liberties Union (ACLU) นำเรื่องขึ้นศาลฎีกา บอกว่าธรรมชาติกำหนดมาแล้วว่ายีน 2 ตัวนี้ทำให้เกิดมะเร็ง การแยกยีนนี้ออกมาไม่ถือว่าเป็นการค้นพบหรือประดิษฐ์อะไรใหม่ จนมีคำตัดสินจึงออกว่าไม่สามารถจดสิทธิบัตรยีนมนุษย์ได้

ชีล่าบอกว่าผู้ที่ผลักดันนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลคือ Tania Simoncelli ที่มาเรียนเรื่องกฎหมายสิทธิบัตรในคลาสของชีล่า แล้วต่อมาได้ไปเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้ ACLU จนนำมาสู่การผลักดันเรื่องนี้สำเร็จ แน่นอนว่าการค้นพบเรื่องยีน 2 ตัวนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากับสิทธิพลเมือง และเป็นบทเรียนว่าหากเราเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้องก็สามารถใช้กฎหมายขัดขวางการกระทำนั้นได้

“บางคนอาจบอกว่าคดีนี้ไม่มีอิทธิพลอะไร เพราะสามารถสังเคราะห์ยีนขึ้นมาแล้วจดสิทธิบัตรได้ แต่มีบทเรียนว่ากฎหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เป็นตัวอย่างว่าความยุติธรรมมีอยู่เสมอ การใช้ระบบกฎหมายทำให้เกิดไอเดียการเปลี่ยนแปลงแบบ disruptive ได้”

“จะเห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้ล้ำหน้ากฎหมาย แต่กฎหมายก้าวเข้ามาเบรกเทคโนโลยีเพื่อบอกว่าเป็นการใช้ที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของระบบยุติธรรม” ชีล่ากล่าว

 

ตัดต่อพันธุกรรม: เมื่อมนุษย์กำหนดสิ่งที่จะทำในอนาคตได้

 

ภาพหน้าปกหนังสือในปี 2001 เกิดกระแสการพูดถึงการตัดต่อนำยีนที่ไม่ต้องการออกเพื่อให้มนุษย์มีความสมบูรณ์แบบ

 

ตัวอย่างสุดท้ายนำไปสู่คำถามที่ว่า “มนุษย์คืออะไร?” เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปสู่การตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ ควรมีขอบเขตแค่ไหนเมื่อสามารถดัดแปลงพันธุกรรมให้เกิดมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบขึ้นมาได้ และควรคิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไรในบริบทนี้

การตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์เป็นเรื่องที่มีความพยายามมายาวนาน ช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีการทำแผนที่โครงสร้างยีนมนุษย์ครั้งแรกปูทางไปสู่การค้นพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแก่หรือโรคที่มนุษย์ไม่ต้องการ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ออกมาชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำแผนที่นี้ โดยมุ่งไปที่ประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถของมนุษย์

การต่อต้านก็เกิดขึ้นอย่างยาวนานเช่นกัน ราว 20 กว่าปีที่แล้วในยุคที่โลกยังไม่รู้ว่าจะสามารถตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ได้จริงหรือไม่ มี 29 ประเทศร่วมกันลงนามใน Oviedo Convention ว่าการแทรกแซงยีนมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้าม และเคยมีเอ็นจีโอด้านพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกา เสนอไอเดียว่าต้องมีกฎหมายสิทธิทางพันธุกรรมว่า ทุกคนมีสิทธิได้รับการปฏิสนธิและกำเนิดขึ้นมาโดยปราศจากการตัดต่อพันธุกรรม

แล้วโลกก็ต้องปั่นป่วน เมื่อปลายปีที่ผ่านมาระหว่างการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตัดแต่งจีโนมมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์จีนได้ออกมาประกาศตัวว่าสามารถตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ได้สำเร็จ ตามมาด้วยเสียงคัดค้านเรื่องจริยธรรมและความยุติธรรม

ชีล่ายืนยันว่าไม่ว่าการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ หลักการเดิมที่ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องคงอยู่ การที่มีคนออกมาฉีกกฎไม่ได้หมายความว่าไม่มีกฎอยู่ ซึ่งสภาคองเกรสก็เตรียมออกคำสั่งห้ามใช้เงินทุนรัฐบาลในการศึกษาเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์

เธอมองว่ามนุษย์สามารถกำหนดสิ่งที่จะทำในอนาคตได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกมีความเป็นสากลมากขึ้นก็จะยิ่งมีความซับซ้อน จึงต้องมีการตัดสินใจร่วมกันว่าเราจะอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายอย่างไรเพื่อจะไม่มีความขัดแย้ง โดยเธอเสนอแนวทางไว้ว่า

 

  1. การอยู่ร่วมกัน แต่ละประเทศสามารถทำในแบบของตัวเองและยอมรับสิ่งที่ประเทศอื่นทำในแบบของเขาได้ โดยต้องมีหลักปฏิบัติในกฎหมายที่ขัดแย้งกัน
  2. ความเป็นพลเมืองโลก ยอมรับความแตกต่างโดยไม่ละทิ้งความเป็นสากล ยอมรับว่ามีความเป็นอยู่ได้หลายแบบ มีหลักปฏิบัติในการเคารพซึ่งกันและกัน
  3. รัฐธรรมนูญนิยม ตัดสินใจร่วมกันว่าจะมีหลักการอะไรที่ทุกคนจะปฏิบัติตาม โดยมีบรรทัดฐานร่วมกัน

 

“กฎหมายไม่ใช่แค่การเอารายละเอียดทางเทคนิคมาใช้ แต่เป็นการตัดสินใจในหลักการว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร แล้วเมื่อสถานการณ์ของชีวิตเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาคิดใหม่ว่ามีคุณค่าอะไรที่จะรักษาไว้ นี่เป็นวัตถุประสงค์ระดับสูงในการสร้างกฎระเบียบสำหรับการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายได้” ชีล่า กล่าวสรุป

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save