fbpx
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: สะพานเชื่อมสู่สังคมที่ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: สะพานเชื่อมสู่สังคมที่ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

‘หลักนิติธรรม (Rule of law)’ ถือเป็นหลักการสำคัญ และมีบทบาทต่อสังคมอย่างมาก เพราะหลักนิติธรรมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในด้านกฎหมายและนโยบาย กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสำคัญที่สุดคือ การมีระบบยุติธรรมที่เป็นกลาง ขณะที่ในระดับโลก หลักนิติธรรมเป็นทั้งหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อให้เป้าหมายอื่นประสบความสำเร็จด้วย

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้หลักนิติธรรมยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือในระดับโลก อีกทั้งตัวผู้กำหนดนโยบายหรือผู้เกี่ยวข้องเอง ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงการนำหลักนิติธรรมไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบาย เพื่อที่จะนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกัน และมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง

ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ The Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดกิจกรรม TIJ-IGLP Workshop for Emerging Leaders ซึ่งเป็นการนำนักวิชาการรุ่นใหม่และกลุ่มผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย มาร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนของหลักนิติธรรมในบริบทร่วมสมัย และเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของหลักนิติธรรมในสังคมที่มีหลายแง่มุมเช่นทุกวันนี้

หนึ่งในกิจกรรมของงานเวิร์คชอป คือชั้นเรียนที่มีนักวิชาการชั้นนำมาบรรยายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาร่วมสมัย รวมถึงเรื่องหลักนิติธรรม บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอำนาจทางการเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และสำคัญในโลกยุคปัจจุบันทั้งสิ้น

หัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือเรื่อง ‘กระบวนการยุติธรรม’ (Criminal Justice) บรรยายโดย ดร.โอซามา ซิดดิค (Osama Siddique) นักวิชาการด้านกฎหมายและที่ปรึกษาการปฏิรูปนโยบาย จากประเทศปากีสถาน เกี่ยวกับแนวความคิดและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกรณีศึกษาในการปฏิรูปกระบวนการดังกล่าว

ดร.โอซามา ซิดดิค (Osama Siddique)

กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางสำหรับกลุ่มเหยื่อที่เปราะบาง

กระบวนการยุติธรรม เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญยิ่งในสังคม กล่าวคือ กระบวนการดังกล่าวเป็นทั้งการควบคุมให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นการรับประกันสิทธิมนุษยชนของพลเมือง ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายย่อมมีสิทธิที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ และเรียกร้องความยุติธรรมที่ตนสมควรได้รับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกกลุ่มที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จากการศึกษาพบว่าในหลายประเทศ หรือในหลายพื้นที่ ยังมีกลุ่มเหยื่อที่เปราะบาง (Vulnerable victims) ที่อาจเข้าไม่ถึงกระบวนการเหล่านี้ได้เพราะเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น หนึ่งในจุดเริ่มต้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเป็นการนำเอาหลักนิติธรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงหมายถึงการมีระบบยุติธรรมที่เป็นกลาง และไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเหยื่อที่เปราะบางเหล่านี้

ดร.ซิดดิค อธิบายว่า เหยื่อกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้หญิงที่เจอกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และอาจรู้สึกไม่สะดวกใจกับการเดินทางไปขึ้นศาล อีกทั้งพวกเธอยังต้องเจอปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric information) ที่ทำให้พวกเธอไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะที่ในบางพื้นที่ เหยื่อต้องเจอกับสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ มีจารีตประเพณีท้องถิ่นเป็นตัวขัดขวางการเข้าถึงระบบยุติธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่กลุ่มเปราะบางไม่สามารถหรือไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สำหรับความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว ดร.ซิดดิค ได้ยกตัวอย่าง ‘ศาลเคลื่อนที่ (Mobile court)’ ที่เกิดขึ้นในประเทศแถบละตินอเมริกา เพื่อเข้าหาและพิจารณาคดีให้เหยื่อที่ต้องเจอกับความรุนแรงในครอบครัว หรือบ้านใกล้เรือนเคียงไทยอย่างฟิลิปปินส์ ก็มีการนำผู้พิพากษาไปพิจารณาคดีนอกศาลเช่นกัน ซึ่งความพยายามดังกล่าวเป็นเหมือนการเสริมแรง และทำให้กลุ่มเหยื่อเปราะบางสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น

อีกหนึ่งปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ ความสามารถในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงจัดการข้อมูลคดีของศาล เนื่องจากศาลมักไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง ดร.ซิดดิค ได้ยกตัวอย่างกรณีศาลในเอเชียใต้ ที่ต้องเจอกับปัญหาข้อมูลที่ไม่เพียงพอและมีคุณภาพแย่ จึงได้มีข้อเสนอให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรื่องข้อมูล เช่น การใช้ระบบการจัดการเนื้อหา (Content Management System: CMS) ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยจัดระเบียบข้อมูลจำนวนมาก โดยจุดเด่นคือ CMS จะมีส่วนของเมนูผู้ควบคุมระบบ (Administration panel) ที่ให้ผู้ใช้ได้บริหารจัดการส่วนการทำงานต่างๆ ได้อย่างสะดวกและเป็นระบบ

นอกจากปัญหาของข้อมูลแล้ว เรื่องความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดียังเป็นอีกปัญหาหนึ่ง โดยผู้พิพากษาแต่ละท่านจะมีปฏิทินการตัดสินคดีของตนเอง ทำให้อาจนำไปสู่การล่าช้าในการพิจารณาคดี ซึ่งผู้เข้าร่วมได้ร่วมเสนอให้มีระบบปฏิทินกลางสำหรับศาลทั้งหมด และมีการกำหนดวันเวลาที่แน่นอนในการตัดสินคดี รวมถึงมีการถ่ายโอนบางคดีใปให้ผู้พิพากษาท่านอื่นช่วยตัดสิน เพื่อช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตัดสินคดี

สื่อสังคม (Social media) ในฐานะเครื่องมือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจในวงบรรยายคือ ‘คดีความรุนแรงต่อผู้หญิง’ (Crime against women) เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง พวกเธอมักจะเงียบและไม่กล้าแจ้งความ สาเหตุมาจากความอับอายว่า ตนเองจะถูกทำให้เป็นเหยื่ออีกครั้ง (revictimised) ผ่านทางสื่อสังคม (Social media) หรือเหยื่อบางคนก็เกิดความกลัวกระบวนการยุติธรรมโดยรวม

ถ้าหากสื่อสังคมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เหยื่ออับอายและไม่กล้าแจ้งความ สื่อก็สามารถถูกใช้ในฐานะเครื่องมือเพื่อช่วยในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน ในวงบรรยายได้มีการยกตัวอย่างการใช้ Social media เพื่อเป็นช่องทางแจ้งเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น แสดงภาพว่าเหยื่อถูกทำร้ายร่างกายอย่างไร เมื่อคนในสังคมเห็นภาพความรุนแรงดังกล่าว ก็จะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนอง และอาจเป็นตัวสนับสนุนให้เหยื่อกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ การใช้สื่อต้องพิจารณาบริบททางสังคมด้วย เช่น ในประเทศอินเดียที่เป็นสังคมแบบอนุรักษนิยมสูงมาก เหยื่อที่เป็นผู้หญิงอาจจะกลัวเสียศักดิ์ศรี กลัวคนรอบข้างรับรู้ หรือกลัวผลกระทบต่อหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้สื่อเพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในอินเดีย จึงอาจยังไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมกับบริบทและสภาพสังคมเท่าที่ควร

 

TIJ-IGLP Workshop for Emerging Leaders

กรณีศึกษาแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

หลังจากที่พูดคุย และยกตัวอย่างเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแล้ว วงบรรยายได้ขยับมาสู่กรณีศึกษา เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในกรณีของประเทศไทย มีความพยายามหลายอย่างในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยปฏิรูป เช่น การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic monitoring) หรือกำไลข้อเท้า EM มาใช้กับผู้ต้องขังที่อยู่ในชั้นการปล่อยตัวชั่วคราว โดยวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ต้องขังบางคนมีฐานะยากจน และไม่สามารถหาหลักทรัพย์มายื่นประกันตัวได้ แต่หากพวกเขาสวมกำไลข้อเท้านี้ ผู้ต้องขังที่มีฐานะยากจนก็สามารถได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยลดความแออัดของเรือนจำ และยังเป็นการช่วยให้ผู้ต้องขังได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาได้เร็วขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการนำ Video conference มาใช้ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี เช่น ในกรณีที่พยานซึ่งจะขึ้นให้การ ไม่สามารถเดินทางมาที่ศาล ก็สามารถให้การผ่านทาง Video conference แทนได้

ผู้เข้าร่วมยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า ประเทศไทยมีการบันทึกภาพหรือวิดีโอตลอดทั้งกระบวนการพิจารณาคดีที่ศาลล้มละลาย และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่กระบวนการของไทยแตกต่างจากหลายประเทศที่มีระบบลูกขุน กล่าวคือ ในประเทศที่ใช้ระบบลูกขุน ผู้พิพากษาจะมีหน้าที่ตัดสินแค่ประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น แต่ในไทย ผู้พิพากษาจะต้องทั้งให้รายละเอียด และอธิบายเหตุผลในประเด็นทางกฎหมาย และยังต้องทำการตัดสินคดีด้วย ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงจะเป็นผู้สรุปการตัดสินคดี และมีนักกฎหมายเป็นผู้การันตีว่าข้อสรุปจากผู้พิพากษานั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งสิ่งนี้จะมีประโยชน์ในการย่นระยะเวลา กรณีที่จำเลยไม่พอใจและต้องการอุทธรณ์บทลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถดูข้อสรุปของคดีก่อนหน้าได้เลย โดยไม่ต้องย้อนกลับไปดูวิดีโอการพิจารณาทั้งกระบวนการ

อีกหนึ่งความคิดการปฏิรูป คือเรื่อง ‘เรือนจำแบบเปิด’ (Open prison) ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เป็นมิตร มุ่งที่การฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ต้องขัง เป็นเรือนจำที่พบได้ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ขณะที่ในไทยก็มีระบบที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยนำผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษไปอยู่ในระบบที่มีสภาพแวดล้อมปกติ และมีการจัดหาอาชีพให้ เช่น ให้ผู้ต้องขังทำงานในร้านกาแฟ ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องขังได้ทำการฝึกอาชีพ และได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ วิธีนี้เป็นทั้งการช่วยเยียวยาผู้ต้องขัง และยังช่วยเปลี่ยนการรับรู้ของสาธารณชนที่มีต่อภาพลักษณ์ของเรือนจำ โดยแสดงให้เห็นว่า เรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่น่ากลัวและมืดมิดแต่อย่างใด

นอกจากกรณีศึกษาในประเทศไทยแล้ว ยังมีผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรือนจำเปิดในรัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นคุกที่ปราศจากกำแพง ลูกกรง หรือกุญแจล๊อค รวมถึงอนุญาตให้ผู้ต้องขังสามารถออกไปด้านนอก และกลับมาภายในเวลาที่กำหนดได้ แต่เช่นเดียวกับเรือนจำเปิดในประเทศไทย ที่ผู้ต้องขังที่จะมาอยู่ในเรือนจำเปิดจะต้องได้รับการคัดเลือกมาอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันปัญหาหรือความวุ่นวายที่อาจจะตามมาได้

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

แม้ความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะต้องพบเจอกับความท้าทายมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากความพยายามดังกล่าวคือ ‘ความหวัง’ เราเห็นการปรับตัวของศาล ในการเข้าหาเหยื่อที่เปราะบางให้ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น เราเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความล่าช้าในการตัดสินคดี และช่วยในการจัดข้อมูล ที่สำคัญ เราเห็นแนวคิดเรื่องเรือนจำเปิด ที่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง เปิดให้พวกเขาได้มีโอกาสครั้งที่สอง และได้รับการฟื้นฟูมากกว่าการตีตรา ซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างเล็กๆ ที่ส่องประกายอยู่ในเรือนจำ

ความพยายามเหล่านี้เป็นเหมือนหนทางที่จะทำให้เหยื่อได้รับความยุติธรรมที่พวกเขาพึงได้รับ ทำให้ผู้ต้องขังได้รับการฟื้นฟูและกลับคืนสู่สังคมได้ และเป็นเสมือนการสร้างสะพานเชื่อมไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกว่า โปร่งใสกว่า เหลื่อมล้ำน้อยกว่า และยั่งยืนกว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม และ ‘ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง’ อย่างแท้จริง

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save