fbpx

โอกาสสถาน: ออกแบบโอกาส-สร้างพื้นที่ความเข้าใจผู้ต้องขังหญิง กับทีมสถาปัตย์ ม.กรุงเทพ

ครั้งหนึ่งในอดีต เรือนจำและผู้ต้องขังคือสิ่งแปลกแยกสำหรับชุมชนและโลกภายนอก

เรือนจำไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะกำแพงหนาใหญ่ขวางกั้นระหว่างโลกในเรือนจำและโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง ด้วยความคิดที่ว่าสังคมต้องปลอดภัยจากผู้กระทำผิด ส่วนผู้ต้องขังต้องถูกแยกออกมาจากสังคม และลงโทษด้วยการจองจำอยู่ในห้องขังที่ห่างไกลกับ ‘ความเป็นบ้าน’ – สิ่งหนึ่งที่ใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์อย่างถึงที่สุด ซ้ำร้าย เรื่องราวที่ถูกเล่าขานนอกลูกกรงซี่ใหญ่หนายังปราศจากซึ่งความเข้าใจ มีแต่จะผลักไสกลับเข้าสู่วังวนแห่งการตีตรา

ไม่ต่างจากคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระอยู่นอกกำแพงสูง ‘คนธรรมดาที่เคยทำผิด’ หลังลูกกรงล้วนต้องการ ‘โอกาส’ เพื่อให้ชีวิตก้าวต่อไปข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน หากไม่ได้มีแค่รั้วเหล็กเท่านั้น แต่ความไม่เข้าใจของสังคมยังเป็นอีกกำแพงที่ขวางกั้นไม่ให้พวกเธอและเขากลับสู่สังคมได้ – เสมือนว่าลูกกรงเปลี่ยนให้โลกทั้งสองอยู่คู่ขนานกันอย่างไม่มีวันมาบรรจบ

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีสะพานเชื่อมโลกทั้งสองเข้าหากันอีกครั้ง? โครงการ ‘โอกาสสถาน’ โดยความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทัณฑสถานเชียงใหม่ และสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) คือหนึ่งในความพยายามที่จะทลายกำแพง สร้างสะพานเชื่อมให้ ‘คนธรรมดาที่เคยทำผิดเหล่านี้’ กลับเข้าสู่โลกที่พวกเขาและเธอเคยอยู่ได้อีกครั้ง

โครงการโอกาสสถาน คือโครงการปรับปรุงพื้นที่เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้การออกแบบเพื่อลดระยะห่างระหว่างสังคมและผู้ต้องขังหญิงซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องขังเปราะบาง ในบริเวณดังกล่าว พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมความเข้าอกเข้าใจของสังคมต่อผู้ต้องขังหญิง ส่วนอาคารอเนกประสงค์ถูกปรับให้เป็นเรือนนอนชั่วคราวสำหรับผู้ต้องขังหญิงใกล้พ้นโทษที่ออกมาฝึกวิชาชีพ ณ ร้านนวดและสปาบริเวณชั้นล่างของเรือนพธำมรงค์ รวมถึงร้านอาหารในบริเวณเดียวกัน เพื่อลดระยะห่างระหว่างผู้ต้องขังหญิงและสังคม

ทั้งหมดนี้อยู่บนฐานของความเชื่อที่ว่า เรือนจำควรเป็นสถานที่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพื่อบำบัดและฟื้นฟู ‘ผู้เคยกระทำผิด’ ให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง มากกว่าที่จะลงโทษและปล่อยให้การกระทำผิดตีตราผู้ต้องขังไปชั่วชีวิต  

101 สนทนากับทีมโอกาสสถาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ว่าด้วยเบื้องหลังความคิดในการ ‘ออกแบบ’ โอกาสและความเข้าใจต่อผู้ต้องขังหญิง

PHASE 1 -FROM DARK TO LIGHT-

ออกแบบ ‘ประสบการณ์’ สู่ความเข้าใจ ‘ผู้ต้องขังหญิง’ 

1

“ปกติเวลาจัด installation art หรือนิทรรศการทั่วไป เราจะเน้นจัดให้ visual ว้าว อาจจะใช้การสร้างบรรยากาศช่วยบ้างแต่สำหรับงานนี้ต้อง deep”

“ที่บอกว่าเน้นความว้าวคือ ปกติผมจะจัดนิทรรศการที่ใช้ทั้งงานศิลปะจัดวาง การจัดไฟและดนตรีร่วมกัน ต้องดูว่าพอเอาทั้งหมดมาร่วมกันจะสื่อสารอะไรออกไป แล้วมันจะสร้างมวลบรรยากาศทั้งงานออกมาแบบไหน”

หลุยส์-ณัฐภัทร ศรีวุ่น และเพลง-พิศวัสต์ โพธิ์จันทร์ อดีตนักศึกษาสถาปัตย์จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าว่างานส่วนมากที่พวกเขาถนัดคือการจัด installation art หรือการจัดนิทรรศการ ทดลองเล่นสนุกกับพื้นที่ วัตถุ และสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเปิดโสตประสาททั้งห้า ให้ผู้เข้าชมได้ตื่นตาตื่นใจไปกับผลงาน แสง สี เสียง บรรยากาศ และดื่มด่ำไปกับประสบการณ์ที่จัดวางไว้ในพื้นที่

แต่ในการจัดนิทรรศการสำหรับพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์นั้นต่างออกไป หลุยส์ เพลง รวมทั้ง จ๊อบ-เศรษฐพงศ์ ใจหาญ อดีตนักศึกษาสถาปัตย์อีกคนในทีม และรางวัล สนิทเธอ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ปรึกษาโครงการโอกาสสถาน ต้องใช้การออกแบบเพื่อสื่อสารเรื่องราวและชีวิตของ ‘ผู้ต้องขังหญิง’

จ๊อบ-เศรษฐพงศ์ ใจหาญ, รางวัล สนิทเธอ, หลุยส์-ณัฐภัทร ศรีวุ่น และเพลง-พิศวัสต์ โพธิ์จันทร์

ความ ‘deep’ ที่ว่าอยู่ตรงที่เรื่องราวและเบื้องหลังชีวิตของพวกเธอไม่ได้มีเพียงแค่สีขาวหรือสีดำ ซ้ำยังเป็นเรื่องราวที่ถูกปิดล็อกไว้พร้อมกับกรงขังที่พันธนาการจองจำร่างของพวกเธอไว้ จึงไม่ง่ายที่จะสื่อสารเรื่องราวและประสบการณ์เหล่านี้ให้สังคมรับรู้และเข้าใจ – อย่างที่ผู้ต้องขังหญิงรับรู้และเข้าใจ

2

ในทุกๆ วัน ผู้ต้องขังหญิงใกล้พ้นโทษจะต้องเดินทางจากเรือนจำเพื่อไปฝึกวิชาชีพ ทำงานในร้านอาหาร และให้บริการนวดและสปา ณ เรือนพธำมรงค์ เรือนไทยโบราณอายุร่วมกว่า 100 ปี อันเป็นกรรมสิทธิ์ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังหญิงต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างเรือนจำและสถานที่ฝึกวิชาชีพ แรกเริ่ม ‘โอกาสสถาน’ จึงเป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง กลางเมืองเชียงใหม่ โดยอาคารที่นักศึกษาสถาปัตย์ ม.กรุงเทพเข้าไปช่วยสร้างและออกแบบก็คืออาคารเรือนนอนแห่งใหม่นอกเรือนจำ บริเวณใกล้เคียงกับเรือนพธำมรงค์

“พอเราลงพื้นที่จริงที่เชียงใหม่ เราเห็นว่าเรือนพธำมรงค์ชั้นบนยังว่าง ซึ่งเราเสียดายอาคารเพราะอาคารนั้นมีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรมมาก อายุร่วมกว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เลยคิดว่าน่าจะใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารในการสื่อสารกับคนภายนอกด้วย” รางวัลเล่า

เมื่อเรือนพธำมรงค์เปิดใช้เป็นร้านนวดสปาเพียงแค่บริเวณชั้นล่างเท่านั้น ทีมสถาปัตย์ ม.กรุงเทพที่เห็นศักยภาพของพื้นที่ชั้นบนที่เหลือ จึงตัดสินใจใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นนิทรรศการเล่าเรื่องราวจากข้างในทัณฑสถานสู่โลกภายนอก และเมื่อต้องใช้พื้นที่ในการสื่อสารเช่นนี้ หน้าที่การออกแบบและจัดนิทรรศการจึงตกอยู่ในมือของหลุยส์ เพลง และจ๊อบ

“พวกผมสามคนเป็นพวกหัวดีไซน์” จ๊อบเล่า

“กลุ่มพวกผมชอบจัดงานนิทรรศการหรืองานสถาปัตย์ที่สื่อสารบางอย่างไปสู่ผู้ชมอยู่แล้ว พออาจารย์มาชวนจัดนิทรรศการสื่อสารเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิงและเรื่องราวในทัณฑสถาน เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี เป็นประสบการณ์ที่น้อยคนมีโอกาสได้สัมผัส” เพลงเสริม “แต่ก่อนหน้าที่จะได้มาจับงานนี้ ไม่เคยมีเรื่องผู้ต้องขังหญิงอยู่ในสารบบเลย”

หลุยส์เองก็เช่นกัน เขาเล่าว่าถ้ามีคนพูดถึงผู้ต้องขัง เขาจะนึกถึงแต่ภาพผู้ต้องขังชายเสียด้วยซ้ำ

จ๊อบ-เศรษฐพงศ์ ใจหาญ, เพลง-พิศวัสต์ โพธิ์จันทร์ และหลุยส์-ณัฐภัทร ศรีวุ่น

แน่นอนว่าภาพจำต่อเรือนจำและผู้ต้องขังที่พวกเขาเข้าใจก่อนก้าวเท้าเข้าไปในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ไม่ได้ต่างจากภาพทั่วไปที่สังคมผลิตซ้ำ

“พูดตรงๆ ก่อนหน้านี้เรามองผู้ต้องขังหญิงไปในทางลบพอสมควร พอรู้ว่าจะต้องเข้าไปเก็บข้อมูล พูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงก็แอบกลัวอยู่ในใจเหมือนกันว่าพวกเขาจะน่ากลัว

“แต่พอได้เข้าไปในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จริงๆ ภาพพลิกไปเลย เพราะสิ่งที่เห็นไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดหรือกลัวอยู่ พี่ๆ ผู้ต้องขังคือคนธรรมดาที่เคยกระทำผิดเฉยๆ หลายคนไม่ได้อยากจะกระทำผิดด้วยซ้ำ แต่มีเหตุหรือความจำเป็นบางอย่างที่บีบให้ต้องทำอย่างนั้น ผู้ต้องขังก็ยังต้องการทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป ทำอะไรเหมือนคนทั่วไป อยากสวย อยากมั่นใจ ชอบแต่งหน้าแต่งตาไม่ต่างไปจากผู้หญิงคนอื่นๆ” หลุยส์เล่าว่าความคิดของพวกเขาทั้งสามคนที่มีต่อผู้ต้องขังหญิงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อได้สัมผัสผู้ต้องขังหญิงด้วยตนเอง

จ๊อบเล่าต่อถึงบรรยากาศภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ว่า “เข้าไปแล้วไม่รู้สึกอึดอัดหรือกดดันอย่างที่คิด” เพราะผู้ต้องขังหญิงต่างพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กันตามปกติ มีรอยยิ้มบ้าง เสียงหัวเราะบ้างประปราย ไม่ต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไป

ภาพเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจของพวกเขา จนอยากสิ่อสารให้หลายคนเข้าใจผู้ต้องขังหญิงอย่างที่พวกเขาเข้าใจ

“ผมอยากให้คนอื่นเห็นเหมือนที่เราเห็น ผมอยากสื่อสารออกไปว่า ถ้าเขาได้เห็นภาพในเรือนจำ ได้เจอผู้ต้องขัง เขาก็คงเปลี่ยนภาพในหัวเหมือนพวกผม” หลุยส์กล่าว

3

ความ ‘deep’ ของเรื่องราวผู้ต้องขังหญิงที่มีความละเอียดอ่อนและมีมิติที่ซับซ้อนถูกออกแบบและถ่ายทอดออกมาอย่างไร?

ทั้งสามคนและ TIJ ร่วมกันวางแก่นของนิทรรศการว่า ต้องการให้สังคมเข้าใจ ‘ผู้ต้องขังหญิง’ ในมิติที่มากกว่าความมืดหม่น ให้สังคมเข้าใจชีวิตของพวกเธอว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร พวกเธอใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในสถานที่ที่เรียกว่าเรือนจำ พวกเธอทำอะไรบ้าง และชีวิตของพวกเธอที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นอย่างไรบ้างหลังจากนั้น เมื่อต้องตีความเรื่องราวเหล่านี้ออกมาใส่ลงในพื้นที่ สิ่งที่ต้องคิดคือจะเลือกสื่อสารออกไปด้วยวิธีไหนได้บ้าง

“ต้องมาคิดว่าเอ็ฟเฟ็กต์จากสื่อแบบไหนจะสร้างอิมแพ็กได้มากที่สุด เล่นกับความรู้สึกของคนได้ดีที่สุด” หลุยส์เล่า

“มันไม่ใช่การที่เรามีข้อมูล มีตัวหนังสือ แล้วให้คนที่เข้าชมอ่านบอร์ดเอาเองอย่างเดียว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ด้วยการอ่าน บางคนอาจจะไม่อยากอ่าน หรืออ่านแล้วซึมซับได้ไม่เต็มที่ ในนิทรรศการนี้เราจึงตั้งใจให้ให้ทุกคน ‘รับรู้’ และ ‘รู้สึก’ จากสิ่งที่ได้เห็น” รางวัลเล่าให้ฟังว่านักออกแบบนิทรรศการต้องคิดหาวิธีการการเล่าเรื่องอย่างไร “บางอย่างอาจใช้ภาพเล่าเรื่อง บางอย่างอาจใช้บรรยากาศเพื่อช่วยให้เข้าถึงเรื่องราวมากขึ้น”

นิทรรศการนี้ ทีมสถาปัตย์ ม.กรุงเทพ วางไว้ว่าจะเล่าเรื่องของนักโทษหญิงผ่านการจัดแสดงทั้งหมด 8 ห้อง

“นอกจากจะคิดว่าจะใช้สื่ออะไรเล่าเรื่อง หรือสื่ออะไรที่เหมาะกับการเล่าเรื่องแบบไหนแล้ว ต้องคิดด้วยว่าแต่ละห้องของนิทรรศการจะต้องเลือกใช้สื่อที่ไม่ซ้ำกัน” รางวัลเล่าต่อ

ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟ คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย โปสเตอร์ เทปเสียง ผ้าไหมผ้าทอที่ผลิตโดยผู้ต้องขังหญิงในคุก แก้วน้ำที่ผู้ต้องขังใช้จริงในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งลิปสติกของพวกเธอ ล้วนเป็นมากกว่าสิ่งที่มันเป็นอยู่ เพราะพลังในการบอกเล่าและเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังวัตถุเหล่านี้ไปไกลกว่าตัวหนังสือบนแผ่นกระดาน

“พอเราเริ่มต้นเก็บข้อมูลในเรือนจำและสัมภาษณ์พี่ๆ ผู้ต้องขังแล้ว ก็ต้องคิดต่อว่าจะใช้วัตถุอะไรในนิทรรศการบ้าง จากนั้นวางแปลน (planning) ในภาพรวม จัดเรียงเรื่องราวของแต่ละห้องว่าจะเรียงแบบไหน อยากให้คนที่เข้ามาในนิทรรศการเจอกับอะไรก่อนหลัง พอวางแปลนเสร็จแล้ว ก็ค่อยมาดีไซน์ว่าใน 1 ห้องจะมีอะไรบ้าง อยากให้คนเห็นอะไร ทั้งเรื่องราว การตกแต่งภายใน มีเดีย หรือสินค้าจากฝีมือพี่ๆ ผู้ต้องขัง” หลุยส์แจกแจงขั้นตอนลงมือจัดนิทรรศการให้ฟัง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลผลิตจากการระดมสมองของทั้งทีมว่าจะนำเรื่องราวและประสบการณ์จากหลังลูกกรงหนาออกมาเล่าได้อย่างไร 

“ตั้งแต่ห้องแรกไปจนถึงห้องสุดท้าย ต้องมีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบว่าจะเล่าเรื่องอย่างไร และต้องหาวัตถุหรือมีเดียที่ช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกตามที่ห้องนั้นๆ ต้องการจะสื่อสาร เพราะนิทรรศการต้องอาศัย mood ในการเล่าเรื่อง” รางวัลเล่าเสริมจากหลุยส์

อย่างแรกที่ถูกนำมาสร้าง mood ปรับบรรยากาศและความรู้สึกของผู้ชมคือแสงไฟ เพลงเล่าว่า คอนเซ็ปต์ในการเล่าเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิงคือ ‘FROM DARK TO LIGHT’

“เราเล่นกับแสงสีของห้อง อิงจากเรื่องราวตั้งแต่ว่าทำไมผู้ต้องขังถึงถูกจำคุก เขามีชีวิตอยู่ในเรือนจำอย่างไร ทำอะไรบ้าง จนถึงจุดที่เข้าร่วมโครงการพัฒนา ประกอบอาชีพ ผลิตสินค้าต่างๆ แสงไฟของแต่ละห้องก็จะค่อยๆ ไล่จากมืดสลัวไปสู่แสงสว่างตามเรื่องราวที่จะเล่าในแต่ละห้อง”

“ห้องที่มืดที่สุดคือห้องที่สอง ที่เล่าเกี่ยวกับภูมิหลังสีเทาของผู้ต้องขังหญิงที่มีตัวตนจริงว่ากระทำผิดอะไร ก่อคดีอะไรมา โดยใช้ภาพถ่าย set ช่วยเล่าเรื่อง” รางวัลเล่าเสริม

แสงสว่างถูกปรับให้ค่อยๆ สาดส่องอย่างเบาบาง “ห้องถัดไปคือเราอยากสื่อสารว่าพวกเขามีชีวิตอย่างไรในเรือนจำบ้าง แต่เราเลือกออกแบบการเล่าให้เล่าผ่านการยกหูโทรศัพท์คุยกับผู้ต้องขัง เหมือนกับว่ากำลังคุยโทรศัพท์อยู่กับผู้ต้องขังจริงๆ”

“อาจดูไม่มีอะไร แต่การยกหูโทรศัพท์คุยก็เป็นวิธีสื่อสารเหมือนกันว่า ถ้าเราลองฟังจากปากของผู้ต้องขังเองว่าเขากระทำความผิดอะไร ทำลงไปทำไม วิธีการเล่าเรื่องเสมือนว่าผู้ต้องขังมาเล่าให้ฟังเองจะช่วยให้เรื่องราวของพวกเธอได้รับความเข้าใจมากขึ้น”

อีกอย่างหนึ่งที่พวกเขาเลือกใช้สำหรับเล่าเรื่องในห้องนี้คือ ภาพถ่ายที่เข้าไปถ่ายจริงในเรือนจำ “เป็นมุมที่เราเห็นว่าต่างไปจากที่คนนอกมองเข้ามาในเรือนจำโดยสิ้นเชิง อย่างภาพผู้ต้องขังตั้งใจทำงาน เพื่อสื่อสารว่าทุกอย่างไม่ได้มืดมิดอย่างที่หลายคนเข้าใจ” รางวัลเล่า

แสงสว่างถูกปรับให้ค่อยๆ ส่องเพิ่มขึ้นอีกในห้องที่เล่าถึงข้อกำหนดกรุงเทพผ่าน touchpad เพื่อให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลที่ซับซ้อน แสงสว่างในห้องส่องแรงขึ้นอีก เมื่อห้องถัดไปคือห้องสำหรับฉายวิดีทัศน์โครงการพัฒนาจิตใจให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและกำลังใจอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่แสดงออกได้แจ่มชัดที่สุดคือเก้าอี้ที่จัดไว้สำหรับนั่งชมวิดีทัศน์ เพราะเก้าอี้ที่นำมาใช้คือเก้าอี้ที่ผู้ต้องขังเคยใช้นั่งทำงานเย็บจักร ซึ่งแต่ละตัวผู้ต้องขังจะเขียนชื่อของตนเองไว้ เพื่อแสดงตัวตนและย้ำเตือนว่าคุณค่าของตนไม่ได้หายไปไหน และในห้องทำงานก็คือหนึ่งในพื้นที่ที่ให้คุณค่าแก่พวกเธอ

ไม่เพียงแค่ภาพถ่ายหรือเก้าอี้เท่านั้นที่เลือกเข้าไปเก็บมาจากเรือนจำจริงๆ แต่ของใช้เล็กๆ น้อยๆ อย่างแก้วสแตนเลสที่ผ่านการใช้งานจริงก็ถูกนำออกมาสร้างสรรค์เรื่องราวด้วย

“เรานำแก้วหลายๆ ใบมาแขวนเรียงกันบนผนังเป็น backdrop เหมือนกับที่เห็นแก้วแขวนเรียงในโรงอาหารที่เรือนจำ แล้วทาสีแดงเป็นตัวอักษร ‘ญ’ ด้วยฟอนต์เดียวกับที่เห็นได้ทั่วไปในเรือนจำ แต่ตัดแปลงไม้หันอากาศล่าง ‘ญ’ ให้กลับด้านเพื่อส่งสารออกไปว่า ‘มนุษย์คือความไม่สมบูรณ์’ ที่สำคัญคือ แต่ละแก้วไม่ได้หน้าตาดาษดื่นเหมือนกันหมด หากเข้าไปมองใกล้ๆ จะเห็นว่าแก้วแต่ละใบมีเอกลักษณ์ เพราะผ่านการตกแต่ง วาดเขียนตามปรารถนาของผู้ต้องขัง มันสะท้อนให้เห็นว่าผู้ต้องขังมี identity และสามารถแสดงตัวตนได้” รางวัลเล่า

แสงสว่างสาดส่องเกือบจะเต็มที่ เมื่อก้าวเข้าไปในห้องซึ่งเต็มไปด้วยผ้าไทย งานปักลายและเสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานจากการพัฒนาฝึกอาชีพของผู้ต้องขังหญิง และภาพถ่ายแฟชั่นจากเรือนจำ

“ในเรือนจำมีผลิตภัณฑ์ถักเย็บหลายอย่างมาก มีเสื้อผ้าหลากหลายหรือลายปักสร้างสรรค์ต่างๆ แต่คนส่วนมากจะรู้จักแค่งานไหมไทยกับงานปักลายไทย แต่ตอนที่เราเข้าไปเราเห็นมากกว่านั้น ฝีมือการออกแบบดีจัดๆ เลยคิดว่าน่าจะจับเสื้อผ้าหลายๆ ชิ้นมา match รวมกันเพื่อสร้างภาพจำใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น” หลุยส์ซึ่งสนใจเรื่องแฟชั่นเป็นพิเศษเล่า “ภาพใหม่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เปลี่ยนแค่ความรู้สึกต่อผู้เข้าชมอย่างเดียว แต่น่าจะช่วยพัฒนาให้สินค้าจากเรือนจำไปได้ไกลขึ้นด้วย”

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่พวกเขารู้สึก และอยากให้ผู้เข้าชมนิทรรศการรู้สึกด้วยเช่นกัน – เหมือนกับพวกเขารู้สึกในช่วงเวลาที่เข้าไปในเรือนจำ

“ก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว ถ้าจะมองว่าพวกเราคือนักออกแบบประสบการณ์” ทีมสถาปัตย์ ม.กรุงเทพกล่าว

4

“ผมรู้สึกว่านักโทษและสังคมควรจะเชื่อมถึงระหว่างกัน เข้าใจกัน เพราะพี่ๆ ผู้ต้องขังไม่มีใครอยากถูกสังคมตีตรา สังคมน่าจะลองปรับมุมมองและเปลี่ยนทัศนคติบางอย่าง ซึ่งน่าจะช่วยให้พี่ๆ ผู้ต้องขังกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมตามปกติสุขได้” เพลงเล่าว่าทำไมเรื่องราวเหล่านี้ที่เขา เพื่อนๆ และอาจารย์พยายามถ่ายทอดจึงเป็นเรื่องราวที่ควรได้รับการเล่าขานต่อไป

ในทำนองเดียวกัน หลุยส์มองว่านิทรรศการพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์สำคัญต่อผู้ต้องขังหญิงมาก “คนอื่นๆ แทบไม่เคยได้รับรู้เลยว่าในเรือนจำไม่ได้มีแต่ด้านที่ไม่ดีอย่างเดียว เรื่องราวนี้ต้องถูกถ่ายทอดออกมาให้คนนอกรับรู้และเข้าใจว่าข้างในเป็นอย่างไร”

รางวัลมองในอีกมุมหนึ่ง “อยากให้สินค้าและบริการของผู้ต้องขังเป็นสื่อกลางในสื่อสาร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวออกไปสู่สังคมว่า พวกเขาก็คือคนที่ผ่านเรื่องราวอะไรมามากมายและมีคุณค่าไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ และเป็นก้าวแรกที่สังคมจะยอมรับพวกเขาอีกครั้งผ่านสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ก่อนที่เขาจะกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง”

จ๊อบ-เศรษฐพงศ์ ใจหาญ, รางวัล สนิทเธอ, หลุยส์-ณัฐภัทร ศรีวุ่น และเพลง-พิศวัสต์ โพธิ์จันทร์

ปกติเวลาทั้งสามคนจัด art installation สิ่งที่หลุยส์ เพลงและจ๊อบคาดหวังคือ ผู้ชมออกจากงานนิทรรศการพร้อมความรู้สึกว้าว สนุก และตื่นตาตื่นใจ แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ เมื่อถามพวกเขาว่า อยากให้ผู้เข้าชมรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา ความคาดหวังของพวกเขาต่างออกไป

“เข้าใจ” คือคำตอบจากอดีตนักศึกษาสถาปัตย์หนุ่มทั้งสามคน

PHASE 2 -UNDER (RE) CONSTRUCTION-

เปลี่ยน ‘คุก’ ให้เป็น ‘บ้าน’ ลดระยะห่างระหว่าง ‘ผู้ต้องขัง’ และ ‘สังคม’

“การออกแบบเรือนจำที่ดีต้องช่วยให้ผู้ต้องขังหญิง ซึ่งมีสภาพจิตใจที่ละเอียดอ่อนและเปราะบาง ได้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของพวกเธอแย่ลง แต่ต้องช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงเครียดน้อยลง มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น ผ่อนคลายขึ้น สบายใจมากขึ้น รู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพไม่ถูกลิดรอนไปโดยสิ้นเชิง หรือช่วยให้รู้สึกว่าวิถีชีวิตที่ยังต้องอยู่ในกรอบของกฎระเบียบข้อบังคับบางอย่างไม่ได้กดทับหรือควบคุมพวกเธอจนเกินไป”

การรักษาสมดุลระหว่าง ‘การรักษาความปลอดภัย’ ของเรือนจำ และ ‘ความเป็นมนุษย์’ ของผู้ต้องขัง คือหัวใจสำคัญของการออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงในอุดมคติผ่านสายตาของรางวัล

พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ไม่ใช่เพียงพื้นที่เดียวที่นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยากรุงเทพ เข้าไปออกแบบเพื่อทลายลูกกรงซี่ใหญ่ระหว่างผู้ต้องขังและโลกภายนอก พื้นที่บริเวณเรือนจำชั่วคราวกลางเวียงเช่นกันที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งโอกาสอีกแห่ง โดยแปลนสร้าง ‘อาคารอเนกประสงค์’ ให้เป็นเรือนนอนสำหรับผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษที่ต้องออกมาฝึกอาชีพและให้บริการนวดแผนไทย ณ เรือนพธำมรงค์ทุกวัน ถูกออกแบบโดยใช้อุดมคติดังกล่าวเป็นแก่น

เมื่อกาลเวลาก้าวเดินไปข้างหน้า จากสถานที่ที่ถูกสร้างมากักขังจองจำอิสรภาพ ปล่อยให้ความมืดอับคับแคบโบยตีและลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำผิดจนหลาบจำ ทุกวันนี้เรือนจำ โดยเฉพาะเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงต้องไม่ใช่สถานที่เช่นนั้นอีกต่อไป

หากมองให้ทะลุโทษความผิดตามกฎหมาย ผู้ต้องขังหญิงก็เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เคยกระทำผิด ใช่ว่าความผิดที่เคยก่อไว้จะเป็นเหตุหักล้างไม่ให้พวกเธอได้รับความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับความละเอียดอ่อนทางเพศสภาวะ หรือไม่ใช่เหตุที่จะพรากโอกาสการพัฒนาฝึกฝนอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมให้พวกเธอกลับเข้าสู่สังคม แต่กระนั้น ไม่เพียงแค่มาตรการและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเพียงอย่างเดียวที่จะเอื้อให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่การออกแบบและจัดสรรพื้นที่ที่ผู้ต้องขังใช้ชีวิตอยู่จะต้องเกื้อหนุนให้การฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการเตรียมปล่อยผู้ต้องขังเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

รางวัลเล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่รอบเรือนจำกลางเวียงร่วมกับทัณฑสถานเชียงใหม่มาจากวิชาสถาปัตยกรรม 4 ที่นักศึกษาสถาปัตย์ชั้นปีที่ 2 ต้องเรียนเป็นวิชาบังคับ หนึ่งในโจทย์ที่นักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม 4 ได้รับคือการปรับปรุงและพัฒนาสภาพทัณฑสถานหญิงให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เหมาะกับการเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมการให้โอกาสผู้ที่กระทำผิดพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยสนับสนุนโปรเจ็กต์ดังกล่าวผ่านการจัดอบรมเกี่ยวกับการออกแบบเรือนจำที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องขังหญิง และพานักศึกษาทั้งคลาสลงพื้นที่ที่เรือนจำสุพรรณบุรี เพื่อใช้เรือนจำดังกล่าวเป็นจุดตั้งต้นในการถอดรหัสปัญหาการออกแบบ ทำความเข้าใจผู้ต้องขังหญิง และเสนอความเป็นไปได้ในการออกแบบเรือนจำที่หลากหลาย

“เริ่มแรกทุกคนก็มีภาพจำเกี่ยวกับผู้ต้องขังอย่างที่สังคมมักจะตีตราว่าน่ากลัว แต่พอได้ลองเข้าไปในเรือนจำ ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของนักศึกษามากที่สุดคือความแออัดคับแคบ ความทึบของอาคารที่ทำให้อากาศระบายได้ไม่ดีเท่าที่ควร และการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังหญิงมากนัก”

เมื่อได้มาสัมผัสจริง ทุกโสตประสาทนำไปสู่การตั้งคำถาม “พวกเขาตั้งคำถามกันเยอะมากว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ผู้ต้องขังจึงจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้ จะใช้วิธีออกแบบอย่างไหนจึงจะช่วยได้ แล้วถ้าติดกฎระเบียบของเรือนจำ จะหาวิธีออกแบบพัฒนาเรือนจำให้เหมาะต่อผู้ต้องขังหญิงได้อย่างไรอีกบ้าง”

แม้ว่าการลงพื้นที่จะจบแค่ตรงโปรเจ็กต์งานดีไซน์ในวิชาเรียนเท่านั้น แต่พลังในการออกแบบอันล้นเหลือได้ถูกนำกลับมาใช้สร้างสรรค์อาคารสำหรับผู้ต้องขังจริงๆ อีกครั้ง ในช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นปี 3 หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาสถาปัตย์ที่ยัง ‘อิน’ อาสาลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่เชียงใหม่ เตรียมลงมือออกแบบเรือนนอนชั่วคราวนอกเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังใกล้หญิงพ้นโทษ และร้านอาหารสำหรับฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังตามแผนพัฒนาของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

ณ ปัจจุบัน กลุ่มนักศึกษาสถาปัตย์ออกแบบผังสร้างเรือนนอนเสร็จเรียบร้อย เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนสร้างต่อไป นับว่าเป็นเฟสที่ 2 ของโอกาสสถานต่อจากพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์

“ในเมื่อผู้ต้องขังออกมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืนและใกล้ชิดกับชุนชนมากยิ่งขึ้น วิธีคิดในการออกแบบเรือนนอนจึงแตกต่างออกไปจากการออกแบบเรือนจำอื่นๆ”

“เรือนนอนจะตั้งอยู่กลางเมือง บริเวณใกล้กับเรือนพธำมรงค์ที่ชั้นล่างเปิดเป็นสปาและร้านนวด ส่วนผู้ต้องขังที่จะได้ออกมาอาศัยคือผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษมากแล้ว ได้รับการฝึกฝนอาชีพมาแล้วระยะหนึ่งจนฝีมือดี และได้รับความไว้วางใจสูงว่าจะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นอย่างดี แต่ก็ยังจำเป็นต้องออกแบบโดยคงเงื่อนไขบางอย่างที่เหมือนเรือนจำ”

เงื่อนไขที่ว่าคือผู้คุมยังคงต้องควบคุมดูแลรักษาความปลอดภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกผู้ต้องขังทั้งหมดขึ้นเรือนนอนตามเวลาหรือเข้าแถวนับจำนวนประจำวัน กิจกรรมเหล่านี้ก็ยังคงต้องอยู่ในตารางชีวิตของผู้ต้องขังชั้นดีกลุ่มนี้

“นอกจากนี้ ก็ยังต้องมีฟังก์ชันการใช้งานพื้นที่ที่ยังต้องถอดแบบมาจากเรือนจำบ้าง อย่างอาคารเรือนนอนก็ต้องมีเพียงประตูเดียว เพื่อให้ปิดประตูได้ง่าย การจัดโซนภายในอาคารเรือนนอน ก็เลือกวางห้องนอนและห้องอาบน้ำไว้ส่วนที่ลึกที่สุดของเรือนนอน หรือพอเรือนนอนอยู่ติดกับพื้นที่ชุมชน ก็ต้องออกแบบผังให้มีกำแพง หรืออะไรบางอย่างกั้นบริเวณข้างอาคารเรือนนอนในบางจุดที่ควรกั้น เพื่อไม่ให้มีการติดต่อกับภายนอกในเวลาที่ทัณฑสถานไม่ได้กำหนดไว้”

อะไรที่ทำให้เรือนนอนแห่งนี้ต่างออกไปจากเรือนจำทั่วไป?

รางวัลอธิบายว่า สิ่งที่ทีมนักศึกษาสถาปัตย์ให้ความสำคัญมากคือ การสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้ผู้ต้องขังรู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมขึ้น คอนเซ็ปต์หลักของการออกแบบเรือนนอนนี้คือการจัดโซนจนไปถึงการปรับเปลี่ยนเลือกใช้วัสดุบางอย่าง เพื่อช่วยเพิ่มความเป็นบ้านลงไปในเรือนนอนดังกล่าว

“หลายครั้งมากที่นักศึกษาพยามยามเสนอไอเดียให้ผังเรือนนอนที่จะนำไปสร้างต่อช่วยให้ผู้ต้องขังรู้สึกเหมือนอยู่บ้านมากที่สุด”

“ทีมของเราต้องคิดว่า พื้นที่ใช้สอยแบบไหนที่เพิ่มเข้ามาแล้วจะช่วยปรับบรรยากาศให้ผู้ต้องขังรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น” รางวัลเล่าต่อถึงไอเดียที่นักศึกษาสถาปัตย์ช่วยกันระดมสมองเพื่อปรับอารมณ์ความรู้สึกของเรือนนอนให้อบอุ่นยิ่งขึ้น และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่ามีพื้นที่เป็นของตนเอง”

สำหรับห้องนอนและห้องน้ำยังคงเป็นฟังก์ชันหลักที่ต้องให้ผู้ต้องขังใช้ร่วมกัน แต่แทนที่จะให้ผู้ต้องขังปูพื้นนอน ก็เพิ่มเตียงนอนสองชั้นเข้ามาแทน หรือห้องน้ำในเรือนจำที่ทั่วไปจะใช้การก่อปูน ก็ต้องพยายามหาพื้นที่จัดวางไม่ให้ห้องน้ำอยู่ใกล้ที่นอน เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังต้องนอนข้างห้องน้ำ ห้องอาบน้ำที่เดิมเป็นห้องโล่งๆ มีแค่ฝักบัวหลายๆ ฝักติดไว้เพื่อให้ทุกคนอาบพร้อมกัน ก็ใช้การออกแบบช่วยกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนของใครของมัน เพิ่มความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ต้องขังหญิง แต่ก็ต้องออกแบบไม่ให้เป็นพื้นที่ปิดโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังต้องหาวิธีจัดพื้นที่ส่วนกลางที่ผู้ต้องขังมักจะมานั่งดูทีวีร่วมกันให้มีความเป็นห้องนั่งเล่นมากยิ่งขึ้นและเพียงพอต่อผู้ต้องขัง 50 ชีวิตที่จะอาศัยอยู่ที่นี่

“ความเป็นบ้านจะอยู่ในบรรยากาศรอบตัว อย่างลูกกรง ทีมพยายามจะหาวิธีเปลี่ยนลูกกรงหนาทึบให้ดูบางเบาลง โดยใช้การออกแบบลวดลายที่สวยงามเข้ามาช่วยให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าไม่ได้มีกรงขังอยู่” รางวัลเล่าถึงการออกแบบบรรยากาศของทีมนักศึกษาสถาปัตย์ “พื้นที่บางส่วนบริเวณเรือนนอนก็ปรับให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ มีทั้งพื้นที่ในร่ม พื้นที่กลางแจ้ง พยายามออกแบบให้บรรยากาศคล้ายกับที่นั่งเล่นทั่วไป เปิดให้ญาติเข้ามาเยี่ยมหรือนั่งรับประทานอาหารกับผู้ต้องขังได้ ให้มีความเป็นส่วนตัวหน่อยๆ”

อีกพื้นที่ที่ทีมนักศึกษาสถาปัตย์เข้าไปออกแบบใหม่คือร้านอาหาร ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฝึกวิชาชีพเช่นเดียวกันกับร้านนวดที่เรือนพธำมรงค์

รางวัลเล่าให้ฟังว่า เดิมทีร้านอาหารถูกออกแบบให้ครัวเก่าตั้งอยู่ส่วนในสุดของร้าน ทีมนักศึกษาสถาปัตย์ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนตำแหน่งครัวใหม่ รื้อครัวเก่าทิ้ง แล้วย้ายมาสร้างครัวใหม่ตรงส่วนหน้าสุดที่หันหาถนน ติดกับบริเวณสวนที่มีที่นั่งรับประทานอาหาร

ทีมนักศึกษาวางคอนเซ็ปต์ร้านอาหารไว้ว่า อยากให้มีส่วนที่สร้างเป็นครัวแบบเปิด (open kitchen) คือยังมี hot kitchen สำหรับปรุงอาหารที่ต้องใช้ไฟไว้ด้านใน แต่จะวางส่วนที่เป็น cold kitchen สำหรับประกอบอาหารง่ายๆ หรือจัดอาหารเตรียมเสิร์ฟไว้ด้านหน้าของร้านอาหาร โดยตั้งใจไว้ว่าจะยกระดับการตกแต่งครัวให้สวยงาม ใช้กระจกใสกั้นเพื่อโชว์ครัวและขั้นตอนการประกอบอาหารให้คนมองเห็นได้ และมีที่นั่งบางส่วนที่จะอยู่ใกล้บริเวณครัว

“เราวางคอนเซ็ปต์ไว้แบบนี้เพราะต้องการให้อาคารและพื้นที่สื่อสารออกไปว่า แม่ครัวปรุงอาหารคือผู้ต้องขัง มีฝีมือ มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ต่างไปจากแม่ครัวร้านอาหารทั่วไป และช่วยลดระยะห่างระหว่างผู้ต้องขัง ผู้ที่เข้ามาใช้บริการร้านอาหาร และคนที่สัญจรผ่านไปมา ให้รู้สึกว่าอยู่ใกล้กันมากขึ้น” และที่สำคัญคือร้านอาหารก็นับว่าเป็นองค์ประกอบที่ผู้คนพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองอยู่แล้ว

ครั้งหนึ่งในอดีต เรือนจำและผู้ต้องขังคือสิ่งแปลกแยกสำหรับชุมชนและโลกภายนอก

เรือนจำไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะกำแพงหนาใหญ่ขวางกั้นระหว่างโลกในเรือนจำและโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง ด้วยความคิดที่ว่าสังคมต้องปลอดภัยจากผู้กระทำผิด ส่วนผู้ต้องขังต้องถูกแยกออกมาจากสังคม และลงโทษด้วยการจองจำอยู่ในห้องขังที่ห่างไกลกับ ‘ความเป็นบ้าน’ – สิ่งหนึ่งที่ใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์อย่างถึงที่สุด ซ้ำร้าย เรื่องราวที่ถูกเล่าขานนอกลูกกรงซี่ใหญ่หนายังปราศจากซึ่งความเข้าใจ มีแต่จะผลักไสกลับเข้าสู่วังวนแห่งการตีตรา

การตัดโลกทั้งสองโลกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงไม่ใช่คำตอบสำหรับผู้กระทำผิดในทุกกรณี สิ่งที่ผู้ต้องขังต้องการยิ่งไปกว่าสิ่งอื่นใดคือ โอกาสในการกลับเข้าสู่สังคม และได้รับการโอบกอดจากโลกใบเดิมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ‘โอกาสสถาน’ จึงกลายเป็นการออกแบบพื้นที่ตรงกลางระหว่าง ‘โลกแห่งการจองจำ’ และ ‘สังคมภายนอก’ ทลายกำแพงที่ขวางกั้นโลกทั้งสองโลกเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังเตรียมพร้อมในการกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง และทลายกำแพงในใจของผู้คนในสังคมให้โอบรับ ‘คนธรรมดาที่เคยทำผิด’ เหล่านี้ไว้

พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ณ เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่สถานฝึกอาชีพทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมเวลา 9.00 – 16.30 น.


*ภาพพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ โดย TIJ

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save