fbpx

เห็บหมัดของตุลาการภิวัตน์

ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สังคมไทยได้รู้จักปรากฏการณ์หนึ่ง คือ ปรากฏการณ์นักร้อง

ครั้งแรกๆ ที่นักร้องเดบิวต์น่าจะเป็นคดีทำกับข้าวของคุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้คุณสมัครพ้นจากตำแหน่งไปในที่สุด ผู้ร้องเรียนในครั้งนั้นคือ คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นสมาชิกวุฒิสภากลุ่ม 40 ส.ว.

หลังจากนั้นสังคมไทยก็ได้คุ้นชื่อและหน้าตาของนักร้องเพิ่มอีกหลายคน บางคนก็อาจเรียกได้ว่า นักร้องมืออาชีพ

นักร้องบางท่านเป็นนักร้องมีสังกัด มีอุดมการณ์หรือแนวทางชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหน เชื่อแบบใด อย่างเช่นกรณีผู้ร้องเรียนว่าพรรคอนาคตใหม่มีแนวคิดและเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอ้างว่าพรรคอนาคตใหม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคมลับอิลลูมินาติ เป็นผู้ร้องเรียนเดียวกับที่ร้องเรียนว่าแกนนำม็อบ อานนท์ เพนกวิน รุ้ง ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและร้องขอให้ยุบพรรคก้าวไกลเนื่องจากยื่นประกันตัวผู้ต้องหาคดีม็อบต่างๆ

แต่บางท่านดูจะร้องทุกเรื่อง ร้องทุกสองสามวัน ร้องทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ประชาชนถ้วนทั่วกัน จนบางคนขนานนามว่า ขาประจำ

ต้องยอมรับว่า นักร้องบางท่านมีผลงานต่อสังคมอยู่บ้าง เช่นกรณีร้องคัดค้านการขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่โดยรวม น่าตั้งคำถามว่าสังคมได้อะไรจากนักร้องเหล่านี้

ปรากฏการณ์นักร้องแตกต่างออกไปจากการร้องเรียนทั่วไปตรงที่ผู้ร้องนั้นไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรนอกไปจากเรื่องจุดยืน อุดมการณ์ ความเชื่อทางการเมือง ผู้ร้องกับผู้ถูกร้องอาจไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้งหรือรู้จักอะไรกันมาก่อน แต่เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน นักร้องจึงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือส่งเสริมความคิดฟากตนเอง

ปรากฏการณ์นักร้องเป็นผลพวงมาจากตุลาการภิวัตน์ เมื่อกฎหมายขยายอำนาจขอบเขตของตัวเองเข้าไปในแดนการเมือง ในฐานะความถูกต้องดีงามสุดท้ายที่ทุกคนต้องเชื่อฟัง คุณสมบัติ หน้าที่ ความประพฤติ นโยบายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงกลายเป็นข้อพิพาททางกฎหมาย ศาลสามารถเข้ามาดูได้

แต่ศาลเป็นองค์กรตั้งรับ ไม่อาจออกไปชวนใครวิวาทเองได้ นักร้องจึงเป็นผู้ป้อนคดีต่างๆ ให้แก่ศาล

ถ้าเราดูหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญจะพบว่า ในมาตรา 50 นั้นมีหลายข้อที่อาจตีความได้ว่า การฟ้องร้องคดีต่อศาล หรือร้องเรียนความไม่ถูกต้องใดๆ นั้นเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

“บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”

ปิดท้ายด้วยหน้าที่

“(10) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ”

รัฐต้องการพลเมืองดีที่ไม่นิ่งดูดาย พลเมืองที่ตื่นตัว พลเมืองที่ไม่เพิกเฉยต่อความชั่วร้าย ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาของรัฐ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่พลเมืองที่จะพิทักษ์ชาติ ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ร่วมมือกับการทุจริต หากพบเห็นก็สามารถใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้

แต่มีเส้นบางๆ ระหว่างพลเมืองดีกับนักร้องที่บิดผันสิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน บางครั้งประโยชน์นั้นอาจจะเป็นเรื่องความพึงพอใจในชัยชนะของพวกตนและทำลายศัตรูลงได้ บางครั้งประโยชน์นั้นอาจจะเป็นชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนโอกาสความก้าวหน้าที่ผู้ใหญ่อาจจะเมตตาแลเห็น และหยิบยื่นให้เพิ่มต่อไปในภายภาคหน้า บางครั้งประโยชน์อาจมาในรูปตำแหน่ง หรือผลตอบแทนอื่นๆ ที่เป็นเนื้อหนัง

การฟ้องคดีหรือร้องเรียนอะไรสักเรื่องนั้นง่ายแสนง่าย ยิ่งในศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ผู้ร้องไม่จำต้องมีทนายหรือความรู้ด้านกฎหมาย เพราะศาลมีบริการให้คำปรึกษาเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว การร้องเรียนจึงไม่มีต้นทุน แต่ผู้ถูกร้องนั้นคงไม่สนุกสบายไปด้วย นอกจากจะต้องเสียเงินทอง สิ้นเปลืองเวลาและกำลังสมองในการแก้ต่างตัวเองแล้ว หากพลาดพลั้งก็อาจจะถูกยุบพรรค หรือผลร้ายอื่นๆ ตามมาด้วย

ยิ่งในปัจจุบัน ปรากฏการณ์นักร้องขยายตัวออกไปกว้างขวางกว่าที่เคยมีในครั้งใด ดังปรากฏสถิติการร้องเรียนคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาพบว่า ประชาชนเป็นผู้แจ้งความเองมากกว่าคดีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้แจ้งความหลายเท่า มวลชนฝ่ายขวาใช้นิติสงครามและข้อความจริงที่ว่ากฎหมายและระบบยุติธรรมเอื้อให้ฝ่ายพวกตนให้เป็นประโยชน์สูงสุด

หากเปรียบเทียบไป เมื่อเกิดตุลาการภิวัตน์ ระบบกฎหมายและตุลาการของไทยก็เติบโตขึ้นจนแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วน เสมือนอสุรสัตว์มหึมานั่งอยู่ใจกลางรัฐ ส่วนนักร้องนั้นก็เติบโตขึ้นตามอสุรสัตว์ที่พวกเขาเกาะอยู่ ยิ่งกฎหมายน่ากลัวมากขึ้นเท่าไหร่ ความสำคัญของนักร้องยิ่งทวีคูณ จากประชาชนธรรมดาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรัฐอย่างไม่เป็นทางการ มีอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ (ที่บางคนเรียกว่าอิทธิพล) และอาจเข้าถึงตำแหน่งอำนาจทางการได้ในที่สุด

เคยมีผู้ขนานนามคนที่ห้อยโหนตุลาการเช่นนี้ว่า เห็บหมัดตุลาการภิวัตน์

อย่าลืมว่าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 นอกจากหน้าที่ปวงชนชาวไทยที่จะพิทักษ์ชาติ รักสมบัติแผ่นดิน ไม่ทนต่อความผิดแล้ว ยังมีหน้าที่ตามมาตรา 50 (6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคมอีกด้วย

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นแม่บททั่วไปของกฎหมายไทยด้วย เห็นว่า มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ท่านว่าบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

การใช้สิทธิฟ้องร้องคดีความเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้ถูกร้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งร่ายกาย ทรัพย์สิน และจิตใจนั้น ไม่น่าใช่การกระทำโดยสุจริต

น่าเสียดายที่ผู้พิพากษาตุลาการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งปวงไม่กล้าที่จะหยิบยกเรื่องหลักสุจริตมาอ้างเพื่อตัดตอนนักร้องเหล่านี้เสีย ปล่อยให้กระบวนการ ‘ยุติธรรม’ ดำเนินการของมันไปเรื่อยๆ บดขยี้ประชาชนให้แหลกละเอียดภายใต้นามของกฎหมาย

นักร้องเป็นอันตราย ไม่เฉพาะกับเป้าหมายของพวกเขา แต่อันตรายกับระบบกฎหมายเอง ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นกรรมการที่เที่ยงธรรมในการระงับข้อพิพาท แต่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งกันเสียแล้ว สุดท้ายก็เท่ากับบอกประชาชนให้เลิกเคารพกฎหมายนั่นเอง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save